In Which We Serve

In Which We Serve (1942) British : Noël Coward, David Lean ♥♥♥♥

ภาพยนตร์แนวปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film) แม้เรือพิฆาต HMS Kelly ถูกโจมตีจนอับปางลง แต่ก็ไม่ทำให้จิตวิญญาณผู้คนจมดิ่งสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร, กำกับการแสดงโดย Noël Coward และหน้าที่กำกับอื่นๆโดย David Lean

แม้ในเครดิตจะขึ้นว่า Action Sequence กำกับโดย David Lean แต่จริงๆแล้วเขาทำหน้าที่ทุกสิ่งอย่างยกเว้นการกำกับนักแสดง! นั่นเพราะ Noël Coward มาจากฟากฝั่งละครเวที ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคอะไรใดๆ แถมพอถ่ายทำได้สามสัปดาห์ก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อศาสตร์ภาพยนตร์ เต็มไปด้วยความยุ่งยากวุ่นวาย เลยตัดสินใจเข้ากองเฉพาะคิวถ่ายของตนเอง ดูแลในส่วนเขียนบท แสดงนำ กำกับการแสดง และแต่งเพลงประกอบ

(In Which We Serve (1942) เป็นเครดิตกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของ Sir Noël Coward แต่ปู่แกโด่งดังกับฟากฝั่งละครเวที ฝีไม้ลายมือด้านการแสดง เขียนบท ทำเพลงประกอบ ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร)

ความน่าสนใจของ In Which We Serve (1942) นอกจากฝีไม้ลายมือการกำกับ/ตัดต่อของ David Lean บทหนังและการแสดงของ Noël Coward ก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อาจดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ให้ความรู้สึกคล้ายๆกำลังรับชม(การแสดง)ละครเวที มีความแม่นเปะที่สะท้อนภาพลักษณ์ผู้ดีอังกฤษได้อย่างน่าอึ้งทึ่ง

แซว: เมื่อตอนหนังออกฉายได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ ประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม เข้าชิง Oscar จำนวนสองสาขา แต่ฟากฝั่งนายพลทหารเรือเห็นว่าไม่ค่อยประทับใจสักเท่าไหร่ ถึงขนาดตั้งชื่อเล่น “In Which We Sink”


Sir Noël Peirce Coward (1899-1973) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับ ภาพยนตร์และละครเวที เกิดที่ Teddington, Middlesex ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการแสดง มารดาส่งไปโรงเรียนสอนเต้นที่ London ขึ้นเวทีตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พออายุ 20 เริ่มหันมาเขียนบทละครเวที ประสบความสำเร็จล้นหลามกับโปรดักชั่น The Vortex (1924), Cavalcade (1931) ฯ

ช่วงระหว่างโปรดักชั่น Blithe Spirit เปิดการแสดงยัง West End เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941, Coward ได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Anthony Havelock-Allan ขณะนั้นทำงานอยู่สตูดิโอ Two Cities Films ชักชวนมาร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์ชวนเชื่อ (propaganda film) เพื่อทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองประเทศอังกฤษ

Coward รู้จักสนิทสนมกับ Captain Lord Louis Mountbatten ผู้บัญชาการเรือพิฆาต HMS Kelly เมื่อได้ยินข่าวเรืออับปางวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 สร้างความตื่นตระหนก ตกอกตกใจอยู่ไม่น้อย โชคยังดีที่เพื่อนสนิทเอาตัวรอดกลับมาได้ แต่ลูกเรือหลายร้อยคนต้องจบชีวิตหลังถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด Luftwaffe

เพราะความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวที่ยังติดค้างคาใจ Coward จึงพัฒนาเรื่องราวเกี่ยวกับเรือพิฆาต HMS Kelly ทำออกมาในลักษณะเยี่ยงวีรบุรุษ (Heroic) ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก Lord Mountbatten เล่าประสบการณ์ รวมถึงภารกิจต่างๆ อีกทั้งยังเดินทางไปเยี่ยมเยือนท่าเรือของกองทัพที่ Plymouth, Portsmouth, Scapa Flow และมีโอกาสร่วมออกทะเลไปกับ HMS Nigeria

ช่วงปลายปี ค.ศ. 1941, Coward ส่งบทหนังที่พัฒนาขึ้นให้กับ Havelock-Allan แต่ด้วยปริมาณหลายร้อยหน้ากระดาษ โดนตีกลับว่าถ้าดัดแปลงเป็นภาพยนตร์คงมีความยาวกว่า 8-9 ชั่วโมง แนะนำให้ตัดรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรือพิฆาตทิ้งไป (เปลี่ยนมาใช้ HMS Torrin แทน HMS Kelly) การเดินทางของ HMS Torrin จึงเริ่มตั้งแต่ก่อร่างสร้างโครงเรือ (Kneel) และอับปางลงภายในอารัมบทหนัง!

แม้ว่า Coward มีความเชี่ยวชาญงานสร้างละครเวที แต่ถือว่าไร้ประสบการณ์ต่อสื่อภาพยนตร์ จึงพยายามมองหาตัวช่วยร่วมกำกับ สอบถามจากเพื่อนสนิท John Mills และผกก. Carol Reed ต่างแนะนำให้รู้จัก ‘best editor in the country’ นั่นคือ David Lean

Sir David Lean (1908 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Surrey วัยเด็กเป็นคนช่างฝัน ออกจากโรงเรียนกลางคัน ช่วยเหลือบิดาทำงานเป็นนักบัญชี แต่ก็อดรนทนได้ไม่นานก็ออกไปดำเนินตามความฝันของตนเอง, เมื่อตอน 10 ขวบ คุณลุงมอบกล้อง Brownie Camera (เป็นชื่อเรียกกล้องสมัยก่อน ที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ราคาไม่แพงมาก) กลายเป็นงานอดิเรกคลั่งไคล้ เลยตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์, เริ่มต้นจากเป็นเด็กรับใช้ในสตูดิโอ Gaumont ยกของ เสิร์ฟชา ตอกสเลท ผู้ช่วยผู้กำกับ เลื่อนขั้นเป็นนักตัดต่อเมื่อปี ค.ศ. 1930 มีผลงานดังๆอย่าง Pygmalion (1938), 49th Parallel (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), ก่อนได้รับโอกาสร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก In Which We Serve (1942)

ในตอนแรก Lean มีความลังเลใจที่จะตอบรับโปรเจคนี้ เพราะประสบการณ์จากเคยร่วมกำกับ Major Barbara (1941) แต่ได้รับเครดิตเพียง ‘assistant in direction’ ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในอาชีพการงานไปพอสมควร ด้วยเหตุนี้เมื่อแรกพบเจอ Coward จึงสอบถามว่าจะให้ขึ้นเครดิตเช่นไร ทีแรกได้รับคำตอบ “helped by David Lean” แต่เขายืนกรานว่าควรเป็น “Directed by Noël Coward and David Lean”

(การได้รับเครดิตผู้กำกับหรือร่วมกำกับ ส่งผลต่อความน่าเชื่อในตัวบุคคลมากๆนะครับ โดยเฉพาะบรรดาผู้กำกับหน้าใหม่ อย่างน้อยการมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสตูดิโอใหญ่ๆ)

การทำงานระหว่าง Coward และ Lean จะมีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน (ประมาณสามสัปดาห์หลังเริ่มต้นถ่ายทำ Coward ตระหนักถึงศักยภาพของ Lean จึงโยนงานส่วนเทคนิคภาพยนตร์ให้เขาทั้งหมด)

  • Coward เป็นผู้ปรับแก้บทหนัง แสดงนำ กำกับนักแสดง รวมถึงแต่งเพลงประกอบ
  • หน้าที่กำกับอื่นๆตกเป็นของ Lean องค์ประกอบภาพ ทิศทางมุมกล้อง จัดแสงสว่าง เทคนิคภาพยนตร์อื่นๆ รวมถึงแอบเข้าห้องตัดต่อ (จนได้รับเครดิตร่วมตัดต่อ)

เรื่องราวเริ่มต้นที่อู่ต่อเรือ Port of Tyne ณ Newcastle-upon-Tyne, Tyne & Wear กำลังก่อโครงร่าง สร้างเรือพิฆาต RMS Torrin เสร็จแล้วออกปฏิบัติภารกิจ Battle of Crete ณ ประเทศ Greece ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ต่อสู้กับกองทัพเรือนาซีในทะเล Mediterranean แล้วถูกโจมตีจากเครื่องบินทิ้งระเบิดจนอับปางลงวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1941

เรื่องราวต่อจากนั้นนำเสนอในลักษณะเล่าย้อนอดีต (Flashback) ของบรรดาสมาชิกเรือพิฆาต RMS Torrin ที่รอดชีวิตจากการอับปาง ล่องลอยคออยู่กลางทะเล Mediterranean ประกอบด้วย

  • Captain E. V. Kinross (รับบทโดย Noël Coward) หวนระลึกถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1939 เมื่อครั้น RMS Torrin เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นาน แวะเวียนกลับหาภรรยา Alix Kinross (รับบทโดย Celia Johnson) บอกเล่าถึงความวิตกกังวลว่าสงครามกำลังคืบคลานเข้ามา
  • Chief Petty Officer Walter Hardy (รับบทโดย Bernard Miles) ครุ่นคิดถึงภรรยา Kath Hardy (รับบทโดย Joyce Carey) จำต้องจากลาเพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง มาถึงท่าเรือรับฟังสุนทรพจน์ของ Captain Kinross
  • กะลาสีเรือ Ordinary Seaman Shorty Blake (รับบทโดย John Mills) รำพันถึงการสูญเสียระหว่างพบเห็น RMS Torrin กำลังอับปางลง แล้วหวนระลึกช่วงวันหยุดคริสต์มาส มีโอกาสพบเจอ ตกหลุมรัก และแต่งงานกับ Freda Lewis (รับบทโดย Kay Walsh)
  • ลูกเรือนิรนาม (รับบทโดย Richard Attenborough) ระหว่าง RMS Torrin เข้าร่วมยุทธการ Battle of Narvik ณ Ofotfjord, Norway ระหว่าง 9 เมษายน – 8 มิถุนายน ค.ศ. 1940 เรือพิฆาตถูกตอปิโดโจมตี ขณะที่ใครต่อใครพยายามทำหน้าที่ของตนเอง ลูกเรือนิรนามรายนี้กลับหลบหนีหาย ความทราบถึง Captain Kinross ตัดสินใจไม่ลงโทษทัณฑ์ แต่พูดพาดพิง(โดยไม่เอ่ยนาม)ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์
  • กลับมาที่ Chief Petty Officer Walter Hardy ช่วงระหว่างวันหยุดพักผ่อน (รอเรือกำลังซ่อมแซม) เปิดเผยว่าเป็นญาติของ Freda เมื่อเธอตั้งครรภ์กับ Short Blake จึงย้ายมาอยู่อาศัยกับ Kath Hardy, หลังจากปฏิบัติการถอนทัพที่ Dunkirk (25 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1940) ได้รับจดหมายแจ้งเหตุการณ์โศกนาฎกรรม

พอเรือกู้ภัยมาถึง Captain Kinross และผู้รอดชีวิตประมาณ 90 นาย (จากลูกเรือประมาณ 244+ คน) ได้ขึ้นฝั่งเทียบท่า Alexandria, Egypt แล้วกล่าวคำไว้อาลัย ขอบคุณและร่ำลา คาดหวังว่าอนาคตจะมีโอกาสร่วมงานกันอีก … ปัจฉิมบททิ้งท้ายด้วย Captain Kinross ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการเรือรบ (Battleship)


สำหรับนักแสดงขอกล่าวถึงเพียง Noël Coward ในบทบาท Captain E. V. Kinross กัปตันเรือพิฆาต RMS Torrin ภายนอกดูเริดเชิดเย่อหยิ่ง เอาจริงเอาจัง เข้มงวดกวดขัน แต่นั่นแค่เพียงเปลือกภายนอกตามสถานะ/ชนชั้นทางสังคม แท้จริงเป็นคนโอนอ่อนผ่อนปรน ให้ความสำคัญกับลูกเรือทุกคน ต้องการสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ “A happy and efficient ship”.

Coward มุ่งมั่นที่จะรับบท Captain Kinross แต่กลับสร้างความหวาดวิตกให้สตูดิโอ เพราะภาพลักษณ์พี่แกดูไม่ค่อยเหมือน ‘tough navy man’ ถึงอย่างนั้นโปรดิวเซอร์ Havelock-Allan ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ‘always interesting, if not quite convincing’.

การแสดงของ Coward อาจดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ แต่ต้องถือว่ามีความน่าสนใจ ผู้ชมสามารถสังเกตได้ตั้งแต่อากัปกิริยา ท่าทางเคลื่อนไหว ล้วนรับอิทธิพลจากละครเวที โดยเฉพาะการพูด คำกล่าวสุนทรพจน์ มีความกระชับ รวดเร็ว และเฉียบคม เรียกว่าเต็มไปด้วยประสิทธิผล สะท้อนบุคลิกภาพตัวละคร พบเห็น Charisma ความเป็นผู้นำได้อย่างเด่นชัด

คงไม่มีฉากไหนตราตรึงเท่า Captain Kinross ขณะกำลังโอบอุ้มลูกเรือใกล้หมดลมหายใจ แม้ใบหน้าดูแน่นิ่ง แทบไม่ขยับไหวติง แต่ภายในยิ่งกว่าคลื่นคลั่ง พยายามอย่างที่สุดจะไม่แสดงปฏิกิริยาอารมณ์ใดๆออกมา รักษาภาพลักษณ์และสถานะ ถึงอย่างนั้นผู้ชมย่อมสามารถจับต้องความรู้สึกอัดอั้นภายใน กลายเป็นพลังใจต่อสู้ศัตรู ไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด!


ถ่ายภาพโดย Ronald Neame (1911-2010) ผู้กำกับ/ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London บิดาเป็นช่างภาพนิ่ง Elwin Neame มารดาคือนักแสดงยุคหนังเงียบ Ivy Close, โตขึ้นเข้าศึกษายัง University College School ตามด้วย Hurstpierpoint College จบออกมาทำงานบริษัทน้ำมัน Anglo-Persian Oil Company แต่ไม่นานก็พบความเบื่อหน่าย ได้เส้นสายมารดาเข้าทำงานสตูดิโอ Elstree Studios เริ่มจากเป็นเด็กส่งของ ผู้ช่วยตากล้อง Blackmail (1929), เครดิตถ่ายภาพ Major Barbara (1941), One of Our Aircraft Is Missing (1942), In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), Blithe Spirit (1945), ร่วมเขียนบท Brief Encounter (1945), Great Expectations (1946), กำกับภาพยนตร์ Take My Life (1947), The Horse’s Mouth (1958), Tunes of Glory (1960), The Prime of Miss Jean Brodie (1969), The Poseidon Adventure (1972) ฯลฯ

ด้วยความที่ Coward ไม่เคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์มาก่อน ในส่วนงานสร้างรวมถึงการถ่ายภาพ จึงโยนภาระรับผิดชอบให้ Lean และ Neame ดูแลจัดการด้านเทคนิค มอบอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่!

หลายคนอาจจดจำงานภาพ ‘สไตล์ Lean’ ต้องมีทิวทัศน์สวยๆ ระยะโคตรๆไกล (Extream-Long Shot) ท้าทายศักยภาพของกล้องถ่ายภาพ, แต่ผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับ Lean จะเลื่องลือชาด้านลูกเล่น เทคนิค ทิศทางมุมกล้อง การจัดแสง-ความมืดมิด และโดยเฉพาะลีลาการตัดต่อรับอิทธิพลจาก ‘Soviet Montage’

งานภาพของ In Which We Serve (1942) ผมมองว่ายังเป็นการลองผิดลองถูกของผู้กำกับ Lean ทดลองลูกเล่นอย่างภาพพริ้วไหวเหมือนสายน้ำ (ให้ออกมาดูเหมือนคราบน้ำตาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ) ซ้อนภาพ/ภาพสะท้อน โมเดลจำลอง เครื่องฉาย Rear Projection แต่น่าสนใจที่สุดคือการแทบไม่พบเห็นศัตรู เพียงเรือรบที่ถูกโจมตี และเครื่องบินเฉี่ยวไปเฉี่ยวมาเท่านั้น!

ฉากภายในและแท้งน้ำ ถ่ายทำยัง Denham Studios ณ เมือง Denham, Buckinghamshire สมัยนั้นคือชนบทนอกกรุง London (ที่ต้องออกมานอกกรุง London เพราะขณะนั้นกำลังถูกนาซีโจมตีทางอากาศอย่างหนัก), ส่วนฉากภายนอกเริ่มจากอู่ต่อเรือ Port of Tyne ณ Newcastle-upon-Tyne, Tyne & Wear กำลังก่อร่างสร้าง HMAS Nepal ซึ่งก็ใช้เรือพิฆาตลำนี้เป็นตัวแทน HMS Torrin, ส่วนท่าเรือถ่ายทำฐานทัพที่ Plymouth, Devon

ใครช่างสังเกตคงบอกได้ว่าเรือพิฆาต RMS Torrin ที่อับปางลงคือโมเดลจำลอง (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าอัตราส่วนเท่าไหร่) นอกจากนี้ยังมีการสร้างดาดฟ้าเรือขนาดเท่าของจริงขึ้นที่สตูดิโอ Denham Studios เพื่อให้นักแสดงสามารถขึ้นไปถ่ายทำ (พื้นหลังมีการฉายภาพ Rear Projection) และออกแบบกลไกให้ค่อยๆจมลงในแท้งน้ำ

คนเขาเคียดแค้นกันอยู่! เรื่องมีอยู่ว่าระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ The Daily Express ตีข่าวแสดงความคิดเห็นว่า Noël Coward ไม่เหมาะสมเล่นบทบาท Lord Mountbatten ด้วยเหตุนี้เขาเลยโต้ตอบกลับด้วยการนำเอาหัวข้อข่าวเมื่อปี ค.ศ. 1939 ของหนังสือพิมพ์เล่มนี้ที่เคยกล่าวอ้างว่า “No War This Year” มาเสียดสีประชดประชัน (เพราะสงครามโลกครั้งสองเริ่มต้นวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939)

ผมรู้สึกว่าเราสามารถเปรียบเทียบห่วงยาง เกาะแก่งโดยบรรดาผู้ยังรอดชีวิต ใช้เป็น(สถาน)ที่พึ่งพักพิงหลังจากเรือพิฆาตอับปางลง ก็คือสัญลักษณ์แทนเกาะอังกฤษ (ล่องลอยคออยู่กลางทะเลเช่นเดียวกัน) สิ่งยึดเหนี่ยวทำให้พวกเขายังมีความกระตือรือร้น ต่อสู้ดิ้นรน เพื่อปกป้องครอบครัว พวกพ้อง บุคคลที่เรารัก ไม่ต้องการให้ประเทศชาติล่มสลาย กลายเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม

In Which We Serve

ทีแรกผมนึกว่าหนังต้องการเปรียบเทียบสถานะทางสังคมระหว่าง Ordinary Seaman Shorty Blake vs. Chief Petty Officer Walter Hardy ตัวแทนชนชั้นแรงงาน vs. ผู้บัญชาการ (สังเกตว่าทั้งสองนั่ง-ยืน ตำแหน่งหัวโต๊ะ แต่ทิศทางตรงกันข้าม ประตู-หน้าต่าง)

แต่ช่วงกลางเรื่องเมื่อ Shorty Blake ตกหลุมรัก/แต่งงานกับ Freda Lewis ซึ่งเป็นญาติของ Walter Hardy ทั้งสองครอบครัวนี้เลยรวมตัวกลายเป็นหนึ่ง … เพื่อจะสื่อถึงว่าไม่ว่าเราเป็นใคร สถานะทางสังคมอะไร เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ย่อมคือครอบครัวเดียวกัน!

หลายคนอาจจดจำใบหน้าของนักแสดง/ผู้กำกับ (Sir) Richard Attenborough (1923-2014) ในบทบาทแรกนี้ไม่ได้สักเท่าไหร่ เป็นตัวละครที่เหมือนจะเกิดอาการ ‘shell shock’ หวาดกลัวต่อเสียงระเบิด เลยวิ่งหลบหนี ทอดทิ้งหน้าที่ตนเอง … ดั้งเดิมนั้นหนังไม่ให้เครดิตตัวละครนี้ (เพราะกลัวว่าคนจะจดจำในฐานะผู้หนีทหาร) แต่ภายหลังเมื่อ Attenborough เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็มีการแทรกเครดิตคืนให้กับเขา

เกร็ด: เผื่อใครนึกไม่ออกว่า Lord Attenborough คือใคร? ผลงานการแสดงดังๆอย่าง The Great Escape (1963), The Sand Pebbles (1966), Doctor Dolittle (1967), Jurassic Park (1993), กำกับโคตรภาพยนตร์อย่าง A Bridge Too Far (1977), Gandhi (1982)

มันจะมีช็อตโคตรเทพตรงท่าเรือ (หลังจากถูก Captain Kinross พูดตำหนิในคำกล่าวสุนทรพจน์) ตัวละครนี้ยืนอยู่ท่ามกลางความมืดมิด สะท้อนสภาพจิตใจที่กำลังตกอยู่ในอาการท้อแท้สิ้นหวัง ตัวเขาขณะนี้ก็ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ต้องการดื่มเหล้าให้มึนเมามาย … แล้วก็ฟื้นคืนสติ หวนกลับมาปัจจุบันกำลังล่องลอยคออยู่กลางทะเล

ไคลน์แม็กซ์ของหนังนำเสนอโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัว Hardy ซึ่งมันจะพอดิบพอดีขณะที่เรือพิฆาต RMS Torrin กำลังจมลงสู่ก้นเบื้อง นี่เป็นการพยายามเปรียบเทียบทั้งสองเหตุการณ์ ว่าคือสิ่งหนึ่งเดียวกัน! สูญเสียคนรัก = เรือพิฆาตที่พวกเรารัก

แน่นอนว่าหนังไม่ได้นำเสนอช็อตระเบิดตูมตาม เริ่มจากได้ยินเสียงเครื่องบิน → ระเบิดกำลังลง → ตัดควับมายังเศษซากปรักหักพัง → แต่ยังไม่จบลงแค่นั้น Cross-Cutting ภาพรถพยาบาล Ambulance → และเห็นเพียงเงาของพนักงานดับเพลิง/กู้ชีพ … รายละเอียดเล็กๆแต่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของผกก. Lean ได้อย่างน่าอึ้งทึ่ง!

ระหว่างที่ Captain Kinross กำลังดูใจลูกเรือที่ใกล้เสียชีวิต มันช่างเป็นความพอดิบพอดี (มันคือความจงใจอย่างแน่นอนนะครับ) เรือโคลงเคลงไป-มา สังเกตเงาของเสาที่เคลื่อนพานผ่านใบหน้าลูกเรือ เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง สามารถสื่อถึง ‘ลมหายใจเฮือกสุดท้าย’ หรือบางคนอาจมองว่าคือสิ่งแบ่งแยกระหว่างความเป็น-ตายของตัวละคร

นี่เป็นอีกช็อตที่ต้องเอ่ยปากชมเลยว่า จัดแสงได้อย่างนุ่มนวล ละมุนไม อาบฉาบลงบนใบหน้าของ Freda เมื่อได้รับจดหมายแจ้งข่าวว่า Shorty Blake รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรืออับปาง … เชื่อว่าหลายคนอาจร่ำไห้พร้อมกับเธอในช็อตนี้ ด้วยความซาบซึ้ง ดีใจ (ไม่มีใครอยากให้ตัวละครหลักในหนังเสียชีวิตหรอกนะครับ)

ผมสังเกตว่าใบหน้าตัวละครที่ดูเปร่งประกายเป็นพิเศษ เพราะองค์ประกอบอื่นๆของภาพ พยายามทำให้ถูกปกคลุมด้วยมืดมิด และอีกแสงสว่างสาดมาจากเบื้องบนศีรษะ ทำให้เส้นผมและหยาดน้ำตาสะท้อนแสงเข้าหากล้อง! … ลีลาการจัดแสง-ความมืดของผกก. Lean น่าจะรับอิทธิพลจาก Josef von Sternberg ไม่น้อยเลยนะ!

สำหรับคำกล่าวสุนทรพจน์ไว้อาลัยช่วงท้าย นำจากข้อความจริงๆที่ Lord Mountbatten เคยตระเตรียมไว้กล่าวกับลูกเรือผู้รอดชีวิตที่ Alexandria, Egypt

I have come to say goodbye to the few of you who are left. We’ve had so many talks, and this is our last. I’ve always tried to crack a joke or two before, and you’ve all been friendly and laughed at them. But today, I’m afraid I’ve run out of jokes, and I don’t suppose any of us feels much like laughing. The Torrin has been in one scrap after another, but even when we had men killed, the majority survived and brought the old ship back. Now she lies in 1500 fathoms… and with her, more than half our shipmates. If they had to die, what a grand way to go. For now they lie all together with the ship we loved, and they’re in very good company. We’ve lost her, but they’re still with her. There may be less than half the Torrin left, but I feel that we’ll all take up the battle with even stronger heart. Each of us knows twice as much about fighting, and each of us has twice as good a reason to fight. You will all be sent to replace men who have been killed in other ships. And the next time you’re in action, remember the Torrin. I should like to add… that there isn’t one of you that I wouldn’t be proud and honoured to serve with again. Goodbye. Good luck. And thank you all from the bottom of my heart.

หลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ Captain Kinross จับมือร่ำลาลูกเรือทุกคน สังเกตว่าจะมีช็อตถ่ายจากระยะไกล (Long Shot) เพื่อสร้างสัมผัสระยะห่าง ความรู้สึกเวิ้งว้าง จิตใจอันว่างเปล่า เพราะต่อจากนี้พวกเขาจะไม่ได้อยู่ร่วมเรือลำเดียวกันอีก ต่างกำลังแยกย้ายเพื่อเริ่มต้นภารกิจครั้งใหม่

ภาพสุดท้ายของหนังคือ White Ensign ธงราชนาวีแห่งสหราชอาณาจักร (British Royal Navy) เริ่มต้นใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16th มีลักษณะพื้นขาว คาดด้วยไม้กางเขนแดง (Saint George’s Cross) และบริเวณช่องซ้ายบนคือธงชาติอังกฤษ (Union Jack หรือ Union Flag) (ในภาพเห็นธงจากด้านหลัง)

Here ends the story of a ship, but there will always be other ships, for we are an island race. Through all our centuries, the sea has ruled our destiny. There will always be other ships and men to sail in them. It is these men, in peace or war, to whom we owe so much. Above all victories, beyond all loss, in spite of changing values in a changing world, they give, to us, their countrymen, eternal and indomitable pride. God bless our ships, and all who sail in them.

ผู้บรรยาย Leslie Howard

ตัดต่อโดย David Lean ร่วมกับ Thelma Connell/Myers (1912-76) สัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็น ‘continuity girl’ ก่อนกลายมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), ได้รับเครดิตครั้งแรก In Which We Serve (1942), ผลงานเด่นๆ อาทิ Green for Danger (1946), The Deadly Affair (1966), Alfie (1966) ฯลฯ

ดั้งเดิมนั้นโปรดิวเซอร์ว่าจ้างนักตัดต่ออีกคน Reginald Beck (Henry V, The Go-Between) แต่เพราะผู้กำกับ Lean แอบเข้าไปปรับแก้ไขสิ่งที่ Beck ได้ทำการตัดต่อไว้แล้ว สร้างความไม่พึงพอใจจึงขอถอนตัวออกไป ส้มหล่นใส่ Thelma Connell ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยตัดต่อเลยได้รับการผลักดันขึ้นมา … ฟังดูคล้ายๆเครดิตร่วมกำกับเลยนะ!

หนังใช้เรือพิฆาต RMS Torrin คือจุดศูนย์กลางดำเนินเรื่อง ตั้งแต่ก่อโครงร่าง สร้างเสร็จออกเดินทาง จนกระทั่งอับปางลงวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งหลังจาก Captain Kinross สั่งสละเรือ จะมีการแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) ของสมาชิกคนสำคัญๆ ประกอบด้วย

  • อารัมบท, ก่อโครงร่าง สร้างเสร็จออกเดินทาง จนกระทั่งอับปางลง
  • Captain Kinross หวนระลึกถึงฤดูร้อน ค.ศ. 1939 เมื่อครั้น RMS Torrin เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน
  • Chief Petty Officer Walter Hardy ลาจากครอบครัวเพื่อเตรียมตัวออกเดินทาง มาถึงท่าเรือรับฟังสุนทรพจน์ของ Captain Kinross
  • กะลาสีเรือ Ordinary Seaman Shorty Blake หวนระลึกช่วงวันหยุดคริสต์มาส มีโอกาสพบเจอ ตกหลุมรัก และแต่งงานกับ Freda Lewis
  • ลูกเรือนิรนาม หัวหดตดหายระหว่างเรือพิฆาต RMS Torrin เข้าร่วมยุทธการ Battle of Narvik
  • กลับมาที่ Walter Hardy และ Shorty Blake ใช้เวลาร่วมกันครอบครัวช่วงวันหยุดพักผ่อน (ระหว่างรอเรือกำลังซ่อมแซม) แต่หลังจากปฏิบัติการถอนทัพที่ Dunkirk ได้รับจดหมายแจ้งเหตุการณ์โศกนาฎกรรม
  • ปัจฉิมบท, เมื่อเรือกู้ภัยมาถึง Captain Kinross กล่าวคำไว้อาลัย ขอบคุณและร่ำลาลูกเรือทั้งหลาย ก่อนทิ้งท้ายด้วยด้วยการได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการเรือรบ (Battleship)

มันมีความจำเป็นอะไรในการตัดต่อย้อนกลับไปกลับมา? เอาจริงๆผมมองว่าไม่ได้มีความจำเป็นสักเท่าไหร่ ดูเหมือนเป็นการอยากโชว์ ‘show-off’ ของผู้กำกับ Lean แต่จุดประสงค์หลักๆคงเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงสายสัมพันธ์ระหว่างทหารแนวหน้า กับครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง (มีความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน) และสร้างจังหวะราวกับลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเรือพิฆาต RMS Torrin … ว่ากันว่าก่อนตาย มนุษย์เรามักครุ่นคิดถึงเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิตปรากฎแวบขึ้นมา ฉันใดฉันนั้นเรือพิฆาต RMS Torrin ระหว่างกำลังอับปาง เลยมีการแทรกภาพความทรงจำของบรรดาลูกเรือทั้งหลาย

ลึกๆผมยังรู้สึกว่า Lean น่าจะไม่เคยพูดคุยกับ Coward ว่าอยากจะนำเสนอด้วยวิธีการเช่นนี้ (เพราะ Coward มาจากฟากฝั่งละครเวที น่าจะพัฒนาเรื่องราวให้ออกมาเป็นเส้นตรง, Linear Narratives) คงเอาฟุตเทจทั้งหมดมาปะติดปะต่อ ทดลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เพราะรู้สึกว่าการดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรงทำให้หนังดูธรรมดาๆ น่าเบื่อหน่าย ยุคสมัยนั้นการลำดับเรื่องราว ‘Non-Linear Narratives’ ถือว่าแปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบใคร (ไม่ถึงขั้นปฏิวัติวงการภาพยนตร์ แต่เพิ่มความซับซ้อน ท้าทาย ให้ออกมาดูน่าตื่นตาตื่นใจ)


เพลงประกอบโดย Noël Coward ร่วมงานกับ Clifton Parker (1905-89) สัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาสาขาเปียโน Royal Academy of Music จากนั้นกลายเป็น Copyist ระหว่างปักหลักอาศัยอยู่ Folkestone เป็นนัก Organist เรียบเรียงบทเพลงให้วงออร์เคสตราท้องถิ่น, เริ่มมีชื่อเสียงจากทำเพลงประกอบรายการโทรทัศน์ In a Twilight Dim with Rose, ตามด้วยเข้าสู่วงการภาพยนตร์ In Which We Serve (1942), This Happy Breed (1944), Night of the Demon (1957) ฯลฯ

หน้าที่ของ Coward ครุ่นคิดทำนองเพลงแล้วส่งมอบให้ Parker ดัดแปลงเป็นออร์เคสตรา แต่ส่วนใหญ่ของหนังจะพบเห็น ‘diegetic music’ การขับร้อง บรรเลง เป่าฮาร์โมนิก้า ได้ยินบทเพลงคุ้นๆหูอย่าง The Blue Danube, Wedding March, Beer Barrel Polka, Underneath the Arches, Run Rabbit Run ฯ ขณะทำพิธีมิสซาบนเรือยังมี Eternal Father, Strong to Save และ Good King Wenceslas

Main Theme เรียกได้ว่าคือ Character Song หรือจะเรียกว่า ‘life cycle’ ชีวิตของเรือพิฆาต RMS Torrin ดังขึ้นตลอดช่วงอารัมบทตั้งแต่ก่อโครงร่าง สร้างเสร็จออกเดินทาง จนกระทั่งอับปางลง มีทั้งท่วงทำนองตื่นเต้นผจญภัย สั่นไหวต่อภารกิจ พิชิตชัยชนะนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนถูกโจมตีอับปางลง ซึ่งจักสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว แต่ผู้ชมฟังแล้วรู้สึกฮึกเหิม เกิดพลังกำลัง และความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสพบเห็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่

(น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาคลิปเพลงประกอบหรือ Opening Credit เลยนำตัวอย่างหนัง, Trailer มาให้รับชมขัดตาทัพ)

ระหว่างขึ้นรถไฟกลับบ้าน Shorty Blake มีโอกาสนั่งอยู่เคียงข้างหญิงสาวคนหนึ่ง Freda Lewis พอเสียงฮาร์โมนิก้าดังขึ้น เกิดความตระหนักว่าเธอคือผู้หญิงคนเดียวในโลกใบนี้ที่ฉันถวิลหา If You Were the Only Girl (In the World) แต่งโดย Nat D. Ayer, คำร้องโดย Clifford Grey, ต้นฉบับประกอบการแสดงละครเพลง The Bing Boys Are Here เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1916 ณ Alhambra Theatre, London

If you were the only girl in the world
and I were the only boy
Nothing else would matter in the world today
We could go on loving in the same old way

นี่เป็นบทเพลงได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (รวมถึงสงครามโลกครั้งที่สอง) ฉบับโด่งดังสุดก็คือ ‘Original Cast Recording’ โดย George Robey และ Violet Loraine

เกร็ด: ผู้กำกับ Lean ยังเคยนำบทเพลงนี้มาใช้ในภาพยนตร์ The Bridge on the River Kwai (1957)

ผมเคยกล่าวถึง Beer Barrel Polka เมื่อครั้น Listen to Britain (1942) แต่เรื่องนั้นมีแค่ท่วงทำนองของ Jaromír Vejvoda นักแต่งเพลงชาว Czech ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1927 ภายหลังค่อยมีการเพิ่มคำร้องโดย Vašek Zeman เมื่อปี ค.ศ. 1934 มักได้ยินตามผับบาร์ กิจกรรมเต้นลีลาศ แพร่หลายอย่างกว้างขวางช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ยินถึงสามครั้งครา

  • ระหว่างกำลังล่องลอยคออยู่กลางทะเล ฮาร์โมนิก้าเปลี่ยนบทเพลง Run Rabbit Run มาเป็น Beer Barrel Polka แต่ด้วยทำนองเหงาหงอยเศร้าซึม
  • จากนั้นตัดภาพเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) ระหว่างรอซ่อมเรือ Shorty Blake, Walter Hardy พร้อมกับครอบครัว ต่างร่วมขับร้องพร้อมการแสดงบทเวทีอย่างสนุกสนานครื้นเครง
  • ช่วงท้ายเมื่อเรือกู้ภัยเดินทางมาถึง หลังจากตะโกนโหวกเหวก ได้ยินเสียงฮาร์โมนิก้า ร่วมกันขับร้องด้วยความดีใจเอ่อล้นที่สามารถเอาตัวรอดชีวิต

เกร็ด: Beer Barrel Polka เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ถูกบรรเลงวัน VE Day (Victory in Europe Day) 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ทำการแสดงโดย Humphrey Lyttelton หน้าพระราชวัง Buckingham Palace และเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ BBC

Roll out the barrel, we’ll have a barrel of fun
Roll out the barrel, we’ve got the blues on the run
Zing boom tararrel, sing out a song of good cheer
Now’s the time to roll the barrel, for the gang’s all here

ภาพยนตร์แนวปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film) มีความละม้ายคล้าย แต่ก็แตกต่างจากหนังชวนเชื่อ (Propaganda Film) เหตุผลหลักๆคือไม่ได้พยายามชี้นำความครุ่นคิด ให้เกิดความโกรธ รังเกียจ ต่อต้านอุดมการณ์อีกฝั่งฝ่ายขั้วตรงข้าม แต่นำทางอารมณ์ ความรู้สึก ให้เกิดพลังฮึกเหิม ขวัญกำลังจากภายในตัวเราเอง

In Which We Serve (1942) นำเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเรือพิฆาต RMS Torrin ถูกโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดจนอับปางลง ทำออกมาให้กลายเป็นภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film) สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ชมและทหารหาญ ไม่ย่นย่อท้อแท้ต่อภัยสงครามก้าวย่างเข้าสู่ปีที่สาม (สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1939)

การอับปางของเรือพิฆาต RMS Torrin ย่อมทำให้ผู้ชมรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจ สามารถเปรียบได้กับความพ่ายแพ้สงคราม ราวกับจิตวิญญาณกำลังจมดิ่งสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร แต่ด้วยสันชาติญาณมนุษย์ ไม่มีใครอยากยินยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเกิดอาการฮึกเหิม พละพลัง ขวัญกำลังใจ ต้องการลุกขึ้นมาต่อสู้ เผชิญหน้าศัตรู พร้อมเสียสละตนเองเพื่อผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน

สังเกตว่าหนังแทบไม่พบเห็นภาพศัตรู เพียงเรือรบที่ถูกโจมตี และเครื่องบินเฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ส่วนใหญ่นำเสนอเรื่องราวทหารอังกฤษ และชีวิตบนบกของพวกเขาเมื่อไม่ได้สวมเครื่องแบบ นี่คือสิ่งทำให้ผู้ชม(ที่ไม่ได้เข้าร่วมสงคราม)สามารถสัมผัสจับต้อง เข้าใจความรู้สึกตัวละคร ราวกับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน

It’s remarkable for a propaganda film to make so little of the enemy. … Coward means to show his countrymen what would be lost if Britain lost the war.

นักวิจารณ์ Terrence Rafferty จาก Criterion

จะว่าไปการเข้าสู่ปีที่สามของสงคราม ก็ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของ In Which We Serve (1942) อยู่ไม่น้อย! เพราะช่วง 1-2 ปีแรกคงเต็มไปด้วยหนังชวนเชื่อที่พยายามอธิบายโน่นนี่นั่น ชี้นำนาซีเลวอย่างโน้น ประชาธิปไตยดีอย่างนี้ ผู้คนสมัยนั้นคงเริ่มเกิดความเบื่อหน่าย! … ใครกันจะไม่รับรู้ว่าโลกกำลังอยู่ในสภาวะสงคราม

ภาพยนตร์ที่จะประสบความสำเร็จในช่วงกลางๆของสงคราม (ปีที่สามเป็นต้นไป) ต้องสามารถก้าวข้ามผ่านแนวคิดชวนเชื่อ (หรือชวนเชื่อโดยไม่รับรู้ตัวว่ากำลังถูกชวนเชื่อ!) นำเสนอเรื่องราวสะท้อนสภาวะสงคราม (War Drama) หรือสร้างพละพลัง ขวัญกำลังใจ ให้พานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก … นี่ถือเป็นวิวัฒนาการภาพยนตร์ในช่วงสงครามที่น่าสนใจทีเดียว

ขณะที่ความตั้งใจของ Coward ต้องการสร้างหนังที่มี ‘เนื้อหา’ ปลุกใจรักชาติ นำเอาเหตุการณ์ความสูญเสีย โศกนาฎกรรมเรืออับปาง เปลี่ยนมาเป็นพละพลัง สร้างขวัญกำลังใจ ซึ่งผู้กำกับ Lean นำแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอดด้วยการพยายามสร้าง ‘ลมหายใจเฮือกสุดท้าย’ ให้กับเรือพิฆาตลำนี้


หนังได้รับการสนับสนุนทุนสร้างจากกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) จำนวน £240,000 ปอนด์ เสียงตอบรับเมื่อตอนออกฉายถือว่าดีล้นหลาม ทำเงินในอังกฤษสูงสุดอันดับสองแห่งปี (บางแหล่งข่าวว่าอันดับหนึ่ง) £300,000 ปอนด์ และพอเข้าฉายสหรัฐอเมริกาทำเงินได้อีกประมาณ $1.8 ล้านเหรียญ

There have been other pictures which have vividly and movingly conveyed in terms of human emotion the cruel realities of this present war. None has yet done it so sharply and so truly as In Which We Serve.

นักวิจารณ์ Bosley Crowther จากหนังสือพิมพ์ The New York Times

ช่วงปลายปีได้เข้าชิง Oscar สองสาขา Best Picture (พ่ายให้กับ Casablanca (1942)) และ Best Writing, Original Screenplay แม้ไม่ได้เป็นผู้ชนะแต่มีการมอบรางวัลพิเศษ Honorary Award ให้กับ Noël Coward ในฐานะทำประโยชน์เพื่อการสงคราม (For his outstanding production achievement.)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย BFI National Archive และ Granada International คุณภาพ High-Definition เสร็จสิ้นเมื่อปี 2008 จัดทำเป็น DVD/Blu-Ray โดย Criterion Collection รวมอยู่ในคอลเลคชั่น David Lean Directs Noël Coward ทั้งหมด 4 เรื่อง (In Which We Serve, This Happy Breed, Blithe Spirit และ Brief Encounter)

ส่วนตัวประทับใจในเทคนิค ลูกเล่นการนำเสนอของหนัง สร้างความเพลิดเพลิน น่าติดตาม เป็นการผสมผสานระหว่าง ‘Coward & Lean’ ได้อย่างเฉพาะตัว! แต่ภาพรวมผมรู้สึกว่าหนังพยายามยัดเยียด บิดเบือน ‘manipulate’ มากเกินไป (ก็แน่ละ นี่คือหนังชวนเชื่อแนวปลุกใจรักชาติ) มันเลยดูไม่เป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ เห็นด้วยกับบรรดานายพลทหารเรือ “In Which We Sink” โศกนาฎกรรมมันใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจตรงไหน??

แนะนำคอหนังประวัติศาสตร์ ชวนเชื่อสงครามโลกครั้งที่สอง (Wars Drama), อาจจะเหมาะกับบรรดาทหารเรือ สำหรับปลุกใจรักชาติ (Patriotic Film), และโดยเฉพาะนักตัดต่อ ศึกษาโครงสร้าง วิธีการนำเสนอ แฟนๆผู้กำกับ David Lean ไม่ควรพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 13+ กับสงคราม ความสูญเสีย

คำโปรย | In Which We Serve ลมหายใจเฮือกสุดท้าย ที่สามารถสร้างความฮึกเหิม พละพลัง ขวัญกำลังใจ ให้ผู้ชมชาวอังกฤษพานผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
คุณภาพ | ฮืสุท้
ส่วนตัว | ปลุกใจรักชาติ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: