India Song

India Song (1975) French : Marguerite Duras ♥♥♥♥

บทกวีรำพันหายนะแห่งรัก ต่อให้ Anne-Marie Stretter (รับบทโดย Delphine Seyrig) พยายามเสาะแสวงหา ขวนขวายไขว่คว้า เปลี่ยนคนรักไม่ซ้ำหน้า แต่กลับไม่มีใครสามารถรักษาโรคเรื้อนในหัวใจ หลงเหลือไว้เพียงความเวิ้งว้าง เศษซากปรักหักพังของสถานทูตฝรั่งเศสประจำอินเดีย ภายหลังการประกาศอิสรภาพ

อย่าให้ชื่อหนัง India Song (1975) มาล่อหลอกว่าเป็นหนังเพลง น่าจะมีความสนุกสนานครื้นเครง โยกเต้นเริงระบำ ตามสไตล์หนังภารตะทั่วๆไป, แต่นี่คือภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส โดดเด่นในความเป็นศิลปะชั้นสูง ผู้ชมต้องรู้จักขบครุ่นคิดวิเคราะห์ สังเกตวิธีการนำเสนอ ถึงสามารถปีนป่ายขึ้นบันได พบเห็นสรวงสวรรค์รำไร

India Song (1975) ถือเป็นภาพยนตร์ศิลปะชั้นสูง ที่ท้าทายขีดความสามารถในการรับชมอย่างมากๆ (ผมจัดระดับความยากสูงสุด Veteran) เอาจริงๆเนื้อเรื่องราวไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร แต่ลีลาการนำเสนอของผกก. Duras มีความเฉพาะตัวอย่างยิ่ง! กล้องมักตั้งทิ้งไว้ ขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า นักแสดงก้าวเดินเอื่อยเฉื่อย ไม่ก็เต้นรำเรื่อยเปื่อยไปมา ปากไม่เคยขยับแต่กลับได้ยินเสียงซุบซิบนินทา ทุกสิ่งอย่างดู ‘out-of-sync’ คำพูดบรรยายไม่เคยตรงกับภาพนำเสนอ ถ้าไม่เพราะเพลงประกอบชี้นำทางอารมณ์ คงเป็นสองชั่วโมงที่ผู้ชมตกนรกทั้งเป็น!

ก่อนจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมแนะนำให้ควรพานผ่าน Hiroshima mon amour (1959) และ Last Year at Marienbad (1961) สองผลงานชิ้นเอกของผกก. Alain Resnais ที่ดำเนินเรื่องอย่างเอื่อยเฉื่อย เลื่อนลอย เหมือนจะไร้แก่นสาน แต่มันมีบางสิ่งอย่างคืบคลานในความมืด หายนะ สิ้นหวัง เศษซากปรักหักพัง … Marguerite Duras คือผู้เขียนบท Hiroshima mon amour (1959)

อีกสิ่งที่ต้องแนะนำคือหาอ่านชีวประวัติผกก. Duras แล้วคุณอาจจะร้องอ๋อว่าทำไมถึงสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่ดูเคว้งคว้าง เวิ้งว่าง ล่องลอยในความสิ้นหวัง นั่นเพราะเธอตีตราความรักไม่ต่างจากโรคเรื้อนในหัวใจ (Leprosy of the Heart) ผลงานเรื่องอื่นๆก็ล้วนสอดคล้องแนวคิด หมดสิ้นศรัทธาในรัก ‘destructiveness of love’ และ ‘the futility of love’

ทำไมถึงตั้งชื่อ India Song (1975)? นอกจากคือชื่อบทเพลงของ Carlos d’Alessio ดังขึ้นบ่อยครั้งจนติดหู (แต่มันก็ไม่ใช่ดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ออกไปทาง American Slow Jazz) ท่วงทำนองมีความหลอกหลอน เคว้งคว้างล่องลอย ต้องการสื่อถึงอดีตสถานกงศุลในอาณานิคมอินเดีย (British Raj) หลังได้รับการปลดแอก หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง … นี่คือใจความแฝงถึงจุดล่มสลายลัทธิอาณานิคม

Marguerite Germaine Marie Donnadieu (1914-96) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Gia Định ขณะนั้นคืออาณานิคม Cochinchina, French Indochina (ปัจจุบันคือ Ho Chi Minh, Vietnam) บิดา-มารดาต่างเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส Gia Định High School คงพบเจอตกหลุมรักกันที่นั่น, ค.ศ. 1921 บิดาล้มป่วยหนัก จำต้องเดินทางกลับมารักษาตัวฝรั่งเศส แต่ก็เสียชีวิตในเวลาถัดมา ทำให้มารดาย้ายไปสอนหนังสือยังกรุง Phnom Penh ติดตามด้วย Vĩnh Long และ Sa Đéc

ค.ศ. 1931 เมื่ออายุครบ 17 ปี เดินทางกลับฝรั่งเศสเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรี University of Paris สอบผ่านภาษาต่างประเทศ(เวียดนาม), ปรัชญา, กฎหมาย, คณิตศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง แล้วได้เข้าทำงานเลขานุการ กระทรวงอาณานิคม (Ministry of the Colonies), ค.ศ. 1939 แต่งงานกับเพื่อนนักศึกษา/นักเขียน Robert Antelme

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จำต้องทำงานภายใต้ Vichy (รัฐบาลหุ่นเชิดของ Nazi Germany) ตำแหน่งเลขาธิการ Book Organizing Committee ตรวจอนุมัติ(เซนเซอร์)สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายในประเทศ นั่นทำให้เธอได้พบเจอชู้รัก Dionys Mascolo, ตีพิมพ์นวนิยายเล่มแรก Les Impudents (1943) โดยใช้นามปากกา Marguerite Duras, เคยให้ความช่วยเหลือ(ว่าที่ปธน.) François Mitterrand เลยได้รับชักชวนเข้าร่วมกลุ่ม French Resistance วันหนึ่งถูก Gestapo บุกเข้ามาตรวจค้นอพาร์ทเม้นท์ จับกุมสามี Antelme ส่งไปค่ายกักกัน Buchenwald ต่อด้วย Dachau โชคดียังสามารถรอดชีวิตกลับมา ด้วยน้ำหนักตัวเหลือเพียง 38 กิโลกรัม สร้างความหลอกหลอนให้กับ Duras ช่วยเหลือดูแลรักษาจนร่างกายหวนกลับมาเป็นปกติ

จริงๆตั้งแต่ก่อน Antelme ถูกส่งไปค่ายกักกันนาซี Duras ตั้งใจจะเลิกราหย่าร้างสามี เพราะขณะนั้นแอบสานสัมพันธ์ คบชู้กับเพื่อนนักเขียนอีกคน Dionys Mascolo แต่พอพบเห็นเขารอดกลับมาในสภาพนั้น จึงให้การช่วยเหลือดูแลจนรักษาหายดี ค่อยพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกครั้ง … Duras เขียนอธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นทั้งหมดในหนังสือ La Douleur (1985) ชื่ออังกฤษ The War: A Memoir และแสดงความคิดเห็นต่อการนอกใจสามี ‘fidelity was absurd’

Duras เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงวรรณกรรมจากผลงานลำดับที่สาม Un barrage contre le Pacifique (1950) ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ เขื่อนกั้นแปซิฟิก (The Sea Wall) ได้รับการดัดแปลงภาพยนตร์ This Angry Age (1957), นอกจากนวนิยาย ยังมีงานเขียนบท Hiroshima Mon Amour (1959), ร่วมกำกับ La Musica (1967), และฉายเดี่ยวในฐานะผู้กำกับ Détruire, dit-elle (1969) แปลว่า Destroy, She Said นักวิจารณ์ให้นิยามว่า “an interval between book and film.”


จุดเริ่มต้นภาพยนตร์ India Song มาจากนวนิยาย Le Vice-Consul (1966) แปลว่า The Vice-Consul เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองผู้บรรยายนิรนาม (Anonymous narrator) และตัวละครชื่อ Peter Morgan หนึ่งในผู้ติดตาม(ชู้รัก) Anne-Marie Stretter ภริยาทูตฝรั่งเศสประจำ Calcutta มีโอกาสได้พบเห็น The Vice-Consul of Lahore พยายามเข้ามาเยี่ยมเยี่ยน ติดตามเธอไปทุกแห่งหน แต่กลับถูกฝ่ายหญิงบอกปัดปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

(ทั้งๆนวนิยายชื่อ The Vice-Consul แต่ชายคนนี้แทบจะไร้ตัวตน ไม่เคยได้รับความสนใจ แถมถูกบอกปัดปฏิเสธจาก Anne-Marie Stretter จนตอนจบความสัมพันธ์ก็ไม่เคยคืบหน้าไปไหน ล่อหลอกผู้อ่านให้เกิดความเข้าใจผิดๆว่าเขาคือตัวละครหลักของเรื่องราว)

เมื่อตอนสมัยวัยรุ่น Duras เคยแวะเวียนไปท่องเที่ยวอินเดียเพียงไม่กี่วัน เขียนนวนิยายเล่มนี้ขึ้นจากจินตนาการเสียส่วนใหญ่ โดยไม่ใช้ที่ปรึกษา หรือมีแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายใดๆ นอกเสียจากเรื่องราวขอทานคนบ้า นำจากความทรงจำสมัยเด็กขณะอาศัยอยู่เวียดนาม เคยพบเห็นมารดาเร่ขายบุตรของตนเอง รู้สึกอเนจอนาถใจยิ่งนัก

ในขณะที่ Anne-Marie Stretter มาจากอีกความทรงจำสมัยวัยรุ่น เคยพบเจอ/ได้ยินเสียงลือเล่าอ้างถึงภริยาเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป (General Administrator) ประจำการอยู่ Vĩnh Lon เห็นว่าวันๆอาศัยอยู่แต่ในสถานทูต ไม่ค่อยออกเดินทางไปไหน ทำให้ผิวขาวซีด (ว่ากันว่าเธอไม่ชอบอาศัยอยู่ต่างประเทศ) และเคยมีชายหนุ่มฆ่าตายตัวถวายรัก … นั่นทำให้จินตนาการวัยเด็กของ Duras เตลิดเปิดเปิงไปไกล

เกร็ด: นวนิยาย Le Vice-Consul (1966) ไม่เชิงว่าเป็นภาคต่อ แต่สามารถเหมารวมไตรภาค ‘Indian Cycle’ ประกอบด้วย The Ravishing of Lol Stein (1964), The Vice-Consul (1966) และ L’amour (1971), ซึ่งช่วงท้ายของเล่มแรก The Ravishing of Lol Stein (1964) จะมีการปรากฎตัวของ Anne-Marie Stretter ในงานเลี้ยงหมั้นหมาย สวมชุดเดรสดำ สร้างความประทับใจให้กับ Michael Richardson (ที่กำลังจะหมั้นหมาย Lola Valérie Stein) จนยินยอมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ติดตามเธอไปทุกแห่งหน … Michael Richardson ไม่ใช่คนเดียวกับ The Vice-Consul แต่คือหนึ่งในผู้ติดตาม(ชู้รัก) Anne-Marie Stretter ในนวนิยาย Le Vice-Consul (1966)

ในตอนแรก Duras ได้รับมอบหมายจาก Peter Hall แห่ง Royal National Theatre ให้ดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้เป็นละคอนเวที แต่หลังพัฒนาบทเสร็จสิ้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1972 กลับไม่ได้รับคำตอบอนุมัติ จึงตัดสินใจยื่นของบประมาณจาก Centre national du cinéma et de l’image animée (CNC) ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส เป็นทุนสร้างภาพยนตร์จำนวน 250,000 ฟรังก์

เกร็ด: สำหรับฉบับภาพยนตร์ก็มีอยู่สามเรื่องที่ถือเป็น ‘Indian Cycle’ ได้เช่นกัน แต่นอกจาก India Song (1975) เรื่องอื่นๆไม่ได้ดัดแปลงจากนวนิยายเล่มใดๆของ Duras ประกอบด้วย Woman of the Ganges (1974), India Song (1975) และ Her Venetian Name in Deserted Calcutta (1976)


หนังเริ่มต้นจากเสียงร้องเพลงภาษาไทย(หรือลาว)ของขอทานที่น่าจะเป็นคนบ้า ก่อนมีคำอธิบายในลักษณะซุบซิบนินทา เล่าว่าเธอคนนั้นเกิดที่สะหวันเขต (ลาว) ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 17 มีบุตรทั้งหมด 12 คน วันดีคืนดีตัดสินใจขายลูกขายเต้า แล้วก้าวออกเดินมุ่งสู่อินเดีย ข้ามแม่น้ำคงคา มาจนถึงเมือง Calcutta หาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลา เวลาว่างๆมักขับร้องเพลงด้วยความโหยหวน คร่ำครวญ เหมือนจะครุ่นคิดถึงบ้านสะหวันเขต

สถานทูตฝรั่งเศสประจำอินเดีย ณ เมือง Calcutta ได้ยินเสียงซุบซิบเรื่องราวของ Anne-Marie Stretter (รับบทโดย Delphine Seyrig) ชื่อเดิม Ana Maria Guardi ตอนอายุ 18 แต่งงานกับข้าราชการพลเรือน Monsieur Guardi แล้วเดินทางไปทำงานยังสะหวันเขต (ลาว) มีชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่ายอยู่ริมฝั่งโขง จนกระทั่งได้พบเจอผู้ตรวจการ Monsieur Stretter เลยตัดสินใจหนีตามไปอยู่ด้วยกัน เคยพักอาศัยอยู่ปักกิ่ง (จีน), มัณฑะเลย์ (พม่า), บางกอก (สยาม), ย่างกุ้ง (พม่า), ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย), ลาฮอร์ (ปากีสถาน) และปัจจุบันเป็นท่านทูตฝรั่งเศสประจำอินเดีย ณ โกลกาตา

ด้วยความเบื่อหน่ายในชีวิต Anne-Marie Stretter จึงมักมองหาชายหนุ่มรูปงาม ที่เพิ่งเดินทางมาถึงอินเดียได้ไม่นาน ชักชวนมาร่วมงานเลี้ยงเต้นรำ แอบสานสัมพันธ์ สลับเปลี่ยนคู่นอนไม่เว้นวัน คนแล้วคนเล่าโดยไม่สนคำครหา เสียงซุบซิบนินทา สามีก็เหมือนจะไม่ว่าอะไร อยากทำอะไรก็ทำไป หนุ่มๆเหล่านั้นก็พร้อมพลีกายถวาย ขอแค่เพียงได้อยู่ใกล้ชิดตราบจนวันตาย

ท่านรองที่ปรึกษาแห่งลาฮอร์ (The Vice-Consul of Lahore) (รับบทโดย Michael Lonsdale) เป็นโสดมาทั้งชีวิต ไม่เคยครุ่นคิดอยากแต่งงาน จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบเจอ Anne-Marie Stretter เกิดความลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้ ไม่เป็นอันกินอันนอน ตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง แอบติดตามทุกเช้าค่ำ พยายามอ้อนวอนร้องขอ ต้องการครอบครองแม้เพียงชั่วข้ามคืน แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ไม่ว่าจะทำอะไรเธอก็ไม่เคยหันมาเหลียวแลมอง


Delphine Claire Beltiane Seyrig (1932-90) นักแสดงสัญชาติ Lebanese เกิดที่ Beirut, Lebanon ครอบครัวอพยพหนีสงครามโลกครั้งที่สองสู่กรุง New York ก่อนหวนกลับมาช่วงปลายทศวรรษ 40s, ด้วยความชื่นชอบหลงใหลด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าศึกษายัง Comédie de Saint-Étienne ตามด้วย Centre Dramatique de l’Est และ Actors Studio (ที่ New York City), ภาพยนตร์เรื่องแรก Pull My Daisy (1958), แจ้งเกิดกับ Last Year at Marienbad (1961), ผลงานเด่นๆ อาทิ Muriel (1963), Accident (1967), Stolen Kisses (1968), The Day of the Jackal (1973), India Song (1975) และ Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ได้รับการกล่าวขวัญ ‘feminist figure’ แห่งฝรั่งเศส

รับบท Anne-Marie Stretter ภริยาท่านทูตฝรั่งเศส ขณะนั้นอาศัยอยู่ Calcutta วันๆแทบไม่เคยออกไปไหน ใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่าย เลยผ่อนคลายด้วยการเกี้ยวพาราสีชายหนุ่มรูปงาม ชักชวนมาร่วมงานเลี้ยงเต้นรำ แอบสานสัมพันธ์ สลับเปลี่ยนคู่นอนไม่เว้นวัน แต่ปฏิเสธให้โอกาสกับ The Vice-Consul ก็ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไร ถึงอย่างนั้นปฏิกิริยาสีหน้ากลับแสดงความห่วงหาอาลัย ภายในคงมีบางสิ่งอย่างติดค้างคาใจ

[Delphine Seyrig]’s the greatest actress in France and possibly in the entire world.

Marguerite Duras

เมื่อตอนผมรับชม Jeanne Dielman (1975) คุ้นๆว่าเคยได้ยินคำกล่าวคล้ายๆกันนี้จากผกก. Chantal Akerman ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ แต่หลังจากรับชม India Song (1975) พบเห็นความละม้ายคล้ายคลึง นั่นคือการใช้อากัปกิริยา ปฏิกิริยาสีหน้า ภาษากายขยับเคลื่อนไหว สำหรับสื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในออกมา (แต่การขยับเคลื่อนไหวใน Jeanne Dielman (1975) คือการให้ตัวละครกระทำสิ่งโน่นนี่นั่น งานบ้านงานเรือน เหมือนหุ่นยนต์ทำตามโปรแกรมคำสั่ง มันจึงไร้อารมณ์ความรู้สึกร่วมใดๆ) นั่นสร้างความตระหนักอย่างจริงจังว่า Seyrig คือนักแสดง(หญิง)ที่ทำการแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดจริงๆ

การที่ตัวละครไม่ขยับปากพูด (แต่บางฉากยังได้ยินเสียงสนทนาของ Seyrig ก็ไม่รู้ล่องลอยมาจากไหน) ช่วยสร้างมิติการแสดงได้อย่างลุ่มลึกล้ำมากๆ ทำให้ทุกอากัปกิริยา ท่าทางเคลื่อนไหว ดูมีพลัง น้ำหนัก สำคัญต่อเรื่องราว แฝงนัยยะความหมาย ถ่ายทอดความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมา

สังเกตจากสีหน้าของ Stretter ดูไม่ค่อยอยากเต้นรำกับ The Vice-Consul แต่สถานการณ์ขณะนั้นทำให้ต้องตอบตกลง ยินยอมรับฟังคำอ้อนวอนร้องขอ พร่ำเพ้อรำพัน เรียกร้องถ้าไม่ทำตามจะแหกปากลั่น หลายคนอาจมองว่าปฏิกิริยาของเธอนั้น รังเกียจ ปฏิเสธต่อต้าน แสดงอาการไม่พึงพอใจ ส่วนผมเองเห็นเหมือนมีอะไรบางอย่างซุกซ่อนเร้นภายใน ความรู้สึกที่ฝ่ายหญิงโหยหา อยากครอบครองแต่ไม่ยอมสูญเสียบางสิ่งอย่าง


Michael Edward Lonsdale Crouch (1931-2020) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่ไปเติบโตที่ Jersey ตามด้วย London ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองปักหลักอยู่ Casablanca, Morocco [เล่าว่าได้ทันดูภาพยนตร์ Casablanca (1942) เมื่อตอนเข้าฉายใน Casablanca] หลังสงครามเดินทางกลับฝรั่งเศส เริ่มต้นจากร่ำเรียนการวาดรูป ก่อนเปลี่ยนมาสู่การแสดงละครเวที ฝึกฝนการแสดงกับ Tania Balachova ณ Théâtre du Vieux-Colombier มีชื่อเสียงจากภาพยนตร์ The Bride Wore Black (1968), Stolen Kisses (1968), Murmur of the Heart (1971), โด่งดังระดับนานาชาติกับ The Day of the Jackal (1973), The Phantom of Liberty (1974), India Song (1975), Mr. Klein (1976), เพราะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส เลยได้โกอินเตอร์ภาพยนตร์ Moonraker (1979), Chariots of Fire (1981), The Name of the Rose (1986), The Remains of the Day (1993), Munich (2005), Goya’s Ghosts (2006), Of Gods and Men (2010) ฯ

รับบท The Vice-Consul ชายวัยกลางคนผู้มีความลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้ ตกหลุมรักแรกพบภริยาท่านทูต Anne-Marie Stretter ขณะอาศัยอยู่ Lahore ถึงขนาดยินยอมละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง น่าจะจงใจทำปืนลั่นเพื่อให้ถูกสั่งย้ายมายัง Calcutta แอบติดตามทุกเช้า-ค่ำ มีโอกาสเข้าหาก็พยายามอ้อนวอนร้องขอ ให้ได้ครอบครองเธอแค่เพียงชั่วข้ามค่ำคืนเดียวเท่านั้น แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ไม่ว่าจะทำอะไรฝ่ายหญิงก็ไม่เคยหันมาเหลียวแลมอง

แม้ส่วนใหญ่ตัวละครจะเดินไปเดินมาจากระยะไกลๆ แต่เมื่อพบเห็นประชิดใกล้ มักมีน้ำตาไหลคลอ สีหน้าอมทุกข์ทรมาน ท่าทางเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เหมือนคนจะขาดใจตาย นั่นคืออาการของคนคลั่งรัก มักพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเธอ

สิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ของ Lonsdale ไม่ใช่ระหว่างร่ำร้องไห้ เดินไปเดินมา หรือขณะปรากฎตัวเข้าฉาก แต่คือเสียงตะโกน กรีดร้องโหยหวน ต้องการแสดงออกให้โลกรับรู้ว่าฉันรักเธอ นั่นทำให้ผมรู้สึกสั่นสะท้านทรวงใน ยุคสมัยนั้นคนส่วนใหญ่อาจมองว่าคลุ้มบ้าคลั่ง แท้จริงแล้วเขาพยายามพิสูจน์ตนเอง เรียกร้องความสนใจ ฉันยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ รักในอุดมคติ … ไม่เว้นแม้ความตาย

เกร็ด: ในหนังสือบันทึกความทรงจำ Le Dictionnaire de Ma Vie (2016) มีการเปิดเผยว่า Lonsdale แอบชื่นชอบ ตกหลุมรัก Delphine Seyrig ตั้งแต่แรกพบเจอเมื่อปี ค.ศ. 1947 หลงใหลในน้ำเสียง “The Actress with the Cello Voice” นั่นคือเหตุผลที่เขาไม่เคยแต่งงาน “It was her or nothing.” ยินยอมตอบรับภาพยนตร์ India Song (1975) และบอกด้วยว่านี่คือช่วงเวลามีความสุขที่สุดในชีวิต

It helped me exorcise the suffering I was going through at the time in my personal life.

Michael Lonsdale

ถ่ายภาพโดย Bruno Nuytten (เกิดปี 1945) ตากล้อง/ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Melun, Seine-et-Marne ตั้งแต่เด็กเข้าร่วมคณะละคอนเวทีสมัครเล่น โตขึ้นเลยฝึกฝนการแสดงยัง L’Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) ตามด้วยคอร์สถ่ายภาพ Institut national supérieur des arts du spectacle et des techniques de diffusion (INSAS) แล้วมีโอกาสเป็นผู้ช่วยตากล้อง Ghislain Cloquet ตามด้วย Claude Lecomte และ Ricardo Aronovitch, เริ่มมีผลงานเด่นๆ India Song (1975), Possession (1981), The Grilling (1981), Jean de Florette (1986), กำกับภาพยนตร์ Camille Claudel (1988) คว้ารางวัล César Award: Best film

งานภาพของ India Song (1975) ถือว่ามีความงดงามวิจิตรศิลป์! ส่วนใหญ่ตั้งกล้องแช่ภาพ มุมกล้องเดิมๆ สะท้อนกระจกเงา (ชวนให้นึกถึง Jalsāghar (1958) หรือ The Music Room ของ Satyajit Ray) ถ้าขยับเคลื่อนไหวก็จะดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ เอื่อยเฉื่อย เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับบรรยากาศ พบเห็นสถานกงศุลฝรั่งเศสประจำอินเดียในสภาพเสื่อมโทรมทราม ปรักหักพัง (แต่ถ่ายทำทั้งหมดยังประเทศฝรั่งเศส)

สไตล์ของผกก. Duras เกิดขึ้นจากความบังเอิญล้วนๆ เหตุผลของการที่ภาพและเสียง ‘out of sync’ เกิดจากทีมงานไม่สามารถบันทึกเสียงพูดนักแสดง ไปพร้อมๆกับบรรเลงเพลงประกอบ ด้วยเหตุนี้เธอจึงให้นักแสดงเข้าห้องอัด(พร้อมบันทึกเพลงประกอบ)เสร็จสิ้นก่อนล่วงหน้า จากนั้นนำมาเปิดฟังในกองถ่าย (โดยไม่ต้องบันทึกเสียงระหว่างถ่ายทำเพิ่มเติม) แล้วให้นักแสดงก้าวเดิน ขยับเคลื่อนไหว เต้นรำไปโดยไม่ต้องขยับปากพูดอะไรออกมา

จะว่าไปการขยับเคลื่อนไหว(อย่างเนิบนาบ เชื่องชักช้า)ของตัวละคร ก็มีลักษณะคล้ายจังหวะดนตรี ‘musical rhythm’ ดำเนินตามเสียงพูดคุยสนทนา ซุบซิบนินทา ซึ่งหลายต่อหลายครั้งประโยคคำพูดมักมีลักษณะถาม-ตอบ (ของคนสองคน) “A beggar woman.” “Mad?” “Yes.” สั้นๆห้วนๆแต่ได้ใจความสำคัญ (นี่อาจขึ้นกับความสามารถผู้ชมในการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน) “What is that scent of flowers?” “Leprosy.” “Where are we?” “The French Embassy, in India.” “That murmur?” “The Ganges.”

สถานที่ใช้แทนสถานกงศุลคือ Château Rothschild ตั้งอยู่ Boulogne-Billancourt, Hauts-de-Seine ในอดีตเคยเป็นคฤหาสถ์ของตระกูล Rothschild ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1855, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถูกยึดครองโดย Kriegsmarine (กองทัพเรือ Nazi) ตอนถ่ายทำหนังถูกทิ้งร้าง สภาพปรักหักพังอย่างที่พบเห็น เมื่อปี ค.ศ. 2020 เพิ่งได้การบูรณะซ่อมแซม ปรับปรุงใหม่อย่างสวย

ภาพแรกของหนังถ่ายทำแบบ ‘Long Take’ พระอาทิตย์กำลังลาลับขอบฟ้า ความมืดมิดกำลังคืบคลานเข้ามา ได้ยินเสียงร้องโหยหวน ขับขานบทเพลงภาษาไทย/ลาว ตามด้วยเสียงซุบซิบนินทาของใครก็ไม่รู้ พูดกล่าวถึงหญิงขอทานที่น่าจะบ้า เดินด้วยเท้ามาจากสะหวันเขต (ลาว) ขายลูกขายเต้า เอาตัวรอดด้วยการหาปลา ข้ามแม่น้ำคงคา มาจนถึงใกล้ๆสถานทูตฝรั่งเศสในเมือง Calcutta

หนังไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ใดๆระหว่างหญิงขอทานกับ Anne-Marie Stretter แต่ทั้งสองต่างมีจุดเริ่มที่สะหวันเขต ปัจจุบันออกเดินทางมาถึงยังโกลกาตา นั่นแสดงถึงการเปรียบเทียบคู่ขนาน พวกเธอต่างพานผ่านอะไรๆมาคล้ายๆกัน หรือจะมองว่าคือบุคคลเดียวกันก็ยังได้!

  • ในขณะที่ Anne-Marie Stretter มีศักดิ์เป็นภริยาท่านทูต ถือว่าชนชั้นสูง ชีวิตสุขสบาย ตัวแทนจักรวรรดิอาณานิคม (ฝรั่งเศส) สามารถครุ่นคิดทำอะไรได้ตามสบาย คบชู้นอกใจสามี ได้ยินเพียงเสียงซุบซิบนินทา
  • หญิงขอทาน ชนชั้นต่ำ หาเช้ากินค่ำ ตัวแทนประเทศอาณานิคม (ลาว, อินเดีย) แทบจะไร้ตัวตน ได้ยินเพียงเสียงขับร้องเพลง เลยถูกตีตรากล่าวหาว่าเป็นคนบ้า

พฤติกรรมของ Anne-Marie Stretter คบชู้นอกใจ กระทำสิ่งต่างๆอย่างไม่ยี่หร่าอะไรใคร ถ้าเธอไม่ใช่สตรีสูงศักดิ์ ก็ไม่ต่างอะไรจากหญิงขอทานชั้นต่ำ (ขับร้องเพลงเพราะ)พร่ำเพ้อรำพันถึงอดีต ย่อมถูกตีตรากล่าวหาว่าเป็นยัยบ้า … หญิงขอทานคนนั้นเป็นบ้าจริงไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะคำว่าบ้าในบริบทของหนังน่าจะหมายถึง บุคคลกระทำสิ่งผิดแผกแตกต่างจากขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี พูดง่ายๆก็คือแสดงพฤติกรรมไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง คนส่วนใหญ่เลยไม่ให้การยินยอมรับ

ภาพพระอาทิตย์ตกดิน ผมยังมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงจุดสิ้นสุด(กลางวัน) ความตกต่ำ ช่วงเวลามืดมิดกำลังคืบคลานเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเสื่อมโทรม ปรักหักพักของสถานกงศุล วันวานแห่งความรุ่งโรจน์ได้พานผ่านไปแล้ว หลงเหลือเพียงประวัติศาสตร์ ความทรงจำ จินตนาการเพ้อฝัน โลกหลังความตาย หรือจะตีความว่ายุคสมัยอาณานิคมได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว!

สำหรับคนช่างสังเกตจะพบเห็นความสัมพันธ์ ‘ภาพประกอบคำบรรยาย’ ระหว่างภาพปรากฎขึ้นกับเสียงพูดคุยสนทนา ซุบซิบนินทา ในลักษณะคำถาม-คำตอบ อย่างภาพแรกจะเริ่มจากคำถาม “Where are we?” ปรากฎภาพสถานที่แห่งหนึ่งในสภาพเสื่อมโทรม “The French Embassy, in India.”


ส่วนภาพสองระหว่างที่กล้องแพนนิ่งภายในสถานทูตมาจนถึงรูปภาพ เสียงซุบซิบจะกล่าวว่า “Anne-Marie Stretter” มันจะเป็นใครอื่นได้อย่างไร? แต่การจุดกำยาน พร้อมวางดอกกุหลาบ(จากเนปาล)ไว้เคียงข้าง ดูเหมือนการไว้ทุกข์ ไว้อาลัย ซึ่งถ้าใครสังเกตเสียงซุบซิบก่อนหน้านี้จะได้ยินว่า

“When she died, he left India?” “Yes.”
“Her grave is in the English cemetery?” “Yes.”
“She died out there?” “On the islands.”
“Found dead one night.”

แซว: ใครดูหนังจนจบแล้วหวนกลับมาได้ยินประโยค “She died out there?” “On the islands.” ก็น่าจะเข้าใจเหตุการณ์บังเกิดขึ้นโดยทันที


และภาพสาม ชายที่ยืนอยู่ริมสระน้ำก็คือ “The Vice-Consul from Lahore” หลังจากตกหลุมรักแรกพบ Anne-Marie Stretter ก็ติดตามเธอไปทุกแห่งหน เช้าจรดค่ำ เฉี่ยวไปเฉี่ยวมา ดวงตาชุ่มฉ่ำ (ถ่ายใบหน้าทีไรมักพบเห็นคราบน้ำตา) แสวงหาโอกาสครอบครองเธอสักครั้ง

หนังชื่อ India Song แต่นอกจากไม่ได้ถ่ายทำที่อินเดีย ยังมีนักแสดงชาวภารตะเพียงบุคคลเดียว รับบทชายรับใช้ ทำหน้าที่เปิดไฟ จุดกำยาน ให้บริการเสริฟเครื่องดื่ม เป็นเพียงตัวประกอบ ไม่ได้มีบทบาทอะไรต่อเรื่องราว

ผมพยายามครุ่นคิดหาเหตุผล ทำไมผกก. Duras ถึงใช้สถานที่พื้นหลังอินเดีย? ทั้งๆตัวเธอเคยอาศัยอยู่เวียดนาม กัมพูชา ฯ กลับหลับหูหลับตาเลือกประเทศที่แค่เคยเดินทางผ่าน ไม่เคยปักหลักใช้ชีวิต เข้าใจวัฒนธรรม หรือภาษาสื่อสาร? ในหนังมีสองคำกล่าวจากสองตัวละคร ที่ผมเชื่อว่าคือคำอธิบายเหตุผลดังกล่าว

You know, one could say almost nothing is possible in India. That this general despondency … It’s neither painful nor pleasant to live in India. Neither easy nor difficult. It’s nothing.

Anne-Marie Stretter

I’m listening to “India Song”. I came to India because of “India Song”. That tune makes me want to love. I have never loved. I had never loved anyone.

The Vice-Consul

ความเข้าใจเหล่านี้อาจสะท้อนมุมมองจักรวรรดินิยม ต่อประเทศอาณานิคม ดินแดนที่แม้ล้าหลัง ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งเป็นไปได้ไม่รู้จบรอคอยการค้นพบ อะไรก็สามารถบังเกิดขึ้นได้

มันช่างเป็นค่ำคืนที่เยิ่นยาวนาน … เริ่มจาก Anne-Marie Stretter ในชุดนอนสีดำ ทิ้งตัวนอนราบบนพื้น เสียงซุบซิบพร่ำบ่นถึงอากาศอนระอุ จากนั้น Michael Richardson (รับบทโดย Claude Mann) เดินเข้ามาคลอเคลีย ลูบไล้ทรงผม ได้ยินเสียงบรรยายถึงเบื้องหลัง ที่มาที่ไป และชายคนสุดท้าย Le jeune invité แปลว่า The Young Guest (รับบทโดย Didier Flamand) เพื่อนของ Anne-Marie Stretter ไม่ได้เล่ารายละเอียดใดๆ แค่รับรู้ว่าคือหนึ่งในชู้รัก

กว่าสิบนาทีของฉากนี้ที่ไม่มีอะไรไปมากกว่าการนอน นอกจากเสียงซุบซิบอธิบายเบื้องหลัง ที่มาที่ไปตัวละคร จุดประสงค์หลักๆต้องการให้ผู้ชมสัมผัสถึงความเบื่อหน่ายในชีวิต อินเดียช่างร้อนระอุ เต็มไปด้วยความอึดอัด ทุกข์ทรมาน เหงื่อไคลไหลย้อย ใครจะไปนอนหลับฝันดี แถมดึกดื่นยามตีสี่ ไม่มีอะไรให้ทำสักสิ่งอย่าง

ในเครดิตขึ้นชื่อ L’attaché d’ambassade allemand (รับบทโดย Mathieu Carrière) แปลว่า ผู้ช่วยทูตเยอรมัน (The German Embassy Attaché) แต่หนังกลับแปลเป็นผู้ช่วยทูตออสเตรีย (The New Austrian Attaché) มันคงมีความคลาดเคลื่อนสักเล็กน้อย

มุมกล้องช็อตนี้พบเห็นบ่อยครั้งมากๆในหนัง มักถ่ายติดเปียโนแกรนด์ที่ไม่เคยมีใครเล่น (แต่ได้เสียงซุบซิบเล่าว่า Anne-Marie Stretter เคยชื่นชอบบรรเลงเปียโนมาก่อน) และกระจกบานใหญ่ (ที่ชวนให้นึกถึง Jalsāghar (1958) หรือ The Music Room ของ Satyajit Ray) ทำให้ห้องโถงแห่งนี้มีความ ‘ลึก’ และ ‘ลับ’ สะท้อนอีกมุมมอง ให้พบเห็นเบื้องหน้า-หลัง บางครั้งยังสามารถล่อหลอกผู้ชมให้เข้าใจผิดๆ อย่างภาพที่สองหลายคนอาจครุ่นคิดว่าฝ่ายหญิงกำลังก้าวออกมาจากภายใน แต่แท้จริงแล้วเธอเดินตรงเข้าหาฝ่ายชายต่างหาก

หลายครั้งในงานเลี้ยงเต้นรำ มักได้ยิน ‘Sound Effect’ เสียงเซ็งแซ่ เหมือนมีแขกเหรื่อมากมายเต็มไปหมด แต่หนังกลับไม่เคยถ่ายให้เห็นผู้ร่วมงานใครอื่น (นอกจากตัวละครหลักๆ บรรดาชู้รักของ Anne-Marie Stretter และชายรับใช้ชาวอินเดีย) นั่นเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในความสนใจของเรื่องราว/ตัวละคร สามารถประหยัดงบประมาณ (ไม่ต้องว่าจ้างตัวประกอบ) ลดหลั่นรายละเอียดจนถึงระดับจุลภาค ในเชิงนามธรรม (META)

ตอนผมรับชมหนังรอบแรกๆ บอกเลยว่าไม่สามารถแยกแยะใครคือใคร? Anne-Marie Stretter กำลังเต้นรำกับใคร? เพราะชู้รักของเธอมีอยู่หลายคน ต่างสวมสูทผูกไทด์สไตล์เดียวกัน รูปร่างหน้าตาก็ละม้ายคล้ายคลึงเสียเหลือเกิน (ผิดกับ The Vice-Consul ไว้หนวดเครา สวมใส่สูทขาว จงใจสร้างความแตกต่างให้พบเห็นอย่างชัดเจน)

  • บุคคลแรกที่ Anne-Marie Stretter เต้นรำด้วยก็คือ Michael Richardson ชู้รักที่สุด ด้วยสีหน้าจริงจัง ขยับโยกเต้นตามรูปแบบท่าทาง เพราะทั้งสองต่างกำลังแอบรับฟังการสนทนาระหว่างผู้ช่วยทูตเยอรมัน/ออสเตรีย กับ The Vice-Consul
  • บุคคลที่สองคือ The Young Guest ด้วยท่าทางสนุกสนาน ร่าเริง เพราะเขาเข้าไปช่วยเหลือเธอออกจากการสนทนากับ The Vice-Consul พอลับตาคนก็เหมือนจะพากันขึ้นชั้นสอง
  • บุคคลที่สามคือผู้ช่วยทูตเยอรมัน/ออสเตรีย หลังจาก Anne-Marie Stretter เดินลงมาจากชั้นบน (หลังเสร็จกามกิจกับ The Young Guest) ท่างทางเก้งๆกังๆ อาจเพราะความมือใหม่ (ของผู้ช่วยทูต) เลยยังไม่มักคุ้นชุด ขณะเดียวกันเขาก็มีความหวาดระแวงต่อ The Vice-Consul เหมือนอีกฝ่ายจับจ้องมองอยู่ไม่ห่าง
  • ครั้งสุดท้ายหวนกลับมาเต้นรำกับ Michael Richardson ด้วยความสนุกสนาน ร่าเริง ออกท่าทางสุดวงแขน เสียงซุบซิบเล่าถึงทั้งสองเคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยกัน แต่ยังสามารถรอดชีวิตมาถึงปัจจุบัน

เต้นรำ สามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ถึงการร่วมเพศสัมพันธ์ คนสองมีความใกล้ชิด ติดตัว โยกไปมา ใช้ช่วงเวลาสนุกสนานร่วมกัน ซึ่งการเปลี่ยนคู่เต้นไปเรื่อยๆของ Anne-Marie Stretter หมายถึงรสนิยมมากรัก คบชู้นอกใจ แสวงหาสิ่งแปลกใหม่ ชื่นชอบความตื่นเต้นรุกเร้าใจ … และสังเกตว่าเธอเป็นฝ่ายเข้าหา ก้าวนำเวลาเต้น เลือกท่าทางครื้นเครง แสดงถึงการใช้อำนาจทางเพศ ให้ฝ่ายชายยินยอมศิโรราบ

กับบรรดาชายหนุ่มสูทดำ Anne-Marie Stretter เต็มไปด้วยความระริกระรี้ มักปรี่เข้าหา ตรงกันข้ามกับ The Vice-Consul ชายวัยกลางคน หนวดเฟิ้ม สวมสูทขาว ปฏิกิริยาของเธอดูไม่ค่อยพึงพอใจ พยายามเบือนหน้า ไม่ต้องการสบตา แต่เพราะครานี้ไร้พระเอกขี่ม้าขาว จึงจำใจยินยอมเต้นรำกับเขา

สังเกตว่าขณะเต้นรำ กล้องมีการแพนนิ่งจากมุมประจำ ไปยังบริเวณที่ไม่พบเห็นภาพสะท้อนกระจกเงา The Vice-Consul เอาแต่พูดพร่ำเพ้อ ต้องการให้เธอตอบตกลงโน่นนี่นั่น เวลาเต้นก็เป็นผู้นำ บังคับให้ก้าวเท้าติดตาม โดยไม่สนความต้องการอีกฝ่ายเลยสักนิด!

เช่นกันกับการตะโกนโหวกเหวก ประกาศก้องให้โลกรับรู้ ว่าฉันต้องการอยู่เคียงข้างเธอ “I’m going to stay here tonight! With her!” “Just once, with her!” “Do you hear?” แต่ปฏิกิริยาของ Anne-Marie Stretter กลับแสดงสีหน้าบูดบึ้ง ตึงเครียด รู้สึกไม่พึงพอใจ แต่ราวกับมีบางสิ่งอย่างซุกซ่อนเร้นภายใน ราวกับเสียงตะโกนดังกล่าวบาดลึกถึงจิตใจ

ผมจะวิเคราะห์เหตุผลการบอกปัดปฏิเสธของ Anne-Marie Stretter ในส่วนบทสรุปของหนังนะครับ แต่ขณะนี้อยากชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการตะโกนโหวกเหวกของ The Vice-Consul ไม่ต่างอะไรจากเสี้ยงเจื้อยแจ้ว/ขับร้องเพลงของหญิงขอทานจากสะหวันเขต ต่างถูกเสียงซุบซิบนินทา ตีตราว่าเป็นคนบ้า สติไม่สมประกอบ … ในกรณีของ The Vice-Consul ควรต้องเรียกว่าอาการ ‘คลั่งรัก’

นอกจากสามเทพบุตรที่ได้กล่าวไปแล้ว Anne-Marie Stretter ยังมีชู้รักอีกคน ในเครดิตขึ้นชื่อ Georges Crawn (รับบทโดย Vernon Dobtcheff) แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไร เสียงซุบซิบก็ไม่ได้กล่าวถึงสักเท่าไหร่

สำหรับช็อตนี้รายล้อมรอบด้วยองค์รักษ์ (ปกป้อง Queen Bee จาก The Vice-Consul) ทั้งกลางวัน-กลางคืน เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง หรือจะมองว่าสื่อถึงความกระวนกระวาย ‘relentless’ ของ Anne-Marie Stretter น้ำเสียงเวลาตอบคำถาม เต็มไปด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจ เมื่อไหร่ The Vice-Consul จะหยุดตะโกนโหวกเหวกเสียที

หนังไม่ได้ระบุสถานที่แห่งหนไหน เพียงกล่าวว่าเดินทางมาถึงยังเกาะแห่งหนึ่ง (สถานที่ถ่ายทำไม่ใช่เกาะนะครับ แต่คือ Parc Edmond de Rothschild อยู่ไม่ห่างจาก Château Rothschild) ได้ยินเสียงนกนางนวล คลื่นลมซัดหายทราย เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ห่างไกลผู้คน (แต่หนุ่มๆกลับเอาแต่พูดคุยสถานการณ์โลกขณะนั้น) สังเกตว่าใครต่อใครต่างสวมชุดสีอ่อน (ขาว-เทา) ดูบริสุทธิ์ สว่างสดใส … แต่การแอบขึ้นเรือติดตามมาของ The Vice-Consul กลับทำให้ปฏิกิริยาของ Anne-Marie Stretter ดูเหน็ดเหนื่อยหน่ายใจ

ผมมองเกาะลึกลับแห่งนี้ เปรียบดั่งสรวงสวรรค์แห่งสุดท้าย (ความสว่างของซีเควนซ์นี้ดูเจิดจร้ากว่าปกติมากๆ) ช่วงเวลาเตรียม(ฆ่าตัว)ตายของ Anne-Marie Stretter พร้อมชู้รักทั้งหลาย พักผ่อนหย่อนใจก่อนค่ำคืนนี้ทุกสิ่งอย่างจักจบสิ้นลง

ตอนจบของหนังอาจดูเหมือนไม่มีอะไรบังเกิดขึ้น แต่เสียงซุบซิบนินทาตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง บอกใบ้เหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้แล้ว “She died out there?” “On the islands.” “Found dead one night.” ที่เหลือจึงขึ้นอยู่กับผู้ชมจะสามารถครุ่นคิดจินตนาการได้ด้วยตนเองหรือไม่? ตั้งแต่การก้าวเดินจากไปของ Anne-Marie Stretter, ความมืดค่อยแผ่ปกคลุมปกคลุม, คำพูดสองประโยคสุดท้าย “On the beach they found the dressing gown.” และ “And the heat was once more the heat of Calcutta.”

ปัจฉิมบทของหนัง นำเสนอภาพแผนที่โลก กล้องทำการขยับเคลื่อน ให้ดูเหมือนการออกเดินทาง จุดเริ่มจากมองดอ (Maungdaw) ลัดเลาะลงมาย่างกุ้ง (Rangoun) อโยธยา (Ayodhya) บางกอก (Bangkok) ทะเลสาบเขมร (Tonlé Sap) แล้ววกกลับขึ้นสะหวันเขต (Savannakhet) สู่ต้นแม่น้ำโขง (Mekong River) ก่อนปรากฎเครดิต

ผมครุ่นคิดว่าผกก. Duras แค่ต้องการสื่อถึงการเดินทางของทั้งเธอเองและตัวละคร (เหมารวม Anne-Marie Stretter และหญิงขอทาน) ที่ในชีวิตเคยพานผ่าน ปักหลักอาศัย เหมารวมทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตัดต่อโดย Solange Leprince สัญชาติฝรั่งเศส จากเด็กฝึกงาน กลายเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Nathalie Granger (1972), Woman of the Ganges (1974), ได้รับเครดิตตัดต่อ Murmur of the Heart (1971), India Song (1975) ฯ

การดำเนินเรื่องของหนังมีลักษณะ ‘ภาพประกอบคำบรรยาย’ โดยจะได้ยินเสียงพูดคุย (มักในลักษณะถาม-ตอบ) ซุบซิบนินทา บางครั้งมาในลักษณะเสียงกรีดร้อง ‘Sound Effect’ สำหรับสร้างบรรยากาศรอบข้าง อธิบายภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร แต่จะเคยไม่พบเห็นเขา-เธอ(ที่ส่งเสียงซุบซิบ) ตัวประกอบหลบซ่อนตัวอยู่แห่งหนไหน เช่นนี้อาจเรียกว่านำเสนอในมุมมองบุคคลที่สามก็ได้กระมัง เวียนวนอยู่กับความเป็นไปของ Anne-Marie Stretter ในสถานทูตฝรั่งเศส ณ โกลกาตา

  • อารัมบทสถานที่ ตัวละคร เบื้องหลังความเป็นมา อนาคตที่เป็นไป
    • เริ่มจากเรื่องเล่าหญิงขอทาน ชอบส่งเสียงร้องเพลง สภาพไม่ต่างจากคนบ้า
    • สภาพปรักหักพังของสถานทูตฝรั่งเศสใน Calcutta 
    • แนะนำ Anne-Marie Stretter คลอเคลียกับ Michael Richardson (รับบทโดย Claude Mann) และ Le jeune invité แปลว่า The Young Guest (รับบทโดย Didier Flamand)
    • แนะนำ The Vice-Consul of Lahore ราวกับ Stalker แอบติดตาม Anne-Marie Stretter ไปทุกแห่งหน
    • ค่ำคืนดึกดื่น อากาศลุ่มร้อน ยากจะหลับนอน เล่าความหลังของ Anne-Marie Stretter
  • กิจวัตรของ Anne-Marie Stretter สวมใส่ชุดเดรสแดง เกี้ยวพาราสีชายหนุ่มรูปงาม ชักชวนมางานเลี้ยงเต้นรำ
    • ชายหนุ่มคนแรก ผู้ช่วยทูตจากเยอรมัน/ออสเตรีย (รับบทโดย Mathieu Carrière) เพิ่งมาถึงอินเดียได้เดือนกว่าๆ
    • ผู้ช่วยทูตเยอรมัน/ออสเตรีย พูดคุยกับ The Vice-Consul ระหว่างที่ Anne-Marie Stretter เต้นรำกับ Michael Richardson
    • Anne-Marie Stretter เต้นรำกับ The Young Guest
    • Anne-Marie Stretter เต้นรำกับผู้ช่วยทูตเยอรมัน/ออสเตรีย
    • หลังถูกขัดจังหวะจาก The Vice-Consul ทำให้ Anne-Marie Stretter กลับมาเต้นรำกับ Michael Richardson
  • ความพยายามของ The Vice-Consul
    • The Vice-Consul ขอเต้นรำกับ Anne-Marie Stretter แล้วพยายามโน้มน้าวขอโอกาสจากเธอ
    • เมื่อไม่ได้ตามที่ร้องขอ The Vice-Consul ออกไปตะโกนโหวกเหวก สร้างความไม่พึงพอใจกับ Anne-Marie Stretter ในอ้อมกอดของ Michael Richardson
    • Michael Richardson นำพา Anne-Marie Stretter ขึ้นชั้นสอง ก่อนติดตามด้วยบรรดาชู้รักของเธอ
  • ออกเดินทางสู่เกาะ/สรวงสวรรค์แห่งหนึ่ง
    • Anne-Marie Stretter นำพาบรรดาชู้รักมาท่องเที่ยวพักผ่อนยังเกาะ/สรวงสวรรค์แห่งหนึ่ง
    • แน่นอนว่า The Vice-Consul ย่อมต้องขึ้นเรือติดตามมาด้วย
    • ค่ำคืนแห่งความมืดมิด ราวกับจะสิ้นใจตาย
    • และแผนที่แห่งการเดินทาง ล่องลอยจากฝรั่งเศส อินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา ลาว ฯ

หนังไม่ได้มีลูกเล่นการตัดต่ออะไร เพียงนำแต่ละช็อตมาแปะติดต่อกันเท่านั้น ปล่อยเหตุการณ์ในแต่ละซีนดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดสัมผัสของเวลา น้ำหนักการกระทำ และซึมซับบรรยากาศแห่งความสิ้นหวัง


เพลงประกอบโดย Carlos d’Alessio (1935-92) นักแต่งเพลงสัญชาติ Argentine-French เกิดที่ Buenos Aires โตขึ้นร่ำเรียนสถาปนิก ก่อนเปลี่ยนความสนใจมายังดนตรีและภาพยนตร์ ได้รับคำชักชวนจาก Marguerite Duras ทำเพลงประกอบ Woman of the Ganges (1974), India Song (1975), Her Venetian Name in Deserted Calcutta (1976), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Delicatessen (1991) ฯ

บทเพลง India Song มีทั้งฉบับเดี่ยวเปียโน, ออร์เคสตรา, เปียโน+ออร์เคสตรา (รวมถึง Variation อื่นๆ) ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ห้วงอารมณ์ ซึ่งล้วนมีความโหยหวน คร่ำครวญ เศร้าๆ เหงาๆ บางสิ่งอย่างต้องการครอบครอง แต่ไม่มีวันได้เป็นเจ้าของ มันช่างเจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน อยากจะขาดใจตายทั้งเป็น

บทเพลงชื่อ Chant Laotien แต่ผมฟังยังไงก็คำร้องภาษาไทย แต่ก็ออกสำเนียงลาวอยู่กระมัง ในเครดิตขับร้องโดย Satasinh Manila (1954-98) ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าคือใคร

โอ้เจ้าดอกบัวทอง
บานในหนองน้ำใส
เกิดบัวใบในตม
แกมสนมตมหญ้า
แต่เป็นดวงบุบผา
ศรีสง่าน่าดู
เมื่อยามเช้าตรู่
หมู่แมงแสวงตอม
โอ้ดอกบัวทอง
อยู่ในห้องของใคร

ผมเพิ่งมาสังเกตเห็นจากชื่อบทเพลงในอัลบัม Soundtrack อาทิ Rumba des îles, Tango-Tango, Charleston ฯ ล้วนคือท่วงท่าการเต้น แม้ในหนังจะพบเห็น Anne-Marie Stretter เริงระบำกับชายหนุ่มไม่ซ้ำหน้า ท่วงท่าเดิมๆ โยกวนไปวนมา แต่ท่วงทำนองกลับจะผันแปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ (ตามคู่เต้นที่เปลี่ยนแปลงไป)

Rumba des îles (แปลว่า Rumba of the islands) น่าจะเป็นบทเพลงได้ยินซ้ำๆบ่อยครั้งรองจาก India Song เพราะยังได้ยินระหว่าง The Vice-Consul ตะโกนกรีดร้อง สั่นพ้องความรู้สึกบางอย่างที่อยู่ภายในจิตใจของ Anne-Marie Stretter

Tango-Tango ไม่ใช่แค่จังหวะ Tango แต่ยังคลุกเคล้าท่วงทำนอง Variation ของ India Song ซึ่งนอกจากตอนเต้นรำ ยังได้ยินบทเพลงนี้หลังจาก Anne-Marie Stretter ตกอยู่ในสภาพเหน็ดเหนื่อย อ่อนเรี่ยวแรง หลังเสียงตะโกนโหวกเหวกของ The Vice-Consul ค่อยๆเงียบสงัดลง คงมีบางอย่างสิ่งอย่างกระตุ้นความรู้สึกภายใน โหยหาใครสักคนสำหรับปลดปล่อย ละทอดทิ้ง หลงลืมความเจ็บปวดรวดร้าว

ผมอดใจไม่ได้หลังรับฟังเสียงขับร้อง India Song ของ Jeanne Moreau น้ำเสียงเบื่อๆ เหนื่อยหน่าย กร้านโลกของเธอ ช่างเหมาะกับอารมณ์เพลงนี้เสียเหลือเกิน … Moreau มาบันทึกเสียงเอาภยา

คำร้องฝรั่งเศสคำแปลโง่ๆจาก Google Translat
Chanson
Toi qui ne veux rien dire
Toi qui me parles d’elle
Et toi qui me dis tout

Ô, toi
Que nous dansions ensemble
Toi qui me parlais d’elle
D’elle qui te chantait

Toi qui me parles d’elle
De son nom oublié
De son corps, de mon corps
De cet amour là
De cet amour mort

Chanson
De ma terre lointaine
Toi qui parleras d’elle
Maintenant disparue

Toi qui me parles d’elle
De son corps effacé
De ses nuits, de nos nuits
De ce désir là
De ce désir mort

Chanson
Toi qui ne veux rien dire
Toi qui me parles d’elle
Et toi qui me dis tout
Et toi qui me dis tout
Song
You who don’t want to say anything
You who tell me about her
And you who tell me everything

Oh, you
That we dance together
You who spoke to me about her
Of her who sang to you

You who tell me about her
Of his forgotten name
Of his body, of my body
Of this love
Of this dead love

Song
From my distant land
You who will talk about her
Now gone

You who tell me about her
From his erased body
Of his nights, of our nights
Of this desire
Of this dead desire

Song
You who don’t want to say anything
You who tell me about her
And you who tell me everything
And you who tell me everything

India Song (1975) นำเสนอเรื่องราวของ Anne-Marie Stretter หญิงสาวชนชั้นสูง ภริยาท่านทูต ผู้มีความเบื่อหน่ายกับชีวิต แสวงหาความตื่นเต้นด้วยการคบชู้นอกใจ สานสัมพันธ์ชายหนุ่มรูปงามมากมาย แต่ไม่ใช่กับ The Vice-Consul of Lahore ผู้หลงใหลเธอหัวปักหัวปำ พยายามอ้อนวอนร้องขอ ติดตามไปทุกแห่งหน แม้เพียงค่ำคืนเดียวกลับไม่ยินยอมให้ชิดใกล้

เพราะเหตุผลใด Anne-Marie Stretter ถึงปฏิเสธความรักจาก The Vice-Consul? เพราะเขาอายุมาก? หน้าตาไม่ใช่สเป็ค? หรือมันมีอะไรมากกว่านั้นซุกซ่อนเร้น? การจะทำความเข้าใจตัวละคร Anne-Marie Stretter ผมครุ่นคิดว่ามองมาที่ผู้กำกับ Duras น่าจะชัดเจนกว่า

ผกก. Marguerite Duras แม้ระหว่างแต่งงานอยู่กินกับ Robert Antelme แต่แอบสานสัมพันธ์ชู้รัก Dionys Mascolo สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองกามารมณ์ ความพึงพอใจส่วนบุคคล เคยแสดงความคิดเห็นต่อการนอกใจสามี “fidelity was absurd” ความซื่อสัตย์จงรักภักดี(ต่อคู่ครอง)เป็นเรื่องไร้สาระ ทำไมฉันต้องสูญเสียอิสรภาพจากการมีสถานะครอบครัว

หลายคนอ่านแล้วอาจรู้สึกว่าทัศนคติของผกก. Duras ช่างมีความไร้สาระ (absurdity) ยัยนี่ไม่สนหลักศีลธรรม มโนธรรม ค่านิยมอันดีงามทางสังคม (Conservative) แต่ถ้าเรามองในมุมกลับกันนั่นคือความครุ่นคิดของคนหัวก้าวหน้า เสรีนิยม (Liberalism) สตรีนิยม (Feminist) ทำไมเพศหญิงต้องปฏิบัติตามขนบกฎกรอบ ทำตัวเรียบร้อยดั่งกุลสตรี แต่งงานแล้วศิโรราบต่อสามี แม่ศรีเรือน อยากจะคบชู้นอกใจ กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ มันผิดอะไรกัน?

ย้อนกลับมาที่ Anne-Marie Stretter ตัวตายตัวแทนผกก. Duras แม้แต่งงานเป็นภริยาท่านทูต กลับใช้ชีวิตราวกับยังโสดสนิท สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ไม่ฟังเสียงซุบซิบนินทาใคร ทำไมฉันต้องทำตามคำร้องขอผู้ใด (โดยเฉพาะ The Vice-Consul) ความซื่อสัตย์จงรักภักดี(ต่อคู่ครอง)เป็นเรื่องไร้สาระ นั่นทำให้เธอมีอคติ รับไม่ได้กับบุคคลทุ่มเทความรักหมดหัวใจ

มันก็เหมือนหยิน-หยาง คนหัวก้าวหน้า-อนุรักษ์นิยม ทัศนคติความรักที่แตกต่างตรงกันข้าม (ฝ่ายชายพร้อมทุ่มเททุกสิ่งอย่างเพื่อเธอ vs. ฝ่ายหญิงไม่เชื่อในความจงรักภักดี) แม้ทั้งสองสามารถเติมเต็มกันและกัน แต่ไม่มีทางที่พวกเขาจะสามารถครองคู่อยู่ร่วม

“What’s that sound?” “Her, crying.”
“She isn’t suffering, is she?” “No.”
“Leprosy. Leprosy of the heart.”
“Can’t bear it?” “No, can’t bear it.”
“India, can’t bear it.”

“What about India?”
“The idea.”

คำสนทนาซุบซิบนินทาที่สุดแสนงงๆนี้ ได้ยินเสียงร่ำไห้ ทุกข์ทรมาน เธออดรนทนไม่ไหว? อินเดียก็ทนไม่ได้เช่นกัน? นี่คือการใช้บทสนทนาในเชิงเปรียบเทียบว่าตัวละคร Anne-Marie Stretter สามารถแทนด้วยอินเดีย และเนื่องจากพื้นหลังของหนังอยู่ในช่วงทศวรรษ 30s ดินแดนแห่งนี้ยังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมจักรวรรดิอังกฤษ มีชื่อเรียก British India หรือ British Raj

ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดมา ผกก. Duras เติบโตขึ้นในจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส (French Colonial Empire) หลังเรียนจบก็ยังเคยทำงานในกระทรวงอาณานิคม (Ministry of the Colonies) เลยติดอุปนิสัยเย่อหยิ่ง ทะนงตน วางตัวหัวสูง ไม่ชอบก้มศีรษะให้ใคร แต่หลังจากหลายๆประเทศทะยอยปลดแอก รวมถึงอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร นั่นราวกับมีบางสิ่งอย่างสูญหายภายในจิตใจ

สภาพเสื่อมโทรม ปรักหักพัง สถานกงศุลฝรั่งเศสใน Calcutta คือสิ่งที่สะท้อนการล่มสลายลัทธิอาณานิคม … มันอาจฟังดูไม่สมเหตุสมผล เพราะพื้นหลังของหนังอยู่ในช่วงทศวรรษ 30s ขณะนั้นอินเดียยังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมจักรวรรดิอังกฤษ แต่วิธีการนำเสนอของผกก. Duras ตั้งแต่จุดกำยาน (เหตุผลการจุดเพื่อถวายกลิ่นหอม ล่องลอยไปถึงทวยเทพบูชา ผมเรียกเรียกว่าจุดเรียกวิญญาณ) นักแสดงไม่เคยขยับปากพูด ล่องลอยไปมา (เหมือนวิญญาณ) ได้ยินแต่เสียงซุบซิบนินทา (ที่ก็ไม่รู้ว่าดังมาจากแห่งหนไหน) ล้วนเป็นการสร้างบรรยากาศระลึกถึงอดีต กาลเวลาเคลื่อนผ่าน เหตุการณ์ในความทรงจำ หรือจะมองว่าโลกหลังความตายก็ได้กระมัง

แม้ว่าผกก. Duras เคยลงนาม Manifesto of the 121 เข้าร่วมกลุ่ม anti-Algerian War ซึ่งแสดงถึงการต่อต้านลัทธิอาณานิคม (Anti-Colonialism) แต่มีนักวิจารณ์สังเกตผลงานยุคหลังๆ โดยเฉพาะนวนิยาย L’Amant (1984) แปลว่า The Lover ในบทความของ The Matter ตั้งคำถามถึง “ปลดแอกหญิงสาว หรือ เหยียบย่ำชาวเอเชียน?” ด้วยการใช้ลัทธิอาณานิคม ในเชิงสัญลักษณ์แทนอำนาจทางเพศของอิสตรี “การถอดถอนตัวเองออกจากอาณานิคม เท่ากับการถูกริบคืนอำนาจทางเพศที่เคยมี!” ทอดทิ้งเธอไว้ในสถาวะครึ่งๆกลางๆ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้ว่าจะรักหรือชังต่อความเป็นอื่น

LINK: https://thematter.co/life/the-lover-maguerite-duras/44228

ข้อสรุปของผมเกี่ยวกับ India Song (1975) คือคำเพ้อรำพันผกก. Duras ต่อการล่มสลายลัทธิอาณานิคม แม้เธอเคยแสดงความคิดเห็นต่อต้าน (Anti-Colonialism) แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์โหยหาอาลัย คร่ำครวญถึงอดีตที่ล่มสลาย เหมือนการใช้อำนาจทางเพศครอบครองชายหนุ่มหล่อมากมาย … ในบริบทนี้ เหตุผลที่เธอไม่เอา The Vice-Consul เพราะไม่ต้องการสูญเสียอำนาจทางเพศของตนเอง


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์นอกสายการประกวด (Out of Competition) เทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับออกไปทางก้ำกึ่ง มีทั้งดีเยี่ยม-ยอดแย่ แต่ช่วงปลายปีได้เข้าชิงสามสาขา César Awards และเป็นตัวแทนฝรั่งเศสลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film น่าเสียดายไม่ผ่านการคัดเลือกรอบใดๆ

  • César Awards
    • Best Actress (Delphine Seyrig)
    • Best Music
    • Best Sound

เกร็ด: India Song (1975) ติดอันดับ 146 (ร่วม) ชาร์ท The Greatest Films of All Time ของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll เมื่อปี ค.ศ. 2022

Spare, elegant, disjunctive, initially annoying and ultimately drop-dead beautiful, Marguerite Duras’s “India Song” (1975) was one of the great European art films of the post-art-film era.

นักวิจารณ์ J. Hoberman จาก New York Times

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K โดยองค์กร CNC (ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส) ผ่านการตรวจอนุมัติโดยตากล้อง Bruno Nuytten เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2023 ฉบับของ Criterion Collection จะเป็น Boxset จำนวนสองเรื่อง Two Films by Marguerite Duras Blu-ray ประกอบด้วย India Song (1975) และ Baxter, Vera Baxter (1977)

ผมสังเกตเห็น India Song (1975) เข้าฉายหอภาพยนตร์บ่อยครั้งมากๆ แทบจะทุกๆปีเลยก็ว่าได้ (สงสัยเพราะเสียงร้องเพลงของหญิงบ้าที่เป็นภาษาไทย/ลาว) ช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้เคยเล็งเอาไว้แต่หาเวลาลงไม่ทัน แล้วโดยไม่คาดฝัน Doc Club & Pub กำลังจะนำกลับมาฉายอีกครั้งในโปรแกรม ‘FROM THE LEFT เลยว่าต้องเขียนถึงสักที!

แน่นอนว่าผมดูครั้งแรกไม่รู้เรื่อง ทนได้ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ต้องพึ่งพาบทวิจารณ์ต่างประเทศ พอเริ่มเข้าใจอะไรๆถึงหวนกลับไปรับชมรอบสองได้จนจบ จับใจความได้ระดับหนึ่งก็พยายามหาบทวิเคราะห์อ่านเพิ่มเติม ต้องพานผ่านรอบสามถึงสามารถครุ่นคิดเขียนบทความนี้ … เป็นภาพยนตร์ที่ลึกล้ำ ท้าทาย ดูยากจริงๆ

มันไม่ใช่เพราะความดูยากถึงจัดให้เป็นมาสเตอร์พีซนะครับ ก่อนรับชมหนังรอบสามผมยังมองหาผลงานเรื่องอื่นๆของผกก. Duras เพื่อสังเกตแนวคิด วิธีการนำเสนอ เผื่อจะพบเห็นจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์ นั่นทำให้ค้นพบว่า India Song (1975) ละเล่นกับ ‘Space & Time’ ระหว่างภาพและเสียงได้อย่างลึกล้ำ เหนือชั้นกว่ามากๆ กอปรกับการแสดงของ Delphine Seyrig เสียงกรีดร้องโหยหวนของ Michael Lonsdale และบทเพลงของ Carlos d’Alessio หลอกหลอน ตราตรึง สั่นสะท้านทรวงใน

ระหว่างดูหนังรอบสามผมรู้สึกวาบหวิวทรวงใน หายใจไม่ทั่วท้อง ขนลุกขนพอง หัวใจสั่นระริกรัว นี่เป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นจากการรับชมสองก่อนหน้า นั่นแปลว่าถ้าคุณสามารถสัมผัสอารมณ์นี้ ก็น่าจะปีนบันไดขึ้นถึงสรวงสวรรค์แล้วละครับ

จัดเรตทั่วไป แต่คงต้องผู้ใหญ่ถึงรับชมรู้เรื่อง

คำโปรย | India Song บทกวีรำพันหายนะแห่งรัก โรคเรื้อนในหัวใจ หลงเหลือไว้เพียงความหลอกหลอน ขนลุกขนพอง เศษซากปรักหักพัง
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ติดตา ตรึงใจ สั่นสะท้านทรวงใน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: