Insiang (1976) Filipino : Lino Brocka ♥♥♥♡

ในสลัมของประเทศฟิลิปปินส์ ผู้คนต้องสู้ดิ้นรนเพื่อหาหนทางเอาตัวรอด ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หญิงสาว Insiang จะพบเจอชีวิตที่สุขสมหวังดั่งใจ เธอถูกแฟนหนุ่มฟันแล้วทิ้ง ผัวใหม่แม่ข่มขืน เพื่อนเลิกคบไม่ยอมคุยด้วย จากนางฟ้าผู้มีจิตใจดีงามสูงส่ง ถูกฉุดคร่าต่ำลงกลายเป็นซาตานนางมารร้าย

แค่ฉากแรกของหนัง เชื่อว่าคงทำให้หลายคนเบือนหน้าหนี ปิดทิ้งเลิกดู เดินออกจากโรงภาพยนตร์เป็นทิวแถว เพราะภาพของหมูถูกฆ่าในโรงเชือด ทำเอาท้องไส้ปั่นป่วน หน้ามืดวิงเวียน เย็นนี้ขอกินมังสวิรัติสักมื้อเถอะนะ … สำหรับคนที่ยังทนอยู่ได้ จะรู้ว่านั่นแค่อารัมภบท Prologue เท่านั้นเอง ของจริงที่อยู่ภายในแรงกว่านั้นหลายสิบเท่า แต่ถึงไม่ได้มีภาพอันบาดตาเท่า ความเลวบัดซบของตัวละครและเรื่องราว จักบาดใจคุณจนแทบหมดสูญสิ้นความเชื่อมั่นในตัวมนุษย์ลงเลย

ทำไม? เพราะอะไร? เป็นคำถามที่ผุดขึ้นในใจของผมตลอดเวลาระหว่างรับชม ถ้าคุณรับรู้ประวัติศาสตร์ประเทศฟิลิปปินส์สักเล็กน้อย เชื่อว่าน่าจะเกิดความเข้าใจในพื้นหลังและปัญหาสังคมได้ไม่อยาก แต่ถ้าไม่คงได้แต่หลับหูหลับตาโทษทัณฑ์โชคชะตาฟ้าดิน ดินแดนแห่งนี้แทบไม่ต่างอะไรกับป่าดงดิบ เต็มไปด้วยฝูงสัตว์ร้ายที่คอยจับจ้องเข่นฆ่าล่าเป็นเหยื่อ ใช้ชีวิตด้วยสัญชาติญาณ ไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ

แต่จะว่าไปไกลขนาดนั้นก็กระไรอยู่ เพราะสลัมในเมืองไทยเราก็มีสภาพไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ ลองหาเวลาว่างไปเดินย่ำตามคลองเตย หัวลำโพง ริมคลองแสนแสบ ฯ ก็จักเห็นว่าการจัดการในด้านนี้ของประเทศเราในปัจจุบันไม่ได้ดีเด่กว่าเสียเท่าไหร่ แค่สิ่งหนึ่งที่ผมพอมีความเชื่อมั่นหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ อย่างน้อยเรื่องดีชั่วบุญบาปมันยังพอมี ‘จิตสำนึก’ สอดแทรกในตัวคนอยู่บ้าง

Catalino ‘Lino’ Ortiz Brocka (1939 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Filipino เกิดที่ Pilar, Sorsogon พ่อเป็นครู สอนให้เขารู้จักเขียนอ่าน คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และศิลปะ แต่ไม่ทันไรก็ถูกฆ่าปิดปากเพราะไปขัดผลประโยชน์กับผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง ทำให้ครอบครัวต้องเร่ร่อนออกไปพึ่งใบบุญของพี่สาวแม่ ที่ไม่เต็มใจนัก วันๆเลยต้องทนฟังคำพูดตำหนิด่าทอเสียๆหายๆว่าทำตัวเป็นภาระ

โตขึ้นได้ทุนสอบเข้าเรียน University of The Philippines ตอนแรกเลือกสาขากฎหมาย แต่เปลี่ยนไปเป็นวรรณกรรม ต้องการเข้าร่วมชมรมการแสดง กลับถูกรุ่นพี่และผองเพื่อนแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ เพราะสำเนียงเสียงเหน่อบ้านนอกฟังไม่สดับหู ทนอยู่สักพักเริ่มไม่ไหว พึ่งใบบุญศาสนาเป็น Missionary เดินทางไปยัง Hawaii แต่ด้วยความสนใจในโลกภาพยนตร์ ไม่นานนักเลยเดินทางกลับมาไขว่คว้าหาความฝัน มีผลงานเรื่องแรกรับแรงบันดาลใจจาก The Sound of Music (1965) ตั้งชื่อว่า Wanted: Perfect Mother (1970) ทำเงินในระดับฮิต [เป็นผลงานเดียวของ Brocka ที่เป็นแนว Comedy ไม่ใช่วิพากย์ปัญหาสังคมรุนแรง]

สไตล์ของ Brocka มีความหลงใหลใน ‘Character Driven’ ตัวละครเป็นผู้กำหนดทิศทางของเรื่องราว มักใช้แทนสามัญประชาชนชาว Filipino ที่มีความยากจนข้นแค้น ลึกๆแล้วอยากเป็นคนดีแต่ต้องแปรสภาพปรับตัวเพื่อให้สามารถมีชีวิตรอด, นอกจากนี้ ความสนใจของเขาล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นต้องห้ามทางสังคม อาทิ สลัม, โสเภณี, อาชญากรรม, คอรัปชั่น, และความทุกข์ยากของประชาชีในช่วงการปกครองของผู้นำจอมเผด็จการ Ferdinand Marcos เคยถูกจับติดคุกเพราะทำหนังวิจารณ์ท่านปธน. แต่เมื่อโดนโค่นลงจากอำนาจก็ได้รับการปลดปล่อย

ผลงานเด่นๆของ Brock อาทิ Tinimbang Ka Ngunit Kulang (1974), Maynila sa mga Kuko ng Liwanag (1975), Insiang (1976), Bayan Ko: Kapit sa Patalim (1984), Orapronobis (1989)

สำหรับ Insiang ดัดแปลงจากนิยายของ Mario O’Hara (1946 – 2012) ผู้กำกับ/นักเขียน โปรดิวเซอร์สัญชาติ Filipino เคยได้รับการสร้างเป็นดราม่าซีรีย์ฉายโทรทัศน์เรื่อง Hilda (1974) นำแสดงโดย Hilda Koronel, เห็นว่า O’Hara เขียนนิยายขึ้นจากเรื่องจริง อ้างอิงจากครอบครัวหนึ่งที่เขารู้จักและอาจเคยพบเห็นบางส่วนของเรื่องราวเข้ากับตนเอง

มีโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่คงชื่นชอบหลงใหลใน Hilda (1974) อย่างยิ่ง เลยแนะนำให้ O’Hara พบเจอรู้จักกับ Brocka เพื่อพูดคุยความเป็นไปได้ในการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

“That was the first time I met him. I found him to be sincere, professional, convincing; he had a fire in his eyes as he spoke. That impressed me. I couldn’t turn him down. At the end of that meeting, I told him ‘yes, let’s do the film'”.

– Mario O’Hara

เรื่องราวของ Insiang (รับบทโดย Hilda Koronel) อาศัยอยู่ในสลัมเมือง Tondo, Manila ทำอาชีพรับซักรีดเสื้อผ้า ร่วมกับแม่ Tonya (รับบทโดย Mona Lisa) เป็นแม่ค้าขายปลาในตลาด ส่วนพ่อของพวกเธอหนีหายไปอยู่กับเมียใหม่ไม่เคยหวนกลับมาสนใจ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ทุกข์ยากลำบาก, หลังจากแม่ได้ขับไล่ญาติๆออกไปจากบ้าน ก็ได้พาผัวใหม่ Dado (รับบทโดย Ruel Vernal) เข้ามาสนองตัณหาราคะ แต่ความจริงแล้วชายคนนี้ให้ความสนใจในตัว Insiang มากกว่า ขณะที่หญิงสาวตกหลุมรักกับหนุ่มหน้าใส Bebot (รับบทโดย Rez Cortez) ที่เหมือนว่าจะสนอย่างเดียวคือเรือนร่างฟันแล้วทิ้ง

นำแสดงโดย Hilda Koronel ชื่อจริง Susan Reid (เกิดปี 1957) เกิดที่ Angeles City, Pampanga, แม่เป็นชาวฟิลิปปินส์ ส่วนพ่อเป็นทหารอเมริกันที่ประจำอยู่ Clark Air Base, เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 12 ผ่านการประกวดอะไรสักอย่างทางโทรทัศน์หนึ่ง แล้วไปเข้าตาผู้กำกับ Brocka พามาแจ้งเกิดกับ Santiago (1970) จนมีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง ผลงานเด่นๆคือ Maynila sa Kuko ng Liwanag (1976), Insiang (1977), The Mistress (2013) ฯ ปัจจุบันเหมือนจะอยู่สุขสบายกับสามีที่อเมริกา นานๆจะหวนกลับมาบ้านเกิดสักครั้งหนึ่ง

รับบท Insiang หญิงสาวบริสุทธิ์ ผู้ยังอ่อนวัยไร้เดียงสาต่อโลก เพราะถูกแม่ด่าพูดจาตำหนิด่าทอไม่เว้นวันต่อวัน มีความต้องการออกไปจากสลัมบ้านหลังนี้ แต่ยังขลาดเขลาหวาดกลัว เพราะตัวเองยังไม่เคยอะไรๆมาก่อน ต้องการแฟนหนุ่มเป็นที่พึ่งพิง แต่เมื่อถูกทรยศหลังจากได้สมสู่ครองรัก ก็ทำให้เธอเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นทันที ใช้ลีลามารยาหญิง แก้แค้นเอาคืนบุคคลที่ทำมิดีมิร้ายต่อเธอ

เห็นคำโปรยบทวิจารณ์ต่างประเทศ เรียก Hilda Koronel ว่า ‘Goddess’ ก็ไม่ผิดเลยนะ ความงามของเธอช่างดูสดใสบริสุทธิ์ราวกับเทพเทพี สามารถเอื้อมมือไขว่คว้าได้ไม่ยาก (แต่ตัวจริงเห็นว่า แต่งงานครั้งแรกตอนอายุ 16 แถมมีลูกแล้วด้วย) การแสดงก็มีความเป็นธรรมชาติ สายตาสะท้อนความหวาดกลัวออกมาจากภายใน ชวนให้ผู้ชมรู้สึกวิตกจริตกังวลแทน แต่ผมฟินสุดๆก็ตอนหลังจากผ่านค่ำคืนนั้น เราจะไม่เห็นความล่องลอยสิ้นหวังของเธออยู่นาน เมื่อครุ่นคิดทำใจได้ รอยแสยะยิ้มแห้งๆนั้น แววตาของเธอแอ๊บแรงมากๆ พร้อมเข่นฆ่าใครสักคนให้ตายจากไปได้เลย สงสัยนั้นอาจจากตัวตนแท้จริงของเธอเอง

Mona Lisa หรือ Fleur de Lis ชื่อจริง Gloria Lerma Yatco (เกิดปี 1922) เกิดที่ Tondo, Manila ในครอบครัวที่เคยร่ำรวยแล้วตกต่ำไร้ซึ่งเงินทอง อพยพย้ายสู่อเมริกาแต่ก็โดนเหยียดเพราะเป็นผิวสีเหลือง หลังจากพ่อแม่หย่าร้าง ติดตามแม่กลับมาฟิลิปปินส์เห็นแต่งงานใหม่กับผัวใหม่ (แต่คงไม่ถึงขนาดลักลอบมีชู้กับเธอหรอกนะ) โตขึ้นเลือกเดินตามฝันเป็นนักแสดง ค่อยๆไต่เต้าจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังมากในช่วงทศวรรษ 30s-40s แต่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ออกจากวงการไปถึง 20 ปี แต่งงานมีลูก 4 คน ถูกผู้กำกับ Joey Gosiengfiao ดึงตัวกลับมาแสดง La Paloma (1974) และไฮไลท์ในชีวิตคือ Insiang (1975) กวาดรางวัลแทบจะครบทุกสถาบัน

รับบทแม่ Tonya ผู้มีความจงเกลียดจงชังทุกสิ่งอย่าง (รวมถึงตัวเองด้วย) จุดเริ่มต้นคงตั้งแต่สามีหนีตามชู้รักไป ทอดทิ้งเธอไว้โดดเดี่ยวเดียวดายตามลำพัง มองลูกสาว Insiang ที่เคยรักยิ่งกลายเป็นตัวอัปมงคล ชอบพูดจาถากถาง ทวงหนี้บุญคุณที่เคยเลี้ยงดู โกรธเกลียดอย่างมากเมื่อเห็นทำตัวยั่วยุแฟนใหม่ของตน รับไม่ได้รุนแรงเมื่อเกิดความเข้าใจว่าพวกเขาลักลอบมีชู้ภายใต้ชายคาบ้านของตนเอง ติดคุกแล้วก็ไม่คิดสำนึก อดกลั้นฝืนน้ำตาไว้ ฉันต้องไม่เป็นคนอ่อนแอ

บอกตามตรงว่าผมไม่เคยพบเห็นตัวละครแม่ที่ไหน เxยบัดซบจัญไรได้ถึงขนาดนี้มาก่อน แต่ก็พอเข้าใจเหตุผลเบื้องลึกของเธอว่าทำไมถึงเป็นคนเช่นนั้น (ก็น่าจะเป็น Nympho ด้วยกระมัง) ซึ่งการแสดงของป้า Mona Lisa ทำเอาผมยิ้มไม่ออกเลยนะ จัดเต็มทั้งสีหน้า คำพูด อารมณ์ คาดว่าคงเก็บกดมาจากชีวิตของตนเอง เอาตัวรอดมาได้ถึงวัยนี้น่านับถือจิตใจอย่างยิ่งเลย

มีแนวโน้มว่า: ถึงผมจะฟังภาษา Filipino ไม่ออก แต่เชื่อว่าอารมณ์จัดเต็มขนาดนั้น ต้องพร่ามคำหยาบคาย หมูหมากาไก่ควาย เกลื่อนกราดเต็มไปหมดอย่างแน่นอน (ซับมันไม่ได้แปลมาทั้งหมดแน่ๆ)

Ruel Vernal (เกิดปี 1946) อีกหนึ่งนักแสดง Filipino ยอดฝีมือ, รับบท Dado หนุ่มใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป ไม่ฆ่าหมูก็ขนของท่าเรือ อายุอานามน่าจะพอสมควร แต่หาได้มีความมั่นคงลงหลักปักฐาน ดูแล้วน่าจะไม่มีบ้านอาศัยอยู่ด้วยกระมัง ก็ไม่รู้พบเจอตกหลุมรักป้า Tonya ได้อย่างไร (เดาว่าน่าจะเจอกันในบ่อน) แต่เป้าหมายจริงๆของ Dado คือหญิงสาวแรกรุ่น Insiang ที่เจ้าตัวแอบตกหลุมรักมาช้านาน วางอำนาจบาดใหญ่กีดกัดชายอื่นไม่ให้ครอบครองเธอ ซึ่งเมื่อสำเร็จสมหวังในใจ ก็ได้รับผลกรรมตามสนองไม่นานเกินรอ

Rez Cortez (เกิดปี 1956) นักแสดง/ผู้ช่วยผู้กำกับสัญชาติ Filipino รับบท Bebot หนุ่มหัวฟูผู้ตกหลุมรัก Insiang สนใจอย่างเดียวคือได้ครอบครองเรือนร่างอันบริสุทธิ์ของเธอ ตั้งใจว่าจะฟันแล้วทิ้ง แต่ก็มีความขลาดเขลาหวาดกลัวเมื่อถูก Dado พูดจาข่มขู่กดดัน ถือว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่ใช่ลูกผู้ชายสักนิดเดียว (ผู้ชายใส่ตุ้มหู ในโลกทัศน์ของคนสมัยนั้นคือแต๋ว) สุดท้ายผลกรรมเลยตามทันเช่นกัน

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง Tondo, Manila ใช้เวลาประมาณ 21 วัน เห็นว่าต้องจ้างตำรวจเพื่อคอยรักษาความปลอดภัย เพราะสถานที่แห่งนี้คือแหล่งกบดานของกลุ่มมาเฟียหัวรุนแรงในกรุงมะนิลา แต่ก็โชคดีเอาตัวรอดผ่านมาได้อย่างปลอดภัย

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Brocka ว่ากันว่าเขาไม่รู้เรื่องการใช้เลนส์ มุมกล้องหรือวิธีการถ่ายภาพ แต่มีความสามารถในการกำกับนักแสดง จัดฉากวางตำแหน่งให้คล้ายๆกับคณะละครเวที ซึ่งทุกฉากมักมีการถ่ายทำเพียงเทคเดียว ไม่รู้กลัวการสิ้นเปลืองหรือมีความเชื่อ เข้าใจในอะไรบางอย่างรึเปล่า?

ถ่ายภาพโดย Conrado Baltazar ขาประจำของผู้กำกับ Brocka, การถ่ายทำด้วยฟีล์มเมื่อกาลเวลาผ่านไป ภาพจะมีความหยาบ สีตก และพบเห็นเส้นสาย (ล้วนเกิดจากการเสื่อมสภาพของฟีล์ม) มันเลยได้สัมผัสที่ดิบเถื่อน สะท้อนความรุนแรงของหนังได้อย่างทรงพลังสมจริง

โดดเด่นในการจัดวางองค์ประกอบในภาพ ที่บางครั้งเห็น 2-3 สิ่งอย่างดำเนินพร้อมกันไปในช็อตเดียว อาทิ
– ขณะ Insiang กำลังทอดไข่ Dado เพิ่งอาบน้ำเสร็จ/แม่ Tonya เดินเข้ามาฉี่ (ฉากนี้สะท้อนว่า Insiang คือส่วนเกินของบ้านหลังนี้)
– Insiang กำลังทดลองเครื่องสำอางค์กับเพื่อนสาวในห้อง น้องชายเพื่อนกำลังซ่อมวิทยุอยู่ข้างนอก
– ฉากที่ Insiang กำลังเล่นตัวเกี้ยวพาราสีกับ Dado จะพบเห็นแม่ Tonya มองด้วยสายตาริษยาอยู่ห่างๆ
ฯลฯ

นอกจากนี้ที่พบเห็นบ่อยคือการ Tracking-Zoom เทคนิคยอดนิยมในยุคสมัยนั้น เพื่อสร้างจุดโฟกัส/สนใจให้กับผู้ชม จับจ้องมองติดตามตัวละครได้ในระยะประชิด (แม้ถ่ายจากระยะไกลก็เถอะ)

สำนวนไทยมีคำว่า น้ำเต็มแก้ว (ผมนึกถึงเพลงของ Endorphine ทุกทีเลยนะ) หนังเรื่องนี้ใช้การเปิดน้ำจนล้นถัง เป็นสัญลักษณะสะท้อนถึงความอึดอัดอั้นในใจของหญิงสาว มันจวนเอ่อล้นจนอดรนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว, นี่อาจสะท้อนถึงสถานะของประเทศฟิลิปปินส์ขณะนั้นด้วย ประชาชนเริ่มอิ่มตัวต่อความคอรัปชั้นของผู้นำเผด็จการ Marcos กำลังจะอดรนทนต่อไปไม่ได้แล้ว

(เมืองไทยก็เช่นกัน!)

การเสียตัวของ Insiang มีทั้งหมด 2 ครั้ง
– ครั้งแรกคือเสียความบริสุทธิ์ทางกาย เพราะจิตใจยังไม่ได้เตรียมพร้อมนัก เลยถูก Dado ข่มขืน การจัดแสงใช้สีน้ำเงิน สะท้อนความเย็นยะเยือกแข็งทื่อ

อีกครั้งหนึ่งผมเรียกว่า เสียตัวทางใจ เพราะร่างกายเธอคงไม่บริสุทธิ์แล้ว แต่คือความสมยอมกับ Bebot เพื่อคาดหวังให้เขานำพาออกไปจากสถานที่แห่งนี้ เลือกใช้แสงสีแดงในห้องโรงแรม แต่เงาที่สะท้อนมีลักษณะเสมือนกรงขังพวกเขาให้ติดกับ

หนังมักมีสิ่งบางๆที่คอยกั้นขวางกันและกันอยู่เสมอ อาทิ
– ร้านขายของชำ จะมีรั้วไม้ไว้กั้นไม่ให้ใครเข้ามาขโมยของ ซึ่งครั้งหนึ่งไว้กีดกัน Insiang ไม่ให้เขามาในร้าน เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมของเธอ
– มุ้งที่ Dado แหวกเข้ามาหา Insiang มันไม่ได้มีความแข็งแกร่งอะไร ชายหนุ่มเลยหลงคิดว่าเธอเปิดใจให้เขา แต่มันก็แค่เพียงภายนอกร่างกายเท่านั้น
– รั้วกรงขังคุกระหว่างแม่กับ Insiang แยกทั้งสองออกจากกันโดยสิ้นเชิง

ช็อตที่ผมคิดว่าเจ๋งสุดในหนังแล้ว คือภาพสะท้อนของ Insiang-Dado-Tonya ซึ่งแม่ที่เห็นลิบๆอยู่ด้านหลัง จะมีขณะหนึ่งที่ชายหนุ่มเอียงหัวเพื่อบดบังเธอจนมิด นั่นมีนัยยะสะท้อนถึงการแสร้งทำเป็นไม่เห็น ไร้ซึ่งตัวตนในสายตาของเขา (แต่ในสายตาสีหน้าของ Insiang มันแอบมีเลศนัยบางอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่นะ)

อิทธิพลของผู้กำกับ Ingmar Bergman เห็นได้ชัดกับช็อตสุดคลาสสิกนี้ ฉากช่วงท้ายของหนังในคุก แม่ Tonya หันใบหน้าตั้งฉากกับ Insiang นั่นแปลว่าพวกเขาเห็นต่างในความคิด หนึ่งคือดื้อด้านรั้นหัวชนฝา อีกคนอ่อนไหวอยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง (สำนึกผิด)

ตัดต่อโดย Augusto Salvador, ใช้มุมมองของ Insiang เกาะติดเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอ ซึ่งแทบทุกครั้งเมื่อมีเหตุการณ์กระแทกกระทั้นทางอารมณ์เกิดขึ้น จะตัดให้เห็นภาพ Close-Up ใบหน้าของนักแสดง เพื่อให้ถ่ายทอดปฏิกิริยาสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกออกมา ผู้ชมจะสามารถจับต้องสัมผัสได้ถึงความสมจริงโดยทันที

ในชีวิตของ Insiang พบเจอผู้ชาย 3 คน/ประเภท
– Dado หนุ่มใหญ่ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อครอบงำ ครอบครองเรือนร่างกายใจของหญิงสาว
– Bebot แฟนหนุ่มที่สนเพียงอย่างเดียวคือเรือนร่างกาย Casual Sex สุขสำราญสบายกายแล้วก็จากไป
– Nanding น้องชายของ Ludy (แม่ค้าขายของ เพื่อนของ Insiang) มีความรักเทิดทูนต่อหญิงสาว ต้องการช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แต่เขาก็มาช้าหลังสุด ทุกอย่างสายเกินไปแล้ว

เพลงประกอบโดย Minda D. Azarcon ให้สัมผัสอันโหยหวนรวดร้าวใจ อัดอั้นทุกข์ทรมาน ใช้การประสานเสียงของสองเครื่องดนตรีสูง-ต่ำ เชลโล่รองพื้น (มีทั้งดีดและสี) ตัดกับฟลุต/คาริเน็ต เป่าทำนองหลักเสียงสูง ฯ สะท้อนความแตกต่างสุดขั้วระหว่างชีวิต สิ่งเพ้อฝันช่างห่างไกลกันกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

ซึ่งเมื่อถึงตอนจบ เสียงฟลุตกับคาริเน็ตจะดังขึ้นพร้อมกัน แต่กลับเป่าทำนองใครทำนองมันแบบไม่ค่อยสนใจกันสักเท่าไหร่ นี่สะท้อนถึงสองตัวละคร Insiang และแม่ Tonya ที่ต่อจากนี้พวกเขาคงเลือกทางเดินแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

ปัญหาใหญ่ที่ผมพบเจอคือเรื่องเสียง ก็ไม่รู้มัน Sound-On-Film หรือใช้การพากย์ทับ เพราะหลายครั้งเห็นปากไม่ตรงกับเสียงพูด กระนั้น Noise ที่เป็นเสียงธรรมชาติ ผู้คนพูดคุยสนทนา กลับแทรกเข้ามาดังมากจนฟังกลบฟังการพูดคุยสนทนาไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ (ถึงก็ฟังภาษาไม่รู้เรื่อง แต่มันก็ชวนให้หงุดหงิดรำคาญใจอยู่พอสมควร)

Insiang คือเรื่องราวของหญิงสาวที่เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อม สังคมที่มีความโหดเหี้ยมอันตราย เต็มไปด้วยผู้คนนิสัยเลวทราม ขาดความรับผิดชอบ ไร้ซึ่งคุณความดีทางศีลธรรมเป็นแบบอย่าง ทั้งๆที่เธอก็มีความน่ารักสดใส น้ำใจงาม แต่เมื่อถูกกระทำร้ายจนถึงจุดๆหนึ่ง ก็มิอาจอดรนทนต่อไปได้อีกแล้ว แสดงออกด้วยการตอบโต้ย้อนแย้ง ล้างแค้นทวงคืนในสิ่งที่ตนสูญเสียโดนทำลายทิ้งไป

ในสถานการณ์เช่นนั้นต้องถือว่าเป็นความน่าสงสารเห็นอกเห็นใจ คนอะไรซวยบัดซบได้ถึงขนาดนี้ แต่ความตั้งใจจริงของผู้กำกับ Brocka ไม่ได้ต้องการสะท้อนแค่ที่ตัวบุคคล ยังเหมารวมถือเป็นตัวแทนของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ (และน่าจะไม่ใช่แค่ในยุคสมัยการปกครองของผู้นำจอมเผด็จการ Ferdinand Marcos เท่านั้นด้วยนะ)

ผู้นำที่ดี ย่อมเป็นแบบอย่างให้บุคคลใต้สังกัด ยึดถือปฏิบัติดำเนินตามครรลองถูกต้อง แต่เมื่อไหร่ส่วนหัวเต็มไปด้วยความคดโกงกินคอรัปชั่น เป็นไปได้อย่างไรที่ปลายหางจะไม่คัทลอกเลียนแบบตาม, นี่เป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนซึ่งกันและกันได้ด้วยนะครับ กล่าวคือ ถ้าเรามองเห็นกลุ่มบุคคลในระดับพื้นฐานรากหญ้าของสังคม เต็มไปด้วยความชั่วร้ายเลวทรามเฉกเช่นหนังเรื่องนี้ ส่วนหัวผู้นำประเทศ ย่อมคงต้องมีสภาพไม่แตกต่างกัน

สิ่งที่ผมอดไม่ได้จริงๆคือการเปรียบเทียบภาพยนตร์เรื่องนี้กับประเทศไทย ความคอรัปชั่นที่บรรดาท่านผู้นำ(เผด็จการ)ทั้งหลายแสดงออกมาให้ประชาชนพบเห็น มันได้ปลูกฝังเข้าไปในค่านิยมของสังคมเรียบร้อยแล้วละ คนรุ่นถัดๆไปก็จะมีแต่สาละวันเลวลงเรื่อยๆ วิธีการเดียวที่เราทำได้ คืออย่าไปคิดเคียดต้องการล้างแค้นเอาคืนแบบ Insiang หัดนั่งสมาธิผ่อนคลายทำจิตให้สงบ ปล่อยให้อะไรมันจะเกิดก็เกิด ยึดถือมั่นปฏิบัติแสดงออกในความดีงามถูกต้อง ถึงชาตินี้ไม่สุขสบาย แต่ตายไประเริงรื่นบนสวรรค์ย่อมสำราญกว่านรกร้อยพันล้านเท่า

สิ่งที่ Insiang แสดงออกตอนจบก็น่าจะชัดเจนอยู่ เมื่อแม่ถามว่าตอนนี้คงสุขสบายแล้วสินะที่ได้แก้ล้างแค้น เธอตอบสั้นๆว่าไม่ แม้ไม่มีคำพูดอธิบายว่าทำไม แต่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า มันทำให้หญิงสาวสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง ไม่หลงเหลืออะไรใครข้างกาย แล้วชีวิตต่อจากนี้ฉันจะเดินหน้ามุ่งสู่อะไรเป้าหมายอะไรกันละ!

คนส่วนใหญ่คงมองความตั้งใจของผู้กำกับ Brocka แค่ต้องการสะท้อนภาพความจริง ผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชาวฟิลิปปินส์ แต่ผมก็แอบมองเห็นถึงคำตอบของการแก้ปัญหา ที่ได้แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในบริบทของหนังอยู่ด้วย, ถ้าเราต้องการให้ชาติพัฒนาก้าวเดินไปข้างหน้า หลุดรอดพ้นประเทศฐานะยากจก มันต้องเริ่มจากระดับพื้นฐานรากหญ้า คนจนในสลัมนี่แหละต้องมีการเสี้ยมสอนปลูกฝังให้เป็นคนดี มีจิตสำนึกรู้รับผิดชอบชั่วดี และความรู้ประกอบอาชีพสุจริต เมื่อนั้นความคอรัปชั่นเห็นแก่ตัวจะค่อยๆลดลง อนาคตแสงสว่างลิบๆถึงเริ่มส่องแสงมาถึง (แต่ใช่ว่ามันจะหมดหายไปเลยนะ แค่ในระดับสมดุลสองฝั่งคานกันได้ก็เพียงพอแล้วละ)

ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ถูกแบนห้ามฉายในประเทศฟิลิปปินส์ แต่เมื่อภริยาหมายเลขหนึ่งของท่านผู้นำเผด็จการ Imelda Romuáldez ออกมาแสดงความเห็นว่า ‘หนังไม่นำเสนอภาพมุมมองดีๆของประเทศออกมาเลย’ ก็มีอีกหลายหน่วยงานออกมารุมสวดยับ แทนที่จะกลายเป็นกระแสนิยม กลับทำให้ขาดทุนย่อยยับ จนสตูดิโอผู้สร้างล้มละลายไปโดยทันที

กระนั้นแมวมองของผู้จัดงานเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เล็งเห็นความน่าสนใจของ Insiang หลังจากได้ติดต่อให้นำมาฉาย บรรดาโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ ช่วยกันลักลอบขนฟีล์มเดินทางไปยังฝรั่งเศส เพิ่มใส่ Subtitles ภาษาอังกฤษ ออกฉายสำเร็จใน Directors’ Fortnight กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของฟิลิปปินส์ฉายในเทศกาลนี้ ได้รับเสียงวิจารณ์ดีเยี่ยมล้นหลาม

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบภาพยนตร์ประเภทที่ชอบขยี้อารมณ์รุนแรง เรื่องราวน้ำเน่า หรือสะท้อนปัญหาสังคมออกมาลักษณะนี้สักเท่าไหร่ เพราะเมื่อเกิดคำถาม ทำไม? เพราะอะไร? แล้วไม่ได้รับคำตอบไขกระจ่าง ก็มักพาลให้หงุดหงิดหัวเสียอย่างรุนแรง กระนั้นหนังเรื่องนี้ถือว่ามีตอนจบใช้ได้เลย สามารถตอบสนองอารมณ์แย่ๆที่รู้สึกมาตลอดได้เพียงพอใจเลยละ

แนะนำกับคอหนังดราม่า สะท้อนปัญหาชีวิต/สังคม, นักสังคมสงเคราะห์ ทำงานลงพื้นที่สลัม อยากเห็นวิถีชีวิต ความทุกข์ยากคนจนของประเทศอื่นๆ(นอกจากไทย)บ้าง, รู้จักผู้กำกับ Lino Brocka และแฟนๆนางฟ้า Hilda Koronel ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 18+ กับภาพอันโหดร้าย และการกระทำอันชั่วช้าเลวทราม

TAGLINE | “Insiang เกิดผิดที่ ออกฉายผิดเวลา แต่ก็ทำให้ผู้กำกับ Lino Brocka และนางฟ้า Hilda Koronel กลายเป็นตำนานอมตะ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: