Intentions of Murder

Intentions of Murder (1964) Japanese : Shohei Imamura ♥♥♥

นี่คือภาพยนตร์ Masterpiece ที่ผมจงเกลียดเข้ากระดูกดำ, โจรผู้ตั้งใจจะแค่ปล้นขู่ฆ่าแม่บ้านสาวอวบ แต่เปลี่ยนมาข่มขืนแล้วตกหลุมรักชักชวนหนีไปอยู่ด้วยกัน ขณะที่สามีมองเธอก็แค่สาวใช้คนชั้นต่ำ ชอบพูดจาดูถูกถากถางกดขี่ข่มขืนทางใจสารพัด จนวันหนึ่งหญิงสาวอดรนทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เกิดความตั้งใจคิดฆ่าสักคน … ใครกันจะเป็นผู้โชคร้าย?

รับชมไปสักครึ่งชั่วโมงผมแทบอยากจะเขวี้ยงคอมทิ้ง รู้ตัวเลยว่ามีอคติต่อหนังอย่างรุนแรง แต่จำต้องฝืนทนต่อไปเพราะคิดว่าอาจมีอะไรบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ สักพักต่อจากนั้นไม่นานก็เริ่มเกิดความเข้าใจ มันคืออารมณ์นี้เองสินะที่ทำให้หนังได้รับการยกย่องสรรเสริญถึงระดับ Masterpiece

Unholy Desire หรือ Intentions of Murder (1964) คือภาพยนตร์ที่จะค่อยๆสร้างความอึดอัดทรมานให้กับผู้ชม สงสารตัวละครที่ก็แค่ผู้หญิงธรรมดาหน้าตาบ้านๆ แต่กลับถูกข่มขืนทั้งกาย-ใจแล้วไม่สามารถหาหนทางออกให้กับชีวิตได้ จนมาถึงจุดๆหนึ่งตั้งใจจะฆาตกรรมใครสักคน (ไม่สามีก็โจรที่มาข่มขืน) แต่สุดท้ายกลับเป็นทารกน้อยในครรภ์ที่แท้งออกมา

(นี่ไม่ถือว่าสปอยนะครับ เพราะมันไม่ใช่หนัง Thriller ที่จะลุ้นว่าใครตายไม่ตาย ดราม่ามันอยู่ที่อย่างอื่นมากกว่า)

หน้าหนังเช่นนั้น เนื้อในเป็นการสื่อถึงสภาพวิถีสังคมของชาวญี่ปุ่น ‘ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า’ ขณะที่ผู้หญิงจำต้องก้มหน้าก้มหัวทำตามคำสั่งอย่างเคร่งคัด ดั่งขี้ข้าสาวใช้ชนชั้นต่ำในสังคม เสียสละทำทำงานบ้านดูแลทุกสิ่งอย่างให้กลับมีสภาพเหมือนหนูถูกขังในกรง สักวันหนึ่งถ้าถึงจุดมิอาจอดรนทนต่อไปได้ (ไม่ยักรู้ว่าหนูเป็นสัตว์ Cannibal กินพวกเดียวกันเองได้ *-*) บางสิ่งอย่างคงปะทุระเบิดออกมา

ระดับมหภาคเทียบกับช่วงเวลาหลังความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารเข้ามาควบคุมดูแลบริหารประเทศแทน นำเอาระบอบแนวคิดทุนนิยมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามากมาย แต่ช่วงเวลากว่าทศวรรษดังกล่าวก็สร้างความอึดอัดอุ้นทรมานให้กับผู้คนจนเกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่หลายครั้ง ทวีปริมาณและความรุนแรงเพิ่มขึ้นๆเรื่อยๆ นี่ถ้าไม่มีเซ็นสัญญา US-Japan Security Treaty เมื่อปี 1960 อเมริกันยินยอมถอนกำลังทหารส่วนใหญ่กลับประเทศ อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองก็ได้

ถ้าคุณเป็นนักดูหนังที่แค่ชอบดูหนัง ทนไม่ได้ก็ไม่ต้องไปฝืนใจทัณฑ์ทรมานนะครับ มันมีบางประเภทแบบเรื่องนี้ ความอัปลักษณ์พิศดารไม่ได้เกิดจากภาพอันน่ารังเกียจขยะแขยงสายตา แต่คือสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจมนุษย์ ที่อาจทำให้คุณคลื่นไส้วิงเวียนอาเจียน ส่งผลกระทบต่อร่างกายให้อ๊วกแตกอ๊วกแตนออกมาเลยก็ได้

Shohei Imamura (1926 – 2006) ปรมาจารย์ผู้กำกับในตำนานของญี่ปุ่น เป็นคนเดียวของเอเชียที่คว้า Palme d’Or ถึงสองครั้งจาก The Ballad of Narayama (1983) และ The Eel (1997), เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวระดับกลาง พ่อเป็นหมอ เอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างลำบากแสนเข็น ทำงานในตลาดมืดรู้จักเส้นสาย Chimpira, Yakuza เป็นอย่างดี, เข้าเรียน Waseda University สาขาประวัติศาสตร์ตะวันตก แต่เอาเวลาส่วนใหญ่สนใจการเมืองและดูหนัง หลงใหลใน Rashômon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa คือแรงบันดาลใจให้กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

หลังเรียนจบได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yasujirō Ozu ที่สตูดิโอ Shochiku Studios อาทิ Early Summer (1951), The Flavor of Green Tea over Rice (1952), Tokyo Story (1953) แต่เพราะความไม่ประทับใจในแนวทางของ Ozu ต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น ลาออกไปสตูดิโอ Nikkatsu เป็นผู้ช่วย Yuzo Kawashima สร้าง Sun in the Last Days of the Shogunate (1957) ต่อมาได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Stolen Desire (1958) เรื่องราวของนักแสดงพเนจรที่ได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ สะท้อนเข้ากับชีวิตของ Imamura ที่ได้พบเจออะไรต่างๆมากมาย

สไตล์ของ Imamura มีความสนใจอย่างมากเรื่องสังคมชนชั้นต่ำกว่าสะดือของประเทศญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนล่างของมนุษย์กับโครงสร้างของสังคม (ชนชั้นล่าง) สันชาติญาณความต้องการ โดยเฉพาะเรื่อง Sex ด้วยการตั้งคำถาม ‘มนุษย์คืออะไร? แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นอย่างไร?’ (หนังของ Imamura จะต้องมีภาพของสรรพสัตว์สอดแทรกใส่อยู่เสมอ)

“I like to make messy films, and I am interested in the relationship of the lower part of the human body and the lower part of the social structure… I ask myself what differentiates humans from other animals. What is a human being? I look for the answer by continuing to make films”.

สำหรับ Akai Satsui (แปลตรงๆคือ Red Murderous Intent) ร่วมงานกับ Keiji Hasebe ดัดแปลงจากเรื่องราวของ Shinji Fujiwara นักเขียนนิยายชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้ Imamura เคยนำอีกผลงานมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง Endless Desire (1958)

เกร็ด: Fujiwara คือคนที่มีอิทธิพลต่อ Imamura อย่างมากทีเดียว เคยพูดคุยแสดงความชื่นชอบในผลงาน Pigs and Battleships (1961) แต่บอกว่านั่นเหมือนหนังของ Akira Kurosawa มากเกินไป

“I was more interested in seeing an Imamura film than in finding ‘the new Kurosawa'”.

เรื่องราวของ Sadako (รับบทโดย Masumi Harukawa) จากสาวใช้ของครอบครัว Takahashi ดูแลอาการป่วยหอบหืดของ Koichi (รับบทโดย Kō Nishimura) ถูกจับปล้ำทำเมียเลยยินยอมแต่งงานอยู่กินร่วมกัน ย้ายไปอาศัยอยู่บ้านติดทางรถไฟ วันหนึ่งสามีไปทำงานต่างจังหวัด ลูกชายอาศัยกับย่า เธออยู่คนเดียวถูก Hiraoko (รับบทโดย Shigeru Tsuyuguchi) บุกเข้าบ้านตั้งใจจะปล้นขู่ฆ่า แต่ไปๆมาๆข่มขืนแล้วติดใจตกหลุมรัก พยายามโน้มน้าวชักจูงเธอให้หนีตามกันสู่ Tokyo

เพราะความที่ชีวิตของ Sadako ไม่เคยพบเจอความสุขกับสามีที่มองตนเองก็แค่สาวใช้ต่ำต้อย ซื้อบื้อเชื่องช้าพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แถมครอบครัวโดยเฉพาะแม่ยายไม่ยินยอมรับปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสใช้นามสกุล Takahashi ในหัวของเธอเลยเต็มไปด้วยความคลุ้มคลั่งแค้น เลยอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อสนองตัณหาของตนเองสักครา

เกร็ด: หนังรับอิทธิพลจาก Strangers on a Train (1951) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock มาอย่างเยอะทีเดียวนะ ไม่ใช่แค่เรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับรถไฟ แต่ยังความบังเอิญพบเจอ สองฝั่งขั้วตรงกันข้าม และตั้งใจจะฆ่าคนตาย ฯ

นำแสดงโดย Masumi Harukawa (เกิดปี 1935) ได้รับการค้นพบโดย Imamura ชักชวนให้มารับบทสมทบ The Insect Woman (1963) ตามด้วยบทนำกับ Intentions of Murder (1964) ผลงานเด่นอื่นๆ Pastoral: To Die in the Country (1974), Hachiko Monogatari (1987) ฯ

รับบท Sadako สาวอวบใหญ่ จากคนใช้กลายมาเป็นภรรยานายจ้าง ทึ่มทื่อป้ำๆเป๋อๆไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนัก ขี้หลงขี้ลืม พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แถมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆค่อนข้างช้า พอถูกข่มขืนก็ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร อยากฆ่าตัวตายแต่ก็ได้แค่ว่ายกรรเชียง

มันอาจเพราะคำสาปของย่าที่ฆ่าตัวตายตกทอดมาถึงเธอ หรือไม่ก็วัยเด็กถูก(แม่ยาย)ตบตีต่อว่าในช่วงกำลังเริ่มเกิดความสนใจทางเพศ โตขึ้นเลยสูญเสียความมั่นใจในตนเอง มิอาจลิ้มรสสิ่งที่คือความสุขสำราญ มองโลกในแง่ร้ายตลอดเวลา ชีวิตฉันไม่เห็นมีอะไรดี!

ผู้กำกับ Imamura ให้คำนิยาม Sadako ว่า

“Medium height and weight, light coloring, smooth skin. The face of a woman who loves men. Maternal, good genitals, juicy.”

รูปลักษณ์หน้าตาบ้านๆของ Harukawa ทำให้เธอดูเหมือนใครก็ได้ในประเทศญี่ปุ่น ความอวบอ้วนสื่อถึงการไม่ค่อยทำอะไรนอกเหนือจากเพื่อครอบครัวและตนเอง (ของผู้หญิงที่เป็นช้างท้างหลังในสังคมญี่ปุ่น) สำหรับการแสดงเน้นใช้กำลังร่างกายดิ้นรนขัดขืน สีหน้าถ่ายทอดความรู้สึกว่างเปล่าจากภายใน และเสียงพากย์บรรยายเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์อยากตาย

ถือเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมและได้รับการจดจำสูงสุดของ Harukawa แต่คงเพราะเปลืองตัวไปหน่อย และความอวบอ้วนท้วมเลยไม่ค่อยมีโอกาสได้รับบทนำ ส่วนใหญ่ก็สมทบ รับเชิญ พอเอาตัวรอดได้เรื่อยๆกับงานที่ตนรัก

Kō Nishimura (1923 – 1997) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sapporo, Hokkaido หลายคนคงคุ้นหน้ากับบทสมทบในหนังของผู้กำกับ Akira Kurosawa อาทิ The Bad Sleep Well (1960), Yojimbo (1961), High and Low (1963) นอกจากนี้ยังมี The Burmese Harp (1956), Sun in the Last Days of the Shogunate (1957), The Sword of Doom (1966), Zatoichi the Outlaw (1967) ฯ

รับบท Koichi Takahashi สามีสุดหื่นของ Sadako ก่อนหน้านี้แต่งงานมีลูกติดแต่เลิกรา ปัจจุบันก็แอบลักลอบมีชู้กับสาวแว่น Yoshiko Masuda (รับบทโดย Yūko Kusunoki) ทำงานเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ซึ่งตัวเขากำลังจะมีโอกาสไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้าแผนก

เกร็ด: อาการป่วยโรคหอบหืด เกิดจากสภาวะหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ ไวต่อสิ่งกระตุ้นเร้า แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ทำให้หายใจลำบาก มีอาการไอ เจ็บหน้าอก ต้องใช้ยาพ่นขยายหลอดลมถึงช่วยได้, นัยยะของอาการป่วยนี้ คงสื่อถึงนิสัยตัวตนของ Koichi เป็นคนไวต่อสิ่งกระตุ้นเร้า พอภรรยาเก่าจากไปก็ร่านรักกับคนใช้โดยขาดสติ ทั้งยังชู้รักสาวแว่นแทบกระโจนเข้าใส่ เลยต้องชดใช้กรรมทุกข์ทรมานหายใจยากลำบาก

รูปลักษณ์ร่างกายผอมแห้ง หน้าตอบซูบซีดของ Nishimura นอกจากแสดงถึงความขี้โรค ยังสะท้อนความเห็นแก่ตัวของตัวละครได้เป็นอย่างดี ชอบพูดจาถากถาง ยกตนข่มท่านแต่ตัวเองก็ทำตัวไม่แตกต่าง โดดเด่นมากตอนสีหน้าเวลาตื่นตระหนกหวาดกลัว ครุ่นคิดเพ้อไปว่าภรรยาแอบมีชู้จึงพยายามขึ้นเสียงเค้นเอาความจริง ฉากน่าสมเพศสุดๆเลย แต่เห็นว่าเป็นบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมสุดในชีวิตของพี่แก

Shigeru Tsuyuguchi (เกิดปี 1932) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo โตขึ้นเข้าร่วมกลุ่ม Haiyūza Theater Troupe เข้าตา Imamura ชักชวนมาให้มีบทสมทบ The Insect Woman (1963) ตามด้วยโด่งดังแจ้งเกิดกับ Intentions of Murder (1964) ผลงานเด่นอื่นๆ Kiri no Hata (1965), Woman of the Lake (1966), Lone Wolf and Cub: Sword of Vengeance (1972) ฯ

รับบท Hiraoko ป่วยหนักเป็นโรคหัวใจ เวลาเจ็บหน้าอกต้องใช้หลอดยา (Ampule) จะมีอาการดีขึ้น เพราะไม่อยากตายเลยออกปล้นเงินขู่ฆ่าเหยื่อ แต่ไปๆมาๆตกหลุมรัก Sadako ขอหวนกลับมาพบเจอร่วมรักดับความหื่นกระหาย ในที่สุดสามารถโน้มน้าวชักจูงพากันหนี แต่ติดรถไฟไปไม่ถึง Tokyo ออกเดินด้วยเท้าท่ามกลางหิมะหนัก ช่างโง่เขลาเบาปัญญาสิ้นคิดสิ้นดี

อาการป่วยของ Hiraoko เกี่ยวกับหัวใจ (ไม่รู้โรคอะไร) สะท้อนถึงความอ่อนแอทางจิต ชีวิตไร้ซึ่งคนรัก ครอบครัว ขาดความอบอุ่น ถ้าป่วยตายคงไม่มีใครใคร่สนใจ (เพื่อนร่วมวงดนตรีบอกไว้) เมื่อพบเห็น Sadako เลยรับรู้ว่าเธอก็เหมือนเขาไม่แตกต่าง เลยชักชวนหนีไปอยู่ด้วยกัน

เป็นการแสดงที่มากล้นด้วยความหื่นกระหายเหมือนคนโรคจิต คำพูดคำจาซี้เซ้าตาลอยๆ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็จะเอาด้วยกล ใช้พละกำลังวังชาเหนือกว่าเพราะเป็นผู้ชาย บีบบังคับให้หญิงสาวสมยอมตามโดยมิถามความรู้สึกของเธอ เพ้อคลั่งไปเองกับการกระทำ สุดท้ายก็หมดสิ้นลมเพราะตนเอง

นี่เป็นบทแจ้งเกิดของ Tsuyuguchi ทำให้เขาโด่งดังค้างฟ้าไปเลย ในวงการมีผลงานต่อเนื่องทั้งภาพยนตร์ ซีรีย์ แถมกลายเป็นขาประจำของ Imamura อีกด้วยนะ

Yuko Kusunoki (เกิดปี 1933) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เข้าตา Imamura อีกเช่นกัน เลยได้แจ้งเกิดกับ Intentions of Murder (1964) ผลงานเด่นอื่นๆ Thirst for Love (1967), Eros + Massacre (1969), Dodes’ka-den (1970) ฯ

รับบท Yoshiko Masuda บรรณารักษ์สาวแว่น ชู้รักของ Koichi ที่เต็มไปด้วยความหื่นกระหาย เพราะต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเขาแต่เพียงผู้เดียว แอบติดตามขึ้นรถไฟถ่ายภาพ Sadako กับ Hiraoko เพื่อเก็บหลักฐานให้ได้เลิกร้างรา เกือบจะสมหวังแต่ดันกลับมาตายรังโง่ๆแบบน่าสมน้ำน่า

ขณะที่ตัวละครอื่นๆมักป่วยโรคอะไรสักอย่าง Yoshiko เป็นสาวแว่นสายตาสั้นมากกก ไร้ซึ่งวิสัยทัศน์มองอะไรไกลๆไม่เห็น (แต่ใกล้ๆสวมแว่นก็ใช่ว่าจะมองชัด) มืดบอดถ้าแว่นหล่นหลาย ด้วยเหตุนี้ชะตากรรมตอนจบเกิดขึ้นเพราะการไม่สนมองสิ่งรอบข้างอย่างอื่น

การแสดงสุดร่านโรคจิตของ Kusunoki แทบไม่แตกต่างกับบทบาทของ Tsuyuguchi แต่เพราะเป็นผู้หญิงเลยดูไม่รุนแรงเท่า สวยอีกต่างหากเลยอาจมีหลายคนให้กำลังใจเชียร์ (ผมก็คนหนึ่งที่ชอบสาวแว่น)

ถ่ายภาพโดย Shinsaku Himeda ขาประจำของ Imamura และยังเป็นตากล้องสัญชาติญี่ปุ่นคนแรกที่เข้าชิง Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Tora! Tora! Tora! (1970)

นอกจากลายเซ็นต์อันเป็นเอกลักษณ์ (รับอิทธิพลจากอาจารย์ Ozu) ที่ถ้าคุณชมผลงานของ Imamura มาหลายเรื่องน่าจะเริ่มสังเกตได้ สิ่งโดดเด่นขึ้นมากับหนังเรื่องนี้คือการจัดแสงเงา ที่ไม่เพียงสะท้อนเหตุการณ์หรืออารมณ์ตัวละคร แต่ยังกำหนดตำแหน่งสายตาของผู้ชมในการมองให้จับจ้องสนใจตรงนั้นโดยเฉพาะเลย

รถไฟ พบเห็นได้ตั้งแต่ช็อตแรกของหนัง เป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางมาถึงของโลกยุคสมัยทุนนิยม หรือบางสิ่งอย่างที่เคลื่อนผ่านจิตใจตัวละคร

บ้านของ Sadako กับ Koichi ก็ไม่ถือว่าโกโรโกโสนะ แค่ว่ารูปวาดขีดๆเขียนๆของลูกชายพวกเขา มันช่างดูเหมือนพวกบ้านร้าง/สถานที่วัยรุ่นมั่วสุมพี้ยา/บ้านผีสิงยังไงชอบกล!

กรงหนู คือสัตว์สัญลักษณ์ที่สะท้อนสถานะของ Sadako ต่อการเป็นภรรยาที่ถูกกักขังในบ้าน/สถานกักกันแห่งนี้ และยังอาจสื่อได้ถึงสภาวะทางจิตใจของเธอที่ขาดการดูแล ทำให้หนูสองตัวหิวกระหายครั้งแรกเลยฆ่ากันตาย (ตัวที่รอดคือยังวิ่งอยู่ในกงล้อหมุน ไม่ขอยอมแพ้ต่อโชคชะตาชีวิต) อีกครั้งก็คือขาดอาหารตาย

การมาถึงของโจรปลุก Sadako ให้ตื่นลุกขึ้นจากที่นอนบนพื้น ภาพช็อตนี้พบเห็นขาของเขาอยู่ระนาบเดียวสาตาของหญิงสาว นี่เป็นการสะท้อนเปรียบเทียบถึงการมองเธอเป็นคนระดับต่ำต้อยกว่า

มันจะมีอีกช็อตหนึ่งหลังจาก Hirako ตกหลุมรักใคร่ต้องการ Sadako มีการจัดองค์ประกอบภาพแบบเดียวกันนี้แต่สลับตัวละคร กล่าวคือพบเห็นใบหน้าของ Hirako กอดแข้งกอดขา Sadako ที่กำลังยืนอยู่

ระหว่างที่ Hiraoko ปล้นเงินจากลิ้นชักตู้เสื้อผ้า หลอดไฟด้านหลังที่โคลงเคลงไปมา มันจะมีตำแหน่งที่แสงสาดส่องเห็นกางเกงในของ Sadako พอดิบพอดีแค่เสี้ยววินาที แล้วหัวขโมยคนนี้มันก็หื่นขึ้นมา!, นัยยะของความโคลงเคลงสะท้อนเข้ากับจิตใจของตัวละครทั้งสองนี้ ที่หาได้พบเจอความสุขใดๆในชีวิต แต่ก็จะมีสิ่งเดียวเท่านั้นที่พึงพอแสวงหาได้

เงี่ยนแล้ว! แสงไฟสาดส่องลงตรงตำแหน่งริมฝีปากของ Sadako แล้วอย่างอื่นรอบข้างมืดมิดสนิท ก็เพื่อไม่ให้ผู้ชมละสายตาไปจากจุดโฟกัสความหื่นกระหายอันอัปลักษณ์พิศดารนี้

เพราะการจัดแสงแบบนี้ทำให้สายตาผู้ชมจับจ้องมองเฉพาะตำแหน่งที่หนังต้องการให้เห็น บางครั้งกรูก็ไม่ได้อยากมองตรงนั้น เห็นบ่อยๆจึงเริ่มสะอิดสะเอียนขยะแขยง เมื่อถึงจุดแตกหักก็รับไม่ไหวอีกต่อไป

ช่วงขณะที่ Sadako ถูกข่มขืน ในหัวของเธอครุ่นคิดนึกย้อนถึงอดีตวัยเด็ก น่าจะเป็นช่วงขณะกำลังเติบโตเป็นสาว วางหนอนไหมบนขาให้มันไต่เข้าใกล้หาของลับของสงวนตนเอง นี่เป็นการสื่อถึงความใคร่สนใสเกี่ยวกับเพศ และเจ้าหนอนไหมตัวยาวๆสื่อถึงลึงค์/อวัยวะเพศชาย

แต่การที่เธอถูกปฏิเสธโดยว่าที่แม่ยาย พบเห็นการกระทำดังกล่าวเลยตบตีทำร้าย นี่เป็นการสร้างปมฝังใจให้เธอกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตนเอง และยิ่งไม่มีพ่อไม่มีแม่ แถมย่าฆ่าตัวตายอีก นี่น่าจะเรียกว่าปม Electra ได้อยู่กระมัง เรียกสามีว่าป๊ะป๋าเสียด้วย

ความเจ็บปวดที่ถูกทุบตีแทนด้วยช็อตนี้ บีบหนอนไหมจนขี้พุ่ง ตอน Sadako โดยข่มขืนผมยังแค่เจ็บจี๊ดๆ แต่ช็อตนี้สั่นสะท้านรวดร้าวรานไปถึงทรวง! สื่อได้ถึงความบีบคั้นเคียดแค้นฝังใจ และถ้าใช้นัยยะหนอนไหม=ลึงค์/อวัยวะเพศชาย ก็จินตนาการตามเองแล้วกันผู้ชายจะรู้สึกอย่างไร

หลังจากข่มขืนเสร็จสมหวังแล้วจากไป หลงเหลือเพียงแค่ Sadako ในบ้านผีสิงอันมืดมิด ลุกขึ้นยืนอย่างหมดอาลัย แสงสาดส่องแค่เสี้ยวส่วนหนึ่งของตัวเธอ, แต่สิ่งน่าสนใจของช็อตนี้คือโทรทัศน์ด้านซ้าย นี่ราวกับจะสื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องถัดไปคือภาพที่พบเห็นได้ปกติประจำวัน เหมือนดูรายการทีวีอยู่นั่นเอง

ใครเคยรับชม Pigs and Battleships (1961) น่าจะจดจำช็อตที่นางเอกถูกสามทหารอเมริกันข่มขืน แล้วใช้ภาพมุมสูงหมุนติ้ว 360 องศา ช็อตนี้ก็มีลักษณะคล้ายๆกันแค่ว่าหมุนอย่างเชื่องช้า หลังจาก Sadako ถูกข่มขืนเสร็จสิ้นแล้ว

นัยยะของการหมุนสื่อความหมายเดียวกัน คืออาการสับสนงุนงงยังไปต่อไม่ถูกของหญิงสาว

ครุ่นคิดถึงการได้มาของสามี นี่เป็นอีกย้อนอดีต (Flashback) ตอนที่ Sadako โตขึ้นเป็นสาวแล้ว ทำงานเป็นคนใช้ปรนิบัติดูแลเจ้านายป่วยไข้ แต่ก็ไม่รู้พิศวาสร่านอะไรไวปานนั้น ซึ่งพอดีกับแม่เปิดประตูเข้ามาพบเห็น สามารถเข้าใจได้ทันทีถึงความเคียดแค้นปฏิเสธไม่ยอมรับลูกสะใภ้คนนี้เสียงขันแข็ง แต่แท้จริงมันคือสนองกรรมตนเองที่เคยทุบตีเด็กสาวไว้เมื่อคราก่อน

ผมมีความพิศวาสในท่ากันเชียง Slow-Motion ตั้งใจจะกระโดดตัดหน้ารถไฟฆ่าตัวตายของ Sadako ช็อตนี้มากๆ อยากจะเป็นอิสระจากพันธการเนื้อหนังร่างกายนี้ แต่กลับมิอาจแหวกว่ายให้ถึงเป้าหมายฝั่งฝัน

นี่ก็เป็นอีกช็อตที่เลือกมุมกล้องได้เจ๋งมากๆ Koichi แอบคบชู้สาวแว่น Yoshiko ภาพถ่ายผ่านชั้นวางหนังสือ เห็นพวกเขาเแค่เพียงเสี้ยวส่วนของใบหน้า เรียกว่าซ่อนเร้นกันสุดๆในสถานที่มีเพียงเราสอง

ครั้งที่สองของช็อตลักษณะนี้ จะพบเห็นมุมกว้างมากขึ้นเพราะเอาหนังสือลงจากชั้น นัยยะคงสื่อถึงการถูกพบเจอ/เปิดโปงโดยเพื่อนบ้าน (แต่ Sadako สนใจเสียที่ไหน) ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาถือว่ามิใช่ความลับอีกต่อไป

และอีกครั้งจะเป็นอีกด้านมุมหนึ่ง Koichi เอาหนังสือชุดหนังสือวางปิดหน้า Yoshiko แปลว่าพยายามยับยั้งยุติความสัมพันธ์ แต่เหมือนจะยังเหลือไว้อีกชั้นที่ยังพอมองเห็นอยู่ ก็คือแค่ลดลงแต่ไม่ได้ถึงขั้นเลิกรา

Hiraoko ใช้เตารีดข่มขู่จะข่มขืน Sadako เงาสะท้อนใบหน้าของเธอ มีนัยยะถึงเศษเสี้ยวความต้องการภายในจิตใจ ก็คงอยากร่านอยู่แต่จิตสำนึกดีมันหักห้ามไว้ ถ้าไม่ได้ใช้กำลังขนาดนี้คงไม่สมยอม

มันจะมีอีกช็อตหนึ่งที่ Koichi ร่วมรักกับ Sadako แม้เป็นสามี-ภรรยา แต่เมื่อเธอเงยหน้าขึ้นมองเห็นเตารีดอันนี้ มันชักชวนให้คิดว่านี่ก็มีลักษณะข่มขืนไม่ต่างกันหรอหรือ (แต่เป็นข่มขืนทางใจ)

หั่นปลาช็อตนี้เหมือนจะไม่มีอะไร แต่โคตรลึกล้ำเลยนะครับ, สังเกตว่าการหั่นแบ่งออกเป็นส่วนหัว ลำตัว และหาง สะท้อนได้ถึงชนชั้นทางสังคม ส่วนหางต่ำต้อยไร้ค่าโยนทิ้ง ส่วนกลางลำตัวนำไปใช้ประโยชน์ปรุงเป็นอาหารได้ ขณะที่ส่วนหัวผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ เอาไว้เชิดชูประดับมื้ออาหารกินดิบๆได้กระมังอร่อยสุด

ฉากร่วมรักของ Koichi กับ Yoshiko สังเกตว่าบนเตียงมีไม่เอากัน กลับลงไปกลิ้งเกลือกยังพื้นมองไม่เห็นอะไรทั้งนั้น นัยยะสื่อถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาเลวต่ำทรามกว่าบนเตียง ก็คือลักลอบมีชู้

สาวแว่น Yoshiko ปกติแล้วเวลาถอดออกจะเห็นตาตี่ (ทำตาตี่ๆเพื่อให้สามารถมองเห็นแม้จะเบลอๆก็เถอะ) แต่ช็อตนี้กลับทำตาลุกพองโต คงสื่อถึงความพึงพอใจสูงสุดของตนเอง และพยายามเพ่งหาเป้าหมายต่อไป ซึ่งคือการได้ Koichi มาครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

ความว่างเปล่าในชีวิตของ Sadako สะท้อนออกมาผ่านมุมกล้องนี้ขณะรอรถไฟ เว้นที่ว่างมากมายไว้ทางซ้าย มันช่างดูขลุกขลัก มิได้ราบเรียบร้อยเหมือนคนปกติทั่วไป

ยื้อยักเหนี่ยวชักกันไปมาของ Sadako กับ Hiraoko เกิดขึ้นบริเวณท้ายขบวนรถไฟที่กำลังขับเคลื่อนไหว ช่างอันตรายเสี่ยงตายน่าดู, รถไฟอย่างที่บอกไปว่าคือสัญลักษณ์การมาถึงของโลกยุคสมัยใหม่ การต่อสู้ของพวกเขาที่อยู่ท้ายสุดของขบวน คือต่างคนต่างไม่สนใจแต่ยื้อไปยื้อมาก็ยอมความกันจนถึงสถานี เรียกว่าไร้ซึ่งความกล้าจะกระโจนโดดหนีออกจากวิถีทุนนิยม

กรรมเวรของแม่ยายที่เคยทำไว้กับ Sadako สุดท้ายแล้วเมื่อเธอไม่หลงเหลือใครนอกจากลูกๆ จำต้องร้องขอไหว้วอนให้ลูกสะใภ้หวนกลับมาอาศัยบ้านหลังเก่า

ความน่าสนใจของช็อตนี้คือลิ้นชักตู้เก็บของที่ประดับเป็นพื้นหลัง ราวกับห้องแห่งความลับมีอะไรก็ไม่รู้ซุกซ่อนอยู่มากมาย แต่ก็มิอาจนำมาเปิดเผยบอกต่อบุคคลอื่นให้รับทราบ (นี่สะท้อนถึงทั้งแม่ยายและ Sadako เลยนะ)

การทะเลาะโต้เถียงกันรุนแรงระหว่าง Koichi กับ Sadako เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเอาเสียเลยให้กับลูกจับจ้องมองจดจำฝังใจ เชื่อว่าเพราะเหตุการณ์นี้อาจทำให้เขาเกิดปม Oedipus ติดแม่อย่างแน่นอน

แต่ก่อนจะไปถึงวินาทีนั้นมีช็อตนี้ Sadako หันหลังให้กับภาพ ขณะที่ Koichi เป็นภาพซ้อนเล็กๆจากกระจกขณะเดินไปหยิบกางเกงขาดแหว่งเป็นหลักฐาน นี่เป็นการสะท้อนตัวตนของทั้งคู่ต่างมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ (คนหนึ่งหันหลัง, อีกคนหนึ่งเห็นแค่ภาพในกระจก)

เมื่อตอน Pigs and Battleships (1961) คู่รักหนุ่มสาวสนทนาอนาคตกันบนเนินเขาสูงมองเห็นทิวทัศนียภาพเมืองโดยรอบ แต่กับเรื่องนี้คาดว่าบนหลังคาน่าจะคือสูงสุดที่เป็นไปได้แล้ว ต่างสนทนาเพ้อเจ้อถึงอนาคตเฉกเช่นเดียวกัน
– Sadako พยายามยัดเงินเพื่อขอเลิกรา
– Hiraoko โน้มน้าวชักจูงเธอให้ไป Tokyo ด้วยกัน

หลังจาก Sadako ตีตนออกจาก Hiraoko ระหว่างเดินทางกลับบ้านลงจากรถเมล์ จิตใจยังคงครุ่นคำนึงคิดถึงอยู่มิอาจตัดใจเลิกราได้ วินาทีนี้หิมะเริ่มตกลงมา เป็นการสะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจเธอ ค่อยๆตกต่ำลงจนถึงจุดเยือกแข็ง ไร้ซึ่งความอบอุ่นสุขใจของชีวิต

กลัวผู้ชมจะลายตาไปกับผู้โดยสารมากมายบนรถไฟ แสงสาดส่องลงที่สามตำแหน่ง อย่างอื่นไม่มีอะไรน่าสนใจ!
– กล้องถ่ายรูป แม้ไม่เห็นหน้าแต่ผู้ชมจะบอกได้ทันทีว่านั่นคือของยัยแว่น Yoshiko Masuda
– ใบหน้าของ Sadako
– ยืนอยู่คือ Hiraoko

เพราะรถไฟติดหิมะกลางทาง พวกเขาเลยตัดสินใจเลือกเดินแบบไม่คิดชีวิต ขึ้นเนินเขาโดยมี Hiraoko นำเป็นช้างเท้าหน้า ขณะที่ Sadako อยู่เบื้องหลังตามมาติดๆ ขณะที่ชู้อีกคน Yoshiko ตามมาห่างๆ

ระหว่างกำลังเดินขึ้นสูงเรื่อยๆ กล้องจะสั่นระริกรัวโยกไปมาจนแทบดูไม่รู้เรื่อง นี่ไม่เพียงสะท้อนความหนาวเหน็บของอากาศ แต่ยังความสั่นสะเทือนในจิตใจของ Sadako เพราะกำลังตั้งใจจะกระทำบางสิ่งอย่าง

การเดินทางฝ่าพายุหิมะ เป้าหมายคือเริ่มต้นใหม่ที่ Tokyo แต่กลับมาจมปลักกลางทางที่อุโมงค์ส่งน้ำแห่งหนึ่ง ณ ตำแหน่งกึ่งกลางเช่นกัน อันเป็นเหตุให้ Hiraoko อาการป่วยกำเริบขึ้น แต่ดันทำหลอดยา (Ampule) หล่นหายแบบโง่ๆ พบเห็นตกอยู่ข้างหน้าแต่กลับเหมือนคนสายตาสั้นมองไม่เห็น (นี่สะท้อนเข้ากับตอนที่ Yoshiko เผลอทำแว่นตกพื้นด้วยนะ)

อุโมงค์แห่งหนึ่ง ผมมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเลือก เพราะทางออกมีอยู่สองฝั่งจะเลือกอะไร ไปกับ Hiraoko หรือหวนกลับสู่อ้อมอกสามี Koichi วินาทีหนึ่งเธอตัดสินใจปัดถ้วยชา แต่อีกสักพักต่อมาโชคชะตาก็เล่นตลกกับเธอ ตะเกียกตะกายหนีเพราะทนเห็นไม่ได้ยังไม่อยากตาย วิ่งหนีสุดชีวิตหวนกลับมาพร้อมสูญเสียบางสิ่งอย่างทรงคุณค่าในตนเองไป

การทะเลาะโต้เถียงกันอีกครั้งระหว่าง Sadako กับ Koichi ภาพถ่ายจากด้านนอกโรงพยาบาลพบเห็นคนเดินสวนด้านนอก คงจะเป็นการสื่อถึงพื้นสถานที่สาธารณะ ล้อเลียนประชดประชันกับตอนกลางเรื่องที่มีบ้านใกล้เรือนเคียงของพวกเขาเข้ามาทะเลาะเบาะแว้งยามวิกาล แล้วพี่แกไปต่อว่าสั่งห้ามมามีเรื่องกันในพื้นที่บ้านของตนเอง

น้ำเสียงของ Sadako เต็มไปด้วยความเหนื่อยหน่ายไม่อยากใคร่สนใจ โป้ปดโกหกแบบหน้าด้านๆ เฉกเช่นเดียวกับสามีที่ต้องถือว่าพิศดารกว่า ตัวเองคบชู้แต่กลับรับไม่ได้ว่าภรรยาสู่ชาย แถมยื้อไม่ตอบคำถามนำฟีล์มมาจากไหนกล้องใครแอบถ่าย

ผมหลุดขำกระจายตอนพวกเขาเดินทางกลับบ้าน แล้วเพื่อนร่วมงานของ Koichi ฝอยกระจายถึงที่มาที่ไปของกล้องถ่ายรูป ต่อให้ฉลาดน้อยแค่ไหนคงไม่โง่เกินรับรู้ว่าผู้หญิงเจ้าของกล้องคนดังกล่าวคือชู้ของสามี ซึ่งเหมือนเธอก็จะยอมความปล่อยเขาไปแบบไม่คิดโต้เถียงกลับ เช่นเดียวกับเขาเลิกสนใจเรื่องเล็กๆน้อย ผ่านไปแล้วจะเอาอะไรมาคั่งค้างคาใจ

เมื่อปัญหาครอบครัวได้รับการพูดคุยสื่อสาร ยินยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ความขัดแย้งต่างๆก็ถึงคราจุดจบสิ้น, ผมเลือกนำช็อตนี้เพราะเป็นการเคารพคารวะอาจารย์ Ozu ของ Imamura ครบทุกองค์ประกอบถ่ายภาพ Tatami Shot นักแสดงนั่งไม่ซ้อนทับใบหน้ากัน และบทสรุปของเรื่องราวที่เป็นข้อคิดสอนใจผู้ชม

ภาพสุดท้ายของหนังเป็น Long Take ปรากฎควบคู่กับ Ending Credit มีความน่าสนใจอยู่ที่การเคลื่อนกล้องจากหนอนไหมวางอยู่ตรงสะโพกขา ใช้ใบไม้ค่อยๆดึงมันชักจูงมา กล้องเคลื่อนเลื่อนขึ้นมาจบลงที่ศีรษะใบหน้า ราวกับว่าต้องการสื่อถึงการไต่เต้าทางชนชั้น ต้นเรื่องเป็นเพียงคนใช้ ตอนจบได้รับการยอมรับจากตระกูล Takahashi

ตัดต่อโดย Mutsuo Tanji อีกหนึ่งขาประจำของ Imamura ร่วมงานตั้งแต่ Endless Desire (1958),

หนังดำเนินเรื่องในมุมมองของ Sadako Takahashi พร้อมเสียงพูดจากความคิด บางครั้งเป็นระลึกนึกย้อนอดีต (Flashback) ไปเมื่อตอนวัยเด็กเล่นกับหนอนไหม และโตขึ้นเป็นสาวสมยอมกับ Koichi,

เพลงประกอบโดย Toshiro Mayuzumi คีตกวีแนว Avant-Garde สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Street of Shame (1956), Enjo (1958), Stolen Desire (1958), When a Woman Ascends the Stairs (1960), Tokyo Olympiad (1965), The Bible… in the Beginning (1966) ฯ

ด้วยไดเรคชั่นเดียวกับ Pigs and Battleships (1961) และ The Insect Woman (1963) เพลงประกอบมักดังขึ้นระหว่างฉาก ไม่ค่อยขณะตัวละครกำลังพูดคุยสนทนา แต่เรื่องนี้ก็พอมีบ้างพร้อมๆกับ Jew’s Harp ที่ฟังเหมือน Sound Effect มากกว่า Soundtrack

ทั้งการใช้ Jew’s Harp ที่มีเสียงเหมือนการกระโดดเต้นโหยเหยง หรืออยู่ดีๆบทเพลงดังกระหึ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว นี่สะท้อนเข้ากับความบังเอิญจับพลัดจับพลู อยู่ดีๆใครไหนก็ไม่รู้ปรากฎตัวเข้ามาขู่ฆ่าปล้นเงิน อยู่ดีๆก็เปลี่ยนใจข่มขื่นตกหลุมรักแทน อยู่ดีๆล้มลงป่วยดิ้นรนทุกข์ทรมาน อยู่ดีๆก็สิ้นลมตาย *-* แทบทุกอย่างเกิดขึ้นโดยไม่มีใครสามารถคาดเดาได้

จะมีหนึ่ง Sound Effect ที่ได้ยินประกอบหนังอยู่เรื่อยๆ นั่นคือเสียงรถไฟเคลื่อนผ่าน (มีทั้งขณะพบเห็นจริงๆ และได้ยินแต่เสียง) บ่อยครั้งจนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นเสียงเพรียกของวิญญาณที่ล่องลอยอยู่ในสายลมโชย ทุกครั้งที่ได้ยินล้วนสื่อถึงบางสิ่งอย่างเคลื่อนผ่านเข้ามาในสมอง/จิตใจของตัวละคร

อีกเสียงหนึ่งที่ดังเว่ออยู่เรื่อยๆคือลมหายใจ นี่ไม่ใช่แค่ตอนร่วมรักเพื่อสร้างอารมณ์ร่วม แต่ยังขณะเหนื่อยหอบวิ่งหลบหนี หนาวสั่นกำลังจะตาย บางครั้งกำลังพูดบรรยายความรู้สึกนึกคิด เหตุผลที่ทำให้ดังเด่นชัดขนาดนั้น คงเพื่อต้องการโฟกัสเสียงให้เข้าหูผู้ชมตรงๆเลย (แบบเดียวกับการจัดแสงให้มองเห็นเฉพาะตำแหน่งนำเสนอ เน้นบางเสียงก็ได้ยินเด่นชัด)

Intentions of Murder ได้ทำการสำรวจเข้าไปในความครุ่นคิดจิตใจของ Sadako Takahashi ผู้ถูกกระทำชำเราทั้งภายนอกร่างกาย-ภายในจิตใจ นับครั้งไม่ถ้วนจนสับสนเรรวนปรวนแปร เกิดความครุ่นคิดต้องการฆ่าใครสักคนให้ตายเพื่อเป็นการระบายความอัดอั้นคับข้องแค้น เริ่มต้นก็จากตนเอง ชักชวนลูกชาย(ที่คือลูกเลี้ยง) สามี และชายแปลกหน้าที่พยายามข่มขืนหลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอดเพราะลึกๆยังคงมีจิตสำนึกดีงาม ก็มิอาจกระทำร้ายใครได้สำเร็จนอกจากฆ่าสัตว์ กรรมแห่งความคิดเลยมาตกที่ลูกในไส้ ก็ไม่รู้ว่าของใครแต่แทนด้วยของรักของหวงภายในจิตใจเธอเองที่ดับสิ้นสูญ

เอาจริงๆด้วยสติปัญญาของ Sadako ไม่มีวันครุ่นคิดจะตั้งใจฆ่าใครได้อย่างแน่นอน แต่จุดเริ่มต้นเกิดจากชายแปลกหน้า Hiraoko ที่อยู่ดีๆไร้ปี่ขลุ่ยถือมีดเข้ามาขู่ฆ่า ใช้ความรุนแรงปล้นข่มขืน วินาทีเมื่อลุกขึ้นยืนเธอก็เริ่มต้นบ่นพึมพัมหมดอาลัยกับชีวิต อยากฆ่าตัวตายมาทันที

ทุกตัวละครในหนังเรื่องนี้ต่างมีความตั้งใจบางอย่าง
– Sadako อยากตาย ฆ่าคนอื่นตาย เพื่อทอดทิ้งชีวิตทุกข์ยากลำบากของตนเองที่ถูกกดขี่ข่มขืนจากทุกคนรอบข้าง
– Koichi เป็นคนที่ต้องการทุกสิ่งอย่าง ทั้ง Sadaoko, Yoshiko ตำแหน่งงานหัวหน้าบรรณารักษ์ ฯ
– แม่ของ Koichi ตั้งใจจะไม่รับ Sadako เป็นลูกสะใภ้ แต่เมื่อสามีของเธอจากไปก็เริ่มปล่อยวางชีวิตยินยอมรับได้
– Hiraoko จากเคยตั้งใจขโมยเงิน เมื่อตกหลุมรักก็เปลี่ยนแปลงตนเอง คาดหวังอยากครอบครอง Sadako หนีไปอยู่ Tokyo ด้วยกัน
– Yoshiko สาวแว่นผู้มีความต้องการครอบครอง Koichi อย่างแรงกล้า แอบติดตามถ่ายรูปแบบไม่สนอะไรอย่างอื่นรอบข้าง
ฯลฯ

ความตั้งใจ/ต้องการ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน เพราะความอยากเลยต้องโหยหาไขว่คว้ามาครอบครอง แต่ทุกสิ่งล้วนต้องมีการแลกเปลี่ยนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม เกิด-ตาย ซื้อของ-จ่ายเงิน ต้องการความรัก-ก็ต้องมอบความรัก สามีคบชู้-ภรรยาสู่ชาย เคยคิดอยากฆ่าคน-เลยถูกขู่ฆ่า ฯ

ใจความของหนังเรื่องนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความตั้งใจ’ ถ้าเราต้องการสิ่งดีๆให้เข้ามาในชีวิต ไม่ใช่ว่าควรจะเริ่มต้นจากทำความดีเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนอันเท่าเทียมหรือหรือ? เช่นกันกับความคิดชั่วต้องการฆ่าคน เมื่อมันเกิดขึ้นในหัวสมองจิตใจเราแล้ว แม้มิได้กระทำให้ใครตายจริงๆแต่ยังส่งผลกระทบบางอย่างต่อตนเองหรือคนรอบข้าง

แนวคิดของของกฎแห่งกรรม ไม่ใช่แค่การกระทำแสดงออกภายเท่านั้น แต่ยังเหมารวมถึง กาย-วาจา-ใจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงสอนว่าให้ คิดดี-พูดดี-ทำดี สามประการนี้พร้อมกันเท่านั้นถึงได้รับสิ่งดีๆคืนตอบสนอง

ความตั้งใจของผู้กำกับ Imamura ต่อการเสนอกฎแห่งกรรมในหนังเรื่องนี้ มุ่งเน้นโดยเฉพาะผู้ชาย/สามี ให้ชวนฉุกครุ่นคิดแสดงออกปฏิบัติอย่างให้เกียรติเสมอภาคผู้หญิง/ภรรยา ย่อมได้รับความจงรักภักดีรักใคร่กลมเกลียวกว่าการดูถูกถากถางเหยียดหยาม ใช้กำลังความรุนแรงเข้มงวดปกครองครอบครัวหรอกหรือ?

สังคมช้างเท้าหน้าของญี่ปุ่น มักมาพร้อมกับความเผด็จการในครอบครัว เพราะฉันคือคนทำงานหาเงินเลี้ยงดูแลจุนเจือทุกสิ่งอย่าง เลยถืออภิสิทธิ์ที่เมื่อกลับบ้านต้องได้รับความสะดวกสบายจากภรรยา ตัดสินใจอะไรก็ต้องผ่านความเห็นชอบของตนเท่านั้น ไม่รับฟังคำเสนอแนะตักเตือนปรารถนาดี หรือสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมใดๆทั้งสิ้น

แม้ว่าการเข้ามาถึงของแนวคิดชาติตะวันตกสู่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะทำให้จิตใจของผู้คนตกต่ำทรามลง แต่ก็มีประเด็นเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมในสถาบันครอบครัวนี่แหละ ได้เปิดโลกทัศน์สายตาคนหัวก้าวหน้า ผู้หญิงก็มีสามารถทำงานเป็นช้างเท้าหน้า เสนอออกความคิดเห็น ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้เหมือนกัน

ประตูที่เปิดกว้างขึ้นนิดหนึ่ง ณ ตอนท้ายของหนัง ถือเป็นความหวังเล็กๆของอิสตรีเพศในญี่ปุ่นที่จะได้รับการยอมรับเท่าเทียมจากผู้ชาย แต่สำหรับผมแล้วไม่รู้สึกเลยว่านั่นคือการมองโลกในแง่ดี เพราะต้นตอของปัญหาแท้จริงยังหาได้รับการแก้ไขแม้แต่น้อย!

นั่นคือสิ่งที่ทำให้ส่วนตัวรู้สึกหมดหวังกับหนังเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง หลังจากยินยอมให้ข่มขืนทางใจมากว่า 150 นาที ทุกข์ทรมานแสนสาหัสแต่กลับไม่สามารถค้นพบแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้รู้สึกอุ่นชื้นใจขึ้นมาสักนิด หมดสิ้นเรี่ยวแรงและพลังวิญญาณ ไม่ขอหวนกลับมาคลุ้มคลั่งจนอยากฆ่าใครตายอีกแม้แต่ครั้งเดียว

ปัจจุบันดีขึ้นกว่าเดิมไหมนั้นผมก็บอกไม่ได้ แต่แนวคิด ‘ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าของครอบครัว’ คือวิถีทางสังคมที่ฝังรากลึก คงมิอาจเปลียนแปลงได้โดยง่ายแน่ๆ ใครคิดจะเป็นสะใภ้ญี่ปุ่นก็ครุ่นคิดให้ดีๆ ดูหนังเก่าเยอะๆจะได้เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของพวกเขา แล้วไม่เสียใจภายหลังเมื่อตกลงปลงใจแต่งงานครองคู่

แนะนำคอหนังอาชญากรรม ชื่นชอบความคลุ้มคลั่งรุนแรง S&M, สนใจวิถีทางสังคมของชาวญี่ปุ่นยุคสมัยก่อน, นักสังคมสงเคราะห์ ที่ปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว, แฟนๆผู้กำกับ Shohei Imamura ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ ข่มขืน ลักลอบเป็นชู้ ใช้ความรุนแรง คำพูดถากถาง และตั้งใจฆาตกรรม

TAGLINE | “Intentions of Murder ความตั้งใจของ Shohei Imamura สามารถฆ่าคนตายได้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: