Interstellar

Interstellar (2014) hollywood : Christopher Nolan ♥♥♥♡

มนุษยชาติควรก้าวย่างไปข้างหน้าไม่ใช่หรือ? ท้องฟากฟ้าจักรวาลกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนั้น ทำไมปัจจุบันถึงยังจมปลัก อุดอู้ คุดคู้ ขังตัวเองอยู่แต่ภายในโลกใบนี้, ผู้กำกับ Christopher Nolan ชักชวนผู้ชมให้ตั้งคำถาม สัมผัสประสบการณ์ จินตนาการอิงวิทยาศาสตร์ และออกเดินทางมุ่งสู่โลกใบใหม่ ที่อะไรๆสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

ทำไมการเดินทางสำรวจอวกาศของ NASA ถึงไปไกลสุดแค่ดวงจันทร์ และจบสิ้นที่ Apollo 17? ก่อนจะตอบคำถามนี้คงต้องเท้าความย้อนไปภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ‘สามผู้ยิ่งใหญ่’ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้รับการจับตามอง ว่าจะนำพาโลกใบนี้เคลื่อนหมุนไปในทิศทางใด
– ขณะที่สหราชอาณาจักร ประสบปัญหาภายในขั้นรุนแรง เมื่อประเทศในเครือจักรภพ/เมืองขึ้นทั้งหลายที่เคยยึดมาในช่วงล่าอาณานิคม ค่อยๆทะยอยตีตนออกห่าง รวมพลกันลุกฮือเข้ายึดอำนาจ เรียกร้องทวงคืนอิสรภาพเสรีให้กับตนเอง เป็นเหตุให้อังกฤษค่อยๆหมดพิษสงเขี้ยวเล็บราชสีห์
– สหรัฐอเมริกับ กับสหภาพโซเวียต ก็ค่อยๆเริ่มแตกคอ เกิดความหวาดระแวงต่อกันและกัน ดั่งสำนวนที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ กลายมาเป็นสงครามเย็น ยุคสมัยแห่งการสาดโคลนเทสีชวนเชื่อ แบ่งพรรคพวกฝักฝ่ายซ้าย-ขวา ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ อะไรที่ศัตรูทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้! เลียนแบบ แข่งขัน ทุ่มไม่อั้น เพื่อให้ฝั่งตนได้รับชัยชนะเป็นมหาอำนาจโลก

การแข่งขันที่สามารถใช้พิสูจน์มหาอำนาจ ‘จ้าวโลก’ คือวิวัฒนาการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี พูดกันแบบตรงไปตรงมา ใครสามารถสร้างจรวด/กระสวยอวกาศ ออกเดินทางไปได้ไกลกว่า นอกชั้นบรรยากาศโลก มุ่งสู่ดวงจันทร์ ดาวอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ … มันคงเป็นลำดับเช่นนี้ถ้าไม่เกิดผลแพ้ชนะ หรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตขึ้นเสียก่อน

โครงการ Apollo ถือกำเนิดขึ้นตามคำกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี John F. Kennedy ณ Rice Stadium ที่ Houston, Texas เมื่อวันที่ 12 กันยายน 1962

“The exploration of space will go ahead, whether we join it or not, and it is one of the greatest adventures of all time … We set sail on this new sea because there is new knowledge to be gained and new rights to be won, and they must be won and used for all people … We choose to go to the moon. We choose to go to the moon in this decade and do the other things, not because they are easy, but because they are hard ….”

วัตถุประสงค์แท้จริงของโครงการ Apollo คือการแข่งขันในช่วงสงครามเย็น เพื่อให้ได้รับชัยชนะและพิสูจน์ตัวเองของสหรัฐอเมริกา ว่าฉันคือ ‘The Right Stuff’ ประเทศมหาอำนาจจ้าวโลกเพียงผู้เดียว ซึ่งเมื่อได้ครอบครองเป็นเจ้าของบัลลังก์มงกุฎราชา เรื่องอะไรยังจะต้องดิ้นรนไปต่อ ขาดซึ่งแรงกระตุ้นผลักดัน เป้าหมายปลายทาง ความเพ้อฝันของมวลมนุษยชาติงั้นหรือ … มันทำประโยชน์ สร้างผลกำไรให้ฉันได้หรือเปล่าละ!

โครงการสำรวจอวกาศ Apollo สาเหตุที่ถึงจุดสิ้นสุด ล้วนเป็นเหตุผลทางด้านการเมืองและผลประโยชน์ มนุษยชาติยังขาดความ ‘จำเป็น’ ที่ต้องดิ้นรน หนีเอาตัวรอด มุ่งสู่ห้วงจักรวาลอันไกลโพ้น หลังความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียต ทำให้ความเร่งรีบร้อนผ่อนคลายเย็นลง บุคคลผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายค่อยๆหวนกลับมาทบทวนสิ่งต่างๆ เริ่มต้นพัฒนารากฐานใหม่จากประสบการณ์ ให้มีความเข้มแข็งแกร่งค่อยเป็นค่อยไปเสียก่อน ดวงจันทร์ ดาวอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ … มันก็ยังอยู่ตรงนั้นแหละไม่ได้หนีหายไปไหน จนเมื่อทุกสิ่งอย่างเพรียบพร้อมสรรพเมื่อไหร่ นั่นแหละจะคือก้าวย่างสู่ยุคสมัย ‘สำรวจอวกาศ’ อย่างแท้จริง!

มองในแง่ดีของการขาดช่วงโครงการสำรวจอวกาศ Apollo ทำให้มนุษย์ชาติเกิดวิวัฒนาการด้านอื่นขึ้น นั่นคือ ‘อินเตอร์เน็ต’ โลกแห่งการสื่อสารไร้พรมแดน อีกก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็นกระจกสะท้อนตรงกันข้าม
– การสำรวจอวกาศ คือการสร้างกระสวย/ยานอวกาศ มุ่งออกสำรวจจักรวาลอันเวิ้งว้างว่างเปล่า (สร้างสิ่งรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่ดินแดนที่ยังเป็นนามธรรม)
– อินเตอร์เน็ต เริ่มต้นจากความว่างเปล่าอากาศธาตุ แล้วถูกมนุษย์ค่อยๆเสกสร้างสรรมันขึ้นมา (จากแนวคิดนามธรรม กลายเป็นจับต้องได้รูปธรรม)

นี่ทำให้ผมมาครุ่นคิดแบบเพลินๆ ถ้าการแข่งขันสำรวจอวกาศไม่บังเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ปล่อยให้วิวัฒนาการค่อยๆพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ยุคสมัยอินเตอร์เน็ตน่าจะมาถึงก่อน และเมื่อประชากรเริ่มล้นโลก อาณานิคมต่างดาวจึงค่อยถือกำเนิดขึ้น

แต่ในความเป็นจริง เพราะการสำรวจอวกาศเป็นสิ่งถือกำเนิดขึ้นก่อน แล้วดันมีช่องว่างสุญญากาศขาดความต่อเนื่อง ย่อมทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เกิดไม่ทันยุคสมัยนั้น ใคร่สงสัยอยากรู้ ความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูง ‘จิตวิญญาณ’ ของนักสำรวจ หมดสูญสิ้นจากโลกไปแล้วหรือ?

เกร็ด: 16 ธันวาคม 1972 คือวันที่ยาน Apollo 17 ออกเดินทางจากดวงจันทร์กลับสู่โลก จนถึงปัจจุบันก็ 46 ปีเข้าไปแล้ว ไร้ซึ่งมนุษย์คนถัดไปได้รับโอกาสก้าวย่างเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์

Christopher Edward Nolan (เกิดปี 1970) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Westminster, London พ่อเป็นนักออกแบบโฆษณา แม่เคยทำงานแอร์โฮสเตส/ครูสอนภาษาอังกฤษ และมีลุงอยู่ NASA สร้างระบบลงจอดยาน Apollo, เมื่อตอนอายุ 7 ขวบ มีโอกาสรับชม 2001: A Space Odyssey (1968) และ Star Wars (1977) เกิดความหลงใหลในภาพยนตร์ นำกล้อง Super 8 ของพ่อมาถ่ายเล่น ทำ Stop-Motion Animation วาดฝันอยากเป็นผู้กำกับมืออาชีพ

หลังเรียนจบสาขาวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ University College London ทำงานเป็น Script Reader, Camera Operator ค่อยๆเก็บเงินเพื่อสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Following (1998), ต่อมาร่วมงานกับน้องชาย Jonathan Nolan กลายเป็น Memento (2000), เข้าตาผู้กำกับ Steven Soderbergh ส่งไม้ต่อให้กำกับ Insomnia (2002), และสร้างชื่อจากความสำเร็จล้นหลามของ Batman Begins (2005)

จุดเริ่มต้นของ Interstellar เกิดจากความสนใจของโปรดิวเซอร์ Lynda Obst และนักฟิสิกส์ชื่อดัง Kip Thorne (เพิ่งคว้า Nobel Prize in Physics เมื่อปี 2017) พวกเขาเคยถูกจับคู่ Blind Date แต่แทนที่จะได้เป็นแฟนหรือแต่งงาน กลับร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง Contact (1997) นำแสดงโดย Jodie Foster และ Matthew McConaughey, หลังจากครั้งนั้น พวกเขายังคงสนิทสนมพูดคุยพบเจอกันอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่ง Obst เกิดแนวคิดอยากนำเอาทฤษฎีของ Thorne เกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศ รูหนอน (Wormhole) หลุมดำ (Black Hole) มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่อ้างอิงความถูกต้องทางหลักวิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2006 ได้ผู้กำกับ Steven Spielberg ว่าจ้าง Jonathan Nolan ให้เข้ามาพัฒนาบท

ขณะนั้นบริษัทของ Spielberg คือ DreamWorks อยู่ภายใต้สังกัด Paramount Pictures ซึ่งได้ถือลิขสิทธิ์บทหนังเรื่องนี้ไว้ แต่เมื่อปี 2009 เมื่อ Spielberg  ย้ายสังกัดสู่ Walt Disney Studios เป็นเหตุให้ต้องมองหาผู้กำกับใหม่ โปรเจคตกอยู่ในสภาวะ Development Hell หลายปี จนกระทั่ง Christopher เสร็จงานจาก The Dark Knight Rises (2012) ได้รับคำชักชวนจาก Jonathan ให้มากำกับหนังเรื่องนี้แทน

ไม่ใช่ว่า Nolan เป็นผู้กำกับในสังกัดสตูดิโอ Warner Bros. แต่พวกเขาร่วมงานกันจนเชื่อมือ จึงเกิดศึกชิงนางต้องการมีส่วนร่วมในโปรเจค Interstellar ขนาดว่ายินยอมแบ่งปันลิขสิทธิ์แฟนไชร์ Friday the 13th และซีรีย์ South Park ให้ Paramount แลกกับการลงขันจ่ายค่าตัว Nolan สูงถึง $20 ล้านเหรียญ ล่วงหน้าด้วยมั้งนะ (และ Nolan ยังได้รับอีก 20% จากกำไรของหนัง)

ก่อนเริ่มโปรเจค Nolan ได้มีโอกาสพบเจอ พูดคุย ฟังเลคเชอร์จาก Thorne เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ เพื่อให้มองเห็นภาพรวม แนวโน้มความเป็นไปได้ และตั้งกฎ 2 ข้อแม้
1. ต้องไม่นำเสนออะไรที่ขัดต่อกฎฟิสิกส์ที่มีอยู่แล้ว
2. การคาดเดาทั้งหลายจะต้องอ้างอิงมาจากวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่จินตนาการของผู้เขียนบท

อนาคตอันใกล้ เมื่ออารยธรรมมนุษย์ตกอยู่ในสภาวะถดถอย มลพิษจากพายุฝุ่น (Dust Storms) และโรคระบาดของพืช (Crop Brights) ทำให้ปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น อาหารการกินขาดแคลน คนรุ่นใหม่มีชีวิตอย่างขาดเป้าหมาย ความเพ้อฝันทะเยอทะยาน

ณ บ้านของอดีตนักบินนาซ่า Joseph Cooper (รับบทโดย Matthew McConaughey) ที่ห้องนอนของลูกสาว Murph วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ประหลาด หนังสือตกลงจากชั้นวาง ฝุ่นกองเรียงเป็นเส้นตรง แถมวันนั้นยังพบเจอยานไร้คนขับล่อนลงมาต่ำกว่ารัศมีที่ควรเป็น ครุ่นคิดไปมาก็ค้นพบคำตอบของแรงโน้มถ่วง แปลออกมาได้พิกัดแห่งหนึ่ง ขับรถไปพบเจอสถานที่ลับของ NASA นำโดยศาสตร์จารย์ Brand (รับบทโดย Michael Caine) ลักลอบสร้างยานอวกาศเพื่อออกเดินทางผ่านรูหนอน เปิดออกบริเวณใกล้ๆดาวเสาร์ ชัดเจนว่าโดยสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา คงเพื่อนำพามนุษยชาติสู่อนาคตโลกใบใหม่

โชคชะตาก็นำพาให้ Cooper อยู่ในจุดที่เขาไม่สามารถปฏิเสธการเดินทางครั้งนี้ได้ ให้คำมั่นสัญญากับ Murph ว่าสักวันจะกลับมาหา ขับเคลื่อนยาน Endurance ร่วมกับนักเทคโนโลยีชีวภาพ Dr. Amelia Brand (รับบทโดย Anne Hathaway) มุ่งสู่รูหนอน ข้ามจักรวาลไปยังแกแลคซี่ไร้นาม พบเห็นหลุมดำชื่อ Gargantua และดาวเคราะห์สามดวงที่มีแนวโน้มดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่พวกเขาต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา เพราะ 1 ชั่วโมงที่สูญเสียไป อาจหมายถึงเวลาบนโลกยาวนานถึง 7 ปี

เกร็ด: บทหนังของ Nolan ค่อนข้างแตกต่างกับ Spielberg มากพอสมควรทีเดียว สำหรับคนที่ใคร่สนใจอยากรู้รายละเอียด อ่านจากกระทู้นี้แล้วกัน
Link: https://pantip.com/topic/32903942

นำแสดงโดย Matthew David McConaughey (เกิดปี 1969) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Uvalde, Texas โตขึ้นเข้าเรียน University of Texas at Austin จบสาขาวิทยุ-โทรทัศน์-ภาพยนตร์ เริ่มทำงานเป็นนักแสดงโฆษณาโทรทัศน์, บทเล็กๆภาพยนตร์เรื่อง Dazed and Confused (1993), เริ่มมีชื่อเสียงจาก A Time to Kill (1996), Amistad (1997), Contact (1997), ได้รับความนิยมอย่างสูงจนเป็น Type-Cast กับแนว Roms-Coms อาทิ The Wedding Planner (2001), How to Lose a Guy in 10 Days (2003), Failure to Launch (2006), Ghosts of Girlfriends Past (2009), ผันมารับบทดราม่า The Lincoln Lawyer (2011), Mud (2012), Magic Mike (2012), The Wolf of Wall Street (2013), Interstellar (2014) และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Dallas Buyers Club (2013)

รับบท Joseph Cooper วิศวกร/นักบินอวกาศ/ชาวนา เป็นผู้มีความทะเยอทะยานเพ้อใฝ่ฝัน ต้องการสร้างอนาคตที่สดใสไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่ลูกๆหลานๆรุ่นถัดไปจะได้มีชีวิตสุขสบาย แม้ว่าสถานการณ์โลกขณะนั้นทุกอย่างจะถดถอย แต่ตัวเขายังคงมองไปข้างหน้า คาดหวังอะไรๆมันต้องดีขึ้นสักวัน, หลังจากแม่และภรรยาเสียชีวิต ทำให้เขาต้องเลี้ยงดู
– Donald (รับบทโดย John Lithgow) พ่อผู้ปลงแล้วกับทุกสิ่ง มีชีวิตอยู่เพื่อนหลานๆ ได้เพียงร่ำระลึกถึงอดีตอันโชติช่วงชัชวาลย์ วันนี้ขอแค่ให้อิ่มท้องพอมีพอกิน ไม่ได้คาดหวังอะไรไปกว่านี้
– ลูกชายคนโต Tom (รับบทโดย Timothée Chalamet) เพราะเติบโตขึ้นในช่วงเวลาถดถอย ค่อยๆถูกการเปลี่ยนแปลงของโลกโน้มน้าวเคลื่อนลอย ทำให้กลายเป็นคนไหลตามน้ำ เพ้อฝันอยากเป็นเกษตรกร(เหมือนพ่อ) รู้สึกว่านั่นเป็นอาชีพเจ๋งที่สุดในขณะนั้น ซึ่งแม้จักสำเร็จสมหวังดังใจ (โตขึ้นรับบทโดย Casey Affleck) แต่งงานมีภรรยาและลูก ชีวิตกลับอมไปด้วยทุกข์ทรมานแสนสาหัส ดั่งคนหมดสิ้นหวังไร้อนาคต แถมยังโลกทัศน์คับแคบเห็นแก่ตัว แปรสภาพเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ไม่คาดคิดหวังอะไรนอกจากใช้ชีวิตไปวันๆ และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถตัดใจจากพ่อผู้ไม่มีวันกลับ
– ลูกสาวคนเล็ก Murph (รับบทโดย Mackenzie Foy)  เป็นเด็กเฉลียวฉลาดน่าจะถึงระดับอัจฉริยะเลยละ เต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน เพราะความยังไม่รู้ประสีประสาต่อปัญหาโลกแตก ไร้แม่เลยติดพ่องอมแงม รวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพราะต้องร่ำลาจาก จดจำคำมั่นสัญญาไว้เพื่อหวังว่าสักวันจะหวนกลับมาพบกัน (ตอนโตรับบทโดย Jessica Chastain) แต่นานวันเมื่อถึงครบกำหนดสัญญาอายุเท่านั้น เริ่มเข้าใจว่าพ่อคงต้องผิดสัญญากับตนเองอย่างแน่แท้

เพียงสิ่งเดียวที่ Cooper ตั้งมั่นว่าจะรักษาไว้ให้จงได้คือ ‘คำสัญญา’ ที่มีต่อลูกสาวคนเล็ก Murph ทั้งรู้ว่าตนเองอาจทำไม่สำเร็จแต่พยายามอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง กล้าบ้าบิ่นไม่กลัวตายเพราะครุ่นคิดนั่นอาจเป็นโอกาสเดี่ยว แต่โดยไม่รู้ตัวความทุ่มเทเสียสละดังกล่าว กลายเป็นแรงผลักดันให้มวลมนุษยชาติสามารถเอาตัวรอดจากการสูญสิ้นวงศ์เผ่าพันธุ์ลงได้

ไม่ใช่เพราะ McConaughey เคยแสดงนำใน Contact (1997) แล้วได้รับการผลักดันโดยโปรดิวเซอร์ (หรือ Kip Thorne) แต่เป็น Nolan ที่กำลังค้นหานักแสดงผู้มีภาพลักษณ์เหมือนคนธรรมดาทั่วไป รักครอบครัว พื้นเมือง Texians และสามารถเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ ซึ่งหลังจากรับชม Mud (2012) เกิดความประทับใจอย่างยิ่งยวด เข้าไปพูดคุยกันที่กองถ่ายซีรีย์ True Detective ก็แทบจะตกลงร่วมงานกันโดยทันที

McConaughey เป็นนักแสดงที่มีความเฉียบคมคาย ลุ่มลึกล้ำในการแสดง ด้วยภาพลักษณ์ท่าทางยียวนกวนประสาท คำพูดขี้เล่นสร้างรอยยิ้มขบขันผ่อนคลายได้อยู่เสมอ แต่พอเอาเข้าจริงสามารถอ่านเกม เป็นที่พึ่งพิงพา ไว้เนื้อเชื่อใจได้แทบจะ 100% และความกล้าบ้าบิ่นด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีหลักการ ทำให้ทุกคนรอบข้างพร้อมเสี่ยงตายร่วมหัวจมท้ายไปกับเขาทุกๆห้วงขณะ

Nolan ให้ความยกย่อง McConaughey ทั้งในเรื่องการแสดงและชีวิตจริงระดับ ‘Super-Dad’

“I find him extremely serious. But my kids found him very amusing on his days off when he would build forts with them and his kids, thereby making me look like a slightly worse father”.

มันจะมีช่วงขณะหนึ่งที่กลายเป็น Meme ได้รับความนิยมนำมาล้อเลียนสูงมากๆ คือ Long Take โคลสอัพใบหน้าของ McConaughey หลังกลับจากดาวเคราะห์ Miller’s Planet แล้วเวลาบนโลกเคลื่อนผ่านไปถึง 23 ปี เปิดคลังจดหมายที่ลูกๆส่งมาถึงพบเห็นการเปลี่ยนในช่วงพริบตาเดียว ปฏิกิริยาสีหน้าอารมณ์ที่แสดงออกผสมผสานหลากหลายอารมณ์ ตื้นตัน ซาบซึ้ง เศร้าโศกเสียใจ เจ็บปวดรวดร้าวทุกข์มาน เพราะตนเองได้สูญเสียโอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมพบเห็นการเติบโตทีละเล็กละน้อยของพวกเขา

คลิปโด่งดังสุดใน Youtbe คือปฏิกิริยาสีหน้าขณะรับชม Teaser ของ Star Wars: The Force Awakens (2015)

Anne Jacqueline Hathaway (เกิดปี 1982) นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Brooklyn, New York แม่เป็นอดีตนักแสดงทำให้เกิดความสนใจมานั้นแต่เด็ก เป็นนักแสดงละครเวทีของโลกเรียน โตขึ้นเข้าศึกษายัง American Academy of Dramatic Arts, ผลงานแจ้งเกิดคือ The Princess Diaries (2001), พลิกบทบาทกับ Brokeback Mountain (2005), The Devil Wears Prada (2006), Alice in Wonderland (2010), The Dark Knight Rises (2012), Les Misérables (2012), Interstellar (2014) ฯ

รับบท Dr. Amelia Brand ลูกสาวของ Prof. Brand เป็นนักเทคโนโลยีชีวภาพ เจ้าของ Plan B ถ้าไม่สามารถเคลื่อนขนย้าย/สร้างสถานีอวกาศ ให้มนุษย์สามารถดำรงชีพนอกโลกได้ งานของเธอคือนำหัวเชื้ออสุจิ+รังไข่ ที่แช่เย็นเยือกแข็งไว้ สร้างอาณานิคมพงศ์เผ่าพันธุ์มนุษย์ขึ้นมาใหม่ ยังดวงดาวที่สามารถปักหลักอยู่อาศัยได้

Amelia ตกหลุมรักใคร่ Edmund นี่เป็นสิ่งที่ Cooper สามารถรับรู้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นออกเดินทาง และเมื่อพวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกระหว่างสองดาวเคราะห์ที่เหลือ เธอพยายามพูดโน้มน้าวถึงสาเหตุผล แรงกระตุ้นผลักดันเพราะ ‘ความรัก’ แต่ก็มิอาจเอาชนะเหตุผลความเป็นไปได้ในช่วงขณะนั้น แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า Amelia ได้มีโอกาสพบเจอ Edmund หรือเปล่า (ก็น่าจะเจอนะ)

เพราะเคยร่วมงานกันตอน The Dark Knight Rises (2012) เลยไม่ใช่สิ่งที่ต้องครุ่นคิดมากสำหรับ Nolan และ Hathaway ในการกลับมาร่วมงานกันอีก แต่เรื่องนี้แม้เป็นนางเอกแต่บทไม่ค่อยส่งเท่าไหร่ แรงขับเคลื่อน/สันชาติญาณของตัวละคร คือความคลุ้มคลั่งในรักจนบางครั้งขาดสติยับยั้งคิด จนทำผิดพลาดและขาดความมั่นใจในตนเอง

Jessica Michelle Chastain (เกิดปี 1977) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Sonoma, California เติบโตขึ้นที่ Sacramento มีความสนใจทางการแสดงตั้งแต่เด็ก ได้รับทุนการศึกษาเข้าเรียน Juilliard School จาก Robin Williams, เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที Shakespeare ก่อนจะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Jolene (2008) กลายเป็นที่รู้จัก โด่งดังจาก The Tree of Life (2011), The Help (2011), Zero Dark Thirty (2012), Interstellar (2014), The Martian (2015) ฯ

รับบท Murph วัยผู้ใหญ่ หญิงสาวที่มีความเปรี้ยว จัดจ้าน ร้อนแรง หัวก้าวหน้า ขบถต่อขนบวิถีของสังคม พบเห็นครั้งแรกตอนคลิปส่งจดหมายถึงพ่อ ด่าทอว่าทำผิดสัญญา แม้ตนเองจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เรียนรู้จักทฤษฎีสัมพันธภาพ ก็ยังถือสัจจะคำมั่นเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต,

ความหัวก้าวหน้าของหญิงสาว ทำให้อดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นสภาพของพี่ชาย จมปลักคลุกขี้ฝุ่นไร้ซึ่งอนาคต อยากให้ความช่วยเหลือแต่เขาก็ดื้อรั้น(เหมือนพ่อ)หัวโบราณเกินเยียวยา ลับลอบเผาฟาร์มเพื่อนำครอบครัวหนีออกจาก แต่กลับได้ไขพบเจอความลับของห้วงจักรวาล

จริตของ Chastain คือสาวมั่นผู้มีความเย่อหยิ่ง ทะนง เริดเชิด ตัวแทนของหญิงแกร่ง Feminist ไม่หวาดกลัวเกรงต่อความเชื่อผิดๆ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้สตรีรุ่นใหม่ กล้านำพาตนเองให้หลุดออกจากกรอบของสังคม และโลกทัศน์อันคับแคบของมนุษย์

Matthew Paige Damon (เกิดปี 1970) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cambridge, Massachusetts ตอนเด็กอาศัยอยู่กับแม่เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ Lesley University ไม่ค่อยมีเพื่อนเท่าไหร่จมอยู่ในกองหนังสือ กระทั่งเข้าเรียน Cambridge Rindge and Latin School กลายเป็นเพื่อนสนิทของ Ben Affleck ทำให้สนใจในการแสดง สอบเข้าได้ Havard University พัฒนาบทหนังและแสดงนำแจ้งเกิด Good Will Hunting (1991) ทั้งยังคว้า Oscar: Best Original Screenplay, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ The Rainmaker (1997), Saving Private Ryan (1998), The Talented Mr. Ripley (1999), Ocean’s Triloge, Bourne Franchise, The Departed (2006), Invictus (2009), True Grit (2010), Interstellar (2014), The Martian (2015) ฯ

รับบท Dr. Mann ดาวเคราะห์ของเขาปกคลุมด้วยน้ำแข็งทั้งภาคพื้นดินและก้องเมฆบนท้องฟ้า เย็นยะเยือกเกินกว่าที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้ และถึงจากปากเขาจะอ้างว่าใต้ดินอาศัยอยู่ได้ แต่อาจมิได้มีการค้นพบอะไร โป้ปดหลอกลวง ตามสันชาติญาณการเอาตัวรอดเท่านั้นเอง

ถึงเป็นบทรับเชิญไม่ได้ร่วมออกทัวร์ไปกับทีมงานขณะหนังออกฉาย แต่ถือว่าได้สร้างสีสันให้กับตัวละครนี้ มานแบบไม่แมน พลิกบทบาทของ Damon พอสมควรเลยละ แต่ว่าไปก็สอดคล้องเข้ากับภาพลักษณ์ รักตัวกลัวตาย หล่อดีแค่เปลือกนอก ความเห็นแก่ตัวของเขาเกือบนำพามวลมนุษยชาติถึงจุดสิ้นสุดหายนะ

แซว: Damon จับพลัดจับพลูได้เล่นเป็นนักบินอวกาศอีกเรื่องในปีติดๆกันคือ The Martian (2015)

ก่อนหน้านี้ ตากล้องขาประจำของ Nolan คือ Wally Pfister แต่หลังจาก The Dark Knight Rises (2012) ตัดสินใจผันตัวมาเป็นผู้กำกับ ขณะนั้นกำลังเตรียมงานสร้าง Transcendence (2014) จึงไม่สะดวกรับงาน, ได้ตากล้องคนใหม่คือ Hoyte van Hoytema สัญชาติ Dutch-Swedish มีผลงานน่าประทับใจมากๆอย่าง Let the Right One In (2008), The Fighter (2010), Tinker Tailor Soldier Spy (2011), Her (2013), Spectre (2015) ฯ

ถึงจะมีความยุ่งยากแต่คือความท้าทาย นี่เป็นหนังถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX ด้วยปริมาณฟุตเทจยาวสุดขณะนั้น (ไม่แน่ใจว่าถูกทำลายโดย Dunkirk หรือเปล่านะ) ซึ่งก็ได้มีการสร้างเลนส์เฉพาะสำหรับใช้งานจริง และ Hoytema ทำการดัดแปลงกล้อง IMAX ให้เหลือขนาดเล็กพอ สามารถยกถือถ่ายฉากภายในได้ (คงยกเอาแบตเตอรี่ออกให้ผู้ช่วยยืนข้างๆแบกติดตาม)

หัวโบราณคงไม่ใช่ Nolan เป็นผู้กำกับที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อม ความสมจริงอลังการระดับ Epic ในระหว่างการถ่ายทำ เพื่อนักแสดงจะได้ไม่ต้องใช้จินตนาการมากนักกับ Blue/Green Screen และภาพที่ปรากฎบนจอภาพยนตร์ เมื่อผู้ชมรับรู้ ‘เชื่อ’ ว่านั่นคือของจริง จะเกิดปฏิกิริยา สัมพันธภาพที่แตกต่างจาก Computer Graphic

เพื่อลดการใช้ Visual Effect ให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้ส่วนใหญ่ของหนังคือการถ่ายทำจากสถานที่จริง อาทิ Alberta, Canada ธารน้ำแข็ง Svínafellsjökull, Iceland ส่วนฉากภายใน กระสวยอวกาศ สร้างขึ้นที่สตูดิโอ Hollywood

ภาพแรกของหนัง Nolan ชอบที่จะสอดแทรกความหมายบางอย่างไว้เสมอ ซึ่งช็อตนี้คือห้องนอนของ Murph บริเวณชั้นวางหนังสือ โปรยปรายด้วยฝุ่น และโมเดลยานอวกาศ คนที่ดูหนังจบแล้วน่าจะพอเข้าใจได้ทั้งหมดกระมัง

Murphy’s law, กฎของเมอร์ฟี เป็นภาษิตที่มีการกล่าวถึงการอย่างกว้างขวางว่า ‘ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาด จะผิดพลาด’ โดยส่วนมากใช้ในความหมายเชิงประชดประชัน ต่อเหตุการณ์ที่มักไม่เป็นไปดั่งหวังหรือเกิดความผิดพลาด

“Anything that can go wrong, will go wrong”.

จุดเริ่มต้นของแนวคิด/ทฤษฎีนี้ มีมานมนากาเล แต่ได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกที่สามารถค้นหาข้อมูลได้จากหนังสือ The Yale Book of Quotations (1952) รวบรวมโดย Fred R. Shapiro จากคำกล่าวของ Anne Roe อ้างกฎข้อ 4 ของอุณหพลศาสตร์ (จริงๆมันมีแค่ 3 ข้อ)

“Murphy’s law or the fourth law of thermodynamics. If anything can go wrong, it will.”

ในมุมของหนังจากคำอธิบายของ Cooper ตั้งชื่อลูกสาวด้วยอีกมุมมองโลกทัศน์หนึ่ง (ในแง่ดี)

“Murphy’s law doesn’t mean that something bad will happen. It means that whatever ‘can’ happen, will happen. And that sounded just fine to us”.

ขณะที่สองพ่อ-ลูก เปลี่ยนความสนใจจากการซ่อมยางแตก มาเป็นไล่ล่ายานไร้คนขับ นี่เป็นช็อตเจ๋งสุดของหนุ่มน้อยมหัศจรรย์ Timothée Chalamet ถามขึ้นว่า ‘แล้วจะทำยังไงกับยางทีแตก?’ สะท้อนเข้ากับตัวละครของเขาที่สนใจสิ่งอยู่เฉพาะหน้า ขาดความทะเยอทะยานเพ้อใฝ่ฝัน หรือกล้าจะทำอะไรบางอย่างนอกกรอบ ‘ปลอดภัย’ ของตนเอง

ก่อนหน้านี้ Nolan เป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังซุปเปอร์ฮีโร่เรื่อง Man of Steel (2013) กวาดซื้อฟาร์มข้าวโพดขนาด 500 เอเคอร์ แถวๆ Illinois เพื่อใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากบ้านของ Clark Kent ก็ยังเป็นเจ้าของอยู่ เก็บเกี่ยวนำไปขายเห็นว่าคืนทุนได้กำไรแล้วละ

ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์อ้างว่า โรคระบาดของพืชไม่มีทางเกิดวิวัฒนาการได้รวดเร็วขนาดนี้ คือมันต้องระดับล้านๆปี ถึงส่งผลกระทบในวงกว้างได้ขนาดนี้ (เพราะพืชมันก็ปรับตัวเองเป็นเหมือนกันนะ!)

อีกช็อตนี้ก็น่าเห็นใจแทน Chalamet เพราะตัวละครของเขายืนอยู่เบื้องหลัง ไม่เห็นเต็มหน้า ราวกับถูกทิ้งขว้าง ขณะที่พ่อ-ลูกสาว กำลังเล่นสนุกกับการควบคุมยานร่อนลึกลับ

ถ้าเป็นบทหนังของ Spielberg เจ้ายานไร้คนควบคุมนี้ เมื่อทำการเจาะระบบ Hacking ทำให้ Cooper ค้นพบฐานทัพลับขององค์การ NASA, แต่เรื่องนี้มันได้สูญหายหมดสิ้นความสำคัญไปอย่างไร้ร่องรอย แค่คงต้องการสะท้อนว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับ ‘แรงโน้มถ่วง’ เกิดขึ้นในบริเวณนี้

เบสบอล กีฬาที่พบเห็นตอนต้นเรื่องและท้ายเรื่อง Pitcher เขวี้ยงขว้างลูกบอลเพื่อไม่ให้คู่แข่งอีกฝ่ายตีโต้ หรือทำ Home Run, เป็นการสื่อนัยยะถึงสิ่งที่มนุษยชาติสูญสิ้นไป คือเป้าหมายในการเขวี้ยงขว้างลูกบอล
– ต้นเรื่อง เล่นกับแบบหน่อมแน้มไร้สีสันความตื่นเต้น แถมเมื่อพานพบพายุฝุ่น ก็ปล่อยให้ลูกบอลลอดใต้หว่างขาแบบไม่สนใจ
– ท้ายเรื่อง แข่งกันแบบจริงจัง แถมโฮมรันยังทำกระจกบ้านใครสักคนแตกละเอียด

พายุฝุ่น (Dust Storms) ปกติแล้วเป็นปรากฎการณ์เกิดขึ้นที่ทะเลทราย ในสภาพพื้นที่แห้งแล้ง เต็มไปด้วยดินทราย/ลูกรัง อุณหภูมิร้อนจัด แต่ที่อเมริกาเคยมีปรากฎการณ์ Dust Bowl หรือ Dirty Thirties เกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 30s กินพื้นที่กว้างของ Oklahoma, Arkansas, Missouri, Iowa, Nebraska, Kansas, Texas, Colorado, New Mexico, อันเป็นเหตุให้ผลผลิตทางเกษตรกรรมสูญเสียหายย่อยยับเยิน พอดิบพอดีกับยุคสมัย Great Depression เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในสภาวะถดถอยหลัง เกิดการอพยพครอบครัวชาวนากว่าแสนครัวเรือน ไปปักหลักหาถิ่นที่อยู่ใหม่รอบๆอเมริกา

ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์สารคดี The Dust Bowl (2012) กำกับโดย Ken Burns นำเสนอปรากฎการณ์พายุ Dust Bowl ที่เกิดขึ้นในอเมริกาช่วงทศวรรษ 30s สร้างความสนใจให้ Nolan เป็นอย่างมาก จึงติดต่อทีมงานและนักเทคนิค ให้มาร่วมสร้างสถานการณ์ให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด ซึ่งก็ใช้วิธีการสุดคลาสสิก ใช้พัดลมขนาดใหญ่ เป่าฝุ่นสังเคราะห์ชนิดพิเศษที่สร้างขึ้น (ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย)

นัยยะของพายุฝุ่น อธิบายด้วยคำพูดประโยคหนึ่งของตัวละคร Cooper

“We used to look up at the sky and wonder at our place in the stars. Now we just look down, and worry about our place in the dirt”.

การกอดเข้าข้างหลังของ Cooper สะท้อนความหมายทั้งในเชิงจิตวิทยา คือท่วงท่าที่มอบความรักความอบอุ่น ครุ่นคำนึงคิดถึงได้มากที่สุด และตำแหน่งพ่ออยู่เบื้องหลัง ราวกับบุคคลผู้คือแรงผลักดัน หรือคำของตัวละครอีกเช่นกันว่า

“Once you’re a parent, you’re the ghost of your children’s future”.

แซว: McConaughey เคยเล่นหนังเรื่อง Ghosts of Girlfriends Past (2009) ไม่ได้เกี่ยวอะไรนะครับ แค่อยากอ้างถึงเท่านั้นเอง

Do not go gentle into that good night บทกวีของ Dylan Thomas (1914 – 1953) สัญชาติ Welsh เขียนขึ้นประมาณปี 1947 ในหนังอ่านโดยตัวละครของ Michael Caine เพื่อให้ตระหนักถึงเวลาชีวิตที่กำลังนับถอยหลัง ลดน้อยลงไปเรื่อยๆทุกวี่วัน

Do not go gentle into that good night,
Old age should burn and rave at close of day;
Rage, rage against the dying of the light.

Though wise men at their end know dark is right,
Because their words had forked no lightning they
Do not go gentle into that good night.

Good men, the last wave by, crying how bright
Their frail deeds might have danced in a green bay,
Rage, rage against the dying of the light.

Wild men who caught and sang the sun in flight,
And learn, too late, they grieved it on its way,
Do not go gentle into that good night.

Grave men, near death, who see with blinding sight
Blind eyes could blaze like meteors and be gay,
Rage, rage against the dying of the light.

And you, my father, there on the sad height,
Curse, bless, me now with your fierce tears, I pray.
Do not go gentle into that good night.
Rage, rage against the dying of the light.

Side Shot รู้สึกว่าจะได้รับความนิยมสูงมาก พบเห็นบ่อยครั้งในหนังเรื่องนี้ คือการถ่ายภายนอกให้ติดกับวัตถุ รถยนต์, ยานอวกาศ ฯ ขณะกำลังทำการเดินทาง เคลื่อนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง

นัยยะของการถ่ายแบบนี้ ราวกับว่าเพื่อสะท้อนมุมมองของมนุษย์ เราก็แค่เศษเสี้ยวฝั่งหนึ่ง มิได้มองเห็นทั้งหมดโดยรอบทุกทิศทาง และสิ่งใกล้ชิดที่สุดก็คือตัวเราเองที่กำลังเคลื่อนไป พานผ่านธรรมชาติอันกว้างใหญ่

ก็อย่างที่บอกว่า Nolan ไม่ชมชอบการทำ Visual Effect มากนัก จึงทำการจำลองสร้างยานอวกาศให้มีขนาดใหญ่สุด รายละเอียดสมจริง ในงบประมาณที่วางแผนไว้ ประกอบด้วยสถานีอวกาศ Endurance, ยานบิน Ranger (มีปีก) และยานลงจอด Lander (ขนาดอ้วนๆหน่อย)

แรงบันดาลใจของ Endurance เห็นว่ามาจากสถานีอวกาศนานาชาติ International Space Station (IIS) สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สุดที่โคจรอยู่บนชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งประกอบด้วยห้องทดลองวิจัยอย่างถาวร ชีววิทยา ชีววิทยามนุษย์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และอุตุนิยมวิทยา ร่วมมือกันระหว่าง 5 หน่วยงาน NASA, RKA (รัสเซีย), CSA (แคนาดา), JAXA (ญี่ปุ่น) และ ESA (สหภาพยุโรป)

หลายคนอาจสงสัยเรื่องการหมุนของยานอวกาศ เพื่ออะไร? คำตอบคือให้เกิดแรงโน้มถ่วงเข้าหาจุดศูนย์กลาง นักบินอวกาศจึงสามารถหยุดยืนอยู่กับพื้นยานได้, และอาจมีคนสงสัยต่อ พวกเขาจะไม่หมุนเวียนหัวหรือไร? คำตอบคือไม่นะครับ นี่ต้องอาศัยคำอธิบายของทฤษฎีสัมพัทธภาพ บุคคลผู้อยู่ในวัตถุเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่ (ไม่มีความเร่ง) จะไม่รับรู้ตนเองว่ากำลังเคลื่อนที่อยู่ [ลองจินตนาการตัวเองอยู่บนรถ/เครื่องบิน ที่วิ่งด้วยความเร็วคงที่ไม่ได้เร่งเครื่อง มันแทบไม่รู้สึกตัวเลยว่าเรากำลังเคลื่อนไหวด้วยความเร็วเท่านั้นอยู่ ในกรณีของการหมุนก็เช่นกันนะถ้าไม่มองออกไปนอกหน้าต่าง ก็ไม่มึนหรอก]

ลำนี้คือ Ranger มีลักษณะผอมเพรียว สามารถพุ่งทะยานขึ้นลงจอด ผ่านชั้นบรรยากาศของโลกได้ แต่ระยะการบินใกล้ ขนาดเล็ก และเชื้อเพลิงมีจำกัด

ลำนี้คือ Lander ขนาดอ้วนท้วนสมบูรณ์ สร้างขึ้นสำหรับขึ้นลงจอดบนดาวเคราะห์เป้าหมาย บรรจุอุปกรณ์สิ่งของมากมาย นำลงไปศึกษาวิสัยและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นาน(กว่า Ranger)

สำหรับหุ่นยนต์ประหลาดๆ เกิดจากความต้องการของ Nolan ไม่ได้ต้องการให้มีลักษณะเหมือนมนุษย์ (คือถ้าเป็นฉบับของ Spielberg เขียนไว้ว่าให้มีรูปลักษณ์ Anthropomorphic) ทั้งหมดสามตัวตัวหน้าตาเหมือนกันคือ TARS (พากย์เสียงโดย Bill Irwin), CASE (พากย์เสียงโดย Josh Stewart) และ KIPP (ตัวนี้ถูกแยกชิ้นส่วนประกอบไปแล้ว) รูปลักษณ์สี่เหลี่ยมมุมฉาก แบ่งออกเป็น 4 ท่อนแนวยาว ขนาดสูง 1.5 เมตร

“It has a very complicated design philosophy. It’s based on mathematics. You’ve got four main blocks and they can be joined in three ways. So you have three combinations you follow. But then within that, it subdivides into a further three joints. And all the places we see lines — those can subdivide further. So you can unfold a finger, essentially, but it’s all proportional”.

ประเด็นคือเจ้าหุ่นนี้ได้รับการสร้างขึ้นมาจริงๆ แต่มันก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวเองได้ ถูกควบคุมเหมือนหุ่นกระบอก โดยมี Bill Irwin คอยควบคุมอยู่ด้านหลัง ถือเป็นความพยายามที่แปลกประหลาดทีเดียว

ทำไมถึงออกแบบ TARS ในลักษณะเช่นนั้น? คงเพราะหนังเรื่องนี้เป็นการเดินทางของมนุษย์ในจักรวาลสี่มิติ สู่ห้วงอวกาศห้ามิติ เลยควรที่จะมีการอ้างอิงอะไรสักอย่างในลักษณะสามมิติ

สำหรับความหมายของชื่อ ก็มีการครุ่นคิดตีความไปต่างๆนานา ใกล้เคียงสุดเท่าที่ผมพบเห็นคือ
– TARS สามารถเรียงใหม่ได้คำว่า STAR
– CASE สะท้อนลักษณะของหุ่นยนต์ และถ้าเพิ่มตัว P เข้าไปเรียงใหม่ได้ว่า SPACE
– อีกทฤษฎีคือ TARS กับ CASE มาจากคำว่า TESSERACT
– KIPP คงจะชื่อของนักฟิสิกส์ Kip Thorne

สำหรับทฤษฎีรูหนอน (Wormholes) เป็นผลงานสร้างสรรค์ของนักฟิสิกส์ Kip Thorne ซึ่งได้ร่วมงานกับทีมสร้าง Visual Effect สร้างสิ่งที่เรียกว่า Gravitational Lensing เพื่อให้สามารถสะท้อนแสงดาวดาราในฟองสบู่รูปทรงกลม ว่ากันว่าบางช็อตใช้เวลากว่า 100 ชั่วโมงในการเรนเดอร์ออกมา รวมๆแล้วขนาดไฟล์หนังทั้งเรื่อง 800 Terabytes

ในความตั้งใจแรกของ Nolan ก็อยากให้รูหนอนมันเป็นแบบรูหนอนจริงๆ (ที่คนส่วนใหญ่จินตนาการเข้าใจกัน) แต่ Thorne ยืนยันว่าต้องทำให้มันเป็นแบบนี้เท่านั้น โดนเลคเชอร์ไปสองสัปดาห์จึงยินยอมตามคำขอ ผลลัพท์ออกมาเปิดโลกทัศน์ประสบการณ์ใหม่ได้มากทีเดียว แต่การเลือกใช้ Sound Effect มีความธรรมดาไปเสียหน่อย (คือประมาณรถวิ่งบนถนนลูกรังขลุกขลัก ในอวกาศมันจะเป็นเช่นนั้นจริงๆนะหรือ?)

เกร็ด: สาเหตุที่เลือกดาวเสาร์เป็นสถานที่ของรูหนอน เพราะ Saturn คือพระเจ้าในความเชื่อของโรมันที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม (God of Agriculture) ราวกับว่าเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือมนุษย์จากเหตุการณ์หายนะที่เกิดจากผลผลิตทางอาหาร

เกร็ด 2: รูหนอนที่ดาวเสาร์ ยังอ้างอิงถึง 2001: A Space Odyssey (1968) ความตั้งใจแรกเริ่มของ Stanley Kubrick ต้องการให้เป็นส่วนหนึ่งของหนัง แต่เพราะ Visual Effect สมัยนั้นไม่สามารถสร้างวงแหวนให้มีความสมจริง เลยเปลี่ยนมาจบสิ้นแค่ดาวพฤหัสเท่านั้นเอง

เกร็ด 3: เคยมีภาพยนตร์ที่อธิบายลักษณะของรูหนอนแบบนี้ คือเรื่อง Event Horizon (1997)

แรงบันดาลใจของฉากนี้คงคือภาพวาด The Creation of Adam (1508 – 1512) หนึ่งในผลงานจิตกรรมฝาผนังชิ้นเอกของ Michelangelo Buonarroti ประดับบนเพดานโบสถ์น้อย Sistine Chapel เมื่อพระเจ้ายื่นนิ้วมาสัมผัสกับมนุษย์เป็นครั้งแรก

ดาวเคราะห์ Miller’s Planet เมื่อได้รับรายงานการพบ ‘น้ำ’ ปัจจัยสำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิตรอด จึงคือเป้าหมายความเสี่ยงแรกที่จะไปสำรวจค้นพบ แต่เพราะระยะห่างของมันกับหลุมดำ Gargantua อยู่ในระยะที่ส่งผลกระทบต่อทฤษฎีสัมพันธภาพ จึงเป็นเหตุให้ 1 ชั่วโมงบนดาวดวงนี้ เท่ากับเวลา 7 ปีของโลก

ทำไมต้องให้ดาวเคราะห์นี้ มีระยะเวลาแตกต่างจากบนโลก? นอกจากเพื่ออธิบายทฤษฎีสัมพันธภาพของ Albert Einstein ยังเป็นการสื่อถึง ‘เวลาของคนเรามีไม่เท่ากัน’ ทุกสิ่งอย่างที่กระทำกันอยู่บนโลกใบนี้ เทียบคุณค่าหาความหมายไม่ได้เลยเมื่อเทียบจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

ความตายของ Doyle (รับบทโดย Wes Bentley) ช่างเป็นอะไรที่โง่งี่เง่าเง่าไร้สาระสุดๆในสามโลก ทั้งๆตัวเองอยู่ใกล้ๆยาน Ranger กลับรั้งรีรอให้หุ่น TARS ช่วยเหลือ Amelia สำเร็จเสร็จเสียก่อน แล้วตนเองค่อยติดตามหลังแสดงความเป็น ‘ลูกผู้ชาย’ ออกมาเช่นนั้นนะหรือ?

ผมว่าบทเรียนงั่งๆของตัวละครนี้สอนอะไรๆได้มากทีเดียว คือการจะให้ความช่วยเหลือคนอื่น เราควรต้องเอาตนเองให้รอดเสียก่อน! ใครเคยขึ้นเครื่องบินน่าจะจดจำคำแนะนำของแอร์โฮสเตส เมื่อเวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินใดๆขึ้น ‘ให้ช่วยตนเองก่อน จากนั้นถึงค่อยหันไปดูแลบุคคลข้างๆ’

แล้วทำไมต้องให้ดาวเคราะห์นี้ มีเพียงมหาสมุทรสุดกว้างใหญ่ไพศาล? คงเพื่อบอกว่า การมีเพียง ‘น้ำ’ ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตรอด ยังไม่เพียงพอจะสามารถใช้เป็นสถานที่ปักหลักตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ได้

คลื่นยักษ์ขนาดเท่าภูเขา เกิดขึ้นได้อย่างไร? คือดาวเคราะห์ดวงนี้คงปกคลุมด้วยผืนน้ำทั้งดวง แล้วเวลามันหมุนรอบตัวเองหรือถูกแรงดึงดูดจาก Gargantua เลยเกิดเป็นคลื่นสูงเสียดฟ้า (ยานอวกาศจึงจอดเทียบท่า คนลงไปเดินได้) แต่มันก็แค่พัดผ่านไปไม่ใช่ถาโถมแบบ Tsunami เพราะไม่มีชายฝั่งให้กระแทกกระทั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นยาน Rangers แค่ไต่ระดับขึ้นสูงสุดโต้คลื่นแล้วก็ตกลงกลับมา

เจ้าคลื่นนี้ยังสื่อความได้ในเชิงสัญลักษณ์ ความสูงของมันสะท้อนความทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงของมนุษย์ ใครอยู่ต่ำๆก็จักถูกคลื่นซัดจมหาย มีเพียงสองวิธีที่สามารถเอาตัวรอดพ้น
– การโต้คลื่น/ไหลตามน้ำ นี่ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะใช่ว่าหมดคลื่นลูกนี้แล้วทุกสิ่งอย่างจะจบสิ้นสุด อีกไม่กี่ชั่วโมงนาที แค่อึดใจเดี๋ยวเท่านั้นละ คลื่นลูกใหม่ก็จักเคลื่อนคล้อยเข้ามา เวียนวนเฉกเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น
– ถ้าต้องการเอาตัวรอดให้พ้นๆไปเลย คือต้องพุ่งทะยานไต่โบยบินให้ขึ้นสูงกว่า ออกนอกโลกเหนือชั้นบรรยากาศเลยก็ยิ่งดี

สูตรฟิสิกส์บนพื้นหลังกระดานดำ เป็นผลงานของ Kip Thorne ซึ่งก็มารับเชิญในหนังด้วยนะครับ (ฉากแถวๆนี้แหละมั้ง)

ดาวเคราะห์ Mann’s Planet คือความเป็นไปได้ลำดับถัดมา เพราะคลื่นสัญญาณถูกส่งต่อเนื่องไม่ขาดสิ้น แสดงว่า Dr. Mann อาจได้ค้นพบสถานที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต แต่…

ตรงกันข้ามกับ Miller’s Planet แม้ปัจจัย ‘น้ำ’ ที่ใช้ในการดำรงชีวิตยังคงมีอยู่ แต่ในจุดเยือกแข็งทำให้ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงสถานะ หรือปรับตัวให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้!

ทำไมถึงให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เต็มไปด้วยน้ำแข็ง ทั้งก้อนเมฆ ภาคพื้นดิน? ผมว่ามันสะท้อนความเห็นแก่ตัวของ Dr. Mann ได้เป็นอย่างดีเลยนะ คนแบบนี้ต้องมีจิตใจยะเยือกเย็นชา เพื่อตัวตนเองสามารถเสียสละชีวิตคนอื่น ฆาตกรแห่งมนุษยชาติ

เอาจริงๆความคิดของ Dr. Mann เป็นสิ่งที่มีติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน ความเห็นแก่ตัว อยากที่จะเอาตัวรอดชีวิตไม่ว่าตกอยู่ในสถานการณ์ไหน เพราะนั่นคือ ‘สัญชาติญาณ’ ของทุกสิ่งมีชีวิตดิ้นรน แตกต่างเฉพาะมนุษย์ผู้มีสติปัญญาประเสริฐ จะไม่กระทำการเพียงเพื่อสนองตัณหาราคะของตนเองเท่านั้น วิวัฒนาการสอนให้เราเรียนรู้จักการเสียสละ ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น หรือเหมารวมเรียกว่า ‘มนุษยธรรม’

บุคคลผู้เสียสละชีพบนดาวเคราะห์ Mann’s Planet คือ Romilly (รับบทโดย David Gyasi) ชายผิวสีผู้อายุยืนยาวนานกว่าใครในกลุ่ม ถือเป็นคราเคราะห์โชคร้าย อันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของ Dr. Mann ที่ได้วางกับดักระเบิดไว้กับหุ่นยนต์ KIPP ถ้าไม่พยายามขุดขุ้ยค้นหาข้อเท็จจริง ความตายคงไม่มาเยือน

ถ้าเรามองว่า Dr. Mann คือมุมมืด/ความชั่วร้ายภายในจิตใจมนุษย์ (นามธรรม), ความตายของ Romilly ที่เป็นคนผิวสี สามารถเทียบแทนนัยยะในเชิงรูปธรรม (นี่ทำให้ผมแอบสงสัยเล็กๆขึ้นมาเลยว่า Nolan เป็นคน Racism รึเปล่านะ? หรือแค่ต้องการใช้ภาพลักษณ์ตัวละครเทียบแทนความหมายเท่านั้น)

ความล้มเหลวในการเทียบท่า Endurance ของ Dr. Mann สะท้อนผลกรรมเห็นแก่ตัวของเขา ใครพูดอะไรไม่ยอมรับฟัง เป็นเหตุให้ถูกแรงดันอัดอากาศกระแทกทำลายตนเองจากรอบทิศทาง ยานอวกาศ Endurance แหว่งไปถึงสองช่อง

เพราะมันคือความจำเป็นสูงสุด ทำให้ Cooper กล้าเสี่ยงจะกระทำการบ้าบิ่น วิธีการของเขาคือหมุนคว้างยาน Lander ให้มีความเร็วเทียบเท่ายานอวกาศ Endurance เพื่อให้เกิดความเร็วสัมพันธ์เท่ากัน จึงสามารถเข้าจอดเทียบท่า และหยุดยั้งไม่ให้หนทางรอดเดียวของมวลมนุษยชาติ ต้องถึงคราจุดจบเพราะความเห็นแก่ตัวของคนเพียงคนเดียว!

การเสียสละของ Cooper เพื่อให้ Dr. Amelia และยาน Endurance สามารถเกิดแรงผลักไปถึงดาวเคราะห์ดวงสุดท้าย Edmund’s Planet เป็นการสะท้อนบทเรียนวิวัฒนาการทั้งหมดของมวลมนุษยชาติที่ว่า
– เริ่มต้น Miller’s Planet มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้เพียงเพื่อปัจจัยสี่พื้นฐาน แต่คือต้องมีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ดิ้นรนให้หลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วง/วงโคจรโลก
– ตามด้วย Mann’s Planet สิ่งที่มนุษยชาติต้องก้าวข้ามผ่านเอาชนะ คือด้านมืด ความเห็นแก่ตัว จิตใจที่สนเพียงผลประโยชน์ของตนเอง
– และ Gargantua สถานที่สุดท้ายแห่งบทพิสูจน์การเอาตัวรอดของมวลมนุษยชาติ คือเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น!

เพราะความไม่รู้ว่าภายในหลุมดำจะมีลักษณะเป็นเช่นไร ทุกสิ่งอย่างจึงเป็นการจินตนาการ ซึ่งหนังใช้ความเชื่อที่ว่า สถานที่แห่งนี้คือรอยต่อเชื่อมระหว่าง มนุษย์ในมิติที่สี่ กับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิเหนือกว่าในมิติที่ห้า สะท้อนกับ Murphy’s law อะไรๆก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

สังเกต: การออกแบบหลุมดำ ลักษณะของมันคล้ายดาวเสาร์ ทรงกลม นาฬิกา เวลา และที่จุดกึ่งกลางทุกสิ่งอย่างจะมืดดำสนิทไม่มีอะไร

ภาพนี้คือฉากสร้างขึ้นสำหรับถ่ายทำ Tesseract ประกอบด้วยไม้ (นึกว่าศาลเจ้าสุวรรณภูมิ) ก่อนนำไปเข้ากระบวนการ Visual Effect ให้มีความเบลอๆ และใส่เส้นสายแห่งมิติกาลเวลา

ทั้ง Sequence นี้ คือการตีความโลกมิติที่ห้า ในมุมมองของมนุษย์ที่สามารถเข้าใจได้ โดยเพื่อให้รับรู้ถึงกาลเวลาที่ไม่มีจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด แต่ถึงกระนั้นก็ต้องใช้สถานที่หนึ่งเป็นจุดหมุน นั่นคือห้องนอนของ Murphy ส่งแรงโน้มถ่วงที่เป็นสิ่งไม่ถูกควบคุมด้วยเวลาไปยังนาฬิกา จึงสามารถค้นพบคำตอบในสมการที่ครุ่นคิดค้นหา ตะโกนยูเรก้า!ออกมา

เราสามารถตีความทุกสิ่งอย่างนี้ในเชิงสัญลักษณ์ได้ทั้งหมดสิ้น
– เริ่มต้นจากหนังสือถูกกระแทกออกจากชั้นวาง นั่นหมายถึงองค์ความรู้ของมนุษย์ไม่ควรหยุดอยู่นิ่งเก็บทิ้งไว้บนชั้นวาง
– ฝุ่นของแรงโน้มถ่วง คือเถ้าธุลีของความเป็นไปได้
– นาฬิกา สัญลักษณ์ของเวลา สิ่งที่มนุษยต้องการเอาชนะ
– รหัสมอส เลขฐานสอง คือภาษาพื้นฐานล่างสุดของทุกสรรพสิ่ง
ฯลฯ

เกร็ด: Tesseract เป็นคำที่มาจากเรื่องสั้นไซไฟ And He Built a Crooked House (1941) แต่งโดย Robert A. Heinlein คือชื่อของบ้านที่ได้รับการออกแบบ สถาปัตยกรรมในรูปทรงเรขาคณิต ประกอบด้วยลูกบาศก์รอบทิศทาง หน้าตาประมาณนี้ ก็ค่อนข้างคล้ายคลึงที่ปรากฎเห็นในหนังพอสมควร

ผมไม่ได้มีความใคร่พิศวงเท่าไหร่ถึงสาเหตุผลที่ Cooper พอหลุดออกจาก Tesseract ถึงสามารถผ่านรูหนอนแล้วมาโผล่ยังวงโคจรดาวเสาร์ (ไม่รู้กี่เดือนปีผ่านเลยพ้น) เพราะมันคือ Story Driven การผลักดันของเรื่องราวให้มาถึงจุดสิ้นสุดของตัวละคร เหตุผลแบบแถๆก็คือแรงผลักดันของ ‘They’ จากมิติที่ห้า ให้การช่วยเหลือจนถึงวาระสุดท้าย

ลักษณะของสถานีอวกาศ Cooper นึกว่าในความฝันแบบเดียวกับ Inception (2010) ได้แรงบันดาลใจจาก O’Neill Cylinder (หรือ O’Neill Colony) ออกแบบโดยนักฟิสิกส์ Gerard K. O’Neill ในหนังสือ The High Frontier: Human Colonies in Space (1976) โดยมีลักษณะทรงกระบอกขนาดใหญ่ มนุษย์อาศัยอยู่บนพื้นผิวด้านใน ประกอบด้วยแรงดึงดูด ชั้นบรรยากาศสำหรับหายใจ รวมถึงพระอาทิตย์จำลอง (Artificial Light)

นี่คงเป็นสถานีอวกาศที่อยู่ในฐานทัพลับของ NASA แต่มันยิ่งใหญ่โตอลังการขนาดนั้นเลยนะหรือ! แล้วเหมือนว่าจะมีมากกว่าหนึ่งสถานีด้วยนะ

“No parent should have to watch their own child die. I have my kids here for me now. You go”.

นี่เป็นประโยคที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง ระลึกถึงนิทาน Zen เรื่องหนึ่งเล่าว่า ชายคนหนึ่งเข้าวัดไปหาหลวงพ่อเจ้าอาวาสเพื่อขอพรวันเกิด หลวงพ่อก็เขียนคำอวยพรในกระดาษ ยื่นส่งให้ เมื่อเปิดดูก็เห็นตัวหนังสือแถวเดียวเขียนว่า “ปู่ตาย พ่อตาย ลูกตาย หลานตาย”

เห็นดังนี้ ชายหนุ่มก็รู้สึกโกรธมาก ไม่เข้าใจว่าวันเกิดเป็นวันดีหลวงพ่อมาพูดเรื่องตายทำไม พอถามหลวงพ่อก็ตอบว่า ที่เขียนให้เป็นพรยิ่งแล้ว เพราะคนเราทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย การตายตามลำดับ เกิดก่อนตายก่อน ลูกตายหลังพ่อแม่เช่นนี้ดีมาก เพราะถ้ามีการสลับคิวเกิดขึ้น ลูกตายก่อน พ่อแม่ที่หวังจะฝากผีฝากไข้ต้องล้มเจ็บเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตพ่อแม่ก็ต้องคอยเลี้ยงดูอย่างเหนื่อยยากจนกว่าจะตายกันคาอ้อมกอด เหลือกันอยู่สองผู้เฒ่าใช้ชีวิตไปอย่างหงอยเหงา ก็นับเป็นทุกข์หนักหนาไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

เกร็ด: Ellen Burstyn ในบท Murph วัยชรา คือคนพูดประโยคแรกและประโยคสุดท้ายของหนัง

การจบทิ้งท้ายแบบปลายเปิด ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิด (ว่าจะมีสร้างภาคต่อหรือเปล่าว่า?) เรียกว่าเป็นธรรมเนียมของ Nolan อีกเช่นกัน เหมือนว่าทุกสิ่งอย่างยังไม่จบสิ้น (คือมันก็ไม่มีอะไรในโลกจบสิ้นหรอกนะ) แค่ว่าคำสัญญาของ Cooper ได้รับการเติมเต็มโดยสมบูรณ์แล้ว เรื่องราวหลังจากนี้ก็ปล่อยให้ใครๆจิ้นต่อกันเองได้ตามสบาย

หลายๆคนอาจรู้สึกว่าการเติมเต็มคำสัญญาของ Cooper มันออก Hollywood แบบ Happy Ending ไปเสียหน่อย (คือถ้าเป็นฉบับ Spielberg เห็นว่าพระเอกจะไม่สามารถรักษาสัญญาดังกล่าวได้สำเร็จ) แต่ผมว่าตอบจบแบบนี้ถือว่าดีงามมากๆ เพราะทำให้ผู้ชมอยากครุ่นคิดต่อยอดความเป็นไปได้ไม่รู้จักจบสิ้น คือถ้าสุดท้ายมัน Sad Ending เศร้าสลดหดหู่ ใครกันจะมีอารมณ์เพ้อฝันอยากจินตนาการไปต่อ

ตัดต่อโดย Lee Smith สัญชาติ Australian ขาประจำของ Nolan ตั้งแต่ Batman Begins (2005) เพิ่งคว้า Oscar: Best Film Editing เรื่อง Dunkirk (2017)

ผู้กำกับ Nolan มีความจัดจ้าน เลื่องลือชาในลีลาการตัดต่อเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ Memento (2000) ดำเนินเรื่องด้วยการเล่าถอยหลังทีละเล็กละน้อย, Inception (2006) ซ้อนความฝัน ตัดสลับไปมาถึง 4-5 ชั้น, สำหรับ Interstellar ก็ถือว่ามีความซับซ้อนพอสมควรเพราะเล่นกับ ‘เวลา’ ที่เป็นสัมพันธภาพ สามารถแบ่งเรื่องราวออกได้เป็น 5 ส่วนหลักๆ
– องก์แรกบนโลก ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Cooper เป็นหลัก  วันเวลาดำเนินไปเรื่อยๆอย่างเชื่องช้า แล้วมีการแทรกบทสัมภาษณ์ในลักษณะเชิงสารคดี ซึ่งภายหลังจะสามารถล่วงรู้ได้ว่านั่นคือคลิปจากอนาคต ก็เท่ากับว่าเป็นการแทรกสลับเรื่องราว ปัจจุบัน-อนาคต
– การเดินทางมุ่งสู่ดาวเคราะห์ Miller’s Planet ก็ยังคงเป็นมุมมองของ Cooper เป็นส่วนใหญ่ แต่วันเวลาอยู่ดีๆกระโดดไป 23 ปี
– มุ่งสู่ดาวเคราะห์ Dr. Mann’s Planet ช่วงนี้เวลาดำเนินไปปกติ แต่จะมีการตัดสลับกับเหตุการณ์บนโลก เล่าคู่ขนานในมุมมองของ Cooper และ Murph เมื่อตอนโตเป็นสาวแล้ว
– ช่วงเวลาใน Tesseract มีความสลับซับซ้อนที่สุดถึง 3 เหตุการณ์ในสถานที่เดียว! (ถือว่าห้องนอนของ Murph คือจุดหมุน) ประกอบด้วย Cooper ในห้วงมิติที่ห้า, ภาพจากอดีตเมื่อครั้นตนเองยังอยู่บนโลก Murph ยังเป็นเด็ก, และ Murph วัยผู้ใหญ่ ขณะกำลังครุ่นคิดถึงปริศนา ‘ผี’ ในห้องนอนของเธอ
– องก์สุดท้ายบนสถานีอวกาศ เรื่องราวกระโดดไปก็ไม่รู้กี่ปีหลังจากนั้น Cooper ยังคงหนุ่มแน่น แต่ Murph แก่หงำเหงือกใกล้ถึงวันสิ้นลม

สำหรับ Cooper ช่วงเวลาของเขาดำเนินเคลื่อนผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนปี แต่สำหรับ Murph พบเห็นตั้งแต่ยังเด็ก โตเป็นสาว และแก่ชราภาพ นี่เรียกว่าสัมพันธภาพของเวลา สิ่งน่าพิศวงที่สุดของจักรวาลในมุมมองมนุษย์ อันเป็นเหตุให้เชื่อว่าต้องมีบางสิ่งอย่างที่อยู่เหนือกว่า เรียกว่า ‘They’ ผู้มาจากมิติที่ห้า

เพลงประกอบโดย Hans Zimmer เรื่องนี้ฉายเดี่ยว ไม่ได้เกี่ยวก้อยร่วมงานกับ James Newton Howard, เริ่มต้นมาได้รับคำท้าทาย ให้สร้างสรรค์บทเพลงที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยคำแนะนำเพียงหนึ่งหน้ากระดาษ ไม่ใช่เรื่องย่อของหนังด้วยนะ

สิ่งที่ Zimmer สร้างสรรค์ออกมานั้น ถือว่ามีความสั่นพ้องกับจิตวิญญาณ มอบสัมผัสเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน ตะเกียกตะกายไขว่คว้าหา เมื่อไหร่กันหนามนุษย์ถึงจะล่วงรู้ตนเอง ว่าเราเป็นเพียงเศษผงทุลีในห้วงจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ความกระจิดริดของโลกสะท้อนทุกสิ่งอย่างที่กระทำอยู่นี้ มิได้มีคุณค่าความหมายสลักสำคัญใดๆ เปิดทัศนคติของตนเองออก มุ่งสู่แกแลคซี่อันไกลโพ้น จักพบสิ่งไม่สิ้นสุดของความเป็นไปได้

บทเพลงที่มีความโดดเด่นสุดของหนังคือ Mountain เมื่อขณะอยู่บนดาวเคราะห์ Miller’s Planet ผืนมหาสมุทรสุดกว้างใหญ่ จักได้ยินเสียงหยดน้ำราวกับนาฬิกาติกๆ นับถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะโลกใบนี้ 1 ชั่วโมงที่สูญเสีย หมายถึงเวลาปกติถึง 7 ปี และการปรากฎตัวของคลื่นภูเขาแห่งสายน้ำสูงเสียดฟ้า ปฏิกิริยาเดียวที่ใครๆโต้ตอบสนองได้คือ อ้าปากค้าง!

บทเพลง Coward ดังขึ้นช่วงขณะที่ Dr. Mann แสดงความขี้ขลาดเขลาออกมา ปากอ้างว่าทำไปเพื่อมนุษยชาติ แต่ชัดเจนว่านั่นคือความเห็นแก่ตัว ต้องการมีชีวิตรอดของตนเอง แม้ว่าบนดาวเคราะห์นี้จะไม่ต้องเร่งกับเวลา แต่ทีมพระเอกต้องแข่งขันกับความเร็ว เพราะยานอวกาศที่ระเบิดได้หมุนเคว้งด้วยความเร็วสูง กำลังค่อยๆลดระดับตกลงสู่ชั้นบรรยากาศ วิธีการเดียวเท่านั้นคือหมุนยานบินด้วยความเร็วเท่ากันแล้วเชื่อมต่อ

ประมาณนาทีที่ 4.55 เมื่อเสียง Organ เริ่มดังขึ้น ทุกๆ 12 โน๊ต 6 วินาที จะมีการเล่นวนซ้ำโน๊ตชุดเดิมอยู่หลายรอบทีเดียว สอดคล้องรับจังหวะการหมุนของยาน Endurance พอดิบพอดี

Detach คือบทเพลงแห่งความเสียสละ เมื่อ Cooper รับรู้ตัวเองว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะสูญเสียอีกต่อไปแล้ว คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ก็มิอาจสำเร็จสมหวังดั่งปรารถนา นี่ย่อมเป็นวิธีเดียวเพื่อสามารถส่งไม้ผลัดต่อให้ Dr. Amelia สามารถมุ่งไปสู่ดาวเคราะห์ที่สาม คาดหวังว่ามนุษยชาติจะค้นพบหนทางเอาตัวรอด สืบวงศ์เผ่าพันธุ์ต่อไปได้ไม่จบสิ้น

Interstellar หมายถึง ระหว่างดวงดาว, ในหนังมีการเอ่ยคำนี้ครั้งหนึ่งกึ่งกลางเรื่อง ‘Interstellar Travel’ หมายถึง การเดินทางระหว่างดวงดาว, จริงๆความหมายดังกล่าว เดินทางจากโลกถึงดวงจันทร์ก็ถือว่าเป็น Interstellar Travel ได้แล้ว แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจ/สื่อถึงการเดินทางข้ามแกแลคซี่ จักรวาล ผ่านรูหนอน หลุมดำ เว่อวังอลังการขนาดนั้นเลย … มันก็ความหมายเดียวกันละนะ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมด้วยความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เมื่อครั้นวิวัฒนาการทำให้ลิงสามารถเงยหน้าแหงนมองท้องฟ้า พบเห็นแสงสว่างจากพระอาทิตย์/จันทรายามค่ำคืน หรือดาวดวงเล็กๆระยิบระยับรายล้อมรอบ ก็เกิดความใคร่สงสัยอยากรู้ จะมีสิ่งมีชีวิต/ใครสักคนไหม จับจ้องมองลงมาเหมือนอย่างที่เรามองย้อนขึ้นไป

ปริศนาของจักรวาลก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการไขว่คว้าหาคำตอบสนองสันชาตญาณ ความเข้าใจในนิยามแห่ง ‘ชีวิต’ ใครคือผู้สร้าง? ก่อนหน้านั้นมีอะไร? เกิดมาเพื่อ? ตายแล้วไปไหน? และจุดสิ้นสุดของทุกสิ่งอย่างละ? ในเมื่อโลกใบนี้ไม่เพียงพอสามารถให้คำตอบอะไรกับเรา มันก็อาจมีแนวโน้มเป็นความไปได้ ถ้าสามารถออกเดินทางนอกโลกท่องอวกาศ สักหนึ่งถึงสุดปลายขอบฟ้า คงได้ค้นพบเห็นรับรู้และเข้าใจทุกสิ่งอย่าง

เรื่องราวของ Interstellar สะท้อนความในใจผู้กำกับ Christopher Nolan อยากพบเห็นมนุษยชาติได้เริ่มออกเดินทาง ไปให้ไกลกว่าอดีตที่เคยผานมา เพราะปัจจุบันนี้ทุกสิ่งอย่างในมุมมองของเขาราวกับหยุดนิ่ง ถดถอยหลัง ไร้การพัฒนาไปข้างหน้า ความทะเยอทะยานต่างๆที่เคยมี จิตวิญญาณนักสำรวจมันสูญหายไปไหน?

“Mankind was born on earth. It was never meant to die here”.

แรงผลักดันที่ทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคปัญหา ข้อบกพร่อง ความขัดแย้งทุกสิ่งอย่าง เป็นสิ่งทรงคุณค่ายิ่งใหญ่เหนือกกว่ากาลเวลา นอกจากแรงโน้มถ่วงตามทฤษฎีของ Kip Thorne ก็ ‘ความรัก’ นี่แหละจะทำให้มนุษยชาติเกิดวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง สามารถลุกขึ้นก้าวกระโดดอีกครั้ง และยังได้รับความช่วยเหลือจากบางสิ่งอย่าง/ใครสักคน ‘They’ ชี้ชักนำทาง เปิดประตูรูหนอน ให้ลิงผู้เพิ่งมีอายุไม่กี่พันล้านปี เดินทางผ่านไปสู่มิติที่อยู่นอกเหนือกาลเวลา (และความตาย)

มาลองครุ่นคิดเทียบวิทยาศาสตร์กับศาสนาดูบ้าง อะไรคือมิติที่ห้าของพุทธศาสนา? สวรรค์ นรก หรือเปล่านะ? ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ใช่นะครับ เพราะไตรภูมิคือภพแห่งการเวียนว่ายตายเกิด จริงอยู่ที่ 1 ปีบนสวรรค์ เทียบเท่า 100 ปีบนโลกมนุษย์ และ 10,000 ปีแห่งนรก แต่นี่แค่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเท่านั้นเองนะ ทุกจิตวิญญาณยังคงว่ายวนเวียนอยู่บนวัฏจักรแห่งชีวิต เกิด-ตาย ไม่สามารถกำหนดควบคุมโชคชะตากรรมได้ด้วยตัวเราเอง

การบรรลุมรรคผล นิพพานต่างหากละ ที่ทำให้มนุษย์ก้าวย่างสู่มิติที่ห้าในความเชื่อวิทยาศาสตร์ของชาวตะวันตก เพราะพระอรหันต์คือผู้หลุดพ้น มิได้ต้องหวนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดบนโลกมนุษย์ สามารถนำพาจิตของตนเองให้อยู่เหนือกาล’เวลา’ แต่วันๆพวกท่านจะทำอะไรก็ไม่รู้ไม่ทราบเหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านก็มิได้ทรงตรัสบอกไว้ อยากรู้ต้องพิสูจน์หาคำตอบด้วยตนเองเท่านั้น

แล้วเหตุการณ์แบบ ‘They’ จากมิติที่ห้า จะมาช่วยเหลือมนุษย์ในมิติที่สี่ เป็นไปได้หรือ? อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เพราะท่านทั้งหลายที่หลุดพ้นย่อมสามารถปลดปล่อยวางทุกสิ่งอย่างแล้ว หาได้มีความจำเป็นอะไรต้องหวนกลับมา แต่เท่าที่ผมรับล่วงรู้มีสมเด็จองค์ปฐม ที่ทรงเฝ้าติดตามอยู่ไม่ห่าง (จริงไหมก็แล้วแต่จะเชื่อกันเองนะครับ) คอยให้การช่วยเหลือแนะนำพระโพธิสัตว์ เพราะท่านคือพระพุทธเจ้าพระองค์แรก ครุ่นคิดค้นวิธีการโปรดเวไนยสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏฏะสังสาร เพื่อมิให้พุทธศาสนาสูญห่างหายไปตราบชั่วอนันตกาลเวลา

ความรักช่วยให้มนุษย์สามารถหลุดพ้น … นี่คือโลกทัศนคติของชาวตะวันตก ที่คนนับถือพุทธศาสนาย่อมสามารถให้คำตอบได้ว่าไม่จริง ซึ่งการจะขวนขวายไขว่คว้าสู่มิติสูงกว่า ไม่ได้ต้องออกไปค้นแสวงหาอะไรนอกโลกแสนไกลสุดขอบฟ้าจักรวาล การันตีได้ว่าไม่พบเจอคำตอบหรอก เพราะแท้จริงแล้วมันอยู่ที่ตัวเราเอง ฝึกตัวเองให้มีสติ เรียนรู้จักศีล สมาธิ แล้วปัญญาจะบังเกิดขึ้นมาเอง

ด้วยทุนสร้าง $165 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $188 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $677.5 ล้านเหรียญ น่าจะกำไรพอสมควร, เข้าชิง Oscar 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Production Design
– Best Sound Mixing
– Best Sound Editing
– Best Original Score
– Best Visual Effect ** คว้ารางวัล

น่าเสียดายที่หนังถูกมองข้ามในสาขาหลักๆ โดยเฉพาะ Best Director โดนตำหนิอย่างมาก (เพราะตอนนั้นชื่อของ Nolan ถูกมองข้ามมาโดยตลอด ยังไม่เคยเข้าชิงสาขานี้สักครั้ง) ได้ลุ้นแต่ฝั่งเทคนิค กระนั้นก็ยังถูก SNUB จาก Best Cinematography และ Best Film Editing

“It’s been a while since somebody has come out with such a big vision to things … Even the elements, the fact that dust is everywhere, and they’re living in this dust bowl that is just completely enveloping this area of the world. That’s almost something you expect from Tarkovsky or Malick, not a science fiction adventure movie”.

– Quentin Tarantino

ถึงภาพรวมของ Interstellar จะไม่ค่อยกลมกล่อมสักเท่าไหร่ หลายอย่างดูก๊องแก๊ง ขาดความสมเหตุสมผล โดยเฉพาะเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกินกว่าหลายคนจะสามารถเข้าใจ แต่ทั้งหมดนั่นคือความท้าทายครุ่นคิด และสิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดคือ ‘แนวคิด’ จัดเป็นหนัง Sci-Fi ชั้นดี ตั้งคำถามสุดเลิศ เพ้อฝันทะเยอทะยาน ไม่ถึงขั้น 2001: A Space Odyssey (1968) แต่อยู่ท่ามกลางดวงดาว

แนะนำคอหนัง Sci-Fi แนวท่องอวกาศ, นักวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์, งานภาพสวยๆ Visual Effect ตระการตา, แฟนๆผู้กำกับ Christopher Nolan และนักแสดงคับคั่ง Matthew McConaughey, Anne Hathaway, Jessica Chastain ฯ

จัดเรต 13+ กับความลุ้นระทึก ภยันตราย และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

TAGLINE | “ความทะเยอทะยานของ Christopher Nolan อยากจะเดินทางข้ามผ่าน Interstellar แต่ก็พานพบอุปสรรคมากมาย เกือบเอาตัวไม่รอดเมื่อถึงฝั่งฝัน”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: