Inuyashiki (2017) : Keiichi Sato & Shuhei Yabuta ♥♥♡
ชายแก่ vs. ชายหนุ่ม, คนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่, พระเอก vs. ตัวร้าย, ในโลกยุคเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) หนุ่มสาววัยรุ่นใหม่หัวไวไปเร็วแต่ขาดซึ่งสติยับยั้งดีชั่วถูกผิด ขณะที่คนแก่สูงวัยกว่าจะปรับตัวได้เชื่องช้าล้าหลังค่อยเป็นค่อยไป แต่ในทิศทางมั่นคงถูกต้องจนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถติดตามได้ทัน ซึ่งสุดท้ายแล้วโลกจำต้องฝากความหวังไว้กับพวกเขาทั้งสองร่วมมือกัน อนาคตถึงดำเนินต่อไปได้อย่างสงบสุข
Inuyashiki เป้นมังงะที่มีแนวคิดพล็อตเรื่องถือว่าดีเยี่ยม ฉบับภาพยนตร์ผมยังไม่มีโอกาสรับชมแต่ค่อนข้างเชื่อว่าน่าจะดัดแปลงนำเสนอได้ดีกว่าอนิเมะซีรีย์ความยาว 11 ตอน โคตรอยากหาอะไรมาเขวี้ยงขว้างใส่ แรกเริ่มมาแจ่มหมามากๆ (Inuyashiki แปลว่า Dog House) แต่ไดเรคชั่นกลับห่วยแตกลงเรื่อยๆ สร้างความร้าวฉานอย่างรุนแรงโดยเฉพาะ 3 ตอนสุดท้าย และการต่อสู้ระหว่าง Akira vs. L Inuyashiki vs. Shishigami จบลงได้น่าผิดหวังโดยสิ้นเชิง
สำหรับบทความนี้จะขอมุ่งเน้นการวิเคราะห์เนื้อหาหลัก อ้างอิงจากอนิเมะซีรีย์เท่านั้นนะครับ เพราะส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบแนวคิดพล็อตเรื่องมากๆ เลยอยากนำมาวิเคราะห์แบ่งปัน ใครที่รับชมฉบับ Live-Action คงอาจมีบางส่วนที่เกินเลยเนื้อหา แต่คิดว่าคงสามารถเติมเต็มความเข้าใจอะไรหลายๆอย่างได้แน่
ต้นฉบับของ Inuyashiki คือมังงะแต่งโดย Hiroya Oku (เกิดปี 1967) นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง เจ้าของผลงาน Gantz (2000-13) ที่ขึ้นชื่อด้านความรุนแรง เหี้ยมโหดร้าย ฆ่ากันตายเลือดสาด สะท้อนด้านมืดมิดของมนุษย์ สงสัยเพราะความสำเร็จอันล้นหลาม เลยตัดสินใจพัฒนามังงะเรื่องถัดไปในแนวทางเดียวกัน ตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายเดือน Evening เริ่มต้นมกราคม 2014 แต่เพราะยอดขายเฉลี่ยเพียง 70,000 ต่อเล่ม (น้อยกว่าแบบเทียบไม่ติดกับยอดขายเฉลี่ยของ Gantz ที่ประมาณ 5 แสนต่อเล่ม) เลยตัดจบกรกฎาคม 2017 ทั้งหมด 10 เล่มรวม
แซว: จริงๆยอดขายเฉลี่ย 70,000 ต่อเล่มถือว่าสูงใช้ได้ สำหรับนักเขียนหน้าใหม่น่าจับตามองเลยละ แต่เพราะ Oku จัดเป็น Veteran ผู้เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ปริมาณเท่านี้จึงไม่เพียงพอถึงจุดคุ้มทุน (ผมเคยอ่านเจอ ต้องยอดขายเฉลี่ยรวมเล่มเกินแสนเล่มขึ้นไปถือว่าประสบความสำเร็จ)
เรื่องราวของ Ichiro Inuyashiki ชายสูงวัยใกล้เกษียณ ทำงานเป็น Salary Man พบว่าตัวเองป่วยหนักเป็นมะเร็งมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่กี่เดือน ด้วยความท้อแท้หมดอาลัยตายอยาก พาน้องหมา Hanako ที่เพิ่งเก็บมาเลี้ยงไปวิ่งเล่นทอดกายลงหมดแรงบริเวณเนินเขาชานเมือง แล้วอยู่ดีๆยานอวกาศจากไหนไม่รู้ลงจอดฉุกเฉินฆ่าเขาตาย ด้วยความรู้สึกผิดของมนุษย์ต่างดาวเลยทำการประกอบร่างคืนชีพให้ใหม่ แล้วทุกสิ่งอย่างก็ดำเนินเป็นปกติต่อไป จนกระทั่งยามเช้าอาการเจ็บป่วยทรมานทุกอย่างหายเป็นปลิดทิ้ง ไปๆมาๆร่างสามารถแยกชิ้นส่วนออกเป็นหุ่นยนต์
Hiro Shishigami วัยรุ่นหนุ่มหล่อมาดเท่ห์ ชอบการอ่านการ์ตูน ได้รับความนิยมจากสาวๆ แต่ครอบครัวแตกแยกหย่าร้าง อาศัยอยู่กับแม่ในอพาร์เม้นต์โกโรโกโส วันหนึ่งพบเห็นคนฆ่าตัวตายเดินตัดหน้าตกรางรถไฟ หมดสิ้นอาลัยตายอยาก บังเอิญยืนเหม่อมองท้องฟ้าตำแหน่งเดียวกับ Ichiro Inuyashiki ถูกยานอวกาศลงจอดฉุกเฉินคร่าชีวิต ประกอบร่างคืนให้กลายเป็นหุ่นยนต์ สำหรับเขาทุกสิ่งอย่างกำลังแปรเปลี่ยนไป นี่เป็นโอกาสจักได้พิสูจน์การมีตัวตนของตนเองให้โลกรับรู้
อนิเมะใช้ 2 ตอนแรกในการแนะนำ Inuyashiki กับ Shishigami (แยกกันคนละตอน) เพื่อสะท้อนให้เห็นความแตกต่างสุดขั้วตรงกันข้ามของพวกเขา
– ชายแก่ vs. ชายหนุ่ม, คนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่
– เต็มไปด้วยความร้อนรน หวาดกลัว เหงื่อแตกพลักๆ vs. สงบเยือกเย็นชา หล่อเท่ห์ ไม่แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า
– ภาระหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบต่อครอบครัว vs. เพื่อนน้อย ภาระไม่ค่อยมี พ่อแม่แตกแยกพึ่งพาอะไรไม่ได้
– ชีวิตผ่านประสบการณ์อะไรๆมากมาย ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต vs. หมกมุ่นอยู่กับความเพ้อฝันแฟนตาซี ติดการ์ตูน Jump ชื่นชอบ One Piece, Gantz ฯ
เมื่อทั้งสองได้ค้นพบพลังความสามารถพิเศษ กว่าที่ Inuyashiki จะเริ่มหัดทดลองใช้เป็น มีความค่อยเป็นค่อยๆไปทีละเล็กน้อย ตรงข้ามกับ Shishigami หัวไวไปเร็วสร้างสรรค์ แทบทำทุกอย่างเป็นโดยอัตโนมัติ/สันชาติญาณ/จินตนาการ
เกร็ด: สองตัวละครหลัก ผู้เขียน Oku บอกว่าได้แรงบันดาลใจจาก Astro Boy ผลงานชิ้นเอกของ ‘พระเจ้าแห่งวงการมังงะ’ Osamu Tezuka ก็ด้วยเหตุนี้ตอน Inuyashiki ออกบินครั้งแรก ให้กำลังใจตัวเองด้วยการขับร้องบทเพลงสุดคลาสสิก
กระนั้นเพราะความรวดเร็วในการเข้าถึงเทคโนโลยี ทำให้ Shishigami เชื่องช้าในการครุ่นคิดเข้าถึงจิตใจคน เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่สนใครนอกจากครอบครัวคนสนิท เข่นฆาตกรรมผู้อื่นได้อย่างเลือดเย็นเหี้ยมโหดจากความว่างเปล่า (ของปืนอากาศ) อ้างว่าทำให้เกิดสัมผัสทางอารมณ์ บางสิ่งอย่างสั่นสะเทือนเคลื่อนไหวอยู่ในหัวอก วินาทีนั้นรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว
สำหรับ Inuyashiki เวลาส่วนใหญ่ของเขาหมกมุ่นครุ่นเครียดอยู่แต่ นี่ฉันเป็นใคร? ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ไหม? เกิดมาเพื่ออะไร? พระเจ้าทำอย่างนี้กับฉันทำไม? จนกระทั่งได้กล้าเผชิญหน้ายืนหยัดช่วยเหลือชีวิตผู้คนอื่น เกิดความภาคภูมิพึงพอใจในตนเอง ตัดสินใจกลายเป็นฮีโร่กระป๋องกระแป๋ง เพราะนั่นคือวินาทีทำให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่สุดแล้ว
แซว: ช็อตนี้เคารพคารวะ Ikiru (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่มีเรื่องราวเกี่ยวชายสูงวัยป่วยเป็นมะเร็งใกล้ตาย ครุ่นคิดได้ว่าชีวิตยังไม่เคยทำอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่น ใช้ช่วงเวลาวาระสุดท้ายของตนเอง ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างให้โลกได้จารึกจดจำ
Shishigami มีเพื่อนสนิทหนึ่งเดียว Naoyuki Andō ด้วยความที่บ้านรวย (อาศัยอยู่บ้านข้างๆ Inuyashiki) พ่อเป็นนักเขียนการ์ตูนประสบความสำเร็จ แต่ชอบโดนกลั่นแกล้งประจำเลยขังตัวอยู่ในห้องเลิกไปโรงเรียน เพื่อนรักตามถึงบ้านพร้อมอวดอ้างโชว์ความสามารถพิเศษให้ประจักษ์เห็นเพื่อบอกว่า ‘ปัญหาเล็กๆของนายเทียบกับฉันไม่ได้หรอก’ นี่สร้างความอึ้งทึ่งตกตะลึง แต่ต่อมาก็เริ่มไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กลายเป็น ตัดสินใจเลิกคบหาเพราะมอง’จิตใจ’ของเขาไม่ได้มีความเป็นมนุษย์อีกต่อไปแล้ว
แซว: Andō คลั่งไคล้ Gantz มากๆ พบเห็นโปสเตอร์ติดอยู่เต็มห้อง นี่ไม่ได้อ้างอิงถึงตัวผู้แต่งมังงะเองเร้ยย!
ด้วยเหตุนี้ Andō จึงหันไปคบค้าสมาคมกับ Inuyashiki หลังจากครุ่นคิดได้ว่าคงไม่มีหุ่นแบบ Shishigami เพียงคนเดียวแน่ หลังพบเห็นการกระทำอันมีคุณธรรมของเขา พาลให้ต้องร้องไห้หลั่งน้ำตาทุกครั้งร่ำไป ยกย่องเป็นฮีโร่วีรบุรุษตัวจริงจากใจ และช่วยชี้แนะชักนำเป็น Sidekick ให้คุณลุงค่อยๆเรียนรู้พัฒนาตัวเองขึ้นก้าวทันความสามารถของอดีตเพื่อนรัก จักได้สามารถตอบโต้กลับเมื่อบางสิ่งอย่างชั่วร้ายบังเกิดขึ้น
บทเรียนนี้สะท้อนถึงปัญหาของผู้ใหญ่/คนรุ่นก่อน การจะตามโลกให้ทันด้วยความสามารถของตนเองเพียงอย่างเดียวเป็นไปได้อย่างเชื่องช้ากว่าเต่า จำต้องคอยมองหาแรงบันดาล สังเกตลอกเลียนแบบตาม (พบเห็น Shishigami บินได้ เลยลอกเลียนแบบตาม) ซึ่งถ้าจะให้ดีก็มีคนชี้แนะนำจะไปได้เร็วหน่อย (Andō บอกต่อทุกกลเม็ดที่พบเห็นจาก Shishigami)
ตรงกันข้ามกับ Shishigami แม้ไม่มีความจำเป็นต้องร่ำเรียนรู้เทคโนโลยีจากใคร (สอนตัวเองได้) แต่ในเรื่องของคุณธรรมความเป็นมนุษย์ วันหนึ่งได้รับการสั่งสอนจากแม่ที่สารภาพว่าป่วยเป็นมะเร็ง พวกเขาอยู่กันอย่างทุกข์ยากลำบากตรงข้ามกับพ่อที่มีครอบครัวใหม่สุขกระสันต์ไม่เคยคิดหันมาเหลียวแล ด้วยความสามารถพิเศษของตนสามารถรักษาแม่ให้หายขาด แถมยังสามารถกดเสกเงินในเอทีเอ็ม เพ้อฝันพาไปอาศัยอยู่คอนโดสูงหรูราคาแพง วินาทีนั้นคิดตัดสินใจจะเลิกเล่นเกมฆ่าคน แต่ทุกสิ่งอย่างพลันล่มสลายลงทันทีเมื่อตำรวจติดตามล่าไล่ทันถึง
ตอน 5 ของอนิเมะ มีไฮไลท์หนึ่งเจ๋งมากๆ วินาทีที่ Inuyashiki เรียนรู้จักการใช้พลังเพื่อต่อสู้ทำลายล้าง ตัดสลับกับ Shishigami เรียนรู้จักใช้พลังเพื่อรักษาช่วยเหลือแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง นี่เป็นการสะท้อนพัฒนาการด้านขาดหายไปของคนสองรุ่น
– คนรุ่นเก่า มากด้วยประสบการณ์ชีวิต ค่อยๆปรับตัวเข้าเรียนรู้โลกาภิวัฒน์
– คนหนุ่มสาว เฉลียวฉลาดล้ำในเทคโนโลยี กำลังค่อยๆปรับตัวเรียนรู้จักคุณธรรมนำชีวิต
แซว: มะเร็ง โรคยอดฮิตของหนังเรื่องนี้ คือเนื้อร้ายที่คุกคามชีวิตมนุษย์งอกเงยจากภายใน เปรียบได้กับความชั่วร้ายที่สามารถถูกกำจัดด้วยแสงสว่าง/ความดีงาม
ปัญหาหนึ่งของสังคมยุค Social Network คือตอนที่ผมว่าเจ๋งสุดแล้วในหนัง Nichan no hito tachi หรือ People of 2 Chan เว็บกระทู้ที่มีลักษณะคล้าย ‘พันทิป.คอม’ สถานที่วัยรุ่นรวมกลุ่มพูดคุยสนทนาในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเวลามีดราม่า เรื่องอะไรเลวร้ายเกิดขึ้น ก็มักมีโอตะคุ/นักสืบ(พันทิป) ทำการขุดคุ้ยโน่นนี่นั่นมาวิพากย์วิจารณ์อย่างเมามันคันปาก หรือภาษาที่หลายคนอาจรู้จัก ‘นักเลงคีย์บอร์ด’ นั่นคือมุมมืดของโลกออนไลน์ที่ไม่มีใครสามารถจัดการเก็บกวาดทำอะไรได้ ซึ่งอนิเมะใช้การตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ด้วย Shishigami ปรากฎตัวขึ้นหน้าจอ ยกมือขึ้นยิง Bang! ฆ่าให้ตายคาที่
Shion Watanabe เพื่อนร่วมห้องของ Shishigami (และ Andō) หลังจากพบเห็นการกระทำต่อสู้ยืนหยัดเพื่อเพื่อน ตกหลุมรักใคร่น่าจะแรกพบ พูดบอกชื่นชอบออกไปตรงๆ แถมยินยอมให้การช่วยเหลือแบบไม่กลัวเกรง รับรู้ว่าคือฆาตกรตัวจริงยังหัวปลักหัวปลำจนทำให้จิตใจของ Shishigami รู้สึกอ่อนไหวลงชั่วคราว แปรเปลี่ยนจากเข่นฆ่าผู้อื่นกลายมาเป็นช่วยเหลือรักษาชีวิต แต่อดีตที่เคยทำไว้ใช่ว่ามันจะสูญหายลบเลือน และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งกรรมมันก็ตามมาสนองทันควัน เรียนรู้เข้าใจโดยทันที ศัตรูของตนเองคือทุกคนในโลกใบนี้ ทำให้ชีวิตของ Watanabe จมปลักอยู่ในความทุกข์โศกทรมานแสนสาหัส
Mari Inuyashiki อีกหนึ่งเพื่อนร่วมห้องของ Shishigami (และ Andō) มีความอิจฉา Andō ที่ครอบครัวประสบความสำเร็จร่ำรวย ผิดกับบ้านของตนกระจอกงอกง่อยอยู่ภายใต้เงามืดของตึกใหญ่ กระนั้นวันหนึ่งได้แอบพบเห็นพ่อเดินกับ Andō กระทำบางสิ่งเหนือมนุษย์ อึ้งทึ่งช็อคคาดคิดไม่ถึง ขณะเดียวกันก็รู้สึกปลอดภัยไร้กังวล ภายหลังเกิดความภาคภูมิใจและตัดสินใจเดินตามความฝันตนเองจนประสบความสำเร็จ
สองตัวละครสมทบหญิง มีความสัมพันธ์ต่อ Shishigami และ Inuyashiki เป็นตัวแทนของผู้อยู่เบื้องหลัง คนรักภักดี พร้อมหนุนหลังให้การสนับสนุน และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำแสดงออกของพวกเขา ทั้งทางกายและใจ
ขณะเดียวกันเบื้องหลังเหล่านี้ก็เป็นผลกระทบส่งคืนให้ทั้ง Shishigami และ Inuyashiki แสดงออกในหนทางที่แตกต่าง
– Inuyashiki เมื่อได้รับกำลังใจล้นหลามจากครอบครัว ก็พร้อมลุกขึ้นกล้าเสียสละทำทุกสิ่งอย่าง หวาดกลัวแต่ไร้ซึ่งความเกรงอะไร
– Shishigami ถูกปฏิเสธจากครอบครัวคนรัก อดรนทนต่อไปไม่ได้ ต้องการทำลายทุกสิ่งอย่างขวางหน้า
แผนการของ Shishigami สำเร็จเพียง 2 เฟส ประกอบด้วย
1) วันแรกฆ่าร้อยคน ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทุกชนิด ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือ, โทรทัศน์ Smart TV ฯ (นี่เป็นการสะท้อนว่า เทคโนโลโยยีสามารถฆ่าคนให้ตายได้ ถ้านำไปใช้ในทางผิดๆ)
2) วันที่สองดักจับคลื่นสัญญาณเครื่องบิน ควบคุมดั่งวงออเครสต้า จากที่เคยอยู่สูงเสียดฟ้า ให้ตกต่ำลงมาสู่พื้นทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง (มองเป็นเชิงสัญลักษณ์ คือการทำลายความเพ้อฝันทะเยอทะยานของมนุษย์)
การต่อสู้ของ Shishigami และ Inuyashiki เกิดขึ้นขณะที่ Mari ติดอยู่บนตึกสูงไฟไหม้ ใกล้สำลักควันหมดอากาศหายใจ นี่เป็นการสะท้อนว่า
– สิ่งอยู่ในความสนใจของ Shishigami คือผลประโยชน์ส่วนตนเองเท่านั้น (พยายามขัดขวางไม่สนใจ ไม่รับฟัง ไม่ยินยอมให้ต่อรองรอไปก่อน)
– ขณะที่ Inuyashiki ร้องขอไม่อยากต่อสู้ ต้องการรีบเร่งไปช่วยเหลือผู้อื่นก่อน แต่เมื่อมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องสู้ไปบินหนีไป เค้นเอาศักยภาพ(ที่ไม่ค่อยมี)ออกมาเหมือนหมาจนตรอก
ระหว่างการต่อสู้จะขณะที่หมดสติเรี่ยวแรง ร่างกายจะเข้าสู่โหมดอัตโนมัติ (Unconscious System) ซึ่งระบบจะสนองตามความต้องการภายใต้จิตสำนึกของเจ้าของ เช่นว่า
– Inuyashiki ไม่ได้มีความต้องการฆ่าใครตาย ปืนเลเซอร์ที่ยิงออกมาจะไม่คร่าชีวิตใคร แค่ทำให้ยากูซ่าพิการทรมานสาหัสทั้งชีวิต
– Shishigami ความตายเท่านั้นคือประสงค์ ตำรวจทุกนายยกเว้นคนที่ไว้ชีวิต ยิงเข้าจุดตายแบบไม่ให้รู้ตั้งตัว
น้ำมันคือสิ่งให้พลังงานแก่เครื่องยนต์กลไก เฉกเช่นเดียวกับน้ำคือสายธารแห่งชีวิต นี่คงคือเหตุผลต้องให้ตัวละครดื่มน้ำเยอะๆ จะได้สดชื่นคืนชีพเคลื่อนไหวด้วยตนเองได้อีกครั้ง
การประทะขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่ ชัยชนะครานี้ถือว่าเกิดจากประสบการณ์ของผู้สูงวัยที่มีมากกว่า Inuyashiki ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมที่กำลังตกมา ทำลายกลายเป็นเศษอุกาบาตชิ้นเล็กๆน้อยๆ หลบซ่อนตัวแล้วกระโดดเข้าด้านหลัง ดึงส่วนของหนังศีรษะและแขนสองข้างออก มิให้สามารถครุ่นคิดหรือลงมือกระทำอะไรต่อไปได้ด้วยตนเอง/สันชาติญาณอีก
ผมคิดว่าชัยชนะของลุง Inuyashiki คงสะท้อนถึงตัวผู้เขียน Oku ขณะนั้นอายุเข้าใกล้ 50 ปี เรียนรู้จักประโยชน์ของการใช้ประสบการณ์เข้าแก้ปัญหาสิ่งต่างๆในชีวิตและครอบครัว เพราะคนหนุ่มมัวแต่มองไปข้างหน้าไม่ค่อยเหลียวหลัง ขณะที่คนสูงวัยเพราะเชื่องช้าเดินตามล้าหลังแต่มั่นคงถูกต้องเห็นภาพชัดเจนกว่า
กับผู้ชมทั่วไปคงแทบคลั่ง เพราะการต่อสู้สุดมันส์ของ Shishigami และ Inuyashiki มีเพียงครึ่งแรกของตอน 10 เท่านั้นหมดแล้ว ที่เหลือจากนี้ตอนกว่าๆเป็นส่วนของดราม่าและการกอบกู้โลก อันเนื่องจากดาวหางขนาดมหึมากำลังพุ่งเข้ามาใส่ อนาคตของทุกสิ่งมีชีวิตกำลังจะสิ้นดับสูญ (แต่ Donald Tramp กลับยังเห่าหอนแบบไม่แคร์อะไรใคร) วิธีทางเดียวเท่านั้นคือสองฮีโร่ร่วมใจพลีกาย กดตาทำลายอุกกาบาตนั้นให้แหลกละเอียด
อนาคตของมวลมนุษย์ชาติไม่ว่าจะยุคสมัยนั้น ล้วนต้องเกิดจากส่วนผสมของคนรุ่นเก่าและใหม่ คลุกเคล้าผสมผสานกันอยู่เสมอถึงดำเนินต่อไปได้
– โลกที่มีเพียงคนหนุ่มวัยรุ่น เทคโนโลยีไปไวแต่จิตใจต่ำช้าเลวทราม
– โลกเหลือแต่คนแก่ มีเพียงความสุขีทางใจแต่ล้าหลังเฉิ่มเฉย (เอะ! มันก็ไม่ได้แย่อะไรนะ)
ความสมดุลจะเกิดเมื่อคนทั้งสองวัยสามารถเรียนรู้อยู่ร่วมปรับความเข้าใจ ประสานมือกันในเชิงสร้างสรรค์ อุกกาบาตจะมาถล่มโลกงั้นหรือ มีพวกเขาทั้งคู่อยู่ก็สามารถหยุดได้ด้วยวิสัยทัศน์ (กดดวงตา) กาลไกล
ใจความของอนิเมะเรื่องนี้ที่หลายๆคนคงมองเห็นกันคือ การตั้งคำถาม’อะไรคือความเป็นมนุษย์?’ ภาพลักษณ์หน้าตาภายนอก หรือสิ่งคุณค่าของความมีมนุษยธรรมที่หลบซ่อนภายในจิตใจของคน เมื่อร่างกายกลายเป็นหุ่นยนต์แต่ความทรงจำยังอยู่ ระหว่าง Shishigami กับ Inuyashiki ใครคือบุคคลผู้ที่เราควรเคารพยกย่องเชิดชูเป็นแบบอย่าง
แต่สิ่งที่ผมเห็นคือมุมมองต่อโลกของผู้เขียน Oku สะท้อนความแตกต่างระหว่างยุคสมัย/ผู้คน การเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวล้ำเกินอนาคต เหล่านี้กลั่นออกมาจากประสบการณ์ชีวิตของเขาเองล้วนๆ เพื่อค้นหาจุดสมดุลปรับตัวพร้อมคำแนะนำ คนหนุ่มวัยรุ่นสาวควรทำอย่างไร และ Salary Man แก่หงำเหงือกคล้ายๆตนก็จักต้องปรับตัว
ผมเคยรับชมอนิเมะ Gantz (แต่ไม่เคยคิดอ่านมังงะหรือดูหนังนะ) ที่เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตและความตาย ลามมาถึง Inuyashiki ทั้งสองเรื่องสะท้อนตัวตนของผู้แต่ง Oku ว่าเป็นคนชอบครุ่นคิดถึงความสำคัญของการเกิดมามีชีวิต ไม่แปลกเลยถ้าเขามี Ikiru (1950) เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิดต้องทำอะไรสักอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม แต่เขาคงผิดหวังมากๆที่มังงะเรื่องนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควร กระนั้นได้รับดัดแปลงเป็นอนิเมะ/ภาพยนตร์คนแสดง คงต้องถูกอกถูกใจสตูดิโอผู้สร้างอย่างมากเลยสินะ
สิ่งที่โดยส่วนตัวผิดหวังมากๆกับอนิเมะซีรีย์เรื่องนี้ คือการเผชิญหน้าระหว่าง Shishigami กับ Inuyashiki มีจำนวนนับครั้งได้ พวกเขาไม่ได้หักเหลี่ยมเฉือนคมกันแม้แต่น้อย แทบจะทางใครทางมันไม่เคยสวนทางกันจนกระทั่งฉากไคลน์แม็กซ์ (Shishigami ไม่สนรับรู้การมีตัวตนของหุ่นลุง ตรงกันข้ามกับ Inuyashiki ล่วงรู้ทุกสิ่งอย่างการกระทำ) ประเด็นที่ผมหงุดหงิดคือทั้งคู่ขัดแย้งกันโดยไม่มีที่มาที่ไป หรือเคยแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็นใดๆกันทั้งนั้น มันจะดียิ่งกว่าไหมถ้าพวกเขามีโอกาสพบเจอพูดคุยแลกเปลี่ยนเพราะความเป็นหุ่นเหมือนกัน จากนั้นค่อยๆขัดแย้งเห็นต่างในหลักการ ลุกลามบานปลายจนเกิดการต่อสู้ขัดแย้ง และลงเอยด้วยร่วมมือปกป้องอุกกาบาตเพื่อคนที่ตนรัก
การนำเสนอเรื่องราวลักษณะแบบนี้ราวกับจะสื่อว่า คนสูงวัย vs. คนหนุ่มสาว ยุคสมัยนี้ไม่ค่อยที่จะพบเจอพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำความรู้จักเข้าใจกันสักเท่าไหร่ ต่างทางใครก็ทางมันฉันไม่แคร์ เช่นนั้นแล้วประเทศชาติก็รังแต่จะตกอยู่ในความวุ่นวายขัดแย้ง ถ้าอุกกาบาตมาถล่มโลกคงมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นกระมังที่จะรอดพ้น
ผมดูเครดิตของผู้กำกับอนิเมะ Keiichi Sato อาทิ Tiger & Bunny (2011), Black Butler (2014), Rage of Bahamut: Genesis (2014) ฯ ก็ถือว่าไม่เลวเลยนะ แต่เรื่องนี้สงสัยจะพลาดตั้งแต่แบ่งตอนวาง Storyboard ช่วงท้ายรีบเร่งลวกไข่เร็วไปสักหน่อย ตอนที่ 11 ถือได้ว่า Anti-Climax ไร้รสชาติใดๆ ดูมันให้จบๆเท่านั้น และตัวละครลูกชายของ Inuyashiki เพิ่งมานึกได้ว่ามีตัวตน ปากบอกอยากเป็นหุ่นยนต์แบบพ่อบ้าง ช้าไปแล้วไอ้หนุ่มเอ้ย!
นี่เลยทำให้ผมค่อนข้างเชื่อว่า จากหลายๆคำวิจารณ์ดีๆที่ออกมากับฉบับภาพยนตร์คนแสดง Inuyashiki (2018) ของผู้กำกับ Shinsuke Sato [ขาประจำดัดแปลงอนิเมะ ผลงานเด่นๆ อาทิ Gantz (2011), Library Wars (2013), I Am a Hero (2016) ฯ] น่าจะสามารถตัดเล็มเอาไขมันส่วนเกินของมังงะ/อนิเมะ ให้เหลือแต่ส่วนดีๆ คลุกเคล้าอย่างมีความกลมกล่อมน่าสนใจอย่างยิ่งได้
แต่ใช่ว่าอนิเมะซีรีย์เรื่องนี้ไม่มีอะไรดีนะครับ เพลงประกอบโดย Yoshihiro Ike ขาประจำของผู้กำกับ Sato ใครเคยขนลุกขนพองกับโคตรออเครสต้าจาก Rage of Bahamut: Genesis (2014) นำ Main Theme มาให้รับฟัง อย่าน้ำตาไหลพรากๆละ
ความล้ำของบทเพลงเทียบชั้น Ghost in the Shell ได้อย่างสบายๆ สัมผัส Electronic ความอลังการของโลกอนาคต หุ่นยนต์ แต่คุณภาพของอนิเมะน่าส่ายหัวไปเสียหน่อย
แนะนำคออนิเมะที่ชื่นชอบความดิบเถื่อน รุนแรง ซาดิสต์, นักคิด นักปรัชญา ตั้งคำถามคุณค่าความเป็นมนุษย์, คนสูงวัยทั้งหลาย อาจได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตขึ้นกระมัง, หลงใหลในมังงะของ Hiroya Oku ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ ความรุนแรง เลือด และทัศนคติของตัวละคร
Leave a Reply