Irma Vep (1996) French : Olivier Assayas ♥♥♥♥

จางม่านอวี้เล่นเป็นจางม่านอวี้ เดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์สร้างใหม่ (Remake) จากเรื่อง Les Vampires (1915–1916) แต่ผลงานมาสเตอร์พีซอยู่แล้วจะรีเมคทำไม? แล้วไฉนต้องเป็นนักแสดงชาวจีน? พอผู้กำกับ (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) ตระหนักว่าเละแน่ๆ ก็เลยตัดต่อฟุตเทจให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde แม้งเสียเลย!

ผมลองค้นหา “Worst Remakes Of All Time” เรื่องที่ค้นพบก็มี Psycho, Ben-Hur, The Mummy, The Wicker Man ฯลฯ นี่ยังไม่รวมหนัง Superhero ที่นิยมชมชอบสร้างใหม่ (Remake) อย่างเช่น Batman, Superman, Spiderman ลุงเบนตายแล้วตายอีก, พ่อ-แม่ของบรูซ เวย์น ถูกยิงซ้ำแล้วซ้ำอีก ฯลฯ … ค่านิยมของวงการภาพยนตร์ยุคสมัยนี้ อะไรที่ทำเงินก็ต้องเข็นออกมาทุกๆ 2-3 ปี ปัดฝุ่นเปลี่ยนแปลงนิดๆหน่อยๆ ประเดี๋ยวมันก็กอบโกยทำกำไร

โดยเฉพาะชุดยาง Latex ได้แรงบันดาลใจจาก Catwoman (สวมใส่โดย Michelle Pfeiffer) ภาพยนตร์เรื่อง Batman Returns (1992) แต่ทีมงานดันไปหาซื้อยังร้าน Sex Shop มันคืออุปกรณ์รัดรูป ขับเน้นความเซ็กซี่(และอวัยวะเพศ) เห็นแล้วบังเกิดอารมณ์ … ปัจจุบันมันได้กลายเป็นเครื่องแบบ/สัญลักษณ์ของ Superhero เห็นแล้วตอบสนองตัณหาราคะของผู้ชม

ผมเลือกรับชม Irma Vep (1996) เพราะกระแสดีเหนือคาดของซีรีย์ Irma Vep (2022) นำแสดงโดย Alicia Vikander ควบคุมงานสร้างโดยผู้กำกับคนเดียวกัน Olivier Assayas นั่นแปลว่าต้นฉบับเรื่องนี้ต้องมีดีอะไรบางอย่าง เลยเสี่ยงค้นหามาดู ปรากฎว่าโคตรชอบเลยว่ะ! นี่เป็นหนังที่ชวนให้ขบครุ่นคิด ‘intelligent film’ ตั้งคำถามถึงทิศทางของวงการภาพยนตร์ ด้วยลักษณะเสียดสีล้อเลียน (Comedy Satire) ในกองถ่ายที่เต็มไปด้วยมลพิษ (Toxic) แต่จางม่านอวี้กลับเซ็กซี่ เจิดจรัสสุดๆ เมื่อต้องเข้าฉากกับ Jean-Pierre Léaud เหมือนการเผชิญหน้าระหว่างมหาตำนานจากสองฟากฝั่งโลก และตอนจบกลายเป็นหนัง Avant-Garde ทำเอาผมน้ำลายฟูมปาก แม้งคิดได้ไง!

ขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะวิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Assayas ต้องใช้การขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ‘intelligent film’ เว็บมะเขือเน่าให้ 93% แต่คะแนน IMDB ได้เพียง 7.0 (ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับหนัง 90% เรื่องอื่นๆ) กลุ่มคนที่ดูหนังเพียงความบันเทิงจะมีคำเรียก ‘elite film’ เหมาะสำหรับพวกปัญญาชน/ชั้นสูง ส่วนในมุมของผู้สร้างภาพยนตร์เรียกว่า Nombrilistic (หรือ Personal Film) สำหรับตอบสนองตัณหาความใคร่ส่วนบุคคล

เกร็ด: Nombrilistic แปลตรงตัวว่า Navel-gazing (จับจ้องสะดือ) แต่ผู้กำกับ Assayas ให้ความหมายว่า self-referential, self-engrossed, inward-looking, and bounded by its own past tradition.


Olivier Assayas (เกิดปี 1955) นักเขียน/นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของผู้กำกับ Jacques Rémy อพยพจากตุรกี เชื้อสาย Jewish, ตั้งแต่เด็กชอบช่วยเหลืองานบิดาในกองถ่ายภาพยนตร์ พบเห็นช่วงเวลา Mai ’68 ทำให้ได้รับอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากๆ, โตขึ้นเข้าศึกษายัง Beaux-Arts de Paris ตามด้วยสาขาวรรณกรรมสมัยใหม่ Université Sorbonne-Nouvelle จบมาทำงานออกแบบกราฟฟิก (Graphic Designer) ตามด้วยนักเขียน/นักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma ค้นพบความหลงใหลในวงการภาพยนตร์เอเชีย, กำกับหนังสั้น Paris Awakens (1991) คว้ารางวัล Prix Jean Vigo, สรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Cold Water (1994), Irma Vep (1996), Clean (2004), Summer Hours (2008), Personal Shopper (2016) ฯลฯ

ช่วงที่นำผลงาน Cold Water (1994) ฉายยังเทศกาลหนังเมือง Cannes (Un Certain Regard) ได้มีโอกาสพบเจอพูดคุยเพื่อนผู้กำกับ Claire Denis และ Atom Egoyan วางแผนร่วมกันจะสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวทดลอง เกี่ยวกับชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในกรุง Paris แต่โปรเจคดังกล่าวก็ไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ถึงอย่างนั้น Assayas ก็ครุ่นคิดต่อยอดจากโปรเจคดังกล่าว ทบทวนประสบการณ์ที่เคยออกเดินทางไปฮ่องกงและไต้หวัน (ช่วงที่เป็นนักวิจารณ์มีโอกาสเดินทางไปพบปะผู้กำกับ/นักแสดงชาวเอเชีย ตามเทศกาลหนังหลายครั้ง) ครุ่นคิดย้อนกลับตารปัตร ถ้าให้นักแสดงชาวจีนเดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ยังฝรั่งเศส

และความสนใจเพิ่มเติมคือมุมมองต่อวงการภาพยนตร์ยุคสมัยใหม่ เชื่อว่านักแสดงจากเอเชียจักสามารถมาเล่นหนังยุโรป/Hollywood … vice versa … แต่ทิศทางของสตูดิโอกลับจะคับแคบลง สนเพียงผลงานที่สามารถสร้างกำไร ภาคต่อ (Sequel) สร้างใหม่ (Remake) เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น

เกร็ด: มีสองแหล่งข่าวบอกว่า Olivier Assayas พัฒนาบทหนังเพียง 9 วัน อีกแห่งอ้างว่านานถึง 10 สัปดาห์! แต่ผมว่าตัวเลขหลังน่าจะเป็นโปรดักชั่นทั้งหมดเสียมากกว่า (รวมทั้ง pre-production-post) เพราะช่วงการถ่ายทำยังแค่เดือนเดียวเอง!


จริงๆผมเคยเขียนถึงหนังเงียบรายเดือน (Serial Film) เรื่อง Les vampires (1915-16) โคตรผลงาน ‘magnum opus’ ของผู้กำกับ Louis Feuillade แต่ไม่ได้วิเคราะห์ลงรายละเอียด เลยจะขออธิบายเพิ่มเติมสักหน่อยก่อนแล้วกัน

LINK: https://raremeat.blog/les-vampires-1915-16/

Les vampires ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผีดิบ/ค้างคาว/แวมไพร์ แต่คือชื่อองค์กรอาชญากรชั่วร้ายโดยมี Irma Vep (รับบทโดย Musidora) คนรักของผู้นำกลุ่ม First Grand Vampire ก่อกระทำการปล้น/ฆ่า กำลังถูกไล่ล่าติดตามโดยยอดนักข่าว Philippe Guérande (เป็นประชดประชันการทำงานของตำรวจยุคสมัยนั้น) ความตั้งใจจริงๆเพียงแค่ต้องการนำมาเขียนข่าว แต่หลายครั้งเกือบๆเอาชีวิตไม่รอด ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ก็มีเหตุให้สามารถดิ้นรนหลบหนีได้สำเร็จ

แม้โปรดักชั่นหรือวิธีการนำเสนอของหนังจะไม่ได้มีความน่าตื่นตาตื่นใจ (ตามยุคสมัย) ตอนผมรับชมก็สัปหงกอยู่หลายรอบ (ขนาดเร่งความเร็วยังรู้สึกว่าหนังยาวนานมากๆ) แต่เรื่องราวมีการหักมุมที่คาดไม่ถึงอยู่หลายครั้ง แถมค่อยๆทวีความสนุกสนาน ลุ้นระทึก สลับซับซ้อนขึ้นตามลำดับ และที่กลายเป็น ‘Iconic’ คือภาพลักษณ์การแสดงของ Musidora ในบทบาท Irma Vep (สามารถสลับตัวอักษร ‘anagram’ ให้กลายเป็นคำว่า Vampire)

Musidora ชื่อจริง Jeanne Roques (1889-1957) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เป็นบุตรของนักแต่งเพลง Jacques Roques กับจิตรกร Adèle Clémence Porchez ริบอิทธิพลจากครอบครัว ชื่นชอบงานศิลปะ เขียนนวนิยาย กลายเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 15 ปี กระทั่งการมาถึงของวงการภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก Les miseres de l’aiguille (1914) แล้วโด่งดังกลายเป็นตำนานจากการร่วมงานผู้กำกับ Louis Feuillade เรื่อง Les Vampires (1915-16) และ Judex (1916)

เกร็ด: Musidora มาจากภาษากรีก แปลว่า gift of the muses

ตัวละคร Irma Vep นอกจากรูปลักษณ์การแต่งกายที่กลายเป็น ‘Iconic’ ยังคือภาพจำของสาวสวยสังหาร ‘Femme Fatale’ หรือเรียกว่า Vamp ก็มาจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอาชญากร Les Vampires พร้อมก่ออาชญากร กระทำสิ่งชั่วร้าย คิดคดทรยศหักหลังผู้อื่น โดยไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี สนเพียงตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล … นั่นไม่ใช่วิถีปฏิบัติของหญิงสาวยุคสมัยนั้น แต่โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นอิทธิพลต่อแนวคิด ‘เสรีภาพ’ ซึ่งสอดคล้องคำขวัญประเทศฝรั่งเศส (Liberté, Égalité, Fraternité) แสดงพฤติกรรมแบบนี้มันผิดตรงไหน?

René Vidal (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) ได้รับมอบหมายจากสตูดิโอให้กำกับภาพยนตร์สร้างใหม่จากเรื่อง Les Vampires (1915-16) ถึงไม่อยากตอบตกลงเพราะรู้ว่าล้มเหลวแน่ๆ แต่ก็ตั้งข้อแม้นักแสดงรับบทนำ Irma Vep ต้องคือจางม่านอวี้ (รับบทโดย จางม่านอวี้) นักแสดงสาวชาวจีน แต่เพราะอะไรกัน??

จางม่านอวี้เดินทางมาถึงฝรั่งเศสล่าช้าไปหลายวัน เพราะติดคิวถ่ายหนังที่ฮ่องกง แต่ก็พบเห็นความวุ่นๆวายๆ เต็มไปด้วยมลพิษ (Toxic) อาทิ คนดูแลเครื่องแต่งกาย Zoé (รับบทโดย Nathalie Richard) มักมีเรื่องโต้เถียงผู้จัดการกองถ่ายเป็นประจำ, ผู้กำกับ Vidal ก็มีความเรื่องมากเอาแต่ใจ พอพบเห็นฟุตเทจที่น่าผิดหวังก็แสดงอาการเกรี้ยวกราด หนีหายตัวจากกองถ่าย ฯลฯ

เมื่อสตูดิโอมอบหมายโปรเจคนี้ให้ผู้กำกับคนใหม่ José Mirano (รับบทโดย Lou Castel) ตั้งใจจะเปลี่ยนนักแสดงนำมาเป็น Laure (รับบทโดย Nathalie Boutefeu) นั่นทำให้จางม่านอวี้เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา (ทอดทิ้งกองถ่ายไปเช่นกัน) และเมื่อกำลังจะรับชมฟุตเทจที่ถ่ายทำ กลับพบว่าผู้กำกับ Vidal แอบตัดต่อใหม่ให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde ไม่รู้อนาคตโปรดักชั่นเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปเช่นไร


จางม่านอวี้, 張曼玉 (เกิดปี 1964) นักแสดงหญิงชาวจีน เกิดที่ฮ่องกง บิดา-มารดาเป็นคนเซี่ยงไฮ้ (คงอพยพมาตอนสงครามกลางเมืองจีน) ตอนเธออายุ 8 ขวบ ติดตามครอบครัวย้ายไป Bromley, London ประเทศอังกฤษ ก่อนหวนกลับมาฮ่องกงตอนอายุ 18 ตั้งใจแค่มาท่องเที่ยววันหยุด กลับเข้าตาแมวมอง ได้ทำงานโมเดลลิ่ง ตัดสินใจเข้าประกวด Miss Hong Kong คว้ารางวัลที่สองและขวัญใจช่างภาพ ติดตามด้วย Miss World สามารถผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ, เซ็นสัญญาสถานี TVB เคยเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์, แจ้งเกิดภาพยนตร์ Police Story (1985), ร่วมงานขาประจำผู้กำกับหว่องกาไว As Tears Go By (1988), Days of Being Wild (1990), Ashes of Time (1994), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Full Moon in New York (1989), Center Stage (1991), New Dragon Gate Inn (1992), Irma Vep (1996), Comrades: Almost a Love Story (1996), Hero (2002), Clean (2004) ฯลฯ

แม้ผู้กำกับ Olivier Assayas จะครุ่นคิดพัฒนาบทโดยมีจางม่านอวี้มาเป็นนักแสดงนำ (จากความประทับใจ Ashes of Time (1994)) แต่ผมเจอบทสัมภาษณ์หนึ่งบอกว่าพวกเขาไม่เคยพบเจอพูดคุยกันมาก่อน เพิ่งรับรู้จักกันจริงๆก็ตอนเริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำ (อีกบทสัมภาษณ์บอกว่าเคยดินเนอร์ร่วมกันครั้งหนึ่งผ่านการติดต่อของ Christopher Doyle) โดยไม่รู้ตัวสานสัมพันธ์กลายเป็นความรัก แต่งงานครองคู่อยู่ร่วมกันสามปีแล้วหย่าร้าง

จางม่านอวี้รับบทเป็นจางม่านอวี้ นักแสดงชาวจีนเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อร่วมงานถ่ายทำภาพยนตร์สร้างใหม่ Les Vampires แต่ผมมองว่าบทบาทนี้คือจางม่านอวี้ในมุมผู้กำกับ Assayas ซึ่งอาจได้แรงบันดาลใจจาก Center Stage (1991) ที่พบเห็นเบื้องหลัง บทสัมภาษณ์ ตัวตนแท้จริงที่ไม่ได้ปรุงปั้นแต่งประการใด มีความบริสุทธิ์ จริงใจ ร่าเริงสดใส มองโลกในแง่ดี และโดยไม่รู้ตัวสามารถสวมบทบาททั้งขณะเล่นเป็นตัวละคร และตัวละครของตัวละคร

แซว: หลายคนอาจงงๆกับที่ผมพยายามอธิบายว่า จางม่านอวี้เล่นเป็นจางม่านอวี้ ไม่ใช่จางม่านอวี้เล่นเป็นตัวตนเอง ถ้าเปรียบเทียบใกล้เคียงที่สุดก็ Nicolas Cage ในภาพยนตร์ The Unbearable Weight of Massive Talent (2022) แม้เขาเล่นเป็นตัวเอง แต่คือบทบาท ‘ความเป็น Nic Cage’ หาใช่ตัวตนแท้จริงของเขา

สำหรับบทบาท Irma Vep จากคำกล่าวอ้างของผู้กำกับ René Vidal (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) เหตุผลที่เลือกจางม่านอวี้เพราะความประทับใจจากภาพยนตร์ The Heroic Trio (1993) โดยเฉพาะทักษะต่อสู้ ลีลากังฟู ที่ดูเหมือนการเต้นลีลาศ เต็มไปด้วยความยั่วเย้ายวนใจ … แต่เธอก็บอกว่านั่นคือการแสดงของสตั๊นแมน

แม้จางม่านอวี้จะถูกรายล้อมด้วยนักแสดงฝรั่งเศส พูดคุยสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง โดนจิกกัดด้วยโลกทัศน์ที่แตกต่าง แต่เธอยังคงมีความโดดเด่นเหมือนดั่งดอกฟ้าในมือมาร หรือเพชรที่อยู่ในโคลนตมก็ยังคงเปร่งประกายเจิดจรัส ไม่มีใครสามารถทำให้อับแสงลงได้

ส่วนไฮไลท์ต้องยกให้ขณะเธอสวมวิญญาณกลายเป็น Irma Vep ก็ไม่รู้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น จู่ๆก้าวออกมาจากห้อง ทำการย่องเบา แอบเข้าห้องใครก็ไม่รู้ ลักขโมยเครื่องประดับแล้วกลับออกมา ตากฝนหัวเราะร่าอย่างบ้าคลั่ง … ล้อกับฉากที่เพิ่งถ่ายทำภาพยนตร์ Les Vampires ได้ละม้ายคล้ายยังกะแกะ!


Jean-Pierre Léaud (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บุตรของนักแสดง Jacqueline Pierreux ที่ไม่มีเวลาให้ลูกเท่าไหร่ เลยส่งไปโรงเรียนประจำยัง Pontigny ขณะนั้นอายุ 14 ขวบ พอได้ยินข่าวมีการคัดเลือกนักแสดงเด็ก ขึ้นรถไฟหนีมาทดสอบหน้ากล้อง โดดเด่นเข้าตา François Truffaut จนได้รับเลือกให้แสดงนำ The 400 Blows (1959) แล้วตัดสินใจเอาดีด้านนี้ ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ Masculin, féminin (1966), Last Tango in Paris (1972), Day of Night (1973), The Mother and the Whore (1973) ฯ

รับบท René Vidal ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ในอดีตเคยได้รับยกย่องว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ (New Wave) แต่ปัจจุบันสนเพียงสร้างหนังที่ตอบสนองความใคร่ส่วนบุคคล (Personal Film หรือที่ผกก. Assayas เรียกว่า Nombrilistic) คงกำลังอยู่ในช่วงอับจน เพราะไม่มีสตูดิโอไหนอยากให้ทุนสร้างภาพยนตร์ เลยตอบตกลงโปรเจคสร้างใหม่ Les Vampires ทั้งรู้ว่าคงออกมาเละเทะแน่ แต่ก็ยังแอบเผื่อใจไว้ … ผลลัพท์ทำให้เขาคลุ้มคลั่ง แทบควบคุมตนเองไม่อยู่ หลบหนีหายตัวออกจากกองถ่าย แล้วโต้ตอบสตูดิโอด้วยการแอบตัดต่อฟีล์มให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde

เพราะว่า Léaud เคยแสดงภาพยนตร์ Day of Night (1973) ของผู้กำกับ François Truffaut ที่มีเรื่องราววุ่นๆวายๆในกองถ่ายหนัง ละม้ายคล้าย Irma Vep (1996) จึงได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Assayas และถือเป็นบุคคลเชื่อมโยงถึงยุคสมัย French New Wave ได้อีกต่างหาก

ผมแอบรู้สึกว่า Léaud นำเอาประสบการณ์จากเคยร่วมงานบรรดาผู้กำกับ ‘autuer’ แห่งยุคสมัย French New Wave ผสมผสานคลุกเคล้าได้อย่างกลมกล่อมมากๆ โดยเฉพาะ Truffaut, Godard ที่ร่วมงานนับครั้งไม่ถ้วน เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนง ทำตัวหัวสูงส่ง พูดพร่ำถึงวิสัยทัศน์ที่คนส่วนใหญ่อาจฟังไม่ค่อยเข้าใจ (แต่จางม่านอวี้กลับรับรู้เรื่อง!) พอไม่ได้ดั่งใจก็แสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่งออกมา


ถ่ายภาพโดย Éric Gautier (เกิดปี 1961) สัญชาติฝรั่งเศส วัยเด็กมีความสนใจด้านดนตรี เล่นเปียโนตั้งแต่อายุ 11 ปี ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นจึงเปลี่ยนมาเอาดีด้านภาพยนตร์ สำเร็จการศึกษาจาก École nationale supérieure Louis-Lumière (ENS Louis-Lumière) ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Alain Resnais เรื่อง Life Is a Bed of Roses (1982), ผลงานเด่นๆ อาทิ Irma Vep (1996), Those Who Love Me Can Take the Train (1998), Clean (2004), The Motorcycle Diaries (2004), Into the Wild (2007), Summer Hours (2008), Ash Is Purest White (2018), The Truth (2019), Stars at Noon (2022) ฯ

เพื่อนำเสนอความวุ่นๆวายๆในกองถ่ายภาพยนตร์ วิธีการก็คือใช้กล้อง Super 16 ที่มีขนาดเล็ก ราคา(ฟีล์ม)ถูกๆ สามารถเดินติดตามนักแสดงไปทุกหนแห่ง นั่นทำให้ได้ผลลัพท์คุณภาพต่ำ ภาพออกมาสั่นๆ บรรยากาศสมจริง แต่บางครั้งก็ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้า (เพราะกล้องมันสั่นเกิ้น), ยกเว้นเพียงฟุตเทจของหนังในหนัง ‘film within film’ ที่จะถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ 35mm เพื่อทำการเคารพคารวะต้นฉบับ Les Vampires (1915-16) … แนะนำให้หาฉบับบูรณะมารับชมนะครับ ได้รับการปรับปรุงคุณภาพจนเพียงพอรับได้

หลายครั้งมีลักษณะเป็น Long Take ทำเหมือนการบันทึกบทสัมภาษณ์/สารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่ในความจริงนั้นทีมนักแสดงต้องมีการซักซ้อม ตระเตรียมการ รวมถึงกำหนดทิศทางมุมกล้องที่เคลื่อนดำเนินไปอย่างแม่นเปะ! เพื่อให้สามารถถ่ายทำน้อยครั้งที่สุด … แต่ผมได้ยินว่าหนังไม่มีการถ่ายเทคสอง เป็นไปได้หรือนี่? คือถ้าเป็นจริงมันแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ‘professional’ ของกองถ่ายนี้มากๆ ตารปัตรตรงกันข้ามกับเรื่องราวในหนังโดยสิ้นเชิง!


ฉากแรกของหนังฟังจากคำสนทนาผ่านโทรศัพท์ ก็พอคาดเดาว่าโปรดิวเซอร์กำลังเรียกร้องส่วนแบ่ง เกี่ยวกับเงินๆทองๆ ต่อรองงบประมาณกับนายทุน แต่เห้ย! ต้องถือปืนข่มขู่กันเลยเหรอ แม้คาดเดาไม่ยากว่าต้องเป็นของปลอม อุปกรณ์ประกอบฉาก (prop) แต่การพูดว่า ‘no worry’ หรือ ‘no problem’ แล้วมือถือปืน มันสร้างความรู้สึกหายนะ หนังเรื่องนี้แม้งต้องชิบหายวายป่วนแน่ๆ

เสื้อผ้าถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนัง (ไม่ใช่แค่ชุดยางรัดรูป Latex เท่านั้น) ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตก็น่าจะพบเห็นรายละเอียด การอ้างอิง (ไข่อีสเตอร์) หรือแฝงนัยยะบางสิ่งอย่าง … แต่ผมจะไม่ลงรายละเอียดส่วนนี้มากนะครับ

เมื่อตอนจางม่านอวี้เดินทางมาถึงฝรั่งเศส เธอสวมชุดที่มีลวดลายธงชาติ นานาประเทศ เพื่อสื่อถึงความเป็นสากลของ Irma Vep ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าต้องคือชาวฝรั่งเศส เชื้อชาติพันธุ์ไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะตัวละครนี้แท้จริงคือสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’

เกร็ด: The Heroic Trio (1993) กำกับโดยตู้ฉีฟง เป็นการเผชิญหน้าระหว่างสามนักแสดงหญิงชื่อดัง(ที่จักกลายเป็นตำนาน)ของเอเชีย จางม่านอวี้, มิเชล โหยว และเหมยเยี่ยนฟาง

แค่ท่านั่งของ Jean-Pierre Léaud แม้งก็กินขาดแล้วนะ! ยกฝ่าเท้าขึ้นมาระดับเดียวกับใบหน้า สูงกว่าจางม่านอวี้ที่นั่งอยู่กับพื้นด้วยนะ แสดงถึงความไม่พึงพอใจต่อสิ่งที่ตนเองกระทำอยู่ตอนนั้น ทำไมสตูดิโอต้องให้เขาสร้างใหม่ (Remake) ภาพยนตร์ระดับมาสเตอร์พีซเรื่อง Les Vampires (1915-16) มันช่างไร้สาระ ไม่มีความจำเป็นเลยสักนิด!

แซว: ฉากนี้เหมือนจะล้อเหตุการณ์จริงที่ผู้กำกับ Assayas พบเจอจางม่านอวี้ครั้งแรกก็ในกองถ่ายเลยละ (แม้เขียนบทนี้โดยมีเธออยู่ในใจ แต่กลับไม่เคยพบเจอกันมาก่อน)

Les Vampires (1915-16) สามารถหารับชมได้ทาง Youtube คุณภาพ HD ได้รับการบูรณะแล้วด้วยนะ! ซึ่งตอนที่หนังนำบรรยายให้ผู้ชมขณะนี้คือ Episode 6: Hypnotic Eyes ระหว่างที่ Irma Vep ถูกลักพาตัวโดย Juan-José Moréno (อาชญากรคู่ปรับ Les Vampires) แล้วทำการสะกดจิต (ล้างสมอง) ให้เข่นฆาตกรรม First Grand Vampire ทรยศหักหลังชายคนรักของตนเอง

ชุดยาง Latex หาซื้อจากร้าน Sex Shop คือนัยยะที่หนังพยายามสื่อถึงจุดประสงค์แท้จริงของมัน! อุปกรณ์รัดชุด ขับเน้นเรือนร่าง ความเซ็กซี่(และอวัยวะเพศ) พบเห็นแล้วบังเกิดอารมณ์ ตอบสนองตัณหาราคะ ล้อเลียนบรรดาชุดของ Superhero ได้อย่างแสบกระสันต์

นักวิจารณ์สมัยนั้นมองชุดยาง Latex สื่อถึงความผิดแผกแตกต่าง ‘foreignness’ หรือคือจางม่านอวี้ที่เป็นชาวจีนรายล้อมรอบด้วยทีมงานฝรั่งเศส หลายครั้งได้รับการปฏิบัติราวกับไม่มีตัวตน สุญญากาศ มองด้วยสายตาอคติ ดูถูกเหยียดหยาม ยัยนี่เป็นใคร ทำไมถึงแสดงบทบาทที่ควรเป็นสัญลักษณ์ของชาวฝรั่งเศส

แซว: การที่ชุดยาง Latex มีร่องรอยฉีดขาดอยู่บ่อยครั้ง (ทำให้ Zoé มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งผู้จัดการกองถ่ายอยู่เป็นประจำ) ก็เพื่อสื่อถึงความรั่วๆในกองถ่าย เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านับครั้งไม่ถ้วน

ระหว่างกำลังถ่ายทำ ผู้กำกับ Vidal ยกขวดโค้กขึ้นดื่มด่ำ นี่เป็นการอ้างอิงถึงภาพยนตร์ Masculin Féminin (1966) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard นำแสดงโดย Jean-Pierre Léaud ซึ่งมีกล่าวถึงวัยรุ่นยุคสมัยนั้น (Baby Boomer) มีคำเรียกว่า Children of Marx and Coca-Cola ฟังดูเหมือนการประชดประชัน เพราะ Marx คือแนวคิดการปกครอง, Coca-Cola คือสัญลักษณ์ระบอบทุนนิยม

Classe de lutte (1969) หนังสั้น กำกับโดย Chris Marker นำเสนอเรื่องราวของ Suzanne คนงานโรงงานนาฬิกา Yema Watch Factory ย่าน Besançon (ที่เต็มไปด้วยปัญหา) และเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงาน (ที่ผู้นำขาดความกระตือรือล้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น) … จะว่าไปหนังสั้นเรื่องนี้ ล้อกับสภาพการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี!

หลังเหตุการณ์วุ่นๆในค่ำคืนนี้ จางม่านอวี้แทนที่จะออกทางประตู เธอกลับปีนป่ายออกตรงหน้าต่าง เห็นสวมกางเกงรัดรูป มันช่างละม้ายคล้ายชุดยาง Latex บอกใบ้ถึงความผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นฉากต่อไป

เมื่อกลับมาที่โรงแรมกล้องเคลื่อนเลื่อนอย่างฉวัดเฉวียนรอบห้องพัก แสดงถึงอารมณ์กวัดแกว่ง กระวนกระวายของจางม่านอวี้ ไม่รู้ว่าเธอนอนละเมอ เสพยา หรือถูกวิญญาณของ Irma Vep เข้าสิงร่าง สวมใส่ชุดยาง Latex และขณะหนึ่งถือโปสเตอร์ Sonic Youth วงดนตรีที่กำลังบรรเลงบทเพลง Tunic (Song for Karen) ดังกระหึ่มขึ้นมา

เกร็ด: Tunic (Song for Karen) เป็นบทเพลงอุทิศให้กับ Karen Carpenter (1950-83) หนึ่งในสุดยอดนักร้องหญิงแห่งยุค 70s แต่เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเนื่องมาจากโรคคลั่งผอม/เบื่ออาหาร (Anorexia Nervosa)

เธอคือใครก็ไม่รู้ในสภาพเปลือยกาย กำลังคุยโทรศัพท์กับชายชู้รัก เฝ้ารอคอยเมื่อไหร่เขาจักเดินทางมาหา แต่กลับเป็นว่าจางม่านอวี้ (อวตารของ Irma Vep) แอบย่องเบาเข้ามาในห้องพัก หลบซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความมืดมิด (โทนสีน้ำเงิน) เหลือบไปเห็นเครื่องประดับหรู มิอาจหักห้ามตนเอง ลักขโมยติดไม้ติดมือกลับไป

หญิงชาวอเมริกันผู้นี้ (รับบทโดย Arsinée Khanjian) ไม่เคยปรากฎตัวมาก่อนในหนัง และหลังจากนี้ก็สูญหายตัวไปไม่เคยพบเห็นอีกเลย (เรียกว่าเป็นคนนอก/แปลกหน้าอย่างแท้จริง!) แต่มีแนวโน้มว่าอาจขึ้นเครื่องบินกลับอเมริกาลำเดียวกับจางม่านอวี้ … ก็ไม่รู้เหมือนกันนะ

แล้วทำไมต้องร่างกายเปลือยเปล่า? ก็เพื่อเป็นภาพสะท้อนตัวละครจางม่านอวี้ ขณะนี้กำลังสวมจิตวิญญาณ Irma Vep หรือคือร่างกาย<>จิตใจ, แสงสว่าง<>มืดมิด, สูญเสียชายคนรัก<>เครื่องประดับล้ำค่า

ระหว่างกำลังหลบหนี จางม่านอวี้ในคราบ Irma Vep เดินขึ้นมาบนชั้นดาดฟ้า (ล้อกับฉากที่กำลังจะถ่ายทำวันถัดไป ให้สตั๊นแมนเดินวนรอบหลังคาตึก) นอกจากฝนตกหนัก ให้สังเกตใบหน้าที่เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง ราวกับบังเกิดความครุ่นคิดขึ้นแย้งขึ้นภายใน

จางม่านอวี้ทิ้งเครื่องประดับไปทำไม?? นั่นเพราะหลังจากนี้เธอจักสูญเสียจิตวิญญาณของ Irma Vep ไม่ได้แสดงเป็นตัวละครนี้อีกต่อไป! เพราะวันถัดมาผู้กำกับ Vidal หายตัวไปจากกอง ทำให้ต้องยกเลิกแผนถ่ายทำทั้งหมด แล้วอีกวันถัดมาก็มีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับ และเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวนักแสดงนำอีกเช่นกัน

ฉากการให้สัมภาษณ์บนดาดฟ้าตึกแห่งหนึ่ง ขณะที่จางม่านอวี้พยายามมองโลกในแง่ดี ปั้นแต่งสร้างภาพ พูดจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพื่อให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงาน (ส่วนใหญ่จะนำเสนอผ่านฟุตเทจที่ถ่ายทำ เพื่อสื่อถึงการเล่นละคอนตบตา) ตรงกันข้ามกับพวกนักข่าวที่ไม่ต่างจากอีแร้งกา พยายามยัดเยียด แสดงความคิดเห็นโน่นนี่นั่น (ใครสัมภาษณ์ใครกันเนี่ย?) นี่น่าจะเป็นการเสียดสีล้อเลียนวงการสื่อในฝรั่งเศส เลื่องลือชาในการจิกกัด ใช้คำพูดรุนแรง เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่สนหัวใครทั้งนั้น!

แม้ท่อนบนสวมชุดยาง Latex แต่ครึ่งล่างใส่กางเกงยีนส์ นั่นทำให้ขณะนี้จางม่านอวี้ยังคงเป็นจางม่านอวี้ แม้ซักซ้อมการแสดงเพื่อเตรียมตัวถ่ายทำ แต่เธอไม่ได้สวมวิญญาณเป็น Irma Vep อีกต่อไป … นี่คือครั้งสุดท้ายที่เห็นเธอสวมใส่ชุดยาง Latex ด้วยนะครับ

การแสดงที่จางม่านอวี้กำลังซักซ้อม คือแสดงสีหน้าหวาดหวั่นสั่นกลัวต่อ Moréno หลังจากถูกสะกดจิต … นี่สามารถสะท้อนความรู้สึกของตัวละครหลังจากการสัมภาษณ์ หรือจะมองว่าหลังเหตุการณ์เมื่อคืนที่ราวกับถูกสะกดจิตก็ได้เช่นกัน

สำหรับคนที่จะมาทำงานแทนที่ผู้กำกับ Vidal ก็คือ José Mirano รับบทโดย Lou Castel นักแสดงสัญชาติ Swedish ที่มาโด่งดังในอิตาลี ได้รับเชิญจากผู้กำกับ Assayas เพราะเคยเล่นบทบาทคล้ายๆกันนี้จาก Beware of a Holy Whore (1971) กำกับโดย Rainer Werner Fassbinder (ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความป่วนๆในกองถ่ายภาพยนตร์)

หลังจากผู้กำกับ Mirano เกลี้ยกล่อม Laure ให้รับบทนำ Irma Vep แทนจางม่านอวี้ เขาก็กลับห้องไปรับชม Les Vampires (1915-16) ถ้าผมจะไม่ผิดน่าจะอยู่ใน Episode 3: The Red Codebook มีฉากที่เห็นตัวอักษร Irma Vep ขยับเคลื่อนไหวกลายเป็น Vampire

Zoé ผู้ดูแลเสื้อผ้าให้นักแสดง มีรสนิยมรักร่วมเพศ แอบชื่นชอบจางม่านอวี้ตั้งแต่แรกพบเจอ เพื่อแสดงถึงความเป็น Queer ของตัวละคร Irma Vep (จะว่าไปจางม่านอวี้ ก็เป็นที่ชื่นชอบของทั้งบุรุษและสตรี) พยายามชักชวนเธอให้มาร่วมเล่นยา พามางานเลี้ยงปาร์ตี้ แม้ได้รับการตอบปัดปฏิเสธ แต่เธอก็ปลดปล่อยตัวกายใจ ให้ล่องลอยไปกับแสงสี ความคลุ้มบ้าคลั่งของโลกใบนี้ … จะมองว่าเป็นการนำเข้าสู่วิถี Avant-Garde ในชีวิตจริง (ล้อกับหนัง Avant-Garde ที่กำลังจะขึ้นฉากถัดไป)

เมื่อปี 1951, ผู้กำกับชาวโรมาเนีย Isidore Isou ได้นำโคตรผลงาน Traité de Bave et d’Éternité ชื่อภาษาอังกฤษ Venom and Eternity (1951) แนว Avant-Garde เดินทางสู่เทศกาลหนังเมือง Cannes โดยไม่ได้รับเชิญ พยายามล็อบบี้ผู้จัดงานจนสามารถเข้าฉาย Vox Theater แม้ได้รับเสียงโห่โล่ ดูไม่เข้าใจ ฟีล์มหนังเต็มไปด้วยเส้นสาย รอยขีดข่วน เหลี่ยมๆกลมๆ ภาพนามธรรม (Abstract) และเสียงอะไรก็ไม่รู้บาดแก้วหู แต่ผู้กำกับ Jean Cocteau กลับมอบรางวัล Prix de spectateurs d’avant-garde

LINK: https://www.youtube.com/watch?v=Vq1xjYASQBQ

ลิงค์ที่ผมนำมาแม้เพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ Venom and Eternity (1951) ก็พอให้ดูออกว่าคือแรงดาลใจผู้กำกับ Assayas สรรค์สร้างหนัง Avant-Garde ช่วงท้ายของ Irma Vep (1996) ด้วยการใส่เส้นๆสายๆ ลวดลายนามธรรม พร้อมผสมเสียง Sound Effect ซึ่งถ้าใครช่างสังเกตจะพบว่ามักทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับดวงตาและปาก แลดูเหมือนการเซนเซอร์ พยายามปกปิดกั้น ไม่ยินยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้น

แง่มุมหนึ่งเราอาจมองว่านี่คือความเห็นแก่ตัว/การโต้ตอบของผู้กำกับ Vidal ไม่ยินยอมรับใบสั่งของสตูดิโอ เลยทำลายฟีล์มต้นฉบับให้เสียหายย่อยยับเยิน, ขณะเดียวกันเราสามารถมองถึงการพยายามใส่จิตวิญญาณให้ภาพยนตร์ หรือคือการสร้างนัยยะความหมาย(เชิงนามธรรม)ให้ฟุตเทจเหล่านี้ ราวกับทำให้พวกมันมีชีวิตชีวาขึ้นมา

ตัดต่อโดย Luc Barnier (1954-2012) ขาประจำผู้กำกับ Olivier Assayas ตั้งแต่หนังสั้น Laissé inachevé à Tokyo (1982) จนกระทั่งผลงานสุดท้าย Something in the Air (2012)

การดำเนินเรื่องของหนังถือว่ามีจางม่านอวี้คือจุดศูนย์กลาง เริ่มตั้งเดินทางมาถึงสตูดิโอ (ล่าช้ากว่ากำหนดประมาณสัปดาห์) จากนั้นตรงไปลองชุด (ที่ Sex Shop) พบเจอผู้กำกับ René Vidal วันถัดมาก็เริ่มเข้าฉากถ่ายทำ ค่ำคืนนั้นเลี้ยงฉลอง(ความล้มเหลว) นำสู่ช่วงเวลาแห่งความบ้าคลั่ง อีกวันถัดมากองล่ม สตูดิโอสั่งเปลี่ยนผู้กำกับ ผู้กำกับสั่งเปลี่ยนนักแสดง แล้วจางม่านอวี้ก็เดินทางจากไป … เรื่องราวดำเนินผ่านไปประมาณ 3-4 วันเองกระมัง!

ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอแบ่งเรื่องราวออกเป็นวันๆ ตามระยะเวลาที่จางม่านอวี้อาศัย/ถ่ายทำภาพยนตร์ยังฝรั่งเศส

  • วันแรก, เดินทางมาถึง
    • จางม่านอวี้เดินทางมาถึงสตูดิโอภาพยนตร์
    • พบเจอผู้กำกับ René Vidal ให้คำอธิบายเหตุผลที่เลือกเธอมารับบท Irma Vep
    • จากนั้นเดินทางไปลองชุดยาง Latex ยัง Sex Shop แห่งหนึ่ง
  • วันที่สอง, เริ่มต้นถ่ายทำภาพยนตร์
    • ถ่ายทำซีนเดินซ้ำๆหลายสิบเทค จนทำให้แผนการงานล่าช้า
    • ยามค่ำรับชมฟุตเทจที่ถ่ายทำ ผู้กำกับ Vidal เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง
    • จางม่านอวี้ไม่มีใครพาไปส่งโรงแรม เลยไปร่วมงานเลี้ยงปาร์ตี้ของ Zoé
    • ยังไม่ทันเข้านอน จางม่านอวี้ถูกเรียกตัวไปพบผู้กำกับ Vidal ที่เพิ่งจะสงบสติอารมณ์จากความเกรี้ยวกราด
    • และเมื่อกลับมายังโรงแรม สวมวิญญาณกลายเป็น Irma Vep ย่องเบาเข้าไปลักขโมยเครื่องประดับ
  • วันที่สาม, จุดจบของกองถ่าย
    • จางม่านอวี้ตื่นสายเพราะหลับลึก (อ้างว่าทานยานอนหลับ แต่อาจจะเหน็ดเหนื่อยกับเรื่องเมื่อคืน)
    • กองสองกำลังถ่ายทำสตั๊นแมนปีนป่ายหลังคา แต่ผู้กำกับ Vidal สูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
    • จางม่านอวี้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวชาวฝรั่งเศส
    • ระหว่างกำลังซักซ้อมเข้าฉากกับเพื่อนนักแสดง ผู้จัดการกองสั่งล้มเลิกแผนงาน (เพราะไม่สามารถติดตามหาตัวผู้กำกับ Vidal)
    • José Mirano ได้รับมอบหมายให้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้แทน และพยายามล็อบบี้เปลี่ยนตัวนักแสดง
    • ค่ำคืนนั้น Zoé ชักชวนจางม่านอวี้ไปเที่ยวผับแห่งหนึ่ง แต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ
  • วันที่สี่, เดินทางจากไป
    • วันถัดมาจางม่านอวี้ได้เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา ทิ้งกองถ่ายไปเรียบร้อยแล้ว
    • ผู้กำกับคนใหม่เดินทางมายังสตูดิโอ รับชมฟุตเทจที่ถ่ายทำ กลับพบเห็นว่าผู้กำกับ Vidal แอบมาตัดต่อให้กลายเป็นหนัง Avant-Garde ไปเรียบร้อยแล้ว

หนังถือว่าไม่มีเพลงประกอบ (Soundtrack) แต่จะได้ยินในลักษณะ ‘diegetic music’ ผ่านแหล่งกำเนิดเสียง โทรทัศน์ เครื่องเล่นสเตอริโอ ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ และผับบาร์ตอนท้ายเรื่อง

Tunic (Song for Karen) บทเพลงสไตล์ post-punk ของวงดนตรี Sonic Youth ประกอบอัลบัม Goo (1990), ดังขึ้นหลังจากจางม่านอวี้กลับถึงโรงแรม แล้วเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ จู่ๆใส่ชุดยาง Latex สวมจิตวิญญาณกลายเป็น Irma Vep จากนั้นก้าวออกจากห้อง ย่องเบาเข้าไปโจรกรรมเครื่องประดับ

บางคนมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวคือ ‘on the whim’, ถูกวิญญาณ Irma Vep เข้าสิง, บ้างว่างนอนละเมอ, บ้างว่าพลั้งเผลอเสพยา ฯลฯ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมจะขบครุ่นคิดจินตนาการ แต่ท่วงทำนองบทเพลงนี้มีหน้าที่เสริมสร้างความคลุ้มบ้าคลั่ง การแสดง-ความเพ้อฝัน-ซ้อนทับชีวิตจริง (ในภาพยนตร์)

Dreaming, dreaming of a girl like me
Hey what are you waiting for, feeding, feeding me
I feel like I’m disappearing, getting smaller every day
But I look in the mirror, I’m bigger in every way

She said,
You aren’t never going anywhere
You aren’t never going anywhere
I ain’t never going anywhere
I ain’t never going anywhere

ผมพยายามค้นหาบทเพลงหลังจากจางม่านอวี้บอกร่ำลา Zoé เมื่อมาถึงผับแห่งหนึ่ง น่าเสียดายไม่พบเจอ แต่เหมือนว่าจะเป็นการมิกซ์เสียง (Sound Mixed) ด้วยการผสมอะไรๆหลายๆอย่าง คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เพื่อมอบสัมผัสแห่งความคลุ้มบ้าคลั่ง แบบเดียวกับหนัง Avant-Garde (ที่ก็มีเสียง Sound Effect ทำให้เข้ากับ Special Effect บนแผ่นฟีล์ม) ซึ่งในเครดิตขึ้นว่าเป็นผลงานของ Philippe Richard ปกติจะดูแลงานฝ่าย Sound Engineer

สำหรับบทเพลงตอนจบชื่อว่า Bonnie and Clyde แต่งโดย Serge Gainsbourg ตั้งแต่ปี 1968 เหมือนเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967) ฉบับที่นำเข้าฉายในฝรั่งเศส ขับร้องโดย Gainsbourg คู่กับ Brigitte Bardot

ส่วนฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย Luna ร่วมกับ Lætitia Sadier of Stereolab ประกอบอัลบัม Penthouse (1995) ซึ่งจะมีสองเวอร์ชั่นช้า-เร็ว Bonnie Parker version (ช้า) และ Clyde Barrow version (เร็ว)

ผมขี้เกียจหาคำร้อง/คำแปล แต่สำหรับคนเคยรับชมภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967) ก็น่าจะคาดเดาไม่ยากหรอกว่าเนื้อหาจะเกี่ยวกับอะไร ซึ่งเรื่องราวการผจญภัยของ Bonnie and Clyde ก็สอดคล้องกับ 3-4 วันอันบ้าคลั่ง ที่จางม่านอวี้ได้เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ยังฝรั่งเศส

เมื่อครั้งผู้กำกับ Assayas ยังทำงานอยู่ Cahiers du cinéma ช่วงทศวรรษ 80s เห็นว่าเป็นบุคคลแรกๆที่ทำการบุกเบิก เขียนบทความเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์จีน ค้นพบผู้กำกับดังๆอย่างหว่องกาไว, ฉีเคอะ, ตู้ฉีฟง และกวนจินผิง จนได้รับโอกาสออกเดินทางไปร่วมเทศกาลหนังฮ่องกง, ไต้หวัน จุดกระแสชาวตะวันตกให้เริ่มสนใจผลงานฟากฝั่งเอเชียตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามองว่าในอีกอนาคตอันใกล้ (นับจากช่วงทศวรรษ 90s) โลกใบนี้จะคับแคบลง มีการผสมผสานแลกเปลี่ยนผู้กำกับ นักแสดง ทีมงานภาพยนตร์ ก่อเกิดโปรดักชั่นร่วมทุนระดับทวีป หรือชาวเอเชียได้รับโอกาสเล่นหนังยุโรป/Hollywood … vice versa …

จางม่านอวี้ เป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่(เป็นชาวจีนคนแรก)คว้ารางวัล Silver Berlin Bear: Best Actress ภาพยนตร์เรื่อง Center Stage (1991) นั่นทำให้ผู้ชมชาวตะวันตกเริ่มขวนขวายหาผลงานอื่นๆของเธอมารับชม แต่ยุคสมัยนั้นยังมีแค่ VHS, LaserDisc ถือเป็นของหายากมากๆ เลยไม่น่าแปลกใจที่โลกทัศน์คนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ทีมงานในกองถ่ายภาพยนตร์ ล้วนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการรับบทบาท Irma Vep

Irma Vep ในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ René Vidal (และผกก. Assayas) ไม่ได้จำกัดแค่เพียงสัญลักษณ์ประเทศฝรั่งเศส แต่คือแนวคิด ‘เสรีภาพ’ ใครไหนก็สามารถรับบทบาท Musidora, จางม่านอวี้, Alicia Vikander ฯลฯ จะชาวยุโรป เอเชีย อเมริกัน, คนขาว-คนดำ, อนาคตอาจจะไม่มีแบ่งแยกชาย-หญิง ไร้พรมแดนใดๆกีดขวางกั้น

แต่สิ่งที่จะแลกมากซึ่ง ‘เสรีภาพ’ ดังกล่าวนั้น คือโลกทัศน์ที่คับแคบลงของบรรดาสตูดิโอผู้สร้าง คำพยากรณ์ที่ตรงเผงของผู้กำกับ Assayas คือโลกอนาคตภาพยนตร์จะเต็มไปด้วยภาคต่อ (Sequel) สร้างใหม่ (Remake) อะไรที่มันซ้ำๆซากๆ เวียนวนสูตรสำเร็จเดิมๆ แต่สามารถทำกำไรกลับคืนมามหาศาล

โดยเฉพาะชุดยาง Latex ทั้งๆเคยเป็นเพียงของเล่นในร้าน Sex Shop เพื่อสร้างความยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ ขายเรือนร่างอันเซ็กซี่ของผู้สวมใส่ แต่ยุคสมัยนี้มันกลายเป็นเครื่องแบบสากล สัญลักษณ์ภาพยนตร์แนวเหนือมนุษย์ (Superhero) เติมเต็มตัณหาราคะฝูงชนที่ได้รับชมจักรวาลสวนสนุกเหล่านั้น

ส่วนบรรดาผู้กำกับที่ยังมองว่าภาพยนตร์คืองานศิลปะ มีความเป็นส่วนตัว คงก้าวเข้าสู่ยุคสมัย Avant-Garde ทำสิ่งที่มันสุดโต่ง บ้าบอคอแตก ผิดแผกแปลกประหลาด นามธรรมจับต้องไม่ได้ เรียกว่าต้องปฏิวัติวงการไปเลย! … หลายคนอาจครุ่นคิดว่าโลกปัจจุบันไม่ได้ก้าวไปทิศทางนั้น แต่ในฝรั่งเศสมีกลุ่มการเคลื่อนไหวชื่อว่า New French Extremity สรรค์สร้างภาพยนตร์ที่มันสุดโต่งจริงๆ ผู้กำกับ Assayas ก็เคยทำเรื่อง Demonlover (2002)

แซว: เผื่อใครจินตนาการไม่ออกว่า New French Extremity สุดโต่งขนาดไหน! ลองไปหาหนัง Palme d’Or เรื่อง Titane (2021) ก็น่าจะจัดเข้าพวกนี้ได้เหมือนกัน

สรุปแล้ว Irma Vep (1996) คือภาพยนตร์ที่ทำการล้อเลียนเสียดสีอนาคตวงการภาพยนตร์ พยากรณ์หลายๆสิ่งอย่าง แต่คาดไม่ถึงว่าแทบทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจริง เป็นความตลกร้ายที่ขำไม่ออกสักเท่าไหร่ … แสดงถึงอัจฉริยภาพของผู้กำกับ Assayas หลายคนอาจไม่ชอบ เข้าไม่ถึง แต่ต้องบอกเลยว่ามีความลุ่มลึกซึ้ง ทำเอาผมอยากหาซีรีย์ Irma Vep (2022) มารับชมจริงๆนะ


หนังเข้าฉายสายการประกวดรอง Un Certain Regard เทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่าดีเยี่ยม แม้ไม่ได้รับรางวัลอะไร แต่ก็กลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้ผู้กำกับ Olivier Assayas รู้จักในระดับนานาชาติ

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ 2K ระบบเสียง 5.1ch DTS-HD ตรวจสอบอนุมัติโดยผู้กำกับ Assayas ปัจจุบันสามารถหารับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel พร้อมบทสัมภาษณ์ เบื้องหลังถ่ายทำ (รวมถึงต้นฉบับซีรีย์หนังเงียบ Les Vampires ด้วยนะครับ)

Irma Vep (1996) คือตัวอย่างของนักวิจารณ์ที่ถ้าได้รับโอกาสสรรค์สร้างภาพยนตร์ ก็มักนำสิ่งค้างๆคาๆใจ(ระหว่างเขียนบทความวิจารณ์) ชักชวนให้ขบครุ่นคิด พยากรณ์ทิศทางอนาคต(ของวงการภาพยนตร์) แน่นอนว่าผู้ชมสมัยนั้นย่อมมองไม่เห็นภาพสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันนี้แม้งโคตรชัดเจนโดยเฉพาะ Superhero สวมชุดยาง Latex เกลื่อนเมือง! เรียกว่าหนังเรื่องนี้เหนือกาลเวลาไปเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดๆสำหรับ Irma Vep (1996) ก็คือความเจิดจรัสของจางม่านอวี้ แม้ในกองถ่ายเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มลพิษร้ายสักเพียงไหน ยังสามารถมองโลกในแง่ดี ไม่ปิดกั้นตนเอง ให้โอกาสกับทุกสิ่งอย่างในชีวิต และเมื่อสวมชุดยางก็กลายร่างเป็น Irma Vep ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ฉกชิงหัวใจผู้ชมไปครอบครองโดยทันที

แนะนำคอหนังตลกเสียดสี (Comedy Satire) แนว Avant-Garde ในลักษณะหนังซ้อนหนัง (film within film), เด็กถาปัตย์ ทำงานเบื้องหลัง/กองถ่ายภาพยนตร์, ชื่นชอบการขบครุ่นคิดวิเคราะห์ (intelligent film), แฟนคลับจางม่านอวี้ และ Jean-Pierre Léaud ไม่ควรพลาดเลยนะ!

ใครชื่นชอบหนังแนว ‘film within film’ ในกองถ่ายป่วนๆ แนะนำเพิ่มเติมกับ Beware of a Holy Whore (1971), Day for Night (1973), Noises Off… (1992), Living in Oblivion (1995), Boogie Nights (1997), One Cut of the Dead (2017) ฯ

จัดเรต 13+ กับความวุ่นวายในกองถ่ายภาพยนตร์ เต็มไปด้วยมลพิษ (Toxic) ไม่ใช่ทุกคนจะอดรนทนไหว

คำโปรย | Irma Vep ฉบับของ Olivier Assayas ตั้งคำถามถึงอนาคตวงการภาพยนตร์(ฝรั่งเศส)ยุคสมัยนิยมสร้างใหม่ได้อย่างถึงพริกถึงขิง
คุณภาพ | ถึริถึขิ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: