Is Paris Burning? (1966)
: René Clément ♥♥♥♡
ภาพยนตร์รวมดาราเรื่องนี้ นำเสนอประวัติศาสตร์ช่วง Nazi ยึดครองกรุง Paris ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่ง Germany นำโดย General Dietrich von Choltitz ได้รับคำสั่งตรงจาก Adolf Hitler ถ้าควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่ จงเผาเมืองให้วอดวาย แต่เขาจะสามารถทำสำเร็จหรือไม่
Is Paris Burning? ไม่ใช่ภาพยนตร์สารคดีนะครับ ดัดแปลงสร้างจากนิยายชื่อเดียวกัน เขียนโดย Larry Collins (สัญชาติอเมริกัน) กับ Dominique Lapierre (สัญชาติฝรั่งเศส) ตีพิมพ์ปี 1965 เป็นที่ถูกใจ Paramount Pictures ซื้อลิขสิทธิ์มามอบหมายให้ Gore Vidal กับ Francis Ford Coppola ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ติดต่อปรมาจารย์ผู้กำกับ René Clément (สัญชาติฝรั่งเศส) ให้มาคุมงานสร้าง แถมสมทบด้วยเหล่านักแสดงชื่อดัง (Ensemble Cast) อาทิ Kirk Douglas (รับบทนายพล George Patton), Orson Welles (รับบท Consul Raoul Nordling), Alain Delon (รับบท Jacques Chaban-Delmas), Gert Fröbe (รับบท Dietrich von Choltitz), Jean-Paul Belmondo, Yves Montand, Charles Boyer ฯ ใครเป็นคอหนังฝรั่งเศสยุคนั้นน่าจะคุ้นชื่อนักแสดงเหล่านี้เป็นอย่างดี
กระนั้นการดำเนินเรื่องของหนัง มีลักษณะคล้ายสารคดีชวนเชื่ออยู่มากทีเดียว ไม่ได้ใช้มุมมองเล่าเรื่องของตัวละครกลุ่มใดเป็นพิเศษ นำเสนอทั้งฝั่ง Nazi, French Resistance และทหารอเมริกันที่เข้ามาช่วยปลดแอกกรุง Paris ราวกับการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นี้ เห็นว่ามีความตรงต่อต้นฉบับนิยายของสองผู้เขียนเป็นอย่างมาก
เรื่องราวเริ่มต้นจากหลังความล้มเหลวของ Operation Valkyrie ปฏิบัติการลอบสังหาร Adolf Hitler เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1944 [ใครสนใจเรื่องราวของปฏิบัติการนี้ หาชมหนังเรื่อง Valkyrie (2008) นำแสดงโดย Tom Cruise] เหมือนว่าจะทำให้ท่านผู้นำเกิดความหวาดระแวง (Paranoid) ต่อทุกสิ่งอย่างและผู้คนรอบข้าง จึงได้ออกคำสั่งตรงกับ General Dietrich von Choltitz ไปเป็นผู้ปกครองกรุง Paris และอนุญาตเผาเมืองให้วอดวายในกรณีไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
ทางฝรั่งเศสขณะนั้นแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ Gaullism [นำโดย General Charles de Gaulle ว่าที่ปธน. ฝรั่งเศส คนที่ 18] และ Communists [นำโดย Colonel Henri Rol-Tanguy] แม้โดยปกติจะไม่ถูกขี้หน้ากัน แต่เพื่ออิสรภาพของชาติบ้านเกิดจับมือร่วมกันเป็น French Resistance กระนั้นทั้งสองฝ่ายก็มีทัศนคติความเห็นต่างกันสุดขั้ว Gaullism ต้องการรอคอยกำลังหนุนจากฝ่ายพันธมิตร ส่วน Communists บอกรอไม่ได้แล้ว วันที่ 19 สิงหาคม 1944 จึงรวมพลให้เกิดการจราจล ใช้กำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญๆของรัฐบาล พาลให้ Gaullism ต้องคอยตามน้ำร่วมปฏิบัติไปด้วย
เนื่องจากแผนเผาเมืองของ General Dietrich von Choltitz ยังเตรียมการไม่เสร็จสิ้น จึงต้องต่อรองขอหยุดยิงกับฝ่าย French Resistance โดยพึ่งที่ท่านทูตสวีเดน (Swedish Consul) Raoul Nordling สามารถถ่วงเวลาไปได้อีก 1 วันเต็มๆ ใช้เวลานี้เตรียมการจนเสร็จสิ้น
การหยุดยิง 1 วัน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อฝั่ง French Resistance อย่างยิ่งด้วย เพราะอาวุธปืน กระสุน ยุทโธปกรณ์ต่างๆในการสู้รบจราจลมีจำนวนจำกัด ใช้เวลานี้ส่งตัวแทนไปต่อรองกับกองทัพอเมริกา [นำโดย General Dwight D. Eisenhower (ว่าที่ ปธน. สหรัฐ คนที่ 34)] แต่ดันไปพบเจอ General George Patton เสียก่อน [อยากรู้จักนายพลกระดูกเหล็กคนนี้ หาชมหนังเรื่อง Patton (1970) นำแสดงโดย George C. Scott], ในตอนแรกกองทัพอเมริกันตั้งใจข้ามผ่าน Paris ไปโจมตีกรุง Berlin จุดยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อปิดฉากสงครามเลย แต่พอได้ยินคำร้องขอจากตัวแทนดังกล่าวจึงส่ง General Omar Bradley ให้มาร่วมรบกับ General Jacques Leclerc ยึดคืนกรุง Paris ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 1944
ทางฝั่ง Germany เมื่อรู้ตัวว่าควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ Dietrich von Choltitz ในตอนแรกยังมีความต้องการเผากรุง Paris ตามคำสั่งอยู่ แต่หลังจากกองทัพไม่สามารถเข้ายึดสำนักงานตำรวจ (Prefecture of Police) ตั้งใจส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรม แต่ถูกโน้มน้าวจากท่านทูตสวีเดน ว่าลูกหลงอาจตกลงยังสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่าง Eiffel Tower, Notre Dame Cathedral ฯ รวมทั้งไม่มีกองกำลังเสริมส่งมาหนุนสู้รบกับกองทัพอเมริกัน จึงตัดสินใจยกธงขาวยอมแพ้สู้ไม่ได้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1944
ชื่อหนัง Is Paris Burning? เป็นคำแปล/เสียจากสายโทรศัพท์ ไม่รู้ Adolf Hitler เลยหรือเปล่า ที่ตะโกนถาม Dietrich von Choltitz แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ
ถ่ายภาพโดย Marcel Grignon มีผลงานอาทิ Fantomas (1964), The Troops & Aliens (1979), Fantomas vs. Scotland Yard (1967) ฯ เหตุผลหนึ่งที่หนังต้องถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ เพราะทางการฝรั่งเศสไม่อนุญาติให้ใช้ธงสีแดงของ Nazi โบกสะบัดในกรุง Paris ทีมงานเลยต้องใช้ธงสีเทาแทน และถ่ายภาพขาว-ดำ ไม่สังเกตคงดูไม่ออกแน่
อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อให้เข้ากับ Stock/Archive Footage ที่มักเป็นฟีล์ม 16mm ภาพขาว-ดำ ด้วยนะครับ ถ้าไม่สังเกตดีๆก็อาจถึงขั้นแยกไม่ออกเลยละ
หนังทั้งเรื่องถ่ายทำใน Paris ประมาณ 180 สถานที่ ไม่เชิงเป็นลักษณะกองโจร แต่มีการเตรียมการ ปิดถนน ซักซ้อมมาเป็นอย่างดี เพราะหลายฉากต้องใช้รถถัง ระเบิด หรือนักแสดงประกอบเป็นร้อยเป็นพัน นี่ทำให้ผลลัพท์งานภาพที่ออกมามีความสมจริง น่าทึ่งอยู่ไม่น้อย
ผมค่อนข้างชอบการใช้มุมกล้องที่มีทั้ง ก้ม-เงย มองจากด้านบน (ในมุมซุ่มยิงด้านล่าง) เงยขึ้นจากด้านล่าง (พื้นถนนมองขึ้นไป) เรียกว่ารับรู้เห็นทุกมุมมอง ทุกฝั่งฝ่ายของกลุ่มต่างๆที่อยู่ในหนัง, และการเคลื่อน/แพนกล้อง ที่ทำให้หนังมีความต่อเนื่อง ลื่นไหล ดำเนินไปตลอดเวลาไม่มีหยุดนิ่ง ราวกับทุกวินาทีดำเนินไปแข่งกับเวลา
ตัดต่อโดย Robert Lawrence สัญชาติ Canadian มีผลงานอาทิ Spartacus (1960), El Cid (1961), Fiddler on the Roof (1971) ฯ
การตัดต่อมีความบ้าคลั่งอย่างมาก เพราะหนังไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมองตัวละครใดหนึ่ง แต่มีเพียบเลยละ รายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากมายเต็มไปหมด จนจดจำใบหน้าตัวละครแทบไม่ได้ กระนั้นหลายเรื่องราวที่พอเกิดขึ้น-จบลง แล้วตัวละครหายหน้าหาตาไปเลย อาทิ
– Leslie Caron รับบท Françoise Labe หญิงสาวที่ออกตามหาแฟนหนุ่ม ที่กำลังเดินจะขึ้นรถไฟเดินทางไปค่ายกักกันที่เยอรมัน ซึ่งพอจบฉากนั้นเธอก็หมดบทหายไปเลย
– Jean-Paul Belmondo รับบท Morandat/Pierrelot เมื่อเดินทางไปถึง Hotel de Matignon (จะเรียกว่าทำเนียบขาวของฝรั่งเศสก็ได้) ราวกลับได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วยังไงต่อก็ไม่รู้สิ
ฯลฯ
เกร็ด: เนื่องจากนักแสดงมาจากหลายประเทศ ในการถ่ายทำพวกเขาจะพูดภาษาถนัดของตัวเอง แล้วไปทำการพากย์เสียงทับเอาตอนหลัง เห็นว่ามีทั้งหมด 3 ฉบับคือ ฝรั่งเศส, เยอรมัน และภาษาอังกฤษ
ผมชื่นชอบช่วงท้ายของหนังมาก ตัดสลับระหว่างการเคาะระฆัง (น่าจะบน Notre Dame) กับภาพ Archive Footage ผู้คนตามท้องถนนออกมาเดินขบวน โบกธงสะบัด ส่งเสียงโห่ร้อง แสดงความยินดีปรีดาที่ฝรั่งเศสได้รับอิสรภาพแล้ว, นี่เป็นฉากที่พอผมได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น ถึงขั้นขนหัวลุกซู่เลยละ มีความทรงพลังอย่างที่สุด นี่ถ้าเป็นชาวฝรั่งเศสแท้ๆมีชีวิตผ่านช่วงเวลานั้นมานะ คงได้น้ำตาคลอเบ้า ร้องไห้ยินดีที่สงครามใน Paris จบสิ้นลงสักที (แต่สงครามโลกยังไม่จบนะครับ ยังอีกเป็นปีๆถัดมาโน่นเลย แต่สำหรับ Nazi Germany การเสียกรุง Paris ครั้งนี้ แทบจะการันตีความพ่ายแพ้สงครามแล้วละ)
เพลงประกอบโดย Maurice Jarre ขาประจำของ David Lean คว้า Oscar 3 ครั้งจาก Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), A Passage to India (1984) ฯ
ใครเคยรับฟังบทเพลงของ Jarre มาหลายเรื่อง คงได้กลิ่นอายสัมผัสที่ค่อนข้างคุ้นหู ซึ่งกับเรื่องนี้เพิ่มเติมคือบทเพลงมาร์ช และเพลงชาติของฝรั่งเศส, อเมริกา ฯ เพื่อสร้างความฮึกเหิม รุกเร้า แฝงความรักชาติ และชวนเชื่อได้อย่างดีเยี่ยม
The Paris Waltz บทเพลงที่ได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว มีกลิ่นอายฝรั่งเศสอยู่พอสมควร เพิ่มเนื้อร้องโดย Maurice Vidalin จนได้กลายเป็น Patriotic Anthem เพลงชาติของเหล่าทหารฝรั่งเศสในชื่อ Paris en colère
เหตุที่ผมมองว่าหนังเรื่องนี้มีลักษณะกึ่งสารคดี เพราะการดำเนินเรื่องที่ไม่ยึดติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้มองไม่เห็นพระเอก ตัวร้าย (แต่ใครๆคงรับรู้ได้อยู่ว่า ฝั่ง Nazi คือกลุ่มผู้ร้ายของหนัง) นักวิจารณ์สมัยนั้นต่างก็หัวเสียบ่นขรม เพราะไม่สามารถจับจุด หาศูนย์กลางดำเนินเรื่องได้ แต่สิ่งนี้ค่อยๆได้รับการวิเคราะห์ ยกย่องพูดถึงมากขึ้นตามกาลเวลา หากมองเฉกการดำเนินเรื่องเช่นดั่งสารคดีก็จบแล้ว แค่ใช้นักแสดงจำลองสถานการณ์จากสถานที่จริง เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศส ต้องถือว่ามีความใกล้เคียง สมจริงจังมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ $37.1 ล้านเหรียญ ในฝรั่งเศสมียอดจำหน่ายตั๋วสูงเป็นอันดับ 4 ของปี, หนังเข้าชิง Oscar 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Cinematography
– Best Art Direction
เกร็ด: Orson Welles มีความอิจฉา René Clément อย่างยิ่ง เพราะหนังได้ทุนสร้างค่อนข้างสูง ส่วนตัวเองหาสตูดิโอสนับสนุนทำหนังไม่ได้ ถึงขนาดไม่ยอมแสดงตามคำขอ และพูดภาษาอังกฤษเท่านั้น (ทั้งๆที่ตัวเองพูดฝรั่งเศสคล่องมาก)
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แม้ผมจะไม่ได้มีความสนใจอยากรู้ประวัติศาสตร์ การปลดแอกกรุง Paris เสียเท่าไหร่ แต่ก็อดทึ่งใน Direction ของ René Clément มีความลื่นไหล เป็นธรรมชาติมากๆ ไม่มีความน่าเบื่อเลย ต้องถือว่าเป็นผู้กำกับระดับตำนานจริงๆ
ถ้าคุณไม่ได้มีความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเหตุการณ์ปลดแอกกรุง Paris จาก Germany แนะนำให้ข้ามหนังเรื่องนี้ไปเลยนะครับ หรือถ้ารู้จักปรมาจารย์ผู้กำกับ René Clément นักแสดงอย่าง Kirk Douglas, Orson Welles, Alain Delon, Jean-Paul Belmondo แต่ละคนบทไม่เยอะมาก แค่เห็นหน้าเดินไปมาก็เพียงพอแล้ว ลองหามารับชมดู
จัดเรต 15+ กับระเบิด และภาพความรุนแรงของสงคราม
Leave a Reply