It Happened One Night (1934) : Frank Capra ♥♥♥♥
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างประวัติศาสตร์ให้บังเกิดขึ้นในค่ำคืนประกาศผลรางวัล Oscar กวาดเรียบห้ารางวัลใหญ่ ‘Big Five’ ที่ได้เข้าชิง (Best Picture, Best Director, Best Actor, Best Actress, Best Writing) ส่งผลให้ Clark Gable และ Claudette Colbert กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ข้ามคืนโดยพลัน
นี่เป็นสิ่งแม้แต่ผู้กำกับ Frank Capra ก็คาดคิดไม่ถึงเช่นกัน ครั้งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ Richard Schickel ในรายการ The Men Who Made the Movies
“We made the picture really quickly–four weeks. We stumbled through it, we laughed our way through it. And this goes to show you how much luck and timing and being in the right place at the right time means in show business; how sometimes no preparation at all is better than all the preparation in the world, and sometimes you need great preparation, but you can never out-guess this thing called creativity. It happens in the strangest places and under the strangest of circumstances. I didn’t care much for the picture, it turned out to be ‘It Happened One Night’.”
อิทธิพลของ It Happened One Night ถือว่ามากยิ่งเลยละ ไม่ใช่แค่ต่อวงการภาพยนตร์ที่ได้จุดกระแส Screwball Comedy, Road Movie และแนว Romcoms แต่ยังส่งอิทธิพลสู่ธุรกิจอื่นๆ อาทิ รถโดยสาร Greyhound Lines ได้รับความนิยมขึ้นมาทันที, หรือเสื้อกล้ามที่หนุ่มๆชอบใส่ พอผู้ชมเห็น Clark Gable ไม่ได้สวมตอนขณะกำลังถอดออก กลายเป็นเทรนด์นิยมที่ทำให้ผู้คนสมัยนั้นเลิกซื้อใช้กันเลย ขนาดว่าบริษัทขายเสื้อรายหนึ่งขู่จะฟ้องร้อง Columbia Pictures เพราะทำให้ธุรกิจเกือบล้มละลาย
แต่ที่เจ๋งสุดเท่าที่ผมหาพบ หนังเรื่องนี้คือจุดกำเนิดของ Bugs Bunny (และ Looney Tunes) ซึ่งผู้คิดค้นตัวละครนี้ Friz Freleng กล่าวถึง 3 สิ่งที่ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจ
– ตัวละครของ Gable ชอบกินแครอท และพูดเร็วๆรัวๆ
– ตัวละครของ Roscoe Karns (รับบท Oscar Shapeley หนึ่งในผู้โดยสาร) จอมจุ้นพูดมาก เสือกยุ่งเรื่องของชาวบ้านไปทั่ว ครั้งหนึ่งเคยเรียกตัวละครของ Gable ว่า Docs
– และครั้งหนึ่ง Gable พูดเอ่ยถึง ‘Bugs Dooley’ ทำเอาตัวละครของ Karns กลัวหัวหดวิ่งหนีหายลับ
เกร็ดที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้: นี่คือหนังเรื่องโปรดของ Joseph Stalin และว่ากันว่า Adolf Hitler ด้วยละ
Frank Russell Capra ชื่อเดิม Francesco Rosario Capra (1897 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Italian-American เกิดที่ Bisacquino, Sicily ตอนอายุ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกาปักหลักที่ Los Angeles ฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือ Chinatown) ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก่อนไปเรียน โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of Technology สาขา Chemical Engineering สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปลดประจำการออกมากลายเป็นพลเมืองอเมริกัน เร่ร่อนออกหางานทำได้ใบบุญจากโปรดิวเซอร์ Harry Cohn กลายเป็นนักเขียน ตัดต่อ ผู้ช่วย กำกับภาพยนตร์สามเรื่องแรกร่วมกับ Harry Langdon ก่อนฉายเดี่ยวเรื่อง For the Love of Mike (1927) มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Lady for a Day (1933) ตามด้วย It Happened One Night (1934), Mr. Deeds Goes to Town (1936), Lost Horizon (1937), You Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941), It’s a Wonderful Life (1946) ฯ
ผลงานของ Capra มักมีลักษณะ ‘fantasy of goodwill’ เต็มไปด้วยความบันเทิงแฝงสาระ หรือเรียกว่า ‘message film’ เพราะชีวิตของเขาเริ่มต้นจากสลัมไต่เต้าขึ้นเป็นเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จ (Rags-to-Riches) จึงมักมีส่วนผสมของ ‘American Dream’ รวมอยู่ด้วย มีชื่อเล่นเรียกว่า ‘Capra-corn’ หรือ ‘Capraesque’
ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Night Bus (1933) แต่งโดย Samuel Hopkins Adams (1871 – 1958) อดีตเคยเป็นนักข่าวสายสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) ทำงานให้หนังสือพิมพ์ New York Sun นำเอาความรู้/ประสบการณ์ส่วนตนที่ได้พบเจอ รวบรวมเขียนเป็นเรื่องราว
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Robert Riskin (1897 – 1955) ขาประจำในช่วงแรกๆของ Capra ตั้งแต่ Lady for a Day (1933) แต่เพราะเวลาทำงานค่อนข้างจำกัด บทที่ได้มานั้นไม่ค่อยน่าพึงพอใจสักเท่าไหร่ ทำให้ Riskin ต้องปักหลักอยู่ในกองถ่าย เพื่อขัดเกลาแก้ไขบทหนังอยู่ตลอดเวลา
เรื่องราวของลูกคุณหนูมหาเศรษฐี Ellen ‘Ellie’ Andrews (รับบทโดย Claudette Colbert) เป็นสาวเอาแต่ใจ ไม่เคยพบเจอความลำบากในชีวิต แต่ได้แอบตกหลุมร่วมรักแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายกับ King Westley (รับบทโดย Jameson Thomas) สร้างความไม่พึงพอใจให้พ่อที่มองคนรักของเธอนี้ว่าเป็นพวกแสวงโชค/หนูตกถังข้าวสาร Ellie เลยตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ระหว่างทางตรงไป New York หาคนรัก จำต้องขึ้นรถโดยสาร ‘Greyhound Lines’ พบเจอกับ Peter Warne (รับบทโดย Clark Gable) นักข่าวหนุ่มที่เพิ่งถูกไล่ออก รู้จักจดจำเธอได้แต่ก็ไม่คิดฉวยโอกาสใดๆ วางตัวด้วยอุดมการณ์สุภาพบุรุษ แต่กลับพูดจาสนทนาคาบหมาเต็มปาก นี่เป็นสิ่งที่หญิงสาวไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยไม่รู้ตัวในค่ำคืนนั้น… บางสิ่งอย่างได้เกิดขึ้นกับพวกเขา
William Clark Gable (1901 – 1960) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เจ้าของฉายา ‘The King of Hollywood’ เกิดที่ Cadiz, Ohio หลังจากรับชมละครเวทีเรื่อง The Bird of Paradise เกิดความสนใจด้านนี้ เริ่มจากทำงานในโรงละครเวทีชั้นสอง มีโอกาสพบเจอ Laura Hope Crews ชักชวนให้มาเรียนการแสดงกับ Josephine Dillion (กลายเป็นผู้จัดการ/ภรรยาคนแรก) กรุยทางสู่ Hollywood ได้เป็นตัวประกอบในหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก กลับไปเป็นนักแสดง Broadway อยู่สักพักจนมีชื่อเป็น Matinee Idol ถูกดึงตัวกลับ Hollywood เซ็นสัญญากับสตูดิโอ MGM โด่งดังกับ A Free Soul (1931), ประกบ Joan Crawford เรื่อง Possessed (1931) จนมีข่าวว่าพวกเขาลักลอบมีชู้กัน
รับบท Peter Warne นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เพิ่งถูกไล่ออกสดๆร้อนๆ ขึ้นรถโดยสาร ‘Greyhound Lines’ เพื่อเดินทางกลับสู่ New York บังเอิญพบเจอกับหญิงสาว Ellen Andrews แรกๆก็ไม่ได้อยากสนใจอะไร เห็นถูกขโมยกระเป๋าก็พยายามช่วยเหลือแล้วแต่ไม่สำเร็จ แต่พอรับรู้จักตัวจริงของเธอก็ตามเกาะติด เพราะคิดว่าคงมีเรื่องให้เขียนข่าว (จะได้งานเดิมคืนมา) จับพลัดจับพลูพบเจอโน่นนี่นั่นกว่าจะไปกันถึง New York แยกจากแบบไม่ได้ตั้งใจสักเท่าไหร่ ทำให้โดยไม่รู้ตัวพวกเขาตกหลุมรักกันและกัน แต่จะมีวันได้ครองคู่หรือเปล่าก็ไม่รู้สิ
ตัวเลือกแรกของหนังคือ Robert Montgomery ถูกบอกปัดปฏิเสธด้วยเหตุผล บทห่วยแตกมาก ‘worst thing I had ever read’. นี่ทำให้สตูดิโอ Metro-Goldwyn-Mayer ที่ตอนนั้นกำลังต้องการลงโทษ Gable ให้อยู่ห่างจาก Joan Crawford เลยจับมาเล่นหนังเกรด B ของสตูดิโอ ‘poverty row’ เรื่องนี้เสียเลย, ซึ่งการมาพบเจอผู้กำกับ Capra ครั้งแรก ทั้งเมา เกรี้ยวกราด พูดจาหยาบคาย (แต่พวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกันนะ) และวันแรกในกองถ่ายพูดขึ้นว่า “Let’s get this over with.”
การแสดงของ Gable มีความเป็นธรรมชาติ ตัวของตนเองสูงมาก ไม่มีเลิศคิ้วเล่นหูเล่นตา โดดเด่นกับลีลาคำพูดจารวดเร็วติดจรวด แถมต้องใช้จินตนาการมากทีเดียวสำหรับทำความเข้าใจ เพราะก็ไม่รู้ตัวละครคิดพูดอะไรออกมา ฟังไม่เป็นภาษามนุษย์สักเท่าไหร่
ผู้กำกับ Capra พูดถึงการแสดงของ Gable สิ่งที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้คือตัวเขาเองจริงๆ ‘down-to-earth guy’ แสนธรรมดาติดดินจะตาย แต่หนัง Hollywood เรื่องอื่นๆ มักแปะภาพลักษณ์ให้กลายเป็นยอดชายนักรักเจ้าชู้ประตู้ดิน
“It Happened One Night is the real Gable. He was never able to play that kind of character except in that one film. They had him playing these big, huff-and-puff he-man lovers, but he was not that kind of guy. He was a down-to-earth guy, he loved everything, he got down with the common people”.
ฉากที่ตัวละครต้องถอดเสื้อผ้าออกทีละชิ้นนั้น เทคก่อนๆหน้านี้ Cable มีปัญหากับการถอดเสื้อกล้าม (ก็ไม่รู้ยังไงนะ) เขาเลยตัดสินใจไม่ใส่มันเสียเลย (มีแค่สูท+เสื้อนอก+เชิ้ต) ซึ่งความนิยมของหนังเรื่องนี้ ทำให้ผู้ชมต่างสังเกตเห็นและจดจำนำไปเลียนแบบ กลายเป็นเทรนด์ที่ผมบอกไปตอนต้น เล่นเอาบริษัทผลิตเสื้อกล้ามปิดตัวไปหลายแห่ง
Claudette Colbert ชื่อเดิม Emilie ‘Lily’ Claudette Chauchoin (1903 – 1996) นักแสดงหญิงสัญชาติ France-American เกิดที่ Saint-Mandé ครอบครัวอพยพสู่ Manhattan เมื่อปี 1906 อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ชั้น 5 ทำให้ต้องเดินขึ้นลงตลอดเวลา (นี่คือเหตุผลที่เธออ้างว่าง ทำให้ขาของตนเองสวย) ถึงแม่จะเป็นนักร้อง Opera แต่เจ้าตัวมีความสนใจ Fashion Designer เข้าเรียนที่ Art Students League of New York แต่ครั้งหนึ่งไปงานเลี้ยงปาร์ตี้มีโอกาสรู้จักกับ Anne Morrison ชักชวนให้มาแสดงละคร Broadway เลยเปลี่ยนมาเอาดีด้านนี้จนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ได้เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Paramount Picture โด่งดังกับ The Hole in the Wall (1929), The Sign of the Cross (1932), เคยร่วมงานกับ Capra เรื่อง For the Love of Mike (1927) ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ปฏิญาณว่าจะไม่ร่วมงานกันอีก บอกปัดปฏิเสธไปในครั้งแรก แต่ถูกโน้มน้ามด้วยการเบิ้ลเพิ่มค่าตัวสองเท่า และใช้เวลาถ่ายทำไม่เกิน 1 เดือน
รับบท Ellen ‘Ellie’ Andrews ลูกคุณหนูขี้แย ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างตามใจทุกสิ่งอย่างจนเสียคน ครั้งหนึ่งแอบหนีขึ้นรถชายแปลกหน้า ทำให้ตกหลุมรักคลั่งไคล้ชายชื่อ King Westley อย่างหัวปลักหัวปลำ แต่ถูกคุมขังกักบริเวณโดยพ่อผู้เข้มงวด ซึ่งเธอก็ว่ายน้ำหนีอีกแบบไม่ละความพยายาม นั่นทำให้มีโอกาสพบเจอกับ Peter Warne ระหว่างเดินทางไปหาหนุ่มคนรัก ซึ่งก็ทำให้หญิงสาวมีโอกาสเรียนรู้จักวิถีชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปจริงๆ โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักเขาเข้าให้แล้ว แต่ยังดื้อรั้นปากแข็งไม่ยอมรับใจตนเอง
ความดื้อรั้นเอาแต่ใจของ Ellie มุมหนึ่งก็น่าหมั่นไส้ แต่หลายคนคงมองว่าน่ารักน่าชังเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่หันมาแล้วไม่เห็น Warne อยู่ใกล้ๆตัว ร้องไห้บ้านแตก เกิดความหวาดกลัวจนตัวสั่น ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ราวกับเด็ก 7 ขวบ
สำหรับตัวเลือกอื่นๆของบทนี้ อาทิ Miriam Hopkins, Myrna Loy, Margaret Sullavan, Constance Bennett (อยากที่จะเป็นโปรดิวเซอร์เองด้วย เลยถูกปฏิเสธ), Bette Davis (Warner Bros. ไม่ยอมปล่อยยืมตัว), Carole Lombard, Loretta Young ฯ
ภาพลักษณ์ของ Colbert ดูเริดเชิด หยิ่งไฮโซ แต่สายตาเต็มไปด้วยความน่ารักไร้เดียงสา (ชีวิตจริงของเธอก็แทบไม่ต่างจากในหนัง) แม้คำพูดจาจะไม่รวดเร็วติดจรวดเท่า Gable แต่สามารถโต้ตอบรับกับ ราวกับเป็นคู่กัดขัดแย้งกันได้อยู่เรื่อยๆ
ความเรื่องมากของ Colbert ทำให้มีความขัดแย้ง หงุดหงิดหัวเสียทุกวันตลอดการถ่ายทำ กระทั่งวันเสร็จสิ้นพูดขึ้นดังๆกับเพื่อน
“I just finished making the worst picture I’ve ever made”.
อย่างฉากที่ต้องโชว์ขาอ่อน ทีแรกเจ้าตัวไม่ยินยอมเปลืองตัว แต่เมื่อเห็นขาของนักแสดงแทน เทียบของตนเองไม่ได้สักนิด เลยยินยอมถกกระโปรงตัวเองขึ้นโชว์เองเลย นั่นไม่เหมือนเรียวขาของฉันสักหน่อย
ถ่ายภาพโดย Joseph Walker ตากล้องสัญชาติอเมริกา ขาประจำของ Capra เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 4 ครั้ง เรื่อง You Can’t Take It with You (1938), Only Angels Have Wings (1939), Here Comes Mr. Jordan (1941), The Jolson Story (1946)
หนังใช้ประโยชน์จากการมาถึงของ Rear Projection ค่อนข้างเยอะทีเดียว เพราะแทบทั้งเรื่องสังเกตได้ว่าสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด ซึ่งซีนบนรถเมล์โดยสาร หรือขณะสองหนุ่มสาวกำลังขับรถเดินทาง เห็นพื้นหลังที่เลื่อนไหลเปลี่ยนไป เนื่องจากยังอยู่ในยุคแรกๆเลยไม่ค่อยแนบเนียนสักเท่าไหร่
ถึงเรื่องราวของหนังจะเกิดขึ้นหลายค่ำคืน แต่จะมีเพียงคืนเดียวเท่านั้นที่งานภาพโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ใช้การจัดแสงสว่างจ้ากว่าปกติ เลือกเลนส์ที่มีความเบลอๆ เพื่อให้สัมผัสราวกับความเพ้อฝัน แสงจันทราอาบลงมายังใบหน้าของ Colbert งดงามประดุดเจ้าหญิง (น่าจะเดากันได้ว่าค่ำคืนไหนนะ)
การจัดแสงแบบนี้จะพบเห็นได้อีกครั้งตอนนางเอกกำลังจะแต่งงานช่วงท้าย แต่จะไม่ใช่ทุกช็อตที่มีภาพลักษณ์นี้ ตัดสลับความฝันกับความจริงที่เธอต้องเลือกเอาสักอย่างหนึ่ง
เกร็ด: เงิน $100,000 เหรียญที่พ่อจ่ายให้อดีตว่าที่สามี เทียบค่าเงินปี 2018 ประมาณเกือบๆ $2 ล้านเหรียญ
เกร็ดสำหรับ The Walls of Jericho นี่ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในบท แต่เพราะ Colbert ปฏิเสธที่จะเปลืองตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อหน้ากล้อง ก็เลยจำต้องสร้างกำแพงบางๆนี้ขึ้นมา ส่งผลให้เกิดฉากที่ Gable ถอดเสื้อผ้าโชว์หน้าอกตามมาด้วย
Wall of Jericho ตามตำนานในคัมภีร์ไบเบิ้ล Book of Joshua เป็นกำแพงสร้างขึ้นด้วยหิน ในช่วงยุคทอง (Bronze Age) ประมาณ 1,400-6,400 B.C.E. เพื่อปกป้องเมือง Canaanite จากการรุกรานของ Israelites, ซึ่งวันที่ Joshua และกองทัพสามารถบุกเข้าไปในเมือง Canaan ได้สำเร็จ ทำการเป่าทรัมเป็ตประกาศชัยชนะ แล้วกำแพงเมืองได้ถล่มลงมา (Joshua 6:14-15)
ตัดต่อโดย Gene Havlick สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Capra เข้าชิง Oscar: Best Edited สามครั้ง คว้ามา 1 รางวัลจาก Lost Horizon (1937) อีกสองเรื่องคือ You Can’t Take It with You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939)
เริ่มต้นที่คุณหนูเจ้าปัญหา กระโดดเรือว่ายน้ำหนีพ่อ ออกเดินทางไปหาว่าที่สามียัง New York เรื่องราวหลังจากนั้นใช้การเล่าเรื่องในมุมมองของคู่พระนางเป็นส่วนใหญ่ แทรกใส่มาคั่นบ้างกับพ่อที่พยายามออกติดตามค้นหา และหัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จอมขี้บ่นของพระเอก
สำหรับเพลงประกอบ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูกเรื่องการบันทึกเสียงกันอยู่ จึงยังมีแนวคิดถ้าไม่ใช่เพลงที่ได้ยินจากวิทยุ หรือตัวละขับร้องในหนัง ก็จักไม่มีเพลงประกอบ, สำหรับ Opening/Closing Credit แต่งโดย Howard Jackson และ Louis Silvers
เกร็ด: ผู้กำกับ Frank Capra รับเชิญเป็นนักร้องคนสุดท้ายที่ขับร้องบทเพลง The Daring Young Man on the Flying Trapeze (ย่อๆว่า The Flying Trapeze) ต้นฉบับแรกสุดขับร้อง/แต่งคำร้องโดย George Leybourne เมื่อปี 1867
สำหรับ Sound Effect เสียงเครื่องยนต์/รถบัส, ฝนตก, นกร้อง ฯ ฟังดูอาจไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ แต่ก็มีความกลมกลืนไปกับพื้นหลังของหนังได้อย่างลงตัว ไม่ได้มีนัยยะอะไรอื่นมากนัก
It Happened One Night คือเรื่องวุ่นๆของชายหนุ่มและหญิงสาว จับพลัดจับพลูพบเจอระหว่างการเดินทาง แรกๆก็ไม่ได้ชอบขี้หน้า จากนั้นตกหลุมรัก พรากจากเพราะความเข้าใจผิด สุดท้ายจะได้แต่งงานครองคู่กันหรือเปล่า … ไม่ต้องบอกใครๆคงคาดเดาได้
หนังออกฉายเป็นเรื่องท้ายๆในยุค Pre-Code ก่อนการมาถึงของ Hays Code ที่เริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1934 ก็ด้วยเหตุนี้ทำให้หนังยังมีคำพูดส่อเสียด ทะลึ่งเร้น ลามกจกเปรต แต่ผู้ชมสมัยนี้อาจไม่รู้สึกหยาบคายเท่าไหร่ เพราะคำพวกนั้นมันเริ่มเฉิ่มเชยล้าหลังไม่ค่อยมีใครใช้กันแล้ว
นี่คือเรื่องราวที่กลายเป็นต้นฉบับแม่พิมพ์ สูตรสำเร็จของหนังแนว Screwball Comedy ที่กำลังจะค่อยๆได้รับความนิยมในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ นักวิจารณ์หลายๆสำนักจะถือว่านี่คือจุดเริ่มต้น แต่บางคนไล่ย้อนไปไกลกว่าจะพบกับ The Front Page (1931) แค่ว่าไม่ค่อยได้รับการพูดถึง หรือส่งอิทธิพลชัดๆต่อยุคทองของตลกเจ็บตัวก็เท่านั้น
ความนิยมใน Screwball Comedy ของอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษ 30s เกิดขึ้นต่อยอดจากยุคสมัย Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อผู้คนเกิดความเบื่อหน่ายทุกข์ทรมานยาวนานกว่าสิบปีแล้ว ภาพยนตร์ที่สามารถสร้างความผ่อนคลาย ‘escapist’ ให้พวกเขาได้ เลยได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้หนังของ Charlie Chaplin ก็ยังคงขายได้ หรือแนวนี้ที่เพิ่มบทพูดเข้าไปเลยเทน้ำเทท่าขายดีประสบความสำเร็จล้นหลาม
Road Movie ก็ถือว่าเป็นการจุดกระแสเริ่มต้นเช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้ หนังเกี่ยวกับรถโดยสาร/การเดินทาง ยังไม่เคยได้รับความนิยมจากผู้ชม/ผู้สร้างใน Hollywood สักเท่าไหร่ และอาจด้วยข้อจำกัดของยุคสมัย ก่อนหน้าการมาถึงของเทคนิค Rear Projection เมื่อปี 1933 (จากเรื่อง King Kong) ทำให้เกิดความง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้นในการถ่ายทำ (นักแสดงไม่จำเป็นต้องออกเดินทางไปยังสถานที่จริง แค่อยู่ในสตูดิโอก็สามารถถ่ายทำภาพยนตร์ได้)
และ RomComs (Romantic Comedy) ความรักกุ๊กกิ๊ก คู่กัด น่าถีบ สองพระนางแตกต่างกันสุดขั้ว พ่อแง่-แม่งอน เริ่มจากความขัดแย้ง ลงเอยด้วยความรัก/ตบจูบ, จริงๆผมก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเริ่มต้นจากเรื่องนี้เลยหรือเปล่า แต่เทรนด์และกระแสความนิยม นักวิจารณ์หลายๆก็บอกเป็นเสียเดียวกัน เริ่มจากค่ำคืนที่คาดไม่ถึงนี้แหละ
ผมว่ามันน่าสนใจมากๆเลยนะ ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นกับหนัง ไม่เพียงสอดคล้องกับชื่อ It Happened One Night แต่ยังทั้งนักแสดง ผู้กำกับ ความสำเร็จที่ได้รับ กลายเป็นตำนานเพราะความ ‘บังเอิญ’ ถูกที่ถูกเวลา โชคชะตาเป็นสิ่งไม่มีวันคาดคิดถึงได้จริงๆ
สาระข้อคิดของหนังเรื่องนี้ ‘เงินทองไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต’ ส่วนตัวรู้สึกว่าจับต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ เพราะถูกบดบังด้วยเรื่องราวรักโรแมนติก รอม-คอม ของพระนางที่เป็นคู่กัด จิกกันได้อย่างเพลิดเพลิน สุดมันส์ กลบใจความสำคัญนี้ไปจนไม่มีอะไรให้น่าพูดถึงสักเท่าไหร่
ด้วยทุนสร้างประมาณ $325,000 เหรียญ เพราะความที่ Columbia Picture ไม่คิดว่าหนังจะได้รับเสียงตอบรับดีอย่างไร เลยนำออกฉายโรงภาพยนตร์ชั้นสอง/Drive-In ปรากฎว่าทำเงินถล่มทลายกว่า $2.5 ล้านเหรียญ [คงเพราะเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายกว่าด้วยกระมัง]
แถมยังได้เข้าชิง กวาดเรียบ Oscar 5 สาขา
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Clark Gable)
– Best Actress (Claudette Colbert)
– Best Writing, Adaptation
Colbert ไม่คิดว่าตัวเองจะได้รางวัลนี้ (คิดว่า Betty Davis จะคว้ารางวัล) เลยไม่เข้าร่วมงานประกาศรางวัล แต่พอประกาศผลออกมา โทรเลขถึงสถานีรถไฟ รีบบึ่งมารับรางวัลในงานทันที
สำหรับ Clark Gable มอบหุ่นปั้นรางวัล Oscar ที่ได้รับนี้ให้กับเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบหนังมาก พร้อมบอกว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับเขา การได้เป็นผู้ชนะก็ถือว่าเพียงพอแล้ว, เห็นว่าเด็กคนนั้นคืนรางวัล Oscar ให้ครอบครัวของ Gable ภายหลังเขาเสียชีวิตแล้ว และเมื่อปี 1996 ผู้กำกับ Steven Spielberg ประมูลซื้อ Oscar ตัวนี้ในราคาสูงยิ่ง $607,500 เหรียญ เพื่อส่งคืนเก็บไว้ที่สถาบัน Academy
เกร็ด: สำหรับการคว้า Oscar ครั้งนี้ของ It Happened One Night ได้สร้างสถิติ
– ภาพยนตร์เรื่องแรกที่คว้า Oscar มากที่สุด 5 สาขา
– กวาดเรียบทุกสาขาที่เข้าชิง (ไม่นับที่เข้าชิงสาขาเดียวแล้วคว้ารางวัล) อีกสามเรื่องคือ Gigi (1958), The Last Emperor (1987), The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)
– คว้า Big Five/Grand Slam ห้ารางวัลใหญ่ของ Oscar อีกสองเรื่องคือ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), The Silence of the Lambs (1991)
– นำชาย-นำหญิง ได้รางวัลคู่กัน อีกหกเรื่องคือ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), Network (1978), Coming Home (1978), On Golden Pond (1981), The Silence of the Lambs (1991) และ As Good as It Gets (1997)
สำหรับ Columbia Picture ที่ก่อนหน้านี้ถูกตราหน้าว่าคือ ‘poverty row’ จากหางแถวกลายเป็นสตูดิโอชั้นนำแนวหน้าของ Hollywood ขึ้นมาโดยทันที และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ขำบ้างไม่ขำบ้าง แต่รับรู้ได้ถึงอิทธิพลหลายๆอย่างที่ตามมา (ตอน Gable กินแครอท ผมนึกถึง Bugs Bunny ขึ้นมาทันทีเลยนะ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นเป็นแรงบันดาลใจตามมาจริงๆ) และความคลาสสิกอมตะของหนัง ที่แม้อาจไม่ได้โดยตั้งใจของผู้สร้าง แต่มันก็โดยบังเอิญตราตรึงจริงๆ
ไม่ถึงขั้นต้องดูให้ได้ก่อนตาย เพราะหนังเป็นแนว Screwball Comedy มุ่งเน้นความบันเทิงเริงรมย์มากกว่าสาระประโยชน์ และเรื่องราวไม่น่าใช่สถานการณ์ที่คนทั่วไปจะมีโอกาสพบเจอในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังคลาสสิก Screwball Comedy, Road Movie, ชื่นชอบแนวรอม-คอม พระนางเป็นคู่กัด, แฟนๆผู้กำกับ Frank Capra และสองนักแสดงนำ Clark Gable กับ Claudette Colbert ก็ไม่ควรพลาดเด็ดขาด
จัดเรต PG มีเพียงคำพูดที่ส่อเสียด และความลูกคุณหนู เอาแต่ใจเกินไปหน่อยของนางเอก
Leave a Reply