It’s a Gift (1934) : Norman Z. McLeod ♥♥♥♡
แม้อัตลักษณ์ของ W. C. Fields จะคือขี้เมาเอาแต่ใจ เกลียดผู้หญิง กลั่นแกล้งเด็ก ไล่เตะหมา พึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่กลับเป็นที่รักมักที่ชังของใครๆ ได้รับการยกย่องตลกอัจฉริยะ และ It’s a Gift (1934) อาจคือหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุด
ผมเคยมีอคติต่ออัตลักษณ์ของ W. C. Fields เมื่อตอนรับชม The Bank Dick (1940) เพราะบทบาท Egbert Sousé แม้งไม่มีx่าอะไรดี กะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกหลวง (Lie, Cheat & Steal) สันดานเหี้ยมเxยมากๆ แล้วตอนจบกลับถูกหวย ร่ำรวย อาศัยอยู่ในคฤหาสถ์ ได้ดิบได้ดีเสียอย่างนั้น!
หลังรับชมหนังโปรดของ Stanley Kubrick เรื่องนั้น ผมก็ไม่ใคร่สนใจหาผลงานอื่นๆของ W. C. Fields (มันคือคำย่อของห้องน้ำ Water Closet และถ้ามองแบบสองแง่สองง่ามจะหมายถึง พื้นที่ (Fields) สำหรับถ่ายสิ่งปฏิกูล) แต่พอค้นพบว่า It’s a Gift (1934) คือหนึ่งในหนังโปรดของผู้กำกับ David Lynch เลยลองเสี่ยงดูอีกสักครั้ง … น่าสงสัยว่าทำไมภาพยนตร์ของ Fields ถีงเป็นที่โปรดปรานของใครหลายๆคนจัง?
จริงอยู่ว่า It’s a Gift (1934) ยังคงอัตลักษณ์ขี้เมาเอาแต่ใจ เกลียดแม่ เกลียดเมีย แกล้งเด็ก เตะหมา แต่ภาพยนตร์เรื่องทำให้ผมตระหนักถึงอัจฉริยภาพของ W. C. Fields บังเกิดความเข้าใจว่าทำไมถึงสรรค์สร้าง ‘persona’ ในรูปลักษณะแบบนี้ และโดยไม่รู้ตัวผู้ชม(อาจ)ตกหลุมรัก สงสารเห็นใจ ให้อภัยพฤติกรรมเหียกๆ แบบน้าค่อม ชวนชื่น เคยเห็นคนตั้งฉายาว่า ‘เหี้ยผู้เป็นที่รัก’
William Claude Dukenfield (1880 – 1946) นักแสดง ตลก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Darby, Pennsylvania ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) อพยพจากประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1854, มีน้องห้าคน (เป็นพี่คนโต) วัยเด็กมีเรื่องให้ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งบิดาขี้เมาเป็นประจำ หนีออกจากบ้านหลายครั้ง การเรียนก็ไม่เอาไหน เลยตัดสินใจใช้ชีวิตบนท้องถนน ฝีกฝนการโยนลูกบอล (Juggling) ได้แรงบันดาลใจจาก James Edward Harrigan (เจ้าของฉายา Original Tramp Juggler) จนได้รับว่าจ้างจากสวนสนุกแห่งหนึ่ง สร้างอัตลักษณ์แรก ‘Tramp Juggler’ ตามด้วย ‘The Eccentric Juggler’ เคยได้รับการโปรโมท ‘World’s Greatest Juggler’ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ W. C. Fields ตั้งแต่ปี 1898
ช่วงต้นทศวรรษ 1900s ระหว่างออกทัวร์การแสดง (vaudeville) เริ่มตระหนักว่าแค่โยนลูกบอลเพียงอย่างเดียว เดี๋ยวก็หมดกระแสนิยม จีงครุ่นคิดทดลองกายกรรมรูปแบบใหม่ๆ แล้วเริ่มพูดคุยกับผู้ชม เล่นมุกตลก เสียดสีล้อเลียน ไปๆมาๆกลับได้รับคำชื่นชมเพิ่มมากกว่าเดิมเสียอีก! จนมีโอกาสแสดงบนเวที Broadways ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ Ziegfeld Follies (ช่วงปี 1915-21), กระทั่งไปเข้าตา D. W. Griffith ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Sally of the Sawdust (1925) เลยปักหลักอยู่ Hollywood สรรค์สร้างหนังเงียบสนุกๆมากมาย
การมาถึงของยุคหนังพูด ช่วยขยายศักยภาพของ Fields ให้มีความโดดเด่นในอัตลักษณ์ยิ่งขึ้น เริ่มจากเซ็นสัญญา Paramount Picture เมื่อปี 1932 สร้างภาพยนตร์เฉลี่ยปีละ 3-4 เรื่อง (แต่เฉพาะปี 1934 สร้างได้ถึง 6 เรื่อง!) ก่อนย้ายมา Universal Picture เมื่อปี 1939 กลายเป็นนักแสดงค่าตัวสูงสุดอันดับต้นๆ (เรื่องละ $125,000 เหรียญ) แต่หลังหมดสัญญาเมื่อปี 1941 ก็ถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เมตตาปราณี
ชีวิตครอบครัวของ Fields แต่งงานครั้งแรกกับเพื่อนนักแสดง Harriet ‘Hattie’ Hughes (1879–1963) เมื่อปี 1900 ซึ่งเธอได้กลายเป็นผู้ช่วย ร่วมการแสดง คอยตบมุกทุกครั้งเมื่อเขาเล่นผิดพลาด รวมทั้งสอนให้อ่าน-เขียน จนเกิดความหลงใหลหนังสือ/วรรณกรรม ตั้งแต่ Shakespeare, Charles Dickens, Mark Twain, P.G. Wodehouse ฯ หลังจากภรรยาตั้งครรภ์ เธอขอให้เขาลงหลักปักฐานสักแห่งหนไหน แต่ Fields ยังคงอยากออกเดินทางทำการแสดงต่อไป ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังพูดคุย เขียนจดหมาย ส่งค่าเลี้ยงดูให้บุตรชาย แต่เธอกลับค่อยๆเรียกร้อง(ค่าเลี้ยงดู)เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอไม่มีจ่ายก็เสี้ยมสอนให้ลูกโกรธเกลียด/ขัดแย้งต่อบิดา
Bessie Poole ภรรยาคนที่สองของ Fields พบเจอระหว่างเข้าร่วมคณะการแสดง Ziegfeld Follies ตั้งแต่ปี 1916 คือหนึ่งในสาวสวยที่หลงใหลในลูกเล่น ลีลา คารม มีบุตรร่วมกันหนึ่งคน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่คิดจะเลี้ยงดูแล เลยส่งไปสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หลังจากทั้งสองเลิกราเมื่อปี 1926 จ่ายเงินค่าปิดปาก $20,000 เหรียญ ให้อดีตภรรยาประกาศว่า ‘W. C. Fields is NOT the father of my child’ แต่สองปีถัดจากนั้น Poole เสียชีวิตจากพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) เขาเลยต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตรจนอายุ 19 ปีบริบูรณ์
ภรรยาคนสุดท้ายคือ Carlotta Monti (1907–93) พบเจอกันเมื่อปี 1933 ไม่มีทายาท เลยสามารถครองคู่อยู่ร่วมจนวันตาย
โดยปกติแล้ว ผมจะไม่ค่อยลงรายละเอียดเรื่องส่วนตัวสักเท่าไหร่ แต่สิ่งพานผ่านเข้ามาในชีวิตของ W. C. Fields ล้วนสะท้อนอัตลักษณ์ (persona) ภาพตัวละครที่เขาถ่ายทอดออกมา ขอแบ่งเป็นข้อๆจะได้เห็นภาพชัดกว่า
- ขี้เมา, เพราะมีบิดาติดเหล้า ตัวเขาช่วงวัยรุ่นจึงปฏิเสธที่จะดื่มของมึนเมา แต่ความโดดเดี่ยวอ้างว้างหลังเลิกราภรรยา ก็ค้นพบว่าสุราคือเพื่อนพึ่งพาชั้นดี แถมทำให้มีความครุ่นคิดสร้างสรรค์ ดั้นสดลิ้นพันกัน (AdLib) คารมเฉียบคมคายยิ่งกว่าตอนปกติ ด้วยเหตุนี้เขาจึงกลายเป็น ‘prodigious drinker’ ต้องดื่มก่อนเข้าฉากการแสดง จนสร้างความเอือมละอาให้สตูดิโอ (ว่ากันว่านี่คือเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หลังหมดสัญญา Universal Pictures ไม่มีสังกัดไหนอยากยื่นข้อเสนอใหม่กับเขาอีก)
- I was in love with a beautiful blonde once, dear. She drove me to drink. That’s the one thing I am indebted to her for. จากเรื่อง Never Give a Sucker an Even Break (1941)
- เกลียดผู้หญิง, เอาจริงผมว่า Fields ไม่ได้เกลียดผู้หญิงนะ แต่เบื่อหน่ายในพฤติกรรมเรียกร้องโน่นนี่นั่น หลังจากครองคู่อยู่ร่วม/เลิกรากันแล้วมากกว่า
- I’m very fond of children. Girl children, around eighteen and twenty. จากเรื่อง The Bank Dick (1940)
- กลั่นแกล้งเด็ก, เติบโตในครอบครัวมีน้อง 4 คน คงสร้างความน่ารำคาญเหลือทน ด้วยเหตุนี้พอแต่งงานก็ไม่อยากมีลูก เสียเวลาเลี้ยงดูแล ร่วมงานกับเด็กทีไรปวดเศียรเวียนเกล้านักแส บอกกับภรรยาคนที่สาม ไม่ขอเอาทายาทสืบสกุลเป็นอันขาด
- I like children. If they’re properly cooked.
- ไล่เตะหมา, ผมเคยอ่านเจอว่า Fields เคยเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งแล้วถูกมันแว้งกัด ก็เลย…
- Anyone who hates children and animals can’t be all bad.
ว่ากันตามตรง Fields เองก็มึนงงเหมือนกัน อัตลักษณ์ดังกล่าวของตนเอง มันประสบความสำเร็จได้อย่างไร เคยครุ่นคิดเขียนบทความลงในนิตยสาร Motion Picture เมื่อปี 1937
“You’ve heard the old legend that it’s the little put-upon guy who gets the laughs, but I’m the most belligerent guy on the screen. I’m going to kill everybody. But, at the same time, I’m afraid of everybody—just a great big frightened bully .
I was the first comic in world history, so they told me, to pick fights with children. I booted Baby LeRoy … then, in another picture, I kicked a little dog. But I got sympathy both times. People didn’t know what the unmanageable baby might do to get even, and they thought the dog might bite me”.
W. C. Fields
It’s a Gift (1934) ภาพยนตร์ ‘talkie’ เรื่องที่ 16, ลำดับที่ 5 ของปี 1934 (ปีทองของ Fields เพราะมีหนังออกฉายทั้งหมด 6 เรื่อง) ดัดแปลงจากบทละครเวที The Comic Supplement (of American Life) สรรค์สร้างโดย J.P. McEvoy และ Charles Bogle (นามปากกาของ Fields) ทำการแสดงครั้งแรกที่ Washington, D.C. วันที่ 19 มกราคม 1925.
การทำงานของ W. C. Fields จะให้นักเขียนเพียงวางเค้าโครงเรื่องราวคร่าวๆ ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร ผู้กำกับเตรียมงานสร้าง โปรดิวเซอร์ติดต่อประสานงาน นัดหมายนักแสดง พอถึงคิวถ่ายทำก็เริ่มต้นกรึบสุรา แล้วดั้นสดๆ (AdLib) นำเอาประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิตถ่ายทอดออกมา … ผลงานภาพยนตร์ในยุค ‘talkie’ ของ Fields มักเป็นการรีไซเคิลสิ่งที่เขาเคยพานผ่านมาในชีวิต ตั้งแต่เป็น Juggler นักแสดงเร่ (vaudeville) ละครเวที Broadways และหนังเงียบยุคแรกๆ เพียงขัดเกลาให้เข้ากับเรื่องราว/บทบาท สื่อประเภทใหม่ที่จักมั่นคงอยู่ และได้รับการจดจำไปอีกยาวนาน
กำกับโดย Norman Zenos McLeod (1898 – 1964) สัญชาติอเมริกัน หนึ่งในขาประจำของ Marx Brothers ผลงานเด่นๆ อาทิ Monkey Business (1931), Horse Feathers (1932), Alice in Wonderland (1933), Topper (1937), The Secret Life of Walter Mitty (1947) ฯ
บทภาพยนตร์โดย Jack Cunningham (1882-1941) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ The Black Pirate (1926), Wagon Wheels (1934), Union Pacific (1939) ฯ
ถ่ายภาพโดย Henry Sharp (1892-1966) สัญชาติอเมริกัน ตากล้องประจำตัวของ Douglas Fairbanks ผลงานเด่นๆ อาทิ The Black Pirate (1926), The Crowd (1928), The Big City (1928), Thunder (1929), Alice in Wonderland (1933), Duck Soup (1933) ฯ
ตัดต่อไม่มีเครดิต,
เพลงประกอบโดย John Leipold (1888 – 1970) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ The Old Fashioned Way (1934), Souls at Sea (1937), Stagecoach (1939) **คว้า Oscar: Best Score ฯ
เรื่องราวของ Harold Bissonette (อ่านว่า bis-son-ay ผวนมาจาก son-of-bitch) เมื่อได้รับเงินมรดกจากญาติที่เพิ่งเสียชีวิต ตัดสินใจขายกิจการร้านของชำ นำเงินไปซื้อไร่ส้มอยู่ยัง California แม้ถูกต่อต้านไม่เห็นด้วยจากสมาชิกทุกคนในครอบครัว แต่ด้วยความดื้อรั้นไม่รับฟังใคร การออกเดินทางครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นๆวายๆมากมาย
Fields รับบท Harold Bissonette ชายขี้เมา นิสัยเอาแต่ใจ เมื่อมีความมุ่งมั่นต้องการอะไรก็ปฏิเสธรับฟังความคิดเห็นของใครๆ ทั้งๆที่ปกติเป็นคนสมาธิสั้น วอกแวกบ่อยครั้ง มิอาจอดรนทนปัญหาเล็กๆน้อยๆ จัดลำดับความสำคัญไม่ค่อยถูก ชีวิตเต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวาย สมาชิกครอบครัวเลยไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นใจ พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
- Amelia Bissonette (รับบทโดย Kathleen Howard, นักร้องโอเปร่าที่ผันตัวมาเป็นนักแสดง) ภรรยาที่วันๆเอาแต่เพ้อพร่ำ บ่นพรำ พูดอะไรไม่เคยตั้งใจฟัง (ด้วยทำนองเว่อๆแบบนักร้องโอเปร่า) เต็มไปด้วยคำเสียดสี ประชดประชัน ไม่รู้อดรนทนสามีคนนี้อยู่ได้อย่างไร
- Mildred Bissonette (รับบทโดย Jean Rouverol, ถือเป็นบทบาทแรกแจ้งเกิด แต่ภายหลังเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิวส์ ทำให้ติด Hollywood Blacklist แล้วผันตัวไปเป็นนักเขียน) ลูกสาวคนโตมีความน่ารักสดใส ตกหลุมรักหนุ่มหล่อ(มั้งนะ)ประจำหมู่บ้าน เลยไม่ต้องการพลัดพรากจากสถานที่แห่งนี้ไป
- Norman Bissonette (รับบทโดย Tommy Bupp) ลูกชายคนเล็กชื่นชอบการเล่นโรลเลอร์สเก็ต เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น วันๆเอาแต่พูดเพ้อเจ้อไม่ยอมหยุดหย่อน ชอบล้อเลียนแฟนหนุ่มของพี่สาว คงเพื่อเรียกร้องความสนใจกระมัง
หนึ่งในไฮไลท์นักแสดงคือ Baby LeRoy ชื่อจริง Ronald Le Roy Overacker (1932 – 2001) ขณะอายุได้ 16 เดือน แสดงหนังเรื่อง A Bedtime Story (1933) ก็ไม่รู้สร้างความประทับใจอะไรให้โปรดิวเซอร์ของ Paramount Pictures จับเซ็นสัญญานักแสดง กระทั่งได้เผชิญหน้า W. C. Fields ครั้งแรกเรื่อง Tillie and Gus (1933), ได้รับคำชมสูงสุดเรื่อง The Old Fashioned Way (1934)
สำหรับ It’s a Gift (1934) ความโด่งดังขณะนั้นของ Baby LeRoy ทำให้ได้รับ ‘second billing’ ถึงขนาดขี้นชื่อ ปรากฎตัวบนโปสเตอร์หนัง คอยสร้างเรื่อง ทำตัวป่วนๆ ให้ตัวละครของ Fields ต้องหงุดหงิดหัวเสียอยู่ตลอดเวลา
“Fields had a phobia about the baby. He not only hated infants in general, but he believed that Baby LeRoy was stealing scenes from him. He used to swear at the baby so much in front of the camera that I sometimes had to cut off the ends of the scenes in which they appeared”.
Norman Z. McLeod
ศาสตร์การเล่นตลกของ W. C. Fields ในความเข้าใจของผมก็คือ ‘เหยื่อผู้ถูกกระทำชำเราจากทุกสรรพสิ่งอย่าง’ แรกเริ่มต้นตัวละครมีฐานะยากจน ชนชั้นทำงาน (Working Class) แต่ต้องเลี้ยงดูทั้ง (พ่อ) แม่ ภรรยา บุตรสาว-ชาย หรือทารกน้อย (แล้วแต่ตามสถานการณ์) ความทุกข์ยากลำบากทำให้เขาต้องดื่มเหล้ามีนเมากับชีวิต สติสตางค์ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เลยเป็นที่รังเกียจเดียจฉันท์จากสมาชิกครอบครัว โดนทั้งคำพูดเสียดสีถากถาง และการกระทำเขวี้ยงขว้างใช้ความรุนแรง
เมื่อออกไปนอกบ้าน ตัวละครก็มักจับพลัดจับพลูตกอยู่ในสถานการณ์ประหลาดๆ ถูกกลั่นแกล้ง ลวงล่อหลอก (โดยเฉพาะเซลล์แมนเร่ขายอะไรบางอย่าง) พอพลั้งเผลอกระทำผิดพลาด จีงต้องพยายามหาหนทางดิ้นรน แสดงพฤติกรรมกะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกหลวง (Lie, Cheat & Steal) ขอแค่ให้ตนเองสามารถหลุดรอดพ้นสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าวไปได้
ตอนจบ(น่าจะ)ทุกๆผลงาน มันเกิดเหตุการณ์พลิกผัน กลับตารปัตร บังเอิญถูกหวย ขายหุ้นทำให้ร่ำรวย กลายเป็นมหาเศรษฐี จากนั้นพฤติกรรมของสมาชิกทุกในครอบครัว จักเปลี่ยนมาคิดดี-พูดดี-ทำดี ยกย่องสรรเสริญบูชา รักใคร่ปรองดอง สนินสนมกลมเกลียว … ใครกันแน่ที่กะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกลวง!
ใน It’s a Gift (1934) เราจะพบเห็นว่าตัวละครของ W. C. Fields ถูกกลั่นแกล้งสารพัด!
- ภรรยาพูดคำเสียดสี ถากถาง ใครมันจะอยากรับฟัง (เลยออกไปนอนนอกบ้าน)
- ลูกสาวเปิดปิดกระจกเป็นว่าเล่น กว่าจะโกนหนวดสำเร็จ
- ลูกชายก็เอาแต่เรียกร้องความสนใจ ตะโกนโหวกเหวกหนวกหูชิปหาย
- พอไปทำงานยังร้านขายของชำ การมาถีงของชายตาบอด ก็เอาแต่เรียกร้องโน่นนี่นั่น ทำลายสิ่งข้าวของไปทั่ว
- ทารกน้อย Baby LeRoy ด้วยความไร้เดียงสา กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่รับรู้ว่าสร้างความเดือดร้อนอะไรให้ใครบ้าง
- คนจะหลับจะนอน ถูกก่อกวนจากเด็กส่งนม, ลูกมะพร้าว, เซลล์แมนมาขายของตอนเช้าตรู่ ฯ
- เช่นกันกับสิ่งข้าวของ วัตถุต่างๆ อาทิ เตียงนอกห้อง (พังทลายลงมา), กระป๋องมะเขือเทศ (ระเบิดใส่หน้า), รถสตาร์ทไม่ติด กระทั่งพังทลาย สภาพกระจัดกระจาย ฯ
ถ้าคุณต้องอยู่ในสภาพสังคมที่ทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง ล้วนเป็นปรปักษ์ ประทุษร้าย ทั้งการครุ่นคิด-คำพูด-การกระทำ ใครกันจะสามารถอดรนทน ส่วนใหญ่ย่อมบังเกิดแรงผลักดันที่จะเอาคืนโต้ตอบกลับ
- ภรรยาแสดงความโกรธเกลียด พูดเสียดสีประชดประชัน <-> ทำไมฉันจะรู้สีกเดียดชัง โต้ตอบถ้อยคำหยาบๆกลับไปไม่ได้?
- เด็กๆเขวี้ยงขว้างก้อนหิน ทุบตีทำร้าย <-> ทำไมฉันจะหาอะไรโยนใส่ ใช้ความรุนแรงกลับไปไม่ได้?
- สุนัขเห่า <-> ทำไมฉันจะกัดตอบไม่ได้?
ทุกการกระทำของ W. C. Fields ล้วนบังเกิดจากแรงผลักดันของธรรมชาติ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ สังคมมันเป็นแบบนี้ จะไปสร้างภาพให้ดูดีเลิศหรูหราได้อย่างไร … นี่เองคือสิ่งจักทำให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สีกสงสารเห็นใจ ยินยอมให้อภัยทุกการกระทำ เกลียดผู้หญิง กลั่นแกล้งเด็ก ไล่เตะหมา ถ้าเป็นฉันไม่แน่ว่าอาจกระทำสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีก –“
ในยุคที่ Hollywood ถูกควบคุมครอบงำด้วยมาตรฐานทางสังคมกำหนดโดย Hays Code ทุกผลงานของ W. C. Fields ล้วนเต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ ล่อแหลม ถ้าคุณมีความสามารถในการครุ่นคิดตีความ ก็อาจสังเกตพบเห็นโดยง่ายดาย
- Baby LeRoy ปลดปล่อย Molasses (กากน้ำตาล) เป็นคำ Slang ที่หมายถีง … (อยากรู้หาในเน็ตเอาเองนะครับ แต่ลักษณะเหนียวๆหนืดๆก็น่าจะบอกใบ้ได้เยอะแล้ว)
- ฉากสนทนาระหว่างแม่-ลูก Mrs. Dunk และ Miss Dunk ตะโกนจากชั้นสามเอายา Ipecac (ยาอาเจียน)หรือ Syrup of Squill (ยาละลายเสมหะ)อะไรก็ได้ฉันไม่แคร์ แต่ด้วยสภาพที่ดูกำลังมีนเมา (แค่ชื่อก็ Drunk แล้วนะ) ก็น่าจะพอเดาออกว่าต้องการสื่ออะไร
- ขับรถพุ่งชน Venus de Milo (เทพเจ้าโรมันเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความงาม เพศ ภาวะเจริญพันธุ์)
- Amelia: Those were my mother’s feathers!
Harold: Never knew your mother had feathers.
คุณคิดว่ามัน ‘ขน’ อะไรละครับ? - ที่จี๊ดสุดๆคงหนีไม้พ้น Kumquats (ส้มจิ๊ด) เขียนในแบบ Australian English จะได้ว่า Cumquats
- Fitchmueller: How about my kumquats!
Harold: Coming. Coming. Coming. Coming. Coming.
- Fitchmueller: How about my kumquats!
- Kumquats กับ Orange มันอยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกัน (มันคือ ‘ส้ม’ เหมือนกัน) ลองจินตนาการดูนะครับว่า ทำไมตัวละครของ W. C. Fields ถีงดื้อดีงดันต้องการครอบครองเป็นเจ้าของไร่ส้ม! และตอนจบเด็ดออกมาหนี่งผล บีบใส่แก้ว แล้วดื่มด่ำฉ่ำราคะ
It’s a Gift ชื่อหนังที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับเรื่องราว (จะมองเป็นแพ็กเก็จของขวัญที่ W. C. Fields รวบรวมมุกตลกเด็ดๆมอบให้ผู้ชมก็ได้นะ) แต่เหมือนเป็นการยกยอปอปั้น ว่าตนเองนั้นเต็มไปด้วยพรสวรรค์ ความสามารถโดดเด่นเหนือใคร เอาเถอะยินยอมยกให้ W. C. Fields คือตลกอัจฉริยะที่ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจ ก็จักคลุ้มคลั่งเขาไปตลอดทั้งชีวิต
And you’re crazy. But I’ll be sober tomorrow and you’ll be crazy for the rest of your life.
เป็นอีกครั้งที่ผมได้รับบทเรียน จากการตัดสินคนแค่เพียงเปลือกภายนอก W. C. Fields คือตลกอัจฉริยะที่เสียสละตนเอง สร้างภาพให้ดูอัปลักษณ์ น่ารังเกียจ ไม่ต่างจากสิ่งปฏิกูลทอดทิ้งลงโถส้วม แต่สิ่งที่เขารังสรรค์ก็เพื่อสร้างความบันเทิงขั้นสูงให้ผู้ชม ผลักดันศิลปะแห่งสุขนาฎกรรม (Art of Comedy) จนขีดสุดข้อจำกัดยุคสมัยนั้น
เกร็ด: Woody Allen ยกให้ W. C. Fields คือหนึ่งในหก ‘genuine comic geniuses’ ร่วมกับ Charlie Chaplin, Buster Keaton, Groucho Marx, Harpo Marx และ Peter Sellers
เกร็ด 2:ในบรรดาภาพยนตร์ของ W. C. Fields มีเพียง It’s a Gift (1934) ได้รับการโหวตติดอันดับ 58 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Laughs นี่น่าจะการันตีว่าคือหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุด
ถ้าคุณจะเริ่มต้นรับชมผลงานของ W. C. Fields แนะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ It’s a Gift (1934) ก่อนเลยนะครับ สามารถค้นหาในเว็บ archive.com ไม่(น่าจะ)ติดลิขสิทธิ์ใดๆ แต่ถ้าไม่เก่งภาษาอังกฤษเท่าไหร่ก็อาจลำบากในการทำความเข้าใจพอสมควร … ถ้าคุณชื่นชอบการดูหนังจริงๆ อยากเปิดโลกทัศน์ให้กว้างกว่านี้ ก็แค่ร่ำเรียน/ฝึกฝนภาษาอังกฤษให้เก่งๆนะครับ อย่าหาข้ออ้างอื่นมันฟังขึ้นหรอก
จัดเรต pg กับมุกเสื่อมๆ ขี้เมา แกล้งเด็ก เตะหมา
Leave a Reply