It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963) hollywood : Stanley Kramer ♥♥♥♥♡

ภาพยนตร์ Epic Comedy ถ่ายทำด้วย Ultra Panavision งานภาพอลังการขนาดเดียวกับ Lawrence of Arabia (1962) แต่อัดแน่นยัดเยียดไปด้วยนักแสดง เริ่มจากคนปกติ 5 คน พอได้ยินที่ซ่อนสมบัติเงิน $350,000 เหรียญ ต่างเกิดความโลภละโมบจนกลายเป็นฝูงคนบ้า ออกเดินทางแข่งขันทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย จะได้ครอบครองเงินก้อนนี้แต่เพียงผู้เดียว, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมค่อนข้างทึ่งและคลั่ง กับความบ้ายกกำลังสี่ของหนังเรื่องนี้ ที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ Ultra Panavision ในการสร้างโลกอันวิปริตสุดพิศดารไร้ซึ่งความศิวิไลซ์ ฝูงมนุษย์ราวกับห่าแร้ง รุมทึ้งจ้องจองเวร เพื่อครอบครองสมบัติเงินก้อนหนึ่ง ไม่สนความถูกผิด ศีลธรรม มโนธรรม นำผลประโยชน์ความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง, มันต้องยิ่งใหญ่ขนาดนี้เท่านั้น ถึงจะสะท้อนเสียดสีตีแผ่สันดาน ‘ความโลภ’ ของมนุษย์ออกมาได้อย่างถึงกึ๋น

แต่ว่าไปก็น่าสงสัย ผมแทบไม่เคยเห็นหนังเรื่องนี้ติดอันดับ Greatest Comedy of All Time ชาร์ทไหนๆเลย แสดงว่ามักถูกมองข้าม Underestimate หลงลืมเลือนตามกาลเวลา ทั้งๆที่ส่วนตัวมองว่าหนังมีความยิ่งใหญ่คลาสสิก เทียบเท่า Some Like It Hot (1959) หรือ Dr. Strangelove (1964) ได้อย่างสบายๆ

เกร็ด: โปสเตอร์หนังเรื่องนี้วาดโดย Jack Davis นักวาดการ์ตูนสัญชาติอเมริกันในตำนาน, สังเกตว่าตัวละครที่วาดมักมีลักษณะหัวใหญ่ ขาลีบ และเท้าใหญ่กว่าหัว นี่เป็นการสะท้อน’สันดาน’ ความเป็นมนุษย์ออกมา

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดจากนักเขียนสัญชาติอเมริกา William Rose ขณะอาศัยอยู่ในอังกฤษ เกิดแนวคิดเกี่ยวกับพล็อตหนังตลกไล่ล่าในประเทศสก๊อตแลนด์ ตั้งชื่อโปรเจคว่า So Many Thieves ตามด้วย Something a Little Less Serious นำไปเสนอ Stanley Kramer เกิดความสนใจต้องการกำกับเองด้วย และเปลี่ยนสถานที่ดำเนินเรื่องเป็นอเมริกา มีชื่อ Working Title อาทิ  Where, But In America? ตามด้วย One Damn Thing After Another ก่อนมาจบที่ It’s a Mad World แล้วเพิ่ม Mad เข้าไปเน้นย้ำจนรู้สึกเพียงพอดีที่ 4 คำ

แซว: ผมว่ามันควร 5 Mad มากกว่านะ เพราะแรกสุดมีผู้ชาย 5 คน ที่ได้ยินสถานที่ซ่อนสมบัติ

Stanley Earl Kramer (1913 – 2001) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York City ในชุมชน Hell’s Kitchen ขึ้นชื่อเรื่องกลุ่มแก๊งค์อันธพาล ครอบครัวเป็นชาว Jews แม่ทำงานเป็นพนักงานใน Paramount Picture ส่วนลุงอยู่ Universal Pictures, โตขึ้นเข้าเรียน New York University เป็นสมาชิกของ Pi Lambda Phi ระหว่างนั้นทำงานเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ เก็บเงินส่งเสียตัวเองเรียนกฎหมายจนจบ

สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อยู่หน่วย Signal Corps มีโอกาสร่วมงานสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อกับ Frank Capra, Anatole Litvak จนได้ยศ First Lieutenant จบออกมาหางานไม่ได้เลยเปิดสตูดิโอสร้างหนังเสียเอง เริ่มต้นจากเป็นโปรดิวเซอร์ So This Is New York (1948), Champion (1949) ฯ

ในยุคที่โปรดิวเซอร์เป็นใหญ่สุดของการสร้างหนัง Kramer ได้ปฏิวัติทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับระบบสตูดิโอ ในแนวทางเรียกว่า Independent (หรือหนัง Indy นั่นเอง) โปรดิวเซอร์ให้เสรีภาพแก่ผู้กำกับอย่างเต็มที่ ไม่เรื่องมากจู้จี้ขี้บ่น แต่ก็มีการถกเถียงกันบ้าง แต่เน้นต่อรองประณีประณอมมากกว่าถึงขั้นหัวเด็ดตีนขาด, นี่ทำให้ขนาดผู้กำกับมากประสบการณ์ Fred Zinnemann ย้องต้องพูดเอ่ยปากชมการทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ของ Kramer หลังจากการร่วมงานเรื่อง The Men (1950) และ High Noon (1952)

“They struck me as being enormously efficient. Kramer was very inventive in finding quite unlikely sources of finance … This method of outside financing … was truly original and far ahead of its time. There were no luxurious offices, no major-studio bureaucracy, no small internal empires to be dealt with, no waste of time or effort … I was enthusiastic about this independent setup and the energy it created.”

Kramer เริ่มต้นกำกับภาพยนตร์ด้วยตัวเอง หลังออกจากภายใต้ร่มเงาของ Columbia Pictures เรื่อง Not as a Stranger (1955) นำแสดงโดย Olivia de Havilland, Robert Mitchum, Frank Sinatra แม้ยังเป็นการลองผิดลองถูก เสียงวิจารณ์ก้ำกึ่ง แต่ทำเงิน Smash Hit

ความสนใจของ Kramer สร้างภาพยนตร์ที่เรียกว่า ‘Message film’ หรือ Social Problem นำเสนอปัญหาของสังคม บริบทที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะใน Hollywood อาทิ
– Racism การเหยียดผิว/สัญชาติ เรื่อง The Defiant Ones (1958), Guess Who’s Coming to Dinner (1967)
– สงครามนิวเคลียร์ เรื่อง On the Beach (1959)
– creationism vs. evolution เรื่อง Inherit the Wind (1960)
– Fascism เรื่อง Judgment at Nuremberg (1961)
ฯลฯ

‘Smiler’ Grogan (รับบทโดย Jimmy Durante) อดีตผู้ต้องโทษเป็นที่ต้องการตัวของตำรวจ มีชื่อเสียงจากการปล้นโรงงานผลิตทูน่าเมื่อ 15 ปีก่อน กำลังอยู่ในช่วงหลบหนี ขับรถซิ่งแซงแหกโค้งตกลงบริเวณ State Highway 74 ใกล้ๆ Palm Springs, California มีผู้ชาย 5 คน จากรถ 4 คัน วิ่งลงมาช่วยประกอบด้วย
– หมอฝัน Melville Crump (รับบทโดย Sid Caesar)
– คนขับรถขนของย้ายบ้าน Lennie Pike (รับบทโดย Jonathan Winters)
– Dingy Bell (รับบทโดย Mickey Rooney) กับเพื่อนคู่หูกำลังเดินทางไป Las Vagas
– Benjy Benjamin (รับบทโดย Buddy Hackett) กับเพื่อนคู่หูกำลังเดินทางไป Las Vagas
– J. Russell Finch (รับบทโดย Milton Berle) ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของ Pacific Edible Seaweed Company ที่ Fresno

แต่ก่อนที่ Smiler จะสิ้นลม ได้กล่าวถ้อยคำสุดท้ายบ่งบอกทั้ง 5 ถึงที่ซ่อนเงิน $350,000 เหรียญ [ถ้าเทียบกับปัจจุบันปี 2015 เห็นว่าประมาณ $2.7 ล้านเหรียญ] ฝังอยู่ Santa Rosita State Park ใกล้ๆชายแดน Mexican ภายใต้อะไรสักอย่าง ตัว ‘W’ ใหญ่ๆ

ด้วยเงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ใครได้ยินเป็นหูพึ่ง ในตอนแรกก็ปากว่าตาขยิบ ฉันไม่สนหรอก แต่สุดท้ายก็ชัดเจนว่าพวกเขามีความใคร่สนใจอยากรู้ ต่อมาก็วางแผนแบ่งเงินกันอย่างเท่าเทียม แต่แล้วความโลภก็ไม่เข้าใครออกใคร กลายเป็นการแข่งขัน ใครถึงก่อนก็เป็นผู้ชนะไป

เรื่องราวไปเข้าหู Captain T.G. Culpeper (รับบทโดย Spencer Tracy) ตำรวจเจ้าของคดี Smiler ที่ติดตามมาตลอด 15 ปี ได้สังเกตคาดเดาพฤติกรรมของพวกเขาทั้งหลาย รับรู้ความตั้งใจและต้องการจะปิดคดีนี้เพื่อหวังเงินบำนาญก้อนโต แต่พอรู้ว่าไม่มีวันได้แน่และกำลังถูกภรรยาฟ้องหย่า จึงได้ตัดสินใจทำตัวเนียนเป็นหนึ่งในผู้เล่น (ทั้งๆที่ในชีวิตไม่เคยคอรัปชั่นสักครั้ง) ร่วมแย่งชิงเงินก้อนโตนี้ แต่จะสำเร็จสมดังหมายหรือไม่…

หนังได้รวบรวมดารามีชื่อมากมาย จากทั้งวงการภาพยนตร์, โทรทัศน์, Broadway ฯ ที่สามารถเล่นตลกได้ นำมาเฮฮาปาร์ตี้ ปล่อยไก่ โชว์ของ แต่ละคนก็จะมีช่วงเวลาไฮไลท์ของตนเองที่โดดเด่นไม่แพ้กัน เรียกเสียงหัวเราะ ลุ้นระทึกให้กับผู้ชม ใครจะไปถึงเส้นชัยก่อน และใครจะได้ครอบครองสมบัติเงินก้อนนี้

เกร็ด: นักแสดงทั้งหลายจะได้รับบทหนังสองฉบับ หนึ่งคือบทพูดล้วนๆ และอีกหนึ่งคือ บทสำหรับท่าทางการเล่นตลก (physical comedy)

Spencer Tracy (1900 – 1967) ถือเป็นนักแสดงชื่อใหญ่สุดของหนัง ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ด้วยปัญหาสุขภาพเลือกจะร่วมงานเฉพาะกับ Stanley Kramer จาก 4 ใน 5 เรื่องสุดท้าย ประกอบ Inherit the Wind (1960), Judgment at Nuremberg (1961), It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963) และ Guess Who’s Coming to Dinner (1967) [เรื่องสุดท้ายถ่ายเสร็จก่อนเสียชีวิต 17 วัน]

รับบท Captain T.G. Culpeper ที่ทั้งชีวิตมีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การงาน กำลังจะเกษียณอายุอีกไม่กี่วัน ต้องการปิดงานใหญ่ส่งท้าย แต่ชีวิตไม่ง่ายดังฝัน … อาจมีคนคิดว่าแก่ปูนนี้แล้วจะยังเกิดความโลภละโมบเอาเงินไปทำอะไร? คนแก่ก็ต้องใช้เงินเหมือนกันนะครับ แม้ไม่ใช่เพื่อทำความฝันอันเลิศหรูแบบวัยรุ่นหนุ่มสาว แต่เพื่อการพักผ่อนรอวันตายที่ไม่ต้องอิดๆออดๆ ทนทุกข์ยากลำบากวิตกกังวลเรื่องเงินทอง

Tracy เป็นนักแสดงที่ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า เพราะประสบการณ์สะสมทำให้สันชาติญาณการแสดงมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าตอนหนุ่มที่ยังหล่อๆ (2 รางวัล Oscar: Best Actor ที่ได้มาตอนก่อนอายุ 40 ปี) นี่คงทำให้ตัวเขามีความท้อแท้เล็กๆ แต่ไม่เคยสิ้นหวังเหมือนตัวละครนี้แน่ กระนั้นใบหน้าอันละเหี่ยห้อยหมดเรี่ยวแรง คงมีแต่ Tracy กระมังที่แสดงออกมาได้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าความเป็นธรรมชาติ

สำหรับนักแสดงแย่งซีนสุดของหนังคือ Ethel Merman (1908 – 1984) นักแสดงหญิง/นักร้องสัญชาติอเมริกัน ปกติเป็นนักร้องประจำของ Broadway Musical แสดงภาพยนตร์บ้างประปราย,

รับบท Mrs. Marcus ‘มนุษย์แม่’ ที่แบบว่าเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจมากๆ ตัวเองมีกินเพียงพอดีแล้วแต่โลภละโมบอยากได้เงิน … ก็ไม่รู้เอาไปทำอะไร ไม่แปลกเลยที่ลูกชายคนเล็ก Sylvester Marcus (รับบทโดย Dick Shawn) จะมีความเพี้ยน บ้าบอคอแตกได้ขนาดนั้น

นึกถึง Sylvester Marcus ก็ต้องพูดถึงชู้รักนักเต้นสาวไร้นาม (รับบทโดย Barrie Chase) สวมบิกินี่เต้นหน้าตายได้แบบว่า Oh My God! เซ็กซี่สุดๆเลย

ถ่ายภาพโดย Ernest Laszlo ตากล้องสัญชาติ Hungarian ขาประจำในหนังของ Kramer ผลงานเด่น อาทิ Stalag 17 (1953), Inherit the Wind (1960), Judgment at Nuremberg (1961), Ship of Fools (1965), Fantastic Voyage (1966), Airport (1970) ฯ

หนังถ่ายทำด้วย Ultra Panavision ขนาด 70 mm ที่สามารถออกฉายใน Cinerama โรงภาพยนตร์จอโค้งที่โดยปกติใช้ 3 เครื่องฉายพร้อมกัน (ใช้ฟีล์ม 3 ม้วนด้วยนะ) แต่นี่เป็นเรื่องแรกที่ใช้เครื่องฉายเดียวได้ภาพกว้างใหญ่เต็มจอสมจริง, นึกภาพไม่ออกก็สังเกตจากรูปดูนะครับ

เกร็ด: Cinerama คือโรงภาพยนตร์จอโค้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงช่วงทศวรรษ 60s มักฉายหนัง Epic ที่ถ่ายทำด้วยฟีล์มขนาด 70mm แทบทุกเรื่อง ให้สัมผัสน่าจะยอดเยี่ยมสมจริงกว่าโรงหนังจอแบนธรรมดา ปัจจุบันแทบจะไม่หลงเหลือได้รับความนิยมอีกต่อไป แต่ก็มีหนังเรื่องล่าสุดที่สร้างเพื่อฉาย Cinerama โดยเฉพาะคือ The Hateful Eight (2015)

แซว: แต่ก็ไม่แน่นะครับ โรง Cinerama ในอนาคตอาจหวนกลับมาได้รับความนิยมก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้โทรทัศน์จอโค้งเริ่มขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถ้ากระแสมาแรงก็อาจมีโอกาสได้เห็นกันอีก

Lawrence of Arabia (1962) ใช้ประโยชน์จากความกว้างใหญ่อลังการของ Panavision ไปกับความสวยงามของวิวทิวทัศน์ ผืนทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา, สำหรับ It’s a Mad Mad Mad Mad World ใช้ประโยชน์ของ Panavision ด้วยการยัดเยียดใส่ตัวละครทั้งหมดเข้าไปในช็อตเดียว ให้สัมผัสได้ราวกับ ‘โลกของพวกเขา’ หรือ ‘โลกที่เต็มไปด้วยผู้คนมีแต่ความโลภ’

ตอนแรกมีกลุ่มของผู้ชาย 5+1 คน

เพิ่มสาวๆเข้ามากลายเป็น 5+3 คน, ผมเลือก 2 ช็อตนี้เพราะอยากให้สังเกตเปรียบเทียบกัน จะมีหญิงสาวคนหนึ่ง Emmeline Marcus-Finch (รับบทโดย Dorothy Provine) ภาพแรกเธอหลบอยู่หลังแม่ Mrs. Marcus ที่อยู่ตรงกึ่งกลางภาพอย่างมิดชิด (เรียกว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาล โลกต้องหมุนรอบฉัน) มีนัยยะถึงความไม่ได้สนใจในเงินๆทองๆ แล้วอยู่ดีๆเธอก็โผล่ปรากฎตัวออกมาพูดว่าในภาพสอง ‘เราควรบอกเรื่องนี้กับตำรวจนะ’ ถือเป็นอีกหนึ่งมุมมองของความสนใจในเงิน Emmeline ไม่ได้มีความอยากละโมบโลภนำเงินไปใช้ เพราะมันไม่ใช่ของๆตน ก็ควรนำไปส่งมอบเป็นของสาธารณะสิ

ปล. ช็อตนี้เก็บรถจอดข้างหลังครบทั้ง 4 คันด้วยนะครับ (นี่ไม่ใช่แค่มนุษย์สินะ) และทุกคนจะยืนประจำตำแหน่งรถของตนเอง

ช็อตนี้มี 13 คนชะโงกหน้าสลอน กำลังเฝ้าลุ้นมองสิ่งขุมทรัพย์ที่กำลังถูกขุดค้นพบ

และนี่คือช็อตที่รวมผู้เล่นหลักทั้งหมด 14 คนไว้ด้วยกัน

มันเป็นความบ้าคลั่งระดับหนึ่งเลย ที่สามารถทำให้นักแสดงทุกคนเข้าฉากอยู่ร่วมกันในช็อตเดียวได้ แต่นั่นยังไม่ที่สุดนะครับ ระหว่างพวกเขาทั้งหลายแก่งแย่งชิงกระเป๋าใส่เงินจนติดแหลกอยู่ตรงบันไดหนีไฟที่กำลังพังทลายลง ด้านล่างมีผู้ชมเชียร์อีกกว่านับร้อยนับพัน (น่าอายไหมนิ)

งานภาพสวยงามอลังการขนาดนี้ แต่ไม่สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Color เพราะมี Cleopatra [ที่คว้ารางวัลไป] กับ How the West Was Won ถือเป็นปีสายแข็งจริงๆ

ตัดต่อโดย Frederic Knudtson, Robert C. Jones, Gene Fowler Jr. ที่ต้องใช้ถึงสามคนก็ไม่แปลกอะไร เพราะหนังมีความยาวระดับมหากาพย์ เรื่องราวยิบย่อยเต็มไปหมด จำเป็นต้องให้หลายๆคนเข้ามาช่วยกันทำงาน,

หนังไม่มีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษ แต่เป็นตัวละครหลักทั้ง 5 ที่ค่อยๆขยายเพิ่มเป็น 8 เป็น 10 และสุดท้าย 14 คน นำเสนอคู่ขนานกันอย่างเท่าเทียม ตัดสลับไปมาในเรื่องราวของตน ไม่มีใครโดดเด่นกว่ากัน

ไฮไลท์การตัดต่ออันน่าทึ่ง เกิดขึ้นก่อนถึง Intermission พวกเขาทั้ง … (กี่คนแล้วก็ไม่รู้) จับพลัดจับพลูตกอยู่ในสถานการณ์เป็นตายจากความรีบร้อนรน ผิดพลาดของตนเองทั้งนั้น อาทิ บนอากาศ (กำลังขับเครื่องบินอยู่), รถจอดเสีย, รถจมน้ำ, ถูกขังในห้องใต้ดิน ฯ มีการตัดต่อสลับทุกเหตุการณ์ไปมา เร่งความเร็วขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นอารมณ์ลุ้นระทึก ก่อนเฟดเข้าจอดำขึ้นคำว่า Intermission, นี่เป็นการค้างคาอารมณ์ความเร้าใจได้อย่างสุดติ่ง แถมชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามระหว่างเดินไปเข้าห้องน้ำ พวกเขาเหล่านี้ตกอยู่ในสถานการณ์ “บ้าบอคอแตก” เหล่านี้ได้อย่างไร!

ใครเผลอลุกไปเข้าห้องน้ำช่วงนี้ก็ซวยเลยละครับ หนังมีเสียงบรรยายรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าของแต่ละคน ขณะจอภาพยังสีดำอยู่ด้วย, ปกติแล้ว Intermission ไม่มีหนังเรื่องใดๆเล่นยียวนแบบนี้ มักเปิดเพลงประกอบเพราะๆให้ฟังสบายผ่อนคลาย ผู้กำกับ Kramer มีความกวนบาทาอยู่ไม่น้อยเลย

เพลงประกอบโดย Ernest Gold อีกหนึ่งขาประจำของ Kramer เพิ่มคว้ารางวัล Oscar: Best Original Score จากเรื่อง Exodus (1960), งานเพลงก็มีความกวนบาทาใช่เล่นเหมือนกัน เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครื้นเครง เร้าใจ ราวกับกำลังเดินเที่ยวสวนสนุก/งานวัด สอดคล้องเข้ากับจังหวะของหนัง ฮากลิ้งขำกระจาย

ก่อนที่ทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้น จอภาพสีดำสนิท บทเพลงชื่อ It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World คำร้องโดย Mack David ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Song, การออกเสียง Mad Mad Mad Mad จะมีลูกเล่นที่แทบไม่ซ้ำกันเลย คล้ายๆการผันวรรณยุกต์ของภาษาไทย ทำให้มีความโดดเด่นมากเลยทีเดียว

Main Theme มาในจังหวะ Waltz เป็นการสร้างอารมณ์ตั้งต้นให้กับหนัง เปิดพร้อมกับอนิเมชั่น Title Sequence สร้างสรรค์โดย Saul Bass ผู้เป็น graphic designer ในตำนาน อยู่เบื้องหลังฉากเปิด/ใบปิดของ The Man with the Golden Arm (1955), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Anatomy of a Murder (1959), Psycho (1960) ฯ จดจำชื่อนี้ไว้ให้คุ้นๆหูหน่อยก็ดีนะครับ

ใครที่ตั้งใจฟังเสียงประกอบหนัง น่าจะรับความรู้สึกได้ว่า ช่วงท้ายๆที่เมื่อเหล่าผู้เล่นหลักทั้ง 14 คนรวมตัวกัน มันช่างมีความสับสนวุ่นวายอลม่าน หนวกหูเสียเหลือเกิน ก็ไม่รู้ปากของพวกเขาขยับหรือเปล่า แต่เสียงที่ดังขึ้นมันจะงึมงัม พึมพับ บ่นโน่นนี่อะไรก็ไม่รู้อยู่ตลอดเวลา จริงๆก็แอบรำคาญอยู่นะ แต่มันคือ Sound Effect ที่โดดเด่นขนาดคว้า Oscar: Best Effects, Sound Effects เลยนะครับ

อกุศลมูล (อกุศล=ความชั่ว, มูล=รากเหง้า) รากเหง้าแห่งความชั่ว ความไม่ฉลาด หรือต้นตอที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำทุจริต กาย-วาจา-ใจ มีด้วยกัน ๓ อย่างคือ โลภะ, โทสะ, โมหะ

หนังเรื่องนี้กล่าวถึง โลภะ ความอยากได้ ครอบครอง สิ่งของคนอื่นมาเป็นเจ้าของ หรือต้องการให้ตนมีเหมือนหรือมากกว่าผู้อื่น, ความอยากได้ ถือเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งปวง อันประกอบด้วย
๑. รติ แปลว่า ความชอบใจ
๒. อิจฉา แปลว่า ความอยากได้
๓. มหิจฉา แปลว่า ความอยากใหญ่
๔. ปาปิจฉา แปลว่า ความอยากได้โดยวิธีเลวๆ
๕. โลภะ แปลว่า ความอยากได้โดยวิธีทุจริตผิดศีลธรรม

ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปมักมีอกุศลมูลทั้งสามเป็นพื้นฐาน ตราบใดยังไม่สามารถตัดขาดกิเลสความต้องการได้ก็ต้องวนเวียนท่องอาศัยอยู่ในวัฏสังสารเรื่องไป, สำหรับวิธีแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ลดจากความโลภ คือใช้สติระลึกรู้ในตน หัดระงับความต้องการ เรียนรู้จักการใช้ชีวิตเพียงพอดี (เศรษฐกิจพอเพียง) และไม่หลงงมงายในสิ่งต่างๆ

ของแบบนี้มันพูดง่ายแต่ทางปฏิบัติทำยากมาก เพราะยุคสมัยนี้ ‘เงิน’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต, ในมุมของหนังนี้ มองได้เป็นการเสียดสี ตีแผ่ สะท้อนค่านิยมของชาวอเมริกาในยุค ‘ทุนนิยม’ เพราะแทบทุกคนที่อาศัยภายใต้แนวคิดนี้ ล้วนมีความต้องการเงินๆทองๆ เป็นปัจจัยพื้นฐานขึ้นมาก่อน เมื่อมีมากเพียงพอแล้วถึงค่อยแสวงหาความสุขด้านอื่น นี่ไม่ใช่แนวคิดที่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป

โลกที่ผู้คนเต็มไปด้วยความละโมบโลภมาก แก่งแย่งชิงดี เห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ที่สร้างมาเพื่อสะท้อนให้เห็นความน่ารังเกลียด อัปลักษณ์พิศดาร ไร้ความศิวิไลซ์ ตั้งคำถามโลกแบบนี้มันน่าอยู่ตรงไหน? จริงอยู่เราอาจหัวเราะสนุกสนานครื้นเครง แล้วหันมองดูตัวเองบ้างหรือเปล่า คุณทำตัวแบบพวกเขาไหม

ตัวละครต่างๆในหนัง ต่างมีเหตุผลความโลภ/ความต้องการเงิน ด้วยความจำเป็นบางอย่าง อาทิ
– Captain T.G. Culpeper ต้องการเงินก้อนนี้ เพื่อแทนที่บำนาญของตน แก่แล้วอยากอยู่สบายๆไร้กังวล
– หมอฟัน Melville Crump ต้องการเงินก้อนนี้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง คนอื่นไม่มีใครเห็นค่าของการแบ่งสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียม ก็ต้องไม่มีใครได้มันนอกจากฉัน
– คนขับรถบรรทุกขนย้าย Lennie Pike ต้องการนำเงินไปตั้งตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่
– สองพี่น้อง Dingy Bell และ Benjy Benjamin ไม่ได้บอกเหตุผล แต่เพราะพวกเขากำลังจะไป Las Vegas แน่นอนคงเอาเงินไปถลุงเล่น
– J. Russell Finch นำเงินไปใช้หนี้สินบริษัทของตนเอง
– Emmeline Marcus-Finch ตอนแรกอยากนำเงินไปให้ตำรวจ เพราะไม่ใช่เงินของตน แต่ภายหลังมีความฝันต้องการนำไปใช้ชีวิต อยู่ตัวคนเดียว ไม่ต้องพึ่งพิงใคร
– Mrs. Marcus น่าจะถือว่าเป็นความโลภล้วนๆ มีเงินเยอะอยู่แล้วไม่ได้เอาไปทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
ฯลฯ

เอาจริงๆพวกเขาทั้งหมดสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินก้อนนี้ แต่กลับหน้ามืดฟ้ามัวดิน เห็นผิดเป็นชอบ กระทำทุกอย่างโดยไม่สนใจผลกระทบสืบเนื่องที่จะตามมา, หลายตัวละครได้กระทำการแบบว่า ต่อให้เอาเงินที่ได้มาไปใช้หนี้ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ
– หมอฟัน Melville Crump เผาทำลาย ระเบิดตึก ห้องใต้ดิน
– คนขับรถบรรทุกขนย้าย Lennie Pike พังร้านซ่อมรถ/ปั๊มน้ำมันเปิดใหม่
– สองพี่น้อง Dingy Bell และ Benjy Benjamin ขับเครื่องบินชนโน่นชนนี่ (อาจทำให้เจ้าของเครื่องบิน Tyler Fitzgerald เสียชีวิตแล้วก็ได้)
– คนตระกูล Marcus-Finch พังรถ/ขโมยรถ หลายคันทีเดียว
ฯลฯ

สุดท้ายผลกรรมของพวกเขา ต่างติดอยู่ตรงบันไดหนีไฟ ไม่สามารถหาทางกลับออกมาได้โดยปกติ ต้องใช้บันไดหนีเพลิง ซึ่งก็ยังกรูกันเข้าไปอย่างเห็นแก่ตัวจนรับน้ำหนักไม่ไหว หมุนติ้วๆๆราวกับเครื่องเล่นในสวนสนุก ก่อนจะโยนพวกเขากระเด็นกระดอนไปคนละทิศทาง … ก็ไม่รู้ต่างรอดชีวิตกันมาได้อย่างไร

ตบท้ายด้วยมุกกล้วยที่สุดคลาสสิกแต่ขำกระจาย สิ่งต่างๆเกิดขึ้นผ่านมาแล้วย่อมไม่สามารถหวนกลับคืนไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มีแต่จะหัวเราะลั่นสมน้ำหน้าตนเองที่โง่เอง และจดจำฝังใจไว้จนวันตาย, ฉากจบนี้แม้จะตบมุกของหนังได้อย่างลงตัว แต่มันขาดความรับผิดชอบสังคมไปนิด เหมือนว่าพวกเขาจะไม่รู้สึกนึกสิ่งที่ตัวเองกระทำมาแม้แต่น้อย ก็เอาเถอะ น่าจะเรียกว่าได้รับผลกรรมไปตามความโลภของตัวเองถ้วนหน้าแล้ว

แม้หนังจะใช้ทุนสร้างเกินไปถึง $9.4 ล้านเหรียญ แต่แค่ในอเมริกาทำเงินได้ $46.3 ล้านเหรียญ กำไรเน้นๆ สูงเป็นอันดับ 3 ของปี ปรับค่าเงินสมัยปัจจุบันปี 2017 เท่ากับ $478.9 ล้านเหรียญ ยังคงติด Top 100 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลอยู่เลยนะครับ

เข้าชิง Oscar 6 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Cinematography, Color
– Best Film Editing
– Best Sound
– Best Effects, Sound Effects ** คว้ารางวัล
– Best Music, Original Song บทเพลง It’s a Mad Mad Mad Mad World
– Best Music, Score – Substantially Original

  • ฉบับ Original Cut ดั้งเดิมแรกสุดของหนัง ความยาว 210 นาที น่าเสียดายสูญหายไปแล้วตลอดกาล
  • รอบฉายปฐมทัศน์ Premiere Cut ตัดเหลือ 192 นาที,
  • ฉายจริงในโรงภาพยนตร์ Theatrical Cut ยาว 161 นาที,
  • เมื่อปี 2013, Criterion ร่วมกับ MGM, United Artists และผู้เชี่ยวชาญการบูรณะฟีล์มชื่อดัง Robert A. Harris ได้ทำการนำฟุตเทจที่หลงเหลือ ภาพนิ่ง และเสียงพากย์ของหนังที่ยังเก็บไว้ ตัดต่อเรียบเรียงใหม่ได้เป็นฉบับบูรณะ Restored Cut ที่ความยาว 197 นาที มีความใกล้เคียงต้นฉบับดั้งเดิมแรกสุด ถ้ามีโอกาสแนะนำให้หาฉบับนี้มารับชมนะครับ มีที่เป็น Deleted Scene คุณภาพไม่ดีมาก กับภาพนิ่งอยู่ปริมาณหนึ่ง แต่ไม่เลวร้ายระดับ A Star is Born (1954)

ส่วนตัวคลั่งไคล้กับความบ้าอลังการของหนังเรื่องนี้ ตราตรึงกับงานภาพที่จะต้องคอยนับตัวละครในช็อตอยู่ตลอดเวลา (ว่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่แล้ว) ลุ้นระทึกกับวิธีการเล่าเรื่อง คุมปริมาณได้อยู่หมัด และเพลงประกอบสุดตื่นเต้นเร้าใจ มุกแป๊กก็พอมีบ้างแต่สามารถมองข้าม แฝงสาระนี่สิ่งประทับใจสูงสุด

ระหว่างกำลังหัวเราะอย่างบ้างคลั่งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง ผมเกิดอาการจุกอก รู้สึกว่ามันแรงและตรงมากๆจนเกิดความฝังใจ ให้ตายเถอะ! ความโลภมันน่าอัปลักษณ์ได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ นี่คือคุณค่าของหนังที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” และขอแนะนำอีกสองเรื่องที่ผมได้เคยเขียนบทความถึงไปแล้วคือ Greed (1924) กับ The Treasure of the Sierra Madre (1948) ห้ามพลาดทั้งหมดเลย

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมความโลภจนหน้ามืดตามัว กระทำการอันบ้าคลั่งเสียสติ ไม่สนอะไรสักอย่าง

TAGLINE | “ผู้กำกับ Stanley Kramer สร้าง It’s a Mad Mad Mad Mad World ได้ Mad อย่างสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: