It’s a Wonderful Life (1946) hollywood : Frank Capra ♥♥♥♥♥

(24/12/2017) สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของชีวิต คือการได้เกิดมาบนโลก ตัวตนของเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทุกสิ่งอย่างรอบข้าง อย่าแม้แต่คิดจะทำลายมัน เพราะนั่นคือสิ่งเลวร้ายที่สุดในความเป็นมนุษย์, ภาพยนตร์สุดมหัศจรรย์แห่งเทศกาลคริสต์มาส ที่อาจทำให้ทัศนคติของการมีชีวิตของคุณเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมชอบหยิบเอา It’s a Wonderful Life มารับชมในช่วงเทศกาลสิ้นปีใหม่ ทุกครั้งจะมีคราบน้ำตาอาบรอยยิ้มกว้าง เป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วมีความอิ่มเอม สุขเกษมเปรมปรีดิ์ นอนหลับฝันดี และยังชวนให้ทบทวนถึงอุดมการณ์เป้าหมายชีวิต ‘ตั้งแต่เกิดมา ได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้างแล้วหรือยัง?’

แต่ใช่ว่า It’s a Wonderful Life จะเป็นหนังที่ Perfect สมบูรณ์แบบมาตั้งแต่ตอนออกฉาย เพราะช่วงเวลานั้นเพิ่มผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเพียงหมาดๆ ทำให้หนังถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามีใจความไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ ทำให้ขาดทุนย่อยยับ FBI มองว่าเป็นหนังคอมมิวนิสต์? แต่กาลเวลาได้แปรสภาพจากการหวนกลับมาฉายซ้ำๆ และพอมีปัญหาผิดพลาดเรื่องการถือครองลิขสิทธิ์เมื่อปี 1974 กลายเป็น Public Domain จึงกลายเป็นประเพณีของรายการโทรทัศน์ช่วงคริสต์มาสปีใหม่ ไม่ว่าช่องไหนก็ฉายได้เว้นแค่ฉบับ Colorization ที่อย่าไปเสียเวลาหามาดูเลยนะครับ ภาพขาว-ดำ นี่แหละ สวยงามคลาสสิกสุดแล้ว

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ มาจากเรื่องสั้นชื่อ The Greatest Gift (1939) เขียนโดย Philip Van Doren Stern (1900 – 1984) นักเขียนเรื่องสั้นสัญชาติอเมริกัน พยายามที่จะหาสำนักพิมพ์แต่ล้มเหลว เลยตัดสินใจทำเป็น Christmas Card จำนวน 200 เล่มแรก ส่งให้กับเพื่อนๆและครอบครัวเป็นของขวัญปีใหม่เมื่อเดือนธันวาคม 1943 ปรากฎว่าเรื่องไปเข้าหู David Hempstead โปรดิวเซอร์ของ RKO Picture ชื่นชอบในความคิดสร้างสรรค์ เลยขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงในราคาสูงถึง $10,000 เหรียญ ตั้งใจให้ Cary Grant นำแสดง แต่กลับพัฒนาบทหนังได้ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เลยต้องเอาขึ้นหิ้งไว้ ส่วน Grant หนีไปเล่นหนัง Christmas-themed อีกเรื่องคือ The Bishop’s Wife (1947) อะไรมันจะบังเอิญขณะนั้น

จริงๆถือว่านี่เป็นกระแสภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษนั้นเลยนะครับ เพราะหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 เหล่าทหารหาญกลับสู่มาตุภูมิ แต่ใช่ว่าจะทุกสิ่งอย่างจะหวนคืนสู่ภาวะปกติ เพราะหลายครอบครัวคงได้พบเจอความสูญเสียที่มิอาจประเมินได้ นี่เป็นช่วงเวลาของการร้องไห้ ซึมเศร้า ไว้ทุกข์ ภาพยนตร์จึงมักมีลักษณะ ‘เป็นกำลังใจ’ ให้สามารถลุกขึ้นก้าวเดิน มีชีวิตต่อไปได้

Frank Russell Capra ชื่อเดิม Francesco Rosario Capra (1897 – 1991) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Italian-American เกิดที่ Bisacquino, Sicily ตอนอายุ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่อเมริกาปักหลักที่ Los Angeles ฝั่งตะวันออก (ปัจจุบันคือ Chinatown) ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก่อนไปเรียน โตขึ้นเข้าเรียน California Institute of Technology สาขา Chemical Engineering สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ปลดประจำการออกมากลายเป็นพลเมืองอเมริกัน เร่ร่อนออกหางานทำได้ใบบุญจากโปรดิวเซอร์ Harry Cohn กลายเป็นนักเขียน ตัดต่อ ผู้ช่วย กำกับภาพยนตร์สามเรื่องแรกร่วมกับ Harry Langdon ก่อนฉายเดี่ยวเรื่อง For the Love of Mike (1927) มีชื่อเสียงโด่งดังจาก Lady for a Day (1933) ตามด้วย It Happened One Night (1934) หนังเรื่องแรกที่สามารถคว้า 5 รางวัลใหญ่ของ Oscar (Best Picture, Best Director, Best Actor, Best Actress, Best Screenplay) ตามด้วย Mr. Deeds Goes to Town (1936), Lost Horizon (1937), You Can’t Take It With You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941) ฯ

ผลงานของ Capra มักมีลักษณะ ‘fantasy of goodwill’ เต็มไปด้วยความบันเทิงแฝงสาระ หรือเรียกว่า ‘message film’ เพราะชีวิตของเขาเริ่มต้นจากสลัมไต่เต้าขึ้นเป็นเศรษฐีผู้ประสบความสำเร็จ (Rags-to-Riches) จึงมักมีส่วนผสมของ ‘American Dream’ รวมอยู่ด้วย มีชื่อเล่นเรียกว่า ‘Capra-corn’ หรือ ‘Capraesque’

สไตล์ทำงาน เป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบการ improvise แก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน้างานไปเรื่อยๆ ไม่ยึดติดถือมั่นกับสิ่งที่อยู่ในบทภาพยนตร์ เว้นแต่ Master Scene ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร วันหนึ่งๆรู้แค่นี้พอแล้ว

“What you need is what the scene is about, who does what to whom, and who cares about whom … All I want is a master scene and I’ll take care of the rest – how to shoot it, how to keep the machinery out of the way, and how to focus attention on the actors at all times.”

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากเหตุการณ์ Pearl Harbor, Capra ตัดสินใจสมัครทหารอีกครั้ง เพื่อสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ Propaganda เจ็ดเรื่องซีรีย์ Why We Fight ที่กลายเป็นตำนาน, หลังสงครามจบร่วมกับ William Wyler, George Stevens ก่อตั้ง Liberty Films ถือเป็นสตูดิโอ Indy แรกในยุคสมัยหนังเงียบที่ผู้กำกับสามารถเป็นโปรดิวเซอร์ได้เอง

ครั้งหนึ่ง Capra ได้แวะเวียนไปที่สตูดิโอ RKO มีโอกาสอ่านบท The Greatest Gift มองเห็นความเป็นไปได้ของหนัง จึงขอซื้อต่อลิขสิทธิ์ดัดแปลงสู่สตูดิโอ Liberty Films ร่วมงานกับนักเขียนประกอบด้วย Frances Goodrich, Albert Hackett, Jo Swerling, Michael Wilson, Dorothy Parker (สองคนหลังไม่รับเครดิต) ขัดเกลาบทหนังใหม่จนได้ฉบับที่น่าพึงพอใจ เปลี่ยนชื่อเป็น It’s a Wonderful Life

ค่ำคืน Christmas Eve ปี 1945 ที่เมือง Bedford Falls, New York, ชายหนุ่ม George Bailey (รับบทโดย James Stewart) กำลังคิดสั้นฆ่าตัวตาย เสียงคำอธิษฐานจากผู้คนมากมายดังขึ้นไปถึงสรวงสรรค์ ร้อนไป Clarence Odbody (รับบทโดย Henry Travers) เทวดาระดับ 2 (Angel 2nd Class) ได้รับมอบหมายให้ลงมาช่วยชีวิตชายผู้นี้ แต่ก่อนอื่นต้องไปย้อนทำความรู้จักเรื่องราวของเขากันเสียก่อน

James Maitland Stewart (1908 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania พ่อเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store คาดหวังให้เขาสืบต่อกิจการ ส่วนแม่เป็นนักเปียโน ทำให้ Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Princeton University โดดเด่นในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินจนได้ทุนการศึกษา แต่กลับสนใจชมรมการแสดง สนิทสนามรู้จักกับ Henry Fonda, Margaret Sullavan กลายเป็นนักแสดง Broadways แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ได้มีแมวมองของ MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938) ของผู้กำกับ Frank Capra, พลุแตกกับ Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Philadelphia Story (1940) ฯ

Stewart มีความสนใจเป็นนักบินตั้งแต่เด็ก หัดบินจนได้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 1935 พอถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องการสมัครเป็นกลายเป็นทหารอากาศแต่น้ำหนักตัวน้อยเกิน (พี่แกสูงเกินไปด้วยละ) เล่นเวทจนได้เข้าร่วม Air Corps ถือเป็นนักแสดง Hollywood คนแรกที่ได้สวมชุดทหาร ซึ่งระหว่างนั้นก็เป็นทั้งนักแสดง (รับบททหารอาหาร) และมีหน้าที่ Co-Pilot ขับเครื่องบินทิ้งระเบิด ผ่านน่านฟ้าประเทศ Germany

It’s a Wonderful Life คือผลงานแรกของ Stewart ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้น

รับบท George Bailey จากเด็กน้อยสู่ชายหนุ่มจนเป็นพ่อคน ชีวิตเต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน อยากออกท่องเที่ยวโลกกว้าง พบเจอผู้คน เปิดโลกทัศน์ของตนเอง แต่กลับมิได้เคยเลยสักครั้งย่างเท้าออกจาก Bedford Falls เพราะเมื่อใดกำลังจะเดินทาง พลันให้พบเจอกับเรื่องราวที่ตัวเขายากจะอดรนทน พบเห็นความเลวร้าย ผิดสำแดงที่บังเกิดขึ้นได้ จำต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้อื่นก่อนเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นคนเก็บกด จริงจัง ไม่มีเวลาให้พักผ่อนคลาย เมื่อเครียดมากๆก็พร้อมปะทุระเบิดออก พาลว่าร้ายกับโชคชะตาที่มิเคยเข้าข้างตนเอง โดยมิอาจทบทวนหวนระลึกถึงทุกสิ่งที่ตนเสียสละทำมา ให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นขนาดไหน

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้รับการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Heroes and Villains ฝั่งพระเอก George Bailey ติดอันดับ 9

ถึงจะเป็นการแสดงในยุค Classic แต่ต้องบอกว่านี่คือบทบาทอันทรงพลัง สมจริงจัง ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของ Jimmy Stewart โดยเฉพาะในฉากไคลน์แม็กซ์สุดท้าย ตั้งแต่หวนกลับคืนสู่ช่วงเวลาปัจจุบัน ดวงตาของเขาเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง สะท้อนรอยยิ้มที่ออกมาจากใจ ทำให้ผู้ชมน้ำตาไหลพรากๆ ราวกับได้พบปาฏิหารย์แห่งชีวิต เข้าใจแล้วเหตุผลที่ทำไปฉันถึงเกิดมาบนโลกใบนี้

ปีที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย ชื่อของ Jimmy อยู่ใน A-list ระดับ Superstar ของ Hollywood แล้วนะครับ แต่ยุคทองของเขาอยู่อีกทศวรรษถัดจากนี้ เริ่มจาก Rear Window (1954), Vertigo (1958), Anatomy of a Murder (1959), The Man Who Shot Liberty Valance (1962), How the West Was Won (1962) ฯ

และในบรรดาภาพยนตร์ทั้งหมด Jimmy มีความชื่นชอบประทับใจหนังเรื่องนี้เป็นที่สุด รู้ตัวเองว่าต้องได้เข้าชิง Oscar แน่ๆ แต่สาเหตุที่พลาดเพราะเขาเคยคว้ารางวัลนี้มาแล้วตอน The Philadelphia Story (1940)

Donna Reed ชื่อเดิม Donna Belle Mullenger (1921 – 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Denison, Iowa ในครอบครัว Methodist สมัยเรียนได้รับหนังสือ How to Win Friends and Influence People ที่สร้างอิทธิพลให้อย่างยิ่ง ทำให้มีความสนใจด้านการแสดง ได้รับการโหวตให้เป็น Campus Queen จบออกมาทดสอบหน้ากล้องเซ็นสัญญากับสตูดิโอ MGM มีผลงานเล็กๆน้อยๆมากมายในช่วงสงครามโลก ก่อนได้รับบทนำครั้งแรก It’s a Wonderful Life (1946), คว้า Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง From Here to Ethernity (1953) ฯ

รับบท Mary Hatch จากเด็กหญิงสู่นางสาว เป็นคนร่าเริงสนุกสนาน เพ้อฝันแฟนตาซี ชื่นชอบความคลาสสิก (อยากอยู่ในบ้านผีสิง) ในชีวิตมีความต้องการเพียงเดียวคือแต่งงานกับ George Bailey เมื่อได้เขามาครอบครองแล้ว ก็คอยสนับสนุนช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง มีลูกด้วยกัน 4 คน เป็นภรรยาดีไร้ที่ติ

บทแจ้งเกิดของ Reed ค่อนข้างจะ Stereotype ธรรมดาทั่วไปสักหน่อย ทำให้ถูกบอกปัดปฏิเสธจาก Jean Arthur, Ann Dvorak, Ginger Rogers (บอกว่า ‘too bland’) แต่ผมกลับชื่นชอบการแสดงของเธอนะ เพราะไม่ค่อยคุ้นหน้าด้วยกระมังเลยไม่โดดเด่นเกินหน้าเกินตากับ Jimmy Stewart แถมมีเสน่ห์มากๆต้องร้องเล่นเต้น Buffalo Gal ชักจูงจมูกตัวละคร George Bailey ได้น่าชังจริงๆ

“What is it you want, Mary? What do you want? You want the moon? Just say the word, and I’ll throw a lasso around it and pull it down.”

นี่เป็นประโยคแห่งความเพ้อฝันของ George Bailey ที่มีความโรแมนติกอย่างมาก ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ยังกล้าพูด กล้าฝัน นั่นทำให้ Mary Hatch ก็กล้าที่จะตกหลุมรักชายหนุ่มคนนี้

แซว: ประโยคนี้จงใจล้อกับบรรดาเทวดาบนสวรรค์ เพราะ George Bailey ราวกับได้ฉุดเอา Clarence Odbody (ต้นเรื่องเป็นดาวกระพริบอยู่บนฟากฟ้า) ดึงลงมาให้ตกน้ำ ทำให้ต้องกระโจนลงไปช่วยเหลือ

Travers John Heagerty หรือชื่อทางการแสดง Henry Travers (1874 – 1965) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Prudhoe, Northumberland โตขึ้นตั้งใจเป็นสถาปนิก แต่ไปๆมาๆกลับกลายเป็นนักแสดง มีชื่อเสียงจากละครเวที Broadway ก่อนย้านมาสู่ภาพยนตร์เรื่องแรก Reunion in Vienna (1933) คุ้นตาคุ้นตาใน The Invisible Man (1933), Shadow of a Doubt (1943), เกือบคว้า Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง Mr. Miniver (1942)

รับบท Clarence Odbody เทวดาชั้นสอง (Angel 2nd Class) ที่ยังไร้ปีก ได้รับมอบหมายภารกิจให้ช่วยเหลือ George Bailey จากการฆ่าตัวตาย ถ้าสำเร็จก็จะได้ปีกเป็นเทวทูตสมใจ แต่วิธีการของเขาค่อนข้างจะบ้าๆบอๆสักหน่อย

ภาพลักษณ์ของ Henry Travers คือผู้ใหญ่ใจดี ต้วมๆเตี้ยมๆ ความคิดอ่านจะเพี้ยนๆหน่อย แต่ได้ประสิทธิผลทันใจ กล่าวคือ George Bailey เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว ขณะกำลังคิดกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่ถ้าพบเจอคนตกน้ำว่ายไม่เป็น เขาคงต้องเลือกช่วยเหลือชีวิตคนอื่นก่อนคิดทำอะไรกับตนเองอย่างแน่นอน

“Every time you hear a bell ring, it means that some angel’s just got his wings.”

นี่เป็นอีกประโยคหนึ่งของหนังที่ก็ไม่รู้ไปอ้างอิงจากไบเบิลฉบับไหน กลายเป็นคำฮิตติดปาก มีคนตั้งใจฟังพบว่ามีเสียงกระดิ่งดังขึ้นในหนัง 42 ครั้ง

Lionel Barrymore ชื่อเดิม Lionel Herbert Blythe (1878 – 1954) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน มีศักดิ์เป็นลุงทวดของ Drew Barrymore เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania พ่อ-แม่เป็นจิตรกร แต่ตัวเขาเติบโตขึ้นกับทวดที่เป็นนักแสดง เลยถูกบังคับให้เป็นเล่นละครเวทีตั้งแต่อายุ 15 เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากการชักชวนของ D. W. Griffith มีผลงานร่วมกันหลายเรื่อง (ส่วนใหญ่สูญหายไปแล้ว) ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูดด้วยความเริ่มมีอายุสูงวัย เลยไม่ต้องดิ้นรนปรับตัวอะไรมาก คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง A Free Soul (1931), ผลงานอื่นๆ อาทิ The Mysterious Island (1929), Grand Hotel (1932), Captains Courageous (1937), You Can’t Take It with You (1938) ฯ

รับบท Mr. Henry F. Potter นายธนาคารที่สนแค่เรื่องเงินๆทองๆ สถานะโสด (คงเพราะไม่ต้องการหาภรรยาที่นำเงินของเขาไปผลาญเล่น) ทำธุรกิจต้องการฮุบ Bedford Falls เป็นของตนเองเบ็ดเสร็จ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Pottersville แต่ติด Building and Loan ของตระกูล Bailey ค้ำคอไว้ ทำให้ค่อยๆสูญเสียรายได้และความน่าเชื่อถือ ครั้งหนึ่งจึงพยายามซื้อตัว George Bailey ใช้เงินล่อจำนวนมหาศาล $20,000 เหรียญ (ปี 2016 =$247,000 เหรียญ ) แต่ก็ถูกจับได้ไล่ทัน และอีกครั้งครอบครองเงินฝากจำนวน $8,000 เหรียญ ของ Uncle Billy ลุงขี้หลงลืม แสดงความทุจริตคอรัปชั่นของตนเองแบบไม่สนอะไรทั้งนั้น

เกร็ด: ตัวละครนี้ได้รับการจัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Heroes and Villains ฝั่งตัวร้าย Mr. Potter ติดอันดับ 6

หางเร่นักแสดงที่ได้รับการพิจารณาบทนี้ อาทิ Edward Arnold, Charles Bickford, Edgar Buchanan, Louis Calhern, Victor Jory, Raymond Massey, Vincent Price, Thomas Mitchell ก่อนมาลงเอยที่ Lionel Barrymore เพราะเคยร่วมงานกับ Capra เรื่อง You Can’t Take It with You (1938) และยังเป็นเจ้าของเสียง Ebenezer Scrooge ตัวร้ายที่โด่งดังในละครวิทยุ A Christmas Carol

นี่เป็นตัวร้ายที่มีความชั่วช้าสาสามานย์สมบูรณ์แบบ ทั้งสำเนียงการพูด เล่นถ้อยคำลีลาประสาทแดก การขยับใบหน้ายักคิ้วหลิ่วตา ท่าทางการเคลื่อนไหว แม้ขณะนั่งรถเข็น พบเจอปรากฎตัวทีไรชวนให้เกลียดขี้หน้าเข้าไส้, ถือเป็นบทบาทการแสดงได้รับการจดจำที่สุดของ Lionel Barrymore ก็ว่าได้

ผมละโคตรชอบเก้าอี้ที่ Mr. Potter ให้ George Bailey นั่งลง มันแสดงความเย่อหยิ่งทะนง มองตนเองสูงส่งกว่าผู้อื่น ใครก็ตามที่มาติดต่อธุรกิจจำต้องนั่งให้ระดับต่ำกว่าโต๊ะ มิสามารถประชันโงหัวตัวเองเพื่อต่อรองความเท่าเทียมกันได้

ถึงบุคคลนี้จะร่ำรวยที่สุดในเมือง Bedford Falls แต่ขณะเดียวกันคือผู้ยากจน ไร้เพื่อนสนิทคิดคบหา แม้แต่คนรับใช้ข้างกายก็เถอะ ถ้าไม่ใช่เพราะรับเงินมาคงไม่จงรักภักดีขนาดนั้น ตรงกันข้ามกับ George Bailey

“To my big brother George, the richest man in town!”

คำพูดนี้ของน้องชาย Harry Bailey (รับบทโดย Todd Kams) ความรวยของ George ไม่ใช่เงินทอง แต่คือเพื่อนฝูง และน้ำใจไมตรีที่มีให้กันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สิ่งนามธรรมที่แม้จะไม่ทำให้อิ่มท้อง แต่กลับอิ่มอกอิ่มใจ

ถ่ายภาพโดย Joseph Walker (1892 – 1985) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ที่ก่อนหน้าเข้าสู่วงการเป็นวิศวกรประดิษฐ์โทรศัพท์ไร้สาย ถ่ายภาพสารคดีกาชาดในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ผันตัวเป็นตากล้องภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1919 ถือเป็นขาประจำของ Capra ร่วมงาน 20 ครั้งตั้งแต่ Ladies of Leisure (1930), เข้าชิง Oscar: Best Cinematography 4 ครั้งไม่เคยได้รางวัล You Can’t Take It with You (1938), Only Angels Have Wings (1939), Here Comes Mr. Jordan (1941), The Jolson Story (1946)

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำที่สตูดิโอของ RKO Radio Pictures Studio ที่ Culver City, California มีการสร้าง Bedford Falls ขึ้นมาทั้งเมือง ด้วยการปรับปรุงพัฒนาจากโคตรหนัง Epic เรื่อง Cimarron (1931) กินพื้นที่กว่า 4 เอเคอร์ รวมถึงหมูหมากาไก่ ถูกนำมาใช้จริงในหนัง กลายเป็นเมืองย่อมๆขึ้นมาจริงๆ, ใช้เวลาการถ่ายทำ 90 วันเปะๆตามกำหนด

มี Special Effect หนึ่งที่ถือว่าปฏิวัติวงการไปเลย นั่นคือหิมะปลอม (Chemical Snow), หนังเรื่องอื่นๆก่อนหน้านี้มักจะใช้ Asbestos หรือไม่ก็ Cornflakes ทาสีขาว และโปรยลงมาจากด้านบน มันจะดูฟูๆเหมือนลูกหิมะ ซึ่งผู้กำกับ Capra ที่เคยเรียนวิศวะเคมี ร่วมกับนักสร้าง Special Effect ชื่อดัง Russell Shearman ได้คิดค้นสูตรผสมการสร้างหิมะรูปแบบใหม่ ประกอบด้วยน้ำเปล่า, Soap Flakes, Foamite และน้ำตาล นำมาผสมรวมกัน แล้วใช้พัดลมพ่นเป่า ทำให้ดูเหมือนหิมะที่สามารถติดตามเสื้อผ้านักแสดงได้ ดูมีความสมจริงขึ้นกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว

ผลลัพท์ออกมา เป็นพายุหิมะที่บ้าคลั่ง ท่ามกลางความร้อนระอุของ California ปีนั้น

ตัดต่อโดย William Hornbeck (1901 – 1983) นักตัดต่อสัญชาติอเมริกัน ที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียง Supervising Film Editor เพิ่งได้เลือนขั้นเครดิตเป็นนักตัดต่อจากหนังเรื่องนี้ ผลงานเด่น อาทิ A Place in the Sun (1951), Shane (1953), The Barefoot Contessa (1954), Giant (1956) ฯ

หนังใช้มุมมองของเทวดา Joseph จากบนฟากฟ้านภา ที่ได้เรียกตัว Clarence ให้มาประจักษ์พบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของชายชื่อ George Bailey ซึ่งการเล่าเรื่องจะดำเนินไปแบบ Time Skip (หรือ Time Jump) กระโดดไปเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ หัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของเขาเท่านั้น ก่อนมาประจบลงขณะที่ชายหนุ่มกำลังจะคิดสั้นกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย เรื่องราวถึงค่อยดำเนินต่อไปข้างหน้า

เพลงประกอบโดย Dimitri Tiomkin (1894 – 1979) นักแต่งเพลงสัญชาติ Russian อพยพย้ายมาอเมริกาในช่วง Russian Revolution แต่กว่าอีกทศวรรษถึงค่อยได้รับการจดจำจาก Hollywood ด้วยการร่วมงานกลายเป็นขาประจำของ Frank Capra ตั้งแต่ Lost Horizon (1937) กลายเป็นตำนานกับ คว้า Oscar จากเรื่อง High Noon (1952), The High and the Mighty (1954), The Young Land (1959)

Tiomkin แต่เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ประมาณสองโหล แต่มีที่ใช้จริงเพียงไม่กี่เพลง สร้างความหงุดหงิดคับข้องใจ ร้าวฉานรุนแรงให้กับทั้งสอง โดยเฉพาะบทเพลงสุดท้ายของหนังที่เดิมนั้นคือ Ode To Joy แต่กลับนำ Auld Lang Syne ของ Alfred Newman จากเรื่อง The Hunchback of Notre Dame (1939) มาเรียบเรียงใหม่ It’s a Wonderful Life จึงคือผลงานสุดท้ายของทั้งคู่

Theme หลักของหนัง ได้แรงบันดาลใจจาก Buffalo Gals บทเพลงพื้นบ้านอเมริกัน (Traditional American) แต่งโดย Lubly Fan เมื่อปี 1844 นำต้นฉบับ Buffalo Gals Won’t Ya Come Out Tonight? ขับร้องโดย The Pickard Family มาให้รีบฟัง

จริงๆแล้วบทเพลงนี้ชื่อ Gals เฉยๆ ส่วนคำหน้ามักเป็นชื่อเมืองที่เปลี่ยนไปตามการแสดง เช่น New York Gals, Chicago Gals ฯ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Buffalo Gals จนหลายคนเข้าใจผิด นึกว่าเป็นชื่อควายเพื่อนยาก อะไรแบบนั้น

แต่บทเพลงที่เป็นไฮไลท์ MVP ของหนังคือ Auld Lang Syne ขับร้องในค่ำคืนวันคริสต์มาส อะไรๆเลวร้ายที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ขอให้มันผ่านไปโดยดี, นำคลิปตอนจบของฉบับหนังที่เป็น Colorization มาให้รับชมดู ผมว่ามันดูตลกๆ เทียบไม่ได้กับฉบับขาว-ดำ สุดคลาสสิกเลยนะ

เกร็ด: Auld Lang Syne คือบทกวี (Scots Poem) ที่แต่งขึ้นโดย Robert Burns เมื่อปี 1788 ต่อมาถูกทำเป็นทำนองเพลง มักใช้ขับร้องเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาลเริ่มต้นปีใหม่ในช่วงเวลาเที่ยงคืนตรง นอกจากนั้นยังใช้ร้องในงานศพ พิธีสำเร็จการศึกษา และการร่ำลา

เกร็ด 2: Auld Lang Syne หมายถึง เมื่อเนิ่นนานมา ส่วนเนื้อเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้อภัยและลืมอดีตที่เคยบาดหมาง, สำหรับประเทศไทย ประพันธ์เนื้อร้องโดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ตั้งชื่อว่า สามัคคีชุมนุม

ไม่ว่าชีวิตจะพานพบอุปสรรคเลวร้ายใดๆ แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนเลวร้ายรุนแรงถึงขนาดต้องคิดสั้นฆ่าตัวตาย จริงอยู่บางครั้งมันอาจมืดมดแปดด้าน มองทางไหนก็ไร้ซึ่งแสงสว่าง ความตายอาจคือทางออกหนึ่ง แต่นั่นคือทัศนะของคนโง่เขลาไร้สติปัญญา เพราะชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ตราบใดยังมีคนรัก เพื่อนสนิท ญาติมิตรรอบข้าง ย่อมสามารถให้ช่วยเหลือแนะนำ พบเจอทางออกของปัญหาได้อยู่แล้ว หรือถ้าหาไมพบจริงๆก็ควรที่จะเปิดอก ยินยอมรับความพ่ายแพ้ของตนเอง ล้มแล้วลุกเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ไม่เห็นจำเป็นต้องจมปลักอยู่ในความสิ้นหวังนั้นตลอดไป

การฆ่าตัวตาย ‘อัตวินิบาตกรรม’ ถือเป็นกรรมขั้นรุนแรง ที่ผู้ปลิดชีวิตตัวเอง จักต้องหวนกลับมาเกิดแล้วฆ่าตัวตายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก เวียนวนไปอีก 500 ชาติขั้นต่ำ ซึ่งถ้าชาติถัดไปยังทำกรรมนี้ต่อ 500+500 = 1,000 ทวีเพิ่มขึ้นไปจนนับครั้งมิได้ จนกว่าจะครุ่นคิดเข้าใจได้ด้วยตนเอง ถึงมีโอกาสหลุดออกจากวังเวียนวนนี้ ไม่ให้ซ้ำเติมสมน้ำหน้า เรียกว่าคนโง่ก็กระไรอยู่

อาการซึมเศร้าสิ้นหวัง มักพบเจอได้บ่อยในบุคคลที่คิดสั้นฆ่าตัวตาย ก็เหมือนตัวละคร George Bailey มองว่าเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหา แบ่งเบาภาระความทุกข์ทรมานของตนเองลงได้ แต่นี่แสดงถึงความเห็นแก่ตัว มักไม่มีใครคิดหรอกว่าผลกระทบจากการตายของตนเอง จะส่งผลถึงคนรอบข้างมากน้อยแค่ไหน แค่คิดว่าตัวเองหมดภาระก็เพียงพอแล้ว วินาทีที่เขาผู้นั้นเสียชีวิตก็คงรู้สำนึกได้โดยทันที เพราะกรรมตัวนี้มันตามทันเร็วมากๆ ไม่ต้องรอครบ 49 วันรอการตัดสินโทษด้วยซ้ำ พุ่งตรงดิ่งลงสู่ขุมนรกทันที ไม่ว่าศาสนาความเชื่อไหนๆ ล้วนสั่งสอนชี้ชักนำไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น

ที่ผมพยายามใช้คำพูดแรงๆ ก็เพื่อต้องการย้ำเตือนสติ ให้จดจำลึกฝังใจมิให้ลืมเลือน การฆ่าตัวตายมีแต่โทษหาคุณประโยชน์ไม่ได้ทั้งนั้น ประกันก็ไม่ยอมจ่ายในกรณีที่มีความคลุมเครือ ครอบครัวคนรอบข้างไม่เพียงแค่เศร้าโศกเสียใจ แต่ยังแพร่ระบาดความซึมเศร้าไปทั่ว บทเรียนในสังคมมีมากมายไม่เคยเรียนรู้ กรรมของคนพวกนี้คงหนักจริงๆ ส่วนมากคงไม่น่าใช่ชาติแรกของพวกเขาแน่ๆ

และสำหรับคนที่สามารถก้าวผ่านจุดตกต่ำนั้นมาได้ George Bailey ก็จะพบเจอคุณค่าของการที่ตนเองยังมีชีวิตอยู่, หนังอาจจะชี้ชักนำ Happy Ending มองโลกในแง่ดีสวยเกินไปสักหน่อย แต่นั่นเพราะผู้กำกับ Frank Capra ชื่นชอบที่จะนำเสนอคุณค่าของคน ผลลัพท์ของความตั้งใจทำดี ย่อมต้องได้รับผลตอบแทนดีๆกลับคืนมาเสมอ

ตอนหนังออกฉาย ตรงกับช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นช่วงเวลาของการเลียบาดแผลแห่งความทุกข์โศกเศร้าเสียใจ ความตั้งใจของผู้กำกับ Capra ต้องการมอบความหวัง กำลังใจ ให้แก่ทุกคนที่มีความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก อาจรุนแรงถึงขั้นท้อแท้ฆ่าตัวตาย แต่จงอย่าคิดสั้นเช่นนั้นไปเลย ถ้าเราชีวิตที่ดีมา เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ย่อมต้องค้นพบเจอหนทางออก แก้ไขปัญหาได้อยู่เสมอ

ด้วยทุนสร้าง $3.18 ล้านเหรียญ (ถือว่าค่อนข้างเยอะทีเดียวสมัยนั้น ก็เล่นหมดกับการสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมา) ในการฉายครั้งแรก Flop ทำเงินได้เพียง $3.3 ล้านเหรียญ นี่สร้างความร้าวฉานให้กับผู้กำกับ Frank Capra อย่างมาก ไม่เคยทำหนังประสบความสำความเร็จเท่าช่วง Pre-Wars อีกเลย ขณะที่ Jimmy Stewart ก็เกิดความลังเลใจชั่วขณะ หรือว่าฉันจะหมดความนิยมไปแล้วหรือเปล่า

เช่นกันกับเสียงวิจารณ์ตอนหนังฉายค่อนข้างแตกทีเดียว ขนาด FBI ยังมองว่านี่เป็นอาจหนังชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์

“With regard to the picture ‘It’s a Wonderful Life’, [redacted] stated in substance that the film represented rather obvious attempts to discredit bankers by casting Lionel Barrymore as a ‘scrooge-type’ so that he would be the most hated man in the picture. This, according to these sources, is a common trick used by Communists.

[In] addition, [redacted] stated that, in his opinion, this picture deliberately maligned the upper class, attempting to show the people who had money were mean and despicable characters.”

เราจะเห็นความเป็น ‘ทุนนิยม’ ของอเมริกาจากถ้อยแถลงนี้อย่างชัดเจนมากๆ แสดงทัศนะไม่เห็นด้วยกับการให้ตัวละครของ Lionel Barrymore เป็นผู้ร้ายเพราะความที่เห็นแก่เงินทอง สนแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว กดขี่ข่มเหงผู้อื่น, ก็ว่ากันไปนั่น ทั้งๆที่ไม่ได้มีอะไรในกอไผ่สักนิด แต่หลงคิดมโนไปโน่นนั่น สงครามเย็นมันเลยเกิดขึ้นเพราะความหวาดระแวงไร้สาระอย่างนี้แหละ

หนังเข้าชิง Oscar 5 สาขา ไม่ได้สักรางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture พ่ายให้กับ The Best Years of Our Lives
– Best Director พ่ายให้กับ William Wyler จากเรื่อง The Best Years of Our Lives
– Best Actor (James Stewart) พ่ายให้กับ Fredric March จากเรื่อง The Best Years of Our Lives
– Best Sound, Recording
– Best Film Editing
– แต่ได้รางวัลพิเศษ Technical Achievement Award สำหรับการสร้างฉากพายุหิมะในสตูดิโอได้อย่างสมจริงมากๆ

The Best Years of Our Lives (1946) ถือเป็นตัวเต็งหนึ่งในปีนั้น เพราะเพิ่งคว้า Golden Globe: Best Picture มาครองได้ แถมหนังยังทำเงินสูงสุดแห่งปี (และทศวรรษ 40s) และมีเรื่องราวปลุกขวัญให้กำลังใจกับเหล่าทหารหาญที่เพิ่งกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นเทรนด์แฟชั่นแห่งทศวรรษนั้น

สตูดิโอ Liberty Films ประสบปัญหาหนักทีเดียวเพราะความล้มเหลวไม่ทำเงินของหนังเรื่องนี้ ถูก Paramount Picture ฮุบกิจการไปเมื่อปี 1951 แต่พอถึงปี 1974 เกิดความผิดพลาดอะไรสักอย่างในเรื่องลิขสิทธิ์ ทำให้หนังกลายเป็นสาธารณะ (Public Domain) ช่องรายการโทรทัศน์ต่างฉวยโอกาสความผิดพลาดนี้ นำหนังออกฉายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสจนกลายเป็นเหมือนกระแส Cult ได้รับความนิยมอย่างสูง

มีสามสตูดิโอผู้ฉวยโอกาสทำการ Colorization ลงสีให้กับหนังเรื่องนี้ ประกอบด้วย
– Hal Roach Studios ออกฉายปี 1986 ทำลง VHS ปี 1989
– Republic Pictures ออกฉายปี 1989
– Legend Films ออกฉาย DVD ปี 2007 (ว่ากันว่านี่เป็นฉบับดีที่สุดของการ Colorization)

กาลเวลาได้แปรสภาพให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นคลาสสิก จุดเริ่มต้นของเทรนด์หนังแนว Christmas (ผู้กำกับ Capra บอกว่า ไม่เคยคิดตั้งใจมาก่อนว่าจะให้เป็นหนังแห่งเทศกาลนี้) นักวิจารณ์สมัยนี้นอกจากพวกมองโลกในแง่ร้ายแบบสุดๆ ก็ไม่เห็นใครจะกล้าปฏิเสธรังเกียจเดียวฉันท์ แม้ความโดดเด่นทางศิลปะจะน้อยนัก แต่ความบันเทิงสนุกสนานเพลิดเพลิน จัดเต็มร้อย

เกร็ด: It’s a Wonderful Life คือภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Frank Capra บอกว่าชื่นชอบ ภาคภูมิใจที่สุดด้วย

ในบรรดาหนังเรื่องโปรดของผมเอง It’s a Wonderful Life ตั้งแต่รับชมครั้งแรก ก็สามารถแทรกตัวเข้ามาอยู่ในตำแหน่งสุดพิเศษของหัวใจไม่เคยเปลี่ยนแปลง วินาทีที่เริ่มรู้สึกตัวเกิดอาการสะดุ้งตกใจกับปาฏิหารย์ ‘ถ้าฉันไม่ได้เกิด’ เอ่อล้นมากๆตอนที่พระเอกครุ่นคิดเข้าใจตนเองได้ ก่อนตบท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความหวังของบทเพลง Auld Lang Syne

It’s a Wonderful Life ทำให้ทัศนคติของผมต่อ ‘ชีวิต’ เปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่ใช่แค่ตอนจบกับข้อคิดสอนคุณค่าการมีชีวิต แต่คือเรื่องราวของ George Bailey ผู้เสียสละความฝัน ความสุข ทุกสิ่งอย่างของตนเองเพื่อผู้อื่นมาโดยตลอด เมื่อเขาได้พบเจอกับปัญหาความยากลำบาก ย่อมมีคนยินดีให้การช่วยเหลือ รอยยิ้มความอิ่มเอิบที่เกิดจากหนัง ไม่ใช่อาการดีใจของตัวละครที่เพิ่งรับรู้เข้าใจความหมายชีวิต แต่คือการค้นพบคุณค่าของการกระทำ ‘คนดีย่อมได้รับผลตอบสนอง’ ยกย่องสรรเสริญ ไม่ว่าจากมนุษย์ หรือแม้แต่เทวดาฟ้าดิน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หนังเรื่องนี้สามารถเติมเต็มชีวิตของเรา โดยเฉพาะคนที่หาคำตอบให้กับตัวเองไม่ได้ว่า ‘เกิดมาทำไม?’ อย่างน้อยที่สุดคือ ‘ไม่เสียใจที่ได้เกิดมา’

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากในชีวิต อกหักแฟนทิ้ง คนใกล้ตัวตายจาก รับชมหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณมีกำลังใจ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ได้อย่างมีความหวัง

เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการซื้อ DVD/Blu-Ray เป็นของขวัญวันเกิด คริสต์มาส ขึ้นปีใหม่ ให้กับเพื่อนๆคนที่เรารักห่วงใย และอย่าลืมกึ่งๆบังคับให้เขานั่งชมในค่ำคืนสุดแสนพิเศษนั้นด้วยละ

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศทุกวัย

TAGLINE | “It’s a Wonderful Life คือของขวัญสุดมหัศจรรย์ มอบให้กับมนุษย์ทุกคนที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE


It’s a Wonderful Life (1946)

(29/12/2015) นี่คือหนัง hollywood เรื่องโปรดที่ผมชอบมากที่สุดแล้ว ได้กลับมาดูอีกครั้งความชอบก็หาได้หายไปไม่ มีแต่จะยิ่งหลงรักและเสียน้ำตาให้มันมากขึ้น ผู้กำกับ Frank Capra และนักแสดงนำ James Stewart ถ่ายทอด It’s a Wonderful Life ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดูจบแล้วคุณจะยิ้มร่าอย่างมีความสุขไปทั้งวัน ของขวัญที่มีค่าที่สุดคือการที่เรายังมีชีวิตอยู่

Frank Capra เป็นผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์เรื่องการเล่าเรื่องมาก เรื่องราวในหนังของเขามีลายเซนต์ของตัวเองกำกับไว้ชัดเจน หนังของ Capra ไม่ใช่จะ Happy-Ending ทุกเรื่อง แต่เมื่อหนังจบ เราจะได้แนวคิดบางอย่าง มีความรู้สึกบางอย่าง และคำตอบกลับออกมาเสมอ ว่ากันว่าวิธีการกำหนังของเขานั้น บทหนังจะไม่มีรายละเอียดอะไรมาก จะมีแค่ในฉากนั้นใครจะทำอะไร ต้องการอะไร มีจุดประสงค์อะไร ซึ่งเรียกว่า Master Scene ส่วนเรื่องว่าจะถ่ายยังไง นักแสดงจะเล่นยังไงนั่นคือสิ่งที่ Frank Capra จะทำ เรียกว่างานของผู้กำกับ What you need is what the scene is about, who does what to whom, and who cares about whom … All I want is a master scene and I’ll take care of the rest – how to shoot it, how to keep the machinery out of the way, and how to focus attention on the actors at all times. มีคนให้ฉายา Frank Capra ว่าเป็นผู้กำกับ “American dream personified” คือมีความเป็นอเมริกันชนสูง มีช่วงหนึ่งที่เขาสมัครไปเป็นทหาร (James Stewart ก็เช่นกันนะ) ผมเชื่อว่า Capra คงได้ความคิดหลายอย่างกลับมาจากสงคราม ถึงเขาเองจะไม่กำกับหนังที่สะท้อนสงครามแบบที่ Jean Renoir ทำ แต่เขาใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในหนัง

James Stewart นี่เป็นหนังเรื่องแรกในรอบหลายปี นับจากที่เขาไปเป็นทหารกลับมา ถ้าคนที่เป็นแฟนของ Stewart จะรู้ว่าเขาเปลี่ยนไปพอสมควร หนังก่อนที่เขาจะไปสงคราม และหนังหลังจากที่สงครามจบแล้ว หนังส่วนใหญ่ของ Stewart ที่ผมได้ดูจะเป็นหนังหลังสงครามจบ การแสดงของเขาดูจะเนือยๆ เหนื่อยๆยังไงชอบกล ซึ่งใน It’s a Wonderful life เราก็จะรู้สึกได้เช่นกัน ณ จุดๆหนึ่งตัวละครของเขามีความเหนื่อยที่ค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ จนระเบิดออกในช่วงท้าย เราแทบจะไม่ได้เห็นตัวละครนี้ยิ้มเลย ถ้าไม่ใช่ในฉากแต่งงาน หรือฉากที่เขาเล่าความฝันให้คนอื่นฟัง จนกระทั่งตอนจบ ตอนออกฉายหนังเรื่องนี้โดนสับเละเลย เพราะความที่หนังมันฟุ้มเฟ้อ เวิ่นเว้อเกินไป ผมยังเห็นในปัจจุบันก็ยังมีคนที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วเกลียดมาก เพราะความที่หนังมันสมบูรณ์แบบเกินไปจนถึงขั้นเลี่ยน แต่ผมกลับชอบนะ นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมรู้จัก James Stewart และ Frank Capra ด้วย และเท่าที่ผมดูหนังทั้งสองมาก็หลายเรื่อง นี่ยังคงเป็นหนังที่ผมชอบที่สุดไม่เปลี่ยนเลย

มีอีกหลายตัวละครที่อยากกล่าวถึง Donna Reed ในบทนางเอก Lionel Barrymore ในบทตัวร้าย Mr.Potter หรือจะ Thomas Mitchell ที่เป็นทำเงินหาย หรือจะ Guardian Angle ที่แสดงโดย Henry Travers นี่เป็นหนังรวมดาราที่เต็มไปด้วยคุณภาพเท่านั้น แต่ละคนที่ผมเอ่ยมา ไม่ได้แค่มีบทเล็กๆ แต่มีบทสำคัญมากๆ ต่อเนื้อเรื่องด้วย

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น “The Greatest Gift” เขียนโดย Philip Van Doren Stern เมื่อปี 1939 แต่ได้ตีพิมพ์เมื่อปี 1945 ดัดแปลงโดย Frances Goodrich, Albert Hackett และ Frank Capra หนังเรื่องนี้ทำเงินไป 6.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากกว่าทุนสร้างเกือบ 2 เท่า แต่ด้วยความที่นี่เป็นหนังที่รวมความคุณภาพไว้มากมาย ทำเงินแค่นี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ และนักวิจารณ์ในขณะนั้นก็ไม่ค่อยชอบหนังเท่าไหร่ ซึ่งหนังได้รับการเปรียบเทียบกับหนัง Oscar ปีนั้น The Best Years of Our Lives ของ William Wyler และด้วยความที่หนังมี Theme ของ Christmas จึงไปถูกเปรียบเทียบกับ Miracle on 34th Street ที่ออกฉายในปีถัดมา แต่กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป

ผู้กำกับภาพ Joseph Walker ขาประจำของ Capra เคยมีชื่อเข้าชิง Oscar ถึง 4 ครั้งแต่ก็ไม่ได้ไปเลย ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังขาว-ดำ และสไตล์ของ Capra นั้นไม่มีเทคนิคการกำกับภาพที่หวือหวาอะไรมาก ที่ผมชอบที่สุดคือมุมมอง และการจัดองค์ประกอบในฉาก อย่างฉากพระเอกนั่งเก้าอี้ในห้องของ Mr.Potter เราจะเห็นการแสดงของ James Stewart แบบเน้นๆโดยไม่ตัดไปไหนเลย คือให้ตัวละครถ่ายทอดอารมณ์ออกมาโดยไม่ตัดไปไหน เทคนิคนี้ไม่แปลกใหม่อะไร แต่ก็ถือว่าเลือกวิธีการนำเสนอได้น่าสนใจทีเดียว อีกฉากที่ผมชอบคือฉากพายุหิมะ ถึงจะดูก็รูปว่าเป็นหิมะประดิษฐ์ แต่ความหมายของฉากมันสวยงามมาก หนังส่วนใหญ่จะใช้ลม ฝน ฟ้า พายุ ฟ้าผ่า แทนความสับสนวุ่นวายในใจของตัวละคร แต่ Capra เลือกหิมะ ซึ่งเข้ากับ Theme ของ Christmas มากๆ

ดนตรีประกอบ โดย Dimitri Tiomkin สัญชาติอเมริกัน-รัสเซีย ในเครดิตดังๆของเขาจะเป็นหนัง Western เช่น Red River, High Noon สำหรับ It’s a Wonderful Life ถือว่าเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาแต่งเพลงให้ Frank Capra และได้เพลงฮิตติดหูคือ Buffalo Gals ที่เขาแต่งทำนอง (เนื้อร้องของเพลงนี้เป็น Tradition American Song) นำมาใช้เป็น Theme ของหนัง เป็นเพลงที่เชื่อว่าในปัจจุบันเราก็น่าจะยังได้ยินอยู่ทุก Christmas เลย

ในเรื่องนี้ยังมีอีกเพลงหนึ่ง ที่เป็นเพลงจบ เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกันดี Auld Lang Syne ผมไม่คิดว่าจะมีหนังเรื่องในอีกในโลกที่ ที่จะสามารถใช้เพลงนี้ แล้วให้ความรู้สึกเหมือน long long ago ได้อีกแล้ว

ผมชอบ It’s a Wonderful Life ที่มีเนื้อเรื่องที่โดนใจมากๆ ผ่านวิธีการเล่าที่แสนเรียบง่าย และเพลงประกอบที่ไพเราะติดหู เป็นเพลงที่เราเคยได้ยินมาแล้วทั้งนั้น เมื่อดัดแปลงให้เข้ากับ Theme Christmas แล้ว นี่คือหนังของเทศกาลที่ดีที่สุด ไม่มีหนังเรื่องไหนสู้ได้เลย ตอนจบแบบ Happy-Ending นี้ คนสมัยนั้นคงรู้สึกว่ามันมากเกินไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความฟุ้งเฟ้อกลายเป็นความคลาสสิค มันช่างลงตัว สวยงาม ดูแล้วอิ่มเอิบ มีความสุข นี่เป็นหนังที่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าดีเยี่ยม ใครยังไม่ได้ดูถือว่าพลาดมากๆ และควรได้ดูตอน Christmas ก็จะเข้ากับบรรยากาศสุดๆเลย

ผมมาคิดดู ถ้าท่านต้องการให้ของขวัญปีใหม่กับใครสักคน และอยากให้ในเทศกาล Christmas และปีใหม่ ลองไปหาซื้อแผ่น CD/DVD/Blu-Ray ของหนังเรื่องนี้เป็นของขวัญดูนะครับ ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เขาจะรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตตัวเอง คนที่ท้อแท้สิ้นหวัง นี่คือหนังที่คุณควรจะหาดูให้ได้ และคนที่อยากฆ่าตัวตาย ต้องดูหนังเรื่องนี้ ความคิดของคุณจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หนังสอนให้เราอย่ายอมแพ้แม้เจออุปสรรค์ คำถาม If… ที่เกิดขึ้น เมื่อไหร่ที่เรารู้ตัวและคิดได้ ก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นของขวัญที่มีค่าที่สุดได้เท่ากับ การมีชีวิตอยู่

คำโปรย : “It’s a Wonderful Life หนังที่สวยงามที่สุดในโลก โดย Frank Capra และ James Stewart ไม่มีอะไรเป็นของขวัญที่มีค่าที่สุดได้เท่ากับ การมีชีวิตอยู่”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบFAVORI

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: