Ivan the Terrible

Ivan the Terrible (1944, 1958) USSR : Sergei Eisenstein ♥♥♥

ในประวัติศาสตร์ Russian Empire กษัตริย์พระองค์แรก สามารถรวบรวมประเทศให้มีอาณาเขตกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เรียกตนเองว่า ซาร์ทั้งหมดแห่งรัสเซีย คือ สมเด็จพระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย (1530 – 1584, ครองราชย์ 1547 – 1584) หรือที่รู้จักในชื่อ อีวานผู้โหดร้าย, ผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายของ Sergei Eisenstein ตั้งใจให้เป็นไตรภาคแต่ได้แค่สองภาคก่อนเสียชีวิต

หนังแนวประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะของชนชาติไหน ผมรับชมทีไรก็มักนึกเปรียบเทียบ สุริโยทัย และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งผู้กำกับที่จะสามารถทำหนัง Epic ระดับนี้ได้ มักจะต้องเป็นคนสำคัญในวงการภาพยนตร์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งแน่นอนกับเรื่องนี้ หนึ่งในกษัตริย์ได้ชื่อว่าสำคัญที่สุดของรัสเซียได้รับการดัดแปลงสร้างโดย Sergei Eisenstein ปรามาจารย์ผู้กำกับถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสหภาพโซเวียต และอำนวยการสร้างโดย Joseph Stalin (ไม่ได้มีชื่อในเครดิต แต่เป็นผู้สนับสนุนทุกสิ่งอย่าง)

กับคนที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ของรัสเซีย Joseph Stalin น่าจะรับรู้ว่ามีความชื่นชอบ Tsar Ivan IV พระองค์นี้อย่างมาก ไม่เพียงยกเป็นแบบอย่าง แต่นักประวัติศาสตร์ยังเรียก Stalin ว่า ‘เป็นผู้นำที่โหดเหี้ยมที่สุด’ (Stalin ไม่ถือสาคนที่เรียกเขาแบบนี้ด้วยนะ กลับจะถูกใจเสียอีกเพราะถือว่ายกย่องตนเองแบบเดียวกับซาร์อีวานที่ 4)


ภาพยนตร์เกี่ยวกับ Ivan the Terrible ได้เคยถูกสร้างมาแล้วหลายครั้ง โด่งดังที่สุดก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ คือเมื่อปี 1915 ชื่อเรื่อง Tsar Ivan Vasilievich Grozny กำกับโดย Aleksandr Ivanov-Gai นำแสดงโดย Feodor Chaliapin แนวชวนเชื่อสร้างขึ้นหลัง October Revolution แต่เพราะเป็นหนังเงียบ จึงยังไม่สามารถนำคำพูดอันทรงพลังของซาร์อีวานถ่ายทอด สะท้อนอุดมการณ์ของ Stalin ออกมาได้

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้กำกับชาวรัสเซียที่ได้รับการยินยอมรับ จะได้รับการดูแลอย่างดี ทางการอพยพพวกเขาออกจากกรุง Moscow ไปอยู่สถานที่ปลอดภัยห่างไกลสงครามที่ Alma Ata (ปัจจุบันคือประเทศ Kazakhstan) Sergei Eisenstein คือในนั้นครุ่นคิดวางแผนสร้าง Ivan the Terrible เป็นหนังไตรภาค เริ่มต้นโปรดักชั่นตั้งแต่ปี 1942 ซึ่งพอ Stalin ทราบข่าว ก็ให้การสนับสนุนอย่างไม่อั้น (แม้จะคาบเกี่ยวขณะสงครามโลกอยู่ก็เถอะ)

Sergei Mikhailovich Eisenstein (1898 – 1948) นักทฤษฎี ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติรัสเซีย ได้รับการยกย่องว่าคือ “Father of Montage.” เกิดที่ Riga, Latvia (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Russia Empire) ในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเป็นวิศวกรต่อเรือทำให้เด็กชาย Sergey วาดฝันโตขึ้นตามรอย เข้าเรียน Institute of Civil Engineering แต่ภายหลังเปลี่ยนใจมาสาย School of Fine Arts, ในช่วงปฏิวัติรัสเซีย 1917 สมัครเข้าร่วม Red Army โค่นล้มระบบ Tsarist ระหว่างนั้นมีโอกาสรับชมการแสดง Kabuki เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ศึกษาตัวอักษรคันจิ เคยเดินทางไปร่ำเรียนหาประสบการณ์ถึงประเทศญี่ปุ่น กลับมาปี 1920 สมัครงานคณะละครเวที Proletkult Theatre, Moscow ทำงานเป็นนักออกแบบสร้างฉาก เครื่องแต่งกาย ไต่เต้าจนได้เป็นผู้กำกับ/ผู้จัดการ ไม่นานนักเริ่มสนใจในสื่อภาพยนตร์ เริ่มจากกำกับหนังสั้น Glumov’s Diary (1923) เขียนบทความ The Montage of Film Attractions (1924) แล้วสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Strike (1925) เพื่อสนองแนวคิดนี้

ภาคแรก Ivan The Terrible, Part I สร้างเสร็จออกฉายในปี 1944 นำเสนอซาร์อีวาน ในฐานะฮีโร่ของประเทศ (National Hero) ซึ่งเป็นที่ถูกใจ Stalin อย่างมาก

ภาคสอง Ivan The Terrible, Part II: The Boyars’ Plot หนังถ่ายทำเสร็จปี 1946 แต่กลับถูกแบนห้ามฉาย เพราะมีเรื่องราวที่แสดงถึงความคอรัปชั่นภายใน แถมซาร์อีวานดูคลุ้มคลั่งเหมือนผู้นำโรคจิต นี่ทำให้ภาคสามวางแผนไว้เริ่มต้นไปแล้วบางส่วน ต้องถูกระงับการสร้างโดยทันที (และเห็นว่าฟุตเทจที่ถ่ายไปถูกทำลายจนหมดสิ้นด้วย)


นำแสดงโดย Nikolay Cherkasov ที่เคยร่วมงานกับ Eisenstein เรื่อง Alexander Nevsky (1938), การแสดงของ Cherkasov ดูประดิษฐ์ประดอย ฝืนธรรมชาติอย่างมาก (เหมือนการแสดงละครเวที) แต่หนวดเครา คิ้ว สายตา คำพูด ท่าทาง ถ่ายทอดการแสดงออกมาได้ดูโหดเหี้ยม ชั่วร้าย เหมือนซาร์อีวานกลับชาติมาเกิดจริงๆ, ผมฟังรัสเซียไม่ออก แต่รู้สึกว่าภาษาพูดก็น่าจะประดิษฐ์ประดอยเช่นกัน (ใช้ภาษาโบราณแบบสุริโยทัย หรือตำนานฯ) คงกับคนที่ฟังรัสเซียออกเท่านั้นถึงบอกได้ว่า ภาษาพูดสวยงามแค่ไหน

Lyudmila Tselikovskaya รับบท Anastasia มเหสีสุดที่รักของซาร์อีวาน ความสวยงามของเธอช่างตราตะลึง เสื้อผ้าหน้าผมระยิบระยับจัดเต็ม แต่ในประวัติศาสตร์จริงๆซาร์อีวานไม่ได้มีมเหสีคนเดียวนะครับ แต่พระองค์ทรงรักมเหสี Anastasia นี้เป็นที่สุด (พระองค์ทรงเป็นต้นตระกูล Romanov หนึ่งในราชวงศ์ที่ปกครองรัสเซียยาวนานที่สุดเป็นศตวรรษเลย) มีโอรสธิดา 6 พระองค์ (ในหนังเห็นพระองค์เดียว) ซึ่งพออัครมเหสีเสียชีวิต ซาร์อีวานโศกเศร้าพระทัยอย่างมากถึงขั้นเสียสติ ระแวดระแวงผู้อื่นไปทั่ว คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้ฆ่ามเหสีสุดที่รักของตน ถึงกระนั้นพระองค์ก็ได้ทรงอภิเสกสมรสใหม่อีก 6 ครั้ง (รวมภรรยาได้ 7 คน)

Serafima Birman รับบท Efrosinia Staritska มีศักดิ์เป็นน้า (พระมาตุจฉา) ของซาร์อีวาน ตัวละครนี้มักจะใส่ชุดสีดำ (มีบางครั้งใส่สีขาว ถ้าซาร์อีวานใส่สีดำ) ถือเป็นตัวร้ายที่มีความโฉดโหดเหี้ยม เป้าหมายต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้บุตรชาย Vladimir ได้ขึ้นนั่งบนราชบัลลังก์ ภาคแรกวางยาพิษถือว่าโคตรเลวแล้ว แต่ภาคสองนี่ร้ายยิ่งกว่า นั่นทำให้โชคชะตากรรมได้รับกับการสูญเสียถือว่าเหมาะสมควรอย่างยิ่ง ‘กรรมสนองกรรม’, การแสดงของ Birman ปั้นแต่งสีหน้าได้ชั่วร้ายเกินคำบรรยาย น้ำเสียงวิธีการพูดที่เปล่งออกมา และชอบทำตาโต เห็นแล้วเด็กๆหวาดกลัวแน่นอน

ลักษณะภายนอกของทุกตัวละครในหนัง มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ชมสามารถจดจำได้โดยทันที (แม้จะจำชื่อตัวละครไม่ได้) สังเกตจากทรงผม หนวดเครา เสื้อผ้าหน้าผม และดูแปลกประหลาดทั้งนั้น ซึ่งยังบ่งบอกอุปนิสัยตัวตน สิ่งที่อยู่ในใจของตัวละครนั้นด้วย อาทิ
– ซาร์อีวาน หนวดแหลม ผมกระเซอะกระเซิง (เหมือนคนบ้า)
– Anastasia สวมชุดสีขาว ระยิบระยับ สง่างาม บริสุทธิ์ผุดผ่อง
– Vladimir ลูกพี่ลูกน้องของ Ivan ทรงผมม้วนๆ ใบหน้าละอ่อน เหมือนเป็นเด็กติดแม่ ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม
– กษัตริย์โปแลนด์ สวมชุดคอสูง Ruff Collar สะท้อนความเย่อหยิ่งจองหองอวดดี
ฯลฯ

หนังมีการใส่สัญลักษณ์ต่างๆเข้าไปมากมาย อาทิ ชุดเกราะตอนฉากสงครามจะเห็นพระอาทิตย์/ดวงจันทร์, โดดเด่นสุดคงเป็น ภาพพื้นหลังที่เป็นดวงตา, นอกจากนี้ซาร์อีวาน ได้เปรียบตัวเองเป็นสัตว์สัญลักษณ์เหมือน ‘นก’ เสื้อผ้าที่สวมใสพอยกมือก็เหมือนสยายปีก ทรงผม หนวดเครา (นกเป็นสัญลักษณ์ของผู้ล่า), Efrosinia ชุดสีดำ มีลักษณะคล้ายๆกับงู (อสรพิษที่เป็นอันตราย), Alexei คือสุนัข (รับใช้ที่จงรักภักดี) ฯ

ถ่ายภาพโดย
– Eduard Tisse ขาประจำตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกของ Eisenstein รับหน้าที่ถ่ายฉากภายนอก,
– Andrei Moskvin ถ่ายทำฉากภายใน และซีนที่ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Agfa Color (เห็นในภาคสอง)

หนังเรื่องนี้ถือว่า Epic อลังการในด้านการสร้างอย่างมาก เสื้อผ้าหน้าผม สถาปัตยกรรม(ภายใน) งดงามประณีตวิจิตร ส่วนฉากภายนอกแม้ในยุคสมัยสงครามโลก ทหาร ม้านับพัน กำแพงเมือง การเดินขบวน ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ กว้างไกล สุดลูกหูลูกตา

เพิ่งพานผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๒ พอพบเห็นการสวมมงกุฎขึ้นครองราชย์ของซาร์อีวานที่ 4 ก็อดไม่ได้ที่จะยกย่องสรรเสริญในความงดงามวิจิตร, ซึ่งหนังนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย คืออารัมบทด้วยการร้อยเรียงปฏิกิริยาขุนนางโดยรอบ (เต็มไปด้วยพวกขี้อิจฉาริษยา) จากนั้นถ่ายจากด้านหลังจนกระทั่งสวมมงกุฎ สถาปนาเป็นซาร์ทั้งหมดแห่งรัสเซีย วินาทีถัดมาช็อตนี้ถึงหันเข้าหากล้อง พบเห็นซาร์อีวานครั้งแรกเสียที

สิ่งแตกต่างมากๆกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือการใช้เหรียญกษาปณ์อาบแทนน้ำ เพื่อนแทนความมั่งคั่งร่ำรวยในยุครัชสมัย ราดโดยสองคนสนิทที่จะมีบทบาทเด่นกันคนละภาค
– Prince Andrew Kurbsky (รับบทโดย Mikhail Nazvanov) เพราะตกหลุมรัก Anastasia เลยเกิดความอิจฉาริษยาซาร์อีวาน จิตใจเต็มไปด้วยความกลับกลอก ท้ายสุดก็ทรยศหักหลัง
– Boyar Kolychev เมื่อบวชเป็นพระใช้ชื่อ Philip (รับบทโดย Andrei Abrikosov) เพราะความยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ไม่พึงพอใจเมื่อซาร์อีวาน ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงสุดท้ายผิดจากวิถีดั้งเดิม จากเคยสนิทสนมเลยกลายเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด

งานแต่งงานระหว่าง Tsar Ivan IV กับ Anastasia งดงามไปด้วยรายละเอียด ภาพพื้นหลังสวยๆ หงส์คอยาว สัญลักษณ์ความสง่างาม เลิศเลอค่า ชนชั้นสูงส่ง (นึกถึงบทเพลง Tchaikovsky: Swan Lake)

ไม่ใช่ว่าผู้กำกับ Eisenstein สามารถควบคุมดินฟ้าอากาศได้หรอกนะ แต่คงเป็นความบังเอิญพอดิบพอดี ลักษณะของก้อนเมฆนี้สะท้อนความกว้างใหญ่ไพศาล แผ่ปกคลุมทั่วผืนแผ่นดินแดนรัสเซีย

ฉากสงครามกับ Kazan แม้ไม่ยิ่งใหญ่เท่า Alexander Nevsky (1938) แต่ก็ถือว่าโดดเด่นด้วยเทคนิค ไดเรคชั่นที่คล้ายคลึง เฉลียวฉลาดด้วยแผนการ ไม่ใช่เข้าสู้รบปรบมือเลือดสาด (แบบหนังสมัยปัจจุบัน)

การแกล้งป่วยของซาร์อีวาน จุดประสงค์เพื่อพิสูจน์/วัดใจทุกผู้คนรอบข้าง จะมีใครบ้างสามารถไว้เนื้อเชื่อได้ แต่ปรากฎว่าแทบไม่มีสักคนเดียว! นั่นถือเป็นสิ่งต้องแลกมากับการได้ครอบครองเป็นเจ้าของรัสเซียทั้งหมด!

หนังมีการใช้เงาที่เว่อวังอลังการมากๆ มันอาจดูผิดธรรมชาติเกินไป แต่ต้องชมว่าเป็นเทคนิคที่เฉลียวฉลาด แฝงความหมายสุดลึกล้ำ สะท้อนถึงอิทธิพลทางการเมืองของซาร์อีวาน สามารถควบคุมครอบงำ ครองโลก โดดเด่นกว่าเงาของใครใดๆ

ช็อตนี้ก็มีนัยยะคล้ายๆเงา แต่เล่นกับระยะภาพใกล้-ไกล ใบหน้าของซาร์อีวาน(อยู่ใกล้กล้อง)มีขนาดใหญ่โต เทียบกับประชาชนตัวเล็กเท่ามด เดินขบวนมาเรียกร้องขอให้พระองค์หวนกลับสู่ Moscow ปกครองประเทศสู่มหาอำนาจยิ่งใหญ่

ใบหน้าของ Nikolai Cherkasov พอไว้หนวดเคราแล้วมีความพิศวงมากยิ่งทีเดียว ผู้ชมสามารถสังเกตการก้ม-เงย ยื่นหน้าเข้า-ออก ท่วงท่าทางขยับเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยลีลา แลดูสง่างาม กว้างใหญ่ เรียกได้ว่าไม่เคารพยำเกรงใคร

เป็นอีกช็อตที่งดงามตราตรึงมากๆ ซาร์อีวานยืนจับจ้องมองขบวนฝูงชนผ่านหน้าต่าง/ช่องว่างปราสาท เรียกร้องขอให้พระองค์หวนกลับสู่ Moscow

ภาคสอง

พระราชวังของ King Sigismund แห่ง Poland มีความตระการตาอลังการอยู่ไม่น้อยทีเดียว แถมท่านั่งพระองค์บนราชบังลังก์ กร่างแบบไม่แคร์ใคร แต่ผมใคร่สนใจในลวดลายพื้นกระเบื้องขาว-ดำ ช่างดูลับลวงลายตา อาจสื่อถึงความซื่อสัตย์จริงใจที่คงไม่มีสักเท่าไหร่

น่าเสียดายที่เรื่องราวของ Prince Andrew Kurbsky และ King Sigismund ถูกตัดจบหายไปในภาคสอง คาดว่าคงมีบทสรุปบางอย่างในภาคสามที่ไม่ได้สร้าง

การดำเนินเรื่องของภาคสองมีการแทรกภาพย้อนอดีต (Flashback) พบเห็นซาร์อีวานเมื่อครั้นวัยเด็ก ถูกผลักดันให้กลายเป็นหุ่นเชิดบนบัลลังก์ราชา Grand Duke คนสนิทซ้ายขวาต่างสนเพียงผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เคยรับฟังคำพูดสั่งใดๆ … ก็เพราะเด็กชายอีวาน ขณะนั่งบนบัลลังก์เท้ายังไม่สัมผัสเตะพื้นด้วยซ้ำ จะไปมีน้ำยาอะไรในการปกครองประเทศชาติ

ภาพพื้นหลังคือเท้าเหยียบพระอาทิตย์ สะท้อนถึงลักษณะของกษัตริย์/ซาร์ ยิ่งใหญ่ดั่งสมมติเทพเทวดา สูงส่งเหนือกว่าฟ้าดิน

ช็อตนี้นี่คือเด่นชัดเจนมาก รองเท้าของคนเสนาบดี แทบจะย่ำเหยียบใบหน้าของเด็กชายอีวาน นั่นทำให้เขายินยอมรับไม่ได้ ตนเองมีอำนาจเลยตัดสินใจใช้มันเพื่อชีวิตนี้จะได้ไม่ต้องก้มหัวให้ขุนนางเหล่าใด

แต่เพราะครุ่นคิดได้แบบนั้น ทำให้ซาร์อีวานสูญเสียไร้เพื่อน แม้แต่คนสนิท Boyar Kolychev กลายเป็นบาทหลวง Philip เมื่อหวนมาหากลับแสดงความเห็นต่าง ไม่ยินยอมรับต่อความเผด็จการ/ขัดแย้งต่อขนบวิถีประเพณีปฏิบัติดั้งเดิม, พยายามฉุดเหนี่ยวรั้ง ดึงผ้าคลุม ร้องขอเพราะครุ่นคิดว่าคือเพื่อนคนสุดท้าย แต่ก็ไม่วายกลายเป็นศัตรูขัดแย้งกันอยู่ดี

ฉากถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Agfa Color (Two-Color) รู้สึกว่ามันไม่เวิร์คเลยนะ แม้ในยุโรป/สหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีนี้จะก้าวไกลไปมาก แต่สหภาพโซเวียตยังคงเชื่องช้าล้าหลัง ประสบความล้มเหลวในการนำเสนอโดยสิ้นเชิง

ตัดต่อโดย Sergei Eisenstein, หนังดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า แต่ถือว่ามีความ ‘ประณีตบรรจง’ ใช้ถ้อยคำพูดเสียเยอะ การกระทำมีน้อย ขณะที่ภาคสองมีการเล่าย้อนอดีต (Flashback) นำเสนอที่มาที่ไปของซาร์อีวาน เติมเต็มส่วนขาดหาย ก่อนเล่าเรื่องต่อในประเด็นที่สอดคล้องกัน

เรื่องราวสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ ได้ประมาณนี้
– ภาคแรก
Scene I The Coronation, พระราชพิธีราชาภิเษก
Scene II The Wedding, แต่งงานกับ Anastasia
Scene III The Conquest of Kazan, สู้รบสงคราม Kazan
Scene IV Ivan’s Illness, อาการป่วยการเมืองของซาร์อีวาน
Scene V The Death of Anastasia, ความตายของ Anastasia
Scene VI The Oath of the Oprichniks, เส้นทางสู่ Alexandrov
– ภาคสอง
Scene VII At the Polish Court, พระราชวังที่โปแลนด์,
Scene VIII Lamentation for the Executed Boyars, ความชั่วร้ายของพวกขุนนาง
Scene IX The Fiery Furnace, แผนการอันชั่วร้ายของ Efrosinia
Scene X The Tsar’s Banquet and the Cathedral, งานเลี้ยงเฉลิมฉลอง (ภาพสี) และการประกาศกร้าวของซาร์อีวาน

หนึ่งในลีลาตัดต่อที่เป็นเอกลักษณ์ของ Eisenstein ตั้งแต่ Alexander Nevsky (1938) คือการไล่เรียงลำดับระยะภาพ ดังตัวอย่างที่ผมนำมานี้ การสนทนาระหว่าง Prince Andrew Kurbsky กับที่ปรึกษา King Sigismund สะท้อนรายละเอียดสนทนาที่เริ่มจากกว้างๆ ค่อยๆเข้าสู่เนื้อหาใจความ และกระซิบกระซาบเนื้อหาลับๆล่อลวงต่อกัน

เพลงประกอบโดย Sergei Prokofiev คีตกวีสัญชาติรัสเซีย ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน Eisentein เรื่อง Alexander Nevsky (1938), งานเพลงจัดเต็มด้วยออเครสตร้าประสานเสียงคอรัส เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลา มอบสัมผัสขนลุกขนพอง ก่อเกิดความฮึกเหิม ภาคภูมิ ขณะเดียวกันยังรู้สึกเย็นยะเยือกสันหลังวาบ ถึงภยันตรายรายล้อมทุกรอบด้าน เพื่อเป้าหมายสูงสุดอันยิ่งใหญ่ ความโดดเดี่ยวอ้างว้างเดียวดายคือสิ่งต้องแลกเปลี่ยนได้รับมา

ลักษณะของงานเพลง สะท้อนบรรยากาศเรื่องราวขณะนั้นแบบตรงไปตรงมา มอบสัมผัส ‘Impressionist’ คอยชี้ชักนำอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมให้สอดคล้องตาม อาทิ สู้รบทำสงคราม ท่วงทำนองมีความฮึกเหิม รุกเร้า, ป่วยใกล้ตาย โหยหวนทุกข์ทรมาน, งานเลี้ยงเฉลิมฉลอง เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ซ่อนเร้นภยันตราย ฯ

ถ้าเทียบกับ Alexander Nevsky อาจต้องถือว่า Ivan the Terrible มีพัฒนาการยิ่งใหญ่อลังกว่า แต่ความตราตรึงผมว่ายังห่างชั้นกันอยู่เล็กน้อย (แต่ก็แล้วแต่รสนิยมนะครับ อาจเพราะผมติดหูกับบทเพลง Alexander Nevsky มากกว่าก็ได้)

นักวิจารณ์ Roger Ebert พูดเชิงเปรียบเทียบ Ivan the Terrible ได้รับอิทธิพลจาก The Passion of Joan of Arc (1928) โคตรหนังเงียบในตำนานของผู้กำกับ Carl Theodore Dreyer อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมออกแบบภายใน แลดูคล้ายคลึงอย่างมาก การเลือกมุมกล้องที่มีความพิเศษเฉพาะตัว และไดเรคชั่น ฉากให้กาลในชั้นศาลของ Joan of Arc ร้อยเรียงภาพสีหน้า สายตา ท่วงท่าของตุลาการพิพากษา เต็มไปด้วยความกักฬระ โกรธเกลียดเคียดแค้น = ขณะที่ Ivan the Terrible เริ่มต้นด้วยภาพเหล่าขุนนางชนชั้นสูง ซุบซิบพูดคุย แสดงออกต่อพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างไม่เป็นมิตรสักเท่าไหร่

ซาร์อีวาน จากเรื่องราวในหนังถือว่าเป็นกษัตริย์ผู้โชคร้าย แม้สามารถเอาชนะภัยพาลรุกรานจากภายนอก แต่ก็เกือบพ่ายให้ขุนนางคนในกันเอง ญาติโกโหติกา ทั้งหมดกลายเป็นศัตรูหวังร้าย ต้องการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์ เพียงมเหสีผู้เดียวเท่านั้นเป็นที่รักและอุทิศตนให้พระสวามี แต่โชคชะตาก็นำพาให้…

ความหมดสิ้นหวังของซาร์อีวาน (ในภาคแรก) ทำให้พระองค์ตัดสินใจออกเดินทางสู่ Alexandrov ก่อตั้งองค์กร Oprichniks ชักชวนประชาชนคนรุ่นใหม่ ถ้าเกิดความเชื่อมั่นในระบอบกษัตริย์ จงเข้าร่วมเพื่อปกป้องประเทศชาติจากบรรดาพวกขุนนางชนชั้นสูง … นี่คือลักษณะ ‘ชวนเชื่อ’ อุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เปรียบซาร์อีวานกับ Joseph Stalin ชักชวนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเจ้าของประเทศ ล้มล้างขุนนางชนชั้นสูงที่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น เพื่อก่อเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม

ด้วยใจความดังกล่าว ไม่แปลกเลยที่หนังจะถูกใจ Stalin ประสบความสำเร็จล้นหลามในสหภาพโซเวียต และได้รับรางวัล Stalinskaya Premia (หรือ Stalin Prize) 

สำหรับภาคสองของหนัง แม้มีความสไตลิสกว่าภาคแรก (ว่าไปคล้ายๆ The Godfather Part 1 & Part 2 ที่ภาคสองมีการเล่าย้อนอดีตของ Vito Corleone) แต่ก็ถูกมองว่าไม่ได้ดั่งใจ คุณภาพเทียบไม่ได้ (เพราะใครๆต่างคาดหวังจะได้เห็นสงคราม Baltic Wars) นำเสนอสิ่งที่คือความขัดแย้ง/คอรัปชั่นภายใน ญาติกันแท้ๆแต่กลับครุ่นคิดร้ายต้องการเข่นฆ่าให้ตาย นี่ราวกับสะท้อนปัญหาภายในของระบอบคอมมิวนิสต์ เลยไม่แปลกจะถูกแบนห้ามฉายโดยทันทีเมื่อสร้างเสร็จปี 1946

ผมมองความตั้งใจของ Eisenstein ต่อภาคสอง The Boyars’ Plot ต้องการสะท้อนการต่อสู้ระหว่าง ขุนนาง/ชนชั้นสูง/ศาสนา vs. ท่านผู้นำ (Stalin) ที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชน เมื่อบุคคลเหล่านั้นไม่ยินยอมสูญเสียอำนาจ/วิถีความเชื่อโบราณดั้งเดิม ฉันก็พร้อมทำทุกสิ่งอย่าง แม้ได้รับการกล่าวขวัญ Ivan Grozniy (Ivan the Terrible) เป้าหมายก็เพื่อรัสเซียทั้งหมดจะกลายเป็นปึกแผ่นเดียวกัน!

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Vladimir นอกจาก ‘กรรมสนองกรรม’ ของบรรดาขุนนาง/ชนชั้นสูง/ศาสนา ยังสะท้อนถึงความไม่เจียมกะลาหัว มักใหญ่ใฝ่สูงแต่ไร้ซึ่งศักยภาพสามารถ ล่วงรู้เท่าทันคน สุดท้ายโดนงูเห่าแว้งกัด คนชั่วถูกกำจัดให้พ้นทาง … แต่เรื่องราวดังกล่าวแค่เพียงจุดเริ่มต้นของฉายา Ivan Grozniy เท่านั้นนะครับ น่าเสียดายที่ทวิภาคจบลงเพียงเท่านี้

Eisenstein เริ่มมีอาการหัวใจล้มเหลวครั้งแรก (Heart Attack) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946 ระหว่างถ่ายทำภาคสอง อาการเหมือนจะดีขึ้นเมื่อกำลังสร้างภาคสาม แต่หลังจากหนังถูกแบน ฟีล์มถูกยึด คงเป็นชนวนเหตุให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลวครั้งสอง เสียชีวิตวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 สิริอายุ 50 ปี

หลังจาก Joseph Stalin เสียชีวิต ค.ศ. 1953 ภาคสองของหนังจึงถูกนำมาพิจารณาใหม่ และได้รับอนุญาตออกฉายสาธารณะเทศกาล Brussels Worlds Fair’ 1958

ถ้าเราพิจารณาใจความของหนังแต่ละภาคดีๆ ก็จะสามารถคาดเดาเรื่องราวสุดท้ายที่ Eisenstein วางแผนไว้
ภาค 1) ขึ้นครองราชย์ พิสูจน์ตนเองต่อประชาชนจนได้รับการยินยอมรับ
ภาค 2) ต่อสู้กับความทรยศหักหลังภายใน กลายเป็นซาร์อีวานผู้โหดร้าย
แนวโน้มภาค 3) จุดสูงสุดของซาร์อีวาน และบั้นปลายชีวิต


Ivan the Terrible อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ระดับ Masterpiece ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Sergei Eisenstein แต่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉกเช่นเดียวกับ Andrei Rublev (1966) และ The Color of Pomegranates (1969) คือสีสันของสหภาพโซเวียต/รัสเซีย ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ มีอะไรมากมายให้ศึกษาเรียนรู้ -คล้ายๆ Citizen Kane (1942) หนังสือของนักเรียนภาพยนตร์- มีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตก็อยากแนะนำให้ผู้ชมทั่วไป แต่ถ้าหาดูไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะครับ

ส่วนตัวไม่ค่อยชื่นชอบหนังสักเท่าไหร่ เพราะความที่มันปรุงปั้นแต่ง ประดิษฐ์ประดอยมากเกินไป จนดูเหมือนกำลังดูละครเวทีมากกว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ในแง่มุมของศิลปะต้องชมเชยว่ามีความคาบเกี่ยว ผสมผสาน ระหว่างสองสื่อ/ยุคสมัยได้อย่างกลมกล่อมลงตัว อึ้งทึ่งตื่นตราตะลึงได้ไม่ยาก

สำหรับคอหนังรุ่นใหม่ เชื่อว่าคงรู้สึกอึดอัดอั้นทุกข์ทรมาน เบื่อหน่ายในความเชื่องช้า เอื่อยเฉื่อยชา ตกยุคล้าสมัย! แต่จะบอกว่าถ้าอดีรทนดูจนจบได้ ช่วงปลายภาคสองมีบางสิ่งอย่างคาดไม่ถึงรอคอยอยู่นะครับ (จริงๆมันก็คาดเดาได้แหละ แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังอาจตกตะลึง อ้ำอึ้งที่ลงเอยตอนจบเช่นนั้น)

แนะนำนักประวัติศาสตร์ ที่ต้องการรู้จักหนึ่งในกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Russian Empire, คอหนังดราม่าเข้มข้ม แนวพีเรียตย้อนยุค (Period) เสื้อผ้าหน้าผม สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างภายใน สมจริง จัดเต็ม, แฟนๆผู้กำกับ Sergei Eisenstein ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับการแสดงออกซึ่งความอิจฉาริษยา และเห็นแก่ตัว

TAGLINE | “Ivan the Terrible คือจุดสิ้นสุดของ Sergei Eisenstein ทั้งยุคสมัยและชีวิต”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: