Ivan's Childhood

Ivan’s Childhood (1962) USSR : Andrei Tarkovsky ♥♥♥♥

(5/1/2024) เลือนลางระหว่างภาพความฝัน vs. โลกความจริงที่โหดร้าย การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เด็กชาย Ivan Bondarev สูญเสียครอบครัว ต้องการทำบางสิ่งอย่างไม่ใช่แค่เอาตัวรอดปลอดภัย ยินยอมพร้อมเสี่ยงเพื่อแก้ล้างแค้นศัตรู แต่มันใช่วัยของเขาเสียที่ไหน, คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

My discovery of Tarkovsky’s first film was like a miracle. Suddenly, I found myself standing at the door of a room the keys of which had, until then, never been given to me. It was a room I had always wanted to enter and where he was moving freely and fully at ease. I felt encouraged and stimulated: someone was expressing what I had always wanted to say without knowing how.

Tarkovsky is for me the greatest, the one who invented a new language, true to the nature of film, as it captures life as a reflection, life as a dream.

Ingmar Bergman

Ива́ново де́тство อ่านว่า Ivanovo detstvo แปลว่า Ivan’s Childhood หรือบางครั้งใช้ชื่อ My Name is Ivan ภาพยนตร์เรื่องแรกหลังสำเร็จการศึกษาจาก VGIK ของผกก. Andrei Tarkovsky อาจไม่ใช่ผลงานยอดเยี่ยมที่สุด แต่ได้ทำการเปิดประตูสู่โลกใบใหม่ “ภาพยนตร์คือชีวิต” “ชีวิตคือความฝัน” “ภาพสะท้อนอดีต-ปัจจุบัน” “ทุกสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน” เรียกว่านำสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น!

สำหรับคนที่อยากเปิดโลกภาพยนตร์กับผกก. Tarkovsky มักได้ยินคำแนะนำว่าควรเริ่มต้นจาก Ivan’s Childhood (1962) เพราะเป็นผลงานดูไม่ยาก ย่อยง่ายที่สุด มีเส้นเรื่องเกือบเป็นเส้นตรง แทรกด้วย 4 ความฝัน ซึ่งไม่ได้สลับซับซ้อน หรือนัยยะเชิงสัญลักษณ์ให้ขบครุ่นคิดมากมาย … ถ้าแค่นี้คุณยังไม่สามารถทำความเข้าใจส่วนใหญ่ของหนัง ก็อย่าเพิ่งเร่งรีบร้อนหาผลงานอื่นของผกก. Tarkovsky มันยากๆกว่านี้หลายเท่าตัวเลยนะครับ

ทีแรกผมสองจิตสองใจว่าจะหวนกลับมาปรับปรุงบทความนี้ไหม จนกระทั่งวันก่อนได้รับชม Come and See (1985) พบเห็นว่ามีหลายสิ่งอย่างละม้ายคล้ายคลึง Ivan’s Childhood (1969) ต่างนำเสนอเรื่องราว/มุมมองเด็กชาย ผู้มีความกระตือรือล้น อยากเข้าร่วมสู้รบสงครามกับทหารเยอรมัน (Nazi Germany) … เป็นภาพยนตร์เหมาะสำหรับเทศกาลวันเด็กนักแล!

รับชมเมื่อคราก่อน ผมรู้สึกว่าหนังขาดๆเกินๆ บางซีเควนซ์ดูไม่จำเป็น มุมมองดำเนินเรื่องกระโดดไป-กระโดดมา ยังเหมือนการลองผิดลองถูก ทดลองหาสไตล์ลายเซ็นต์ ไม่ค่อยละเมียดไมเมื่อเทียบกับผลงานยุคหลังๆ, หวนกลับมารับชมรอบนี้ก็ยังคงรับรู้สึกไม่แตกต่างกัน แต่ที่เลือกปรับคะแนนเพิ่มขึ้นเพราะความลึกล้ำ ซ้อนทับความจริง-เพ้อฝัน สัมผัสบทกวี และลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนกล้องชวนให้นึกถึง The Cranes Are Flying (1957) อยู่ไม่น้อยเลยละ!


Ivan’s Childhood ดัดแปลงจากเรื่องสั้น Иван, Ivan (1957) แต่งโดย Vladimir Osipovich Bogomolov, Владимир Осипович Богомолов (1924-2003) นักเขียนชาวรัสเซีย, นำแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ส่วนตัว เข้าร่วมกองทัพหลังเพิ่งเรียนจบเกรด 7 (น่าจะประมาณมัธยมต้น) ไต่เต้าจากพลทหารจนเป็นกัปตัน ได้รับเหรียญเกียรติยศมากมาย หลังสงครามทำงานเป็นสายลับ แทรกซึมเข้าใน East Germany และเคยถูกจับกุม คุมขังนาน 13 เดือน ก่อนตัดสินใจเกษียณตัวเองเมื่อปี ค.ศ. 1952 ผันตัวมาเป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย มีชื่อเสียงพอสมควร

เกร็ด: นอกจากเรื่องสั้น Ivan (1957) อีกผลงานโด่งดังของ Vladimir Bogomolov ก็คือนวนิยาย The Moment of Truth (1973) ต่างได้รับการแปลหลากหลายภาษา รวมถึงถูกดัดแปลงสร้างภาพยนตร์

ความสำเร็จของเรื่องสั้น Ivan (1957) เข้าตานักเขียน Mikhail Papava ทำการดัดแปลงบทภาพยนตร์ในชื่อ Вторая жизнь อ่านว่า Vtoraya Zhizn แปลว่า Second Life โดยปรับเปลี่ยนตอนจบให้เด็กชายไม่ได้ถูกประหาร แต่ส่งเข้าค่ายกักกัน Majdanek จนได้รับปลดแอกโดยกองทัพสหภาพโซเวียต และมีโอกาสหวนกลับมาพบเจออดีตผู้บังคับบัญชาการของตนเอง … ผู้แต่ง Bogomolov ไม่ค่อยประทับใจตอนจบนี้นัก เพราะมันทำให้เป้าหมายแท้จริงของเรื่องสั้นคลาดเคลื่อนไปมากๆ

สตูดิโอ Mosfilm มอบหมายผู้กำกับหน้าใหม่ Eduard Abalov ที่เพิ่งเสร็จสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก At a Quite Harbour (1958) แต่พอเริ่มการถ่ายทำได้ไม่นาน ก็ถูกสั่งยกเลิกโปรเจคเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1960 เพราะคุณภาพโปรดักชั่นไม่น่าพึงพอใจสักเท่าไหร่

จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1961, โปรเจคนี้จึงถูกส่งต่อให้ Andrei Tarkovsky นักศึกษาจบใหม่จากสถาบัน VGIK ด้วยคำแนะนำของตากล้อง Vadim Yusov ที่เคยร่วมถ่ายทำภาพยนตร์นักศึกษา The Steamroller and the Violin (1960)


Andrei Arsenyevich Tarkovsky, Андрей Арсеньевич Тарковский (1932-86) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Russian เกิดที่ Zavrazhye, Yuryevetsky District บิดาคือนักกวี Arseni Tarkovsky (1907-1989) มารดาชื่อ Maya Ivanovna Vishnyakova หย่าร้างกันเมื่อปี ค.ศ. 1935-36, ช่วงระหว่างสงครามโลกที่สอง มารดาจึงพาเขาและน้องสาว Mariana ไปอาศัยอยู่กับยายที่บ้านชนบท (ส่วนบิดาอาสาออกรบแนวหน้า สูญเสียขาข้างหนึ่ง) ก่อนหวนกลับสู่ Moscow เมื่อปี ค.ศ. 1943 ปักหลักอาศัยอยู่ Shchipok Street, Zamoskvorechye District หาเลี้ยงลูกๆด้วยการทำงานพิสูจน์ตัวอักษร (Proofreader)

Tarkovsky เป็นเด็กเกเร ชอบสร้างปัญหา ผลการเรียนย่ำแย่ แต่มีความสนใจในศิลปะ ดนตรี และบทกวี เคยล้มป่วยวัณโรค (Tuberculosis) รักษาตัวในโรงพยาบาลหลายเดือนกว่าจะหายดี, โตขึ้นเข้าเรียนต่อภาษา Arabic ณ Oriental Institute in Moscow แต่ไม่นานก็ตัดสินใจลาออกเพื่อเข้าร่วมคณะสำรวจเหมืองแร่ ณ แม่น้ำ Kureyka, Turukhansk

หลังทำงานได้ปีกว่าๆ ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนภาพยนตร์ All-Union State Institute of Cinematography (ปัจจุบันคือ Gerasimov Institute of Cinematography, VGIK) สรรค์สร้างผลงานนักศึกษา The Killers (1956), There Will Be No Leave Today (1959), The Steamroller and the Violin (1961) เรื่องสุดท้ายได้รับคำชมล้นหลามจนมีโอกาสเซ็นสัญญา Mosfilm และได้รับมอบหมายกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Ivan’s Childhood (1962)

I wanted to convey all my hatred of war. I chose childhood because it is what contrasts most with war. The film isn’t built upon plot, but rests on the opposition between war and the feelings of the child.

Andrei Tarkovsky

ผกก. Tarkovsky ไม่ได้ชื่นชอบทั้งต้นฉบับเรื่องสั้น และบทหนังของ Mikhail Papava (แต่ยังคงเครดิตไว้) มองเป็นความท้าทาย และเคยแสดงความคิดเห็นว่า “stories that were not well written were easier to adapt into films.”

ร่วมงานกับเพื่อนร่วมรุ่น Andrei Konchalovsky (ว่าที่ผู้กำกับดัง Siberiade (1979)) ทำการปรับปรุงแก้ไข หวนกลับไปใช้ตอนจบดั้งเดิม และเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับความฝัน สร้างสัมผัสบทกวี รวมถึงแทรกใส่ Archive Footage สำหรับเชื่อมโยงเข้ากับโลกความจริง เหล่านี้เป็นส่วนที่กองเซนเซอร์พยายามหักห้ามปราม แต่ทศวรรษนั้นไม่ได้บีบบังคับจริงจังสักเท่าไหร่

Every time we tried to replace narrative causality with poetic articulation, there were protests from the film authorities.

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นในช่วง Khrushchev Thaw (1953-64) การมาถึงของผู้นำสหภาพโซเวียตคนใหม่ Nikita Khrushchev พยายามจะลบล้างอิทธิพล Joseph Stalin (มีคำเรียก de-Stalinization) จึงมีมาตรการผ่อนปรนอะไรหลายๆอย่าง รวมถึงการเซนเซอร์ของ Goskino (State Committee for Cinematography) ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์มีอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม


Nikolai Petrovich Burlyayev, Николай Петрович Бурляев (เกิดปี 1946) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Moscow ด้วยวัยเพียงสิบสี่ได้รับเลือกจาก Andrey Konchalovsky แสดงหนังสั้นนักศึกษา The Boy and the Dove (1961) เลยได้รับการชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Ivan’s Childhood (1962), ติดตามด้วย Introduction to Life (1963), Andrei Rublev (1966), ระหว่างนั้นสำเร็จการศึกษาด้านการแสดงจาก Boris Shchukin Theatre Institute ต่อด้วยสาขาผู้กำกับ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Gambler (1972), Bambi’s Childhood (1985), Wartime Romance (1983), Lermontov (1986) ฯ

รับบท Ivan Bondarev เด็กชายอายุ 12 ปี ตื่นจากฝันร้าย แหวกว่ายข้ามแม่น้ำ Dnieper River ได้พบเจอกับ Lieutenant Galtsev (รับบทโดย Evgeny Zharikov) เรียกร้องขอให้ติดต่อศูนย์บัญชาการหมายเลข 51 ปลายสายคือ Lieutenant-Colonel Gryaznov (รับบทโดย Nikolai Grinko) แล้วรายงานข้อมูลข่าวสาร การเคลื่อนไหวกองทัพเยอรมันที่อยู่ฟากฝั่งตรงข้าม

หลังภารกิจดังกล่าวสำเร็จลุล่วง Lt. Col. Gryaznov พยายามโน้มน้าว บีบบังคับให้ Ivan กลับไปร่ำเรียนหนังสือ แต่ด้วยความดื้อรัน ดึงดัน เพราะที่บ้านไม่หลงเหลือใคร ครอบครัวถูกเข่นฆ่าโดยทหารเยอรมัน จึงตอบปฏิเสธ พร้อมหลบหนีออกจากค่าย เลยจำต้องส่ง Capt. Kholin (รับบทโดย Valentin Zubkov) มามอบหมายภารกิจใหม่ พาล่องเรือข้ามแม่น้ำ Dnieper River กว่าจะได้ข่าวคราวอีกครั้งก็ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

เกร็ด: แม้ว่าเด็กชาย Nikolai Burlyayev จะได้รับการตอบรับโดยผกก. Tarkovsky แต่เห็นว่าสตูดิโอ Mosfilm เรียกมาอ่านบทอยู่หลายครั้ง ทั้งๆก็ไม่มีเด็กคนอื่นมาทดสอบหน้ากล้อง … คาดว่าสตูดิโอคงต้องการความเชื่อมั่น ว่าเด็กคนนี้สามารถรับบทบาทที่ถือว่าหนักหนาเอาการ (แต่ก็ไม่ถึงขั้น Come and See (1985) ที่ต้องว่าจ้างนักจิตวิทยามาประกบตลอดเวลา)

ด้วยวัยเพียง 14-15 ปี แต่เด็กชาย Burlyayev เหมือนคนพานผ่านอะไรมามาก อุปนิสัยดื้อรัน ดึงดัน อารมณ์ฉุนเฉียว เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียดทหารเยอรมัน สนเพียงการล้างแค้นเอาคืน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้รับชัยชนะสงคราม แต่การแสดงออกทั้งหมดทั้งมวล ล้วนเป็นความพยายามปกปิดด้านอ่อนแอภายใน โหยหาความรัก ความอบอุ่น ยังคงครุ่นคิดถึงมารดา

ไฮไลท์คือตอนไฟดับ (ในห้องพักของ Lieutenant Galtsev) ความมืดทำให้เด็กชายเกิดอาการขลาด หวาดกลัว ตัวสั่นๆ น้ำมูกน้ำตาไหล หอบหายใจรุนแรง ดวงตาพองโต แลดูคล้ายๆอาการ Shell Shock/PTSD แสดงออกมาได้อย่างสมจริง ทรงพลัง ทำให้ผู้ชมรู้สึกหนักอึ้ง หัวใจแทบแตกสลาย

เกร็ด: ข่าวคราวล่าสุดของ Nikolai Burlyayev ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา State Duma เมื่อปี ค.ศ. 2021 และให้การสนับสนุน Vladimir Putin ในการบุกรุกราน Ukraine


ถ่ายภาพโดย Vadim Ivanovich Yusov, Вадим Иванович Юсов (1929-2013) ตากล้องสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Klavdino, Leningrad Oblast โตขึ้นเข้าเรียนด้านการถ่ายภาพ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) สำเร็จการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 1954 แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้องในสังกัดสตูดิโอ Mosfilm ได้รับเครดิตถ่าย The Steamroller and the Violin (1960), โด่งดังกับ Ivan’s Childhood (1962), Walking the Streets of Moscow (1963), Andrei Rublev (1966), Solaris (1972), They Fought for Their Country (1975) ฯ

As a cameraman, I deal with the atmosphere, but the reason for this is always the plot, the drama… These concepts cannot be opposed, cannot be separated, since one simply does not exist without the other.

Vadim Yusov

งานภาพของหนัง สามารถแบ่งคร่าวๆออกเป็น …

  • เหตุการณ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน มักดูรกๆ เต็มไปด้วยเศษซากปรักหักพัง ไม่ก็ปกคลุมด้วยความมืดมิด (กลิ่นอายนัวร์ๆ) เพื่อสร้างบรรยากาศสงคราม ความตาย หายนะบนโลกใบนี้
    • ยกเว้นเพียงฉากเกี้ยวพาราสีนางพยาบาล Masha ในป่าเบิร์ช มอบสัมผัสเหมือนกำลังเพ้อฝันกลางวัน
  • ความฝันของ Ivan Bondarev ประกอบด้วย 4 ความฝัน ซึ่งมักใส่ลูกเล่นที่ทำให้ตัวละครดูล่องลอย สัมผัสเหนือจริง (เหมือนฝัน) และมักซุกซ่อนนัยยะเชิงสัญลักษณ์
    • ส่วนใหญ่มักถ่ายทำแบบ Long Take เลือกมุมกล้องแปลกๆตา เคลื่อนเลื่อนติดตามตัวละครด้วยเครน/รางเลื่อน และยังมีการใช้เครื่องฉาย Rear Projection
  • ช่วงท้ายของหนังดูเหมือนภาพ Archive Footage (แต่ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ) เพื่อสร้างสัมผัสเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เคยบังเกิดขึ้นจริง!

ผมเพิ่งมาตระหนักอย่างจริงจังหลังการอ่านบทความของ Criterion กล่าวถึงงานภาพในผลงานผกก. Tarkovsky รับอิทธิพลอย่างมากๆจากตากล้อง Sergey Urusevsky โดยเฉพาะภาพยนตร์รางวัล Palme d’Or เรื่อง The Cranes Are Flying (1957) ที่มีลีลาขยับเคลื่อนเลื่อนไหว(ทั้งกล้องและนักแสดง)อย่างน่าอัศจรรย์! หลายต่อหลายครั้งเกินกว่าที่ผู้ชมจะสามารถครุ่นคิดคาดเดาว่าเบื้องหลังถ่ายทำได้อย่างไร?

Urusevsky’s mastery of the camera greatly impressed Tarkovsky, and many of the decisions related to mise-en-scène, camera movement, and scene choreography in Ivan’s Childhood clearly follow the aesthetic model introduced by the cinematographer. Tarkovsky wanted the film to look as if Urusevsky had shot it, and his DP, Vadim Yusov, managed to accommodate him. Nearly every scene in Ivan’s Childhood is handled in a manner out of the ordinary, suggesting heightened consciousness of style, point of view, framing, and fluid camera.

นักวิจารณ์ Dina Iordanova เขียนลงใน Criterion

หนังถ่ายทำระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1961 ถึงมกราคม ค.ศ. 1962 โดยปักหลักอยู่บริเวณ Dnieper River ระหว่างพรมแดน Belarus กับ Ukraine (กองถ่ายตั้งอยู่ Kanev, Ukrainian SSR) พอฤดูหนาวย่างกราย ก็ย้ายกลับมาถ่ายทำฉากภายในยัง Mosfilm Studios


หนังเริ่มต้นด้วยความฝันแรกของ Ivan มันคือความทรงจำวันวานที่ได้เที่ยวเล่น ซุกซน เอ่อล้นด้วยรอยยิ้ม มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง และเต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญลักษณ์ซุกซ่อนเร้นมากมาย

  • ภาพแรกของหนัง Ivan ยืนอยู่ด้านหลังหยากไย่แมงมุม ด้วยแววตาพิศวงสงสัย ด้วยลักษณะระโยงระยาง ซ้อนทับกันไปมา (ดูราวกับเส้นประสาท) สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการเชื่อมโยงระหว่างอดีต-ปัจจุบัน เหตุการณ์จริง-จินตนาการเพ้อฝัน โครงสร้างหนังอาจไม่ได้สลับซับซ้อนขนาดนี้ แต่มันคือเป้าหมายของผกก. Tarkovsky
    • บางคนอาจตีความหยากไย่ คือสัญลักษณ์ความวุ่นๆวายๆ ชีวิตติดกับดักของ Ivan ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น เอาตัวรอดจากสงคราม ความตาย หายนะมวลมนุษยชาติ
  • เจ้าลาน้อย ดวงตาของมันช่างบริสุทธิ์ไร้เดียงสา จะมองว่าเป็นตัวตายตัวแทนของ Ivan ก็ได้กระมัง
    • ทีแรกผมนึกถึง Au Hasard Balthazar (1966) หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของผกก. Tarkovsky แต่พบว่าสร้างขึ้นทีหลัง Ivan’s Childhood (1962)
  • ช็อตไฮไลท์ของความฝันนี้คือ Ivan เคลื่อนเลื่อนพร้อมกับกล้อง (น่าจะด้วยเครน) ให้ความรู้สึกราวกับติดปีกโบยบิน สื่อได้ถึงอิสรภาพแห่งชีวิต (ในความฝันเราสามารถจินตนาการอะไรให้บังเกิดขึ้นได้)
  • เสียงร้องนกกาเหว่า (Cuckcoo) คล้ายๆเสียงอีกาทักบ้านเรา สัญญาณอันตราย ความตาย การสูญเสีย โดดเดี่ยวอ้างว้าง รวมถึง Loss of Innocence (สูญเสียจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์)
  • ทีแรกผมไม่ได้เอะใจอะไรกับท่าทางเช็ดเหงื่อของมารดา แต่ถ้าใครช่างสังเกตอาจพบว่าหลายๆตัวละคร นิยมชมชอบปาดเหงื่อบนหน้าผากท่วงท่านี้ ราวกับ Déjà-Vu มันอาจไม่ได้แฝงนัยยะอะไร แต่สามารถใช้เป็นจุดเชื่อมโยง สัมผัสนอก-ใน (ของบทกวีภาพยนตร์)

ทั้งๆกำลังหลับฝันดีอยู่แท้ๆ เสียงระเบิดปลุกตื่น Ivan ขึ้นมาบนโลกความจริงอันเหี้ยมโหดร้าย สองสามช็อตแรกถ่ายมุมเอียงๆ เพื่อสื่อถึงโลกที่บิดเบี้ยว ปกคลุมด้วยความมืดมิด หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพังจากสงคราม ซึ่งหลังจากออกจากโรงนา (Windmill) เด็กชายก็วิ่งสู่ดินแดนแห่งแสงสว่าง (ช็อตสุดท้ายถ่ายย้อนแสง ทำให้เห็นพระอาทิตย์ลิบๆสุดปลายขอบฟ้า) ก่อนแหวกว่ายข้ามแม่น้ำ Dnieper River เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด

ผมขี้เกียจลงรายละเอียด mise-en-scène โดยละเอียด แต่จะชี้ให้เห็นบางช็อตที่น่าสนใจระหว่างแรกพบเจอของ Ivan และ Lt. Galtsev

  • ช่วงแรกๆ Ivan ยืนอยู่เบื้องหน้ากล้อง ทำตัวราวกับผู้มีอำนาจ พยายามออกคำสั่ง Lt. Galtsev ที่เดินไปเดินมาอยู่ด้านหลัง ให้ติดต่อหาศูนย์บัญชาการหมายเลข 51
  • Lt. Galtsev ดูจะไม่พึงพอใจเด็กชายคนนี้สักเท่าไหร่ ช็อตที่พูดบอกว่า “Don’t order me around!” สังเกตว่าเงาของเขาอาบฉาบขึ้นบนเพดาน เป็นการอวดอ้างบารมี ครุ่นคิดว่าตนเองมียศ ตำแหน่งทางทหารสูงส่งกว่า
  • Lt. Galtsev แม้ยินยอมยกหูโทรศัพท์ แต่กลับติดต่อหน่วยงานหมายเลขอื่น ปฏิเสธเชื่อในคำอวดอ้างเด็กชาย สังเกตว่าช็อตนี้ตำแหน่งศีรษะของเขาสูง/เหนือกว่า Ivan และระหว่างคุยโทรศัพท์ กล้องจะเคลื่อนเลื่อนให้เห็นเงาบนเพดาน
  • ภาพสุดท้าย Ivan ที่เริ่มหงุดหงิดไม่พึงพอใจ เดินเข้าไปยืนเคียงข้าง Lt. Galtsev (เป็นการลดความเย่อหยิ่ง ทะนงตน) เพื่อจะยกหูพูดคุยโทรศัพท์ด้วยตนเอง อีกฝ่ายถึงยินยอมติดต่อหมายเลขปลายทางให้

ถ้าเป็นผู้กำกับคนอื่นต้องการจะนำเสนอภาพความฝัน (Dream Sequence) หรือเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) แค่ตอนเด็กชาย Ivan เริ่มสัปหงกก็คงตัดไปอดีตนานแล้ว แต่ไม่ใช่สำหรับผกก. Tarkovsky ที่พยายามทำบางสิ่งอย่างเพื่อสร้างจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์

  • หลังจากเด็กชายสัปหงก Lt. Galtsev เข้ามาโอบอุ้ม พาไปนอนบนเตียง … ซีนเล็กๆนี้แฝงมนุษยธรรมที่งดงามมากๆ กับไอ้เด็กเวรที่เพิ่งมีปากเสียง แต่สุดท้ายเด็กก็คือเด็ก ยังต้องการผู้ใหญ่คอยดูแล
  • กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนจากเตาไฟที่กำลังมอดไหม้
    • เมื่อเด็กชายตื่นขึ้นจากความฝัน Lt. Galtsev ทำการยื่นเปลวไฟเข้ามาใกล้ๆกล้อง แล้วค่อยๆหดมือกลับไป
  • มาถึงมือเด็กชายบนเตียงที่ยื่นออกมา พบเห็นน้ำหยดจากนิ้ว จากนั้นตัดไปภาพความฝัน Ivan ปล่อยขนนกให้ตกลงมาบนบ่อน้ำ

เห็นความเชื่อมโยงระหว่างหยดน้ำและกองไฟกันไหมเอ่ย? ผกก. Tarkovsky สร้างความเชื่อมโยงไม่ใช่แค่ 1-2 สิ่ง ถ้านับจริงๆยังมีลูกเล่นภาษาภาพยนตร์อีกสองสามอย่าง

ความฝัน(ร้าย)ของ Ivan หลังจากรับฟังคำพูดล่อหลอกของมารดา บอกว่าดวงดาวหลบซ่อนตัวอยู่ในบ่อน้ำตอนกลางวัน ทำให้บุตรชายยินยอมลงไปหลบซ่อนตัวในนั้น วันที่ทหารเยอรมันบุกเข้ามา เข่นฆ่ามารดา (และอาจจะรวมถึงน้องสาวด้วยกระมัง)

นี่เท่ากับว่าบ่อน้ำ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย ไม่ใช่ตกลงมาเสียชีวิต แต่เปรียบเสมือนอุโมงค์แบ่งแยกระหว่างโลกคนเป็น vs. โลกความตาย (ข้ออ้างดวงดาว คงหมายถึงตายแล้วไปเกิดเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า)

ส่วนช็อตสุดท้ายแทนที่จะใช้เลือด กลับเป็นการสาดน้ำไปยังเรือนร่างไร้ชีวิตของมารดานอนแน่นิ่งบนพื้น ปลุกตื่นเด็กชายขึ้นจากความฝัน (ตัดไปภาพ Lt. Galtsev ยื่นเปลวไฟเข้ามาใกล้ๆกล้อง แล้วค่อยๆหดมือกลับไป)

การมาถึงของ Capt. Kholin ทำให้เด็กชาย Ivan แสดงอาการดีใจอย่างเอ่อล้น วิ่งเข้าหา ถาโถมโอบกอด และตลอดทั้งซีเควนซ์ แสงเงาจะพริ้วไหวไปมา (ใช้การฉายแสงผ่านคลื่นน้ำ) ผมครุ่นคิดว่าต้องการสะท้อนอารมณ์ของเด็กชายที่มีความอ่อนไหว สุขใจที่ได้หวนกลับมาพบเจอคนรู้จักอีกครั้ง

จบลงด้วยช็อตนี้ที่นักแสดงทั้งสามยืนไล่เรียงลำดับความสำคัญต่อ Ivan อยู่ใกล้กล้องมากสุด ตามด้วย Capt. Kholin และ Lt. Galtsev ชายแปลกหน้าที่เพิ่งรับรู้จักยืนเบลอๆหลังสุด

Ivan เดินทางมาหาผู้บังคับบัญชา Lt. Col. Gryaznov (ล้อกับตอนที่ Ivan ยืนติดหน้ากล้องตอนพบเจอกับ Lt. Galtsev, คราวนี้ Lt. Col. Gryaznov ผู้มีอำนาจสูงสุดในกองทัพนี้ จึงอยู่ติดหน้ากล้องตลอดเวลาแทน) เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการส่งตนเองเข้าโรงเรียนทหาร แต่อีกฝ่ายกลับยืนกราน พยายามบีบบังคับให้ปฏิบัติตาม แต่สถานการณ์สงครามภายนอก(หน้าต่าง)ยังคงคุกรุ่น พอเด็กชายถูกบีบบังคับให้ต้องยืนตำแหน่งไกลออกไป จึงแสดงอารยะต่อต้านขัดขืน ไม่ว่าอย่างไรก็จะปฏิเสธทำตามคำสั่ง

นี่ไม่ใช่แค่ ‘Windows Shot’ ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Citizen Kane (1942) [จริงๆมันก็ล้อกันเยอะอยู่นะ เรื่องนั้นเด็กชายนอกหน้าต่างไม่มีสิทธิ์และเสียงตัดสินใจอะไร แต่เรื่องนี้ Ivan เข้ามาอยู่ภายในห้องจึงสามารถพูดบอกไม่เห็นด้วย] แต่ภายในห้อง vs. นอกหน้าต่าง ยังสามารถสะท้อนโครงสร้างของหนัง ตัดสลับไปมาระหว่างอดีต-ปัจจุบัน เหตุการณ์จริง-จินตนาการเพ้อฝัน

Ivan ตัดสินใจหลบหนีออกจากค่ายทหาร ตั้งใจจะเข้าร่วมพลพรรคโซเวียต (Soviet Partisans) แต่เพิ่งเดินทางมาถึงหมู่บ้านที่ถูกแผดเผา มอดไหม้ หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง

  • ภาพแรกถือเป็น ‘Iconic’ ของหนัง! เศษซากไม้ดูราวกับคมมีดดาบ จ่อจี้ไปยังเด็กชาย สื่อถึงสงครามคือสิ่งเลวร้าย ทำลายอนาคตลูกหลาน สร้างบาดแผลเป็นภายในจิตใจ
  • ผมไม่ได้ตั้งใจฟังเรื่องราวชายสูงวัยสักเท่าไหร่ แต่คาดว่าต้องการนำเสนอผู้ป่วยอาการ Shell Shock/PTSD ที่ยังไม่สามารถยินยอมรับสภาพเป็นจริง
    • ส่วนเจ้าไก่มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ ปลุกตื่นขึ้นจากความฝัน (ไก่ขันก็คือเวลาตื่นนอนคนสมัยก่อน) ในบริบทนี้อาจจะสื่อถึงความต้องการตื่นขึ้นจากฝันร้าย เมื่อไหร่หายนะจากสงครามจักจบสิ้นไป
  • ภาพสุดท้ายคือขณะ Lt. Col. Gryaznov ติดตามมาพบเจอ Ivan สังเกตว่าเด็กชายยืนติดหน้ากล้องอีกครั้ง ถูกคนข้างหลังพยายามโน้มน้าว ออกคำสั่ง แม้คราวนี้เขาจะยินยอมกลับขึ้นรถ แต่จิตใจยังคงดื้อรั้น ปฏิเสธขันแข็ง ไม่ยินยอมผันแปรเปลี่ยนความตั้งใจ

บอกตามตรง ผมไม่รู้สึกถึงความจำเป็นของซีเควนซ์นี้สักเท่าไหร่ นางพยาบาลสาว Masha ได้รับการปฏิบัติแตกต่างตรงกันข้ามระหว่าง Lt. Galtsev และ Capt. Kholin

  • Lt. Galtsev ทำตัวเข้มงวดกวดขัน ตำหนิต่อว่าการทำงานของ Masha วางแผนส่งเธอกลับไปเบื้องหลัง ไม่เหมาะสำหรับอยู่แนวหน้า (ดำเนินเรื่องภายในบ้านไม้)
  • Capt. Kholin นักรักผู้พยายามออดอ้อน เกี้ยวพาราสี Masha สรรหาถ้อยคำมาชื่นเชยชม เพื่อฉกฉวยโอกาสจุมพิต (ดำเนินเรื่องภายนอก/ท่ามกลางป่าเบิร์ช)

แต่ถ้าครุ่นคิดลึกๆ จะพบว่าฉากนี้ถือเป็นภาพสะท้อนความฝันของ Ivan (ที่มีทั้งฝันดี & ฝันร้าย) นี่คือช่วงเวลาผ่อนคลาย โรแมนติก สถานที่ปลอดภัย และป่าเบิร์ช(สัญลักษณ์ชาวรัสเซีย)ราวกับสรวงสวรรค์ของคนหนุ่ม-สาว

แซว: ผมมีความมั่นใจประมาณ 80% ว่า Pierrot le Fou (1965) ของผกก. Jean-Luc Godard คัทลอกฉากโรแมนติกในป่าเบิร์ช โดยเฉพาะระหว่าง Masha เดินขึ้นบนต้นไม้

นี่เป็นอีกช็อตที่ถูกกล่าวขวัญ Capt. Kholin ฉกฉวยโอกาสที่ต้องก้าวข้ามร่องน้ำ ทำการโอบกอด จุมพิต แล้วส่ง Masha ข้ามไปอีกฟากฝั่ง ไฮไลท์คือการเลือกมุมกล้อง ตอนแรกถ่ายจากระดับภาคพื้น พอเขาโอบกอด จุมพิต กล้องลดระดับลงถ่ายมุมเงยขึ้น แล้วพอส่งเธอข้ามฟากก็เคลื่อนขึ้นกลับมาบนภาคพื้นอีกครั้ง!

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Masha มีความเคลิบเคลิ้ม เพ้อฝันกลางวัน เพื่อนเก่ามาทักทายก็ไม่ใคร่สนใจ ขณะหนึ่งมีการซ้อนภาพใบหน้าเธอกับทิวทัศน์แม่น้ำ Dnieper River ราวกับว่าอยากข้ามฟากไปสู่ดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ (ล้อกับการข้ามร่องน้ำเล็กๆที่สุดแสนโรแมนติกนี้) … แต่บทเพลงจากแผ่นเสียงมีคำร้องดังขึ้นว่า “They won’t let Masha go across the river.” ซึ่งวันถัดมาเธอถูก Lt. Galtsev ส่งไปยังศูนย์บัญชาการใหญ่ ไม่มีโอกาสข้ามแม่น้ำอีกต่อไป ถือเป็นการปลุกตื่นจากฝันดี หวนกลับสู่โลกความจริง (กระมังนะ)

ผมลองหาข้อมูลเล่นๆบังเอิญพบเจอข้อมูลภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) ชื่อว่า The Four Horsemen (1498) รวบรวมอยู่ในคอลเลคชั่น The Apocalypse ผลงานของ Albrecht Dürer (1471-1528) จิตรกรสัญชาติเยอรมันแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (German Renaissance)

ส่วนอีกภาพหน้าถัดไปก็ยังเป็นผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ของ Dürer ชื่อว่า Portrait of Ulrich Varnbüler (1522) แต่ชายคนนี้คือใครกัน? เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ เป็นข้าราชการ เจ้าพนักงานรัฐ (German Public Offical) ซึ่งมีความสนิทสนมกับจิตรกร ถึงขนาดเรียกอีกฝ่าย ‘singular friend’

แซว: ภาพแรกยังพอคาดเดาเหตุผลได้ว่าต้องเปรียบเทียบหายนะจากสงคราม=วันสิ้นโลกาวินาศ แต่ภาพหลัง Ulrich Varnbüler มันอิหยังว่ะ?

ผมไม่ค่อยแน่ใจนัยยะของระฆังใบนี้สักเท่าไหร่ แต่มันอดไม่ได้ที่จะครุ่นคิดถึง Andrei Rublev (1966) ซึ่งเรื่องนั้นระฆังคือสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย (ตรัส)รู้แจ้ง เด็กชาย (Nikolai Burlyayev คนเดียวกันนี้แหละ) ได้ทำสิ่งเพ้อวาดฝัน สำเร็จสมหวัง เติบเต็มเป้าหมายชีวิต ด้วยวิธีการของตนเองโดยไม่พึงพาผู้อื่นใด!

ในบริบทนี้เด็กชาย Ivan ติดตั้งระฆังสำหรับใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย เพราะเมื่อเป่าเทียนดับ ห้องหับแห่งนี้ปกคลุมด้วยความมืดมิด เสียงแห่งความตายกึกก้องกังวาล ทำให้เขาเกิดอาการหลอกหลอน หวาดระแวง หูแว่ว คล้ายๆ Shell Shock/PTSD เมื่อไม่สามารถควบคุมตนเองก็ลั่นระฆัง (พอดิบพอดีกับการถูกโจมตีทางอากาศ)

ภายหลังการโจมตีทางอากาศสงบลง Lt. Galtsev กลับเข้ามาเก็บข้าวเก็บของตกหล่น แตกกระจาย ระหว่างชวนคุยกับ Ivan ก็พยายามโน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนความตั้งใจ ไปโรงเรียนทหารดีกว่าไหม? ตลอดทั้งซีเควนซ์กล้องจะเคลื่อนติดตาม ถ่ายเฉพาะภาพเด็กชาย ส่วนผู้หมวดพบเห็นเพียงภาพสะท้อนในกระจกด้านหลัง … ผมครุ่นคิดว่า Lt. Galtsev น่าจะเริ่มพบเห็น ‘ภาพสะท้อน’ ตัวตนเองในเด็กชาย Ivan

จริงๆแล้วสี่ตัวละครหลัก Ivan (วัยเด็ก) = Lt. Galtsev (ทหารหนุ่ม) = Capt. Kholin (วัยกลางคน) = Lt. Col. Gryaznov (ผู้สูงวัย) พวกเขาราวกับ ‘ภาพสะท้อน’ กันและกันในแต่ละช่วงเวลาชีวิต … ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจประเด็นนี้ ฉากอื่นๆที่ไม่ได้นำเสนอผ่านมุมมอง Ivan พวกเขาทั้งสามจะถือเป็นตัวตายตัวแทนของเด็กชายก็ยังได้!

มีขณะหนึ่งที่ Capt. Kholin หยุดยืนสูบบุหรี่ พบเห็นภาพวาดพระแม่มารีย์ด้านหลัง คุณคิดว่าใช่ผลงานของ Andrei Rublev หรือไม่??? ผมคิดว่าอาจไม่ใช่ แต่ดูมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึง สามารถใช้อ้างอิงถึงภาพยนตร์ Andrei Rublev (1966) ได้ด้วยกระมัง

ความฝันที่สามของ Ivan ไม่แน่ในว่าก่อนหรือหลังมารดาเสียชีวิต (ความฝัน/ความทรงจำในหนังของผกก. Tarkovsky ไม่เรียงลำดับเวลาอยู่แล้วนะครับ) ขณะนี้เขาและน้องสาวนั่งอยู่บนหลังรถบรรทุกแอปเปิ้ล มีการใช้เครื่องฉาย Rear Projection แล้วทำการ Invert ภาพพื้นหลัง (สลับขาวเป็นดำ ดำเป็นภาพ) น่าจะต้องการสื่อถึงช่วงเวลาค่ำคืน ขณะเดียวกันยังสร้างสัมผัสเหมือนฝัน เหนือจริง และพอไปถึงริมชายหาด ผลแอปเปิ้ลก็ร่วงหล่นเกลื่อนกลาด ฝูงม้าเดินเข้ามากัดแทะ รับประทานเป็นอาหาร

ผมอ่านเจอว่าผกก. Tarkovsky ไม่ได้ใส่สัญลักษณ์อะไร เป็นเพียงภาพความทรงจำ เหตุการณ์(น่าจะ)เคยพบเห็น แต่ผู้ชมก็ไปขบครุ่นคิดไปเอง ว่าสงครามคือช่วงเวลาที่อาหารการกินมีจำกัด เมื่อมันตกหล่นกระจัดกระจาย ผู้คนจำนวนมากย่อมล้มหายตายจาก … มันฟังดูไม่ค่อยเข้าเค้าสักเท่าไหร่ แล้วเจ้าม้า (สัตว์ประจำตัวของผกก. Tarkovsky) ที่โดยปกติแล้วแทนความหมายของชีวิต กัดกินผลแอปเปิ้ลเพื่อความอยู่รอด แค่นั้นนะหรือ?

ก่อนที่จะเริ่มออกเดินทาง Ivan เหมือนนั่งสงบสติอารมณ์ แต่ตัวอักษรภาษารัสเซียบนผนังเบื้องหลัง (ที่อ่านตอนเห็นภาพหลอน) คือเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจออกเดินทาง ข้ามแม่น้ำ เพื่อสืบค้นหาข้อมูลมาแจ้งข่าว นั่นเป็นวิธีการเดียวจักสามารถล้างแค้นเอาคืนทหารเยอรมัน

There are 8 of us none over 19. In one hour we’re to be taken out and shot. AVENGE US!

สำหรับคนช่างสังเกตน่าจะรับรู้ว่าช็อตนี้ถ่ายทำโดยใช้เครื่องฉาย Rear Projection นี่ไม่เพียงล้อกับภาพความฝันของ Ivan (เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฉากในโลกความจริงก็สามารถใช้เทคนิคนี้ไม่ต่างจากภาพความฝัน) เหตุผลของ Capt. Kholin ต้องการบอกให้ Lt. Galtsev ไปรับล่วงรู้เห็นความจริงบางอย่าง สิ่งที่ต้องปกปิด หายนะจากสงคราม ไม่ให้เด็กชายต้องแบกรับภาระทางจิตใจไปมากกว่านี้

ก่อนหน้านี้เคยเห็นมาครั้งหนึ่ง เด็กสองคนถูกจับ สังหารโดยทหารเยอรมัน แล้วนำมาแขวนคอประจาน ขึ้นบ้าน WELCOME ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นคนรู้จัก เพื่อนร่วมรุ่นของ Ivan เลยร้องขอให้ Capt. Kholin ช่วยปลดปล่อยพวกเขา นำพากลับบ้าน เลยใช้เวลาช่วงกลับ แบกขึ้นเรือ … จริงๆนี่ก็เป็นการแอบบอกใบ้ ‘Death Flag’ ขาไปบรรทุกคนเป็น ขากลับบรรทุกคนตาย!

หลังกลับจากส่ง Ivan ข้ามฝั่ง ภาพแรกสังเกตว่าใบหน้าของ Lt. Galtsev ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด ตรงกันข้ามกับ Capt. Kholin มีแสงไฟสาดส่องเบื้องหน้า … สามารถสะท้อนความรู้สึกของพวกเขาต่อภารกิจที่เพิ่งเสร็จสิ้นมา

และเมื่อตอนนางพยาบาล Masha เดินทางมาร่ำลาทั้งสอง กล้องถ่ายจากมุมของเธอที่อยู่เบื้องบน ยืนหันหลังให้กล้องแสดงถึงการไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง อำนาจในการตัดสินใจใดๆ, ถัดไปคือ Capt. Kholin เป็นบุคคลเดียวหันหน้า แถมมีแสงไฟสาดส่อง พูดบอกแสดงความยินดี แต่ท่าทีกลับมีความร้อนรน ต้องการพูดอะไรบางอย่างก่อนเธอจากไปกลับแห้วรับประทาน, ไกลสุดคือ Lt. Galtsev นั่งหันหลังในความมืดมิด พูดอย่างไร้อารมณ์ ไม่มีความสนใจอะไรใคร

ภาพแรกหลังประการชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่ายจากมุม Ant’s Eye View พบเห็นผองเพื่อนโยนตัวทหารนายหนึ่งขึ้นฟ้า มองไปมองมามันช่างละม้ายคล้ายช็อตที่เศษซากไม้ดูราวกับคมมีดดาบ จ่อจี้ไปยังเด็กชาย … เปลี่ยนจากเศษไม้แหลม มาเป็นมือผองเพื่อนที่โยนทหารนายหนึ่งขึ้นฟ้า

มองผ่านๆช็อตนี้ก็แค่ความดีใจหลังได้รับชัยชนะ แต่การเลือกมุมกล้องเห็นท้องฟ้า ราวกับจะสื่อว่าเด็กชาย Ivan (ผู้ล่วงลับ) กำลังโบยบินสู่สรวงสวรรค์

เอาจริงๆผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่านี่คือ Archive Footage หรือถ่ายทำขึ้นใหม่ แต่ฉากนี้อ้างอิงจากเหตุการณ์จริง Joseph Goebbels หลังรับรู้ว่าเยอรมันพ่ายแพ้สงครามแน่ๆ จึงวางยาลูกๆ ยิงปืนฆาตกรรมภรรยา ส่วนตัวเองก็ตัดสินใจมอดไหม้ในกองเพลิง (เพื่อไม่ให้ใครจดจำใบหน้า) ซึ่งถือเป็นความ ‘Ironic’ อยู่เล็กๆ เพราะทหารเยอรมันกระทำการ Holocaust เผาไหม้ชาวยิวนับล้านให้สิ้นชีวิตในกองเพลิง!

Lt. Galtsev สังเกตจากผ้าพันแผล & ริ้วรอยบนใบหน้า น่าจะผ่านการต่อสู้รบมาอย่างโชคโชน (ขณะที่ Ivan มีแผลเป็นทางจิตใจ, Lt. Galtsev ได้รับร่องรอยแผลเป็นทางร่างกาย) ผมคาดเดาว่าสถานที่แห่งนี้น่าจะคือค่ายกักกัน/เรือนจำแห่งหนึ่งในเยอรมัน ซึ่งเขาได้พบเจอเอกสารเกี่ยวกับ Ivan ซึ่งหนังทำการหวนระลึกเหตุการณ์ แต่ไม่ใช่แทรกภาพย้อนอดีต เพียงกล้องค่อยๆเคลื่อนไหล ได้ยินเสียง (คล้ายๆตอน Ivan แสดงอาการ Shell Shock/PTSD) พานผ่านโถงทางเดิน ห้องขัง สถานที่แขวนคอ กีโยติน จบลงด้วยศีรษะกลิ้งลงบนพื้น (ให้นักแสดงนอนกลิ้งกับพื้น แล้วถ่ายเฉพาะบริเวณศีรษะ)

แซว: ผมจงใจเลือกช็อตที่ Lt. Galtsev ทำการปาดเหงื่อบนหน้าผาก แบบเดียวกับตอนต้นเรื่องที่มารดาของ Ivan ก็ปาดเหงื่อท่วงท่าเดียวกัน!

ความฝันสุดท้ายของ Ivan แต่หลายคนมักมองว่าคือสรวงสวรรค์/โลกหลังความตาย เด็กๆทั้งหลายวิ่งเล่นสนุกสนานอยู่ริมชายหาด โดยกมแรกของพวกเขาคือชี้นิ้วแล้วคนนั้นทิ้งตัวลงนอน พอครบหมดถึงค่อยปิดตานับเลข เล่นเกมซ่อนหา วิ่งไล่จับ

ต่อมา Ivan และน้องสาวออกวิ่งไปเรื่อยๆ แวบแรกผมนึกถึงภาพยนตร์ The 400 Blows (1959) แอบคาดเดาว่าช็อตสุดท้ายอาจเป็น Freeze Frame แต่ไม่ใช่! พวกเขายังคงวิ่งไปต่ออย่างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งภาพสุดท้ายเด็กชายเอื้อมมือไขว่คว้า ต้นไม้ แสงอาทิตย์ ก่อนกล้องเคลื่อนเลื่อน(ดูคล้ายการล้มกลิ้ง)ลงสู่ความมืดมิด

ผมไม่สามารถมองซีเควนซ์นี้คือสรวงสวรรค์ได้เลยนะครับ! เพราะรายละเอียดต่างๆพบเห็น มันคือบทสรุปแห่งความสิ้นหวัง

  • เกมแรกชี้นิ้วแล้วคนนั้นทิ้งตัวลงนอน ดูไม่แตกต่างจากการถูกยิงเป้า
  • ปิดตาเล่นซ่อนหา ก็เหมือนทหารเยอรมันไล่ล่า จับกุม
  • Ivan และน้องสาวออกวิ่งไปเรื่อยๆคือพยายามหลบหนีเอาตัวรอด
  • พยายามเอื้อมมือไขว่คว้าหาแสงสว่าง แต่ไปไม่ถึงปลายทาง ล้มกลิ้งลงสู่ความมืดมิด

ตัดต่อโดย Lyudmila Feiginova ขาประจำผกก. Andrei Tarkovsky ตั้งแต่ Ivan’s Childhood (1962) จนถึง Stalker (1979) [นั่นเพราะ Nostalghia (1983) และ The Sacrifice (1986) ย้ายไปทำโปรดักชั่นที่อิตาลี/สวีเดน]

ชื่อหนัง Ivan’s Childhood (1962) ทำให้หลายคน(รวมถึงผมเอง)ครุ่นคิดว่าคงดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของเด็กชาย Ivan จากทั้งเหตุการณ์ในปัจจุบัน และย้อนอดีตความทรงจำ/จินตนาการเพ้อฝัน ถึงอย่างนั้นกลับมีหลายครั้งสลับสับเปลี่ยนมุมมองมาเป็น Lt. Galtsev ซึ่งดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่

แต่ในความไม่สมเหตุสมผลนั้น ถ้าใครเคยรับชมและสามารถทำความเข้าใจ Mirror (1975) ก็อาจรับรู้เป้าหมายแท้จริงของผกก. Tarkovsky ต้องการสรรค์สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘กวีภาพยนตร์’ เรื่องราวมันอาจไม่สมเหตุสมผล กระโดดไปกระโดดมา ขาดความต่อเนื่องลื่นไหล แต่ทุกซีเควนซ์จักมีบางสิ่งอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ ภาษากวีเรียกว่า ‘สัมผัสนอก-ใน’

  • เด็กชาย Ivan Bondarev
    • (Dream) ความฝันของ Ivan ถึงวันวานยังหวานอยู่ ใช้ชีวิตเที่ยวเล่น เรื่อยเปื่อย สนุกสนาน
    • ตื่นขึ้นมาพบเจอโลกความจริงอันโหดร้าย แหวกว่ายข้ามแม่น้ำ Dnieper River
    • พบเจอกับ Lt. Galtsev พยายามโน้มน้าวให้อีกฝ่ายติดต่อศูนย์บัญชาการหมายเลข 51 ยื้อๆยักๆอยู่พักใหญ่จนได้รับคำสั่งจาก Lt. Col. Gryaznov ให้อำนวยความสะดวกเด็กชายคนนี้อย่างเต็มที่
    • (Dream) ความฝัน(ร้าย)ของ Ivan มองลงในบ่อน้ำ และการสูญเสียมารดา
    • Capt. Kholin เดินทางมาแจ้งข่าวกับ Ivan ว่าจะส่งเข้าโรงเรียน แต่เขากลับไม่ยินยอมพร้อมใจ ขึ้นรถไปโน้มน้าว Lt. Col. Gryaznov พอไม่สำเร็จเลยตัดสินใจหลบหนีออกจากค่ายทหาร
  • เตรียมความพร้อมก่อนค่ำคืนนี้
    • เรื่องวุ่นรักในป่าเบิร์ชของ Lt. Galtsev, Lt. Col. Gryaznov และนางพยาบาลสาว Masha
    • Lt. Col. Gryaznov พยายามโน้มน้าวขอหยิบยืมเรือจาก Lt. Galtsev จุดประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมค่ำคืนนี้ นำพา Ivan ไปส่งยังอีกฟากฝั่งหนึ่ง
    • Ivan โดดเดี่ยวในห้องพักของ Lt. Galtsev พอไฟมืดดับ เกิดอาการหวาดระแวง Shell Shock/PTSD
    • ยามเย็น Lt. Galtsev พยายามโน้มน้าว Ivan ให้เปลี่ยนใจไปโรงเรียน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ
    • (Dream) ความฝันถึงน้องสาว นั่งบนรถบรรทุก แอปเปิ้ลร่วงหล่นเต็มชายหาด
  • พายเรือข้ามฟาก
    • เมื่อพระอาทิตย์อัสดง แต่งตัว เตรียมพร้อมออกเดินทาง
    • Lt. Galtsev รับล่วงรู้ความจริงบางอย่างที่ Lt. Col. Gryaznov พยายามปกปิด Ivan
    • พายเรือข้ามฟาก
    • พายเรือข้ามกลับฝั่ง
    • พอกลับมาถึงห้องพัก ก็จำต้องร่ำลาจากนางพยาบาล Masha
  • หลังสงครามสิ้นสุด
    • หลายเดือนปีถัดมาเมื่อสงครามสิ้นสุด Lt. Galtsev ได้พบเจอประวัติ รับรู้โชคชะตาของ Ivan
    • (Dream) ความฝันครั้งสุดท้ายของ Ivan เล่นเกมซ่อนหา วิ่งไล่จับริมชายหาดกับมารดา น้องสาว และผองเพื่อน

แซว: มันก็น่าครุ่นคิดว่า 8½ (1963) ของผกก. Federico Fellini อาจได้แรงบันดาลใจการร้อยเรียงอดีต-ปัจจุบัน ความจริง-เพ้อฝันมาจาก Ivan’s Childhood (1962) เรื่องนี้ก็เป็นได้!


เพลงประกอบโดย Vyacheslav Aleksandrovich Ovchinnikov, Вячесла́в Алекса́ндрович Овчи́нников (1936-2019) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Voronezh Oblast สามารถแต่งเพลงได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เข้าเรียนต่อ Moscow Conservatory ตอนอายุ 15 เป็นลูกศิษย์ของ Tikhon Khrennikov และ Leo Ginzburg, มีผลงานประพันธ์เพลง Symphony, Orchestral, Opera, Choral Music, เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Steamroller and the Violin (1960), Ivan’s Childhood (1962), The First Teacher (1965), War and Peace (1966-67), Andrei Rublev (1966), They Fought for Their Country (1975) ฯ

ในโลกแห่งความฝัน ทุกสิ่งอย่างช่างดูสวยงาม ระยิบระยิบ ได้ยินบทเพลงที่มีความสนุกสนาน ผ่อนคลาย สุขสำราญหฤทัย แต่พอปลุกตื่นขึ้นมาพบเจอโลกความจริงอันเหี้ยมโหดร้าย ทำนองเพลงเต็มไปด้วยสัมผัสอันตราย ความตาย สิ่งชั่วร้ายคืบคลานเข้ามา

บทเพลงส่วนใหญ่เน้นสร้างสัมผัสที่สอดคล้องเข้ากับบรรยากาศพื้นหลัง แต่จะมี Track 6 ดูเหมือนเป็นการทดลองอะไรบางอย่างระหว่างพายเรือข้ามแม่น้ำไปส่ง Ivan จากคลอประกอบพื้นหลังเงียบๆ จู่ๆมีเสียงดีดไวโอลิน (ดีดสะดุ้งนะครับไม่ใช่การสี) บางครั้งอะไรก็ไม่รู้หอนๆแสบแก้วหู ล้วนสร้างความตกอกตกใจ ทำลายความสงบเงียบงัน ดังขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง … ถึงผมจะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจกับลักษณะของบทเพลงนี้ (ที่ไม่เข้าพวกกับเพลงอื่น) แต่จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมตระหนักว่า ในสงครามอะไรก็สามารถบังเกิดขึ้นได้(โดยเฉพาะความตาย)อย่างไม่ทันตั้งตัว!

แถมท้ายกับบทเพลงจากแผ่นเสียง Не велят Маше за реченьку ходить, Ne velyat Mashe za rechenʹku khoditʹ แปลว่าThey won’t let Masha go across the river คือบทเพลงพื้นบ้านรัสเซีย (Traditional Russian Folk Song) ไม่รู้ว่าใครแต่ง มีจดการบันทึกช่วงศตวรรษที่ 19 (แต่น่าจะเก่าแก่กว่านั้น) เนื้อร้องเกี่ยวกับรักต้องห้าม กล่าวถึงหญิงสาวชื่อ Masha ถูกครอบครัวไม่ยินยอมให้พบเจอชายคนรัก เธอจึงอกหักและตรอมใจ … ฉบับมีชื่อเสียงสุดขับร้องโดย Feodor Chaliapin

แซว: มันชัดเจนมากๆถึงเหตุผลตั้งชื่อตัวละครนางพยาบาล Masha ก็เพื่อให้สอดคล้องเนื้อคำร้องบทเพลงนี้นี่แหละ!

ต้นฉบับรัสเซียคำอ่านรัสเซียแปลอังกฤษ
Не велят Маше за реченьку ходить,
Не велят Маше моло-, молоденькой любить,
Что молодчика моло-, молоденького,
Неженатого, холо-, ой, холостенького.

Голос твой налетит, любитель дорогой,
Он не чувствует любови, любови да никакой.
Какова любовь на свете горяча,
Стоит Маня да у кося-, у косящата окна.

Стоит Маня у косящата окна,
Стоит бедная, уж запла-, заплаканы глаза.
Стоит бедная, заплаканы глаза,
Призатёрты свои белы, ой, белы да рукава.

Знать на Машеньку победушка была,
Знать тут милую поби-, побили за дружка.
Ne velyat Mashe za rechenʹku khoditʹ,
Ne velyat Mashe molo-, molodenʹkoy lyubitʹ,
Chto molodchika molo-, molodenʹkogo,
Nezhenatogo, kholo-, oy, kholostenʹkogo.

Golos tvoy naletit, lyubitelʹ dorogoy,
On ne chuvstvuyet lyubovi, lyubovi da nikakoy.
Kakova lyubovʹ na svete goryacha,
Stoit Manya da u kosya-, u kosyashchata okna.

Stoit Manya u kosyashchata okna,
Stoit bednaya, uzh zapla-, zaplakany glaza.
Stoit bednaya, zaplakany glaza,
Prizatyorty svoi bely, oy, bely da rukava.

Znatʹ na Mashenʹku pobedushka byla,
Znatʹ tut miluyu pobi-, pobili za druzhka.
They won’t let Masha go across the river,
They won’t let young… young Masha to fall in love
There is a young lad… so young
Unwed, single… oh, so single

Your voice will flutter away, dear love,
He feels no love, not any love at all
How hot the glow of love can be
Manya stands by a carved trim… carved trim window

Manya stands by the carved trim window
She stands there, poor thing… tears in her eyes
She stands there with tears in her eyes
They have drenched her white, oh, so white sleeves

See that Masha has had such bad luck,
See there poor Masha’s been beaten-down… beaten-down for her boyfriend

หลายคน(รวมถึงผมเอง)อาจครุ่นคิดว่า Ivan’s Childhood (1962) == Andrei Tarkovsky’s Childhood แต่ในความเป็นจริงกลับแค่เพียงเศษเสี้ยวบางส่วนเท่านั้นนะครับ ทั้งสองมีวัยวุฒิใกล้ๆกัน พานผ่านความทุกข์ยากลำบาก พบเห็นหายนะจากสงครามโลกครั้งที่สอง (ใจความต่อต้านสงคราม Anti-War) แต่ผกก. Tarkovsky ไม่ได้สูญเสียมารดาและน้องสาว เรื่องราวของหนังจึงเหมือนกับความฝัน/จักรวาลคู่ขนาน (ถ้าสมมติผกก. Tarkovsky สูญเสียมารดาและน้องสาว ก็คงมีสภาพไม่แตกต่างจากเด็กชาย Ivan)

ความสนใจของผกก. Tarkovsky ต่อเรื่องสั้น Ivan ผมรู้สึกคล้ายๆกับ Orson Welles สรรค์สร้าง Touch of Evil (1958) มองเป็นความท้าทายในการนำเรื่องราวธรรมดาๆทั่วไป ที่ไม่ค่อยน่าสนใจสักเท่าไหร่ มาขยับขยาย ขายวิสัยทัศน์ ทดลองผิดลองถูก พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ ภาพยนตร์สำเร็จการศึกษาที่แท้จริง!

I have to admit that before the appearance of my first full-length work, Ivan’s Childhood, I did not feel that I was a director, nor did the cinema have any inkling of my existence.

To be honest, in making my first film I had another objective: to establish whether or not I had it in me to be a director. In order to come to a definite conclusion I left the reins slack, as it were. I tried not to hold myself back. If the film turns out well, I thought, then I’ll have the right to work in the cinema. Ivan’s Childhood was therefore specially important. It was my qualifying examination.

Andrei Tarkovsky

การทดลองของผกก. Tarkovsky เริ่มด้วยแทรกภาพความฝัน ความทรงจำ หรือโลกหลังความตายของ Ivan เพื่อให้เรื่องราวมีมิติซับซ้อน เปิดเผยเบื้องหลัง ที่มาที่ไป สิ่งซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจตัวละคร เพราะเหตุใด ทำไมเด็กชายถึงมีพฤติกรรมแสดงออกเช่นนั้น … ไม่เชิงว่าเป็นการศึกษาตัวละคร (character study) แต่ออกไปทางจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) เสียมากกว่า

การเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง vs. ภาพความทรงจำ/จินตนาการเพ้อฝัน มันอาจไม่ยุ่งยากที่จะแยกแยะ (เมื่อเทียบกับ 8½ (1963)) แต่หนังพยายามเลือนลางระหว่างโลกทั้งสองใบ (เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง=โลกภายนอก, ความฝัน/ความทรงจำ=โลกภายในจิตใจตัวละคร) ล่องไปล่องมา ตัดสลับซ้ายสลับขวา สามารถเชื่อมโยงด้วยสัมผัสนอก-ใน (ลักษณะของกวีภาพยนตร์) ราวกับว่าทุกสิ่งอย่างได้ถูกผสมผสานคลุกเคล้า จนกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน!

และช่วงท้ายเมื่อมีการร้อยเรียงภาพจาก Archive Footage (มันดูคล้ายๆแต่อาจไม่ใช่ก็ได้ ถึงอย่างนั้นภาพดังกล่าวล้วนอ้างอิงจากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง!) ก็เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดของหนังเข้ากับโลกความจริง (Reality) นี่ก็คือการเลือนลางทุกสรรพสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน “ภาพยนตร์=ชีวิต” “ชีวิต=ความฝัน” “ภาพสะท้อนอดีต=ปัจจุบัน” “ทุกสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน” เรียกว่านำสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น!

ผมครุ่นคิดว่าเป้าหมายแท้จริงของผกก. Tarkovsky พยายามอธิบายถึงอิทธิพล ผลกระทบ (หรือจะเรียกว่าปมบาดแผลในใจ ‘Trauma’) เหตุการณ์ทรงจำบังเกิดขึ้นในอดีต ล้วนมีความเชื่อมโยงติดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสำหรับศิลปินสรรค์สร้างงานศิลปะ ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้จากผลงานภาพยนตร์

หรือก็คือภาพความทรงจำจากสงคราม เป็นสิ่งติดตา ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกคนที่มีชีวิตพานผ่านช่วงเวลานั้นมา ไม่มีวันหลงลืมเลือน และยังคงสร้างอิทธิพล ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน … ภาพยนตร์ทุกเรื่องของผกก. Tarkovsky ล้วนซุกซ่อนความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน อคติต่อสงคราม (Anti-War) บาดแผลในใจไม่มีวันเลือนลาง


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่กรุง Moscow ก่อนเดินทางไปเข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Venice สามารถคว้ารางวัล Golden Lion [เคียงคู่กับ Family Diary (1962)] เอาชนะภาพยนตร์อย่าง Birdman of Alcatraz, Lolita, Mamma Roma, Thérèse Desqueyroux และ Vivre sa vie [เป็นปีที่ถือว่ามีภาพยนตร์ระดับตำนานเข้าฉายหลายเรื่องทีเดียว]

ด้วยทุนสร้างเพียง 24,000 รูเบิล แต่ในสหภาพโซเวียตสามารถจัดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 16.7 ล้านใบ ถือเป็นผลงานประสบความสำเร็จสูงสุดของผกก. Tarkovsky

หนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 4K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2016 แต่ฉบับจัดจำหน่าย DVD/Blu-Ray ของ Artificial Eye และ Criterion ทำการแปลงคุณภาพเหลือแค่ High-Definition (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดนะ) หรือจะหารับชมออนไลน์ทาง Mosfilm และ Criterion Channel

This high-definition digital transfer was created on a Spirit 4K from a 35mm fine-grain master positive. Thousands of instances of dirt, debris, scratches, splices, warps, and jitter were manually removed using MIT’s DRS and Pixel Farm’s PFClean, while Image Systems’ Phoenix was used for small dirt, grain, noise reduction, and flicker.

เมื่อตอนรับชมคราก่อน อาจเพราะผมยังไม่ค่อยรับรู้จักตัวตนของผกก. Tarkovsky เลยไม่สามารถแปะติดปะต่อ เข้าใจแนวคิด มองเห็นความลุ่มลึกล้ำ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ประสบการณ์ภาพยนตร์ รู้จักสังเกต ขบครุ่นคิดวิเคราะห์ มองหาความสัมพันธ์ และที่สำคัญคือเปิดใจให้กว้าง หาอ่านบทความวิเคราะห์/วิจารณ์ จักได้เข้ามุมมองที่หลากหลาย

สิ่งที่ทำให้ผมปรับเปลี่ยนทัศนะต่อ Ivan’s Childhood (1962) มองข้ามจุดบกพร่องทั้งหลาย ก็คือลีลาขยับเคลื่อนกล้อง และสัมผัสเชื่อมโยงระหว่างความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน นั่นคือลักษณะกวีภาพยนตร์ที่มีความงดงาม วิจิตรศิลป์ พยายามประดิษฐ์ภาษา(ภาพยนตร์)รูปแบบใหม่ พัฒนาพิมพ์เขียว ‘สไตล์ Tarkovsky’ ที่สามารถพลิกโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ ไขกุญแจ เปิดประตู ก้าวสู่โลก(ภาพยนตร์)ยุคสมัยใหม่

เผื่อใครสนใจภาพยนตร์สงครามของสหภาพโซเวียตในช่วง Khrushchev Thaw (1953-64) เรื่องเด่นๆดังๆ ประกอบด้วย The Cranes Are Flying (1957), Ballad of a Soldier (1959), Fate of a Man (1959), Father of the Soldier (1964) ฯ

จัดเรต 18+ ภาพหลอกหลอน หายนะจากสงคราม

คำโปรย | Ivan’s Childhood ความทรงจำวัยเด็กของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ฉายให้เห็นหายนะจากสงคราม สร้างสัมผัสอันหลอกหลอน ฝันร้ายที่ไม่มีวันเลือนลาง
คุณภาพ | ฝั
ส่วนตัว | ล่องลอยในฝันร้าย


Ivans Childhood

Ivan’s Childhood (1962) USSR : Andrei Tarkovsky ♥♥♥♡

(12/9/2016) ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Andrei Tarkovsky ที่แม้จะรับไม้ต่อมาอีกที แต่ก็มีรูปแบบ สไตล์ที่ถือเป็นพิมพ์เขียวของหนังแนว Tarkovskian อยู่ครบ, ได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice และคว้ารางวัล Golden Lion มาครองได้

Ivan’s Childhood เป็นหนังที่ผมให้ความสนใจมาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะมักได้รับการพูดถึวว่ามีความยิ่งใหญ่ในระดับที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังสงครามเรื่องอื่นๆ อาทิ The Deer Hunter (1978), Apocalypse Now (1979) และ Come and See (1985) หรือแม้แต่ผู้กำกับดังในประเทศรัสเซียเอง อย่าง Sergei Parajanov หนังเรื่องนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้าง The Color of Pomegranates (1969) ฯ ในรูปแบบ สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนดั่งที่ Tarkovsky สร้างสไตล์ Tarkovskian ของตนเองขึ้นมา

Ingmar Bergman หลังจากได้ชม Ivan’s Childhood ได้พูดถึงการค้นพบของเขาว่า ‘การได้ชมหนังเรื่องแรกของ Tarkovsky เหมือนพบกับปาฏิหารย์ ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองยืนอยู่หน้าประตูห้องๆหนึ่ง กุญแจอยู่ที่ไหนไม่รู้ และฉันอยากเข้าไปใจจะขาด แต่อยู่ดีๆชายคนนี้ มาจากไหนไม่รู้ เดินเข้าไปไขกุญแจ และกระโดดโลดเต้นอยู่ในนั้น’

My discovery of Tarkovsky’s first film was like a miracle. Suddenly, I found myself standing at the door of a room the keys of which had, until then, never been given to me. It was a room I had always wanted to enter and where he was moving freely and fully at ease.

Bergman ยังได้ยกย่องว่า Tarkovsky คือผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (Greatest) และหนังโปรดที่สร้างโดย Tarkovsky ของ Bergman คือ Andrei Rublev (1971)

Andrei Arsenyevich Tarkovsky (1932-1986) ผู้กำกับภาพยนตร์เชื้อสาย Russian เป็นทั้งนักเขียน นักตัดต่อ นักทฤษฎี ผู้กำกับละครเวทีและโอเปร่า, พ่อของเขา Arseny Alexandrovich Tarkovsky เป็นนักกวี นี่ทำให้ Tarkovsky โตขึ้นมาด้วยการได้อิทธิพลของการเป็นศิลปิน, ปี 1954 ได้เข้าเรียนที่ State Institute of Cinematography (VGIK) สาขาการกำกับ (Directing) ช่วงนั้นถือเป็นยุคตกต่ำของวงการภาพยนตร์โซเวียต (ตรงกันข้ามกับทั่วโลกที่ทศวรรษ 50s คือยุคทองของวงการภาพยนตร์) เพราะมีภาพยนตร์รัสเซียใหม่ๆออกฉายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะสร้างโดยผู้กำกับรุ่นก่อน แทบไม่มีผู้กำกับหน้าใหม่ๆเกิดขึ้นเลย นั่นทำให้อิทธิพลจากยุโรปและอเมริกาแผ่ขยายเข้ามาในประเทศ ทำให้ Tarkovsky มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์ของจาก Italian Neorealist, French New Wave รวมถึงผู้กำกับดังๆอย่าง Akira Kurosawa, Ingmar Bergman, Andrzej Wajda ฯ เหล่านี้ที่ปลุกปั้น Tarkovsky ให้ซึมซับแนวทางของ ‘คิลปิน’ และค้นหาแนวทาง ความสนใจที่ต่อมาจะพัฒนากลายเป็นสไตล์ของตนเอง

ทั้งชีวิตของ Tarkovsky กำกับหนังที่ได้ออกฉายทั้งหมด 7 เรื่อง (5 เรื่องแรกทำกับรัสเซีย อีก 2 เรื่องทำกับอิตาลีและสวีเดน) เสียชีวิตว่ากันว่าด้วยมะเร็งปอด แต่อีกแหล่งข่าวอ้างว่า Tarkovsky ถูกสังหารโดย KGB เพราะความที่ตอนกำลังทำหนังเรื่องที่ 6 The First Day เรื่องราวเกี่ยวกับ Peter the Great ได้ถูกองค์กรอะไรสักอย่างของโซเวียตสั่งยกเลิกการถ่ายทำ และทำลายฟีล์มทั้งหมด นี่ทำให้ Tarkovsky โกรธแค้นหน่วยงานของรัสเซียมาก ทำให้เขาตัดสินใจสร้างหนังร่วมกับอิตาลีและสวีเดน จึงถูกหมายหัวจาก KGB ว่าอาจกำลังทำหนังที่ Anti-Soviet propaganda เป็นคนทรยศของประเทศที่ต้องถูกกำจัด

ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นชื่อ Ivan เขียนโดย Vladimir Bogomolov ในปี 1957 ได้รับการแปลมากถึง 20 ภาษาสมัยนั้น สตูดิโอผู้สร้าง Mosfilm จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงแล้วมอบหมายให้ Mikhail Papava เขียนบทภาพยนตร์ ซึ่ง Papava ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวจากเรื่องสั้นนี้พอสมควร สร้างให้ Ivan มีความเป็นฮีโร่ และเปลี่ยนแปลงตอนจบ เขาตั้งชื่อหนังใหม่ว่า Second Life, Eduard Abalov ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับ และเปิดกองถ่ายทำไปแล้วเกือบครึ่งทาง เมื่อนำตัวอย่างไปฉายให้นักวิจารณ์และหน่วยงานต่างๆดู ก็ถูกตำหนิติเตียนในทิศทางการกำกับที่ไม่น่าพอใจ ทำให้ Mosfilm สั่งหยุดการถ่ายทำแล้วไล่ Abalov ออกในเดือนธันวาคมปี 1960, Tarkovsky หลังจากได้ยินข่าวก็ยื่น Resume ต่อ Mosfilm หลังเรียนจบจาก VGIK ซึ่งหลังจากสตูดิโอได้เห็นผลงานหนังสั้นที่เขาทำเป็นโปรเจคจบ ก็เลยตัดสินใจเสี่ยง ให้เป็นผู้สานต่องานกำกับหนังเรื่องนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 1961 ด้วยเงื่อนไขที่ว่า จะต้องใช้งบประมาณแค่ครึ่งหนึ่งของทุนสร้างเดิม (คือเงินจำนวนที่เหลืออยู่จากทุนสร้างเดิมของหนัง และพวกเขาไม่ต้องการเสียเงินเพิ่มอีกกับหนังเรื่องนี้อีก) นี่ถือเป็นงานท้าทาย Tarkovsky อย่างมาก วัดดวงไปเลยว่า ถ้าทำแล้วออกมาดีโอกาสในอาชีพสายนี้ก็จดสดใส ถ้าออกมาเลวก็อาจได้จบสิ้นกัน

หลังจาก Tarkovsky ได้อ่านบทของ Papava ก็ไม่ค่อยประทับใจนัก เขาให้ Vladimir Bogomolov เข้ามาช่วยแก้ไขเรื่องราว ปรับเปลี่ยนอะไรต่างๆมากมาย เขาไม่อยากให้ผู้ชมมองว่า Ivan คือฮีโร่ แต่คือเด็กที่มีปัญหา และตอนจบตัดสินใจที่จะกลับไปยึดตามต้นฉบับของเรื่องสั้น ที่เป็นยังไงผมไม่ขอสปอยนะครับ เอาว่าคือผลลัพท์ชะตากรรมของ Ivan หลังสงครามจบ หลายคนอาจคาดเดาได้ว่าเป็นยังไง แต่ให้ไปเห็นวิธีการนำเสนอของหนังเองดีกว่าจะรู้สึกว่าน่าทึ่ง มีชั้นเชิงมากๆ

เรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณชายแดน Eastern Front (แนวรบทางตะวันออก) ระหว่างกองทัพของ Soviet Union กับ German Wehrmacht เด็กชายที่สูญเสียครอบครัวในระหว่างสงคราม เขาต้องการทำทุกอย่างเพื่อล้างแค้นเยอรมัน แต่สิ่งที่เขาทำได้คือเป็นแค่สปายสอดแนมตามแนวชายแดน แต่นั่นคือหน้าที่ของเด็กหรือ?

Kolya Burlyayev รับบท Ivan Bondarev เด็กชายอายุน่าจะ 12 ขวบ ผู้ได้สูญเสียความสดใสร่าเริง (Adolescent) จากเหตุการณ์ที่ประสบพบเจอมา พ่อแม่ พี่น้อง คนรู้จัก ถูกทหาร German ฆ่าเสียชีวิต เขาเป็นเด็กชายคนเดียวที่มีชีวิตรอด, หนังนำเสนอมุมมองของสงครามผ่านสายตาของเด็กคนนี้ แม้จะไม่มีฉากสู้รบ สงคราม แต่เราจะสัมผัสได้ถึงความรุนแรง และความฝันที่แฝงอยู่ในใจเบื้องลึกของเด็กชาย ที่ยังคงอยากมีความสุข สนุกสนานในช่วงวัยของตนเอง

ถ่ายภาพโดย Vadim Yusov เพื่อนสนิทที่ได้ถ่ายหนังเรื่องเรียนจบด้วยกันกับ Tarkovsky คงเพราะทุนสร้างที่จำกัด จึงไปเกลี้ยกล่องเพื่อนสนิทให้ร่วมเป็นร่วมตายกัน ด้วยค่าตัวถูกๆ, งานภาพของ Yusov ในหนังเรื่องนี้ กับแนวทางของ Tarkovsky ได้เปิดโลกทัศน์ มุมมองใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะการถ่ายภาพธรรมชาติ ที่ดูแล้วอาจไม่ได้มีความหมายอะไรต่อหนัง แต่มีความรู้สึก บรรยากาศ และแฝงด้วยความหมายเชิงอภิปรัชญา (Metaphysics) รวมทั้งชีวิต โลก และสิ่งเหนือธรรมชาติ, ยกตัวอย่าง ภาพในโปสเตอร์หนังที่ผมเลือกมา ให้ความรู้สึก คล้ายไม้ชี้ไปที่เด็กชาย เปรียบเหมือนความแหลมคมของปลายดาบ (ความทรงจำ, โลกที่โหดร้าย) พุ่งแทงเข้าไป ตั้งใจจะทำร้ายเด็กชาย

หนังเรื่องนี้มีทั้งฉากที่เป็นโลกความจริง และฉากที่เป็นเหมือนความฝัน, เปิดมาฉากแรกเชื่อว่าผ่านไปสักพักใครๆก็น่าจะคาดเดาได้ว่านั่นคือความฝัน ในโลกแห่งนี้ มันมีภาพที่ฝืนธรรมชาติ สวยงามเกินจริง มีการเคลื่อนกล้องที่ดูเว่อ (บางครั้งเหมือนลอยได้) ภาพพื้นหลังแปลกๆ และการกระทำบางอย่างที่ดูผิดปกติ นี่คือโลกในความฝัน, สำหรับโลกความจริง บรรยากาศ โทนสีจะดูอึมครึม มืดคริ้ม สกปรกโสโครก เห็นแล้วเจ็บปวด รวดร้าว แหลมคม หาความสวยงามแทบไม่ได้

ฉากที่ถ่ายในสวนต้น Birch ให้ความรู้สึกที่ประหลาดมาก คือภาพมันเหมือนความฝันแต่ซีนนี้คือโลกความจริง การแสดงออกของตัวละคร มีเกี้ยวพาราสีหญิงสาว มันเหมือนพวกเขากำลังฝันกลางวันอยู่, ไฮไลท์ของฉากนี้คือ ฉากจูบ ที่ถ้าสังเกตดีๆ กล้องจะเคลื่อนลงเล็กน้อย ถ่ายมุมเงย เป็นภาพที่ผมมองเห็นเป็นเหมือนหัวลูกศร (ผู้ชายยืนแยกขาเป็นหัวลูกศร และผู้หญิงที่สักพักเธอหยุดแกว่ง จะลอยในอ้อมกอดของผู้ชายเป็นเส้นตรง) นี่เป็นสัญลักษณ์แสดงทิศทาง ถ่ายระหว่างคันดินสองฝั่ง (ความจริงกับความฝัน) ถ้าต้องเลือกระหว่างความจริงกับความฝัน?

ตัดต่อโดย Lyudmila Feiginova ถือจะบอกว่าหนังใช้มุมมองของ Ivan แต่ก็เฉพาะในความฝันของเขาเท่านั้น กับโลกความจริง เหมือนว่าหนังจะนำเสนอผ่านมุมมองของ Lt. Galtsev รับบทโดย Evgeny Zharikov และเขาเป็นคนๆเดียวที่เหลือรอดจนถึงตอนจบ ในบรรดานายทหาร 3 คน ที่เกี่ยวพันกับ Ivan

มีเรื่องราวหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนคิดว่า มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ Ivan เลย นั่นคือช่วงของ Masha รับบทโดย Valentina Malyavina (ผมไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ Tarkovsky เคยบอกว่าอยากตัดออกหรือเปล่า เป็นความผิดพลาดและความอ่อนด้อยประสบการณ์ของตนเองที่ใส่เข้ามาตามบทต้นฉบับของหนัง ซึ่งตอนที่เขาตระหนักได้ ก็ไม่ได้รับอนุญาติให้แก้ไข เพราะหนังออกฉายแล้ว) ส่วนของ Masha ผมวิเคราะห์ว่าเป็นการเปรียบเทียบเรื่องคู่ขนานกับ Ivan ดังคำพูดหนึ่งในหนังที่ว่า ‘สงครามเป็นเรื่องของผู้ชาย (man)’ แม้คนที่พูดจะเพิ่งโตพ้นวัยเด็กมาไม่มาก (อายุน่าจะ 18-20) แต่ประโยคนี้สื่อถึง เด็กและผู้หญิง ไม่ควรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับสงคราม นั่นคือ Ivan และ Masha เด็กชายและผู้หญิง คู่เดียวที่ปรากฎในหนัง

ความยาว 94 นาที นี่ถือเป็นหนังที่สั้นที่สุดของ Tarkovsky (พี่แกขึ้นชื่อเรื่องทำหนังโคตรยาว โคตรช้า) ด้วยเหตุนี้มันจึงมีความสั้น กระชับ รัดกุมอย่างคาดไม่ถึง, กับคนที่ไม่ชอบความอืดอาดในหนังของ Tarkovsky ถ้าได้ดู Ivan’s Childhood คงหาข้ออ้างบ่นว่าหนังยืดยาด เยิ่นเย้อ ยืดยาวไม่ได้แล้วนะครับ ลองเอาเวลาสั้นๆนี้ไปคิดวิเคราะห์หาความหมายเชิงปรัชญาในแต่ละฉากดู ผมเห็นอยู่เต็มไปหมดตระการตาจนขี้เกียจคิดตามเลยละ ให้ความเข้าใจมันซึมซาบผ่านผิวหนังเข้าไป ผมว่ามันจะดูสนุกกว่าคิดแบบเอาเป็นเอาตาย ที่อาจทำให้คุณได้ตายจริงๆเลยก็ได้

เพลงประกอบโดย Vyacheslav Ovchinnikov สไตล์ของเขาคือ Symphonic Poems เพลงประกอบที่มีความไพเราะเหมือนบทกวี นี่ผมก็อธิบายไม่ได้ว่ามีลักษณะอย่างไร แต่กับหนังเรื่องนี้ มีช่วงหนึ่งที่ผมได้ยินเสียงทรัมเป็ตเสียงเดียวตลอดฉาก แต่มีการเล่นโน๊ตที่มีลีลา ทำนองความสวยงาม เหมือนคำร้องคำอ่าน มีสัมผัสที่สร้างบรรยากาศเข้ากับงานภาพและการตัดต่อ, ในฉากความฝันเราจะได้ยินเสียงเพลงที่ไพเราะรื่นเริงสนุกสนาน แต่ฉากโลกความจริง เสียงเพลงจะค่อนข้างประหลาด หดหู แสบหู เจ็บปวด น่ารำคาญชอบกล

เกร็ด: ในโอกาสครบรอบวันประสูติ 60 พรรษา (พ.ศ. 2535) ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ Vyacheslav Ovchinnikov ได้ประพันธ์เพลง The Bouquet for the Queen ถวายราชินี นี่ทำให้ Ovchinnikov ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก แทนการขอบคุณ (ไม่แน่ใจว่าชั้นอะไรนะครับ น่าจะ เบญจมาภรณ์ช้างเผือก)

ตอนหนังได้ฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice และได้ Golden Lion ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสายการประกวด ที่ Italy ยังเป็นระบอบ Communist อยู่ ได้เกิดประเด็นร้อนถกเถียงกันในวงกว้าง เพราะพวกเขามองประเด็นที่ Tarkovsky นำเสนอในหนังเรื่องนี้ ว่ามีส่วนส่งเสริม ‘ปัจเจกนิยม’ (individualism) ซึ่งขัดต่อความเชื่อของ Communist ที่เป็น สังคมนิยม, มันเหมือนว่าด้วยวิธีการนำเสนอนี้ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของ Ivan เป็นผลมาจากมวลรวมของสังคม ที่สะสมและก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็ก แม้ Tarkovsky จะพยายามบอกว่า ความฝันและฝันร้ายของไม่ได้เกิดจากเด็ก (แต่เกิดจากมุมมองของเขาเอง) สิ่งที่เราเห็นกับเด็กชาย มีทั้งข้างนอกในส่วนที่เป็นโลกจริง และความจริงในส่วนที่เป็นความฝันของเด็ก ที่ถือเป็นภาพลวงตาของคนทั่วโลก (บอกเป็นนัยว่า ที่พวกนายถกกันอยู่ คนละประเด็นกับที่ข้านำเสนอเลย!)

สำหรับ Tarkovsky ‘อดีตสำคัญและจับต้องได้มากกว่าปัจจุบัน’ นี่เขาหมายถึงพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิต ที่กว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ล้วนผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่าอดีต และสิ่งที่ขัดเกลาตัวตน วิถี แนวคิด รูปแบบ ทัศนคติ ก็ล้วนมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งสิ้น, เมื่อพูดถึงมนุษย์ ความสนใจของ Tarkovsky คือ ‘การค้นหาช่วงเวลาที่สูญหายไป’ (search for lost time) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาเล็กๆที่ทำให้ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของมนุษย์ถูกเจือปน

ผมจะขอพูดถึงทั้ง 4 ความฝันของ Ivan นะครับ เพราะมันได้สะท้อนอะไรหลายๆอย่างออกมาด้วย

ฝันแรก นำเสนอความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของ Ivan เขาเป็นเด็กที่ชอบการไล่จับผีเสื้อ ชื่นชมความพิศวงของใยแมงมุม วิ่งเท้าเปล่าในทุกหญ้า และพูดกับแม่ว่า ‘Mum, there’s a cuckoo!’ (นกกาเหว่า), ความฝันจบที่ Ivan กำลังล่องล่อยอยู่บนอากาศ ก่อนตกลงมาตื่นขึ้นด้วยเสียงระเบิด กลับคืนสู่โลกความเป็นจริง, การสนทนาระหว่าง Ivan ในตอนต้นเรื่อง Galtsev แสดงให้เราเห็นว่า เขาไม่มีความสนใจที่จะกลับสู่โลกของวัยเด็กอีกต่อไป (แม้เขาก็ยังคงฝันถึงมันอยู่เรื่อยๆก็เถอะ)

ฝันที่สอง ในบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ระหว่างความจริงกับความฝัน (จุดสูงสุดและจุดต่ำสุด) ผมคิดว่าด้านบนของบ่อน้ำแทนด้วยอดีตความฝันของ Ivan ส่วนด้านล่างแสดงถึงปัจจุบันความจริงที่เขาประสบอยู่, ครั้งหนึ่งแม่ของ Ivan อธิบายถึงดวงดวงที่ตลอดเวลายังส่องแสงอยู่ แม้ในเวลากลางวันหรือค่ำคืนที่มืดมิดที่สุด ดวงดาวนี้เปรียบได้กับความหวัง ซึ่งหลังจากที่แม่เสียชีวิต (ด้านบนของบ่อน้ำ) ความหวังของเขาได้สูญสิ้นมลายหายไป

ฝันที่สาม Ivan และน้องสาวนั่งอยู่บนหลังรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยแอปเปิ้ล ในช่วงสงครามอาหารเป็นสิ่งหายาก แต่ในความฝันนี้กลับมีแอปเปิ้ลเต็มไปหมด ภาพหลังของฉากเป็น Negative (ภาพสีสลับด้าน) นี่แสดงถึงความตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง, Ivan ยื่นแอปเปิ้ลให้น้องสาว แต่เธอปฏิเสธถึง 3 ครั้ง (นี่เป็นเหมือนลางสังหรณ์ ว่าอาจมีเรื่องร้ายๆเกิดขึ้น) และสุดท้ายเกิดอุบัติเหตุแอปเปิ้ลตกกระจัดกระจายเต็มหาด พวกเขาไม่ได้กิน เป็นม้าที่ได้อิ่มท้อง (ม้า คือสัตว์สัญลักษณ์ประจำตัวของ Tarkovsky นะครับ มีปรากฎอยู่ในหนังของเขาทุกเรื่อง แฝงหมายความว่ายังไงลองคิดดูเองนะครับ)

ฝันสุดท้าย ต่อเนื่องจากฝันที่สาม Ivan และน้องสาววิ่งเล่นกันที่หาด มีแม่ยืนดู ยิ้มอยู่ห่างๆ นี่แสดงถึงความสุข สงบสันติ ตอนจบ Ivan แซงเด็กหญิงแล้วยังวิ่งต่อไปเรื่อย จนเกือบชนต้นไม้ต้นหนึ่ง (ต้นไม้ที่น่าจะตายแล้ว) ช่างภาพเหมือนจะหกล้มแล้วตัดขึ้น The End นี่มองได้ว่าคือชะตากรรมของ Ivan ด้วย ที่สุดท้ายเขาจบลง…

ในบรรดาฉากความฝันทั้งสี่นี้ เปรียบเสมือน Poetic Dream Sequence ที่แสดงถึงความทรงจำ สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของ Ivan, เราจะเห็นว่า Ivan อยากมีวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความสุข บริสุทธิ์ และความหวัง แต่เพราะการมาของสงคราม ทำให้เขาสูญเสียแม่และครอบครัว ได้เห็นความโหดร้าย (Horror) ของสงคราม ทำให้เขาตัดสินใจกลายเป็น ตัวละครที่มีค่าในสงคราม นี่เราไม่สามารถมองว่าเขาเป็นฮีโร่ผู้รักชาติได้เลย แต่คือคนที่กร้านโลก ไม่มีอะไรให้เกรงกลัว ไม่มีอะไรจะสูญเสีย เขาไม่ฟังคำใครทั้งนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนใจเขาได้ เป้าหมายเขามีอย่างเดียวคือ ‘แก้แค้น’ ผมเชื่อว่าแม้สงครามจบแต่ Ivan ไม่จบแน่นอน ต้องการเป็นบ้าหรือสติมีปัญหาเมื่อโตขึ้นแน่ๆ หรือไม่ก็มีอีกหนทางที่เป็นทางออกได้

ว่ากันว่า Dream Sequence ในฉากเปิดเรื่องของหนังเรื่องนี้ เทียบความยิ่งใหญ่ได้เท่ากับ 8 1/2 (1963) ของ Federico Fellini ถือเป็นฉากเปิดที่ยอดเยี่ยม สวยงาม ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษ 60s

กับหนังเรื่องนี้ Tarkovsky ได้สร้างทฤษฎีทางภาพยนตร์ขึ้นมาที่ชื่อ ‘Sculpting in Time’ อธิบายง่ายๆคือ เวลาการดำเนินเรื่องในหนังไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องไหลลื่น ต่อเนื่องก่อน (time is a non-chronological) เราสามารถกำหนดให้ อะไรจะเกิดขึ้นก่อนหลัง สลับซ้ายขวา กระโดดหน้าถอยหลัง ยืดหด ยังไงก็ได้ นี่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดสัมผัสในเวลา ว่าเวลาผ่านไป สูญเสียไป และความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่เกิดขึ้น, เทคนิคนี้เกิดขึ้นในกระบวนการตัดต่อเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งทิ้แช่ภาพเป็นระยะเวลานาน (ให้รู้สึกเวลาผ่านไป) ตัดต่อแบบกระโดดข้าม (รู้สึกว่าเวลาสูญเสียไป) และบางครั้งก็ตัดสลับไปมา อดีตปัจจุบัน (ให้เห็นความสัมพันธ์)

กับฉากความฝันสุดท้ายที่ใครๆถกเถียงกัน มันชัดเลยว่า ไม่ใช่ความฝันของ Ivan แน่ๆ แต่กลับมี Ivan อยู่ในนั้น ทำไมกัน?, คนทั่วไปคงมองว่าฉากนี้คือการทำให้รู้สึกเหมือน ภาพแฟนตาซี Happy Ending ของหนัง หรือนั่นคือสรวงสวรรค์ของ Ivan, กับคนที่บ้า Inception สักหน่อยก็จะมองกลับกัน ว่านี่คือโลกความจริง และโลกอันโหดร้ายนั่นคือความฝัน, ผมมองฉากนี้คือจินตนาการของผู้กำกับ ต่อความฝันของ Ivan หลังจากสงครามจบ นี่คือสิ่งที่ Ivan ต้องการมากที่สุด (ในความฝันของเขา)

ผมขอเปรียบหนังเรื่องนี้กับ The Tin Drum (1979) หนัง German ที่โดนผมสับเละเป็นปลาร้า ที่มีการนำเสนอเรื่องราวความโหดร้ายของสงครามผ่านมุมมองของเด็กชายเช่นกัน แต่เด็กชายจาก The Tin Drum ทำให้ผมรู้สึกว่าหมอนี่เป็น ไอ้เด็กเวร ที่พื้นหลังเต็มไปด้วยความเกลียดชังที่น่าขยะแขยง ไม่มีความน่าเห็นใจแม้แต่น้อย แต่กับ Ivan ในหนังเรื่องนี้ ทำให้เราเห็นด้านมืดด้านสว่าง ความรู้สึก เหตุผล จิตวิทยาของเขาที่ทำให้ผู้ชม ‘ต้อง’ รู้สึกสงสาร แม้ Ivan จะไม่ยอมรับความสงสารจากใครสักคน แต่เราก็จะเห็นใจ เข้าใจเขา และอยากที่จะช่วยเหลือ (เหมือน 3 นายทหารที่ทุกคนเมื่อได้รู้เรื่องของเขาแล้ว ก็เต็มใจอยากช่วยเหลือ Ivan ทางใดก็ทางหนึ่ง)

ในบรรดาหนังของ Tarkovsky ผมคิดว่า Ivan’s Childhood เป็นหนังที่ย่อยง่าย เข้าใจง่ายที่สุดแล้ว เพราะหนังมีความกระชับรัดกุมและตรงไปตรงมาที่สุด ไม่ต้องคิดวิเคราะห์อย่างหนักก็สามารถเข้าใจเรื่องราว ซึมซับบรรยากาศ เห็นความสวยงามของหนังได้ไม่ยาก แต่ถ้าได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ก็จะเห็นความสวยงามในอีกรูปแบหนึ่ง, นี่คงถือเป็นการลองผิดลองถูกครั้งแรกของ Tarkovsky เขามีข้อจำกัดมากมายในการสร้างหนังเรื่องนี้ แต่ผลลัพท์ที่ออกมาถือว่าไม่ธรรมดา ที่ผมไม่ให้คะแนนเต็ม เพราะคิดว่า หนังยังมีหลายๆจุดที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ และ Tarkovsky เองก็ยังไม่พอใจกับผลลัพท์ของหนัง ถ้าเราพอใจกับสิ่งที่มีแค่นี้ ผมก็มองว่าเป็นการลบหลู่ Tarkovsky ทางใดก็ทางหนึ่งนะครับ

ในบรรดาหนังของ Andrei Tarkovsky ที่ดูมาแล้ว 4 เรื่อง (Andrei Rublev, Solaris, The Mirror, Ivan’s Childhood) ผมยังคงชื่นชอบ Andrei Rublev (1966) มากที่สุด และไม่คิดว่าอีก 3 เรื่องที่เหลือ จะมีโอกาสให้ผมชื่นชอบมากกว่านะครับ (แต่ไม่แน่ อะไรๆก็อาจเกิดขึ้นได้)

แนะนำกับคนชื่นชอบหนังแนวสะท้อน เสียดสีสงคราม ที่ให้ความเจ็บปวดลึกไปถึงทรวง, นักจิตวิทยา ปรัชญา ศึกษา ค้นหา วิเคราะห์ ตีความ, แฟนหนัง Tarkovskian ไม่ควรพลาดเลย

ถ้าคุณชอบแนวสงครามของรัสเซีย ประเภทนำเสนอผลกระทบทางจิตใจของมนุษย์ และไม่ได้ยกย่องเชิดชูการสงคราม ลองหา The Cranes Are Flying (1957) และ Ballad of a Soldier (1959) มาดูนะครับ

จัดเรต 18+ กับภาพเรื่องราว ความทรงจำที่แฝงความรุนแรงและเจ็บปวด

TAGLINE | “Ivan’s Childhood หนังเรื่องแรกของ Andrei Tarkovsky ที่แม้จะรับไม้ต่อมา แต่ก็มีรูปแบบ สไตล์ พิมพ์เขียวของแนว Tarkovskian อยู่ครบ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: