
J. S. Bach: Air on the G String
(16/11/2022) จากต้นฉบับ Bach: Orchestral Suite No. 3 in D major (ค.ศ. 1730) ได้รับการเรียบเรียงใหม่โดยนักไวโอลินชาวเยอรมัน August Wilhelmj เมื่อปี ค.ศ. 1871 เพื่อให้บทเพลงท่อนที่สอง ‘Air’ สามารถบรรเลงด้วยไวโอลินสายเดียว จนกลายเป็น Air on the G String ไพเราะเพราะพริ้ง นำพาผู้ฟังล่องลอยสู่สรวงสวรรค์
Johann Sebastian Bach (1685-1750) คีตกวีสัญชาติ German แห่งยุคสมัย Baroque (1600-1750) เกิดที่ Eisenach ขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณาบริเวณ Saxe-Eisenach (ปัจจุบันคือประเทศ German) เป็นบุตรคนสุดท้องคนที่แปดของ Johann Ambrosius Bach ผู้กำกับวงดนตรีประจำหมู่บ้าน ซึ่งได้ทำการสอนไวโอลิน ออร์แกน รวมถึงทฤษฎีดนตรีเบื้องต้นให้กับลูกๆทุกคน
บิดาเสียชีวิตตอน Johann Sebastian Bach อายุได้เพียง 10 ขวบ เลยต้องไปอาศัยอยู่กับพี่ชายคนโต Johann Christoph Bach เป็นนัก Organist ประจำอยู่โบสถ์ St. Michael’s Church ณ Ohrdruf, Saxe-Gotha-Altenburg ทำให้มีโอกาสร่ำเรียน เขียนเพลง บรรเลงดนตรี ได้รับคำชี้แนะนำจากพี่ชาย, พออายุ 15 ปี สามารถสอบเข้าโรงเรียนดนตรี St. Michael’s School ณ Lüneburg จบออกมาเดินทางไปประจำตามวิหารต่างๆ ประพันธ์บทเพลงศาสนา จนกระทั่งรับรู้จักผลงานของคีตกวีร่วมสมัย Vivaldi, Corelli, Torelli จึงเริ่มซึมซับรูปแบบใหม่ๆ ค้นพบแนวเพลงที่สนใจ
ช่วงที่ Bach อาศัยอยู่ Leipzig (ระหว่างปี 1725-50) มีร้านกาแฟประจำ Zimmermannsche Kaffeehaus (Café Zimmermann) วันว่างงานเมื่อไหร่ก็มักแวะเวียนไป มีรายงาน(ไม่รู้จริงหรือเปล่า)ชื่นชอบดื่ม 20 แก้วต่อวัน! แต่ไม่ใช่แค่ซดแทนน้ำเปล่า ยังใช้เวลาดังกล่าวประพันธ์บทเพลง มองหาแรงบันดาลใจ รวมถึงสอนนักเรียนที่ Collegium Musicium ให้มาซักซ้อมการแสดงยังคาเฟ่แห่งนี้
แม้ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า Bach ประพันธ์ Orchestral Suites ทั้งสี่เบอร์ No. 1 ถึง No. 4 (1724-31) เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับนักเรียน Collegium Musicium ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากๆว่าหลายบทเพลง ก็น่าจะเขียนขึ้นที่คาเฟ่แห่งนี้แหละ
LINK: https://www.baroquemusic.org/bachleipzig.html

ในบรรดาทั้งสี่ Orchestral Suites โด่งดังที่สุดก็คือ Suite No. 3 in D major, BWV 1068 (1730) แต่บทเพลงนี้ Bach ไม่ได้แต่งขึ้นเพียงคนเดียว
- Bach ประพันธ์ในส่วนไวโอลินที่หนึ่ง (First Violin) และดูความต่อเนื่องของบทเพลง (Continuo Parts)
- Carl Philipp Emanuel Bach (1714-88) บุตรชาย(คนที่ห้า)ของ Bach ประพันธ์ในส่วนที่ใช้เครื่องดนตรี Trumpet, Oboe และ Timpani
- Johann Ludwig Krebs ลูกศิษย์ของ Bach ประพันธ์ในส่วนไวโอลินที่สอง (Second Violin) และวิโอล่า (Viola)
Orchestral Suite No. 3 in D major มีทั้งหมด 5 Movement ประกอบด้วย
- Ouverture
- Air
- Gavotte I/II
- Bourrée
- Gigue
เกร็ด: Air หรือ Aria (ภาษาอิตาเลี่ยน) คือบทร้องเดี่ยว สำหรับตัวละครเพียงหนึ่งเดียวขับร้องในการแสดงอุปรากร โดยมีดนตรีจากวงออร์เคสตราเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในบริบทของ Orchestral Suite จะมีละม้ายคล้ายๆ Concerto แต่ไม่ใช่การเล่นประชันกันระหว่างเครื่องดนตรีหลักกับออร์เคสตรา (แค่เน้นเครื่องดนตรีนั้นให้เด่นขึ้นมาระหว่างทำการแสดงออร์เคสตรา)
August Emil Daniel Ferdinand Wilhelmj (1845-1908) นักไวโอลิน/ครูสอนดนตรี เกิดที่ Usingen, Duchy of Nassau ตั้งแต่เด็กได้รับการยกย่องอัจฉริยะ ฝึกฝนเล่นไวโอลินตั้งยังเด็กเล็ก พออายุ 7 ขวบ ทำการแสดงต่อหน้านักร้องอุปรากรชื่อดังแห่งยุค Henriette Sontag เอ่ยปากสรรเสริญ “You will be the German Paganini” เลยถูกส่งไปร่ำเรียนกับอาจารย์ Moritz Hauptmann, พอโตขึ้นสนิทสนมกับ Richard Wagner เป็นนักไวโอลินที่หนึ่ง (หัวหน้าวง) ในรอบปฐมทัศน์ Der Ring des Nibelungen (หลายน่าจะรับรู้จัก Die Walküre (The Valkyrie))
แต่ชื่อเสียงของ Wilhelmj โด่งดังจากการนำบทเพลง Bach: Orchestral Suite No. 3 in D major ท่อนที่สอง ‘Air’ มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ ให้สามารถบรรเลงด้วยไวโอลินสายเดียว ‘G’ ซึ่งเป็นเส้นบนสุด แต่มีเสียงทุ้มต่ำสุด นั่นคือจุดเริ่มต้นของคำเรียกบทเพลงนี้ Air on the G String
สาเหตุที่ทำเช่นนั้น นักประวัติศาสตร์มองว่า Wilhelmj ต้องการใช้สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนของเขา เพราะไม่ต้องเล่นแบบสลับสายไปมา หรือใช้เทคนิค ลวดลีลา สลับซับซ้อนอะไร ทั้งยังเป็นการฝึกฝนการควบคุม เล่นด้วยจังหวะ เดี๋ยวเร็ว-เดี๋ยวช้า พัฒนาไปสู่การแทรกใส่อารมณ์ สัมผัสแห่งรัก โรแมนติก (ทำให้เป็นที่นิยมมากๆในงานเลี้ยงแต่งงาน) ความนุ่มนวลลุ่มลึก เคลิบเคลิ้มหลงใหล บรรยากาศผ่อนคลาย และเกิดความสงบสุขภายใน
ผมเคยชื่นชมการแสดงของ Sarah Chang แม้เธอเป็นนักไวโอลินที่ชอบบดขยี้ บีบเค้นคั้น ใส่อารมณ์มากเกินไป แต่เมื่อบรรเลง Air on the G String สามารถสร้างความสั่นสะท้านทรวงใน หัวใจเต้นระริกรัว มอบสัมผัสอันโหยหา คร่ำครวญ หมดสิ้นเรี่ยวแรง ธารน้ำตาไหลรินออกมาโดยไม่รับรู้ตัว
แต่หลังจากรับฟังบทเพลงโปรดนี้จากหลากหลายนักไวโอลิน ผมก็เริ่มรู้สึกว่าการใช้อารมณ์มากเกินไป มันช่างน่ารำคาญใจยิ่งนัก! จนกระทั่งเพิ่งมีโอกาสพบเห็นการบรรเลงของ Anastasiya Petryshak (เกิดปี 1994) ชาว Ukrainian เธอเล่นด้วยเสียงทุ้มต่ำตามต้นฉบับแท้ๆของ Air on the G String ไม่เน้นการบดขยี้อารมณ์ หรือทำการ ‘vibrato’ ทุกๆตัวโน๊ต เน้นควบคุมจังหวะให้มีความแม่นยำ สร้างความลุ่มลึก หนักแน่น และมั่นคง … กลายเป็นฉบับที่ผมชื่นชอบสุดตั้งแต่รับฟังบทเพลงนี้มา!
มีภาพยนตร์/อนิเมะนับเรื่องไม่ถ้วนที่เลือกใช้บทเพลงนี้ แต่โด่งดังสุดๆน่าจะเป็น Se7en (1995), Neon Genesis Evangelion (1995-96) และ Battle Royale (2000)
- Se7en (1995) ดังขึ้นในห้องสมุดระหว่างนักสืบ Somerset กำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบาปเจ็ดประการ (Seven Deadly Sins) มอบสัมผัสเคลิบเคลิบ ผ่อนคลาย ทั้งๆบรรยากาศของหนังไม่ต่างจากขุมนรกเลยสักนิด!
- Neon Genesis Evangelion (1995-96) ขณะที่ Asuka ตื่นขึ้นมาต่อสู้กับ 9 เทวทูตด้วยเวลาอันจำกัด ทั้งรู้ว่าคงไม่สามารถเอาชนะ แต่ด้วยศักดิ์ศรี ความเย่อหยิ่งทะนงตน ไม่ลองไม่รู้อาจทำสำเร็จก็เป็นได้ … สุดท้ายความครุ่นคิดดังกล่าวก็แค่สายลม นับถอยหลังสู่ความตายอย่างเชื่องช้า
- Battle Royale (2000) เหมือนจะล้อกับ Evangelion ดังขึ้นในฉากที่มีตัวละครหญิงสาว พยายามต่อสู้กับเพื่อนชาย แต่ทำอย่างไรก็ไม่มีทางต่อกรเอาชนะ ถูกเข่นฆ่าในที่สุด
ไม่รู้ทำไมเวลาผมรับฟังบทเพลงนี้ ชวนให้นึกถึงอนิเมะ Aria the Animation (2005-) น่าจะเพราะบรรยากาศบนดาวอังคารที่ถูกทำการ ‘terraformed’ ให้กลายเป็น ‘New Venice’ สร้างความผ่อนคลาย เบาสบาย ราวกับล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์ แถมเนื้อเรื่องแนว Healing ชวนให้อมยิ้มแก้มปริอยู่บ่อยครั้ง
Leave a Reply