Jalsaghar

Jalsaghar (1958) Bollywood : Satyajit Ray ♥♥♥♥♡

อีกหนึ่ง Masterpiece ของปรมาจารย์ผู้กำกับแห่งเอเชีย Satyajit Ray นำเสนอทัศนคติของบุคคลผู้เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนงในเกียรติ ศักดิ์ศรี เชื้อสายกษัตริย์ กำลังถูกท้าทายโดยคนชนชั้นต่ำกว่า ดำเนินเรื่องผ่านห้องดนตรี ‘The Music Room’ ตื่นตระการตาไปกับการแสดงร้อง-เล่น-เต้น เป็นหนังเพลงยอดเยี่ยมที่สุดของประเทศอินเดีย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

‘หนังเพลงยอดเยี่ยมที่สุดของประเทศอินเดีย’ เป็นคำชมที่ฟังดูเว่อวังอลังการ แต่ผมบอกเลยว่าไม่เกินเลยความจริง หนังเพลง Bollywood ที่มักเต็มไปด้วยแสงสีแสง วิจิตรอลังการงานสร้าง เทคนิคนำเสนอล้ำยุคสมัย ล้วนเทียบไม่ได้กับ The Music Room ใช้บทเพลงและท่วงทำนอง สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึก เป็นทั้งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิ กษัตริย์มิอาจก้มหัวให้ประชาราษฎร์

ในบรรดาผลงานของ Satyajit Ray ผู้ชมส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับ The Apu Trilogy ที่เป็นจุดเริ่มต้นชื่อเสียง ความสำเร็จระดับนานาชาติ แต่มีอีกผลงานได้รับการยกย่องกล่าวขวัญเทียบเคียง นั่นคือ Jalsaghar (1958) หรือ The Music Room ซึ่งเป็นการผสมผสานบทเพลง/การแสดงพื้นบ้านอินเดียลงในแผ่นฟีล์มได้อย่างหรูหรา เลิศเลอ มีสไตล์ สร้างความซาบซึ้งประทับใจให้กับผู้ชมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า

ผมค่อนข้างชื่นชอบการออกแบบหน้าปกนี้ของ Criterion Collection จุดสีขาวเล็กๆทำมาเหมือนโคมระย้า (Chandelier) เฟอร์นิเจอร์(น่าจะ)ราคาแพงสุดในห้องดนตรี เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง/ผู้นำ/กษัตริย์ เพราะห้อยโตงเตงอยู่บนเพดาน ส่องสว่างอยู่เหนือศีรษะมนุษย์ทุกคน


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

แม้ว่า Pather Panchali (1955) ในประเทศอินเดียจะได้รับการตอบรับดีเยี่ยม แต่ผลงานถัดมา Aparajito (1956) กลับประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง (ไปคว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice มาก็ตามเถอะ) ด้วยเหตุนี้ทำให้ Ray ต้องหยุดยับยั้งการสร้างภาคสุดท้ายของ The Apu Trilogy แล้วหันหาภาพยนตร์อื่นๆสักเรื่องสองเรื่องที่สามารถทำเงิน กำไร สร้างความเชื่อมั่นใจให้บรรดานายทุน

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Ray สร้างขึ้นก่อนหน้านี้คือ Parash Pathar (1958) เรื่องราวตลกชวนหัวของนายธนาคาร จับพลัดจับพลูพบเจอศิลานักปราชญ์ (Philosopher’s Stone) ที่สามารถเปลี่ยนโลหะให้กลายเป็นเงินเป็นทอง

และอีกผลงานตามมาติดๆ ดัดแปลงเรื่องสั้นขายดี Jalsaghar (1938) แต่งโดย Tarasankar Bandyopadhyay (1898 – 1971) นักเขียนชื่อดังสัญชาติ Bengali ซึ่งมีพื้นที่ของเรื่องราวให้สามารถเสริมเติมฉากร้อง-เล่น-เต้น ดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ก็น่าจะขายดิบขายดีในหมู่ผู้ชมชาวอินเดีย

“Here was a dramatic story, which could be laced legitimately with music and dancing, and distributors loved music and dancing. But here, too, was scope for mood, for atmosphere, for psychological exploration”.

– Satyajit Ray

เรื่องราวพื้นหลังปลายทศวรรษ 1920s, Biswambhar Roy (รับบทโดย Chhabi Biswas) กษัตริย์/ผู้ปกครอง ‘Zamindar’ เป็นเจ้าของที่ดินเมือง Nimtita อาศัยอยู่ยังปราสาทหลังใหญ่ มีสภาพเริ่มชำรุดทรุดโทรม วันๆไม่พบเห็นทำการงานอะไรนอกจากสูบ Hookah (Baraku) และเหม่อสายตาออกไปไกลทั่วผืนแผ่นดินตน วันหนึ่งได้ยินเสียงล่องลอยจากเครื่องดนตรี Shehnai (เครื่องเป่าที่คล้ายปี่) หวนระลึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งวันวาน ความสุขจากการได้รับฟังดนตรี อวดอ้างบารมี ทะนงในเกียรติศักดิ์ศรี … แต่วันนี้แทบไม่มีอะไรหลงเหลือให้เกิดความภาคภูมิ

แซว: จะว่าไปตัวละคร Biswambhar Roy ช่างมีความละม้ายคล้ายคลึง King Lear โดยเฉพาะนิสัยเย่อหยิ่งทะนงตน หลงตัวเอง และตอนจบประสบพานพบโชคชะตาไม่แตกต่างกัน


นำแสดงโดย Chhabi Biswas (1900 – 1962) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Ahiritola, Kolkata ช่วงระหว่างร่ำเรียนมัธยม Vidyasagar College เข้าร่วมคณะการแสดงสมัครเล่น มีโอกาสรู้จักกับ Sisir Kumar Bhaduri ตำนานนักแสดงละครเวทีชาว Bengali ซึ่งประทับใจฝีมืออันจัดจ้านของชายหนุ่ม ช่วยส่งเสริมผลักดัน จนเริ่มมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จโด่งดัง เคยว่างเว้นไปขายประกัน ทำธุรกิจปอ แต่ก็อดรนทนไม่ไหว ต้องหวนกลับมาสู่วงการแสดง สมทบภาพยนตร์เรื่องแรก Annapurnar Mandir (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Chokher Bali (1939), Nartaki (1940) แต่ก็เทียบไม่ได้กับ Jalsaghar (1958) สร้างชื่อโด่งดังระดับนานาชาติ จนมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Satyajit Ray อีกสองเรื่อง Devi (1960) และ Kanchenjungha (1962)

“Jalsgahar, Devi, Kanchenjunga, were all written with Chhabi Biswas in mind. Ever since he died, I have not written a single middle-aged part that calls for a high degree of professional talent”.

– Satyajit Ray

ความเย่อหยิ่งทะนงในชาติตระกูล เชื้อสายเลือด ทำให้ Biswambhar Roy มองไม่เห็นค่าของบุคคลอื่นใด ชนชั้นต่ำต้อยกว่าตน พยายามอย่างยิ่งด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี ยึดถือมั่นในขนบธรรมเนียมวิถี ยกตนข่มท่าน ไม่สนความเป็นความตายบังเกิดขึ้นกับตนเอง สนองตัณหาพึงพอใจ หมดตัวแล้วยังไง อะไรอื่นในสายตาถือว่าไร้ค่าความสำคัญ

ใกล้เคียงสุดที่ผมสามารถครุ่นคิดเปรียบเทียบได้คือ Orson Welles ในบทบาท Charles Foster Kane เรื่อง Citizen Kane (1942) [ถ้าฝั่งผู้หญิงผมจะครุ่นคิดถึง Norma Desmond จากเรื่อง Sunset Boulevard (1950)] ชายผู้เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนง ลุ่มหลงในเกียรติ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง ความสำเร็จของตนเอง จนสุดท้ายชีวิตแทบไม่หลงเหลืออะไร แต่ถึงอย่างนั้น Welles ก็ไม่ใช่นักแสดงเจ้าบทบาทเมื่อเทียบกับ Chhabi Biswas แค่เพียงช็อตแรกของหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง จับจ้องสบตา หน้าสงบนิ่งเฉยไม่ขยับไหวติง นึกว่าภาพนิ่งแต่ที่ไหนได้ มองลึกเข้าไปภายใน ช่างเวิ่งว้างว่างเปล่า หมดสิ้นหวังไม่หลงเหลืออะไร ไม่รู้เหมือนทนอยู่กับตนเองได้อย่างไร นั่งๆยืนๆนอนๆ สูบ Hookah เฝ้ารอคอยวันตาย

แต่ความเจ๋งเป้งของชายคนนี้คือความทะนงตน ไม่ยินยอมให้ใครมาถอนหงอก ลูบเครา แม้ทุกสิ่งอย่างถูกเอาไปหมดสิ้น แต่การทิ้งท้ายอย่างมีสไตล์ ถือว่าไว้ลายชาติเสือ [แบบเดียวกับ Don Fabrizio Corbera เรื่อง The Leopard (1963)]

Gangapada Bose รับบท Mahim Ganguly นายหน้าปล่อยเงินกู้ ผู้มีความขยันขันแข็ง ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ค่อยๆไต่เต้าจากดินขึ้นเทียบดาว แต่ก็มิอาจเอาชนะ Biswambhar Roy ผู้มีสายเลือดสืบทอดมา
– ช่วงต้นของการย้อนอดีต Mahim Ganguly ยังเป็นคนไม่ประสีประสา การแสดงดนตรีครั้งแรก แทบไม่ใคร่สนใจฟัง สนเพียงดื่มด่ำเมามาย รู้สึกโชคดีเหลือหลายได้รับการเลี้ยงรับรองจากเจ้านายผู้สูงศักดิ์
– กลางเรื่องต้องการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ตระเตรียมทุกสิ่งอย่างไว้เพรียบพร้อม แต่กลับถูก Biswambhar Roy ยกตนข่มท่าน เพราะยังมิอาจเทียบเคียงข้างเจ้านาย แต่ก็เริ่มได้กลิ่นตุๆถึงความไม่ชอบมาพากล
– ช่วงท้ายย้อนกลับมาปัจจุบัน พบเห็นความชำรุดทรุดโทรมของปราสาทใหญ่ ครานี้จึงหาญกล้าท้าทาย จัดงานการแสดงดนตรีที่บ้านตนเอง

ตัวละครนี้ทำให้ผมครุ่นคิดถึง Don Calogero Sedara (รับบทโดย Paolo Stoppa) จากภาพยนตร์เรื่อง The Leopard (1963) ว่าไปพื้นเพหมือนกันแทบเปะๆ คือชนชั้นกลางผู้มีความขยันขันแข็งในอาชีพการงาน จนประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทอง ไต่เต้ายศฐานะขึ้นมาเทียบเคียงชนชั้นสูง แต่เวลาออกงานสังคมเต็มไปด้วยความเฟอะฟะ เงอะงะ ไม่รู้จักที่ทาง สาเหตุเพราะเชื้อสายเลือดวงศ์ตระกูล ไฮยีน่ามิอาจกลายร่างเป็นราชสีห์


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra ขาประจำผู้กำกับ Satyajit Ray ร่วมงานลองผิดลองถูกกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),

ผู้กำกับ Ray พยายามค้นหาสถานที่ถ่ายทำสำหรับปราสาทหลังใหญ่ แต่ก็ไม่พานพบเจอเป็นที่พึงพอใจสักเท่าไหร่ จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากชายชราคนหนึ่งถึงปราสาท Nimtita Rajbari ซึ่งพอเดินทางไปถึง ไม่เพียงพบว่ามีความเหมาะสมเท่านั้น ยังค้นพบว่าคือสถานที่ที่ผู้เขียน Tarasankar Bandyopadhyay ใช้เป็นพื้นหลังดำเนินเรื่อง และเคยเป็นสถานที่อยู่อาศัยของ Upendra Narayan บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละคร Biswambhar Roy อีกด้วยเช่นกัน!

“Nimtita turned out to be everything the old man had claimed – and more. No one could have described in words the feeling of utter desolation that surrounded the palace”.

– Satyajit Ray

สภาพของปราสาท Nimtita Rajbari เมื่อปี 2016 รายละเอียดเพิ่มเติม: http://double-dolphin.blogspot.com/2017/12/nimtita-rajbari-jalsaghar-house.html

โคมระย้า (Chandelier) อย่างที่อธิบายไปตั้งแต่ต้นว่าคือสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง/ผู้นำ/กษัตริย์ ปรากฎพบเห็นตั้งแต่ Opening Credit และ Ending Credit ขยับโยกไปมาซ้ายขาวราวกับตุ้มนาฬิกา คงต้องการสะท้อนว่าเวลาของพวกเขากำลังใกล้หมดลงทุกชั่วขณะ

เสียงเครื่องดนตรี Shehnai ที่ล่องลอยมาไกล ทำลายความสงบเงียบของ Biswambhar Roy กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าใกล้ ใบหน้าเต็มไปด้วยความพิศวงสงสัย ก่อนรับรู้ว่าคือพิธี Upanayana เมื่อเด็กชายอายุย่างเข้า 8 ปี (ปัจจุบันเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัด) จักต้องทำเครื่องหมายยินยอมรับโดยครู/กูรู เพื่อเป็นนักเรียนเข้าศึกษายังโรงเรียนในศาสนาฮินดู

เหตุการณ์นี้เองทำให้ Biswambhar Roy หวนระลึกถึงอดีตเมื่อครั้นลูกชายตนเองเข้าร่วมพิธี Upanayana

ปราสาท Nimtita Rajbari มีดีทุกอย่างยกเว้นเพียงห้องดนตรี The Music Room จริงๆก็มีนะแต่ขนาดเล็กไม่สมฐานะตัวละคร ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับ Ray จึงมอบหมายให้ Bansi Chandragupta นักออกแบบขาประจำ สร้างทั้งฉากขึ้นมายังสตูดิโอ Aurora Film Corporation เน้นความโอ่อ่ารโหฐาน พรมคุณภาพดี, โคมระย้า ระยิบระยับ, เครื่องเงินเครื่องทอง, ภาพวาดบรรพบุรุษ ฯ ถือเป็นห้องหับที่สะท้อนวิทยฐานะ ชาติกำเนิด หน้าตาต้นตระกูล ใช้ต้อนรับแขกเหรื่อใครไปมา จึงต้องมีความยิ่งใหญ่ ฟุ่มเฟื่อย แลดูอลังการงานสร้างที่สุด 

ภาพบรรพบุรุษติดฝาผนัง สะท้อนถึงเกียรติภูมิในเชื้อสาย ชาติกำเนิด สะสมชื่อเสียง กองเงินกองทอง ส่งต่อให้ลูกหลานได้มีชีวิตสุขสบาย … แต่ทุกอย่างก็กำลังพังทลายเพราะการไม่ครุ่นคิดทำอะไรของ Biswambhar Roy

Biswambhar Roy อนุญาตให้ Mahim Ganguly เข้าพบเจอที่ห้องดนตรี คงเพื่อต้องการอวดอ้างความหรูหรา พยายามสร้างความแตกต่างให้เห็นระหว่างชนชั้น/ฐานะ/ชาติกำเนิด จงรู้จักสำเนียกเจียมตนเอง ซึ่งตัวเขานั่งอยู่หน้ากระจก พบเห็นภาพสะท้อนแห่งความเย่อหยิ่งทะนงตน พูดอะไรมาทำเป็นไม่ใคร่สนใจ เบี่ยงเบนประเด็นด้วยการดื่มน้ำ ชิมขนมหวาน แล้วอยู่ดีๆก็พอจบหัวข้อสนทนาก็ลุกขึ้นสะบัดตูดหนีโดยพลัน

ชื่อเสียงและความสำเร็จ ทำให้ Ray เรียกร้องสตูดิโอ Aurora Film Corporation ขอใช้เครนในการถ่ายทำ ด้วยเหตุนี้ฉากการแสดงดนตรีจึงมีความลื่นไหลที่ต่อเนื่อง สูงเหนือระดับศีรษะนักแสดงนั่งอยู่กับพื้น แต่เห็นว่าเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้น หนึ่งคนเสียชีวิต อีกคนพิการถาวร

“I had just won an award at Cannes and felt justified in asking for a crane. All this would not have happened if I had not set my mind on those overhead shots”.

– Satyajit Ray

ระหว่างการแสดงดนตรีชุดแรกของหนัง กล้องเคลื่อนไหลให้เห็นความแตกต่างทางการดื่มด่ำในเสียงเพลงระหว่าง Biswambhar Roy ซึ่งกำลังเคลิบเคลิ้มลุ่มหลงใหล ตรงกันข้ามกับ Mahim Ganguly เหมือนจะเป็นหวัดคัดจมูก ไม่ถูกกับกลิ่นคนรวย สนเพียงอยากร่ำสุรา ห่างไกลเกินกว่าจะรับรู้คุณค่าความงดงามของบทเพลง

เครื่องดนตรีที่ Biswambhar Roy เล่นอยู่คือ Sitra (ครั้งเดียวในหนังที่เห็นตัวละครเล่นดนตรี, องก์สองจะรับฟังเฉยๆ และองก์สุดท้ายไม่หลงเหลืออะไรให้เล่นหรือฟัง) ส่วนลูกชาย Khoka ขับร้องทำนอง Ragas นั่งขัดสมาธิอยู่บนเตียง เท้าไม่ติดพื้น … คาดคิดว่าถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ต่อ ก็คงกลายเป็นไม่ต่างจากพ่อสักเท่าไหร่

หนังจงใจทิ้งคำใบ้ไว้ตั้งแต่ช็อตนี้แล้วว่า การจากไปของภรรยาและลูก คือครั้งสุดท้ายที่ Biswambhar Roy จะได้พบเจอ เพราะฝั่งของตัวละครที่เหม่อมองออกไป ปกคลุมด้านหลังด้วยความมืดมิดสนิท

เกร็ด: ผมดูจากแผนที่ใน Google Map คาดคิดว่าน่าจะเป็นแม่น้ำคงคา

ระหว่าง Biswambhar Roy กำลังเคลิบเคลิ้บการสูบ Hookah และฟังเพลง Sitra ได้ยินเสียงเครื่องแปลกประหลาดล่องลอยมา กล่องค่อยๆเคลื่อนเข้าใกล้ใบหน้า สอบถามได้ความคือเครื่องปั่นไฟฟ้า เดินไปดาดฟ้าพบเห็นบ้านของ Mahim Ganguly สว่างไสวแม้ยามค่ำคืนมิดมิด ผิดกับปราสาทตนเองที่ยังคงใช้คบเพลิง ไฟจากตะเกียง … แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพื่อเอาชนะ

ด้วยเหตุนี้ Biswambhar Roy เลยทำการหักเหลี่ยมเฉือนคม ตลบแตลง อ้างว่าตนกำลังจะจัดงานวันขึ้นปีใหม่พอดิบดี ทั้งๆยังไม่ตระเตรียมการอันใด เพื่อสร้างความสูญเสียหน้าให้ Mahim Ganguly เนื่องจากมิอาจเทียบเคียง ต่อกรผู้เป็นเจ้าของผืนที่ดินแห่งนี้

เพราะความเห็นแก่ตัวของ Biswambhar Roy ในการจัดงานวันขึ้นปีใหม่นี้ เป็นเหตุให้ลูกๆและภรรยาต้องเดินทางกลับมาในฤดูมรสุม พยากรณ์ได้ตั้งแต่ช็อตนี้ที่เรือสีขาวลำเล็กล้มลำ เขาจึงหยิบกลับมาตั้ง แต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข

การแสดงชุดที่สอง สังเกตว่าระดับความสูง Overhead Shot จะไม่เทียบเท่าการแสดงชุดแรก สืบเนื่องจาก Biswambhar Roy กำลังจะหมดเนื้อหมดตัว ไม่หลงเหลือทรัพย์สินเงินทอง และสูญเสียครอบครัว ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีกระจิตกระใจจะรับฟังเพลงสักเท่าไหร่ (เป็นห่วงภรรยาและลูกๆ เมื่อไหร่จะเดินทางมาถึงสักที)

พบเห็นแมลงสาปในแก้วเหล้า มันตกลงไปได้อย่างไร สะท้อนถึงการแหวกว่ายเรือจม (ไม่ต่างจากเรือล่มก่อนหน้า)

ฉากภายนอกยามค่ำคืนช่างมืดมิดสนิท สะท้อนถึงจิตใจของ Biswambhar Roy หลังจากรับรู้ว่าภรรยาและบุตรชายได้เรือล่มกลางแม่น้ำ เสียชีวิตจากไปแล้ว

ความมืดยังเข้ามาปกคลุมอีกหลายๆฉาก รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์หรูหราถูกนำไปประมูลค้าขายชดใช้หนี้สิน

ช็อตนี้เจ้าสุนัขนอนอยู่ (ไม่รู้ตัวเดียวกับที่เล่นหนัง Pather Panchali หรือเปล่านะ) สามารถสะท้อนได้ถึง Biswambhar Roy ช่วงชีวิตขณะนี้ไม่ต่างจากมันสักเท่าไหร่

Biswambhar Roy พบเห็นรถยนต์ก็ได้แค่ชายตามองด้วยความอิจฉาริษยา ตอบโต้ด้วยการใช้ช้าง สัตว์สัญลักษณ์ของพระราชา ซึ่งถือว่ามีความทรงเกียรติ เลิศเลอค่า ผู้คนสมัยนั้นยังให้การนับหน้าถือตามากว่า ออกเดินเท้าอย่างเชื่องช้าไปส่งเทียบเชิญ Mahim Ganguly เรียกตัวมาให้พูดคุยด้วย

Mahim Ganguly เมื่อเดินทาง(ด้วยรถ)มาถึง ยืนอยู่ตรงบันไดชั้นล่างเงยขึ้นมา สะท้อนถึงความตกต่ำต้อยทางเชื้อสาย ต้นตระกูล

จากนั้นเดินขึ้นบันไดอีกด้าน ซึ่งมีความสูงเทียบเท่ากับฝั่งตรงกันข้าม สะท้อนถึงการไต่เต้าขึ้นมาเป็นชนชั้นระดับเดียวกันของ Mahim Ganguly และ Biswambhar Roy แต่ถึงสูงเท่ากัน พวกเขาก็ใช่ว่าจะเสมอภาคเท่าเทียม

สองครั้งก่อนหน้า Biswambhar Roy จะหาข้ออ้างทำอย่างอื่นไปพร้อมกับพูดคุย Mahim Ganguly แต่เฉพาะครั้งนี้ถือว่าจับจ้องมองอย่างเสมอกัน เท้าเหยียบหลังเสือ เรียกได้ว่าถึงเผชิญหน้าแต่ก็ไม่ยินยอมอ่อนข้อ

หลังจากตอบปฏิเสธคำเชิญ Biswambhar Roy เปิดห้องดนตรีที่มีสภาพฝุ่นเขรอะ เต็มไปด้วยหยากไหย้ จับจ้องมองกระจกสะท้อนภาพตนเองที่ไม่หลงเหลืออะไร แต่มันก็ยังมิใช่ที่สุดคือความตาย เงินก้อนสุดท้ายตัดสินใจนำมาใช้ข่ม Mahim Ganguly ให้มันรู้ไปว่าเกียรติ ศักดิ์ศรี สายเลือดผู้ดีมันค้ำคอขนาดไหน

การแสดงชุดสุดท้าย มุมกล้องสูงระดับสายตาของนักเต้น ถ่ายให้เห็นเต็มตัว (เหมือนหนังของ Fred Astaire & Ginger Rogers) เคลื่อนติดตามซ้ายขวา ถ่ายให้เห็นนักดนตรีบ้างประปราย

ไฮไลท์การเต้นอยู่ที่ช็อตนี้ สะบัดข้อเท้าพร้อมกระดิ่งกำไล Ghugroo
– มองในมุมของ Biswambhar Roy คือสัญลักษณ์ของเหยียบย้ำ ซ้ำเติม หรือถีบส่ง Mahim Ganguly ให้หวนกลับไปยังรูหนูของตนเอง
– สำหรับ Mahim Ganguly คือไต่เต้า ก้าวเดิน ขึ้นมาเทียบเคียงชนชั้นสูงของ Biswambhar Roy

กล้องเริ่มจากถ่ายไม้เท้าเกี่ยวข้อมือ ตัดไปใบหน้าอันตื่นตกใจของ Mahim Ganguly และมาถึงช็อตนี้ทั้งสองจับจ้องมองสบตา เรียกได้ว่าชาติเสือยังไว้ลาย แม้นั่นคือเงินก้อนสุดท้าย ยินยอมหมดตัวแต่ปฏิเสธที่จะสูญเสียเชิงชาย

ภายหลังการแสดง Biswambhar Roy ดื่มด่ำกับเสียงหัวเราะร่าแห่งชัยชนะ แล้วอยู่ดีๆพบเห็นแมงมุมเกาะอยู่ตรงหัวเขาที่ภาพวาด(ของตนเอง) สะท้อนถึงการติดกับดักความลุ่มหลงทะนงตน จมอยู่ในภาพมายา(แห่งชัยชนะ) ต่อจากนี้ตัวเขาถึงคราวตกต่ำไร้ค่า เพราะไม่หลงเหลืออะไรในชีวิตให้ยึดติดอีกต่อไป

โคมระย้าสะท้อนในแก้วเหล้า นี่เช่นกันสะท้อนภาพมายาของความยิ่งใหญ่ อดีตเคยเกรียงไกร แต่ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลืออะไร

และแสงไฟในตะเกียงกำลังมอดดับ ชีวิตและความยิ่งใหญ่ของ Biswambhar Roy ก็เฉกเช่นกัน

ช็อตสุดท้ายของหนัง, Biswambhar Roy ขึ้นขี่แล้วตกจากหลังม้า กล้องค่อยๆเคลื่อนแพนจากร่างศพ พานผ่านเรือ (สัญลักษณะของการออกเดินทางสู่โลกหน้า) โฟกัสพื้นดิน (สูงสุดคืนสู่สามัญ) สุนัขเดินผ่าน (ชีวิตไม่ได้มีค่าอะไร) และจบสิ้นด้วยภาพแม่น้ำ(คงคา)และตะวันกำลังขึ้นอยู่ปลายขอบฟ้า (จุดสิ้นสุด=โลกใบใหม่กำลังมาถึง)

ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray,

เรื่องราวสามารถแบ่งออกได้ 3 องก์ (ตามชุดการแสดง) โดยอารัมบทเริ่มต้นช่วงเวลาปัจจุบัน จากนั้นเล่าย้อนอดีตในมุมมองความทรงจำของ Biswambhar Roy ลำดับไล่เรียงมาเรื่อยๆจนบรรจบกันที่องก์สุดท้าย
– อารัมบท, Biswambhar Roy ผู้ไม่หลงเหลืออะไรในชีวิต เวิ้งว้างว่างเปล่าอยู่ไปวันๆ พอได้ยินเสียงเครื่องดนตรี Shehnai พลันให้หวนระลึกนึกถึงอดีต
– องก์แรก, ช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ คนรับใช้มากมายเต็มบ้าน มีโอกาสพานพบเจอ Mahim Ganguly เพิ่งกำลังสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง เชิญมาร่วมรับชมงานแสดงดนตรี
– องก์สอง, แม้ฐานะการเงินของ Biswambhar Roy จะเริ่มขัดสน ตรงกันข้ามกับ Mahim Ganguly ค่อยๆร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆจนสามารถเทียบเคียง เพื่อมิให้สูญเสียเกียรติหน้าตา ชิงตัดหน้าจัดงานแสดงดนตรีวันขึ้นปีใหม่
– องก์สาม, เรื่องราวดำเนินถึงปัจจุบัน Mahim Ganguly หวนกลับมาเยี่ยมเยียนเพื่อแสดงความอวดร่ำอวดรวย ชักเชิญชวนให้ร่วมรับชมการแสดงดนตรี แต่ Biswambhar Roy ก็งัดไม้ตาย เงินทองก้อนสุดท้าย ไม่ยินยอมสูญเสียเกียรติ ศักดิ์ศรี ให้กับเชื้อสายต่ำต้อยกว่า


เพลงประกอบโดย Vilayat Khan (1928 – 2004) นักเล่น Sitar Maestros รุ่นเดียวกับ Ravi Shankar, Ali Akbar Khan, Nikhil Banerjee และน้องชาย Imrat Khan ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีพื้นบ้านอินเดีย เปิดประตูสู่โลกตะวันตก

เหตุผลที่ผู้กำกับ Ray เลือก Vilayat Khan แทน Ravi Shankar หลังจากเคยร่วมงาน The Apu Trilogy เพราะความที่ครอบครัวของ Khan เคยได้รับการอุปถัมภ์จาก Zamindar เลยมีความมักคุ้นเคยกับรสนิยมทางดนตรีของชนชั้นสูงเป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างนั้น ผลงานการประพันธ์ กลับสร้างสัมผัสให้ผู้ชมรับรู้สึกสงสารเห็นใจตัวละคร (เข้าข้างการกระทำของ Biswambhar Roy มากกว่าจะให้ผู้ชมรู้สึกสมเพศดูถูก)

“I would have given an ironic edge to it . . . But I liked Vilayat’s theme as a piece of music, and I felt the story would tell what I wanted to tell and the music would not interfere with my general attitude toward feudalism”.

– Satyajit Ray

สามชุดการแสดงของหนังประกอบด้วย, Bhore Bhore Ankhiya (แปลว่า Early in the morning, เช้าตรู่) แนวเพลง Thumri ให้ความสำคัญกับเนื้อคำร้อง รำพันบทกวีมีความหวานแหวว โรแมนติก ซาบซ่าน เนื้อหามักเกี่ยวกับอุทิศชีวิตให้หญิงสาวคนรัก ซึ่งในบริบทของหนังคือพ่อ Biswambhar Roy มีต่อลูกชาย Khoka, ขับร้อง/เล่นเครื่องพิณ Veena โดย Begum Akhtar (1914 – 1974) เจ้าของฉายา ‘Queen of Ghazals’ พร้อม Harmonium, เครื่องสี Sarangi และกลองเล็ก Tabla

Raag Miyan ki Malhar แนวเพลง Khyal หรือ Khayal (แปลว่า Imagination) มุ่งเน้นคำร้องที่ถ่ายทอดจินตนาการผู้ฟังให้เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงใหล เอื้อยอิ่งไปกับลูกคอที่สั่นสะท้าน ราวกับลมพายุฝน นั่นสร้างความสะเทือนไปถึงจิตวิญญาณของ Biswambhar Roy เกิดความหวาดหวั่นวิตกจริตถึงภรรยาและลูก เดินทางไม่ยอมมาถึงสักที, ขับร้องโดย Salamat Ali Khan (1934 – 2001) พร้อมเครื่องสองสาย Tampura, เครื่องสี Sarangi และกลองเล็ก Tabla

บทเพลงไม่มีชื่อ ระบำโดย Roshan Kumari ท่วงท่า Kathak Dance ทุกจังหวะลีลาล้วนมีเรื่องราวดำเนินไป สวมใส่กระดิ่งกำไลข้อเท้า Ghugroo, ขับร้องโดย Ustad Waheed Khan เจ้าของฉายา ‘จ้าวแห่งจังหวะ’ เครื่องดนตรีประกอบด้วย เครื่องสาย Sitra, เครื่องสี Sarangi, พิณดุ้ง Surmandal, กลองเล็ก Tabla, กลองยาว Mridangam

แซว: ลือเล่าขานกันว่า Roshan Kumari คือหนึ่งในชู้รักของผู้กำกับ Satyajit Ray

ศักดิ์ศรี คือการกำหนดคุณค่า/ความสามารถของตนเอง ซึ่งเป็นความรู้สึกภายในบุคคลนั้นล้วนๆ โดยปราศจากเงื่อนไขและไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับใครอื่นได้

‘ศักดิ์ศรี’ เป็นสิ่งที่เชื่อกันว่ามนุษย์พึงมี นั่นมักก่อให้เกิดความลุ่มหลงในศักดิ์ศรีจนกลายเป็นความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ยกยอปอปั้นตัวเองว่ามีเชื้อสาย ชาติตระกูล ชนชั้นวรรณะ ฐานะศักดินาสูงส่งกว่าใคร นั่นคือการสร้างภาพมายาลวงหลอกตา แบ่งแยก กีดกัน สร้างกำแพงขวางกั้นความเท่าเทียมกันของสิ่งมีชีวิต

ศักดิ์ศรีเป็นสิ่งกินไม่ได้ แต่มนุษย์ชอบนำมา ‘ค้ำคอ’ เพื่อให้ศีรษะเริดเชิด ดูดีมีสง่าราศี เกิดความภาคภูมิ พึงพอใจ นั่นเช่นกันคืออาการ ‘หลงตนเอง’ ไม่รับรู้สิ่งถูก-ผิด ดี-ชั่ว หารู้ไม่ขณะต้อง ‘กลืนคำพูดของตนเอง’ มันจะเลวร้ายทรมาน เจ็บปวดรวดร้าวยิ่งกว่า ‘ก้างติดคอ’

Biswambhar Roy เป็นบุคคลผู้ยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี นำเอาข้ออ้างเชื้อสายเลือด วงศ์ตระกูล ชนชั้นสูงของตนเองมาค้ำคอ นั่นเองทำให้เมื่อถูกใครอื่นยกระดับขึ้นมาเทียบเคียง จึงพยายามอย่างยิ่งจะผลักไส ถีบส่ง ไม่ยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียม

จริงๆก็รวมไปถึง Mahim Ganguly ผู้สามารถไต่เต้าจากดินสู่ดาว เลยมีความเย่อยิ่งทะนงตนในความสำเร็จ ซึ่งถ้าในสังคมตะวันตกคงได้รับการยกย่องเชิดชู แต่ในโลกตะวันออกมักถูกมองว่าเป็นการกระทำไม่เคารพฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ

ผู้กำกับ Ray สร้าง Jalsaghar ด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตนระดับหนึ่ง เพราะผลงานก่อนหน้าไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติมามากมาย พยายามที่จะเรียกร้องโน่นนี่นั่น แต่เขาก็สาแก่ใจในหลายๆอย่าง รับล่วงรู้ตนเองว่า ไม่ควรที่จะเอาเกียรติ ศักดิ์ศรีมาเป็นข้ออ้างค้ำคอตนเองในการทำงาน

ซึ่งจะว่าไป ผู้กำกับ Ray นำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่มุมเชิดชู ลุ่มหลงใหลรสนิยมของ Zamindar ในการเข้าถึงงานศิลปะ/ดนตรีชั้นสูงมากกว่าสามัญชน ขณะเดียวกันสะท้อนความตกต่ำ การล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ อันเกิดจากความเย่อหยิ่งทะนงในตัวตนเอง (ตกม้าตายตอนจบ)

ศักดิ์ศรี ถือเป็น อัตตา, อาตมัน ที่แปลว่า ตัวตน ร่างกาย รูปลักษณ์ หรือวิญญาณ เพราะมนุษย์มีความเชื่อว่า ‘ตัวตนเป็นของตน’ พระพุทธเจ้าเรียกแนวความคิดดังกล่าวว่า สัสสตทิฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) ซึ่งถือเป็นมิจฉาทิฐิประการหนึ่ง และเรียกว่าอัตตวาทุปาทาน ก่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นประการหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงนั้น ‘ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นอนัตตา’ ไม่มีอะไรคือความเที่ยง ซึ่งตรงกันข้ามกับ ‘อัตตา’ โดยที่สุด


เสียงตอบรับของหนังในอินเดียค่อนข้างก้ำกึ่ง จืดชืด มีการถกเถียงด้วยว่าถ้านำออกฉายต่างประเทศคงไม่มีใครสนใจ เพราะความจำเพาะเจาะจงในวัฒนธรรมพื้นบ้าน Bengali ต่างชาติคงไม่อยากรับล่วงรู้สักเท่าไหร่

แต่เมื่อนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Moscow (คว้ารางวัล Silver Prize: Composer) เสียงตอบรับกลับชื่นชมล้นหลาม กลายเป็นผลงานทำให้ชื่อเสียงของ Ray โด่งดังยิ่งขึ้นกว่าเก่า แถมได้รับการเปรียบเทียบผู้กำกับ Robert Flaherty ที่ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้ผู้ชมยุคสมัยหนังเงียบ ซึ่ง Jalsaghar (1958) ได้แนะนำชาวตะวันตกให้รับรู้จักดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ที่สุดแสนไพเราะเสนาะหู ไม่เคยพานพบเห็นแห่งหนใดมาก่อน

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบคลั่งไคล้ ตกหลุมรักภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ ไม่ใช่แค่ความเพราะพริ้งจากการแสดงดนตรีพื้นบ้านอินเดียเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักดิ์ศรีที่ค้ำขอวรรณะกษัตริย์ การแสดงแค่ช็อตแรกก็ตราตรึงแล้วของ Chhabi Biswas และไดเรคชั่นผู้กำกับ Satyajit Ray เพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม ลุ่มหลงใหล

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ศักดิ์ศรีคือความภาคภูมิใจในตนเอง แต่เพราะมันเป็นสิ่งกินไม่ได้ เราจึงไม่ควรนำมาค้ำคล้องคอให้เป็นก้างขวาง เรียนรู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน ก้มหัวให้ใครอื่นบ้าน มันจะสร้างความรู้สึกที่ดี ผูกมิตรไมตรี เกิดความรักใคร่เอ็นดู ย่อมเป็นผลดีมากกว่าการเย่อหยิ่ง ทะนงตน อวดอ้างดี ไม่ใช่หรือ??

ใครชอบหนังคลาสสิค คุณภาพดี แฝงแนวคิด, แฟนหนัง bollywood และ Satyajit Ray, โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังศึกษาหรือชื่นชอบวัฒนธรรมพื้นบ้านของอินเดีย, นักแสดงนาฎศิลป์ โขน ดนตรีไทย ควรดูหนังเรื่องนี้ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศอื่น, หนังอาจดูยากสักนิด เพราะถือว่าเป็นหนัง ‘บรรยากาศ’ มีเนื้อเรื่องไม่มาก แต่แฝงข้อคิดกินใจ ภาพสวย เพลงเพราะ

จัดเรต PG กับความเย่อหยิ่งทะนงของตัวละคร

คำโปรย | Jalsaghar คือห้องแสดงดนตรีแห่งศักดิ์ศรี กินไม่ได้แต่สามารถเข่นฆ่าคนตาย
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: