Je Tu Il Elle

Je Tu Il Elle (1974) Belgian : Chantal Akerman ♥♥♥

Ju แปลว่าฉัน (I), Tu อาจหมายถึงผู้ชม (You), Il บุรุษผู้มีความเห็นแก่ตัว (He), Elle เธอคือคนที่ฉันต้องการร่วมเพศสัมพันธ์ (She), ภาพยนตร์แนวทดลองเกี่ยวกับ ฉัน-เขา-เธอ โดยคุณเป็นผู้ครุ่นคิดตัดสินว่าผู้กำกับ Chantal Akerman ต้องการสื่อนัยยะถึงอะไร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถแบ่งออกเป็นสามองก์

  • ครึ่งชั่วโมงแรกเกี่ยวกับฉัน, หญิงสาวคนหนึ่ง Julie (รับบทโดย Chantal Akerman) กักขังตนเองอยู่ในห้องพัก ขยับปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น รับประทานน้ำตาลแทนอาหาร ปลดเปลื้องเสื้อผ้า เขียนจดหมาย กลิ้งไปกลิ้งมา
  • กึ่งกลางเรื่องเกี่ยวกับเขา, หลังจาก Julie ตัดสินใจออกจากห้องพัก ยืนโบกรถบรรทุก ออกเดินทางร่วมกับชายคนหนึ่ง แรกๆแทบไม่เคยเอ่ยปาก บรรยากาศตึงๆ แต่เมื่อเธอใช้มือ ‘Hand Job’ จนเขาสำเร็จความใคร่ หลังจากนั้นก็พร่ำพรรณาถึงอดีต ภรรยาและบุตร
  • องก์สุดท้ายเกี่ยวกับเธอ, Julie เดินทางมาถึงอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง พบเจอหญิงสาว บอกว่าไม่อยากให้ค้างคืน แต่กลับทำแซนวิช จากนั้นปลุกปล้ำ ร่วมเพศสัมพันธ์หญิง-หญิง ตื่นเช้ามาถึงพลัดพรากจากกัน

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณผู้ชม จะสามารถขบครุ่นคิด ค้นหานัยยะที่ผกก. Akerman ซุกซ่อนเร้นเอาไว้ภายใต้เรื่องราวทั้งสาม เอาจริงๆมันตีความได้หลากหลายมากๆ ยกตัวอย่าง องก์แรกคือช่วงเวลาอกหัก (ปัจจุบัน) กักขังตนเอง ปล่อยให้เวลาเยียวยารักษาแผลใจ เดือนหนึ่งผ่านไปจึงก้าวออกมาพบเจอรักครั้งใหม่ (อนาคต) ส่วนยี่สิบนาทีสุดท้ายคือหวนระลึกความหลังกับอดีตแฟนสาว อีกสักครั้งก่อนร่ำจากกัน (อดีต)

แต่ด้วยความที่หนังไม่ได้มีการพูดบอก อธิบายความสัมพันธ์อะไรใดๆ ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้แบบว่า องก์แรกคือการเผชิญหน้ากับตัวตนเอง ปลดเปลื้องทุกสิ่งอย่าง จัดระเบียบความครุ่นคิดเสียใหม่, จากนั้นนำเสนอสันดานธาตุแท้ ความเห็นแก่ตัวของบุรุษ สนเพียงความสุข สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และองก์สุดท้ายชัดเจนมากๆว่าสะท้อนรสนิยมทางเพศของผกก. Akerman เล่นเอง กำกับเอง เติมเต็มกามารมณ์ของตนเอง

ผมอ่านเจอบทความของ Tamara Tracz จากเว็บ Senses of Cinema ทำการเปรียบเทียบครึ่งชั่วโมงแรกของหนังราวกับทารกในครรภ์ (หญิงสาว=ทารกน้อย, น้ำตาล/ของหวาน=อาหารจากรก, อพาร์ทเม้นท์=ครรภ์มารดา) กำลังเฝ้ารอคอยเวลา คลอดออกมาแล้วออกเดินทางผจญภัยโลกกว้าง … ชื่อหนัง Je Tu Il Elle เหมือนการอ่านออกเสียงของเด็กๆ

บอกไว้ก่อนเลยว่า รับชมหนังอาจไม่ค่อยสนุกเท่ากับการขบครุ่นคิดภายหลัง มีความเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้า ‘slow movie’ ใครเคยพานผ่าาน Jeanne Dielman, 23 quai du Commerce, 1080 Bruxelles (1975) ก็น่าจะมักคุ้นสไตล์ลายเซ็นต์ ‘minimalist’ ของผกก. Akerman เหมาะสำหรับคอหนังระดับสูง ‘High Art’ ดูจบแล้วมานั่งพูดคุยถกเถียง รับชมรอบสองสามจะยิ่งพบค้นพบมุมมองแนวคิดใหม่ๆ เห็นการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลครั้งล่าสุด Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับ 225 (ร่วม) ถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว


Chantal Anne Akerman (1950-2015) ศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Belgian เกิดที่ Brussels, Belgium ในครอบครัวชาว Jews อพยพจาก Poland รอดชีวิตจากเหตุการณ์ Holocaust, ตั้งแต่เด็กมีความสนิทสนมกับมารดา แม้มีความจุ้นจ้าน เจ้ากี้เจ้าการ แต่ก็ผลักดันให้บุตรสาวทำในสิ่งชื่นชอบ ไม่ใช่เร่งรีบแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย (Akerman (ต้อง)เขียนจดหมายหามารดาทุกๆสัปดาห์), ค้นพบความสนใจหลังรับชม Pierrot le Fou (1965) เกิดความมุ่งมั่นอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เข้าศึกษายังสถาบัน Institut national supérieur des arts du spectacle et des techniques de diffusion (INSAS) แต่แค่เพียงไม่ถึงเทอมก็ลาออกมาทำหนังสั้น Saute ma ville (1968) ดำเนินเรื่องเกือบทั้งหมดในห้องครัว ช่วงแรกๆก็ดูเหมือนปกติ ไม่นานกลับเริ่มทำอะไรเพี้ยนๆ (เธอให้คำนิยามโปรเจคนี้ว่า ‘Chaplin film’)

หลังเสร็จจากหนังสั้นเรื่องแรก เดินทางมุ่งสู่ New York, สหรัฐอเมริกา ทำให้มีโอกาสรับรู้จักผลงาน Avant-Garde ของผู้กำกับดังๆอย่าง Michael Snow, Yvonne Rainer, Marcel Hanoun, Jonas Mekas นั่นเองทำให้ Akerman ค้นพบสไตล์ลายเซ็นต์ ความสนใจของตนเองต่อสื่อภาพยนตร์ นั่นคือการไม่ยึดติดกับรูปแบบ โครงสร้าง วิธีการนำเสนอ และที่สำคัญสุดคือพบเจอตากล้องขาประจำ Babette Mangolte ร่วมกันสรรค์สร้างสองหนังสั้น La chambre 1 & 2 (1972) ถ่ายทำแบบ Long-Take ด้วยการให้กล้องหมุนรอบ 360 องศาไปทั่วอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นสิ่งต่างๆวางเรียงราย กระจัดกระจาย ขณะที่ Akerman (เล่นเองกำกับเอง)นอนอยู่บนเตียง สลับเปลี่ยนท่วงท่าไปเรื่อยๆ จนประมาณวนรอบสาม กล้องจะหมุนกลับทิศทาง และบางสิ่งอย่างก็เริ่มผิดแผกแตกต่าง

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Hotel Monterey (1973) ใช้เวลาถ่ายทำเพียงหนึ่งคืน! ด้วยการตั้งกล้องบันทึกภาพตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงดาดฟ้า พบเห็นผู้คน โถงทางเดิน ภายนอก-ในห้องพัก ฯ นานแค่ไหนแล้วแต่สันชาติญาณของผู้กำกับ “the shots are exactly as long as I had the feeling of them inside myself”. ผลลัพท์ออกมาถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยละ ผู้ชมเกิดความซึมซับบรรยากาศของโรงแรมแห่งนี้

I want people to lose themselves in the frame and at the same time to be truly confronting the space.

Chantal Akerman

จริงๆแล้ว Akerman ยังครุ่นคิดพัฒนาอีกโปรเจค Hanging Out Yonkers ต้องการบันทึกภาพเมือง Hudson Rivery ทำออกมาในลักษณะ ‘city symphony’ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งเธอเองก็หางานอื่นทำไม่ได้ เลยตัดสินใจเดินทางกลับ Brussels เมื่อปี ค.ศ. 1973

ด้วยความที่ Akerman เป็นผู้หญิง เป็นผู้กำกับหน้าใหม่ อีกทั้งยังไม่เคยมีผลงานประจักษ์ต่อสาธารณะ จึงแทบเป็นไม่ได้จะสรรหางบประมาณจากแห่งไหน ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจทำงานพิมพ์ดีด เก็บหอมรอมริดเพื่อเป็นทุนสำหรับสร้างภาพยนตร์ Je Tu Il Elle (1974)

I wanted to make a film about desire, and about a woman alone. I thought that the only way to make this film was to work from my own experience. I made this film almost entirely alone, so it was a very personal experience for me.

บทสัมภาษณ์กับ BOMB Magazine เมื่อปี ค.ศ. 1983

I was interested in exploring questions of identity, of what it means to be a woman, and what it means to be alone. I wanted to create a film that was very stripped down and minimalist, that would allow viewers to enter into the interior world of the protagonist.

บทสัมภาษณ์กับ Criterion Collection เมื่อปี ค.ศ. 2010

สำหรับบทภาพยนตร์ Akerman เล่าว่าเธอไม่ได้ครุ่นคิดเขียนตามสูตรสำเร็จทั่วๆไป แต่ใช้การอธิบายท่วงท่า สีหน้า ภาษากาย พูดคุยกับนักแสดงถึงสิ่งที่อยากให้กระทำออกมา นี่คือลักษณะของการทดลองผิดลองถูก (Experimental) ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า

I didn’t have a script in the traditional sense of the word. I just had a series of actions, movements, and gestures that I wanted to capture on film. So I worked with the actress, Claire Wauthion, to develop these gestures into scenes. It was a very experimental process, and I didn’t really know what the final film would look like until we had finished shooting.

เกร็ด: Claire Wauthion คือคนรักของผกก. Akerman พบเจอกันช่วงต้นทศวรรษ 70s ระหว่างที่ Wauthion ทำงานเป็นพนักงานฉายหนัง (Projectionist) เพียงมองตาก็เกิดความสัมพันธ์โรแมนติก ครองคู่ อาศัยอยู่ร่วมกันหลายปี


ถ่ายภาพโดย Bénédicte Delesalle, Renelde Dupont, Charlotte Szlovak
ตัดต่อโดย Luc Freché, Geneviève Luciani

ด้วยทุนสร้างที่มีจำกัด หนังจึงใช้ฟีล์ม 16mm ที่มีราคาถูก ด้วยระยะเวลาโปรดักชั่นเพียงสัปดาห์เดียว! แต่ทุกช็อตฉากล้วนผ่านการครุ่นคิดโดยละเอียด ทั้งการจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง แสงสว่าง-ความมืดมิด ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีการขยับเคลื่อนไหว และปล่อยทิ้งไว้ ‘Long Take’ นานแค่ไหนขึ้นกับอารมณ์ของผกก. Akerman

ไฮไลท์ของหนังคือการแสดงออกภาษากาย ทุกท่วงท่า สีหน้า อิริยาบถ ตำแหน่งทิศทาง นอน-นั่ง-ยืน-เดิน กลิ้งเกลือกไปมา ล้วนแฝงนัยยะซุกซ่อนเร้น ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาพจิตวิทยาตัวละครเท่านั้น แต่ยังสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ได้เช่นกัน

สิ่งที่ผกก. Akerman รับอิทธิพลจากบรรดาผู้กำกับรุ่น French New Wave ก็คือ ‘Bedroom Drama’ ตั้งแต่หนังสั้นเรื่องแรก Saute ma ville (1968) ดำเนินเรื่องเกือบทั้งหมดในห้องครัว หรือสองหนังสั้นถัดมา La chambre 1 & 2 (1972) ถ่ายทำแบบ Long-Take ด้วยการให้กล้องหมุนรอบ 360 องศาไปทั่วอพาร์ทเม้นท์ เหล่านี้ทำให้เธอมีประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ (Space) และเวลา (Times) รับรู้วิธีการที่จะทำให้ผู้ชมเกิดสัมผัสบางอย่างเกี่ยวกับสถานที่แห่งนั้นๆ

เมื่อครั้นปรากฎชื่อหนัง je tu il elle สังเกตว่าเป็นตัวอักษรพิมพ์เล็กทั้งหมด ลวดลาย (font style) เหมือนลายมือเขียน และที่สำคัญคือ elle ถูกแยกออกมาจาก je tu il ซึ่งสามารถสื่อถึงความสำคัญของเธอ ทำให้มีความโดดเด่น แตกต่าง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของฉันคุณเขา

จริงๆแค่ชื่อก็ตีความได้ร้อยแปดพันอย่าง อีกแนวคิดหนึ่งที่ผมครุ่นคิดได้ก็คือ je-tu ฉัน-คุณ ต่างเป็นคำเดียว บุคคลเดียว โดดเดี่ยวอ้างว้าง, ผิดกับ il-elle มีบุรุษอยู่เบื้องหน้า สตรีคือช้างเท้าหลัง อยู่บรรทัดเดียว ติดต่อเนื่อง เคียงข้างกัน

องก์แรกของหนังดำเนินเรื่องภายในอพาร์ทเม้นท์คับแคบแห่งหนึ่ง ผู้ชมจะได้ยินเสียงพูดบรรยาย แล้วหญิงสาวกระทำตามความครุ่นคิดดังกล่าว เกือบทุกช็อตจะแช่ภาพค้างไว้ แต่ก็มีบางครั้งเคลื่อนหมุน แพนนิ่ง ฯ จนกว่าจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง (บางครั้งมีการปรับระดับแสงสว่าง-มืดมิด เทียบแทนกลางวัน-กลางคนที่ผันแปรเปลี่ยน) ถึงตัดสลับทิศทาง มุมกล้อง พูดบอกวันถัดไป โดยรวมระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน (หนึ่งช็อต-หนึ่งวัน)

  • ช่วงแรกๆ Julie นั่ง-นอน เหม่อลอย นิ่งเฉย ปล่อยให้วันเวลาเคลื่อนผ่าน ยังไม่รู้จะครุ่นคิดทำอะไร
  • จากนั้นเริ่มลุกขึ้นมาเคลื่อนขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ จัดระเบียบห้องเสียใหม่ หลงเหลือเพียงนวมที่นอน สำหรับกลิ้งเกลือกไปมา
    • นี่คือช่วงเวลาจัดเรียบภายใน
  • เริ่มเขียนจดหมายถึงใครบางคน
    • สำหรับผู้รับ มีการตีความได้ทั้งคุณ (You), อดีตคนรัก (She), แต่ถ้ามองถึงผกก. Akerman ทุกสัปดาห์ต้องเขียนจดหมายถึงมารดา (Mother)
    • จดหมาย ถือเป็นการติดต่อสื่อสาร(ทางเดียว)กับโลกภายนอก อธิบายว่าฉันเป็นอะไรยังไง แต่ยังปฏิเสธรับรู้อะไรจากภายนอก
  • รับประทานน้ำตาล
    • น้ำตาลคือของหวาน สารอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิต สามารถสื่อถึงความหิวกระหาย Hunger, Desire ต้องการบางอย่างสิ่งอย่างเพื่อการดำรงชีวิต
  • ปลดเปลื้อง ถอดเสื้อผ้า
    • ผมมองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการปลดปล่อยวางความหมกมุ่นยึดติด เสรีภาพในเรือนร่างกาย (ในตอนแรกๆยังพบเห็นถือเสื้อผ้าเดินไปเดินมา ปกปิดบังอวัยวะบางส่วน จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถเดินโทงๆ)
  • เหม่อมองออกไปภายนอก (เป็นครั้งแรกๆของหนังด้วยที่ถ่ายให้เห็นทิวทัศน์นอกห้องพัก)
    • สื่อถึงความสนใจสิ่งต่างๆรอบข้าง โหยหาปัจจัยภายนอก สำหรับเติมเต็มความต้องการของจิตใจ
  • เมื่อมีใครเดินผ่านหน้าห้อง ทำให้เธอหวนกลับมาสวมใส่เสื้อผ้า
    • เกิดความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรียนรู้ที่จะทำตัวให้ได้รับการยินยอมรับ และที่สุดก็ตัดสินใจก้าวออกนอกห้องพัก

ปล. ผมไม่ได้ ‘body shaming’ เรือนร่างผกก. Akerman นะครับ แค่จะเปรียบเทียบความอวบอิ่ม บริบูรณ์ ชวนให้นึกถึงรูปปั้น เทพีกรีกโรมัน Venus de Milo, Venus de’ Medici, The Crouching Venus, Borghese Venus ฯ หญิงสาวสมัยก่อนจะหุ่นประมาณนี้ นั่นทำให้บางคนตีความตัวละครดั่ง ‘พระเจ้าผู้สร้าง’ ห้องพักแห่งนี้ก็คือสรวงสวรรค์ ขณะนี้กำลังเหม่อมองโลกมนุษย์เบื้องล่าง

เรื่องราวของชายคนขับรถบรรทุก แม้อยู่กึ่งกลางหนัง แต่แทบทุกช็อตฉาก Julie มักอยู่ตำแหน่งด้านข้าง บางครั้งพบเห็นเพียงภาพสะท้อนกระจก หรือฉากที่เธอทำการ ‘Hand Job’ ก็พบเห็นเพียงมือ แทบจะไม่มีตัวตน เป็นแค่เสี้ยวส่วนหนึ่งในชีวิตบุรุษ ถูกควบครอบงำ แม้พื้นที่บนเฟรมภาพยนตร์!

เสียงบรรยายความครุ่นคิดของ Julie ก็จะสิ้นสุดลงเมื่อทำการ ‘Hand Job’ สำเร็จความใคร่ด้วยมือให้ชายคนขับรถบรรทุก มันราวกับว่าเธอได้สูญเสียความบริสุทธิ์/ไร้เดียงสาของตนเอง ถูกล่อลวง บีบบังคับ อีกฝ่ายพยายามควบคุมครอบงำ จากนั้นก็เล่าเรื่องราวของตนเอง โดยไม่สนใจความคิดเห็น สอบถามความต้องการของอีกฝั่งฝ่าย

ความหิวกระหายของ Julie เริ่มจากขนมปัง+ไวน์(แดง) อาหารและน้ำ (เลือด-เนื้อพระเยซู) นั่นคือความต้องการพื้นฐานร่างกาย ซึ่งหนังใช้มุมกล้องถ่ายด้านหน้า(Julie) ระหว่างได้รับการเติมเต็ม รับประทานจนอิ่มหนำ

แต่ความหิวกระหายทางจิตวิญญาณของ Julie กล้องถ่ายอีกมุมหนึ่งจากด้านหลัง ยื่นมือไปปลดกระดุมเสื้อ(อดีต)แฟนสาว ในตอนแรกถูกมือปัด ส่ายศีรษะ แต่ไม่ทันไรก็มิอาจหยุดยับยั้งสันชาตญาณ ‘desire’ แค่มองตาก็รับรู้ความต้องการ(กระหาย)แท้จริงของอีกฝั่งฝ่าย

Sex Scene ของหนังความยาวสิบกว่านาที แต่ประกอบด้วยเพียง 3 ช็อต/มุมกล้อง (สังเกตจากทิศทางของกล้อง แลดูคล้ายระบบพิกัดฉากสามมิติ xyz)

  • ถ่ายจากด้านข้างเตียง (แกน x) อารัมบทการมีเพศสัมพันธ์ พบเห็นสองสาวกอดรัดฟันเหวี่ยง ผลัดกันอยู่ด้านบน-ด้านล่าง
  • จากหัวเตียง (แกน y) พบเห็นทั้งสองนอนหันข้าง โอบกอดแนบชิด แล้วจุมพิต แลกลิ้นอย่างดูดดื่ม และมือลูบไล้ทั่วเรือนร่าง
    • สองช็อตแรกของ Sex Scene ล้วนคือท่วงท่าที่แสดงให้ถึงความเสมอภาคเท่าเทียมของทั้งสองฝ่าย
  • มุมเอียงๆจากปลายเตียง (แกน z) เริ่มจาก(อดีต)แฟนสาวแหวกขาของ Julie จากนั้นใช้ลิ้นเลียจากล่างขึ้นบน เพื่อให้อีกฝ่ายเสพสมหมาย ถึงจุดไคลน์แม็กซ์ แล้วก็กอดรัดฟัดเหวี่ยง หลับนอนอยู่เคียงข้าง ในอ้อมอกของกันและกัน
    • แต่สังเกตว่ามีเพียง Julie ถึงเหมือนไปถึงจุดไคลน์แม็กซ์ นี่ล้อกับองก์สองของหนังที่ก็เพียงคนขับรถได้รับการ ‘Hand Job’ จนสำเร็จความใคร่ ถึงอย่างนั้นความแตกต่างคือ(องก์สอง)ฝ่ายหญิงไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ คราวนี้(อดีต)แฟนสาวจัดให้ทั้งกอดรัด จุมพิต ลิ้นเลีย มันคือการตอบสนองความพึงพอใจของกัน

บทเพลง Ending Credit ของหนังคือ Nous n’irons plus au bois (แปลว่า We will no longer go to the woods) นี่เป็นบทเพลงสำหรับเด็ก (Nusery Song) ประพันธ์โดย Madame de Pompadour เมื่อคริสต์มาสปี ค.ศ. 1753 แต่จุดประสงค์แท้จริงของบทเพลงนี้ … ลองตีความจากเนื้อคำร้องดูนะครับ

ต้นฉบับฝรั่งเศสคำแปลอังกฤษ
Nous n’irons plus au bois,
Les lauriers sont coupés.
La belle que voilà,
La laiss’rons nous danser ?

(Refrain)
Entrez dans la danse,
Voyez comme on danse,
Sautez, dansez,
Embrassez qui vous voudrez.
La belle que voilà,
La laiss’rons nous danser ?
Et les lauriers du bois,
Les laiss’rons nous faner ?

(Refrain)
Non, chacune à son tour
Ira les ramasser.
Si la cigale y dort,
Ne faut pas la blesser.

(Refrain)
Le chant du rossignol
La viendra réveiller,
Et aussi la fauvette,
Avec son doux gosier.

(Refrain)
Et Jeanne, la bergère,
Avec son blanc panier,
Allant cueillir la fraise
Et la fleur d’églantier.

(Refrain)
Cigale, ma cigale,
Allons, il faut chanter
Car les lauriers du bois
Sont déjà repoussés.
We’ll go to the woods no more,
The laurels have been cut.
That beauty there,
Will we let her dance?

(Chorus)
Join the dance
See how we dance,
Jump, dance,
Kiss whoever you want.
That beauty there,
Will we let her dance?
And the laurels in the woods
Will we let them wither?

(Chorus)
No, each one takes her turn
To go pick them.
If the cicada is sleeping there,
It must not be hurt.

(Chorus)
The song of the nightingale
Will wake it up,
And also the warbler
With its sweet voice.

(Chorus)
And Jean, the shepherdess
With her white basket,
Going to pick strawberries
And wild roses.

(Chorus)
Cicada, my cicada,
Come on, you must sing
For the laurels in the woods
Have grown again.

ปล. ในรัชสมัย King Louis XIV ออกกฎหมายห้ามการค้าขายบริการ ปิดกิจการซ่องโสเภณี จนทำให้ประชาชนต้องแอบเข้าป่าเพื่อไปเสพสำราญ จนกระทั่ง King Louis XV ขึ้นครองราชย์ ได้ประกาศยกเลิกข้อบังคับดังกล่าว (เป็นกษัตริย์เลื่องชื่อในความหมกมุ่นมักมากกามคุณ) บทเพลงนี้แต่งขึ้นแทนเสียงสรรเสริญประชาชน “We’ll go to the woods no more!”

อย่างที่อธิบายไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า Je Tu Il Elle (1974) สามารถครุ่นคิดตีความได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับคุณผู้ชมจะพบเห็นข้อสรุปเช่นไร ไม่มีถูกไม่มีผิด ต่อจากนี้คือความเข้าใจของผมเอง มองหนังในแง่มุมการค้นหาอัตลักษณ์(ทางเพศ)ของผกก. Akerman

องก์แรกของหนังนำเสนอภาพภายในจิตใจ (interior world of the protagonist) ของหญิงสาว/ผกก. Akerman อาศัยอยู่โดดเดี่ยว ตัวคนเดียว เพียงลำพัง ไร้จุดมุ่งหมายชีวิต จนกระทั่งเริ่มลุกขึ้นมาจัดห้อง ขยับเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ เขียนจดหมาย(ถึงมารดา) ปลดเปลื้องเสื้อผ้า เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง แล้วค่อยๆบังเกิดความต้องการ ‘desire’ ลุกขึ้นมาทำบางสิ่งอย่าง … นี่สามารถสะท้อนช่วงเวลาที่ผกก. Akerman อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา ไร้งาน ไร้เงิน ไม่รู้จะทำอะไร ได้เพียงเฝ้ารอคอยโอกาส เลยตัดสินใจเดินทางกลับ Brussels เพื่อมามองหาลู่ทาง เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ยังสถานที่ที่มีความคุ้นเคย

ถัดมาคือเรื่องราวการเดินทาง พบปะผู้คน ออกผจญโลกกว้าง แต่เนื้อหาหลักๆคือนำเสนอความชั่วร้าย/พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของบุรุษ โดยใช้การบีบบังคับฝ่ายหญิงกระทำ ‘Hand Job’ คือสัญลักษณ์แทนการสำเร็จความใคร่แต่เพียงผู้เดียว ไม่สนว่าเธอรับรู้สึกนึกคิด ยินยอมพร้อมใจประการใด แถมหลังจากสำเร็จกามกิจ อุปนิสัยก็ปรับเปลี่ยนจากหน้ามือ-หลังมือ กลายเป็นคนพูดพร่ำ รำลึกความหลัง กล่วถึงแต่งงานมีภรรยาและบุตร กลับยังไม่รู้จักควบคุมกามารมณ์ของตนเอง … ทั้งหมดทั้งมวล ผมมองว่าคือการสะท้อนอคติต่อบุรุษเพศของผกก. Akerman

นั่นเพราะยี่สิบนาทีสุดท้าย เป็นการเปิดเผยตัวตนของผกก. Akerman อย่างตรงไปตรงมาเลยว่ามีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) ใช้ภาษากายสื่อสารกับ(อดีต)แฟนสาว รับประทานแซนวิชคือสัญลักษณ์คนสองประกบติด เวลาพวกเธอร่วมเพศสัมพันธ์ก็บดๆไถๆ คลอเคลียลอเลีย มันอาจไม่ได้ดูอีโรติก เหมือนกำลังเล่นมวยปล้ำ หรือทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ทางเพศใดๆ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

ความสัมพันธ์ชาย-หญิง ในมุมมองของผกก. Akerman คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง(ชาย)มักต้องทำตัวเป็นผู้นำ ควบคุมครอบงำ แสดงอิทธิพลเหนือกว่าอีกฝั่งฝ่าย(หญิง), แต่สำหรับหญิง-หญิง มันคือความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่มีรุก-ไม่มีรับ สามารถสลับกันขึ้นบน-ลงล่าง เติมเต็มความต้องการ(ทางเพศ)ของกันและกัน

ด้วยอุปนิสัยของผกก. Akerman สังเกตจากองก์แรกของหนัง คือผู้สาวที่ต้องการจัดการ ทำทุกสิ่งอย่างภายในอพาร์ทเม้นท์ ให้เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ปฏิเสธการถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำโดยใคร มีเพียงมารดาที่สามารถเป็นอิทธิพล นั่นอาจคือเหตุผลที่ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้อยู่เคียงข้างแฟนสาว (มากกว่าบุรุษ)

นอกจากเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เรายังสามารถใช้เขาและเธอ เทียบแทนสัญลักษณ์อื่นๆ อาทิ การควบคุมครอบงำ vs. เสมอภาคเท่าเทียม, เผด็จการ vs. ประชาธิปไตย, ขนบกฎกรอบ vs. เสรีภาพ, เหตุผล vs. อารมณ์ … เหมารวมหยิน-หยาง สองสิ่งที่มีความแตกต่างขั้วตรงข้าม

ตอนจบของหนังมันอาจดูเหมือนความผิดพลาด ที่มีใครคนหนึ่งแอบอยู่ร่วมในเฟรม แต่เราสามารถครุ่นคิดข้อแก้ต่างที่สมเหตุสมผล โดยให้บุคคลนั้นอาจคือคนรักของหญิงสาว เช้ามาปลุกตื่น Julie/ผกก. Akerman ให้ออกไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ … บางคนตีความว่าคือการหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ส่วนผมมองว่าฟื้นตื่นขึ้นมาเผชิญโลกความจริง

หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยัง Venice Biennale ได้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ก้ำๆกึ่งๆ ชื่นชมในการทดลอง แนวคิดแปลกใหม่ แต่ถูกโจมตีอย่างหนักกับฉากเลสเบี้ยน มีความโจ๋งครึ่ม เห็นชัดเจนเกินไป (ถือเป็นภาพยนตร์ในกระแสหลักเรื่องแรกๆ ที่มีการร่วมรักหญิง-หญิง ถึงพริกถึงขิงขนาดนั้น)

ตั้งแต่ Je Tu Il Elle (1974) ได้รับการฟื้นฟูบูรณะเมื่อปี ค.ศ. 2009 กลายเป็น DVD/Blu-Ray โดยค่าย Criterion Collection ทำให้เป็นที่รู้จัก แพร่หลายในวงกว้าง การประเมินคุณค่าใหม่จากผู้ชม/นักวิจารณ์ จึงเต็มไปด้วยคำสรรเสริญเยินยอ

The film is an act of self-discovery and self-invention, using cinema as a means of creating identity. Its success lies in its rigor and completeness, its feeling for the ambivalences of desire and its readiness to tackle head-on the contradictory nature of love.

Peter Bradshaw นักวิจารณ์จาก The Guardian

ส่วนตัวชื่นชอบครึ่งชั่วโมงแรกของหนังอย่างมากๆ เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ชวนให้ขบครุ่นคิด เพลิดเพลินบันเทิงใจ แต่พอหญิงสาวก้าวออกมานอกห้อง ความน่าหลงใหลกลับค่อยๆลดน้อยถอยลง จนองก์สุดท้ายฉากร่วมเพศสัมพันธ์หญิง-หญิง ทำลายทุกสิ่งอย่างที่อุตส่าห์คาดหวังไว้ สำหรับผมมันคือการตอบสนองตัณหาความใคร่ของผกก. Akerman เท่านั้นเอง!

มันไม่ผิดอะไรหรอกนะที่ศิลปิน (auteur) สรรค์สร้างผลงานเพื่อตอบสนองกามารมณ์ของตนเอง จริงอยู่ผลลัพท์อาจเลิศเลอค่าทางศาสตร์ศิลปะ แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากความบันเทิงระดับสูงเท่านั้นเอง

จัดเรต 18+ กับการเปลือยกาย เพศสัมพันธ์หญิง-หญิง

คำโปรย | Je Tu Il Elle การทดลองหาอัตลักษณ์ที่เริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ จนกระทั่ง Chantal Akerman กระทำสิ่งตอบสนองตัณหาของตนเอง
คุณภาพ | การทดลองที่น่าสนใจ
ส่วนตัว | ค่อนไปทางไม่ชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: