Jesus Christ Superstar

Jesus Christ Superstar (1973) hollywood : Norman Jewison ♥♥♥♡

ไม่ต้องไปครุ่นคิดมากว่า การเปรียบเทียบพระเยซูคริสต์คือ ‘Rock Superstar’ เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมควรประการใด เพราะขนาด Pope Paul VI ยังแสดงความชื่นชอบ และเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าถึงคนทั้งโลกได้อย่างไม่มีใครวาดฝันมาก่อน

“Mr. Jewison, not only do I appreciate your beautiful rock opera film, I believe it will bring more people around the world to Christianity, than anything ever has before”.

– Pope Paul VI แสดงทัศนะต่อภาพยนตร์ Jesus Christ Superstar

ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมคนนอกศาสนาคริสต์ เลยไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นการดูหมิ่น ลบหลู่ เหยียดหยามประการใด ถึงกระนั้นถ้ามีใครสักคนสร้างภาพยนตร์โดยให้ พระพุทธเจ้า กลายเป็น ‘Rock Star’ ลึกๆคงไม่รู้สึกพึงพอใจเท่าไหร่ แต่จะไปหักห้ามย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรมเวรก็แล้วกันนะ สร้างด้วยความตั้งใจเช่นไรก็ย่อมต้องได้รับผลตอบแทนนั้นคืนสนอง

Rock Opera คือคำเรียกอัลบัมรวมบทเพลงแนว Rock ที่มีเนื้อเรื่องราว ใจความดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่เพลงแรกจนสุดท้าย นี่ไม่ได้สื่อถึงอุปรากร (Opera) หรือหมายรวมการแสดงเข้าไปด้วย (แค่อัลบัมเพลงอย่างเดียวก็ถือเป็น Rock Opera ได้แล้ว) โดยครั้งแรกสุดเริ่มนับที่ The Story of Simon Simopath (1967) ของวง Nirvana แนว Psychedelic สัญชาติอังกฤษ

ในบรรดา Rock Opera มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก น่าจะคืออัลบัม Jesus Christ Superstar (1970) แต่งทำนองโดย Andrew Lloyd Webber, คำร้องโดย Tim Rice, ได้แรงบันดาลใจจากพระวรสารสหทรรศน์ และหนังสือ Life of Christ (1958) แต่งโดย Fulton John Sheen (1895 – 1979) บาทหลวงชื่อดังสัญชาติอเมริกัน เคยได้รับแต่งตั้งเป็น Archbishop ช่วงระหว่างปี 1966-69

“[Jesus Christ Superstar] is the worst idea in history”.

– Andrew Lloyd Webber

เนื้อหาใจความของบทเพลง นำเสนอสัปดาห์สุดท้ายในช่วงชีวิตของพระเยซู เริ่มต้นออกเดินทางสู่ Jerusalem จบสิ้นที่การตรึงกางเขน และทำการตีความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง Jesus, Judas และ Mary Magdalene ที่ไม่ปรากฎมาก่อนในหนังสือพระวรสารฉบับใด

เกร็ด: อัลบัม Jesus Christ Superstar (1970) สามารถไต่ถึงอันดับหนึ่งชาร์ท US Billboard Hot 200 ได้ถึงสองครั้งระยะเวลาห่างกัน 9 สัปดาห์ รวมแล้วทั้งหมด 3 สัปดาห์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ความตั้งใจของ Andrew Lloyd Webber และ Tim Rice ตั้งแต่แรกคือต้องการทำเป็นละครเพลง Broadway ด้วยความละเอียดอ่อนของเรื่องราว ทำให้ไม่สามารถสรรหางบประมาณสนับสนุนจากใครไหน เลยทดลองออก Concept Album ปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างสูง ฮิตถล่มทลาย หมดสิ้นปัญหาทันทีในการจัดหานายทุน

“Doing it on record made it shorter, cut out the book, made it more contemporary, made it more rock, gave it more energy, and identified it more with a younger audience. All those things the record gave us. We didn’t really appreciate that at the time because, largely thanks to Andrew, we were trying to write for the theatre, not for records. But doing it that way around worked so well, because in addition to making the work itself better, it promoted the work so well, so when it finally hit the stage, everybody knew the entire score.”

– Tim Rice

การแสดง Original Broadway เริ่มต้นวันที่ 12 ตุลาคม 1971 ณ Mark Hellinger Theatre กำกับโดย Tom O’Horgan, นำแสดงโดย Jeff Fenholt รับบท Jesus, Ben Vereen รับบท Judas, สิ้นสุดการแสดงรอบสุดท้าย 30 มิถุนายน 1973 รวมทั้งสิ้น 711 รอบการแสดง เสียงตอบรับไปในทางผสม แต่ก็ได้เข้าชิง Tony Award ถึง 5 สาขา

Norman Frederick Jewison (เกิดปี 1926) ผู้กำกับ/นักแสดง สัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario ตั้งแต่เด็กฉายแววความสนใจด้านการแสดง เติบโตขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครทหารเรือสังกัด Royal Caadian Navy หลังปลดประจำการออกเดินทางท่องโลกสู่ South American หวนกลับมาเรียนต่อ Victoria College จบแล้วย้ายสู่ London เขียนบทรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก หวนกลับมาแคนาดาทำงานยัง CBC Television ได้เป็นผู้ช่วย กำกับรายการตลก เกมโชว์ มีโอกาสทำรายการ ‘comeback’ ให้กับ Judy Garland พบเจอ Frank Sinatra, Dean Martin, Tony Curtis รายหลังนำแสดงในภาพยนตร์เรื่องแรก Forty Pounds of Trouble (1962), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Cincinnati Kid (1965), The Russians Are Coming, the Russians Are Coming (1966), เข้าชิง Oscar: Best Director สามครั้ง ไม่เคยได้รางวัล In the Heat of the Night (1967), Fiddler on the Roof (1971), Moonstruck (1987)

เกร็ด: คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า Norman Jewison เป็นชาว Jews (เพราะนามสกุล) จริงๆคือนับถือ Protestant

ระหว่างกำลังถ่ายทำ Fiddler on the Roof (1971) นั่งพูดคุยกับหนึ่งในนักแสดง Barry Dennen ที่ได้มีส่วนร่วมร้องเพลงในอัลบัม Jesus Christ Superstar (1970) เอ่ยปากชักชวนให้ดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ หลังจากรับฟังเพลงก็ตอบตกลงโดยทันที

(ผมคงไม่ต้องเล่าถึงประวัติของพระเยซูคริสต์นะครับ เชื่อว่าใครๆน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว)

สำหรับนักแสดง ส่วนใหญ่ลากพาตัวมาจากชุดการแสดง Broadway นอกเสียจาก Barry Dennen คนอื่นๆถือว่าหน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์ ประกอบด้วย

Teddie Joe ‘Ted’ Neeley (เกิดปี 1943) นักร้อง นักตีกลอง Rock & Roll เกิดที่ Ranger, Texas ตอนอายุ 22 ได้เซ็นสัญญากับ Capitol Records ออกอัลบัมในชื่อวง The Teddy Neeley Five, ช่วงปี 1968 ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Rock Musical เรื่อง Alison and Birthday for Shakespeare ทำให้เกิดความสนใจด้านนี้ ต่อมามีโอกาสคัดเลือกนักแสดง Jesus Christ Superstar ทีแรกสนใจบท Judas แต่ไม่ผ่านคัดเลือก เลยสมัครนักร้องคอรัส ไปๆมาๆกลายเป็น Understudy ให้กับ Jeff Fenholt (ผู้รับบท Jesus Christ) ขึ้นแสดงแทนประปราย และการมาถึงของภาพยนตร์เลยถูกดึงตัวไปรับบทนำ

Carlton Earl ‘Carl’ Anderson (1945 – 2004) นักร้อง นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Lynchburg, Virginia โตขึ้นสมัครทหารอากาศ ทำงานฝ่ายเทคนิคสื่อสารอยู่สองปี ระหว่างนั้นก็ได้เป็นนักร้องประจำกองทัพ เคยเข้าแข่งขัน World Wide Air Force Talent Contest หลังจากปลดประจำการย้ายมาอยู่ Washington, D.C. รวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งวง The Second Eagle ตนเองร้องนำ ซึ่งระหว่างแสดงตามผับบาร์เคยได้ขับร้องบางบทเพลงจากอัลบัม Jesus Christ Superstar เข้าตาแมวมองจนได้รับคำชักชวนให้มาแสดงละครเพลง Jesus Christ Superstar กลายเป็น Understudy ของ Ben Vereen (ผู้รับบท Judas) มีโอกาสขึ้นแสดงแทนหลายรอบ จนถูกดึงตัวมาแสดงฉบับภาพยนตร์

Yvonne Marianne Elliman (เกิดปี 1951) นักร้อง แต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Honolulu, Hawaii แม่เป็นชาวญี่ปุ่น ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการร้องเล่นดนตรี เรียนเปียโนตอนอายุ 7 ขวบ โตขึ้นเข้าเรียน President Theodore Roosevelt High School หลงใหลในร้องนำ/กีตาร์ จบออกมาเดินทางสู่ London เริ่มจากทำงานตามผับบาร์ ได้รับการค้นพบโดย Rice/Lloyd Webber ให้มาบันทึกเสียงร้อย Mary Magdalene ในอัลบัม Jesus Christ Superstar และกลายเป็นนักแสดงชุดแรก ออกทัวร์กับวงถึง 4 ปีเต็ม

Barry Dennen (1938 – 2017) นักร้อง นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois ตอนสมัยหนุ่มๆเคยมีสัมพันธ์กับ Barbra Streisand อาศัยอยู่ร่วมชายคาปีกว่าๆ ผลักดันให้เธอเป็นนักร้องนักแสดงจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง หลังจากเลิกร้างราหนีไปอยู่ London กลายเป็นพิธีกร MC ให้กับการแสดง West End เรื่อง Cabaret จากนั้นได้มีโอกาสขับร้องเพลงในบท Pontius Pilate ออกอัลบัม Jesus Christ Superstar ตามด้วยแสดงนำ และรับบทในภาพยนตร์

ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe (1913 – 2016) สัญชาติอังกฤษ เคยเข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้งไม่เคยได้รางวัล Travels with My Aunt (1972), Julia (1977), Raiders of the Lost Ark (1981)

หนังถ่ายทำด้วยกล้อง Todd-AO 35 (ถือเป็นเรื่องท้ายๆที่ใช้เทคโนโลยีนี้) แล้วขยายใหญ่ Blow-Up กลายเป็น 70mm ได้ภาพขนาดอลังการเทียบเท่า Around the World in Eighty Days (1956), Cleopatra (1963), The Sound of Music (1965) ฯ [เหล่านี้ล้วนใช้เทคโนโลยี Todd-AO]

สถานที่ถ่ายทำ ยกกองไปปักหลักยังประเทศอิสราเอล เลือกโบราณสถานห่างไกลที่ถูกทิ้งขว้าง นำมาปัดฝุ่นแต่งต่อเติมโน่นนี่นั่นให้เหมาะสมกับการกระโดดโลดเล่นเต้น

หนังไม่ได้ต้องการนำเสนอเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ ให้ออกมาสมจริง หรืออ้างอิงกับประวัติศาสตร์เปะๆ มุ่งเน้นความร่วมสมัยปัจจุบันนั้น [สงสัยได้แรงบันดาลใจจาก The Gospel According to St. Matthew (1964)] เสื้อผ้าหน้าผม อุปกรณ์ประกอบฉาก แทบทั้งนั้นมีความโมเดิร์น นี่อาจมอบสัมผัสที่ผิดแผกแปลกธรรมชาติ แต่งานศิลปะมันจำเป็นต้องนำเสนอความถูกต้องเสมอไปหรือ?

ต้องชมเลยว่า หนังใช้ประโยชน์จากกล้อง Todd-AO ได้อย่างคุ้มค่า งดงาม อลังการมากๆ พบเห็นทัศนียภาพขุนเขา ทะเลทราย กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา สะท้อนกึกก้องกับเรื่องราวพระเยซูคริสต์ ที่เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบันนี้ หลงเหลือเพียงความเหือดแห้งแล้ง เวิ้งว้างว่างเปล่า แทบไม่มีใครให้ความใคร่สนใจสักเท่าไหร่อีกต่อไปแล้ว

หนึ่งในไดเรคชั่นที่หนังชอบใช้มากๆคือการซูมแบบบ้าคลั่ง ด้วยความที่ประสิทธิภาพของกล้อง Todd-AO สามารถถ่ายระยะไกลๆได้อย่างคมชัด ต่อให้ซูมเข้า-ออก แบบสุดๆ ภาพที่ได้ก็ยังไม่แตกละเอียดสักเท่าไหร่

นี่คือวิหาร/โบสถ์ของ Joseph Caiaphas (รับบทโดย Bob Bingham) ดำรงตำแหน่ง High Priest ของชาวยิว ที่ต่อมาคือผู้วางแผนขจัดเข่นฆ่าพระเยซูคริสต์ให้พ้นทาง

ด้วยลักษณะที่มีเพียงโครงสร้างเหล็ก/นั่งร้าน นี่เป็นการสื่อนัยยะถึงความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้, วิหาร/โบสถ์ที่สร้างขึ้นด้วยมือ ล้วนเป็นเพียงวัตถุทางโลก มันย่อมไม่มีคุณค่าใดๆถ้ามนุษย์ไม่เข้าใจความหมายแท้จริงของมัน

เราจะพบเห็นตัวประกอบอื่นๆที่ไม่ใช่นักเต้น ยืนระยะห่างไกลประดับพื้นหลัง บุคคลเหล่านั้นคงเป็นสัญลักษณ์ของผู้สังเกตการณ์ ทหาร ชนชั้นสูง จับจ้องมองการแสดงคอนเสิร์ตของพระเยซูคริสต์ด้วยความอยากรู้ใคร่สนใจ

การร้องรำเต้นเพลง คือสัญลักษณ์ของการยกย่อง เทิดทูน เคารพบูชา ไอดอล หรือ ‘Superstar’ ครุ่นคิดโดยละเอียด จักพบว่ามันไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันเลยนะ!

ผมชื่นชอบการมาถึงของรถถังมากเลยนะ เป็นสัญลักษณ์การแสดงแสนยานุภาพ (ของทหารโรมัน) เป็นเหตุให้ Judas วิ่งเผ่นหนีหน้าตั้ง ฉันขอทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองเอาตัวรอดไว้ก่อนแล้วกัน

Last Supper ช็อตนี้หลายๆคนน่าจะคาดเดาได้ ว่ารับแรงบันดาลใจจากผลงานของ Leonardo Da Vinci ปรับเปลี่ยนพื้นหลังคือนั่งรับประทานอาหารในสวน (แทนที่จะเป็นบนโต๊ะ ในห้องโถงใหญ่)

ค่ำคืนสุดท้ายกับอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ หลังจากขับร้องเพลงตัดพ้อรำพัน จะมีการร้อยเรียงภาพ Montage ผลงานของ Matthias Grünewald (1470 – 1528) จิตรกรสัญชาติเยอรมัน ศิลปินแห่งยุคสมัย German Renaissance

ภาพวาดนี้ชื่อ The Crucifixion (ประมาณ 1512–16) วาดภาพ-แกะสลักด้านหน้าของแท่นประธาน (Altarpiece) สำหรับทำพิธีในวิหาร Monastery of St. Anthony ที่ Isenheim, ปัจจุบันย้ายมาจัดเก็บ แสดงอยู่ที่ Unterlinden Museum ประเทศฝรั่งเศส

ผมรู้สึกเล็กๆว่าภาพนี้เป็นการเคารพคารวะหนังเรื่อง The Greatest Story Ever Told (1965) แถมหลายๆช็อตในหนังก็มีกลิ่นอายคล้ายๆกันอยู่มากทีเดียว

เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันสังเกตฝูงแกะที่เดินผ่านหน้ากล้องไปอย่างแน่นอน นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของทีมงาน แต่ก็ไม่รู้ว่าแกะฝูงดังกล่าวมาจากไหน เป็นของใคร (แต่เราก็จะเห็นฝูงแกะเดินผ่านหน้ากล้องอยู่เรื่อยๆ)

ศาสนาคริสต์มักจะเปรียบเทียบให้ มนุษย์คือแกะ และพระเยซูคือ ‘Shepard’ ผู้ต้อนแกะ ให้ออกเดินไปในทิศทางถูกต้อง, การเดินผ่านของแกะในช็อตสุดท้ายของหนังนี้ เลยถือว่ามีความทรงพลังงดงามอย่างมาก (พอๆกับพระอาทิตย์กำลังจะตกดินลับขอบฟ้า)

ตัดต่อโดย Antony Gibbs (1925 – 2016) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆอาทิ A Taste of Honey (1961), The Loneliness of the Long Distance Runner (1962), Tom Jones (1963), The Knack …and How to Get It (1965), Performance (1970), Fiddler on the Roof (1971), A Bridge Too Far (1975) ฯ

นอกจากอารัมบท-ปัจฉิมบท เหมือนว่าเรื่องราวของหนังเล่าผ่านมุมมองของ Judas Iscariot หนึ่งในอัครสาวกผู้มีความหงุดหงิด คับข้อง ไม่เข้าใจในพระเยซูคริสต์ จนตัดสินใจทรยศหักหลัง จากนั้นฆ่าตัวตายกลายเป็นวิญญาณหวนกลับมาตั้งคำถาม ทั้งหมดที่พระองค์ทำไปนี้เพื่ออะไร?

หนังมีลีลาของการตัดต่อหนึ่งที่เจ๋งมากๆ เริ่มจากถ่ายตัวละครจากระยะไกล จากนั้นค่อยๆซูมเข้าไปแล้วทำการ Cross-Cutting เปลี่ยนไปอีกมุมหนึ่งที่ก็กำลังซูมเข้าไป วนซ้ำอยู่สามสี่รอบจากด้านหลัง-ข้าง-หน้า ด้วยความเร็วเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ, นี่คงแฝงนัยยะถึงการตีความเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในหลากหลายมุมมอง ถ้าเราสามารถเปิดโลกทัศน์ทางความคิดออก Rock Opera ก็ย่อมเป็นไปได้เช่นกัน

สำหรับเพลงประกอบของ Andrew Lloyd Webber ก็มีการปรับเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจาก Concept Album และการแสดง Broadway เพื่อให้เข้ากับการดำเนินเรื่องราวของภาพยนตร์

Heaven on their Minds เป็นบทเพลงที่จะทำให้ผู้ชมปรับเปลี่ยนโลกทัศนคติ ต่อเรื่องราวชีวประวัติเยซูคริสต์เสียใหม่ เริ่มต้นจากใช้นักแสดง/นักร้อง ผู้รับบท Judas คือนักแสดงผิวสี, จากนั้นเนื้อคำร้อง เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเสียสละของพระผู้มาไถ่ มันคุ้มค่าถูกต้องแล้วหรือ เพราะปัจจุบันนี้คำสอนหลายๆอย่างของพระองค์ถูกบิดเบือน แปรสภาพ แทบไม่แตกต่างอะไรกับเศษฝุ่นผืนทราย ปล่อยลงพื้นก็ปลิวสูญหายไปกับสายลมพัด

บทเพลงที่มีท่วงท่า ลีลา เต้นได้เร้าใจอย่างสุดๆ Simon Zealotes ชื่อของซีโมนผู้ร้อนรน หนึ่งในสิบสองอัครทูตของพระเยซู ปรากฏชื่อใน พระวรสารสหทรรศน์ แต่ไม่มีรายละเอียดสักเท่าไหร่ กระนั้นแค่ฉายา ‘ร้อนรน’ นำไปตีความอะไรๆได้มากทีเดียว

ทั้งคำร้อง-ท่าเต้น เต็มไปด้วยความสุดเหวี่ยงจากภายใน เพื่อเป็นการยกย่อง เทิดทูน สรรเสริญพระเยซูคริสต์ แรกๆท่านก็แสดงออกด้วยรอยยิ้มที่เห็นสาวกทั้งหลายต่างเพรียบพร้อมใจ แต่ต่อมาเมื่อถึงท่อนคำร้อง ‘You will rise to greater power’ นี่มันไม่ใช่แล้ว! ทุกคนในที่แห่งนี้ต่างรับรู้เข้าใจอะไรผิดๆไปเสียหมด

เดิมนั้นบทเพลงนี้ชื่อว่า Kansas Morning แต่งเมื่อปี 1967 ได้แรงบันดาลใจจาก Mendelssohn: Violin Concerto in E Minor Op.64 แต่เนื่องจากไม่เคยได้รับการบันทึกเสียงมาก่อน กระทั่งว่า Andrew Lloyd Webber และ Tim Rice เปลี่ยนโปรเจคมาทำ Jesus Christ Superstar เลยปรับเปลี่ยนคำร้อง/ชื่อเพลงใหม่ กลายเป็น I Don’t Know How to Love Him ขับร้องโดย Yvonne Elliman

บทเพลงนี้ถือเป็น Torch Ballad เพลงรักที่มีความอ่อนไหว สะท้อนการไม่สมหวัง ‘unrequited love’ รักต้องห้ามของ Mary Magdalene ต่อ Jesus Christ พรรณนาห้วงอารมณ์ทั้งยินดีและโศกเศร้า ไม่รู้จะทำเช่นไรต่อความรู้สึกนี้ดี

เกร็ด: เห็นว่าตอนที่ Elliman เข้าห้องอัดบันทึกเสียงร้องบทเพลงนี้ แค่เพียงครั้งเดียวผ่าน ถือว่าไม่ธรรมเลยนะ!

นอกจาก I Don’t Know How to Love Him บทเพลงที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง รองลงมาคือ King Herod’s Song (Try It and See) ขับร้องโดย Josh Mostel, เริ่มต้นด้วยการยกยอปอปั้นสรรเสริญ ร้องขอให้ Jesus Christ โชว์ความสามารถ ปาฏิหารย์สุดมหัศจรรย์ตามเสียงลือเล่าขานออกมา แต่สักพักเมื่อเห็นนิ่งเงียบก็พูดจาดูถูก ถากถาง เหยียดหยาม ก็แค่กษัตริย์จอมปลอม เทียบพุงพุ้ยกับฉันได้เสียทีไหน

ผมชอบเพลงนี้เพราะท่วงทำนองมันคุ้นๆหูชอบกล แต่ยังนึกไม่ออกว่าเคยได้ยินจากหนังเรื่องไหน [Cabaret หรือเปล่านะ?] ซึ่งจังหวะหลุดหัวเราะออกมาคือตั้งแต่เริ่มเน้นคำ ‘Hey, aren’t you scared of me, Christ?’ เสียงร้อง/การแสดงออก เปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลยละ

Superstar เป็นบทเพลงที่ล้อกับตอนต้นเรื่อง Heaven on their Minds ขับร้องโดย Carl Anderson, ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถาม และเปรียบเทียบเข้ากับโลกปัจจุบัน ถ้าพระองค์ทรงมาจุติในยุคสมัยนี้ ยอดขายอัลบัมคงถล่มทลาย โด่งดังกลายเป็นตำนานไม่แตกต่างอะไรกับ ‘Superstar’

Jesus Christ! Who are you? What have you sacrificed?

ผมมองความตั้งใจของ Andrew Lloyd Webber และ Tim Rice นำเสนอ Jesus Christ Superstar จุดประสงค์เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ในวงกว้าง ด้วยวิธีการ มุมมอง โลกทัศน์ที่แตกต่าง เริ่มจากตั้งคำถามง่ายๆ พระเยซูคริสต์คือใคร? ท่านเคยกระทำอะไรถึงได้มีชื่อเสียงโด่งดัง? กับผู้ไม่เคยรับล่วงรู้มาก่อน Rock Opera เรื่องนี้ไม่มีเฉลยอะไรให้ทั้งนั้น นี่เป็นการชักชวนให้ศึกษา เรียนรู้ ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

สำหรับชาวคริสเตียน หรือผู้รับล่วงรู้เรื่องราวชีวประวัติเยซูคริสต์อยู่แล้ว Jesus Christ Superstar มีเนื้อหาคำร้องที่ชักชวนให้ตั้งคำถามเชิงเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โลกยุคสมัยนี้คำสอนของพระองค์ยังคงหลงเหลือความสำคัญ เป็นที่พึ่งพิงทางใจของมนุษย์อีกต่อไปได้หรือเปล่า?

ท่วงทำนองดนตรี Rock และท่าเต้นด้วยลีลาอันสุดเหวี่ยงเร้าใจ นี่เป็นการเปรียบเทียบ/สะท้อนเข้ากับมุมมองคนยุคใหม่ในทัศนะของ Lloyd Webber/Rice ที่ถ้าต้องการให้คำสอนของพระเยซูคริสต์มีพลัง น่าเชื่อถือ ตราตรึงในความทรงจำฝูงชน คงมีเพียงวิธีนี้เท่านั้นกระมัง สามารถกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ขยับเท้า สั่นศีรษะ โยกตัวตามไปด้วย ถึงสามารถปลูกฝั่งตราประทับลงสู่จิตวิญญาณไม่รู้ลืม

ผมก็ตั้งคำถามเหมือนกันนะว่า บทเพลงที่มีเนื้อหาใจความ คำร้องเกี่ยวกับศาสนา จริงอยู่มันสามารถตราฝังลงใจจิตวิญญาณของผู้ฟัง แต่มันจะทำให้บุคคลผู้นั้นเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงตัวเอง เลือกใช้ชีวิตในวิถีความเชื่อ ทิศทางที่เหมาะสม ได้จริงๆหรือเปล่า?… คำตอบที่ครุ่นคิดได้คือ ไม่เลยนะ

Jesus Christ Superstar ไม่ใช่ Rock Opera หรือภาพยนตร์ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงอะไรโลกได้ทั้งนั้น มากสุดคือสร้างความสนใจ เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ผู้ฟัง/ชม และยุคสมัยนี้อะไรๆมันหมุนเร็วชิบหาย ต่อให้โด่งดังค้างฟ้าแค่ไหน ไม่กี่เดือนถัดมาก็สามารถกลายเป็นหมาหัวเน่าได้โดยทันที (ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน)

สำหรับความตั้งใจของ Norman Jewison สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าสนองศรัทธาของตนเองที่เป็นโปรแตสแตนท์ (คือถ้าผู้กำกับเป็นคาทอลิกเคร่งครัด การันตีเลยว่าคงไม่มีวันสร้างหนังเรื่องนี้แน่ๆ) ไม่ยึดติดตนเองกับรูปแบบ วิถีทางดั้งเดิม อะไรมีความแตกต่างท้าทาย สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้โดยง่ายมันจึงคุ้มที่จะเสี่ยง และผลลัพท์เมื่อประสบความสำเร็จ มันจึงเป็นความภาคภูมิใจเล็กๆ ได้ทำบางสิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ โลกของเรา

ด้วยทุนสร้างประมาณ $3.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $24.5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว แถมได้เข้าชิง Oscar: Best Music, Scoring Original Song Score and/or Adaptation พ่ายให้กับ The Sting (1973)

การแสดง Rock Opera ของ Jesus Christ Superstar ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงถึงปัจจุบัน ล่าสุดปี 2018 โดย John Legend รับบท Jesus Christ, เมื่อไทยเราก็กำลังจะมีเหมือนกันนะ ช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019
– ป๊อบ ชัยพร พวงมาลี รับบทพระเยซู
– เพียว เอกพันธ์ (The Voice) ในบท Judas
– และแอธาลี เดอ โคนิ่ง ในบท Mary Magdalene

ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจหลายบทเพลง หลากอารมณ์ ไดเรคชั่นของ Norman Jewison และถ่ายภาพสวยๆ ทิวทัศนียภาพกว้างใหญ่สุดลูกหูตา

แนะนำคอเพลง Rock ชื่นชอบหนังแนว Musical ท่าเต้นมันส์ๆ ลีลาจัดจ้าน ประกอบทิวทัศนียภาพสวยๆ, ชาวคริสเตียนทั้งหลายลองเปิดใจให้กว้าง แยกให้ออกระหว่างศรัทธากับงานศิลปะ, แฟนๆผู้กำกับ Norman Jewison ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับการเต้นที่สุดเหวี่ยงเร้าใจไปเสียหน่อย

คำโปรย | “Jesus Christ Superstar เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติเยซูคริสต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับซุปเปอร์สตาร์!”
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ค่อนข้างชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: