Forbidden Games

Jeux interdits (1952) French : René Clément ♥♥♥♥

พ่อแม่ถูกยิงเสียชีวิตช่วงระหว่างสงคราม เด็กหญิงวัยห้าขวบยังไม่รู้ด้วยซ้ำจะร้องไห้ ดีใจ แสดงออกอย่างไร เก็บภาพทรงจำตราฝังลึกจิตใจ สร้างโลกใบเล็กๆ เกมต้องห้าม ‘Forbidden Games’ เพื่อหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Forbidden Games คือภาพยนตร์ Wars Drama ที่คลุกเคล้าไปด้วยบรรยากาศแห่งความเศร้าหดหู่ เด็กหญิงสูญเสียครอบครัวไปตั้งแต่ฉากแรกๆ แต่ชีวิตเธอราวกับกำลังได้พบเจอเรื่องดีๆให้ชุ่มชื่นชื้นใจ กระทั่งตอนจบเมื่อเกิดความตระหนักขึ้นได้ ความโศกจะถาโถมทะลักเข้าใส่ อาจเกิดอาการจิตตก นั่งหงอยซึม ไร้เรี่ยวแรงเป็นวันๆ

เกมต้องห้ามของเด็กหญิง(และเด็กชาย) คือการละเล่นกับความตาย พวกเขายังไม่โตพอรับรู้ความแตกต่างระหว่าง มนุษย์-สัตว์ ครุ่นคิดว่ามันก็เหมือนกันนะแหละ! แต่ในวิถีความเชื่อของชาวตะวันตก นั่นเป็นสิ่งยินยอมรับไม่ได้ มนุษย์คือผู้ประเสริฐ สัตว์คือเดรัจฉาน เราไม่ควรปฏิบัติด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม

คงมีแต่พุทธศาสนากระมังที่สอนสั่งว่า มนุษย์และสัตว์โลกต่างประกอบด้วยขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ต่างว่ายเวียนวนทนทุกข์ ชดใช้กรรมอยู่ในวัฎฎะสังสาร เราจึงควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเสมอภาคเท่าเทียม

และเพื่อสร้างบรรยากาศในการอ่านบทความนี้ แนะนำให้ฟังบทเพลงประกอบหนึ่งเดียวของหนัง Romance Anónimo (แปลว่า Anonymous Romance) ไม่รู้ใครแต่ง แต่ได้รับการสืบทอดสานต่ออย่างยาวนาน ว่ากันว่าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แถวๆสเปนไม่ก็อเมริกาใต้ ซึ่งหนังเลือกฉบับดีดกีตาร์โดย Narciso Yepes (1927 – 1997) นักกีตาร์ระดับเซียนสัญชาติ Spanish ถ่ายทอดความสั่นไหว ลุ่มร้าวลึก สะท้อนจิตใจของเด็กหญิง อยากแสดงบางสิ่งออกมาแต่ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าคืออะไร

René Clément (1913 – 1996) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bordeaux, โตขึ้นเข้าเรียนสถาปัตยกรรม École des Beaux-Arts แต่เกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ เริ่มจากกำกับหนังสั้น Soigne ton gauche (1936) นำแสดงโดย Jacques Tati ตามด้วยสารคดี ถ่ายทำยังต่างประเทศ (เพื่อหลบหนีสงครามโลกครั้งที่สอง) กลับมากำกับ La Bataille du rail (1945) ประสบความสำเร็จถล่มทลาย เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Jury Prize และ Best Director, ผลงานเด่นๆถัดมา อาทิ Au-delà des grilles (1949), Jeux interdits (1952), Monsieur Ripois (1954), Gervaise (1956), Paris brûle-t-il? (1966) ฯ

ดัดแปลงจากนวนิยาย Jeux interdits (1947) แต่งโดย François Boyer (1920 – 2003) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ตอนแรกพัฒนาไว้เป็นบทภาพยนตร์ แต่ไม่มีสตูดิโอไหนสนใจเลยปรับเปลี่ยนสู่นิยาย ขายไม่ค่อยได้ในบ้านเกิดแต่กลับถล่มทลายยังสหรัฐอเมริกา เข้าตาผู้กำกับ René Clément เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง

จริงๆจะเอาบทหนังที่ Boyer เขียนไว้เลยก็ยังได้ แต่ Clément เลือกจะนำเสนอความแตกต่างสักเล็กน้อย มอบหมายให้สองยอดฝีมือ Jean Aurenche (1903–1992) และ Pierre Bost (1901 – 1975) ร่วมกันพัฒนาบทดัดแปลง ทีแรกตั้งใจทำเป็นแค่หนังสั้น คัดเลือกนักแสดงถ่ายทำเสร็จสรรพแล้วละ แต่หลังจาก Jacques Tati มีโอกาสรับชม พูดบอกผลักดัน ทำเป็นหนังยาวดีกว่าไหม? เก็บมาครุ่นคิดตัดสินใจ เอาก็เอาว่ะ!

เรื่องราวเริ่มต้นเดือนมิถุนายน 1940 ระหว่างยุทธการที่ฝรั่งเศส ทหารนาซีกำลังบุกเข้ายึดกรุง Paris ทำให้ประชาชนต่างหลั่งไหลหลบหนีสู่ชนบทห่างไกล, เด็กหญิงอายุ 5 ขวบ Paulette (รับบทโดย Brigitte Fossey) สูญเสียพ่อ-แม่ และสุนัขตัวโปรดไปกับการถูกโจมตีทางอากาศ ระหว่างออกเดินร่อนเรเรื่อยเปื่อยพบเจอเด็กชายวัย 10 ขวบ Michel Dollé (รับบทโดย Georges Poujouly) ให้ความช่วยเหลือ นำพาไปที่บ้าน เลี้ยงดูปูเสื่อ จนเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ อาสาฝังศพสุนัขให้ ประดับประดาด้วยไม้กางเขนสวยหรู แต่ด้วยความไม่รู้ของสองเด็ก ทำให้ผู้ใหญ่ของสองบ้านผิดใจกัน และเมื่อถึงวันทหารกาชาดมารับพาตัวเด็กหญิงไป อนาคตความเพ้อฝันของพวกเขาก็ได้พังทลายย่อยยับลง


นำแสดงโดย Brigitte Fossey (เกิดปี 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Tourcoing, Nord แม่เป็นครูสอนหนังสือ เมื่อพบเห็นโฆษณาคัดเลือกนักแสดงเด็ก เลยตัดสินใจส่งลูกสาววัยเพียง 5 ขวบเข้าทดสอบหน้ากล้อง ได้รับคัดเลือกแสดงนำ Forbidden Games (1952) ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องติดต่อมา พออายุ 10 ขวบ ครอบครัวเลยสั่งห้ามชั่วคราวให้เรียนหนังสือจนจบก่อน แต่ด้วยความชื่นชอบด้านนี้โตขึ้นเข้าเรียนต่อ Studio d’Entrainement de l’Acteur มีผลงานเด่นๆอีกหลายเรื่อง อาทิ Le Bon et les méchants (1976), L’homme qui aimait les femmes (1977), Les Enfants du placard (1978), Die gläserne Zelle (1978), Cinema Paradiso (1988) [ออกเฉพาะฉบับ Extented ในบท Elena Mendola วัยผู้ใหญ่]

รับบท Paulette เด็กหญิงที่ยังอ่อนวัยไร้เดียงสาต่อชีวิต ไม่ล่วงรู้ว่าความตายคืออะไร มนุษย์-สัตว์แตกต่างกันตรงไหน ศาสนา ศรัทธา ความเชื่อ? ด้วยเหตุนี้เมื่อพบเจอความสูญเสียต่อหน้าต่อตา เลยไม่รู้ว่าจะแสดงออก อารมณ์ความรู้สึกเช่นใด กระทั่งพบเจอสนิทสนม Michael ค่อยๆเรียนรู้สิ่งต่างๆ ร่วมกันสร้างโลก/เกมแห่งความสนุกสนานผ่อนคลาย นำพาตนเองหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน แต่แล้วทุกสิ่งอย่างก็พังทลายลง เมื่อเธอเติบโตขึ้นอีกนิดแล้วตระหนักได้ ไม่มีอีกแล้วพ่อแม่หรือแม้แต่ Michael ให้ปลอบประโลมจิตใจ

ด้วยวัยเพียง 5 ขวบ เชื่อได้เลยว่า Fossey ยังไม่ล่วงรับรู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังทำอะไร? เรื่องราวเป็นอย่างไร? ร้องไห้ไปทำไม? แค่แสดงออกตามคำขอผู้กำกับ Clément แต่กลับมีความสมจริง เป็นธรรมชาติ จับต้องได้อย่างทรงพลัง ทำเอานักแสดงเด็กฝั่ง Hollywood สมัยนั้นอย่าง Shirley Temple, Judy Garland, Jane Withers ดูเป็นเด็กน้อยไปเลยละ

Fossey จดจำการทำงานจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ฉากระเบิดบนสะพานต้นเรื่องพบเห็นครั้งแรกสร้างความตื่นตระหนก หวาดสะพรึงกลัวเป็นอย่างมาก! ผู้กำกับชอบถ่ายโน่นนี่นั่น เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเสียทุกสิ่งอย่าง เวลาดีใจ/ร้องไห้ ก็มักให้ ‘a little more’ ไม่ก็ ‘a little less’ จนเกิดความพอดิบพอดีในการแสดง … นี่ประมาณว่า Clément มีภาพที่ต้องการในใจอย่างชัดเจน และกำกับนักแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ

สำหรับเด็กชาย Georges Poujouly (1940 – 2000) เกิดที่ Garches, Hauts-de-Seine หลังจากได้รับเลือกให้แสดงนำ Forbidden Games (1952) ก็มีผลงานตามมาอีกมากมาย อาทิ We Are All Murderers (1952), The Treasure of Bengal (1954), Les Diaboliques (1955), Ascenseur pour l’échafaud (1958) ฯ แต่พอเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผันตัวสู่วงการโทรทัศน์ และเป็นนักพากย์ โด่งดังกับเสียงของ Tintin, อนิเมะ The Lord of the Rings (1978) และ Robinson et compagnie (1991)

รับบท Michel Dollé อายุ 10 ขวบ ที่พอพบเจอ Paulette ครุ่นคิดหมือนน้องสาว (น่าจะยังไม่ถึงขั้นแฟนนะ) กลายเป็นเพื่อนเล่น สนิทสนม อาสาทำโน่นนี่นั่นแทนเธอ ร่วมกันสร้างโลก/เกมต้องห้าม จากความไม่รู้เดียงสา ด้วยเหตุนี้จึงถูกผู้ใหญ่เข้าใจผิด ตำหนิต่อว่าใช้ความรุนแรง และเมื่อถูกโต้ตอบกลับด้วยการส่ง Paulette สู่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หงุดหงิดหัวเสีย ยินยอมรับไม่ได้กับสิ่งที่บังเกิดขึ้น

แม้หนังจะมีการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของ Michel-Paulette ไม่แตกต่างจากคู่รัก (พี่สาว-หนุ่มเพื่อนบ้าน) แต่ด้วยวัยยังไร้เดียงสา ทำให้พวกเขาคือเพื่อนเล่นรักสนุกเสียมากกว่า ร่วมสร้างโลกในความเข้าใจของพวกเขา เพื่อหลบลี้หนีจากโลกความจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย

ความสามารถของ Poujouly ถือว่าเกินวัยเช่นกัน ภาพลักษณ์เป็นเด็กเกเร หัวขบถ ไม่ชอบฟังคำสั่งของผู้ใหญ่ ครุ่นคิดทำอะไรด้วยความเข้าใจของตนเองเท่านั้น ซึ่งพอเข้าคู่กับ Fossey น้องสาวราวกับนางฟ้า ปรนเปรอปรนิบัติ ให้ความช่วยเหลือทำตามทุกสิ่งอย่าง ต้องการเป็นพี่ชายแสนดี แต่ขณะเดียวกันอยากจะครอบครองเป็นเจ้าของเธอ (ถ้าได้เติบโตขึ้นด้วยกัน เชื่อเถอะว่าสักวันต้องได้ครองคู่แต่งงาน)


ถ่ายภาพโดย Robert Juillard (1906 – 1982) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Germany, Year Zero (1948), Forbidden Games (1952), The Count of Monte Cristo (1954) ฯ

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง แถวๆ Alpes-Maritimes และ Alpes-de-Haute-Provence ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส
– สะพานต้นเรื่อง Ancien Pont Romain ข้ามแม่น้ำ Verdon ปัจจุบันจมใต้บาดาล กลายเป็นทะเลสาป Sainte-Croix
– ฉากสุดท้ายของหนังยังวิหาร Abbaye Notre-Dame du Val จังหวัด Val-d’Oise

แทบทุกช็อตที่เป็นการ Close-Up ใบหน้าของเด็กหญิง สังเกตว่าจะมีแสง Back-light สาดส่องจากด้านหลัง ทำให้ทรงผมดูฟุ้งๆเป็นประกาย ดูราวกับเทพธิดานางฟ้า ล่องลอยอยู่ในโลกเพ้อฝันแฟนตาซีเพ้อฝันของตนเอง

การจัดแสงของหนังอาจดูไม่เป็นธรรมชาติสักหน่อย นี่หาใช่ข้อจำกัดยุคสมัย แต่เหมือนความจงใจผู้กำกับ เพื่อให้ผลลัพท์ออกมาเว่อเกินจริง ราวกับความเพ้อฝันแฟนตาซีของเด็กน้อย

การจัดวางองค์ประกอบ นักแสดงในเฟรม ทิศทางมุมกล้อง หลายครั้งมีความน่าสนเท่ห์ แปลกตา แต่ครบถ้วนในทุกสิ่งอย่างที่ต้องการนำเสนอ, อย่างช็อตนี้พบเห็นสมาชิกทุกคนในครอบครัวรายล้อมอยู่รอบเตียง คล้ายๆสไตล์ Ozu สามารถไล่เรียงลำดับความสำคัญ พ่อ-แม่-ลูกชายคนรอง-ลูกสาวคนเล็ก เด็กชายสวดภาวนาอธิษฐานอยู่ข้างๆ และเด็กหญิง Paulette ผู้ไม่มีความสนิทชิดเชื้ออะไรกับครอบครัวนี้ ยืนปลายเตียงหันหลังให้ภาพ

ไฮไลท์ของหนังมี 2 ช็อตเจ๋งๆ, พ่อมีเรื่องทะเลาะชกต่อยกับเพื่อนบ้าน ณ สุสานข้างโบสถ์ แล้วพลัดตกลงไปในหลุมฝังศพ, นี่ไม่ใช่แค่ Comedy ชวนหัว แต่ยังสะท้อนกึกก้องกับการสู้รบสงครามของสองประเทศ(มหาอำนาจ) ความขัดแย้งที่ไร้สาระ นำพาให้พวกเขาสมควรถูกฝังทั้งเป็นอย่างยิ่ง

และช่วงท้าย Michel นำสร้อยคอของ Paulette ฝากฝังไว้กับนกฮูก หลังจากพบเห็นควันจากท่อไอเสีย แสดงว่ารถทหารกำลังนำเธอจากไปชั่วนิรันดร์, ความน่าสนใจของฉากนี้ คือไม่นำเสนอภาพการร่ำลาของเด็กหญิงที่ชวนให้ซึมเศร้าเคล้าน้ำตา เลี่ยงเปลี่ยนมาที่เด็กชายแสดงความเกรี้ยวกราดโกรธ แล้วทิ้งเกล็ดขนมปังไว้ ให้ผู้ชมติดตามคาดเดาว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยตนเอง

ตัดต่อโดย Roger Dwyre สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของผู้กำกับ Jules Dassin ผลงานเด่นๆ อาทิ Rififi (1955), Topkapi (1964) ฯ

นอกจากอารัมบทและปัจฉิมบทที่ดำเนินเรื่องผ่านสายตาของ Paulette นอกจากนั้นช่วงเวลาอาศัยอยู่กับครอบครัว Dollé ดำเนินเรื่องผ่านสายตาของ Michel ทั้งหมด (แต่จักพบเห็น Paulette แทบจะตลอดเวลา) ราวกับว่าเด็กชายได้กลายเป็นโลกทั้งใบของเด็กหญิง

เพราะความสนใจของเด็กๆมักไม่ค่อยตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้น หลายครั้งจึงมักนำเสนอเหตุการณ์คู่ขนาน เพื่อสะท้อน เปรียบเทียบ ตั้งคำถามความแตกต่าง อาทิ
– Paulette สนเพียงสุนัขที่ตนเลี้ยง ขณะที่พ่อ-แม่ นอนราบหลบกระสุนจากเครื่องบิน
– พี่ชายกำลังจะหมดสิ้นลมหายใจ แม้ปากของ Michel พร่ำบทสวด แต่สายตาและมือกลับหิวโหยหยิบกินขนมปัง
– พี่สาวกำลังพรอดรักกับหนุ่มบ้านข้างๆ ถูกพบเห็นโดย Paulette และ Michel แต่ก็มิได้ใคร่สนใจอะไร
– งานศพกำลังดำเนินไป แต่ทั้ง Paulette & Michel สายตากลับจับจ้องมองไปรอบๆ พูดคุยกระซิบกระซาบแบบไม่ใคร่สนอะไร
ฯลฯ

นอกจากนี้ หนังยังมีความโดดเด่นกับการร้อยเรียงภาพ Montage เพื่อเร่งรวบรัดกระชับเวลา และจัดรวมกลุ่มสิ่งต่างๆเหล่านี้ว่าคือพรรคพวกเดียวกัน

ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อพบเห็นการสูญเสียแบบต่อหน้าต่อตา ย่อมตราตรึงกับภาพและจดจำฝังลึกภายในจิตใจ! สำหรับผู้ใหญ่เพราะเคยผ่านประสบการณ์ รับรู้จักความสูญเสีย สิ่งเกิดขึ้นถัดไป จึงสามารถแสดงออกร่ำร้องไห้ เสียน้ำตา กรีดกรายคลุ้มคลั่ง แต่เด็กเล็กเยาว์วัยไร้เดียงสา ความตายคืออะไร?? เกิดความฉงนสงสัย มิอาจเข้าใจ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกมาได้

Forbidden Games ถึงจะนำเสนอมุมมองของเด็กๆไร้เดียง กลับสะท้อนกึกก้องกับ ‘เกมสมคราม’ ที่บรรดาพวกผู้ใหญ่รบราเข่นฆ่าฟัน ราคาชีวิตมนุษย์แทบไม่ต่างอะไรกับหมูหมากาไก่ แล้วยังสรรหาข้ออ้าง เราคือผู้ประเสริฐแตกต่างจากเดรัจฉานได้อีกหรือ

ใครกันแน่ที่กำลังเล่นเกมต้องห้าม? เด็กๆสองคนทำในสิ่งแค่ฝังศพสรรพสัตว์ที่หมดสิ้นลมหายใจ แต่สงครามผู้ใหญ่คือความขัดแย้ง ต่อสู้ ทำลายอีกฝั่งให้ดับสิ้นสูญ แล้วกลบฝังอย่างสมเกียรติ ภาคภูมิ ทั้งๆสาเหตุการตายกลับโคตรจะไร้สาระ (ลูกชายคนโตถูกม้าขวิดโง่ๆ เสียชีวิตจากอาการบอบช้ำภายใน)

จินตนาการเพ้อฝันของเด็กๆ สักวันพวกเขาจักเติบโตขึ้น ค่อยๆเรียนรู้ความหมายชีวิต พบเห็นโลกความจริงแสนโหดร้าย เข้าใจความตายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ทุกข์โศก … แม่ฉันอยู่ไหน? Michel อยู่ไหน? เมื่อไม่หลงเหลือใคร ชีวิตของเธอจักสามารถพบเจอความสุขจากสถานกำพร้าได้จริงๆนะหรือ!

เพราะความเป็นเด็กยังไม่รู้เดียงสา ทำอะไรผิดพลาดโดนตำหนิลงโทษ เสร็จแล้วก็ยังสามารถให้อภัยเลิกโกรธกันได้ แต่สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะการกระทำของพ่อตอนจบ ให้สัญญาลูกชายว่าจะไม่ส่งตัว Paulette แต่กลับเซ็นชื่อแล้วอ้างโน่นนี่นั่น กลับกลอกปอกลอกเสียเอง นี่คือสิ่งอัปยศต่ำทราม มันไม่ใช่ข้ออ้างเลี้ยงดูได้ไม่ได้ แต่สะท้อนความเห็นแก่ตัว ไร้ซึ่งศีลธรรม/มโนธรรมในการใช้ชีวิต เปรียบเทียบกับผู้นำประเทศชาติหลอกลวงประชาชน ใครไหนรับรู้ความจริงแล้วจะยังยินยอมรับได้เล่า!

ผู้กำกับ Clément ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็สรรค์สร้างภาพยนตร์มีใจความเกี่ยวกับสงคราม นำเสนอหลากหลายมุมมองสะท้อนความบัดซบชั่วร้าย เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลัง ขออย่าให้มันหวนกลับมาบังเกิดขึ้นครั้งที่สามอีกเลย


รอบทดลองฉายได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม แต่กลับไม่ได้รับคัดเลือกให้ฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ผู้จัดเลยถูกบับให้จำต้องสรรหาช่วงเวลารอบพิเศษให้ (นอกการแข่งขัน)

หลายเดือนถัดจากนั้น ผู้สร้างต้องการส่งเข้าเทศกาลหนังเมือง Venice ทีแรกผู้จัดบอกปัดปฏิเสธ เพราะเคยฉายเทศการหนังอื่นมาแล้ว แต่พอยินยอมสามารถคว้ารางวัลใหญ่ Golden Lion เอาชนะหนังอย่าง Beauties of the Night, Death of a Salesman, Europe ’51, The Life of Oharu, The Quiet Man ฯ

หลังจากนั้นก็กวาดรางวัล
– Oscar Honorary Award: Best Foreign Language Film (สมัยนั้นยังไม่สาขานี้อย่างเป็นทางการ จึงถือว่าคือรางวัลพิเศษ)
– เมื่อปี 1955 หนังได้เข้าชิง Oscar ย้อนหลังอีกสาขา Best Writing, Motion Picture Story พ่ายให้กับ Broken Lance (1954)
– BAFTA Awards: Best Film from any Source
– Bodil Awards: Best European Film
– Blue Ribbon Awards: Best Foreign Language Film
– Kinema Junpo Awards: Best Foreign Language Film
ฯลฯ

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ แม้การรับมจะเป็นประสบการณ์ที่โหดร้าย แต่มีความทรงพลังตราตรึง เจ็บจี๊ดไปถึงขั้วหัวใจ ทั้งการแสดงของเด็กหญิง Brigitte Fossey และไดเรคชั่นผู้กำกับ René Clément เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะผู้ใหญ่เพื่อให้เกิดจิตสำนึกพื้นฐาน ทุกการกระทำของเราถูกจับจ้องมองโดยลูกหลาน เด็กชายสาว ไม่ว่าจะดีชั่ว ถูกผิด เลียนแบบทั้งๆไม่เข้าใจ แสดงออกมาเมื่อไหร่เราควรต้องครุ่นคิดหาคำตอบ ทำความเข้าใจให้ได้ว่าเพราะอะไร อย่าเอาแต่โบ้ยป้ายสีใส่พวกเขาเพียงหน่ายเดียว

แนะนำคอหนัง Wars Drama ประเภทปวดตับไตไส้พุง เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กแต่ไม่เหมาะกับเด็ก สภาพฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, แฟนๆผู้กำกับ René Clément และรู้จักนักแสดง Brigitte Fossey ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศซึมสลดหดหู่ สงคราม และความตาย

คำโปรย | เกมต้องห้าม Jeux interdits ในโลกใบเล็กๆของ Brigitte Fossey ช่างมีความซึมสลดหดหู่ ตราฝังลึกจิตใจของทุกผู้ชม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: