Jodhaa Akbar (2008) : India – Ashutosh Gowariker
หนึ่งในกษัตริย์ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น “มหาราช” จักรพรรดิ์อักบัรมหาราช (Akbar the Great) แห่งจักรวรรดิโมกุล เป็นกษัตริย์มุสลิมที่ปกครองอินเดียและแต่งงานกับเจ้าหญิงฮินดู ราชปุตนาม โชธา, นี่เป็นหนังประวัติศาสตร์สุดอลังการของผู้กำกับ Ashutosh Gowariker (Lagann-2001) นำแสดงโดย Hrithik Roshan เป็นจักรพรรดิ์อักบัร และ Aishwarya Rai เป็นราชินีโชธา
นี่เป็นหนัง bollywood เรื่องที่ 2 ที่ผมได้ดู (ถัดจาก pk) ทีแรกก็ไม่ได้คิดจะเขียนรีวิวหรอกนะครับ เพราะหนังมันไม่ได้สนุกเท่าไหร่ แต่ที่เขียนก็เพราะคิดว่า นี่เป็นหนังที่สร้างความเข้าใจพื้นฐานต่อคนที่ชอบดูหนัง bollywood ได้เป็นอย่างดี และเป็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เราควรจะรู้จักไว้
อินเดียเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางศาสนาอย่างมาก พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู พราหมณ์ ซิกส์ ในสมัยก่อนมันเป็นไปไม่ได้เลยที่แต่ละศาสนาจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่มีความขัดแย้ง นี่น่าคิดว่าไฉนอินเดียปัจจุบันถึงอยู่ร่วมกันได้ (มันก็ยังมีขัดแย้งบ้างแหบะ แต่ไม่รุนแรงเท่าสมัยก่อน) คำตอบคือ กาลครั้งหนึ่งมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ให้อิสระกับประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา และตัวของพระองค์เองนับถือมุสลิม แต่งงานกับหญิงสาวที่เป็นฮินดู, นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆในสมัยก่อน คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถทำได้แน่ แต่เมื่อกษัตริย์ทำตัวเป็นแบบอย่าง มีหรือที่ประชาชนจะกล้าขัด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกันได้ของคนอินเดีย ด้วยเหตุผลนี้ทำให้พระองค์กลายเป็นที่รักของประชาชน และยกย่องท่านให้เป็น Akbar (มหาราช)
ผู้กำกับ Ashutosh Gowariker กำกับหนังแนว Epic อีกครั้งหลังจาก Lagann ผมเทียบความสามารถทางการกำกับของเขาเทียบเท่าท่านมุ้ย คือสามารถควบคุมหนังที่มีสเกลใหญ่ๆได้ แต่ไม่สามารถทำออกมาให้สนุกได้ (ท่านมุ้ยทำนเรศวรหรือสุริโยทัยถือว่าดูไม่สนุกเท่าไหร่นะครับ) ใน Jodhaa Akbar ส่วนที่ผมรู้สึกว่าโดดเด่นที่สุด คือพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่าง Jodhaa กับ Akbar ถึงนี่เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ แต่ใช่ว่าประวัติศาสตร์จะบันทึกเรื่องราวทั้งหมด ถ้าตัดการสงครามออกไป แล้วเหลือเล่าเฉพาะเรื่องราวโรแมนติกของ Jodhaa และ Akbar นี่จะเป็นหนังที่ดีใช้ได้เลย
นำแสดงโดย Hrithik Roshan ผมดูหนังของ Roshan มาหลายเรื่องแล้วนะครับ แต่ยังไม่มีโอกาสเขียนถึงเขาสักที ถึงนามสกุลจะไม่ได้ลงท้ายด้วย Khan แต่เขาก็ดังพอๆกับ 3 King Khan เลยนะครับ, Roshan เป็นนักแสดงที่มีค่าตัวสูงเกือบที่สุดของ bollywood (เป็นรองแค่ Salman Khan เท่านั้นเมื่อปี 2015 ค่าตัว 60 crore) การแสดงของเขาก็ถือว่าไม่ธรรมดา ผมเคยเห็นเขาครั้งแรกได้จาก Dhoom 2 และ Krrish ถ้าไม่ติดว่าเขามักจะเล่นหนัง mainstream เราคงเห็นเขารับบทที่หลากหลายกว่านี้, สำหรับ Jodhaa Akbar ผมรู้สึก Roshan เป็นตัวเลือกที่ใช่ แม้จะดูไม่น่าเกรงขามเท่าไหร่ แต่เป็นคนที่ใช้สมองมากกว่าใช้กำลัง เสียอย่างเดียวคือ หนวดพี่แกประหลาดมาก ไม่รู้ประวัติศาสตร์จริงๆ Akbar ไว้หนวดแบบนั้นจริงๆเหรอ
Aishwarya Rai รับบทราชินี Jodhaa, ชื่อของ Aishwarya Rai คนไทยคงรู้จักกันเยอะ เคยชนะการประกวด Miss World เมื่อปี 1994 และครึ่งหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหญิงที่สวยที่สุดในโลก, ตอนเล่นเป็น Jodhaa เธออายุ 30+ กว่าๆ จริงๆถือว่าแก่เกินไปเสียหน่อย ทั้งๆที่ Jodhaa ควรจะอายุแค่ 20 ต้นๆ กระนั้นผมคิดว่าเธอก็เหมาะสมกับบทนะครับ เพราะมีพลังการแสดง (Charisma) ที่สามารถพูดคุย ต่อกรกับจักรพรรดิ์ Akbar ได้อย่างเสมอเกียรติ ซึ่งถ้าได้นักแสดงที่เด็กกว่านี้ คงเทียบรัศมีกับ Roshan ไม่ติดได้แน่ๆ, เรื่องราวกุ๊กกิ๊กของคู่พระนาง เป็นไปในแบบ แม่งอนพ่อง้อ เล่นตัวไปตลอดเรื่อง
ในประวัติศาสตร์เห็นว่า Jodhaa เป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งกันกันอยู่ บ้างก็ว่าเธอไม่ได้แต่งงานกับ Akbar แต่เป็นแต่งกับ Jahangir ที่เป็นลูกชายของ Akbar ซึ่งผู้กำกับได้อ้างว่า Jodhaa มาจาก Jodha Bai ซึ่งเป็นอีกชื่อเรียกของ Mariam-uz-Zamani สวามีคนแรกของ Akbar
ถ่ายภาพโดย Kiran Deohans, ภาพภายในของหนังมีความสวยสดงดงามมากๆ ออกแบบฉากได้อลังการงานสร้าง การจัดวางองค์ประกอบเห็นเป็นเส้นสวยงาม แต่ฉากสงครามกลับดูไม่ค่อยอลังการในระดับที่ควรเป็น, Deohans ถือว่าเป็นตากล้องที่มีฝีมือมากๆคนหนึ่ง ผมชื่นชอบแนวคิดของเขาต่อวงการภาพยนตร์ bollywood ที่มีช่วงหนึ่งที่เขา excile ตัวเองจากงานภาพยนตร์ เพราะไม่ชอบแนวคิดของผู้สร้างหนังสมัยนั้น ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพเท่าที่ควร 10 กว่าปีที่ไม่ได้เป็นตากล้องถ่ายหนัง กลับมาฝีมือของเขายกสุดยอดขึ้นไปอีก (10 ปีนั้นไปเป็นตากล้องให้กับงานโฆษณา)
โทนสีของหนัง ฉากภายในราชวังจะสีเหลืองทองอร่าม (มีฉากหนึ่งที่สะท้อนแสงอาทิตย์สาดส่องสวยงามมากๆ) ส่วนฉากภายนอก สงครามจะเป็นสีขาวเย็น แต่มันชัดเจนไปหน่อยตรงเสื้อผ้า ขาวvsดำ มันเลยดูตลกๆ ไม่สมจริงเท่าไหร่ (CG ถือว่าเนียลนะครับ แต่ดูฝืนๆธรรมชาติไปนิด)
ปัญหาความอลังการของฉากสงคราม อาจเพราะปัจจัยเรื่องงบประมาณ และการมีหนังให้เปรียบเทียบอย่าง Lord of the Ring ซึ่งหนังที่มีฉากสงครามสร้างขึ้นจากปี 2003 ทุกเรื่อง ยังไงต้องได้รับการเปรียบเทียบ ถ้างบประมาณมีจำกัด ก็ไม่มีทางหรอก ที่หนังจะออกมาอลังการกว่า LOTR
ตัดต่อโดย Ballu Saluja ขาประจำของ Gowariker ใน Lagann เขาตัดต่อได้ยอดเยี่ยมมากๆ มีจังหวะเจ๋งๆมากมาย แต่ใน Jodhaa Akbar ผมกลับรู้สึกมันอืดอาด ยืดยาดไปหน่อย, หนังยาว 213 นาที ยาวเกินไปมากๆ ใส่รายละเอียดยิบย่อยเยอะแยะไปหมด นี่อาจต้องโทษผู้กำกับมากกว่าที่ไม่ยอมตัดประเด็นเล็กๆของหนังทิ้งไปเลย อย่างฉากต่อสู้สุดท้าย พี่แกเล่นปล้ำกันเกินกว่า 10 นาที ดูคนสองคนสู้กันนานๆก็เบื่อนะครับ ผมหาวแล้วหาวอีก และหนังไม่มีจังหวะต่อสู้ลุ้นระทึกที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจเสียเท่าไหร่ (มีแค่ ลุ้นว่าเมื่อไหร่ Jodhaa จะยอม Akbar)
เพลงประกอบโดย A.R. Rahman การันตีความไพเราะเพราะพริ้งได้เลยแต่ ผมคิดว่าพี่แกทำเพลงแนว Romance ได้ดีกว่า Epic นะ เหมือนมันยังอลังการไม่สุดเท่าไหร่, เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดียคลาสสิกจัดเต็ม เน้นกลองกับเครื่องเป่าสร้างความอลังการ, ผมเลือก Azeem O Shan, Shahenshah มาให้ฟังนะครับ เพลงนี้ใช้ตัวประกอบเยอะมาก เห็นว่ากว่า 1,000 คน เสื้อผ้า หน้าผม สีสันสวยสด กล้องเคลื่อนไหวได้อลังการมาก (ว่าไปอาจอลังกว่าฉากสงครามอีก) ความหมายดีด้วย ลองไปฟังดูนะครับ
แล้วอะไรกันคือปัญหาของ Jodhaa Akbar ที่ทำให้มันไม่ยอดเยี่ยมในระดับที่ควรเป็น? ผมคิดว่ามุมมองการนำเสนอยังไม่น่าสนใจ และการเล่าเรื่องที่ยืดเยื้อเกินไป ทำให้ไม่สามารถสร้างอารมณ์ในฉากสำคัญๆของหนังได้, ปัญหาแบบนี้คล้ายกับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เลยนะครับ ผมยอมรับในความสามารถการคุมงานและการสร้างของผู้กำกับ ทั้ง Gowariker และท่านมุ้ย แต่การยัดเยียดทุกสิ่งอย่างใส่เข้ามา บางทีมันก็มากเกินไป กับหนังแนวนี้ นี่เหมือนเป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์มากกว่าภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเสียอีก
อาจมีคนสงสัย อินเดียสมัยนั้น ชาวพุทธหายไปไหน ทำไมเห็นแต่อิสลามกับฮินดู? คำตอบคือ พุทธเราถูกไล่ที่ไปแล้วนะครับ คงเพราะมีพุทธศาสนาเดียวกระมังที่ในช่วงเวลาสงครามศาสนา เราไม่ชอบความขัดแย้ง ไม่ต่อสู้ใคร ถูกคนศาสนาอื่นมาบีบไล่ที่ ส่วนใหญ่ก็โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่เปลี่ยนศาสนาเพื่อความอยู่รอดก็อพยพหนีไปอยู่ที่อื่น เห็นว่าข้ามไปอยู่เกาะศรีลังกา พุทธศาสนาในดินแดนภารตะตอนนั้นจึงหมดสิ้นไปแล้ว
แค่การแต่งงานข้ามศาสนา ก็ทำให้จักรพรรดิ์อักบัร กลายเป็น อักบัรมหาราช ไปเลยเหรอ? ในประวัติศาสตร์ไม่รู้นะครับ แต่ความคิดผมแค่นั้นก็เหลือเฟือแล้ว เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆของทั้งสองศาสนา ที่ไม่รู้กี่ร้อยหรืออาจจะหลักพันปีที่อิสลามต่อสู้กับฮินดูมาโดยตลอด เพราะความเชื่อในพระเจ้าที่ต่างกัน ไม่มีทางที่คนจากสองศาสนาจะแต่งงานกันได้ ต่อให้รักกันแค่ไหนก็เถอะ, ซึ่งเมื่อกษัตริย์ Akbar ทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง สิ่งที่ไม่เคยเป็นไปได้ กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ผลกระทบมันอาจไม่เห็นผล ณ ขณะนั้น แต่เมื่อคนต่างศาสนาได้รับอิสระให้อยู่ร่วมกันได้ นี่คือก้าวแรกที่สำคัญ เมื่อเริ่มมีคนพูดว่า ‘กษัตริย์ยังทำได้ แล้วทำไมประชาชนจะทำไม่ได้’
ตอนผมดูหนังเรื่อง The Birth of the Nation มันบางสิ่งอย่างคล้ายๆกับหนังเรื่องนี้ คือ คนขาวไม่ยอมรับการแต่งงานกับคนผิวสี นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความขัดแย้งของความแตกต่าง ที่ก็ไม่รู้กี่ร้อยกว่าปีของความขัดแย้ง กว่าผู้คนจะ’เริ่ม’ยอมรับกันได้, ปัจจุบันความแตกต่างนี้ลดลงไปมาก แต่ก็ไม่ได้หมดไปนะครับ ไม่มีทางที่ความขัดแย้งเรื่องศาสนา/สีผิว ของมนุษย์จะยุติลงได้ แต่มันก็อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงที่สุดเหมือนแต่ก่อนแล้ว
มีข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ เพราะ Akbar แปลว่า the great อยู่แล้ว คำว่า Akbar the great เลยดูแปลกๆ คนที่เถียงเพราะมองว่า Akbar ไม่ great จริง … ยอมกับคนเถียงเลยละครับ การจะเรียกใครว่ามหาราช มันไม่ใช่แค่ชื่อที่แปลว่ามหาราชแน่นอน, ในหนังคำว่า Akbar เป็นชื่อที่ประชาชนมอบให้ท่านนะครับ หลังจากที่พระองค์แต่งงานกับพระนาง Jodha ได้ยกเลิกกฎที่ชาวฮินดูต้องเปลี่ยนมานับถืออิสลาม, ให้อิสระในการนับถือศาสนา, ยกเลิกการเก็บภาษีของชาวฮินดูที่มาแสวงบุญในเมือง ฯ นี่เป็นผลงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากๆ สมควรอย่างยิ่งแล้วกับ ‘มหาราช’ ที่ประชาชนยกให้
ผมอ่านเจอว่าช่วงบั้นปลายชีวิตพระองค์พยายามสถาปนาศาสนาใหม่ Din-e-Illahi เพื่อรวมพิธีกรรมของฮินดูกับอิสลามเข้าด้วยกัน จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งด้วยกันอีก น่าเสียดายที่ทำไม่สำเร็จ และพระองค์เสียชีวิตไปเสียก่อน ถ้าสองศาสนานี้เกิดรวมกันได้สำเร็จจริงๆ ความขัดแย้งทางศาสนาคงจะลดลงไปมากกว่านี้อีก
แนะนำหนังเรื่องนี้กับคอหนัง bollywood, คนชื่นชอบประวัติศาสตร์ งานภาพสวย(เกือบ)อลังการ เพลงเพราะๆ และการแสดงของ Roshan และ Rai ที่เคมีเข้ากันสุดๆ
จัดเรต 13+ หนังไม่รุนแรงมาก แต่ขนาดยาว เด็กๆดูคงหลับสบาย
คำโปรย : “Jodhaa Akbar ทำให้จักรพรรดิ์อักบัร กลายเป็น มหาราช แต่หนังยังห่างไกลคำว่ายิ่งใหญ่”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : SO-SO
Leave a Reply