Johnny Guitar (1954)
: Nicholas Ray ♥♥♥♥
นี่คือหนัง Western ที่ไม่ใช่หนัง Western ถึงขนาด François Truffaut ขณะนั้นยังเป็นนักวิจารณ์ Cahiers du cinéma แสดงความคิดเห็นว่า ‘a phony Western’ เพราะเนื้อในใจความ ต้องการสื่อถึงเหตุการณ์ล่าแม่มด Hollywood Blacklist
ผมค่อนข้างเชื่อว่าคอหนัง Western น่าจะตระหนักถึงความแปลกประหลาด พิศดารของ Johnny Guitar (1954) พบเห็นหลายๆองค์ประกอบผิดธรรมชาติแนวนี้โดยสิ้นเชิง แค่ชื่อก็ชวนให้ขมวดคิ้ว (หนัง Western มันต้องยิงๆกันไม่ใช่หรือ แล้วกีตาร์นี่มันอะไร?) รับชมไปเรื่อยๆจะรู้สึกว่านาย Johnny ไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง (John Crawford โดดเด่นกว่าใครเพื่อน) หรือนี่เราถูกลวงหลอกให้เข้าใจผิดมาตั้งแต่ต้น!
“There was theatre (Griffith), poetry (Murnau), painting (Rossellini), dance (Eisenstein), music (Renoir). Henceforth there is cinema. And the cinema is Nicholas Ray.”
– Jean-Luc Godard
รับชม Johnny Guitar ทำให้ผมระลึกถึงคำพูดประโยคนี้ของ Jean-Luc Godard เป็นความเข้าใจที่ไม่ผิดเลย เพราะผู้กำกับ Nicholas Ray ได้สร้างสิ่งที่มีเฉพาะแต่ ‘ภาพยนตร์’ เท่านั้นถึงสามารถนำเสนอออกมาได้
นอกจากไฮไลท์ในส่วนเนื้อเรื่องราวแฝงนัยยะซ่อนเร้นบางอย่าง หนังยังโดดเด่นกับการเลือกใช้เฉดสีสันที่ฉูดฉาด, บทสนทนาเต็มไปด้วยความยียวนกวนประสาท, ดนตรีเพราะๆ และเบื้องหลังการทำงานของ Joan Crawford เกาเหลา/ขัดแย้ง Sterling Hayden และ Mercedes McCambridge ถึงขนาดรายแรกให้สัมภาษณ์
“There is not enough money in Hollywood to lure me into making another picture with Joan Crawford. And I like money”.
– Sterling Hayden
Nicholas Ray ชื่อจริง Raymond Nicholas Kienzle (1911-1979) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Wisconsin ในบริเวณที่เต็มไปด้วยเด็กเกเร เที่ยวกลางคืน ซิ่งรถ ติดเหล้าเมายา ซึ่งเด็กชายก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของนักท่องรัตติกาล ‘Nightlife’ แห่งยุค Al Capone, เพราะเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่มีความสามารถด้านการพูดในที่สาธารณะเลยได้ทุนเลือกเข้าเรียนที่ไหนก็จบได้ ชื่นชอบการแสดง ได้งานที่ Federal Theater Project รู้จักกับ Elia Kazan, Orson Welles, Burt Lancaster, Joseph Cotten, Sidney Lumet ฯ ด้วยวิสัยทัศน์อันโดดเด่นไม่นานก็ได้กำกับ Broadway เรื่องแรก(และเรื่องเดียว) Beggar’s Holiday (1946) ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก They Live by Night (1948) ผลงานอื่นที่มีชื่อเสียง อาทิ In a Lonely Place (1950), Johnny Guitar (1954), Rebel Without a Cause (1955), Bigger Than Life (1956), King of Kings (1961) ฯ
หลังหมดสัญญา RKO Radio Pictures ผู้กำกับ Ray ได้ถูกจองตัวโดย Joan Crawford ต้องการอย่างยิ่งที่จะร่วมงาน ตอนแรกร่วมกันพัฒนาบทหนังเรื่อง Lisbon ให้ Paramount Pictures แต่สตูดิโอยินยอมรับเนื้อเรื่องราวดังกล่าวไม่ได้
Crawford ยังมีอีกโปรเจคในมือ นวนิยาย Johnny Guitar (1953) แต่งโดย Roy Chanslor สัญชาติอเมริกัน เพื่อนสนิทที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เขียนเรื่องนี้อุทิศให้เธอโดยเฉพาะ ขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงสตูดิโอ Republic Pictures ยินยอมรับข้อตกลงว่าจ้าง Ray เป็นผู้กำกับ
เครดิตเขียนบทมอบให้กับ Philip Yordan ที่เข้ามาช่วยขัดเกลาเรื่องราวระหว่างถ่ายทำ แต่แท้จริงแล้วผู้ดัดแปลงบทหนังคือ Ben Maddow เพิ่งถูก Blacklist จาก House Un-American Activities Committee ทำให้ไม่สามารถมีชื่อปรากฎบนเครดิตได้
Vienna (รับบทโดย Joan Crawford) เจ้าของกิจการร้านขายเหล้า-บาร์-บ่อน ใน Arizona ทั้งๆก็ไม่มีลูกค้า แต่คาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อรถไฟดัดผ่าน ย่านนี้จะคือศูนย์กลางความเจริญ แต่นั่นทำให้ชาวหมู่บ้านใกล้เคียงนำโดย Emma Small (รับบทโดย Mercedes McCambridge) เกิดความอิจฉาริษยา พยายามควบคุมครอบงำนายอำเภอและคนแถวนั้น ให้จงเกลียดจงชัง หาหนทางใส่ร้ายป้ายสี ขับไล่ไสส่งอียัยนี่ให้ออกไปจากเมืองของเรานี้
Johnny Guitar (รับบทโดย Sterling Hayden) เดินทางมาถึงร้านของ Vienna เพื่อสมัครทำงานเป็นนักกีตาร์ แต่แท้จริงแล้วชื่อเขาคือ Johnny Logan นักแม่นปืน อดีตคนรักเมื่อห้าปีก่อน ต้องการจะลงหลักปักฐานมีครอบครัวสักที แต่เรื่องวุ่นๆก็เกิดขึ้นเมื่อ John McIvers (รับบทโดย Ward Bond) หุ่นเชิดชักของ Emma Small ประกาศภายใน 24 ชั่วโมงนี้ จะไล่ล่าติดตามตัว The Dancin’ Kid (รับบทโดย Scott Brandy) ในอาชญากรรมที่พวกเขาไม่ได้ก่อ ซึ่งทำให้ Vienna แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นอะไรด้วยพลอยถูกหางเร่ กำลังโดนประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ
Joan Crawford ชื่อเดิม Lucille Fay LeSueur (1904 – 1977) นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Antonio, Texas พ่อแท้ๆทิ้งเธอไปไม่กี่เดือนหลังคลอด แม่แต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงซึ่งทำงาน Opera House ทำให้เกิดความชื่นชอบหลงใหลด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ถึงอย่างนั้นโดยไม่รู้ตัวถูกเขากลับ Sexual Abuse ตั้งแต่เธออายุ 11 ปี จนกระทั่งถูกจับได้, ความเพ้อฝันแรกของ Crawford คือเป็นนักร้อง-นักเต้น ได้ทำงานยัง Winter Garden Theatre, Broadway เข้าตาโปรดิวเซอร์ Harry Raph จับเซ็นสัญญาสตูดิโอ M-G-M มุ่งหน้าสู่ Hollywood ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เริ่มจากบทสมทบเล็กๆ The Circle (1925), The Merry Widow (1925), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Sally, Irene and Mary (1925) ติดหนึ่งใน WAMPAS Baby Stars ตามด้วย The Unknown (1927), Our Dancing Daughters (1928), การมาถึงของยุคหนังพูด ยิ่งทำให้โด่งดังยิ่งขึ้นกว่าเดิม Untamed (1929), Grand Hotel (1932), แต่ก็กลายเป็น Box Office Poison อยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งย้ายมา Warner Bros. มีผลงานชิ้นเอก Mildred Pierce (1945) คว้า Oscar: Best Actress, เด่นๆนอกจากนี้ อาทิ Possessed (1947), Sudden Fear (1952), Johnny Guitar (1954), Whatever Happened to Baby Jane? (1962) ฯ
เกร็ด: Joan Crawford ติดอันดับ 10 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars ฝั่ง Female Legends
รับบท Vienna เจ้าของกิจการบาร์ขายเหล้า แลดูมีความเชี่ยวกรากในชีวิต คงพานผ่านอะไรๆมามากถึงสามารถมีสถานที่ทางของตนเอง แถมตั้งอยู่กึ่งกลางทะเลทราย Arizona น่าเสียดายกลับถูกรังเกียจชิงชังจากชาวเมือง โดยเฉพาะ Emma Small มากล้นด้วยความริษยาผิดปกติ ราวกับทั้งคู่เคยมีสัมผัสแนบแน่นชิด (เลสเบี้ยน?)
ในยุคสมัยผู้ชายเป็นใหญ่ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่หญิงสาวตัวคนเดียว จะสามารถเป็นเจ้าของกิจการบาร์ขายเหล้า มีความไฮโซเลิศหรูหราขนาดนี้ แต่เราสามารถทำความเข้าใจได้จากคำพูดของตัวละคร
Johnny: “How many men have you forgotten?”
Vienna: “As many women as you’ve remembered”.
สื่อความหมายคล้ายๆ Marlene Dietrich พูดถึงใน Shanghai Express (1932) “It took more than one man to change my name to Shanghai Lily”.
นั่นเองคือสาเหตุความกร้านโลกของตัวละคร เต็มไปด้วยความหยิ่งผยอง จองหอง ถือดี ไม่แคร์ยี่หร่าต่อคำลวงหลอกของใครๆ เพราะกว่าฉันจะก่อร่างสร้างที่นี่ขึ้นสำเร็จได้ เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อน้ำแรงกายใจ ให้ยินยอมพ่ายแพ้ศิโรราบต่อความอยุติธรรม เรื่องอะไรจะยินยอม!
ลึกๆแล้ว Vienna ยังคงรักคลั่งอยู่กับ Johnny Logan ส่งจดหมายเพื่อชักชวนเขามาพบเห็นความสำเร็จของตนเอง ตอกย้ำความเจ็บปวดที่ถูกทอดทิ้งเพราะความเห็นแก่ตัว แต่นั่นเหมือนจะไม่ทำให้รู้สึกสำนึกสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นไฟราคะเคยมีให้กัน ไม่ทันข้ามวันก็ถาโถมเข้าใส่
นี่อาจไม่ใช่บทบาทยอดเยี่ยมที่สุดของ Crawford แต่ถือว่ามีภาพลักษณ์สุดตราตรึง เสื้อผ้าเต็มไปด้วยสีสันสะดุดตา รัดรูปแมนๆ วางมาดเริดเชิดหยิ่งผยอง ไม่ยอมเป็นสองก้มหัวให้ใคร น้ำเสียงลีลาคำพูดเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรี่ยว และฉากดวลปืนช่วงท้าย ทำให้เธอกลายเป็น Iconic สำหรับเกย์ (เลสเบี้ยน) จุดประกายภาพยนตร์ Western แนวผู้หญิงรับบทนำ/ยิงปืนได้ขึ้นมาโดยทันที
เพราะความที่เจ้าตัวคือผู้ริเริ่ม/เจ้าของหนัง Crawford แสดงความขี้อิจฉาริษยาต่อ McCambridge เมื่อเธอได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าจากผู้กำกับและทีมงาน เฉกเช่นเดียวกับ Hayden มองหน้าไม่ถูกชะตา เคมีทั้งคู่ราวกับว่าจะฆ่าแกงกัดกันให้ตาย ไร้เยื่อใยสัมพันธ์สวาทโดยสิ้นเชิง
Sterling Walter Hayden (1916 – 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Upper Montclair, New Jersey ออกจากโรงเรียนตอนอายุ 16 ขึ้นขับเรือหาปลา จนได้ Master Licence กะลาสีขึ้นเรือเดินทางท่องโลกจาก Massachusetts ถึง Tahiti, เข้าสู่วงการโดยแมวมองจับเซ็นสัญญากับ Paramount Pictures ด้วยความสูง 6’5″ (1.96 เมตร) ได้รับฉายาว่า The Most Beautiful Man in the Movies และ The Beautiful Blond Viking God ภาพยนตร์เรื่องแรก Virginia (1941), ผลงานส่วนใหญ่เป็นหนังแนว Western ไม่ก็ Film Noir อาทิ The Asphalt Jungle (1950), Johnny Guitar (1954), The Killing (1956), Dr. Strangelove (1964) ฯ
รับบท Johnny Guitar/Logan นักกีตาร์ที่พอจะมีความสามารถ แต่ความบ้าปืน (Gun Crazy) แม่นยิ่งกว่าจับวาง สาเหตุที่หวนกลับมาหา Vienna เพราะหวนระลึกถึงบทเพลงรักเมื่อห้าปีก่อน วัยวุฒิเพิ่มขึ้นทำให้ต้องการปักหลักตั้งถิ่นฐานสร้างครอบครัว แต่พอมาพบเห็นสถานที่แห่งนี้ คงเกิดความโล้เล้ลังเลใจอยู่ไม่น้อย
ความสนใจของ Johnny มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นคือ Vienna ใครอื่นจะถูกเข่นฆ่าก็ช่างหัว ไม่เข้าไปยุ่งวุ่นวายเกี่ยวก้าวก่าย ขอแค่สุดท้ายเธอยังมีชีวิตรอดปลอดภัย ครองคู่อยู่ร่วมกันเท่านั้นก็เหลือเฟือเพียงพอ … เป็นบุคคลที่มีความเห็นแก่ตัวเองแบบสุดๆ
Hayden เป็นตัวเลือกที่ไม่ได้มีความเหมาะสมกับบทแม้แต่น้อย ขี่ม้า ยิงปืน เล่นกีตาร์ ไม่เป็นสักอย่าง! แถมแรกพบกับ Crawford ก็ทำสงครามเขม่นกันตลอดเวลา
“I can’t play guitar, and can’t sing a good-goddamn, either. I was at war on that film, during the daytime, with Joan Crawford, and at night with my second wife”.
– Sterling Hayden
น้ำเสียงเต็มไปด้วยความหยาบกระด้าง แสดงออกด้วยพฤติกรรมเยือกเย็นชา สายตา Hayden จงเกลียดจงชัง Crawford ไปถึงขั้วหัวใจ ไม่สนอะไรอย่างอื่นนอกจากครอบครองเป็นเจ้าของเรือนร่างกายหญิงสาว … ตัวละครนี้คือชื่อหนังเลยนะ แต่พฤติกรรมโคตรสวะ ไม่รู้เหมือนกันว่านางเอกตกหลุมรักไปได้อย่างไร
แซว: François Truffaut ให้คำนิยามการแสดงของ Hayden ว่า
“The Beauty and the Beast with Sterling Hayden being the beauty”.
Carlotta Mercedes Agnes McCambridge (1916 – 2004) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ผู้กำกับ Orson Welles ให้คำนิยามว่า ‘the world’s greatest living radio actress’ เกิดที่ Joliet, Illinois ครอบครัวเชื้อสาย Irish นับถือ Roman Catholic โตขึ้นเข้าเรียน Mundelein College จบออกมาเป็นนักพากย์วิทยุ ละครเวที Broadway แสดงโทรทัศน์ และภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด All the King’s Men (1949) คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Johnny Guitar (1954), Giant (1956) ฯ
รับบท Emma Small หญิงสาวตัวเล็ก แต่ฝีปากจัดจ้าน เต็มไปด้วยความลุ่มร้อนร่าน พยายามควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำทุกผู้คนในหมู่บ้านให้เห็นพ้องคล้อยตาม ศัตรูของฉันมีเพียง Vienna เป็น-ตายเท่านั้นไม่ฉันก็เธอ!
แม้จะด้วยข้ออ้างว่าเธอตกหลุมรัก Dancin’ Kid แต่สายตาและขณะถูกนำเต้น ดูไม่อภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่ เพราะลึกๆผมว่าจิตใจของเธอมีเพียง Vienna อาจเคยครองคู่อยู่ร่วมรัก แล้วโดนหักอกเพราะเธอปรารถนาสิ่งอื่น เลยต้องการล้างแค้นเอาคืน หยิบมือผู้อื่นเพื่อชำระโทษทัณฑ์
ความต้องการของ Crawford อยากได้ Bette Davis ไม่ก็ Barbara Stanwyck แต่ทั้งสองค่าตัวแพงเกินไป จากนั้นเล็ง Claire Trevor กลับติดโปรเจคอื่น เป็นผู้กำกับ Ray นำพา McCambridge ที่เจ้าตัวไม่ได้ชื่นชอบพอเท่าไหร่
แม้จะเป็นบทบาทมิติเดียวแห่งความเกลียดชัง แต่มีความเข้มข้นรุนแรงทางอารมณ์อย่างถึงที่สุด นั่นทำให้บ่อยครั้ง McCambridge ได้รับเสียงปรบมือชื่นชมจากทีมงาน/ตัวประกอบ เล่นดีเกินหน้าเกินตา จนสร้างความอิจฉาริษยาต่อ Crawford บุกเข้าไปในห้องเสื้อผ้าทำลายข้าวของเละเทะ กลายเป็นเพิ่มความขัดแย้งรุนแรง โกรธเกลียดจริงจังได้อย่างสมบุกสมสมบัน
แซว: นามสกุลของ McCambridge ช่างแลดูคล้ายคลึงกับ McCarthyism เสียจริง!
ถ่ายภาพโดย Harry Stradling Sr. (1901 – 1970) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน แต่ไปสร้างชื่อยังยุโรปก่อนหวนกลับมา Hollywood ผลงานเด่นๆ อาทิ Mr. & Mrs. Smith (1941), Suspicion (1941), The Human Comedy (1943), A Streetcar Named Desire (1951), Johnny Guitar (1954), Guys and Dolls (1955), คว้า Oscar: Best Cinematography สองครั้งจาก The Picture of Dorian Gray (1945) และ My Fair Lady (1964)
สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือ Sedona, Arizona แถวๆ Boynton Canyon, Oak Creek Canyon, Red Rock Crossing ส่วนฉากภายในยัง Republic Studios, Hollywood สังเกตเห็นการใช้ Rear Projection บ่อยครั้ง
Trucolor คือกระบวนภาพสี พัฒนาขึ้นโดย Consolidated Film Industries ในสังกัดสตูดิโอ Republic Pictures สำหรับแทนที่เทคโนโลยี Magnacolor (ที่หมดยุคสมัยไป) มักนิยมใช้กับภาพยนตร์แนว Western เรื่องแรก Out California Way (1946) ถึงสุดท้าย Spoilers of the Forest (1957) ก่อนถูกแทนที่ด้วย ANSCO และ Eastmancolor เพราะราคาต้นทุนต่ำกว่า
ช็อตแรกของหนัง Johnny Guitar กำลังควบม้าเดินผ่านขุนเขา แล้วอยู่ดีๆมีการระเบิดภูเขา เสียงดังตูมตาม (กำลังทำทางรถไฟตัดผ่าน) สะท้อนถึงเรื่องราวของ Vienna ก็อยู่อาศัยของเธอดีๆ กลับถูกเข้ามายุ่งจุ้นวุ่นวาย เรียกร้องโน่นนี่นั่นให้เป็นไปตามใจฉัน ซึ่งก็เท่ากับการมาถึงของยุคสมัย McCarthyism รบกวนความสงบสุขสันติของชาวอเมริกัน
แซว: Sterling Hayden ขี่ม้าไม่เป็นนะครับ คือถ้าเป็นภาพถ่ายระยะไกลจะเห็นหน้าตัวละครไม่ชัดเท่าไหร่ สำหรับ Close-Up สังเกตว่าพื้นหลังจะใช้เทคนิค Rear Projection ถ่ายทำในสตูดิโอเท่านั้น!
ร้านขายเหล้า (Saloon) ของ Vienna เรียกได้ว่าเป็น Oasis ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนทะเลทรายอันเวิ้งว้างว่างเปล่า ปัจจุบันแทบจะไม่มีลูกค้า แต่คาดหวังว่าอนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง
สถานที่แห่งนี้ สามารถเปรียบได้กับอนาคตของสหรัฐอเมริกา ที่ถ้าประเทศได้รับการพัฒนามาถึงจุดนี้ (รถไฟตัดผ่าน) ก็จะพบพานความมั่งคั่ง ประสบความสำเร็จ ร่ำรวยกันถ้วนหน้า แต่เพราะกลับถูกกีดขวาง ทำลายล้างจากชนผู้เห็นต่าง สนเพียงผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า ทุกสิ่งอย่างเลยมอดไหม้วอดวาย ย่อยยับกลายเป็นจุน!
การปรากฎตัวของ Vienna ผู้หญิงที่ยุคสมัยนั้นถือว่าต่ำต้อยด้อยค่า แต่เธอกลับเดินออกมาอย่างสง่างาม ผึ่งผาย สวมกางเกงเหมือนผู้ชาย ยืนอยู่บนชั้นสอง ก้มลงมองลูกค้า/ลูกจ้าง ทุกผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยือนในร้าน ด้วยสายตาแห่งความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อวดดี ไม่หวาดกลัวเกรงต่อใครใด
แซว: หนึ่งในข้อเรียกร้องของ Crawford จะถ่ายทำช็อต Close-Up เฉพาะในสตูดิโอที่มีการจัดแสงเป็นอย่างดีแล้วเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ถ่ายใบหน้าตนเองนอกสถานที่ (กลัวผู้ชมเห็นริ้วรอยเหี่ยวย่นกระมัง) ก็ลองไปสังเกตกันดูนะครับ คือถ้าเป็นฉากภายนอกแล้วถ่าย Close-Up พื้นหลังจะต้องด้วย Rear Projection เท่านั้น
ซึ่งเมื่อเป็นมุมของชาวเมือง ถ่ายก้มลงต่ำจากชั้นสอง แบ่งแยกระดับ ฐานะ ชนชั้นทางสังคมได้อย่างชัดเจน ผู้ชายดั่งฝูงแร้งกา นำโดยนางปากจัด Emma Small ตัวเล็กกว่าเพื่อนแต่ยืนข้างหน้าสุด พยายามควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำ บงการบุรุษให้เห็นพ้องคล้อยตามตนเอง
Johnny Guitar พยายามประสานรอยแตกร้าวระหว่างชนชาวเมือง กับนักเลงหัวไม้สี่คน ด้วยการขอบุหรี่-ไฟแช็ค ทั้งยังโชว์เล่นกีตาร์ ให้ Kid นำพา Emma เต้นระบำรอบหนึ่ง … คือถ้าความขัดแย้งมันสิ้นสุดลงตรงนี้ สันติสุขคงบังเกิดขึ้นในสังคม แต่เพราะความเรื่องมาก เรียกร้องโน่นนั่น ต้องการกล่าวหา ‘แพะรับบาป’ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นพิธีกรรมล่าแม่มด = Hollywood Blacklist
Johnny: “Tell me something nice.”
Vienna: “Sure. What do you want to hear?”
Johnny: “Lie to me. Tell me all these years you’ve waited …”
Vienna: “All these years I’ve waited.”
Johnny: “Tell me you’d have died if I hadn’t come back.”
Vienna: “I would have died if you hadn’t come back.”
Johnny: “Tell me you still love me like I love you.”
Vienna: “I still love you like you love me.”
Johnny: “Thanks. Thanks a lot.”
ไม่มีหนัง Western เรื่องไหนพูดคำหวานเลี่ยนขนาดนี้หรอกนะครับ (มีแต่หยาบๆ เถื่อนๆ) ซึ่งเนื้อหาการสนทนา ล้วนเป็นการสร้างภาพ ลวงหลอกตัวเอง ขอให้เธอพูดในสิ่งไม่ได้ออกมาจากความจริงภายใน (แต่ก็อาจจะจริงก็ได้นะ) ซึ่งสะท้อนถึงข้อเรียกร้องของ House Un-American Activities Committee สนฟังแต่คำพูดที่ตนเองต้องการได้ยินเพียงเท่านั้น!
หนังพยายามชี้ชักนำว่า Dancin’ Kid ไม่ใช่หัวขโมยเมื่อตอนต้นเรื่อง (แต่อาจเป็นก็ได้นะ) พวกเขาถูกใส่ร้ายป้ายสีจนเกิดความครุ่นคิด ไหนๆก็ไหนๆแล้ว กลายเป็นโจรปล้นธนาคารจริงๆเลยเสียดีกว่า!
ฉากปล้นธนาคาร ดูแล้วคงต้องการสะท้อนความจนตรอก ที่สังคมพยายามบีบบังคับให้มนุษย์ต้องรับผิดชอบในสิ่งตนเองไม่ได้กระทำ ซึ่งไม่ใช่แค่ครั้งนี้นะครับ
– นายธนาคาร พยายามบอกว่า Vienna ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยกับการปล้น แต่ถูกคำโน้มน้าวของ Emma Small ทำให้พวกเขาก้มหน้าก้มตาพูดตามคำเธอบอก
– Eddie สมาชิกคนเล็กของกลุ่ม Dancin’ Kid เพราะความกลัวตายขี้เยี่ยวเร็ดราด จึงยอมพยักหน้าบอกว่า Vienna คือหนึ่งในสมาชิก ปรากฎว่าเขากลับถูกลวงหลอก หักหลัง เวรกรรมตามทัน เพราะความขลาดเขลาเบาปัญญา
– Bart Lonergan (รับบทโดย Ernest Borgnine) เชื่อว่า Emma คงทำให้ตนเองรอดพ้นจากหายนะครั้งนี้ จึงยินยอมทรยศหักหลัง Dancin’ Kid แต่เชื่อเถอะถ้าเหตุการณ์ไม่ได้ลงเอยอย่างในหนัง โชคชะตาหมอนี่คงไม่แตกต่างจาก Eddie สักเท่าไหร่หรอก
การที่ทุกคนตราหน้าเข้ามา สวมใส่ชุดสีดำ (เพราะเพิ่งกลับจากงานศพ) สะท้อนถึงจุดจบ/ความตายของจิตสำนึกมโนธรรม ต่างขาดสติปัญญาในการครุ่นคิด ตัดสินใจ ถูกชี้ชักนำพาโดยหญิงสาวผู้เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น หน้ามืดตามัว ต้องการเข่นฆ่าแกงอีกฝ่ายเท่านั้นเอง
การที่ Vienna สวมใส่ชุดสีขาว (ตรงกันข้ามกับทุกคนที่ใส่สีดำ) เป็นการสะท้อนความบริสุทธิ์ทางใจ ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี กระทำชำเรา ตกเป็นแพะรับบาป และกำลังจะถูกประชาทัณฑ์จากความโง่ขลาดเขลาของผู้คน
ความน่าสมเพศของมนุษย์กลุ่มนี้ก็คือ เออออห่อหมกไปตามกระแสสังคม แต่พอจะลงมือกระทำจริงกลับปอดแหก แสร้งทำเป็นว่ารู้สึกผิด จิตใจเต็มไปด้วยความขัดย้อนแย้ง หาได้ซื่อสัตย์มั่นคงต่ออุดมการณ์ก็แค่สายลมปาก
ไม่รู้ซีนเล็กๆนี้อยู่ในบทด้วยหรือเปล่า อาจเป็นความบังเอิญที่ไฟลุกพรึบติดชุดขาวของ Vienna แต่แฝงนัยยะได้ถึง ความบริสุทธิ์ที่มอดไหม้ จิตใจถูกสังคมบ่อนทำลาย หลงเหลือเพียงเศษขี้เถ้าถ่าน … นั่นทำให้เธอต้องเป็นมาสวมใส่เสื้อสีแดง เต็มไปด้วยความเคียดแค้น (แต่เมื่อเดินผ่านน้ำตกเปียกปอน เลยจิตใจสงบเย็นลง และเปลี่ยนอีกรอบมาสวมเสื้อสีเหลือง)
จุดเด่นของ Trucolor น่าจะคือสีเหลือง เพราะหนังทั้งเรื่องเมื่อพบเห็น Joan Crawford สวมเสื้อเหลืองช่วงท้าย ช่างมีความโดดเด่นสะดุดตา เด่นชัดกว่าสีอื่นใดปรากฎขึ้นในหนัง
แซว: ปกติหนัง Western จะไม่มีใครสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสะดุดตาแบบ Crawford หรอกนะครับ ถือเป็นความจงใจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ Iconic และมีความสไตล์ลิสต์ ให้ผู้ชมเอะใจว่าแฝงนัยยะความหมายอะไรอยู่หรือเปล่า?
ฉากไคลน์แม็กซ์ของหนังอาจไม่ถูกใจคอ Western สักเท่าไหร่ เหตุผลหนึ่งเพราะ Johnny Guitar ไม่ได้โชว์เทพอะไรให้สมศักดิ์ศรีที่อุตส่าห์สร้างกระแสมา, สมาชิกของ Dancin’ Kid ถูกฆ่าตายแบบหมาข้างถนนมากๆ, และดวลปืนของสองสาว Vienna vs. Emma (Hollywood Ten vs. McCarthyism) ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไรเร้ยย!
นัยยะความพ่ายแพ้ของ Emma คงต้องการพยากรณ์จุดสิ้นสุดของ McCarthyism ซึ่งแม้ช็อตแรกจะยิงถูก Vienna แต่เพราะหันหลังกลับมายิงแสกหน้า Dancin’ Kid เลยสูญเสียจังหวะและถูกสวนกลับ กลิ้งตกบันได/เนินเขาสู่จุดตกต่ำ
ตัดต่อโดย Richard van Enger (1914 – 1984) สัญชาติอเมริกัน เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยตัดต่อ Gone With the Wind (1939), ผลงานเด่นๆ อาทิ Sands of Iwo Jima (1949), Johnny Guitar (1954) ฯ
หนังเริ่มต้นจาก Johnny Guitar แต่เมื่อมาถึงร้านขายสุรา ก็ปรับเปลี่ยนมามุมมองของ Vienna ตัดสลับกับคู่อริ Emma Small และกลุ่มของ Dancin’ Kid ไม่ได้เล่าเรื่องผ่านสายตาตัวละครหนึ่งใดเป็นพิเศษ
ช่วงไคลน์แม็กซ์ผู้ชมอาจรู้สึกว่าหนังมีการตัดต่อที่เร่งรีบร้อน แต่ผมสังเกตดูก็พบว่ามันครบถ้วน ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างประกอบฉากนั้นหมดแล้ว
– ภาพมุมกว้าง เห็นสองสามกำลังเผชิญหน้ากัน
– ตัดสลับใบหน้า Vienna vs. Emma
– ร้อยเรียงภาพผู้ชม Johnny, Dancin’ Kid, นายอำเภอ
– ตัดสลับ Vienna กับ Emma ขณะยกปืนขึ้นยิง
– ปฏิกิริยาผู้ชม และ Dancin’ Kid พยายามวิ่งเข้าไปหา เลยถูกยิงแสกหน้า
– Vienna กับ Emma ชี้เป็นชี้ตายครั้งสุดท้าย
เพลงประกอบโดย Victor Young (1900 – 1956) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ผู้มีหลายผลงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Reap the Wild Wind (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), So Evil My Love (1948), The Greatest Show on Earth (1952), The Quiet Man (1952), Shane (1953) และผลงานสุดท้ายก่อนเสียชีวิตคือ Around the World in 80 Days (1957) คว้า Oscar: Best Scoring of a Dramatic or Comedy Picture
งานเพลงเต็มไปด้วยสัมผัสภยันตราย โลกที่รายล้อมด้วยบุคคลนิสัยเหี้ยมโหดร้าย บรรยากาศอันตึงเครียด มืดหมองมน ไร้หนทางออก แค่เพียงใบหน้าเธอที่เปร่งประกาย สิ่งเดียวเท่านั้นที่ฉันเฝ้าโหยหา
บทเพลง Johnny Guitar แต่งโดย Victor Young ซึ่งจะได้ยินทำนองดนตรี (ตอน Opening Credit) ขณะตัวละครเล่นกีตาร์ (เพลงซึ้ง) บรรเลงเปียโน (โดย Joan Crawford) และเสียงขับร้องของ Peggy Lee ช่วงท้าย (ก่อนขึ้นข้อความ The End)
ทำนองกีตาร์มันส์ๆที่ Sterling Hayden บรรเลงบนกีตาร์ (พี่แกเล่นกีตาร์ไม่เป็นนะครับ น่าจะ Victor Young ที่โชว์ฝีมือ) คือบทเพลงพื้นบ้านอเมริกัน Old Joe Clark ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งชื่อเพลง/เนื้อร้องอ้างอิงจากบุคคลจริงๆ Joseph Clark (1839 – 1885) ชาว Kentucky ผู้ชื่นชอบการปีนป่ายเขา
Johnny Guitar คือเรื่องราวของกลุ่มคนผู้ไม่รู้ประสีประสา หรือเคยกระทำสิ่งเลวชั่วร้ายให้ใคร กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี กลายเป็นแพะรับบาปด้วยความรังเกียจชัง แล้วนี่ฉันควรจะทำอย่างไรดีต่อไปดี หลบลี้หนีเอาตัวรอด ประชดก่ออาชญากรแม้งเลย หรือยืดหยัดต่อสู้ผดุงความยุติธรรม ทั้งๆรู้ว่าอาจพ่ายแพ้เพราะโดนสังคมรุมประชาทัณฑ์
การมาถึงของ McCarthyism ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ชาวอเมริกันยุคสมัยนั้นเกิดความโล้เล้ลังเลใจ ครุ่นคิดตัดสินไม่ได้ว่าควรแสดงออกเช่นไร, แน่นอนว่าย่อมมีส่วนหนึ่งเห็นสอดพ้อง ให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที ตรงกันข้ามย่อมมีฝั่งฝ่ายยินยอมรับไม่ได้เสียงขันแข็ง เปรียบเทียบเหตุการณ์ล่าแม่มดของยุโรปในยุคกลาง ใครครุ่นคิดเห็นต่างล้วนคือศัตรูฝ่ายตรงข้าม ต้องหาทางกำจัดให้พ้นภัยพาล
คอมมิวนิสต์เป็นขั้วตรงกันข้ามประชาธิปไตย นั่นคือสิ่งที่ชนชั้นผู้นำของสหรัฐอเมริกาเกิดความหวาดสะพรึง กลัวว่าถ้าขืนปล่อยไว้จะกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคง … แต่นั่นไม่ใช่สิ่งย้อนแย้งอุดมการณ์ชาติ ‘เสรีภาพ’ ไปริดรอนสิทธิของผู้มีความครุ่นคิดเห็นแตกต่างหรอกหรือ?
ความพยายามของ ส.ว. Joseph McCarthy คือดึงเอาบุคคลมีชื่อเสียงที่เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะจริงจัง ชั่วครั้งคราว หรือแค่อยากรู้ลอง นำมาปู้ปี้ระยำ กระทำให้สูญเสียชื่อเสียงทุกสิ่งอย่าง จนมิอาจก้าวหน้าต่ออาชีพการงาน หรืออาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป … เมื่อแพะรายแรกได้ถูกเปิดโปง นั่นย่อมสร้างความหวาดหวั่นปกคลุมไปทั่ว ใครไหนมีจิตใจใสซื่อไร้เดียงสา คงครุ่นคิดว่ายินยอมรับสารภาพคงสามารถเอาตัวรอดพ้นผิด แต่ที่ไหนได้กลับโดนตลบแตลงย้อนแย้ง สำนึกได้เมื่อสาย นี่ฉันทำบ้าอะไรลงไป
ผู้กำกับ Nicholas Ray สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยอุดมการณ์ชัดเจนมากๆว่า ไม่สนับสนุนเห็นด้วยกับ McCarthyism แต่จุดยืนของเขาน่าจะคือ Johnny Guitar พยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งย่ามวุ่นวายอะไรใคร แค่ว่าใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบเท่านั้นเอง!
ภาพยนตร์ที่ผู้หญิงรับบทนำ มักถูกจัดเหมารวมว่ามีความเป็น Feminist ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ผิดอะไร เพราะทั้ง Vienna และ Emma Small ต่างสามารถควบคุมครอบงำ ชี้ชักนำ ก้าวออกมายืนต่อหน้าบุรุษ ให้พวกเขาเห็นสอดพ้องคล้อยตามความครุ่นคิดเห็นของตนเอง … แต่ลึกๆทั้งคู่ต่างคือผู้นำพาเรื่องราวสู่หายนะจุดจบ อันสืบเนื่องจากแรงอิจฉาริษยาอาฆาตแค้น หรือถ้ามองนัยยะ McCarthyism ก็จะไม่เห็นความเป็น Feminist หลงเหลืออยู่เลยนะครับ (แถมยังจะเสียดสีล้อเลียน Joseph McCarthy ว่ามีพฤติกรรมเหมือนผู้หญิง/ไม่ใช่ลูกผู้ชาย)
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง เพียงรายรับสิ้นปีแรกในสหรัฐอเมริกา $2.5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว น่าเสียดายไม่ได้ลุ้นรางวัลใดๆปลายปี เว้นเสียจากนิตยสาร Cahiers du Cinéma ยกให้ติดอันดับ 9 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี
เหตุผลที่ Johnny Guitar ประสบความสำเร็จทำเงินพอสมควร น่าจะเพราะผู้ชมสมัยนั้นสามารถตระหนักรับรู้ถึงนัยยะ สื่อความถึง McCarthyism ค่อนข้างจะเด่นชัดเจน, คอหนังสมัยนี้เพราะไม่ได้พานผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมา ถ้าไม่ล่วงรับรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ หรืออ่านบทความวิจารณ์เพิ่มเติม ส่วนใหญ่คงมองเห็นเพียงความบันเทิงสไตล์ลิสต์ แล้วเกิดอคติเพราะไม่เข้าใจสาสน์สาระแท้จริง
ระหว่างรับชมผมเกิดอคติต่อ Johnny Guitar ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการแสดงของ Mercedes McCambridge โคตรน่ารำคาญเหลือทน จนพอครุ่นคิดถึงได้ถึงนัยยะแฝงซ่อนเร้น เลยเข้าใจเหตุผลความเป็นไปทั้งหมด อดไม่ได้ชื่นชอบหนังขึ้นมาโดยพลัน
แฟนๆ Western อาจรู้สึกผิดหวัง แต่คอหนังที่ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความ สนใจช่วงเวลา Hollywood Blacklist คงได้คลุ้มคลั่งไคล้ แฟนๆผู้กำกับ Nicholas Ray และนักแสดงนำ Joan Crawford คงเกิดความประทับใจ สมทบด้วย Sterling Hayden, Mercedes McCambridge คงไม่พลาดแน่แท้
จัดเรต 15+ กับการล่าแม่มด กฎหมู่ ไม่กูก็มึงต้องตายไปข้างหนึ่ง
Leave a Reply