Ju Dou (1990) Chinese : Zhang Yimou, Yang Fengliang ♥♥♥♥

เพราะพฤติกรรมสุดซาดิสม์ของสามี ทำให้จูโด (Ju Dou) ลักลอบสมสู่กับหลานชาย (ของสามี) ผลกรรมทำให้บุตรของพวกเขาปฏิเสธต่อต้านบิดา แถมยังตั้งใจจะปิตุฆาต … นี่เหมือนกับพวกยุวชนแดงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ไม่ยินยอมรับอดีต กระทำร้ายผู้ครุ่นคิดเห็นต่าง ทำลายทุกสิ่งอย่างก่อนยุคสมัยคอมมิวนิสต์

Ju Dou (1990) เป็นภาพยนตร์ที่เคยถูกแบนห้ามฉายในประเทศจีน ไม่ได้มีคำอธิบายเหตุผลใดๆ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะประเด็นสมสู่ คบชู้นอกใจ (หนังก็ปรับเปลี่ยนจากหลานชายแท้ๆ ‘Incest’ มาเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อไม่ให้ตัวละครมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด) รวมถึงการปิตุฆาต (บุตรเข่นฆาตกรรมบิดาตนเอง) ซึ่งถือว่ามีความละเอียดอ่อนไหว ‘ต้องห้าม’ แต่หลังจากไปกวาดรางวัลตามเทศกาลหนัง และได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film (เป็นหนังสัญชาติจีนเรื่องแรก) สองปีให้หลังถึงอนุญาตให้นำออกฉาย

ผิดกับ Farewell, My Concubine (1993), The Blue Kite (1993) และ To Live (1994) ที่นำเสนอเรื่องราวในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม Cultural Revolution (1966-76) อย่างตรงไปตรงมา พร้อมแทรกใส่ทัศนคติต่อต้าน ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน เลยล้วนถูกห้ามฉายถาวร, Ju Dou (1990) ไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องช่วงเวลาดังกล่าวเลยสักนิด! แต่เราสามารถขบครุ่นคิด เปรียบเทียบถึง ทำความเข้าใจจุดประสงค์อันลุ่มลึกซึ้งของผู้สร้าง

ผลงานยุคแรกๆของผู้กำกับจางอี้โหมว มักซุกซ่อนเร้นประเด็น Anti-Communist ไว้อย่างแนบเนียนมิดชิด ด้วยแนวคิดหยิน-หยาง กฎแห่งกรรม ใครกระทำอะไรไว้ย่อมได้ผลลัพท์นั้นคืนตอบสนอง ซึ่งการที่เขาพยายามวางตัวเป็นกลาง แสดงถึงความเอนเอียง ไม่เห็นด้วยต่อบางสิ่งอย่าง (กล่าวคือคอมมิวนิสต์สมัยก่อน ถ้าเห็นด้วยก็ต้องเห็นพ้องทุกสิ่งอย่าง การแสดงความเห็นต่างเพียงเล็กน้อยก็อาจจบสิ้น ชีวิตดับดิ้น รวมถึงการวางตัวเป็นกลางด้วยนะครับ)

นอกจากประเด็นต้องห้าม ที่เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่งทางอารมณ์ ไฮไลท์ของหนังคือการใช้สีสัน แทรกใส่เข้าไปในองค์ประกอบภาพอย่างแนบเนียน (แต่จะไม่ฉูดฉาดจัดจ้านเทียบเท่า Red Sorghum (1988)) และการแสดงของกงลี่ มีความยั่วเย้ายวน รัญจวนใจ ถูกขับเน้นให้เจิดจรัสขึ้นเรื่อยๆ (เห็นว่าขณะนั้นกำลังครองรักผู้กำกับจางอี้โหมว น้ำต้มผักยังหวานฉ่ำ)


จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลฉ่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง

ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

หลังเสร็จจาก Red Sorghum (1988) จางอี้โหมวตอบตกลงเพื่อนสนิทที่ยื่นข้อเสนอให้ทุนสร้างโปรเจค Codename Cougar (1989) ร่วมงานกับ Yang Fengliang (เคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Red Sorghum) เรื่องราวเกี่ยวกับการจี้ปล้นเครื่องบิน โดยแฝงนัยยะทางการเมือง ชวนเชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ผลลัพท์ล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และรายรับ … ว่ากันว่าเป็นผลงานห่วยแตกที่สุดในชีวิตของผู้กำกับจางอี้โหมว

ความล้มเหลวของ Codename Cougar (1989) เป็นบทเรียนให้จางอี้โหมว หวนกลับมาสรรค์สร้างภาพยนตร์แนวถนัด ค้นพบเจอเรื่องสั้น Fuxi Fuxi (1987) แต่งโดยหลิวเฮ็ง, Liu Heng (เกิดปี 1954) นักเขียนชาวจีน ที่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ถูกส่งไปใช้แรงงานทำไร่นาเกษตรกรรม พบเห็นวิถีชีวิต ความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากของผู้คน เลยผันตัวมาเป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย กวาดรางวัลในประเทศมากมาย

Fuxi Fuxi criticized the Chinese mercilessly, and portrayed the Chinese people’s human nature deeply. Comparing this novel with Red Sorghum that showed the free-spirited human nature and was actually full of ideal colors; while Fuxi Fuxi depicts the real mentality of the real Chinese.

จางอี้โหมว

เกร็ด: แม้ว่าเรื่องสั้น Fuxi Fuxi (ชื่อภาษาอังกฤษ The Obsessed) จะเต็มไปด้วยประเด็นต้องห้ามทางสังคม แต่ลีลาการเขียนในเชิงจิตวิเคราะห์ ผสมผสานศิลปะวัฒนธรรมเข้ากับวิถีชีวิตพื้นบ้านชาวจีน สามารถคว้ารางวัล National Prize: Best Novelettes ประจำปี 1987

เกร็ด 2: 伏羲, ฝูซี เป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรมตามตำนานจีน ได้รับความนับถือพร้อมกับ 女媧, นฺหวี่วา ว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดมนุษยชาติ สร้างสรรค์การล่าสัตว์ การประมง ประกอบอาหาร รวมถึงคิดค้นระบบการเขียนแบบชางเจี๋ย (倉頡) เมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล

โปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่น Tokuma Yasuo มีความประทับใจ Red Sorghum (1988) เป็นอย่างมากๆ จึงติดต่อเข้าหาผู้กำกับจางอี้โหมว อาสาร่วมทุนสร้างโปรเจค Ju Dou (1990) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก Tokuma Shoten (บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังจากญี่ปุ่น ที่อยู่เบื้องหลังสตูดิโอ Ghibli และ Daiei Film) นอกจากนี้ยังมี China Film Co-Production Corporation และ China Film Export and Import Corp.

ในเครดิตไม่มีชื่อผู้เขียนบท พบเห็นเพียง Story By: Liu Heng ไม่รู้ว่าผู้แต่งมาช่วยดัดแปลงหรืออย่างไร? แต่อีกรายชื่อที่หลายคนสงสัย จางอี้โหม่วร่วมกำกับ Yang Fengliang น่าเสียดายผมหารายเอียดเขาคนนี้ไม่ได้มาก อดีตเคยเป็นนักแสดง แล้วกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Red Sorghum (1988) ก่อนได้รับการผลักดันก้าวขึ้นมาร่วมกำกับ Codename Cougar (1989) ติดตามด้วย Ju Dou (1990) ไม่รู้เหมือนกันว่ามีส่วนร่วมอะไรบ้าง (คนส่วนใหญ่มักเข้าใจเพียงแค่ว่า จางอี้โหมว คือผู้กำกับคนเดียวของ Ju Dou (1990))


พื้นหลังต้นศตวรรษ 20th ยังชนบทห่างไกลในประเทศจีน, จูโด (รับบทโดย กงลี่) ถูกขายต่อ/แต่งงานกับหยางจินชาน (รับบทโดย หลี่เวย) เจ้าของโรงย้อมผ้า เลื่องลือชาในความซาดิสม์ ชอบใช้กำลังรุนแรง มักมากกามคุณ กระทำทุกสิ่งอย่างเพราะต้องการบุตรชายสำหรับสืบทอดต่อกิจการ ก่อนหน้านี้แต่งงานมาแล้วสองครั้ง อดีตภรรยาต่างประสบโศกนาฎกรรมไม่คาดฝัน

แม้กิจการโรงย้อมผ้าต้องใช้แรงงานหนัก แต่หยางจินชานกลับไม่เคยสรรหาลูกจ้างเข้าสังกัด มีเพียงบุตรบุญธรรมหยางเทียนจิน (รับบทโดย หลี่เป่าโถว) รับเลี้ยงจากสถานกำพร้า ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่า ชอบพูดจาดูถูกดูแคลน ตำหนิต่อว่าถึงความไร้ศักยภาพในการทำงาน กลายเป็นปมด้อยให้เขาชอบสอดรู้สอดเห็น ถ้ำมองภรรยาของบิดา ตกหลุมรักจูโด แต่ขาดความหาญกล้าพูดบอก แสดงออก กระทำการใดๆ

เป็นจูโดที่ตัดสินใจเข้าหาหยางเทียนจิน ใช้มารยาเสน่ห์ลวงล่อ หยอกเย้า จนเขาใจอ่อน ยินยอมร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของตนเองจนตั้งครรภ์ วันหนึ่งหยางจินชานประสบอุบัติเหตุตกม้า ล้มป่วยกลายเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ทั้งสองจึงเปิดเผยความจริง แล้วใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสุขกระสันต์ สร้างความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียด วางแผนกำจัดทารกน้อยอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อเด็กชายโตพอเรียกเขาว่าพ่อ แม้ไม่ใช่ลูกในไส้แท้ๆแต่ก็รู้สึกว่าเหมือนได้แก้แค้นเอาคืน แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น


กงลี่, Gong Li (เกิดปี 1965) นักแสดง สัญชาติจีน เกิดที่นครเสิ่นหยาง, มณฑลเหลียวหนิง เป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องสี่คน บิดา-มารดาต่างทำงานสอนหนังสือ วัยเด็กหลงใหลด้านการร้องเพลง เต้นรำ วาดฝันโตขึ้นโตขึ้นอยากเป็นศิลปินออกอัลบัม ระหว่างเข้าศึกษาต่อ Central Academy of Drama ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับจางอี้โหมว แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Red Sorghum (1988) ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันอีกหลายครั้ง (รวมถึงสานสัมพันธ์โรแมนติกช่วงระยะเวลาหนึ่ง) อาทิ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Curse of the Golden Flower (2006), ส่วนผลงานเด่นๆผู้กำกับอื่น อาทิ Farewell My Concubine (1993), 2046 (2004), Memoirs of a Geisha (2005) ฯ

รับบท จูโด/Ju Dou หญิงสาวจนๆที่ถูกครอบครัวขายให้หยางจินชาน เมื่ออาศัยอยู่ไปสักพักก็เริ่มตระหนักถึงความโชคร้าย เต็มไปด้วยความหวาดกลัวต่อพฤติกรรมซาดิสม์ ชอบใช้กำลังรุนแรง มักมากกามคุณ จนต้องขวนขวายหาที่พึ่งพักพิง แม้แรกๆยังมีจิตสำนึกมโนธรรมต่อหยางเทียนจิน แต่ไม่นานนักก็ใช้มารยาหญิงลวงล่อ หยอกเย้า จนเขาใจอ่อน ยินยอมร่วมรักหลับนอน เติมเต็มความต้องการของตนเองจนตั้งครรภ์

หลังจากหยางจินชานพลัดตกม้า ล้มป่วยอัมพาตครึ่งตัว พฤติกรรมของจูโดก็ปรับเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ! ไม่ใคร่แลเหลียวสามี ทุกค่ำคืนอาศัยอยู่ที่ห้องหยางเทียนจิน และเมื่อพูดบอกความจริงเกี่ยวกับบุตรชาย จงใจให้เขายังมีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน เต็มไปด้วยความเคียดแค้น เหมือนคนตกตายทั้งเป็น

เกร็ด: ชื่อตัวละครจูโด (Ju Dou) เป็นสองคำที่สื่อถึงดอกไม้/พืชพันธุ์ (แบบเดียวกับ Red Sorghum) แต่กลับมีนัยยะความหมายแตกต่างตรงกันข้าม สอดคล้องแนวคิดหยิน-หยาง ได้เป็นอย่างดี

  • 菊 (Jú) แปลว่า chrysanthemum ดอกเบญจมาศ สัญลักษณ์ของความสูงศักดิ์ ทรงเกียรติ (มีคำเรียกราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ สำหรับประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิญี่ปุ่น),
  • 豆 (Dòu) แปลว่า bean เมล็ดถั่ว ที่มีความต่ำต้อยด้อยค่า ราคาแสนถูก แค่เพียงรดน้ำก็งอกเงย เจริญเติบโต ตะเกียกตะกายตรงเข้าหาแสงสว่าง

กงลี่ทุ่มเทการแสดงบทบาทนี้เป็นอย่างมากๆ ถึงขนาดเดินทางไปอาศัยอยู่ล่วงหน้า 2 เดือนยังหมู่บ้านที่ใช้ถ่ายทำ เรียนรู้วิถีชีวิต อาหารการกิน สวมใส่เครื่องแต่งกายท้องถิ่น รวมทั้งอาบแดดให้ผิวคล้ำ และความที่จูโด มีความหดหู่ ซึมเศร้า จึงพยายามคงอยู่ในตัวละครตลอดการถ่ายทำ (in-character) ผลลัพท์เมื่อโปรดักชั่นเสร็จสิ้น เดินทางกลับกรุงปักกิ่ง ต้องพึ่งนักจิตวิทยาช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติ

เมื่อตอน Red Sorghum (1988) บทบาทของกงลี่ยังดูไม่ค่อยมีมิติ เพียงรอยยิ้มอันเจิดจรัส ซ่อนเร้นตัณหาราคะ หลบอยู่ภายใต้ภาษาภาพยนตร์ แต่พอมาถึง Ju Dou (1990) เหมือนว่าความสัมพันธ์กับจางอี้โหมว ทำให้เธอเติบโตกลายเป็นหญิงสาวเต็มตัว กล้าเล่น กล้าได้กล้าเสีย ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด เพราะมีชายคนรักอยู่เคียงข้าง คอยปกป้องและผลักดัน ผลงานเรื่องนี้จึงถือเป็นบันไดส่งเธอสู่สรวงสวรรค์ กลายเป็นอีกดาวดาราประดับท้องฟากฟ้า

คนส่วนใหญ่อาจจดจำจูโด ในความมักม่านร่านราคะ กระทำเพียงสิ่งตอบสนองตัณหาความใคร่ แต่ตัวละครของกงลี่มีความหลากหลายทางอารมณ์โคตรๆ ผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะเคยทุกข์ทรมานเลยเรียนรู้จักความสุข (หลังหยางจินชานตกหลังม้า ก็โอลัลล้าอยู่กับหยางเทียนจิน) จากเคยเย่อหยิ่งทะนงตน ต้องหลบๆซ่อนๆปกปิดความสัมพันธ์ (การเสียชีวิตของหยางจินชาน ทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับหยางเทียนจินได้อีกต่อไป) บุตรชายเคยเอ็นดูรักใคร่ โตขึ้นกลับอกตัญญูไม่รู้บุญคุณ ฯลฯ เหล่านี้คือกฎแห่งกรรม เคยทำอะไรใครไว้ย่อมได้รับผลนั่นคืนตอบสนอง


หลี่เวย, Le Wei ชื่อจริง Li Zhiyuan (1919-2005) นักแสดงชาวจีน เกิดที่ฉือเจียจวง, มณฑลเหอเป่ย์ เข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเซ็นสัญญาสตูดิโอ National Government Central Film Studio เมื่อปี 1937, โด่งดังจากผลงานอมตะ Spring in a Small Town (1948), Two Stage Sisters (1964), River Without Buoys (1984), Ju Dou (1990) ฯ

รับบทหยางจินชาน, Yang Jinshan ชายสูงวัย เจ้าของโรงย้อมผ้า เป็นคนฝีปากกล้า พฤติกรรมซาดิสม์ ชอบใช้กำลังรุนแรงกับภรรยา หมกมุ่นในกามตัณหา เพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเองมีทายาทสืบสกุล แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จสักที (น่าจะเพราะอสุจิไม่แข็งเรง จึงไม่สามารถมีบุตร) เปลี่ยนเมียมาแล้วสามคน จนมาถึงจูโด สามารถตั้งครรภ์ คลอดบุตรชาย ถ้าไม่เพราะอุบัติเหตุตกหลังม้า ล้มป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง จึงได้รับทราบว่าพ่อของเด็กคนนั้นแท้จริงคือหยางเทียนจิน

ถ้าเราเปรียบโรงย้อมผ้าคือประเทศจีน ตัวละครหยางจินชาน เหมาะสำหรับเป็นตัวแทนระบอบการปกครองยุคสมัยก่อนคอมมิวนิสต์ (ระบอบกษัตริย์) มีความเผด็จการ ชอบเอารัดเอาเปรียบ ไม่สนอะไรใครนอกจากความพึงพอใจของตนเอง และหมกมุ่นในการมีทายาทสืบสกุล ซึ่งหลังจากตกหลังม้ากลายเป็นอัมพาต (ถูกโค่นล้มอำนาจ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง) จึงมีชีวิตอย่างคับแค้นสิ้นหวัง แม้มีโอกาสหัวร่อช่วงเวลาสั้นๆ สุดท้ายก็ดับดิ้นเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิต หมดสูญสิ้นระบอบราชาธิปไตย

ผมค่อนข้างเชื่อว่าผู้กำกับจางอี้โหมว เลือกนักแสดงหลี่เวย เพราะความประทับใจจากผลงานอมตะ Spring in a Small Town (1948) ซึ่งมีเรื่องราวรักสามเส้าคล้ายๆ Ju Dou (1990) แถมแฝงนัยยะตัวละครในลักษณะคล้ายๆกันอีกต่างหาก (ตัวละครของหลี่เว่ยใน Spring in a Small Time (1948) คือคนรักเก่าของหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงาน สามารถตีความถึงยุคสมัยก่อนการมาถึงของพรรคคอมมิวนิสต์)

แม้อายุย่าง 70 แต่การแสดงของหลี่เวย ถือว่าไม่ธรรมดา! ผมประทับใจมากๆตั้งแต่กลายเป็นอัมพาต สีหน้าเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธเกลียด พยายามตะเกียกตะกาย หาวิธีกระทำร้าย เข่นฆาตกรรมทารกน้อยอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อเด็กชายโตพอเรียกเขาว่าพ่อ เสียงหัวร่อแม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ มันช่างกึกก้อง สั้นสะท้านทรวงใน ราวกับได้แก้แค้นสำเร็จ สาแก่ใจ

จริงอยู่พฤติกรรมตั้งต้นของหยางจินชาน มีความโฉดชั่วร้าย อันตราย เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่ผลกรรมก็ติดตามทันเมื่อพลัดตกหลังม้า ล้มป่วยกลายเป็นอัมพาต ถูกภรรยาและบุตรบุญธรรมทรยศหักหลัง ถึงอย่างนั้นผู้ชมส่วนใหญ่กลับยังรู้สึกสงสารเห็นใจ มันต้องกระทำร้ายกันขนาดนี้เชียวหรือ?? … การมองหนังด้วยอารมณ์ย่อมรู้สึกไม่เห็นด้วย ไม่สมควร แต่นั่นคือวิถีแห่งกรรม ทำอะไรใครไว้ย่อมได้ผลนั้นคืนตอบสนอง สถานการณ์เช่นนี้เราจึงควรจะวางตัวเป็นกลาง ‘อุเบกขา’ หาใช่เรื่องจะไปตัดสินถูก-ผิด รู้สึกสาสมน้ำหน้า หรือสงสารเห็นใจ


หลี่เป่าโถว, Li Baotian (เกิดปี 1946) นักแสดงชาวจีน เกิดที่เขตเจียวัง เมืองซูโจว, มณฑลเจียงซู ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง เข้าร่วมโรงละครท้องถิ่นตั้งแต่ปี 1960 จนได้รับโอกาสย้ายมาคณะ Xuzhou Song and Dance Troupe ทำให้มีโอกาสร้อง-เล่น-เต้น เอาตัวรอดช่วงระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-76) จากนั้นมีโอกาสเข้าศึกษา Central Academy of Drama จบมาก็เป็นอาจารย์สอนอยู่สักพัก แล้วก็มีผลงานภาพยนตร์ ซีรีย์โทรทัศน์ อาทิ The Wanderer and The Swan (1985), Woman, Demon, Human (1987), Ju Dou (1991), Country Teachers (1993), Liu Luoguo, (1996), Keep Cool (1998), The Nightingale (2013) ฯลฯ

รับบทหยางเทียนจิน, Yang Tianqing บุตรบุญธรรมของหยางจินชาน แต่เพราะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข แถมเป็นคนทึ่มๆทื่อๆ ไม่ค่อยมีความเฉลียวฉลาดสักเท่าไหร่ เลยมักถูกกดขี่ข่มเหง ใช้ถ้อยคำตำหนิต่อว่าเสียๆหายๆ กลายเป็นปมด้อยภายในจิตใจ ชอบสอดรู้สอดเห็น ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่างของบิดาบุญธรรม

การมาถึงของจูโด ทำให้หยางเทียนจินเต็มไปด้วยความกระตือรือล้น เจาะรูดูห้องอาบน้ำ แอบรับฟังเสียงกรีดร้องลั่นยามค่ำคืน แต่เพราะความอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา จึงไม่หาญกล้าลุกขึ้นมาทำอะไร แค่บังเอิญว่าหญิงสาวพบเห็นช่องทางแห่งความสุข เลยพยายามลวงล่อ อ่อยเหยื่อ จนเขาหลงติดกับดัก ตกหลุมรักจนโงหัวไม่ขึ้น แล้วโชคชะตาก็ดันเข้าข้าง จึงค้นพบความสุขสำราญ แต่ก็ไม่ได้ยั่งยืนยาวนานสักเท่าไหร่

ผมมองว่าหยางเทียนจิน สามารถมองเป็นตัวแทนพรรคพรรคก๊กมินตั๋ง หลังจากโค่นล้มราชวงศ์ชิง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสาธารณรัฐจีน (1914-49) เริ่มจากด็อกเตอร์ซุนยัดเซ็น มาจนถึงนายพลเจียงไคเช็ก กระทั่งความขัดแย้งภายในก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง Chinese Civil War (1945–49) ประสบความพ่ายแพ้ย่อยยับ จนต้องอพยพหลบหนีออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ลี้ภัยสู่เกาะไต้หวัน (เหมือนการที่หยางเทียนจินต้องย้ายออกจากบ้าน ไม่สามารถอาศัยหลับนอนยามค่ำคืนร่วมกับจูโดได้อีกต่อไป)

ความที่หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาหยางเทียนจิน ทำให้ผู้ชมมีความสนิทสนม ใกล้ชิดตัวละคร พบเห็นปฏิกิริยาอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของหลี่เป่าโถว หลากหลายไม่น้อยไปกว่าบทบาทของกงลี่ แต่ในลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม (หยิน-หยาง) เริ่มจากความอ่อนแอขี้ขลาดเขลา หวาดกลัวเกรงบิดา กระทั่งได้รับการยั่วราคะจากจูโด ถึงค่อยมีความหาญกล้าขึ้นทีละเล็ก แต่ก็ปฏิเสธกระทำร้ายสิ่งชั่วร้าย หรือพูดบอกความจริงกับบุตรชาย แค่ดำเนินชีวิตไปวันๆ พึงพอใจสิ่งที่มีอยู่ ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่าครองคู่อยู่ร่วมหญิงคนรัก


ถ่ายภาพโดย กูฉ่างเหวย์, Gu Changwei (เกิดปี 1957) เกิดที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการวาดรูป สเก็ตภาพ หลังเรียนจบมัธยมทำงานเป็นคนงานก่อสร้างทางรถไฟ นำค่าแรงส่วนใหญ่มาจ่ายค่าตั๋วหนัง กระทั่งมีโอกาสเข้าศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพ Beijing Film Academy เป็นเพื่อนร่วมชั้นผู้กำกับรุ่นห้า ก่อนได้รับมอบหมายให้ไปทำงานยัง Xi’an Film Studio เริ่มจากผู้ช่วยตากล้อง ได้รับเครดิตถ่ายภาพครั้งแรก Red Sorghum (1987) ผลงานเด่นๆ อาทิ Ju Dou (1990), Farewell, My Concubine (1993), In the Heat of the Sun (1994), ก่อนหันมากำกับภาพยนตร์ Peacock (2008), And the Spring Comes (2007) ฯ

อีกเครดิตถ่ายภาพคือ หยางลัน, Yang Lun ได้ร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมวสามครั้ง Codename Cougar (1989), Ju Dou (1990) และ Raise the Red Lantern (1991)

งานภาพของ Ju Dou (1990) มีความแตกต่างจาก Red Sorghum (1987) อยู่พอสมควร ไม่เน้นอาบชโฉมด้วยแสงสี แต่จะทำให้มีความกลมกลืนพื้นหลังมากขึ้น แล้วแทรกใส่สีสันในองค์ประกอบสำคัญๆ อาทิ ผ้าย้อม, เครื่องแต่งกาย, หมอนผ้าห่ม, โคมไฟ ฯ อาจต้องใช้การสังเกตสักเล็กน้อย ก็จักพบเห็นความโดดเด่นชัดขึ้นมา

ขณะที่ Red Sorghum (1988) ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Eastmancolor ขนาดภาพ Anamorphic Widescreen (2.35:1) มีความยิ่งใหญ่อลังการเมื่อฉายผ่านจอภาพยนตร์, แต่สำหรับ Ju Dou (1990) กลับเปลี่ยนมาใช้ Technicolor อัตราส่วน Academy Ratio (1.37:1) ที่เหมาะสำหรับฉายทางโทรทัศน์ นั่นทำให้อรรถรสในการรับชมผิดแผกแตกต่างไม่น้อยเลยนะ!

ผมครุ่นคิดว่ามันอาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับจางอี้โหมว เพื่อใช้กรอบภาพที่คับแคบ แทนขนบประเพณีโบร่ำราณที่คอยควบคุมครอบงำผู้คน ตัวละครไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นออกจากกฎกรอบทางสังคม/สถานที่แห่งนี้ และยังสร้างความอึดอัดอั้น บีบเค้นคั้นผู้ชม ต่อเรื่องราวที่เต็มไปด้วยประเด็นต้องห้าม นำเสนอความอัปลักษณ์พิศดารภายในจิตใจมนุษย์ นำพาสู่หายนะ โศกนาฎกรรม


หนักปักหลังถ่ายทำยังหมู่บ้านหนานผิง (南屏村, Nanping Village) สมัยก่อนเคยชื่อหมู่บ้านตระกูลอี้ (叶村, Ye Village) ตั้งอยู่ใกล้ๆเมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน, สถานที่เก่าแก่สุด คืออาคารบรรพบุรุษ (Ancestral Hall) สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368) ขณะที่บ้านช่องส่วนใหญ่ทะยอยก่อสร้างสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) จำนวนกว่า 300 หลัง 72 ตรอกซอกซอย และ 36 บ่อน้ำขุด ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์/โบราณสถาน เปิดให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินเข้าชม

เกร็ด: นอกจาก Ju Dou (1990) ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องที่ทำให้หมู่บ้านหนานผิง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวล้นหลาม นั่นคือ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

รายละเอียดท่องเที่ยว: https://www.chinadiscovery.com/anhui/huangshan/nanping-village.html

ภาพแรกของสองตัวละครหลัก มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม

  • หยางเทียนจิน เริ่มต้นด้วยการเดินทางกลับจากค้าขายผ้าย้อมสี แทนด้วยวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างล่องลอยเรื่อยเปื่อย ‘free spirit’ ไร้ความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เลยถูกมองว่าเป็นคนโง่เขลา แต่ก็โหยหาใครบางคนมาอยู่เคียงข้างกาย
  • ขณะที่บิดาบุญธรรมหยางจินชาน กำลังนั่งรับประทานอาหาร ด้านหลังมีป้ายบรรพบุรุษ แสดงถึงความยึดถือมั่นในขนบประเพณี กฎกรอบวิถีเคยดำเนินมา และยังมีความเย่อหยิ่งทะนงตน ครุ่นคิดว่าฉันสูงส่งเลยชอบพูดจาดูถูกถากถาง โดยเฉพาะกับบุตรบุญธรรมและภรรยา สนเพียงแค่ว่าทำอย่างไรให้มีทายาทสืบวงศ์สกุล

เสื้อผ้า กางเกง กระโปรง ต่างคือสิ่งใช้ปกปิดเรือนร่างกาย สวมใส่เพื่อมิให้ใครอื่นพบเห็นของลับของหวง ของส่วนตัวที่ไม่ต้องการเปิดเผยสู่สาธารณะ, ขณะที่ลวดลายสีสันบนเครื่องแต่งกาย มักสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ห้วงอารมณ์ผู้สวมใส่ หรือเพื่อให้สอดคล้องเหตุการณ์/ช่วงเวลาขณะนั้นๆ

สำหรับโรงงานย้อมผ้า ผมครุ่นคิดว่ามีนัยยะคล้ายกิ้งก่าเปลี่ยนสี สัญลักษณ์ของการปรับเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ภายนอก เพื่อการธำรงชีพรอดในสังคม, ซึ่งถ้าเราเปรียบสถานที่แห่งนี้คือประเทศจีน การย้อมสีผ้าสามารถสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เริ่มจากราชาธิปไตย สู่สาธารณรัฐจีน (ของพรรคก๊กมินตั๋น) และกลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน (ของพรรคคอมมิวนิสต์) … แต่ไม่ได้แปลว่าความครุ่นคิด หรือสภาพจิตใจ ของตัวละคร จะผันแปรเปลี่ยนไปตามผู้บริหารประเทศนะครับ

ลักษณะภายในโรงงานย้อมผ้า จะเต็มไปด้วยชักรอก ล้อหมุน เสาคาน มีบ่อสำหรับทำความสะอาดและชุบสีแยกออกจากกัน บริเวณกลางบ้านจะเปิดหลังคาโล่งสำหรับตากแดดผึ่งผ้า ดูแล้วเป็นงานค่อนข้างหนัก และใช้เวลาพอสมควร (เพราะการชุบสีคงไม่ต่างจากย้อมผม ต้องทำซ้ำหลายรอบเพื่อให้ติดทนในเนื้อผ้า) … กระบวนการเหล่านี้นอกจากเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ปัจจุบันคงหารับชมได้ยากยิ่ง สามารถสื่อถึงกลไกของชีวิต หรือกระบวนการขับเคลื่อนประเทศชาติ

ภาพแรกของจูโด ปรากฎต่อหน้าหยางเทียนจิน (ที่ไม่ใช่การแอบถ้ำมองด้านหลัง) ใบหน้าดูซีดเซียว สายตาล่องลอยเคว้งคว้าง ราวกับคนไร้ซึ่งจิตวิญญาณ แต่ชุดสีเหลืองในเชิงสัญลักษณ์ของดอกเบญจมาศหมายถึง ‘สยบหัวใจ’ น่าจะสื่อแทนความรู้สึกภายใน (ของหยางเทียนจิน) ตกหลุมรักแรกพบโดยทันที

ในช่วงองก์แรกๆ ไม่ใช่แค่เสื้อของจูโด แต่ยังผ้าย้อม หรือขณะเทส่วนผสมสีลงน้ำ ล้วนขับเน้นโทนเหลืองจนโดดเด่นชัด ซึ่งช่วงเวลาขณะนั้นตัวละครจะมีความอึดอัดอั้น ระทมทุกข์ทรมาน จากการถูกกดขี่ข่มเหง อยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบทางสังคม วิถีชีวิตที่ยังคงคร่ำครึ โบร่ำราณ หรือนัยยะถึงช่วงเวลาที่ประเทศจีนยังปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย (สีเหลืองแลดูคล้ายสีทอง ซึ่งถือเป็นสีของจักรพรรดิจีน)

ไม่ว่าจะการถ้ำมองผ่านรู หรือแอบมองผ่านร่องล้อหมุน หรือการเผชิญหน้าครั้งแรกๆระหว่างหยางจินเทียนกับจูโด จะมีการตัดต่อระหว่างใบหน้าตัวละคร-ภาพพบเห็น หรือในลักษณะ Action-Reaction สลับไปกลับมาอยู่หลายครั้งจนผิดสังเกต วิธีการดังกล่าวโดยไม่รู้ตัวสร้างความเขินอาย กระวนกระวาย สีหน้าของพวกเขาก็ดูรุกรี้รุกรน ขลาดหวาดกลัวการถูกจับได้ไล่ทัน

การถ้ำมองผ่านรู ทำให้หยางจินเทียนพบเห็นความงดงามของเนื้อหนัง เรือนร่างกาย, ส่วนการแอบมองผ่านร่องล้อหมุน เห็นจูโดที่อยู่เบื้องบน (กำลังตากผ้าเพิ่งย้อมสีเสร็จ) แสงสว่างภายนอกสาดส่องเข้ามา ทำให้หญิงสาวราวกับนางฟ้า (บางช็อตใบหน้าจะบดบัง/ถ่ายย้อนแสงพระอาทิตย์พอดิบดี) งดงามเหมือนกำลังอาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์

ขณะเทสี(เหลือง)ลงน้ำ (แต่มันก็ดูเหมือนสีของเลือด) สังเกตว่ามันเริ่มจากหยดหย่อมเล็กๆ ก่อนแพร่กระจายจนเต็มบ่อ แฝงนัยยะถึงอุดมการณ์ทางความคิด ทัศนคติบางอย่างที่ผิดแผกแตกต่าง เมื่อมันถูกส่งต่อก็สามารถแพร่ขยายออกสู่วงกว้าง รวดเร็วดั่งไฟลามท่วมทุ่ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ชำระล้างขนบวิถีดั้งเดิมจนหมดสิ้น

ในบริบทนี้ผมมองว่าคืออคติ/ความบาดหมางของหยางเทียนจินต่อบิดาบุญธรรม จากเคยแค่ใคร่รู้ใครสงสัย ค่อยๆขยับขยายรูถ้ำมอง จนกระทั่งบังเกิดความอิจฉาริษยา ถึงขนาดครุ่นคิดเข่นฆาตกรรม นั่นคือวินาทีที่ส่วนผสมสีเหลืองแพร่กระจายทั่วบ่อ ไม่หลงเหลือความบริสุทธิ์/น้ำใสสะอาดอีกต่อไป

ยามค่ำคืนในหนังมักไม่ค่อยมืดมิดดำสนิท แต่จะมีการใช้แสงสีน้ำเงิน มอบความหนาวเหน็บ เย็นยะเยือกทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะหยางเทียนจิน ค่ำคืนหนึ่งแทบมิอาจอดรนทนต่อเสียงกรีดร้อง ทนทุกข์ทรมานของจูโด ถึงขนาดคว้ามีดอีโต้ตั้งใจจะ … แต่ก็ทำได้เพียงฟาดฟันบันได มิอาจกระทำร้ายบิดาบุญธรรม

ปล. สังเกตว่าห้องนอนของหยางจินชาง (และจูโด) จะอยู่ชั้นบนต้องเดินขึ้นบันได แสดงถึงบรรดาศักดิ์ ชนชั้นในตระกูลแห่งนี้มีความสูงส่งกว่าหยางเทียนจิน หลับนอนอยู่ชั้นล่าง บริเวณใกล้ๆคอกม้า

จูโด จากเคยหวาดกลัวเกรง ไม่ต้องการให้หยางเทียนจินแอบถ้ำมอง ครุ่นคิดกระทำมิดีมิงามต่อตนเอง แต่หลังจากถูกสามีกระทำร้าย ตกอยู่ในสภาพปางตายไม่เว้นวัน เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอก็เริ่มตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง รับรู้ว่ามีแสงสว่างสาดส่องอยู่ด้านหลัง ขอเพียงปลดเปลื้องเสื้อผ้า คลายพันธนาการ(ทางสังคม)ที่ยึดเหนี่ยวรั้ง แล้วหันไปเผชิญหน้ากับมัน ก็อาจค้นพบเจอความสุข ดิ้นหลุดพ้นจากช่วงเวลาทนทุกข์ทรมาน

ผมชื่นชอบการปลดปล่อยตนเองของกงลี่ช็อตนี้อย่างมากๆ แม้ยังมีอาการหวาดหวั่นสั่นกลัวอยู่เล็กๆ แต่เพื่อให้สามารถดิ้นหลุดพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์ทรมาน จึงยินยอมพร้อมเสี่ยง ถอดเสื้อผ้า หันไปหาแสงสว่างด้านหลัง (หยางเทียนจินที่กำลังแอบถ้ำมอง) เพื่อเริ่มต้นการลวงล่อ หยอกเย้า ทำให้เขาตกหลุมรัก จักได้ปรนเปรอปรนิบัติ ตอบสนองตัณหาความใคร่ เติมเต็มความต้องการ/พึงพอใจของตนเอง

กลับตารปัตรกับตอนที่หยางเทียนจินแอบถ้ำมองผ่านร่องล้อหมุน จูโดยืนอยู่ด้านล่างพยายามพูดคำโน้มน้าวให้เขาที่อยู่ด้านบน (แต่จะไม่มีลำแสงสว่างใดๆสาดส่องเข้ามา) กระทำการเข่นฆาตกรรมหยางจินชาง ไม่อาจอดรนทนต่อพฤติกรรมชั่วช้าต่ำทรามของสามีได้อีกต่อไป แต่ว่าที่ชู้รักกลับบอกปัดปฏิเสธ แสดงออกอย่างขลาดเขลา นั่นบิดาบุญธรรม ฉันทำได้เสียที่ไหนกัน!

สังเกตว่าจูโดพยายามชักดึงผ้าสีชมพู (สีของความรัก) น่าจะผืนเดียวกับที่หยางเทียนจินกำลังตากผึ่งแดด นัยยะถึงการฉุดลาก ต้องการดึงเขาลงมา ร้องร้องขอให้กระทำในสิ่งที่ตนปรารถนา (ตอบสนองความรัก)

หยางเทียนจินพยายามอย่างยิ่งจะปิดกั้นตนเอง ล็อกประตูห้องนอน ไม่ต้องการให้จูโดกระทำสิ่งไม่ดีไม่งามต่อตนเอง (นี่เป็นการย้อนแย้ง/กลับตารปัตรพฤติกรรมของจูโดก่อนหน้าการปลดปล่อยตนเอง) แต่จนแล้วจนรอด ก็มิอาจอดรนทนต่อมารยาหญิง หลังถูกเธอโอบกอด เหนี่ยวรัด ในที่สุดเขาก็ผลักเธอลงนอน ใช้เท้าเขี่ยไม้คั่น ผ้าย้อมแดงเพิ่งตากไว้ไหลตกหล่นกองเต็มพื้น (ล้อกับผ้าชมพูที่จูโดเคยพยายามฉุดดึงเขาลงมา ผ้าแดงในครานี้สื่อถึงการสูญเสียความบริสุทธิ์ทางจิตใจ ครั้งแรกที่พวกเขากระทำสิ่งขัดแย้งต่อขนบประเพณี ผิดหลังศีลธรรม/มโนธรรม)

การโอบกอดจากด้านหลังของจูโด แสดงถึงตำแหน่งอิสตรีสมัยเก่าก่อนเป็นได้เพียงช้างเท้าหลัง ต้องการบุรุษออกนำอยู่เบื้องหน้า แม้พฤติกรรมของเธอจะพยายามโน้มน้าวชักจูงจมูก เกี้ยวพาราสี จนได้ครองคู่อยู่รวม แต่ก็ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นพันธนาการทางสังคมดังกล่าวไปได้

หลังเสร็จกามกิจครั้งนั้น กล้องจะค่อยๆ Tilt Up อย่าง Slow-Motion เลื่อนขึ้นให้เห็นผ้าสีเหลือง&ส้มที่ตากทิ้งไว้ (ผ้าสองสีสามารถเทียบแทนการปฏิสนธิ บุตรในครรภ์ได้รับโครโมโซมครึ่งหนึ่งจากบิดา อีกครึ่งจากมารดา) เมื่อพบเห็นพระอาทิตย์สาดส่องแสง จะมีการ Cross-Cutting มาที่ห้องนอนของหยางจินชาง (บริเวณศีรษะของเขาพอดิบดี) แพทย์ทำการวินิจฉัยว่า จูโดกำลังตั้งครรภ์

ถ้าตามภาษาภาพยนตร์ช็อตนี้ ก็มีแนวโน้มสูงมากๆที่บุตรในครรภ์จะเป็นของหยางจินชาง (เพราะแสงอาทิตย์ที่สาดส่องซ้อนตำแหน่งตัวละครพอดิบดี) แต่การไม่สามารถพิสูจน์ทาง DNA ย่อมไม่มีทางค้นหาคำตอบได้ว่า ไอ้เด็กเวรนั่นลูกใครกันแน่? คลุมเคลือไว้อย่างนี้ช่างลุ่มลึก ร้ายกาจยิ่งนัก!

ทีแรกผมไม่ได้เอะใจนะว่า ทำไมสองฟากฝั่งซ้ายขวาของช็อตนี้ถึงถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด ก่อนมาครุ่นคิดว่าในตระกูลใหญ่ๆ จะมีบุคคลที่เป็นหัวหน้าครอบครัว มีสิทธิ์เสียง อำนาจในการตัดสินใจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว!

นั่นแปลว่าภาพนี้ต้องการแสดงให้เห็นถึงมุมมองข้อจำกัด (คับแคบกว่ากรอบภาพ Academy Ration (1.37:1) เสียอีกนะ!) หัวหน้าครอบครัวต้องยึดถือตามขนบประเพณี วิถีปฏิบัติที่เคยสืบสานต่อกันมา คนรอบข้างต่างทำได้เพียงเสนอแนะความคิดเห็น (เลือนลางอยู่ในเงามืด) แต่สิทธิ์ในการตัดสินใจในพิธีเลือกชื่อบุตรชายของหยางจินชาง มีเพียงคนเดียวเท่านั้นให้คำตอบได้

การมาถึงของทารกน้อย ทำให้ห้องนอนที่เคยหนาวเหน็บ บรรยากาศเหือดแห้งแล้ง (ในช่วงฤดูหนาว) ดูอบอุ่น กระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา (น่าจะก้าวสู่ฤดูร้อน) ทั้งยังมีการเปลี่ยนผ้าห่ม ที่นอนหมอนมุ้ง เสื้อผ้าตัวละคร เพื่อรับขวัญสมาชิกใหม่, สองช็อตนี้มอบสัมผัสที่แตกต่างตรงกันข้าม ลองเปรียบเทียบกันดูนะครับ

ระหว่างทางที่หยางเทียนจิน แบกพาหยางจินชาง (ที่พลัดตกหลังม้า) เดินทางกลับบ้าน มันจะมีภาพช็อตนี้ถ่ายจากด้านหลัง แล้วยืนแน่นิ่งอยู่สักพักหนึ่ง หลายคนอาจไม่ได้ครุ่นคิดอะไร แต่ผมกลับรู้สึกว่านี่คือความสองจิตสองใจของตัวละคร เพราะถือเป็นโอกาสจะกระทำการปิตุฆาตพ่อบุญธรรม (ภาพช็อตนี้ให้ความรู้สึกเหมือน หยางเทียนจินยืนอยู่บริเวณริมหน้าผา กำลังจะทิ้งหยางจินชางให้ตกลงเบื้องล่าง) ถึงอย่างนั้นหมอนี่ก็ปอดแหกเกินเยียวยา

การครุ่นคิดว่านี่เป็นอีกครั้ง(ที่สอง)ที่หยางเทียนจินครุ่นคิดฆาตกรรมบิดาบุญธรรม (ครั้งแรกยามค่ำคืน ถือมีดอีโต้ฟาดฟันบันได) ถือว่าสอดคล้องกับสองครั้งที่หยางจินชางเคยประทุษร้ายบุตรชาย (ครั้งแรกผลักให้ตกจากเตียง, ครั้งที่สองจุดไฟเผาไหม้) ส่วนครั้งที่สามของพวกเขาต่างมีเหตุผลบางอย่างให้ล้มเลิกความตั้งใจ

  • หยางเทียนจินครุ่นคิดฆาตกรรมบิดาบุญธรรม
    • ครั้งแรก, ถือมีดอีโต้ฟาดฟันบันได
    • ครั้งสอง, ตั้งใจจะทอดทิ้งลงหุบเหว
    • ครั้งถัดๆไปตัดสินใจไว้ชีวิต เพื่อให้หยางจินชานต้องทนทุกข์ทรมานกับการยังมีชีวิตอยู่ (ตายทั้งเป็น)
  • หยางจินชางประทุษร้ายบุตรชาย
    • ครั้งแรก, ผลักให้ตกจากเตียงนอน
    • ครั้งสอง, ทำการจุดไฟเผาบ้าน
    • ขณะกำลังจะผลักเด็กชายให้ตกบ่อย้อมสี แต่เมื่อได้ยินเสียงเรียกบิดา จึงเปลี่ยนมาแสดงความรัก สร้างความทุกข์ทรมานทางใจต่อหยางเทียนจิน เพราะไม่สามารถเปิดเผยความจริง อยู่เคียงชิดใกล้ (และก็ไม่ได้รับการยินยอมรับจากบุตรชาย)

หลังจากหมอวินิจฉัยว่า หยางจินชางล้มป่วยกลายเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่าง หนุ่มสาวทั้งสองจึงแสร้งว่าทำพิธีมงคงสมรส สวมใส่ชุดใหม่เอี่ยม รินเทเหล้าให้แก่กัน บทเพลงสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ต่อจากนี้ในบ้านหลังนี้ พวกเขาจะสามารถร่วมรักหลับนอน อาศัยอยู่เคียงข้างกันโดยไม่ต้องหวาดกลัวเกรงอีกต่อไป … นี่น่าจะเป็นฉากที่พวกเขาทั้งสองมีความสุขที่สุดแล้วกระมัง

ช่วงเวลาแห่งความสุขระหว่างหยางเทียนจินกับจูโด โลกของพวกเขาช่างเต็มไปด้วยสีสัน (ผืนผ้าตากอยู่มีแดง, ส้ม, เหลือง และที่ยังไม่ตากสีเขียว, ชมพู ฯ) ทารกน้อยสวมใส่ชุดสีชมพู (สัญลักษณ์แทนความรัก) และมีการขับร้องบทเพลงกล่อมเด็ก (แต่นัยยะของเพลงนี้ทั้งเสียดสีและเสื่อมๆ)

Hear the bell … ding dong.
Here we are … at Village Wang.
So many dogs … here they come.
They attack us … but we can’t run!
We can’t run … so we go home.
Play the horn … just for fun.

เจ้าสุนัขสามารถเทียบแทนด้วยผู้คนในชุมชน ญาติพี่น้อง เสียงเห่าหอน=คำซุบซิบนินทา บางครั้งพวกมันก็พยายามแว้งกัดจากข่าวลือเสียๆหายๆ แต่ถ้าเราหลบหนีกลับเข้าบ้าน ปิดประตูหน้าต่าง แล้วเล่นเป่าแตร (สัญลักษณ์ของการ Blowjob) ก็ไม่จำเป็นต้องไปสนใจอะไรใครอีกต่อไป

ความล้มเหลวในการเข่นฆาตกรรมทารกน้อย ทำให้หยางจินชางโดนจับใส่ถัง ทุกค่ำคืนต้องถูกชักรอกให้ห้อยต่องแต่งอยู่กลางอากาศ ไม่สามารถวางแผนกระทำอะไรได้อีกต่อไป! เราสามารถมองเหตุการณ์นี้ในเชิงสัญลักษณ์ ถึงผลกรรมที่เขาเคยกระทำไว้ ตั้งแต่การปล่อยปละละเลย ไม่เคยสนใจหยางเทียนจิน รวมถึงใช้ความรุนแรงกับจูโด (นั่งทับด้านบน) ด้วยเหตุนี้ชีวิตเขาจึงรางกับถูกแขวนอยู่บนเส้นเชือก (จะอยู่หรือตายขึ้นกับหญิงโฉดชายชั่วคู่นี้)

หลายปีถัดมาเมื่อเด็กชายเติบโตขึ้น (แต่ยังไม่ค่อยรู้เดียงสาสักเท่าไหร่) สังเกตว่าสีผ้าและน้ำย้อม จะเปลี่ยนมาเป็นโทนน้ำเงิน สะท้อนถึงช่วงเวลาแห่งความสุข (ของหยางเทียนจินกับจูโด) ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด พวกเขากำลังจะได้รับความหนาวเหน็บ ทุกข์ทรมานทางใจ จากการต้องระวังตัวไม่ให้มีน้องคนใหม่ และบุตรชายคนนี้เชื่อว่าบิดาของตนเองคือหยางจินชาง

หยางเทียนจินต้องการร่วมรักหลับนอนกับจูโด แต่ถูกหักห้ามเพราะประจำเดือนขาด หวาดหวั่นว่าอาจกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งนั่นจะสร้างข้อครหาไปทั่วว่าใครคือพ่อของเด็ก (เพราะหยางจิงชาง ล้มป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป)

สถานที่แห่งนี้คือทุ่งดอกหญ้า แต่ไม่ได้ขึ้นหนาทึบจนสามารถบดบังความสัมพันธ์ของทั้งสอง (ล้อกับภาพยนตร์ Red Sorghum (1988)) เป็นการสะท้อนว่า ‘หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง’ ไม่มีสถานที่ภายนอกสำหรับพวกเขาจะพรอดรักกันอีกต่อไป ต่อจากนี้ต้องเริ่มระวังตัวมากขึ้น ความสุขเคยมีมาก็ค่อยๆลดน้อยลงไป

เมื่อบุตรชายเรียกหยางจินชางว่าเตี่ย (คำเรียกบิดา ของภาษาจีน) เสียงฆ้องดังลั่น ปลุกให้เขาล้มเลิกแผนการเข่นฆาตกรรม ถาโถมเข้าโอบกอด แล้วลากพาสังขารเดินผ่านตรอกซอกซอยอันคับแคบ มีกำแพงห้อมล้อมสองฟากฝั่ง เพื่อไปเผชิญหน้าหญิงโฉดชายชั่ว อวดอ้างให้โลกรู้ว่าใครคือพ่อของเด็กคนนี้ที่แท้จริง

การเผชิญหน้ายังสถานที่แห่งนี้ สื่อถึงเส้นทางชีวิตที่คับแคบ แออัด ไม่สามารถแม้จะสวนทาง มีเพียงทางเข้า-ทางออก คือเลือกเผชิญหน้า หรือปกปิดซุกซ่อนเร้นปัญหา นั่นคืออดรนทนต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรือเปิดเผยพูดบอกความจริงกับบุตรชาย (ว่าใครคือบิดาแท้จริง)

เงาที่ทอดยาวของทั้งหยางเทียนจินและจูโด หลังจากบุตรชายเรียกหยางจินชางว่าบิดา มอบสัมผัสที่สามารถสื่อถึงความหวาดหวั่น วิตกกังวล กลัวสิ่งอาจบังเกิดขึ้นในอนาคต แม้สักวันพวกเขาจะพูดบอกความจริง (ตามความเชื่อของพวกเขา) แต่ความเข้าใจของลูกจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลง ยินยอมรับได้หรือเปล่า?

งานเลี้ยงวันเกิดครบรอบสามขวบ (นี่ก็น่าจะเป็นอีกขนบประเพณีของตระกูลนี้) สังเกตว่ามีเพียงเด็กชายสวมใส่ชุดสีแดง (พระเอกของงาน) เพื่อให้มีความโดดเด่นชัดที่สุด ส่วนผู้เข้าร่วมงานอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่บิดา-มารดา ยังต้องแต่งตัวให้กลมกลืนกับพื้นหลัง ลองมองหากันดูนะครับว่าใครนั่งอยู่ตำแหน่งกันบ้าง

แม้เป็นฉากงานเลี้ยงมงคล แต่เมื่อต้องกล่าวสุนทรพจน์ หยางเทียนจิน กลับต้องกล้ำกลืนฝืนทน ถึงขนาดหลั่งน้ำตากับคำโป้ปดของตนเอง สร้างรอยยิ้มของผู้ชนะให้กับหยางจินชาง รู้สึกสะใจเป็นบ้า! ถึงอย่างนั้นคนส่วนใหญ่ล้วนเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าสิ่งที่พูดกล่าวออกมานั้นจริงใจ กตัญญูรู้คุณบิดา … ส่วนจูโด ไม่มีสิทธิ์เสียงอะไรในสถานที่แห่งนี้

ด้วยความหวาดกลัวการตั้งครรภ์ ทำให้จูโดสรรหาสรรพวิธีในการล้วงเด็กออกจากช่องคลอด ผลลัพท์ไม่รู้ว่าแท้งหรือเปล่า แต่ทำให้ร่างกายหมดสิ้นสภาพ ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป ฟุบล้มขณะกำลังตากผ้าสีคราม หลงเหลือเพียงความหนาวเหน็บ สั่นสะท้านหัวใจ (ส่วนผ้าเหลืองด้านหลัง คือตัวเธออดีตที่สูญเสียไป)

และระหว่างเดินทางกลับหลังพบหมอ ทิวทัศน์สองข้างทางดูแห้งแล้ง จัดแสงให้หยาบกระด้าง ไร้ความสดชื่นชีวิตชีวา นี่เป็นอีกรอยบาดหมางระหว่างพวกเขา ไม่สามารถเติมเต็มความสุขให้กันได้อีกเหมือนเก่า

ด้วยความใสซื่อไร้เดียงสาของเด็กชาย พลาดพลั้งดึงเชือก (ล้อกับตอนถูกแขวนบนเส้นชือก ห้อยต่องแต่งกลางอากาศ) ทำให้หยางจินชางพลัดตกบ่อย้อมสีแดง (สามารถมองว่าเป็นสีของเลือด ความตาย) พยายามดิ้นรน ตะเกียกตะกาย แต่เพราะร่างกายเป็นอัมพาต เลยไม่สามารถกระทำอะไร ส่วนเด็กน้อยแค่ยืนมอง ยิ้มเยาะ ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าบังเกิดอะไขึ้น

หลังการเสียชีวิตของหยางจินชาง จะมีช็อตหนึ่งที่หยางเทียนจิน กำลังจะเดินผ่านช่องทางแคบๆ (ล้อกับตอนที่หยางจินชางนำพาบุตรชายมาอวดอ้าง เรียกตนเองว่าเตี่ย) แม้ครานี้จะไม่มีใครมีกีดกั้นขวางทาง แต่เขากลับสูญเสียความกล้าที่จะก้าวเดินไปอีกฟากฝั่ง ทำได้แค่มาทางไหนก็หวนกลับไปทางนั้น … เรื่องราวต่อจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างหยางเทียนจินกับจูโด จึงเหมือนย้อนกลับไปองก์แรก จำใจต้องแยกจาก และหาหนทางลับๆล่อๆ แอบๆซุกซ่อนเร้น กลัวใครอื่นพบเห็น

ตามขนบประเพณีโบร่ำราญ ภรรยาต้องนั่งเฝ้าหน้าศพสามี ยามค่ำคืนใช้โทนแสงสีและผ้าคลุมสีน้ำเงิน มอบสัมผัสอันหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านไปถึงทรวงใน แถมทั้งหยางเทียนจินและจูโด ยังเกิดรอยร้าวลึก เพราะต่อจากนี้(ตามประเพณี)จะไม่สามารถอาศัยอยู่ชายคาเดียวกัน สูญสิ้นโอกาสครองคู่อยู่ร่วม เติมเต็มความสุขกระสันต์ยามค่ำคืนอีกต่อไป

ผมสังเกตว่าหลายๆช็อตจะถ่ายให้ติดผ้าคลุมศพของหยางจินชาง เหมือนต้องการนำเสนอผ่านมุมมองคนตาย แม้ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว แสดงออกปฏิกิริยาใดๆ ผู้ชมก็น่าจะสัมผัสได้ถึงรอยยิ้มกริ่มแห่งชัยชนะ สาสมน้ำหน้าหญิงโฉดชายชั่วคู่นี้

เท่าที่ผมหาสามารถค้นหาข้อมูล ประเพณีนี้เหมือนได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดขงจื๊อ โดยคนใกล้ชิดผู้ตายทำการขัดขวางระหว่างเส้นทางขบวนแห่ศพ 49 ครั้ง (เท่ากับความเชื่อที่ว่า วิญญาณผู้เสียชีวิตจะยังล่องลอยอยู่บนโลก 49 วัน ก่อนไปจุติใหม่) เพื่อเป็นการพิสูจน์/แสดงออกความรัก ไม่ต้องการให้ร่ำลาจากโลกนี้ไป

นี่เป็นประเพณีที่ฟังดูไร้สาระโคตรๆ แต่แฝงกุศโลบายถึงผู้ยังมีชีวิต สามารถคลายความหมกมุ่นยึดติดต่อผู้ตาย เพราะการต้องขัดขวางเส้นทางขบวนแห่ศพถึง 49 ครั้ง ย่อมสร้างความเหน็ดเหนื่อยหน่าย ทุกข์ทรมานกาย-ใจ (ผมว่าสองสามครั้งก็สาแก่ใจแล้วนะ) คราบน้ำตาที่เคยมีให้ย่อมแห้งเหือด พร้อมปลดปล่อยให้คนรักไปสู่สุขคติสักที

แต่ในกรณีของหยางเทียนจินและจูโด ทั้งสองไม่ได้มีความรู้สึกใดๆต่อหยางจินชาง เพียงจำใจต้องเล่นละคอนตบตา สร้างภาพให้สังคมยินยอมรับ ด้วยเหตุนี้จึงเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เสียเวลา สภาพจิตใจห่อเหี่ยว รวดร้าวระทมทวย

หลายปีผ่านไป เด็กชายเติบใหญ่จนรับรู้ประสีประสา นั่นทำให้หยางเทียนจินไม่สามารถพรอดรักจูโดได้อย่างโจ่งแจ้งอีกต่อไป

  • เมื่อทั้งสามอยู่พร้อมหน้า หยางเทียนจินและจูโดต้องนั่งอยู่ห่างๆ มีเสาไม้ขวางกั้น
  • แต่เมื่อไหร่เด็กชายหายตัวไป ชู้รักทั้งสองจะหามุมแคบๆชิดใกล้ พรอดรัก เกี้ยวพาราสี
    • ตะเกียบ ฝากไปมอบให้บุตรชาย คือสัญลักษณ์ของการกินดีอยู่ดี ไม่ต้องอดอยากปากแห้ง
    • ผ้าคลุมศีรษะสีแดง แสดงถึงความยังสวยสาว ไร้เดียงสา เหมือนหนูน้อยหมวกแดง (แต่ผมรู้สึกเหมือนกำลังถูกลวงล่อหลอก โดยหมาป่าเสียมากกว่า)
  • แล้วเมื่อเด็กชายกลับมา มองผ่านระหว่างถังไม้พบเห็นทั้งสองชิดใกล้ ก็แสดงปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่อาจยินยอมรับภาพบาดตาบาดใจ

เด็กชายไม่สามารถอดรนทนต่อเสียงซุบซิบนินทา จึงถือมีดอีโต้ (ล้อกับตอนที่หยางเทียนจิน ครุ่นคิดเข่นฆ่าบิดาบุญธรรม แต่ทำได้เพียงฟาดฟันบันได) วิ่งไล่จะฟาดฟันคนปล่อยข่าวลือดังกล่าว ผมว่าถ้าจับได้ไล่ทันก็อาจมีคนตกตายแน่ๆ โชคยังดีหมอนั่นสามารถหลบลี้หนีทัน

ฉากการไล่ล่า สังเกตว่าทั้งสองตัวละครต่างวิ่งตามตรอกซอกซอยที่มีความคับแคบ เหมือนเขาวงกต สะท้อนถึงสภาพจิตใจที่ถูกบีบบังคับ (เด็กชาย)ไม่สามารถหาหนทางออกจากปัญหาอันซับซ้อนดังกล่าวได้

ความไม่พึงพอใจต่อข่าวลือเสียๆหายๆ ทำให้เมื่อเด็กชายกลับมาถึงบ้านกระทำร้ายหยางเทียนจินจนเลือดกลบปาก ลงไปนอนแผ่พังพาบท่ามกลางผ้าย้อมหลากลายสีสัน (สื่อถึงหลากหลายอารมณ์ความรู้สึกที่ถาโถมเข้าใส่หยางเทียนจิน ไม่รู้จะครุ่นคิด แสดงออก มีปฏิกิริยาต่อเหตุการนี้เช่นไร) แต่เมื่อจูโดก้าวลงจากชั้นบนได้สองสามขั้น (แสดงถึงการลดความเย่อหยิ่งทะนงตน แต่ยังคงวางตัวในตำแหน่งสูงส่ง) ตะโกนพูดบอกว่าชายคนนี้คือบิดาแท้ๆ แต่ภาพที่ตัดไปกลับไม่ใช่บุตรชาย เพียงคานไม้ผุๆ สภาพชำรุดทรุดโทรม (นัยยะถึงไม่มีใครสนใจรับฟัง เพียงบ้านหลังนี้เท่านั้นที่ได้ยิน หรือจะมองว่าสะท้อนสภาพจิตใจของเด็กชาย ที่มีสภาพเสื่อมโทรม ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไข หรือหวนกลับเป็นดั่งเก่า)

เพราะไม่สามารถหาสถานที่อยู่เคียงชิดใกล้ ไปแห่งหนไหนล้วน ‘หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง’ ทั้งสองเลยตัดสินใจลงไปยังห้องเก็บของใต้ดิน (มีสภาพฝุ่นเขรอะ เปรอะเปื้อน สกปรกโสมม สามารถสื่อถึงจุดตกต่ำสุดในชีวิตของพวกเขา) แม้ต้องทุกข์ทรมานเพราะกำลังจะขาดอากาศหายใจ แต่ก็ยินยอมพร้อมตายจากโลกนี้ไปด้วยกัน

ถึงอย่างนั้นเมื่อบุตรชายกลับบ้านมาพบเห็น สามารถให้ความช่วยเหลือไว้ได้ทัน

  • ลากพามารดาขึ้นบันได พระอาทิตย์สาดแสงตรงบริเวณทางออกพอดิบดี เหมือนต้องการสื่อว่าเบื้องบนคือสรวงสวรรค์
  • อุ้มมารดาพานผ่านลานตากผ้าที่เต็มไปด้วยสีสัน ไม่เชิงเป็นสายรุ้ง แต่จะมองว่าคือเส้นทางสู่สรวงสวรรค์ก็ได้เช่นกัน
  • และลากพาขึ้นไปห้องนอนชั้นบน … นี่ก็สรวงสวรรค์อีกเช่นกัน

การให้ความช่วยเหลือมารดานำพาสู่สรวงสวรรค์ (สื่อถึง Sex ก็ได้เช่นกัน) แสดงถึงความรักภักดีของบุตรชาย ฉุดดึงอุ้มเธอขึ้นมาจากขุมนรก ตรงกันข้ามกับบิดาที่ผลักตกลงบ่อย้อมสี นี่คือลักษณะรักแม่เกลียดพ่อ ของปม Oedipus Complex

เด็กชายอุ้มพาบิดาแท้ๆ (ในลักษณะคล้ายๆตอนที่หยางเทียนจิน อุ้มพาหยางจินชางที่เพิ่งพลัดตกจากหลังม้ากลับบ้าน) ก้าวเดินมาถึงบ่อย้อมสี พบเห็นภาพสะท้อนกฎแห่งกรรม (สะท้อนหยางเทียนจินที่เคยครุ่นคิดเข่นฆาตกรรมบิดาบุญธรรมหลายครั้ง) แต่เด็กรุ่นใหม่ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งภายในครอบครัว พบเห็นพ่อ-แม่กระทำสิ่งชั่วร้าย ถูกสังคมตั้งข้อครหา ทำให้พวกเขาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถครุ่นคิดเข้าใจปัญหาของชีวิต เลือกกระทำสิ่งตอบสนองสันชาตญาณ นั่นคือโยนพ่อแท้ๆทิ้งลงบ่อน้ำ ด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธแค้น

วินาทีการจมน้ำเสียชีวิตของหยางเทียนจิน ผ้าย้อมแดงตากไว้ไหลตกหล่นกองลงพื้น (พร้อมเสียงรอกหมุน ราวกับเสียงหัวใจเต้นรัวแรง ก่อนสงบเงียบงัน) ล้อกับตอนที่เขายินยอมศิโรราบต่อจูโด (ครั้งแรกที่ทั้งสองได้ร่วมรักหลับนอน) ต่างคือการสูญเสียร่างกายและจิตวิญญาณ

สำหรับจูโดที่มิอาจทนเห็นโศกนาฎกรรมเช่นนั้น เธอจึงตัดสินใจจุดไฟเผาบ้าน ต้องการทำลายล้างทุกสิ่งอย่างให้มอดไหม้วอดวาย นี่เป็นการแสดงทัศนะอันเกรี้ยวกราดของผู้กำกับจางอี้โหมว ต่อพฤติกรรมไม่เอาอะไรสักอย่างของพวกยุวชนแดง จักนำพาประเทศชาติมุ่งสู่หายนะ

ขณะที่การอาบชโลมด้วยแสงสีแดงในช่วงท้ายของ Red Sorghum (1988) ดูไม่ค่อยแนบเนียนสักเท่าไหร่ ผิดกับ Ju Dou (1990) ใช้แสงสีเหลือง-ส้ม (จะมองว่าเป็นสีประจำตัวของจูโด ก็ว่าได้) ย้อมทั้งภาพขณะไฟกำลังลุกมอดไหม้ แผดเผาทำลายสถานที่แห่งนี้ ซึ่งต้องถือว่ามีความแนบเนียนกว่ามากๆ แถมยังสามารถสื่อนัยยะถึงการแปรสภาพจากเรื่องราวสู่ศิลปะภาพยนตร์ และเมื่อหนังจบลงย่อมสร้างความเกรี้ยวกราดให้ผู้ชมหวนกลับสู่โลกความจริง

ปล. ช็อตนี้ดูเหมือนกงลี่ต้องเสี่ยงตายยืนอยู่ท่ามกลางกองเพลิง แต่เอาจริงๆเป็นการเล่นมุมกล้องเท่านั้นนะครับ ไฟที่พบเห็นน่าจะอยู่ในถาดหรือภาชนะ แค่นำมาวางด้านหน้า-หลังนักแสดง แล้วถ่ายผ่านเปลวเพลิงด้วยเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากๆ ในระยะใกล้ๆ จะทำให้ภาพออกมาลวงหลอกตาประมาณนี้แหละ

ตัดต่อโดย ดูหยวน, Du Yuan ในสังกัด Xi’an Film Studio ขาประจำผู้กำกับจางอี้โหม่วในยุคแรกๆ ตั้งแต่ Ju Dou (1990), Raise the Red Lantern (1991), The Story of Qiu Ju (1992), To Live (1994), Shanghai Triad (1995) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง/สายตาหยางเทียนจิน ตั้งแต่เดินทางกลับจากค้าขายผ้าย้อมสี รับรู้ว่าบิดาบุญธรรมหยางจินชาน เพิ่งแต่งงานใหม่กับจูโด ทำให้เต็มไปด้วยใคร่รู้ใคร่สนใจ ใคร่อยากพบเห็นใบหน้า ถึงขนาดถ้ำมองผ่านรูห้องอาบน้ำ จนกระทั่งเมื่อแรกพบสบตาก็ตกหลุมรักโดยทันที โดยเรื่องราวต่อจากนี้สามารถแบ่งอออกเป็น 4 องก์

  • องก์แรก ความชั่วร้ายกาจของหยางจินชาง
    • หยางจินชาน แต่งงานใหม่กับจูโด แต่กลับใช้งานเธอเยี่ยงทาส
    • หยางเทียนจิน ทำได้เพียงใคร่รู้ใคร่สนใจ แต่ไม่สามารถหาญกล้ากระทำอะไร
  • องก์สอง มารยาหญิงของจูโด
    • จูโดเมื่อพบเห็นพฤติกรรมของหยางเทียนจิน ตอนแรกปฏิเสธต่อต้าน แต่หลังจากนั้นพบเห็นเป็นโอกาส
    • พยายามลวงล่อ หยอกเย้า จนหยางเทียนจินใจอ่อน ยินยอมร่วมรับหลับ และตั้งครรภ์คลอดบุตรชาย
  • องก์สาม ผลกรรมของหยางจินชาน
    • ระหว่างทางกลับ หยางจินชานพลัดตกหลังม้า กลายเป็นอัมพาตท่อนล่าง เมื่อทำได้แค่นอนซมซาน จึงรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างจูโดกับหยางเทียนจิน และใครคือบิดาแท้จริงของบุตรชาย
    • หยางจินชานพยายามหนทางเข่นฆ่าทารกน้อยแต่ไม่เคยสำเร็จ จนกระทั่งเมื่อเด็กชายเรียกเขาว่าพ่อ ทุกสิ่งอย่างเลยผันแปรเปลี่ยนไป
  • องก์สี่ ผลกรรมของจูโด (และหยางเทียนจิน)
    • ความตายของหยางจินชาง ทำให้จูโดและหยางเทียนจินต้องพลัดพรากแยกจาก จำต้องยินยอมทำตามขนบทางสังคม
      • กีดขวางทางเดินพิธีศพ 49 ครั้ง
      • จูโดถูกสั่งห้ามแต่งงานใหม่ และหยางเทียนจินต้องย้ายออกจากบ้าน
    • เมื่อบุตรชายโตขึ้นจนรับรู้ประสีประสา แม้มารดาพูดบอกความจริงก็ปฏิเสธยินยอมรับหยางเทียนจินเป็นบิดา แสดงความโกรธเกลียดไม่พึงพอใจ เมื่อพบเห็นพวกเขาร่วมรักหลับนอน เลยกระทำการปิตุฆาตบิดาแท้ๆ

เรายังสามารถแบ่งแยกครึ่งแรก-ครึ่งหลัง (กึ่งกลางที่จูโดคลอดบุตรชาย หรือหยางจินชานพลัดตกหลังม้าก็ได้เช่นกัน) เพื่อเห็นถึงสิ่งเคยกระทำ-ผลกรรมของตัวละคร ทุกสิ่งอย่างล้วนหวนย้อน สะท้อนกลับเข้าหาพวกเขาเองทั้งหมดทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง

  • (องก์แรก) หยางจินชาน เคยใช้ความรุนแรงกระทำร้ายจูโด (องก์สาม) หลังจากกลายเป็นอัมพาต ได้รับรู้ความจริงหลายๆอย่าง จึงมีสภาพเจ็บปวดรวดร้าวใจ
  • (องก์แรก) หยางเทียนจิน ทำได้เพียงถ้ำแอบมองจูโด (องก์สาม) ทั้งสองได้ครองคู่อยู่ร่วม เติมเต็มความต้องการของกันและกัน
  • (องก์แรก) จูโด ต้องการตั้งครรภ์บุตรชาย เพื่อให้หยางจินชานเลิกกระทำร้ายตนเอง (องก์สาม) พยายามระวังตนเองไม่ให้ตั้งครรภ์ (จนสูญเสียความสามารถในการมีบุตร) เพราะถ้าเกิดพลาดพลั้ง อาจถูกสังคมตั้งข้อครหาอย่างรุนแรง
  • (องก์แรก) หยางเทียนจิน เคยครุ่นคิดจะเข่นฆ่าหยางจินชาน แต่ไม่เคยหาญกล้ากระทำ (องก์สี่) บุตรชายเมื่อถึงจุดแตกหักกับหยางเทียนจิน เลยกระทำการปิตุฆาต
  • (องก์สอง) จูโด พยายามแสวงหาโอกาสนอกใจสามี (องก์สี่) บุตรชายเลยไม่ยินยอมรับทั้งตัวเธอ และหยางเทียนจิน
  • (องก์สาม) หยางจินชาน พยายามเข่นฆ่าบุตรชายหลายครั้ง สุดท้ายเสียชีวิตเพราะความใสสื่อไร้เดียงสา
  • (องก์สาม) จูโดและหยางเทียนจิน ไม่สามารถลงมือเข่นฆ่าหยางจินชาน เลยปล่อยให้เขาทุกข์ทรมานกับการยังมีชีวิต (องก์สี่) ทั้งสองจำต้องกีดขวางทางเดินพิธีศพถึง 49 ครั้ง!
    ฯลฯ

เพลงประกอบโดย เจ้าจี้ผิง, Zhao Jiping (เกิดปี 1945) นักแต่งเพลงจากมณฑลฉ่านซี ตั้งแต่เด็กมีความสนใจทั้งดนตรีคลาสสิกและพื้นบ้านจีน สำเร็จการศึกษาจาก Xi’an Music Conservatory เมื่อปี 1970 แล้วทำงานในสถาบันโอเปร่าท้องถิ่นจนถึงปี 1978 ก่อนตัดใจออกมาร่ำเรียนต่อด้านการประพันธ์เพลงที่ Central Conservatory of Music ณ กรุงปักกิ่ง เริ่มทำงานวงการภาพยนตร์ตั้งแต่ Yellow Earth (1984) และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่นห้า ผลงานเด่นๆ อาทิ Red Sorghum (1988), Raise the Red Lantern (1991), Farewell, My Concubine (1993, To Live (1994), A Chinese Odyssey (1995) ฯ

ขณะที่ Yellow Earth (1984) และ Red Sorghum (1988) เต็มไปด้วยการร้องรำ กระโดดโลดเต้น ได้ยินบทเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่น แต่สำหรับ Ju Dou (1990) แทบไม่มีโอกาสที่ตัวละครจะหาเวลามาขับขาน ส่งเสียงแห่งความสุขสำราญ วันๆต้องทำงานเหน็ดเหนื่อย แถมยังถูกกดขี่ข่มเหง เต็มไปด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ส่วนใหญ่เลยได้ยินท่วงทำนองที่มีความโหยหวน ลมหายใจอันแผ่วเบา (ใช้เครื่องเป่าเป็นหลัก) และมักผสมเข้ากับเสียง Sound Effect ให้มีความกลมกลืน สอดประสาน ถ้าไม่ตั้งใจฟังก็อาจแทบไม่ได้ยินเพลงประกอบใดๆ

ด้วยเหตุนี้งานเพลงของหนัง จึงทำหน้าที่เพียงส่วนเติมเต็มบรรยากาศ สร้างความกลมกลืม ผสมผสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่ง สำหรับคนรับชมแบบผ่านๆ ย่อมไม่รู้สึกตราตรึง หรือถูกพูดกล่าวถึงสักเท่าไหร่ แต่โดยส่วนตัวมองว่านี่คือพัฒนาการที่น่าสนใจของเจ้าจี้ผิง เพราะใช้เพียงเครื่องดนตรีท้องถิ่น ท่วงทำนองพื้นบ้าน สำหรับถ่ายทอดห้วงอารมณ์ฉากนั้นๆ เป็นความท้าทาย ขายความคิดสร้างสรรค์ เสริมเอกลักษณ์ความเป็นจีน ยอดเยี่ยมไม่ย่อหย่อนไปกว่าดนตรีคลาสสิกตะวันตก

Ju Dou นำเสนอวงจรอุบาศว์ของการยึดถือมั่นในขนบประเพณี วิถีชีวิตโบร่ำราณ ที่ทำให้บุคคล (โดยเฉพาะหญิงสาว) เมื่ออยู่ภายใต้กฎกรอบสังคม จักถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้กระทำโน่นนี่นั่น ไร้สิทธิ์เสียง เพียงตามคำสั่ง จึงแทบไม่มีโอกาสดิ้นหลุดพ้นพันธนาการ แสวงหาความสุขสำราญ ตอบสนองความพึงพอใจส่วนตน

ชื่อหนังภาษาไทย ‘จูโด เธอผิดหรือไม่ผิด’ คงเป็นคำถามชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด การพยายามแสวงหาอิสรภาพของหญิงสาว ต้องการดิ้นหลุดพ้นพันธนาการสังคม แม้มันจะขัดต่อขนบประเพณี วิถีชีวิตโบร่ำราณ หรือแม้แต่จิตสำนึกมโนธรรม ด้วยการคบชู้หลานชาย กระทำร้ายสามี ทั้งยังเคยครุ่นคิดเข่นฆาตกรรม มันผิดหรือไม่ผิด?

คนฝั่งอนุรักษ์นิยม มักอ้างศีลธรรม มโนธรรม จริยธรรมของการอยู่ร่วมในสังคม ย่อมให้คำตอบโดยอัตโนมัติว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม! โดยไม่มองต้นสาเหตุอันเกิดจากความมักมาก ซาดิสม์ พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของหยางจินชาน หรือขนบกฎกรอบที่ไม่ยุติธรรมต่อหญิงสาว นี่คือสิ่งบีบบังคับให้เธอต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน แสวงหาหนทางเอาตัวรอด เติมเต็มตัณหา สนองความพึงพอใจส่วนตน

ขณะที่ฝั่งเสรีนิยม(สุดโต่ง) ย่อมให้คำตอบโดยอัตโนมัติเช่นกันว่า มันผิดอะไรที่เผชิญหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรม! โดยไม่สนการกระทำเหล่านั้นจะสร้างความเดือดร้อนให้ใคร หรือถูกผู้คนในสังคมปฏิเสธต่อต้าน เพียงต้องการทำลายขนบประเพณี ทุกสิ่งอย่างที่เฉิ่มเฉยล้าหลัง ประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ปัจจุบันและอนาคตสำคัญที่สุดเท่านั้น

เช่นนั้นแล้ว จูโด เธอผิดหรือไม่ผิด? เอาจริงๆแล้ว คนที่หมกมุ่นอยู่กับการค้นหาคำตอบต่างหากที่ผิด! นี่เป็นประเด็นไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ การมัวเสียเวลาขบครุ่นคิดมันไม่มีสาระประโยชน์ประการใด ผู้กำกับจางอี้โหมวก็ไม่ได้พยายามชี้นำทางให้ผู้ชมมองหาคำตอบสักหน่อย (คนตั้งชื่อไทยนี่แม้ง…) เพียงนำเสนอวิถีของกฎแห่งกรรม ใครทำอะไรไว้ย่อมได้รับผลนั้นคืนตอบสนอง นั่นต่างหากคือสิ่งถูกต้องแท้จริง!

บุตรชายของทั้งสามชื่อว่า เทียนไป๋ (天白, Tianbai) โดยคำว่าเทียน (天) แปลว่าท้องฟ้า สรวงสวรรค์, ไป๋ (白) คือความบริสุทธิ์ ขาวผ่อง, แต่พฤติกรรมของไอ้เด็กเวรคนนี้กลับไม่ใสซื่อไร้เดียงสาเลยสักนิด! มีลักษณะของ ‘Oedipus Complex’ รักแม่เกลียดพ่อ ถึงขนาดกระทำการปิตุฆาต เข่นฆาตกรรมบิดาทั้งสองของตนเอง

ผู้ชมส่วนใหญ่จะมองหนังแค่การสะท้อนมุมมืดภายในจิตใจมนุษย์ และวิถีสังคมจีนโบราณ ขนบประเพณีที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม กดขี่ข่มเหงอิสตรีไม่ให้มีสิทธิ์เสียง ได้รับอิสรภาพเทียบเคียงบุรุษ (ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงต้องก้าวตามหลังเท่านั้น!) แฝงประเด็นชวนเชื่อเพื่อทำลายกฎกรอบความคิดเดิมๆ และสร้างค่านิยมขึ้นใหม่ (ตามแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์) ชาย-หญิงควรต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

Why did the Chinese film establishment find ‘Ju Dou’ so offensive? It is tempting for us to read it as a political parable, to see the old merchant as an example of the old order of Maoism, and the hateful boy as a symbol of the Red Guard.

นักวิจารณ์ Roger Ebert

ผมมีความคิดเห็นต่างจากนักวิจารณ์ Roger Ebert ตรงที่ตัวละครหยางจินชาน เหมาะเป็นตัวแทนการปกครองระบอบกษัตริย์มากกว่า ส่วนหยางเทียนจินก็คือพรรคก๊กมินตั๋งที่ขึ้นมาแทนที่ราชวงศ์ชิง แต่จะมองอย่างไหนล้วนไม่ผิดนะครับ (หยางจินชาน=ซุนยัดเซ็น, หยางเทียนจิน=เจียงไคเช็ก ก็ได้เช่นกัน) เพราะทั้งสองตัวละครสามารถเหมารวมถึงยุคสมัยก่อนกาลมาถึงของ การปฏิวัติทางวัฒนธรรม Cultural Revolution (1966-76)

นั่นเพราะไอ้เด็กเวรตะไล หยางเทียนไป๋ พฤติกรรมคลุ้มบ้าคลั่งของมันสามารถเทียบแทนของยุวชนแดง (Red Guard) ที่เต็มไปด้วยอารมณ์โกรธเกลียดเคียแค้น (จากการพบเห็นความขัดแย้งเห็นต่างของคนในชาติ) จึงปฏิเสธอดีต บรรพบุรุษ ชนชาติพันธุ์ รวมถึงประวัติศาสตร์หลายร้อยพันปีของประเทศจีน ต้องการทำลายล้างทุกสิ่งอย่างที่เฉิ่มเฉยล้าหลัง ‘ทุบโลกเก่า สร้างโลกใหม่’ เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของท่านประธานเหมาเจ๋อตุง

แม้ว่าผู้กำกับจางอี้โหมว จะพยายามวางตัวเป็นกลางในการแสดงความคิดเห็น นำเสนอเรื่องราวทั้งหมดในลักษณะเหตุและผลของการกระทำ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ หรือคือกฎแห่งกรรม แต่ความคลุ้มบ้าคลั่งของเด็กชายหยางเทียนไป๋ (สะท้อนถึงคนรุ่นที่เติบโตขึ้นภายใต้ยุคสมัยท่านประธานเหมาเจ๋อตุง) เป็นสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง!

การปิตุฆาต ไม่ว่าจะมองแง่มุมไหนก็คือสิ่งชั่วร้าย ข้ออ้างใดๆล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น ซึ่งนี่เป็นการแสดงทัศนคติของผู้กำกับจางอี้โหมว ถึงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม พฤติกรรมยุวชนแดง อุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ และแนวคิดประธานเหมาเจ๋อตุง ต่างเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถยินยอมรับไหว จักทำให้ประเทศจีนเรานี้มอดไหม้ลุกเป็นไฟ! … นี่คือใจความ Anti-Communist ที่ผมรู้สึกว่าซุกซ่อนเร้นได้อย่างแนบเนียนจริงๆ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าถึง

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) น่าจะถือเป็นช่วงเวลาดำมืดที่สุดในประวัติศาสตร์จีน แต่ได้รับการปฏิบัติเหมือนการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (1989) กล่าวคือถูกรัฐบาลเซนเซอร์ ไม่ให้มีการพูดกล่าวถึง คาดหวังว่าสักวันหนึ่งมันก็จะค่อยๆหลงลืมเลือนไปจากความทรงจำ … นี่คือวิธีการของคอมมิวนิสต์ ดูแล้วน่าจะได้บทเรียนจากการปฏิวัติทางวัฒนาธรรม เราไม่สามารถลบล้างประวัติศาสตร์ได้โดยตรงๆ เพียงกาลเวลาจักค่อยๆทำให้มันเลือนลาง เจือจาง และสูญหายไปในที่สุด

ผมเพิ่งมาค้นพบภายหลังว่า Ju Dou (1990) อาจเป็นภาพยนตร์ที่มีความใกล้ตัวใกล้หัวใจผู้กำกับจางอี้โหมว ในช่วงขณะนั้นอยู่ไม่น้อย! ก่อนหน้านี้ครองรักแต่งงานเพื่อนสมัยเรียนเชียวหัว, Xiao Hua มีบุตรสาวร่วมกันหนึ่งคน แต่หลังจากเข้าสู่วงการภาพยนตร์ พบเจอกงลี่ก็ตกหลุมรักหัวปักหัวปลำ แถมได้รับการลวงล่อ ยั่วเย้า ถึงขนาดยินยอมหย่าร้างภรรยาเมื่อปี 1988 แต่กลับรักๆเลิกๆไปตามประสาผู้กำกับ-นักแสดงแห่งวงการมายา (แม้ว่าจางยี่โหมวยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่าง แต่สุดท้ายกงลี่ตัดสินใจแต่งงานกับนักธุรกิจชาวสิงคโปร์) … ลองไปเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับหนังเรื่องนี้ดูเองนะครับ


หลังถูกแบนห้ามฉายในจีนแผ่นดินใหญ่ Ju Dou (1990) ก็ออกตระเวนไปตามเทศกาลหนัง เริ่มจาก Cannes Film Festival (ไม่ได้คว้ารางวัลใดๆ) ติดตามด้วย Toronto International Film Festival, New York Film Festival, Chicago International Film Festival ตามหัวเมืองใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา เสียงตอบรับที่ดีล้นหลามทำให้หนังกลายเป็นตัวแทนประเทศจีน สามารถผ่านเข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย Oscar: Best Foreign Language Film แต่พ่ายให้กับ Journey of Hope (1990) จากประเทศ Switzerland

ปล. หนังไม่ใช่ตัวเต็งคว้า Oscar อยู่แล้วนะครับ การได้เข้าถึงรอบสุดท้ายถือว่าเหนือความคาดหมายมากๆ ต้องชมกลยุทธ์ตระเวนฉายตามเทศกาล/หัวเมืองใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกา ทำให้เข้าถึงนักวิจารณ์/คณะกรรมการอย่างทั่วถึง

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดยสตูดิโอ Impex Films (สัญชาติฝรั่งเศส) ด้วยทุนสนับสนุนจาก Arte France และ Hiventy แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2017 ไม่แน่ใจว่า DVD/Blu-Ray (ฉบับบูรณะ) เข้าไทยหรือเปล่านะ แต่น่าจะหารับชมออนไลน์ไม่ยากเท่าไหร่

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า Ju Dou (1990) >>> Red Sorghum (1988) หลายคนยกให้เป็นหนึ่งผลงานยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับจางอี้โหมว เพราะความแนบเนียน (ทั้งการแทรกใส่สีสัน และซุกซ่อนเร้นนัยยะสำคัญ) กลมกล่อม (มีความลื่นไหล ต่อเนื่อง ดำเนินเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติ) และเต็มไปด้วยประเด็นต้องห้าม ท้าทายจิตสำนึก มโนธรรม จูโด เธอผิดหรือไม่ผิด?

น่าเสียดายที่ผมรู้สึกเบื่อหน่ายกับประเด็นต้องห้ามของหนัง เพราะเห็นมาเยอะจึงเริ่มเฉื่อยชินชา ขณะเดียวกันก็สามารถทำความเข้าใจในเชิงสัญลักษณ์ เลยยิ่งไร้อารมณ์ร่วมเข้าไปใหญ่ ถึงอย่างนั้นส่วนตัวยังมีความลุ่มหลงใหลในโชคชะตาตัวละคร (ที่สะท้อนกฎแห่งกรรม) และการแสดงของกงลี่ ช่างยั่วเย้ายวน รัญจวนใจเสียจริง … โดยส่วนตัว Red Sorghum (1988) >>> Ju Dou (1990)

แนะนำคอหนังอีโรติก เต็มไปด้วยความซาดิสม์ ประเด็นต้องห้าม ที่อาจทำให้คุณห่อเหี่ยว อ่อนเปลี้ยเพลียใจ, ใครหลงใหลการถ่ายภาพ ทำงานเกี่ยวกับสีสัน หรือสนใจการย้อมผ้า, นักประวัติศาสตร์ ศึกษาวิถีชีวิตพื้นบ้าน ขนบประเพณีชาวจีนโบราณ, แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว และนักแสดงขาประจำกงลี่ ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!

จัดเรต 18+ ในความร่านราคะ, ชู้รักพี่น้อง (Incest), ทรยศหักหลัง และโศกนาฎกรรม

คำโปรย | Ju Dou หว่านเมล็ดพันธุ์เช่นไร ย่อมงอกเงยเช่นนั้น นั่นคือผลกรรมที่ผู้กำกับจางอี้โหมว พรรณาถึงพรรคคอมมิวนิสต์ ได้อย่างแนบเนียน ลุ่มลึกล้ำ
คุณภาพ | ร้จิตวิญญาณ
ส่วนตัว | อึดอัดอั้น

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: