Ju-On The Grudge

Ju-on: The Grudge (2002) Japanese : Takashi Shimizu ♥♡

(mini Review) คนขวัญอ่อนคงสะดุ้งตกใจกลัวกับทุกการปรากฎตัวของครอบครัว Saeki (และแมว)ในบ้านผีสิง แต่สำหรับคนที่เห็นอะไรหลอนๆมาเยอะแล้ว จะพบว่า Ju-on เป็นหนังที่หาสาระ ความบันเทิงไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ กาลเวลาแปรสภาพแทบจะกลายเป็นหนังตลกไปแล้วด้วยซ้ำ

ว่าไปเพิ่งจะทศวรรษกว่าๆเองนะ สำหรับ Ju-on หนึ่งในแฟนไชร์หนังผีที่ประสบความสำเร็จล้นหลามของญี่ปุ่น อันทำให้เกิดภาคต้น, ภาคต่อ, Hollywood Remake แถมด้วยจับปะทะกับหนังผีเรื่องอื่น (อาทิ Sadako vs. Kayako) แต่เมื่อหวนกลับมารับชมครานี้ กลับไม่หลงเหลืออะไรให้น่าพูดถึงสักเท่าไหร่แล้ว คงเพราะมีหนังผีสะดุ้งโหยงเรื่องใหม่ๆ ออกมาสร้างความหลอกหลอนกว่ามากมาย ปัจจุบันใกล้หลงเหลือเพียงตำนานให้กล่าวอ้างถึงเท่านั้น

แต่ถ้าประสบการณ์ดูหนังผีของคุณยังไม่มากพอ เพิ่งเคยรู้จักรับชม Ju-on ขอให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อมแล้วกัน เพราะรสนิยมที่แตกต่าง คุณอาจมีความชื่นชอบ ยังคงหลอกหลอน สะดุ้งโหยง สะพรึงกลัวจับใจ กับหนังเรื่องอยู่นี้ก็เป็นได้

ถือเป็นหนังที่สร้างมาเพื่อการเดียว คือ’หลอก’คนดูเท่านั้น อะไรอื่นไม่จำเป็น ไร้ค่า ช่างหัวมัน!

Takashi Shimizu (เกิดปี 1972) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Maebashi, Gunma  เริ่มมีความสนใจด้านภาพยนตร์ขณะทำงาน Part-Time ในโรงหนังที่ Kyoto เข้าเรียน Film School of Tokyo สร้างหนังสั้นไปเข้าตาอาจารย์/ผู้กำกับ Kyoshi Kurasawa จึงแนะนำให้รู้จักโปรดิวเซอร์ Taka Ichise ขณะนั้นกำลังมองหาพล็อตใหม่ๆเพื่อสร้างหนัง Horror กลายมาเป็น Katasumi (แปลว่า In a Corner) กับ 4444444444 (Ten Fours) สองหนังสั้นฉายโทรทัศน์ที่ถือเป็น Prequels ของ Ju-on แฟนไชร์

แรงบันดาลใจของ Shimizu ในการสร้าง Ju-on ให้สัมภาษณ์บอกว่า เกิดจากความกลัวทั้งหลายเมื่อครั้นวัยเด็กของตนเอง โดยเฉพาะนักเต้นกลุ่มหนึ่ง ที่เวลาแสดงต้องแต่งหน้าทาผิวให้ขาวโพลน (นี่พูดถึงงิ้วหรือ Kabuki หรือเปล่านิ?) ช่างมีความหลอกหลอน น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก ด้วยเหตุนี้ผีทั้งหลายที่ปรากฎ เลยมีลักษณะโบะหน้าขาวโพลนซีดเผือก

เกร็ด: คำว่า Ju-on แปลว่า Curse Grudge, คำสาปอาฆาต น่าจะเป็นคำที่ผู้กำกับผสมขึ้นมาเอง จัดเป็นหนึ่งในผีประเภท Onryō (หรือ Vengeful Ghost)

ความสำเร็จของหนังสั้น ทำให้เหล่าโปรดิวเซอร์ตัดสินใจเดินหน้าสนับสนุน Shimizu ด้วยการให้ทุนสร้าง direct-to-video ถึงสองเรื่อง
– Ju-on: The Curse (2000)
– Ju-on: The Curse 2 (2000)

ด้วยงบประมาณที่จำกัด และใช้เวลาการถ่าย 9 วันเท่านั้น ทั้งสองเรื่องได้เสียงตอบรับอย่างดีจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชม ชื่นชมในการสร้างบรรยากาศอันหลอกหลอนเย็นยะเยือก แถมไฮไลท์คือการเปิดเผยให้เห็นใบหน้าผีอย่างเต็มๆ (อย่าง The Ring นี่ไม่เห็นหน้าผีเลยนะครับ ผมของ Sadako บดบังมิดชิด เต็มที่ก็ลูกตา)

ความสำเร็จนี้ทำให้ Kyoshi Kurasawa กับนักเขียนบท Hiroshi Takahashi ร่วมด้วยช่วยกันผลักดันให้ Shimizu สร้างภาพยนตร์ฉายโรงเรื่องแรก กลายมาเป็น Ju-on: The Grudge

(ในทางเทคนิค Ju-on: The Grudge ถือเป็นภาคสามของแฟนไชร์ แต่เรื่องราวไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน จะหาดูเรื่องไหนก่อนหรือไม่ดูเลยก็ยังได้)

เรื่องราวของ Rika Nishina (รับบทโดย Megumi Okina) อาสาสมัครนักสังคมสงเคราะห์ ได้รับคำร้องขอให้มาช่วยเหลือดูแลหญิงชรา Sachie Tokunaga อาศัยอยู่ในบ้านที่ Nerima City, Tokyo แต่มีสภาพรกรุงรัง แถมพบเจอกับเด็กชายปริศนา Toshio หลงคิดว่าเขาคือลูกของเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน แต่เมื่อสืบค้นถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว…

(ผมขอสปอยสรุปที่มาที่ไปของจักรวาล Ju-on เหมารวมครบทุกภาคเลยนะครับ)

ก่อนหน้านี้หลายปีในบ้านหลังดังกล่าว Takeo Saeki (รับบทโดย Takashi Matsuyama) แต่งงานอยู่กินกับ Kayako Saeki (รับบทโดย Takako Fuji) มีลูกชายด้วยกันชื่อ Toshio (Yuya Ozeki) วันหนึ่งสามีแอบอ่านไดอารี่ของภรรยา หลงคิดไปว่าเธอลักลอบแอบมีชู้กับ Shunsuke Kobayashi ครูของ Toshio ด้วยความหึงหวงริษยา เคียดแค้นจับใจ จึงได้ฆาตกรรมภรรยา (และแมวของครอบครัวชื่อ Mar) จับยัดใส่ถุงดำทิ้งไว้ห้องใต้หลังคา จากนั้นเดินทางไปฆ่าภรรยาท้องแก่ของ Shunsuke ควักเอาทารกสาวออกจากท้อง ขณะกำลังจะเอาไปทิ้งถังขยะถูกวิญญาณอาฆาตของ Kayako โผล่มาทำร้ายเสียชีวิต, ส่วน Toshio ถูกพ่อขังไว้ในห้องใต้หลังคาจนสิ้นลมเสียชีวิต (ถ้าในฉบับนิยาย จะบอกว่า Toshio คือเหยื่อรายแรกของ Kayako พบเจอศพในตู้เก็บเสื้อผ้า)

ปัญหาใหญ่ๆของหนังเรื่องนี้คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Takashi Shimizu ใช้การเล่าเรื่องโดยมีบ้านผีสิงเป็นจุดหมุน แล้วแบ่งออกเป็นตอนๆ เปลี่ยนตัวละครหลักดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ (เพื่อบอกว่าใครก็ตามที่เข้ามายุ่งเกี่ยวในบ้านหลังนี้ จะถูกฆ่าโดย Kayako) นี่ทำให้ Timeline ของหนังเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ผู้ชมยากนักจะสามารถประติดประต่อเรื่องราวเข้าด้วยกันได้ในการรับชมครั้งแรก ความน่าสนใจจดจ่อเลยค่อยๆเลือนหาย หลงเหลือเพียงภาพ บรรยากาศ และการปรากฎตัวของผีเท่านั้นที่น่าสนใจ

หนังผียุคสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเภท ’10 ปีดูได้ครั้งเดียว’ คือถ้าผู้ชมรับรู้ตอนจบ หรือพบเห็นภาพหลอนๆจุดขายของหนังหมดแล้ว การรับชมครั้งสองสามจะเริ่มเฉยๆ ไม่ค่อยตื่นเต้นสะดุ้งตกใจกลัวสักเท่าไหร่ การสร้างเรื่องราวที่มีความซับซ้อนจนดูไม่รู้เรื่อง มักไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้กลับมารับชมรอบสองสามต่อได้โดยทันที กล่าวคืองุนงงสับสนยังไงก็ช่างแม่ง อีกสิบปีข้างหน้าตอนจดจำอะไรไม่ได้แล้วค่อยกลับมาดูใหม่ก็แล้วกัน เพื่อว่าความรู้สึกหลอนๆ สะดุ้งตกใจกลัวจะได้หวนกลับมาหลอกเราได้อีก

Kayako เรียกได้ว่าเป็นผีอันธพาล ความอาฆาตเคียดแค้นของเธอ แทนที่เมื่อสำเร็จโทษกับสามี Takeo ก็ควรจะหมดสิ้นปลดเปลื้องภาระ ปล่อยวางไปผุดไปเกิดได้แล้ว แต่กลับยังเวียนวนยึดติดอยู่กับบ้านหลังนี้ไม่ไปไหน ราวกับต้องการเรียกร้องความสนใจ ขณะเดียวกันมองได้เป็นอาการต่อต้านสังคม (Anti-Social) นี่สะท้อนกับตัวตนของ Kayako ขณะยังมีชีวิตอยู่ด้วยนะครับ

เกร็ดไร้สาระ: หนังเรื่องนี้มี Body Count นับร่างได้ทั้งหมด 17 ศพ (นี่รวมทั้งครอบครัว Saeki และแมวอีกตัว)

ความสำเร็จของหนังเรื่อง มีหรือจะไม่สร้างภาคต่อ เท่าที่รวบรวมได้ถึงปี 2017 ประกอบด้วย
– Ju-On: The Grudge 2 (2003) ถือเป็นภาคต่อของ Ju-On: The Grudge (2002) กำกับโดย Takashi Shimizu
– The Grudge (2004) ภาค Hollywood Remake กำกับโดย Takashi Shimizu
– The Grudge 2 (2006) ภาคต่อของ The Grudge (2004) กำกับโดย Takashi Shimizu
– The Grudge 3 (2009) ภาคต่อของ The Grudge 2 (2006) กำกับโดย Toby Wilkins เป็น direct-to-video
– Ju-On: The Beginning of the End (2014) ภาคต้นและเป็นการ Reboot แฟนไชร์นี้ กำกับโดย Masayuki Ochiai
– Ju-On: The Final Curse (2015) บอกว่าจะเป็นภาคสุดท้าย กำกับโดย Masayuki Ochiai

การที่หนังประสบความสำเร็จ ทำเงินได้มากกว่า $3 ล้านเหรียญ นั่นเพราะอยู่ในช่วงกระแสนิยม เทรนด์ของแนว New Asian Horror ที่มีจุดเริ่มต้นจาก Ringu (1998) ยังคงส่งอิทธิพลต่อเนื่องยาวนานนับทศวรรษ ผู้ชมมีความต้องการดูหนังที่มีความหลอกหลอน สะพรึง ขนหัวลุกพองจับใจ เรื่องไหนสามารถทำได้แค่นี้ก็เพียงพอให้ประสบความสำเร็จแล้ว

เอาจริงๆผมค่อนข้างประทับใจ 30 นาทีแรกของหนัง เรื่องราวของ Rika กับ Katsuya สร้างความพิศวงสงสัยอย่างยิ่งทีเดียว แต่พอถึงตอน Hitomi กลับเริ่มรู้สึกว่าเอาอีกแล้วเหรอ ความสนใจค่อยๆลดลง พอมาถึง Toyama ออกอาการหงุดหงิดรำคาญใจ คนถัดๆไปไม่สนเนื้อเรื่อง ครุ่นคิดติดตามต่อแล้ว รอดูแค่ว่าผี Kayako จะปรากฎออกมาหลอกเรายังไง ผมหลุดขำรุนแรงตอนผีเดินลงบันได แต่งหน้าได้แบบว่า… พอหนังจบแล้วก็จบกัน แทบไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น เสียดายเวลาที่รับชมอย่างยิ่ง

ผมพยายามมองหาสาระของหนังที่นอกเหนือจากความบันเทิง (แต่เวลาดูหนังไม่รู้เรื่อง หรือผิดหวังอย่างรุนแรง มักไม่ค่อยเกิดความบันเทิงใดๆในการรับชมนะครับ) แต่ก็ไม่พบเจออะไรเลยทั้งนั้น นี่เป็นการยืนยันแนวคิดของหนังที่ว่า สร้างขึ้นเพื่อ’หลอก'(เงิน)คนดูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อะไรอื่นไม่จำเป็น ไร้ค่า ช่างหัวมัน!

แนะนำกับคอหนัง J-Horror ชื่นชอบบ้านผีสิง บรรยากาศหลอนๆ (ชอบถูกหลอก) สะดุ้งโหยง แนวเรื่องราวเหนือธรรมชาติ, แฟนๆผู้กำกับ Takashi Shimizu ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศ ความหลอกหลอน อาฆาตแค้นของผีที่ไร้สาระสิ้นดี

TAGLINE | “Ju-on: The Grudge คือหนังผีอันธพาล Kayako เอาแต่หลอก(เงิน)คนดู จนไม่ยอมไปผุดไปเกิดสักที”
QUALITY | UNDERESTIMATE
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: