Judgment at Nuremberg (1961) : Stanley Kramer ♥♥♥♥
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ได้รับชัยชนะ จัดตั้งตุลาการศาลระหว่างประเทศ (Tribunal) ขึ้นที่ Nuremberg, Germany เพื่อตัดสินโทษความผิดของเหล่าอาชญากรสงคราม นำแสดงโดย Spencer Tracy สมทบด้วย Burt Lancaster, Richard Widmark, Marlene Dietrich, Judy Garland, William Shatner, Montgomery Clift และ Maximilian Schell หนึ่งเดียวที่คว้า Oscar: Best Actor
ใครก็ตามที่เอาตัวรอดชีวิตผ่านช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ โดยเฉพาะผู้มีเชื้อสายชาวยิว ย่อมเกิดความโกรธเกลียดเคียดแค้นนาซี อาจลุกลามเหมารวมถึงชาวเยอรมันทั้งประเทศ ต้องการที่จะแสดงออกกระทำบางสิ่งอย่าง เพื่อทวงคืนความอยุติธรรมที่ตนได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส
การพิจารณาคดีความที่ Nuremberg ฟังดูเป็นสิ่งสมเหตุสมผล สมควรบังเกิดขึ้น เพื่อคิดบัญชีดำล่าล้างแค้นบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังบงการ แม้ตัวละครหลักๆอย่าง Adolf Hitler, Joseph Goebbels, Hermann Göring, Heinrich Himmler ฯ จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ปลิดชีวิตฆ่าตัวตายหนีความผิดไปก่อนหน้านั้น แต่ยังหลงเหลืออีกหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เหมารวมลากเข้ามา ประกาศประจานให้โลกได้รับรู้
แต่ผมมองว่า การพิจารณาคดีความที่ Nuremberg คือฉากบังหน้าสร้างภาพของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อ(แอบ)อ้างตัวเองว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งกว่าพวกนาซี โดยมีคำเรียก ‘ความยุติธรรมของผู้ชนะ’ และเป้าหมายหลักๆคือการค้นหา “แพะ” ผู้รับผิดชอบต่อการกระทำอันไร้ซึ่งมนุษยธรรมโลกไม่รู้ลืมนี้
กระนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Stanley Kramer ได้ทำสิ่งที่เหนือเกินความคาดหมาย แตกต่างจากประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงพอสมควร ในมุมมองทัศนะของผู้กำกับ จำลองย่อต่อเหตุการณ์การพิจารณาคดีความที่ Nuremberg ลงท้ายด้วยโคตรสุนทรพจน์กินใจของ Spencer Tracy และคำพูดประโยคสุดท้ายที่ตราตรึงทรงพลัง ก็ทำเอาผมอึ้งทึ่งผงะไปเลยละ
ขอกล่าวถึง Nuremberg Trials ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สักนิดก่อนแล้วกัน เป็นการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม (War Crime) โดยมีตุลาการศาลระหว่างประเทศและอัยการโจทก์ คือฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วยสี่ประเทศมหาอำนาจ สหภาพโซเวียต, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ยื่นฟ้องบรรดากลุ่มผู้นำของ Nazi Germany ในข้อหากระทำการอันชั่วร้ายต่อมวลมนุษยชาติ มีทั้งหมด 12 การพิจารณา (อาทิ High Command Trial, Ministries Trial, Krupp Trial, Doctors’ Trial, Judges’ Trial ฯ) ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 1946 ถึง 13 เมษายน 1949 ตอนแรกตั้งใจจัดขึ้นที่กรุง Berlin เพราะคือกึ่งกลางของเยอรมันและ Fascist แต่ผลกระทบจากสงครามทำให้สถานที่ราชการส่วนใหญ่อยู่ในสภาพปรักหักพัง จึงตกลงย้ายมายัง Palace of Justice, Nuremberg ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
เกร็ด: Nuremberg คือสถานที่ประชุมใหญ่ของพรรคนาซี ทุกๆปีจะมีการเดินสวนสนามขบวนพาเรดสุดยิ่งใหญ่ ดังที่เห็นในภาพยนตร์ชวนเชื่อเรื่อง Triumph of the Will (1935)
สำหรับการพิจารณาที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจของหนัง คือ Judges’ Trial ลำดับที่สาม ช่วงระหว่างวันที่ 5 มีนาคม ถึง 4 ธันวาคม 1947 ประกอบด้วยผู้พิพากษา 4 คน นำโดย Carrington T. Marshall (อดีตประธานศาลสูงจากรัฐ Ohio), James T. Brand, Mallory B. Blair, Justin Woodward Harding มีผู้ยื่นฟ้องกองทัพสหรัฐอเมริกา Telford Taylor และผู้ช่วย Charles M. LaFollette จำเลยทั้งหมด 16 คน โดย 9 คนคือผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม Reich Ministry นำโดย Josef Altstötter, Oswald Rothaug, Franz Schlegelberger, Curt Rothenberger ฯ
ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่มีการอ้างอิงกล่าวถึงในหนังคือ Katzenberger Trial เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 1942 ในช่วงการบังคับใช้กฎหมาย Nuremberg Law ว่าด้วยห้ามชาวยิวมีสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงเชื้อสายอารยัน คดีนี้มีประธานผู้พิพากษาคือ Oswald Rothaug ตัดสินประหารชีวิตชายสูงวัยชาวยิว Leo Katzenberger ด้วย Guillotine ส่วนหญิงสาว Irene Seiler แม้จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ถูกจำคุก 2 ปี ข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม
Stanley Earl Kramer (1913 – 2001) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York City ในชุมชน Hell’s Kitchen ขึ้นชื่อเรื่องกลุ่มแก๊งค์อันธพาล ครอบครัวเป็นชาว Jews แม่ทำงานเป็นพนักงานใน Paramount Picture ส่วนลุงอยู่ Universal Pictures, โตขึ้นเข้าเรียน New York University เป็นสมาชิกของ Pi Lambda Phi ระหว่างนั้นทำงานเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ เก็บเงินส่งเสียตัวเองเรียนกฎหมายจนจบ, สมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อยู่หน่วย Signal Corps มีโอกาสร่วมงานสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อกับ Frank Capra, Anatole Litvak จนได้ยศ First Lieutenant จบออกมาหางานไม่ได้เลยเปิดสตูดิโอสร้างหนังเสียเอง เริ่มต้นจากเป็นโปรดิวเซอร์ So This Is New York (1948), Champion (1949) ฯ
ในยุคที่โปรดิวเซอร์เป็นใหญ่สุดของการสร้างหนัง Kramer ได้ปฏิวัติทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับระบบสตูดิโอ ในแนวทางเรียกว่า Independent (หรือหนัง Indy นั่นเอง) โปรดิวเซอร์ให้เสรีภาพแก่ผู้กำกับอย่างเต็มที่ ไม่เรื่องมากจู้จี้ขี้บ่น ก็มีการถกเถียงกันบ้าง แต่เน้นต่อรองประณีประณอมมากกว่าถึงขั้นหัวเด็ดตีนขาด, Kramer เริ่มต้นกำกับภาพยนตร์ด้วยตัวเอง หลังออกจากภายใต้ร่มเงาของ Columbia Pictures เรื่อง Not as a Stranger (1955) นำแสดงโดย Olivia de Havilland, Robert Mitchum, Frank Sinatra แม้ยังเป็นการลองผิดลองถูก เสียงวิจารณ์ก้ำกึ่ง แต่ทำเงิน Smash Hit
ความสนใจของ Kramer สร้างภาพยนตร์ที่เรียกว่า ‘Message film’ หรือ Social Problem นำเสนอปัญหาของสังคม บริบทที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะใน Hollywood อาทิ
– Racism การเหยียดผิว/สัญชาติ เรื่อง The Defiant Ones (1958), Guess Who’s Coming to Dinner (1967)
– สงครามนิวเคลียร์ เรื่อง On the Beach (1959)
– creationism vs. evolution เรื่อง Inherit the Wind (1960)
– Fascism เรื่อง Judgment at Nuremberg (1961)
– ทุนนิยม เรื่อง It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963)
ฯลฯ
Kramer ได้แรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จากการรับชมตอนหนึ่งของรายการโทรทัศน์ Playhouse 90 (1956 – 1960) ที่ชื่อ Judgment at Nuremberg ซีซัน 3 ตอนที่ 28 ออกอากาศวันที่ 16 เมษายน 1956 กำกับโดย George Roy Hill นักแสดงประกอบด้วย Claude Rains รับบท Judge Dan Haywood, Paul Lukas รับบท Ernst Janning, Maximilian Schell รับบท Otto Rolfe, Werner Klemperer รับบท Emil Hahn ฯ
มอบหมายให้ Abby Mann ชื่อเดิม Abraham Goodman (1927 – 2008) นักเขียนสัญชาติอเมริกาเชื้อสาย Jews ที่เป็นผู้พัฒนาบทตอนนี้ในฉบับโทรทัศน์ มาดัดแปลงสานต่อให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ ซึ่งหลังจากนี้เหมือนว่า Mann ยังดัดแปลงต่อเป็นฉบับละครเวที Broadway เปิดการแสดงปี 2001
เรื่องราวเริ่มต้นที่ Judge Dan Haywood (รับบทโดย Spencer Tracy) เดินทางสู่ Nuremberg, Germany เพื่อเป็นประธานตุลาการพิจารณาคดี Nuremberg Trial โดยผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย
– อัยการฝั่งทหารอเมริกัน Col. Tad Lawson (รับบทโดย Richard Widmark)
– ทนายแก้ต่างฝั่งเยอรมัน Hans Rolfe (รับบทโดย Maximilian Schell)
– ผู้ต้องหา/จำเลย ประกอบด้วย Dr. Ernst Janning (รับบทโดย Burt Lancaster), Emil Hahn (รับบทโดย Werner Klemperer), Werner Lampe (รับบทโดย Torben Meyer) และ Friedrich Hofstetter (รับบทโดย Martin Brandt)
– พยานที่เด่นๆ ประกอบด้วย Rudolph Peterson (รับบทโดย Montgomery Clift), Irene Hoffmann-Wallner (รับบทโดย Judy Garland)
– และสมทบอื่นๆ Frau Bertholt (รับบทโดย Marlene Dietrich), Capt. Harrison Byers (รับบทโดย William Shatner)
Spencer Tracy ในช่วงบั้นปลายชีวิต เจ็บป่วยอิดๆออดๆผลกรรมจากความหนักในทุกสิ่งอย่างช่วงวัยหนุ่ม หลังร่วมงานกับ Kramer เรื่อง Inherit the Wind (1960) พวกเขาก็เข้าใจข้อจำกัดของกันและกัน กลายเป็นคู่บารมีใน 3-4 ผลงานสุดท้าย,
รับบท Judge Dan Haywood ผู้มีความใคร่สนใจในตัวบุคคล มากกว่าคดีความที่ตนกำลังพิจารณานี้อยู่เสียอีก มักใช้เวลาวันหยุดออกเดินทางท่องเที่ยว เข้าสังคม เพื่อซึมซับทำความรู้จักประเทศเยอรมัน ในมุมที่คนส่วนใหญ่มิได้ใคร่สนใจ และได้ข้อสรุปตัดสินคดีความ เป็นสุนทรพจน์คำตอบที่กาลเวลาเท่านั้นจะเป็นสิ่งพิสูจน์ทุกสิ่งอย่าง
Tracy ก็ยังคงเป็น Tracy มีความลุ่มลึก มาดนิ่ง เก๋าประสบการณ์ และคมคายในเรื่องการพูดโน้มน้าวคน แต่อุปสรรคของเขาคือต้องไม่โหมหนักเกินไป ทำงาน 5 วันไม่เกิน 5 โมงเย็นต้องกลับบ้าน (หรือแฟน Katharine Hepburn มารับ) กระนั้นความมืออาชีพที่ยังต้องยกย่องคารวะ สามารถถ่ายทำฉากกล่าวสุนทรพจน์ 11 นาที ผ่านได้ในเทคเดียว
Burt Lancaster นักแสดงสัญชาติอเมริกา ที่เมื่อปีก่อนหน้าเพิ่งคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง Elmer Gantry (1960) เห็นว่านำรูปปั้นรางวัลมายังกองถ่ายให้หลายๆคนได้เชยชม,
รับบท Dr. Ernst Janning จากผู้พิพากษากลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม Reich Ministry ทั้งๆเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างแรงกล้า อุทิศตัวเองเพื่อประเทศชาติ กลับเพิกเฉยสิ่งที่เรียกว่ามนุษยธรรมความเท่าเทียม อ้างว่าไม่รับรู้เห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ลึกๆในใจของเขานั้นคงมีคำตอบนั้นอยู่ในใจแล้ว เป็นสิ่งฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่
Lancaster เป็นเจ้าของฉายา ‘Tough Guys’ ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ถึกระดับศิลา สงบนิ่งไม่มีบทพูดในชั้นศาลเลยจนกระทั่ง 2 ชั่วโมง 15 นาทีผ่านไป (นอกศาลในคุก ก็มีบทพูดอยู่นะ) แต่แค่นั้นก็เหลือเฟือเพียงพอให้ผู้ชมรับรู้ถึง ‘ความหนักแน่น’ มั่นคงไม่สั่นคลอนของตัวละคร ซึ่งพอเขากล่าวสุนทรพจน์แสดงความต้องการของตนเองออกมา แทบทุกสิ่งอย่างก็ไขกระจ่างออกทันที
Richard Widmark นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ที่กลายเป็น Typecast จากบท Anti-Hero ในหนังนัวร์นับตั้งแต่ Kiss of Death (1947),
รับบท Col. Tad Lawson อัยการฝั่งทหารอเมริกัน พานพบเห็นสิ่งชั่วร้ายที่เกิดในค่ายกักกันนาซี จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้คนชั่วได้รับผลกรรมตามสนองอย่างสาสมที่สุด แต่เมื่อถูกกดดันในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราจะได้พบเห็นธาตุแท้ตัวตนของชายคนนี้
ผมเริ่มมีความคุ้นๆหน้าของ Widmark พบเห็นในหนังหลายๆเรื่อง ซึ่งมักได้รับบทที่มีความโกรธเกลียดคับแค้น แสดงออกซึ่งความเกรี้ยวกราดโหดเหี้ยม สะท้อนออกมาทางสีหน้าสายตาคำพูด มีความเป็นธรรมชาติเกินไปเสียหน่อย เลยไม่แปลกที่จะกลายเป็น Typecast ได้รับแต่บทบาทลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่
Maximilian Schell นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติ Swiss เกิดที่ Vienna, Austria อพยพหนีสงครามโลกไปประเทศ Switzerland พอโตขึ้นหวนกลับเยอรมันไปเล่นหนัง Anti-Wars พอเริ่มมีชื่อเสียงมุ่งสู่ Hollywood เรื่องแรก The Young Lions (1958), พลุแตกกับ Judgment at Nuremberg (1961) ผลงานเด่นอื่นๆตามมา อาทิ Erste Liebe (1970), The Pedestrian (1973), The Man in the Glass Booth (1975), Julia (1977) ฯ
รับบท Hans Rolfe ทนายความแก้ต่างให้จำเลยทั้งสี่ของฝั่งเยอรมัน เรื่องความสามารถต้องยกย่องว่าระดับยอดฝีมือ เก่งกาจเฉลียวฉลาด รอบรู้ เล่นกับจิตวิทยาของพยานได้อย่างทะลุทะลวง ถึงกึ๋น แต่สิ่งทำให้พ่ายแพ้คดีคือข้อเท็จจริงที่มิอาจเปลี่ยนแปลงได้ กระนั้นคำตัดสินนี้ถือว่าเอื้อต่อลูกความเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เขาสามารถพยากรณ์อนาคตได้อย่างถูกเผง
Marlon Brando ต้องการรับบท Hans Rolfe เป็นอย่างยิ่ง (ปกติ Brando จะไม่ค่อยโหยหาอยากเล่นบทอะไรเป็นพิเศษขนาดนี้) ถึงขนาดเข้าหา Kramer พูดคุยต่อรองแสดงความสนใจ ซึ่งผู้กำกับก็แสดงความสนอกสนใจอย่างยิ่งทีเดียว แต่สุดท้ายเลือก Schell เพราะประทับใจการแสดงในต้นฉบับ Playhouse 90 ตราตรึงเกินห้ามใจ ซึ่งโอกาสครั้งนี้ที่คว้าไว้ สามารถไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จ (แต่ผมคิดว่าถ้า Brando แสดงบทบาทนี้ มีแนวโน้มอย่างยิ่งจะเจ๋งกว่า Schell นะ)
วันหนึ่งระหว่างการถ่ายทำ เมื่อ Tracy เห็นการแสดงของ Schell พูดกับ Widmark
“We’ve got to watch out for that young man. He’s very good. He’s going to walk away with the Oscar for this picture.”
ใครจะไปคิดว่าคำทำนายนี้จะกลายเป็นจริงไปเสียได้
แซว: ถึง Maximilian Schell จะคว้า Oscar สาขา Best Actor แต่ค่าตัวของเขาในหนังเป็นรอง Spencer Tracy, Burt Lancaster, Richard Widmark, และแม้แต่ Marlene Dietrich (มากกว่า Judy Garland เพราะเธอมาในบทสมทบ)
Marlene Dietrich แม่หญิงเรียวขาสุดเซ็กซี่สัญชาติ German อพยพสู่ Hollywood ก่อนการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิเสธคำเชื้อเชิญของนาซี สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ออกทัวร์ทั่วยุโรปเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ทหารหาญ และพอรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศบ้านเกิดก็รับไม่ได้อย่างรุนแรง,
รับบท Frau Bertholt ภรรยาหม้ายของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี อดีตเจ้าของบ้านที่ Judge Dan Haywood พักอาศัยอยู่ระหว่างพิจารณาคดี พวกเขาพบเจอกันโดยบังเอิญ ทำให้มีโอกาสได้รู้จัก เกี้ยวพากันเล็กน้อย ซึ่งเธอพยายามโน้มน้าวให้เขาเกิดความเข้าใจว่า ‘ไม่ใช่ทุกคนในเยอรมัน จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวยิว’
แซว: ก่อนหน้าการถ่ายทำเรื่องนี้ ว่ากันว่า Dietrich ไปทำศัลยกรรมอะไรมาสักอย่าง เราจึงไม่ค่อยเห็นการขยับปาก (เห็นว่าต้องใช้การพากย์ทับด้วย เพราะกดเสียงพูดต่ำมากจนแทบไม่ได้ยิน) หรือแสดงออกทางสีหน้ามากนัก ซึ่งตอนหนังฉาย เจ้าตัวเหมือนไม่ค่อยพึงพอใจผลลัพท์นี้สักเท่าไหร่ (คือคงไม่ใช่เรื่องเนื้อหาของหนัง แต่คือถ่ายภาพตนเองออกมาไม่สวยเท่าไหร่)
Montgomery Clift นักแสดงหนุ่มอายุสั้นสัญชาติอเมริกา มักได้รับบทตัวละครขี้อ่อนไหวแต่เจ้าอารมณ์ ถือเป็นรุ่นแรกๆที่ใช้ Method Acting เข้าประกอบการแสดง (เคียงข้าง Brando และ James Dean) โด่งดังกับ Red River (1948), A Place in the Sun (1951), I Confess (1952), From Here to Eternity (1953) ฯ แต่เพราะความจริงจังในบทบาทมากเกินเยียวยา เลยชอบใช้สุราและยาเสพติด อาการหนักทีเดียวตอนมาถึงกองถ่ายเรื่องนี้
รับบท Rudolph Peterson หนึ่งในพยานที่ถูกตัดสินคดีว่าเป็นคนไม่เฉลียวฉลาด ปัญหาสังคม จำต้องถูกกักขัง รักษา และผ่าตัด ทำให้ปัจจุบันมีสภาพเหมือนคนเสียสติไม่เต็มองค์สักเท่าไหร่
Clift เป็นคนที่ไม่ค่อยชอบจดจำบทพูดของตนเอง ประสบปัญหาติดๆขัดๆ เคาะๆเขินๆ จนกระทั่งวันหนึ่งผู้กำกับ Kramer หมดความอดทน บอกว่าอยากพูดอะไร Ad Lib ก็ตามสบาย ปรากฎว่าทำให้เขาผ่อนคลายลงอย่างมาก ไม่น่าเชื่อว่าทุกบทพูดที่กล่าวออกมา ยอดเยี่ยมเกินความคาดหมาย
“He wasn’t always close to the script, but whatever he said fitted in perfectly, and he came through with as good a performance as I had hoped.”
เกร็ด: ว่ากันว่า Clift แสดงบทนี้โดยไม่รับค่าตัวสักดอลลาร์เดียว
Judy Garland แทบแย่ทีเดียวหลังจาก A Star Is Born ห่างหายจากวงการภาพยนตร์ไป 7 ปี ทั้งเข้าบำบัด รักษาอาการป่วย พบเห็นในรายการโทรทัศน์ และการแสดงคอนเสิร์ต แม้ตอนแรก Kramer จะได้ยินกิตติศัพท์เรื่องอารมณ์ขึ้นๆลงๆที่ยากจะร่วมงานด้วย แต่ก็แอบไปย่องดูการแสดงคอนเสิร์ตหนึ่งแล้วก็อึ้งทึ่งไปเลย (คือ Kramer ร่วมงานได้กับนักแสดงข้อจำกัดเยอะๆอย่าง Tracy มีหรือกับแค่หญิงสาวเจ้าอารมณ์อย่าง Garland จะไม่สามารถเข้าใจปัญหาของเธอได้)
รับบท Irene Hoffmann-Wallner หนึ่งในพยานปากเอกที่พอไม่ให้ความร่วมมือกับทางการเยอรมัน เลยถูกจับขังคุกแบบไร้ความผิดอะไร กลายเป็น Trauma อันเจ็บแค้นฝังหุ่น แม้ไม่ค่อยอยากหวนระลึกถึงความทรงจำครั้งนั้นเท่าไหร่นัก แต่ถ้าสามารถนำข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะได้ ทุกข์ทรมานแค่ไหนก็ยินยอม
กองถ่ายหนังต้อนรับ Garland ด้วยรอยยิ้มและเสียงปรบมืออย่างอบอุ่นตั้งแต่วันแรก ทำให้เธอไม่รู้สึกกดดันมากด้วยเพราะมาแค่รับเชิญเพียง 8 วัน ไม่ต้องแบกหนังทั้งเรื่อง แต่เพราะเหตุนี้พอจะเข้าฉากจริงกลับทำไม่ได้
“Damn it, Stanley, I can’t do it. I’ve dried up. I’m too happy to cry,”
Kramer ให้เวลาเธอเพียง 10 นาที สำหรับสงบจิตสงบใจ เตรียมความพร้อมแสดงตัวละครที่เต็มไปด้วยด้านมืดหม่น ก็นึกถึง A Star Is Born (1954) ตอนที่ Garland ต้องเปลี่ยนอารมณ์ฉับพลัน จากกำลังร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ วินาทีถัดมาต้องขึ้นเวทีร้องเล่นเต้นด้วยรอยยิ้มแย้มแจ่มใส
“There’s nobody in the entertainment world today, actor or singer, who can run the complete range of emotions, from utter pathos to power…the way she can,”
Garland ไม่ถือว่าเป็นตัวเต็ง Oscar: Best Supporting Actress ในปีนั้น เพราะ Rita Moreno จาก West Side Story เพิ่งคว้า Golden Globe Award สาขานี้ไปครองจึงถือเป็นเต็งหนึ่ง ก็น่าเสียดายแทนจริงๆ แต่ก็ไม่รู้คณะกรรมการ Academy หลายคนยังคงจองเวรเธออยู่หรือเปล่า นับตั้งแต่ตอนโดนปล้น A Star Is Born เพราะความที่เป็นเด็กนิสัยไม่ดี คว้ารางวัลไปจะทำให้สถาบันเสื่อมเสีย
85% ของหนังถ่ายทำในสตูดิโอที่ Hollywood เว้นแต่ฉากภายนอกยังสถานที่จริง Nuremberg และกรุง Berlin ประเทศ Germany, เห็นว่า Hepburn โน้มน้าวให้ Tracy เดินทางไปถ่ายทำฉากภายนอกที่เยอรมันจริงๆ ด้วยความทุ่มเทและพลังที่ยังพอหลงเหลืออยู่ เลยยินยอมเดินทางไป (คงพร้อม Honeymoon และได้พักผ่อนในตัว) ทำให้หนังได้ความสมจริงเพิ่มขึ้นอย่างเยอะ
ถ่ายภาพโดย Ernest Laszlo ตากล้องสัญชาติ Hungarian อพยพสู่อเมริกาเป็นผู้ควบคุมกล้องหนังเรื่อง Wings (1927) ก่อนกลายเป็นขาประจำของ Kramer และคว้า Oscar: Best Cinematography เรื่อง Ship of Fools (1965)
เกินกว่า 90% ของหนังเป็น Medium Shot และ Close-Up (Long Shot จะพบเห็นในฉากนอกชั้นศาลเท่านั้น) มีทั้งไดเรคชั่นที่เจ๋งมากๆ และล้มเหลวแบบกุมขมับ ซึ่งดูเหมือนผู้กำกับ Kramer พยายามเลียนแบบหนังเรื่อง Witness for the Prosecution (1957) ของผู้กำกับ Billy Wilder ที่ก็เป็น Courtroom Drama แต่กลับทำออกมาไม่ถึงระดับนั้น
เอาที่ผมว่าเจ๋งก่อนแล้วกัน คือการถ่ายภาพด้วยเทคนิค Deep-Focus ที่ผู้ชมสามารถมองเห็นมิติของตัวละครในตำแหน่ง ใกล้-ไกล ครอบคลุมทุกรายละเอียดในชั้นศาล ชัดเจนเท่ากันหมด, มุมกล้องที่สื่อความหมายเด่นๆ มักจะคาบเกี่ยวระหว่างสองกลุ่มตัวละคร อาทิ
– จากแท่นอัยการ/ทนายความ โต้เถียงขอความคิดเห็นผู้พิพากษา
– พยานพูดคุยให้การกับอัยการ/ทนายความ และในทางกลับการ
– พยานจับจ้องมองจำเลย Vice Versa
แต่สิ่งที่ผมรำคาญอย่างยิ่งเลย คือการหมุนกล้องไปรอบๆตัวละครระหว่างการให้การ ถ้ามันเลื่อนแค่ทำให้เหมือนว่ากำลังจับจ้องมองใครบางคนอยู่ก็ยังพอรับไหว เพื่อไม่ให้ภาพหยุดอยู่นิ่งเฉยนานจนเกินไป แต่หลายครั้งเล่นหมุนรอบตัวเกือบๆ 360 องศา เพื่ออะไร! เห็นปฏิกิริยาของผู้ฟังโดยรอบ มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ?
Rapid Zooming ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชวนให้น่าหงุดหงิดใจ ถึงจะพอเข้าใจได้ว่าเป็นการเรียกร้องสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับตัวละครนั้นๆโดยทันที แต่มันขัดจังหวะความลื่นไหลของหนัง ฝืนธรรมชาติ และทำเอาผมสะดุ้งขึ้นมาหลายครั้งที่ใช้เทคนิคนี้
มันคงเป็นเรื่องเสียเวลา ถ้ามัวแต่รอให้คนแปลภาษา อังกฤษ <> เยอรมัน ณ จุดๆหนึ่งของหนัง เลยทำการสมมติด้วยการ Rapid Zoom แล้วเปลี่ยนให้นักแสดงที่รับบทเป็นตัวละครสัญชาติเยอรมัน พูดภาษาอังกฤษออกมาแทนเลย แต่ก็ยังทิ้งลีลาต้องหยิบหูฟังเพื่อแปลภาษา ให้ระลึกกันอยู่เสมอว่าพวกเขาพูดคุยกันคนละภาษา แม้เวลาจ้องหน้าสื่อสารกันตรงๆจะเป็นภาษาอังกฤษก็ตามเถอะ
ตัดต่อโดย Frederic Knudtson สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Kramer ตั้งแต่ The Defiant Ones (1958) จนถึง It’s a Mad, Mad, Mad, Mad World (1963)
หนังใช้มุมมองของ Judge Dan Haywood เป็นส่วนใหญ่ ในชั้นศาลและหลายวันหยุดไปเที่ยวพักผ่อน เข้าสังคม พบเจอโน่นนี่นั่นมากมาย แต่มีสองขณะที่เห็นในมุมมองของตัวละครอื่น
– เพื่อเชื่อมเข้ากับตัวละคร Irene Hoffmann-Wallner นำเสนอในมุมมองของ Col. Tad Lawson ซึ่งผมว่าไม่ค่อยจำเป็นสักเท่าไหร่เลยละ แค่ว่าเป็นการเสริมบทให้ Judy Garland ได้ปรากฎตัวเพิ่มขึ้นอีกฉากก็เท่านั้น
– มุมมองของ Dr. Ernst Janning กับเพื่อนในคุก และขณะสนทนากับทนาย เพราะพี่แกแทบไม่มีบทพูดใดๆในชั้นศาลก่อนถึงฉากนั้น เลยจำต้องเพิ่มซีนอื่นๆให้สนทนาออกมาคุ้มค่าตัว Burt Lancaster ที่เหมือนว่าจะสูงสุดของหนังเลยนะ
การพิจารณาคดี Judge’s Trail ดำเนินไป 9 เดือนเต็ม ซึ่งเวลาในหนังก็ดำเนินเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วแบบไม่รู้วันคืน มุ่งเน้นนำเสนอเฉพาะการให้การของพยานปากเอก และเหตุการณ์สำคัญๆที่มีผลต่อรูปคดีเท่านั้น
เพลงประกอบโดย Ernest Gold อีกหนึ่งขาประจำของ Kramer ที่คว้า Oscar เรื่อง Exodus (1960), ส่วนใหญ่ของหนังเป็นบทเพลงคำร้องภาษา German ซึ่ง Gold เรียบเรียงเขียนทำนองขึ้นใหม่หมด หนึ่งในนั้น Lili Marlene (1938) ขับร้องโดย Marlene Dietrich ซึ่งเธอบันทึกเสียงไว้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับบทเพลงที่ได้ยินในฉากคอนเสิร์ต Beethoven: Piano Sonata No. 8 in C minor, ‘Pathétique’ Op. 13 (1798) ด้วยทำนองอันโหยหวน เศร้าสร้อย สลด (Pathétique ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า น่าสงสารเห็นใจ) สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก สิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นกับประเทศเยอรมันขณะนั้น ออกมาได้อย่างลงตัว เหมาะเจาะ
นำฉบับที่บรรเลงโดย Krystian Zimerman นักเปียโนสัญชาติ Polish ที่สามารถตีความ Beethoven ได้ลงตัวสมบูรณ์แบบมากๆ แต่จะมีสัมผัสของโรแมนติกอยู่เยอะสักหน่อย (คือ Zimerman โดดเด่นกับการตีความ Chopin, Brahms มากกว่าอารมณ์เข้มๆของ Beethoven)
คำตัดสินของสามตุลาการพิพากษา แม้จะมอบโทษจำคุกตลอดชีวิตให้กับจำเลยทั้ง 4 แต่ก็ทิ้งท้ายในคำกล่าวสุนทรพจน์ว่า ‘ให้กาลเวลาอนาคตเป็นผู้ตัดสิน ว่าอะไรควรบังเกิดขึ้นกับพวกเขา’
สำหรับผู้คนยุคสมัยนั้น นี่คงเป็นผลการตัดสินที่ไม่น่าพึงพอใจเอาเสียเลย ราวกับเป็นการเข้าข้างให้โอกาสชาวเยอรมัน เลวชั่วร้ายขนาดนั้นยังสมควรได้รับโอกาสสำนึกแก้ตัวอยู่อีกหรือ!
กาลเวลาไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้ความคิดของคนเปลี่ยนไปได้มากจริงๆ และโดยสิ้นเชิง! หลายคนน่าจะมองเห็นความเข้าท่า สมเหตุสมผลของการตัดสินนี้ เพราะยุคสมัยแห่งความเกลียดชังค่อยๆเลือนลางจางไปแล้ว ทำไมคนชั่วจะมิสมควรได้รับโอกาสแก้ตัวละ ใช่ว่าชาวเยอรมันทุกคนจะรับรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของ Adolf Hitler
นี่เป็นใจความที่หนังพยายามนำเสนอ พูดบอกกรอกหูอยู่เรื่อยๆ จนผมเองรู้สึกแอบรำคาญนิดๆ ครั้งสองครั้งก็รู้เรื่องแล้วยังย้ำอยู่ได้ แต่เพราะคนยุคสมัยนั้น พวกเขามืดบอดในประเด็นนี้จริงๆนะ เห็นได้ชัดตอนอัยการนำสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี ภาพฟุตเทจค่ายกักกันนาซี มานำเสนอเรียกร้องคะแนนสงสาร เหมารวมให้เหล่าจำเลยผู้พิพากษาต้องหาคดีนี้ ต้องมีความผิดฐานเข้าข่ายเป็นส่วนหนึ่ง ร่วมสนับสนุนระบอบนาซี
นี่คงเป็นการพยายามแนะนำ เสี้ยมสอนสั่ง เปิดโลกทัศน์แนวคิดใหม่ๆให้กับผู้ชมโลกตะวันตก อย่ามัวแต่มืดบอดมองโลกแง่เดียวด้วยความรังเกลียดชัง ชาวเยอรมันก็ถือเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา ถึงเคยกระทำการชั่วร้ายสุดโต่งขนาดไหน ถ้ารู้สำนึกตัวแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ก็ควรได้รับโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัวสิ! ถึงเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมมีความเป็น ‘มนุษยธรรม’ ปรากฎอยู่
การแทรกใส่ Sub-Plot คดี Katzenberger Trial ถือว่าเป็นประเด็นน่าสนใจทีเดียว เพราะสะท้อนเข้ากับอเมริกายุคสมัยนั้น หลายๆรัฐยังมีกฎหมายห้ามการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติพันธุ์สีผิว (Anti-Miscegenation) ซึ่งทำให้หนังถูกแบนในบางรัฐที่ยังมีกฎหมายข้อนี้ห้ามอยู่ด้วย, การเสียดสีประเด็นนี้ มองได้เป็นการแสดงทัศนะของผู้กำกับ Kramer สื่อบอกตรงๆเลยว่า เราส่งผู้พิพากษาไปพิจารณาคดีความถึงเยอรมัน แต่ในประเทศของเราเองกลับยังมีกฎหมาย ‘เหยียด’ หลงเหลืออยู่มากมาย มันใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสมเสียที่ไหน!
เกร็ด: ผู้กำกับ Kramer ได้นำแนวคิด Anti-Miscegenation ไปขยี้ต่อใน Guess Who’s Coming to Dinner (1967)
การสร้าง Judgment at Nuremberg ด้วยคำตัดสินพิพากษา ในมุมมองแนวคิดของ Stanley Kramer ผมมองว่าเป็นการแสดงทัศนะไม่เห็นด้วย/ไม่ยอมรับการพิจารณาคดีจริงๆที่เกิดขึ้นนั้น ด้วยเหตุผลก็อย่างที่บอกไป ‘ใช่ว่าชาวเยอรมันทุกคน จะรับรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของ Adolf Hitler’ ซึ่งบริบทของ Nuremberg Trial เป็นการป้ายสี ค้นหาแพะรับบาป เต็มไปด้วยอารมณ์ความรังเกลียดชัง นี่มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าการกระทำของเหล่านาซีในช่วงสงคราม สักเท่าไหร่เลยนะ
และถึง Kramer ไม่เห็นด้วยกับ Nuremberg Trial แต่เขาก็ตระหนักรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหลายอยู่ในใจ กับคำพูดทิ้งท้ายที่สุดช็อค บอกเลยว่ากว่าผมจะเข้าใจได้ ครุ่นคิดซ้ำอยู่หลายตลบรอบทีเดียว
“Herr Janning, it came to that the first time you sentenced a man to death you knew to be innocent”.
ประโยคนี้ Judge Dan Haywood ย้อนแย้ง Dr. Ernst Janning ต่อคำกล่าวอ้างที่บอกว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนรับรู้เห็นความชั่วร้ายต่างๆที่บังเกิดขึ้น โดยบอกว่า จุดเริ่มต้นของการเข่นฆ่าล้าเผ่าพันธุ์มนุษย์ มันบังเกิดขึ้นขณะที่นายตัดสินให้ผู้บริสุทธิ์คนแรก มุ่งตรงสู่แดนประหาร
หลายคนอาจยังไม่เข้าใจอยู่ดี ว่าประโยคนี้มีนัยยะความหมายสื่อถึงอะไร, ผมมองว่าคือแนวคิดของผู้กำกับ Kramer ต่อการเกิดขึ้นของ Nazi ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของชาวเยอรมันทุกคน เพราะตอนเริ่มต้นพวกเขาต่างสนับสนุนส่งเสริมเห็นชอบด้วยให้ Hitler ก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุด การกระทำต่อจากนั้นจะอ้างว่าไม่รับรู้เห็นจะเป็นไปได้เช่นไร มันฟังไม่ขึ้นอยู่แล้ว
แต่อย่างที่ผมบอกไป Kramer ไม่เห็นด้วยกับ Nuremberg Trials เพราะมันคือการจับแพะชนแกะ หาผู้โชคร้ายมาลงโทษให้สาสมด้วยความรังเกลียดชัง ถ้าจะทำเช่นนั้นมันควรต้องชาวเยอรมันทุกคนเลยสิ ถึงจะถูกต้องเกิดความเท่าเทียมเสมอภาค
ก็แน่ละ นั่นมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ผู้กำกับ Kramer เลยทิ้งข้อสรุปให้เป็นเรื่องของอนาคต กาลเวลาเป็นผู้ตัดสินอดีต แต่ผมจะขอย้อนแย้งกลับไป มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยนะที่ชาวอนาคตจะตัดสินอดีต สิ่งที่เราคนยุคสมัยปัจจุบันทำได้ คือเรียนรู้ศึกษาทำความเข้าใจ สังเกตการณ์ ไม่ใช่พิจารณาตัดสินถูกผิด
คำตอบที่ถูกต้องจริงๆในความคิดของผมเอง คือไม่มีมนุษย์โลกคนใด ยุคสมัยไหน จะสามารถตัดสินดีชั่ว สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สักผู้เดียว มันเป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรม กฎแห่งจักรวาล ใครเคยกระทำอะไรไว้ เดี๋ยวกรรมมันก็ตามย้อนคืนสนองพวกเขาเองนะแหละ สาธุ
ด้วยทุนสร้าง $3 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $10 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 11 จาก 10 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Spencer Tracy)
– Best Actor (Maximilian Schell) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Montgomery Clift)
– Best Supporting Actress (Judy Garland)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography, Black-and-White
– Best Art Direction-Set Decoration, Black-and-White
– Best Costume Design, Black-and-White
– Best Film Editing
ผู้ชนะรางวัลใหญ่ปีนั้นคือ West Side Story กวาดเกือบเรียบ 10 จาก 11 สาขาที่ได้เข้าชิง โดยหนึ่งที่พลาดนั้น สาขาบทดัดแปลงพ่ายให้กับ Judgment at Nuremberg เรื่องนี้แหละ
ถือเป็นปรากฎการณ์ที่พบเจอได้อยู่เรื่อยๆ กับการที่นักแสดงจากหนังเรื่องเดียวกัน เข้าชิงสาขาเดียวกัน แต่เคยมีสถิติ Mutiny on the Bounty (1935) พร้อมกันถึง 3 คน Clark Gable, Charles Laughton และ Franchot Tone กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีสาขาสมทบ Supporting เกิดขึ้นปีถัดจากนั้น, คือมันก็มีข้อเสียถ้านักแสดงจากเรื่องเดียวกัน เข้าชิงสาขาเดียวกัน คือมักจะไปตัดแย่งคะแนนกันเอง แต่ในกรณีของหนังเรื่องนี้ Schell ได้แรงส่งจากการคว้า Golden Globe: Best Actor ขณะที่ Tracy ไม่ได้แม้จะเข้าชิงรางวัลนั้น เลยกลายเป็นตัวเต็งหนึ่งและคว้ารางวัลไป
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้พอสมควร อึ้งทึ่งกับเรื่องราว การกระทำของตัวละคร Burt Lancaster สุนทรพจน์อันทรงพลังของ Spencer Tracy และประโยคสุดท้ายของหนัง ที่ผมเปิดวนซ้ำครุ่นคิดตามอยู่สักพักกว่าจะแถลงไข ถือเป็นภาพยนตร์มีการตัดสินคดีความได้อย่างน่าพึงพอใจที่สุด
แนะนำคอหนัง Courtroom Drama สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เสี้ยวส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดีที่ Nuremberg, นักเรียนกฎหมาย ตำรวจ ทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา ทำงานเกี่ยวกับตุลาการ ศาลยุติธรรม ต้องดูให้ได้เลยนะ, แฟนๆผู้กำกับ Stanley Kramer และนักแสดง Spencer Tracy, Burt Lancaster, Richard Widmark, Marlene Dietrich, Judy Garland, William Shatner, Montgomery Clift และ Maximilian Schell ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับภาพฟุตเทจค่ายกักกันนาซี ที่จะทำให้คุณท้องไส้ปั่นป่วนอย่างแน่นอน
Leave a Reply