Jules and Jim (1962) : François Truffaut ♥♥♥♥♡
(31/12/2021) Jeanne Moreau รับบทนางแมวสาว Catherine ชอบเคล้าคลอเคลีย Jules and Jim อาศัยอยู่เคียงชิดใกล้ แต่ตัวเธอเองกลับไม่ยินยอมถูกครอบครอง ตกเป็นเจ้าของบุคคลใด ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ไร้พันธนาการเหนี่ยวรั้ง นั่นคือทัศนคติ/ค่านิยมหญิงสาวยุคสมัยใหม่ กลายเป็น ‘Iconic’ ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา
ในบรรดานักแสดงหญิงแห่งยุค French New Wave คนที่มีความลึกลับ ซับซ้อน มิติด้านการแสดงน่าหลงใหลที่สุดก็คือ Jeanne Moreau อาจเพราะเธอมีประสบการณ์ละครเวทีมากว่าทศวรรษ เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อตอนอายุ 30 ไม่ได้สวยบริสุทธิ์ ใสซื่อไร้เดียงสา แต่พานผ่านอะไรๆมาพอสมควร จึงสามารถเล่นบทบาทที่มีความหลากหลาย ‘free spirit’ ทั้งตัวตลก (แบบ Charlie Chaplin) นางแมวยั่วสวาท หรือแม้แต่มารดารักเอ็นดูบุตร นั่นทำให้ความโด่งดังของเธอไม่ได้จำกัดแค่ฝรั่งเศส หนึ่งในขาประจำผู้กำกับ Orson Welles ยกย่องแบบไม่ละอายปาก ‘the greatest actress in the world’
เกร็ด: Jeanne Moreau น่าจะเป็นนักแสดงคนแรกๆที่แทบทุกสถาบัน/เทศกาลหนังมอบรางวัล Lifetime Archivement/Honorary Award ตั้งแต่ Academy Award, BAFTA, César, European Film Award, เทศกาลหนัง Cannes, Venice, Berlin, Moscow, Pusan ฯ
Jules and Jim (1962) ไม่ใช่แค่หนึ่งในผลงานการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Jeanne Moreau แต่ยังทำให้เธอกลายเป็น Iconic ภาพจำของหญิงสาวยุคสมัยใหม่ ด้วยอุปนิสัย ‘free spirit’ ไม่มีใครสามารถคาดเดาการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ แม้หลังจากแต่งงานมีบุตรก็ยังไม่หยุดโหยหาอิสรภาพ ปฏิเสธศิโรราบต่อสามีหรือบุคคลใด ใช้ชีวิตตอบสนองความต้องการ พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น! … ถือเป็นตัวละครที่มาก่อนกาลปฏิวัติทางอุดมคติ Mai 68
สำหรับคนที่รู้จักมักคุ้นผู้กำกับ François Truffaut เจ้าของทฤษฎีภาพยนตร์ ‘auteur theory’ น่าจะตระหนักได้ไม่ยากว่าเรื่องราวของ Jules and Jim (1962) ต้องมีความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง หรือเจ้าตัวเคยพานผ่านเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว แต่หญิงสาวผู้นั้นคือใคร? และเพื่อนสนิทชื่อ Jean-Luc Godard หรือไม่? … ใช่ครับ!
François Roland Truffaut (1932-84) นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris ไม่รู้บิดาเป็นใคร มารดาแต่งงานสามีใหม่ Roland Truffaut แม้อนุญาตให้ใช้นามสกุลแต่ก็ไม่ได้รักเอ็นดูเหมือนลูกแท้ๆ ถูกปล่อยปละละเลย เคยอาศัยอยู่กับย่าสอนให้อ่านหนังสือ ฟังเพลง รับชมภาพยนตร์เรื่องแรก Paradis Perdu (1939) ของผู้กำกับ Abel Gance เริ่มเกิดความชื่นชอบหลงใหล พอเข้าสู่วัยรุ่นก็มักโดดเรียนแอบเข้าโรงหนัง (เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋ว) ตั้งใจดูให้ได้วันละ 3 เรื่อง และอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 3 เล่ม ครั้งหนึ่งเคยลักขโมยเครื่องพิมพ์ดีดของพ่อเลี้ยง เลยถูกส่งไปสถานดัดสันดาน … นั่นคือแรงบันดาลใจภาพยนตร์เรื่องแรก The 400 Blows (1959)
ช่วงปี 1949, ระหว่างเป็นสมาชิก Cinémathèque Française มีโอกาสพบเจอ Liliane Litvin หญิงสาวแรกรุ่นเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์น่าหลงใหล Truffaut ก็มิอาจหักห้ามใจเฉกเช่นเดียวกับผองเพื่อนสนิท Jean-Luc Godard และ Jean Gruault ต่างพยายามอวดอ้าง สร้างความประทับใจ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อโอกาสเคียงชิดใกล้ แต่เธอกลับไม่เหลียวแยแส ครุ่นคิดจริงจังกับใคร กระทั่งงานเลี้ยงวันเกิดอายุครบ 18 แขกทุกคนต่างเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น เอาอกเอาใจหญิงสาว นั่นทำให้เขาตระหนักความจริง ยินยอมพ่ายแพ้ ถึงขนาดคิดสั้นฆ่าตัวตาย (ในค่ำคืนนั้นเลย) พอไม่สำเร็จเลยอาสาสมัครทหาร ตั้งใจจะหลงลืมเธอให้ได้ลง ก่อนตระหนักถึงความโง่เขลา กองทัพไม่ใช่สถานที่เหมาะกับตนเองเลยสักนิด ไปๆมาๆครุ่นคิดหลบหนีทหาร (ขณะกำลังจะถูกส่งตัวไปเวียดนาม) ถูกจับติดคุกติดตาราง ก่อนได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท Andre Bazin เข้าร่วมเป็นนักวิจารณ์ Cahiers du Cinéma
ระหว่างยังเป็นนักวิจารณ์อยู่นั้น Truffaut มีโอกาสพบเจอนวนิยาย Jules et Jim (1952) ยังร้านขายหนังสือมือสอง ตัดสินใจลองซื้อมาอ่านแล้วบังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ติดต่อขอพบเจอผู้แต่ง Henri-Pierre Roché พูดคุยจนสนิทสนม ให้คำมั่นสัญญาว่าเมื่อไหร่ตนเองได้เป็นผู้กำกับ จะดัดแปลงสร้างเรื่องราวนี้เป็นภาพยนตร์
The book overwhelmed me. If I ever succeed in making films, I will make Jules and Jim.
François Truffaut
Henri-Pierre Roché (1879-1959) นักเขียน/นักข่าว นักสะสมงานศิลปะ เกิดที่ Paris โตขึ้นร่ำเรียนศิลปศาสตร์ Académie Julian เริ่มงานเป็นนักข่าว (Journalist) ทำให้มีโอกาสพบเจอศิลปินมากมายในช่วงต้นศตวรรษ 20th อาทิ Manuel Ortiz de Zárate, Marie Vassilieff, Max Jacob, Pablo Picasso ฯ หลังปลดประจำการจากกองทัพฝรั่งเศส (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ออกเดินทางสู่ New York ร่วมกับเพื่อนสนิท Marcel Duchamp และหญิงสาว Beatrice Wood ตีพิมพ์นิตยสาร (แนว Dada Art) The Blind Man และ Rongwrong แม้ยอดขายไม่ได้เรื่องเท่าไหร่ แต่ก็กลายเป็น Cult Magazine ของสะสมหายาก ราคาแพงโคตรๆในปัจจุบัน
ช่วงบั้นปลายชีวิตของ Roché หันมาเขียนนิยายได้เพียงสองเล่ม Jules et Jim (1952) และ Les deux anglaises et le continent (1956) แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงตั้งแต่สมัยหนุ่มๆคึกคะนอง (เลื่องลือชาว่า Roché เป็นเสือผู้หญิงตัวยง) พานผ่านความสัมพันธ์รักสามเส้าสุดประหลาด ร้องเรียงเรื่องราวอย่างชาญฉลาด ถ้อยคำสำบัดสำนวน ลีลาน่าตื่นติดตาม ให้ความรู้สึกเหมือน(คนเขียนยัง)วัยรุ่นอยู่เลย (ตีพิมพ์นวนิยายทั้งสองเล่มตอนอายุ 72 และ 76 ปี)
เกร็ด: นวนิยายทั้งสองเล่มของ Roché ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย François Truffaut ประกอบด้วย Jules and Jim (1962) และ Two English Girls (1971)
ในหนังสืออัตชีวประวัติของ Beatrice Wood อ้างว่าเรื่องราวของ Jules et Jim ได้แรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์รักสามเส้าระหว่างตนเอง Roché และ Duchamp
the story concerns two young men who are close friends and a woman who loves them both, people have wondered how much was based on Roché, Marcel, and me. I cannot say what memories or episodes inspired Roché, but the characters bear only passing resemblance to those of us in real life!
จากหนังสืออัตชีวประวัติ I Shock Myself (1985) ของ Beatrice Wood
แต่อีกแหล่งข่าวหนึ่ง (โดยนักวิจารณ์ Daria Galateria ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Bright Lights Film Journal) เล่าว่าหญิงสาวที่เป็นแรงบันดาลใจตัวละคร Catherine ชื่อว่า Helen Grund แต่งงานกับนักเขียนชาวเยอรมัน Franz Hessel ผู้แปลนวนิยายของ Marcel Proust เป็นภาษาเยอรมันแบบเดียวกับตัวละคร Jules … ว่ากันว่าเธอแอบปลอมตัวเข้ามารับชมหนังรอบปฐมทัศน์ (จากคำเชื้อเชิญของผู้กำกับ Truffaut) แล้วมาให้สัมภาษณ์หลังหนังจบ
I am the girl who leaped into the Seine out of spite, who married his dear, generous Jules, and who, yes, shot Jim.
Helen Grund
แซว: ใครเคยรับชม Two English Girls (1971) น่าจะตระหนักถึงเรื่องราวของสองสาวพี่น้อง ต่างแก่งแย่งต้องการครอบครองรักกับพระเอก ชวนให้นึกถึงทั้ง Beatrice Wood และ Helen Grund ต่างภูมิใจเสียเหลือเกินที่ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร Catherine ใน Jules and Jim
Truffaut ไม่ได้เร่งรีบร้อนที่จะสรรค์สร้าง Jules and Jim โดยทันทีเมื่อมีโอกาสเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะรับรู้ตนเองว่าต้องการประสบการณ์ก่อนเริ่มต้นโปรเจคในฝัน ค่อยๆหวานเมล็ดพันธุ์เก็บเกี่ยวจาก The 400 Blows (1959), Shoot the Piano Player (1960) และ The Army Game (1961) [ร่วมกำกับ Claude de Givray] พัฒนาสไตล์จนบังเกิดความเชื่อมั่น
ร่วมงานกับ Jean Gruault (1924-2015) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Fontenay-sous-Bois, เป็นอีกสมาชิก French New Wave รู้จักสนิทสนม Truffaut ตั้งแต่เข้าร่วมกลุ่ม Cinémathèque Française เริ่มมีชื่อเสียงจากพัฒนาบท Paris Belongs to Us (1960) และถือว่าเป็นบุคคลเหมาะสมอย่างยิ่งในการดัดแปลงนวนิยาย Jules and Jim (เพราะเจ้าตัวคือหนี่งในเพื่อนสนิทที่เป็นคู่แข่งระหว่างจีบสาว Liliane Litvin พานผ่านประสบการณ์เดียวกัน)
เกร็ด: Jean Gruault ยังร่วมงาน Truffaut ในการดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ Henri-Pierre Roché เรื่อง Two English Girls (1971)
แซว: อีกเพื่อนสนิท/คู่แข่งด้านความรักของ Truffaut ก็คือ Jean-Luc Godard แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับโปรเจคนี้ แต่ใครเคยรับชม A Woman Is a Woman (1961) จะมีฉากที่ตัวละครของ Jean-Paul Belmondo พบเจอ Jeanne Moreau แล้วซักถามว่า “How is ‘Jules And Jim’ coming?” นั่นก่อนเริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอีกนะ! (เรียกว่ารู้ใจเพื่อนสนิท พานผ่านประสบการณ์เดียวกัน เชื่อมั่นว่าสักวันต้องได้เติมเต็มความฝันนั้นอย่างแน่นอน)
เรื่องราวของ Jules (รับบทโดย Oskar Werner) นักเขียนจาก Austria เดินทางสู่ฝรั่งเศส พบเจอกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม Jim (รับบทโดย Henri Serre) ทั้งสองต่างมีความลุ่มหลงในงานศิลปะ บทกวี และวิถีชีวิตสไตล์ Bohemian จนกระทั่งการมาถีงของ Catherine (รับบทโดย Jeanne Moreau) หญิงสาวผู้มีรอยยิ้มเหมือนรูปปั้นโบราณ ทั้งยังนิสัยแก่นแก้ว เอาใจยาก ชอบกระทำสิ่งไม่มีใครสามารถคาดคิดถีง แต่จู่ๆตอบตกลงแต่งงานกับ Jules สร้างความผิดหวังเล็กๆให้ Jim
การมาถีงของสงครามโลกครั้งที่หนี่ง เพื่อนสนิททั้งสองจำต้องพลัดพรากแยกจาก อาสาสมัครทหารรับใช้ชาติบ้านเกิด หวาดกลัวเกรงอาจเผชิญหน้าเข่นฆ่ากันเอง แต่ก็สามารถพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าวอยู่รอดปลอดภัย ถีงอย่างนั้นสงครามก็ทำให้พวกเขามีบางสิ่งอย่างภายในปรับเปลี่ยนแปลงไป Catherine แม้มีบุตรสาวกับ Jules แต่เขามิอาจตอบสนองข้อเรียกร้องความต้องการของเธอ เลยร่ำร้องขอให้ Jim ถ้ายังตกหลุมรัก(Catherine)ก็พร้อมเปิดทางให้ ขอแค่ได้อยู่เคียงชิดใกล้ ก็เพียงพอให้ฉันดำรงชีวิตอยู่ต่อไป
สำหรับ Jim เมื่อสบโอกาสและได้รับการเปิดทางจาก Jules ก็ตรงรี่เข้าหา Catherine ยินยอมศิโราบ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่ไม่นานวันก็เริ่มตระหนักรู้ เข้าใจปัญหาแท้จริงของ Jules เพราะตนเองก็กำลังประสบสถานการณ์ลักษณะเดียวกัน เมื่อถีงจุดหนี่งเลยมิอดรนทน ตอบสนองความเอาแต่ใจของ Catherine หนีไปแต่งงานแฟนสาวอีกคน ภายหลังเมื่อหวนกลับมาพบเจอ เธอจีงใช้โอกาสนี้ในการ …
Oskar Werner ชื่อจริง Oskar Josef Bschließmayer (1922-84) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna วัยเด็กอาศัยอยู่กับย่า ชื่นชอบเล่าเรื่องประสบการณ์แสดงเมื่อครั้งยังสาว ทำให้เขามีความลุ่มหลงใหลในละครเวที ได้เข้าร่วม Burgtheater ตั้งแต่อายุ 18, ปี 1941 ถูกจับใบแดงให้ต้องอาสาสมัครทหาร Deutsche Wehrmacht แต่เขาเป็นคนต่อต้านสงคราม ช่วงระหว่างฝึกฝนเลยแสร้งทำตัวโง่ๆ เล่นละครตบตา แกล้งตกจากหลังมา ยิงผิดยิงถูก จนในที่สุดถูกขับไล่จากโรงเรียนฝึก, หลังสงครามได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Der Engel mit der Posaune (1948), Eroica (1949), โด่งดังกับ Mozart (1955) [รับบท Mozart], Jules and Jim (1962), Ship of Fools (1965), The Spy Who Came in from the Cold (1965) ** คว้ารางวัล Golden Globe: Best Supporting Actor
รับบท Jules หนุ่มขี้อายชาว Austria เป็นคนพูดน้อย พูดช้า (แต่มั่นคง) ร่างเล็ก (กว่า Jim) ผมสีบลอนด์ ใบหน้าเกลี้ยงเกลา ภายนอกดูสุภาพอ่อนหวาน มีความอบอุ่นจริงใจ รักใครรักจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Catherine พยายามยื้อรั้งแม้ความสัมพันธ์จะเหินห่าง เพียงต้องการอยู่เคียงชิดใกล้ จึงยินยอมศิโรราบโดยไม่สนสิ่งอื่นใด
ไม่รู้เพราะ Truffaut มีโอกาสรับชม Mozart (1955) หรืออย่างไรจึงติดต่อ Werner (แล้วมีอ้างอิงถึง Mozart ในหนังด้วยนะ) ซึ่งเขาสามารถพูดฝรั่งเศสได้บ้าง ค่อยๆฝึกฝนจนช่ำชองระหว่างถ่ายทำ (พร้อมๆไปกับตัวละคร)
บทบาทของ Jules ค่อนข้างโดดเด่นกว่า Jim เพราะมีความเปลี่ยนแปลงที่แสดงออกภายนอกอย่างเด่นชัด ช่วงแรกๆดูสนุกสนานร่าเริง เพลิดเพลินไปกับชีวิต แต่หลังกลับจากสงครามมีสีหน้าท่าทางเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เปลี้ยเพลียไร้เรี่ยวแรง ไม่กระปรี้กระเปร่าเหมือนเก่าก่อน ค่อยๆแสดงอาการหมดสิ้นหวัง พยายามปกปิดซุกซ่อนเร้นความอึดอัดอั้นไว้ภายใน … แต่หลังจากเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ผมรู้สึกว่าตัวละครก็น่าจะสามารถทำใจยินยอมรับได้ระดับหนึ่ง
Henri Serre (เกิดปี 1931) นักแสดง/ตลก สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Sète, เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที เล่นตลกตามคาเฟ่ต์ พบเจอโดย François Truffaut เพราะรูปร่างหน้าตามีความละม้ายคล้าย Henri-Pierre Roché เลยได้รับโอกาสแจ้งเกิดโด่งดัง Jules and Jim (1962), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Fire Within (1963), Section spéciale (1975), Mister Frost (1990) ฯ
รับบท Jim ร่างสูงใหญ่ ไว้หนวดเครา เสือผู้หญิง ผมสีดำขลับ เรียกว่าแตกต่างตรงกันข้ามกับ Jules แต่มีความลุ่มหลงใหล รสนิยมคล้ายๆกัน แรกพบเจอก็เกิดความหลงใหล Catherine แต่เพราะเพื่อนสนิทขอไว้เลยยอมหักห้ามใจ ถึงอย่างนั้นก็พยายามอยู่เคียงชิดใกล้ กระทั่งหลังสงครามสิ้นสุด เมื่อสบโอกาสก็พุ่งทะยานตะคลุบเหยื่อน ฉันเองก็ไม่ใช่พ่อพระ ก่อนค่อยๆตระหนักถึงธาตุแท้ตัวตนของหญิงสาว พยายามหลบหนีตีตนออกห่าง จนแล้วจนรอดก็มิอาจดิ้นหลุดพ้นโชคชะตากรรม
นี่เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงผู้แต่งนวนิยาย Henri-Pierre Roché (แต่ Serre ไม่ใช่คนให้เสียงบรรยายนะครับ) นำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองประสบพบเห็น จึงไม่ค่อยมีการแสดงปฏิกิริยาอารมณ์ออกมาสักเท่าไหร่ เพียงครึ่งแรกดูร่าเริงสนุกสนาน มีความเป็นนักล่า ‘alpha man’ หลังสงครามแม้ภายนอกไม่ระริกรี้เหมือนเก่า แต่ภายในยังคงคุกรุ่นด้วยเพลิงราคะ เฝ้ารอคอยวันที่จะเติมเต็มความเพ้อฝันอย่างใจเย็นๆ
Jeanne Moreau (1928-2017) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris มารดาเป็นชาวอังกฤษ (เธอจีงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ชัดเจน) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีโอกาสรับชมการแสดงละครเวทีของ Jean Anouilh เกิดความมุ่งมั่นต้องการเอาดีด้านนี้ เข้าศีกษาต่อยัง Conservatoire de Paris จนมีโอกาสร่วมคณะการแสดง Comédie-Française ตั้งแต่ปี 1947 ไม่นานก็ได้รับบทนำ สะสมประสบการณ์อยู่เป็นทศวรรษ, ส่วนภาพยนตร์ ช่วงต้นทศวรรษ 50s รับเล่นเพียงตัวประกอบ (ยังมุ่งมั่นกับละครเวทีมากกว่า) จนกระทั่งความสำเร็จของ Elevator to the Gallows (1958) และ The Lovers (1959) ** คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Venice ถีงค่อยหันมาเอาจริงจังกับวงการภาพยนตร์ ติดตามด้วย Seven Days… Seven Nights (1960) ** คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, La notte (1961), Jules and Jim (1962), The Trial (1962), Chimes at Midnight (1965), Viva Maria! (1965) ** คว้ารางวัล BAFTA Award: Best Foreign Actress, The Old Lady Who Walked in the Sea (1992) ** คว้ารางวัล César Award: Best Actress
รับบท Catherine รอยยิ้มอันเยือกเย็นแลดูคล้ายรูปปั้นโบราณ แต่อุปนิสัยใจคอของเธอนั้นกลับเอ่อล้นด้วยจิตวิญญาณ ‘free spirit’ เหมือนแมวป่าไม่ยินยอมถูกใครจับคุมขัง พยายามต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางหลบหนีออกมา เพียงตอนหิวโหยถีงเข้ามาเคล้าคลอเคลียเลียแข้งเลียขา พอเสพสมหวังก็พร้อมร่ำลาอย่างไม่ใคร่เหลียวแลหลัง
มารยาเสน่ห์ของ Catherine ทำให้ทั้ง Jules และ Jim ตกหลุมรักหัวปลักหัวปลำ ต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ บังเอิญว่า Jules สบโอกาสก่อนเลยสามารถสู่ขอแต่งงาน แต่หลังจากใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วมจนมีบุตรสาว Sabine เขามิอาจตอบสนองความต้องการของเธอได้อีกต่อไป ส้มหล่นใส่ Jim พร้อมได้รับการส่งเสริมผลักดันจากเพื่อนสนิท แต่ไม่นานเมื่อเริ่มตระหนักถีงธาตุแท้จริง ก็มิอาจอดรนทนฝืนอีกต่อไป
ปล. แม้ว่า Catherine จะไม่ได้อยู่บนชื่อหนัง แต่ตัวตนของเธอถือเป็นกระจกสองด้านของ Jules และ Jim มีทั้งความอ่อนโยน-เข้มแข็ง บริสุทธิ์ไร้เดียงสา-มักมากกร่านราคะ แม้เฉลียวฉลาดด้วยเหตุผล-แต่ก็ชื่นชอบใช้อารมณ์ตัดสินใจ เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ กวัดแกว่งปลิดปลิวไปมาอย่างพายุเฮอร์ริเคน
Truffaut มีโอกาสรับรู้จัก Moreau มาตั้งแต่ช่วงปี 1956-57 สมัยยังเป็นนักวิจารณ์ Cahiers du cinéma พบเห็นไลฟ์สไตล์ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ทำตามสิ่งหัวใจปรารถนา รักในอิสรภาพแห่งชีวิต ซี่งมีความเข้ากับบทบาท Catherine เป็นอย่างมากๆ เซ็นสัญญาใจกันไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มสรรค์สร้าง The 400 Blows (1959) ด้วยซ้ำไป
หนี่งในช่วงเวลามีความสุขที่สุดในชีวิตของ Truffaut เกิดขี้นระหว่างสรรค์สร้าง Jules and Jim เพราะเขามักปักหลักอาศัยอยู่บ้านของ Moreau ต่างช่วยเหลือสนับสนุนกันและกัน พัฒนาความสัมพันธ์ เพียงมองตารู้ใจ (ในกองถ่ายเห็นว่าแทบไม่ได้พูดคุยสื่อสาร รับรู้ด้วยภาษากายว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร) และน่าจะถีงขั้นชู้สาว (เพราะขณะนั้น Moreau แต่งงานอยู่แล้วกับ Jean-Louis Richard แต่ก็ใกล้หย่าร้างเต็มทน) ถีงอย่างนั้นหลังสร้างหนังเสร็จ พวกเขาก็ต่างตัดสินใจแยกทาง คงความเป็นเพื่อนสนิทชิดใกล้ตราบจนวันตาย
Jeanne Moreau gave me courage each time I had doubts. Her qualities as an actress and as a woman made Catherine real before our eyes, made her plausible, crazy, possessive, passionate, but above all adorable.
François Truffaut
ภาพลักษณ์ของ Moreau อาจไม่สวยบาดตา แต่ทรงเสน่ห์น่าหลงใหล (โดยเฉพาะตอนปลอมตัวเป็นผู้ชาย นั่นกลายเป็นภาพ ‘Iconic’ ของหนังทันที!) โดดเด่นในการแสดงออกผ่านสีหน้า ท่าทาง เต็มที่กับทุกอารมณ์ (เวลาหัวเราะอ้าปากกว้าง มันช่างบริสุทธิ์ สุดเหวี่ยง ออกมาจากภายใน) แต่จะมีความกวัดแกว่ง ปรับเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ไม่มีใครคาดเดาจิตใจ ครุ่นคิดอยากกระโดดน้ำก็ทำเลย กลายเป็นสายฟ้าฟาดลงกลางใจ Jules and Jim (ผู้ชมก็เช่นกัน)
ที่ผมประทับใจสุดๆก็คือลีลาการขับขานบทเพลง Le Tourbillon น้ำเสียงกร้านๆที่เหมือนไม่ยี่หร่าอะไรใคร กลับเต็มไปด้วยมิติน่าหลงใหล ไล่ระดับสลับเสียงสูง-เสียงต่ำ เดี๋ยวช้า-เดี๋ยวเร่งความเร็ว เหมือนลมพายุพัดเข้ามาแล้วผ่านออกไป คงไม่มีใครร้องเพลงนี้ได้ลุ่มลีกตราตรีงไปกว่า Moreau … กลายเป็นบทเพลงประจำตัวของเธอโดยปริยาย ผมถือว่ามีความตราตรึงระดับเดียวกับ Over the Rainbow ของ Judy Garland และ Moon River ของ Andrey Hepburn
Moreau เป็นนักแสดงที่สามารถเล่นได้แทบทุกบทบาท เลยไม่จำกัดตนเองอยู่เฉพาะแนวหนังใด แถมพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว เลยมีโอกาสร่วมงานผู้กำกับยอดฝีมือระดับนานาชาติ อาทิ Luis Buñuel, Michelangelo Antonioni, Elia Kazan, Wim Wenders, Rainer Werner Fassbinder, Carl Foreman ฯลฯ โดยเฉพาะ Orson Welles มีผลงานร่วมกันถีงสามครั้ง! แต่ภาพยนตร์ที่ถือเป็นภาพจิ ‘signature’ เรื่องสำคัญสุดในชีวิตก็คือ Jules and Jim (1962) เพราะเธอได้แสดงแก่นแท้ของศักยภาพ ครบอรรถรสการแสดงที่สุด (ทุกบทบาทหลังจากนี้ ล้วนแตกแขนงออกจากตัวละคร Catherine ทั้งหมดทั้งสิ้น)
แซว: Cathrine ถือเป็นเจ้าแม่แฟชั่นด้วยการแต่งตัว ปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามอารมณ์เช่นกัน ทั้งสวมกางเกง กระโปรง เดรสยาว เสื้อไหมพรม หมวก ทรงผม แว่นตา ผูกไทด์ แฟชั่นทศวรรษ 20s-30s ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่มักสีขาวสะท้อนความบริสุทธิ์จากภายใน และลวดลายขวาง(โลก)หรือตราหมากรุก(ต้องการดิ้นรนให้หลุดพ้นพันธนาการ)
ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard (1924-2016) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของบรรดาผู้กำกับ French New Wave, สมัยเด็กตั้งใจร่ำเรียนเคมี แต่ไม่มีทุนการศึกษาเลยหันมาเป็นช่างภาพ เข้าร่วมสงคราม French Indichina War (1946-54) ในฐานะ ‘war photographer’ อาศัยอยู่เวียดนามถึง 11 ปี กลับมาฝรั่งเศสกลายเป็นฟรีแลนซ์ให้นิตยสาร Paris Match และ Look กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ Pierre Schoendoerffer ทั้งๆไม่เคยมีประสบการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่กลับได้เสียงชื่นชม The Devil’s Pass (1958), ติดตามมาด้วย Breathless (1960), Shoot the Piano Player (1960), Vivre sa Vie (1962), Jules et Jim (1962), Le Mépris (1963), Bande à part (1964), Pierrot le Fou (1965), Z (1969) ฯลฯ
French New Wave เป็นยุคสมัยที่พยายามสรรค์สร้างภาพยนตร์ให้มีความขัดแย้ง/แตกต่างจากขนบวิถี รูปแบบประเพณีดั้งเดิม ไม่ยินยอมกักขังตนเองอยู่ในกรอบสตูดิโอ ออกไปเผชิญโลกกว้าง ทุกสถานที่สามารถเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์
ประสบการณ์จากการเป็นช่างภาพสงคราม ทำให้ Coutatd ชอบครุ่นคิดหาวิธีที่จะทำให้กล้องถ่ายภาพมีขนาดเบา สามารถขยับเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนง่าย ‘Guerrilla Units’ ไม่ต้องมีการตระเตรียมการมากมาย ซึ่งเหมาะกับกองถ่ายขนาดเล็กๆ เรื่องนี้เห็นว่ามีเพียง 15 คน (รวมนักแสดง) และด้วยทุนสร้างที่โคตรจำกัด ก็เป็น Jeanne Moreau ที่ไม่ใช่แค่ควักเนื้อช่วยจ่าย รถของเธอก็เป็นยานพาหนะสำหรับขนส่งสิ่งข้าวของ (บ้านของเธอก็เป็นที่อยู่อาศัยของ Truffaut เช่นกัน)
สำหรับงานภาพ ‘สไตล์ Truffaut’ จะมีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน เคลื่อน-เลื่อน-หมุน ซูมมิ่ง แช่ภาพ (Freeze Frame) มุมก้ม-เงย ระยะใกล้-กลาง-ไกล (Close Up-Medium-Long Shot) ล้วนเต็มไปด้วยลีลาที่ท้าทายภาษาภาพยนตร์ ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น!
ถ้าไม่นับรวม Opening Song (ร้องเรียงชุดภาพที่ถ้าไม่แนะนำตัวละครหลักๆ ก็จะเป็นสองเพื่อนสนิท Jules and Jim ที่จะยื้อยักเข้าประตู ต่อสู้ วิ่งแข่ง แสดงถึงสัมพันธภาพระหว่างกัน) นี่คือช็อตแรกของหนังที่กำลังเล่นโดมิโน ไม่ได้สื่อแค่การแข่งขัน แต่ยังลักษณะของเกมที่ต้องเอา(โดมิโน)มาเรียงต่อกัน (ยกตัวอย่าง เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแฟนสาว ก็สามารถส่งต่อให้อีกฝ่าย)
บนผนังหัวเตียงนอนของ Jim จะพบเห็นภาพวาด Embrace (1900) ของ Pablo Picasso ความหมายตรงๆถึงการโอบกอดรัดฟัดเหวี่ยง ร่วมรักหลับนอน ขณะที่นาฬิกาทรายแทนระยะเวลาความสัมพันธ์ (และยังสามารถสื่อถึงการสลับสับเปลี่ยน/แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่าง Jules and Jim)
วัยรุ่นสมัยนั้นคงนิยมเลียนแบบกันถ้วนหน้า ‘steam engine’ โดย Marie Dubois รับบทบท Thérèse ซึ่งเมื่อเธอเริ่มพ่นควันออกจากปาก เดินวนรอบห้อง/กล้องเคลื่อนติดตาม 360 องศา แล้วหยิบบุหรี่ใส่ปากของ Jules เอนตัวลงนอนบนเก้าอี้ (ที่ก่อนหน้านี้หยิบมาวางไว้ข้างๆเตียง) … ถ้าตีความแบบคลาสสิก มันก็คือการมี Sex ของทั้งสองนะแหละ
แต่ลักษณะของ ‘steam engine’ คือการเอาอีกปลายด้านหนึ่งของบุหรี่ใส่ปากแล้วพ่นลมออกมา (แทนที่จะดูดเข้าไป) นี่สามารถสะท้อนสิ่งขั้วตรงข้าม กลับตารปัตร Jules and Jim
นี่ไม่ใช่ห้องของ Jim นะครับ แต่คือแฟนสาว Gilberte (รับบทโดย Vanna Urbino) ภาพวาดบนหัวเตียง ไม่รู้ผลงานของใคร แต่ก็ชัดเจนว่าสะท้อนความต้องการ เพ้อใฝ่ฝัน อยากลงหลักปักฐาน แต่งงานมีบุตร (ซึ่งหลังจาก Jim ทอดทิ้ง Catherine ก็มาแต่งงานครองคู่เธอคนนี้นี่แหละ)
การเลิกรากับ Thérèse นำเสนอด้วยไดเรคชั่นลักษณะคล้ายๆกับตอนร่วมรักหลับนอนครั้งแรก หญิงสาวให้ฝ่ายชายจุดบุหรี่ ตามด้วย ‘steam engine’ จากนั้นกล้องเคลื่อนติดตามหมุน(น่าจะ) 180 องศา หวนกลับมาหา Jim กำลังจะลุกขึ้นแต่ถูก Jules ทัดทานไว้ แนะนำให้ปล่อยไป ก่อนเขาพูดประโยคที่ตราตรึงมากๆ
I wasn’t in love with Thérèse. She was both mother and doting daughter at the same time.
Jules
ซึ่งหลังจากพูดประโยคนี้จบ จะมี jump cut ตอนเปลี่ยนเก้าอี้นั่งอยู่นิดนึง เหมือนจะสื่อว่า Jules ทำใจหลังการจากไปของ Thérèse ได้แล้วละ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาก็ดั่งประโยคที่พูด ‘เธอเป็นทั้งแม่และบุตรสาว’ สองสิ่งขั้วตรงข้ามในตัวคนเดียว
หลังการเลิกรา Jules ก็เริ่มพูดพร่ำถึงหญิงสาวในอุดมคติ Lucy, Birgitta, Helga (ทีแรกผมนึกว่าจะคือนักแสดงชื่อดังในอดีต แต่กลับแค่ภาพถ่าย photoshoot เท่านั้นเอง) จากนั้นเอาชอล์กวาดภาพร่างบนโต๊ะ แล้วออกเดินทางไปหาเพื่อนนักโบราณคดี Albert (รับบทโดย Serge Rezvani) เพื่อชมภาพถ่ายหินแกะสลักโบราณ และออกเดินทางไปเชยชมรูปปั้นของจริง (และพบเจอตัวจริงของ Catherine ในฉากถัดมา)
แซว: เสียงบรรยายพรรณาว่า Jim ต้องการซื้อโต๊ะตัวนี้ (ที่ Jules วาดรูป) แต่เจ้าของบอกจะขายก็ต่อเมื่อเหมาหมดยกร้าน … นี่น่าจะสื่อถึงหญิงสาวในอุดมคติ (หรือ Catherine) เธอไม่สามารถมอบความรักให้ใครคนหนึ่ง แต่เหมารวมทุกๆคนเท่าเทียมกัน
เชื่อว่าหลายคนอาจไม่ทันสังเกตช็อตนี้มีการใช้ Dolly Zoom (หรือ Vertigo Effect) กล้องเคลื่อนถอยหลังพร้อมๆกับซูมเข้าไปที่รูปปั้น (หลังจากนี้ยังถ่ายทุกมุม เก็บทุกรายละเอียดรอบทิศทาง) นี่เป็นการสร้างสัมผัสแห่งความพิเศษ เน้นย้ำ หญิงสาวในอุดมคติที่ Jules and Jim บังเกิดอาการลุ่มหลงใหล อยากครอบครองเป็นเจ้าของ
ปล. ผมพยายามค้นหาสถานที่ที่จัดแสดงรูปปั้น/พิพิธภัณฑ์ที่หนังกล่าวอ้าง ก็พบว่าไม่มีอยู่จริง T_T
เฉกเช่นเดียวกับช็อตแรกของ Catherine หนังมีการสลับสับเปลี่ยนมุมกล้อง ระยะใกล้-ไกล Close-Up ซูมใบหน้า เก็บรายละเอียดรอบทิศทาง เพื่อเป็นการเน้นย้ำสร้างความพิเศษให้ตัวละคร เมื่อสองหนุ่ม Jules and Jim พานพบเห็นก็บังเกิดความตกตะลึง คาดไม่ถึง (ว่าใบหน้าของเธอ จะมีแม่แบบพิมพ์เดียวกับรูปปั้นในอุดมคติดังกล่าว)
ฉากที่ถือเป็น ‘Iconic’ ของหนัง, Catherine เขียนหนวด สวมหมวก เสื้อไหมพรม กางเกงขายาว ปลอมตัวเป็นผู้ชาย วิ่งออกนำ Jules and Jim ไม่สามารถไล่ติดตามทัน (สื่อตรงๆถึงหนุ่มๆทั้งสองมิอาจไล่ติดตาม ตอบสนองความต้องการของหญิงสาวที่ปรับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา)
เมื่อตอนเริ่มต้นมาท่องเที่ยวพักผ่อนยังรีสอร์ทตากอากาศ ทั้งสามต่างอาศัยอยู่คนละห้องพักในลักษณะสามเส้า (สามเหลี่ยม) แต่หลังจากพานผ่านช่วงเวลาแห่งความสนุกหรรษา เรียนรู้จักกันมาสักระยะ และ Jules สามารถขอแต่งงาน Catherine เช้าตื่นขึ้นมาพวกเขาทั้งสามก็ออกมาตรงระเบียงห้องเดียวกัน (แค่ว่า Jules โอบกอดกับ Catherine สร้างความอิจฉาริษยาเล็กให้ Jim)
ช่วงเวลาแห่งความสนุกสุดหรรษาของ Jules and Jim มักพบเห็นพวกเขาพยายามยกยอปอั้น เอาอกเอาใจ คุกเข่าศิโรราบ ยินยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อ Catherine ซี่งผมรู้สึกว่าเธอดูเหมือน King มากกว่า Queen เสียอีกนะ
Freeze Frame เป็นอีกเทคนิคลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Truffaut’ เพื่อสร้างความพิเศษ ช่วงเวลาอยากให้ผู้ชมจดจำ ลีลาการเล่นหูเล่นตา ส่งเสียงหัวเราะ อ้าปากกว้าง ทุกปฏิกิริยาแสดงออกของ Jeanne Moreau ล้วนออกจากภายใน มันช่างสุดเหวี่ยง เต็มที่กับชีวิตจริงๆ
Seine River ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของภาพยนตร์รักโรแมนติก An American in Paris (1951) จนถึง Amélie (2001) ถ้ามาถ่ายทำยังกรุง Paris จำต้องพบเห็นแม่น้ำสายนี้
ฉากที่หญิงสาวจู่ๆอยากลงเล่นน้ำ เหมือนจะได้รับความนิยมในภาพยนตร์หลายเรื่องทีเดียว ถ้าผมจำไม่ผิดเคยเห็นจากเรื่อง La Dolce Vita (1960), Goodfellas (1990) ล้วนสะท้อนนิสัยความเอาแต่ใจ อยากทำอะไรก็ทำ และถ้ามีใครอยู่แถวนั้นก็มักเป็นการเรียกร้องความสนใจ
แซว: ว่ากันว่านักแสดงแทน Jeanne Moreau วันนั้นดันดื่มหนัก เมามายขาดสติ เลยทำให้เธอต้องกระโดดลงแม่น้ำ Seine ที่เย็นเฉียบ เปียกปอน นอนซมซานเป็นไข้อยู่ 2-3 วัน
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นำเสนอด้วยการร้อยเรียงชุดภาพ Archive Footage, การถ่ายทำให้มีลักษณะเหมือน Stock Footage (ฟีล์ม 16mm) และถ้ามีนักแสดงอยู่ในฉากถึงจะถ่ายทำแบบปกติ (35mm) ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสบรรยากาศของสงคราม การต่อสู้ พบเจอ-พลัดพรากจากระหว่าง Jules and Jim อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกาย-จิตใจ ของพวกเขา
แซว: ผู้กำกับ Truffaut เป็นคนที่รังเกลียดการสงครามมากๆ (เพราะความผิดหวังจากหญิงสาวเลยอาสาสมัครทหาร แต่กลับค้นพบว่าสถานที่แห่งนั้นไม่เหมาะกับตนเองอย่างยิ่ง จึงพยายามดิ้นรนและเคยหลบหนีทหาร ปฏิเสธเข้าร่วม French Indichina War) ช็อตท้ายๆของ Sequence ที่เป็นรูปปั้นของผู้เสียชีวิต สุสานคนตาย มีนัยยะต่อต้านสงครามอย่างชัดเจน
เอาจริงๆเราสามารถมองทั้ง Sequence สงครามโลกครั้งที่สองในเชิงนามธรรม ว่าคือการต่อสู้/ร่วมรักระหว่าง Jule และ Catherine จนให้กำเนิดบุตรสาว Sabine ก็ได้เช่นกัน (Sex เปรียบได้กับสงครามระหว่างชาย-หญิง ใช้กำลังต่อสู้ ขัดขืน ยิงอสุจิเข้าสู่รังไข่ … ประมาณนั้นแหละ)
การหวนกลับมาพบเจอระหว่าง Jules & Catherine และ Jim สังเกตว่ามันจะมีบรรยากาศแปลกๆ ช่องว่างระหว่างพวกเขา ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนม กระปรี้กระเปร่าเหมือนแต่กาลก่อน นั่นเพราะทุกคนพานผ่านช่วงเวลาแห่งการต่อสู้สงคราม/ชีวิตคู่ที่เริ่มเหินห่าง ทุกสิ่งอย่างได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง
ช่วงระหว่างการพูดคุยสนทนา จะมีช็อต Close-Up ใบหน้าของแต่ละคน จากนั้นทำการ Whip-Pan เคลื่อนไปหาอีกคนอย่างรวดเร็ว ทำราวกับว่าพวกอยู่ห่างไกลกันโคตรๆ ซึ่งก็สะท้อนเข้านัยยะฉากนี้ถึงช่องว่าง ความเหินห่าง ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมเหมือนกาลก่อน
ว่ากันว่า Truffaut เกลียดการถ่ายเลิฟซีน ด้วยเหตุนี้ฉากสำคัญๆระหว่าง Jim กับ Catherine จึงมักถ่ายทำยามค่ำคืนคืน แสงสว่างน้อยๆ มองอะไรไม่ค่อยเห็น (ไม่ได้ใช้ฟิลเลอร์ Day for Night นะครับ) เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา ที่ยุคสมัยนั้นยังเป็นสิ่งยินยอมรับได้ยาก จึงคงต้องหลบซ่อนตัวอยู่ท่ามความมืดมิด … ซึ่งมันก็ล้อกับครึ่งแรกที่ Jules เกี้ยวพาราสี Catherine ยามกลางวันเป็นส่วนใหญ่
ใครเคยรับชม Amélie (2001) เชื่อว่าพอมาถึงช็อตนี้ก็ต้องจับจ้องมองแมลงที่กำลังเคลื่อนเข้าปากของ Catherine ขณะกำลังจะจุมพิตกับ Jim อย่างพอดิบพอดี! นี่มันเป็นความบังเอิญล้านเปอร์เซ็นต์! (แบบเดียวกับแมลงวันตอนจบของ Call Me By Your Name (2017)) แต่พระเจ้าจอร์จ มันสามารถตีความได้หลากหลายมากๆ (แต่ผมขอไม่วิเคราะห์ถึงแล้วกัน เพราะอย่างไรเสียมันก็มิใช่ความตั้งใจของผู้สร้างอย่างแน่นอน)
แซว: ซึ่งถ้าใครสังเกตฉากอื่นๆ ในห้องของ … จะมีภาพแมงมุม ซึ่งก็ถือเป็นสัตว์ขนาดเล็ก (สามารถสื่อถึง Catherine ที่สร้างหยากไย่ให้หนุ่มๆเข้ามาติดกัปดัก)
Truffaut ชมชอบที่จะใช้ภาพวาดสื่อเรื่องราว อารมณ์ความรู้สึก เชิงสัญลักษณ์ถึงตัวละครในขณะนั้นๆ เนื่องจากผมเริ่มขี้เกียจวิเคราะห์ ก็เลยรวมๆมาให้เผื่อใครชื่นชอบก็ลองทำความเข้าใจดูนะครับ ไม่ได้มีความซับซ้อนสักเท่าไหร่
หลังจาก Catherine ตัดสินใจบอกเลิกรากับ Jim (อ้างว่าเพราะเขามีบุตรให้เธอไม่ได้) เดินออกจากห้องแล้วเปิดประตูเข้าหา Jules เข้าไปนั่งระบายความอัดอั้น เรียกร้องขอคืนดี จากนั้นก็ Close-Up ใบหน้าของพวก กอดจูบราวกับจะกลืนกิน ต่างฝ่ายต่างไม่ยินยอมพรากจากไปไหน … ในมุมของคนเคร่งศาสนา อนุรักษ์นิยม คงเรียกการกระทำดังกล่าวว่า ‘สำส่อน’ แต่สำหรับฝั่งเสรีนิยม ก็จะบอกว่าเรื่องของกรูจะทำไม! นั่นคืออิสรภาพในเนื้อหนังร่างกาย สนองความพึงพอใจส่วนตน
ทั้งก่อนที่ Jim จะร่ำลา Gilberte เพื่อมาครองรักกับ Catherine และขณะกำลังจะพลัดพรากจาก ต่างต้องมี ‘ขออีกสักครั้ง’ เพราะไม่ว่าจะฟากฝั่งไหน ล้วนไม่มีหญิงสาวคนไหนอยากพลัดพรากจากเขาไป … เอาจริงๆผมไม่ชอบฉากนี้เลยนะ มันเหมือนผู้แต่งนวนิยาย Henri-Pierre Roché (และผู้กำกับ Truffaut) ยังเต็มไปด้วยความกระหายต่อบรรดาหญิงสาวที่พวกเขาเคยครอบครองรัก ถ้ามีโอกาสก็พร้อมเอาอีกสักครั้ง หลายครั้งก็ได้ มันจะมักมาก ไม่รู้จักพอไปถึงไหนกัน
แต่ตอนร่ำลาจาก Catherine หลังเสร็จกามกิจจะมีช็อตที่เธอลุกขึ้นมาทาครีม เช็ดหน้า ราวกับว่าหลังเลิกราครั้งนี้ตนเองกำลังจะได้เริ่มต้นมีชีวิตใหม่ ได้รับอิสรภาพ ทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจอีกครั้ง
พานผ่านไปหลายปี Jules บังเอิญมีโอกาสพบ Jim อีกครั้ง จึงชักชวนเขาให้ไปเยี่ยมเยียน Catherine หวนระลึกความทรงจำยังบ้านหลังใหม่ ซึ่งตั้งขวางทางน้ำหลังนี้ ราวกับชีวิตพวกเขา (Jules & Catherine) ตั้งอยู่บนความไม่มั่นคง ฐานกลวงโบ๋ (บริเวณที่เปิดช่องให้ธารน้ำไหล)
ซึ่งยังไม่ทันไร Catherine ก็ได้ใช้ไม้ตายสุดท้าย ชักปืนขึ้นมาขู่จะยิง Jim (เพราะเขาไม่ยินยอมเป็นเบี้ยงล่าง คล้อยทำตามคำสั่งอีกต่อไป) ในชีวิตจริงและต้นฉบับนิยาย เธอได้ลั่นไกและทำให้ชายคนรักบาดเจ็บ แต่ในหนังผู้กำกับ Truffaut ยังมีอีกตอบจบซ่อนเร้น ทำให้ Jim สามารถฉกแย่งชิง และเอาตัวหลบหนีรอดพ้น
สะพานขาดคือความสัมพันธ์อันขาดสะบั้นระหว่าง Jules and Jim พวกเขาไม่สามารถเชื่อมติดต่อ ไปมาหาสู่ได้อีกต่อไป (หรือจะมองว่าความสัมพันธ์ระหว่าง Catherine และ Jules and Jim ก็ได้เช่นกัน) โดยท้ายที่สุด Catherine ตัดสินใจเลือกฝั่ง Jim พาเขาขึ้นรถ และพุ่งลงแม่น้ำ Seine (ล้อกันตอนที่เธอกระโดดลงแม่น้ำตอนกลางเรื่อง) … แต่ความตั้งใจแท้จริงของผู้กำกับ Truffaut นั้นจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามเลยนะครับ
ตัดต่อโดย Claudine Bouché (1925-2014) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มต้นมีผลงาน Mr. Peek-a-Boo (1951), ก่อนมาโด่งดังจากร่วมงาน François Truffaut ตั้งแต่ Shoot the Piano Player (1960), Jules and Jim (1962), นอกจากนี้ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Emmanuelle (1974), A Little Romance (1979) ฯ
หนังพยายามดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Jules and Jim เคียงคู่ขนาน และในช่วงเวลาที่ทั้งสองอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่เพราะ Jim คือตัวแทนผู้แต่งนวนิยาย Henri-Pierre Roché เลยทำให้ผมรู้สึกว่าหนังเอนเอียงไปทางมุมมองสายตาของเขามากกว่า Jules (อย่างตอนหลังสงคราม เริ่มต้นที่ Jim หวนกลับมาพบเจอ Jules, Catherine และบุตรสาวของพวกเขา)
ผมขอแบ่งหนังแบบหยาบๆเพียงครึ่งแรก-ครึ่งหลัง โดยมีสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอยู่กึ่งกลางขวางกั้น
- ก่อนสงครามโลก
- แนะนำ Jules and Jim วิถีชีวิต ความชื่นชอบ หญิงสาวที่พวกเขาต่างหลงใหล
- การมาถึงของ Catherine ทำให้สองหนุ่มตกหลุมรักแรกพบ ออกท่องเที่ยวเล่น จนกระทั่ง Jules ขอแต่งงานกับเธอได้สำเร็จ
- ร้องเรียงฟุตเทจสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- หลังสงครามโลก
- Jim หวนกลับมาพบเจอ Jules และ Catherine มองภายนอกพวกเขาก็มีความสุขกันดี
- Jules พยายามผลักดันให้ Jim ได้ครอบครองรักกับ Catherine เมื่อสบโอกาสก็ดื่มด่ำความสุขอย่างเต็มที่
- หลังจากเสพสมมาสักพัก Jim ก็เริ่มตระหนักถึงธาตุแท้จริงของ Catherine เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็เลยตีตนออกห่าง
- ท้ายที่สุดเมื่อทั้งสามหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฎกรรม
หลายคนคงรู้สึกว่าช่วงครึ่งแรกนั้นแสนสั้น (ประมาณครึ่งชั่วโมง) ผิดกับหลังสงครามโลกมันช่างเยิ่นยาวนานยิ่งนัก (ประมาณชั่วโมงเต็มๆ) ไม่ได้มีความสมดุลกันเลยสักนิด! แต่นั่นคือไดเรคชั่นของหนังเลยนะครับ ดังสำนวนที่ว่า ‘ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นแสนสั้น’ ซึ่งรวมไปถึงลีลาการตัดต่อ ครึ่งแรกมีความเร่งรีบร้อนรน (แข่งขันกันเพื่อครอบครองคู่หญิงสาวที่ตนใฝ่ฝัน) ส่วนครึ่งหลังจะเอื่อยเฉื่อยเชื่องช้า เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากการสงคราม (และตอบสนองความต้องการของภรรยา)
ส่วนไฮไลท์ของหนังคือการใช้เสียงบรรยาย (narration) ของ Michel Subor แต่จะไม่ใช่พูดประกอบสิ่งกำลังบังเกิดขึ้น ผมรู้สึกว่ามีลักษณะคล้ายคำอธิบายรายละเอียดแบบเดียวกับนวนิยาย บางครั้งก็รำพันไร้สาระที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร(กับเรื่องราว) และส่วนใหญ่มักคือสิ่งที่ตัวละครครุ่นคิด วาดฝัน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง … เทคนิคนี้ถือเป็นลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Truffaut’ เพื่อรวบรัดเรื่องราว ไม่จำเป็นที่ต้องนำเสนอทุกสิ่งอย่าง ทุกกระเบียดนิ้ว (คล้ายๆหนัง ‘สไตล์ Ozu’ ที่ถ้าตัวละครบอกว่ากำลังจะทำอะไร ก็มักตัดข้ามไปหลังเหตุการณ์นั้นโดยทันที)
The ashes were placed in urns and sealed in separate compartments. Jules would have mingled them. Catherine had always wanted hers scattered to the winds from a hilltop, but it was against regulations.
เสียงบรรยายสุดท้ายของหนัง รำพันถึงสิ่งที่ไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้
เพลงประกอบโดย Georges Delerue (1925 – 1992) นักแต่งเพลงระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roubaix ในครอบครัวนักดนตรี ตั้งแต่ชื่นชอบเล่นคาริเน็ต (Clarinet) มีความหลงใหล Richard Strauss แต่พอตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด (scoliosis) เลยจำต้องเปลี่ยนมาเป็นคีตกวี ร่ำเรียนยัง Conservatoire de Paris จากนั้นเขียนเพลงประกอบละครเวที บัลเล่ต์ โอเปร่า หนังสั้น ภาพยนตร์เริ่มจาก Hiroshima mon amour (1959), โด่งดังจากร่วมงานขาประจำ François Truffaut ตั้งแต่ Shoot the Piano Player (1960), Jules and Jim (1962), โกอินเตอร์กับผลงานเด่นๆ A Man for All Seasons (1966), Anne of the Thousand Days (1969), Julia (1977), A Little Romance (1980) ** คว้า Oscar: Best Original Score, Platoon (1986), Sword of Gideon (1987) ฯ
ยุคสมัย French New Wave มีความพยายามมองหาแนวทางสร้างสรรค์บทเพลงที่แตกต่างจากขนบวิถีดั้งเดิม ซึ่งงานเพลงของ Georges Delerue โดยเฉพาะกับ Jules and Jim (1962) ได้ทำการปฏิวัติ ปรับเปลี่ยนแนวความคิด วิธีการนำเสนอเพลงประกอบภาพยนตร์โดยสิ้นเชิง!
นั่นเพราะงานเพลงของ Delerue ไม่ได้เขียนท่วงทำนองเพื่อสร้างบรรยากาศ ถ่ายทอดจิตวิทยา/รู้สึกนึกคิดตัวละคร หรือให้มีความสอดคล้องภาพพบเห็น แต่มุ่งเน้นนำเสนอ’เรื่องราว’ในบทเพลง ที่อาจเกี่ยวข้อง-ไม่เกี่ยวข้องกับหนัง เพียงสามารถขยับขยายอารมณ์ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ขณะรับชม … กล่าวคือ ถ้าเรานั่งฟังเฉพาะ Soundtrack จะสามารถจินตนาการเห็นภาพเหตุการณ์ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบได้เลยละ!
At that time (the New Wave), there were two schools: a tendency to make film music extremely faithful to images and actions, and another that on the contrary, encouraged a great detachment, a great distance from the image. I preferred to go in the second direction, looking for a style that was a counterpoint to the image.
Georges Delerue
ลองหลับตาแล้วฟังบทเพลง Jules et Jim นี่คือ Main Theme ที่นำเสนอ ‘เรื่องราว’ ทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยเสียงเครื่องเป่าท่วงทำนองสนุกหรรษา ตื่นเต้นเร้าใจ ใส่อารมณ์กระแทกกระทั้นอย่างรุนแรง เหมือนวัยรุ่นหนุ่มกระริกกระรี้ เร่งรีบทำอะไรบางอย่าง แต่พอพานผ่านถึงกลางเพลง ราวกับพวกเขาหมดสิ้นเรี่ยวแรง เกิดความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ท้อแท้หมดสิ้นหวัง นำไปสู่ตอนจบลงอย่างเงียบงัน
งานเพลงของหนังสามารถแบ่งออกเป็นสองตีมหลักๆ ถูกตั้งชื่อ(เพลง)ว่า Vacances (แปลว่า Holiday) และ Brouillard (แปลว่า Fog) ซี่งสามารถสะท้อนครี่งแรก-ครี่งหลัง ช่วงเวลาแห่งความสุขหรรษา-ทุกข์โศกเศร้าเสียใจ
Vacanes คือช่วงเวลาที่สองหนุ่ม Jules and Jim มีความเริงร่า สนุกสนาน สุขสำราญไปกับชีวิต โดยหญิงสาว Catherine เปรียบดั่งดวงตะวันทอประกายสาดแสงสว่าง ให้เกิดความอบอุ่นหฤทัย หัวใจโป่งพอง ชีวิตไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้, ความน่าอัศจรรย์ของบทเพลงนี้คือการผันแปรเปลี่ยนเครื่องดนตรีบรรเลงท่วงทำนองไปเรื่อยๆอย่างนุ่มนวล แนบเนียน (ไม่กระแทกกระทั้นอย่างรุนแรงเหมือน Main Theme) เดี๋ยวโอโบเด่น-เดี๋ยวไวโอลิน-คาริเน็ต สลับไปมาระหว่างเครื่องเป่า-เครื่องสาย-เครื่องกระทบจังหวะ ล้อเข้ากับอุปนิสัย Catherine ได้เป็นอย่างดี
ไฮไลท์ของบทเพลงนี้คือการนำไปใช้ในฉากท่องเที่ยว ปั่นจักรยานของ Jules, Jim และ Catherine มอบความรู้สีกสนุกสนาน ผ่อนคลาย ช่วงเวลาแห่งความสุข ทรงคุณค่าที่สุด (ของพวกเขาทั้งสาม)
สำหรับ Brouillard จะมี 2 Version ต่างใช้ท่วงทำนองเดียวกับ Vacanes แต่จะลดทอนเครื่องดนตรี (หลงเหลือเพียงเครื่องเป่า) และความเร็วลงจนเชื่องช้าเนิบ แสดงถีงความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ช่วงเวลาแห่งความสุขได้หมดสิ้นไป การหวนกลับมาพบเจอกันของ Jules, Jim และ Catherine ต่อจากนี้จะมีเพียงความทุกข์ทรมาน เจ็บปวดรวดร้าว
ผมเลือกนำ Brouillard (Version 2) เพราะอยากให้สังเกตสิ่งหลงเหลือของบทเพลงนี้ มีเพียงเครื่องเป่าด้วยเสียงสั่นเครือ ชีวิตแทบไม่หลงเหลือแสงสว่าง ความหวัง หนทางออกอีกต่อไป ส่วนตอนใกล้จบน่าจะคือการดิ้นรนเฮือกสุดท้าย ก่อนทุกสิ่งอย่างจะถีงจุดกัลปาวสาน
Le Tourbillon หรือ Le Tourbillon de la vie (The Whirlwind of Life) แต่งโดย Serge Rezvani ตั้งแต่ปี 1957 ว่ากันว่าเพื่อมอบเป็นของขวัญให้ Jeanne Moreau (ที่เจ้าตัวแอบชอบ) รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มเพื่อนสนิท Rezvani, Moreau, Truffaut, Boris Vian และ Francesca Sollevill ซี่งเมื่อ Truffaut กำลังจะสรรค์สร้าง Jules and Jim เลยขออนุญาต Rezvanni เพื่อนำมาใช้ประกอบหนังและรับเชิญเล่นกีตาร์ในฉากนี้เองเลยนะครับ (ในบทคนรักครั้งคราวของ Catherine … และ Moreau)
ใจความบทเพลงนี้สื่อถีงหญิงสาวผู้มีความโล้เล้ลังเลใจดั่งลมพายุ ไม่สามารถเลือกรักใครเลยตัดสินใจเหมาหมด มอบความรู้สีกดีๆให้กับทุกคนบนโลกใบนี้อย่างเท่าเทียม
เกร็ด: เมื่อปี 1995 ในพิธีเปิดเทศกาลหนังเมือง Cannes มีการสร้างเซอร์ไพรส์โดย Vanessa Paradis ร่วมกับนักกีตาร์ Jean-Félix Lalanne เล่นบทเพลง Le Tourbillon เพื่อเคารพคารวะประธานคณะกรรมปีนั้น Jeanne Moreau จนต้องลุกขี้นมาร่วมขับร้องบทเพลง และทุกคนในงานต่างยืนปรบมือให้ทั้งคู่ (พร้อมน้ำตาซีมๆ)
ทิ้งท้ายกับบทเพลง Le cimetière แปลว่า Cementery ดังขึ้นหลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรม ช่วงแรกๆคือบทรำพันความเจ็บปวดของ Jules แต่ก่อนทุกสิ่งอย่างจะจบสิ้นลง ท่วงทำนองออเคสตร้าของ Le Tourbillon จะกระหึ่มดังขึ้นอีกครั้ง (สื่อถึงการไม่สามารถหลงลืมความรักครั้งนี้ได้ลง) … จริงๆแล้วทั้งบทเพลงนี้ก็คืออีก variation ของ Le Tourbillon แต่หลายคนอาจสัมผัสครึ่งแรกไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์เช่นไร คุ้นทำนองแค่ช่วงท้ายเมื่อออเคสตร้าดังขึ้น อันนี้ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ด้านดนตรี หรือนั่งฟังไปเรื่อยๆสักยี่สิบสามสิบรอบ ก็อาจสามารถเข้าถึงได้เองนะครับ
แม้หนังจะตั้งชื่อว่า Jules and Jim แต่กลับนำเสนอเรื่องราวของ Catherine หญิงสาวผู้มีเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์ น่าหลงใหล เป็นที่รักใคร่ของใครๆ แต่เธอไม่ยินยอมตกเป็นเจ้าของผู้อื่นใด ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ไม่ถูกกำหนดกฎกรอบควบคุมขัง ทำในสิ่งปรารถนาตามเสียงเพรียกเรียกร้อง สนองพีงพอใจส่วนตนเท่านั้น
พฤติกรรมแสดงออกของ Catherine ถือว่าผิดแผกแตกต่างจากขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี หญิงสาวในอุดมคติยุคสมัยนั้น (ก่อนการมาถีงของ Mai 68) เลยไม่ได้รับการยินยอมรับ ถูกต่อต้านจากฝั่งอนุรักษ์นิยม (รับไม่ได้ในประเด็นร่วมรักหลับนอนกับสามีหลายคน) องค์กรศาสนาก็พยายามล็อบบี้ไม่ให้หนังออกฉายวงกว้าง (เพราะกลัวว่าจะไปสร้างค่านิยมผิดๆให้กับคนรุ่นใหม่) ในฝรั่งเศสเห็นว่าจัดเรต 18+ บางประเทศก็ไม่ได้รับอนุญาตนำออกฉาย
แต่ต่อให้พยายามควบคุม หักห้ามสักเพียงใด Catherine ถือว่าเป็นแทนคนรุ่นใหม่ยุคสมัยนั้น ไม่ได้อยากเป็น ‘หญิงสาวในอุดมคติ’ ของผู้ใด พวกเธอต้องการที่จะ ‘เป็นตัวของตนเอง’ มีอิสรภาพในการดำรงชีวิต ตกหลุมรัก เลือกคู่ครอง แต่งงาน-หย่าร้าง ร่วมรักหลับนอน สวิงกิ้ง Orgy มันก็เรื่องของฉัน เนื้อหนังของกรู ใครจะทำไม!
จุดแตกหักในฝรั่งเศสเกิดขี้นในช่วงการปฏิวัติทางอุดมคติ Mai 68 (เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968) ที่แม้ไม่ประสบความสำเร็จโค่นล้มล้างรัฐบาล แต่ได้เกิดการปรับเปลี่ยนจารีตประเพณี ขนบวิถีทางสังคม(ของฝรั่งเศส)ไปโดยสิ้นเชิง! ทำให้ Catherine ไม่ถูกมองเป็นโสเภณี คนวิกลจริต เสียสติแตกอีกต่อไป … หญิงสาวพฤติกรรมแบบนั้น สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนนกรุง Paris เลยละ!
ผู้กำกับ François Truffaut มีความทรงจำฝังใจอย่างรุนแรง ลืมไม่ลง Liliane Litvin สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้แม้ค่อนข้างซื่อตรงต่อนวนิยายของ Henri-Pierre Roché แต่ปรับเปลี่ยนแปลงตอนจบเพื่อแสดงมุมมอง ทัศนคติ ความคิดเห็นส่วนตนต่อเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว เพราะตัวเขาเองเคยพยายามคิดสั้นฆ่าตัวตาย (เพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมของ Liliane Litvin) มันจีงไม่มีทาง Happy Ending กับสิ่งบังเกิดขี้นอย่างแน่นอน
เราสามารถเปรียบเทียบ Truffaut กับตัวละคร Jim (ซี่งก็เป็นตัวแทนของผู้แต่งนวนิยาย Roché ด้วยเช่นกัน) แรกพบเจอตกหลุมรัก Catherine/Liliane Litvin พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ แต่หญิงสาวกลับแสดงออกความรักอย่างเท่าเทียม นั่นสร้างความท้อแท้หมดสิ้นกำลังใจ ลีกๆยังคาดหวังว่าสักวันจักได้เติมเต็มความฝัน มีโอกาสครองรักกับเธอโดยไม่มีใครกีดกั้นขวาง แต่ถ้าสิ่งนั้นบังเกิดขี้นมันก็ย่อมสามารถหวนย้อนกลับหาตนเองได้เช่นกัน สุดท้ายแล้วจีงหลงเหลือวิถีทางเดียวเท่านั้นจักครองคู่อยู่ร่วมเพียงเราสองชั่วนิรันดร์
ถ้าฉันครองครอบเธอแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ ก็อยากเข่นฆ่าแล้วตกตายพร้อมกันเลยดีกว่า! … โอ้แม้เจ้า ทำไมความคิด Truffaut ช่างเห็นแก่ตัว เป็นคนขี้ขลาดตาขาวขนาดนี้ ใครเคยรับชมผลงานเรื่องอื่นๆของพี่แก ก็น่าจะตระหนักถีงมุมมอง ตัวตน หลายต่อหลายครั้งสรรค์สร้างภาพยนตร์ด้วยอคติต่อเพศหญิง (อดีต)แฟนสาว แสดงความคิด/ตำหนิต่อว่า เอาแต่เข้าข้างตนเอง แล้วฉันทำผิดอะไร? เป็นผู้กำกับที่ผมรู้สีกว่าไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย เลยสักนิด!
แถมให้กับเหตุผลที่ Truffaut ค่อนข้างอคติต่อเพศหญิง มีจุดเริ่มต้นจากแม่ของเขาเองที่ไม่เคยเลี้ยงดูเอาใจใส่ (แบบเดียวกับ The 400 Blows (1959)) ทำให้ขาดความรัก ความอบอุ่น ไร้ที่พี่งพักพิง ซี่งเมื่อเขาเติบโตเป็นวัยรุ่นรู้สีกชื่นชอบพอหญิงสาวคนไหน ก็พยายามเรียกร้องขอความสนใจ พอไม่สำเร็จก็วนเข้าอีหรอบมารดา บังเกิดอคติต่อต้าน หลังจากกลายเป็นผู้สร้างหนัง ก็ใช้สื่่อภาพยนตร์ระบายความรู้สีกอีดอัดอั้นนั้นออกมา
หนังได้เสียงตอบรับดีมากๆทุกที่ที่ไปออกฉาย แต่ Truffaut กลับเต็มไปด้วยความหวาดระแวง วิตกจริต โดยเฉพาะรอบปฐมทัศน์ ถีงขนาดหลบหนีไปหาหนังของ The Marx Brothers ที่ฉายอยู่ใกล้ๆรับชมแทน
แซว: Jean Renoir โปรดปรานหนังเรื่องนี้มากๆ ถีงขนาดเขียนจดหมายแสดงความรู้สีกชื่นชมส่งถีง Truffaut เก็บใส่กระเป๋า พกติดตัวอยู่เป็นปีๆ และชอบหยิบออกมาอวดอ้างแสดงความภาคภูมิใจ
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 2K สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel พร้อมเบื้องหลัง บทสัมภาษณ์ และ Commentary จากนักเขียนบท Jean Gruault, นักตัดต่อ Claudine Bouché และนักแสดงนำ Jeanne Moreau
ในบรรดาผลงาน Top3 ของ François Truffaut ประกอบด้วย The 400 Blow (1959), Jules and Jim (1962) และ Day for Night (1973) โดยส่วนตัวครุ่นคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยอดเยี่ยม น่าประทับใจมากที่สุด! ลงตัวแทบทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่เรื่องราวรักสามเส้า (ที่โคตรซับซ้อน), นักแสดงนำ Jeanne Moreau (น่าจะเป็นบทบาทยอดเยี่ยมสุดในชีวิต!), สไตล์ลายเซ็นต์ (พัฒนา ‘สไตล์ Truffaut’ มาถึงจุดสูงสุด), ลีลาถ่ายภาพของ Raoul Coutard, ตัดต่อโดย Claudine Bouché และโคตรเพลงประกอบ Georges Delerue คลุกเคล้าเข้ากันได้อย่างกลมกล่อม สมบูรณ์แบบ
แต่ผมก็มิอาจจัดหนัง “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเนื้อเรื่องราวแทบไม่มีสาระอะไร ตัวละคร(และผู้กำกับ)มีเพียงแรงผลักดัน ‘sex drive’ ให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินไป และตอนจบหลงเหลือเพียงความรู้สึกรวดร้าวทรมาน เจ็บปวดทรวงใน
แนะนำคอหนังโรแมนติก รักสามเส้า (ชายสองหญิงหนึ่ง), หลงใหลคลั่งไคล้ Jeanne Moreau, แฟนๆผู้กำกับ François Truffaut และเพลงประกอบโคตรไพเราะของ Georges Delerue ห้ามพลาดเชียวละ!
จัดเรต 15+ กับความฉวัดเฉวียนทางอารมณ์ของนางแมวสาว รักสามเส้า และโศกนาฎกรรม
คำโปรย | Jules and Jim คือมุมมองของ François Truffaut ต่อ Jeanne Moreau และหญิงสาวยุคสมัยใหม่ แต่เธอก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลา
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | รวดร้าวถึงทรวงใน
Jules et Jim (1962) : François Truffaut ♥♥♥♥
(26/6/2016) จากผู้กำกับ French New Wave ชื่อดัง François Truffaut กับหนังเรื่องที่ถือว่าสร้าง ‘ภาษา’ ของภาพยนตร์ได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์, เรื่องราวรักสามเศร้าของ Jules และ Jim ต่อ Catherine ที่จะทำให้คุณเข้าใจว่า ‘รักคือความเสียสละ’, เพลงประกอบของหนังเรื่องนี้เพราะมากนะครับ ติดอันดับ 10 Best Soundtracks ของนิตยสาร TIME เลยทีเดียว
ผมเคยดูหนังของ Truffaut มาแล้วเรื่องหนึ่งคือ The 400 Blows (1959) เป็นอัตชีวประวัติที่มีความตราตรึง ประทับใจและแสนเจ็บปวดใจ แต่นั่นเพิ่งจะเป็นหนังเรื่องแรกของ Truffaut นะครับ เขายังขาดประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการสร้างภาพยนตร์อยู่อีกมาก, Jules and Jim เป็นผลงานลำดับที่ 3 ซึ่งว่า Truffaut ได้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ ต่อยอดพัฒนาเทคนิค วิธีการไปสู่จุดที่กลายเป็นโคตรศิลปินที่มีความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างโดดเด่น ผมเรียกสไตล์ลักษณะนี้ว่า “หนังแนว Truffaut” (มันก็คล้ายๆ ‘หนังแนว Ozu’, ‘หนังแนว Godard’), ถ้าคุณเคยดู The 400 Blows แล้วชื่นชอบ ก็อย่าพลาด Jules and Jim นะครับ
ดัดแปลงมาจากนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiographical) ของ Henri-Pierre Roché ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 1953 เรื่องราวความรักสามเศร้าระหว่าง Roché, Franz Hessel (เพื่อนสนิทของ Roché) และ Helen Grund, Truffaut ได้พบกับนิยายเรื่องนี้ในช่วงกลางยุค 50s ระหว่างกำลังหาหนังสือเก่ามือสองจากร้านหนังสือแถว Seine ใน Paris, เพราะความชื่นชอบในนิยาย Truffaut ได้กลายเป็นเพื่อนกับ Roché วัยชรา ที่เพิ่งตีพิมพ์นิยายเรื่องแรกตอนอายุ 74 แต่เขียนนิยายราวกลับคนอายุ 20-30, นอกจาก Jules and Jim แล้ว Truffaut ยังดัดแปลงนิยายของ Roché อีกเรื่องคือ Two English Girls (1971), น่าเสียดายที่ Roché ไม่ได้มีโอกาสดูหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของเขา เพราะเสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี 1959
Jules และ Jim เป็นเพื่อนสนิทกัน, Jules เป็นนักเขียนชาวออสเตรีย ส่วน Jim เป็นชาว French Bohemian, ทั้งสองรู้จักกันโดยบังเอิญที่ Paris ในปี 1912 แต่พบว่ามีความสนใจที่คล้ายๆกัน ชื่นชอบในศิลปะและชีวิตสไตล์ Bohemian เหมือนกัน จึงกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน, Jules สอน Jim พูดเยอรมัน Jim สอน Jules พูดฝรั่งเศส “They taught each other their languages; they translated poetry.”, มีครั้งหนึ่งที่ทั้งสองได้เห็นรูปภาพของรูปปั้นของเทพี เกิดความหลงใหลในรอยยิ้ม ลงทุนเดินทางไปยังสถานที่จริงเพื่อชื่นชมความงดงามของรูปปั้นนั้นใน Adriatic Island
Jules รับบทโดย Oskar Werner เป็นชาวออสเตรีย หนังเรื่องนี้ทำให้ Werner กลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ, ตัวละคร Jules ดูสงบเสงี่ยม พูดน้อย ตัวเล็ก ผมสีบลอนด์, เขามักโชคไม่ดีเวลาจีบสาว ถ้าไม่เจอคนที่เงียบเกินไป ก็พูดมากเกินไป มีครั้งหนึ่งทดลองกับ professional แต่ก็ไม่ใช่ที่เขาต้องการ, ฉากที่พอเสียงบรรยายพูดขึ้นว่า professional แล้วภาพตัดไปที่เท้าของหญิงสาวที่สวมนาฬิกาข้อมือ (เท้า) น่าจะหมายถึง โสเภณีที่เราต้องใช้เงินซื้อเวลาเธอเพื่อใช้บริการ พอเวลาหมดก็จบกัน (เงินมาผ้าหลุด)
Jim รับบทโดย Henri Serre เป็นชาวฝรั่งเศส, ตัวละครนี้มีการแสดงออกที่ความร่าเริงสดใส เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ร่างกายสูงใหญ่ ผมสีดำตรงกันข้าม Jules แทบทุกอย่าง, Jules และ Jim มีอะไรมักจะแบ่งปันกันเสมอ ยกเว้นแค่ครั้งหนึ่งที่ทั้งสองตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกัน Catherine ซึ่ง Jules ออกปากขอ Jim เองเลยว่า “not this one, Jim. OK?” ขณะนั้น Jim ตอบตกลง
Catherine รับบทโดย Jeanne Moreau นักแสดงชาวฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง เธอเพิ่งได้รางวัล Best Actress จาก เทศกาลหนังเมือง Cannes กับหนังเรื่อง Moderato Cantabile (1960) ทำให้ Truffaut อยากร่วมงานกับเธอมาก, เนื่องจากหนังไม่ได้มีทุนมากมาย ซึ่งไม่พอจะจ่ายค่าตัวของ Moreau ด้วยซ้ำ แต่เธอก็เล่นหนังเรื่องนี้ด้วยความทุ่มเท แถมยังให้ความช่วยเหลือทีมงานระหว่างถ่ายทำมากมาย, บท Catherine ทำให้ชื่อเสียงของเธอยิ่งโด่งดังในระดับนานาชาติ และเป็นที่ต้องการตัวอย่างมาก ได้รับโอกาสให้แสดงหนังกับผู้กำกับหลากหลายมากขึ้น อาทิ Michelangelo Antonioni (La notte และ Beyond the Clouds), Orson Welles (The Trial, Chimes at Midnight และ The Immortal Story), Luis Buñuel (Diary of a Chambermaid), Wim Wenders (Until the End of the World) ฯ
การแสดงของ Moreau ในบท Catherine นั้นสมจริงมาก ราวกับว่าตัวจริงเป็นแบบนั้นจริงๆ (เห็นว่าตัวจริงนิสัยดีมากนะครับ ไม่เหมือนบทในหนังเลย) ผมไม่รู้เธอเป็น bipolar หรือ BPD รึเปล่า คืออารมณ์โคตรเหวี่ยงเลย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่ความไม่แน่นอนนี้ทำให้ตัวละครนี้มีเสน่ห์ที่ดึงดูดใจ ไม่แค่กับตัวละครที่หลงใหลในตัวเธอ แต่ผู้ชมที่รู้สึกตื่นเต้น เพราะคาดเดาอะไรไม่ได้กับเธอว่าจะทำอะไรต่อไป, ผู้หญิงแบบนี้ในชีวิตจริงผมก็เจออยู่บ่อยๆนะครับ เป็นประเภทที่ผมเอือมละอามาก เอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว และมักจะเป็นกับคนที่หน้าตาดี จากที่ตอนแรกชอบมากๆ พอรู้จักตัวจริงกลายเป็นโคตร… เล่าแบบนี้ใครดูหนังเรื่องนี้แล้วคงรู้ว่าผมเป็นแบบ Jim ไม่ใช่ Jules, Jules ไม่ว่า Catherine จะปฏิบัติแย่ต่อเขาขนาดไหน ก็ยังคงรักอยู่และให้อภัยเธอทุกอย่าง, Jim แค่ครั้งเดียวพอแล้ว บทเรียนนี้สำคัญเท่าชีวิตของเขา
กระนั้นผมคิดว่านิสัยของ Catherine ในหนังยังเข้าใจง่ายกว่าผู้หญิงจริงๆคนที่ผมเคยพบเจอนะครับ, ตอนเธออยู่ดีๆกระโดดน้ำ ผมเหมือนเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า เดาได้ว่าเธอต้องกระโดดแน่ (เพราะถ้าเป็นผมก็จะกระโดด) ฉากนี้เกิดขึ้นหลังจากทั้ง 3 เดินกลับหลังจากดูการแสดงของ Strindberg สองหนุ่มไม่ชอบเรื่องราวนี้เลย แต่หญิงสาวชอบมากๆเพราะความกล้าตัดสินใจในอิสรภาพของตัวละครนำหญิง ซึ่งสองหนุ่มต่างเถียงกันเรื่องมุมมองของผู้หญิงในสายตาของเขา ทิ้งเธอ(ซึ่งเป็นผู้หญิง) ที่เดินนำหน้าพวกเขา, ผมรู้ถึงการไม่ให้เกียรติและความไม่สนใจต่อบุคคลอีกคนที่อยู่ข้างหน้าพวกเขา ฉันต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจ มองไปรอบๆ ก็มีกระโดดน้ำเนี่ยแหละที่จะทำให้สองคนนี้หยุดพูด… และเธอก็ทำเช่นนั้นจริงๆ สองหนุ่มหยุดพูดทันพลัน
การกระทำที่ดูเหมือนบ้าคลั่งของ Catherine ล้วนแต่มีเหตุผลประกอบให้เราสามารถเข้าใจความคิดเธอได้ ซึ่งคือ อิสระภาพในการคิด ทำ ตัดสิน, เธอเป็นตัวแทนของผู้หญิงรุ่นใหม่ที่มองตัวเองไม่ได้เป็นนกถูกขังในกรง แต่โบยบินออกไปข้างนอก, ในฉากจบ ทำไมเธอถึงทำแบบนั้น?, ผมลืมบอกไปว่าตอนที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย แม้ผู้เขียนนิยาย Henri-Pierre Roché จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ Helen Grund ที่เปลี่ยนนามสกุลเป็น Helen Hessel (เธอแต่งงานกับ Franz Hessel และเปลี่ยนไปใช้นามสกุลเขา) ยังมีชีวิตอยู่ และได้ไปชมหนังรอบปฐมทัศน์ด้วย, เธอเปิดเผยตัวออกมาหลังหนังจบ บอกว่าเธอเป็นคนยิง Franz เสียชีวิตจริงๆ, ในหนังมีฉากนี้อยู่นะครับ แต่ Catherine ไม่ได้ยิง Jim ซึ่ง Truffaut มีตอนจบที่เจ็บกว่าคือ Catherine ขับรถตกสะพานร่วมกับ Jim (ตายคู่), การกระทำแบบนี้มองได้คือความริษยาที่รุนแรง เพราะ Jim ไม่ยอมทำตามคำขอของ Catherine คือกลับมารักเธออีกครั้ง, หญิงสาวที่เอาแต่ใจ ถูกตามใจมาตลอด แต่ครั้งนี้ Jim กลับขัดใจเธอ นี่คงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับเธอ เราสามารถมองเป็นความพิศวง หลงใหล หรือความรักที่คลั่งไคล้ก็ได้ เพราะเขาเป็นคนแรกที่ทำให้เธอรู้สึกเช่นนี้ที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เธอจึงหลงรักเขาอย่างหัวปลักหัวปลำ และไม่ต้องการรู้สึกแบบนี้กับใครอีก จึงขอจบชีวิตร่วมกับคนที่เธอรักที่สุดนี่แหละ
ถ่ายภาพโดย Raoul Coutard คนนี้ปกติแล้วเป็นขาประจำของ Jean-Luc Godard นะครับ เป็นตากล้องที่ถ่าย Breathless (1960), Le Mépris (1963), สำหรับ Jules and Jim Coutard ได้ทำอะไรหลายอย่างที่บ้าคลั่งมากๆ โดยการใช้กล้องที่เบาที่สุด แบกไปรอบๆกองถ่าย (Hand Held), ถ่ายภาพขณะนั่งซ้อนจักรยาน, เทคนิคภาพอื่นๆที่ใช้อาทิ Newsreel footage, ภาพนิ่ง (photographic stills), แพนกล้อง, ซ้อนภาพ, dolly shots, Masking ฯ ซึ่งการเคลื่อนไหวกล้องมีความลื่นไหลแบบสุดๆ (extremely fluid)
ตัดต่อโดย Claudine Bouché, ด้วยเทคนิคที่ใช้ควบคู่กับการถ่ายภาพอาทิ การ Wipe (ขณะเปลี่ยนซีน), แช่ภาพ (Freeze frame) ฯ การตัดต่อช่วงแรกที่ใช้การถ่ายภาพลักษณะของ Newsreel (คล้ายๆกับ Citizen Kame) อาศัยการตัดต่อที่รวดเร็วฉับไว และตลอดทั้งเรื่องมีการใส่เสียงบรรยาย (ให้เสียงโดย Michel Subor) มีลักษณะคล้ายการอ่านบันทึกจากไดอารี่ (เห็นว่า Traffaut ได้ไดอารี่ของ Roché หลังจากเขาเสียชีวิต มาเป็นแหล่งอ้างอิงให้กับหนังด้วยนะครับ)
ด้วยเทคนิคที่มากมายเหล่านี้ ทั้งการถ่ายภาพและตัดต่อ ผสมผสานกันกลายเป็นภาษาทางภาพยนตร์ (language of cinema) ในรูปแบบใหม่ในสมัยนั้น (พัฒนาขึ้นจาก The 400 Blows) ที่เราพบเห็นได้กับหนังของ François Traffaut เท่านั้น ผมจึงเรียกว่าสไตล์นี้ ‘หนังแนว Traffaut’
เพลงประกอบโดย Georges Delerue มีนิตยสารในฝรั่งเศส Le Figaro ให้ฉายาเขาว่า “Mozart of cinema”, เคยได้ Oscar สาขา Best Original Score จากเรื่อง A Little Romance (1979), หนังเรื่องนี้มีเพลงดัง ผมคิดว่าระดับเดียวกับ Moon River จากหนังเรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961) ที่ร้องโดย Audrey Hepburn เลยละ, เพลง Le Tourbillon (แปลว่า The Whirlwind) เขียนเนื้อร้องโดย Serge Rezvani ร้องโดย Jeanne Moreau เนื้อเพลงเป็นภาษาฝรั่งเศส ใจความถึงบทสรุปความวุ่นวายในรักของตัวละครนำทั้งสาม ลองฟังดูนะครับ
ทั้งๆที่หนังชื่อ Jules and Jim แต่ศูนย์กลางของหนังจริงๆคือ Catherine การที่ชื่อของนางเอกหายไป ไม่ได้มีนัยยะอะไรมากนะครับ นอกจากสร้างความพิศวงให้กับผู้ชม และชื่อมันคล้องจองกันกว่า Jules, Jim and Catherine เป็นไหนๆ
อิทธิพลของหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะความรักของชายหญิงที่บ้าคลั่ง เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Bonnie and Clyde (1967) เรื่องนี้เห็นว่าทีแรก Truffaut ตั้งใจจะกำกับ แต่ hollywood เลือกผู้กำกับอเมริกัน Arthur Penn ไปเสียงั้น, Thelma & Louise (1991) ของ Ridley Scott ก็เช่นกัน, ใครเคยดู Amélie (2001) น่าจะรู้สึกได้ว่านิสัยนางเอกคล้ายกับ Catherine มากๆ, ในหนังเรื่อง Pulp Fiction (1994) ของ Quentin Tarantino ตัวละคร Jules Winnfield (นำแสดงโดย Samuel L. Jackson) และ Jimmie (แสดงโดย Tarantino เองเลย) ชื่อ Jules and Jim ก็ชัดนะครับ, Cameron Crowe กับหนังเรื่อง Vanilla Sky (2001) ฉากสุดท้ายมีภาพของ Jeanne Moreau และโปสเตอร์ของหนัง กับเรื่องราวเพื่อนสนิทสองคนตกหลุมรักหญิงคนเดียวกัน และตอนไคลน์แม็กซ์หญิงสาวขับรถตกสะพานพร้อมกับคนรัก
เกร็ด: นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของ Stephen Hawking นะครับ
ผมไม่รู้จะชื่นชม Jules หรือจะสมน้ำหน้าเขาดี, คือมันก็มีนะผู้ชายที่โคตรดีอย่าง Jules เขารัก Catherine มาก และตามใจเธอสุดๆ ไม่ว่าเธอจะทำตัวดีเลว เหมาะสมไม่เหมาะสม, ก็คิดดูนะครับ จะมีสักกี่คนที่ยอมให้ภรรยาของตนไปมี Sex กับชายอื่น โดยเฉพาะกับเพื่อนสนิทของตัวเอง, นี่อาจเป็นค่านิยมที่ผิดวิปริตในสมัยปัจจุบัน แต่สมัยก่อนโดยเฉพาะฝั่งเอเชียเรา นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติแม้แต่น้อย, พูดกันแบบจริงจัง ดูอย่างพระมหากษัตริย์ไทยสมัยก่อน มีพระชายาตั้งเท่าไหร่ ค่านิยมสมัยก่อน ถ้าคุณเป็นคนรวยมีเงิน มีศักดินา มีภรรยาได้หลายคนเป็นเรื่องปกติ, ไม่ใช่แค่ไทยนะครับ อินเดีย จีน ฝั่งเอเชียเรานี่แหละไม่มีข้อจำกัดผู้ชายมีภรรยาได้กี่คน จะมีก็แต่ยุโรปนี่แหละที่อ้างหลักการอะไรก็ไม่รู้ เอาแนวคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียว มาปลูกฝังค่านิยมของคนเอเชีย มองว่าเป็นเรื่องอัปยศอดสู จนปัจจุบันใครๆก็คิดกันว่า การมีเมียหลายคนเป็นสิ่งผิด!, เหตุนี้ในสมัยก่อน เมียหลวงตบตีเมียน้อย เรื่องพรรค์นี้มีน้อยมาก เพราะผู้หญิงมักจะเปิดใจยอมรับสามี ให้สามารถอยู่กับหญิงอื่นได้ แต่เมียหลวงต้องเป็นใหญ่ในบ้านเท่านั้น, พอวัฒนธรรมแบบนี้ถูกลบล้างไป ความคิดของคนจึงยึดมั่นอย่างไม่ผ่อนปรน ต่อชายที่มีบ้านน้อยจึงมักถูกฝ่ายหญิงตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยความอิจฉาริษยา และความหึงหวง, ผมไม่ขอเข้าข้างฝ่ายไหนว่ายุคสมัยไหนถูกผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แล้วความสามารถในการยอมรับของคุณเอง ดูหนังเรื่องนี้จบลองคิดดูว่าตัวคุณเองเป็นแบบ Jules ที่รับได้, Jim ที่รับไม่ได้ หรือเป็น Catherine ที่รับได้และรับไม่ได้
Roger Ebert ให้คำจำกัดความหนังเรื่องนี้ว่า เป็นหนังที่ท้าทายความเร็วในการคิดของผู้ชม และการหาคำอธิบายเหตุผลรองรับของอารมณ์ตัวละคร (Jules and Jim, is one of those rare films that knows how fast audiences can think, and how emotions contain their own explanations.) เริ่มต้นหนังเต็มไปด้วยความตื่นเต้นสนุกสนาน แต่ไปๆมาๆ เรื่องราวกลับเริ่มมืดมนสับสน และตอนจบกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่เศร้าสลด
นี่เป็นหนังที่เต็มไปด้วยเทคนิคมากมายตระการตา แนะนำอย่างมากกับคนทำงานสายภาพยนตร์ในการศึกษาเรียนรู้, เนื้อเรื่องที่มีความโรแมนติก เสียสละ และโศกนาฎกรรม เหมาะกับคนที่ชอบหนังรักโรแมนติก แนว Sad Ending, ชายหนุ่มที่อยากเข้าใจสาวๆขี้งอน เอาแต่ใจ ลองศึกษาจากหนังเรื่องนี้ดู, หนังภาพขาว-ดำ อาจดูยากหน่อยสำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ ใครชอบหนังอย่าง Bonnie and Clyde, Thelma & Louise, Amélie ลองหาหนังเรื่องนี้มาดูนะครับ
จัดเรต 15+ กับฉากการกระทำบ้าๆ, อาการเหวี่ยงๆของหญิงสาว และการฆ่าตัวตายตอนจบ
Leave a Reply