Kagemusha

Kagemusha (1980) Japanese : Akira Kurosawa ♥♥♥♥

อีกหนึ่ง Masterpiece ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or, นี่คือหนัง Art สงครามซามูไรระดับมหากาพย์ที่ต้องใช้ความอดทนในการรับชมอย่างสูง ซึ่งแทนด้วยความคิด ความรู้สึก จิตวิญญาณของ Kurosawa ต่อช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่กลายเป็นเพียงเงาสะท้อนตัวเองจากอดีต

ไม่มีสิ่งใดใครในโลกยิ่งใหญ่ยืนยงอยู่คับฟ้า มีขึ้นก็ต้องมีลงเป็นวัฎจักร ประสบความสำเร็จล้นหลามล้วนต้องเคยตกต่ำถึงขีดสุด แม้แต่ปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa ก็ไม่มีเว้น, ช่วงทศวรรษ 40s – 60s ระยะเวลา 30 ปียุคทองที่ไม่เคยหยุดนิ่งว่างเว้น สร้างหนังออกฉายเฉลี่ย 1-2 เรื่องต่อปี แต่แล้วเมื่อถึงจุดๆหนึ่งกับ Dodes’ka-den (1970) ด้วยความเย่อหยิ่งจองหอง หลงระเริงเหลิงตัวเอง เกิดความผิดพลาดให้อภัยไม่ได้ครั้งแรกในชีวิต ล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และขาดทุนย่อยยับ ทำให้ Kurosawa หวาดวิตกสั่นสะท้านถึงขั้วหัวใจ หดหู่หมดสิ้นเรี่ยวแรง ปี 1971 พยายามฆ่าตัวตายด้วยการใช้ใบมีดโกนกรีดข้อมือกว่า 30 ครั้ง แต่ยังมีชีวิตอยู่ ข่าวคาวแพร่สะพัดทำให้ไม่มีใครในญี่ปุ่นยอมรับไว้ใจเชื่อมืออีกแล้ว กอปรกับตัวเลขอายุที่มากขึ้นและโลกกำลังเปลี่ยนไป ช่วงทศวรรษ 70s – 90s ทำให้ชายสูงวัย Kurosawa เร่ร่อนยังต่างประเทศ เดินทางไปรัสเซียสร้าง Dersu Uzala (1975) ต่อมาได้ George Lucas กับ Francis Ford Coppola ลูกศิษย์ผู้เทิดทูนเหนือหัว ต่อรองร้องขอสตูดิโอใหญ่ใน Hollywood เจียดเงินได้มาเป็นทุนสร้าง 5 ปีสร้างได้เรื่องหนึ่งนับว่าบุญโขแล้ว สองทศวรรษสุดท้าย ผลงานภาพยนตร์ของ Kurosawa จึงสะท้อนความคิดฝัน ความรู้สึก และจิตวิญญาณ ออกมาใกล้หัวใจที่สุดแล้ว

ผลงานของ Akira Kurosawa ตลอดชีวิตมีเยอะมาก กว่า 30 เรื่องได้กระมัง ผมเองก็ยังรับชมได้ไม่ทั้งหมด หนึ่งในเรื่องที่ยังไม่เคยดูคือ Kagemusha เพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์ คุ้นๆเคยได้ยินใครสักคนพูดว่า ในบรรดาผลงานของ Kurosawa เรื่องที่เข้าใจยากสุดอันดับ 1 คือ Rashômon (1950) และอันดับ 2 คือ Kagemusha … เพราะตอนนั้นดู Rashômon ไม่รู้เรื่อง คงไม่แปลกที่จะขอผ่าน Kagemusha ไปก่อน

รับชมหนังเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่าเป็น 3 ชั่วโมงเต็มที่อึดอัดทรมาน เริ่มต้นเรื่องราวดำเนินไปอย่างเชื่องช้าชวนให้สัปหงกคอตกอยู่หลายครา แต่ก็มีความอลังการตระการตาให้ตามติดต่อไปได้เรื่อยๆ, คงเพราะผมเคยอ่านชีวประวัติของ Kurosawa ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงคล้ายคลึงหลายๆอย่าง แต่หนังก็ชวนให้เกิดข้อคำถาม เป้าหมายปลายทางต้องการนำเสนออะไร?, ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย เมื่อคำตอบได้รับการไขกระจ่าย จิตใจผมสั่นสะท้านร้อนวูบวาบ ทุกศพที่เห็นมันคือสภาพจิตใจของ Akira Kurosawa ที่เต็มไปด้วยหอกดาบแหลมนับพันหมื่นแสน ทิ่มแทงคั่งค้างคาอยู่ในหัวใจ เจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน นี่มันคือผลงานโคตรยิ่งใหญ่ระดับ Masterpiece ที่ผมเพิ่งมารับรู้ได้เมื่อตอนจบของหนัง

Akira Kurosawa (1910 – 1998) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ōmori, Tokyo ในครอบครัวที่พ่อเคยเป็นซามูไร มีฐานะค่อนข้างร่ำรวย และสอนให้ลูกๆเปิดรับแนวคิด อิทธิพล วัฒนธรรมของชาติตะวันตก นี่ทำให้เด็กชาย Kurosawa มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ตอนอายุ 6 ขวบ แต่ความสนใจแรกของเขาคือเป็นจิตรกรนักวาดรูป ซึ่งก็ได้มุ่งไปทางนั้น หัดเรียนเขียนแบบ คัดตัวหนังสือ และเคนโด้ ควบคู่กันไป

เมื่อปี 1923 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว Great Kantō ทำให้กรุงโตเกียวราบเรียบเป็นหน้ากอง สภาพที่เด็กชาย Kurosawa มองเห็นคือ ร่างอันไร้วิญญาณของทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เกิดความหวาดกลัวขนหัวลุก ขณะกำลังจะเบือนหน้าหนีพี่ชาย Heigo Kurosawa สอนให้น้องมีความกล้ายอมรับความจริง ไม่ให้หลับตาหันหนี จดจ้องจำ เผชิญหน้ากับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น, นี่น่าจะคืออิทธิพลสำคัญต่อผลงานยุคหลังของ Kurosawa โดยเฉพาะกับ Kagemusha และ Ran ในการเผชิญหน้า ยอมรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

Heigo คือพี่ชายสุดรักยิ่งของน้อง เป็นคนมีพรสวรรค์ในการเรียนแต่ดันสอบไม่ติด เลยตีตนออกห่างจากครอบครัว หางานทำได้เป็น Benshi (ผู้บรรยายหนังเงียบ) จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วน Akira หนีตามไปอยู่กับพี่ชายด้วย ตั้งใจเป็นจิตรกรวาดภาพหาเลี้ยงชีพ ผลงานได้รับอิทธิพลจาก German Expressionism, Soviet Realism ถือว่าร่วมสมัยนั้น แต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่ในประเทศญี่ปุ่น, เมื่อวงการภาพยนตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปเป็นหนังพูด ทำให้พี่ชาย Heigo ตกงาน ตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อเดือนกรกฎาคม 1933 (ซะงั้น! สอนน้องให้เผชิญหน้ายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ตัวเองกลับทำไม่ได้) นี่ทำให้ Akira หัวใจสลาย แต่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อ ตัดสินใจหางานทำที่มั่นคงกว่าการวาดรูป ผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์

ปี 1935 มีสตูดิโอเกิดขึ้นใหม่ Photo Chemical Laboratories หรือ P.C.L. (ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Toho หนึ่งในสตูดิโอใหญ่สุดของญี่ปุ่นในปัจจุบัน) เปิดรับสมัครตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ Kurosawa ที่ไม่เคยสนใจทำงานดังกล่าว ยื่นใบสมัครพร้อมส่ง Essay แสดงความเห็นเรื่องข้อบกพร่องพื้นฐานของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้เขียนเชิงประชดประชันตอบไปว่า ถ้าข้อบกพ่องคือพื้นฐานของวงการภาพยนตร์ คงไม่มีทางแก้ไขได้แน่ ปรากฎว่าผู้กำกับ Kajirō Yamamoto อ่านแล้วเกิดความสนใจ เรียกมาสัมภาษณ์งาน และว่าจ้าง Kurosawa ตอนอายุ 25 ให้กลายเป็นผู้ช่วยของเขา

ความสามารถของ Kurosawa มีความหลากหลาย เรียนรู้งานไว ส่อแววอัจฉริยะ คือทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สร้างฉาก ออกค้นหาสถานที่ จัดแสง พากย์เสียง ตัดต่อ ก้าวหน้าจากผู้ช่วย (third assistant) กลายเป็นหัวหน้า (chief assistant) ในระยะเวลาไม่ถึงปี โดยเฉพาะผู้กำกับ Yamamoto ทั้งส่งเสริม ปลุกปั้น เป็นอาจารย์ (mentor) ให้คำชี้แนะนำ ซึ่งหนังเรื่อง Horse (1941) จริงๆจะถือว่า Kurosawa ได้กำกับภาพยนตร์เต็มตัวเรื่องแรกก็ได้ เพราะเขาทำงานแทน Yamamoto แทบทั้งหมด

ใช้เวลากว่า 2 ปี ค้นหาเรื่องราวน่าสนใจสำหรับกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ก็ได้พบกับ Sanshiro Sugata (1942) เขียนโดย Tsuneo Tomita เพิ่งตีพิมพ์ได้ไม่นานยังไม่เป็นที่รู้จักวงกว้าง Kurosawa อ่านจบปุ๊ปขอให้ Toho ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงปั๊ป นิยายขายดีทันที สตูดิโออื่นสนใจยื่นขอซื้อต่อแต่ช้าไปแล้ว

ไม่เหมือนผู้กำกับคนไหนในญี่ปุ่นขณะนั้น Kurosawa หลังจากอ่านนิยาย/บทภาพยนตร์ จะเกิดภาพจินตนาการในหัว (Visual Image) ด้วยความสามารถทางศิลปะที่ตนมี วาดภาพสิ่งนั้นออกมาเป็น Storyboard ใส่ครบทุกรายละเอียด ทิศทางมุมกล้อง ฉาก/พื้นหลัง อุปกรณ์ประกอบ หรือแม้แต่ตัวละคร การกำกับนักแสดง ฯ รายละเอียดยิบในระดับที่ใครมาอ่านก็เห็นภาพ นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เองได้โดยทันที

ตลอดระยะเวลา 30 ปี กระบวนการคิด วิธีการสร้างภาพยนตร์ของ Kurosawa แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่มักไปเสียเวลาชักช้ากับการวาด Storyboard ที่มักไม่ค่อยเสร็จทันงานสร้าง (ก็พี่แกเล่นสร้างหนังปีละ 1-2 เรื่องมาโดยตลอด) จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นกับ Dodes’ka-den (1970) ที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักกลับตารปัตร ไม่ใช่ภาพจินตนาการในหัวหรือไอเดียใหม่ๆไม่บรรเจิด แต่คือเตรียมงานสร้างวาด Storyboard ในหัวทุกอย่างเสร็จสรรพแต่กลับต้องรอเวลาไม่มีเงินทุนสร้าง

สำหรับ Kagemusha ร่วมงานกับ Masato Ide ที่เคยทำ Red Beard (1965) พัฒนาบทภาพยนตร์ อ้างอิงเรื่องราวจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ยุค Sengoku-jidai (1467 – 1603), Takeda Shingen ผู้นำ Daimyō ของตระกูล Takeda ศัตรูคู่ปรับตลอดกาลของ Oda Nobunaga (ว่ากันว่าเป็นคนเดียวที่สามารถยับยั้งต้านต่อสู้กับ Nobunaga ได้อย่างสูสี) ถูกยิงใกล้สิ้นลมหายใจ ได้สั่งเสียขอเวลา 3 ปี ต่อเหล่ายอดขุนพลให้ปกปิดข่าวการเสียชีวิตของตนไว้ มอบหมาย Kagemusha ตัวตายตนแทนขึ้นเป็น Daimyō หุ่นเชิดแทน เพื่อหลอกบรรดาศัตรูคู่แค้นทั้งหลาย จะได้ยั้งไม่ยกทัพมารุกรานอันเป็นเหตุให้ตระกูล Takeda ต้องล่มสลาย

สงครามทั้งหลายอ้างอิงจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งหมด อาทิ Battle of Mikatagahara (1573), Battle of Nagashino (1575) ฯ แต่ตัวละคร Kagemusha เป็นส่วนแต่งเติมเสริมขึ้นทั้งหมด

คงด้วยความว่างทำให้เคว้งคว้าง รอคอยไม่รู้เมื่อไหร่จะสรรหาทุนสร้างหนังเสียที Kurosawa เลยค่อยๆแต่งเติมเสริมเพิ่มอะไรหลายๆอย่างเข้าไปในหัวของเขา จากที่คงเป็นเรื่องราวสงครามธรรมดาทั่วๆไป ใส่จิตวิทยาเพิ่มกับตัวละคร (ซึ่งก็แทนด้วยความรู้สึกของ Kurosawa เอง) ทำให้หนังเรื่องนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน เข้มข้นบ้าคลั่ง สมจริงมากขึ้น จากตัวประกอบที่ตอนแรกคงตั้งใจใช้ไม่กี่ร้อย แต่ฉากสงครามสุดท้ายเห็นว่า 5,000 คน!

Tatsuya Nakadai (1932 – ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น, เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวที่ยากจนมาก ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือเลยตัดสินใจเป็นนักแสดง มีความชื่นชอบ John Wayne และ Marlon Brando เคยเป็นตัวประกอบเล็กๆ ซามูไรเดินผ่านใน Seven Samurai (1954), มีผลงานประสบความสำเร็จ อาทิ The Human Condition Trilogy, Harakiri (1962), Samurai Rebellion (1967), Kwaidan (1965) ฯ ร่วมงานกับ Kurosawa ทั้งหมด 5 ครั้ง Yojimbo (1961), Sanjuro (1962), High and Low (1963), Kagemusha (1980) และ Ran (1985)

รับบท Takeda Shingen และ Kagemusha สองตัวละครที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ยกเว้นแค่หน้าตาเหมือนกัน … เดี๋ยวนะฉากแรกสุดของหนัง เป็นครั้งเดียวที่ทั้งสองอยู่ในช็อตเดียวกัน ทำได้ยังไง? (คงจะถ่ายสองครั้ง และใช้ Blue Screen ช่วย), นี่คือ Master Shot ที่เป็นทั้ง Establish และ Prologue อธิบายที่มาที่ไปของหนังและตัวละครได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบมากๆ

แซว: เชื่อว่าคงมีคนหลับตั้งแต่ 5 นาที Long-Take นี้แน่นอน ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้นแนะนำว่าให้เลิกดูเลยนะครับ เพราะคงได้หลับอีกหลายรอบแน่

Takeda Shingen (1521 – 1573) คือผู้นำ Daimyō ของตระกูล Takeda ได้รับฉายาว่าภูผา (Mountain) มีความหนักแน่นมั่นคง ต่อให้ธนูเฉียดผ่านเข้าหน้าก็ยังสงบนิ่งไม่ไหวติง นี่ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เหล่านายทหารที่ต่อสู้รบอยู่เบื้องหน้า พวกเขาจะรับรู้ตัวว่ามีเจ้านายใหญ่ปักหลักผลักหนุนอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา, ตัวตนจริงๆของ Shingen มีนิสัยไม่ต่างจากเด็ก อยากอะไรเป็นต้องได้ เต็มไปด้วยเพ้อฝันต้องการย่างเท้าเข้าเหยียบครอบครองปราสาท ณ เมืองหลวงเกียวโต แต่โชคชะตาฟ้าไม่อำนวยเพราะดันเกิดยุคสมัยเดียวกับ Oda Nobunaga ทำได้แค่เป็นคู่ปรับตลอดกาล แล้วชิงด่วนเสียชีวิตไปก่อนหน้า

เกร็ด: ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ (Fū-Rin-Ka-Zan) ชื่อธงออกศึกประจำกองทัพ Takeda มาจากตำราพิชัยสงครามของซุนวู บทที่ 7 ความว่า

“รวดเร็วว่องไว ประหนึ่งสายลม
เงียบสงัดสงบนิ่ง ประหนึ่งพงไพร
จู่โจมว่องไว ประหนึ่งเปลวเพลิง
หนักแน่นมั่งคง ประหนึ่งขุนเขา”

Kagemusha คือโจรกระจอกงอกง่อย ปลิ้นปล้อน ไร้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรี ถูกจับข้อหาลักขโมยเล็กน้อย ถูกตัดสินโทษตรึงกางเขน แต่เพราะ Nobukado เห็นว่ามีใบหน้าคล้ายกับพี่ชาย Shingen จึงขอตัวไว้เผื่อสักวันจะได้ใช้งาน เสี้ยมสอนให้เป็นตัวตายตัวแทน (Kagemusha = Shadow Warrior, Doppelganger) แม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด แล้วมันเป็นไปได้หรือเปล่าที่คนไร้ค่าแบบนี้จะสามารถปลอมตัวกลายเป็นผู้นำ Daimyō ที่สูงศักดิ์ มีเกียรติศักดิ์ศรี ยิ่งใหญ่หนักแน่นมั่นคงดั่งภูผา

ต้องถือว่า Nakadai เป็นนักแสดงยอดฝีมือที่มักถูกลืม เหมือนจะเป็นตัวตายตัวแทนของ Toshiro Mifune แต่ก็ไปไม่ถึงระดับนั้น (ไม่รู้เหมือนกันว่าไปตกม้าเอาตอนไหน) สองเรื่องที่รับบทนำใน Masterpiece ของ Kurosawa คือ Kagemusha และ Ran ต่างรับบท Daimyō ทั้งคู่ ตัวละครจะมี 2 ด้านคือ เข้มแข็งยิ่งใหญ่ และตรงกันข้ามอ่อนแอไร้ค่า นี่คงเป็นสไตล์ถนัดของ Nakadai สามารถรับบทตัวเดียว/สองตัวละคร ต่างกันสุดขั้วได้เป็นอย่างดี

Tsutomu Yamazaki (1936 – น่าจะยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติญี่ปุ่น มีผลงาน Debut จากหนังของ Kurosawa เรื่อง High and Low (1963) ตามมาด้วย Red Beard (1965) และ Kagemusha, เคย go-inter เป็นคนขับรถบรรทุกที่หน้าเหมือน John Wayne เรื่อง Tampopo (1985) สำหรับผลงานอื่นๆอาทิ The Funeral (1984), Farewell to the Ark (1985), Go (2001), The Ramen Girl (2008), Departures (2008), Blade of the Immortal (2017) ฯ

รับบท Takeda Nobukado น้องชายแท้ๆของ Shingen ที่ใบหน้าเหมือนจนแทบจะแยกไม่ออก หลังจากพี่เสียชีวิตก็ทำหน้าที่เสมือนผู้นำ ให้คำแนะนำเคียงข้าง Kagemusha แม้ไม่เฉลียวฉลาดเก่งกาจเท่า แต่ถือว่าได้นำพาตระกูล Takeda ไปในทิศทางที่เหมาะสมถูกต้องได้, ผมว่า Nobukado ในหนังเรื่องนี้สามารถยกตัวเองขึ้นเป็น Daimyō ได้เลย แต่ที่เขาไม่ทำเพราะความที่เป็นคนถ่อมตน ชอบที่จะอยู่ใต้บังคับบัญชามากกว่าเป็นผู้นำเสียเอง ซึ่งพี่ชายก็เหมือนได้เลือกทายาทไว้แล้วด้วย เลยไม่ต้องการแก่งแย่งชิงดีนำพาความขัดแย้งสู่วงศ์ตระกูล

การแสดงของ Yamazaki ถือว่ามี Charisma ขนาดนั้นเลยนะครับ คือสามารถนำผู้อื่นได้ ดูมีความเฉลียวฉลาด ทรงภูมิรอบรู้ แต่คงเหมือนกับตัวละครที่ชอบเป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำ ขาดความกล้าในการตัดสินคิดการใหญ่

Daisuke Ryu (1957 – ยังมีชีวิตอยู่) นักแสดงญี่ปุ่นที่มีเชื้อสายมาจากเกาหลี ถือเป็นนักแสดงหน้าใหม่ขณะนั้นที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก มีผลงานตามมาดังๆอาทิ Ran (1985), After the Rain (1999), Unforgiven (2017) ฯ เมื่อปีก่อนได้รับติดต่อแสดงหนังเรื่อง The Silence (2016) ของผู้กำกับ Martin Scorsese แต่เพราะไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าประเทศที่ไต้หวัน โวยวายจนถูกกักตัวขึ้นศาล จึงทำให้ถูกไล่ออกจากกองถ่าย พลาดโอกาสทองการแสดงไปอย่างน่าเสียดาย

รับบท Oda Nobunaga ผู้นำ Daimyō หนึ่งในสามผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค Sengoku-jidai ที่มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ เป็นนักวางแผน และนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ขณะนั้นมีชาวโปรตุเกสเข้ามาติดต่อค้าขายเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆเข้ามาด้วย ซึ่ง Nobunaga ถือเป็นผู้ริเริ่มนำอาวุธปืนเข้าสู่สงคราม สร้างความแข็งแกร่งให้กองทัพของตนได้

เกร็ด: 3 ผู้นำที่รวมญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย Oda Nobunaga, Toyotomi Hideyoshi และ Tokugawa Ieyasu

ผมว่าใบหน้าของ Ryu ไม่เหมือนคนญี่ปุ่นเท่าไหร่ (ก็แน่ละเป็นคนเชื้อสายเกาหลี) แต่ผมรู้สึกเข้ากับแนวคิดหัวก้าวหน้าของ Nobunaga ดีนะ คือมีความเป็นลูกครึ่งจึงสามารถยินยอมคิดอ่านการร่วมสมัยได้, ประทับใจการแสดงสุดก็ตอนพอรับรู้ว่า Shingen เสียชีวิต ก็ลุกขึ้นมารำ Noh นี่เป็นการแสดงความคารวะศัตรูคู่ปรับอันดับ 1 ได้ลึกล้ำ เคารพยกย่องยิ่งอย่างถึงที่สุดเลย

สำหรับตัวละครอื่นขอกล่าวถึงแค่ผ่านๆนะครับ
– Kenichi Hagiwara รับบท Takeda Katsuyori ลูกชายแท้ๆของ Shingen ที่ความสามารถและอุดมการณ์ห่างไกลพ่อของตนยิ่งนัก เป็นดั่งต้นไม้เล็กที่ขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ทำยังไงก็ไม่สามารถไต่เต้าขึ้นสูงกว่าได้ กระทั่งว่าพ่อ/ต้นไม้ ตายไปแล้ว ก็มิวายยังไม่สามารถนำพาตัวเองให้เหนือกว่าได้, ตอนที่ Katsuyori ขึ้นเป็นผู้นำตระกูล Takeda ได้นำพาทุกสิ่งอย่างสู่หายนะ ด้วยความตั้งใจดำเนินรอยตามพ่อแต่ไม่สำเนียกเจียกรู้ตัวเอง เป็นการรนหาที่ตาย ทำให้วงศ์ตระกูลสิ้นสุดลงในบัดดล
– Hideji Ōtaki รับบท Yamagata Masakage นายพลเพลิงผู้มากประสบการณ์ น่าจะอายุมากสุดในเหล่าขุนพล มีความจงรักภักดีซื่อตรงต่อนายและวงศ์ตระกูล แม้รู้ว่าสงครามสุดท้ายจะคือการเดินหน้าสู่ยมโลก ก็หาได้หวาดหวั่นกลัวเกรง เพราะคิดว่าคงได้กลับไปรับใช้ Shingen ในนรกภูมิเป็นแน่
– Masayuki Yui รับบท Tokugawa Ieyasu ผู้นำ Daimyō ที่ต่อมาหลังรวมประเทศแล้วกลายเป็น Shogun คนแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น, ตัวละครนี้ในหนังอยู่ในช่วงจับมือเป็นพันธมิตรกับ Oda Nobunaga ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากกว่านี้
– Eiichi Kanakubo รับบท Uesugi Kenshin ผู้นำ Daimyō ที่เป็นอีกศัตรูคู่แค้นของ Shingen แต่กลับมีความเคารพให้เกียรติ ยกย่องเสมอภาคถึงที่สุด

เกร็ด: Takashi Shimura มารับเชิญบทเล็กๆในหนังด้วยนะครับ เป็นผู้ช่วยหมอฝรั่ง นี่คือการแสดงเรื่องรองสุดท้ายของปู่ก่อนเสียชีวิตเมื่อปี 1982 (ครั้งสุดท้ายที่ร่วมงานกับ Kurosawa)

ถ่ายภาพโดย Takao Saitō ตากล้องขาประจำคนสุดท้ายของ Kurosawa ร่วมงานกันตั้งแต่ Sanjuro (1962) จนถึง Maadadayo (1993),

Kurosawa มักจะจินตนาการสิ่งที่เขาต้องการในหัว วาดออกมาเป็น Storyboard และถ่ายทำทุกๆช็อตให้ออกมาดั่งที่ต้องการ, สำหรับ Kagemusha จะเน้นความอลังการแบบตรงไปตรงมา ถ่ายหน้าตรงหรือไม่ก็ในมุมที่ช็อตเดียวเห็นทุกอย่าง กล้องไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนักนอกจากแพนไปมาซ้าย-ขวา หน้า-หลัง และมักใช้การตัดต่อเพื่อเปลี่ยนมุมกล้องไปเลย (จะไม่ค่อยมี Tracking Shot หรือมุมแปลกๆ)

ที่กล้องไม่ค่อยเคลื่อน อาจเป็นความตั้งใจที่จะให้งานภาพออกมามีลักษณะเหมือน ‘ภาพวาด’ ที่มีการจัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่ง ทิศทางที่สวยงามลงตัว

สังเกตดูนะครับว่า ความอลังการของหนังเรื่องนี้เกิดจากปริมาณล้วนๆ อาทิ ทิวทัศน์กว้างใหญ่ไพศาล เสื้อผ้าหน้าผม ปืน ม้า ตัวประกอบนับร้อยพัน ฯ แทบจะไม่เห็นการต่อสู้เข้าปะทะ รบราฆ่าฟันประชิดตัวเลย เต็มที่คือเห็นคนถูกยิงตายต่อหน้า, ฝูงชนคนควบม้าวิ่งตะบันหาใส่กันในสนามรบ ฯ เท่านั้นเอง

นี่คือความโคตร Art อันเหนือชั้นของ Kurosawa ที่หลายคนคงคาดไม่ถึง คิดว่าหนังระดับมหากาพย์สงครามซามูไรต้องเป็นแบบ Seven Samurai ที่วิ่งเข้าต่อสู้ปะทะประจันหน้า ฟาดฟันถึงเลือดถึงเนื้อเอาเป็นเอาตาย, เหตุผลที่หนังทำมาแค่นี้คงเรื่องเงินเป็นปัจจัยหลัก รองลงมาคือความไม่จำเป็นต่อเรื่องราว เพราะนี่เป็นหนังแนวดราม่าสะท้อนแนวคิด (ในมุมมองของ Kagemusha) ไม่ใช่แอ๊คชั่นฆ่าฟันกันเลือดสาด แค่รับรู้ว่ามีการสู้รบกันก็เพียงพอแล้ว

แซว: สงสัย Kurosawa ได้แรงบันดาลใจมาจาก Spartacus (1960) ของ Stanley Kubrick เป็นแน่ เรื่องนั้นก็เห็นแต่จัดกระบวนตั้งทัพ ไม่มีฉากรบพุ่งสู้กัน ขณะกำลังประชิดถึงตัวก็ตัดไปให้เห็นผลลัพท์เลย

ฉากไฮไลท์อันโคตรแนวของหนัง ในความฝันของ Kagemusha มีความสวยงามราวกับออกมาจากภาพวาดใน Storyboard มันสมองของ Kurosawa เองเลย มีการเลือกใช้แสง สี ลวดลาย ที่มีความจัดจ้านเข้มข้น สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก จิตวิทยาและวุฒิภาวะของตัวละคร เป็นส่วนผสมของ Expressionist + Surrealist ที่เว่อเกินจริง (อาจจะอิงศาสนาด้วยนะ)

ทั้ง Shingen และ Kagemusha เห็นเป็นขนาดมนุษย์ แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่มีลักษณะเหมือนขุนเขาขนาดย่อม และพื้นน้ำ(ที่เป็นดั่งกระจกสะท้อนความเป็นมนุษย์) นี่แปลว่าพวกเขากลายสภาพเป็นเหมือนยักษ์ที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าพิภพ นี่คงเป็นการเปรียบเทียบอำนาจของ Daimyō ที่ยิ่งใหญ่โตเหนือผืนแผ่นดินและมนุษย์ทั่วไป ขณะที่ด้านบนคือท้องฟ้า ก็แปลว่า กระนั้นพวกเขายังคงต่ำต้อยเตี้ยกว่านรก-สวรรค์

ส่วนการวิ่งหนี/วิ่งไล่จับในความฝัน มันคือสภาวะทางจิตใจ ความต้องการแท้จริงของ Kagemusha เขาไม่ได้ต้องการเป็น Daimyō แต่โชคชะตามันวิ่งเข้าหา ทำยังไงได้ก็เลยพยายามวิ่งหนี Shingen ไม่ได้หายตัวไปไหนแต่กลายเป็นเงาสะท้อนผิวน้ำติดตามตัวไปตลอดแล้ว พอรู้ตัวก็เลยเตะผืนน้ำเพื่อกลบเกลื่อนลบเลือนภาพสะท้อนของตนเอง

ปกติแล้วสายรุ้งคือสัญลักษณ์แห่งปาฏิหารย์ หรือโลกแห่งความหวัง/จินตนาการ แบบบทเพลง Over the Rainbow, แต่หนังเรื่องนี้กลับใช้สายรุ้งเป็นหนทางสู่หายนะความตาย จุดจบสิ้นสุดของตระกูล Takeda

มองอีกอย่างหนึ่งในความคิดของ Katsuyori คือเขากำลังเดินทางเพื่อสานความต้องการของบิดา สู่โลกความเพ้อฝันจินตนาการหลังสายรุ้งของพ่อ (ที่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ ไปไม่ถึง)

เหตุผลที่ Kurosawa ต้องทำทุกสิ่งอย่างในหนังให้มีความอลังการ ใหญ่ เยอะเว่อๆ ก็เพื่อเป็นการแทนความรู้สึก มาก มาก มาก ความเจ็บปวด อึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานใจที่สะสมมากคลั่งไร้ทางระบายออก ก็คิดดูจากคนที่กำกับหนังปีละ 1-2 เรื่อง เปลี่ยนมาเป็น 5 ปีต่อเรื่อง มันจะเกิดความหงุดหงิดทรมานเซ็งแค่ไหน ปริมาณเท่านั้นจึงเป็นสิ่งอธิบายความรู้สึกของเขาออกมาได้ (แต่คุณภาพก็ยังล้นเหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหนนะ)

ตัดต่อโดย Akira Kurosawa ไม่แน่ใจว่าทุกเรื่องเลยหรือเปล่าที่ผู้กำกับตัดต่อเอง, เหมือนว่าหนังจะใช้มุมมอง Daimyō ที่ไม่ใช่แค่ Shingen กับ Kagemusha แต่ยังมีหลายครั้งตัดไปให้เห็น Oda Nobunaga, Tokugawa Ieyasu, Uesugi Kenshin ศัตรูคู่อาฆาต และ Katsuyori ลูกชายของ Shingen ที่เป็นว่าที่ Daimyō คนต่อไป ผมเลยได้สรุปเหมารวมว่าหนังใช้มุมมองของ Daimyō ทั้งหมดเป็นหลัก

แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่หนังใช้มุมมองของสายสืบสามคน ที่มาจาก Oda Nobunaga กับ Tokugawa Ieyasu เห็นพวกเขาแล้วชวนให้หวนระลึกถึง Tahei กับ Matashichi สองคู่หูผู้จับพลัดจับพลูจาก The Hidden Fortress (1958) อยู่ไม่น้อยทีเดียวละ (เหมือนการใส่ 2-3 ตัวละครนี้มา คงเพื่อเป็นการขอบคุณ George Lucas ที่ได้ช่วยให้เขาได้สร้างหนังเรื่องนี้)

Daimyō คือตำแหน่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางความคิด ศูนย์กลางของทุกสิ่งอย่างในวงศ์ตระกูล ตัวเขาคนเดียวไม่สามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่อำนาจสามารถควบคุมสั่งบงการ กิจการอุดมการณ์ สิ่งต่างๆให้สำเร็จดั่งใจหวัง, มองแบบนี้ทำให้เราสามารถเปรียบ Daimyō เทียบได้คือผู้กำกับภาพยนตร์ ตำแหน่งที่คนๆเดียวไม่สามารถทำอะไรให้เกิดได้ แต่มีอำนาจควบคุมสั่งบงการ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งถึงสร้างขึ้นสำเร็จได้

เรื่องราวของ Daimyō ทั้งหลายในหนัง จึงแทนได้ด้วยมุมมองของผู้กำกับต่างๆ ทั้งเพื่อนมิตรสหาย ศัตรูคู่แข่งอาฆาต ที่ล้วนแสดงทัศนะต่อการมีตัวตน-จากไปของ Shingen ซึ่งก็สามารถมองได้ไม่ใช่ใครอื่น ผู้กำกับ Akira Kurosawa นั่นเอง

เพลงประกอบโดย Shin’ichirō Ikebe, สำหรับหนังเรื่องนี้ถือว่ามีการใช้เพลงที่ค่อนข้างประหลาด บางครั้งจะได้ยินจากเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่น แต่หลายครั้งจะเป็นเสียงเพลงคลาสสิกด้วยเครื่องดนตรีจากทางฝั่งตะวันตก, แปลกแต่ไม่ถือว่าเพี้ยน เพราะช่วงทศวรรษนั้น ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาค้าขายเผยแพร่ศาสนากับชาวญี่ปุ่นแล้ว การใช้บทเพลงสากลคงแทนด้วยโลกยุคใหม่ที่ค่อยๆกลืนกินวัฒนธรรมพื้นบ้านดั่งเดิม (เปรียบได้กับชัยชนะของชาติตะวันตก)

ผมรู้สึกว่าบทเพลงมีลักษณะของทั้ง Expressionist + Surrealist โดยเฉพาะฉากในฝันของ Kagemusha ใช้การผสมของหลากเสียงและเครื่องดนตรีไฟฟ้า ให้สัมผัสที่เว่อแปลกประหลาดเกินจริง แต่ก็แสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างลึกล้ำ

ไฮไลท์คงเป็นเสียงขลุ่ยกระมัง ตอนต้นเรื่องคงมีคนรอฟัง แล้วสิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น, ผมเรียกบทเพลงจากเสียงขลุ่ยนี้ว่า ‘เสียงเพรียกแห่งความตาย’ เพราะเมื่อไหร่ที่ได้ยินเสียงอันโหยหวยจากเจ้าเครื่องดนตรีนี้อีก ความตายจักต้องมาเยือนใครสักคน

 

Kagemusha คือความพยายามยื้อซื้อ’เวลา’ ต่อลมหายใจให้กับคนที่สูญสิ้นเสียชีวิตไปแล้ว แต่รูปลักษณ์ภายนอกกายภาพสามารถหาเปลี่ยนทดแทน(ยังคงอยู่) แต่มันจะยังอีกนานแค่ไหนกว่าที่ผู้คนจะรับรู้ความจริงว่าบุคคลที่เห็นอยู่ไม่ใช่ตัวตนคนเดิม,

ใจความของหนังเรื่องนี้ สื่อถึงสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเกิดเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน นั่นคือ’อุดมการณ์’ ตราบใดที่ยังหนักแน่นมั่นคงดั่งภูผา ก็ไม่มีทางที่ใครไหนจะสามารถบ่อนทำลายจากภายนอกได้, แต่เมื่อใดที่ภูผาเคลื่อน เปรียบดั่งความคิด อุดมการณ์ของคนเปลี่ยนไป แนวโน้มจุดสิ้นสุดหายนะย่อมเข้ามาถามหา

สายตาของ Kagemusha ช่วงท้ายที่ร่ำคร่ำครวญร้าวราน จากความผิดพลาดตกหลังม้าของตัวเองทำให้ถูกจับได้โดนเปิดโปงความจริง กลายเป็นเหตุให้ตระกูล Takeda เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน กำลังมุ่งสู่หายนะจบสิ้น ตัวเขาที่ไร้ซึ่งอำนาจตัวตน ทำได้เพียงมองด้วยสายตาสิ้นหวัง ท้ายที่สุดอนรนทนไม่ได้ที่สูญเสียอุดมการณ์ ตัดสินใจตะบันหน้าไปขอรับลูกปืน แล้วลากสังขารหน้าซีดเผือกไร้วิญญาณตรงไปที่แม่น้ำ เอื้อมมือไขว่คว้าธงสัญลักษณ์ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายล่องลอยไหลตามกระแสน้ำ กางแขนเหมือนถูกตรึงกางเขน (ล้อกับตอนแรกที่รอดชีวิตไม่ได้ถูกตรึงกางเขน)

สัญลักษณ์ในฉากสุดท้าย คือผู้ชาย (Kagemusha) และอุดมการณ์ (ธงสัญลักษณ์) เป็นของคู่กันที่จะล่องลอยผ่านสายน้ำแห่งกาลเวลา แต่การตายของบุรุษไม่ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของอุดมการณ์ (Kagemusha ล่องลอยตามสายน้ำ แต่ธงสัญลักษณ์ไม่ลอยตาม) กล่าวคือ ถึงตัวตายแต่อุดมการณ์จะยังอยู่สืบทอดต่อไป

นี่ฟังเหมือนคำพูดของคณะปฏิวัติอะไรสักอย่าง ที่เสี้ยมสอนสมาชิก ถึงตัวตายแต่อย่าละทิ้งอุดมการณ์ แต่ผมว่าคำพูดที่ถูกควรเป็น ‘ถึงตัวตายแต่อย่าละเว้นทำความดี เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ติดตัวข้ามภพชาติ’

เราสามารถเปรียบ Shingen เทียบแทนด้วยผู้กำกับ Akira Kurosawa ที่ตัวตนแท้จริงของเขาได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ตอนพยายามฆ่าตัวตาย ส่วน Kagemusha คือตัวตนขณะก่อนสร้างหนังเรื่องนี้ มีสถานะเหมือนตัวปลอม/ตัวสำรอง กำลังวิ่งหนีไม่ยอมรับเผชิญหน้ากับตัวเอง, ความตั้งใจในการสร้างหนังเรื่องนี้จึงเป็นการเปิดอกเผยออก นำสิ่งที่อยู่ภายในความคิด ความรู้สึก วุฒิภาวะทางอารมณ์ของตนเอง ให้ผู้ชมได้รู้รับทราบมองเห็น ถือเป็นหนึ่งในวิธีการ’บำบัด’ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

เรียกได้ว่า Kagemusha คือการผจญภัยทางความคิด ความรู้สึก และจิตวิญญาณของ Akira Kurosawa

สิ่งที่ทำให้ Kurosawa เห็นตนเองกลายเป็น Kagemusha เกิดจากมุมมอง ความคิดที่เปลี่ยนไปหลังจากประสบความล้มเหลว
– ความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวทำให้สูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง, นี่ก็เท่ากับการสูญเสียชีวิต/อำนาจ ของผู้นำเพียงคนเดียว สามารถทำให้ทุกสิ่งอย่างที่เคยคิดหวัง พลันมลาย สู่หายนะ
– เมื่อจิตใจของมนุษย์สูญสิ้นตายจากไป สิ่งที่หลงเหลือคือภาพเงาสะท้อนอดีตของตนเอง แต่ก่อนเคยประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ ตอนนี้ไม่มีใครเหลียวแล แล้วนี่ที่ทำมาทั้งชีวิตจะมีประโยชน์อะไร

หลังจากผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก จิตวิญญาณไปมากแค่ไหน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ Kurosawa ยังคงอยู่เหมือนเดิม นั่นคือ’อุดมการณ์’ความต้องการสร้างภาพยนตร์ ผมว่าคงต้องการยิ่งๆมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยตนเองให้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก แต่ยังเป็นการเสนอแนะนำเรื่องราวที่ตนได้เจอ ให้กับคนที่เคยพบปัญหาอุปสรรคคล้ายกัน จะได้ไม่ย่อท้อแท้ใจ ลุกขึ้นก้าวสู้เดินต่อไปด้วยลำแข้งตนเองได้

ด้วยทุนสร้างประมาณ ¥2.3 พันล้านเยน หนังทำเงินในญี่ปุ่น ¥3.057 พันล้านเยน ไม่มีรายงานตัวเลขรายรับทั่วโลก แต่คิดว่าน่าจะทำกำไรเพราะเห็นว่า Kurosawa ใช้เวลาทั้งปีออกเดินทางทั่วยุโรป เพื่อประชาสัมพันธ์หนังและรับรางวัลโน่นนี่นั่นมากมาย

ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or ร่วมกับหนังเรื่อง All That Jazz (1980) ที่ถือว่าไม่มีใครข่มกันลง โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในสไตล์ของตนเองทั้งคู่

เป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเข้าชิง Oscar ถึง 2 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Art Direction
– Best Foreign Language Film (พ่ายให้กับหนังเรื่อง Moscow Does Not Believe in Tears หนังสัญชาติรัสเซีย อย่างไม่น่าเป็นไปได้)

ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะถึงผมจะอึ่งทึ่งช็อคกับครึ่งชั่วโมงสุดท้ายมากๆ แต่หนังทั้งเรื่องก็พาลให้ผมง่วงเหงาหาวนอน สัปหงกหลับในจนต้องเสียเวลาย้อนกลับไปรับชมหลายครา (สงสัยทำงานหนัก นอนน้อยเกินไปแล้วนะเนี่ย) นอกจากความช้าของหนังแล้ว โปรดักชั่น แนวคิด อย่างอื่นทุกสิ่งอย่าง มีความสมบูรณ์แบบเกินพรรณา

แนะนำกับคอหนังสงครามซามูไร Epic Drama อิงประวัติศาสตร์, สนใจตัวละครชื่อดังในยุคสมัย Sengoku ของญี่ปุ่น อาทิ Takeda Shingen, Oda Nobunaga, Tokugawa Ieyasu, แฟนหนัง Akira Kurosawa และนักแสดงนำ Tatsuya Nakadai ห้ามพลาดเด็ดขาด

จัดเรต 13+ กับแนวคิด บรรยากาศ และความตาย

TAGLINE | “Kagemusha เปิดเผยเงาด้านมืดของ Akira Kurosawa ผ่านการแสดงของ Tatsuya Nakadai ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: