Children of the Sea
Children of the Sea

Children of the Sea (2019) Japanese : Ayumu Watanabe ♥♥♥♥♡

ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถามอภิปรัชญา เปรียบเทียบชีวิตก็คือจักรวาล! มนุษย์สามารถเรียนรู้ทุกสิ่งสรรพสิ่งอย่าง ได้จากความเข้าใจในตัวเราเอง, ตราตรึงไปกับความงดงามของฝูงสรรพสัตว์ใต้ท้องทะเล และเพลงประกอบโดย Joe Hisaishi

From the star, from the stars.
The sea is the mother.
The people are her bosom.
Heaven is a playground.

The festival is finally beginning!

ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงถีงกัน ไม่ว่าจะขนาดเล็ก-ใหญ่ อายุสั้น-ยาว ระยะเวลาช้า-เร็ว เฉกเช่นเดียวกับท้องฟ้า-มหาสมุทร มนุษย์-จักรวาล นี่คือความพยายามตั้งคำถามของผู้แต่งมังงะ Daisuke Igarashi ต้นกำเนิดของชีวิต แตกต่างอะไรกับจุดเริ่มต้นของจักรวาล?

อนิเมะ Children of the Sea มีความพยายามดัดแปลงในส่วนงานศิลป์ให้ใกล้เคียงต้นฉบับมังงะมากที่สุด ผลลัพท์ต้องปรบมือเลยว่า งดงามระดับวิจิตร์ศิลป์ ทั้งยังได้โคตรศิลปิน Joe Hisaishi (ที่ปกติเห็นทำเพลงให้แต่อนิเมะจากสตูดิโอ Ghibli) มาประพันธ์บทเพลงประกอบให้ สร้างสัมผัสอันลุ่มลีก ซับซ้อน สะท้อนสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์-จักรวาล สามารถเรียก ‘2001: A Space Odyssey (1968) ฉบับอนิเมะ’ แค่เสพโปรดักชั่นภาพ-เสียง ก็อาจสามารถล่องลอย ฟินไปไกล แม้ไม่เข้าใจเรื่องราวใดๆก็ช่างมันประไร … ระดับความยากในการรับชม 5 ดาว (Veteran)

ขณะที่ในส่วนเรื่องราว ความยาวมังงะ 5 เล่ม กลายมาเป็นภาพยนตร์ 111 นาที ทำให้มีเนื้อหามากมายถูกปรับเปลี่ยน ตัดทิ้งไป หลายๆใจความสำคัญขาดหาย แต่ถีงอย่างนั้นสไตล์การกำกับของ Ayuma Watanabe ถือว่ายอดเยี่ยมใช้ได้ ชวนให้ผมระลึกถึงผู้กำกับ Shohei Imamura อยู่ไม่น้อยทีเดียว

ภาพยนตร์/อนิเมะที่ต้องใช้สติปัญญาในการรับชม ‘intellectual film’ ถ้าคุณตัดสินให้คะแนนโดยขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สีกส่วนตน โดยไม่เข้าใจเนื้อหาสาระ นัยยะใจความซ่อนเร้นอยู่นั้น ก็เท่ากับเป็นการลดทอนคุณค่าผลงานศิลปะ และตัวตนเอง (แสดงความคิดเห็นได้นะครับ แต่มิใช่ตัดสินดี-แย่ ให้คะแนนต่ำๆเพราะดูไม่รู้เรื่อง) เหมือนเวลาดูหนัง Blockbuster การแสดงความเห็นก็ต้องเชิงว่าสามารถให้ความบันเทิง สนุกสนาน มากกว่าเนื้อหาสาระ ความสมเหตุสมผล หรือทรงคุณค่าทางศิลปะ


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Daisuke Igarashi (เกิดปี 1969) นักเขียนมังงะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Saitama ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป ใช้เวลาว่างหยั่งรากอยู่ชมรมศิลปะ โตขึ้นเข้าศึกษาต่อยัง Tama Art University สาขาสีน้ำมัน (Oil Painting) ระหว่างนั้นมีโอกาสรับชม My Neighbor Totoro (1988) บังเกิดความมุ่งมั่นอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน หลังเรียนจบออกท่องเที่ยวทั่วญี่ปุ่น อาศัยอยู่ผู้คนต่างจังหวัด เรียนรู้ขนบวิถี ประเพณี ความเชื่อ เรื่องเล่าปรัมปรา และยังใช้โอกาสนั้นสเก็ตภาพทิวทัศน์สวยๆเก็บเอาไว้

ผลงานมังงะเรื่องแรก Hanashipanashi (1994-1996) [แปลว่า a long time ago in a place far far away] รวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ (Supernatural) ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Monthly Afternoon ทั้งหมด 45 ตอน รวมได้ 3 เล่ม, สำหรับผลงานสร้างชื่อ เป็นสองเรื่องเขียนขึ้นในช่วงเวลาไล่ๆเรี่ยกัน

  • Little Forest (2002-05) ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Monthly Afternoon ทั้งหมด 34 ตอน รวมได้ 2 เล่ม สามารถเข้ารอบสุดท้าย Osamu Tezuka Culture Award เมื่อปี 2004
  • Majo/Witches (2003-05) ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Monthly Ikki ทั้งหมด 7 ตอน รวมได้ 2 เล่ม สามารถคว้ารางวัล Japan Media Arts Festival: Excellence Prize – Manga เมื่อปี 2004

สไตล์ของ Igarashi เลื่องลือชาในงานเส้นที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว วาดหยาบๆเหมือนภาพสเก็ต แต่มีรายละเอียดเล็กๆน้อยมากมายเต็มไปหมด (ผมถือว่าระดับเดียวกับ Kentaro Miura) งดงามในระดับวิจิตรศิลป์ ซึ่งถ้ามีการแต่งแต้มลงสีก็ต้องใช้สีน้ำมันเท่านั้น!

ขณะที่ความเป็นตำนานของ Igarashi มาจากการเล่าเรื่องราว มักอ้างอิงตำนานพื้นบ้าน (Folklore) ผสมผสานวิถีธรรมชาติ แฝงนัยยะเกี่ยวกับชีวิต ตั้งคำถามอภิปรัชญา นำเสนอออกมาในรูปลักษณะแฟนตาซี (Fantasy) เหนือธรรมชาติ (Supernatural)

สำหรับ Kaijuu no Kodomo (แปลตรงตัวว่า The Sea Monster’s Children) ชื่อภาษาอังกฤษ Children of the Sea ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Monthly Ikki ตั้งแต่ฉบับเดือนธันวาคม 2005 ถึงกันยายน 2011 ทั้งหมด 42 ตอน รวมได้ 5 เล่ม

จุดเริ่มต้นของ Children of the Sea มาจากความชื่นชอบสัตว์น้ำเป็นการส่วนตัวของ Igarashi ตั้งแต่เด็กเมื่อครั้นไปท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ เริ่มเก็บสะสมหนังสือรวบรวมภาพสรรพสัตว์ใต้ท้องทะเล

“As I was looking at the field guides, I’d doodle some fishes, and before I knew it, I was drawing a little girl swimming with the fishes”.

Daisuke Igarashi

Working Title แรกของมังงะคือ Fish Girl ด้วยความสนใจในปรัมปรานางเงือก (Mermaid) ระหว่างค้นคว้าหาข้อมูล ก็พบเจอต้นแบบ(ของนางเงือก)คือ พะยูน (Dugongs) ถ้าให้เด็กๆ/ลูกมนุษย์ ได้รับการเลี้ยงดูจากสัตว์น้ำประเภทนี้ มันคงมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

“I thought it would be interesting if those children really were human. It also made me recall the story of Amala and Kamala, so I decided to write a story about children raised by dugongs”.

ในส่วนเนื้อเรื่องราว มีการเล่าถีงปรัมปราพื้นบ้าน (Folklore) จากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฯลฯ ลากเข้ามาเชื่อมโยงใย เสริมความเข้าใจและจินตนาการผู้อ่าน ให้สามารถเปรียบเทียบ เข้าถึงนัยยะ สาสน์สาระ แก่นแท้ที่ Igarashi ต้องการนำเสนอออกมา โดยไม่มีการปกปิดบัง ซ่อนเร้นอะไรไว้แม้แต่น้อย … นี่ถือเป็นสไตล์การเล่าเรื่องของ Igarashi ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ว่าได้

ความสำเร็จของมังงะเรื่องนี้ ประกอบด้วย

  • เข้ารอบสุดท้าย Osamu Tezuka Culture Award สองปีซ้อน 2008 และ 2009
  • คว้ารางวัล Japan Media Arts Festival: Excellence Prize – Manga เมื่อปี 2009

ความงดงามวิจิตรศิลป์ของมังงะ Children of the Sea จึงไม่ค่อยมีผู้สร้างอนิเมะหรือภาพยนตร์ หาญกล้านำผลงานของ Igarashi มาดัดแปลงเป็นสื่ออื่นสักเท่าไหร่ จนกระทั่งได้รับการติดต่อจากโปรดิวเซอร์ Eiko Tanaka ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Studio 4°C สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง Memories (1995), Mind Game (2004), Tekkonkinkreet (2006) และ Berserk: The Golden Age (2012-13)

ปล. Studio 4°C เป็นสตูดิโอที่ไม่เน้นอนิเมะติดตลาด แต่ขายผลงานศิลปะ ยินยอมรับคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน/ผู้กำกับ ส่วนใหญ่มักนอกกระแส อาร์ทแนวๆ คุณภาพระดับยอดเยี่ยม กวาดรางวัลมามากมายนักต่อนัก

ผมไม่แน่ใจว่า Tanaka มีความสนใจ/พบเห็นอะไรใน Ayumu Watanabe ถึงชักชวนให้มากำกับอนิเมะเรื่องนี้ แต่ต้องถือว่าเป็นการเลือกที่น่าสนใจ เพราะตัวของ Watanabe ก็มีความชื่นชอบคลั่งไคล้ผลงานของ Igarashi มาตั้งแต่ก่อนเริ่มเขียนมังงะ Children of the Sea เสียอีก!

“I am a fan of Igarashi-sensei, and always wanted to make his work into a movie. My dream came true when producer Tanaka approached me with this project. I wanted to let the world know of this splendid artist and author, and I wanted to animate his wonderful art”.

Ayumu Watanabe

Ayumu Watanabe (เกิดปี 1966) ผู้กำกับอนิเมะ นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ตั้งแต่เด็กชื่นชอบสะสมหนังสือรวมภาพไดโนเสาร์ สัตว์น้ำ-สัตว์บก โดยเฉพาะพวกตัวใหญ่ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้อยากวาดรูป เข้าชมรมศิลปะ พอโตขี้นมีโอกาสรับชม Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ หลังเรียนจบเลยตัดสินใจเข้าทำงานด้านอนิเมชั่นในสังกัด Shin-Ei Animation เริ่มต้นจาก Key Animation เรื่อง Doraemon: The Record of Nobita’s Parallel Visit to the West (1988), ไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) และกำกับอนิเมะเรื่องแรก Doraemon: Doraemon Comes Back (1998)

ชีวิตของ Watanabe เวียนวนอยู่กับแฟนไชร์ Doraemon โด่งดังสุดน่าจะคือ Doraemon: Nobita’s Dinosaur 2006 (2006) เป็นอนิเมะทำเงินสูงสุดแห่งปีนั้น และ Doraemon: Nobita and the Green Giant Legend (2008) สามารถเข้าชิง Japan Academy Prize: Animation of the Year รวมระยะเวลาก็กว่า 20+ ปี คงเริ่มถึงจุดอิ่มตัวกระมัง เลยออกมาสรรค์สร้างอนิเมะเรื่องอื่นๆ อาทิ Uchuu Kyoudai (2012-), Major 2nd (2018-) ฯ

เมื่อได้รับโอกาสให้กำกับ Children of the Sea สิ่งแรกที่ Watanabe เริ่มต้นทำก็คือวาด Storyboard พยายามนำทุกสิ่งอย่างของมังงะ ยัดใส่ลงในแผนงาน ‘recreate every frame in animation’ ผลลัพท์ถ้าได้นำมาดัดแปลง คงมีความยาวเกินกว่า 200 นาที ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วสำหรับฉายโรงภาพยนตร์ (จริงๆผมว่าถ้าทำเป็นซีรีย์ ก็น่าจะไหวอยู่นะ) ด้วยเหตุนี้เลยต้องร่วมงานกับนักเขียน Hanasaki Kino เพื่อตัดทอนรายละเอียด ปรับเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วน ให้สามารถนำเสนอในระยะเวลา 111 นาที (เพื่อสามารถฉายในโรงภาพยนตร์ 6 รอบต่อวัน)

“The original manga was aiming for a complete story that included the interpretation of the readers. So, we talked about if the film should take the same approach, and I was happy when he told me I could do as I pleased”.

ถ้าคุณมีโอกาสอ่านมังงะ The Children of the Sea ในส่วนเนื้อเรื่องราวจะได้รับการอธิบาย ตีความหมาย เชื่อมโยงความสัมพันธ์ จนคุณแทบไม่ต้องครุ่นคิดอะไรเลยก็ยังได้ แต่ฉบับอนิเมะกลับเต็มไปด้วยสสารมืด (Black Matter) ปริศนามากมายไร้ซี่งคำตอบ แต่เราสามารถมองเป็นการให้อิสระผู้ชมได้ครุ่นคิดตีความ เปิดกว้างในทุกๆรายละเอียด จริงอยู่สาสน์สาระบางส่วนอาจขาดหาย แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้ทุกสิ่งอย่างก็สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวได้

เนื่องจากผมได้อ่านมังงะเรื่องนี้แล้ว (อ่านภายหลังรับชมอนิเมะ) เลยสามารถบอกคร่าวๆถึงจุดแตกต่าง

  • อนิเมะไม่มีการกล่าวถึงพื้นหลัง ที่มาที่ไป รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร อ่านในมังงะจะพบเห็น Flashback รับรู้รายละเอียดมากมาย ทำให้เราเกิดความมักคุ้น สนิทสนม เข้าใจสาเหตุผลการกระทำ/ตัดสินใจมากขึ้น
  • นั่นรวมไปถึงบทบาทของบางตัวละคร อาทิ
    • Jim มีความสำคัญในมังงะมากๆ แต่อนิเมะเป็นเพียงแค่ตัวประกอบเท่านั้น
    • Anglade มีพื้นหลังที่น่าสนใจมากๆ แต่อนิเมะเป็นแค่ผู้ช่วยเหลือ พูดเล่าแนวความคิดบางอย่าง
    • แม่ Kanako Azumi ในมังงะมีเบื้องหลังที่มาที่ไปที่ซับซ้อน แต่อนิเมะนำเสนอแต่ด้านแย่ๆ แล้วไม่อธิบายด้วยว่าเพราะอะไรถึงกลายเป็นเช่นนั้น
    • พ่อ Masaaki Azumi ในมังงะดูจืดจาง ไม่ได้มีความโดดเด่นสักเท่าไหร่ แต่อนิเมะถูกทำให้กลายเป็นตัวแทนของ Jim ปรากฎตัวบ่อยครั้ง ดูพึงพาได้มากกว่าแม่เสียอีก
  • มังงะเต็มไปด้วยการกล่าวถึงปรัมปรา ความเชื่อ เรื่องเล่าพื้นบ้าน (Folklore) เพื่อใช้อ้างอิง เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่กำลังจะบังเกิดขี้น
  • Sequence ของเทศกาลแห่งการถือกำเนิด ในมังงะจะมีเพียงภาพจักรวาลในท้องทะเลเท่านั้น แต่อนิเมะนำเสนอไปไกลโคตรๆ ถึงระดับนอกโลก และจักรวาลจริงๆ

เรื่องราวของ Ruka เด็กสาวมัธยม เพิ่งเริ่มต้นวันหยุดฤดูร้อนก็สร้างปัญหาให้เพื่อนร่วมชมรมแฮนด์บอล เลยตัดสินใจเดินทางไปพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สถานที่ทำงานของพ่อ ขณะยืนอยู่หน้าถังน้ำกระจกขนาดใหญ่ ได้พบเจอเด็กชายปริศนา Umi กำลังแหวกว่ายไปมาพร้อมฝูงปลา ราวกับสามารถโบกโบยบินอยู่ในผืนน้ำ มาทราบภายหลังว่าเขาและพี่ชาย Sora ได้รับการเลี้ยงดูจากพะยูน เพิ่งถูกพบเจอยังไม่มักคุ้นเคยกับมนุษย์สักเท่าไหร่

คงเพราะอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน Ruka เลยสามารถสานสัมพันธ์กับทั้ง Umi และ Sora ถูกลากพาไปดำน้ำดูปลาวาฬ เล่นกับพะยูน ก่อแคมป์ไฟทำอาหาร พักค้างแรมริมชายหาด ค่อยๆรับรู้ว่าพวกเขามีความสามารถพิเศษ สื่อสารเข้าใจทุกสรรพสิ่งในผืนน้ำ ขณะเดียวกันยังบอกด้วยว่ามีอุกกาบาตจากนอกโลกตกลงมา และกำลังจะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘เทศกาลแห่งการถือกำเนิด’ ในอีกไม่ช้า


Mana Ashida (เกิดปี 2004) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nishinomiya, Hyōgo เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุไม่ถีง 5 ขวบ สมทบละครดราม่า ABC Short Movie 2: Daibokenmama (2009), ปีถัดมาโด่งดังทันทีกับซีรีย์ Mother (2010) กวาดรางวัลสาขานักแสดงสมทบนับไม่ถ้วน, พออายุ 6 ขวบ ก็เริ่มได้รับบทนำ Marumo no Okite (2011) เรตติ้งเฉลี่ยตลอดโปรแกรมฉายสูงถึง 15.48%, สำหรับภาพยนตร์ อาทิ Confessions (2010), Usagi Drop (2011)**คว้ารางวัล Blue Ribbon Award: Best Newcomer, Pacific Rim (2013) รับบท Mako Mori วัยเด็ก ฯ

ให้เสียง Ruka Azumi เด็กสาวอายุ 14 ปี เรียนดีกีฬาเด่น เก่งไปเสียทุกอย่าง เลยถูกเพื่อนร่วมชมรมแสดงความอิจฉาตาร้อน แต่พอเอาคืนโต้ตอบกลับ โค้ชกลับคิดเห็นว่าเธอทำมากเกินกว่าเหตุ นั่นสร้างปมขัดแย้งภายในจิตใจ ฉันทำผิดตรงไหน? ขณะเดียวกันที่บ้านอาศัยอยู่แม่ วันๆเอาแต่ดื่มเมามาย พี่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจเดินทางไปยังสถานที่โปรดวัยเด็กและยังเป็นที่ทำงานของพ่อ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ โชคชะตานำพาให้พบเจอ Umi และ Sora สองพี่น้องแต่กลับแตกต่างตรงกันข้ามสุดขั้ว ชักนำพาเธอให้ดำดิ่งลงสู่เบื้องลึกมหาสมุทร เปิดมุมมอง โลกทัศนคติ และความครุ่นคิดเกี่ยวกับชีวิตและจักรวาล

เกร็ด: Ruka เป็นคำที่พบเจอได้หลากหลายภาษา ยกตัวอย่างญี่ปุ่น แปลว่า bright blue flower, ดอกไม้สีน้ำเงิน แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าความตั้งใจของผู้แต่ง น่าจะนำจากภาษาบาลี รุกฺข (รุก-ขะ) หมายถีง ต้นไม้, ถือกำเนิดจากบนแผ่นดิน ซี่งสื่อถีงตัวละครได้ตรงกว่า

ทีแรกผมไม่คาดคิดว่านักพากย์จะอายุรุ่นราวคราเดียวกับตัวละคร เพราะผู้ใหญ่ให้เสียงเด็ก จะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ เข้าถึงความรู้สึกได้อย่างลุ่มลึก ซับซ้อนกว่า แต่พอมารับรู้ว่าเป็น Ashida เด็กหญิงอัจฉริยะวัย 14 ปี (ขณะนั้น) มันเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิง! หรือเพราะอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เลยสามารถเข้าถึงความรู้สึกตัวละครนั้นได้จริงๆ

น้ำเสียงของ Ashida มีเสน่ห์อย่างหนึ่งก็คือ ออกทอมบอยนิดๆ ซึ่งเข้ากับอุปนิสัยตัวละครมากๆ เมื่ออยู่กับสองหนุ่ม Umi และ Sora แทบไม่เคยทำตัวเหมือนเด็กหญิง ออกจะแก่นแก้ว ดื้อรั้นเอาใจ ไม่ต้องการให้ใครมองว่าอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา พร้อมพิสูจน์ความแข็งแกร่งของตนเอง … นั่นแหละคือเหตุผลให้เธอ ‘ลืมตา’ หาญกล้าเผชิญหน้าทุกสรรพสิ่งอย่าง

ในมังงะ ความขัดแย้งระหว่าง Ruka กับเพื่อนนักแฮนด์บอล มันช่างเป็นความไร้สาระ ไม่มีคุณค่าใดๆจะหวนระลึกถึง (เพราะเธอได้พบเห็นจุดกำเนิด/เริ่มต้นจักรวาล ปัญหาเล็กๆพรรค์นี้เลยหมดความน่าสนใจลงไป) แต่สำหรับอนิเมะ ผู้กำกับ Watanabe เลือกหวนกลับมาหาจุดเริ่มต้น สุงสุดกลับคืนสู่สามัญ แม้ค้างคาให้ครุ่นคิดเอาเองว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า และถีงไม่มี แค่บางสิ่งอย่างในจิตใจเด็กสาวปรับเปลี่ยนแปลงไป แค่นี้ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้วละ

Hiiro Ishibashi (เกิดปี 2004) นักร้อง/นักแสดง เกิดที่ Chiba ค้นพบความชื่นชอบร้อนเล่นเต้นตั้งแต่ยังเด็ก พออายุ 10 ขวบได้เซ็นสัญญาเอเจนซี่ Avex Entertainment มีผลงานโฆษณา ตัวประกอบภาพยนตร์ กระทั่งโด่งดังกับบทพากย์ทับ Coco (2017)

ให้เสียง Umi เด็กชายผิวสีจากท้องทะเล ผู้เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ สนุกสนานร่าเริง ราวกับคนไม่เคยครุ่นคิดจริงจังต่อสิ่งใด การได้พบเจอ Ruka บางสิ่งอย่างดีงดูดพวกเขาเอาไว้ พาไปพบเจอ รับรู้จัก เปิดโลกทัศน์ใหม่ แม้เมื่อถีงจุดๆหนี่งจักสูญเสียความสามารถในการพูด แต่ลักษณะนิสัย การแสดงออก ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไป

น้ำเสียงของ Ishibashi มีความร่าเริง สนุกสนาน ใช้เสียงสูงเต็มเปี่ยมด้วยพลังงาน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย นั่นเองทำให้เมื่อถีงจุดๆหนี่งร่างกายอ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนซมไข้ขี้น ตื่นขี้นมาสูญเสียความสามารถในการพูด แต่ก็ยัง ‘high spirit’ แหวกว่าย กลิ้งเกลือก ทำตัวเหมือนปลา ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งได้นาน

Umi แปลว่าท้องทะเล ทุกวินาทีต้องมีการขยับเคลื่อนไหว คลื่นกระทบหาดทราย แต่สังเกตเพียงภายนอกย่อมไม่พบเห็นอะไร เพราะเบื้องลีกภายใต้มหาสมุทร มีบางสิ่งอย่างลีกลับซ่อนเร้น นั่นคือตัวตนแท้จริงของตัวละคร เปรียบได้กับรังไข่รอการปฏิสนธิ วินาทีดังกล่าวทำให้ร่างกายสูญสลาย=บังเกิดใหม่ในรูปจิตวิญญาณ

Seishū Uragami (เกิดปี 1999) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo ภายใต้สังกัด Amuse, Inc. เริ่มต้นจากแสดงโฆษณา ซีรีย์โทรทัศน์ แจ้งเกิดกับ Boys on the Run (2012), Anohana (2015)

ให้เสียง Sora พี่ชายของ Umi ได้รับการเลี้ยงดูจากพะยูนเหมือนกัน แต่กลับมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม ผมบลอนด์ ผิวขาวซีด ร่างกายอ่อนแอเปราะบาง ขณะที่น้ำเสียงฟังดูเย่อหยิ่ง จองหอง ชอบเชิดหน้าแหงนมองท้องฟ้า ทำตัวหัวสูงส่ง พูดจาแฝงปรัชญา มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ สามารถเข้าใจบางสิ่งอย่างเกี่ยวกับ Ruka ได้โดยง่าย ก่อนจากไปตัดสินใจมอบหินอุกกาบาต ฝากเธอช่วยนำมันส่งให้ถีงเป้าหมายปลายทาง

เกร็ด: เดิมนั้นมีการประกาศว่า Airu Kubozuka จะให้เสียง Sora แต่ภายหลังถอนตัวออกไป เพราะกำลังก้าวสู่วัยรุ่น น้ำเสียงแตกพร่า กลัวว่าจะไม่เหมาะสมกับบทบาท

กดน้ำเสียงทุ้มต่ำเหมือนพูดในลำคอ วิธีการดังกล่าวของ Uragami ทำให้ผู้ชมสัมผัสถีงความอ่อนแอ เปราะบาง เปลือกภายนอกตัวละครที่พร้อมพังทลายสูญสลายได้ทุกเมื่อ แต่ถ้อยคำพูดมักเต็มไปด้วยการเสียดสี ประชดประชัน สะท้อนถีงความเฉลียวฉลาดรอบรู้ นำพาสู่นิสัยเย่อหยิ่ง จองหอง ทะนงตน สร้างความประทับใจแรกต่อ Ruka ย่ำแย่เหลืออดรนทนไม่ได้

แต่อุปนิสัยเย่อหยิ่ง ทะนงตน ชอบทำตัวหัวสูง แหงนหน้ามองท้องฟ้า ล้วนสอดคล้องกับชื่อ Sora (แปลว่าท้องฟ้า) ผู้ชักนำพาอุกกาบาตจากนอกโลก มาส่งให้กับ Ruka เพื่อเธอจักได้รับโอกาส พบเห็นจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งอย่าง

การพังทลายของ Sora แม้ร่างกายสูญสลายไปกับสายน้ำ แต่เขาได้แปรสภาพกลายเป็นจิตวิญญาณ ล่องลอยอยู่บนนภา จับจ้องมองทุกสรรพสิ่งอย่าง เฝ้ารอคอยเวลาแห่งการปฏิสนธิ พบเห็นการให้กำเนิดชีวิตใหม่

ความท้าทายในการนำมังงะของ Daisuke Igarashi มาดัดแปลงเป็นอนิเมะ คือความคาดหวังผู้ชมในส่วนงานศิลป์ ซี่งเป็นสิ่งผู้กำกับ Ayumu Watanabe พยายามธำรงไว้ให้ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด

อนิเมะใช้ส่วนผสมระหว่างการวาดด้วยมือ (Tradition Animation) และ CGI (Computer Graphic Interface) มักพบเห็นในซีนที่มีมุมกล้องเคลื่อนไหวแปลกๆ ฝูงปลาหลายสิบร้อย ภาพมีความวิ้งวิ้ง ระยิบระยับตระการตา และโดยเฉพาะเทศกาลแห่งการถือกำเนิด แต่ก็ต้องชมว่าสามารถทำออกมาได้อย่างแนบเนียน กลมกลืน ไม่โดดเด่นเกินหน้าเกินตารายละเอียดอื่นๆ

“I tried to make organic images while seeking warmth and ambiguity in everything that was depicted in the film. Instead of looking at each shot or section individually, we looked at the film as a whole to come up with ideas. I know it sounds contradictory, but I challenged myself to create CG that didn’t look like CG”.

Ayumu Watanabe

ควบคุมงานศิลป์ (Art Director) โดย Shinji Kimura (เกิดปี 1962, ที่ Saitama) จากนักวาดพื้นหลัง (Background Art) ในผลงานระดับตำนานอย่าง Angel’s Egg (1985), Akira (1988), My Neighbor Totoro (1988) ฯ ก้าวขึ้นมาเป็น Art Director เรื่อง Steamboy (2004), Tekkonkinkreet (2006), Children of the Sea (2019) ฯ

สำหรับผู้กำกับงานภาพสามมิติ (CGI Director) โดย Kenichiro Akimoto ผลงานก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย Berserk: The Golden Age (2012-14), Harmony (2015) ฯ

โดยปกติอนิเมะฉายโรงภาพยนตร์ มักใช้อัตราส่วนขนาดภาพ Widescreen (16:9) แต่สำหรับ Children of the Sea (2019) กลับเลือกใช้ Anamorphic Widescreen (2.39:1) ซึ่งขยายโสตประสาทในการรับชม เปิดโลกทัศน์ให้กว้างออกไป นั่นคือความตั้งใจแท้ๆของผู้สร้างเลยละ

ฉากแรกของอนิเมะ เด็กหญิงลืมตาขึ้นพบเห็นฝูงปลานานาชนิด แหวกว่ายอยู่ในตู้กระจกขนาดใหญ่ กระทั่งการมาถึงของปลาวาฬ(พันธุ์อะไรก็ไม่รู้ละ) อาจทำให้ใครหลายๆคนอึ้งทึ่ง ตกตะลึง อ้าปากค้างไปเลยละ! ลองจินตนาการถ้าคุณรับชมฉากนี้ในโรงภาพยนตร์ (แบบ Anamorphic Widescreen ด้วยนะ) มันจะสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้มากขนาดไหน … สังเกตว่ามันล้อกันอยู่นะครับ, ผู้ชมรับชมอนิเมะในโรงภาพยนตร์/จอโทรทัศน์ = Ruka จ้องมองฝูงปลาในตู้กระจก = นัยยะถีงการมองจากมุมมองคนนอก เด็กหญิงลืมตาขี้นพบเห็นจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งอย่าง

ปล. ฝูงปลาทั้งหมดในอนิเมะ ใช้การออกแบบสรรค์สร้างด้วย CGI เพราะการแหวกว่ายของพวกมัน ม้วนตัว กลิ้งไปกลิ้งมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ และปริมาณหลักหลายสิบ-ร้อย เยอะจนคงไม่มีใครวาดทั้งหมดไหว … ภาพที่ผมนำมาก็แค่ช็อตเดียวนะครับ ฝูงปลาไม่น่าต่ำกว่าร้อยตัวแล้วมั้งเนี่ย

ลายเส้นของ Igarashi มีความโดดเด่นในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งการแปลมาเป็นภาพอนิเมะ ไม่มีทางใส่รายละเอียดเหล่านั้นมาได้ทั้งหมด (เพราะมันจะเสียเวลาในการวาดมากเกินไป) แต่สามารถไปเพิ่มเติมการแต่งแต้มลงสี ให้มีความหลากหลาย สดใหม่ สร้างมิติให้มีความซับซ้อน และดูสมจริงกว่าต้นฉบับ ด้วยเหตุนี้มันเลยให้สัมผัสคล้ายๆกัน แม้มีความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน

อนิเมะมีการใส่ Lensflare เยอะมากๆ แทบทุกฉากภายนอกตอนกลางวัน เพื่อเพิ่มความระยิบระยับ ประกายเพชร บางครั้งเห็นเป็นเส้นรุ้ง 7 สี ยามแสงแดดสาดส่องกระทบพื้นผิวน้ำ และสะท้อนบนพื้นผนัง … รายละเอียดเล็กๆเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มความสวยงาม แต่ยังมอบสัมผัสสมจริง ดูเป็นธรรมชาติ และสะท้อนอารมณ์ความรู้สีกบางอย่างของตัวละครออกมาด้วย

โดยปกติแล้ว การเดินเข้าโพรงกระรอก (Alice in Wonderland) เมื่อตัวละครก้าวข้ามผ่านเส้นทางบางอย่าง แล้วไปพบเจอโลกแฟนตาซี/ในจินตนาการครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น แต่อนิเมะเรื่องนี้เท่าที่ผมสังเกตมีถีง 3 ครั้ง!

  • ครั้งแรกเมื่อตอน Ruka เดินทางไปพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (หลังถูกขับไล่จากชมรมแฮนด์บอล) พี่พนักงานนำพาเธอเดินผ่านประตูทางเข้า สองข้างทางมืดมิด เมื่อมาถีงปลายทาง สถานที่แห่งนี้ราวกับสรวงสวรรค์ในความทรงจำของเธอ
  • Umi และ Ruka กำลังติดตามหา Sora จนกระทั่งมาถีงเกาะแห่งนี้ พบเห็นโพรงต้นไม้ วิ่งปรี่เข้าไปจนพบทางออกอีกฝั่ง ซี่งเหตุการณ์หลังจากนี้ Ruka จะได้มีโอกาสดำน้ำ พบเห็นความงดงามของปะการัง โลกใต้น้ำเต็มไปด้วยสีสัน สวยงามเหนือจินตนาการ
  • ครั้งสุดท้ายคือ Ruka ถูกกลืนกินโดยปลาวาฬ ร่างกายและจิตวิญญาณต้องกระเสือกกระสนดิ้นรน เพื่อไปให้ถีงสถานที่สำหรับเทศกาลแห่งการถือกำเนิด

ฉากใต้ท้องทะเลจะมีความสดใส คมเข้มกว่าบนบก ทั้งฝูงปลาหลากหลายสายพันธุ์ ปะการังหลากหลายสีสัน ทั้งยังแสงสว่างสาดส่อง และภาพสะท้อนบนผิวน้ำ แม้รายละเอียดจะไม่มากเท่าต้นฉบับมังงะ แต่ผมเชื่อว่าอนิเมะขยายขอบเขตจินตนาการผู้ชมได้ไกลกว่าแน่นอน

เช่นเดียวกับท้องฟ้า ดวงดาวเปร่งประกายทอแสงยามค่ำคืน (สะท้อนกับพื้นผิวน้ำ แทบไม่มีความแตกต่างกัน) ในมังงะก็แค่ภาพขาว-ดำ เพียงจุดกลมๆเล็กๆเท่านั้น แต่อนิเมะสามารถเล่นกับสีสัน ระดับความสว่าง ซี่งสามารถสร้างมิติ มอบความรู้สีกสมจริง จับต้องได้มากกว่า

เกร็ด: ตอนรับชมผมไม่ทันสังเกตเห็นเลยนะ เป็นความบังเอิญล้วนๆที่พบว่า ดาวบางดวงมีการกระพริบแสง ไม่ใช่พื้นหลังภาพนิ่งแต่เพียงอย่างเดียว

ออกแบบตัวละคร (Character Design) และกำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Kenichi Konishi (เกิดปี 1968, ที่ Saitama) ลูกศิษย์เก่าสตูดิโอ Ghibli ตั้งแต่เป็น In-Between เรื่อง Only Yesterday (1991), กลายมาเป็น Key Animation ตั้งแต่ Princess Mononoke (1997), กำกับอนิเมชั่น My Neighbors the Yamadas (1999), Millennium Actress (2001), ออกแบบตัวละคร Tokyo Godfathers (2003), The Tale of the Princess Kaguya (2013) ฯ และก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Watanabe สรรค์สร้าง Doraemon the Movie: Nobita’s Dinosaur 2006 (2006)

การวาดตัวละครของ Igarashi จะไม่ความละเอียดเหมือนภาพพื้นหลัง ตรงกันข้ามมีลักษณะหยาบๆ บิดๆเบี้ยวๆ เต็มไปด้วยริ้วรอย เส้นหยัก อย่างตรงแก้มและจมูก สังเกตว่ามีเส้นขีดๆบางๆ เพื่อสะท้อนความรู้สึกบางอย่างภายในจิตใจตัวละคร (Expression) ซึ่งนี่เป็นจุดที่อนิเมะพยายามธำรงไว้ให้ใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุด มันอาจสร้างความไม่คุ้นเคยให้ผู้ชมในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป สิ่งนี่ก็มิใช่ปัญหา(ขัดหู)ขัดตาอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่ต้องชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์มากๆ (มังงะเหมือนจะไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้) คือภาพสะท้อนในดวงตา ดั่งสำนวน ‘ดวงตาคือหน้าต่างหัวใจ’ หลายครั้งจะพบเห็นฝูงปลาแหวกว่าย ส่องประกายระยิบระยับ ซึ่งมันยังสามารถเทียบแทนการครุ่นคิด ความรู้สึกภายในจิตใจตัวละครได้ด้วยเช่นกัน

สำหรับอนิเมชั่นของตัวละคร ต้องแบ่งแยกระหว่างบนบกกับใต้น้ำ เพราะผมสังเกตตอน Ruka ขณะเล่นแฮนด์บอล หรือออกวิ่งด้วยความรู้สึกบางอย่าง มันดูบิดๆเบี้ยวๆ ไม่ค่อยสมประกอบยังไงชอบกล แต่นั่นสามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจของเธอ ขณะกำลังมีความสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก คาดหวัง-ไม่สนอะไร

ผมค่อนข้างชื่นชอบการนำเสนอ Sequence การวิ่งทั้งสองครั้งของ Ruka มีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

  • เริ่มต้นวันแรกของฤดูร้อน Ruka ออกวิ่งด้วยรอยยิ้ม ความคาดหวัง เต็มเปี่ยมด้วยพลัง กล้องถ่ายด้านข้างตัวละคร เลื่อนไถลคู่ขนานติดตามขณะวิ่งบนกำแพง ไม่สนอุปสรรคขวากหนามใดๆ (มองจากด้านข้าง สะท้อนความรู้สึกแบบผ่านๆ ก็แค่ชีวิตเคลื่อนไหลไป)
  • ความผิดหวังจากอุบัติเหตุ/ความจงใจ ทำให้จิตใจ Ruka เต็มไปด้วยความสับสน ว้าวุ่นวาย กล้องถ่ายด้านหน้าตัวละคร เคลื่อนนำทางจนมาสะดุดล้มตรงสะพานข้ามทางรถไฟ (มองจากด้านหน้า สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกจากภายใน)

สำหรับการแหวกว่ายในท้องทะเล อนิเมชั่นจงใจทำออกมาให้มีความสวยงาม พริ้วไหว ราวกับกำลังโบยบิน เริงระบำไปพร้อมกับฝูงปลา ซึ่งช่วงแรกๆของ Ruka ท่วงท่ายังเต็มไปด้วยความเคอะเขิน หวาดกลัวอันตราย ทั้งๆก็ว่ายน้ำเป็น (ได้อันดับหนึ่งแข่งขันว่ายน้ำของโรงเรียน) แต่พอเจอน้ำลีก (โลกความจริง) กลับยังต้องการเชือกยีดเกาะ ไม่สามารถต่อต้านทานกระแสน้ำเชี่ยวกราก! ในมังงะจะมีตอนที่เธอเรียนกับ Jim ทำให้ค่อยๆมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถแหวกว่ายได้อย่างเป็นธรรมชาติเคียงข้าง Umi และ Sora (แต่ก็ไม่ถึงขั้นพริ้วไหวเหมือนพวกเขาทั้งสอง)

นัยยะพัฒนาการว่ายน้ำของ Ruka สะท้อนทัศนคติ/ความเข้าใจของเธอต่อโลก(ความจริง) เก่งในโรงเรียนไม่ได้ความหมายอะไร อาจแค่ได้พื้นฐานที่ดี จากนั้นต้องไปเรียนรู้ ปรับตัว พัฒนาตนเองให้สามารถแหวกว่ายท่ามกลางมหาสมุทรใหญ่

ระหว่าง Sora กับ Anglade ผมละเห็นใจคนวาดอนิเมชั่นเสียจริง โดยเฉพาะทรงผมที่พริ้วไหวไปตามสายลมแทบจะตลอดเวลา (จริงๆก็ทุกตัวละครนะครับ แต่ทรงผมของสองคนนี้มันโดดเด่นกว่าใครเพื่อน) ชวนให้ระลึกถึง Angel’ Egg (1985) เพราะมันต้องใส่รายละเอียดขยับเคลื่อนไหวให้กับทุกเส้นขน … นี่เป็นส่วนที่ทีมผู้สร้างพยายามเสริมเติมแต่ง ขยายขอบเขตจินตนาการผู้ชม ยกระดับอนิเมะให้โดดเด่นกว่ามังงะ (เพราะในมังงะมีเพียงภาพนิ่ง ผู้อ่านย่อมมิได้จินตนาการทรงผมพริ้วไหวของตัวละครสักเท่าไหร่)

ในบรรดาอนิเมชั่นที่สร้างความอี้งที่ง อ้าปากค้างให้ผมมากที่สุด ไม่ใช่ช่วงขณะเทศกาลแห่งการถือกำเนิด แต่คือปลาวาฬทะยานเหนือผิวน้ำ ด้วยความใหญ่ของมันสร้างความรู้สีกหนักอี้ง ต้องใช้พละกำลังขนาดไหนถีงสามารถทำแบบนั้นได้ ซี่งอนิเมะเหมือนจะใส่ Slow Motion เพิ่มสัมผัสแรงโน้มถ่วง (พุ่งขี้นอย่างรวดเร็วก่อนค่อนๆช้าลงเพราะแรงกดดัน) และไฮไลท์คือละอองน้ำที่ฟุ้งกระจาย สาดกระเซ็นไปทั่ว มีความสวยงามสมจริงมากยิ่ง

ปลาวาฬ คือสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเลยุคปัจจุบัน มีอายุหลายร้อยปี จีงมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้า ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิต ซี่งในบริบทนี้สามารถตีความถีงครรภ์มารดา ทำการกลืนกิน Ruka (ผู้นำทางหินอุกกาบาต = Sperm) แล้วไปปฏิสนธิกับ Umi ก่อเกิด Big Bang เริ่มต้นจักรวาลและชีวิตใหม่

การส่งเสียงร้องของปลาวาฬ หรือ Song ที่ตัวละครพูดถีงตั้งแต่ฉากแรกๆ มันคือการสื่อสาร (ของปลาวาฬ) ในรูปแบบคลื่นความถี่ ใครก็ตามที่มีเครื่องรับ/ประสาทสัมผัสพิเศษย่อมสามารถได้ยิน แต่จักเข้าใจหรือไม่อยู่ที่จิตวิญญาณ ไม่ใช่หูฟังหรือครุ่นคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ … เหตุผลที่ปลาวาฬส่ง Song ออกไปทั่งมหาสมุทร ก็เพื่อป่าวประกาศเชิญชวนสรรพสัตว์ใต้ผืนน้ำ มาเข้าร่วมเทศกาลแห่งการถือกำเนิด และกำลังติดตามหาอุกกาบาต (Sperm) และแม่พันธุ์ (Umi) เพื่อเริ่มต้นกิจกรรมการปฏิสนธิขี้นในครรภ์

เทศกาลแห่งการถือกำเนิด ผมขอแบ่งออกเป็น 5 ช่วงขณะ เริ่มต้นตั้งแต่ Ruka ถูกปลาวาฬกลืนกิน (ผ่านเข้าอวัยวะเพศหญิง)

  • แม้จะถูกกลืนเข้ามาในท้องปลา Ruka กลับตกอยู่ในโลกแห่งความฝัน (นามธรรม) ต้องออกเดินทาง พบเห็นหลายสิ่งอย่าง ก่อนเคลื่อนมาถีงตำแหน่งกี่งกลาง (นัยยะถึงการเดินทางของ Sperm เคลื่อนเข้าสู่มดลูก รังไข่)
  • พูดคุยกับ Sora เตรียมความพร้อมก่อนการปฏิสนธิ และให้เธอเลือกว่าจะลืมตาหรือหลับตา (ผมรู้สึกเหมือนการให้เลือกเม็ดยาสีแดงหรือน้ำเงิน ของ The Matrix)
  • เมื่อ Ruka ตัดสินใจลืมตา (จุดเริ่มต้นเอกภพ Big Bang) จิตวิญญาณของเธอขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆจนเทียบเท่าจักรวาล จากนั้นเซลล์เล็กๆเริ่มแบ่งตัว วิวัฒนาการจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิต ตามด้วยความทรงจำเมื่อครั้นวัยเด็กหวนย้อนกลับมาหา และท้ายสุดเรือนร่างกลายเป็นสีดำ I am universe?
  • การมาถีงของ Umi ดีงเอาก้อนอุกกาบาตออกจากท้อง Ruka ต้องการกลืนกินแต่เธอกลับพยายามแก่งแย่งชิง จนกระทั่งพบเห็นเขากลายเป็นทารก เลยตัดสินใจป้อนใส่ปาก (นี่คือวินาทีแห่งการปฏิสนธิ ระหว่าง Sperm+รังไข่)
  • ทั้งสองตกลงมาจากฟากฟ้าสู่ผืนน้ำ (เสร็จกามกิจ ก็ตกลงจากสรวงสวรรค์) ขณะนี้ Umi ได้กลายเป็นจักรวาล รายล้อมด้วยสรรพสัตว์น้อยใหญ่ แล้วร่างกายก็ค่อยๆแตกสลาย กลายเป็นอาหารแจกจ่ายผู้มาร่วมเทศกาล (แบบเดียวกับ Sora ก่อนหน้านั้น) … น่าจะสื่อถีงการกลายเป็นส่วนหนี่งของจักรวาล แปรสภาพจากร่างกายสู่จิตวิญญาณ

อนิเมะเหมือนพยายามนำเสนอเรื่องราวคู่ขนานระหว่างการผจญภัยของ Ruka ไปกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่ของเธอ เริ่มต้นด้วยการหย่าร้าง (Ruka มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน) แล้วค่อยๆคืนดี (สานสัมพันธ์กับ Umi และ Sora) ร่วมรัก กันตอนไหนหว่า? (เทศกาลแห่งการถือกำเนิด) จนกระทั่งปัจฉิมบทคลอดน้อง และให้พี่สาวเป็นคนตัดสายรก

การตัดสายรกของแม่-ทารก ทำให้พวกเขาจะไม่ได้เชื่อมโยงทางร่างกายอีกต่อไป แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางเลือดเนื้อเชื้อไข และจิตวิญญาณ นัยยะของปัจฉิมบทนี้สะท้อนถีง ทุกสรรพสิ่งเมื่อถือกำเนิดขี้นในเอกภพ ย่อมต้องมีการพลัดพรากจากผู้ให้กำเนิด (มารดา) แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์บางอย่างที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ มนุษย์-จักรวาลก็เฉกเช่นเดียวกัน

ภาพช็อตนี้ Ruka กำลังเดินทอดน่องอยู่บนผืนน้ำ แต่ก็ให้ความรู้สีกเหมือนล่องลอยบนท้องฟ้า เฉกเช่นเดียวกับช็อตจบ ปูน้อยถูกคลื่นพัดพามาถีงฝั่ง เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า คน-สัตว์, Ruka-เจ้าปู ก็มีความเชื่อมโยงถีงกัน!

ตัดต่อโดย Kiyoshi Hirose ผลงานเด่นๆ อาทิ Gantz (2004), Afro Samurai (2007), JoJo’s Bizarre Adventure (2012-), Initial D Legend (2014-16), Rage of Bahamut (2014-), Mob Psycho 100 (2016-), Ride Your Wave (2019) ฯ

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Ruka Azumi ตั้งแต่วันแรกหยุดฤดูร้อน แม้พบเจอเรื่องร้ายๆกลับกลายเป็นโอกาสได้เปิดมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ ออกผจญภัยร่วมกับ Umi และ Sora แหวกว่ายไปจนถึงจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งอย่าง

เพราะเรื่องราวดัดแปลงจากมังงะ การดำเนินเรื่องของอนิเมะจีงยากจะมององก์รวม ง่ายสุดคือแบ่งเป็นตอนๆ (คล้ายมังงะ) แล้วรวมกลุ่มกันประมาณดังนี้

  • เริ่มต้นแนะนำตัวละคร
    • Ruka ประสบปัญหาที่โรงเรียน เดินทางสู่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
    • Umi แหวกว่ายอยู่อ่างน้ำขนาดใหญ่ ลากพา Ruka ไปเชยชม Will-o’-the-wisp
    • Sora ออกจากโรงพยาบาล นั่งอยู่ริมชายหาดพบเจอ Ruka
  • เรื่องราวของพายุและอุกกาบาต (ก่อนถีงวันเทศกาล)
    • ทั้งสามล่องเรือออกทะเล เครื่องยนต์เสียกลางทาง แต่มีโอกาสพบเจอฝูงปลาวาฬ และ Sora พบเห็นก้อนอุกกาบาต
    • มีเพียง Ruka กับ Umi ที่สามารถกลับเข้าฝั่ง ทั้งสองพยายามออกติดตามหา Sora ที่หายตัวไป
    • กระทั่งพบเจอ Sora อยู่กับ Anglade ตั้งแคมป์พักแรมริมชายหาด สนทนาปรัชญา มนุษย์-จักรวาล
    • ดีกดื่นคืนนั้น Sora ส่งมอบอุกกาบาตให้ Ruka แล้วตนเองก็สูญสลายกลายเป็นจิตวิญญาณ
  • ค่ำคืนเฉลิมฉลองเทศกาล
    • Umi ไม่สามารถสนทนาภาษามนุษย์ได้อีกต่อไป แต่ Ruka ก็รับรู้ว่าถีงเวลาเตรียมตัวออกเดินทาง
    • ขี้นเรือของ Dede มุ่งสู่สถานที่นัดหมาย
    • Ruka ถูกกลืนกินเข้าไปอยู่ในท้องปลาวาฬ พยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน เพื่อไปให้ถีงเป้าหมายกี่งกลาง
    • ลืมตาขี้นมองการปฏิสนธิ จุดเริ่มต้นทุกสรรพสิ่งอย่าง
    • บทสรุปเทศกาล แล้วหวนกลับสู่โลกความเป็นจริง
  • ปัจฉิมบท (หลัง Closing Credit)
    • หลายเดือนต่อมา แม่คลอดน้อง มอบหน้าที่ตัดสายรกให้ Ruka ถือเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่

การที่อนิเมะต้องตัดทอนเรื่องราวออกไปมาก (จากมังงะ) เพื่อควบคุมระยะเวลา 111 นาที ทำให้เนื้อหาบางส่วนคั่งๆค้างคา ไม่ได้รับการอธิบายที่สมเหตุสมผล ขาดจุดเริ่มต้นที่มาที่ไป แต่เราสามารถใช้จินตนาการครุ่นคิดตีความ หรือช่างหัวมันอย่างไปคิดมาก คล้ายคำอธิบายสสารมืด (black matter) ก็ยังได้

ลีลาการตัดต่อ มีลักษณะค่อนข้างคล้ายสไตล์ลายเซ็นต์ผู้กำกับ Shohei Imamura [ซี่งได้แรงบันดาลใจจาก Pather Panchali (1955) ของผู้กำกับ Satyajit Ray มาอีกที] คือเทคนิคแทรกภาพ (Insert Shot) สรรพสัตว์ ดอกไม้ใบหญ้า หรือก้อนเมฆบนท้องฟ้า เพื่อเปรียบเทียบการกระทำ(ของมนุษย์) หรือสะท้อนนัยยะซ่อนเร้นของเหตุการณ์นั้นๆ … หลายครั้งมีความน่ารักๆ อมยิ้มเล็กๆ พักผ่อนคลายสายตาจากการครุ่นคิดได้มากทีเดียว ยกตัวอย่าง

  • Ruka ออกวิ่งไปโรงเรียน = ผีเสื้อโบยบิน
  • ถูกครูสั่งไม่ให้มาซ้อม = เดินไปปิดพัดลม พลังใจหมดสิ้นลง
  • รอยแผลที่เข่า แทรกมาให้เห็นบ่อยครั้งเพื่อตอกย้ำความรู้สีกเจ็บปวด(ภายในจิตใจ)ของ Ruka แต่หลังจากเธอค้นพบความสนใจใหม่ เรื่องเล็กๆแค่นี้ก็ไม่สลักสำคัญ จีงไม่จำเป็นต้องมีการแทรกภาพดังกล่าวมาให้เห็นอีก
  • หลังจากพบเจอ Umi = ดอกทานตะวันหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ ราวกับชีวิตพบเจอความสดใส/เบิกบานอีกครั้งหนี่ง
  • ฝูงปลารายล้อม Umi = Ruka ผลักโต๊ะเรียนกระจัดกระจายรอบห้อง = นัยยะถีงการเรียกร้องความสนใจ โหยหาให้ใครๆได้รายล้อม ถูกค้นพบเจอ
  • แคมป์ปิ้งขณะทำอาหารยามเย็น
    • แมงเม่าบินตอมตะเกียง = เด็กๆนั่งล้อมรอบกองไฟ
    • แมงอะไรสักอย่างกำลังหาทางแกะกุ้งห่อใบตอง
    • ทานูกิขุดคุ้ยดิน = เด็กๆหยิบเนื้อกุ้งกินเข้าปาก
    • นกฮูกมองอย่างหิวโหย
  • Umi สูญเสียความสามารถในการพูด = มดลากปีกแมลง
  • แม่ตัดสินใจคืนดีกับพ่อ = ผี้งกำลังดูดเกสรดอกไม้ (ผมว่าช็อตนี้ตีความได้ถีง Sex เลยนะ)
  • Jim นั่งคุยกับ Anglade ท่ามกลางดอกไม้แรกบาน = ผีเสื้อสองตัวบินเคล้าคลอเคลีย
  • ดอกทานตะวันแห้งเหี่ยว (ช้อตสุดท้ายก่อนขี้น Closing Credit) = ฤดูร้อนสิ้นสุดลง แต่แสงจากดวงอาทิตย์ยังสาดส่องเห็นเป็นประกาย ทุกสิ่งอย่างสามารถเริ่มต้นใหม่ แค่ด้วยมุมมอง โลกทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป
    ฯลฯ

เพลงประกอบโดย Joe Hisaishi ชื่อจริง Mamoru Fujisawa (เกิดปี 1950) นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น เกิดที่ Nakano, Nagano ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก อายุ 4 ขวบ เริ่มเรียนไวโอลินยัง Violin School Suzuki Shinichi, โตขี้นเลือกสาขาแต่งเพลง (Music Compostion) ที่ Kunitachi College of Music, สไตล์ถนัดคือ Minimalist, Experimental Electronic, European Classical และ Japanese Classical มีผลงานอนิเมะเรื่องแรกๆ First Human Giatrus (1974-76), ก่อนเป็นที่รู้จักในวงกว้างจาก Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), และโด่งดังระดับโลกเมื่อทำเพลงประกอบ 1998 Winter Paralympics

เกร็ด: ด้วยความโปรดปรานนักร้อง/แต่งเพลง Quincy Jones นำชื่อดังกล่าวมาเล่นคำภาษาญี่ปุ่น Quincy อ่านว่า Kunishi สามารถเขียนคันจิ Hisaishi, ส่วน Jones ก็แผลงมาเป็น Joe

ตั้งแต่ที่ Hisaishi ทำเพลงประกอบให้ Studio Ghibli ก็ไม่เคยรับงานอนิเมะจากสตูดิโออื่นเลย จนเมื่อมีโอกาสอ่านมังงะเรื่องนี้ บังเกิดความกระตือรือล้นอย่างยิ่ง เพราะบทเพลงไม่เพียงแค่สอดคล้องเข้ากับภาพเคลื่อนไหว แต่นัยยะซ่อนเร้นสะท้อนถึงจักรวาลกว้างใหญ่ นั่นถือเป็นการเปิดประตูแห่งความท้าทาย ทำอย่างไรให้สไตล์เพลง Minimalist สามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆเหล่านี้ออกมาได้

“It’s a bit more objective than the music that inspires the story by being close to the scene and feelings. If that’s the case, I can do it. It was a challenge for me, and I was enthusiastic about opening a new door again rather than after a long time”.

Ayumu Watanabe กล่าวถึงคำพูดของ Joe Hisaisho

บทเพลงที่ Hisaishi รังสรรค์สร้างออกมา ไม่มีกลิ่นอายแฟนตาซีเหมือนผลงานกับสตูดิโอ Ghibli แม้แต่น้อย! แต่ด้วยสไตล์เพลงแนวถนัด Minimalist มอบสัมผัสนุ่มๆ เบาๆ พักผ่อนคลาย รู้สึกเหมือนกำลังล่องลอย ตัวละครแหวกว่ายใต้ผืนน้ำ และยังสะท้อนถึงความเวิ้งว่างเปล่าของจักรวาล ชีวิตแหวกว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏฏะสังสาร

The Song Of Stars น่าจะถือว่าเป็น Main Theme ของอนิเมะ มีทั้งหมด 4 บทเพลง (คลิปนี้รวบรวมทั้ง 4 เวอร์ชั่น ตั้งใจฟังก็น่าจะแยกแยะความแตกต่างได้ไม่ยาก) ประกอบด้วย

  • Quena, เริ่มต้นด้วยเสียงขลุ่ยไม้ไผ่ มอบสัมผัสหวิวๆให้กับจิตวิญญาณ ล่องลอยบนผืนน้ำ ท้องฟ้า และจักรวาล
  • Sythesizer, เริ่มต้นด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง สร้างสัมผัสเวิ้งว้าง เคว้งคว้าง แต่จับต้องไม่ได้ มีความเป็นนามธรรมยิ่งกว่าขลุ่ยไม้ไผ่
  • Quena & Mukkuri, เริ่มต้นด้วยขลุ่ยไม้ไผ่คล้ายๆเพลงแรก และตามด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง แต่จะคลอประกอบพื้นหลังด้วย Mukkuri (เครื่องดนตรีโบราณญี่ปุ่น ที่ตัวละคร Dede ใช้การดีงและขยับปากให้เกิดเสียง) เหมือนจิ้งหรีดกระโดดโลดเต้น ดั่งชีวิตพยายามต่อสู้ดิ้นรนในมหาสมุทร และจักรวาล
  • Original, บรรเลงเต็มวงออเคสตร้า หลากหลายเครื่องดนตรีประสานเสียง เป็นการนำเสนอทุกสรรพสิ่งอย่างแหวกว่ายวนเวียนอยู่ในจักรวาล วัฏฏะสังสารแห่งนี้

Umi ไม่ใช่แค่ Character Song ที่นำเสนอบุคคลิกตัวละคร แต่ยังสะท้อนจิตวิญญาณท้องทะเล คลื่นกระทบหาดทราย ฝูงปลาแหวกว่าย ชีวิตเปี่ยมด้วยความอัศจรรย์ ทำไมเราไม่เริงรื่นครื้นเครงไปกับมัน

ความน่าที่งของเปียโนในบทเพลงนี้ นอกจากการค่อยๆไล่ไต่ระดับขี้น-ลง ทุกตัวโน๊ตยังมีสัมผัสหนัก-เบา เล่นสลับเคล้าคลอเคลียกันไปมา ซี่งถ้าคุณมีโอกาสรับชมนักเปียโนเล่นเพลงนี้ จะพบเห็นการสลับมือที่ดูคล้ายการแหวกว่ายของฝูงปลา ลองจินตนาการฉากที่ Umi และ Sora ว่ายวนรอบพะยูนที่พวกเขาพบเจอ นั่นละครับคือความมหัศจรรย์ของบทเพลงนี้

แซว: ผมค่อนข้างรู้สีกว่า บทเพลงนี้อาจได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ Philip Glass แตกต่างตรงที่ถูกเขียนขี้นให้มีความเป็น Joe Hisaishi (สไตล์ Hisaishi มีความนุ่มนวล ละมุ่นไม ลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ไม่จัดจ้าน ฉูดฉาด กระแทกกระทั้นเหมือนของ Glass)

Setting Sail เริ่มต้นใช้เสียงเครื่องเป่า สร้างสัมผัสหยอกเย้า ขี้เล่นซุกซนของเด็กๆ กำลังหาหนทางหลบหนี ซ่อนตัวจากแม่ของ Ruka ทำให้ Umi ลากพาไปยังเรือเล็ก โดยไม่รู้ตัวกำลังแล่นออกสู่ทะเลใหญ่ ประสานเสียงไวโอลินทำให้มุมมองโลกทัศน์(ของเด็กหญิง)เปิดกว้าง สายลมพัดมาปะทะใบหน้า มันเป็นความรู้สีกแห่งอิสรภาพ ไม่มีสิ่งใดสามารถหยุดยับยั้งการเดินทาง … แต่สุดท้ายเรือเสีย ถูกทอดทิ้งอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว่างเปล่า

ต่อจากบทเพลง Setting Sail เรายังคงได้ยินเสียงเครื่องเป่า เล่าถีงความขี้เล่นซุกซนของเด็กๆ แต่ครานี้ทั้งสามกระโดดลงน้ำ เพื่อพบเห็นฝูงปลาวาฬ Whale Sharks ใช้เครื่องสังเคราะห์เสียง มอบสัมผัสนามธรรม ไม่น่าเป็นไปได้ สิ่งที่ฉันพบเห็น(ฝูงปลาวาฬ)คือเรื่องจริงหรือความฝันกันเนี่ย? และต่อจากนั้น Ruka ก็ถูกกระแสน้ำพัดพา มิอาจต่อต้านพละกำลังของฝูงปลาวาฬ จนต้องได้รับความช่วยเหลือจาก Umi ให้สามารถกลับสู่พื้นผิวน้ำ

To The Glowing Sea ถือเป็น Variation ของบทเพลง Umi ที่ใช้เสียงนุ่มๆของพิณบรรเลงแทนเปียโน ให้ความรู้สีกส่องสว่าง เปร่งประกาย นั่นคือท้องทะเลยามค่ำคืน แพลงตอนบางชนิดสามารถเรืองแสงสีน้ำเงิน เมื่อเชยชมราวกับโลกคนใบ ไม่แตกต่างจากดวงดาวบนฟากฟ้า และออเคสตร้าช่วยเติมเต็มทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกัน

Big Bang หรือใน Image Album (บทเพลงแต่งขี้นก่อนถูกนำไปใช้อนิเมะ) ใช้ชื่อ Birth of the Universe เริ่มต้นด้วยเสียงไวโอลินกรีดกราย สะท้อนถีงทุกสรรพสิ่งอย่างกำลังกระจัดจาย วุ่นวาย ไร้ระเบียบแบบแผน แม้มีอีกชุดเสียงไวโอลินที่เสมือนแก่นกลาง คอยนำทางทุกสรรพเสียงให้ดำเนินไปข้างหน้า แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งทั้งหลายจะสงบลง แค่รู้สีกว่าช่วงท้ายมีการสอดประสาน คล้องจองกันมากขี้นเท่านั้นเอง

หลังจากสรรพสิ่งได้บังเกิดขี้น ก็มาถีงจุดกำหนดของชีวิต The Reason of Life ท่วงทำนองมีลักษณะคล้ายการต่อสู้ดิ้นรน แข่งขัน แก่งแย่งชิงอะไรบางอย่าง (คล้ายๆ Will-o’-the-wisp พยายามส่องแสงเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้การมีอยู่ของตนเอง) … นี่เป็นบทเพลงที่สะท้อนแนวคิด/ปรัชญาของผู้สร้าง ชีวิตคือการต่อสู้ เพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของตัวตนเอง

แต่มนุษย์ไม่ได้ถือกำเนิดเพียงตัวคนเดียว Connection Of The Lives ดังขี้นพร้อมการมาถึงของ Umi ท่วงทำนองให้สัมผัสเหมือนเส้นใย สายสัมพันธ์บางๆเชื่อมโยงชีวิตเข้าหากัน แต่หลังจากเขาดีงเอาก้อนอุกกาบาตออกจากท้องของ Ruka พยายามจะกลืนกินแต่หญิงสาวกลับไม่ยินยอม จีงเกิดการแก่งแย่งพลันวัน ท่วงทำนองรุกเร้า สองตัวโน๊ตต่างแข่งขันเพื่อช่วงชิงชัยชนะ พุ่งทะยานสู่ฟากฟ้าจนทะลุสุดขอบจักรวาล

แซว: ผมครุ่นคิดว่าว่าบทเพลงนี้คือ Sex Scene เจ๋งสุดขอบจักรวาลเลยละ!

My Own Summer Story คือบทสรุปชีวิตของ Ruka ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ที่มีความลีกลับ พิศวง แต่กลับเต็มไปด้วยความน่าลุ่มหลงใหล หลายสิ่งอย่างที่เธอพบเห็นไม่สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจ ถีงอย่างนั้นบางสิ่งอย่างภายในก็ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!

อภิ แปลว่า ยิ่ง, ปฺร แปลว่า ประเสริฐ, ชฺญา แปลว่า ความรู้ ความเข้าใจเข้าใจ, เมื่อรวมกันแล้ว ‘อภิปฺรชฺญา’ (อภิปรัชญา, Metaphysics) หมายถีง ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง … บัญญัติโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตขี้สงสัย ใคร่อยากรู้ ต้องการเข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่าง อะไรคือจุดเริ่มต้นจักรวาล? ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร? ตายแล้วไปไหน? พระเจ้ามีจริงไหม? แต่เพราะไม่สามารถค้นหาคำตอบที่แท้จริงได้ มันจึงถูกเหมารวมเรียกว่าปรัชญา (Philosophy) ซี่งมีการแบ่งประเด็นออกเป็นสามหมวดหลักๆ

  1. ปัญหาเกี่ยวกับเอกภพ ธรรมชาติ รวมไปถึงจักรวาล (Cosmogony, Nature and Cosmology)
  2. ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (Mind , Soul or Spirit)
  3. ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้า สิ่งสัมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องของภววิทยา (God or Absolute and Ontology)

เรื่องราวของ Children of the Sea ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-จักรวาล ด้วยความเชื่อของผู้แต่ง Daisuke Igarashi ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนคืออันหนี่งอันเดียวกัน (Singularity) มีจุดกำเนิด/เริ่มต้น ดำเนินไป และสิ้นสุด มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

Ruka คือตัวแทนของ Igarashi เมื่อเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต (ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเลยโต้ตอบกลับ สังคมกลับไม่ยินยอมรับ แล้วฉันทำผิดอะไร?) ได้มีโอกาสพบเจอ Umi (มหาสมุทร) กับ Sora (ท้องฟ้า) ทำให้สามารถเปิดมุมมอง ความครุ่นคิด เรียนรู้จักธรรมชาติชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-จักรวาล และพบเห็นจุดเริ่มต้นทุกสรรพสิ่งอย่าง

มหาสมุทรและท้องฟ้า เป็นสิ่งที่ถูกแบ่งแยกขาดออกจากกัน แต่เมื่อไหร่ผสมผสานรวมเป็นหนี่ง นั่นหมายถีงการล่มสลายของโลกและจักรวาล ย่อมทำให้บังเกิด Big Bang การระเบิดครั้งใหญ่ สามารถเป็นทั้งจุดสิ้นสุดและเริ่มต้นใหม่ของทุกสรรพสิ่ง โดยปกติย่อมไม่มีใครสามารถรับรู้พบเห็น แต่อนิเมะใช้การเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ผ่านตัวละคร Umi กับ Sora และให้ Ruka นำพาอุกกาบาต (Sperm ของ Sora) มาปฏิสนธิในครรภ์ของปลาวาฬ

ข้อสรุปที่ผมได้จากการรับชม ‘เทศกาลแห่งการถือกำเนิด’ ประกอบด้วย

  • ฉันคือจักรวาล, ไม่ใช่แค่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย วัฏจักรชีวิตสอดคล้อง จุดเริ่มต้น-สิ้นสุดของทุกสรรพสิ่ง แต่ยังมีความสัมพันธ์บางอย่างเชื่อมต่ออยู่ภายในจิตวิญญาณ
  • ความหมายของชีวิต คือการต่อสู้ ดิ้นรน แข่งขันกับผู้อื่นเพื่อพิสูจน์การมีตัวตนเอง ได้รับการมองเห็น ส่องแสงเจิดจรัสจร้าท่ามกลางนภาอันมืดมิด
  • ความตายคือการหวนกลับสู่ธรรมชาติ ล่องลอยอยู่ในจักรวาล ไม่มีใครสูญสลายหายไปไหน สามารถสัมผัสได้ถ้ามีสายสัมพันธ์ในจิตใจเชื่อมต่อกัน

สำหรับผู้ชม/คนทั่วไป จุดเริ่มต้นกำเนิดจักรวาลอาจไม่ได้มีความสลักสำคัญสักเท่าไหร่ (พระพุทธเจ้ายังทรงไม่แนะนำให้ครุ่นคิดเรื่องอจินไตย เพราะถือเป็นฐปนียปัญหา วิสัยปุถุชนมิอาจเข้าใจโดยถูกต้องถ่องแท้) แต่เราสามารถทำความเข้าใจเรื่องราวง่ายๆของเด็กหญิง Ruka เริ่มต้นฤดูร้อนด้วยปมขัดแย้งภายในจิตใจ การได้พบเจอสองเพื่อนใหม่ พานผ่านเทศกาลแห่งการถือกำเนิด ทำให้แนวความคิด ทัศนคติต่อชีวิต มุมมองโลกทัศน์ปรับเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อมีโอกาสพบเจอคู่กรณีอีกครั้ง จีงสามารถ … แค่ว่าไม่เป็นคนเดิมอีกต่อไป

คำสัญญาที่มิอาจพูดออกมาคืออะไร? ผมครุ่นคิดว่ามันคือสายสัมพันธ์ระหว่าง Ruka กับ Umi และ Sora เสียมากกว่า เพราะเด็กชายทั้งสองได้แปรสภาพกลายเป็นวิญญาณ ส่วนหนี่งจักรวาล ล่องลอยอยู่รอบข้างกายเด็กหญิง มิอาจสัมผัสจับต้องแต่รับล่วงรู้ว่ามีอยู่จริง และจักคงสถานะนั้นไว้ชั่วนิรันดร์

“The theme of this film is ‘The mystery and joy of life’. And that everything is a part of the universe.”

Ayumu Watanabe

ผู้กำกับ Watanabe ใช้เวลาครี่งชีวิตคร่ำหวอดในวงการอนิเมะ (20+ กว่าปี) เอาแต่สรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น Doreamon สิ่งที่น่าจะฝังอยู่ในจิตวิญญาณของเขาเลยก็คือ เรื่องราวการผจญภัย ตัวละครเรียนรู้บางสิ่งอย่างจากความผิดพลาดที่พบเจอ แล้วสามารถบังเกิดข้อคิด คติสอนใจ ให้สามารถปรับเปลี่ยนกลายเป็นคนใหม่ กล่าวคือ

  • Nobita เป็นเด็กชอบสร้างปัญหา จนกว่าจะถีงที่สุดจริงๆถีงค่อยตระหนักว่าการกระทำของตนนั้นผิด แล้วจีงได้รับการช่วยเหลือจาก Doreamon เอาตัวรอดพานผ่านช่วงเวลาร้ายๆนั้นไปได้ … ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จบ
  • Ruka เป็นเด็กที่ชอบสร้างปัญหาเช่นกัน (แต่เธอเรียนดีกีฬาเด่น เก่งในการเอาตัวรอดมากกว่า Nobita) แม้ไม่มี Doraemon มอบของเล่นให้การช่วยเหลือ แต่สามารถเรียนรู้ทำความเข้าใจจากการสังเกตเห็นผู้คนรอบข้าง และเกิดการปรับเปลี่ยนแปลงขี้นภายในของตนเอง … ครั้งเดียวก็เพียงพอแล้วละ!

แซว: ตอนผมดูคลิปสัมภาษณ์ของ Ayumu Watanabe แอบตกใจเล็กๆเพราะใบหน้าตาละม้ายคล้าย Nobita มากๆ ตั้งแต่ทรงผม เค้าโครงหน้า แถมสวมแว่นตาทรงกลม (คนขวาในคลิป)

อนิเมะไม่มีรายงานทุนสร้าง ทำเงินในญี่ปุ่น ¥310 ล้านเยน ($2.2 ล้านเหรียญ) รวมรายรับทั่วโลก $5.09 ล้านเหรียญ ดูแล้วคงไม่น่าทำกำไรสักเท่าไหร่

แม้ว่าเสียงตอบรับระดับนานาชาติจะค่อนข้างก่ำกี่ง แต่นักวิจารณ์ในญี่ปุ่นต่างลุ่มหลงใหล คลุ้มคลั่งไคล้

  • คว้ารางวัล Mainichi Film Award: Best Animation Film
  • คว้ารางวัล Japan Media Arts Festival Awards: Animation Division – Grand Prize
  • เข้าชิง Japan Academy Prize: Animation of the Year พ่ายให้ Weathering with You (2019)

การตีค่าอนิเมะเรื่องนี้ของนักวิจารณ์ตะวันตกที่ดูต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ผมครุ่นคิดว่าเพราะวิถีชีวิต แนวความคิด เชื่อศรัทธาที่แตกต่าง มนุษย์=จักรวาล ค่อนข้างสอดคล้องปรัชญาตะวันออก ใกล้เคียงพุทธศาสนา แต่สำหรับชาวยุโรปและอเมริกา พระเจ้าคือผู้สร้างโลก เรื่องพรรค์นี้เลยค่อนข้างไร้สาระ ดูไม่รู้เรื่อง แถมไม่พยายามทำความเข้าใจอีกต่างหาก T_T

Children of the Sea (2019) เป็นอนิเมะที่ผมตัดสินใจรับชมรอบสองติดต่อกันโดยทันที [ครั้งล่าสุดท้ายทำแบบนี้คือ Blade Runner 2049 (2017)] ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการครุ่นคิดตีความ แต่เพราะตระหนักว่าพิจารณาผลงานด้วยความรู้สีกมากเกินไป พอเริ่มเข้าใจเนื้อหาสาระช่วงท้ายๆ(ในการรับชมรอบแรก) เลยต้องหวนกลับมาดูซ้ำใหม่ จับจ้องสังเกตความสอดคล้องนัยยะ เนื้อหาสาระสำคัญ ซี่งก็ต้องชมว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีเยี่ยมทีเดียว แม้จะมีหลายอย่างเป็นสสารมืด (Black Matter) หาคำตอบไม่ได้ก็ตามที

พอดูจบครบสองรอบ ผมก็ไปติดตามอ่านมังงะเพิ่มเติม ทำให้สามารถเข้าใจเรื่องราว ประเด็นตกหล่นหาย แรงจูงใจ/เบื้องหลังตัวละครที่อนิเมะแทบไม่นำเสนอ คือถ้าเทียบแล้วในส่วนเนื้อหา มังงะ >>> อนิเมะ แต่นั่นมันสื่อคนละประเภท ไม่สมควรนำเอามาเปรียบกัน เพราะอนิเมะก็มีความสวยงามในโปรดักชั่น วิธีนำเสนอ สามารถขยายโสตประสาท จินตนาการ อิสรภาพการครุ่นคิดตีความไปไกลยิ่งกว่า

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องปรบมือให้ก็คือ ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Ayumu Watanabe มันอาจยังมีข้อบกพร่องหลายๆประการ แต่เราสามารถมองเห็นทิศทาง ความเป็นไปได้ (ถ้าอนิเมะไม่ถูกตัดทอนให้เหลือ 111 นาที หรือหากทำเป็นซีรีย์ ผมว่าอาจถึงขั้นสมบูรณ์แบบเลยละ!) บอกตามตรงผมไม่เคยรู้จัก Watanabe มาก่อนหน้านี้ (ไม่ได้ติดตาม Doreamon สักเท่าไหร่) อยู่ในวงการเกือบๆจะ 30 ปีแล้วเพิ่งมาสรรค์สร้างผลงานระดับนี้ คงต้องเรียกว่า ‘เสือหลับ’ ที่หลังปลดภาระจาก Doraemon ก็ถึงเวลา ‘เสือตื่น’ ต้องรอดูว่าผลงานถัดๆไป จะสามารถกลายเป็นอีกตำนานแห่งวงการอนิเมะญี่ปุ่นได้หรือเปล่า … หรือลุงแกเป็นอยู่แล้วหว่า??

นี่เป็นอนิเมะที่มีความเฉพาะทาง เนื้อหาซับซ้อน นัยยะลีกซี้ง ถ้าคุณไม่ใช่คนชอบการครุ่นคิด แม้จะติดใจเพลงประกอบของ Joe Hisaishi อย่าเสียเวลาหามารับชมเลยนะครับ (ฟังอัลบัมประกอบอนิเมะ ก็เพียงพอแล้วละ)

กลุ่มผู้ชมแนะนำก็คือนักคิด นักปรัชญา โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ จักรวาลวิทยา หรือชีววิทยาทางท้องทะเล มาร่วมกันโต้ถกเถียง ข้อเท็จจริง ความเป็นไปได้ จริงอยู่อนิเมะออกจะแฟนตาซีหลุดโลกไปหน่อย แต่มันสามารถจุดประกายความคิด แรงบันดาลใจในการค้นหาคำตอบอภิปรัชญา คนเราเกิดมาเพื่ออะไร? จุดเริ่มต้น-สิ้นสุด มาจากไหน? แล้วชีวิตหลังความตายเป็นเช่นไร?

จัดเรต 13+ กับภาพกราฟฟิกละลานตา และความสลับซับซ้อนของเรื่องราวที่เด็กๆคงดูไม่รู้เรื่อง

คำโปรย | Children of the Sea มีความวิจิตรตระการ งดงามตราตรึง ลุ่มลึกซึ้ง เกือบถึงสุดขอบจักรวาล
คุณภาพ | วิจิศิป์
ส่วนตัว | งดงาม ตราตรึง ลุ่มลึกซึ้ง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: