Kanchenjungha

Kanchenjungha (1962) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥

ครอบครัวหนึ่งเดินทางมาพักผ่อนยังเมือง Darjeeling, West Bengal มองเห็นลิบๆยอดเขาสูงอันดับสามของโลก Kanchenjunga ดำเนินเรื่องสลับสับเปลี่ยนมุมมองไปมาด้วยเทคนิค ‘hyperlink film’ ซึ่งสภาพอากาศเดี๋ยวแดดออก หมอกลง เมฆบดบังพระอาทิตย์ ส่งผลกระทำต่อจิตใจตัวละครให้เรรวนปรวนแปร ผันเปลี่ยนแปลงไปมาไม่หยุดนิ่ง

Kanchenjunga เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ผมรู้สึกพักผ่อนคลาย เบาสบาย สร้างรอยอมยิ้มเล็กๆให้อิ่มเอิบเพลิดเพลินใจ แม้หลายๆคนอาจเกาหัวสับสนงุงงงง เพราะดำเนินเรื่องสลับสับเปลี่ยนมุมมองตัวละครไปมา แต่ก็อย่าพยายามจับจ้องครุ่นคิดอะไรมากความ ปล่อยให้กลิ่นอายบรรยากาศ เมฆหมอก แสงอาทิตย์ของเมือง Darjeeling ซึมซาบซ่านเข้ามาภายในจิตวิญญาณของคุณเองจะดีกว่า

Intolerance (1916) ของผู้กำกับ D. W. Griffith ถือกันว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ริเริ่มใช้เทคนิค ‘Hyperlink Film’ ตัดสลับสับเปลี่ยนเรื่องราวไปมาระหว่างสี่ยุคสมัย, ผลงานเลื่องชื่อลำดับถัดมาคือ The Rules of the Game (1939) ของผู้กำกับ Jean Renoir ร้อยเรียงความวุ่นๆอลเวงโดยไร้จุดศูนย์กลางตัวละคร

ผู้กำกับ Satyajit Ray เพราะเคยมีโอกาสรู้จักพบเจอตัวจริงของ Jean Renoir เมื่อตอนเดินทางมาอินเดียถ่ายทำ The River (1951) ทั้งยังให้การส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน เกิดกำลังใจสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Pather Panchali (1955) เลยไม่แปลกที่จะได้รับอิทธิพล แรงบันดาลใจ แนวคิดการดำเนินเรื่องโดยไร้จุดศูนย์กลางตัวละคร (สมัยนั้นยังไม่มีคำเรียก Hyperlink Film) ซึ่ง Kanchenjunga (1962) ถือได้ว่าเป็นการทดลองวิธีนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ น่าจะเป็นครั้งแรกของประเทศอินเดียด้วยละ ผลลัพท์แม้ออกมายอดเยี่ยมใช้ได้ แต่ก็ล้ำหน้าเกิดกว่าผู้ชมยุคสมัยนั้นจักสามารถเข้าใจ

นั่นกลายเป็นความโชคร้ายเล็กๆของหนัง ทำให้ต้นฉบับ Negative ถูกทอดทิ้งขว้าง จนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครไหนเหลียวแหลหลัง สนใจบูรณะซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งๆเป็นผลงานภาพสีเรื่องแรกของผู้กำกับ Ray และทิวทัศน์เมือง Darjeeling ช่างงดงามตราตรึงยิ่ง ปัจจุบันมีเพียง DVD คุณภาพพอกล่อมแกล้มเหล้าไปได้เท่านั้น


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

หลังเสร็จจาก The Apu Trilogy ผู้กำกับ Ray พยายามที่จะฉีกแหวกแนว ค้นหาวิถีทาง แนวความคิดใหม่ๆในการสรรค์สร้างผลงานภาพยนตร์
– Devi (1960) นำเอาภาพความเพ้อฝัน มามโนเพ้อภพว่าเป็นเรื่องจริง
– Teen Kanya (1961) สร้างสามเรื่องสั้น ที่เหมือนจะมีบางสิ่งอย่างเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกัน

สำหรับ Kanchenjungha ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งการทดลอง ค้นหาอะไรใหม่ๆน่าสนใจ ซึ่งเริ่มต้นจากการพัฒนาบทดั้งเดิม กำหนดโครงสร้างดำเนินเรื่องตัดสลับสับเปลี่ยนมุมมองไปมา เวลาในหนังเท่ากับชีวิตจริง สภาพอากาศสะท้อนจิตวิทยาตัวละคร และรวมไปถึงประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ด้วยตนเองครั้งแรก!

ผู้กำกับ Ray ตัดสินใจเลือกเมือง Darjeeling เพราะได้ยินว่าปู่ของตน Upendrakishore Ray บ่อยครั้งเดินทางมาพักผ่อนตากอากาศ เพื่อพักผ่อนคลาย และค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ แต่งเพลง สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ, ซึ่งตัวเขาเริ่มต้นใช้เวลาสิบวันยัง Darjeeling เดินท่องเที่ยว กินลมชมวิว สังเกตสภาพอากาศ เกิดภาพคร่าวๆของหนัง และเริ่มพัฒนาบท Scenario เพื่อนำกลับไปของบประมาณทุนสร้าง

“The idea was to have the film starting with sunlight. Then clouds coming, then mist rising, and then mist disappearing, the cloud disappearing, and then the sun shining on the snow-peaks. There is an independent progression to Nature itself, and the story reflects this”.

– Satyajit Ray

ครอบครัว Chaudhuri เดินทางมาพักตากอากาศยัง Darjeeling ประกอบด้วยสมาชิก
– พ่อ Indranath (รับบทโดย Chhabi Biswas เคยร่วมงานผู้กำกับ Ray เรื่อง Jalshaghar และ Devi) เป็นเจ้าของห้าบริษัท แน่นอนว่าย่อมมีความเย่อหยิ่งทะนงตน สนแต่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ได้เลือกคู่หมั้นอนาคตไกลให้บุตรสาวคนเล็ก เฝ้ารอคอยข่าวดีที่เธอจะตอบตกลงแต่งงาน
– แม่ Labanya (รับบทโดย Karuna Banerjee เคยร่วมงานผู้กำกับ Ray เรื่อง Pather Panchali, Aparajito และ Devi) ร่างกายอิดๆออดๆ สีหน้าอมทุกข์เศร้าโศก เป็นเพียงช้างเท้าหลังของสามี แทบไม่เคยมีสิทธิ์เอ่ยปากแสดงความเห็นใดๆ ซึ่งลึกๆยังคาดหวังให้ลูกสาวคนเล็ก ได้พานพบเจอแต่งงานกับชายคนที่รักจริง
– Jagadish (รับบทโดย Pahari Sanyal) พี่ชายของ Labanya ที่ภรรยาเสียชีวิตจากไปแล้ว ความสนใจมีเพียงส่องกล้องชมนกชมไม้ ดื่มด่ำไปกับผืนธรรมชาติ และสามารถเข้าใจทุกๆสถานการณ์มนุษย์แค่เพียงชายตาเห็น
– Anima (รับบทโดย Anubha Gupta) บุตรสาวคนโต เมื่อสิบปีก่อนถูกพ่อจับคลุมถุงชน แต่งงานกับชายคนที่ตนไม่ได้ตกหลุมรัก เลยลักลอบมีชู้นอกใจ และกำลังจะถูกจับได้
– Shankar (รับบทโดย Subrata Sen) สามีของ Anima ที่รับรู้ว่าภรรยาคบชู้นอกใจ เปิดอกพูดคุยสนทนา พร้อมปล่อยให้เธอเลิกราเป็นอิสระ แต่ติดอย่างหนึ่งคือลูกสาวสุดที่รัก จึงยังไม่สามารถหาหนทางออกได้ในขณะนี้
– Anil (รับบทโดย Anil Chatterjee) บุตรชายคนกลาง น่าจะยังครองตัวเป็นโสด พยายามทำตัวเป็นเพลย์บอย เกี้ยวพาราสีหญิงสาวไปทั่ว พกกล้องอ้างว่าถ่ายรูปสุนัข แต่ไม่บอกก็รับรู้ว่าความสนใจแท้จริงคืออะไร
– Monisha (รับบทโดย Alaknanda Roy) บุตรสาวคนเล็ก อายุ 19 ปี ขณะนี้กำลังศึกษามหาวิทยาลัย เอกภาษาอังกฤษ เธอมีสภาพไม่ต่างจากนกในกรง พยายามดิ้นรนโหยหาอิสรภาพ กำลังถูกแฟนหนุ่ม Bannerjee เกี้ยวพาเอ่ยปากขอแต่งงาน แต่ตนเองยังรั้งๆรีรอไม่กล้าตัดสินใจ ขณะเดียวกันพานพบเจอเพื่อนชาย Ashoke ที่แม้ต่างชนชั้น กลับสามารถครุ่นคิดทำอะไรได้อย่างเสรี เพ้อใฝ่ฝันตกหลุมรัก อยากที่จักใช้ชีวิตไร้พันธการเหนี่ยวรั้งแบบนั้นบ้าง
– Bannerjee (รับบทโดย N. Viswanathan) หนุ่มวิศวกร รูปหล่อ(มั้ง) คารมคมคาย เฉลียวฉลาด มารยาเป็นเลิศ ได้รับเลือกจากพ่อ คาดหวังให้ขอแต่งงานกับ Monisha แต่พยายามอยู่หลายครั้งก็มีเรื่องให้ไม่สำเร็จสักที ครานี้เลยต้องทำให้ได้ สุดท้ายจะสมปรารถนาหรือเปล่า
– Ashoke (รับบทโดย Arun Mukherjee) ชายหนุ่มจนๆ ตกงาน จับพลัดจับพลูมากับน้า ได้รับการแนะนำให้รู้จัก Monisha มีโอกาสพูดคุย แสดงความคิดเห็น แม้ตกหลุมรักแรกพบ แต่ก็ล่วงรู้ตัวว่าคงมิอาจเด็ดดอกฟ้า และพอเผชิญหน้ากับ Indranath ปฏิเสธที่จะเข้าทำงาน เพราะไม่อยากโดนดูถูก กดหัว จากบุคคลผู้เอ่อล้นด้วยความเย่อหยิ่งทะนงตน


ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) ขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Pather Panchali (1955),

ความท้าทายของหนังคือสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เดี๋ยวแดดออก แดดร่ม หมอกมา หมอกหาย รวมไปถึงเหตุการณ์บางอย่างไม่คาดคิดถึง อาทิ ขบวนพาเรด, ฝูงวัวเดินผ่าน ฯ ความบังเอิญเหล่านี้ ได้ถูกร้อยเรียงนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีชั้นเชิง

ซึ่งสภาพอากาศจะสะท้อนสภาพจิตใจตัวละครขณะนั้นๆออกมา
– ช่วงแรกๆท้องฟ้าปลอดโปร่ง เริ่มต้นเช้าวันใหม่ ไม่มีอะไรขุ่นข้องเคืองใจ
– เมื่อเรื่องราวดำเนินไป เมฆปกคลุมแสงอาทิตย์ ชีวิตเริ่มประสบพบปัญหา
– สถานการณ์เข้าสู่ช่วงคับขัน หมอกพัดพาความหนาวเหน็บเข้ามาปกคลุม จิตใจหวาดหวั่นสั่นสะพรึง
– และเมื่อปัญหาได้รับการคลี่คลายหรือแก้ไข แสงแดดจะสาดส่องลงมาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นการเดินไปพูดคุยไประหว่างสองตัวละคร แล้วมีเหตุให้พลัดพราก พบปะ หรือบางทีก็ถูกดึงลากออกมา (ไม่ให้เป็นก้างขวางคอ) ประกอบภาพทิวทัศนียภาพ ธรรมชาติกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

หลังจากเฝ้ารอมาแสนนานนึกว่าจะไม่ได้เห็นแล้ว ช็อตสุดท้ายของหนังนั่นคือ Kanchenjunga ยอดเขาสูงอันดับสามของโลก รองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ และยอดเขา K-2 มีความสูงกว่า 8,586 เมตร หรือ 28,169 ฟุต

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องโดยตัดสลับไปมาระหว่างสมาชิกครอบครัว Chaudhuri ซึ่งถือได้ว่าพ่อ Indranath นั้นคือเสาหลัก และบุตรสาวคนเล็ก Monisha ทำให้เรื่องราวเคลื่อนคล้อยดำเนินไป

เรื่องราวของหนังมักดำเนินไปเป็นคู่ๆ ซึ่งมีความสอดคล้องกันอยู่เกี่ยวกับชีวิต ความรัก และการแต่งงาน
– พ่อ Indranath และแม่ Labanya เหมือนว่าจะรักกันดี แต่จริงๆแล้วพ่อคือช้างเท้าหน้า แม่ไม่เคยลืมตาอ้าปากมีสิทธิ์เสียงใดๆ
– Jagadish พี่ชายของ Labanya เพราะสูญเสียภรรยาไป ชีวิตเลยไร้ที่พึงพา แต่ก็ได้ธรรมชาติเป็นที่พึ่งพิง
– ลูกสาวคนโต Anima แต่งงานกับ Shankar แต่เพราะไม่ได้รัก เลยกำลังตกทุกข์ยากลำบาก
– ลูกชายคนกลาง Anil คงจะหาคู่ครองแต่งงานไม่ได้ เลยทำตัวเสเพลบอยไปวันๆ
– ลูกสาวคนเล็ก Monisha กำลังถูกเกี้ยวพา ขอแต่งงานโดย Bannerjee
– และ Ashoke ตกหลุมรักหญิงสาว แต่ก็ได้แค่เพ้อใฝ่ฝัน มิอาจเอื้อมมือไปเด็ดดอกฟ้า

ถ้าเทียบกับหนังแนว Hyperlink เรื่องอื่นๆอย่าง Nashville (1975), Traffic (2000), 21 Grams (2003), Babel (2006) ฯลฯ ผมว่าเรื่อง Kanchenjungha (1962) ทำความเข้าใจง่ายมากๆเลยนะ เพราะจุดหมุนของเรื่องราวคือสมาชิกครอบครัวเดียวกัน พานพบ แยกจาก เดินสวน ทำเอาเมือง Darjeeling มีขนาดเล็กกระจิดริดไปเลย

Satyajit Ray แม้พอเล่นดนตรีได้บ้าง แต่ยังไม่เคยเขียนเพลงใดๆมาก่อนหน้า ดูแล้วคงได้แรงบันดาลใจจากปู่ที่ก็เป็นนักดนตรี เลยทดลองแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ (และอีกหลายๆผลงานต่อไป) ออกมาในลักษณะ ‘Light Music’ เน้นสร้างบรรยากาศ อารมณ์ชิลๆ สนุกสนานผ่อนคลาย หรือตึงเครียดแบบเบาๆ ประกอบเสียงนกเสียงไม้ เสียงธรรมชาติ Sound Effect และ Diegetic Music 


เรื่องราวของ Kanchenjungha เป็นความพยายามเปิดมุมมองผู้ชมเกี่ยวกับความรัก ชีวิตคู่ และการแต่งงาน ค่านิยมคลุมถุงชนของชาวอินเดียสมัยก่อน ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมที่สุดอีกต่อไป เพราะโลกยุคสมัยใหม่นี้ ชาย-หญิงมีโอกาสพบเจอสวนทางกันง่ายขึ้น พ่อ-แม่ก็ไม่สามารถคอยควบคุม ครอบงำ เสี้ยมสอน ชี้นิ้วสั่งลูกๆหลานๆให้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้อีกต่อไป

การสลับไปมาของเรื่องราว มุมมองตัวละคร ภาษาอังกฤษ-เบงกาลี รวมไปถึงสภาพอากาศของ Darjeeling ล้วนสะท้อนถึงยุคสมัยอดีต-ปัจจุบัน คนรุ่นเก่า-ใหม่ สังคมได้ก้าวกระโดดเปลี่ยนแปลงไป วิถีโบราณดั่งเดิมย่อมไม่สามารถปรับใช้ ถึงเวลาแล้วรึยังที่เราควรต้องเรียนรู้ โอบรับ ค่อยๆปรับตัวทีละเล็กละน้อย อย่าปิดกั้น กีดกัน เพราะนานวันย่อมมิอาจฝืนต้านทานกระแสสังคม สุดท้ายคงได้แต่ล้มทั้งยืน กลิ้งตกเขา ไม่มีใครสามารถช่วยเหลืออะไรได้

“Maybe this place did it. . . . here I’ve never seen such scenery. The majestic Himalayas, these silent pine trees. This sudden sunlight, sudden clouds, sudden mist! It’s so unreal, like a dream world. My head was in a whirl. Everything changed inside. As if I was somebody. . . A hero, a giant. I was full of courage. I was reckless, undaunted. Tell me, a place like this fills one with strength, doesn’t it?”

– Ashoke

เอาจริงๆตอนจบของหนัง ไม่มีปัญหาใดๆได้รับการแก้ไข/ค้นพบหนทางออก แค่เรื่องราววันนี้ได้รับการคลี่คลาย เปิดโอกาสให้ตัวละคร/ผู้ชม มีเวลาไปครุ่นคิด ปรับตัว แล้วค่อยให้คำตอบอีกทีวันหน้าฟ้าใหม่ เมื่อร่างกายและจิตใจเพรียบพร้อมตัดสินใจ จะว่าอะไรยังไงค่อยพูดคุยกันอีกที

เมื่อตอนออกฉาย หนังประสบความล้มเหลวในทุกๆด้าน นักวิจารณ์ไม่เข้าใจ ผู้ชมดูไม่รู้เรื่อง มันเลยจะทำเงินคืนทุนสร้างได้อย่างไร แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป คอหนังรุ่นใหม่ก็เริ่มซึมซับ ซาบซึ้ง กอปรกับการมาถึงของคำเรียก ‘Hyperlink Film’ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงผุดเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้กำกับ Ray ให้สัมภาษณ์ย้อนหลังถึงภาพยนตร์เรื่องนี้กับนิตยสาร Cineaste Magazine

“(It was) a very personal film. It was a good ten to fifteen years ahead of its time… Kanchenjungha told the story of several groups of characters and it went back and forth. … It’s a very musical form, but it wasn’t liked. The reaction was stupid. Even the reviews were not interesting. But, looking back now, I find that it is a very interesting film”.

– Satyajit Ray

ส่วนตัวมีความชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากๆ ในบรรยากาศ การถ่ายภาพ ใช้ธรรมชาติสื่อแทนอารมณ์ตัวละครได้อย่างงดงามล้ำ แต่ก็มีบางสิ่งอย่างค่อนข้างน่ารำคาญ โดยเฉพาะการพูดภาษาอังกฤษสลับกับเบงกาลี ถึงมันเข้ากับเทคนิคเล่าเรื่องกระโดดไปมาก็จริง ผู้ชมสามารถเข้าใจได้แค่ภาษาหนึ่งใด คงไม่รู้สึกน่าอภิรมณ์สักเท่าไหร่

จัดเรตทั่วไป ไร้ซึ่งเภทภัย

คำโปรย | ผู้กำกับ Satyajit Ray เดินทางไปพักผ่อนคลายยัง Kanchenjungha ได้อย่างเบาสบายใจ
คุณภาพ | ยอดเยี่ยม
ส่วนตัว | ชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: