
Kandahar (2001)
: Mohsen Makhmalbaf ♥♥♥
บันทึกการเดินทางเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของ Nelofer Pazira (ครึ่งจริง-ครึ่งแต่ง) เพื่อติดตามหาน้องสาวอาศัยอยู่ Kandahar, Afghanistan ในช่วงการขึ้นมาเรืองอำนาจของกลุ่มตาลีบัน แต่โอกาสประสบความสำเร็จช่างน้อยนิดยิ่งนัก
ชักชวนให้ผมครุ่นคิดถึง Aguirre, the Wrath of God (1972) เป็นภารกิจที่ดูไร้สาระ จะเอาชีวิตไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่ออะไร? เพราะความดื้อรั้น ดึงดัน ใช้ข้ออ้างมนุษยธรรม แล้วตอนจบกลับปล่อยให้ผู้ชมพร่ำเพ้อจินตนาการ … เอิ่ม ใครเคยรับชมโคตรภาพยนตร์เรื่องนั้นก็น่าจะได้รับสปอยไปเต็มๆ
เรื่องราวการเดินทางของ Nelofer Pazira (ตัวจริงๆมาเล่นหนัง) มีส่วนผสมของทั้งจากเรื่องจริง (reality) และบางสิ่งแต่งขึ้น (fiction), เมื่อปี 1996 หลังจากกลุ่มตาลีบันขึ้นมาเรืองอำนาจใน Afghanistan เธอพยายามหาหนทางกลับไปช่วยเหลือเพื่อนสนิทวัยเด็ก Dyana (ไม่ใช่น้องสาวตามเรื่องราวของหนัง) แม้ครั้งนั้นประสบความล้มเหลว แต่ก็ได้เขียนบันทึกการเดินทาง เป็นแรงบันดาลใจให้ผกก. Makhmalbaf สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในลักษณะ Travelogue ส่วนใหญ่ถ่ายทำในประเทศอิหร่าน และแอบลักลอบเข้าไปในเขตแดน Afghanistan
เมื่อตอนหนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับแค่เพียงปานกลาง แต่ปีนั้นหลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน (9/11) ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยมีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นที่รู้จักระดับโลกขึ้นมาทันที! ได้รับการซูฮกหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยอดเยี่ยมแห่งปี และนิตยสาร TIME ติดอันดับในชาร์ท All-TIME 100 Movies … ส่วนตัวมองว่าหนังแค่เปิดมุมมองโลกทัศน์ผู้ชม มอบสัมผัสมนุษยธรรม แต่คุณภาพโดยรวมยังไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Afghanistan ดินแดนเก่าแก่ประเมินกันว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยมานานกว่า 50,000+ ปี, จนกระทั่งเมื่อ 9,000+ ปีก่อน พัฒนามาเป็นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus), อารยธรรมอ็อกซัส (Oxus) และอารยธรรมเฮลมันด์ (Helmand), เคยถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชยึดครองในช่วงก่อนศตวรรษที่ 4 B.C., แล้วถูกพิชิตโดยราชวงศ์เมารยะ มีพระเจ้ากนิษกะแห่งจักรวรรดิกุษาณะเดินทางมาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายมหายาน จนกระทั่งศาสนาอิสลามเริ่มแพร่หลายช่วงกลางคริสต์ศตววรษที่ 7 จากนั้นก็มีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์อยู่หลายครั้ง
ประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1709 ด้วยการก่อตั้งราชวงศ์ Hotak (ช่วงนั้น Afghanistan คือส่วนหนึ่งของ Iran) ตามด้วยอาณาจักรดูรานี (Durrani Empire) กระทั่งการมาถึงของ The Great Game (1830-95) การเผชิญหน้าทางการเมืองและการทูตระหว่าง British Empire vs. Russian Empire แข่งขันกันยึดครองไม่ใช่แค่ Afghanistan แต่ยังลุกลามต่อไปยังเอเชียกลางและเอเชียใต้ (เป็นเหตุให้ Iran และ Afghanistan แยกพรมแดนออกจากกัน)
หลังจากการสงคราม Third Anglo-Afghan War (1919) เมื่อกองทัพ Afganistan สามารถรบชนะ British Empire จึงได้รับการปลดแอก หวนกลับสู่ระบอบการปกครองสู่ราชาธิปไตย Kingdom of Afghanistan (1926-73) จนกระทั่งมีการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ Republic of Afghanistan (1973-78) แต่เพียงไม่กี่ปีก็ถูกรัฐประหารให้กลายเป็นสังคมนิยม Democratic Republic of Afghanistan (1978–92) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหภาพโซเวียต ต่อสู้กลุ่มกบฎมุจญาฮิดีน (Mujahideen) ช่วงระหว่างสงครามเย็น Soviet-Afghan War (1979-89)
หลังจากที่สหภาพโซเวียตถอนกำลังออกไป กลุ่มตาลิบัน (Taliban) ขบวนการทางศาสนา-การเมืองของอิสลามิสต์ดิบันดี (Deobandi) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1994 มีบทบาทอย่างมากในสงครามกลางเมือง Afghan Civil War (1992–1996) จนสามารถยึดครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของ Afganistan ทำการจัดตั้ง Islamic State of Afghanistan (1996-2001) โดยให้ Kandahar กลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แล้วมีการประกาศบังคับใช้ชารีอะฮ์ (Shari’ah) หรือกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด เผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำให้มีการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานอย่างรุนแรง
หลังกลุ่มตาลีบันประกาศตัวว่าเป็นผู้เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 เลยถูกสหรัฐอเมริกาบุกรุกราน เข้ายึดครองครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 แล้วจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมาคาดอำนาจ เพราะอีกฝ่ายยังควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ จนกระทั่งกองทัพอเมริกันถอนกำลังทหารออกไปเมื่อปี ค.ศ. 2021 ทำให้ Afganistan หวนกลับมาเป็นของกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง!
Nelofer Pazira, نیلوفر پذیرا (เกิดปี 1973) นักเขียน นักข่าว นักเคลื่อนไหว เกิดที่ Hyderabad, India บิดาเป็นชาว Afghan ทำงานให้กับ World Health Organization (WHO), เติบโตขึ้นที่ Kabul, Afgahanistan ในช่วงการยึดครองของสหภาพโซเวียต จนครอบครัวตัดสินใจหลบหนีสู่ Pakistan เมื่อปี 1989 และอพยพลี้ภัยสู่ New Brunswick, Canada
เมื่อปี 1996, Pazira ได้รับจดหมายจากเพื่อนสนิทวัยเด็ก Dyana เล่าถึงความทุกข์ยากลำบากในการใช้ชีวิตที่ Kandahar ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลิบัน จนครุ่นคิดอยากจะฆ่าตัวตาย อ่านแล้วรู้สึกหัวใจสลาย เกิดความต้องการเข้าไปช่วยเหลือ เลยวางแผนลักลอบเดินทางเข้าไปยัง Afghanistan
Pazira พยายามติดต่อหาผู้กำกับหลายคน ชักชวนให้ร่วมภารกิจ บันทึกภาพการเดินทาง ‘Travelogue’ มุ่งสู่ Kandahar แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่มีใครหาญกล้า เธอเลยตัดสินใจลุยเดี่ยว ไปตายเอาดาบหน้า พร้อมอัดเสียงใส่เครื่องเล่นพกพา เมื่อหวนกลับมาจำมาเรียบเรียงทำเป็นหนังสือจดบันทึกการเดินทาง
Mohsen Makhmalbaf, محسن مخملباف (เกิดปี 1957) ผู้กำกับสัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran, เมื่ออายุ 15 เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านสมเด็จพระเจ้าชาห์ Mohammad Reza Pahlavi (1919-80), แล้วตอนอายุ 17 เคยใช้มีดทิ่มแทงตำรวจนายหนึ่ง จริงๆถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่หลังจากติดคุกอยู่ห้าปีได้รับการปล่อยตัวในช่วง Iranian Revolution (1978-79) เพราะสามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran)
I was in jail four and a half years. When I came out, I continued the same struggle against injustice, but instead of using weapons, I began to use art and cinema.
Mohsen Makhmalbaf
ช่วงระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ Makhmalbaf ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือกว่า 2,000+ เล่ม หลังได้รับการปล่อยตัวก็เริ่มเกิดความสนใจในสื่อภาพยนตร์ กลายมาเป็นช่างภาพ ตากล้อง เขียนเรื่องสั้น พัฒนาบทหนัง Towjeeh (1981), Marg Deegari (1982), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Tobeh Nosuh (1985) ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก Iranian New Wave โด่งดังจากผลงาน The Cyclist (1989), Once Upon a Time, Cinema (1992), Hello Cinema (1995), A Moment of Innocence (1996), Gabbeh (1996), Kandahar (2001) ฯลฯ
ประมาณปี ค.ศ. 1996, ผกก. Makhmalbaf คือหนึ่งในผู้กำกับที่มีโอกาสพบเจอ Nelofer Pazira ได้รับการร้องขอให้ร่วมติดตาม เพื่อบันทึกภาพระหว่างการเดินทางมุ่งสู่ Kandahar, قندهار แต่เขากลับตอบปฏิเสธ … ในบทสัมภาษณ์ไม่มีการอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงบอกปัด
One day a young Afghan woman, who had taken refuge in Canada, came to see me. She had just received a desperate letter from her friend who wanted to commit suicide because of the harsh conditions in Kandahar. She wanted to go back and help her friend at all cost. She asked me to go with her and film her journey.
Mohsen Makhmalbaf
แต่ถึงบอกปัด ผกก. Makhmalbaf ก็ด้วยความฉงนสงสัยต่อสถานการณ์การเมืองใน Afghanistan เลยหาเวลาอื่นออกเดินทางลักลอบข้ามพรมแดน จึงมีโอกาสพบเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายอย่างรุนแรง เมื่อกลับมาอิหร่านจึงพยายามค้นคว้าข้อมูล ศึกษาเอกสาร อ่านหนังสือ รับชมสารคดี และสมุดบันทึกการเดินทางครั้งนั้นของ Pazira นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างภาพยนตร์ Kandahar (2001)
later I secretly entered Afghanistan and I saw the dramatic life conditions of its inhabitants. That’s when I started doing research, I dissected the thousands of pages of official documents about the economic, political and military situation … Likewise, I read literary works and watched documentaries. But this Afghan woman’s journey to Kandahar still remains the basis for the screenplay.
เกร็ด: ก่อนหน้านี้ ผกก. Makhmalbaf เคยสรรค์สร้าง The Cyclist (1989) เรื่องราวเกี่ยวกับชาว Afghan ที่ลี้ภัยเข้ามาในพรมแดนของ Iran
ถ่ายภาพโดย Ebrahim Ghafori ตากล้องชาว Iranian นักเรียนรุ่นแรกของ Makhmalbaf Film School มีผลงาน อาทิ The Apple (1998), The Blackboard (2000), The Day I Became a Woman (2000), Kandahar (2001), Osama (2003) ฯลฯ
งานภาพของหนังคละคลุ้งกลิ่นอาย Neorealist ไม่ได้เน้นเทคนิค ลวดลีลา เพียงบันทึกภาพการเดินทาง ด้วยแสงธรรมชาติ หลายครั้งกล้องดูสั่นๆ (คาดว่าคงใช้ Hand-Held Camera) ทำเหมือนเป็นการแอบถ่าย แม้มีบางส่วนแอบเข้าไปยัง Afghanistan แต่ก็ไม่ได้เสี่ยงอันตรายอย่างที่ผู้ชมรับรู้สึกในหนัง
ผู้กำกับ Makhmalbaf เพียงนำบันทึกการเดินทางของ Pazira มาใช้เป็นต้นแบบโครงสร้าง รายละเอียดอื่นๆปล่อยให้เป็นเรื่องการเดินทาง พบเจออะไรก็ปรับแก้ไข ‘improvised’ ไปตามสถานการณ์ (เพื่อให้มีลักษณะของ ‘Travelogue’) ส่วนเป้าหมายดั้งเดิมติดตามหาเพื่อนสนิทวัยเด็ก ก็เปลี่ยนให้กลายเป็นน้องสาว (เพราะทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความจำเป็น เร่งรีบร้อนรนในการต้องออกเดินทาง)
This film is like a travel guide. Its form came to me whilst writing the screenplay and evolved whilst filming.
Mohsen Makhmalbaf
ขณะที่ประเทศมุสลิมอื่นๆ หญิงสาวเมื่อออกนอกบ้านสวมใส่แค่ฮิญาบก็เพียงพอแล้ว แต่ Afghanistan บังคับให้พวกเธอต้องสวมบุรเกาะอ์, برقع (Burka), คนพื้นเมืองเรียกว่าจาดรี, چادري (chadaree) เสื้อผ้าชั้นนอกที่ปกคลุมทั้งร่างกายและใบหน้า เหลือเพียงบริเวณส่วนตาทำเป็นรูเล็กๆเหมือนตาข่าย สำหรับให้ผู้สวมใส่พอมองเห็นภายนอก
ผมเคยวิเคราะห์ถึงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของ ‘ฮิญาบ’ เมื่อตอน The Day I Became a Woman (2000) ถึงสิ่งสำหรับควบคุมครอบงำสตรีเพศ ไม่ให้ได้รับสิทธิเสรีภาพในการครุ่นคิดแสดงออก แต่พอมาเป็นบุรเกาะอ์ ต้องถือว่ามีนัยยะเลวร้ายยิ่งกว่า … เพราะอย่างน้อยฮิญาบยังสามารถมองเห็นใบหน้าตา แต่บุรเกาะอ์เป็นชุดที่ทำการปกปิดอย่างมิดชิด สื่อถึงการควบคุมครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ (ล้อกับสุริยุปราคาได้ตรงๆเลยละ ดวงจันทร์บดบังพระอาทิตย์จนมืดมิดสนิท)
เกร็ด: ชื่อตัวละคร Nafas ภาษา Afghan แปลว่า ลมหายใจ มาจากรากศัพท์ nafs แปลว่าชีวิต, จิตวิญญาณ แต่เมื่อถูกบีบบังคับให้ต้องสวมใส่บุรเกาะอ์ คือสิ่งที่ทำให้เธอหายใจได้ยากลำบาก ไร้ซึ่งชีวิต สูญสิ้นจิตวิญญาณ
Nafas means “respiration”, it’s an Afghan name. The “burka” prevents women from breathing and from being free.
Mohsen Makhmalbaf

แม้ไม่มีใครสามารถพบเห็นความงดงามของหญิงสาวภายใต้ชุดคลุมบุรเกาะอ์ แต่พวกเธอกลับยังพยายามทำตัวเองให้สวยๆ สวมชุดงามๆ แต่งหน้า ทาเล็บ ใส่กำไลข้อมือ ฯลฯ เหล่านี้สะท้อนการดิ้นรนของมนุษย์ ‘ยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ’ คำสอนศาสนาที่เคร่งครัด มันคือการบีบรัดให้ผู้อยู่ภายใต้พยายามครุ่นคิดหาหนทาง กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการโดยไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา
ตรรกะดังกล่าวผมว่ามันเพี้ยนสุดๆเลยนะ จุดประสงค์ของการแต่งสวยๆหล่อๆ คือการสร้างภาพ แสดงวิทยฐานะ/ชนชั้นทางสังคม แต่ชาวมุสลิมเมื่อสวมฮิญาบ บุรเกาะอ์ มันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะอันใด เพียงตอบสนองกิเลสตัณหา ความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้นเอง!
When you look at these women wrapped in their burkas, there is an esthetic harmony on the outside, but on the inside, under every burka, there is suffocation. It’s a strange contradiction. As they do not have the right to show their physical beauty they use the beauty of their clothing.
Mohsen Makhmalbaf

ระหว่างที่โจรกำลังปล้นครอบครัว บิดากลับพูดขอบคุณ ขอให้พระเจ้าอำนวยอวยพร เรียกว่าพยายามมองโลกในแง่ดีสุดๆ แสดงความเชื่อมั่นศรัทธาศาสนา ปล่อยให้ครอบครัวถูกเอารัดเอาเปรียบ ยินยอมรับความลำบากยากแค้น โดยไม่สนว่าสมาชิกจะเดือดร้อนขนาดไหน สนเพียงตนเองจะได้อยู่บนสรวงสวรรค์เมื่อตายจากไป

การเรียนการสอนอัลกุรอาน, اَلْقُرْآنُ (Quran หรือ Qur’anic) ดูจากวิธีการน่าจะเรียกได้ว่า ‘ลักท่องลักจำ’ ให้เด็กๆโยกตัวไปมา พร้อมส่งเสียงตามสำเนียงที่เพื่อนๆกำลังอ่านท่อง ไม่มีการครุ่นคิดวิเคราะห์ ทำความเข้าใจเนื้อหาสาระ ถึงจะบอกว่าเด็กๆเหล่านี้อายุยังน้อย อธิบายไปก็ไม่เข้าใจ แต่มันก็สะท้อนถึงวิถีทางสังคม ‘เผด็จการเบ็ดเสร็จ’ ครูมีอำนาจเด็ดขาด ใครอื่นทำได้เพียงพยักหน้างกๆ มิอาจต่อต้านขัดขืน แสดงความคิดเห็นอันใด
แซว: จะมองว่าทั้งซีเควนซ์นี้ สะท้อนถึงลักษณะการปกครอง ‘เผด็จการเบ็ดเสร็จ’ ของกลุ่มตาลีบันใน Afghanistan ก็ได้เช่นกัน

ขณะที่สตรีทำงานงกๆ ก้มหน้าก้มตา นั่งรายล้อมรอบบ่อน้ำเพื่อซักผ้า บรรดาบุรุษทั้งหลายกลับเสพสำราญกับการรับชมไก่ชน … ไม่ใช่ว่าการพนันในประเทศมุสลิมเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรอกหรือ??


ผมรู้สึกว่าวิธีการนำเสนอของผกก. Makhmalbaf จงใจทำออกมาในลักษณะตลกร้าย (Dark Comedy) บางคนอาจรู้สึกขบขัน แต่เชื่อว่าหลายคนคงขำไม่ออกสักเท่าไหร่ เพราะความยึดถือมั่นต่อหลักศาสนา สตรีห้ามเปิดเผยใบหน้าตาต่อชายอื่นที่ไม่ใช่สามีพบเห็น นั่นรวมถึงหมอที่ต้องใช้การมองรอดผ่านรู จะตรวจอาการผู้ป่วยแต่ละครั้งมันช่าง ไร้สาระจะทนดู!
การมองลอดผ่านรูของหมอ สะท้อนมุมมองของสตรีที่สวมใส่ชุดคลุมบุรเกาะอ์ (พวกเธอมองเห็นโลกภายนอกผ่านรูตาข่ายเล็กๆ) แค่จะตรวจผู้ป่วยยังยุ่งยาก เช่นนั้นแล้วชีวิตของหญิงสาวใน Afghanistan มันคงบัดซบเกิดทน

ในเครดิตขึ้นชื่อ Dawud Salahuddin แต่ตัวจริงคือ David Theodore Belfield (1950-) ชายชาวอเมริกัน เกิดที่ North Carolina ในครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ แต่เพราะตนเองไม่ใช่คนขาวเลยมักตกเป็นเป้าหมายความเกลียดชัง (Racism) จึงเปลี่ยนมานับถืออิสลาม แล้วกลายเป็นผู้นำหัวรุนแรง เคยลอบสังหาร Ali Akbar Tabataba ผู้ลี้ภัยชาวอิหร่านที่ฝักใฝ่สมเด็จพระเจ้าชาห์ เลยจำต้องอพยพย้ายสู่ Iran ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ, นักข่าวสงคราม (war correspondent) และแสดงภาพยนตร์ Kandahar (2001)
รับบท Tabib Sahid หมอชาว … อะไรก็ไม่รู้ละ อพยพลี้ภัยจากสหรัฐอเมริกา ทำงานอยู่บริเวณชายแดน Iran – Afghanistan สามารถสื่อสารได้หลายภาษา หลังจากรับฟังเรื่องราวของ Nafas อาสาให้ความช่วยเหลืออย่างเอาจริงเอาจัง สีหน้าเคร่งเครียด ด้วยการมองหาบุคคลที่จะสามารถพาเธอข้ามชายแดนสู่ Kandaha
Salahuddin is also a victim – a victim of the ideal he believed in. His humanity, when he opened fire against his ideological enemy, was martyred by his idealism.
Mohsen Makhmalbaf

สถานที่แห่งนี้คือ Niatak refugee camp (ในหนังถ่ายมาแค่ส่วนเล็กๆเท่านั้นนะครับ) ค่ายลี้ภัยของชาว Afghan อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด Sistan and Baluchestan ใกล้ๆเมือง Zahedan ชายแดนระหว่าง Iran และ Afghanistan ตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2022 มีผู้ลี้ภัยประมาณ 6,500 คน
บริเวณที่หนังถ่ายทำน่าจะคือโซนการแพทย์ของ UNESCO รวบรวมบุคคลที่เหยียบกับดักระเบิดจนขาขาด วันๆเพียงเฝ้ารอคอยโอกาส ความช่วยเหลือจากเบื้องบน (ส่งขาเทียมลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ แลดูกับฟ้าประทาน พระเจ้าอำนวยอวยพร) เห็นแล้วเกิดความเศร้าสลด นี่คือผลกระทบจากภัยสงคราม


ระหว่างทางมุ่งสู่ Niatak refugee camp มีชายคนนี้ที่โบกมือขอติดเกวียนมาด้วย เพื่อทำการแลกเปลี่ยนขาเหล็กกับขาเทียมให้กับภรรยา แต่ระหว่างขาอวบๆกับขาผอมๆ สิ่งที่เขาต้องการสะท้อนถึงอดีตที่ยังโหยหา เรียวขาเดียวกับตอนที่แต่งงาน หรือคือ Afghanistan เมื่อครั้นอดีต ก่อนการมาถึงของกลุ่มตาลีบัน … แต่เอาจริงๆดินแดนแห่งนี้แทบไม่มีเคยมีความสงบสุขเลยนะครับ เต็มไปด้วยสงคราม ความขัดแย้ง เกิดขึ้นแทบจะทุกๆศตวรรษ

เรื่องราวของชายแขนขาด พยายามพูดโน้มน้าว สรรพสรรหาข้ออ้าง ชักแม่น้ำทั้งห้า เต็มไปด้วยคำโป้ปดหลอกลวง เพื่อเรียกร้องขอขาเทียมจากหมอ ด้วยจุดประสงค์แท้จริงคือนำไปขายทอดต่อ นำเงินที่ได้ไปจับจ่ายใช้สอยสำหรับการธำรงชีพรอด
ขณะนี้เขากำลังจะโบกมือ ขอติดเกวียนกลับไปด้วย (ล้อกับตอนขามาได้เป็นอย่างดี) แล้วพยายามทำตัวเป็นเซลล์แมน ต่อรองค้าขายขาเหล็ก (ก็อันเดียวกับที่ชายขาไปแบกมา) หลังจากพูดคุยต่อรอง ไม่เชิงว่าอาสา แต่เพราะเงินคือสิ่งล่อตาล่อใจ เลยจำยินยอมนำทาง Nafas มุ่งสู่ Kandahar
ความแตกต่างตรงกันข้ามระหว่างชายขาไป-ขากลับ สะท้อนวิธีการเอาตัวรอดยังสถานที่ทุรกันดารแห่งนี้
- ชายขาไป เลือกที่จะพึ่งพาโลกภายนอก ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อเลี้ยงดูแลครอบครัวให้มีความสุขเหมือนเก่าก่อน
- ชายขากลับ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

บทสัมภาษณ์ของผกก. Makhmalbaf เล่าว่าทั้งซีเควนซ์นี้เกิดจากการ ‘improvised’ บังเอิญพบเห็นการเดินทางของคณะแต่งงาน เลยเข้าไปขอถ่ายทำอย่างเร่งๆรีบๆ แต่ผลลัพท์ออกมาถือว่าน่าอัศจรรย์ใจ เป็นไคลน์แม็กซ์ที่ล้อกับการเดินทางของ Nafas มุ่งสู่เป้าหมาย ดินแดนไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ
เท่าที่ผมสังเกตจากประเพณีนี้ คือเจ้าสาว(สวมชุดขาวนั่งบนม้า)ต้องออกเดินทางไปยังบ้านเจ้าบ่าว โดยขบวนผู้ติดตามจะแบกหามสิ่งที่ดูคล้ายสินสอด ข้าวของเครื่องใช้ติดตามไปด้วย

ตัดต่อโดย Mohsen Makhmalbaf, เรื่องราวสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ ผ่านมุมมองตัวละคร Nafas/Nelofer Pazira ตั้งแต่เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน Iran พยายามมองหาไกด์ที่จะนำทางสู่ Kandahar, Afghanistan
- อารัมบท, สุริยุปราคา
- หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน Iran
- Nafas เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอิหร่าน
- ร่วมออกเดินทางกับครอบครัวหนึ่ง ขึ้นรถบรรทุก แต่กลับถูกดักปล้นกลางทาง
- เรื่องราวของเด็กชาย Khak
- เด็กชาย Khak ถูกขับไล่จากโรงเรียนสอนอัลกุรอาน เพราะไม่สามารถท่องจำบทสวด
- อาสาพาเดินทางพานผ่านทะเลทราย มาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
- พบเจอกับหมอ Tabib Sahid
- หมอ Tabib Sahid ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยวีธีการอันยุ่งยากลำบาก
- ตัดสินใจรับช่วงต่อจาก Khak อาสาพา Nafas เดินทางมายังค่ายผู้ลี้ภัย Niatak refugee camp
- ร่วมเดินทางกับคณะแต่งงาน
- ร่วมออกเดินทางกับคณะแต่งงาน แต่ถูกล้อมจับโดยกลุ่มตาลีบัน
สิ่งหนึ่งที่ผมแอบหงุดหงิด รำคาญใจ คือซับไตเติ้ลที่ไม่พยายามแปลภาษาอื่นนอกจาก Persian (Farsi) จริงอยู่นั่นคือการสร้างความสมจริง (แถวนั้นก็พูดคุยกันหลายภาษาอยู่แล้ว) และมันไม่จำเป็นที่ต้องรับล่วงรู้ทุกสิ่งอย่าง ถึงอย่างนั้นถ้าเราสามารถทำความเข้าใจรายละเอียดการสนทนา ก็อาจทำให้เกิดความเพลิดเพลินผ่อนคลายมากกว่านี้
เพลงประกอบโดย Mohammad-Reza Darvishi (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงชาว Iranian สำเร็จการศึกษาจาก University of Tehran มีผลงานละครเวที ภาพยนตร์ อาทิ The Blackboard (2000), The Day I Became a Woman (2000), Kandahar (2001), Osama (2003), The White Meadows (2009) ฯลฯ
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า Main Theme ของหนังคือดนตรีพื้นบ้าน Iran หรือ Afghan หรือ Indian (แต่ก็มีกลิ่นอาย Persian คล้ายๆกัน) ใช้เสียงเครื่องสายเพื่อสร้างความเร่งรีบ รุกเร้า ราวกับกำลังแข่งขันวิ่งเข้าเส้นชัย แต่แท้จริงแล้วมันน่าจะคือความต้องการหลบหนีเอาตัวรอด ออกไปจากผืนแผ่นดินแดนแห่งนี้เสียมากกว่า
แซว: บทเพลงนี้มีกลิ่นอายของ Romance Anónimo (แปลว่า Anonymous Romance) ที่ฉบับดีดกีตาร์โดย Narciso Yepes เคยถูกนำมาใช้ประกอบโคตรภาพยนตร์ Jeux interdits (1952) หรือ Forbidden Games
ผมเรียกบทเพลงนี้ว่า ‘สุริยุปราคา’ ได้ยินฉากแรกระหว่างภาพถ่ายดวงจันทร์บดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิด ผมไม่รู้ความเชื่อของชาว Iran/Afghan ต่อปรากฎการณ์นี้เป็นเช่นไร? แต่บทเพลงมอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ เสียงร้องโหยหวนฟังเหมือนคำสวดระหว่างพิธีละหมาด (แต่คิดว่าไม่น่าใช่นะครับ) สำหรับปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่กำลังมาถึง … หรือก็คือ Afghanistan ที่ในสายตาคนนอกมักมองว่าตาลีบันคือกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ด้วยเหตุนี้การพบเห็นสุริยุปราคา เมื่อตอนเริ่มต้น-สิ้นสุด จึงน่าจะแทนด้วยสัญลักษณ์ความชั่วร้าย มุมมืดของแสงอาทิตย์ที่สาดลงมาไม่ถึงดินแดน Afghanistan
เกร็ด: สุริยุปราคา (Solar eclipse) ครั้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ เกิดขึ้นวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1999 สามารถพบเห็นเต็มดวงพานผ่านอิหร่าน (แต่จะเห็นแค่บางส่วนใน Afghanistan)
อีกบทเพลงที่แม้ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่รู้คำแปล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชื่อเพลงอะไร (ในคลิปจะใช้ชื่อ Kandahar I, II, III, IV) แต่ดังขึ้นระหว่างการเดินทางโดยสารรถบรรทุก บุกตะลุยมุ่งสู่ Kandahar เพราะเสียงตุบๆ ราวกับจังหวะการเต้นของหัวใจ สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อารัมบทการเดินทางครั้งจะไปถึงเป้าหมายปลายทางหรือไม่?
Kandahar (2001) คือเรื่องราวการเดินทางมุ่งสู่เมืองหลวงใหม่ Kandahar ของประเทศ Afghanistan สถานที่ที่มีแต่คนอยากออก แต่ตัวละคร Nafas/Nelofer Pazira กลับต้องการไปช่วยเหลือน้องสาว/เพื่อนวัยเด็ก เสี่ยงเป็นเสี่ยงอันตราย ทั้งๆอาจจดจำใบหน้าแทบไม่ได้ด้วยซ้ำ
เกร็ด: ชื่อหนังต้นฉบับภาษาเปอร์เซียดารี (Dari Persian) سفر قندهار อ่านว่า Safar-e Ghandehar แปลตรงตัว Journey to Kandahar หรือบางทีก็เรียกว่า The Sun Behind the Moon
หนังไม่ได้พยายามอธิบายเหตุผลว่าทำไม Nafas/Nelofer Pazira ถึงมีความต้องการอย่างแรงกล้าในการเดินทางไปช่วยเหลือน้องสาว/เพื่อนวัยเด็ก ยังดินแดนถือว่าอันตรายที่สุดในโลกขณะนั้น! (ถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงนะครับ) สำหรับผู้ชมที่พอมีจิตสามัญสำนึกความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง ย่อมสามารถตระหนักถึงสาเหตุผล เข้าใจอุดมการณ์ การเสียสละเพื่อผู้อื่น เพราะนั่นคือพลังที่ทำให้บุคคลนั้นสามารถธำรงชีวิต และยังเชื่อมั่นต่อหลักมนุษยธรรม (Humanity)
แต่สำหรับคนที่สูญเสียความเชื่อมั่นต่อมนุษยชาติไปเรียบร้อยแล้ว (อย่างผมเองนี่แหละ) การเดินทางของ Nafas/Nelofer Pazira แม้งโคตรจะไร้สาระ ยึดถือมั่นต่ออุดมการณ์ที่ไม่ได้ก่อให้ประโยชน์อะไร เพียงตอบสนองความรู้สึก ‘มนุษยธรรม’ ของตนเอง ดื้อรั้น ดึงดัน ไม่ต่างจากการไปฆ่าตัวตาย โชคดีชิบหายเอาตัวรอดกลับมาได้
(ไม่ต้องไปสนใจความคิดเห็นของผมมากนะครับ แค่ต้องการนำเสนอมุมมองที่มันแตกต่างขั้วตรงข้าม เพราะการเดินทางของตัวละครย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ชื่นชม-ด่าทอ อยู่ที่ตัวเราเองต่างหากจะครุ่นคิดตัดสินใจ ไม่จำเป็นต้องสนเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่)
แทนที่เราจะเสียเวลาขบครุ่นคิดเหตุผลการเดินทางของ Nafas/Nelofer Pazira ลองไปสังเกตว่าตัวละครพบเห็นสิ่งใด? ให้ข้อคิดบทเรียนคติสอนใจ? หรือผู้สร้างต้องการสะท้อนถึงอะไร?
การเดินทางเริ่มตั้งแต่บริเวณชายแดน Iran-Afghanistan พบเห็นเต็มไปด้วยผู้ลี้ภัย เด็กๆที่ไร้การศึกษา สัญจรไปมาอย่างยากลำบาก อาหารการกินขาดแคลน การวินิจฉัยโรคมีความยุ่งยากลำบาก แถมขโมยกะโจรก็เต็มไปหมด แต่เลวร้ายที่สุดคือสมาชิกกลุ่มตาลีบัน พยายามวางอำนาจบาดใหญ่ กดขี่ข่มเหงสตรีด้วยการใช้ข้ออ้างชารีอะฮ์ (Shari’ah) หรือกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด
สิ่งต่างๆเหล่านี้สะท้อนถึง ‘คุณภาพชีวิต’ ของชาว Afghan มีความย่ำแย่เลวร้าย ด้อยการพัฒนา สภาพไม่ต่างจากบ้านป่าเมืองเถื่อน ผืนแผ่นดินแห้งเหือด ผู้นำประเทศไม่เคยเหลียวแลปวงประชา นี่ไม่ใช่สถานที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยเลยสักนิด!
The Afghans have got stuck in their ancientness. Like Reza Shah in Iran, in the 1930’s, or Ataturk in Turkey, Amanoullah has tried to make the country progress, but he soon came up against a huge religious resistance. One could say that this county has been vaccinated against modern civilization!
Mohsen Makhmalbaf
ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์/สังคมศาสตร์ จึงไม่สามารถวิเคราะห์ให้ฟังโดยละเอียดว่าทำไม Afghanistan ถึงกลายสภาพมาเป็นเช่นนี้? แต่เท่าที่ศึกษาค้นคว้าโดยคร่าวๆ ครุ่นคิดว่าอาจเพราะดินแดนแห่งนี้น่าจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกลางกับเอเชียใต้ ท้องทุ่งกว้างใหญ่เหมาะสำหรับการทำสงครามรบพุ่ง มันจึงคือสถานที่แห่งความขัดแย้ง มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ระบอบการปกครอง ศรัทธาศาสนา เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติโน่นนั่นนับครั้งไม่ถ้วน!
การที่หนังจบลงอย่างค้างๆคาๆ ไม่ได้จะบอกว่าการเดินทางประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว (แต่ใครอ่านเบื้องหลังก็คงรับรู้ได้ว่า Nelofer Pazira ไม่มีโอกาสพบเจอเพื่อนวัยเด็กอีกเลย) แต่ต้องสะท้อนความรู้สึกเคว้งคว้าง ล่องลอยอยู่ในความมืดมิด ดวงอาทิตย์ค่อยๆมืดดับ (พร้อมๆสุริยุคปราคา) สาดส่องแสงลงมาไม่ถึง Afghanistan กลายเป็นดินแดนแห่งความหมดสิ้นหวัง เฉกเช่นเดียวกับบุรเกาะอ์ปกคลุมลงใบหน้า
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าผกก. Makhmalbaf วางแผนย้ายสำมะโนครัวออกจากประเทศอิหร่านตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าน่าจะเคยครุ่นคิดเตรียมตัวอยู่บ้าง นั่นเพราะ Kandahar (2001) เต็มไปด้วยบรรยากาศของการอพยพหลบหนี ถ้าสถานะการเมืองของประเทศก้าวไปถึงจุดๆเดียวกับ Afghanistan ใครกันจะไปอดรนทนไหว … และวันนั้นก็มาถึงจริงๆเมื่อ Mahmoud Ahmadinejad ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 2005
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับถือว่ากลางๆ เพียงคว้ารางวัลด้านมนุษยธรรม Prize of the Ecumenical Jury จากนั้นตระเวรออกฉายตามเทศกาลต่างๆ จนกระทั่งการมาถึงของเหตุการณ์ 9/11 หลายประเทศทั่วโลกติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ไปจัดจำหน่าย เท่าที่มีรายงานรายรับในสหรัฐอเมริกา $1.4 ล้านเหรียญ, รวมทั่วโลก $8.9 ล้านเหรียญ (น่าจะคืนทุนหลายเท่าตัวเลยนะ)
หลังเหตุการณ์ 9/11 และความสำเร็จอย่างล้นหลามของภาพยนตร์ Kandahar (2001) ทำให้ Nelofer Pazira สามารถระดมทุนก่อตั้งสตูดิโอ Kandahar Films เพื่อบันทึกภาพการเดินทางระหว่างหวนกลับไปติดตามหาเพื่อนวัยเด็กอีกครั้งเมื่อปี 2002 (ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลตาลีบัน) แต่ก็ค้นพบว่าเธอคนนั้นตัดสินใจปลิดชีวิต ฆ่าตัวตายไปหลายปีก่อน รวบรวมฟุตเทจทั้งหมดมาทำเป็นสารคดี Return to Kandahar (2003)
หนังมีโอกาสสูงที่จะได้รับการบูรณะในอนาคต (เพราะถือเป็นผลงานโด่งดังระดับโลก) แต่ปัจจุบันยังมีเพียงแผ่น DVD ผมคุ้นๆว่าเคยพบเห็นวางขายในไทย และสามารถหารับชมออนไลน์ได้ตามเว็บ Streaming ทั่วๆไป
ไม่รู้เพราะผมมีความคาดหวังจากชื่อผู้กำกับ Mohsen Makhmalbaf เลยรู้สึกค่อนข้างผิดหวังกับ Kandahar (2001) ที่เป็นเพียงบันทึกการเดินทาง ‘Travelogue’ อาจมีความน่าตื่นเต้น แปลกใหม่ ไม่เคยพบเห็นในครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็แทบไม่หลงเหลือความประทับใจอะไรใดๆ (เมื่อเทียบกับ Aguirre, the Wrath of God (1972) ห่างคลาสกันมาก)
แต่ผมก็เชื่อว่า Kandahar (2001) เป็นภาพยนตร์ที่สามารถเปิดมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ๆ เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา วิชาประวัติศาสตร์ มานุษยศาสตร์ แนะนำกับคนชื่นชอบการผจญภัย นักข่าวต่างประเทศ ยูทูปเบอร์สายท่องเที่ยว ฯ
แม้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 ตาลีบันจะหวนกลับมาปกครอง Afghanistan อีกครั้ง (หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกไป) สถานการณ์ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเลวร้าย แต่มันก็ไม่ได้ย่ำแย่เท่าครั้งก่อน ใครอยากไปท่องเที่ยวประเทศนี้ ยังไงก็ควรหารับชม Kandahar (2001) และประเมินความเสี่ยงให้ดีๆเสียก่อนละ!
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศอันน่าสะพรึง พฤติกรรมกลับกลอกปอกลอก ทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด
Leave a Reply