Kapo

Kapò (1960) Italian : Gillo Pontecorvo ♥♥♥♥

มีฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้ Emmanuelle Riva วิ่งโถมไปยังรั้วลวดหนามค่ายกักกันนาซี ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต กลายเป็นภาพตราติดตรึงฝังใจเกินกว่าใครหลายคนรับได้ โดยเฉพาะผู้กำกับฝั่ง French New Wave ออกมาตำหนิต่อว่าผู้กำกับ Gillo Pontecorvo จนเป็นตราบาปฝังใจไปทั้งชีวิต

สิ่งที่นักวิจารณ์/ผู้กำกับ Jacques Rivette สัญชาติฝรั่งเศส เขียนบทความลงในนิตยสาร Cahiers du Cinema ฉบับเดือนมิถุนายน 1961 เท่าที่ผมอ่านจับใจความได้ ตำหนิต่อว่าไดเรคชั่น วิธิการของ Gillo Pontecorvo ที่พยายามนำเสนอหนังในรูปแบบความสมจริง ‘Reality’ ให้ผู้ชมรู้สึกจับต้องได้ แต่ Rivette ย้อนแย้งบอกว่า นั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้แม้แต่น้อย เพราะถ้าคุณเคยรับชม Night and Fog (1956) โคตรสารคดีของ Alain Resnais ที่นำเสนอภาพ ‘ความจริง’ จากเหตุการณ์ Holocaust เทียบกับของปลอมของภาพยนตร์เรื่องนี้ มันยินยอมรับกันได้เสียที่ไหน!

และความเลวร้ายที่สุดของหนัง ขณะการเสียชีวิตฆ่าตัวตายของตัวละคร Emmanuelle Riva วิ่งตรงสู่รั้วลวดหนาม แช่ภาพทิ้งไว้ขณะเธอถูกไฟช็อต ตัดไป Close-Up ใบหน้าเต็มๆ และอีกครั้งกล้องเคลื่อนเข้าไประยะประชิดตัว แล้วถ่ายมุมเงยขึ้น, โอ้แม่เจ้า! นี่เป็นไดเรคชั่นนำเสนอความตายที่เลวร้ายบัดซบ ไม่คิดถึงหัวอกจิตใจผู้ชมสมัยนั้นเลยหรือไง สงครามเพิ่งผ่านพ้นมาสิบกว่าปีเองนะ

ใครอยากอ่านฉบับแปลภาษาอังกฤษเต็มๆ คลิกโลด
Link: http://www.dvdbeaver.com/rivette/ok/abjection.html

ณ จุดนั้นผมเห็นด้วยกับ Rivette เลยนะ ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Pontecorvo ยังไม่ถึงจุดที่มีความเป็น ‘ศิลปิน’ มากเท่าที่ควร (ถือว่ากำลังพัฒนาเป็นสไตล์ของตนเอง โดยไฮไลท์ของเขาคือ The Battle of Algiers ผลงานเรื่องถัดจากนี้) หลายครั้งค่อนข้างไม่ให้เกียรติต่อผู้สูญเสียชีวิตในค่ายกักกัน และใจความของหนังที่ชวนให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ตกลงต้องการจะนำเสนออะไรกันแน่

กระนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านเลยไป ประเด็นของ Rivette เริ่มฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่แล้ว เพราะในมุมมองของนักวิจารณ์และผู้ชมยุคสมัยใหม่ ต่างมิได้พานพบประสบเจอ หรือตระหนักรู้ถึงสภาพอารมณ์ของผู้ชมชนชาวยุโรป/นาซี/ยิว ในช่วงเวลานั้นอีกต่อไป ส่วนใหญ่จึงมองไม่เห็นปัญหา สนแค่เนื้อในใจความของภาพยนตร์ที่ปรากฎออกมาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

โดยส่วนตัวก็เช่นกันนะครับ ไม่ได้มองประเด็นนั้นคือปัญหาที่ทำให้หนังดูแย่ไปเลย (แต่ก็แอบรู้สึกหวาดหวั่น ตกใจเล็กๆ) ตรงกันข้ามเลยคือ ผมมีความชื่นชอบคลั่งไคล้ Kapò เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Susan Strasberg ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของเด็กหญิงสาวอายุ 14-16 ดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดในค่ายกักกันนาซี โดยเฉพาะฉากขโมยกินมันฝรั่ง และขณะเสียความบริสุทธิ์ครั้งแรก มันช่างรวดร้าวทรมาน น่าสงสารเห็นใจที่สุดแล้ว

Gillo Pontecorvo (1919 – 2006) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่เมือง Pisa ในครอบครัวฐานะร่ำรวยเชื้อสาย Jews โตขึ้นเข้าเรียนสาขาเคมีที่ University of Pisa แต่ผ่านไปสองเทอมก็ลาออก พัฒนาความสนใจด้านการเมืองขวาจัด (หัวก้าวหน้า) หนีสงครามความขัดแย้งเหยียด Anti-Semitic มุ่งสู่ Paris ทำงานเป็นนักข่าวและครูสอนเทนนิส มีโอกาสรู้จักและช่วยงาน Joris Ivens ผู้กำกับสร้างสารคดีสัญชาติ Dutch ตามด้วย Yves Allégret ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศสที่โด่งดังกับหนังนัวร์ และยังได้สนิทสนม Pablo Picasso, Igor Stravinsky, Jean-Paul Sartre ฯ

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด Pontecorvo เดินทางกลับอิตาลี หลังจากเห็นผลงาน Italian Neorealism ของ Roberto Rossellini เรื่อง Paisà (1946) ตัดสินใจมุ่งมั่นเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ ซื้อกล้อง 16mm ถ่ายทำสร้างสารคดีขนาดสั้นหลายเรื่อง จนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Wide Blue Road (1957) โด่งดังจนกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

สำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่สอง Kapò ร่วมงานกับ Franco Solinas (1927 – 1982) นักเขียนสัญชาติอิตาเลี่ยน ร่วมงานเป็นขาประจำกันตั้งแต่ตอนทำหนังสั้น, เพราะทั้งคู่ต่างเป็น Italian Jews แม้มิเคยใช้ชีวิตในค่ายกักกัน แต่หลังรับฟังคำจากผู้รอดชีวิตหลายๆคน รู้จัก Kapò กลุ่มของหัวหน้านักโทษ (ก็คือนักโทษเองนะแหละ) ที่ได้รับมอบหมายจากทหารเยอรมัน (SS Guards) ให้เป็นผู้ควบคุมการใช้แรงงาน เกิดความสนใจพัฒนาเรื่องราวของเด็กหญิงสาวชาวยิว ที่พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความอยู่รอดในค่ายกักกัน แม้จะต้องกลายเป็น Kapò ที่ใครๆต่างรังเกลียดชังก็ตามเถอะ

Edith (รับบทโดย Susan Strasberg) เด็กหญิงสาวอายุ 14 ปี และครอบครัว ถูกจับพาส่งยังค่ายกักกันนาซี ได้รับการช่วยเหลือจากนักโทษการเมือง Sofia (รับบทโดย Didi Perego) ปลอมแปลงเปลี่ยนชื่อเป็น Nicole Niepas อดทนดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยการใช้แรงงานอย่างหนัก สองปีผ่านไปมีโอกาสได้เลื่อนขั้นเป็น Kapò ชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม แต่จิตใจของเธอก็เหมือนมีบางสิ่งอย่างได้สูญหายแปรเปลี่ยนไป

Susan Elizabeth Strasberg (1938 – 1999) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York เป็นลูกของ Lee Stransberg ผู้ก่อตั้ง Actor Studio มีเชื้อสาย Jews แต่เธอก็ไม่ได้เรียนการแสดงกับพ่อนะครับ ฝึกหัดการแสดงที่ The High School of Music & Art และ High School of Performing Arts ไปพร้อมๆกัน โดด่งดังมีชื่อเสียงพลุแตกกับภาพยนตร์เรื่อง Picnic (1955) และละครเวที Broadway ครั้งแรกของ The Diary of Anne Frank ทำให้เธอเข้าชิง Tony Award ตอนอายุ 18

ก็น่าจะคงเพราะการแสดงในละครเวที The Diary of Anne Frank ทำให้ได้รับคัดเลือกมาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะพูดภาษาอิตาเลี่ยนไม่ได้สักประโยค แต่ก็หามีความจำเป็นเสียที่ไหน เพราะหนังไม่ได้บันทึกเสียงสด Sound-On-Film แต่ใช้การพากย์ทับใหม่หมดภายหลัง

น่าเสียดายที่ Strasberg พลาดโอกาสแสดงฉบับดัดแปลงภาพยนตร์ของ The Diary of Anne Frank ไม่เช่นนั้นคงโด่งดังพลุแตก เข้าชิง Oscar แน่ๆ แต่เรื่องของบุญบารมีมันช่วงไม่ได้จริงๆนะ เลยเป็นแค่เพียงนักแสดง Underrated ถูกวงการมองข้ามไปโดยสิ้นเชิง

รับบท Edith/Nicole เด็กหญิงสาวที่มีแววตาสดใสไร้เดียงสา น่าจะเพราะได้รับการเลี้ยงดูแบบลูกคุณหนู เลยมิอาจทำงานอะไรหนักได้ เกิดความคิดดิ้นรนยอมทำทุกสิ่งอย่าง แม้ต้องเสียตัวให้ทหาร SS แลกมากับอาหารอิ่มท้อง แค่นี้ก็เหลือเฟือเพียงพอ เพราะศักดิ์ศรีมันกินไม่ได้ ถึงใครจะเกลียดชังก็ไม่ใช่เรื่องจะเอามาใส่ใจ

เพราะการได้พบเจอกับหนุ่มทหารรัสเซีย Sascha (รับบทโดย Laurent Terzieff) ที่ถูกจับกลายมาเป็นนักโทษในค่ายกักกัน ตกหลุมรักในความเข้มแข็ง หนักแน่น ยึดมั่นในอุดมการณ์เสียสละเพื่อประเทศชาติ ตัดสินใจช่วยเหลือปลดแอก ให้นักโทษทุกคนในค่ายกักกันสามารถหลบหนีข้ามพ้นรั้วลวดหนามไฟฟ้านี้ไปได้ แต่โดยไม่รู้ตัว การจะกระทำเช่นนั้น เธออาจต้องแลกมาด้วยบางสิ่งอย่าง

หลายคนอาจรู้สึกว่า Strasberg ทำได้ไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ในการเปลี่ยนแปลงจากเด็กหญิงเยาว์วัยไร้เดียงสา แปรสภาพเป็นผู้เหี้ยมโหดกร้านโลก Kapò แต่ผมสนใจในภาพลักษณ์(ความน่ารัก)ของเธอมากกว่า แตกต่างมากเลยนะระหว่าง ตอนแรกผมยาวน่ารัก, ตัดผมสั้นกลายเป็นนักโทษผู้ทุกข์ทรมานร้อนรน และพอยาวประบ่าก็ดูสมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

มองเป็น Coming-of-Age ของเด็กหญิง กลายเป็นหญิงสาว ด้วยวัยที่ยังน้อยนักแถมอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่เคยรู้จักด้วยซ้ำอะไรคืออุดมการณ์ คุณค่า เป้าหมายชีวิต แค่เอาตัวรอดตายได้ในวันนี้ มีความสุขสะดวกสบาย ไม่ต้องลำบากมากมาย ก็เหลือเฟือเพียงพอแล้วสำหรับตนเอง ซึ่งวินาทีที่เธอสวยสะพรั่งสุด ก็คือขณะตกหลุมรักเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ครุ่นคิดถึงความเพ้อฝัน อนาคต และคำมั่นสัญญา กระนั้นทุกสิ่งอย่างก็พลันมลายล่มสลายลง

ผมละโคตรสงสัยเลยนะ ทำไม Susan Strasberg ถึงไม่ค่อยโด่งดัง ประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องยอมรับเท่าที่ควร ขนาดเป็นถึง Most Promising Actress แต่คาดคิดว่าเพราะบทบาทลักษณะแบบหนังเรื่องนี้แหละ ทำให้ถูกมองกลายเป็น Typecast ภายนอกดูสดใสร่าเริงบริสุทธิ์ แต่ข้างในว้าวุ่นปั่นป่วน มีความชั่วร้าย หาได้ไร้เดียงสาแม้แต่น้อย

Laurent Terzieff (1935 – 2010) นักแสดงสุดหล่อ ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Toulouse พ่อมีเชื้อสายรัสเซีย แม่เป็นชาวโรมาเนีย เข้าสู่วงการจากเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงกับภาพยนตร์ Les tricheurs (1958), Kapò (1960), La Prisonnière (1968)

รับบท Sascha ทหารอากาศสัญชาติรัสเซีย เครื่องบินตกเลยถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกัน เมื่อได้พบเจอ Nicole ที่ขณะนั้นเป็น Kapò ก็เกิดความใคร่สนใจ ทีแรกไม่เข้าใจว่าเธอทำเช่นนั้นเพื่ออะไร แต่ไม่นานก็รับรู้ถึงตัวตนแท้จริงที่ยังใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ตกหลุมรักและต้องการพาเธอร่วมหนีออกไป แต่โชคชะตาก็เป็นเหตุให้พลิกผัน เพราะ…

นอกจากความหล่อเหลาของ Terzieff ผมก็ไม่เห็นอะไรดีงามอย่างอื่นของตัวละครนี้สักเท่าไหร่ คงเพราะความโลเล ตัดสินเลือกไม่ได้ระหว่างประเทศชาติกับหญิงสาว ใครอะไรกันเป็นสิ่งสำคัญกว่า นั่นทำให้เขายืนทึ่มทื่ออ้ำอึ้งไม่วิ่งหนีไปไหนฉากสุดท้าย รอจนพบเห็นผลลัพท์ที่เกิดขึ้น รับรู้ซึ้งว่านั่นคือความล้มเหลวอัปยศจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทำให้ชีวิตต่อจากนี้คงต้องจมปลักอยู่กับตราบาป ไม่มีวันลบเลือนจางหายอย่างแน่นอน

Emmanuelle Riva (1927 – 2017) นักแสดงหญิงชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Cheniménil มีความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็กในโรงละครเวทีใกล้บ้าน โตขึ้นมุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศสโดยไม่สนคำทัดทานของครอบครัว เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959) โด่งดังเป็นพลุแตก ผลงานถัดมา Kapò (1960) เหมือนไม่ค่อยมีใครอยากจดจำนัก

รับบท Terese นักแปลภาษา เยอรมัน-อิตาเลี่ยน/ฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในอาชญากรสงคราม เลยถูกจับมาใช้แรงงานค่ายกักกันนาซี ตอนแรกเธอมองเห็นความน่ารักจิตใจอันดีงามของ Nicole จนกระทั่งวันหนึ่งถูกขโมยกินมันฝรั่งไปต่อหน้าต่อตา เลยเริ่มบังเกิดรู้สึกถึงความขัดแย้งขึ้นภายใน กาลเวลาผ่านไปเหมือนว่าอดรนทนไม่ไหวแล้วถึงจุดแตกหัก คิดสั้นวิ่งโถมไปยังรั้วลวดหนามให้กระแสไฟฟ้าช็อตเสียชีวิต จะได้หมดสิ้นความทุกข์ทรมานเสียที

เรื่องราวของตัวละครนี้ ผมว่ามันขาดเหตุผลแรงจูงใจไปเสียหน่อย ก็ทั้งๆสามารถทนทรมานมาได้หลายปี พบเห็นอะไรๆโหดชั่วเลวร้ายมาก็มาก แต่ไฉนกลับสติแตกเอาตอนพบเห็นนักโทษคนหนึ่งถูกลงโทษประหารแขวนคอ, กระนั้นการแสดงของ Riva ถือว่ากินขาดเลยละ กำลังจัดจ้านร้อนแรงในผลงานถัดจาก Hiroshima mon amour แต่ผู้ชมส่วนใหญ่คงไม่อยากจดจำภาพสุดท้ายขณะเสียชีวิตของตัวละครนี้สักเท่าไหร่ สร้างความปั่นป่วนท้องไส้ให้ผมเล็กๆ มารับรู้คำตำหนิต่อว่าของผู้กำกับ Rivette เอาตอนหลัง เลยไม่รู้สึกแปลกใจสักกะนิด

เพราะหนังเดินทางไปถ่ายทำยังประเทศ Yugoslavian เลยติดต่อ Aleksandar Sekulović ให้เป็นตากล้องถ่ายทำหนังให้ เลือกใช้ฟีล์มขาว-ดำ เพื่อประหยัดงบประมาณ และลดความรุนแรงสมจริงที่อาจมีมากเกินไปจากฟีล์มสี

สิ่งที่พบเห็นบ่อยคือการเลือกใช้มุมกล้องก้ม-เงย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นทิศทาง ตัวตน จิตสำนึกดี-ชั่ว ของตัวละครต่อเหตุการณ์ฉากนั้นๆ, ซึ่งเหมือนว่าการตายของตัวละคร ถ้าถ่ายมุมเงยเห็นติดท้องฟ้า เสมือนว่าผู้เสียชีวิตคงกำลังได้ขึ้นสรวงสวรรค์ แต่ถ้าครั้งไหนถ่ายมุมก้ม เป็นการบอกว่ากำลังจะตกนรก (แต่อาจเว้น Edith ไว้คนหนึ่ง แม้จะถ่ายมุมก้ม แต่สายตาจับจ้องมองท้องฟ้าจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ก็น่าจะได้ขึ้นสวรรค์อยู่กระมัง)

ช็อตหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมากๆ คือตอนเด็กหญิงขโมยกินมันฝรั่ง ภาพจับจ้องใบหน้าของเธอที่อยู่ระยะประชิดกล้อง เห็นเบลอๆเจ้าของมันฝรั่งที่ติดพันบางสิ่งอย่างอยู่ด้านหลัง Edith หยิบมากินทำหน้าทำตาทองไม่รู้ร้อน ซึ่งเมื่อ Terese เดินกลับเข้ามาในโฟกัส พยายามจะขอทวงคืน แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว

ตัดต่อโดย Roberto Cinquini, Anhela Michelli เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองในสายตาของ Edith/Nicole ทั้งหมด และใช้การ Time Skip กระโดดข้ามช่วงเวลา 2 ปีไปอย่างรวดเร็ว

ไดเรคชั่นของการเสียตัวครั้งแรก มีความคลาสสิกไม่น้อยทีเดียว Edith เดินเข้าห้องกับทหาร SS จากนั้นแทรกใส่ภาพประกอบเพลง เห็นสิ่งต่างๆดำเนินไปในค่ายกักกัน พอเพลงจบเด็กหญิงก็เดินออกจากห้อง กลายเป็นผู้ใหญ่ Nicole เต็มตัว

เพลงประกอบโดย Carlo Rustichelli สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่น อาทิ L’uomo di paglia (1958), Un maledetto imbroglio (1959), L’armata Brancaleone (1966), Bosco d’amore (1981) ฯ

Expression ของบทเพลงสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างตรงไปตรงมา, วินาทีแรกที่ผมได้ยิน Soundtrack นึกว่า Suspiria (1977) เกิดสัมผัส Horror ชวนให้ขนลุกขนพอง เย็นยะเยือก หลอกหลอนสั่นประสาทเข้าไปถึงขั้วของหัวใจ ไม่รู้จุดเริ่มต้นของสไตล์เพลงลักษณะนี้มาจาก Kapò เลยหรือเปล่านะ

แล้วอยู่ดีๆบทเพลงก็เปลี่ยนท่วงทำนองอารมณ์โดยพลันแบบไม่ทันตั้งตัวในลักษณะของ Medley นี่คงสะท้อนวิธีการเล่าเรื่องของหนังที่อยู่ดีๆผู้ชม/ตัวละคร เกิดความตกตะลึงงัน ชีวิตจากเคยเป็นสุขสบายอยู่ดีๆ ถูกจับสู่ค่ายกักกันนาซีเปลี่ยนไปขั้วตรงข้าม และกลางเรื่องจากเคยเป็นเด็กดี กลับกลายเป็น Kapò ผู้ชั่วร้ายไปเสียได้

Kapò คือเรื่องราวของเด็กหญิงสาวที่พยายามกระทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อเอาตัวรอดในค่ายกักกันนาซี นั่นเพราะเธอยังไร้ซึ่งความรู้เข้าใจ อุดมการณ์เป้าหมายของชีวิต อะไรที่มันสะดวกสบายจึงพุ่งถลาถาโถมใส่ไว้ก่อน ไม่สนความถูกผิด ผู้อื่นตำหนิต่อว่ากล่าว, สองปีถัดมา หลังชีวิตได้เติบโตก้าวหน้ากลายเป็น Kapò มีโอกาสพบเจอตกหลุมรักชายหนุ่มคนหนึ่ง ทำให้เธอค่อยๆซึมซับรับเรียนรู้คุณค่าความเป็นมนุษย์ รู้จักสำนึกกลับตัวเป็นคนดี และตอนจบเมื่อทั้งรู้ว่ากำลังจะได้พบเจออะไร ยังคงเลือกตัดสินใจกระทำการเพื่อส่วนรวม กลายเป็นผู้มีความน่ายกย่องสรรเสริญสดุดีอย่างยิ่งแล้ว

เชื่อว่าหลายคนคงชื่นชอบครึ่งแรกของหนังมากๆ เพราะสายตาและความไร้เดียวสาบริสุทธิของเด็กหญิง ลุ้นระทึกให้ Edith สามารถหาวิธีเอาตัวรอดปลอดภัย (Survival) แต่เมื่อเธอกลายเป็นยัยตัวแสบ Nicole ครึ่งหลังจึงหมดสิ้นความน่าสงสารเห็นใจ แต่ก็จะเกิดอารมณ์ความรู้สึกใหม่ รักหวานโรแมนติก (Romance) นี่มันแปลกประหลาดพิศดารไปไหม ไม่เห็นจะต่อเนื่องเข้ากันตรงไหน!

ถ้าเรามองหนังในเชิง Subjective ผมว่าก็สมเหตุสมผลอยู่นะ
– ครึ่งแรกคือการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดของมนุษย์
– ครึ่งหลังเมื่อชีวิตมีความมั่นคง สะดวกสบาย ก็เริ่มครุ่นคิดมองค้นหาสิ่งที่มีคุณค่า อุดมการณ์ และเป้าหมายชีวิต

อธิบายเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ หลายคนชีวิตอาจเริ่มต้นด้วยการเป็นบ้านนอกเข้ากรุง ต่อสู้ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ อดมื้อกินมื้อ พยายามหาทางทำทุกสิ่งอย่างเพื่อแค่ท้องอิ่ม แล้วค่อยเก็บสะสมเงินทองเรื่อยมา (นี่เทียบได้กับครึ่งแรกของหนัง) ซึ่งเมื่อชีวิตประสบพบเจอความสำเร็จ ดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถซื้อบ้าน ที่ดิน รถ เงินเก็บเป็นล้าน ลงทุนทำธุรกิจกำไร ร่ำรวยมหาศาล เมื่อชีวิตไปถึงจุดอิ่มตัวนั้น ไม่ต้องทำงานอะไรก็ยังอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย เชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นจะเริ่มมองหาสิ่งอื่นที่มีคุณประโยชน์ทางจิตใจ ซึ่งบางคนอาจละโมบโลภเห็นแก่ตัวหนักขึ้นกว่าเดิม และบางคนเริ่มเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คิดแบ่งปันให้กับผู้อื่นและสังคม

ถ้าเรามองในมุมนี้ จะพบว่าหนังมีใจความเกี่ยวกับการใช้ชีวิต Coming-Of-Age และค้นหาเป้าหมายตัวตน โดยพื้นหลังค่ายกักกันนาซี เปรียบได้กับโลก/สังคมใบหนึ่ง ใครที่สามารถเข้าใจเกม เล่นตามกฎ ก็มีโอกาสพบเจอหนทางรอด ก้าวหน้า ประสบความสำเร็จในชีวิต

นอกจากนี้ Kapò ยังสอดแทรกทัศนคติบางอย่างของผู้กำกับ Pontecorvo ต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศอิตาลีบ้านเกิดในช่วงเวลาทศวรรษนั้น เพราะตัวละครหลักๆ 3-4 ต่างประสบพบเจอโศกนาฎกรรมกันถ้วนหน้า และตอนจบมันเหมือนเป็นการกระทำที่ไร้ค่าสิ้นดี

“They screwed us over, Karl, they screwed us both over”.

ทั้งนาซีที่กระทำสิ่งชั่วเลวร้ายต่อชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่สอง และประเทศอิตาลีที่ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ (สะท้อนกับแฟนหนุ่มที่เป็นชาวรัสเซีย อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์) กำลังค่อยๆสูญสิ้นเสื่อมศรัทธาลง นี่แปลว่าไม่ว่าเราจะเลือกข้างอยู่ฝั่งไหน ก็พบเจอแต่ความเลวร้ายหลอกลวงถึงกาลวิบัติด้วยกันทั่งคู่

เห็นว่า Pontecorvo เคยเข้าร่วมพรรค Italian Communist อยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อช่วยขับไล่นาซีออกจากประเทศ แต่ภายหลังก็ลาออกถอนตัว คงเพราะเกิดความแจ้งกระจ่าย รับรู้ว่านี่ไม่ใช่แนวคิดอุดมการณ์ทำให้ชาติเจริญอย่างแน่นอน หวนกลับมายึดถือทัศนคติ Leftist ขวาจัดต่อไป

เกร็ด: คำสวดของหญิงสาวก่อนเสียชีวิต มีคำเรียกว่า Shema Yisrael เพื่อระลึกถึงการมีเพียงหนึ่งเดียวของพระเจ้า, ปกติแล้วบทสวดนี้ ชาวยิวจะท่องขึ้นทุกค่ำคืนก่อนเข้านอน แต่เมื่อเอ่ยกล่าวขณะกำลังจะสิ้นลม ย่อมสื่อถึงการกำลังจะหลับชั่วนิรันดร์

แม้หนังจะถูกวิจารณ์เสียๆหายๆ จากฝั่งของ French New Wave แต่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้อิตาลีตัดสินใจส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film สามารถเข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้าย ก่อนปราชัยให้ The Virgin Spring (1961) ของผู้กำกับ Ingmar Bergman

ถึงโดยส่วนตัวผมจะไม่ได้ชื่นชอบประทับใจในส่วนเรื่องราว และไดเรคชั่นของหนังสักเท่าไหร่ แต่แค่ Susan Strasberg เพียงคนเดียวก็ทำให้ผมหลงใหล เคลิบเคลิ้ม คลั่งไคล้ รักใน Kapò มากๆแบบโงหัวไม่ขึ้นเลยละ

แนะนำคอหนังประวัติศาสตร์ Holocaust สนใจการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดของชาวยิว, ดราม่าในค่ายกักกันนาซี สงครามโลกครั้งที่ 2, รู้จักผู้กำกับ Gillo Pontecorvo และแฟนๆนักแสดง Susan Strasberg, Emmanuelle Riva ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความโหดเลวร้ายในค่ายกักกัน

TAGLINE | “Kapò เป็นภาพยนตร์ไร้รสนิยมของ Gillo Pontecorvo แต่ได้ความน่ารักคมคายของ Susan Strasberg ช่วยชีวิตไว้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: