Kapurush (1965)
: Satyajit Ray ♥♥♥♥
ชายหนุ่มรถเสียกลางทาง ได้รับอนุเคราะห์จากชายแปลกหน้าให้พักอาศัยค้างแรม พอไปถึงบ้านพบเห็นภรรยาซึ่งคืออดีตคนรักเก่า ทำให้เขาพร่ำรำพันโหยหาอดีตไม่เป็นอันหลับนอน
Kapurush คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกโหยหา ครุ่นคำนึงถึง ไม่เป็นอันหลับอันนอนของชายหนุ่มต่ออดีตคนรัก จับพลัดจับพลูพานพบเจอ แต่เมื่อนึกหวนระลึกนึกย้อนอดีตกลับไป เหตุผลที่ทั้งสองมิได้ลงเอยแต่งงานกัน เพราะความขี้ขลาดเขลา มิอาจก้าวข้ามผ่านบางสิ่งอย่างพันธนาการผูกเหนี่ยวรัดพวกเขาไว้
ผมมีความใคร่สนใจภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษหลังจากเขียนบทความ Nayak (1966) ซึ่งมีใจความเกี่ยวกับการสำรวจตนเอง เผชิญหน้าอดีต และชื่อหนังมีความแตกต่างตรงกันข้าม (Nayak = The Hero, Kapurush = The Coward)
หลังจากรับชมบอกเลยว่าโคตรชอบ มอบสัมผัส ‘Impressionist’ ที่สร้างความประทับใจในอารมณ์ขี้ขลาดเขลา และเนื้อเรื่องราวชวนให้ระลึกนึกถึง Brief Encounter (1945) และ Spring in a Small Town (1948) รักสามเส้าที่เต็มไปด้วยความน่าเศร้า (ของอดีตแฟนเก่า)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ความยาวเพียง 74 นาทีเท่านั้น นั่นเพราะผู้กำกับ Ray ต้องการนำออกฉายควบ Mahapurush (The Holy Man) (1965) ความยาว 65 นาที แต่บทความนี้ผมจะพูดถึงแค่ Kapurush เท่านั้นนะ
Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)
หลังเสร็จจาก Charulata (1964) ความที่ไม่สามารถหาเนื้อเรื่องราวเหมะสม พัฒนาเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวได้ ผู้กำกับ Ray เลยตัดสินใจสร้างหนังควบอีกครั้งถัดจาก Teen Kanya (1961)
สำหรับ Kapurush ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น Janaiko Kapuruser Kahini แต่งโดย Premendra Mitra (1904 – 1988) นักกวี/นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติเบงกาลี
Amitabha Roy (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) นักเขียนบทภาพยนตร์ ขับรถจาก Calcutta เพื่อสรรหาแรงบันดาลใจในการทำงาน บังเอิญรถเสียอยู่เมืองเล็กๆ ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน Bimal Gupta (รับบทโดย Haradhan Bandopadhyay) เจ้าของไร่ชา เลยอาสาให้เขาพักค้างแรมที่บ้านของตนเอง ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงพานพบเจอภรรยา Karuna (รับบทโดย Madhabi Mukherjee) แท้จริงแล้วคืออดีตคนรักเก่าของตนเอง
Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เคยเป็นนักแสดงละครเวที ตั้งแต่เด็กเลยชื่นชอบด้านการแสดง โตขึ้นเรียนจบสาขาวรรณกรรมเบงกาลีจาก University of Calcutta เริ่มต้นทำงานผู้ประกาศรายกาศวิทยุ All India Radio ระหว่างนั้นไปคัดเลือกนักแสดง Aparajito (1956) เพราะอายุมากเกินวัยเลยถูกปฏิเสธ แต่ภาพลักษณ์เป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Ray เลือกมารับบทภาคถัดไป Apur Sansar (1959) จนได้กลายเป็นขาประจำ
รับบท Amitabha Roy ชายหนุ่มผู้แม้มีความเชื่อมั่นในรัก แต่ขลาดเขลาที่จะแสดงออกมา เมื่อหวนกลับมาพบเจอ Karuna จิตใจเต็มไปด้วยความโหยหาอาลัย ไม่เป็นอันกินอันนอน พยายามโน้มน้าวให้เธอหนีตามไป แต่ทั้งหมดก็ได้แค่เพียงเพ้อใฝ่ฝัน
ผมว่า Chatterjee เหมาะกับบทบาทลักษณะนี้มากๆเลยนะ ภาพลักษณ์ของเขาคือหนุ่มโรแมนติก สายตาเต็มไปด้วยความอ่อนไหว บริสุทธิ์ไร้เดียงสา เมื่อถูกทำให้ต้องพลัดพรากจากคนรัก มันช่างน่าสงสารเห็นใจยิ่งนัก
Madhabi Mukherjee (เกิดปี 1942) นักแสดงหญิงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ตั้งแต่เด็กก้าวเข้าสู่วงการละครเวที จนมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Dui Biye (1953), ส่วนบทบาทผู้ใหญ่เริ่มจาก Baishey Shravan (1960), Subarnarekha (1962), ร่วมงานผู้กำกับ Ray ครั้งแรก Mahanagar (1963), กลายเป็นตำนาน Charulata (1964), และอีกครั้งหนึ่ง Kapurush (1965)
รับบท Karuna หญิงสาวที่เคยตกหลุมรักมาก Amitabha Roy แต่เพราะถูกกีดกันโดยลุง อยู่ดีๆย้ายไปทำงานต่างเมือง บีบบังคับให้เธอต้องติดตามไปด้วย พยายามเรียกร้องขอแฟนหนุ่มให้มาสู่ขอแต่งงาน (หรือจะหนีไปอยู่ด้วยกันไม่รู้ละ) แต่เพราะความยังอ่อนเยาว์วัย เต็มไปด้วยขลาดเขลา เลยมิอาจหาญกล้า กาลเวลาผ่านไปแต่งงานอยู่กินกับ Bimal Gupta บังเอิญหวนกลับมาพานพบเจอ แต่ความรู้สึกจริงๆของเธอกับเขาเป็นเช่นไร คงไม่มีใครให้คำตอบได้แน่
ภาพลักษณ์ของ Mukherjee คือหญิงสาวที่มีความขี้เล่น ซุกซน โหยหาอิสรภาพ เก่งกาจไม่แค่สีหน้าสายตา แต่ยังทุกอากัปกิริยาเคลื่อนไหว ล้วนเป็นธรรมชาติและมีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นไว้, สำหรับเรื่องนี้ก็ถือว่าเต็มไปด้วยลับลมคมใน ซึ่งเอาจริงๆสังเกตออกไม่ยากหรอกนะ ว่าแท้จริงแล้วเธอมีความรู้เช่นไร
Haradhan Bandopadhyay (1926 – 2013) นักแสดงสัญชาติอินเดีย เกิดที่ Kushtia, Bengal หลังเรียนจบจาก City College, Kolkata ทำงานในโรงงาน Gun & Shell ต่อด้วยกลายเป็นพนักงานขายประกัน แล้วจับพลัดจับพลูแสดงภาพยนตร์ Devdut (1948), ร่วมงานผู้กำกับ Ray ครั้งแรก Mahanagar (1963) ติดตามมาด้วย Kapurush (1965), Seemabaddha (1971), Sonar Kella (1974), Joi Baba Felunath (1978) ฯ
รับบท Bimal Gupta เจ้าของไร่ชา บังเอิญนำรถจิ๊บมาซ่อม พบเห็นหนุ่มชาวเมือง Amitabha Roy กำลังหาที่พักอาศัยค้างแรม จึงชักชวนมาพักค้างแรมที่บ้าน โดยไม่รู้ตัวว่าชายคนนี้คือคนรักเก่าของภรรยา พยายามสร้างความบันเทิงต่างๆนานา เช้าขึ้นมาชักชวนไปปิกนิค ก่อนปล่อยให้รอรถไฟที่กว่าจะมาถึงก็ค่ำมืดดึกดื่น
ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่ คงไม่มีใครใคร่สนใจตัวละครนี้อย่างแน่แท้ (จับจ้องแต่เพียงพระ-นาง) แต่ถึงอย่างนั้น เขาคือสามีถูกต้องตามกฎหมาย การจะลักลอบเป็นชู้นอกใจต่างหากคือสิ่งผิดหลักศีลธรรมจรรยา ค่านิยมที่คนยุคสมัยใหม่มักมองว่า ความรักสำคัญกว่า ก็หาใช่สิ่งเหมาะสมเสมอไป
ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy เลื่อนตำแหน่งจากนักจัดแสง/ผู้ช่วย Subrata Mitra กลายมาเป็นขาประจำคนใหม่ของผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Teen Kanya (1961)
งานภาพมีลักษณะสะท้อนสภาพจิตวิทยา/อารมณ์ของตัวละครออกมา มีความลื่นไหล หลายครั้ง Long Take พบเห็นมุมกล้องแปลกๆ จัดวางตำแหน่งนักแสดง/สิ่งข้าวของ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ฉากแรกของหนัง ต้องชมเลยว่าเป็น Long Take ที่งดงามยิ่งนัก น่าจะถ่ายบนเครนเพราะกล้องเคลื่อนเลื่อนเข้าไปจากตำแหน่งนี้ถึงตรงหน้าต่าง เมื่อตัวละครเดินเข้าไปในร้าน และถอยกลับออกมาเมื่อได้รับความอนุเคราะห์จากชายแปลกหน้า
เมื่อมาถึงบ้านของ Bimal Gupta วินาทีแรกที่ Amitabha Roy พบเจอ Karuna ทั้งสองมีความผิดสังเกตที่โคตรจะแนบเนียน คือถ้าคนอ่านภาษากายไม่ออกก็อาจจำแนกไม่ได้จริงๆ (แบบที่ Bimal Gupta สังเกตพวกเขาไม่ออกเลยสักนิด)
มุมกล้องประหลาดๆอย่างเงยขึ้นช็อตนี้ สะท้อนถึงมุมมองของ Amitabha Roy ที่มีต่อ Bimal Gupta ทั้งๆไม่เคยรับรู้จักกันแท้ๆ แต่การเป็นสามีของอดีตคนรัก มันทำให้เขาราวกับเป็นคนสูงศักดิ์กว่า แถมหนังเสือด้านหลังบ่งบอกว่าชายคนนี้คือนักล่า (เอาจริงๆถ้า Karuna หนีตาม Amitabha นั่นอาจเป็นสิ่งเกิดขึ้นกับพวกเขาก็เป็นได้)
อีกมุมกล้องประหลาดๆ ขณะ Bimal Gupta กำลังพร่ำสนทนาอะไรก็ไม่รู้อยู่ก้นแก้ว (ดื่มวิสกี้ใกล้เมามาย) ผิดกับ Amitabha Roy จิบไวน์เชอรี่เพียงอึกเดียว คงต้องการธำรงสติตนเองไว้ จักได้สามารถครุ่นคิดว่าเอายังไงต่อไปกับชีวิตดี
ย้อนอดีตในความทรงจำของ Amitabha Roy ณ ห้องพักสามผนัง (=รักสามเส้า) วันดีคืนดี Karuna ถึงขนาดวิ่งฝ่าฝนมาหา เพื่อแจ้งบอกข่าวร้ายให้รับทราบ ซึ่งเธอจะเดินไปเดินมาระหว่างหน้าต่าง <–> กลางห้อง สะท้อนความกระวนกระวายของหญิงสาว ไม่อาจหยุดสงบนิ่งลงได้
สิ่งที่เธอต้องการในชีวิต คือการได้ Amitabha Roy เป็นที่พึ่งพักพิงทางกายใจ
แต่กลับกลายเป็นว่าชายหนุ่มกลับเต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ ช็อตนี้กลับตารปัตรที่ Amitabha Roy ไปยืนตรงหน้าต่างแทน และเบลอๆภาพของ Karuna การแต่งงานยังไม่ได้อยู่ในความปรารถนาของเขา
เงาของ Amitabha Roy อยู่ในตำแหน่งเคียงค้าง ไม่ใช่พยายามควบคุมครอบงำ หรืออาบทับใบหน้าของ Karuna นั่นคือสิ่งที่ทำให้เธอผิดหวัง เพราะในสังคมอินเดีย บุรุษต้องเป็นช้างเท้าหน้า กล้าที่จะบ่งการชีวิตอิสตรีติดตามหลัง
หวนกลับมาปัจจุบัน เพราะมิอาจอดรนทนอีกต่อไปได้ Amitabha Roy เลยตัดสินใจย่องออกมาข้างนอก พบเห็นไฟสาดส่องจากห้องนอนของอดีตแฟนสาว อยากจะเข้าไปแอบจับจ้องมอง ดันสะดุดบางสิ่งอย่างทำให้เธอเร่งรี่เดินออกมา
สังเกตว่าด้านหลังของ Amitabha Roy ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท สะท้อนจิตใจของเขาที่ไร้หนทางออกในความรู้สึกนี้
ช็อตนี้ล้อกับตอนฉากย้อนอดีต Karuna ยืนตรงหน้าต่าง จับจ้องมองออกไปข้างนอก เป็นสัญลักษณ์ของการโหยหาอิสรภาพ ขณะที่ Amitabha Roy นั่งจมปลักอยู่ในความมืดมิด ท่ามกลางกิ่งไม้ ภาพปลาแหวกว่าย
ตื่นเช้ามา Bimal Gupta ซักซ้อมตีกอล์ฟอยู่หน้าบ้าน Deep Focus ด้านหลังคือ Amitabha Roy เพิ่มตื่นนอนมา ช็อตนี้ผมมองได้ 2 นัยยะ
– Bimal Gupta ไม่ได้รับล่วงรู้ เอะใจตัวตนแท้จริงของ Amitabha Roy (ว่าคืออดีตคนรักของภรรยา)
– Bimal Gupta คือบุคคลผู้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่กว่า Amitabha Roy (นัยยะเดียวกับภาพมุมเงย พบเห็นหนังเสือติดผนัง)
ระหว่างทางกำลังไปปิคนิค Amitabha Roy พยายามพูดอะไรบางอย่างกับ Karuna แต่อยู่ดีๆก็มีรถวิ่งสวนตัดหน้า เรียกว่าเป็นเส้นแบ่งที่เขาไม่สามารถก้าวข้ามไปหาเธอได้
ฉากปิคนิค สังเกตว่า
– Karuna สวมใส่แว่นดำ ปกปิดบังความรู้สึกตนเองไว้ภายใน
– Bimal Gupta ขอหยิบยืมบุหรี่ของ Amitabha Roy มาสนองความสุขตนเอง แต่ก็แค่ฮึดเดียวแล้วผลอยหลับ จนกระทั่งไฟมอดไหม้แล้วสะดุ้งตื่น
พูดถึงฉากปิคนิค มักทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Partie de campagne (1936) ของผู้กำกับ Jean Renoir ที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้ รวมไปถึง Aranyer Din Ratri (1970) ด้วยนะ
ช่วงเวลาเพียงเสี้ยวบุหรี่หมด Amitabha Roy ต้องตัดสินใจที่จะเลือกทำบางสิ่งอย่าง ปล่อยทุกอย่างไป หรือ…อะไร?
นัดหมายครั้งสุดท้ายที่สถานีรถไฟ Karuna ปากอ้างว่ามาขอคืนยานอนหลับ นั่นคือคำตอบของเธอว่าชีวิตมีความสุขอยู่กับสามีหรือเปล่า ซึ่งเอาจริงๆนั่นอาจไม่ใช่เหตุผลการมาครั้งนี้ก็เป็นได้ เพราะดูจากสีหน้าสายตาของเธอ คงอยากเรียกร้องให้อดีตคนรักทำอะไรบางอย่าง แต่มิสามารถเอื้อยเอ่อยพูดออกมาได้
ประเด็นคือ Amitabha Roy ก็ขลาดเขลาเบาปัญญา ไม่สามารถหาคำตอบให้กับตนเอง ค่อยๆม้วนตัวกลับมา ภาพเบลอๆหลุดโฟกัส จมปลักอยู่กับความสูญเสียทุกสิ่งอย่าง
ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Amitabha Roy ซึ่งรวมไปถึงการหวนระลึกนึกย้อนอดีต (Flashback) ถึงช่วงเวลาแห่งความสุข เมื่อครั้นได้ตกหลุมรัก Karuna
เพลงประกอบโดย Satyajit Ray, เริ่มต้นด้วยเสียงแซกโซโฟนแห่งความเหงา สร้างบรรยากาศตึงๆ อึมครึม สะท้อนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง รวดร้าวระทมทุกข์ของตัวละคร ซึ่งแม้ช่วงกลางเรื่องจะได้ยินเสียงเพลงจังหวะครึกครื้น สนุกสนาน แต่สีหน้าของพระเอกก็หาได้มีความอภิรมณ์เริงใจร่วมด้วยแม้แต่น้อย
มันอาจไม่ใช่แฟนเก่าที่ผู้กำกับ Satyajit Ray พานพบเจอ แล้วเกิดแรงบันดาลใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่น่าจะคือความขลาดเขลาของตัวละครที่สะท้อนถึงตัวตนเอง เพราะขณะนั้นกำลังคบชู้นอกใจภรรยา ใครๆต่างรับรู้ไปทั่ว (ยกเว้นภรรยา) เห็นว่าพยายามเกี้ยวพาราสี Madhabi Mukherjee ด้วยนะ แต่เหมือนว่าเธอไม่เล่นด้วย (แสดงออกมาแบบเดียวกับหนังเปี๊ยบ!)
คงเป็นช่วงเวลาที่ผู้กำกับ Ray กำลังเผชิญหน้าจิตสำนึกของตนเอง เพราะสิ่งที่กระทำอยู่ตรงกับข้ามกับอุดมการณ์ ความเชื่อมั่น รวมไปถึงผลงานภาพยนตร์รังสรรค์ นั่นย่อมไม่ใช่สิ่งดีงาม น่าเชื่อถือแน่ๆ ทั้งรู้ว่าต้องเลือกสักอย่าง แต่จะหนทางไหนละถึงก่อเกิดผลประโยชน์สูงสุด(ต่อตนเอง)
สรุปแล้ว Kapurush คือภาพยนตร์ที่ผู้กำกับ Ray สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง (ในช่วงขณะนั้น) เต็มไปด้วยความรวดร้าว ระทมทุกข์ เสียดสีประชนประชันตนเองถึงความขลาดเขลา เพราะยังไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจเลือกหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม เอาแต่กะล่อนปลิ้นปล่อย ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ เมื่อไหร่กันจะพร้อมเผชิญหน้าความผิดพลาดของตนเอง
ผู้กำกับ Ray ค่อนข้างทุ่มเทตั้งใจสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คาดหวังจะได้เสียงตอบรับดีแน่ๆเมื่อไปฉายเทศกาลหนังต่างประเทศ แต่ผลลัพท์กลับเงียบฉี่ เพราะถูกนำไปเปรียบเทียบ Kanchenjungha (1962) ซึ่งมีความแปลกใหม่กว่าด้านเทคนิค นั่นเลยกลายเป็นเรื่องน่าสูญเสียดายมากๆ เพราะคุณภาพของ Kapurush (1965) ผมว่ายอดเยี่ยมยิ่งกว่าด้วยซ้ำนะ และมักทำให้ถูกมองข้ามไปเพราะเป็นหนังควบฉายอีกต่างหาก
ส่วนตัวมีความชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆ แม้บรรยากาศจะตึงๆไปตลอดทั้งเรื่อง แต่นั่นคืออารมณ์ของคนที่เต็มไปด้วยความโหยหา อาลัยรัก ใครเคยพานผ่านความรู้สึกนี้ย่อมสัมผัสได้อย่างแน่นอน
เหตุผลจริงๆที่ผมค่อนข้างสนใจภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะในชีวิตจริงก็เคยเหมือนกัน พานพบเห็นอดีตคนรักแต่งงานมีครอบครัว ลูกวัยกำลังน่ารัก แต่ดูเหมือนมันจะเป็นความอิจฉาริษยามากกว่า ถึงอย่างนั้นเวลาพบเจอก็เข้าใจกันดี คงมีแต่เราเองที่มโนเพ้อภพ อยากหวนกลับไปประสบวันวานแห่งความสุขสำราญนั้นอีก
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศตึงๆ ครุ่นคิดตั้งใจจะกระทำสิ่งชั่วร้าย
Leave a Reply