Kes

Kes (1969) British : Ken Loach ♥♥♥♥

เด็กชายอายุ 15 ปี รูปร่างผอมกะหร่อง ทื่มทื่อ มาจากครอบครัวเหมืองจนๆ มักถูกกลั่นแกล้งสารพัดจากเพื่อนนักเรียน และตกเป็นเป้าโจมตีของครูจอมเผด็จการ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยสูญเสียคือจิตวิญญาณ เพ้อใฝ่ฝันโบยบินอิสระเสรีเหมือนเหยี่ยวเคสเตรล (Kestrel) จับมาฝึกฝนเลี้ยงดูแล ก่อนท้ายที่สุด…, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เหยี่ยวเคสเตรล (Common Kestrel) เป็นนกล่าเหยื่อในวงศ์เหยี่ยวปีกแหลม มีการกระจายพันธุ์กว้าง ทั้งในยุโรป, เอเชีย, แอฟริกา จุดสังเกต
– ตัวผู้ หัวสีเทา ลำตัวน้ำตาลแดงลายจุด ตะโพกและหางเทาปลายดำขอบขาว
– ตัวเมีย ส่วนหัวและลำตัวด้านล่างน้ำตาลแดง มีลายขีดดำเด่นชัดเจนกว่า (ภาพจากหนังที่นำมานี้ ชัดเลยว่าเป็นเพศเมีย)

เหยี่ยวเคสเตรลสามารถล่าเหยื่อได้หลากหลายประเภท กินทั้งแมลงไปจนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กจำพวกกบเขียด หนู และนกชนิดอื่น มักล่าจากบนพื้นดิน แต่หากเหยื่อมีขนาดเล็กก็มักใช้อุ้งตีนช่วฉีกกินเป็นอาหาร ชอบส่งเสียงร้อง ‘คลี-คลี-คลี’ บริเวณเกาะอังกฤษจะไม่พบเห็นเหยี่ยวสายพันธุ์อื่น เลยนิยมเรียกเฉยๆว่า Kestrel

Kes เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เพียงสะท้อนความโบราณคร่ำครึของสถาบันการศึกษา แต่ยังโลกทัศนคติชาวอังกฤษยุคสมัยนั้น(และอาจถึงปัจจุบันนี้) ยึดถือมั่นในกฎกรอบระเบียบเคร่งครัด อดีตคือมหาอำนาจโลกยิ่งใหญ่เกรียงไกร ปัจจุบันกลับตกต่ำลงเพราะคนรุ่นใหม่ วิพากย์วิจารณ์สังคม-การเมือง เสียดสีอย่างเมามันเจ็บแสบกระสันต์

ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของเด็กชายจากครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working-Class) มีเพื่อนสนิทหนึ่งเดียวเท่านั้นคือเหยี่ยวเคสเตรล ระหว่างกำลังเดินร่อนเร่ริมชายป่า บังเอิญพบเห็นรังจึงตัดสินใจเก็บมาเลี้ยงดูแล ฝึกฝนจนสามารถออกคำสั่งได้ แต่สุดท้าย ‘จิตวิญญาณ’ และความเพ้อฝันของเขากลับถูกพังทำลาย จากเงื้อมมือพี่ชาย คนในครอบครัวเดียวกันแท้ๆ

สิ่งยากยิ่งในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือสำเนียงพูด Yorkshire (คล้ายๆภาษาอีสานบ้านเรานะแหละ) ต่อให้สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่วก็ยังอาจมึนงุนงง (ถ้าหาซับไทยได้คงไม่มีปัญหา) นี่ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าสำเนียงนี้ มันสะท้อนพฤติกรรมนักเลง อันธพาล เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งจองหอง ช่างเข้ากับบริบทเรื่องราวในหนังโดยแท้


Kenneth Charles Loach (เกิดปี 1939) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Nuneaton, Warwickshire บรรพบุรุษเป็นคนงานเหมือง พ่อทำงานช่างไฟ ตัวเขาร่ำเรียนกฎหมายยัง St Peter’s College, Oxford จบออกมาสมัครทหารอากาศสังกัด Royal Air Force แต่กลับเลือกทำงานเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วยฝึกงานกำกับสถานีโทรทัศน์ BBC กำกับเรื่องแรก Catherine (1964) สูญหายไปแล้ว ผลงานเด่นๆช่วงนี้อาทิ Up the Junction (1965), Cathy Come Home (1966), In Two Minds (1967) ฯ หลงใหลประเด็นปัญหาสังคม สะท้อนความยากจน คนไร้บ้าน สิทธิ์แรงงาน จากนั้นมีโอกาสกำกับภาพยนตร์ Poor Cow (1967), Kes (1969), Riff-Raff (1991), The Navigators (2001), สามารถคว้ารางวัล Palme d’Or ได้ถึงสองครั้งจาก The Wind That Shakes the Barley (2006) และ I, Daniel Blake (2016)

แรกสุด Loach ให้ความสนใจนวนิยายเรื่อง The Blinder (1966) นักฟุตบอลพรสวรรค์ เพ้อใฝ่ฝันต้องการเป็นนักเล่นทีมชาติ แต่ผู้แต่ง Barry Hines กลับปฏิเสธขายลิขสิทธิ์ดัดแปลงให้ แต่กลับส่งมอบผลงานเรื่องถัดไปที่กำลังเขียนอยู่ A Kestrel for a Knave (1968) น่าสนใจไม่แพ้กันผู้กำกับเลยตอบตกลง

Melvin Barry Hines (1939 – 2016) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hoyland Common, South Yorkshire ปู่เป็นคนงานเหมืองถ่ายหิน ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในนั้น ตัวเขาสมัยเรียนมัธยม Ecclesfield Grammar School ชื่นชอบการเล่นฟุตบอล แต่ถูกไล่ออกเพราะเกรด 0 ถึงห้าวิชา ฝึกงานบริษัท National Coal Board ประจำเหมือง Rockingham Colliery ครั้งหนึ่งเพื่อนร่วมงานได้ถูกไล่ออกเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน นั่นทำให้ตัวเขาครุ่นคิดตระหนักขึ้นได้ หวนกลับไปโรงเรียนสอบใหม่ได้เกรด A ถึง 4 วิชา ศึกษาต่อ Loughborough College จบออกมาเป็นครูพละ จนกระทั่งลาออกมาเป็นนักเขียนบทละครวิทยุ/โทรทัศน์ และนวนิยายเต็มตัว

Barry Hines ไม่ได้หลงใหลในเหยี่ยวเคสเตรล แต่เป็นน้องชายของเขา Richard Hines จับมาตัวหนึ่งฝึกฝนจนเกิดความช่ำชำนาญ ชักชวนให้พี่ชายหัดเลี้ยงเองบ้าง เลยกลายมาเป็นที่มาที่ไป แรงบันดาลใจของตัวละคร Billy Casper (Richard ได้มาเป็นผู้ฝึกสอนเหยี่ยวเคสเตรลที่ใช้ถ่ายทำหนังด้วยนะ)

Hines ร่วมงานกับผู้กำกับ Loach และโปรดิวเซอร์/นักเขียน Tony Garnett ดัดแปลงนวนิยายสู่ภาพยนตร์ โดยเลือกพื้นหลัง Barnsley, South Yorkshire เป็นสถานที่ตั้งดำเนินเรื่อง

Billy Casper (รับบทโดย David Bradley) เป็นเด็กที่มักโดนกลั่นแกล้ง พูดจาดูถูก ปรามาสเหยียดหยามจากทุกๆคน
– ที่บ้านมีพี่ชาย Jud (รับบทโดย Freddie Fletcher) ทำงานเหมืองเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก ต้องการหาที่ระบายก็ลงกับน้องชาย
– ที่โรงเรียนก็มี MacDowell (รับบทโดย Robert Naylor) นักเลงหัวไม้ ไม่พึงพอใจอะไรก็ใช้กำลังตอบโต้
– ครูสอนพละ ครูใหญ่ ต่างจมปลักอยู่ในโลกทัศนคติความเชื่อของตนเอง เด็กสมัยนี้มันแย่ ชอบทำนิสัยไม่ดี แต่ไม่เคยพยายามครุ่นคิดทำความเข้าใจพวกเขา

กระทั่งว่า Billy มีโอกาสพบเห็นเหยี่ยวเคสเตรล เก็บมาเลี้ยงดูแล ฝึกฝนจนสามารถออกคำสั่งได้ นั่นทำให้ทั้งวันเขาแทบไม่สนอะไรอื่น เฝ้ารอคอยเวลาเลิกเรียนกลับไปหางานอดิเรกที่เขาหลงใหล แต่แล้ววันหนึ่งจากความผิดใจกับพี่ชาย ทำให้เขาต้องสูญเสียความหวัง คาดไม่ถึงว่าตนเองจะพบเจอบุคคลสารเลวไร้ซึ่งมนุษยธรรมขนาดนี้


ด้วยทุนสร้างจำกัด นักแสดงส่วนใหญ่จึงคือชาวเมือง Barnsley พูดสำเนียง Yorkshire ไม่เคยผ่านการแสดงใดๆมากก่อน (ยกเว้นเพียง Lynne Perrie รับบท Mrs. Casper เคยมีผลงานโทรทัศน์ประปราย)

David ‘Dai’ Bradley (เกิดปี 1953) เกิดที่ Stubbs, ใกล้ๆกับ Barnsley พ่อเป็นคนงานเหมือง ตนเองถูกคาดหวังให้ดำเนินรอยต่อแต่กลับปฏิเสธหัวชนฝา เข้าเรียนยัง St. Helen’s วันหนึ่งผู้กำกับ Loach มาคัดเลือกหานักแสดงที่โรงเรียน เจ้าตัวโชว์อ๊อฟเรียกร้องความสนใจจนได้รับบท Kes (1969) แจ้งเกิดโด่งดังเลยตัดสินใจเอาดีด้านนี้ มีโอกาสศึกษาต่อ Royal National Theatre แสดงละครเวที ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Malachi’s Cove (1973), Absolution (1978), All Quiet on the Western Front (1979), Zulu Dawn (1979) ฯ แต่ไม่นานก็รีไทร์ออกมากลายเป็นนักเขียนหนังสือเด็ก

ภาพลักษณ์ของ Billy Casper คือเด็กจนๆ ไม่มีแม้เงินซื้อชุดพละ รูปร่างผอมกะหร่องอ่อนแอ สวมเสื้อผ้าขาดหวิ่นเปลอะเปลื้อนโคลนเลน ทุกเช้าต้องทำงานเสริมส่งหนังสือพิมพ์ อาศัยอยู่กับแม่และพี่ชายทำงานเหมือง ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ

Billy ไม่เก่งทั้งเรียนและกีฬา มักมีสายตาวอกแวก อะไรไม่ใคร่สนใจก็สูญเสียสมาธิอย่างรวดเร็วไว วันๆเพ้อฝันจินตนาการอยู่กับการเลี้ยงดูเหยี่ยวเคสเตรล นั่นคืองานอดิเรกแสดงถึงความสามารถสุดพิเศษ แต่น้อยคนจะตระหนักรับรู้สนใจ

Bradley ถูกเรียกตัวโดยสองพี่น้อง Hines ให้ไปหัดฝึกเหยี่ยวเคสเตรล จับมาจากธรรมชาติทั้งหมด 3 ตัว ตั้งชื่อว่า Freeman, Hardy และ Willis น่าเสียดายตัวหลังสุดฝึกไม่ได้เลยต้องปล่อยคืนป่าไป ซึ่งเขาจับคู่กับเหยี่ยวเพศเมีย Hardy จนกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม (ไม่รู้เหมือนกันว่าถ่ายหนังเสร็จแล้วนำปล่อยป่า หรือกลายเป็นเหยี่ยวเลี้ยงของ Bradley)

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Loach มักให้อิสระเต็มที่ในการครุ่นคิดบทพูดคุยสนทนา และตัวเขาชื่นชอบการสร้างเซอร์ไพรส์ บันทึกปฏิกิริยาสีหน้าจริงๆของนักแสดง อาทิ ครูใหญ่ตีนักเรียนจริงๆ (มีการจ่ายโบนัสให้เด็กๆที่โดนตีแบบไม่รู้ตัว 50 Pence), กำลังวิ่งอยู่มีหมาไล่เห่า, ไฮไลท์คือตอนจบ ล่อหลอกว่าตนเองเข่นฆ่า Hardy (จริงๆคือเอาศพนกตายจากธรรมชาติ มาหลอกนักแสดงให้ครุ่นคิดไปไกล)

ด้วยเหตุนี้ทำให้การแสดงของ Bradley มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก กอปรเข้ากับรูปลักษณ์หน้าตาเหมือนเด็กจนๆ คนไม่เอาอ่าว แต่ลึกๆภายในกลับเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์สุดพิเศษ ไม่กี่คนเท่านั้นจักสามารถรับรู้เข้าใจ

เล่าถึงความประทับใจในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าทุกคนคือครอบครัวขนาดใหญ่ วันๆใช้เวลาเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆร่วมรุ่น ทั้งๆบางคนเรียนโรงเรียนเดียวกันกลับเพิ่งมามีโอกาสรู้จัก, ชอบน้อยสุดคือฉากฟุตบอลถ่ายทำสองวัน เพราะต้องเปลอะเปลื้อน เลอะโคลน แถมกางเกงโหลมโครกหลุดบ่อย อากาศหนาวเหน็บอีกต่างหาก!


ถ่ายภาพโดย Chris Menges (เกิดปี 1940) ตากล้องยอดฝีมือ สัญชาติอังกฤษ หลังจากเป็นผู้ควบคุมกล้อง Camera Operator เรื่อง Poor Cow (1967) เลื่อนขั้นมาเป็นตากล้องถ่ายภาพ Kes (1969) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Killing Fields (1984), The Mission (1986), Michael Collins (1966), The Reader (2008) ฯ

งานภาพของหนังมุ่งเน้นการใช้โทนสีน้ำเงิน สร้างสัมผัสอันเยือกเย็น แห้งแล้ง สะท้อนความทุกข์ยากลำบากของชีวิต(และตัวละคร) ในโลกเต็มไปด้วยความโหดร้าย คอรัปชั่น ผู้คนเห็นแก่ตัว ชื่นชอบกดขี่ข่มเหงบุคคลอ่อนด้อยกว่าตน

ช็อตแรกของหนัง Billy นอนเตียงเดียวกับพี่ชาย Jed ดูเหมือนว่าพวกเขาจะสนิทสนมรักใคร่กันดี แต่ไปๆมาๆช่วงท้ายกลับโกรธเกลียดเคียดแค้น คาดว่่าคงไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมชายคาได้อีก, ว่าไปการเริ่มต้นหนังด้วยความมืดมิด แม้จะคือห้องนอนแต่ราวกับว่าคือ ‘The Pit’ ใต้เหมืองแร่ สถานที่อันตกต่ำต้อย เต็มไปด้วยอันตราย แต่ต้องทำงานเพื่อเงินและความอยู่รอด

เรื่องราวของหนังสะท้อนจุดตกต่ำของธุรกิจเหมืองถ่านหิน อดีตเคยได้รับความนิยมอย่างสูง ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้คนงานเลยโดนกดค่าแรงลงต่ำ ซึ่งเหมืองใน Yorkshire ว่ากันว่าค่าจ้างถูกสุดในประเทศขณะนั้น

ช่วงอารัมบทของหนัง ได้ทำการร้อยเรียงภาพชุมชนเมืองเหมือง Barnsley เห็นลิบๆประดับพื้นหลัง ประกอบการวิ่งของเด็กชาย ขณะส่งหนังสือพิมพ์ และนั่งอ่านการ์ตูนช็อตนี้ (ว่าไปคล้ายๆ The 400 Blows เริ่มต้นด้วยการร้อยเรียงภาพกรุงปารีส โดยมีหอไอเฟลเป็นจุดศูนย์กลาง)

ช็อตลักษณะนี้ทำให้ผมอ้าปากค้างแทบทุกทีเลยนะ เป็นการนำเสนอ Micro เพื่อสะท้อน Macro เรื่องราวเล็กๆของเด็กชายฝึกเหยี่ยว สามารถสะท้อนได้กับโลกกว้าง สถาบันการศึกษา และประเทศอังกฤษ
– เด็กสอนเหยี่ยว
– ครูสอนหนังสือ
– ผู้นำปกครองบ้านเมือง

หนังเต็มไปด้วย Tracking Shot สวยๆมากมาย แพนนิ่งติดตามตัวละคร โดยเฉพาะเหยี่ยวขณะโผบิน นี่เป็นสิ่งต้องอาศัยการสังเกต จังหวะ และไหวพริบของตากล้อง เพราะเป็นสิ่งมิสามารถคาดเดาเวลา ความรวดเร็ว และทำอย่างไรไม่ให้หลุดโฟกัสกึ่งกลางภาพ

เหยี่ยวตัวนี้ มองได้คือสัญลักษณ์ของ ‘จิตวิญญาณ’ หรือความเพ้อใฝ่ฝันของเด็กชาย ครั้งหนึ่งเคยพูดว่า หลงใหลในอิสรภาพโบยบิน อยากที่จะมีปีกไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง การได้ฝึกหัดเลี้ยงดู Kes ราวกับทำให้เสี้ยวเศษหนึ่งของหัวใจ ได้รับการปลดปล่อยสู่โลกกว้าง

ด้วยเหตุนี้เมื่อถูกเข่นฆ่าทำลาย ก็เท่ากับความฝันสูญสลาย หมดสิ้นอนาคตดำเนินไป ซึ่งผู้กระทำกลับคือพี่ชายคนในครอบครัว (ประมาณว่า ประเทศอังกฤษถ้าจะล่มสลายก็สาเหตุผลจากภายในนี่แหละ!)

ฟุตบอล, เชื่อว่าผู้ชมสมัยนี้คงรู้สึก ‘Nostalgia’ คุ้นเคยกับ แมนยูฯ สเปอร์ส บ็อบบี้ ชาร์ลตัน แต่ทั้ง Sequence นำเสนอผู้ใหญ่ที่โคตรเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ วางอำนาจบาดใหญ่ โลกทั้งใบต้องหมุนรอบฉันเพื่อชัยชนะ ไร้ซึ่งน้ำใจนักกีฬา บุคคล/นักเรียนใต้บังคับบัญชา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งตนห้ามเป็นอื่น

นี่เป็นฉากที่สะท้อนเสียดสี ล้อเลียนชนชั้นผู้นำของประเทศอังกฤษยุคสมัยนั้นอย่างเต็มๆ (ปัจจุบัน/ไม่ว่ายุคสมัยไหนคงไม่แตกต่าง) ปากอ้างว่าได้รับการคัดเลือกจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง เลยมีสิทธิ์อันชอบธรรมในความเห็นแก่ตัว ทำทุกสิ่งอย่างเผื่อผลประโยชน์ (ส่วนตน) ผิดกติกาก็ช่างเพราะฉันคือกรรมการตัดสิน ผู้ถือครองออกกฎทุกสิ่งอย่าง … ใครหน้าไหนจะกล้าหือหา

การที่ Billy Casper ถูกบีบบังคับให้สวมใส่กางเกงโคร่งๆ ไม่เหมาะสมกับขนาดตัว นี่เป็นการเหมารวมโดยไม่ใคร่สนใจว่า ใครเหมาะสมกับอะไร สวมใส่แล้วจะลำบากยากเข็นประการใด แค่ว่าฉันออกกฎนายต้องปฏิบัติตาม … นี่มันเผด็จการ ไม่ใช่โลกเสรีแล้วนะ

Billy ไม่ได้อยากเป็นจุดเด่น แต่แทบทุกครั้งเขาคือจุดเด่น เต็มไปด้วยความเชื่องช้า จิตใจล่องลอยไปไกล พอตระหนักรับรู้ตัวได้ ก็เผลอเรอยืนเอ๋อเหรอ ถูกเรียกตัวเข้าห้องปกครอง ทั้งๆก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถูกแวดล้อมด้วยบุคคลที่มองเขาเป็นตัวประหลาด ปฏิเสธทำความเข้าใจแกะดำ รับไม่ได้กับความนอกคอยแตกต่าง … สังคมอังกฤษก็เป็นแบบนี้แหละ

ครูใหญ่ผู้ไม่พยายามครุ่นคิดทำความเข้าใจเด็กรุ่นใหม่ ยังคงอ้างนี่โน่นนั่น ยึดถือมั่น จมปลักอยู่กับโลกทัศนคติโบร่ำโบราณ ใช้ไม้เรียว ความรุนแรง ในการแก้ปัญหา ทั้งรู้ว่าคงไม่ได้ผลแต่ก็ยังฝืนรั้นต่อไป ใครกันแน่สมควรถูกด่า ช่างมาก บ้าความ กระหายอำนาจ … กลายเป็นครูใหญ่ได้ยังไงละเนี่ย

นี่เช่นกันเป็นการวิพากย์วิจารณ์ สะท้อนโลกทัศนคติผู้นำประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะฝั่งอนุรักษ์นิยมหัวโบราณคร่ำครึ ไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่พยายามครุ่นคิดถึงหัวอกคนอื่น ทุกสิ่งอย่างต้องสนองตามครรลองที่ฉันรับรู้มา นอกเหนือจากนั้นคือความชั่วเลวร้าย

การชกต่อยระหว่าง Billy กับ MacDowell เกิดขึ้นตรงกองถ่านหิน สัญลักษณ์ของสิ่งมาจากดิน ใต้ผืนพิภพ อยู่ตกต่ำ ถือว่าสะท้อนความชั่วร้ายของการกระทำ หาใช่สิ่งน่ายกย่องสรรเสริญเลยแม้แต่น้อย ถึงกระนั้นฝูงไทมุงก็ห้อมล้อมกรูกันเข้ามา จนครูคนหนึ่งต้องเข้ามาห้ามแล้วย้อนแย้งผลักไสจนหลังชนฝา ชอบนักเหรอการกลั่นแกล้ง ‘Bully’ โดนเข้ากับตนเองบ้างจะได้รู้จักสาสมควร

ความน่าสนใจของครูคนนี้ สอนนักเรียกให้ตั้งคำถามระหว่าง ‘Fact and Fiction’ ความจริง vs เรื่องแต่ง แล้วยังไต่ซักถามจนเกิดความลุ่มหลงใหลในตัว Billy รับรู้สิ่งที่เด็กคนนี้ทำ เดินทางไปเยี่ยมบ้าน พบเห็นความน่าอัศจรรย์ … แต่ก็แค่นั้น มิได้สานต่อยอดไปใช้ทำอะไรได้

นี่ภาพวาดอะไรของใครก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ราวกับ Mona Lisa จับจ้องมองเด็กชายด้วยความละเหี่ยใจ สิ่งที่เขาต้องทำตอนนี้คือพบหาครูแนะนำค้นหางาน แต่ท่าทาง สายตา จิตใจกลับวอกแวกล่องลอย กำลังครุ่นคิดถึง Kes หวังว่าคงไม่เกิดอะไรเลวๆร้ายๆขึ้นหรอกนะ!

อาจมีหลายคนครุ่นคิดว่า ไหนๆ Billy ก็สามารถเลี้ยงดูแลเหยี่ยวเคสเตรล อาชีพที่เหมาะสมกับเขาคงเป็นพนักงานสวนสัตว์ สัตวแพทย์ ฯ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสาระของหนังและฉากนี้ สิ่งสำคัญสุดในหัวสมองเด็กชายขณะนี้คือรีบกลับบ้าน จินตนาการถึงพี่ชายอาจกระทำรุนแรงต่อ Kes อาจทำให้โลกทั้งใบของเขาอาจพังทลายลงเลย

อีกอย่างตามคำบอกเล่าของผู้กำกับ สังคมอังกฤษไม่ค่อยยินยอมรับคนชนชั้นล่าง ถ้าอยู่ดีๆค้นพบว่ามีความสามารถพิเศษอันน่าทึ่ง ก็เท่ากับเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า (สะท้อนความเย่อหยิ่ง ทะนงตนในชนชั้นของตนเอง!)

ตัดต่อโดย Roy Watts, ต้นฉบับนวนิยาย ดำเนินเรื่องในระยะเวลาหนึ่งวันเช้าจรดเย็น แล้วใช้การเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) เพื่อหวนระลึก ทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านมา แต่หนังนำเสนอเรื่องราวดำเนินไปข้างหน้า ผ่านมุมมองสายตาของ Billy Casper และมีแทรกเข้ามาประปรายเรื่องราวของพี่ชาย Jud 

คุ้นๆว่ามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่หนังเล่าเรื่องแบบย้อนอดีต (Flashback) ตอนที่ครูใหญ่นัดรวมพล แล้ว Billy มัวเหม่อลอยครุ่นคริดถึงเหยี่ยว ชักช้าลืมนั่งพลันให้โดนลงโทษไม้เรียว

ผลงานก่อนหน้านี้ของ Loach เลื่องลือชาในลีลาการตัดต่อ โดดเด่นทั้ง Jump Cut, เล่าเรื่องแบบ Non-Linear แต่ครานี้กลับนำเสนอให้ออกมาดูธรรมชาติมากสุด แต่ก็มีหลายจังหวะร้อยเรียงภาพการเดิน วิ่ง เที่ยวเล่นตามชายป่า สายตาจับจ้องมองอะไรอย่างอื่น กล่าวคือให้เวลาผู้ชมได้ซึมซับรับบรรยากาศ ราวกับถูกดึงดูดเข้าไปในหนัง

นี่ทำให้หลายๆ Sequence มีความยาวค่อนข้างมาก (จนขาดความสมดุล) อาทิ ฉากเตะฟุตบอลเกือบๆครึ่งโมงได้กระมัง, ครูใหญ่เทศน์น่าจะเกินสิบนาที, และตอน Billy เล่าเรื่องฝึกเหยี่ยวหน้าชั้น ทุกสายตาจับจ้องมุ่งมั่น ราวกับทุกคนต่างถูกดูดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการเพ้อฝันของเด็กชายเลยละ!


เพลงประกอบโดย John Cameron (เกิดปี 1944) นักแต่งเพลงสัญชาติอังกฤษ ผู้มีผลงานหลากหลายทั้งภาพยนตร์ ละครเวที เรียบเรียงและแต่งเพลงขับร้องทั่วไป ผลงานเด่นๆ อาทิ Kes (1969), A Touch of Class (1973) ฯ

เสียงขลุ่ยไม่เพียงสะท้อนวัยเยาว์ของเด็กชาย แต่คือสัมผัสของธรรมชาติ เหยี่ยวโบยบินอิสระเสรี สะท้อนความเพ้อใฝ่ฝัน มุ่งมั่น ตั้งใจ บางสิ่งอย่างภายนอกดูอ่อนแอเปราะบาง แต่ข้างในกลับเข้มแข็งแกร่ง ไม่มีสิ่งใดสามารถบั่นทอนทำลายลงได้

ครั้งแรกที่ Billy พบเห็น Kes บนหอคอยสูง จิตวิญญาณของเขาราวกับได้โผลบินล่องลอยติดตามสู่โลกกว้าง อิสรภาพที่เฝ้ารอคแยโหยหา มันมีหน้าตาลักษณะนี้เองสินะ!

งานเพลงของ Cameron มีสัมผัสที่นุ่มนวล ฟังสบาย ผ่อนคลายอย่างมาก ราวกับจิตวิญญาณล่องลอยออกไป จินตนาการเห็นทุ่งหญ้าเขียวขจี ลมพัดใบหญ้าไหวปลิว สร้าง ‘Impression’ ให้กับหนังอย่างตราตรึง

An Eagle for an Emperor, a Gyrfalcon for a King;
a Peregrine for a Prince, a Saker for a Knight, a Merlin for a Lady;
a Goshawk for a Yeoman, a Sparrowhawk for a Priest,
a Musket for a Holy water Clerk, a Kestrel for a Knave.

– จากหนังสือ The Boke of St Albans (1486) กลายเป็นคำเกริ่นของนวนิยาย  A Kestrel for a Knave (1968)

คำว่า Knave แปลว่า คนพาล, ขี้โกง, ไม่ซื่อสัตย์ นั่นทำให้สำนวน Kestrel for a Knave เป็นการเปรียบเทียบเหยี่ยวเคสเตรล เหมาะกับบุคคลไม่อ่าว พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่

สหราชอาณาจักร, ประเทศอังกฤษ ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ยึดถือมั่นต่อรูปแบบวิถีการดำรงชีวิตดั้งเดิม ไม่ชอบการปรับเปลี่ยนแปลง เชื่องชักช้ากับโลกยุคสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้แม้คือฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กลับถดถอยลงจากหลังสามเสือ ปล่อยให้สหรัฐอเมริกาต่อสู้รบสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต แย่งชิงความเป็นประเทศมหาอำนาจ จ้าวโลก

เหมืองถ่านหิน เป็นกิจการที่สะท้อนตัวตน/จิตวิญญาณชาวอังกฤษได้อย่างดี เพราะคือประเทศแรกของโลกในยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ขุดเจาะนำมาใช้ ยึดถือมั่นว่าเป็นทรัพยากรสุดยิ่งใหญ่ไม่มีวันหมดไป การมาถึงของน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ พลังงานทดแทน ได้บ่อนทำลายทิฐิมานะนั้นลง และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็ถึงคราวิบัติล่มสลาย หลายๆเหมืองถูกควบซื้อกิจการโดยบริษัทค้าน้ำมัน ล็อบบี้เลิกจ้างคนงาน เพื่อไม่ให้กลายเป็นคู่แข่งด้านเชื้อเพลิง

Billy Casper คือเด็กชายชาวอังกฤษที่ชีวิตราวกับจมปลักอยู่ใต้หลุมเหมือง แต่นั่นหาใช่ความสมัครใจของเขาแม้แต่น้อย ประหนึ่งถูกผลักไสถีบส่งย่ำจมมิดดินจากทุกผู้คนรอบข้าง แพะรับบาป แกะดำ ใครคนหนึ่งที่ฉันสามารถกลั่นแกล้ง ‘Bully’ กระทำรุนแรง ระบายความคับคั่ง เหน็ดเหนื่อยอัดอั้นในชีวิตออกมา

แต่ต่อให้โลกโหดเหี้ยมเลวร้ายแค่ไหนสำหรับ Billy เขากลับไม่เคยท้อแท้หมดสิ้นหวัง เพราะความเพ้อใฝ่ฝันทำให้ทุกวันตั้งหน้าตั้งตา เฝ้ารอคอยเวลากลับบ้านไปหาจิตวิญญาณของตนเอง เชยชมความสง่างาม ปลดปล่อยมันให้โบยบินอิสรเสรี ไร้พันธการใดๆเหนี่ยวรั้งยึดติด นั่นคือจินตนาการ โลกทั้งใบของเขา!

ความเพ้อฝันของ Billy คืออิสระภาพที่ไม่ถูกกำหนดกฎกรอบตามขนบวิถีของสังคม กดขี่ข่มเหง ใช้ความรุนแรง พูดจาตำหนิต่อว่า โลกกว้างสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ จะมีไหมยุคสมัยนั้นของประเทศอังกฤษ … ก็คงได้แต่เพ้อฝันจินตนาการ

ผู้กำกับ Loach เคยให้สัมภาษณ์รู้สึกผิดหวังในตนเองเล็กๆ ที่ไม่ได้นำเสนอเรื่องราว/มุมมองของพี่ชาย Jud ให้เห็นการทำงานอย่างหนักในเหมืองแร่มากกว่านี้ เพราะแค่ที่มีพบเห็นเพียงความรุนแรง ป่าเถื่อน ทำลายของรักของหวงของน้อง แล้วความสุขของฉันที่ต้องสูญเสียไปละ ไม่น่าคับข้องขุ่นเคืองยิ่งกว่าหรอกหรือ!

วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีถือเป็นสิ่งดีงาม ธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ชาติพงศ์พันธุ์ แต่บางสิ่งอย่างที่โบราณล้าหลัง ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย ใช่ว่าสมควรปรับเปลี่ยนแปลง หาจุดร่วมที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถก้าวเดินไปด้วยกันหรอกหรือ? เพราะถ้าเรามัวแต่เชื่องช้าเฉื่อยชาเหมือนเต่า จนชาติอื่นๆขี่จรวดวิ่งแซงหน้าไปไกลแล้วค่อยตระหนักระลึกได้ เมื่อไหร่จักสามารถเท่าเทียบทัน เอาตัวรอดจากหายนะถ้ามันบังเกิดขึ้นซ้ำเล่า

ปลดปล่อยคืนธรรมชาติไปบ้างก็ได้สำหรับผู้มากด้วยทิฐิมานะ ยึดถือมั่นในอคติธรรม ความเห็นแก่ตัว ก็เหมือนการถูกกลั่นแกล้งเล่นหัวแล้วสักวันโดนย้อนแย้งกลับ กรรมสนองกรรม เมื่อนั้นกระมังใครๆถึงสามารถครุ่นคิดได้ หาใช่สิ่งอภิรมณ์เริงใจเลยสักนิด มีแต่พวกเห็นผิดที่นิยมกระทำกัน!


หนังใช้ทุนสร้างเพียง £157,000 ปอนด์ แม้ไม่มีรายงานรายรับ แต่กระแสปากต่อปากทำให้ได้กำไรคืนมานิดหน่อย น่าเสียดายไร้โอกาสฉายวงกว้างในสหรัฐอเมริกา เพราะโปรดิวเซอร์มองว่า คงไม่มีชาวอเมริกันฟังสำเนียง Yorkshire ออกแน่ … ประมาณว่า พูด Hungarian ยังรู้เรื่องมากกว่า!

เข้าชิง BAFTA Award 5 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Film พ่ายให้กับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969)
– Best Director
– Best Supporting Actor (Colin Welland) ** คว้ารางวัล
– Most Promising Newcomer (David Bradley) ** คว้ารางวัล
– Best Screenplay

ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ตราตรึงกับทุกการฝึกเหยี่ยวเคสเตรล ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีพลังดึงดูดอะไร ให้ความรู้สึกว่าเป็นสัตว์ที่ สง่างาม น่าเกรงขาม สมกับการเป็นจักรพรรดิแห่งน่านฟ้า

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เรื่องราวของเด็กชายและเหยี่ยวเคสเตรล ให้ข้อคิดดีๆถึงความทุ่มเทพยายาม ค้นพบตัวเองแล้วก้าวดำเนินไป เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ไม่ย่อท้อแท้แม้ใครอื่นจะต่อว่าอย่างไร

สำหรับผู้ใหญ่ ครุ่นคิดตระหนักให้ได้ถึงพฤติกรรมความเห็นแก่ตัว หัวโบราณคร่ำครึ เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง มันหาใช่เรื่องน่าอภิรมณ์เริงใจเลยมิใช่หรือ แต่ทำไมใครๆถึงยังแสดงออกเช่นนั้นกันอยู่

จัดเรต 13+ กับความเห็นแก่ตัว หัวโบราณคร่ำครึ และการกลั่นแกล้งผู้อื่น

คำโปรย | จิตวิญญาณของ Kes ช่างมีความสง่างาม น่าเกรงขาม มองจากฟากฟ้านภา พบเห็นภาพรวมของสังคมที่ไม่น่าอภิรมณ์เริงใจเลยสักนิด
คุณภาพ | ง่น่
ส่วนตัว | ชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: