Ride Your Wave (2019) : Masaaki Yuasa ♥♥♥♡
จากเรื่องราวโรแมนติกหวานแหวว แปรสภาพสู่จิตวิเคราะห์เพื่อปรับตัวเข้ากับการสูญเสีย ทำอย่างไรถึงก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้าย ลุกขึ้นมาตอบโต้คลื่นชีวิตได้ด้วยตนเอง แม้ไม่มีเธอเคียงข้าง แต่จักคงอยู่ในใจไม่เหินห่าง
เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับ Masaaki Yuasa สร้างความประหลาดใจ/คาดไม่ถึงให้ผู้ชม ด้วยการสร้างอนิเมะแนวโรแมนติกหวานแหวว เหมือนภาพยนตร์ธรรมดาทั่วๆไป ไม่ได้ใส่ลีลาจัดจ้าน ลายเส้นฉูดฉาด เรื่องราวแฝงปรัชญาลึกล้ำ หรือซ่อนเร้นนัยยะเชิงนามธรรมให้วิเคราะห์ตีความจนหัวแทบระเบิด
แม้พล็อตเรื่องแทบไม่มีอะไรแปลกใหม่ Ride Your Wave ก็มิใช่หนังรักโรแมนติกดาษดื่น แต่เต็มไปด้วยข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต การปรับตัว ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาโศกนาฏกรรม อีกทั้งยังซ่อนเร้นนัยยะเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่สลับซับซ้อนมากนัก แค่พอก้อมแก้มให้แฟนๆได้ขบครุ่นคิดไขปริศนา
จริงอยู่คุณภาพโดยรวมอาจลดลงบ้างเมื่อเทียบกับผลงานเก่าๆอย่าง Mind Game (2004) หรือ Night is Short, Walk on Girl (2017) แต่ก็มีหลายๆ Sequence ที่ผมรู้สึกว่างดงามตราตรึง คิดสร้างสรรค์ได้อย่างลุ่มลึกซึ้ง ขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคล ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้
Masaaki Yuasa (เกิดปี 1965) ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka ค้นพบความชื่นชอบวาดภาพตั้งแต่เรียนอนุบาล คลั่งไคล้หลงใหล Mazinger Z (1972-74) และ Space Battleship Yamato (1974-75) ตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Kyushu Sangyo University คณะศิลปศาสตร์ สาขาสีน้ำมัน มีโอกาสรับชมหลายๆผลงานที่กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ อาทิ Yellow Submarine (1968), Lupin III: The Castle of Cagliostro (1979), The King and the Mockingbird (1980), The Fox and the Hound (1981) ฯ
“I get inspired with a lot of things I see, hear, smell, and touch in everyday life… I often derive inspiration even from really modest visuals; a commercial, a cut from a movie, a movement from an anime as well as nameless flowers and grasses blooming on the road, clouds, stars, and moons in the sky.
I’m also inspired with what I’m currently interested in and feeling. My humble wish for creating anime is to have common images, conversations, and scenes sublimed into art works.”
Masaaki Yuasa
หลังเรียนจบเริ่มต้นทำงานเป็น In-Between สตูดิโอ Ajia-do แม้ไม่ใช่คนมีพรสวรรค์ด้านการวาด แต่เก็บงานละเอียด รวดเร็ว แทบไร้ข้อบกพร่อง เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ร่วมงานจนได้มาเป็น Key Animation ซีรีย์ Chibi Maruko-chan (1990-92), มีชื่อเสียงจากออกแบบสรรค์สร้างสองบทเพลงใน Chibi Maruko-chan: My Favorite Song (1992), จากนั้นก้าวขึ้นมาเป็นนักวาด Storyboard, กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) ซีรีย์ Crayon Shin-chan (1992-), กระทั่งได้รับโอกาสเขียนบท กำกับตอนที่ 3 ของ OVA เรื่อง Anime Rakugo Kan (1992) เลยค้นพบเป้าหมายที่อยากทำ คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ ค่อยๆเก็บสะสมประสบการณ์จนสามารถแจ้งเกิดกับ Mind Game (2004) แล้วหันไปสร้างอนิเมะซีรีย์ในสังกัด Madhouse อาทิ Kemonozume (2006), Kaiba (2008), The Tatami Galaxy (2010)
แต่เมื่อปี ค.ศ. 2010 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในสตูดิโอ Madhouse จากการลาออกของผู้ร่วมก่อตั้ง/หัวหน้าฝ่ายงานสร้างสรรค์ Masao Maruyama (บุคคลที่ชักชวน Masaaki Yuasa ให้มาทำงานในสังกัด Madhouse) ทำให้ Yuasa ตัดสินใจยุติสัญญา ลาออกมาเพื่อเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่เช่นกัน ทดลองโปรเจค Crowdfunding หาทุนสนับสนุนจาก Kickstarter ได้เงินกว่า $200,000+ เหรียญ สำหรับสร้างอนิเมะขนาดสั้น Kick-Heart (2013), หลังจากนั้นร่วมกับ Eunyoung Choi ก่อตั้งสตูดิโอ Science SARU (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Science Monkey) รวบรวมทีมงานที่กระจัดกระจายจาก Madhouse มาสร้างบ้านหลังใหม่ (Production House) ด้วยกัน มีผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่น Lu over the Wall (2017), Night is Short, Walk on Girl (2017)
ช่วงระหว่างใกล้เสร็จสิ้นโปรดักชั่นซีรีย์ Devilman crybaby (2018) ถีงเวลาต้องเริ่มมองหาโปรเจคถัดไป ประชุมทีมงานบอกอยากสรรค์สร้างเรื่องราวรักโรแมนติกที่มีบรรยากาศเบาสบาย พักผ่อนคลาย [Devilman crybaby เป็นซีรีย์ที่ใครรับชมแล้วคงปวดหัวปวดหัว ปวดเมื่อยทั้งร่างกาย] ซี่งแนวคิดที่สร้างความสนใจให้ผู้กำกับ Yuasa ก็คือ ‘love story with an out-of-this-world person’ เรื่องราวความรักกับบุคคลที่ไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว
“From the concept, ‘love story with an out-of-this-world person,’ we came up with two incompatible characters, like fire and water. From there, we decided to have a surfer and a firefighter as protagonists to develop the characters and settings. To have the firefighter guy save a girl caught in a fire is a great way to start a romantic comedy”.
Masaaki Yuasa
มอบหมายหน้าที่พัฒนาบทอนิเมะให้นักเขียนขาประจำ Reiko Yoshida (เกิดปี 1967) นักเขียนมังงะ บทอนิเมะ/ภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima สำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรม Hosei University เริ่มโด่งดังจากการดัดแปลงบท The Cat Returns (2002) ให้กับสตูดิโอ Ghibli, ผลงานเด่นๆมักเป็นอนิเมะแนว Healing ดูสบายๆพร้อมสาระข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต อาทิ Aria the Animation (2005), K-On! (2009-10), Bakuman (2010-13), Girls und Panzer (2012-13), Non Non Biyori (2013, 15, 21), A Silent Voice (2016), Liz and the Blue Bird (2018), Violet Evergarden (2018) ฯ ร่วมงานผู้กำกับ Yuasa มาตั้งแต่ Lu over the Wall (2017) และ Night is Short, Walk on Girl (2017)
เรื่องราวของ Hinako Mukaimizu หญิงสาวอายุ 19 ปี ย้ายมาอาศัยอยู่เมืองริมทะเลแห่งหนี่ง เพื่อเข้าศีกษาต่อในมหาวิทยาลัยและใช้เวลาว่างไปกับการโต้คลื่น (Surfing) งานอดิเรกที่ชื่นชอบโปรดปรานมาตั้งแต่เด็ก วันหนี่งเมื่ออพาร์ทเมนท์ของเธอเกิดเหตุไฟไหม้จากการละเล่นดอกไม้ไฟผิดกฎหมาย ได้รับการช่วยเหลือจาก Minato Hinageshi นักผจญเพลิงอายุ 21 ปี โดยไม่รู้ตัวทั้งคู่มีโอกาสสานสัมพันธ์ ตกหลุมรัก วางแผนปักหลักอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่โชคชะตาพลัดพราก Minato จากการจมน้ำเสียชีวิตระหว่างพยายามช่วยเหลือคนอื่น สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้ Hinako เป็นอย่างมาก
แต่แล้ววันหนึ่ง Hinako ก็พบว่าเมื่อตนเองขับร้องเพลง Brand New Story (เพลงโปรดของพวกเขา) ภาพของ Minato จะปรากฎตัวขี้นในสายน้ำทุกครั้งไป แถมสามารถพูดคุยสนทนา มีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับ แม้คนอื่นไม่อาจพบเห็น แต่ก็เป็นความสุขที่ทำให้ตนเองไม่ต้องจมปลักอยู่กับความทุกข์เศร้าโศก แต่ภายหลังก็ค่อยๆตระหนักรู้ว่า การยังยีดเหนี่ยวรั้งชายคนรักไว้แบบนี้ มิอาจทำให้เขาไปสู่สุคติ พยายามค้นหาหนทางชีวิต เป้าหมายความใฝ่ฝัน เมื่อไหร่สามารถลุกขี้นยืนหยัดด้วยตนเองได้สำเร็จ ก็คงถีงวันที่ต้องร่ำลาจากอย่างแท้จริง
Rina Kawaei (เกิดปี 1995, ที่ Kanagawa) นักร้อง นักแสดง อดีตสมาชิกวง AKB48 รุ่นที่ 11 เข้าร่วมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 และตัดสินใจจบการศึกษาช่วงกลางปี 2015 จากนั้นมีผลงานแสดงซีรีย์ ภาพยนตร์ ให้เสียงอนิเมะ ผลงานเด่นๆ อาทิ Death Note: Light Up the New World (2016), The House Where the Mermaid Sleeps (2018) ฯ
ให้เสียง Hinako Mukaimizu หญิงสาวอายุ 19 ปี มีความน่ารักสดใส เวลาชื่นชอบอะไรก็พุ่งทะยานสุดตัวโดยไม่สนสิ่งอื่นๆรอบข้าง ทั้งการโต้คลื่น และตกหลุมรัก Minato นั่นทำให้เมื่อต้องสูญเสียเขาไป มิอาจปลดปล่อยวางจากความทุกข์เศร้าโศก พบเห็นแม้เพียงหยดน้ำก็แทบร่ำไห้หวนคิดถึง
เกร็ด: Mukaimizu เป็นส่วนผสมของ Mukai=yonder, facing, beyond, confront, defy, tend toward, approach และ mizu =water
มันอาจเป็นแฟนตาซี หรือภาพหลอนบังเกิดขึ้นขณะขับร้องเพลง Brand New Story ทำให้ Hinako มีโอกาสพบเห็น Minato ปรากฎตัวขึ้นในสายน้ำ แม้มิอาจกอดจูบลูบไล้ แต่แค่การสนทนาและมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับ ก็ค่อยๆทำให้เธอผ่อนคลายจากความทุกข์เศร้าโศก เริ่มกลับมาหัวเราะยิ้มได้ ไม่ใคร่สนใจคนรอบข้างจะครุ่นคิดเห็นเป็นคนบ้าหรืออย่างไร
แต่ถึงอย่างไรเธอก็ค่อยๆรับรู้และเข้าใจ ไม่มีทางที่ชีวิตจะยึดติดอยู่กับภาพของ Minato ได้ตลอดไป ด้วยเหตุนี้จึงพยายามมองหาหนทาง เป้าหมายความฝันใฝ่ จากนี้ชีวิตอยากจะทำอะไร เมื่อไหร่สามารถลุกขี้นยืนหยัดด้วยตนเองได้สำเร็จ ก็คงถีงวันที่ต้องร่ำลาจากอย่างแท้จริง
หลายคนอาจรู้สึกรำคาญกับความมุ้งมิ้ง ยึดติดกับคนรักมากไป และเสียงเพลงได้ยินซ้ำๆจนรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ผมกลับตกหลุมรักทั้งตัวละครและน้ำเสียงแห้งๆของ Kawaei ใส่ความมุ่งมั่น จริงจัง เต็มที่กับทุกสิ่งอย่างในชีวิต ซึ่งเรื่องราวการหมกมุ่นบางอย่างแล้วสามารถปลดปล่อยวาง มันเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่ามากๆ ถ้าคุณอดรนทนอคติเหล่านั้นไปได้ ย่อมพบเห็นแสงสว่างปลายทาง สรวงสวรรค์ร่ำไร
Ryota Katayose (เกิดปี 1994, ที่ Osaka) นักแสดง นักร้องวง Generations from Exile Tribe ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนเปียโนจากคุณปู่และบิดา (ทั้งคู่ต่างเป็นครูสอนเปียโน) ต่อมากลับเปลี่ยนความสนใจมาเล่นฟุตบอล ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมฝึกฝนยัง National Training Center แต่คงค้นพบตนเองภายหลังว่าไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นเท่าไหร่ โตขึ้นสมัครเข้าแข่งขัน Vocal Audition 2: Yume o Motta Wakamono-tachi e สามารถเข้าถึงรอบสุดท้าย ทำให้ได้เข้าร่วม Osaka’s EXPG (Exile Professional Gym) และกลายเป็นสมาชิกวง Generations from Exile Tribe, สำหรับการแสดงเริ่มจากซีรีย์ GTO (2014) และโด่งดังจาก Prince of Legend (2018)
ให้เสียง Minato Hinageshi ชายหนุ่มนักผจญเพลิงวัย 21 ปี สมัยยังเด็กได้รับการช่วยเหลือจาก Hinako รอดชีวิตจากการจมน้ำ ตราฝังความทรงจำครั้งนั้น ทำให้อยากกลายเป็นฮีโร่ มีความเข้มแข็งแกร่ง สามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นยามประสบอุบัติเหตุ เลยตัดสินใจเลือกอาชีพนักดับเพลิง จนได้มีโอกาสพบเจอเธอและให้ขึ้นไปรับเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ จากนั้นก็เริ่มสานสัมพันธ์จนเกิดความสนิทสนมรักใคร่ แต่สุดท้ายก็บังเกิดโศกนาฎกรรมให้เขาจากไป
เกร็ด: Minato แปลว่า habor ท่าเรือ, ส่วน Hinageshi เป็นส่วนผสมของ Hina=chick, squab, duckling, doll, และ keshi/geshi=poppy ลูกสุนัข
แม้ร่างกายมิอาจขยับเคลื่อนไหว แต่จิตวิญญาณของ Minato ยังคงล่องลอยอยู่ในสายน้ำ ปรากฎตัวทุกครั้งเมื่อ Hinako ขับร้องเพลงเรียกหา คาดว่าน่าจะเกิดจากคำอธิษฐานเมื่อกระโดดโต้คลื่นหมุนตัว 360 องศาได้สำเร็จ แต่ไม่นานเขาก็ตระหนักว่าตนเองไม่อาจสัมผัส จับต้อง พัฒนาความสัมพันธ์กับเธอไปได้มากกว่านี้ ทำได้แค่เฝ้ารอคอยวันที่หญิงคนรักจะสามารถเติมเต็มความฝัน ค้นพบตอบโต้คลื่นชีวิตของตนเองได้สำเร็จ และพอวันนั้นมาถึงเขาก็ได้มอบคลื่นลูกใหญ่ที่สุดให้เธอ โต้ลงมาจากบนยอดตึก
เสียงหล่อๆของ Katayose สร้างความหนักแน่นมั่นคง คือบุคคลสามารถพึ่งพาได้ในทุกๆสถานการณ์ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่อย่างนั้น เขาแค่คนธรรมดาๆทั่วไป เริ่มต้นจากไม่เป็นอะไรแต่ค่อยๆเรียนรู้ ฝึกฝน สะสมประสบการณ์ จนถึงวันหนึ่งย่อมสามารถดีเพียงพอสำหรับทุกสิ่งอย่าง และที่ต้องชื่นชมคืออุดมการณ์ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น หาได้ยากยิ่งกับคนรุ่นใหม่สมัยนี้
Honoka Matsumoto (เกิดปี 1997, ที่ Osaka) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 2015 แจ้งเกิดกับซีรีย์ Hiyokko (2017), ภาพยนตร์ After the Rain (2018), My Father, the Bride (2019) ฯ
ให้เสียง Yōko Hinageshi น้องสาวของ Minato ที่มีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม เป็นคนชอบพูดจาถากถาง เสียดสีประชดประชัน เหมือนไม่ใคร่สนใจความรู้สึกผู้อื่น นั่นทำให้ไม่มีใครอยากคบหาสมาคม แต่แท้จริงแล้วเธอเป็นพวกปากว่าตาขยิบ มักแสดงออกไม่ตรงความต้องการภายในก็แค่นั้น ครั้งหนึ่งเคยได้รับกำลังใจจาก Wasabi ทำให้หาญกล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้าสังคม ไมหวาดกลัวเกรงต่อบุคคลผู้มีอคติต่อตน จนกระทั่งสามารถพูดบอกรักต่อหน้าเขา ทำเอาชายหนุ่มครุ่นคิดไปต่อไม่ถูกเลย
เกร็ด: Yōko หรือ Youko เป็นส่วนผสมของ you=ocean และ ko=child
น่าเสียดายที่อนิเมะไม่ได้อธิบายเบื้องหลัง สาเหตุผล ทำไม Yōko ถึงกลายเป็นสาวซึนเดเระ? (คือผมก็ครุ่นคิดไม่ออกเหมือนกันว่าทำไม) หรือเพราะความหลงรักพี่ชาย (brocon?) ไม่ต้องการสูญเสียเขาให้ใคร ตอนพบเจอหน้า Hinako แสดงอคติออกมาอย่างเห็นได้ชัด ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็มิได้นำมาเป็นปัญหาภายใน เข้าใจเสียด้วยซ้ำว่าเหมือนการเรียกร้องความสนใจ โดยไม่รู้ตัวสามารถพึ่งพากันและกัน และในที่สุดก็ยินยอมรับได้จากภายใน
Matsumoto เป็นอีกนักพากย์/นักแสดงที่น่าจับตามอง น้ำเสียงของเธอสร้างความโดดเด่นให้ตัวละคร แม้มีเพียงคำพูดถากถาง ประชัดประชัน แต่ความรู้สึกข้างในนั้นมันค่อยๆเปิดเผยออกมาทีละเล็ก ซึนแบบนี้ถือว่ามีสีสัน ออกแบบตัวละครก็น่ารักน่าชัง ชวนให้นึกถึงน้องสาว Karen แฟนไชร์ Monogatari อยู่ไม่น้อย
Kentaro Ito (เกิดปี 1997, ที่ Tokyo) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เข้าสู่วงการจากเป็นนายแบบถ่ายโฆษณาตั้งแต่อายุ 14 ก่อนเข้าวงการจากเริ่มแสดงซีรีย์ตอนอายุ 17 โด่งดังกับภาพยนตร์ Cafe Funiculi Funicula (2018) ** คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Newcomer of the Year
ให้เสียง Wasabi Kawamura นักผจญเพลิงหนุ่มที่ยังกลัวๆกล้าๆ ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง แม้รูปร่างดีมีพละกำลัง แต่ยังต้องฝีกฝนสะสมประสบการณ์อีกมาก โดยมีรุ่นพี่ Minato คือไอดอลต้นแบบอย่าง หลังจากมีโอกาสพบเจอ Hinako แม้ไม่สมหวังในรักแต่ก็สามารถพูดบอกความใน และเมื่อได้ยินคำพูดจาก Yōko ทำให้ค้นพบความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง
เสียงพากย์ของ Ito เต็มไปด้วยอาการโล้เล้ลังเล กระอักกระอ่วน ขาดๆเกินๆ เพื่อสะท้อนความอ่อนด้อยประสบการณ์ของตัวละคร โหยหาบางสิ่งสำหรับเกาะแก่งพี่งพักพิง ช่วงแรกๆพยายามเปรียบตนเองกับรุ่นพี่ Minato แสดงออกอย่างชัดเจนว่าชื่นชอบ Hinako แต่ก็ต้องหลีกทางให้พระเอกตัวจริง ซี่งหลังจากเกิดเหตุโศกนาฎกรรม โอกาสแห่งฝันก็ก้าวมาถีง แต่อาจเพราะยังเร็วไป ทำใจไม่ได้ เลยลงเอยด้วยความผิดหวัง ถีงอย่างนั้นอนิเมะก็ยังให้โอกาสเจอรักครั้งใหม่กับ Yōko ในมุมกลับกัน
เอาจริงๆผมก็แอบเชียร์ Wasabi ให้ได้ครองคู่กับรักแรกพบ Hinako แต่ก็รู้สีกว่าถ้าอนิเมะดำเนินไปในทิศทางนั้น เขาก็จะเป็นพระรองตลอดกาล แถมไม่มีวันได้ความรักแท้จริงจากหญิงสาว ถูกเปรียบเทียบตลอดเวลากับรุ่นพี่ที่เขามิอาจก้าวข้ามผ่าน, ขณะที่การถูกสารภาพรักจาก Yōko โดยไม่รู้ตัวมันสามารถเลื่อนสถานะให้กลายเป็นนางเอก (ไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ) ซี่งคงทำให้ใครหลายคนฟินมากๆๆกว่า
แม้อนิเมะยังใช้งานออกแบบส่วนใหญ่ Key Animation, Character Design ด้วยการวาดมือ แต่งานสร้างทั้งหมดทำบน Adobe Animate (หรือ Flash Animatiopn) โดยนำต้นแบบนั่นวาดใหม่บนโปรแกรม แล้วให้มันสร้างการเคลื่อนไหวขึ้นมาจาก Key Frame สู่ Key Frame ถือเป็นการลดขั้นตอนงาน In-Between ใช้นักอนิเมเตอร์น้อยลง แต่ทำให้โปรดักชั่นมีความรวดเร็วขึ้น
Science Saru จากสตูดิโอเล็กๆเช่าอพาร์ทเมนท์สำหรับทำงาน หลังความสำเร็จของ Lu over the Wall (2017) กับ Night is Short, Walk on Girl (2017) อีกทั้งปรัชญาการทำงาน บังคับให้ทุกคนต้องทำงานเข้า-ออกตรงตามเวลา ไม่ให้ทำ OT และมีวันหยุดเหมือนบริษัททั่วๆไป ดึงดูดนักทำอนิเมชั่นรุ่นใหม่มากมาย จนกลายเป็นสตูดิโอขนาดกลาง รวมๆแล้วทีมงานยังมีไม่ถึงร้อยคน
ควบคุมงานศิลป์ (Art Direction) โดย Fuminao Akai จากนักวาดพื้นหลัง (Background Artist) เรื่อง The Squid Girl (2010-11), Girls und Panzer (2012-13), Parasyte (2014-15) พอย้ายมาอยู่ Science SARU เลยได้รับโอกาสดูแลงานศิลป์ของ Ride Your Wave (2019)
Takashi Kojima จากเคยเป็น Key Animation ให้อนิเมะหลายๆเรื่องๆ พอย้ายมาอยู่ Science SARU สรรค์สร้างผลงาน Devilman: Crybaby (2018) ได้อย่างน่าประทับใจ เลยได้โอกาสให้ควบออกแบบตัวละคร (Character Design) และกำกับอนิเมชั่น (Chef Animation Director)
หลายคนอาจพยายามมองหาสถานที่พื้นหลังของเรื่องราว ได้แรงบันดาลใจจากแห่งหนใด? แต่อนิเมะกลับไม่เอ่ยกล่าวแม้กระทั่งชื่อมหาวิทยาลัย เท่าที่ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์เก่าๆของผู้กำกับ Yuasa ชอบที่จะสร้างดินแดนในจินตนาการนั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องรับกับเนื้อเรื่องราวได้มากกว่า พบเห็นทั้งชายหาด เมืองริมทะเล และตึกระฟ้าสูงใหญ่
เมื่อตอนสรรค์สร้าง Lu over the Wall ผู้กำกับ Yuasa เล่าถึงความท้าทายในการทำอนิเมชั่นสายน้ำ มีความยุ่งยากยิ่งเพราะเป็นสิ่งที่ขยับเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่โปรเจคนี้ถือว่ามีความท้าทายยิ่งใหญ่กว่า เพราะต้องใช้ประสบการณ์จากครั้งก่อนพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกขั้น ไม่เพียงแค่คลื่นม้วนตัวสาดกระเซ็น ยังแสงแดดสาดส่องระยิบระยับบนพื้นผิวน้ำ จริงอยู่ความสวยงามสมจริงอาจเทียบไม่เท่า Weathering with You (2019) หรือวิจิตรศิลป์อย่าง Children of the Sea (2019) แต่ Ride Your Wave (2019) เน้นความสะอาด เรียบง่าย เห็นแล้วดูสบายตา มอบบรรยากาศผ่อนคลายได้มากกว่า … ทั้งสามเรื่องดันออกฉายปีเดียวกันอีกน่ะ!
แซว: คลื่นชีวิตนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่จากกระแสน้ำในท้องทะเลเท่านั้น นี่ก็ถือเป็นหนี่งในคลื่นด้วยเช่นกัน
ห้องของ Hinako แรกเริ่มเมื่อตอนเพิ่งย้ายเข้ามาถึงหอพัก พบเห็นรายล้อมไปด้วยกล่องใส่สิ่งข้าวของตั้งเรียงรายกองทับสูง นี่สะท้อนถึงอุปนิสัยใจคอของเธอ เป็นคนไม่สนอะไรอย่างอื่นที่มิได้อยู่ในความสนใจ แทนที่จะรีบแกะกล่องจัดสิ่งของเข้าที่เข้าทาง กลับหยิบกระดานลงไปแหวกว่ายโต้คลื่นน้ำทะเล ทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจเสียก่อน แล้วค่อยกลับมาเผชิญหน้าอะไรๆไร้สาระเหล่านี้
แซว: จากบทสัมภาษณ์ของโปรดิวเซอร์ Eunyoung Choi แซวว่าฉากนี้ได้แรงบันดาลใจจากตอนเริ่มต้นสตูดิโอ Sciene SARU มีทีมงานอยู่เพียง 5 คน เช่าอพาร์ทเมนท์เล็กๆ แออัดยัดเยียดแบบนี้แหละเป็นสำนักงานแรก
สิ่งสำคัญสุดในชีวิตของ Hinako มีเพียงกระดานโต้คลื่นแบกไว้ด้านหลัง แม้ขณะอพาร์ทเมนท์กำลังถูกไฟลุกไหม้ ตัดสินใจวิ่งขึ้นดาดฟ้าตะโกนขอความช่วยเหลือจากด้านล่าง แล้วได้รับการเอื้อมมือจาก Minato (ตัดหน้า Wasabi) ด้านหลังระยิบระยับด้วยดอกไม้ไฟ เปร่งประกายความรู้สึกภายในของทั้งคู่ จุดเริ่มต้นสานความสัมพันธ์รักแท้
แซว: ผมสังเกตเห็นมาตั้งแต่ Mind Game (2004) น่าจะเป็นช็อตลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Yuasa เวลาตัวละครพบเจอหรือมีบังเกิดความรู้สึกลึกซึ้งบางอย่างกับบุคคลฝั่งตรงข้าม มันต้องมีดอกไฟระยิบระยับปรากฎพื้นหลังในจังหวะลักษณะนี้ทุกครั้งไป
ผมค่อนข้างชอบการนำเสนอในลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามของ Minato และ Hinako (แค่ชื่อพวกเขาก็ยังพ้องกันเลยนะ)
- กระดานสีขาวของ Minato ขนาดใหญ่(และสะอาดสะอ้าน)กว่ากระดานส้มของ Hinako เพื่อสะท้อนความเป็นผู้ใหญ่แก่กว่า (เหมือนคนสามารถเป็นที่)พึ่งพาได้ แต่แท้จริงแล้วไม่เกี่ยวกับฝีมืดโต้คลื่นเลยสักนิด
- ชุดของ Minato เป็น Full-Suit ราคาน่าจะแพงอยู่ ผิดกับชุดน้ำว่ายน้ำ Two Piece ของ Hinako ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดบังความสวยเซ็กซี่ของเรือนร่างกาย, แฝงนัยยะว่า Minato เป็นคนที่ชอบเตรียมพร้อม แต่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ทุกสิ่งที่ใครๆพบเห็นว่าโดดเด่น ล้วนเกิดจากการฝึกฝนซักซ้อนจนเชี่ยวชำนาญ ขณะที่ Hinako เป็นคนง่ายๆ ใสซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ชอบพุ่งทะยานไปข้างหน้า ไม่สนใครจะว่าอะไรยังไง เป็นตัวของตนเองก็เพียงพอแล้ว
ข้าวห่อไข่ (Omurice) กับกาแฟ อาหารง่ายๆที่ทำไม่ง่ายเลยสักนิด แม้เป็นพื้นฐานชีวิตของคนยุคสมัยนี้แต่ยังต้องใช้การเรียนรู้ ฝึกฝน สะสมประสบการณ์จนมีความเชี่ยวชำนาญ ถึงสามารถทำออกมาได้ดูน่ารับประทานและอร่อยด้วย ซึ่งอนิเมะพยายามอย่างยิ่งที่จะร้อยเรียงภาพขั้นตอน วิธีการ ให้ผู้ชมตระหนักถึงความยุ่งยาก ละเอียดอ่อน เพราะมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความสวยงามในตัวของมันเอง อย่าปล่อยให้เรื่องเล็กๆน้อยๆแบบนี้ดำเนินไปอย่างไร้คุณค่าความสำคัญต่อชีวิตคุณ
โศกนาฎกรรมของ Minato จะมีการปรับโทนสีภาพให้ออกเหลืองซีดๆ มอบสัมผัสที่ดูแห้งเหี่ยวเฉา สภาพจิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์เศร้าโศก และสังเกตพื้นด้านหลังตัวละครช็อตนี้ มีลักษณะเหมือนประตูศาลเจ้า Jigokumon? บอกเป็นนัยว่าเขากำลังจะก้าวสู่โลกแห่งจิตวิญญาณ/หลังความตาย
สลับมุมกับช็อตด้านบน ภาพนี้ Hinako ก้มลงมองเท้าของตนเอง ใครพูดอะไรก็ไม่รับฟัง ยังยินยอมรับไม่ได้กับการสูญเสีย นี่เช่นกันเป็นการบอกใบ้ผู้ชมว่า เธอมีความหมกมุ่นยึดติดกับอดีตคนรักมากๆ มิอาจปลดปล่อยวาง จักจมปลักอยู่กับตนเองอีกสักระยะใหญ่ … คือมันเป็นช็อตที่ค้างเติ่งอยู่นานพอสมควรจนทำให้ผู้ชมต้องฉุกครุ่นคิดอะไรบางอย่าง และสองนิ้วเท้าพยายามคลอเคลีย ลูบไล้กันเองเหมือนเพื่อเติมเต็มสัมผัสที่ขาดหายไปในชีวิต
ผู้กำกับ Yuasa ยังคงไม่ทอดทิ้งความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิดของ Lu over the Wall (2017) ในการทำให้มวลน้ำที่มีพลังพิเศษ บังเกิดการเคลื่อนไหวรูปทรงลูกบาศก์ คือมันอาจเป็นเรื่องจริงเหนือธรรมชาติ หรือจินตนาการภาพหลอนของตัวละคร แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่เราควรจะครุ่นคิดถึงมันมาก ให้ตีความในเชิงสัญลักษณ์ว่า คือภาพยึดติดของหญิงสาว ไม่ต้องการให้ชายคนรักจากห่างหายไปไหน
สังเกตเสื้อผ้าตัวละครขณะนี้ นอกจากลวดลายขวางทางโลก ยังมีความใหญ่กว่าตัวค่อนข้างมาก อยู่ในช่วงเวลาที่เธอไม่เป็นตัวของตนเอง มีบางสิ่งอย่าง/ความเจ็บปวดซ่อนเร้นอยู่ภายใน
เวลาตัวละครแหวกว่ายอยู่ใต้ผืนน้ำ สังเกตบริเวณเส้นขอบโดยรอบ จะมีการแตกต่างจากปกติใช้สีดำคมเข้ม กลายเป็นสีฟ้า/น้ำเงินเจือจาง มอบสัมผัสที่อ่อนโยน เปราะบาง ราบกับสามารถละลาย/จางหายไปกับสายน้ำ ซึ่งโทนสีของ Minato ก็แตกต่างจากเดิมเช่นกัน เพราะเขาหลงเหลือเพียงจิตวิญญาณ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมเลยถูกปรับเปลี่ยนให้ตรงกันข้ามกับแม่สีของ Hinako ฟ้า-ส้ม
ฉากเริงระบำระหว่าง Hinako กับหุ่นน้ำปลาโลมาในห้องนอนของเธอ มองในมุมของอนิเมะมันช่างมีความโรแมนติกหวานแหววยิ่งนัก แต่ถ้าเป็นคนนอกมองเข้ามา (Yōko และ Wasabi) ต่างมีความหลอกหลอน ขนหัวลุกเสียมากกว่า ประมาณว่าหญิงสาวคนนี้เสียสติคลุ้มบ้าคลั่งไปแล้วหรือ มิอาจควบคุมสติตนเอง ลอยละล่องไปกับภาพหลอนไร้ซึ่งตัวตน
และการที่ Hinako สวมใส่ชุดนอนขณะเริงระบำโลดเล่นไป สามารถสื่อได้ถึงการร่วมรักหลับนอน (ระหว่างคน+ภาพหลอน/จิตวิญญาณ) นั่นเหมารวมไปถึง Sex Scene จริงๆตอนที่เธอเดินเข้าไปในลูกบากศ์น้ำ พยายามกอดจูบลูบไล้ ลึกๆผมไม่รู้สึกโรแมนติกสักเท่าไหร่ คงความอ้างว้างว่างเปล่าอยู่ในใจ
ความโก๊ะของ Hinako ไปถึงขั้นที่หลบหนีการสารภาพรักของ Wasabi พูดคุยกับโถส้วมแล้วดันไม่ปิดประตู จนมีลูกค้าร้านขายดอกไม้มาพบเห็นเข้า … นี่เป็นฉากที่เหมือนจะเน้น Comedy ล้วนๆ แต่แฝงนัยยะถึงความตกต่ำ และอาการหมกมุ่นอยู่กับความต้องการเรื่องพรรค์นั้น คือเหตุผลแท้จริงที่เธอมิสามารถปลดปล่อยวางจากเขาได้ลง
26-8-8 (ปี-เดือน-วัน) รหัสในโทรศัพท์มือถือของ Minato คือวันเกิดใหม่ที่เขาได้รับการช่วยเหลือจาก Hinako ไม่ใช่แค่รักแรกพบ แต่คือแรงบันดาลใจชีวิตให้กลายเป็นคนมีความทุ่มเท มุมานะ ฝีกฝนทุกสิ่งอย่างจนมีความเชี่ยวชำนาญ และต้องการช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ประสบทุกข์ได้ยาก
ข้อความในโทรศัพท์มือถือ บันทึกคำอธิษฐานที่ Minato ต้องการให้ตนเองได้อยู่เคียงข้าง Hinako จนกว่าจะถึงวันที่เธอสามารถตอบโต้คลื่นชีวิตได้ด้วยตนเอง … นี่ก็เช่นกันกลายเป็นแรงบันดาลใจย้อนกลับมาหา ให้หญิงสาวเกิดความต้องการทำงานที่สามารถช่วยเหลือบุคคลอื่น (คล้ายๆกับ Yōko ที่เดินตามรอยพี่ชายอยากเปิดร้านกาแฟ, Hinako เลือกตามรอยอุดมการณ์ สรรหาอาชีพให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแบบเดียวกับชายคนรัก)
เต่า คือสัญลักษณ์ประจำตัว Minato แสดงถึงความเป็นคนเรียนรู้ช้า ทำอะไรต้องต่อสู้ ดิ้นรน สะสมประสบการณ์ จนสักวันหนึ่งจักสามารถเชี่ยวชำนาญ ได้รับการเคารพยินยอมรับจากผู้อื่น
แต่แทนที่ Hinako จะคือกระต่าง แต่อนิเมะเปรียบเธอดั่งปลาโลมาที่สามารถแหวกว่ายใต้ผิวน้ำอย่างเชี่ยวชำนาญตั้งแต่เกิด สะท้อนถึงความสามารถในการตอบโต้คลื่นลม พายุแรง พรสววรค์ในการเอาตัวรอดที่สูงยิ่ง แต่ถึงอย่างนั้นกว่าเธอจะปรับตัวเข้ากับการสูญเสีย ก็ใช้เวลายาวนานเป็นปีๆ แต่ก็ถือว่าทำได้สำเร็จเช่นกัน
แซว: เด็กสาวขวามือน่าจะคือน้องสาว Yōko ไม่น่าใช่ Hinako นะครับ
สถานที่ตะโกนบอกความรู้สึกภายในของ Yōko ต่อ Wasabi คือบริเวณริมชายหาดที่เต็มไปด้วยเนินกองทราย สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ทุลักทุเล ไม่เรียบง่าย เพราะชายหนุ่มแอบชื่นชอบ Hinako และหญิงสาวก็รับรู้สิ่งบังเกิดขึ้นทุกสิ่งอย่าง ขณะเดียวกันอุปนิสัยของเธอที่ชอบพูดจาโผงผาง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายจะพูดบอกความรู้สึกดังกล่าวออกมา
ผมชื่นชอบปฏิกิริยาของ Wasabi มันเป็นความกระอักกระอ่วน พูดไม่ออก ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจ จริงอยู่ขณะนั้นกำลังเศร้าโศกผิดหวังที่ได้รับการปฏิเสธรักจาก Hinako แต่คำตะโกนบอกของ Yōko วินาทีนี้กลับทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวย มีชีวิตชีวา รับรู้ว่ายังมีใครอื่นที่พร้อมอยากยืนเคียงข้างตนเอง
เหตุการณ์มวลน้ำพุ่งขึ้นลงตึกร้างแห่งหนึ่ง เพื่อดับไฟและช่วยให้ Hinako โต้คลื่นถลาลงมาสู่พื้นดิน ผมว่าใครๆก็น่าบอกได้ว่านี่เป็นฉากเชิงสัญลักษณ์ แฝงนัยยะนามธรรม ไม่มีทางสามารถบังเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง (และอย่าไปทดลองโต้คลื่นลงจากตึกสูงเป็นอันขาดนะครับ) ความหมายของฉากนี้สะท้อนถึงชีวิตที่มีขึ้นมีลง บางคนถูกทิ้งขว้าง ต้องสูญสียใครบางคน แต่ถ้าเราไม่ย่นย่อท้อ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ ย่อมสามารถตอบโต้คลื่นสายน้ำไม่ว่าจักสูงขนาดไหน ให้สามารถไถลกลับลงมาสู่พื้นดินสำหรับเริ่มต้นใหม่
นี่ผมก็ไม่แน่ใจว่าการโต้คลื่นคู่แบบนี้มีอยู่จริงหรือเปล่า แต่นัยยะก็ชัดเจนสำหรับสองสาวที่ต่างตกหลุมรัก Minato พวกเธอต่างมีความทุกข์เศร้าโศกซ่อนเร้นอยู่ภายใน แค่การแสดงออกภายนอกแตกต่างกันเท่านั้น เมื่อได้รับการช่วยเหลือครั้งสุดท้าย Yōko นอนราบเป็นฐานกระดาน และคอยช่วยจับขณะ Hinako กำลังจะพลาดพลั่ง ถือเป็นความสมานสามัคคีที่ทำให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้รอดพ้นถึงฟากฝั่ง ไม่ใช่แค่ตัวคนเดียวเท่านั้น
หลายคนอาจรู้สึกแปลกๆเพราะนี่เป็นฉากกลางคืน กลับเห็นผืนน้ำสว่างไสวแถมสะท้อนแสงระยิบระยับ แต่ถ้าสังเกตดีๆมันเป็นผลพลอยจากเพลิงไหม้และดอกไม้ไฟ(ผิดกฎหมาย)ที่กำลังปะทุระเบิด (เพราะนี่คืออนิเมะนะครับ อย่าไปคาดหวังความสมจริงมากมาย) และชุดของสองสาว มันควรเปียกปอนแนบเนื้อจนเห็นซับใน แต่แค่นี้ก็เอาเถอะไม่ได้เน้นความสมจริงสักเท่าไหร่ เพียงพอให้ไปครุ่นคิดวิเคราะห์ต่อเองได้ก็ใช้ได้แล้ว
ตัดต่อโดย Kiyoshi Hirose ผลงานเด่นๆ อาทิ Gantz (2004), Afro Samurai (2007), JoJo’s Bizarre Adventure (2012-), Initial D Legend (2014-16), Rage of Bahamut (2014-), Mob Psycho 100 (2016-), Ride Your Wave (2019) ฯ
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Hinako Mukaimizu ตั้งแต่เดินทางมาปักหลักพักอาศัยอยู่ยังเมืองริมทะเล พบเจอ ตกหลุมรัก Minato Hinageshi จนกระทั่งโศกนาฎกรรมวันคริสต์มาส จมปลักอยู่กับความสูญเสีย จนกระทั่งค่อยๆเรียนรู้ ตระหนักถีงบางสิ่งอย่างด้วยตนเอง จีงสามารถปลดปล่อยวาง และเริ่มต้นชีวิตใหม่เมื่อถีงวันคริสต์มาสอีฟปีถัดไป
เรื่องราวแบ่งออกเป็น 4 องก์ ประกอบด้วย
- องก์แรก แนะนำตัวละคร Hinako พบเจอกับ Minato ตกหลุมรัก วาดฝันจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน
- องก์สอง บังเกิดเหตุโศกนาฎกรรม ทำให้ Hinako จมปลักอยู่กับความทุกข์เศร้าโศก ไม่มีใครสามารถทำให้อาการของเธอดีขี้นจนกระทั่งพบเจอวิญญาณในสายน้ำของ Minato ปล่อยตัวปล่อยใจโดยไม่ยอมรับฟังเสียงตักเตือนจากผู้ใด
- องก์สาม เมื่อถีงจุดๆหนี่ง Hinako ก็เริ่มตระหนักได้ว่าสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ เป็นการฉุดรั้งมิให้ Minato ไปสู่สุขคติ จีงเริ่มปรับเปลี่ยนตนเอง พบปะเข้าหาใครอื่น กระทั่งรับรู้เบื้องหลังความจริง (อดีตของ Minato) สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความเพ้อใฝ่ฝัน
- องก์สี่ ไคลน์แม็กซ์นำเสนอการโต้คลื่นแห่งชีวิตของ Hinako และร่ำลาจากสู่สุขคติของ Minato
แม้อนิเมะจะไม่มีความหวือหวาในการตัดต่อเมื่อเทียบผลงานอื่นๆของผู้กำกับ Yuasa แต่หลายครั้งยังคงพบเห็นเรื่องเล่า คำบรรยายของตัวละคร ยังคงแทรก ‘Insert Cut’ ส่วนใหญ่เป็น Flashback ภาพเหตุการณ์ย้อนอดีตว่าเคยบังเกิดอะไรขี้นมาก่อน
ไฮไลท์การตัดต่ออยู่ที่เทคนิค ‘Montage” ร้อยเรียงชุดภาพประกอบเพลง หรือเพื่อเน้นๆย้ำๆเหตุการณ์ที่ตัวละครยังต้องเรียนรู้ ฝึกฝน สะสมประสบการณ์ อาทิ การซ้อมโต้คลื่นของ Minato ถ้าสังเกตดีๆจะพบเห็นเคลื่อนเข้าใกล้ฝั่งขึ้นเรื่อยๆ, หรือ Sequence พรอดรักของหนุ่ม-สาว เต็มไปด้วยภาพเหตุการณ์อมยิ้มมากมาย ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Michiru Ōshima (เกิดปี 1961) คีตกวี นักแต่งเพลง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Nagasaki ตั้งแต่อายุ 16 ชนะเลิศการแข่งขันอิเลคโทน International Electone Festival, สำเร็จการศีกษา Kunitachi College of Music สาขาการแต่งเพลง (Music Composition) ประพันธ์ Symphony No.1: Orasho เป็นโปรเจคจบ เข้าตาโปรดิวเซอร์ของ Toei Animation ชักชวนมาทำเพลงประกอบอนิเมะเรื่องแรก Saint Elmo – Hikari no Raihousha (1986) จากนั้นมีผลงานภาพยนตร์ ซีรีย์ วีดีโอเกม ละครเวที รวมไปถึงประพันธ์ Symphony, Concerto, Chamber Music ฯ เคยร่วมเป็นส่วนหนี่งในโปรเจค In 27 Pieces: The Hilary Hahn Encores ของนักไวโอลินชื่อดัง Hilary Hahn อัลบัมดังกล่าวคว้ารางวัล Grammy Award: Best Chamber Music
ผลงานเด่นๆของ Ōshima อาทิ Godzilla vs. Megaguirus (2000), Fullmetal Alchemist (2003), Bizan (2007)**คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Music of the Year, The Tatami Galaxy (2010), Zetsuen no Tempest (2012-13), Little Witch Academia (2013) ฯลฯ ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Yuasa เรื่อง The Tatami Galaxy (2010) และ Night is Short, Walk on Girl (2017)
แม้ว่า Ōshima จะไม่ได้มีส่วนร่วมกับบทเพลงที่เป็น Motif ของอนิเมะอย่าง Brand New Song แต่ผมมีความคลั่งไคล้ในทุกๆการโต้คลื่น เพราะเธอเลือกใช้ดนตรีคลาสสิกที่สามารถถ่ายทอดความสวยงามของชีวิต ระยิบระยับแสงแดดสาดส่องผิวน้ำ การต่อสู้เพื่อก้าวข้ามผ่านบางสิ่งอย่าง รวมถึงฉากเริงระบำไปกับจิตวิญญาณ (ของ Hinato) มีทั้งเสียงฮาร์โมนิก้า ขลุ่ย เปียโน โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์โต้ลงจากดาดฟ้าตีกร้าง แรกเริ่มใช้เพียงเสียงคลื่น Sound Effect จนกระทั่ง Yōko เอื้อมไปจับเท้าของ Hinako ร้อยเรียงทุกเครื่องดนตรีผสมผสานเข้าด้วยกันในบรรยากาศสบายๆ พักผ่อนคลาย น่าเสียดายไม่มีอัลบัมประกอบอนิเมะ ลองไปรับชมและตั้งใจฟังกันเอาเองนะครับ
ยังมีอีกบทเพลงคลอประกอบพื้นหลังที่ไพเราะมากๆ ในค่ำคืนวันคริสต์มาสอีฟ ตั้งแต่ Hinako & Minato ตั้งแคมป์รับประทาน Omurice แล้วต่างฝ่ายต่างเล่าเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของตนเอง (เริ่มต้นด้วยเสียงเปียโน) จากนั้นพร่ำเพ้อความใฝ่ฝันที่อยากเติมเต็มของทั้งคู่ (ตามด้วยประสานเสียงไวโอลิน) เมื่อไหร่ฉันสามารถตอบโต้คลื่นด้วยตนเอง ความรักของเราจักคงอยู่ชั่วนิรันดร์
Brand New Story แต่งโดย Fast Lane & Erik Lidbom, คำร้องโดย Masaya Wada, ขับร้อง/บรรเลงโดย GENERATIONS from EXILE TRIBE แต่ผมขอนำฉบับที่ Rina Kawaei และ Ryota Katayose (นักพากย์ Hinako & Minato) ร้อง-เล่น Ukelele พร้อมเสียงคลื่นกระทบหาดทราย ทั้งๆเต็มไปด้วยการ Improvised เสียงหัวเราะ ร้องผิดคีย์ แต่กลับมีความไพเราะตราตรีงกว่าต้นฉบับเสียอีก ได้ยินทีไรน้ำตามันอยากไหลพรากๆออกมา
คือทั้ง Sequence นี้มันงดงามตราตรีงมากๆ ร้อยเรียงภาพความสุข สุดโรแมนติกของคู่รัก พร้อมรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบทเพลงนี้คลอขับขานเป็นพื้นหลัง ประเด็นคือมันดังขี้นตั้งแต่ช่วงเกือบๆกลางเรื่อง สร้างความเสียวสันหลังวาปให้ผู้ชมที่สามารถตระหนัก ราวกับการปักธง Death Flag ไม่มีทางที่ความสุขเหล่านี้จักมั่นคงอยู่ยาวไปจนถีงตอนจบ
จะปาฏิหาริย์หรือภาพลวงตาก็ไม่สำคัญ (มันไม่ใช่เรื่องที่จะมาถกเถียงสิ่งที่ Hinako พบเห็นคือภาพลวงตาหรือวิญญาณจริงๆของ Minato) ตราบใดที่เราคิดว่าเขามีอยู่จริง เขาก็จะมีอยู่จริง ถ้าคิดว่าเป็นเพียงภาพลวงตา สักวันเขาก็จักเหินห่างจางหายไปจากสายตาเราเอง
Ride Your Wave ชื่อไทย คำสัญญา…ปาฏิหาริย์รัก 2 โลก, นำเสนอปฏิกิริยาของกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถยินยอมรับการสูญเสีย
- Hinako แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่ายินยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ เพราะรักแฟนหนุ่มมากจีงยังมิอาจปล่อยวาง เพียงพบเห็นสายน้ำก็จินตนาการเป็นหน้าเธอ
- น้องสาว Yōko บุคคลที่เหมือนจะเข้มแข้งที่สุด แต่นั่นก็เพียงเปลือกนอกสร้างขี้นเพื่อปกปิดบังตนเอง ภายในยังคงเจ็บปวดรวดร้าว ยินยอมรับไม่ได้โดยทันทีเหมือนกันกับการสูญเสียพี่ชายสุดที่รัก
- รุ่นน้อง Wasabi สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่พี่งพาของตนเอง ทำให้ชีวิตล่องลอยเคว้งคว้าง ขาดความเชื่อมั่นใจยิ่งกว่าเก่า ทั้งยังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านรุ่นพี่ จมปลักอยู่กับความรู้สีกพ่ายแพ้ ไร้หนทางออก
ทั้งสามตัวละคร ได้ค้นพบหนทางออกให้กับตนเองที่แตกต่างออกไป
- Hinako สร้างภาพหลอน/ค้นพบวิญญาณของ Minato ทำให้ค่อยๆปรับตัว ยินยอมรับความจริงได้ทีละนิด จนสามารถตระหนักบางสิ่งอย่างได้เอง และปล่อยวางความยีดติดได้ในที่สุด
- น้องสาว Yōko ตัดสินใจตามรอยความฝันของพี่ชาย เริ่มจากเป็นเด็กฝีกงานร้านกาแฟ ค่อยๆเรียนรู้สะสมประสบการณ์ สักวันจะมีกิจการร้านเป็นของตนเอง
- รุ่นน้อง Wasabi หลังจากสารภาพความรู้สีกต่อ Hinako ก็ตระหนักว่าตนเองคงไม่สามารถก้าวข้ามผ่านรุ่นพี่ จนกระทั่งคำพูดของ Yōko ย้อนกลับมาเตือนสติ ทำไมไม่เป็นตัวของตนเองสักที มัวแต่เอาพยายามเปรียบเทียบคนอื่นเพื่ออะไรกัน
มนุษย์ทุกคนต้องตอบโต้คลื่นลมไม่เว้นแต่ละวัน เปรียบได้กับอุปสรรคปัญหา สิ่งต่างๆพานผ่านเข้ามาในชีวิต การเผชิญหน้าอาจมีทั้งสุข-ทุกข์ รอยยิ้ม-เศร้าโศก สำเร็จ-ล้มเหลว แต่ทุกครั้งล้วนคือประสบการณ์ที่สามารถเป็นบทเรียนให้เราเติบโต พัฒนาตนเอง จนมีความมั่นคง เข้มแข็งแกร่ง ไม่พ่ายแพ้ต่ออุปสรรคขวากหนาม และค้นพบสิ่งอาจเป็นเป้าหมายปลายทางแห่งความเพ้อใฝ่ฝัน
“Ride Your Wave is a story about a woman who grows little by little as she rides various waves in life, both making mistakes and succeeding. By challenging seemingly scary waves, things can go well, and you can have fun, or you can surprisingly overcome anything. Because of what’s going on in the world now, even in everyday life, you may feel anxious or scared, but I hope you can see life as waves to ride through trial and error and stay positive throughout”.
Masaaki Yuasa
ชื่ออนิเมะภาษาอังกฤษ Ride Your Wave ค่อนข้างจะมีความหมายแปลกๆ โต้คลื่นของเธอ? โต้คลื่นกับเธอ? ก็ยังไม่ค่อยตรงกับนัยยะที่ต้องการสื่อถีงการค้นพบคลื่น(ชีวิต)ของตนเอง Find Her Wave เทียบกับชื่อภาษาญี่ปุ่น Kimi to, Nami ni Noretara ถือว่าใกล้เคียงนิยามดังกล่าวมากกว่า
แซว: การตั้งชื่อภาษาอังกฤษแบบนี้ มันทำให้ผมนีกถีง Kimi no Na wa จริงๆมันควรแปลว่า What is your name? แต่ชื่อภาษาอังกฤษกลับตัดทอนให้เหลือห้วนๆเพียง Your Name คนยังไม่ได้รับชมจะเข้าใจไหมเนี่ยว่าต้องการสื่อถีงอะไร?
อนิเมะออกฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาล Scotland Loves Anime สามารถคว้ารางวัล Jury Award (Golden Partridge) ติดตามด้วยอีกหลายๆเทศกาลหนัง แต่ในประเทศญี่ปุ่นกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะปีนั้นเต็มไปด้วยอนิเมะยอดเยี่ยมอย่าง Children of the Sea (2019) และ Weathering with You (2019) ไม่ได้แม้แต่จะเข้าชิง Japan Academy Prize: Animation of the Year
ถึงจะบอกว่าอนิเมะเรื่องนี้ดูง่าย บรรยากาศสบายๆ ไม่มีอะไรให้ต้องครุ่นคิดให้วุ่นวาย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า Ride Your Wave ค่อนข้างยากจะเข้าถึงคอหนังรักโรแมนติกทั่วไป เพราะความโดดเด่นเฉพาะตัว กลิ่นอายสไตล์ผู้กำกับ Masaaki Yuasa ถ้าคุณไม่สั่นพ้องกับเรื่องราว ก็คงเพราะรสนิยมส่วนบุคคลที่แตกต่างกันไป
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆ คือการสร้างบรรยากาศของอนิเมะ ให้ความรู้สึกที่เบาสบาย พักผ่อนคลาย โดยเฉพาะบทเพลงหนุ่มสาวร้องเล่นคลอประกอบเบาๆระหว่างพรอดรัก มันช่างให้ความรู้สีกจริง ‘real’ จับต้องได้ สัมผัสละมุ่น ลุ่มลึกซึ้ง เป็น Sequence ที่โรแมนติกมากๆในภาพยนตร์ยุคหลังๆ
Ride Your Wave เป็นอนิเมะที่เหมาะกับวัยรุ่นหนุ่ม-สาว โดยเฉพาะคนกำลังอกหัก (ไม่จำเป็นต้องอีกฝ่ายตายจากไปนะครับ แค่เพิ่งจะเลิกร้างราก็พอใช้ได้) ถ้าเขาสามารถอดรนทนผ่านองก์แรกไปได้ เรื่องราวถัดจากนั้นจะให้คำแนะนำ แนวคิดดีๆ เพื่อข้ามผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ลุกขึ้นก้าวเดินได้ด้วยตนเอง และสามารถตอบโต้คลื่นที่โถมเข้าใส่ชีวิต
จัดเรต PG กับโศกนาฎกรรม สภาพจิตใจของหญิงสาว และพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่ม
Leave a Reply