Kind Hearts and Coronets (1949)
: Robert Hamer ♥♥♥♥
เรื่องราวชวนหัวจาก Ealing Studios เมื่อทายาทลำดับที่ 9 ของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ต้องการฮุบมรดกตระกูล เลยวางแผนเข่นฆาตกรรม Alec Guinness รับบท 8 ตัวละครนั้น ทั้งคนหนุ่ม-แก่ ชาย-หญิง บาทหลวง-นายพล ที่สุดจะสำเร็จสมหวังหรือไม่
ผมเชื่อว่าทุกคนคงตระหนักรับรู้แก่ใจ การเข่นฆาตกรรมผู้อื่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมประการใด แต่แปลกประหลาดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ จักทำให้คุณรู้สึกอยากมอบกำลังใจเชียร์ ลุ้นระทึกว่าพระเอกจะสามารถถอนรากถอนโคลนขุนนางชนชั้นสูง กลายเป็นดยุกแห่ง Chalfont สำเร็จสมหวังหรือไม่
สาเหตุเพราะผู้กำกับ Robert Hamer เลือกเล่าเรื่องแบบไม่เน้นความตึงเครียด ซีเรียส จริงจัง หรือนำเสนอด้วยความมืดหมองม่นแบบหนังนัวร์ สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เบาสบาย ละล่องลอยไป เข่นฆาตกรรมคนตายแล้วไง นี่ก็แค่โลกภาพยนตร์แห่งความเพ้อฝัน จะไปเอาจริงเอาจังอะไรกับมันมาก
ผมหยิบภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเพิ่งรับชม Monsieur Verdoux (1947) เมื่อ Charlie Chaplin แสดงเป็นฆาตกรต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื้อในใจความแฝนัยยะซ่อนเร้นบางอย่างไว้ … ก็เฉกเช่นกันกับ Kind Hearts and Coronets กระทำสิ่งชั่วร้ายก็แค่เปลือกภายนอก แล้วเป้าหมายจริงๆของหนังจะสื่อถึงอะไรละ?
Robert Hamer (1911 – 1963) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kidderminster แฝดเทียมกับ Barbara Hamer, ตั้งแต่เด็กเป็นคนเฉลียวฉลาด ได้รับทุนการศึกษาจาก Corpus Christi College, Cambridge แต่ไปทำเรื่องบางอย่างเลยถูกไล่ออก ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์จากเป็นนักตัดต่อ สร้างชื่อกับ Jamaica Inn (1939), ย้ายมา Ealing Studios กลายเป็นผู้ช่วย และกำกับเรื่องแรก Pink String and Sealing Wax (1946), ผลงานเด่นๆ อาทิ It Always Rains on Sunday (1947), Kind Hearts and Coronets (1949), School for Scoundrels (1960) ฯ
เกร็ด: Ealing Studios สตูดิโอสร้างภาพยนตร์เล็กๆ สัญชาติอังกฤษ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1902 แต่เพิ่งมามีชื่อเสียงโด่งดังช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กับการมาถึงของ ‘Ealing Comedy’ ซึ่งมีลักษณะ Satire Black Comedy สะท้อนสภาพสังคม วิถีชีวิตผู้คน ชนชั้นของอังกฤษยุคสมัยนั้น ประสบความสำเร็จทั้งรายรับและคำวิจารณ์ กลายเป็นตำนานอยู่หลายเรื่องทีเดียว อาทิ Kind Hearts and Coronets (1949), The Lavender Hill Mob (1951), The Man in the White Suit (1951), The Ladykillers (1955) ฯ
จุดเริ่มต้นของ Kind Hearts and Coronets เกิดจากนักเขียน Michael Pertwee ขาประจำของ Ealing Studios แสดงความสนใจดัดแปลงจากนวนิยาย Israel Rank: The Autobiography of a Criminal (1907) แต่งโดย Roy Horniman (1874–1930) นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งเต็มไปด้วยเนื้อหาล่อแหลมไม่เหมาะสม อาทิ Anti-Semitic (ต่อต้านชาวยิว), ตัวละครเข่นฆาตกรรมเด็กทารกไร้เดียงสา ฯ
แน่นอนว่าความโฉดชั่วร้ายของอาชญากรรายนี้ ย่อมไม่สามารถผ่านกองเซนเซอร์ที่สุดแสนเข้มงวดของประเทศอังกฤษ (ได้ยินว่าเข้มข้นกว่า Hays Code ของสหรัฐอเมริกาเสียอีกนะ) ขนาดว่าตอนนำไปเสนอโปรดิวเซอร์แสดงความเห็นว่า
“You are trying to sell that most unsaleable commodity to the British, irony. Good luck to you”.
– Michael Balcon
จนกระทั่งการเข้ามาของ Robert Hamer ร่วมงานกับ John Dighton (1909 – 1989) นักเขียนบทละครสัญชาติอังกฤษ (The Man in the White Suit, Roman Holiday) ทำการทดลองปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นไปเรื่อยๆ พัฒนาหลายสิบบทร่าง จนกระทั่งค้นพบหนทางออกที่เหมาะสม
– อย่างแรกเลยคือปรับเปลี่ยนชื่อตัวละครและเชื้อชาติพันธุ์, Israel Rank ลูกครึ่งยิว (นี่คือเหตุผลของประเด็น Anti-Semitic เพราะลูกหลานชาวยิว เข่นฆาตกรรมพี่น้องตนเอง) กลายมาเป็น Louis Mazzini ลูกครึ่งอิตาเลี่ยน (ประเทศนี้ไม่ใคร่สนใจประเด็นนี้สักเท่าไหร่)
– ไม่นำเสนอภาพความตายออกมาตรงๆ แต่ด้วยเทคนิคภาษาภาพยนตร์ และบางครั้งโคตรจะดูไร้สาระ อาทิ ระเบิดซุกซ่อนในอาหารกระป๋อง, ยิงธนูถูกบอลลูนตก, เรือรบสองลำพุ่งชนกัน ฯ
– ปรับเปลี่ยนแปลงถ้อยคำพูดให้ดูเลิศหรูหรา สำบัดสำนวน แอบซ่อนเร้นนัยยะบางอย่างไว้ลึกซึ้ง
– และตอนจบ ทอดทิ้งบางสิ่งอย่างที่สามารถใช้เป็นหลักฐานมัดตัวอาชญากรรายนี้
พื้นหลังยุคสมัย Edwardian (1901 – 1914), เรื่องราวของ Louis D’Ascoyne Mazzini (รับบทโดย Dennis Price) ผู้เป็น 10th Duke of Chalfont ในค่ำคืนก่อนถูกประหารชีวิต ได้ทำการจดบันทึกส่วนตัว เล่าความทรงจำย้อนอดีต กว่าจะไต่เต้าขึ้นมาถึงจุดนี้ เคยก่อเวรก่อกรรมอะไรมาบ้าง
แรกสุดคือมารดาของเขา เป็นบุตรสาวแห่ง 7th Duke of Chalfont แต่ตัดสินใจลักลอบเป็นชู้ หนีไปสมสู่กับนักร้องโอเปร่าชาวอิตาเลี่ยน นามสกุล Mazzini (รับบทโดย Price เช่นกัน) นั่นทำให้เธอถูกตัดออกจากกองมรดก ไม่รับนับญาติอีกต่อไป ซึ่งเมื่อสามีพลันด่วนเสียชีวิตหลังจากคลอดบุตรชาย ก็ยังมิได้รับการเหลียวแล จึงพยายามปลูกฝังเสี้ยมสั่งสอน ให้เขาหาหนทางแก้แค้นทวงคืนทุกสิ่งอย่างที่เป็นของตนเองโดยชอบธรรม
หลังจากแม่เสียชีวิต Louis Mazzini ก็เริ่มครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย มีโอกาสเมื่อไหร่จึงเริ่มเข่นฆาตกรรมสมาชิก D’Ascoyne ทั้งแปด (ทั้งหมดรับบทโดย Alec Guinness) กระทั่งเมื่อสำเร็จสมหวัง ได้กลายเป็น 10th Duke of Chalfont กลแห่งกรรมบางอย่างเหมือนว่าจะเริ่มไล่ติดตามมาทัน
Dennis Price ชื่อเกิด Dennistoun Franklyn John Rose-Price (1915 – 1973) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Twyford, Berkshire, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Embassy Theatre School of Acting เริ่มจากมีผลงานละครเวที ช่วงสงครามโลกสมัครเป็นทหารอยู่สองปี ปลดประจำการออกมาหวนกลับทำงานเดิม เข้าตา Powell & Pressburger ชักนำพาให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก A Canterbury Tale (1944), ผลงานเด่นๆ อาทิ Kind Hearts and Coronets (1949), I’ll Never Forget You (1951), Call Me Genius (1961), Ten Little Indians (1965) ฯ
รับบท Louis Mazzini ทายาทตระกูล D’Ascoyne แต่ถูกทอดทิ้งไม่ยินยอมรับ เพราะมารดาแต่งงานกับชายชนชั้นต่ำกว่า ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อแม่เสียชีวิต แล้วไม่ได้รับอนุญาตให้กลบฝังยังสุสานตระกูล เลยวางแผนเข่นฆาตกรรมยกครอบครัว
Mazzini เป็นคนสุขุม เยือกเย็นชา เฉลียวฉลาดในคำพูดจา ประดิษฐ์ลีลา น้ำเสียง แม้แต่ท่วงท่าทางขยับเคลื่อนไหวให้ทรงสง่า เชิดหน้าชูตา ให้แลดูเหมือนผู้ดีมีตระกูลสูงส่ง ตรงกันข้ามกับจิตใจที่แสนเหี้ยมโหดร้ายทารุณ ไม่รู้สึกอะไรใครทั้งนั้นต่อทุกความสูญเสีย และแม้ตนเองกำลังจะถูกประหารชีวิต ก็ยังไร้ซึ่งความตื่นตระหนกตกใจกลัวใดๆ
Kind Hearts and Coronets คือบทบาทที่ Price ได้รับการยกย่อง จดจำสูงสุด ประดิษฐ์ปั้นแต่งตัวละคร Mazzini สร้างภาพให้ทุกท่วงท่าลีลา แลดูราวกับรูปปั้นแกะสลักที่สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกาย แสดงออกด้วยอุปนิสัยเลิศเชิดหยิ่งยโสโอหัง สีหน้าเต็มไปด้วยความชิงชัง ไม่ยินยอมลดตนเองให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าใคร … Price ยังรับบทพ่อ ไว้หนวด ยืนขับร้องโอเปร่า เกี้ยวพาราสีแม่ตนเองด้วยนะ
Sir Alec Guinness de Cuffe (1914 – 2000) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London เริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงละครเวที มีชื่อเสียงจากการเล่นบทละคร Shakespeare ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องเป็นสามทหารเสือแห่งอังกฤษ ควบคู่กับ Laurence Olivier และ John Gielgud, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รับใช้ชาติเป็นทหารเรือ Royal Naval Reserve สิ้นสุดสงครามจึงเริ่มรับงานแสดงภาพยนตร์โดยคำชักชวนของ David Lean อาทิ Great Expectations (1946), Oliver Twist (1948), กลายเป็นตำนานกับ Kind Hearts and Coronets (1949), The Ladykillers (1955), The Bridge on the River Kwai (1957) ** คว้า Oscar: Best Actor, Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Star Wars (1977) ฯ
รับบท 9 ตัวละคร ประกอบด้วย (ไล่เลียงตามความอาวุโส)
– บิดาของ Ethelred ผู้เป็น 7th Duke of Chalfont ปรากฎในฉากย้อนอดีต เสียชีวิตไปก่อนหน้า Louis Mazzini เริ่มต้นแผนการร้าย
– Ethelred ผู้เป็น 8th Duke of Chalfont เจ้าของ Chalfont Castle ชื่นชอบการล่าสัตว์ มีนิสัยเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด เพราะได้สูญเสียทายาทสืบวงศ์ตระกูลไปหมดสิ้น เลยกำลังวางแผนแต่งงานใหม่ (เหมือนจะไม่ต้องการให้ Louis Mazzini กลายเป็นทายาทสืบสานตระกูลคนต่อไป)
– บาทหลวง Lord Henry น้องชายของ Ethelred เป็นผู้ดูแลโบสถ์ กิจการเกี่ยวกับศาสนาของครอบครัว มีความลุ่มหลงใหลในประวัติศาสตร์ อะไรก็ตามที่ดูโบร่ำโบราณ
– General Lord Rufus วันๆลุ่มหลงใหลกับการเล่าเรื่องวีรกรรมสมัยสงครามของตนเอง
– Admiral Lord Horatio ประจำการอยู่บนเรือรบ ไม่ค่อยชอบอาศัยอยู่บนฝั่ง
– Lord Ascoyne เจ้าของกิจการธนาคาร ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ Louis Mazzini คาดหวังให้เป็นตัวตายตัวแทนของตนเองเมื่อลาลับจากโลกนี้ไป
– Lady Agatha เป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรี ชื่นชอบใช้ความรุนแรง ชุมนุมประท้วง ใช้เวลาอยู่ในคุกมากกว่าบ้านตนเองเสียอีก
– Young Ascoyne บุตรชายของ Lord Ascoyne เป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน วันๆเอาแต่จ้ำจี้แฟนสาว ไม่ค่อยสนกิจการธนาคารของบิดา
– Young Henry บุตรชายของ Lord Henry เพิ่งแต่งงานกับ Edith (รับบท Valerie Hobson) มีความลุ่มหลงใหลในการถ่ายภาพ
แซว: นอกจากแสดงเป็นสมาชิกตระกูล D’Ascoyne รุ่น 7-8-9 ใบหน้าของ Guinness ยังกลายเป็นรูปปั้นแกะสลัก และภาพวาดบรรพบุรุษ เรียกว่าเหมาหมดทั้งโคตรเหง้าก็ว่าได้
ในตอนแรก Guinness ได้รับข้อเสนอเพียง 4 ตัวละคร (น่าจะ Ethelred, Lord Henry, Lord Rufus, Lord Horatio) แต่เมื่อเขาได้อ่านบทเลยถามกลับ ทำไมไม่ให้เล่นครบทั้งวงศ์ตระกูลไปเลยละ
“I read [the screenplay] on a beach in France, collapsed with laughter on the first page, and didn’t even bother to get to the end of the script. I went straight back to the hotel and sent a telegram saying, ‘Why four parts? Why not eight!?'”
– Alec Guinness
ทั้งๆที่แต่ละตัวละครไม่ได้มีความน่าจดจำสักเท่าไหร่ แต่เมื่อทุกคนคือ Guinness กลับกลายเป็นว่าได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ เพราะเขาต้องสร้างบุคลิกให้แตกต่าง ปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง เสียเวลาแต่งหน้าทำผม ไม่ต่างอะไรกับกิ้งก่าเปลี่ยนสี ‘โดดเด่นในความไม่โดดเด่น’
Guinness เองก็มีปัญหาเล็กๆในการเตรียมตัวแสดงเหมือนกัน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนแปลงตนเองให้รวดเร็วปานนั้น
“Quick transformation from one character to another has a disturbing effect. I had to ask myself from time to time: ‘Which one am I now?’ I had fearful visions of looking like one of the characters and thinking and speaking like one of the others. It would have been quite disastrous to have faced the cameras in the make-up of the suffragette, and spoken like the Admiral”.
ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe (1913 – 2016) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Ealing Studios เคยเข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้งไม่เคยได้รางวัล Travels with My Aunt (1972), Julia (1977), Raiders of the Lost Ark (1981)
ขณะที่ฉากภายในส่วนใหญ่ ถ่ายทำยัง Ealing Studios และ Pinewood Studios, London ฉากภายนอกประกอบด้วย
– หมู่บ้าน Harrietsham, Kent
– Leeds Castle, Kent ฉากหน้าของ Chalfont Castle
– Gore Court Farm, Kent คฤหาสถ์ของ Young Henry กับ Edith
– St Mary’s Church, Buckinghamshire
ฯลฯ
งานภาพของหนังมีลักษณะ ‘1 ช็อต 1 ฉาก’ จัดวางองค์ประกอบทั้งหมดให้อยู่ภายในกรอบ แล้วขยับเคลื่อนไหวไหลติดตามตัวละคร ถอยเข้า-ออก เลื่อนซ้าย-ขวา งดงามดั่งภาพวาดงานศิลปะ … ให้สัมผัสคล้ายๆ Barry Lyndon (1975) แต่ด้วยภาพขาว-ดำ
อย่างซีนนี้การเสียชีวิตของพ่อ แบบว่าปัจจุบันทันด่วนมาก ผู้ชมยังไม่ได้ทันปักหลักตั้งตัว เขาก็ช็อคหัวใจวาย ล้มลงไปนอนดับดิ้น สิ้นอยู่ตรงพื้นเสียแล้ว
หรืออย่างแม่ของ Louis Mazzini นอนซมป่วยหนักอยู่บนเตียง รูปภาพวันแต่งงานถือครองอยู่ในมือ พอปล่อยตกลงพื้นก็บ่งบอกว่า เธอได้หมดสิ้นลมหายใจจากไปแล้ว … นี่เป็นวิธีนำเสนอเรื่องราวที่สลักสำคัญต่อชีวิตมากๆ ในลักษณะล่องลอยเหมือนฝัน แค่ความทรงจำเลือนลาง ประเดี๋ยวด๋าวก็เคลื่อนพานผ่าน บอกให้ผู้ชมไม่ต้องไปสนใจอะไรกับมันมาก (ความตายตลอดทั้งเรื่อง ก็นำเสนอในลักษณะนี้)
แซว: วิธีการนำเสนอนี้ของหนัง ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ Charlie Chaplin กล่าวอ้างถึงไปเมื่อวันก่อน
“Life is a tragedy when seen in close-up, but a comedy in long-shot”.
– Charlie Chaplin
เทคนิคการถ่ายภาพหนึ่งที่พบบ่อยในหนัง เริ่มต้นกล้องจับจ้องที่หลุมฝังศพ จากนั้นค่อยๆเคลื่อนถอยห่างออกมา พบเห็นเพียงสองคนเท่านั้นเข้าร่วมพิธีฝังศพของแม่ … สมัยนั้นยังไม่การซูมเข้า-ออก แบบที่ใช้ในหนัง Barry Lyndon นี่จึงเป็นเทคนิคมีความคล้ายคลึงกันมากๆ
เกร็ด: ชุดของ Louis Mazzini ออกแบบโดย Anthony Mendleson ซึ่งจะมีวิวัฒนาการไปตามตัวละคร แรกเริ่มดูธรรมดาๆเชยๆแบบนี้ จากนั้นจะมีความเลิศหรูหรา ไฮโซ ชนชั้นสูงขึ้นเรื่อยๆตามลำดับขั้น
ช่วงเวลาแห่งการไต่เต้าของ Louis Mazzini ร้อยเรียงด้วยเทคนิค ‘1 ช็อต 1 ฉาก’ อีกเช่นกัน
ฉากที่ถ่ายทำยากสุดของหนัง คือการปรากฎร่วมช็อตกัน 6 ตัวละครของ Guinness (Ethelred, Reverend Lord Henry, General Lord Rufus, Admiral Lord Horatio, Lord Ascoyne และ Lady Agatha) วิธีถ่ายทำก็แค่ตั้งกล้องไว้นิ่งๆ รอคอยเวลานักแสดงแต่งหน้าทำผม และเข้าฉาก … แต่ปัญหาคือ กว่าที่ Guinness จะแต่งหน้าทำผมเสร็จตัวละครหนึ่งก็กินเวลาหลายชั่วโมง เลยเสียเวลาถ่ายทำอยู่หลายวัน ลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะซ้อนภาพนี้ออกมาได้สำเร็จ
ปกติแล้วนี่เป็นไปไม่ได้เลยนะครับ เพราะมนุษย์เมื่อตกน้ำจะลอยตัวขึ้น ซึ่งการเสียชีวิตจมลงของ Admiral Lord Horatio ใช้วิธีผูกเชือกมัดไว้ที่เท้า นั่นทำให้นักแสดงไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหน โดยไม่รู้ตัวเมื่อผู้กำกับสั่งคัท ทีมงานดันลืมสนิทว่า Guinness ยังอยู่ใต้น้ำ เขาสามารถกลั้นหายใจได้นานกว่า 4 นาที อย่างเหลือเชื่อ!
เกร็ด: ฉากเรือรบสองลำชนกัน ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง HMS Victoria ชนกับ HMS Camperdown บริเวณ Tripoli เมื่อปี 1893 ซึ่ง Vice-Admiral Sir George Tryon เพราะเป็นผู้ออกคำสั่งผิดพลาด ‘It was all my fault’ เลยขอจมลงพร้อมกับเรือ (และลูกเรืออีกกว่า 350 ชีวิต)
ขอกล่าวถึงสองสาวในหนังสักหน่อยแล้วกัน Edith (รับบทโดย Valerie Hobson) และ Sibella (Joan Greenwood) หนึ่งคือคนรักทางใจ สองคือความปรารถนาทางกาย ซึ่งพวกเธอเติมเต็มกันและอย่างพอดิบพอดี สองช็อตต่อกันนี้
– Louis Mazzini ขณะขอ Edith แต่งงาน พวกเขายืนขึ้นระหว่างเก้าอี้ที่ว่างเปล่า (นั่นคือที่ว่างในจิตใจของ Edith เดิมเป็นของอดีตสามี Henry ที่ถูก Mazzini เข่นฆาตกรรมไป)
– สำหรับ Sibella เธอนั่งอยู่บนโซไฟ เฝ้ารอคอยเวลากลับบ้านมาของชู้รัก (เธอแต่งงานแล้วกับ Lionel แต่จิตใจยังคงโหยหาต้องการ Mazzini)
ผมขอวิเคราะห์เหมารวมการเสียชีวิตของ D’Ascoyne ทั้งแปด ตรงนี้เลยแล้วกัน
– Ethelred เพราะเป็นบุคคลผู้มีนิสัยเหี้ยมโหดร้าย เห็นแก่ตัว เลยถูกกับดักล่าสัตว์ แล้วได้รับคำอธิบายทุกสิ่งอย่างที่บังเกิดขึ้นจากปากของ Louis Mazzini และเสียชีวิตจากการถูกยิง (อ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ)
– Reverend Lord Henry ถูกต้มตุ๋นโดย Louis Mazzini ปลอมตัวเป็น Anglican Bishop จาก Matabeleland หลงเชื่อสนิทใจ เลยถูกลักลอบวางยาพิษร้าย แค่เพียงอึกเดียวก็ตายคาที่ (อ้างว่าหัวใจวาย)
– General Lord Rufus ผู้ยังคงลุ่มหลงใหลกับการสู้รบสงคราม เปิดประป๋องปลาคาเวียร์ออกมา กลายเป็นระเบิดไม่หลงเหลือชิ้นดี
– Admiral Lord Horatio ประสบอุบัติเหตุเรือชน เลยตัดสินใจจมลงพร้อมกับเกียรติศักดิ์ศรีของตนเอง
– Lord Ascoyne ทนรับข่าวการเสียชีวิตของทุกคนในตระกูลไม่ไหว หัวใจวายตาย โดยที่ Louis Mazzini ยังไม่ได้ครุ่นคิดทำอะไร (คือเขาก็ไม่คิดจะทำอะไรอยู่แล้วด้วย เพราะเป็นผู้มีพระคุณที่ฉุดดึงตนเองให้ขึ้นมามีฐานะเทียบเคียง)
– Lady Agatha ผู้มีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการเรียกร้องสิทธิสตรี เลยขึ้นบอลลูนเพื่อป่าวประกาศโลกเสรี แต่ถูกลูกธนู(ของ Mazzini) ยิงตกลงมาคอหักตาย
– Young Ascoyne ถูกทรยศหักหลังจากเพื่อน(ที่เพิ่งเคยมี) Louis Mazzini ในห้องมืดที่มีเพียงตะเกียงน้ำมัน ถูกสลับสับเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันก๊าด ซึ่งพอจุดขึ้นจึงเกิดการระเบิดออกอย่างรุนแรง (ซึ่งหลังจาก Young Ascoyne เสียชีวิตจากไปไม่นาน Mazzini ก็เกี้ยวพาราสีภรรยาของเขา จนได้แต่งงาน แต่ไม่รู้ครองคู่รักกันหรือยังนะ)
– Young Henry ชายหนุ่มผู้มีความเจ้าชู้ประตูดิน ใช้ชีวิตอย่างล่องลอยไร้แก่นสาน ซึ่งระหว่างกำลังพรอดรักหญิงสาว ถูกปล่อยเชือกมัดเรือ ค่อยๆไหลตามลำธารจนตกน้ำตก จมน้ำตายคู่
แม้จะเข่นฆาตกรรมสมาชิก D’Ascoyne มาหลายคน แต่ Louis Mazzini กลับถูกจับในข้อหาที่เขาไม่ได้ก่อ แถมได้รับโทษตัดสินแขวนคอประหารชีวิต นั่นเป็นกลกรรมที่แสนอลเวง น่าหัวร่อเสียกระไร
ผมค่อนข้างประทับใจการถ่ายภาพตัวละครผ่านซี่กรงขังนี้ คือพยายามเลือกระยะ จัดวางตำแหน่งให้ใบหน้าอยู่ระหว่างกึ่งกลางซี่กรงขังพอดิบพอดี ซึ่งน่าจะแฝงนัยยะของการเล็ดรอด เอาตัวรอด แม้ถูกจับ แต่ในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ ซึ่งการแสดงออกของตัวละคร ยังเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งทะนง วางตัวหัวสูงส่ง สะท้อนความภาคภูมิใจ ว่าไม่มีใครจับไต๋ตนเองได้สำเร็จ
เสื้อคลุมของ Louis Mazzini มีลวดลายที่คล้ายซี่กรงขังอยู่ไม่น้อย ซึ่งช็อตรองสุดท้ายนี้ เมื่อถูกกระตุ้นเตือนโดยนักข่าวถามถึงบางสิ่งอย่าง มันทำให้เขาค่อยตระหนักว่าหลงลืมเจ้าสิ่งนั้นไว้ภายใน … แล้วนี่ฉันจะเอาตัวรอดต่อไปได้อย่างไร???
แซว: เมื่อเดินออกจากคุกมา Mazzini มีสองสามทางให้เลือก ประตูรถยนต์ของ Edith, รถม้าของ Sibella, หรือจะออกเดินโดยไม่ขึ้นรถใคร … แต่ดูแล้วน่าจะเคาะประตู หวนกลับเข้าไปในคุกเสียมากกว่า!
ตัดต่อโดย Peter Tanner (1914 – 2002) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Ealing Studios
หนังดำเนินเรื่องผ่านเสียงบรรยาย เล่าย้อนอดีตความทรงจำของ Louis D’Ascoyne Mazzini ซึ่งได้ทำการจดบันทึกไว้เป็น Memoir ระหว่างรอคอยการประหารชีวิตเช้าวันรุ่งขึ้น และเมื่อเหตุการณ์มาบรรจบยังปัจจุบัน ดำเนินต่อไปข้างหน้าอีกนิดกับสิ่งคาดคิดไม่ถึง
ลักษณะของการเล่าย้อนอดีต ใช้วิธีบรรยายแบบผ่านๆ นำเสนอแค่พอให้เห็นภาพ เรื่องราวคร่าวๆ เฉพาะช่วงเวลาเหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งจะก้าวกระโดดไปข้างหน้าเรื่อยๆ ล่องลอยราวกับความเพ้อฝัน นั่นทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกกว่าการกระทำอันชั่วร้ายทั้งหลาย เป็นรูปธรรมจับต้องได้สักเท่าไหร่
เทคนิคการดำเนินเรื่องดังกล่าว ดูแล้วคงได้รับอิทธิพลจาก Citizen Kane (1942) แต่หนังจะไม่ตัดกลับมาปัจจุบันสักครั้ง (เพราะไม่ได้เล่าเรื่องจากมุมมองตัวละครอื่น)
เพลงประกอบโดย Ernest Irving (1878 – 1953) สัญชาติอังกฤษ อีกหนึ่งขาประจำของ Ealing Studios
งานเพลงไม่ได้มีส่วนสำคัญมากนักต่อหนัง นอกจาก Diegetic Music ระหว่างงานเลี้ยง เล่นเปียโน ขับร้องโอเปร่า (Mozart: Don Giovanni) มักดังขึ้นเพื่อเติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกตัวละครในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ อาทิ เรือของ Young Ascoyne กำลังไหลตกน้ำตก, Louis Mazzini ง้างธนูยิงบอลลูน Lady Agatha ฯ
“Kind hearts are more than coronets, And simple faith than Norman blood”.
– บทกวี Lady Clara Vere de Vere (1842) แต่งโดย Alfred Lord Tennyson
บุคคลผู้มีจิตใจดีงาม ย่อมทรงคุณค่ากว่าสวมมงกุฎใด … แต่การแสดงออก พฤติกรรมภายนอก ก็หาได้สะท้อนถึงความครุ่นคิดจิตใจ ตัวตนของบุคคลนั้นแม้แต่น้อย! เราอาจพบเห็นเขาเป็นคนน่ารัก เอาใจใส่ นิสัยดีงาม นั่นอาจเป็นการเสแสร้ง สร้างภาพ เล่นละครตบตาแบบ Louis Mazzini ก็ว่าได้
ในประเทศอังกฤษ ‘การสร้างภาพ’ ถือเป็นค่านิยมทางสังคมประการหนึ่ง พบเห็นได้ทุกระดับชนชั้น โดยเฉพาะคำเรียกตนเองว่าผู้ดี หรือสุภาพชน แต่จริงๆแล้วอาจหาความสุภาพเรียบร้อยไม่ได้ด้วยซ้ำไป
ตระกูล D’Ascoyne คือตัวอย่างความเป็นผู้ดีอังกฤษ ที่พยายามสร้างภาพตัวเองให้ดูน่านับถือ แต่แทบทุกคนกลับหมกเม็ดด้วยความชั่วร้ายบางสิ่งอย่าง
– ผู้นำตระกูล Ethelred สนเพียงสายเลือดบริสุทธิ์ หลงใหลในอำนาจ เกลียดเดียจฉันท์ชนชั้นต่ำต้อยกว่า
– Reverend Lord Henry มากในความเชื่อศรัทธา เลยถูกตบตาด้วยภาพลักษณ์ภายนอก (เป็น Anglican Bishop ปลอมตัวมา)
– General Lord Rufus ลุ่มหลงใหลในอดีต วันๆเอาแต่ครุ่นประสบการณ์ชีวิตเคยพานผ่านสงครามสร้างชื่อให้กับตนเอง
– Admiral Lord Horatio ทะนงในเกียรติ ศักดิ์ศรี เชื่อมั่นในตนเองสูงจนออกคำสั่งผิดพลาด
– Lord Ascoyne แม้มีจิตใจดีงาม น่าชมเชย แต่เพราะเป็นสมาชิกตระกูล D’Ascoyne เลยมืดบอดมองไม่เห็นความชั่วเลวร้ายของพี่น้อง ลูกหลานของตนเอง
– Lady Agatha พยายามเรียกร้องโน่นนี่นั่น แล้วนำเอาความรุนแรงมาแก้ไขปัญหา
– Young Ascoyne มัวแต่ลุ่มหลงใหลในอิสตรี จนไม่สนสิ่งรอบข้าง หน้าที่ตนเอง
– Young Henry ใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไร้เป้าหมาย กระทั่งพบเจอความสนใจในการถ่ายภาพ และแอบลักลอบดื่มวิสกี้ไม่ให้ภรรยารับรู้เห็น (ปากอ้างว่าไม่ดื่ม เป็นมังสวิรัติ แต่จิตใจกลับมิได้ต้องการเช่นนั้น)
การเข่นฆาตกรรมของ Louis Mazzini คือสัญลักษณ์ของการฉีกกระชากหน้ากากสังคม ภาพลักษณ์ชนชั้นของอังกฤษ ให้ได้รับการเปิดโปง เผยออกมาให้โลกรับรู้ ผู้ชมพบเห็น จักได้จดจำและสำเนียกตนเอง ปลุกตื่นความฝัน เผชิญหน้าความจริง ยินยอมรับสิ่งถูกต้องในการกระทำ
ซึ่งหนังยังได้ย้อนแย้งผลลัพท์ของ Louis Mazzini กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี รับโทษประหารชีวิตจากอีกคดีที่ไม่ได้ก่อ … ผู้ชมอาจรู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งสาสมควร (เพราะความชั่วร้ายของตัวละคร สมควรได้รับโทษทัณฑ์อยู่ดี) แต่นั่นถือเป็นความบิดเบือน คลาดเคลื่อน กลับตารปัตรข้อเท็จจริง ลูกขุนตัดสินคดีความจากมุมมองภายนอก สะท้อนถึงระบบศาลหาความถูกต้องแท้จริงได้เสียที่ไหนกัน!
นอกจากประเด็นเรื่องการสร้างภาพ หนังยังเสียดสีล้อเลียนบุคคลผู้มากด้วยความทะเยอทะยาน เพ้อใฝ่ฝัน ต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไต่เต้า ก้าวขึ้นสูง ประสบความสำเร็จในลาภ ยศ การทำงาน ซึ่งวิธีการของตัวละคร Louis Mazzini สะท้อนที่สุดแห่งความเป็นไปได้ เมื่อไม่สามารถใช้วิธีธรรมดาสามัญ โหดโฉดชั่วสุดก็คือเข่นฆาตกรรม
และหนังยังซ่อนประเด็นเล็กๆมากมาย ผ่านตัวละครที่ถูกเข่นฆาตกรรม
– ความเย่อหยิ่งทะนงในเชื้อชาติพันธุ์ของ Ethelred (ถ้าในนิยายต้นฉบับ จะสอดแทรกประเด็นรังเกียจเดียดฉันท์ชาวยิว Anti-Semitic)
– ศาสนากำลังใกล้ถึงจุดสิ้นเสื่อมศรัทธา Louis Mazzini สามารถปลอมตัวเป็นบาทหลวง ขณะที่ Reverend Lord Henry ก็เป็นแค่ชายแก่เฝ้าสุสาน
– ชาวอังกฤษยังคงละเมอเพ้อภพถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ตนเองคือชนชาติมหาอำนาจ ผ่านตัวละคร General Lord Rufus และ Admiral Lord Horatio
– ตัวละครหญิงทุกคนในหนัง ต่างถูกบุรุษควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำ โดยเฉพาะ Lady Agatha ผู้พยายามเรียกร้องสิทธิสตรี กลับถูกยิงตกลงมาเสียชีวิต … สะท้อนถึงสังคมอังกฤษที่เชื่องช้าล้าหลังในแง่ Feminist
– ขณะที่คนรุ่นใหม่ชาวอังกฤษ ต่างไร้เป้าหมายชีวิต เที่ยวเตร่เหล่สาวไปวันๆ การงานไม่ยอมทำ ไร้ความรับผิดชอบชั่วดี กับตัวละคร Young Ascoyne และ Young Henry
โดยสรุปก็คือ Kind Hearts and Coronets เป็นภาพยนตร์mujทำการสะท้อนเสียดสีสังคม ล้อเลียนชนชาวอังกฤษ ยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถ้าไม่อยากให้ชาติเรานั้นถดถอยหลังลงคลอง จักต้องเลิกที่จะลวงหลอกตนเอง กระชากหน้ากาก เลิกสร้างภาพผู้ดีจอมปลอม แล้วหันมายินยอมรับ เผชิญหน้ากับความจริงเสียที!
หนังไม่มีรายงานทุนสร้างหรือรายรับ บอกแค่ว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม จนสามารถเข้าชิง BAFTA Awards: Best British Film แต่พ่ายให้กับ The Third Man (1949) [อันนี้ยินยอมรับได้!]
นี่ถ้าไม่เพราะผมเพิ่งรับชม Monsieur Verdoux (1947) อาจจะเกลียดเข้าไส้ Kind Hearts and Coronets (1949) เพราะนำเสนอการเข่นฆาตกรรมในลักษณะชวนหัว ตลกขบขัน (เรื่องพรรค์นี้มันขำไม่ออกสักเท่าไหร่!) แต่ด้วยนัยยะอันลุ่มลึกซึ้ง วิธีการนำเสนอชวนให้รู้สึกอึ้งทึ่ง ต้องชมเชยเลยว่าน่าประทับใจ เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของอาชญากร ที่อาจทำให้ผู้ชมสามารถตระหนักถึงแก่นสาระ โดยไม่สะสมภาพความรุนแรงไว้ภายใน
สิ่งชื่นชอบสุดของหนังก็คือ Alec Guinness แม้จะเพียงบทสมทบ ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร แต่สามารถทำให้ทุกตัวละครมีความกลมกลืน ไหลลื่นเป็นธรรมชาติ จะมีสักกี่คนสามารถทำได้แล้วออกมาตราตรึงขนาดนี้!
ผมค่อนข้างสองจิตสองใจกับการจะจัด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ดีไหม? เพราะสาสน์สาระของการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย เข่นฆ่าคนตาย เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเหมาะสมควรสักเท่าไหร่ แต่ด้วยไดเรคชั่นล่องลอยชวนฝัน ตลกชวนหัว น้อยคนจะสามารถตระหนักเข้าถึงจิตวิญญาณแท้จริงของหนัง
จัดเรต 13+ กับการเข่นฆาตกรรม ลักลอบชู้สาว และตัวละครแสดงออกอย่างไม่ยี่หร่าสักเท่าไหร่
Leave a Reply