King and the Clown

King and the Clown (2005) Korean : Lee Joon-ik ♥♥♥♥

ภาพยนตร์เกาหลีอิงประวัติศาสตร์ สร้างจากเรื่องจริง เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ายอนซัน (Yeonsangun of Joseon) กับนักแสดงละครเร่ (Clown, Jester) 2 คน จางแซง (Jang-saeng) และกองกิล (Gong-gil) กับการแสดงที่ทำให้พระองค์ยิ้มหัวเราะออกมาได้

แต่ละครที่จางแซง และกองกิลแสดงออกมานั้น ไม่ได้แค่ทำให้พระราชาหัวเราะเท่านั้น แต่สามารถฆ่าคนให้ตายได้ด้วย

ดัดแปลงจากบทละครเรื่อง Yi (You) ของ Kim Tae-woong เปิดการแสดงเมื่อปี 2000 ได้รับความนิยมล้นหลาม และกวาดรางวัล Stage Play of the Year จากหลายสำนัก, ซึ่งบทละครอ้างอิงมาจากข้อความใน พงศาวดารราชวงศ์โชซอน (Joseon Dynasty) ที่เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ายอนซัน จอมเผด็จการ กับนักแสดงละครเร่ที่ทรงโปรดปราน กองกิล ส่วนตัวละครจางแซง ได้ถูกสร้างเพิ่มขึ้นมา เป็นเหมือนพี่ของกองกิล ที่รักและห่วงใยน้องชายมาก, ชื่อละคร Yi เป็นคำของกษัตริย์ ที่เรียกสิ่งของที่พระองค์รัก

นำแสดงโดย Kam Woo-sung รับบท จางแซง, แม้นี่จะเป็นตัวละครที่เพิ่มเข้ามา แต่มีความสำคัญต่อเรื่องราวอย่างมาก เป็นเสมือนพี่ชายของ กองกิล (พี่แท้ๆไหมไม่รู้ หนังไม่ได้บอกไว้ แต่คิดว่าอาจจะเป็นสหายรักที่รู้จักกันมานานมากกว่า) จางแซงเป็นผู้มีความสามารถทางกายกรรมสูง (คิดว่าอาจจะมากกว่ากองกิลเสียอีก) ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง รู้จักผิดชอบชั่วดี และรักเพื่อนสนิทมิตรสหาย ถึงขั้นยอมตายแทนกันได้, การแสดงของ Woo-sung ถือว่า เท่ห์บาดใจ (แบบนี้ไม่ถือว่าหล่อนะ) พี่ชายที่แสนดี ชอบที่สุดคือช่วงที่เล่นเป็นคนตาบอดกับกองกิล ไม่คิดว่าตอนท้ายจะต้องมาตาบอดจริงๆ

Lee Joon-gi นักแสดงหน้าใหม่ รับบท กองกิล, ด้วยใบหน้า ผิวพรรณที่นุ่มนวล ถ้าให้แต่งหญิงใครๆคงคิดว่าเขาเป็นผู้หญิงแน่, การแสดงของ Joon-gi ว่ากันตามตรงก็ไม่ได้อะไรเท่าไหร่ นอกจากหน้าตา ท่าทางที่เหมือนผู้หญิง และสีหน้า น้ำตาที่เค้นอารมณ์เจ็บปวดออกมา ผมว่าตัวละคร จางแซง ยังมีบทโดดเด่นกว่าอีก, คือหนังนำเสนอ กองกิล เหมือนเด็กที่อ่อนแอ ยังไม่โต ต้องการการดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดู (นี่สะท้อนกับพระเจ้ายอนซัน ที่มีภายในเป็นเด็ก) กระทั่งตอนท้ายที่เหมือนกองกิล ต้องการตัดสินใจอะไรเอง แต่ไม่แคล้วต้องกลับมาพึ่งพาจางแซง

Jung Jin-young รับบท พระเจ้ายอนซัน กษัตริย์ที่มีปมโอดิปุส (Oedipus) ด้วยความที่พระมารดาถูกลอบปรงพระชนม์เมื่อครั้งพระองค์ยังเด็ก (ถูกวางยาพิษ) ทำให้ขาดความรักความอบอุ่นและความมั่นคง เกิดเป็นความรุนแรงฝังใจและความเครียดเก็บกดที่ไม่เคยถูกระบายออก ใบหน้าอันเคร่งครึมไม่เคยยิ้ม (เป็นเหมือนเกราะกำบังสร้างกำแพงเอาไว้) แต่พออยู่กับมเหสีสองต่อสอง กลับแสดงออกทำตัวเหมือนกับเด็กไม่รู้จักโต ซึ่งมเหสีก็จงใจทำตัวเป็นเหมือนแม่ ยอมให้พระเจ้ายอนซัน เป็นเหมือนลูก ซุกซ่อนอยู่ในสุ่มกระโปรงของเธอ

แต่เมื่อพระเจ้ายอนซันได้พบกับตัวตลก มุกแรกที่ขำ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน มันเหมือนการได้เติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหาย ระบายบางสิ่งบางอย่างออกไป, นี่ต้องถือว่าพระองค์มีอัจฉริยภาพ ความอ่อนไหวด้านศิลปะการแสดงอย่างมาก จึงสามารถรับรู้เข้าใจเรื่องราว ตีความนัยยะออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ทันที, ซึ่งอิทธิพลที่เกิดจากการรับรู้ เข้าใจนี้ ล้วนแต่คือสิ่งที่อยู่ในใจพระองค์ แต่ไม่เคยได้รับการค้นพบ ตีแผ่ นำเสนอออกมา การแสดงออกตอบโต้จึงมีลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่มีคุณธรรมศีลธรรมใดๆที่จะสามารถยับยั้งความดีความชั่วของพระองค์ได้ (มันคือการระบายความความอัดอั้นที่อยู่ในใจออกมา) คนส่วนใหญ่มองว่า การที่กษัตริย์ทำแบบนี้ คือทรราชย์ (Tyrant)

การแสดงของ Jin-young เมื่อครั้นเครียดก็เข้มมาก ครั้นหัวเราะก็ปากกว้างเป็นที่สุด เวลาอยู่ในห้องสองต่อสอง ก็ทำตัวเหมือนเด็กเล่นของเล่น ถือว่าเป็นตัวละครที่มีหลายบุคคลิก ต้องใช้หลากหลายเทคนิคการแสดง ปรบมือให้เลย ถือเป็นการแสดงที่น่าประทับใจมาก

สำหรับ 3 ตัวละครหลักนี้
– กองกิล เป็นตัวละครที่สะท้อนถึงความอ่อนแอในใจมนุษย์
– จางแซง สะท้อนถึงความเป็นความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในอุดมการณ์
– และพระเจ้ายอนซัน สะท้อนความลุ่มหลงใหล

ถ่ายภาพโดย Ji Kil-woong ถือว่าน่าประทับใจมาก โดยเฉพาะการแสดงบนเส้นเชือกของจางแซง มีการเลือกใช้มุมกล้องแปลกๆ ถ่าย Bird Eye View, Ant Eye View ถ่ายเท้าขณะเดิน ถือว่าดูน่าสนเท่ห์ไม่น้อย

สีสัน เสื้อผ้าหน้าผม การออกแบบฉาก ถือว่าจัดเต็ม มีความสมจริง (น่าจะถูกต้อง ตรงในประวัติศาสตร์) ของเล่นประกอบการแสดง ก็มีมากมายหลากหลาย อาทิ หน้ากาก, หุ่นนิ้ว, ชุดงิ้ว, ธงประดับ, เครื่องดนตรี ฯ ใช้ไม่ซ้ำกันเลย

ตัดต่อโดย Kim Sang-bum และ Kim Jae-bum, ตามคำอ้างของหนัง จุดศูนย์กลางคือกองกิล แต่ผมรู้สึกมุมมองของหนังกระจายไปทั่วทั้ง 3 ตัวละคร เด่นสุดคือ จางแซง, พระเจ้ายอนซัน จะชอบมาแย่งซีน ส่วนกองกิล จะไม่ค่อยมีอะไรเด่นให้พูดถึง

เพลงประกอบโดย Lee Byung-woo ที่เคยมีผลงาน A Tale of Two Sisters (2003), All for Love (2005), The Host (2006), Mother (2009) ฯ เนื้อเพลงถือว่ามีความโดดเด่น (เพลงประกอบก็ทั่วไป) ลีลาคำร้อง เสียดสี เสียดแทงได้ตรงใจ ใครฟังภาษาเกาหลีได้คงรู้สึกเหมือนได้ยินบทกวีขับขาน ด้วยสัมผัสที่สอดคล้องจอง (ถึงฟังไม่ออก แปลไม่ได้ แต่จะรู้สึกว่าถ้อยคำคล้องกัน)

มองในการแสดงแต่ละเรื่อง (เฉพาะที่ต่อหน้าพระราชานะครับ)
– เสียดสีพฤติกรรมของกษัตริย์ ที่วันๆกกตัวอยู่กับมเหสี ไม่สนใจเรื่องราวโลกภายนอก
– เสียดสีขุนนางผู้ฉ่อฉล เรื่องราวของขุนนางตัวใหญ่ มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง แต่ประพฤติเอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว โกงกินและคอรัปชั่น
– เสียดสีวัยเด็กของกษัตริย์ เรื่องราวของพระมารดาที่ถูกลอบวางยาพิษ ด้วยการแสดงงิ้วจีน ที่ใช้น้ำเสียงแหลมปี๊้ด เสียดแทงใจดำ

กับ 3 เรื่องนี้คือ ตัวเอง, คนรอบข้าง, วัยเด็ก ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวพระราชามากๆ นี่เป็นสิ่งที่ Satire ยอมรับได้ แต่เมื่อใดที่ตัวตลก เล่นเรื่องเกี่ยวกับ ข้างในจิตใจ ความชั่วร้ายของพระราชา เมื่อนั้นพระองค์รับไม่ได้ สั่งควักลูกตาจางแซงออกทันที

หนังเรื่องนี้ มีหลายประเด็นนำเสนอ ขึ้นอยู่กับผู้ชมว่า จะสังเกตเห็นในมุมมองของตัวละครไหน
– กองกิล, ผู้แสวงหา โหยหวนในความรักและอิสระภาพ แต่จะเป็นไปได้ยังไงกับ … พระราชา
– จางแซง, ความทะเยอทะยานในอาชีพการแสดง จากขอทานชั้นต่ำ สู่ตัวตลกชั้นสูงแสดงให้พระราชาดู
– พระเจ้ายอนซัน, การค้นพบ เข้าใจตัวตน และการปลดปล่อยความต้องการ สู่อิสระภาพอันไร้ขอบเขต

จะเห็นว่าทั้ง 3 ใจความที่ผมยกมานี้ จะมีสิ่งที่ดูไกลเกินเอื้อมไขว่คว้าอยู่ นี่คงเป็นเป้าหมายของหนังเรื่องนี้ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในสูงสุด ขอบเขตในแต่ละหัวข้อ, กระนั้น ณ จุดปลายฝันที่เอื้อมไขว่คว้ามานั้น มันจะมีผลลัพท์บางอย่างที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น
– กองกิล, พยายามฆ่าตัวตาย (เพราะผิดหวังในความอ่อนแอของตนเอง)
– จางแซง, เมื่อแสดงสิ่งที่พระราชาไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน จึงถูกทำลายลูกตา ไม่ให้มองเห็นอีกต่อไป
– พระเจ้ายอนซัน, เมื่อแสดงออกอย่างไร้ขอบเขต ขุนนางไม่พอใจ สุดท้ายเกิดกบฎ ปฏิวัติ ล้มล้างอำนาจ ไม่มีใครนับถืออีกต่อไป

ด้วยทุนสร้าง ₩4 พันล้านวอน ทำเงินในเกาหลีใต้สัปดาห์แรก ₩6.5 พันล้านวอน ทำเงินรวมทั่วโลก $74.4 ล้านเหรียญ ได้รับความนิยมแบบไม่คาดคิดมาก่อน, ยอดจำหน่ายตั๋วในเกาหลีรวมแล้ว 12.3 ล้านใบ มากกว่า Taegukgi (2004) ที่ทำได้ 11.7 ล้านใบ ถือว่าเป็นหนังที่มียอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดในเกาหลีใต้ (ขณะนั้น) แต่ก็ถูก The Host แซงได้แบบไม่เห็นฝุ่น 13 ล้านใบ ในไม่กี่เดือนถัดมา

ตอนที่หนังเรื่องนี้ทำยอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดในเกาหลีใต้ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะหนังไม่มีดาราดัง ทุนไม่สูง ฉากบู๊แอ๊คชั่นอลังการก็ไม่มี การโปรโมทก็ธรรมดาทั่วไป แถมเป็นหนังดราม่าอิงประวัติศาสตร์ที่ดูไม่น่าสนใจแม้แต่น้อย ไฉนกลับทำเงินมหาศาล?, มีการวิเคราะห์ ถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จ
– สาเหตุหลักคือ สามารถชักชวนผู้ชมวัยกลางคนให้กลับมาเข้าโรงภาพยนตร์ได้, ถ้ามองหนังทำรายได้สูงสุด 2 เรื่องก่อนหน้า Silmido (2003) และ Taegukgi (2004) จะพบว่าความสำเร็จเกิดจากเป้าหมาย ผู้ชมวัยกลางคน ที่หวนกลับเข้ามาชมหนังในโรงภาพยนตร์ ซึ่งหนังเรื่องนี้มีการสำรวจพบว่า 18 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชม อายุมากกว่า 40 ปี
– หนังสามารถดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ วัยรุ่นและชาวรักร่วมเพศ, ผู้ชมรุ่นใหม่ สามารถตีความหนังได้หลากหลาย การดูซ้ำจะทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ถึงขนาดเกิดเป็นชุมชนออนไลน์ แฟนคลับ (คล้ายๆกับคลับใน pantip.com)
– อิทธิพลจาก ละครเวทีเรื่อง Yi ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง มีฐานแฟนคลับจำนวนมาก นี่ย่อมช่วยดึงผู้คนจำนวนมากให้สนใจ
– ปรากฎการณ์ Lee Jun-gi นักแสดงหนุ่มหน้าสวย, ในวงการบันเทิงเกาหลีสมัยนั้น มีความเชื่อว่าต้องใช้ดาราดังเพื่อให้หนังประสบความสำเร็จ แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีดาราดัง แต่กลับเป็นการแจ้งเกิดของ Lee Joon-ki กลายเป็นปรากฎการณ์ ‘ฟิน’ ในหมู่วัยรุ่นคนหนุ่มสาว

หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการเปิดประตูสู่ยุคสมัย “ขายวัฒนธรรม” ของเกาหลีใต้อย่างเต็มตัว

ส่วนตัวประทับใจหนังเรื่องนี้มากจนถึงขั้นหลงรัก เพราะเรื่องราวที่สะท้อนอิทธิพลของศิลปะการแสดงต่อมนุษย์ แม้รูปแบบ สื่อกลาง ที่ใช้นำเสนอจะเปลี่ยนไป แต่แก่นแท้ของศาสตร์แขนงนี้ไม่เคยเปลี่ยน

และหนังเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักถึงแนวคิด Satire การล้อเลียนและการวิพากย์วิจารณ์ ที่มีคนหนึ่งสนุกหัวเราะไปกับมัน แต่กับอีกคนที่สะท้อนความจริงออกมา เขาคงขำไม่ออก, ความบันเทิงทุกชนิดถือว่าเป็นเหรียญสองด้านทั้งหมด มีคนชื่นชอบก็ต้องมีคนเกลียด ให้ความสนุกสนานก็ต้องมีคนทุกข์โศก ฯ จริงอยู่ที่ใจความของ Satire คือทำให้ผู้ชมสนุกสนานเพลิดเพลิน ขณะเดียวกันก็ทำให้คนตระหนักถึงความจริง สะท้อนภาพที่มองไม่เห็น … แต่จะเป็นประโยชน์หรือโทษ อยู่ที่มุมมองของผู้ชม จะคิดตีความ เข้าใจ แสดงออกมาอย่างไร

คนที่บอกว่าการแสดง/ละครเวที/ภาพยนตร์ คือสิ่งที่แค่สร้างความบันเทิงให้รู้สึกผ่อนคลาย คุณคือคนที่มองโลกแค่ด้านเดียว อีกด้านหนึ่งคือ ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ อาชีพการงาน ชีวิตและจิตวิญญาณ … การแสดงคือหนึ่งในศาสตร์ ที่ทำให้มนุษย์เฉลียวฉลาด และเหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน

แนะนำกับคอหนังเกาหลี แนวดราม่าจัดๆ ชอบหนังแนวประวัติศาสตร์ และการแสดงที่สามารถเปลี่ยนโลกได้

จัดเรต 13+ กับความรุนแรงทางอารมณ์ และทรราชย์ (Tyrant) อันโหดเหี้ยม

TAGLINE | “King and the Clown เป็นหนังที่ทำให้ตระหนักได้ว่า ศิลปะการแสดงมีอิทธิพลต่อมนุษย์มากแค่ไหน”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: