King Solomon’s Mines (1950)
: Compton Bennett, Andrew Marton ♥♥♥♡
ดัดแปลงจากนิยายผจญภัยก้องโลก King Solomon’s Mines (สมบัติพระศุลี) ของท่าน Sir H. Rider Haggard ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พนมเทียน เขียนเพชรพระอุมา, กับฉบับมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด นำแสดงโดย Deborah Kerr, Stewart Granger เข้าชิง Oscar 3 สาขา คว้ามา 2 รางวัล Best Cinematography และ Best Edited
ผมเคยอ่านเพชรพระอุมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน คุ้นๆว่าใช้เวลาตลอดช่วงปิดเทอมและเปิดเทอมใหม่จนใกล้สอบ (รวมๆประมาณ 2-3 เดือน) กว่าจะอ่านจบทั้ง 48 เล่ม รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่ก็พอจับใจความคร่าวๆได้ไม่เคยหลงลืม, รับชมหนังเรื่องนี้ทำเอาผมใจหายพอสมควร เห็นได้ชัดว่ามีหลายๆองค์ประกอบคล้ายคลึงกันอย่างมาก แต่ผมคงไม่ขอตัดสินเรื่องลอกหรือไม่เลียนแบบ เพราะแรงบันดาลใจมันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ถึงโครงสร้างจะเหมือนแต่วิธีการเขียนดำเนินเรื่อง อรรถรสที่ได้มีความแตกต่าง และคุณพนมเทียนก็ยังให้เครดิตแรงบันดาลใจต่อ King Solomon’s Mines ไม่ใช่แอบเขียนแล้วมีใครมาจับได้ แบบนั้นคงไม่น่ายอมรับเท่าไหร่
King Solomon’s Mines (1885) เป็นผลงานของนักเขียนสัญชาติอังกฤษ Sir Henry Rider Haggard (1856 – 1925) เกิดที่ Bradenham, Norfolk เป็นลูกคนที่ 8 จาก 10 คนของ Sir William Meybohm Rider Haggard (ทนายความ) กับ Ella Doveton (นักเขียน) พออายุได้ 19 ปี พ่อส่งตัวไปอาศัยอยู่ทวีปแอฟริกา เป็นผู้ช่วย Sir Henry Bulwer ผู้ว่าการรัฐเมืองขึ้น Colony of Natal ที่ต่อมากลายเป็น Republic of the Transvaal หรือประเทศ South Africa, หลังจากใช้ชีวิตอยู่หลายปี เติบโตเรียนรู้ พบเจออะไรต่างๆมากมาย เดินทางกลับอังกฤษปี 1882 เกิดความสนใจตีพิมพ์หนังสือนิยายเกี่ยวกับสิ่งเขาได้ค้นพบใน Lost World (โลกที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ) แรกๆก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จนกระทั่งเขียน King Solomon’s Mines วางขายเมื่อเดือนกันยายนปี 1885 กลายเป็นนิยายขายดีมีชื่อเสียงที่สุดของ Haggard กับคำโปรยในโปสเตอร์ว่า ‘The Most Amazing Book Ever Written’
King Solomon เป็นชื่อของกษัตริย์ในคำภีร์ไบเบิ้ล ได้รับการยกย่องเรื่องความเฉลียวฉลาด (wisdom) และความร่ำรวยมหาศาล (wealth) มีภรรยา 700 คน และนางสนมอีก 300 คน ปกครอง Kingdom of Israel ครองราชย์ช่วงปี 970 – 931 BCE, ตำนานของนิยายเรื่องนี้เล่าว่า King Solomon ได้สั่งให้มีการสร้าง Solomon’s Great Road และเหมืองแร่เก็บขุมทรัพย์สมบัติในดินแดนของ Kukuana Land โดยมีจุดสังเกตคือภูเขาสองลูกสูงตระหง่านตั้งชื่อว่า ‘Sheba’s Breasts’ (ปทุมถันของ Queen of Sheba หญิงสาวที่ Solomon หลงใหลคลั่งไคล้ในความงาม ถึงขนาดยินยอมมอบทุกสิ่งอย่าง แก้วแหวนเงินทอง เพชรพลอยให้เธอเป็นของกำนัน แลกกับความรักและ Sex)
แต่เรื่องราวของนิยายไม่ใช่การค้นหา Solomon’s Mines แต่เป็นตามหาชายคนหนึ่งที่สูญหายไปในทวีปแอฟริกา จากการที่เขาออกเดินทางสำรวจค้นหาขุมทรัพย์แห่งนี้
ก่อนหน้านี้มีการดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วครั้งหนึ่ง
– King Solomon’s Mines (1937) ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ กำกับโดย Robert Stevenson นำแสดงโดย Paul Robeson, Cedric Hardwicke, Anna Lee
หลังจากหนังเรื่องนี้ มีการสร้างใหม่อีกหลายครั้ง อาทิ
– King Solomon’s Treasure (1979) ภาพยนตร์ทุนต่ำสัญชาติ British-Canadian กำกับโดย Alvin Rakoff
– King Solomon’s Mines (1985) ภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน กำกับโดย J. Lee Thompson นำแสดงโดย Richard Chamberlain, Sharon Stone, Herbert Lom และ John Rhys-Davies
– King Solomon’s Mines (2004) ภาพยนตร์ mini-Series สัญชาติอเมริกา ความยาว 2 ตอน กำกับโดย Steve Boyum
ฯลฯ
สตูดิโอ MGM มีความต้องการดัดแปลงสร้าง King Solomon’s Mines มาสักพักใหญ่แล้ว ซื้อลิขสิทธิ์ Remake จากผู้สร้าง King Solomon’s Mines (1937) มอบหมายให้ Sam Zimbalist โปรดิวเซอร์ขาใหญ่ของสตูดิโอ เข้ามาควบคุมงานสร้างหนัง ซึ่งก็ได้วางแผนถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Technicolor และจัดทริปสู่กาฬทวีป
Sam Zimbalist (1904 – 1958) โปรดิวเซอร์สัญชาติอเมริกา จากคนตัดฟีล์มให้กับ Metro Studios ในยุคหนังเงียบ เมื่อต้นสังกัดรวมตัวกับ Goldwyn Pictures กลายเป็น MGM ได้กลายเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ และดูแลงานสร้างภาพยนตร์เต็มตัวตั้งแต่ปี 1936 ผลงานในตำนานมักเป็นแนว Epic, Adventure ประกอบด้วย King Solomon’s Mines (1950), Quo Vadis (1951), Mogambo (1953), Ben-Hur (1959) ฯ
Zimbalist มอบหมายให้ Helen Deutsch ดัดแปลงบทภาพยนตร์ ซึ่งเธอได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างจากนิยาย แต่ที่ต้องพูดถึงเลยคือ การให้ตัวละคร Henry Curtis ที่เดิมออกเดินทางค้นหาพี่ชายร่วมกับไกด์ Allan Quatermain และเพื่อนสนิท Captain Good กลายเป็นเป้าหมายของหนัง บุคคลที่หายตัวไป แล้วเพิ่มตัวละครเพศหญิง Elizabeth Curtis ภรรยาของ Henry เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะเดินทาง
การเปลี่ยนแปลงนี้ถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อเรื่องราวของภาพยนตร์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ Deutsch ได้โอกาสเพิ่มเรื่องราวกุ๊กกิ๊กรักโรแมนติกของ Allan Quatermain กับ Elizabeth Curtis เข้าไป เริ่มต้นจากการเป็นคู่กัด ไม่ชอบขี้หน้า แต่หลังๆจะค่อยๆเคลิบเคลิ้มหลงใหล แปรสภาพเป็นความรัก (ทั้งในจอและชีวิตจริง)
สำหรับผู้กำกับคนแรก Compton Bennett (1900 – 1974) สัญชาติอังกฤษ มีชื่อเสียงจาก The Seventh Veil (1945) ทำให้ Zimbalist ติดต่อชักชวนให้มาร่วมงานด้วย แต่ก็ไม่รู้ถ่ายทำเตรียมงานไปมากน้อยขนาดไหน เห็นว่าเกิดข้อขัดแย้งกับนักแสดง Stewart Granger ทำให้ต้องถอนตัวออกไป
(เห็นว่าเพราะสไตล์การทำงานของ Bennett -ที่ก็ไม่รู้เป็นยังไง- ไปได้เยี่ยมกับที่อังกฤษ แต่พอย้ายมา Hollywood กลับไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลง เกิดความขัดแย้งกับนักแสดงหลายคน สุดท้ายตัดสินใจกลับบ้านเกิด เปลี่ยนแนวไปกำกับละครเวทีและภาพยนตร์โทรทัศน์แทน)
Andrew Marton ชื่อเล่น Bandy (1904 – 1992) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ นักตัดต่อสัญชาติ Hungarian เกิดที่ Budapest หลังเรียนจบทำงานที่ Sascha-Film เป็นผู้ช่วยนักตัดต่อ ได้รับการยั่วยวนจาก Ernst Lubitsch ให้มาแสวงโชคที่ Hollywood แต่อยู่ไม่นานก็กลับยุโรปทำงานที่ Berlin, Vienna, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two O’Clock in the Morning (1929), Marton อาจไม่ใช่ชื่อของผู้กำกับในตำนาน แต่เขามักคุมงานสร้างเป็น Second Unit ซึ่งได้กลายเป็นตำนานกับฉากแข่งราชรถ Chariot Race จากหนังเรื่อง Ben-Hur (1959)
การเข้ามาของ Marton เห็นว่าทำให้ Stewart Granger กลายเป็นลูกแมวไปเลย
ทั้งๆที่หนังเรื่องนี้เป็นแนวผจญภัยเข้าป่า เกี่ยวกับผู้ชาย แต่นักแสดงนำที่ประกาศชื่อออกมาคนแรกกลับคือ Deborah Kerr (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติ Scottish เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้สักรางวัล จนรับมอบ Honorary Award เมื่อปี 1994, ผลงานดัง อาทิ Black Narcissus (1947), Quo Vadis (1951), From Here to Eternity (1953), The King and I (1956), An Affair to Remember (1957) ฯ
รับบท Elizabeth Curtis (เด็ก)หญิงสาวหน้ามน แก่นซน ดื้อด้าน เอาแต่ใจ คงเพราะตั้งแต่เด็กได้รับการเลี้ยงดูแบบประคบประหงมเอาใจ อยากได้อะไรต้องได้ ไม่เคยประสบพบความยากลำบาก, แรกๆของการออกเดินทางก็เต็มไปด้วยความหยิ่งผยอง แต่ก็ค่อยๆได้รับบทเรียนของชีวิต และสามารถปรับตัวเอาชนะทุกคำสบประมาท แถมด้วยค้นพบความต้องการแท้จริงของใจตนเอง
คงเพราะภาพลักษณ์เริดเชิดหยิ่งของ Kerr ทำให้มักได้รับบทตัวละครที่มีความหยิ่งผยอง จองหอง โลกสวย มองตัวเองสูงส่งกว่าผู้อื่น แต่สุดท้ายมักถูกอะไรบางอย่างดึงชักกลับลงมา ตกหลุมรักใครสักคนธรรมดา หรือค้นพบเจอความจริงบางสิ่งอย่าง, ฉากที่ Elizabeth ตัดผม ไม่รู้ยังมีคนขำกลิ้งแบบผมหรือเปล่า คือหลังจากอาบน้ำสระผมเสร็จ เห็นอีกทีกลายเป็นฟูฟ่อง นี่เจ๊ไปหาไดเป่าม้วนผมที่ไหนกันเนี่ย!
Stewart Granger ชื่อเดิม James Lablache Stewart (1913 – 1993) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Kensington, London โตขึ้นเข้าเรียนที่ Epsom College ตามด้วย Webber Douglas Academy of Dramatic Art เมื่อกำลังจะเข้าสู่วงการ ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพราะไม่ต้องการไปซ้ำกับ James Stewart, เริ่มมีผลงานจากละครเวที ตัวประกอบภาพยนตร์ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชื่อเสียงจาก The Man in Grey (1943) ตามด้วย The Lamp Still Burns (1943) และ Fanny by Gaslight (1944), เดินทางสู่ Hollywood เซ็นสัญญาทาส 7 ปีกับ MGM มีผลงานเรื่องแรก King Solomon’s Mines (1951)
รับบท Allan Quatermain ไกด์ทัวร์แห่งแอฟริกา เป็นคนที่ผ่านพบเจออะไรมากมายในชีวิต คงเพราะการอาศัยอยู่กาฬทวีปมานานหลายปี เรียนรู้ค้นพบมุมมืดของโลกและจิตใจของมนุษย์ การสูญเสียภรรยาคนรักไปนานหลายปีทำให้เกิดความอ้างว้างโดดเดี่ยว เบื่อหน่ายท้อแท้ต่อทุกสิ่ง เพ้อฝันอยากได้เงินสักก้อน ส่งไปให้ลูก(จะได้หมดภาระ) และนำพาตัวเองออกจากดินแดนนรกแห่งนี้
ต้องถือว่าประสบการณ์นำทางของ Quatermain ทั้งการพูดคุยสื่อสาร รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง มีความเชี่ยวชำนาญ สามารถเอาตัวรอดได้แทบจะทุกสถานการณ์ เพราะเหตุผลนี้เราสามารถมองความเบื่อหน่ายที่อยู่ในจิตใจของเขา คือการขาดความท้าทายในการใช้ชีวิต มันจำเป็นต้องมีอะไรตื่นเต้นท้าทายเร้าใจ ปลุกเร้าให้อะดรีนาลีนหลั่งคลั่ง กระตุ้นการมีชีวิตของตนเอง
การได้เป็นไกด์นำทางสู่ดินแดนไม่เคยมีใครย่างกรายเข้าไปถึง ถือเป็นความท้าทาย ขนลุกเนื้อเต้น แต่เราจะไม่พบเห็น Quatermain แสดงออกมา เพราะเขากำลังมีความเพลิดเพลินในการทรมาน Elizabeth Curtis หญิงสาวที่แอบหลงเสน่ห์แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจความต้องการของตัวเองนัก ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเธอที่มอบรอบจูบแบบ Whatever! ความโรแมนติกที่คลาสสิกเสียจริง
การแสดงของ Granger ออกไปทาง Classic-Acting นิ่งๆกวนๆ เน้นการพูดเสียดสีประชดประชัน ไม่ค่อยแสดงออกทางสีหน้าความรู้สึกนัก แตกต่างจาก Kerr ที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง passion และอารมณ์, ก็ไม่รู้ชายคนนี้มีความน่าหลงใหลอะไร สาวๆเห็นคงฟินกับความกำยำแข็งแกร่ง แมนๆห้าวๆ น่าจะพอเรียกว่า anti-hero ได้อยู่
Richard Dutoit Carlson (1912 – 1977) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Albert Lea, Minnesota เข้าเรียนการแสดงที่ University of Minnesota เริ่มต้นจากเป็นผู้กำกับละครเวที แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เดินทางสู่ New York City กลายเป็นนักแสดง Broadway ได้รับการชักชวนจาก David O. Selznick ให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Young in Heart (1939) คงเพราะไม่ได้รับการจดจำเท่าไหร่จึงเป็นนักแสดง freelance มีผลงานกับหลากหลายสตูดิโอ โด่งดังสุดในชีวิตกับการเป็นส่วนหนึ่งของ King Solomon’s Mines ซึ่งระหว่างการถ่ายทำที่แอฟริกา ได้เขียนบทความลง The Saturday Evening Post ชื่อว่า Diary of a Hollywood Safari มีผู้ติดตามสนใจอย่างมาก (อาจคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จล้นหลาม)
เกร็ด: ใครสนใจอ่านบทความ Diary of a Hollywood Safari คลิกโลด https://www.unz.org/Pub/Colliers-1950jul08-00022
รับบท John Goode (ในนิยายคือ Captain Good) พี่ชายของ Elizabeth ที่ขันอาสาให้การช่วยเหลือ เป็นผู้จัดหาไกด์นำทางให้ ร่วมออกเดินทางผจญภัยไปด้วย และยินยอมรับการตัดสินใจของน้องสาว
สำหรับนักแสดงอีกคนที่คงต้องพูดถึงคือแงซาย … ไม่ใช่แล้ว Umbopa รับบทโดย Siriaque ชาวพื้นเมืองแอฟริกัน แท้จริงแล้วคือเจ้าชายของชนเผ่าที่ถูกขับไล่ กำลังหาทางกลับสู่ดินแดนของตนเอง ขันอาสาเป็นผู้ร่วมเดินทาง แบกของหาบเร่ บทพูดไม่เยอะแต่ภาพลักษณ์ใครๆคงจดจำได้
เรื่องราวการทวงสิทธิ์คืนบัลลังก์อันชอบธรรมของ Umbopa จากกษัตริย์องค์เก่า ก่อนปราบดาขึ้นเป็นกษัตริย์ใหม่ เป็นพล็อตรองที่สะท้อนกับเรื่องราวการเดินทางของ Elizabeth ที่เป็นการตามหาทวงคืนสามีเก่า แต่กลับได้สามีใหม่ *-*
ถ่ายภาพโดย Robert L. Surtees ตากล้องสัญชาติอเมริกันในตำนาน ผู้คว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 3 ครั้งจาก King Solomon’s Mines (1950), The Bad and the Beautiful (1952), Ben-Hur (1959) นอกจากนี้ยังมีผลงานอย่าง Quo Vadis (1951), The Graduate (1967), The Last Picture Show (1971), The Sting (1973) ฯ
เป็นความน่าเสียดายประการหนึ่ง ถึงหนังจะถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Technicolor แต่กลับถูกจำกัดด้วยขนาด 1.37 : 1 ไม่ใช่ภาพกว้างๆของ Widescreen จึงขาดรสสัมผัส กลิ่นอายของผืนแผ่นดินสะวันนาอย่างแท้จริง สุดลูกหูลูกตาแบบ Ben-Hur หรือ Lawrence of Arabia, กระนั้นหนังได้บันทึกภาพฝูงสรรพสัตว์มากมายนับไม่ถ้วน แทรกใส่มาแทบจะทุกๆ 2-3 นาที นี่ทำให้ผมเกิดความฉงนเลยทีเดียว ว่ากำลังดู King Solomon’s Mine หรือสารคดีทัวร์ทวีปแอฟริกากันแน่
แซว: เห็นงานภาพลักษณะนี้ ชวนให้หวนระลึกถึง Chang: A Drama of the Wilderness (1927) สารคดีหนังเงียบที่มาถ่ายทำในประเทศไทยเรื่องแรก ก็เต็มไปด้วยภาพของสรรพสัตว์ในป่าของประเทศไทย
สถานที่ถ่ายทำในแอฟริกาประกอบด้วย
– Murchison Falls ประเทศ Uganda;
– Astrida, Tutsi, Volcano Country, Stanleyville ประเทศ Belgian Congo;
– Rumuruti, Machakos ประเทศ Kenya;
– ประเทศ Tanganyika (บอกตามตรงว่าไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้)
เกร็ด: King Solomon’s Mines คือภาพยนตร์ Hollywood (ที่ไม่ใช่สารคดี) เรื่องที่สองถัดจาก Trader Horn (1931) ถ่ายทำในทวีปแอฟริกา
แต่ฉากทะเลทราย น้ำตก และในถ้ำ กลับมาถ่ายทำที่ New Mexico อาทิ Slaughter Canyon Cave ใน Carlsbad Caverns National Park, น้ำตก Sitting Bull Falls ที่ Lincoln National Forest ฯ
การถ่ายทำเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทีมงานต้องประสบกับความร้อนที่ไม่คุ้นเคย, โรคบิดจากอาหารการกิน, มาลาเรีย, ไข้ป่า, งู, ยุง ฯ แต่ที่อันตรายสุดเห็นว่ามาจากชาวเผ่า Masai ที่อนุญาตให้ทีมงานเก็บภาพประเพณีโบราณการเต้น War Rituals รวบรวมผู้คนได้กว่า 500 คน ร้องเล่นเต้นไปมาเป็นเวลาสองวันสองคืน จนเกิดอาการสติแตก ไล่เขวี้ยงขว้างหอกใส่ชาวผิวขาว (คงเห็นภาพหลอน คิดว่าพวกเขาเป็นศัตรู) ถึงขนาด Deborah Kerr ต้องปีนหนีขึ้นต้นไม้ กลายเป็นแรงบันดาลใจ เพิ่มใส่ฉากนั้นเข้าไปในหนัง
ฉากไฮไลท์ที่น่าหวาดเสียวทีเดียวคือ Animal Stampede กล้องเคลื่อนไหวตามติดฝูงสรรพสัตว์ที่วิ่งหนีไฟป่าอย่างบ้าคลั่ง (จุดล้อมก็โดยทีมงานนะแหละ) มันจะมีจังหวะที่ฝูงสัตว์วิ่งไปทางขวา พอได้ยินเสียงปืนจะสะดุ้งตกใจ พร้อมเพรียงกันโยกวิ่งไปทางซ้าย นี่เป็นช็อตสวยงามที่หาได้ยากยิ่ง แต่เพราะมันมีความเสี่ยงอันตราย มีชาวพื้นเมืองที่เกิดความหวาดกลัวออกวิ่งหนีทิ้งกล้องไว้ตรงนั้นให้ถูกเหยียบย่ำ (ก็ไม่รู้หนีเอาตัวรอดได้หรือเปล่านะ) ส่วนฉากที่วิ่งผ่านนักแสดง กลับมาถ่ายทำในสตูดิโอที่อเมริกานะครับ รวมถึงฉากเสือวิ่งผ่าน, เสือดาวตะกุยเต้นท์ ฯ เพราะมันเสี่ยงอันตรายเกินไป
ตัดต่อโดย Ralph E. Winters กับ Conrad A. Nervig สองตำนานนักตัดต่อ
– Winters สัญชาติ Canadian คว้า Oscar: Best Edited สองครั้งจาก King Solomon’s Mines (1950) และ Ben-Hur (1959) ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ On the Town (1949), Quo Vadis (1951), Seven Brides for Seven Brothers (1954), High Society (1956),Jailhouse Rock (1957), The Great Race (1965) ฯ
– Nervig สัญชาติอเมริกา คือนักตัดต่อคนแรกที่คว้า Oscar: Best Edited จากเรื่อง Eskimo (1934) และได้ครั้งที่สองกับ King Solomon’s Mines (1950) ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ A Tale of Two Cities (1935), The Bad and the Beautiful (1953) ฯ
เมื่อสองตำนานมาร่วมมือกัน ผลลัพท์ย่อมต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ, ลักษณะการตัดต่อ ใช้การผสมผสานเรื่องราวธรรมชาติ วิถีชีวิตของสัตว์ป่าในสะวันน่า เข้ากับเรื่องราวหลักของหนัง การเดินทางค้นหา Henry Curtis ดำเนินไปอย่างเคียงคู่พร้อมเพียงแบบแยกกันไม่ออก นี่เป็นการทำให้ผู้ชมเกิดความระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าพวกเขากำลังผจญภัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ดินแดน Unknown ที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะพบเจออะไร
มันมีความเซอร์ไพรส์มากมายเกิดขึ้น แทรกเข้ามาระหว่างการเดินทาง อาทิ อยู่ดีๆงูก็โผล่เข้ามา บางทีก็เสือ แรด ฮิปโป จระเข้ ฯ ผู้ชมสมัยนั้นคงเกิดความสะดุ้ง สะพรึงกลัว ตื่นตาตกใจไปพร้อมกับตัวละคร แถมหนังไม่มีเสียงเพลงประกอบจึงทำให้เกิดความลุ้นระทึกสมจริง (มีเสียง Sound Effect ของสรรพสัตว์บ้างประปราย) ราวกับเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมคณะ เดินทางท่องไปในซาฟารี
สำหรับเพลงพื้นเมืองแอฟริกาที่ได้ยินในหนัง มีคำเรียกว่า African Drums and Chanting เรียกว่าเป็น Main Theme ประกอบหนังก็ได้ เพราะจะไม่มีเสียงเพลงอื่นให้ได้ยินเท่าไหร่ (คิดว่าเหตุผลที่หนังไม่ใส่เพลงประกอบ เพราะหานักแต่งเพลงที่มีความรู้เชี่ยวชาญในดนตรีพื้นบ้านแอฟริกันไม่ได้แน่ๆ)
เรื่องราวการเดินทาง ผจญภัย หาสมบัติ มักเน้นความสนุกสนาน ขายความแปลกแตกต่าง ในสิ่งที่ผู้คนไม่เคยรู้พบเห็นมาก่อน ให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ อึ้งทึ่ง เปิดโลกทัศน์ และได้รับความรู้ใหม่, ในอดีตยุคสมัยหนึ่งนี่เป็นแนวที่ได้รับความนิยมสูงมากๆ ปัจจุบันลดน้อยลงไปเพราะ Lost World ส่วนใหญ่ได้ถูกสำรวจค้นพบ จนแทบไม่อะไรใหม่หลงเหลือให้น่าค้นหาสักเท่าไหร่
เชื่อว่าผู้ชมชาวยุโรป อเมริกา สมัยก่อนคงตื่นตาตื่นใจกับการผจญภัย สำรวจโลกใหม่ ไม่ใช่แค่กับหนังเรื่องนี้ อาทิ
– The African Queen (1951) ของผู้กำกับ John Huston ล่องเรือไปในลำน้ำ Ulanga River,
– The River (1951) ของผู้กำกับ Jean Renoir ไปถ่ายทำยังประเทศอินเดีย,
– Around the World in 80 Days (1956) หนังรางวัล Oscar: Best Picture นี่ก็หลายประเทศเลยละ
– Black Orpheus (1959) หนังรางวัล Palme d’Or ถ่ายทำเทศกาล Carnival เมือง Rio de Janeiro
ฯลฯ
ในวงการภาพยนตร์ การมาถึงของฟีล์มสี Technicolor เรียกได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการสำรวจ เปิดโลกทัศน์มุมมองสีสันใหม่ๆ, คล้ายๆยุคของการล่าอาณานิคม ออกเดินทางท่องไปสำรวจ ยึดครองบันทึกภาพ นำเอาสิ่งเหล่านั้นไปเสนอให้ชาวตะวันตกได้พบเห็น
เรื่องราวของ King Solomon’s Mines ใจความคือการค้นหาความต้องการแท้จริงที่อยู่ในจิตใจมนุษย์
– Henry Curtiz เดินทางเพื่อค้นหาขุมทรัพย์ Solomon’s Mines
– Elizabeth Curtis คนหาอดีตสามีเก่า สุดท้ายได้ค้นพบเจอรักครั้งใหม่
– Allan Quatermain ชายผู้เบื่อหน่ายในโลก ได้พบกับความตื่นเต้นท้าทายในการสำรวจโลกใหม่ รวมถึงแฟนใหม่
– John Goode … พี่ชายผู้แสนดี ยินยอมเหน็ดเหนื่อยลำบากเพื่อน้อง สุดท้ายเห็นเธอเป็นสุขก็สบายอกสบายใจ
– Umbopa ต้องการหวนกลับคืนสู่ดินแดนแผ่นดินของตนเอง สุดท้ายสามารถเดินทางมาถึง ทวงคืนสิทธิ์แท้จริงของตนเองได้สำเร็จ
นี่อาจรวมถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของผู้เขียน H. Rider Haggard คาดว่าตอนถูกพ่อส่งมาอยู่แอฟริกา คงมิได้สมัครเต็มใจอยากไปเป็นแน่ แต่เมื่อต้องปักหลักอาศัยอยู่นานหลายปี ก็ไม่เสียเที่ยว ได้เรียนรู้เข้าใจความต้องการแท้จริงของตนเอง เขียนนิยายหลายๆเรื่องก็มีจุดประสงค์เปิดโลกทัศน์ผู้อ่าน สู่ Lost World ดินแดนที่ไม่เคยได้รับการพูดถึงค้นพบมาก่อน
สำหรับนัยยะแฝงของการเดินทางครั้งนี้ ผมเกิดความใคร่ฉงนสงสัยมาตั้งแต่อ่านเพชรพระอุมา บรรยายถึงภูเขาสองลูกที่มีลักษณะเหมือนปทุมถันของหญิงสาว, เป้าหมายของการเดินทางคือค้นหาบางสิ่งอย่างที่แสนเลอค่า, ปลายทางมี Umbopa ต่อสู้เอาชนะกลายเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งเดียว … นี่มันน่าจะสื่อตรงๆถึงเรื่อง Sex, การเดินทางของเหล่าอสุจิในช่องคลอด มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชนะ ฯ
ประเด็น Colonialist และการเหยียดเชื้อชาติ ผมถือว่าเป็นความไม่รู้ตัวของผู้เขียน เพราะเขาถูกปลูกฝังจากการที่ในยุคสมัยนั้น สหราชอาณาจักรปกครองอาณานิคมประเทศต่างๆเป็นเมืองขึ้นมากมาย อาทิ แอฟริกาใต้, อินเดีย ฯ แน่นอนพวกเขามองตัวเองสูงส่งกว่า และชาวพื้นเมืองก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังถูกเหยียดหยามกดขี่ข่มเหงจากคนผิวขาว นี่เป็นความชั่วร้ายที่แอบแฝงอยู่ในใจของมนุษย์ อิทธิพลความครอบงำจากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง โดยไม่รู้ตัวอะไรทั้งนั้น, แต่เห็นว่าในหนังสือ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวกับชาวผิวสีจะเป็นไปในทาง สูง-ต่ำ แต่ผู้เขียนไม่เคยใช้คำหยาบคายอย่าง ‘nigger’ เพราะความที่อาศัยอยู่แอฟริกามานาน คงรับรู้ว่าคนที่เป็น ‘gentleman’ นั้นก็มีอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาแสดงความหยามเหยียด ตัวข้ามีความสูงส่งกว่าอะไรแบบนั้น
ชื่อนิยาย/หนัง King Solomon’s Mines ว่าไปยังกะเป็น MacGuffin หลอกให้ผู้อ่าน/ผู้ชม หลงคิดไปว่าเป็นการค้นหาทรัพย์สมบัติของ King Solomon แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเพียงแค่พื้นหลังของเรื่องราวที่ก็ไปถึงจริงๆนะครับ แต่พวกเขาหาได้มีความสนใจในเพชรพลอย แก้วแหวนเงินทองนั้นแม้แต่น้อย นี่แสดงถึงสิ่งสำคัญที่สุดในในชีวิตและการออกเดินทางค้นหา ไม่ใช่กำไลสร้อยคอของมีค่า แต่คือความสุขสำราญ ความรักพึงพอใจ ที่เมื่อได้พบเจอเข้ามาในชีวิตแล้ว ก็ไม่ต้องการของมีค่าอื่นใดอะไรอีก
ด้วยทุนสร้าง $2.3 ล้านเหรียญ หมดไปเยอะกับค่าขนส่งฟีล์มข้ามประเทศ หนังทำเงินได้ในอเมริกา $5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกเกือบๆ $10 ล้านเหรียญ สูงสุดของ MGM ปีนั้น, เข้าชิง Oscar 3 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Film Edited ** ได้รางวัล
เห็นคะแนนจาก imdb ต่ำกว่า 7 ก็คิดว่าหนังคงไม่สนุกอะไรมากแต่กลับผิดคาด ถือเป็นความบันเทิงชั้นยอด ตื่นเต้นระทึกใจ มีความสวยงามด้านภาพและตัดต่อเป็นเลิศ แม้มันจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการเมื่อเทียบกับ Ben-Hur หรือ Lawrence of Arabia แต่ก็มีความคลาสสิกที่ลงตัวไม่ธรรมดาเลยละ, จริงๆถ้าหนังสร้างในทศวรรษ 60s สมัยนิยมของ Panavision/CinemaScope (Widescreen) คิดว่าผลลัพท์ที่ออกมาน่าจะจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยละ แต่ก็แปลกที่ Hollywood ไม่ค่อยหยิบนิยายเรื่องนี้กลับมาทำซ้ำเท่าไหร่ ทั้งๆที่น่าจะขายดีมีความอลังการ หรือเพราะมันคือเรื่องราวของคนผิวสีแอฟริกัน จึงไม่ค่อยมีคนผิวขาวให้การสนใจเท่าไหร่
สำหรับคนที่รับชมหนังเรื่องนี้แล้วยังไม่เต็มอิ่ม แนะนำให้ไปหานิยาย King Solomon’s Mines มาอ่านต่อนะครับ ความยาวไม่มากเมื่อเทียบกับเพชรพระอุมา หรือถ้าสนใจนิยายเรื่องนี้ของพนมเทียน เตือนไว้ว่าถ้าเริ่มอ่านแล้วจะหยุดวางไม่ได้ คราวนี้ชีวิตจะบัดซบเลยละ อนาคตมืดมัว เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะอ่านจบสักที!
แนะนำกับคอหนังแนวผจญภัย เดินทาง ท่องซาฟารีสะวันน่า หาสมบัติในทวีปแอฟริกา, ชื่นชอบเพชรพระอุมา เคยอ่าน King Solomon’s Mines, หลงรักนักแสดง Deborah Kerr และ Stewart Granger ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG เด็กๆดูได้ ตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจ ไม่มีฉากรุนแรงเสียเท่าไหร่ ยกเว้นสารคดีสัตว์ป่า
[…] King Solomon’s Mines (1950) : Compton Bennett, Andrew Marton ♥♥♥♡ […]