Kino-Pravda (1922–25)
: Dziga Vertov ♥♥♡
Kino-Pravda แปลว่า Film Truth คือซีรีย์ Newsreels จำนวน 23 ตอน สร้างโดยผู้กำกับ Dziga Vertov เพื่อบันทึกภาพ ‘ความจริง’ นำเสนอสิ่งไม่พบเห็นด้วยมุมมองปกติ แต่สามารถปรากฎบนฟีล์มภาพยนตร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นทฤษฎี Kino-Eye ก่อนพัฒนาการมาเป็น Man with a Movie Camera (1929) ที่โด่งดัง
ผมค่อนข้างเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ที่รู้จัก Dziga Vertov อาจคุ้นเคยแค่ผลงาน Masterpiece เรื่อง Man with a Movie Camera (1929) แต่มนุษย์ทุกคนล้วนมีที่มาที่ไป จุดเริ่มต้น พัฒนาการ ต่ำสุด-สูงสุด การรับชมผลงานก่อนๆหน้า จักทำให้สามารถพบเห็นความสนใจ จุดประสงค์เป้าหมาย และธาตุแท้ตัวตนหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้
แต่อย่างนั้นก็เถอะ Kino-Pravda ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ผู้ชมทั่วไปสมควรเสียเวลารับชมสักเท่าไหร่ เพราะลักษณะที่ออกแนวชวนเชื่อ (Soviet Propaganda) ทำการปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอน ชี้ชักนำความครุ่นคิดของผู้ชมสมัยนั้น ยกย่องการปฏิวัติตุลาคม ค.ศ. 1917 และเทิดทูนท่านผู้นำ Vladimir Lenin อย่างออกนอกหน้า
Newsreels เรื่องนี้คงเหมาะสำหรับชาวรัสเซียที่สนใจประวัติศาสตร์ เทิดทูนเหนือเกล้า Vladimir Lenin และเชื่อมั่นในระบอบคอมมิวนิสต์ … และคอหนังสนใจค้นหาตัวตนผู้กำกับ Dziga Vertov สามารถหารับชมใน Youtube ได้รับการบูรณะโดย Austrian Film Museum (แต่คุณภาพก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่) หลงเหลือเพียง 22 จาก 23 ตอน (ตอนที่ 12 สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว)
Dziga Vertov ชื่อจริง David Abelevich Kaufman (1896 – 1954) นักทฤษฎี ผู้กำกับ บุกเบิกสร้าง Newsreels สัญชาติรัสเซีย เกิดยัง Białystok, Russian Empire (ปัจจุบันคือประเทศ Poland) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews โตขึ้นเข้าเรียนด้านดนตรี Białystok Conservatory กระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกกองทัพเยอรมันเข้ารุกราน จำต้องอพยพย้ายสู่ Petrograd เปลี่ยนมาให้ความสนใจด้านการเขียน บทกวี เรื่องล้อเลียน นวนิยายไซไฟ ต่อด้วยศึกษาวิชาการแพทย์ ณ Psychoneurological Institute, Saint Petersburg แต่สุดท้ายจบออกมาทำงานเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
แม้ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาไม่นาน จักรวรรดิรัสเซียได้เกิดการปฏิวัติภายใน October Revolution ค.ศ. 1917 ซึ่ง Vertov ก็ได้เข้าร่วมฝั่งฝ่าย Bolshevik โค่นล้มอำนาจสำเร็จ หลังจากนั้นได้รับมอบหมายจาก Moscow Cinema Committee ให้เป็นผู้ตัดต่อ Newsreel เรื่องแรกของสหภาพโซเวียต Kino-Nedelya (1918-20) [แปลว่า Cine-week]
ด้วยความที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์มาก่อนเลย ร่วมงานนักตัดต่อ/ว่าที่ภรรยา Elizaveta Svilova ทดลองผิดลองถูก เก็บเกี่ยวสะสมประสบการณ์ จนกระทั่งปี 1922 เริ่มต้นสร้าง Newsreels ในรูปแบบฉบับของตนเอง ตั้งแต่ถ่ายทำ ตัดต่อ กลายมาเป็น Kino-Pravda นำออกฉายรายสัปดาห์ (ละ Reel) รวมระยะเวลาเกือบๆ 3 ปีเต็ม
เกร็ด: Pravda คือชื่อหนังสือพิมพ์ที่ออกโดย Central Committee ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันก็ยังวางจำหน่ายอยู่นะครับ อายุร้อยกว่าปีแล้ว!) ซึ่งเป็นความจงใจของ Vertov เลือกชื่อนี้เพื่อนำเสนอ ‘ความจริง’ ที่แท้จริง!
Vertov ให้คำนิยาม Kino-Pravda เปรียบเทียบฟุตเทจถ่ายทำเหมือนอิฐสร้างบ้าน หนึ่งบล็อคสามารถสร้างกำแพง Kremlin ร้อยเรียงเข้าด้วยกันสามารถกลายเป็นคฤหาสถ์หลังงามๆ
“Kino-Pravda is made with footage just as a house is made with bricks. With bricks one can make an oven, a Kremlin wall, and many other things. One can build various film-objects from footage. Just as good bricks are needed for a house, good film footage is needed to organize a film-object”.
– Dziga Vertov
ถ่ายภาพโดย Mikhail Abramovich Kaufman (1897 – 1980) น้องชายแท้ๆของผู้กำกับ Dziga Vertov ที่ได้รับคำชักชวนจากพี่ ร่วมงานกันครั้งแรกน่าจะ Kino-Pravda (1922) ตามมาด้วยอีกหลายๆผลงาน รวมถึง Man with a Movie Camera (1929)
การทำงานของ Vertov มุ่งเน้นการบันทึกภาพเหตุการณ์จริงๆ มีทั้งต่อหน้า ลับหลัง หลบซ่อนกล้องไว้ มิให้ผู้คนรับรู้ตัวเอง หรือต้องเสียเวลาขออนุญาตใคร … แต่เรื่องนี้ยังพอพบเห็นการจัดฉากอยู่บ้างนะครับ
สำหรับคนที่รับชมไปเรื่อยๆได้หลายตอน จะพบเห็นพัฒนาการนำเสนอที่ค่อยๆมีลูกเล่น ลีลา ชั้นเชิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
– ตอนแรกๆยังแค่ตัดสลับไปมาระหว่างภาพ ข้อความ Title Card สำหรับอธิบายเรื่องราว แทบจะช็อตต่อช็อต
– ประมาณตอน 3-4 ขึ้นไป Title Card จะเริ่มปรากฎน้อยลง ปล่อยให้ภาพเล่าเรื่องแทน โดยเฉพาะตอนที่ 9 โดดเด่นอย่างมากกับฉากบนรถโดยสาร ร้อยเรียง 10 ช็อตในระยะเวลา 30 วินาที มีความต่อเนื่องลื่อนไหลได้อย่างเพียงพอดี (ไร้ Title Card ให้หงุดหงิดรำคาญใจ)
– ตอนที่ 10 นำเสนอการแข่งขันกีฬา All-Russia Olympiad อันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Arnold Fanck สร้าง The White Stadium (1928) และ Leni Riefenstahl กลายเป็นตำนานกับ Olympia (1938)
– ตอนที่ 13 เดินขบวนสวนสนาม นี่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ Triumph des Willens (1935)
– ตอนที่ 14 น่าจะยอดเยี่ยมสุดในซีรีย์ (แต่นักวิจารณ์สมัยนั้นให้นิยาม ‘insane’ แก่ผู้กำกับ Vertov) โดดเด่นในการใช้เทคนิค Montage ตัดสลับโดยมีคำพูดซ้ำๆ เน้นย้ำ มองโลกอีกแง่มุมหนึ่งคือจุดศูนย์กลาง แถมยังใช้กราฟฟิก ตัวอักษร แผนที่ ลูกโลกหมุน ช่างตื่นตระกาตาเสียจริง
– ตอนที่ 18 นำพาผู้ชมจากตะวันตกสู่ตะวันออก, ตอนที่ 19 จากเหนือล่องใต้ [มีฉากที่ชัดเจนเลยว่า คัทลอกเลียนแบบจาก Nanook of the North (1922)] ซึ่งการออกเดินทางไปทั่วรัสเซียนี้ จักกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ Vertov สร้างภาพยนตร์เรื่องถัดๆมา A Sixth Part of the World (1926)
– ตอนที่ 20 นำเอาฟุตเทจหลงเหลือจาก Kino-Glaz (1924) มาทำเป็น mini-ภาคต่อ ใครเคยรับชมเรื่องนี้แล้วอาจจะคุ้นเคยบางฟุตเทจ โดยเฉพาะรถรางสวนทางกัน ช่างตื่นตาและน่าหวาดเสียวเสียจริง!
– ตอนที่ 21 ถือว่าอุทิศให้การเสียชีวิตของ Vladimir Lenin เพิ่งล่วงลับไปไม่นานก่อนหน้านั้น
ผมค่อนข้างเชื่อว่า ผู้ชมส่วนใหญ่พอจะทนดูได้สัก 1-2 ตอนก็เริ่มออกอาการเบื่อ ครุ่นคิดกับตนเอง ‘ฉันมาเสียเวลานั่งดูสารคดีเรื่องนี้ทำไม?’ ถ้าคุณรู้สึกเช่นนี้แนะนำให้กระโดดข้ามไปตอนไฮไลท์ๆที่แนะนำมาเลยนะครับ อาจพบความบันเทิง ตื่นตระการตา งดงามในแง่เทคนิค (แต่ก็มิได้ทรงคุณค่าทางจิตใจสักเท่าไหร่)
เป้าหมายหลักๆของ Kino-Pravda คือเลียนแบบแนวคิดของหนังสือพิมพ์ แค่เปลี่ยนมาเป็นฉายภาพเคลื่อนไหวฉายในโรงภาพยนตร์ เทียบสมัยนี้ก็ข่าวภาคค่ำนะแหละครับ แต่ยุคก่อนโน้นยังไม่มีโทรทัศน์แพร่หลาย นี่คือจุดเริ่มต้นแรกๆ เพื่อนำเสนอ ‘ความจริง’ แก่ผู้ชม
ใครที่อดรนทนรับชมได้หลายๆตอน คงสัมผัสได้ถึงเนื้อหาที่มีความขวาจัด ชักชวนเชื่อคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกว่า Propaganda พยายามล้มล้างวิถีแบบเดิมๆ มุ่งเน้นนำเสนอโลกทัศน์ใหม่ เสมอภาคเท่าเทียมในสังคม และเทิดทูน Vladimir Lenin ราวกับพระเจ้าผู้มาไถ่ของสหภาพโซเวียต
เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน และมุมมองสายตาผู้ชมโลกที่สามอย่างเราๆ นั่นคือภาพประวัติศาสตร์เมื่อเกือบๆร้อยปีก่อน พบเห็นวิวัฒนาการภาพยนตร์ และผู้กำกับ Dziga Vertov ทำการทดลองผิดลองถูก จากไม่มีอะไรน่าสนใจ ค่อยๆตื่นตระการตาขึ้นเรื่อยๆ พบเห็นร่องรอย แนวโน้ม สู่ผลงานได้รับยกย่อง Masterpiece เรื่อง Man with a Movie Camera (1929) ได้อย่างไร้ข้อกังขา
กับภาพยนตร์แนว Newsreels ผมไม่เกิดความรู้สึกใดๆกับมันสักเท่าไหร่ ก็เหมือนดูข่าวภาคค่ำ ชอบ-ไม่ชอบ ใครกันจะไปมีอารมณ์หวั่นไหว เอาเป็นว่ารับชมประดับความรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์ ลดทอนเวลาว่างๆ วันละตอนสองตอนเดี๋ยวก็จบได้
จัดเรต 15+ กับเนื้อหาใจความชักชวนเชื่อ
Leave a Reply