Kirikou and the Sorceress (1998) : Michel Ocelot ♥♥♥♡
Kirikou ยังไม่ทันคลอดจากครรภ์ ส่งเสียงบอกมารดาว่า ‘ให้กำเนิดฉันที’ เธอตอบด้วยน้ำเสียงสงบไม่ตื่นตระหนก ‘เด็กที่พูดจากครรภ์มารดา ย่อมสามารถคลอดออกมาด้วยตัวเองได้’ แล้วทารกน้อยนั้นก็คลานออกมา, จากเรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน (Folk Tale) ของชาว West Africa ด้วยงานศิลป์คล้ายๆภาพวาดของ Henri Rousseau แจ้งเกิดผู้กำกับ Michael Ocelot ประสบความสำเร็จล้นหลามกวาดรางวัลมากมายในยุโรป แต่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ฉายอเมริกา เพราะเด็กทารกไม่สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย
แซว: คิดเล่นๆแต่ท่าจะจริง ถ้าอนิเมชั่นเรื่องนี้นำมาฉายในเมืองไทย คงถูกหมอกหนาๆแห่งศีลธรรมปกคลุมบดบังมิดชิดจนดูไม่รู้เรื่องอย่างแน่นอน
จริงๆมันอาจเพราะเหตุผลเหล่านี้ด้วย ตัวละครเป็นชาวผิวสี พื้นหลัง West Africa และนัยยะสื่อได้ถึง Anti-Colonialism ต่อต้านการควบคุมครอบงำบงการ กดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานเยี่ยงทาสของประเทศ/ผู้มีอำนาจเหนือกว่า
Kirikou et la Sorcière เป็นอนิเมชั่นที่งดงามระดับวิจิตร แนวคิดลึกล้ำ เรื่องราวเหมาะสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนตัวไม่ถึงขั้นประทับใจมากนัก คงเพราะสามารถคาดเดาอะไรๆได้ง่ายเกินไป เลยขาดแรงดึงดูดให้เกิดความกระฉับกระเฉงในการครุ่นคิดตาม
Michel Ocelot (เกิดปี 1943) ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Villefranche-sur-Mer, French Riviera ตอนอายุ 6 ขวบติดตามครอบครัวไปอยู่ Conakry, Guinea ใช้ชีวิตวิ่งเล่นสนิทสนมกับเพื่อนผิวสีมากมาย พอเติบโตขึ้นวัยรุ่นเดินทางกลับฝรั่งเศส หลังจากรับชม The Revolt of Toys (1946) ของผู้กำกับ Hermína Týrlová เกิดความลุ่มหลงใหลใน Stop-Motion แต่เลือกเข้าเรียนมัณฑนศิลป์ (เป็นสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอนิเมชั่นเลยนะ!) แล้วมุ่งสู่วงการโทรทัศน์ กำกับอนิเมะขนาดสั้น/ซีรีย์สั้น ส่วนใหญ่เป็น Cut-Outs หรือไม่ก็ Silhouettes Animation อาทิ Gédéon (1976), Les Trois Inventeurs (1979), La Légende du pauvre bossu (1982), Ciné si (1989) และฉายโรงภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Kirikou et la sorcière (1998), ผลงานเด่นถัดๆมา อาทิ Azur et Asmar (2006), Les Contes de la nuit (2011) ฯ
สำหรับ Kirikou et la Sorcière ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้านของชาวแอฟริกัน ที่ Ocelot เคยได้ยินตั้งแต่สมัยยังเด็กอาศัยอยู่ประเทศ Guinea เรื่องราวของทารกน้อยเพิ่งเกิดชื่อ Kirikou สามารถพูดคุยสนทนา เดินออกจากครรภ์มารดา กระทำการต่อสู้เอาชนะนางแม่มดผู้ชั่วร้าย Karaba (เรื่องราวหลักๆมีเพียงเท่านี้ ที่เหลือคือการแต่งเติมเสริมเข้าไปในความสนใจของผู้กำกับ)
ผู้กำกับ Ocelot เล่าถึงความแตกต่างในวิถีชีวิตของชาวแอฟริกันผิวสี กับชาวตะวันตกผิวขาว เอาว่าตั้งแต่แรกเกิดพวกเขาก็เรียนรู้จักที่จะเป็นอิสระ อยากอะไรก็จงหัดทำด้วยตนเอง ไม่มีอะไรน่าหวาดกลัวอับอายต้องปกปิด ไปโรงเรียนมีเพียงกางเกงตัวเดียวไม่ใส่เสื้อ เต็มที่กับทุกวันของชีวิต
“Before I arrived, at six, I knew no facts of life. After a few months I knew everything (laughing). That was much sounder”.
ภาพยนตร์/อนิเมชั่น แทบทั้งนั้นฮีโร่/พระเอก ต้องเป็นคนร่างกายสูงใหญ่กำยำแข็งแกร่ง มากด้วยพลังความสามารถ ต่อสู้จัดการเข่นฆ่านางแม่มดร้ายให้สูญเสียชีวิต แต่ความสนใจของผู้กำกับ Ocelot ต้องการให้ทุกอย่างกลับตารปัตร ตัวเอกคือเด็กทารกน้อยเพิ่งเกิด ตัวเล็กกระจิดริดไร้พละกำลังใดๆ มีเพียงสติปัญญาความคิดอ่านเหนือกว่าผู้อื่น ขณะที่ตัวร้ายต้องเป็นคนสวย เปลี่ยนจากเข่นฆ่าให้ตายกลายมาเป็นตกหลุมรักใคร่
อนิเมะเรื่องนี้เกิดจากการร่วมทุนของสามประเทศ France, Belgium, Luxembourg แต่โปรดักชั่นกระจายไป 5 ประเทศ
– ฝรั่งเศส กับสตูดิโอ Exposure, France 3 Cinema, Les Armateurs, Monipoly, Odec Kid Cartoons
– Belgium สตูดิโอ Radio-Télévision belge
– Luxembourg ใช้บริการของ Studio O, Trans Europe Film
– Latvia สตูดิโอ Rija Films
– Hungary สตูดิโอ Studio Exist
ความตั้งใจแรกของ Ocelot ต้องการสร้างด้วยเทคนิค Silhouette Animation (คล้ายๆหนังตะลุง ฉายแสงจากด้านหลังเห็นเป็นภาพเงาปรากฎ) แต่ก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็น Tradition Animation สองมิติแบบทั่วไป เพราะต้องการให้ผู้ชมพบเห็นสีสัน ความมีชีวิตชีวาของทวีปแอฟริกา ระยิบระยับตระการตาไปกับเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทองเพชรพลอย และภาพพื้นหลังที่รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากศิลปินจิตรกรชื่อดัง Henri Rousseau
“I advised the designers that each plant in the forest should be a masterpiece, botanically accurate, with Egyptian stylization, coloring from Henri Rousseau, with each petal and leaf carefully made iridescent”.
ขอเอ่ยถึงชายผู้นี้ก่อนแล้วกัน Henri Julien Félix Rousseau (1844 – 1910) จิตรกรชื่อดังสัญชาติฝรั่งเศส แห่งยุคสมัย Post-Impressionist โดดเด่นกับลักษณะผลงาน Naïve Art และ Primitivism ไม่มีครูผู้สอน เคยได้รับคำแนะนำจากจิตรกรบ้าง แต่ศึกษาหาความรู้สะสมจากประสบการณ์ตนเองเป็นส่วนใหญ่
ผลงานโด่งดังของ Rousseau มักเป็นภาพป่าดงดิบ ทั้งๆเจ้าตัวเองไม่เคยออกเดินทางจากฝรั่งเศสไปท่องเที่ยวผจญภัยที่ไหน แรงบันดาลใจล้วนมาจากภาพประกอบของหนังสือ และสวนพฤกษชาติในกรุงปารีส เคยกล่าวว่า ‘เมื่อใดได้ไปเยี่ยมชมสวนธรรมชาติมองเข้าไปในเรือนกระจก เห็นต้นไม้แปลกจากดินแดนอันห่างไกล ที่ทำให้มีความรู้สึกราวกับอยู่ในฝัน’
เกร็ด: Rousseau คือผู้ริเริ่มแนวการเขียนภาพประเภท Portrait Landscape โดยเริ่มวาดทิวทัศน์ของบริเวณต่างในกรุงปารีสที่ชอบ แล้วค่อยเขียนภาพคนไว้ด้านหน้าของภาพ
Tiger in a Tropical Storm (Surprised!) (1891) คือภาพวาดธรรมชาติแรกของ Rousseau
The Dream (1910)
ลองมาเทียบกับในอนิเมะดูนะครับ ดูแบบผ่านๆก็น่าจะรู้สึกได้ว่าใกล้เคียงอยู่นะ
ช็อตแรกของอนิเมะโดดเด่นเรื่องการใช้โทนสีน้ำตาล-ส้ม ให้สัมผัสของดินลูกรัง/ทะเลทราย จัดเป็นสีของทวีปแอฟริกาเลยละ ลักษณะของบ้านก็ด้วยสถาปัตยกรรมท้องถิ่น (สร้างด้วนดิน มุงด้วยฟาง/ใบ) แค่ด้วยอิทธิพลสไตล์ของ Rousseau อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
เมื่อ Kirikou คลานออกจากครรภ์แม่ รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รีบวิ่งแจ้นไปหาพี่ชาย แอบทำตัวเป็นเหมือนหมวกมีเวทย์มนต์ให้คำแนะนำช่วยเหลือ นี่คือสัญลักษณ์ของสมอง (ครอบลงบนศีรษะ) หรือ ‘สติปัญญา’ ซึ่งก็สามารถช่วยชีวิตเอาตัวรอดกลับคืนหมู่บ้านได้สำเร็จ
นัยยะ/คติข้อคิดของฉากนี้ คนที่มีสติปัญญา ย่อมสามารถเอาตัวรอดจากเล่ห์กลมารยาอันชั่วร้ายของผู้อื่นได้
ลักษณะการออกแบบนางแม่มด Karaba
– ผิวสีน้ำตาลเข้ม เต็มไปด้วยความหยาบกระด้าง (ช่วงหลังที่เมื่อลิ่มหลักออกจากหลัง สีผิวจะจางลง สะท้อนถึงความนุ่มนวลอ่อนโยน)
– ทรงผมเป็นแฉกๆลู่ไปด้านหลัง (ช่วงหลังเหมือนจะหยิกหยักน้อยกว่า)
– คิ้วยาวหนา สองข้างแทบจะโค้งมนติดกัน (ช่วงหลังคิ้วจะบาง ดูอ่อนนุ่ม และระยะห่างสองข้างชัดเจน)
– นัยน์ตาสีเหลือง ดวงตาแหลมเหมือนงูอสรพิษ (ช่วงหลังนัยน์ตาสีขาว ดวงตาดำกลมโต เหมือนคนปกติทั่วไป)
– ริ้วรอยหยักย่นบนใบหน้า เพราะความโกรธเกลียดเลยอัปลักษณ์ (ช่วงหลังเมื่อยิ้มได้ จะมีผิวพันธุ์นวลเนียน ไร้ซึ่งรอยหยักเหี่ยวย่น)
– เครื่องประดับเน้นทองระยิบระยับ ดูเหมือนราชินีผู้มั่งคั่งร่ำรวย
– เน้นมากตรงหัวนมที่ประดับด้วยทอง มองไกลๆมีลักษณะเหมือนดวงตา ชูชันจับจ้องเป็นที่ต้องการครอบครองของชายหนุ่ม
– ลวดลายของกระโปรง ก็น่าจะลายผ้าพื้นเมืองของชาวแอฟริกัน
Kirikou พยายามเตือนสติเด็กๆในหมู่บ้านที่กำลังเล่นน้ำ แล้วพบเห็นเรือหน้าตาแปลกประหลาด ซึ่งต่างเฮโลกระโดดขึ้นเรือ ไม่ช้านานก็ถูกลักพาตัวเพื่อจะนำไปส่งนางแม่มด Karaba
เรือหน้าตาแปลกประหลาดนี้ มีลักษณะเหมือนลูกอมของหวาน กิเลสตัณหา ที่สามารถล่อลวงหลอกตาให้ใครๆต่างลุ่มหลงใหล และเมื่อได้ลิ้มลองก็ติดอกติดใจ แต่เสพติดแล้วก็มิอาจเลิกร้างรา ซึ่งวิธีการช่วยเหลือของ Kirikou ทำการเจาะรูทำให้เรือล่มในหนอง นี่คือการทำลายต้นตอของปัญหา ให้หมดสิ้นสภาพมิอาจใช้งานเดินทางได้ต่อ
ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งมักเกิดขึ้นซ้ำรอยเสมอ กลุ่มเด็กๆที่ Kirikou เพิ่งช่วยเหลือเอาตัวรอดให้เรือล่มในหนองมาได้ พอพบเห็นต้นไม้ใหญ่เบื้องบนมีผลไม้น่าสีสันสวยสดน่ารับประทาน ต่างรีบวิ่งเข้าหาปืนป่าย แม้ได้รับคำตักเตือนสติ แต่สุดท้ายก็ติดกับดักของนางแม่มด Karaba อีกครั้งหนึ่ง
ผมมอง Sequence นี้ที่คือการปืนป่ายต้นไม้ สะท้อนถึงความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ต้องการไขว่คว้าเก็บผลไม้สีแดงที่อยู่ด้านบนสุดมาเชยชมรับประทาน แต่ก็เป็นเพียงการ ‘ขายฝัน’ ถูกหลอกเพราะมันคือต้นไม้เวทย์มนต์ เมื่อทุกคนปืนป่ายขึ้นไปกลายสภาพเป็นกรงขัง รีบวิ่งแจ้นไปหานางแม่มด Karaba ซึ่งวิธีช่วยเหลือของ Kirikou คือการตัดต้นไม้ที่โคน แต่ด้วยพละกำลังอันน้อยนิด ต้องให้ทุกคนที่อยู่ด้านบนร่วมด้วยช่วยกันโยกเยกประสานงาน จึงสามารถโค่นหักเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิดเส้นยาแดงผ่าแปด
เมื่อใดที่กลุ่มมนุษย์ถูกลวงล่อหลอกให้ติดกับดัก จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีใครสักคนหรือคนนอก ใช้สติปัญญาครุ่นคิดเป็นผู้นำแก้ปัญหา แต่เพียงผู้เดียวย่อมมิอาจกระทำการใดๆสำเร็จ นอกเสียจากการร่วมมือร่วมใจของทุกคน จึงสามารถร่วมกันเอาตัวหนีรอดออกมาได้
ผมก็ไม่รู้นะไอ้ตัวกินน้ำนี่มันคืออะไร? แต่สะท้อนความคอรัปชั่นโกงกิน(ของมนุษย์)ได้อย่างชัดเจน, เพราะน้ำถือเป็นทรัพยากร/สิ่งจำเป็นสูงสุดของประชาชนหมู่บ้านแห่งนี้ แต่กลับถูกลักลอบดื่มกินไว้เพียงตัวเดียวจนร่างกายพองบวมใหญ่โตเหมือนชูชก สักวันคงระเบิดท้องแตกตาย แค่บังเอิญ Kirikou พบเจอเข้าก่อน ใช้เข็มลวกร้อนจิ้มแทงเป็นรู ทะลักเอาสายน้ำพลั่งพรูหลั่งไหลออกมา
พวกบรรดา(นักการเมือง)ที่คดโกงกินคอรัปชั่น มักจะมีลักษณะอ้วนท้วนอิ่มหนำ สะท้อนความร่ำรวยมากมีที่เกินจำเป็น สักวันเมื่อความแตกก็เหมือนเข็มลวกร้อนจิ้มแทง ทุกสิ่งอย่างความจริงก็จะพลั่งพรูออกมาจนสิ้นเนื้อประดาตัวไม่หลงเหลืออะไร
ถึงความตั้งใจเดิมของ Ocelot จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ Silhouette Animation ถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับเลย พบเห็นปรากฎอยู่หลายๆฉาก เด่นชัดเลยก็ตอน Kirikou มุดเข้าไปในถ้ำ/ขุดอุโมงค์ใต้ดิน ข้อสังเกตคือใบหน้าตัวละครจะมืดมิดดำสนิท นั่นเกิดจากการฉายแสงเข้าด้านหลังปรากฎเห็นเป็นเงามืด ซึ่งก็จะมีการผสมผสานเข้ากับภาพวาด Traditional Animation อย่างแนบเนียนทีเดียวละ
การออกเดินทางของ Kirikou เริ่มต้นด้วยการมุดลอด/ขุดอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อหาทางไปสู่อีกฝั่งด้านหลังบ้านของนางแม่มด Karaba สถานที่แห่งนี้ทำให้เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน อนาคตที่มืดมิดหมองมัว แต่ถ้าไม่ย่นย่อท้อแท้ยอมแพ้ สักวันย่อมต้องสามารถไปโผล่อีกฝั่งได้ดั่งตั้งใจ
อาวุธที่ Kirikou ได้มาคือมีดอันเล็กๆของพ่อ นี่คือสัญลักษณะของความรุนแรง แต่เขากลับไม่เคยใช้มันฆ่าใคร แค่เป็นอุปกรณ์ช่วยขุดดินให้สามารถหนีเอาตัวรอดเท่านั้น, นี่เป็นการสะท้อนถึงอาวุธที่ใช้ทำร้ายผู้อื่น ในอีกมุมหนึ่งก็สามารถปกป้องกันภัยอันตรายให้กับผู้ใช้เช่นกัน
ชัยชนะของ Kirikou ต่อเจ้า Skunk คือการดึงหางจากด้านหลัง (นี่สะท้อนการต่อสู้ของเขากับ Karaba ดึงลิ่มหลักออกจากแผ่นหลัง) ซึ่งมันก็จะชักเย่อสุดฤทธิ์ ทนไม่ไหวก็ตดเหม็นออกมา วิ่งหนีเอาตัวรอดหางจุกตูด
เพื่อมิให้ถูกจดจำใบหน้าได้ Kirikou ต้องปลอมตัวกลายเป็นนก (ตัวไหนดูออกไหมเอ่ย) สามารถตบตาคนทั่วไปได้ แต่เมื่อพบเจอนกจริงๆเข้าเลยเกิดการต่อสู้ไม่ยินยอมรับเข้าพวก
ชัยชนะของ Kirikou เกิดจากการที่เขาเคยช่วยเหลือฝูงกระรอกไว้จากตัว Skunk ทำให้พวกมันกล้าออกมาช่วยเหลือเบี่ยงเบียนความสนใจจนเจ้านกเสียงสมาธิ ทำให้นก Kirikou สามารถกระโดดขึ้นค่อมหลัง ช่วงชิงความได้เปรียบขึ้นมาทันที
นัยยะของฉากนี้เป็นการเสี้ยมสอนให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น/ตกทุกข์ได้ยาก ทุกครั้งที่มีโอกาส เพราะเราไม่มีทางล่วงรู้อนาคตหรอกว่า บุคคลที่เราได้อุปถัมถ์ในวันนี้ จะคืนสนองตอบแทนบุญคุณอะไรต่อเรา
หมูป่า Warthog เป็นสัตว์ที่มีแต่พละกำลังแต่ไร้สมองสติปัญญา ซึ่งถ้าบุคคลผู้เฉลียวฉลาดสามารถขึ้นขี่บนศีรษะ รู้จักวิธีการควบคุมขับขี่ ก็สามารถออกคำสั่งให้เคลื่อนไหวกระทำตามประสงค์ได้โดยง่าย
นัยยะฉากนี้สื่อถึง ผู้มีสติปัญญาสูงกว่า ย่อมสามารถหาทางเอารัดเอาเปรียบผู้มีแต่พละกำลังเพียงอย่างเดียวได้อยู่เสมอ
ปู่ของ Kirikou สวมชุดขาวเหมือนพระ/พราหมณ์ (วรรณะของปราชญ์) นั่งขัดสมาธิอยู่บนแท่นประธานสูงสุด สวมหมวกทรงสูงเครายาวสะท้อนถึงสติปัญญาอันสูงส่งรอบรู้กว่าผู้อื่น อาศัยในถ้ำลับแล พื้นหลังผนังโทนสีน้ำเงิน คาดว่าคงเป็นตัวแทนของความสงบเยือกเย็น (น้ำเงินเป็นสีที่ให้สัมผัสเหมือนน้ำแข็ง เย็นยะเยือก)
ในการสนทนากับหลานรักที่เอาแต่ถามคำถาม ทุกครั้งเมื่อได้รับคำตอบจะปีนขึ้นทีละขั้น สะท้อนถึงระดับของสติปัญญาที่มีความเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้น จนเมื่อรับรู้ในเบื้องหลังเหตุผลความชั่วร้ายของนางแม่มด Karaba ขึ้นถึงแท่นประธานบนสุดแล้วสวมกอดเข้ากับปู่ นั่นคือวิธีการแก้ปัญหาของ Kirikou ด้วยความรักความอบอุ่น
ก่อนที่ Kirikou จะใช้สติปัญญาต่อสู้กับนางแม่มด Karaba ต้องผ่านอีกด่านหนึ่งคืออรสพิษร้ายตัวสีเขียว (สีเขียวถือเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายสากล) มุดลงในรูเพื่อติดตามหาตัว แต่ถึงกระนั้นกลับถูกหลอกโง่ๆในตำแหน่งที่เป็นทาง U-Turn เลื้อยกลับมาออกทางเก่า แทนที่จะล่อหลอกผู้อื่นกลับถูกลวงหลอกเอาเสียเอง
สังเกตว่าพื้นหลังในบ้านของ Karaba ใช้โทนสีแดงซึ่งเป็นสีของเลือด ความเจ็บปวดรวดร้าว ลุ่มร้อนรุนแรง ตัณหาราคะ ตรงกันข้ามกับฉากในถ้ำของปู่ Kirikou ที่เป็นโทนน้ำเงินเย็นยะเยือก นี่สะท้อนถึงจิตใจของนางแม่มด หาได้มีความสงบสุขร่มเย็นแม้แต่น้อย
ความโกรธเกลียดเคียดแค้นทุกข์ทรมานของนางแม่มดร้าย Karaba ได้ทำให้สีสันทุกสิ่งอย่างดูหมองหม่น ต้นไม้เหี่ยวเฉาแห้งกรัง ปัญหาเดียวเท่านั้นคือบางสิ่งที่ปักหลัง วิธีแก้ปัญหาคือกระโดดเกาะแล้วเอาปากงัดออก
ลิ่มหลักปักหลังในตำแหน่งที่มือของเธอคงเอื้อมไปไม่ถึง จะถือว่านั่นคือจุดอ่อน/จุดบอด/ด้านมืดของมนุษย์ทุกคน มองในเชิงสัญลักษณ์คือศูนย์รวมความชั่วร้าย ซึ่งถ้ามีใครสักคนสามารถรับรู้มองเห็น แล้วยินยอมรับดึงออกให้ ก็จะทำให้ผู้ถูกดึงเกิดความแช่มชื่นผ่อนคลาย มีสุขล้น อิ่มเอมเปรมปรีดา ไม่ต้องอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้างทนทรมานอีกต่อไป
Kirikou ใช้ปากงับดึงออก ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสื่อสารแสดงออก เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์เกิดความเข้าใจกันและกัน ไม่ว่าจะภาษาพูดหรือภาษากายแทนได้หมด (ในกรณีนี้ถือเป็น ภาษากาย)
เมื่อลิ่มหลักหลุดออกจากหลังของ Karaba ทุกสิ่งอย่างรอบข้างกลับฟื้นคืนชีพชีวาขึ้นมาทันที โทนสีน้ำเงินสะท้อนความสงบสุขร่มเย็น สดชื่นแจ่มใส แม้แต่ Kirikou เมื่อได้รับการจุมพิตตอบแทน ก็ได้รับอานิสงค์เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาโดยทันที
มองในเชิงสัญลักษณ์การเติบโตของ Kirikou คือเขาเรียนรู้จักที่จะมีความรัก เสียสละ เข้าใจในตัวผู้อื่น ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ จะว่านั่นคือสิ่งที่จะทำให้เด็กน้อยไร้เดียงสา กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาโดยทันตาเห็น
หลังจากที่นางแม่มดร้าย Karaba มองมนุษย์ผู้ชายเป็นดั่งวัตถุ หุ่นยนต์ ชี้นิ้วสั่งการให้ปฏิบัติตาม แต่เมื่อพบเจอความรักจากผู้ที่รู้จักเข้าใจตัวตนของเธอ คำสาปได้รับการปลดปล่อย มองเห็นทุกคนหวนกลับคืนกลายเป็นมนุษย์อีกครั้ง
นัยยะฉากนี้ ความรักความเข้าใจที่มีให้ต่อกัน ทำให้มุมมองของมนุษย์เราเปลี่ยนไปจริงๆนะ
เรื่องราวทั้งหมดดำเนินไปในมุมมองของ Kirikou ตั้งแต่คลานออกมาจากครรภ์ ไม่นานนักก็เดินวิ่ง พบเจอแม่มด Karaba คอยแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยเหลือผู้คนในหมู่บ้านด้วยไหวพริบอันเฉลียบแหลม และครึ่งหลังตัดสินใจออกเดินทางเพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง พบเจออุปสรรคต่างๆนานา เป้าหมายเพื่อขอรับคำปรึกษาจากปู่ผู้เฒ่าด้วยความรู้ ให้ช่วยสามารถสยบแม่มดร้ายตนนี้ลงได้
เพลงประกอบโดย Youssou N’Dour นักร้อง นักแต่งเพลงสัญชาติ Senegalese ได้นำทำนองร้อง-เล่น-เต้น พื้นบ้านของชาวแอฟริกันผสมผสานเข้าไปอย่างสนุกสนาน ครึกครื้นเครง และเนื้อร้องตรงกับใจความในช่วงนั้นอย่างลงตัว
นี่เป็นบทเพลงที่ผมชอบสุดในอนิเมะ ขณะ Kirikou ต่อสู้กับตัว Skunk แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำอะไรนอกจากวิ่งหนี เสียงเครื่องเป่าให้สัมผัสอันน่าหวาดสะพรึงถึงอันตราย แต่ด้วยสติปัญญาของทารกชายย่อมสามารถเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว
Kirikou and the Sorceress คือเรื่องราวของการต่อสู้แก้ปัญหา เอาชนะด้วยไหวพริบ ‘สติปัญญา’ แต่นั่นอาจเป็นสิ่งติดตัวเหมือนพรสวรรค์มาตั้งแต่เด็ก หรือในมุมของคนนอกมองเข้ามา ถึงสามารถไขปริศนาต่างๆให้กระจ่างแจ้ง
ถึงกระนั้นก็บางสิ่งอย่างที่ไหวพริบ ‘สติปัญญา’ ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะ ซึ่งต้องอาศัยเหตุผลความเข้าใจจุดเริ่มต้นกำเนิด ทำไมแม่มดร้าย Karaba ถึงได้กลายเป็นคนชั่วช้าเลวทรามขนาดนั้น? ซึ่งคำตอบมักเป็นสิ่งอยู่เบื้องหลัง 1) บนภูเขาที่อยู่อาศัยของปู่ Kirikou 2) และแผ่นหลังที่มีหลักปักลิ่มทิ่มแทงอยู่
ทุกสิ่งอย่างในโลกล้วนมีเหตุมีผลของการเกิดขึ้น เพราะความที่ไม่มีใครเข้าใจ Kabara ถูกชายหนุ่มคนรักมากหน้าทรยศหักหลังปักลิ่มทิ่มแทง เลยเกิดความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัส ต้องการล้างแค้นเอาคืนผู้ชายทุกคนอย่างสาสม ซึ่งเมื่อใดมีใครรับรู้เข้าใจ และสามารถถอนลิ่มหลักอันนั้นออกได้ โลกใบใหม่ที่สวยงามสดใจจักปรากฎขึ้นทันพลันตา
ปัญหาต่างๆในโลก มักมีสองวิธีขั้วตรงข้ามในการแก้ไข
1) ใช้ความรุนแรงตอบโต้ (ทางกาย)
2) ใช้สติปัญญา (ทางใจ)
ผมมาครุ่นคิดได้ว่า บางครั้งของการแก้ปัญหามิอาจใช้วิธีการหนึ่งใดอย่างเดียวได้ จำต้องผสมผสานทั้งกำลังความรุนแรงตบหน้าให้รู้สำนึกเรียกสติคืนมา แล้วถึงค่อยเริ่มพูดคุยกันด้วยเหตุผลความเข้าใจ นี่แปลว่าทั้งสองวิธีไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดอะไร ขึ้นอยู่กับโลกทัศนคติ วิสัยทัศน์ และความรุนแรงที่มีอยู่ในจิตใจของคุณเอง
ขณะที่อนิเมชั่นเรื่องนี้ จะถือว่ามีมุมมองโลกสวยก็ยังได้ เพราะในทัศนคติของผู้กำกับ Ocelot อนิเมะที่สร้างขึ้นมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก ควรปลูกฝังแนวคิดทัศนคติ ใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหามากกว่าความรุนแรงตอบโต้ (แบบที่ฝั่งอเมริกา/Hollywood นิยมกัน) ผลลัพท์ตอนจบจักคือความรักความเข้าใจ เช่นนั้นแล้วสันติสุขต่อมวลมนุษย์และโลกใบนี้ย่อมบังเกิด
เราสามารถเปรียบ Karaba ได้กับบรรดาประเทศผู้ล่าอาณานิคมทั้งหลาย (ไม่เจาะจง สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, สเปน, อเมริกา ฯ) ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในกาฬทวีป ควบคุมครอบงำ นำพาชาวผิวสี (ไม่ว่าจะชายหญิง) ไปใช้แรงงานเยี่ยงทาสดั่งวัตถุ/หุ่นยนต์ตนหนึ่ง แสวงหาเพียงผลประโยชน์ส่วนตน ละทิ้งกลุ่มไร้ซึ่งประโยชน์ (ผู้หญิงและเด็ก) ตาดำๆอยู่เบื้องหลัง
เพราะความที่ผู้กำกับ Ocelot เป็นชาวฝรั่งเศส (หนึ่งในประเทศผู้ล่าอาณานิคม) เขาจึงนำเสนอแนวคิดที่ไม่ใช่การโต้ตอบกลับของชาวพื้นเมืองด้วยความรุนแรง แต่คือความเข้าใจและเหตุผล มันคงมีความจำเป็นบางอย่างเหมือนหลักปักหลัง ที่หลายๆประเทศตะวันตกศตวรรษนั้นต้องออกสำรวจล่าอาณานิคม ปัจจุบันขณะนั้นแทบทุกประเทศก็ได้รับอิสรภาพกลับคืนมาแล้ว ก็ไม่ควรมองพวกเราด้วยอคติรังเกียจโกรธแค้นอีกต่อไป แนะนำให้เป็นเหมือน Kirikou รับรู้ยอมรับเข้าใจ และตอนจบที่นางแม่มด Karaba ได้รับการยกอภัยโทษจากคนในหมู่บ้าน อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุขชั่วนิจนิรันดร์
นี่ว่าก็ไม่แปลกเลยนะที่อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับความนิยมล้นหลามในทวีปยุโรป น่าจะโดยเฉพาะกับประเทศผู้เคยล่าอาณานิคม (ยกเว้นอเมริกาไว้ชาติหนึ่ง) ดูจบไม่ก่อให้เกิดอคติ มองที่เหตุผลความจำเป็น ปัจจุบันนี้คือความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เสี้ยมสอนเด็กๆด้วยความรักเข้าใจไม่ใช่รุนแรง
ขณะที่อเมริกา เพราะความที่ทั้งเรื่องมีภาพเปลือยของตัวละคร ไอ้จ้อนของ Kirikou หน้าอกของนางแม่มด Karaba กว่าจะผ่านกองเซนเซอร์ได้ก็ล่วงไปปี 2002 (ล่าช้าไปเกือบๆ 4 ปี)
แม้ไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แต่ปริมาณผู้ชมในฝรั่งเศส 1.5 ล้านคน สร้างกระแสตื่นตัวให้วงการอนิเมชั่นที่แสนจะซบเซาของประเทศนี้ขึ้นมาทันที และมีสองภาคต่อตามมา
– Kirikou and the Wild Beasts (2005)
– Kirikou and the Men and Women (2012)
ผู้กำกับ Isao Takahata เกิดความหลงใหลอนิเมชั่นเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ถึงขนาดลงทุนแปลภาษา(จากฝรั่งเศส->ญี่ปุ่น)ด้วยตนเอง ติดต่อขอนำมาพากย์เสียงญี่ปุ่นออกฉายในประเทศภายใต้สังกัด Ghibli ก็ไม่รู้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่เห็นเป็นหนึ่งในอนิเมะจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ Ghibli Museum ด้วยละ
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือความงดงามวิจิตรตระการตาของการออกแบบงานศิลป์ (ผมไม่ถึงขั้นคลั่งไคล้ Henri Rousseau แต่ก็ตาลุกโพลงในหลายๆฉาก) และเพลงประกอบสุดแนวที่มีกลิ่นอายแอฟริกันอยู่เต็มเปี่ยม สร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
แนะนำคออนิเมชั่นฝั่งยุโรป, เรื่องเล่านิทานพื้นบ้านของชาวแอฟริกัน, นักสังคมศาสตร์ นักปรัชญา สนใจแนวคิด Anti-Colonialism, จิตรกร นักวาดภาพ ออกแบบศิลป์ หลงใหลในงานศิลปะของ Henri Rousseau, และแฟนๆผู้กำกับ Michael Ocelot ไม่ควรพลาด
อนิเมะเรื่องนี้ไม่ถึงขั้นต้องดูให้ได้ก่อนตาย แต่ถ้าผู้ใหญ่สามารถสรรหามาให้เด็กรับชมได้ ย่อมเป็นประโยชน์สร้างแรงบันดาลใจแฝงข้อคิดการใช้ชีวิตให้กับพวกเขาได้แน่
จัดเรต PG เพราะความชั่วร้ายของ Karaba เด็กๆคงขวัญผวาหวาดสะพรึงกลัวไม่น้อย
Leave a Reply