Kismet

Kismet (1943) Bollywood : Gyan Mukherjee ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ bollywood เรื่องแรกที่ทำเงินเกิน ₹1 ล้าน crore (>10 ล้านรูปี) จัดว่าเป็น Blockbuster เรื่องแรก ยืนโรงฉายยาวนานกว่า 3 ปี (นานที่สุดขณะนั้น) และยังส่งให้ Ashok Kumar กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า Superstar คนแรกของอินเดีย

มีอยู่ประมาณ 5-6 อย่าง ที่ Kismet ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์อินเดีย
– ภาพยนตร์เรื่องแรกที่พระเอกเป็นตัวละครปฏิลักษณ์ (Anti-Hero) ทำในสิ่งที่ขัดต่อหลังศีลธรรมจรรยาของสังคม
– ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตัวละครท้องก่อนแต่งงาน (เรื่องนี้วัฒนธรรมอินเดียสมัยก่อนยอมรับไม่ได้เลยนะครับ)
– ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เรื่องราวมีลักษณะ lost-and-found คือคนหาย (ลูกหนีออกจากบ้าน) ออกค้นหาและค้นพบตอนจบ
– ความสำเร็จของ Kismet ทำให้ Ashok Kumar กลายเป็น Superstar คนแรกของอินเดีย
– ด้วยทุนสร้าง Rs 1 ล้านรูปี หนังทำเงิน ₹1.1 ล้าน crore เทียบกับค่าเงินปัจจุบัน 2017 จะประมาณ ₹65.4 ล้าน crore (=$9.7 ล้านเหรียญ) สูงสุดตลอดกาลขณะนั้น จนกระทั่งการมาของ Barsaat (1949) นำแสดงโดยคู่ขวัญพระนาง Raj Kapoor กับ Nargis
– ยืนโรงฉายยาวนานกว่า 3 ปี ประมาณ 187 สัปดาห์ที่ Roxy Cinema, Calcutta เป็นสถิติยาวนานที่สุด 32 ปี ก่อนการมาของ Sholay (1975)

ต้นทศวรรษ 40s เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อินเดียเป็นประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักแต่ต้องส่งทหารส่วนหนึ่งไปช่วยรบสู้กับ Nazi เพราะประเทศยังคงเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร (ฝ่ายพันธมิตร) สร้างความอึดอัดขัดแย้งให้กับผู้คนในชาติอย่างมาก (คือประเทศเราไม่ได้ไปวุ่นวายกับใคร ไฉนต้องไปร่วมสู้รบสงคราม) ญี่ปุ่นก็เคยพยายามบุกอินเดียผ่านทางพม่านะครับ แต่จะไปสำเร็จได้ยังไง เดินทางไกลขนาดนั้น

สำหรับวงการภาพยนตร์ ในช่วงทศวรรษนี้มีความเข้มงวดของกองเซ็นเซอร์อังกฤษอย่างมาก พยายามกีดกันไม่ให้สร้างหนังแนวชวนเชื่อ หรือเรื่องที่ใส่ทัศนะคติของผู้สร้างลงไป, Kismet ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่สามารถแอบซ่อนแฝงใจความเชิงต่อต้านไว้อย่างลึกซึ้ง พระเอกที่เป็นหัวขโมยสามารถแทนได้ด้วยชาวอินเดียที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน กระทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเอาตัวรอดในทุกๆสถานการณ์ (ทั้งๆที่ตนก็อยากเปลี่ยนไปเป็นคนดี แต่อะไรหลายๆอย่างถูกบีบบังคับ) ส่วนตำรวจ/เจ้าของโรงละคร แทนได้คือผู้นำชาวอังกฤษที่มีอำนาจควบคุมเหนือกว่าทุกสิ่งอย่าง, ผู้ชมจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจพระเอก ลุ้นเป็นกำลังใจให้เอาตัวรอดและได้เคียงคู่กับหญิงสาว ขณะเดียวกันจะไม่ชอบขี้หน้าตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และความเห็นแก่ตัวสนแค่เงินของเจ้าของโรงละคร นี่คือเหตุผลหนึ่งกระมัง ที่ทำให้ Kismet ประสบความสำเร็จล้นหลามขนาดนั้น

เกร็ด: อินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947 (วันนี้ของทุกปีจะคือวันชาติของอินเดียด้วย)

Gyan Mukherjee (1909 – 1956) ผู้กำกับ นักเขียนบทชาวอินเดีย เกิดที่ Varanasi, รัฐ Uttar Pradesh ทางตอนเหนือของอินเดีย เรียนจบสาขาวิทยาศาสตร์ แต่เริ่มต้นทำงานที่โรงละคร New Theatres ใน Calcutta (ปัจจุบันคือ Kolkata) ต่อมาได้สมัครเข้าร่วมงานกับสตูดิโอ Bombay Talkies เป็นฝ่ายเทคนิค มีผลงานกำกับเรื่องแรก Geeta (1940) ในแนวคิดที่ว่า ‘Crime-doesn’t-pay’

สำหรับ Kismet เป็นผลงานในกำกับลำดับที่สาม ด้วยการใช้แนวคิดสูตรสำเร็จเดิม ‘Crime-doesn’t-pay’ เพิ่มเติมคือ ‘lost-and-found’ เล่าเรื่องราวของ Shekhar (รับบทโดย Ashok Kumar) โจรหนุ่มเพิ่งพ้นโทษออกจากคุกใช่ว่าจะสำนึกกลายเป็นคนดี กระนั้นเมื่อเขาได้พบเจอตกหลุมรักหญิงสาวขาพิการ Rani (รับบทโดย Mumtaz Shanti) เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการทำทุกอย่างเพื่อเธอ รวมถึงเลิกเป็นโจรกลับตัวเป็นคนดี แต่ใช่ว่าอดีตที่เคยทำไว้จะยอมให้เขาเปลี่ยนไปง่ายๆได้ซะที่ไหน

ผมจะขอพูดถึง sub-plot หนึ่งที่อยู่ในหนัง, ครอบครัวหนึ่งมีพ่อที่เข้มงวด ฝีปากกล้าแบบไม่สนจิตใจใคร กระทั่งวันหนึ่งลูกชายของตนทนไม่ได้จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน กระนั้นพ่อก็ยังไม่รู้สำนึกเข้าใจตัวเอง แม้จะวางจานใบหนึ่งไว้เสมอรอคอยวันลูกกลับบ้าน แต่ตราบใดที่เขายังไม่เปิดอกยอมรับทำความเข้าใจข้อบกพร่องของตนเอง ลูกชายที่หายไปคงไม่มีวันย้อนหวนคืนมาแน่

อีก sup-plot ที่คล้ายๆกัน, ครอบครัวหนึ่งมีพ่อขี้เมาเป็นเจ้าของโรงละคร ลูกสาวตัวเล็กน่ารักที่ยอมทำทุกอย่างตามคำพ่อขอ กระทั่งเต้นๆๆๆ จนหมดเรี่ยวแรงขาพลิกพิการเกือบถาวร พ่อรู้สึกผิดรุนแรงในการกระทำของตน ตัดสินใจทิ้งหนีลูกสาวทั้งสองของตนไม่ยอมกลับบ้าน สำมะเลเทเมาชีวิตไร้แก่นสาน แต่แทบทุกครั้งที่ได้ข่าวว่าเธอมีการแสดง พ่อจะต้องแอบมาด้อมๆมองๆ คอยเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆเสมอ

นำแสดงโดย Ashok Kumar (1911 – 2001) นี่เป็นเรื่องที่ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า Superstar คนแรกของอินเดีย, ชื่อเดิม Kumudlal Ganguly เกิดที่ Bhagalpur รัฐ Bihar เรียนกฎหมายที่ Presidency College of the University of Calcutta, Kolkata กึ่งๆถูกบังคับให้เป็นทนายความ แต่จิตใจอยากเป็นนักแสดง ได้รับการชักชวนจากว่าที่พี่เขย Sashadhar Mukherjee ทำงานในสตูดิโอ Bombay Talkies เริ่มจากเป็นผู้ช่วยในห้องแลป ต่อมากลายเป็นนักแสดงครั้งแรกแบบจับพลัดจับพลูในเรื่อง Jeevan Naiya (1936), สาเหตุเกิดจากนางเอกเรื่องนี้ Devika Rani ได้ลักลอบมีชู้หนีไปกับพระเอก Najmul Hassan แล้วซมซานกลับมา เจ้าของสตูดิโอ Himanshu Rai ซึ่งเป็นภรรยาของ Rani ได้ไล่ Hassan ออกแล้วเลือก Ganguly เข้ามาแทนที่ (ตามคำแนะนำของผู้กำกับ Franz Osten) และได้รับชื่อใหม่ในวงการ Ashok Kumar

นับจากนั้นมา Kumar ก็ได้รับบทนำมาโดยตลอด มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เอาจริงๆก็สามารถจัดเป็น Blockbuster ในยุคนั้นได้แล้ว อาทิ Achhut Kannya (1936), Janmabhoomi (1936) [ภาพยนตร์ patriotic เรื่องแรกของอินเดีย ในนาม British Raja], Izzat (1937), Savitri (1937), Vachan (1938), Kangan (1939), Bandhan (1940), Azad (1940), Jhoola (1941) ฯ เรียกได้ว่า Kumar คือหนึ่งนักแสดงประสบความสำเร็จที่สุดในยุคนั้น

จนกระทั่งการมาถึงของ Kismet ที่ได้รับบทตัวละคร anti-hero คนแรกของประเทศอินเดีย กระทำในสิ่งตรงกันข้าม ขัดต่อกฎระเบียบจริยธรรมทางศาสนาและสังคม

“Ashok’s popularity grew each passing day. He seldom ventured out, but wherever he was spotted, he was mobbed. Traffic would come to a stop and often the police would have to use lathis to disperse his fans.”

Shekhar เป็นคนเฉลียวฉลาดที่มักง่ายแต่ก็มีอุดมการณ์สูงส่ง คือของที่ตนขโมยมักจะมาจากคนรวย (เหมือน Robin Hood) ไม่เคยเบียดเบียนคนจน หรือถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อผู้อื่น ก็จะคืนให้หรือทำอย่างอื่นชดใช้ตอบแทน, สิ่งที่ทำให้ตัวละครนี้ยอมศิโรราบต่อทุกสิ่งอย่าง นั่นคือ ‘ความรัก’ ที่สามารถเปลี่ยนราชสีห์คนชั่ว ให้กลายเป็นลูกแมวน่ารักได้

ในหนังเรื่องนี้ Kumar ยังมีอีกบทบาทหนึ่งด้วย แต่ผมไม่ขอสปอยแล้วกันว่าเป็นใคร รู้แค่ชื่อ Madan อย่างเดียวก็พอ, ไม่แน่ใจนี่เป็นครั้งแรกในอินเดียหรือเปล่า ที่นักแสดงคนเดียวเล่น 2 บทบาท

บอกตามตรงผมแทบไม่เห็นการแสดงของ Kumar ในบทบาทนี้เลย คือดูเป็นธรรมชาติเหมือนตัวเองมากๆ ตัวจริงคงนิสัยดีใช้ได้เลยละ มันสื่อออกมาทางสายตาและคิ้ว น้ำเสียงที่นุ่มนวลบางครั้งหยาบแข็งกระด้าง ถ้าไม่บอกว่าตัวละครนี้เป็นโจรก็ไม่อยากเชื่อเท่าไหร่

หลังจาก Kismet ผลงานเรื่องถัดไปของ Ashok Kumar ก็ประสบความสำเร็จล้นหลามไม่แพ้กัน (แต่ไม่มีเทียบเท่ากับเรื่องนี้อีกแล้ว) อาทิ Chal Chal Re Naujawan (1944), Shikari (1946), Sajan (1947), Mahal (1949), Sangram (1950) Samadhi (1950) ฯ จนกระทั่งการมาของ Dev Anand, Dilip Kumar, Raj Kapoor ฯ ชื่อเสียงความโด่งดังก็ค่อยๆลดลง แต่ก็ยังมีผลงานต่อมาเรื่อยๆ (ในบทผู้ใหญ่ขายการแสดง) ได้รางวัล National Film Award จากหนังเรื่อง Aashirwaad (1969) และปี 1988 ได้เครื่องราชอิสริยยศ ลำดับสูงสุด Dadasaheb Phalke เพื่อตอบแทนความทุ่มเทและความสำเร็จในวงการภาพยนตร์อินเดีย

สำหรับนำหญิง Mumtaz Shanti นักแสดงชื่อดังในช่วงทศวรรษ 40s – 50s มีผลงานอาทิ Basant (1942), Ghar Ki Izzat (1948) ฯ ผมหาข้อมูลของเธอแทบจะไม่ได้เลย เพราะหลังจากได้แต่งงานช่วงต้นทศวรรษ 50s ย้ายไปอยู่ประเทศปากีสถานช่วงแบ่งแยกดินแดนอินเดีย หลังจากนั้นไม่มีผลงานการแสดงออกสื่ออีกเลย กระทั่งข่าวการเสียชีวิตยังถูกปกปิดไว้ ไม่มีใครรู้สาเหตุเพราะอะไร

รับบท Rani หญิงสาวขาพิการที่ถูกพ่อทอดทิ้ง แต่มีน้ำเสียงนุ่มนวล ร้องเพลงได้มีความไพเราะเสนาะจับใจ, นิสัยเป็นคนโอบอ้อมอารีมีเมตตากรุณา สุจริตเชื่อมั่นในคุณธรรมความดีของคน และเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า (ในหนังเหมือนเธอจะนับถือฮินดู แต่ผมแอบเห็นรูปปั้นพระพุทธรูป เลยแอบสงสัยเล็กๆว่าศาสนาไหน) การได้พบกับ Shekhar ราวกับฟ้าประทานคนรักให้เธอ เขาทำดีให้ทุกอย่าง แต่มนุษย์น้อยนักที่จะมีความสมบูรณ์แท้ เธอโกรธแต่ไม่แค้นเคือง ถ้าชายหนุ่มยอมกลับใจ เธอก็ยินยอมที่จะรับรักโดยสดุดี

ผมแอบรำคาญตัวละครนี้เล็กๆ เพราะการที่เธอทำอะไรไม่ได้ หลายครั้งเลยต้องสวดมนต์อ้อนวอนขอพระผู้เป็นเจ้าให้ประทานความช่วยเหลือ แต่จะว่าไปนี่คือค่านิยม ความเชื่อ ศรัทธาของคนสมัยก่อน (ปัจจุบันหลายคนก็อาจยังเป็นอยู่) นี่ยังมองได้ถึงบทบาทของเพศหญิงในอินเดียสมัยนั้น ที่ยังคงเป็นช้างเท้าหลัง งอมืองอเท้าคิดเองทำอะไรเองไม่ได้ ถ้าไม่มีผู้ชาย พ่อ/สามี ในครอบครัว ก็จะไม่สามารถลืมหูลืมตาอ้าปากคิดทำอะไรด้วยตนเองได้เลย

การแสดงของ Shanti ชวนให้ผู้ชมหลงใหลคลั่งไคล้เป็นอย่างยิ่ง แต่ผมว่ารูปลักษณ์ของเธอไม่เหมาะกับบทเท่าไหร่ คือดูอวบอิ่มสมบูรณ์เกินไปนิด ผิดวิสัยตัวละครที่ทั้งภายนอกภายในอ่อนแอบอบบาง แต่เธอแสดงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าออกมาได้อย่างอิดโรย เวลาทุกข์ทรมานจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเจ็บปวดหัวใจไปกับตัวละครด้วย

ถ่ายภาพโดย R.D.Pareenja, สังเกตว่าหนังถ่าย Medium-Shot เป็นส่วนใหญ่ คือเห็นตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นไป กับฉากปกติแทบจะไม่เห็นเท้าของนักแสดงเลย อาจมีนัยยะว่า ชาวอินเดียไม่ได้ต่ำต้อยกว่าพวกอังกฤษ (จะมียกเว้นอยู่สองสามครั้ง ที่ถ่ายเจาะจงให้เห็นเท้าขณะเต้นไฟ, นวดเท้า ฯ)

การตัดต่อ-ไม่มีเครดิต หนังใช้มุมมองของ Shekhar เป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีสลับไปของ Rani บ้าง ตัวละครอื่นบ้าง และมีการย้อนอดีต (Flashback) นี่ถือว่ายังเป็นเทคนิคใหม่ในประเทศอินเดียนะครับ [ไม่แน่ใจว่าเป็นหนังอินเดียเรื่องแรกเลยหรือเปล่าที่ใช้เทคนิคนี้]

เกร็ด: เทคนิคเล่าเรื่องด้วย Flashback จุดเริ่มต้นมาจาก D.W. Griffith ในหนังเรื่อง Intolerance (1916) แต่กว่าจะเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายก็ Wuthering Heights (1939) ตามมาด้วย Le jour se lève (1939) โด่งดังที่สุดก็ Citizen Kane (1941) และ Casablanca (1942)

เพลงประกอบโดย Anil Biswas นักแต่งเพลงผู้บุกเบิกเทคนิค Playback singer (บันทึกเพลงเสียงร้องก่อนถ่ายทำ แล้วให้นักแสดงลิปซิงค์) หนังเรื่องนี้เห็นว่าเป็นเรื่องแรกที่ใช้เสียงร้อง full chorus เต็มเพลงประกอบภาพยนตร์ด้วย, ภาพรวมของบทเพลงมีความไพเราะสมยุคสมัย มีลักษณะเป็น orchestral music แต่ใจความเนื้อเพลงออกไปทาง patriotism มากเสียหน่อย

แต่งคำร้องโดย Kavi Pradeep นักกวีและแต่งเพลง ที่มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในบทเพลงประเภท Patriotic (แนวรักชาติ) ที่มีชื่อเสียงสุดก็ Aye Mere Watan Ke Logo ที่แต่งให้เกล่าทหารกล้าที่เสียชีวิตในสงคราม Sino-Indian, ก่อนหน้านี้เคยแต่งเนื้อเพลงให้หนังอย่าง Bandhan (1940) แต่โด่งดังสุดคงหนีไม่พ้นหนังเรื่องนี้

บทเพลง Aaj Himalay Ki Choti Se (แปลว่า จากจุดสูงสุดของเทือกเขาหิมาลัยลงมา, From the peak of the Himalayas) ขับร้องโดย Ameerbai Karnataki กับ Khan Mastana มีคำร้องท่อนหนึ่ง Door hato O Duniya walon (แปลว่า ออกไปเสียคนนอก ดินแดนแห่งนี้เป็นของเรา Move Away O Outsiders, Hindustan is ours) นี่มีนัยยะชัดเจนมากๆว่าหมายถึงสหราชอาณาจักร แต่เหตุที่เพลงนี้ไม่ถูกแบนเพราะมีท่อนถัดมา Tum na kisike aage jhunkna, German ho ya Japani (แปลว่า Don’t you bow in front of anyone, be it the Germans or the Japanese) ที่พูดถึงเยอรมันและญี่ปุ่น จึงสามารถผ่านกองเซนเซอร์ออกฉายได้

กระนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบ เพลงนี้ก็ถูกโหมกระแสขึ้นอีกครั้งโดย Mahatma Gandhi ผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหว Quit India เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของชาวอินเดีย ด้วยนัยยะแท้จริงของเพลงนี้ไม่ได้หมายถึงเยอรมันหรือญี่ปุ่น แต่คือประเทศอังกฤษนี่แหละ, พอเจ้าหน้าที่กองเซนเซอร์ตระหนักได้ถึงความผิดพลาดครั้งใหญ่นี้ พวกเขาพยายามแบนห้ามฉายหนังทันที (แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว) และออกไล่ล่าตามจับตัว Kavi Pradeep แต่เจ้าตัวก็ได้หายตัวเข้ากลีบเมฆ หลบซ่อนตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แน่นอนว่า Kavi Pradeep ย่อมได้รับการสรรเสริญย้อนหลัง ประดับเครื่องราชอิสริยยศ ลำดับสูงสุด Dadasaheb Phalke ปี 1997 ก่อนหน้าจะเสียชีวิตเพียงปีเดียวเท่านั้น

เกร็ด: สังเกตแผนที่ประเทศอินเดียในคลิปนะครับ ยังคงมีดินแดนปากีสถานรวมอยู่ด้วย

แต่บทเพลงที่ผมคิดว่ามีความไพเราะสุดของหนังคือ Dheere Dheere Aa Re Badal (แปลว่า เมฆเอยจงเคลื่อนลอยมาอย่างช้าๆไร้เสียง, O! Clouds come calmly and noiselessly) ขับร้องโดย Ameerbai Karnataki และ/หรือ Ashok Kumar มีทั้งฉบับร้องเดี่ยวและ Duet ร้องคู่ ใจความประมาณว่าคู่รักหนึ่งติดอยู่ท่ามกลางสถานที่เต็มไปด้วยพายุฝนฟ้าคลั่ง เธอได้ขอให้เมฆบนท้องฟ้าค่อยๆเคลื่อนผ่านมาอย่างช้าๆไร้เสียง เพื่อให้คนรักของตนได้หลับฝันดีเป็นสุข

เพลงนี้ถ้าเข้าใจคำแปลจะรู้เลยว่าหวานมากๆ ผมพยายามหาฉบับที่เสียงดีที่สุดใน Youtube มาให้ฟัง ก็เจอฉบับนี้นะครับ

ใจความหนังเรื่องนี้ มองที่หน้าหนังคือการค้นหาพบเป้าหมายของชีวิต
– จากโจรไร้ค่าเมื่อได้รู้จักคำว่ารัก ต้องการที่จะกลับตัวเปลี่ยนแปลง เพื่อมอบความสุขให้กับเธอเพียงคนเดียว
– หญิงสาวที่ชิวิตเว้งว้างไร้ค่า ได้พบกับชายผู้เสียสละ จึงเทิดทูนบูชาเคารพรัก อยากได้เขามาเป็นที่พักของหัวใจ

มองที่ความตั้งใจของผู้กำกับ คือการแสดงทัศนะต่อต้านการเป็นประเทศอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ปลุกใจให้ประชาชนมีเป้าหมายในชีวิต เกิดความรักชาติบ้านเมือง ร่วมแรงใจพร้อมกันสามัคคี เดินหน้าเรียกร้องสิทธิ์สู่ความอิสระเสรีของประเทศแผ่นดินเรา

ถ้าคุณไม่ใช่คนอินเดีย อาจมีความรู้สึกต่อต้านหนังอยู่นิดๆ เพราะการแสดงละครในหนัง เปิดมาด้วยแผนที่ประเทศอินเดีย ถ้าอ่านเนื้อร้องตามคงยิ่งสัมผัสได้เลยถึงความชาตินิยม Patriotism ที่ค่อนข้างเด่นชัด นี่คือใจความแฝงของหนังที่ทำให้ความสากลของหนังลดลงพอสมควร แนะนำให้มองเป็น’ประวัติศาสตร์’ชาติอินเดียในยุคสมัยนั้นดูนะครับ ความหงุดหงิดพวกนี้จะลดลงบ้าง (ประเด็นพวกนี้ บางทีถ้าไม่รู้ไม่ต้องสนใจเลยดีกว่า หนังจะดูสนุกขึ้นมากทีเดียว)

ส่วนตัวประทับใจชื่นชอบหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่น่าเสียดายที่กาลเวลาทำให้คุณภาพลดต่ำลงมากเช่นกัน, การแสดงของ Ashok Kumar เองที่ถึงยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นตราตรึงอะไรแล้ว (ผู้ชมสมัยนั้นคงอึ้งทึ่ง เพราะนี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในภาพยนตร์อินเดีย) หลายเรื่องราว บางตัวละครดูเฉิ่มเชย ฝืนๆ ไม่เป็นธรรมชาติเสียเท่าไหร่, แต่ถ้าคุณสามารถจับแนวคิดใจความของหนังได้ ก็อาจหลงใหลในอุดมการณ์ และมหัศจรรย์ในรักที่สามารถเปลี่ยนคนได้จริงๆ

แนะนำกับคอหนัง bollywood คลาสสิก นักประวัติศาสตร์อินเดีย ชื่นชอบนักแสดง Ashok Kumar ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต PG กับนิสัยการขโมย

TAGLINE | “Kismet ภาพยนตร์ Blockbuster เรื่องแรกของอินเดีย แม้จะไม่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ แต่ก็มีความสวยงามยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ในรักของ Ashok Kumar กับ Mumtaz Shanti”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: