
Priest of Darkness (1936)
: Sadao Yamanaka ♥♥♥♡
น้องชายแอบลักขโมยมีดสั้นซามูไร อาจทำให้พี่สาว (รับบทโดย Setsuko Hara) ต้องรับเคราะห์กรรมด้วยการขายตัวหาเงินมาชดใช้หนี้, Priest of Darkness (1936) นำเสนอมุมมืด โลกใต้ดินของญี่ปุ่นยุคก่อน (Edo period) ที่สามารถสะท้อนเข้ากับสมัยปัจจุบันนั้น ก่อนสงครามโลกครั้งสองได้อย่างน่าหวาดสะพรึง
ในบรรดาสามผลงานหลงเหลือของผกก. Sadao Yamanaka ภาพยนตร์ Priest of Darkness (1936) มักถูกมองข้าม ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงสักเท่าไหร่ นั่นอาจเพราะเรื่องราวค่อนข้างซับซ้อน มุมมองนำเสนอสลับสับเปลี่ยนหลากหลายตัวละครเกินไป ตอนจบเหมือนยังค้างๆคาๆ (จริงๆคือจงใจเปิดกว้าง ให้อิสระผู้ชมครุ่นคิดจินตนาการ) อีกทั้ง Setsuko Hara ผมพยายามมองหาเธอตั้งนมนาน แต่เพราะหนังแทบไม่มีช็อตระยะใกล้ เลยไม่ทันสังเกตเห็นว่าเล่นเป็นตัวละครไหน (จริงๆปรากฎตัวตั้งแต่ฉากแรกๆ แต่ดูไม่ค่อยออกเพราะฟีล์มบูรณะ 4K คุณภาพกลับย่ำแย่เหลือทน)
แม้หนังจะห่างไกลความสมบูรณ์แบบ แต่ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงลายเซ็นต์ผกก. Yamanaka มีความโดดเด่นชัดเจนในสไตล์ Minimalist แนะนำให้หารับชม The Million Ryo Pot (1935) ก่อนภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วจะพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึง เปลี่ยนจากไหเงินล้านเป็นมีดสั้นซามูไร ดำเนินไปในลักษณะ ‘ส่งไม้ผลัด’ คล้ายๆแบบ The Earrings of Madame De… (1953) อธิบายแค่นี้หลายคนคงน่าจะเห็นภาพความน่าสนใจ
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามมองหาคำตอบ คือเหตุไฉน Priest of Darkness (1936) ถึงเป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของผกก. Hayao Miyazaki เอาจริงๆ The Million Ryo Pot (1935) น่าจะมีเหมาะสม ใกล้เคียงตัวตนมากกว่า ไม่รู้เพราะพฤติกรรมหัวขบถน้องชาย หรือพี่สาวสุดสวย Setsuko Hara ที่แม้บทไม่มาก แต่อาจทำให้หลายคนเจ็บปวดรวดร้าว สงสารเห็นใจ ไม่อยากให้กลายเป็นผู้หญิงขายตัว
Sadao Yamanaka, 貞雄山中 (1909-1938) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto, ตั้งแต่เด็กชอบโดดโรงเรียนไปรับชมภาพยนตร์ โตขึ้นเข้าศึกษา Kyoto Daiichi Commercial High School (ปัจจุบันคือ Saikyō Junior & Senior High School) สนิทสนมกับเพื่อนนักเขียน Shigeji Fujii, พออายุ 20 สมัครเข้าทำงาน Makino Productions เริ่มต้นจากเขียนบท ก่อนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yotsuya kaidan: kôhen (1927) แต่เลื่องชื่อในฐานะ “Bad-Assistant Director” เพราะทำงานเชื่องช้า ขาดความกระตือรือล้น แถมชอบยืนหลังกล้อง ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ได้รับมอบหมาย
ความเลื่องชื่อลือชาของ Yamanaka ทำให้ไม่ใครใน Makino Productions อยากร่วมงานด้วย เลยจำใจต้องอพยพย้ายสู่ Arashi Kanjuro Productions เพราะขาดคนทำงาน เลยได้รับโอกาสกำกับหนังเงียบทุนต่ำแนว Jidaigeki (時代劇, คำเรียกแนวหนังย้อนยุคของญี่ปุ่น ที่มักมีพื้นหลัง Edo Period ค.ศ. 1603-1868) โด่งดังจากสไตล์การทำงานที่เรียบง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ผิดแผกตรงกันข้าใจากตอนเรียนรู้งานผู้ช่วยผู้กำกับโดยสิ้นเชิง! และการมาถึงของหนังพูด (Talkie) ตัดสินใจลงหลักปักฐานยัง Kyoto ตอบตกลงเข้าร่วมสตูดิโอ Nikkatsu
หลังการเสียชีวิตของบิดาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 ผกก. Yamanaka อาศัยอยู่กับมารดา มีความสนิทสนมชิดเชื้อ แม้เติบใหญ่ก็ยังคงแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ การเสียชีวิตของเธอเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1936 สร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างมากๆ ส่งผลกระทบต่อผลงานหลังจากนี้พอสมควร
河内山宗俊 อ่านว่า Kōchiyama Sōshun ใช้ชื่ออังกฤษ Priest of Darkness เป็นภาพยนตร์สะท้อนช่วงชีวิตดังกล่าวของผกก. Yamanaka ร่วมงานเพื่อนนักเขียน Shintarō Mimura ทำการดัดแปลงบทละคอน Kabuki ของ Kawatake Mokuami (1816-1893) เรื่อง 天衣紛上野初花 (1881) อ่านว่า Kumo ni Magou Ueno no Hatsuhana หรืออีกชื่อ 河内山と直侍 อ่านว่า Kōchiyama to Naozamurai ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ยัง Kawarasaki Theater ณ กรุง Tokyo นำแสดงโดย Ichikawa Danjūrō IX
การแสดง Kabuki ดังกล่าวได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวบันทึกอยู่ในหนังสือ 天保六花撰 อ่านว่า Tenpo Rokkasen แปลว่า The Six Stars of the Tempo Era รวบรวมโดย Matsubayashi Hakuen II (1834-1905) อ้างอิงจากเรื่องจริงของ Kōchiyama Sōshun, 河内山 宗春 (ไม่รู้ปีเกิด แต่คาดว่าเสียชีวิต ค.ศ. 1823) อดีตซามูไรระดับสูง เคยทำงานอยู่ใน Edo Castle แต่ภายหลังสูญเสียตำแหน่ง ค.ศ. 1808 รวบรวมผองเพื่อนก่อตั้งกลุ่มแก๊งค์มาเฟีย รีดไถ ปล้นฆ่า กระทำสิ่งผิดกฎหมาย ก่อนถูกจับกุมเมื่อปี ค.ศ. 1823 คาดว่าถูกทรมานจนเสียชีวิตในห้องขัง
ฉบับภาพยนตร์มีการปรับแก้ไขเนื้อเรื่องราวพอสมควร ลดความโฉดชั่วร้ายของ Kōchiyama Sōshun ให้กลายเป็นมนุษย์จับต้องได้ มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตาปราณี ทั้งยังยินยอมเสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือสองพี่น้อง Onami และ Hirotaro ให้หลุดพ้นจากวังวนอาชญากรรม
เรื่องราวของพี่สาว Onami (รับบทโดย Setsuko Hara) เปิดร้านขายเครื่องดื่ม Amazake มีความกังวลต่อน้องชาย Hirotaro พบเห็นสุงสิงอยู่ในบ่อนการพนันของ Kōchiyama Sōshun (รับบทโดย Chôjûrô Kawarasaki) ไม่ยินยอมกลับบ้านกลับช่อง แอบเปลี่ยนชื่อแซ่ Naojiro แถมยังสร้างความเดือดร้อนด้วยการลักขโมยดาบสั้นซามูไร และเป็นต้นเหตุให้เกอิชา/เพื่อนวัยเด็ก Michitoshi ฆ่าตัวตายหลบหนีการแต่งงาน เลยถูกเรียกร้องค่าเสียหาย 300 ryu มีวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะสามารถชดใช้
ซามูไร Ichinosuke Kaneko (รับบทโดย Kan’emon Nakamura) ทำงานเป็นบอดี้การ์ดเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya วันๆมีหน้าที่เรียกเก็บค่าเช่าร้านค้า แต่เพราะความชื่นชอบ Onami จึงสรรหาข้ออ้างไม่ให้เธอต้องจ่ายเงินสักแดงเดียว! วันหนึ่งมีโอกาสพบเจอ Kōchiyama Sōshun ดื่มเหล้ากลายเป็นเพื่อนสนิทสนม รับรู้เหตุการณ์วุ่นๆวายๆของ Onami และ Hirotaro ทั้งสองจึงร่วมมือกัน ครุ่นคิดหาวิธีการช่วยเหลือพี่น้องคู่นี้ ไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อด้านมืดสังคม
Chôjûrô Kawarasaki (1903-81) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น สมาชิกคณะ Kabuki ชื่อว่า Zenshin-za Group เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด Nikkatsu ผลงานเด่นๆ อาทิ Priest of Darkness (1936), Humanity and Paper Balloons (1937), The 47 Ronin (1941), Miyamoto Musashi (1944) ฯ
รับบท Kōchiyama Sōshun เหมือนจะเคยเป็นอดีตซามูไร ปัจจุบันคือเจ้าของบ่อนการพนันแห่งหนึ่ง รู้สึกพึงพอใจกลโกงของ Hirotaro (ที่เรียกตนเองว่า Naojiro) จึงพาเด็กชายไปเปิดหูเปิดตา เรียนรู้จักโลกกว้าง แต่นั่นกลับทำให้เรื่องราวบานปลาย สร้างความไม่พึงพอใจต่อเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya จึงครุ่นคิดแผนการปลอมตัวเป็นพระ โกนศีรษะ หลอกเอาเงิน แต่สุดท้ายก็โดนจับได้ เผชิญหน้าต่อสู้ มอบโอกาสหลบหนีให้ Hiro ได้ช่วยเหลือพี่สาว Onami
หลังจากที่ผกก. Yamanaka เคยตีความมุมมองสดใหม่ให้กับ Tange Sazen ภาพยนตร์ The Million Ryo Pot (1935) มาคราวนี้ก็ไม่แตกต่างจากเดิมนัก ทำการปรับปรุงตัวละคร Kōchiyama Sōshun จากอดีตซามูไรที่มีความเหี้ยมโหดโฉดชั่วร้าย กลายมาเป็นบุคคลมาดเท่ห์ ใจนักเลง ผู้มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะกับพี่น้อง Onami และ Hirotaro (อาจเพราะทั้งสองยังละอ่อนเยาว์วัยนัก) พร้อมต่อสู้ ผดุงความยุติธรรม ถึงขนาดยินยอมเผชิญหน้าเจ้าพ่อมาเฟีย ล่อหลอกผู้ปกครองแคว้น และเสียสละชีพเพื่ออุดมการณ์ส่วนตน … จนสามารถเรียกได้ว่า ‘Priest of Darkness’
การแสดงของ Kawarasaki เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ชีวิตชีวา พบเห็นอารมณ์ดีอยู่แทบตลอดเวลา มักพูดช้าๆอย่างมีจังหวะ (สไตล์ Kabuki) เวลามึนเมาก็ยังสรวลเสเฮฮา แต่ไฮไลท์ต้องตอนปลอมตัวเป็นพระ บอกตามตรงว่าผมไม่ทันสังเกต แยกแยะไม่ออก (เพราะคุณภาพของหนังย่ำแย่เกินทน) ถ้าไม่ได้เฉลยตอนหลังคงอ้ำๆอึ่งๆ คาดไม่ถึง หัวเราะจนท้องแข็ง … ใครเคยรับชม Humanity and Paper Balloons (1937) อาจคาดไม่ถึงว่า Kawarasaki สลับบทกับ Kan’emon Nakamura เล่นเป็นซามูไรที่มีความแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้โดยสิ้นเชิง!
Kan’emon Nakamura (1901-82) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น สมาชิกคณะ Kabuki ชื่อว่า Zenshin-za Group เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด Nikkatsu ผลงานเด่นๆ อาทิ Priest of Darkness (1936), Humanity and Paper Balloons (1937), The 47 Ronin (1941), Samurai Banners (1969), Inn of Evil (1971) ฯ
รับบทซามูไร Ichinosuke Kaneko ดูเป็นคนเย่อหยิ่ง จองหอง เข้มงวดกวดขัน แต่พอมาถึงร้าน Onami กลับแสดงพฤติกรรมแตกต่างตรงกันข้าม อ่อนน้อมถ่อมตน เอ็นดูรักใคร่ ชอบให้ความช่วยเหลือ สรรหาข้ออ้างให้เธอไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ และเมื่อได้พบเจอ Kōchiyama Sōshun กลายเป็นสองเกลอขี้เมา ร่วมหัวจมท้ายเผชิญหน้าเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya ยินยอมเสียสละชีพเพื่อสนองอุดมการณ์ส่วนตน
บทบาทของ Nakamura อาจไม่ได้โดดเด่นเทียบเท่า Chôjûrô Kawarasaki แต่มีลักษณะคล้ายๆตัวละคร Genzaburo Yagyu จากภาพยนตร์ The Million Ryo Pot (1935) เป็นบุคคลมียศศรี (ในที่นี้ก็คือซามูไร) โชคชะตานำพาให้กลายเป็นเพื่อนสนิทสนมตัวละครหลัก (หรือก็คือ Kōchiyama Sōshun) บังเกิดมิตรภาพแน่นแฟ้น ร่วมหัวจมท้าย พร้อมเผชิญหน้าต่อสู้กับอะไรสักสิ่งอย่าง
ใครเคยรับชม Humanity and Paper Balloons (1937) อาจรู้สึกอึ่งทึ่งกับการสลับบทบาทกับ Kawarasaki เปลี่ยนมาเล่นเป็นเจ้าของบ่อนการพนัน(รายย่อย) ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้กัน
Setsuko Hara ชื่อจริง Masae Aida (1920 – 2015) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของฉายา ‘the Eternal Virgin’ เกิดที่ Hodogaya-ku, Yokohama มีพี่น้อง 8 คน เมื่อพี่สาวคนโตแต่งงานผู้กำกับ Hisatora Kumagai กลายเป็นใบเบิกทางให้ตนเองวัย 15 ปี ลาออกจากโรงเรียนมุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เซ็นสัญญา Nikkatsu Studios แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Do Not Hesitate Young Folks! (1935), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Daughter of the Samurai (1937), ผลงานเด่นๆ อาทิ No Regrets for Our Youth (1946), A Ball at the Anjo House (1947), The Idiot (1951), Sound of the Mountain (1954), ร่วมงานผู้กำกับ Ozu ทั้งหมดหกครั้ง Late Spring (1949), Early Summer (1951), Tokyo Story (1953), Tokyo Twilight (1957), Late Autumn (1960) และ The End of Summer (1961)
รับบท Onami พี่สาวผู้มีความสุภาพอ่อนโยน เอ่อล้นอัธยาศัยไมตรี เป็นที่รักใคร่ของใครๆ ตรงกันข้ามกับน้องชายนิสัยเห็นแก่ตัว ชอบสร้างปัญหา นำพาความเดือดร้อนมาให้ไม่หยุดหย่อน แต่ถึงจะกระทำสิ่งเลวร้าว ก็ยินยอมพร้อมเสียสละตนเอง คาดหวังว่าเขาจะสามารถกลับตัวกลับใจได้สักวัน
แม้จะไม่ค่อยพบเห็นมุมกล้องระยะใกล้ โคลสอัพใบหน้าตัวละคร แต่แค่น้ำเสียงของ Hara ก็เอ่อล้นพลังดาราออกมานอกจอ สัมผัสได้ถึงความนุ่มนวล อ่อนหวาน จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความรัก ความห่วงใย ผู้ชมตกหลุมรักใคร่ ไม่ต้องการให้ยุงไต่ไรตอม โดยเฉพาะเมื่อเธอตัดสินใจยินยอมขายตัวนำเงินมาใช้หนี้ ย่อมสร้างความเจ็บปวดรวดร้าว ทำไมโลกนี้ถึงเต็มไปด้วยสิ่งอยุติธรรม!
ถึงจะยังไม่ใช่บทบาทแจ้งเกิดของ Hara แต่ความสามารถด้านการแสดงโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ ด้วยวัยเพียง 15-16 ปี ก็เจิดจรัส ฉายแววซุปเปอร์สตาร์ เอาจริงๆน่าเสียดายที่แนวทางภาพยนตร์ของผกก. Yamanaka ไม่ได้มุ่งเน้นสร้างความโดดเด่นให้นักแสดงสักเท่าไหร่ แต่ถ้าใครเป็นแฟนคลับ รับชมหนังเรื่องนี้ย่อมตกหลุมรักเธอยิ่งๆขึ้นไปอีก
ถ่ายภาพโดย Harumi Machii, 町井春美 สัญชาติญี่ปุ่น ผลงานเด่นๆ อาทิ Priest of Darkness (1936), Hana chirinu (1938) ฯ [ผลงานส่วนใหญ่สูญหายไปในระหว่างสงครามโลก]
งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย (Minimalist) อาจไม่ได้สไตลิสต์เหมือน Yasujirō Ozu แต่มีหลายสิ่งละม้ายคล้ายคลึงกัน อาทิ กล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว ตั้งอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา (เกือบๆจะ Tatami Shot) และส่วนใหญ่ถ่ายจากระยะไกล (Long Shot) นานๆครั้งถึงพบเห็นระยะกลางใกล้ (Medium Shot) เพื่อให้เห็นเต็มตัวนักแสดงกระทำสิ่งต่างๆ
หลายคนอาจรับรู้สึกว่าลีลาการนำเสนอของผกก. Yamanaka ดูเฉิ่มเชย ล้าหลัง ขาดสีสันทางภาพยนตร์! แต่ผมกลับมองว่าเป็นการให้อิสรภาพผู้ชมในการสังเกต จับจ้องมอง พบเห็นท่าทางแสดงออก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ดูเป็นธรรมชาติ และนักแสดงต้องมีความเข้าขา ถึงสามารถรับ-ส่ง สนทนา โต้ตอบมุกไปมา
ความแตกต่างจาก The Million Ryo Pot (1935) ผมรู้สึกว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือถ้าเวลากลางวันมักพบเห็นแต่ฉากภายใน ทำให้บริเวณโดยรอบปกคลุมด้วยความมืดมิด (กลิ่นอายนัวร์) บรรยากาศทะมึน อึมครึม หนาวเหน็บ สั่นสะท้านทรวงใน … สอดคล้องเข้ากับเนื้อเรื่องราวนำเสนอด้านมืด โลกใต้ดินของอาชญากร รวมถึงชื่อหนังภาษาอังกฤษ Priest of Darkness (1936)


จริงๆตั้งแต่ The Million Ryo Pot (1935) ก็มีหลายครั้งที่หนังใช้ชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง พูดบอกว่าจะทำอะไรบางอย่าง แต่กลับไม่ถ่ายให้พบเห็น หรือนำเสนอด้วยสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง เช่น ตอนภรรยาขายไหเงินล้าน, บิดาของเด็กชายถูกฆาตกรรม, เด็กชายเล่นพนันชนะเงิน ถูกผองเพื่อนกลั่นแกล้งระหว่างไปโรงเรียน ฯ
Priest of Darkness (1936) จะมีความชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะส่วนใหญ่ที่หนังจงใจไม่ถ่ายให้เห็น ล้วนเกี่ยวกับเด็กชาย Hirotaro กระทำสิ่งผิดกฎหมาย อาทิ ลักขโมยมีดสั้น, โกงการพนัน, ฆาตกรรมเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya ฯ รวมถึงความตายของเพื่อนสาววัยเด็ก Omitsu (พบเห็นเพียงพื้นผิวน้ำกระเพื่อม อะไรสักอย่างตกลงในคูคลอง) และตอนจบค้างๆคาๆไว้ว่าจะสามารถช่วยเหลือพี่สาว Onami ได้สำเร็จหรือไม่?
ใครเคยรับชมผลงานของผกก. Yasujirō Ozu ย่อมมักคุ้นกับชั้นเชิง ลีลาการเล่าเรื่องลักษณะคล้ายๆกันนี้ พูดบอกว่าจะทำอะไร เดี๋ยวไปรับประทานอาหารเย็นนอกบ้าน ฉากตัดมากระโดดข้ามตอนกลับมาถึงบ้าน พร่ำเพ้ออาหารอร่อยจัง ปล่อยผู้ชมอารมณ์คั่งค้างคา ให้อิสรภาพในการครุ่นคิดจินตนาการ





อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นพัฒนาการของผกก. Yamanaka คือการเลือกใช้ช่วงเวลา สถานที่ และสภาพอากาศ ให้มีความสอดคล้องเรื่องราว/อารมณ์ขณะนั้นๆ ยกตัวอย่าง
- Hitotaro แอบพบเจอ Omitsu ภายใต้แสงจันทร์ยามค่ำคืน มอบสัมผัสโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หนุ่ม-สาวไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง
- Omitsu ตัดสินใจฆ่าตัวตาย (กระโดดน้ำตาย) เพราะไม่ต้องการถูกขาย กลายเป็นโสเภณี
- Hitotaro ตั้งใจจะฆ่าตัวตายตามแต่ถูก Omitsu บอกให้ครุ่นคิดถึงพี่สาว Onami เลยจมปลักอยู่กับความซึมเศร้า เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน
- Onami กับ Hitotaro หลังรับรู้ว่าติดหนี้สิน 300 ryu พอดิบพอดีหิมะแรกตก สร้างสัมผัสหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน


ช่วงท้ายที่เจ้าของบ่อน Kōchiyama Sōshun และซามูไร Ichinosuke Kaneko ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อปกป้องเด็กชาย Hitotaro ไม่ให้พวกลูกน้องเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya ไล่ล่าติดตาม สังเกตสถานที่บริเวณนั้นคือช่องทางน้ำไหล เอาตัวตัวกำบัง ปิดกั้นทางเข้า เหมือนพยายามกักขัง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้สิ่งชั่วร้ายหลุดออกไป … เด็กชาย Hitotaro คือประกายความหวังของคนรุ่นใหม่ ไม่มีใครต้องการให้เขาจมปลักอยู่กับวังวนอาชญากรรม
และช็อตสุดท้ายที่เด็กชาย Hitotaro กำลังออกวิ่งไปนั้น ท้องฟ้าดูสว่าง ราวกับรุ่งสาง เช้าวันใหม่กำลังมาถึง (ตลอดทั้งซีเควนซ์ต่อสู้กันยามค่ำคืน) สื่อได้ถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่



ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต
หนังไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครหนึ่งใด แต่ใช้พี่น้อง Onami และ Hirotaro คือจุดศูนย์กลางเรื่องราว โดยเฉพาะน้องชายที่ชอบสร้างสารพัดปัญหา ลักขโมยมีดสั้นซามูไร โกงเกมการพนัน ล่อลวงเกอิชา (เพื่อนสาววัยเด็ก) พี่สาวเลยจำต้องขายตัวชดใช้ นั่นทำให้เจ้าของบ่อน Kōchiyama Sōshun และซามูไร Ichinosuke Kaneko ต้องครุ่นคิดแผนการช่วยเหลือ เผชิญหน้าเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya
ด้วยความซับซ้อนของเรื่องราวที่มักสลับมุมมองตัวละครไปมา การจะแบ่งออกเป็นองก์ๆจึงทำได้ค่อนข้างยาก ผมเลยแยกแยะเป็นตอนๆ จักสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า
- อารัมบท, Kyoto ยามค่ำคืน
- ซามูไร Ichinosuke Kaneko แวะเวียนไปยังร้านรวงต่างๆเพื่อเรียกเก็บค่าเช่าสถานที่
- พอมาถึงร้านของ Onami กลับบอกว่าไม่ต้องจ่ายก็ได้
- ขณะเดียวกันน้องชาย Hitotaro ลักขโมยมีดสั้นซามูไรของ Kitamura
- จากนั้นไปช่วย Kōchiyama Sōshun เอาชนะเกมพนันของ Ushimatsu ได้เงินมาไม่น้อย
- ปิดท้ายด้วยซามูไร Kaneko ส่งมอบเงินค่าเช่าให้กับเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya
- Hitotaro หรือ Naojiro
- ดึกดื่นพี่สาว Onami มาเฝ้ารอคอยหน้าบ่อนการพนันของ Sōshun สอบถามถึงน้องชาย Hitotaro พบเห็นแวะเวียนมาบ่อยครั้ง
- Sōshun เรียกพบเจอ Hitotaro (แสร้งว่าชื่อ Naojiro) แสดงความขอบคุณที่ช่วงโกงเกมพนัน ชักชวนดื่มด่ำ
- Hitotaro พบเจอกับเพื่อนสาววัยเด็ก Omitsu ปัจจุบันกลายเป็นเกอิชา กำลังจะถูกขายต่อให้ …
- เรื่องวุ่นๆของมีดสั้นซามูไร
- Kitamura พร่ำบ่นการสูญเสียมีดสั้นซามูไรให้กับ Kaneko
- Hitotaro นำมีดสั้นซามูไรมาขายต่อในงานประมูล
- Kitamura เดินทางมาทวงมีดที่บ้านของ Onami แต่ก็ไม่รู้ Hitotaro หายตัวไปไหน ยังไม่กลับบ้าน (หลบซ่อนตัวอยู่ในบ่อนของ Sōshun)
- Kitamura พบเจอลูกน้องที่ซื้อมีดสั้นซามูไรในงานประมูล (ในราคา 10 ryu) เลยทำการขอซื้อต่อ (ในราคา 30 ryu)
- Kōchiyama Sōshun และ Ichinosuke Kaneko
- Sōshun และ Kaneko พบเจอกันหน้าร้านของ Onami ทั้งสองเกิดความเข้าใจผิดจึงท้าต่อสู้
- พอสามารถปรับความเข้าใจก็กลายเป็นเพื่อนดื่มสังสรรค์
- Hitotaro นัดพบเจอกับ Omitsu ทีแรกตั้งใจจะหนีไปด้วยกัน แต่ท้ายสุดฝ่ายหญิงตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
- Sōshun รับรู้ตัวตนแท้จริงของ Naojiro จากนั้นออกไปดื่มยันเช้ากับ Kaneko
- หนี้สิน 300 ryu
- Onami กลับมาถึงบ้านพบเจอกับ Hitotaro ในสภาพซึมเศร้า
- เจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya เดินทางมาทวงหนี้ Hitotaro ที่ทำให้เกอิชา Omitsu หายตัวไป/เสียชีวิต เป็นเงิน 300 ryu
- Onami เดินทางมาที่บ่อนของ Sōshun พบเจอกับ Ushimatsu ยินยอมจะขายตัวชดใช้หนี้
- Sōshun และ Kaneko หลังจากดื่มด่ำจนเช้า เพิ่งเดินทางกลับมาบ้าน
- Kaneko เข้าพบเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya รับฟังเรื่องราวบังเกิดขึ้น
- Kitamura เดินทางมาทวงหนี้ Hitotaro พอดิบพอดีพบเจอกับ Kaneko รับรู้ว่า Onami เดินทางไปขายตัวยัง Inari Alley
- Kaneko เดินทางมายังบ่อนของ Sōshun พูดเล่าสถานการณ์
- Ushimatsu มายังบ้านของ Hitotaro จ่ายเงินเพียง 100 ryu (จาก 300 ryu) ขณะเดียวกันเจ้าพ่อมาเฟีย Kitamura มาพบเห็นเข้า แสดงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
- Kaneko และ Sōshun พบเจอกับ Onami อาสาให้ความช่วยเหลือโดยที่เธอไม่ต้องขายตัวชดใช้หนี้
- Priest of Darkness
- เจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya สั่งให้ลูกน้องออกติดตามหา Onami
- ขณะเดียวกัน Sōshun ทำการโกนหัว ปลอมตัวเป็น Lord Dokai (ผู้ส่งสาสน์ของโชกุน) ขอตรวจสอบมีดสั้นซามูไร
- หลังจากได้มีดสั้น ขายต่อได้เงินก้อนใหญ่ หวนกลับมายังบ่อนการพนัน ระหว่างเตรียมตัวหลบหนี ถูกไล่ล่าโดยลูกน้องเจ้าพ่อมาเฟีย Moritaya
- Kaneko และ Sōshun จึงเสียสละตนเองเพื่อให้ Hitotaro ได้เดินทางไปหา Onami พากันหลบหนีออกจากเมืองแห่งนี้
เรื่องราวของหนังถือว่าค่อนข้างสลับซับซ้อน กอปรด้วยตัวละครค่อนข้างมาก ต่างมีความสัมพันธ์แบบหยากไย่ ไฝว้กันไปมา อีกทั้งการไม่ค่อยมีภาพระยะกลาง-ใกล้ คุณภาพฟีล์มบูรณะก็ไม่ดีเท่าไหร่ ทำให้ผู้ชมไม่สามารถจดจำใบหน้าตัวละคร (ไม่รู้คนอื่นเป็นรึเปล่านะ แต่ผมพบเจอปัญหานี้เข้ากับตนเองบ่อยครั้ง) มันเลยเกิดความสับสน งุนงง แต่พอดูรอบสองปัญหาเหล่านี้ก็จักมลายหายโดยพลัน!
เพลงประกอบโดย Gorô Nishi, 西悟朗 มีผลงานภาพยนตร์กว่า 80+ เรื่อง อาทิ The Million Ryo Pot (1935), Priest of Darkness (1936), Vendetta of a Samurai (1952) ฯ
งานเพลงของหนังอาจไม่ได้มีความโดดเด่น น่าจดจำเทียบเท่า The Million Ryo Pot (1935) แถมการบูรณะเสียงก็ทำออกมาไม่ดีสักเท่าไหร่ (หลายครั้งฟังแทบไม่ได้สดับ) แต่ก็มีบางช่วงขณะที่สามารถสร้างความประทับใจ
- Hitotaro แอบพบเจอ Omitsu ภายใต้แสงจันทร์ แม้เสียงจะอื้ออึง แต่พอได้ยินท่วงทำนองสั่นไหว ก่อนฝ่ายหญิงตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
- Onami กับ Hitotaro หลังรับรู้ว่าติดหนี้สิน 300 ryu พอดิบพอดีหิมะแรกตก สร้างสัมผัสหนาวเหน็บ สั่นสะท้านทรวงใน หัวใจแทบแตกสลาย
- การต่อสู้ไคลน์แม็กซ์ เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ และเมื่อ Hitotaro ออกวิ่งจากไป ท่วงทำนองจะค่อยๆเร่งเร้า ไล่ระดับ เชื่อว่าจะต้องสามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ
เด็กชาย Hitotaro อยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากลอง (น่าจะประมาณ 14-15 ปี) ต้องการพิสูจน์ตนเอง โหยหาการยินยอมรับจากผู้อื่น แต่เขาเติบโตในสภาพแวดล้อมรายรอบด้วยมาเฟีย อาชญากร บ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี ฯ แถมยังไร้บิดา-มารดา เพียงพี่สาวโตกว่าไม่กี่ปี เลยไม่น่าแปลกใจที่เด็กชายหนุ่มยังละอ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสาต่อวิถีทางโลก จะริเริ่มก่ออาชญากรรม
ผกก. Yamanaka หลังสูญเสียมารดา (บิดาจากไปก่อนหน้าหลายปี) คงทำให้เริ่มครุ่นคิดถึงอิทธิพล/ความสำคัญของครอบครัว ญาติพี่น้อง (ผกก. Yamanaka เป็นน้องเล็กที่หก มีพี่ชายสี่คน และพี่สาวอีกหนึ่ง) ถ้าไม่มีพวกเขาคอยอยู่เคียงข้าง ให้การดูแลไม่เหินห่าง มอบความอบอุ่น เอ็นดูรักใคร่ ชีวิตอาจผันแปรเปลี่ยนเหมือนเด็กชาย Hitotaro เข้าสู่วังวนอาชญากรรม
ด้วยเหตุนี้เราสามารถมองว่า พฤติกรรมของ Hitotaro ล้วนได้รับอิทธิพล ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง สภาพสังคมเสื่อมโทรมทราม มาเฟีย อาชญากร บ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี ฯ เหล่านี้สามารถเป็นต้นแบบอย่าง ก่อให้เกิดการลอกเลียนแบบ … แม้พื้นหลังเรื่องราวจะยุคสมัย Edo Period (1603-1868) แต่สามารถสะท้อนบรรยากาศจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1930s ยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
บรรยากาศจักรวรรดิญี่ปุ่น (Empire of Japan) ในช่วงปี ค.ศ. 1936 ปกคลุมด้วยสภาวะตึงเครียด ความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีน (Republic of China) เต็มไปด้วยรอยแตกร้าว ใกล้ถึงจุดแตกหัก สงครามกำลังจะปะทุขึ้น (Second Sino-Japanese War เริ่มต้น ค.ศ. 1937 และสิ้นสุดลงปี 1945) อยู่ในช่วงเรียกเกณฑ์ทหาร ซ่องสุมกำลังพล สะสมเสบียงกรัง ข้าวยากเริ่มหมากแพง ประชาชนอดอยากปากแห้ง อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้นในรอบหลายปี
แม้สภาพสังคมยุคสมัยนั้นจะย่ำแย่ เสื่อมโทรมทราม แต่ผกก. Yamanaka มีความเชื่อว่าญี่ปุ่นยังมีหวัง ด้วยการปรับปรุงตัวละคร Kōchiyama Sōshun ยกย่องฉายา Priest of Darkness แม้เป็นเจ้าของบ่อนการพนัน แต่ยินยอมเสียสละตนเอง ให้ความช่วยเหลือพี่น้อง Onami และ Hitotaro ปลอมตัวเป็นพระ กระตุกหนวดเสือ จนทั้งสองสามารถหลบหนีออกจากวังวนอาชญากรรม … จบลงแบบปลายเปิดเพื่อให้ผู้ชมบังเกิดความหวังว่า Hitotaro จะสามารถช่วยเหลือพี่สาว Onami แต่มันอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้นะครับ
ผิดกับตอนสรรค์สร้าง Humanity and Paper Balloons (1937) สำหรับคนที่รับชมภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายนี้แล้วย่อมรู้สึกว่า ผกก. Yamanaka ได้ถ่ายทอดความท้อแท้สิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรง กำลังใจ พยากรณ์หายนะของจักรวรรดิญี่ปุ่น ยังไม่ทันไรถูกเกณฑ์ทหาร เดินทางสู่สาธารณรัฐจีน เสียชีวิตในโรงพยาบาลที่ Manchukuo (ปัจจุบันคือ Manchuria) สิริอายุเพียง 28 ปี
เมื่อตอนออกฉาย เสียงตอบรับของ Priest of Darkness (1936) ไม่ค่อยถูกใจผู้ชม/นักวิจารณ์สักเท่าไหร่ เรื่องราวสลับซับซ้อนเกินไป และนำเสนอมุมมืดที่ชาวญี่ปุ่นสมัยนั้นยังไม่ให้ยินยอมรับ ต่อเนื่องกับความล้มเหลวของอีกสองผลงานถัดไป ทำให้ผกก. Yamanaka ตกอยู่ในอาการซึมเศร้า หดหู่ ผิดหวังในตนเอง ก่อนสรรค์สร้างผลงานเรื่องสุดท้าย Humanity and Paper Balloons (1937)
การจากไปก่อนวัยอันควรของผกก. Yamanaka ทำให้ผลงานส่วนใหญ่สูญหาย ถูกทำลายในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลงเหลือเพียงฟีล์ม 16mm จำนวนสามเรื่อง ได้รับการบูรณะ 4K เมื่อปี ค.ศ. 2020 เนื่องในโอกาสครบรอบ 110 ปี สตูดิโอ Nikkatsu แต่คุณภาพก็ตามมีตามเกิด ดีที่สุดแล้วในการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์
หลังจากรับชม The Million Ryo Pot (1935) ทำให้ผมค่อนข้างคาดหวังกับ Priest of Darkness (1936) ผลลัพท์อาจไม่น่าประทับใจเทียบเท่า แต่ก็มีหลายสิ่งอย่างแฝงสาระข้อคิดอันทรงคุณค่า สะท้อนปัญหาสังคมยุคสมัยนั้นออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง ด้วยความตลกร้าย ยิ้มให้กับความตาย
ผมแอบรู้สึกเสียดาย ทิศทางภาพยนตร์ที่ผกก. Yamanaka เลือกดำเนินไปนั้น มันช่างมืดหม่น ไร้หนทางออก ราวกับเตรียมความพร้อม อารัมบทเข้าสู่ Humanity and Paper Balloons (1937) จุดจบชีวิต และหายนะของมนุษยชาติ
จัดเรต 15+ กับโลกใต้ดิน มุมมืดของญี่ปุ่น
Leave a Reply