A Silent Voice

A Silent Voice (2016) Japanese : Naoko Yamada ♥♥♥♥

Shoko Nishimiya แม้เป็นคนหูหนวก แต่พยายามปรับตัวใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป ไม่ต้องการให้มองความพิการคือสิ่งผิดปกติ หรือสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถสื่อสารทำความเข้าใจ ต้องประสบพบเจอเข้ากับตนเองก่อนหรือไรถึงค่อยตระหนักความเจ็บปวดของผู้ถูกข่มเหงรังแก, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Kyoto Animation เป็นสตูดิโออนิเมชั่นที่เลื่องลือชาในความประณีตวิจิตศิลป์ ภาพสวย เพลงเพราะ เรื่องราวมีความอ่อนไหว ใส่ใจรายละเอียดในทุกๆไดเรคชั่น นั่นเพราะผู้บริหารเกินครึ่งคือผู้หญิง รวมไปถึงทีมงาน ผู้กำกับ นักอนิเมเตอร์ ทำให้ผลงานของ KyoAni มีความละเมียดละไม แตกต่างจากค่ายอื่นๆอย่างชัดเจน

แม้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1981 แต่ช่วงสองทศวรรษแรกส่วนใหญ่รับแต่งาน Out-Source สรรค์สร้าง OVA อยู่บ้างสองสามเรื่อง จนกระทั่งได้รับโอกาสดัดแปลงซีรีย์ Full Metal Panic? Fumoffu (2003) จึงเริ่มมองเห็นหนทางในการเอาตัวรอด ค่อยๆมีชื่อเสียงจาก Air (2005) และโด่งดังพลุแตกกับ The Melancholy of Haruhi Suzumiya (2006) [และก็เกือบล้มละลายเพราะ Endless Eight เช่นกัน]

สำหรับภาพยนตร์อนิเมชั่นของ KyoAni แทบทั้งนั้นเป็นการต่อยอดหรือสรุปรวมซีรีย์ที่เพิ่งฉายจบ ด้วยเหตุผลให้ได้เงินเพิ่มจากแฟนๆผู้คลั่งไคล้ (มันเป็นการตลาดสุดเฮียก แต่ก็ต้องยอมรับว่าคือวิธีหากินหนึ่ง เข้าถึงคนไม่ชอบดูซีรีย์หลายตอน และภาพยนตร์สร้างความสนใจผู้ชมวงกว้างมากกว่า)

A Silent Voice (2016) ถือเป็นผลงานแรกของ KyoAni ที่ส่งตรงเข้าฉายโรงภาพยนตร์ ไม่เคยทำซีรีย์โทรทัศน์ OVA หรือ ONA ถือเป็นความท้าทาย การทดลองรูปแบบใหม่ๆ และต้นฉบับมังงะของ Yoshitoki Ōima ได้รับความนิยมล้นหลามในหมู่แฟนๆ ยิ่งสร้างแรงกดดันหนักอึ้งขึ้นไปอีก

ถ้าคุณเคยอ่านมังงะหรือเป็นแฟนๆต้นฉบับ เท่าที่ผมติดตามความคิดเห็นทั้งคนไทยและเทศ แทบทั้งหมดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อนิเมะดัดแปลงเรื่องราวออกมาน่าผิดหวัง! เพราะความยาว 7 เล่มจบ กลายเป็นภาพยนตร์ 130 นาที มีเนื้อหามากมายถูกตัดทอนออกไป หลายประเด็นนำเสนอเพียงสายลมผ่าน ไม่ครอบคลุมรายละเอียดรวมไปถึงมุมมองตัวละครอื่นๆ … มันก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วนะ … ทีแรกผมก็สองจิตสองใจจะอ่านหรือไม่อ่าน สุดท้ายตัดสินใจไม่อ่าน! ขอวิพากย์อนิเมะในความเป็นอนิเมะ ซึ่งมีความงดงามระดับวิจิตรในแทบๆทุกองค์ประกอบศิลป์

สิ่งที่ผมอยากจะไฮไลท์สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ คือไดเรคชั่นผู้กำกับ Naoko Yamada เต็มไปด้วยลูกเล่นลีลาภาษาภาพยนตร์ที่สามารถดึงดูดผู้ชมให้เกิดสัมผัสทางอารมณ์ โดดเด่นในการเลือกใช้ทิศทางมุมกล้อง จัดวางตำแหน่งตัวละคร พื้นที่ช่องว่าง ผสมผสานตัดต่อ พบเห็นดอกไม้สวยๆหลากหลายสายพันธุ์ และบทเพลงประกอบสอดคล้องเข้ากับแทบทุกการเคลื่อนไหว หลับตาฟังยังสามารถจินตนาการเหตุการณ์บังเกิดขึ้นได้ ถึงเรื่องราวจะขาดๆเกินๆไปบ้าง องค์ประกอบเหล่านี้ก็สามารถสร้างความพึงพอใจให้อย่างล้นพ้น


Naoko Yamada (เกิดปี 1984, ที่ Kyoto) นักอนิเมเตอร์ ผู้กำกับอนิเมชั่นสัญชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบหลงใหลการวาดรูป ได้รับอิทธิพลจาก Patlabor และ Dragon Ball ด้วยบุคลิกห้าวๆ แก่นแก้ว ทอมบอย เข้าร่วมชมรมวอลเล่ย์บอล เทนนิส พอขึ้นมัธยมปลายเปลี่ยนความสนใจสู่ชมรมถ่ายภาพ เข้าศึกษาสาขาจิตรกรรมสีน้ำมัน Kyoto University of Art and Design และยังร่วมสรรค์สร้าง Special Effect ให้กับชมรมภาพยนตร์ … เรียกว่าเปลี่ยนความสนใจไปเรื่อยๆไม่หยุดนิ่ง

หลังเรียนจบตั้งใจว่าจะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ แต่พบเห็นประกาศรับสมัครจาก Kyoto Animation ตอบรับเข้าทำงาน In-Between อนิเมะซีรีย์ Inuyasha (2000-04), เลื่อนขึ้นมาเป็น Key Animation เรื่อง Air (2005), กำกับตอน (Episode Director) เรื่อง Clannad (2007-09), และกำกับซีรีย์เรื่องแรก K-On! (2009) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที

แนวทางการทำงานของ Yamada เรียกตนเองว่า ‘method director’ หลังจากได้รับบทอนิเมะ สวมบทบาทตนเองเป็นทุกๆตัวละคร พยายามศึกษา ทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ครุ่นค้นหาเหตุผลทุกๆการกระทำ จนกว่าจะเห็นภาพเรื่องราวทั้งหมดในหัว ถึงค่อยเริ่มวาด Storyboard สเก็ตรายละเอียดอื่นๆติดตามมา

น่าจะช่วงประมาณระหว่างสรรค์สร้าง Tamako Market (2013) ที่ KyoAni ได้รับลิขสิทธิ์ดัดแปลงมังงะ A Silent Voice ในบรรดาตัวเลือกของสตูดิโอ Naoka Yamada เป็นผู้กำกับหญิงเพียงคนเดียวที่มีศักยภาพสูงพอ เลยได้รับการส่งเสริมผลักดัน และมอบอิสรภาพในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่

“As soon as I knew that our company would be animating A Silent Voice I felt a desire to direct it, so when I was asked to be the director I was simply ecstatic. When I read through the manga I found its depiction of the connections between people to be extremely charming, which is why I wanted to portray that carefully in the movie. And since this was the first time the studio made a movie from scratch, I could feel an even greater sense of commonality amongst the staff as a whole”.

Naoko Yamada

แซว: เท่าที่อ่านจากบทสัมภาษณ์ เหมือนว่า Yamada จะไม่เคยอ่านต้นฉบับมังงะมาก่อนจนกระทั่งได้รับมอบหมายให้กำกับ แต่เธอก็รับรู้กระแสความนิยมและความกระตือรือร้นของทีมงานใน KyoAni เลยยินดีปรีดาที่ได้รับโอกาสครั้งสำคัญนี้


Yoshitoki Ōima (เกิดปี 1989, ที่ Ōgaki) นักเขียนมังงะสัญชาติญี่ปุ่น มารดาเป็นครูสอนภาษามือ ในครอบครัวประกอบด้วยพี่ชายและพี่สาว ตั้งแต่เด็กรับอิทธิพลจากพี่(ชาย)ชื่นชอบสะสมหนังสือการ์ตูนเต็มบ้าน ทำให้หลงใหลการวาดรูป และโปรดปราน 3×3 Eyes (1987-2002) เห็นว่าคือมังงะเล่มแรกที่เก็บเงินซื้อสะสมครบทุกเล่ม

บทสัมภาษณ์ของ Ōima ไม่พยายามกล่าวถึงตนเองสมัยยังเด็กนัก บอกแค่ว่าเคยเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง ทำตัวเหมือนทอมบอย ชอบเล่นกับไฟ (น่าจะประมาณว่า ชอบกลั่นแกล้งคนอื่นเป็นประจำ) และมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เธอกลายเป็นคนซึมเศร้า (ไม่ยอมบอกว่าอะไร แต่ก็มีแนวโน้มสูงคล้ายๆเหตุการณ์ใน A Silent Voice)

“I was the youngest sibling in my family. So even though I wasn’t aware of it, I think I was pretty selfish [laughs]. I was a tomboy who liked to play imaginary gunfights. I was pretty active back then, although I became more of a gloomy person later.

A lot of stuff happened at school that made me that way. But when I was playing with friends, I was as happy as I can be”.

Yoshitoki Ōima

หลังเรียนจบมัธยมปลาย Ōima วัย 19 ปี มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าอยากเป็นนักเขียนมังงะ สรรค์สร้าง One-Shot เรื่อง Koe no Katachi/A Silent Voice (เชื่อว่านำจากประสบการณ์ของตนเองเป็นส่วนใหญ่) ส่งเข้าประกวด 2008 Weekly Shonen Magazine Newcomer Manga Award ได้รับรางวัล Best Rookie Manga คาดคิดว่าอนาคตคงไปได้สวย แต่เพราะเนื้อหามีความหนักอึ้ง และทีมกฎหมายของ Kodansha ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกับสหพันธ์คนหูหนวกญี่ปุ่น (Japanese Federation of the Deaf) ทำให้ไม่สามารถได้รับการตีพิมพ์โดยทันที

ช่วงระหว่างเคว้งคว้างว่างงานอยู่นั้น Ōima คงได้รับความเห็นใจจากบรรณาธิการ พบเห็นความพิเศษบางอย่างในตัวเธอ เลยมอบหมายให้ดัดแปลงนวนิยาย Mardock Scramble (2009) แต่งโดย Tow Ubukata กลายเป็นมังงะตีพิมพ์ลง Bessatsu Shōnen Magazine ช่วงระหว่างปี 2009-12 ถือเป็นการฝึกฝน ขัดเกลาลายเส้น สะสมประสบการณ์ทำงานไปในตัว

“While I was working on Mardock Scramble, it seemed like I wasn’t making my own manga. But I had something to draw in front of me. That was what was given to me. I was constantly searching for the reason why Mardock Scramble was given to me. And I feel like found some answers. In Mardock Scramble, the main character Balot says she wants to die. As a reader, I didn’t get why … and I wanted to know why. I wanted to dig deeper. What leads a person to think in such way? I felt like it was my duty to really understand this point. The answers I got from working on Mardock Scramble carried through to A Silent Voice”.

ซึ่งหลังจาก One-Shot ของ A Silent Voice ได้ข้อสรุปจากทีมกฎหมาย สามารถตีพิมพ์ลงนิตยสาร Bessatsu Shōnen Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2011 และ Weekly Shōnen Magazine ฉบับวันที่ 7 มีนาคม 2011 เสียงตอบรับจากผู้อ่านดีล้นหลาม โดยเฉพาะกระแสจาก Twitter อยากให้พัฒนาต่อเป็นเรื่องยาว เลยมีโอกาสเริ่มเขียนลง Weekly Shōnen Magazine ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2013 สิ้นสุด 19 พฤศจิกายน 2014 รวมทั้งสิ้น 62 ตอน 7 เล่ม ยอดขายรวมทั้งหมดถึงเดือนมีนาคม 2014 สูงถึง 700,000+ เล่ม (เฉลี่ยเล่มแสน ก็ถือว่าไม่น้อยเลยนะ!)

ตอนสุดท้ายของมังงะในนิตยสาร Weekly Shōnen Magazine มีการประกาศดัดแปลงสร้างอนิเมะ A Silent Voice ระบุเพียงว่ายังอยู่ในขั้นตอนตระเตรียมแผนงาน ไม่บอกว่ารับผิดชอบโดยสตูดิโอไหน ออกฉายเมื่อไหร่ หรือแม้แต่รูปแบบใด … จริงๆโปรดักชั่นเริ่มต้นขึ้นมาสักพักใหญ่แล้ว แต่นี่เป็นแผนการตลาดเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้แฟนๆด้วยการเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็ก ประกาศทำเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นตอนวางขายมังงะรวมเล่มสุดท้าย, ช่วงเดือนตุลาคม 2015 บอกว่าสร้างโดย Kyoto Animation และผู้กำกับ Naoko Yamada

ความสำเร็จของมังงะ A Silent Voice ยังประกอบด้วย

  • คว้ารางวัล Tezuka Osamu Cultural Prize: New Creator Prize (2015)
  • เข้าชิง Manga Taishō (2015)
  • เข้าชิง Eisner Awards: Best U.S. Edition of International Material – Asia (2016)

ดัดแปลงบทอนิเมะโดย Reiko Yoshida (เกิดปี 1967, ที่ Hiroshima) นักเขียนมังงะ บทอนิเมะ/ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น, สำเร็จการศึกษาสาขาวรรณกรรม Hosei University เริ่มโด่งดังจากการดัดแปลงบท The Cat Returns (2002) ให้กับสตูดิโอ Ghibli, ผลงานเด่นๆมักเป็นอนิเมะแนว Healing ดูสบายๆพร้อมสาระข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต อาทิ Aria the Animation (2005), K-On! (2009-10), Bakuman (2010-13), Girls und Panzer (2012-13), Non Non Biyori (2013, 15, 21), A Silent Voice (2016), Liz and the Blue Bird (2018), Violet Evergarden (2018) ฯ

Yoshida ถือเป็นขาประจำของ KyoAni เคยร่วมงานผู้กำกับ Yamada มาตั้งแต่ผลงานแจ้งเกิด K-On! (2009) เพราะเป็นผู้หญิงด้วยกันเลยสามารถสื่อสารเข้าใจโดยง่าย เธอจีงคือตัวเลือกที่ไม่เกิดความคาดหมายสักเท่าไหร่

“It was a work that intensely pierced my heart. I also felt it would be difficult to handle the weight of a character that had difficulties hearing in animation. But, since it became such a challenging work, I feel like I would be able to accomplish something new in writing this story’s script”.

Reiko Yoshida กล่าวถีงความประทับใจแรกต่อมังงะ A Silent Voice

สิ่งวิตกกังวลของ Yoshida และ Yamada คือความยาวของมังงะ 7 เล่ม ซี่งถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก และครี่งหลังนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองตัวละครอื่นๆ จะทำอย่างไรถีงสามารถยัดเยียดเนื้อหาทั้งหมดลงในภาพยนตร์ 2 ชั่วโมง แต่หลังจากพูดคุย/ร่วมประชุมหารือผู้แต่งมังงะ Ōima เธอบอกว่านี่คือ ‘เรื่องราวของ Shoya’ เนื้อหาอื่นๆล้วนเป็นเพียงส่วนขยายเพิ่มเข้ามา (จากคำร้องขอของบรรณาธิการ เพื่อให้สามารถยืดเรื่องราวออกไปได้อีกหลายตอน เธอจีงครุ่นคิดนำเสนอผ่านมุมมองตัวละครอื่นเพิ่มเข้ามา)

“At that time, the mangaka Yoshitoki Ooima-sensei was also participating in our script meetings and said ‘this is Shoya’s tale.’ If we could show Shoya’s story, a boy who had closed his ears to shut out the surrounding voices to once again listen to someone’s voice, wouldn’t we be able to make A Silent Voice into a film?

เกร็ด: Reiko Yoshida ให้สัมภาษณ์ว่าหลายปีก่อนเคยเข้าเรียนคอร์สสอนภาษามือ ยังคงจดจำได้หลายๆสัญลักษณ์ จีงนำประสบการณ์ครั้งนั้นมาปรับใช้ในการดัดแปลงบทอนิเมะเรื่องนี้

แม้ผลลัพท์ในส่วนการดัดแปลงบทอนิเมะอาจไม่ค่อยถูกใจแฟนๆมังงะ ซี่งคำเรียกร้องของผู้กำกับ Yamato ไม่ได้ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่เป็น ‘fan movie’ แต่มีความเป็นตัวของตนเองด้วยวิถีทางสื่อภาพยนตร์ อยากให้ผู้ชมเปิดใจยินยอมรับความแตกต่าง (นี่คือเหตุผลที่ผมเลือกยังไม่อ่านมังงะ ก่อนเขียนบทความนี้นะครับ)

“I just wanted to make a movie that stands by itself, so this isn’t a fan movie. I know it has a big fan base but it’s not to please them – the film isn’t for them, it’s a story about Shoya Ishida and that speaks for itself. I also have massive respect for the original story and loved it when I read it so I just wanted to convey the love and passion to audiences in order to give something back to the story I liked so much”.

Naoko Yamada

Shoya Ishida เด็กหนุ่มชั้นมัธยมปลาย กำลังจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่บางสิ่งอย่างทำให้เขาปรับเปลี่ยนใจ หวนระลีกความทรงจำเมื่อครั้นอยู่ชั้นประถมปีที่หก เคยชื่นชอบกลั่นแกล้งเด็กหญิงหูหนวก Shoko Nishimiya จนเธอต้องย้ายโรงเรียนหนี เป็นเหตุให้ถูกประจานโดยครูประจำชั้น เพื่อนๆเคยสนิทเริ่มตีตนออกห่าง เรียกว่าผลกรรมติดตามเร็วทันควัน ทำให้เด็กชายเริ่มเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร รู้สีกโกรธเกลียดตนเอง ครุ่นคิดทำแบบนั้นไปได้อย่างไร

ความรู้สีกผิดต่อ Shoko ทำให้ Shoya ตัดสินใจร่ำเรียนภาษามือ เผื่อว่าสักวันหนี่งจะได้มีโอกาสพบเจอ สนทนา สามารถขอโทษออกมาจากใจ แล้ววันนั้นก็มาถีงหลังจากที่เขาล้มเลิกความตั้งใจฆ่าตัวตาย ต้องการใช้ชีวิตต่อจากนี้ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหวังให้เธอยกโทษให้อภัย อยากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนใหม่ แต่ยังอีกยาวไกลกว่าจะไปถีงเป้าหมายวันนั้น


Shoya Ishida สมัยเรียนประถมมีนิสัยร่าเริงสนุกสนาน โหยหาการผจญภัย เพื่อต่อสู้กับความเบื่อหน่ายซ้ำซากจำเจในชีวิต ด้วยเหตุนี้เลยมักหยอกล้อเล่นรุนแรงกับเพื่อนร่วมชั้นเป็นประจำ จนกระทั่งการมาถึงของ Shoko ก็ยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิม แต่เพราะเธอมิอาจโต้ตอบขัดขืนหรือพูดบอกแสดงความรู้สึกออกมา มันจึงทวีความรุนแรงจนถึงจุดที่คนรอบข้างยินยอมรับไม่ได้ นั่นทำให้เขาถูกตีตรากลายเป็นแพะรับบาป ใครๆรอบข้างต่างผลักไสไล่ส่ง ตีตนออกห่าง ไม่ยินยอมรับเข้าสังคม ทำให้เด็กชายตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า ปิดกั้นความสัมพันธ์กับผู้คน พบเห็นเพียงเครื่องหมายกากบาทบนใบหน้า และเมื่อมิอาจอดรนทนจึงตระเตรียมตัวคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ช่วงระหว่างเรียนมัธยมปลาย Shoya ยังคงเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร เริ่มขาดความเชื่อมั่นในตนเอง น้ำเสียงคำพูดเริ่มติดๆขัดๆ แต่หลังจากล้มเลิกคิดสั้นฆ่าตัวตาย พยายามหาโอกาสนัดพบเจอ Shoko ต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้เธอยกโทษให้อภัย โดยไม่รู้ตัวพวกเขาเริ่มสนิทสนม บังเกิดสายใยสานสัมพันธ์ รวมไปถึงเพื่อนเก่าสมัยประถมค่อยๆกลับมาพูดคุยพบเจอหน้ากัน โดยไม่รู้ตัวรอบข้างกายรายล้อมเพื่อนฝูงมากมาย แต่นั้นกลับมิอาจทำให้เขารู้สึกเป็นสุขใจ เพราะปัญหาแท้จริงยังคงซ่อนเร้นอยู่ภายใน

ช่วงแรกๆอนิเมะพยายามทำให้ผู้ชมรู้สึกโกรธเกลียดตัวละครนี้ ไม่มีการอธิบายเบื้องหลัง สาเหตุผล เพราะอะไรทำไมถีงกระทำพฤติกรรมเลวทรามทั้งหลายเหล่านี้ แต่หลังจาก Shoko ย้ายโรงเรียนหนี ทุกสิ่งอย่างเคยแสดงออกล้วนหวนย้อนตารปัตรกลับมาบังเกิดกับตนเอง จริงอยู่มันอาจดูยัดเยียด ตรงไปตรงมาเกินไป ชีวิตจริงสลับซับซ้อนกว่านั้น แต่ในบริบทภาพยนตร์นำเสนอด้วยวิธีดังกล่าวแบบ ‘ตาต่อต่ ฟันต่อฟัน’ ย่อมสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ตรงที่สุดแล้ว

ส่วนครึ่งหลังตัวละครแปรสภาพกลายเป็นเหมือนซอมบี้ (เปรตขอส่วนบุญ?) ทรงผมฟุ้งๆไม่เคยหวี ดวงตาเบิกโพลง ลำตัวสูงโปร่ง ผอมกระหร่อง ดูเอ๋อๆเหรอๆ เดิน/ปั่นจักรยานอย่างล่องลอยไร้จิตวิญญาณ มีเพียงการได้พบเจอ Shoko ทำให้ดูมีชีวิตขึ้นมาบ้าง และค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลับสู่สภาวะปกติทีละเล็กละน้อย

ให้เสียงโดย Miyu Irino (เกิดปี 1988, ที่ Tokyo) นักแสดง นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบด้านการแสดง ร้อง-เล่น-เต้น เข้าร่วมกลุ่ม The Himawari Theatre Group ตามด้วย Junction แล้วมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Ultraman Tiga, Ultraman Dyna, & Ultraman Gaia: The Decisive Battle in Hyperspace (1999), สำหรับอาชีพนักพากย์ แจ้งเกิดโด่งดังกับบท Haku เรื่อง Spirited Away (2001), ตามด้วยวีดีโอเกม Kingdom Heart (2002), ผลงานเด่นๆ อาทิ Jintan เรื่อง Anohana: The Flower We Saw That Day (2011), Kōshi Sugawara เรื่อง Haikyu!! (2014-20) ฯ

โดยปกติแล้ว Irino เป็นนักพากย์เสียงหล่อ เท่ห์ ทรงเสน่ห์ สาวๆหลงใหล แต่เรื่องนี้กลับต้องพูดตะกุกตะกัก เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน เพื่อแสดงถีงอาการขาดความเชื่อมั่นใจในตนเองของตัวละคร และขณะสนทนากับ Shoko ก็ต้องพูดช้าๆเป็นคำๆ (เพื่อให้เธออ่านปากเข้าใจ) ซึ่งถือว่ายุ่งยากและเหนื่อยมากๆ แต่เราจะเห็นพัฒนาการทางน้ำเสียงที่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติมากขึ้น จนในที่สุดก็สามารถพูดแสดงความรู้สึก ต้องการแท้จริงจากภายในออกมา

Shoko Nishimiya เด็กหญิงมีความพิการด้านการได้ยิน ทำให้ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ต้องใช้การเขียนลงบนสมุดโน๊ต แรกๆก็สร้างความสนใจให้เพื่อนนักเรียนชั้นประถม แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักกลับกลายเป็นภาระคนอื่น จนใครๆต่างตีตนออกห่าง หลงเหลือเพียง Shoya แต่แม้เข้าใกล้กลับชอบกลั่นแกล้ง ใช้กำลังรุนแรง เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอจึงตอบโต้สุดแรงเกิดแล้วตัดสินใจย้ายโรงเรียนหนี

ระหว่างอยู่ชั้นมัธยมปลาย เชื่อว่าก็ยังคงจดจำความโหดร้ายของ Shoya แต่หลังจากพบเห็นเขาสื่อสารภาษามือ พยายามแวะเวียนมาหาบ่อยครั้ง เริ่มบังเกิดความรู้สึกที่ดีมอบให้ จนกระทั่งการมาถึงของ Naoka พูดตอกย้ำความพิการ นิสัยเห็นแก่ตัว ไม่ยินยอมรับความจริง มีแต่จะสร้างปัญหาให้ผู้อื่น และเมื่อเธอพยายามพูดบอกความรู้สึกต่อ Shoya ดันเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระจันทร์ สุดท้ายเลยครุ่นคิดสั้นจะฆ่าตัวตาย แต่แล้วเขากลับฉุดดึงเธอกลับขึ้นมาจากขุมนรก จึงตระหนักว่าฉันต้องปรับเปลี่ยน ยินยอมรับสภาพตนเอง เลิกเห็นแก่ตัว และเปิดใจให้มากกว่านี้

เกร็ด: ภาษาญี่ปุ่น 月 (Tsuki) ที่แปลว่า ดวงจันทร์, และ 好き(Suki) แปลว่า ชื่นชอบ ตกหลุมรัก, สองคำนี้อ่านออกเสียงคล้ายๆกันเลยมักเกิดความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น … อะแฮ่ม ### เพราะตัวละครไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดได้ดีนัก เราจึงพบเห็นภาษากายที่ค่อนข้างเด่นชัด ไม่ใช่แค่ภาษามือนะครับ แต่ยังปฏิกิริยาแสดงออกทางสีหน้า ดีใจ-เสียใจ ตกหลุมรัก (เห็นแค่ขากลิ้งไปกลิ้งมา) อิจฉาริษยา (หลังพบเห็นการแสดงออกของ Naoka ต่อ Shoko) ดูแล้วก็เหมือนวัยรุ่นธรรมดาๆทั่วไป ซึ่งการที่อนิเมะพยายามให้เธอใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ (ไม่มีการแนะนำตัวละครหูหนวกคนอื่นเลย!) ผู้ชมสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ ถึงอุปสรรคการสื่อสารทางร่างกาย (ตรงกันข้ามกับ Shoya แม้พูดคุยสนทนากับคนอื่นได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถทำความเข้าใจ/คุยกันรู้เรื่อง)

Saori Hayami (เกิดปี 1991, ที่ Toyko) นักร้อง นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น มีความสนใจการพากย์เสียงตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล พออายุได้ 13 ปี เข้าโรงเรียนฝึกสอนการใช้เสียง Nihon Narration Engi Kenkyūjo พอเรียนจบได้เข้าร่วมเอเจนซี่ I’m Enterprise บันทึกเสียง Drama CD เรื่อง Indian Summer (2007), บทนำเรื่องแรก Tōka Gettan (2007), ผลงานเด่นๆ อาทิ Saki Morimi เรื่อง Eden of the East (2009), Miho Azuki เรื่อง Bakuman (2010-12), Wako Agemaki เรื่อง Star Driver (2010), Tsuruko เรื่อง Anohana (2011), Miyuki Shiba เรื่อง The Irregular at Magic High School (2014-), Uzumaki Himawari เรื่อง Boruto: Naruto Next Generations (2017-) ฯ

โดยปกติแล้ว Hayami คือนักพากย์เสียงหวาน มีความนุ่มนวล ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่เรื่องนี้พลิกบทบาทจนถ้าไม่ดูเครดิตคงไม่มีทางรู้ว่าใคร เหมือนเอามืออุดจมูก เสียงพูดอู้อี้ ให้ออกมาเพี้ยนๆ เหมือนคนพิการหูหนวกที่ไม่ได้ยินเสียงตนเอง (เพราะพวกเขาไม่เคยได้ยินการออกเสียงที่ถูกต้อง เลยมักพูดผิดๆถูกๆตามความเข้าใจ และควบคุมระดับเสียงดัง-เบา ไม่ค่อยได้เท่าไหร่) ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความพยายามของเธอ (และตัวละคร) ต้องการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ไม่ว่ามันจะยากลำบากสักแค่ไหน ฉันต้องการเพียงมีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป

เอาจริงๆผมรู้สีกประหลาดใจนิดๆ ว่าทำไมอนิเมะมองข้ามวิวัฒนาการทางเสียงของตัวละครนี้ (Shoya นี่ชัดเจนมากๆ จากพูดตะกุกตะกักพัฒนาจนลื่นไหลเป็นธรรมชาติ) คนพิการทางหูถ้ามีคนให้คำแนะนำอยู่เรื่อยๆ ก็สามารถปรับปรุงการพูดออกเสียงใกล้เคียงคนปกติได้เหมือนกันนะ

สำหรับตัวละครอื่นขอกล่าวถีงเพียงคร่าวๆนะครับ

  • Yuzuru Nishimiya น้องสาวของ Shoko แรกเริ่มเต็มไปด้วยอคติแค้นฝังหุ่นต่อ Shoya เพราะรับรู้พฤติกรรมเลวร้ายเมื่อหลายปีก่อน เลยพยายามปกป้องพี่สาว (แบบ Overprotection) แต่หลังพบเห็นทั้งสองสามารถคืนดี และสามารถยินยอมรับตนเอง ก็เลยปรับเปลี่ยนทัศนคติ มองเป็นพี่ชายแสนดี ให้ความช่วยก้าวผ่านช่วงเวลาร้ายๆหลังสูญเสียคุณย่า, งานอดิเรกของ Yuzuru คือถ่ายภาพความตายของสรรพสัตว์ ไม่รู้เคยสูญเสียอะไรมาก่อนหรือเปล่า แต่ขณะนั้นเธอไม่ยินยอมไปโรงเรียน คาดว่าอาจถูกกลั่นแกล้งแบบพี่สาว จนมิอาจอดรนทนต่อสภาพสังคมดังกล่าว
    • ให้เสียงโดย Aoi Yūki (เกิดปี 1992, ที่ Chiba) เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ แสดงซีรีย์ รายการวาไรตี้ ก่อนตัดสินใจเอาดีด้านการพากย์เสียง บทบาทเด่นๆอาทิ Madoka Kaname เรื่อง Puella Magi Madoka Magica (2011), Diane เรื่อง The Seven Deadly Sins (2012-20), Yuuki Konno in Sword Art Online II (2014) ฯ
    • น้ำเสียงของบระแม่เจ้า Yūki จะมีทั้งนุ่มนวลและหยาบกระด้าง ขี้นอยู่กับสถานการณ์ถ้าใครมาร้าย ก็จะทำตัวเหมือนอันธพาล พูดจาห้าวๆ ตรงๆแรงๆ เสียดสีประชดประชัน แต่เมื่อไหร่สนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจ ก็แสดงความอ่อนโยน รักเอ็นดู น่าทะนุถนอม
  • Tomohiro Nagatsuka ชายร่างอ้วนป้อม ทรงผมบล็อกโคลี่ เพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลาย ทีแรกก็โดดเดี่ยวไม่มีใครคบหา เลยมักถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งวันหนี่งได้รับการช่วยเหลือจาก Shoya เลยเข้าหาตีสนิทไม่ยินยอมเหินห่าง จนหลายครั้งดูเหมือน Overprotection (ไม่ต่างจาก Yuzuru) ใครพูดอะไรเสียๆหายๆ(ต่อ Shoya)ก็ไม่ยินยอมรับฟัง เพราะนี่คือเพื่อนแท้คนแรกคนเดียวเท่านั้น
    • ให้เสียงโดย Kensho Ono (เกิดปี 1989, ที่ Fukuoka) เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 13 โด่งดังจากการพากย์ทับ Harry Potter ในแฟนไชร์ Harry Potter (2001-11), ผลงานเด่นๆ อาทิ Tetsuya Kuroko เรื่อง Kuroko no Basuke (2012-15), Slaine Troyard เรื่อง Aldnoah.Zero (2014-15), Giorno Giovanna เรื่อง JoJo’s Bizarre Adventure: Golden Wind (2018-19) ฯ
    • ก่อนที่ Tomohiro จะกลายเป็นเพื่อนตายของ Shoya น้ำเสียงติ๋มๆ ดูอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง แต่หลังจากได้รับการช่วยเหลือครั้งนั้น ก็ปรับเปลี่ยนแปลงแทบจะคนละคน ราวกับค้นพบเป้าหมายชีวิต มีหน้าที่ปกปักษ์รักษาเพื่อนคนนี้ กล้าโต้เถียง ขี้นเสียง ต่อสู้ขัดขืนกับทุกคนที่มาระราวี ใส่อารมณ์ห้างเป้ง วางมาดนักเลง ไม่ยินยอมเป็นผู้อ่อนแออีกต่อไป
  • Naoka Ueno สาวซึนเดเระ รู้จักสนิทสนม (และแอบชอบ) Shoya ตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาล มีนิสัยตรงไปตรงมา อ่อนหวานกับเพื่อนฝูง หยาบคายกับคนไม่ถูกชะตา แรกเริ่มอาสาให้ความช่วยเหลือ Shoko แต่ต่อมาก็เริ่มหงุดหงิดรำคาญพฤติกรรม ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเมื่อหวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง (ตอนขึ้นมัธยมปลาย) ถึงขนาดใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ยินยอมรับไม่ได้ที่เธอเป็นตัวการทำให้เพื่อนรักต้องบาดเจ็บสาหัส, งานอดิเรกของ Naoko คือรักสัตว์ ทำงานพาร์ทไทม์ยัง Meow Meow Club แต่ก็พยายามหลบซ่อนไม่เปิดเผยตัว (ต่อ Shoya)
    • ให้เสียงโดย Yūki Kaneko (เกิดปี 1987, ที่ Fukuoka) ได้เซ็นสัญญากับ Aoni Production แต่ก็ไม่ค่อยได้รับโอกาสมากนัก พอมีผลงานอย่าง Midori Tokiwa เรื่อง Tamako Market (2013), Aiko Takamori เรื่อง The Idolmaster Cinderella Girls (2015) ฯ
    • ตัวตนของ Naoka ก็คือ Shoya ในร่างผู้หญิง แม้สามารถสื่อสารสนทนา แต่ก็มักได้รับสาสน์ไม่ตรงความต้องการผู้พูด ซึ่งในกรณีของเธอคือตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่นทำให้เวลา Shoko พยายามพูดบอก ขอโทษขอโพย กลับถูกมองเป็นการเสแสร้ง สร้างภาพ เล่นละครตบตา (เห็นผิดเป็นชอบ, กงจักรเป็นดอกบัว)
    • เสียงพากย์ของ Kaneko เต็มไปด้วยความซึน ปั้นแต่งให้เหมือนคนเจ้าอารมณ์ พูดตรงไปตรงมา น้ำเสียงแดกดัน ชอบเสียดสีประชนประชัน โฉดชั่วได้ใจ โคตรสงสัยทำไมไม่ค่อยได้รับโอกาสในวงการสักเท่าไหร่
    • อนิเมะนำเสนอพัฒนาการตัวละครนี้ค่อนข้างน้อย จนผู้ชมแทบไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงอะไรของเธอเลย แต่ก็มีนะครับช่วงท้าย ใช้การแสดงออกเป็นห่วงเป็นใย แทนคำพูดที่ยังคงซึนเดเระไม่เปลี่ยนแปลงโดยง่าย
  • Miki Kawai หัวหน้าห้องชั้นประถม มีความสุภาพอ่อนโยน ชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น แท้จริงแล้วเป็นคนหลงตนเอง คิดว่าฉันดีเด่น ใครๆต่างรักใคร่ชื่นชอบพอ แต่เมื่อไหร่ถูกกดดันเหมือนหมาจนตรอก จักแสดงพฤติกรรมเรียกว่า ‘victim complex’ ทำตัวเหมือนผู้ถูกกระทำ ไม่ยินยอมรับความผิด สามารถบีบน้ำตาร่ำร้องไห้ พูดสร้างภาพให้ตนเองโดยขาดสติยับยั้งคิด
    • ให้เสียงโดย Megumi Han (เกิดปี 1989, ที่ Tokyo) นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น หลังเรียนจบ Nihon University ได้รับเลือกให้พากย์เสียง Gon Freecss ฉบับสร้างใหม่ของ Hunter × Hunter (2011-19), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Sumire Hanano เรื่อง Chihayafuru(2012-), Aya Tachibana เรื่อง Yowamushi Pedal (2013-) ,Akko เรื่อง Little Witch Academia (2017) ฯลฯ
    • เห็นว่าในมังงะจะมีการแทรกแซมพฤติกรรมแอบร้ายของ Miki ให้ผู้อ่านเข้าใจปัญหาของตัวละคร แต่ในอนิเมะกลับทำตัวดีเด่นไปเสียหมด หลงเหลือเพียงสร้างภาพให้ตนเองดิ้นหลุดพ้นปัญหา และมีช่วงท้ายตอนพับนกกระดาษ ค่อยเริ่มตระหนักได้ว่าฉันเองก็มีพฤติกรรมประหลาดๆ แสดงออกหยาบคายอยู่บ่อยครั้ง เลยเริ่มปรับปรุงตัวขึ้นมาบ้าง
    • เสียงพากย์ของ Han เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง หลงตัวเอง ทำเสียงหวานๆให้เพื่อนๆห้องล้อมข้างกายตกหลุมรัก แต่เมื่อไหร่สติหลุด ราวกับถูกวิญญาณอื่นเข้าสิง พูดแบบไม่ครุ่นคิด ฉันไม่ผิด! ฉันไม่ผิด! เสียงในใจกึกก้องออกมาจนผู้ชมสัมผัสได้
  • Miyoko Sahara จากเด็กหญิงตัวเล็กป้อม สวมเสื้อผ้าตกเทรนด์ พอเติบโตขึ้นรูปร่างผอมสูง (180 cm) ตัดผมสั้น สวมชุดแฟชั่น (ในมังงะเห็นว่ารับงานถ่ายแบบโมเดลลิ่ง) เป็นคนแรกที่อยากเรียนภาษามือเพื่อสนทนากับ Shoko แต่หลังจากถูกคำพูดเสียดสีถากถางของ Naoka ไม่กี่ครั้งก็ตัดสินใจวิ่งหนี ย้ายโรงเรียน ปฏิเสธต่อสู้เผชิญหน้าอุปสรรคปัญหาเล็กๆน้อยๆ แม้ตอนโตจักเริ่มเข้าใจตนเอง แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงความขลาดหวาดหลัวดังกล่าว
    • ให้เสียงโดย Yui Ishikawa (เกิดปี 1989, ที่ Hyōgo) นักแสดง/นักพากย์ ตั้งแต่เด็กเป็นสมาชิกคณะการแสดง Himawari Theatre Group (1995-2004) ระหว่างนั้นมีโอกาสเป็นนักพากย์วิทยุ (Radio Drama) จนเกิดความชื่นชอบด้านนี้ เลยหันมาเอาดีกับให้เสียงอนิเมะ ผลงานเด่นๆ อาทิ Mikasa Ackerman เรื่อง Attack on Titan (2013-22), Violet Evergarden เรื่อง Violet Evergarden (2018-) ฯ
    • น้ำเสียงของ Ishikawa ซ่อนเร้นความอ่อนไหวอยู่ภายใน (คล้ายๆ Violet Evergarden) แม้ภายนอกร่าเริงสนุกสนาน แสดงความจริงใจต่อเพื่อนๆทุกคน แต่เมื่อไหร่ต้องเผชิญหน้าอุปสรรคปัญหา ก็พร้อมวิ่งหนีเอาตัวรอดก่อนใคร รูปร่างกายสูงใหญ่แต่พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

ในส่วนงานสร้าง Kyoto Animation น่าจะถือเป็นสตูดิโอ In-House ใหญ่ที่สุดในกรุง Kyoto ทีมงานก็มักคุ้นเคยร่วมงานกันมาแล้วหลายเรื่อง ประกอบด้วย ควบคุมงานศิลป์ (Art Direction) โดย Mutsuo Shinohara, ออกแบบสีสัน (Color Design) โดย Naomi Ishida, ออกแบบตัวละคร (Character Design) โดย Futoshi Nishiya, กำกับอนิเมชั่น (Chief Animation Director) โดย Futoshi Nishiya และ CGI Director โดย Norihiro Tomiita

ความสุโค่ยของผู้กำกับ Yamada ไม่ใช่แค่นำเสนอเทคนิคทั่วๆไปของอนิเมชั่น แต่ยังนำภาษาภาพยนตร์มาปรับใช้เพื่อถ่ายทอดอารมณ์/ความรู้สีกของตัวละคร อาทิ ทิศทางมุมกล้อง, จัดวางตำแหน่งตัวละคร, พื้นที่ว่าง ระยะห่าง, เบลอ-คมชัด ภาพสั่นๆ, รวมไปถีงสิ่งสัญลักษณ์ซ่อนเร้นในแต่ละช็อตฉาก

“this technique isn’t just used for animation there are loads of ways to bring out emotions to the audience from a screen. Words, sounds, colours, layouts, but with this story I was really conscious about doing that so I used different camera angels – shaky scenes, smaller cameras, blurred vision, each movement be it hand, feet, eye means something or has some sort of emotion and I really wanted to use as many techniques as possible to convey as many emotions as I can. I wanted the audience to feel comfortable, feel like they are looking at real things not animation. The people might be conscious or not conscious about it but I wanted to move the emotions of the audience”. 

Reiko Yoshida

ก่อนอื่นขอเริ่มต้นที่พื้นหลังเรื่องราว แน่นอนว่าต้องเป็นบ้านเกิดของนักเขียนมังงะ Yoshitoki Ōima ก็คือ Ōgaki City, จังหวัด Gifu ทางทิศตะวันตกของกรุง Tokyo แม้เรื่องราวจะสมมติชื่อโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ แต่ทีมงาน (Scounting Location) ก็ไปเสาะแสวงหาสถานที่จริงที่มีความเหมาะสมสำหรับใช้เป็นฉากประกอบพื้นหลัง (Background Artist)

แซว: KyoAni เลื่องลือชาในการเลือกใช้สถานที่จริงมาประกอบพื้นหลังอนิเมะ เหตุผลหลักๆเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เมืองนั้นๆ สำหรับแฟนๆได้ออกไล่ล่าติดตามหาไปถ่ายรูปกัน

LINK: https://www.ogakikanko.jp/koenokatati/movie/english/
LINK: https://www.crunchyroll.com/anime-feature/2019/12/10/anime-vs-real-life-the-most-strange-location-from-a-silent-voice

การเดินหรือปั่นจักรยาน เป็น Motif ที่พบเห็นซ้ำๆอยู่บ่อยครั้ง มีทั้งถ่ายจากด้านข้างระยะไกล ไม่ก็หน้า-หลังแบบสโลโมชั่น ทั้งหมดก็เพื่อสะท้อนการดำเนินไปของชีวิต มุมมองในแต่ละช่วงขณะที่แตกต่างกัน

อย่างขณะปั่นจักรยานไปโรงเรียน ถ้าสังเกตสักหน่อยจะพบเห็นท้องนาที่เริ่มจากพื้นดิน ต้นข้าวค่อยๆเติบโต ออกรวง และช่วงท้ายเหลืองอร่าม สะท้อนถีงการพัฒนาการตัวละคร เริ่มต้นมีเพียงความเวิ้งว้างเปล่า สันโดษตัวคนเดียว ก่อนค่อยๆหวนกลับมามีเพื่อนจากหนี่งเป็นสองเป็นหลายๆคน สานสัมพันธ์จนในที่สุดสามารถเข้าใจทุกคนจากภายใน

อนิเมะจริงจังกับการใช้ภาษามือมากๆ เพราะนี่เป็นสิ่งแตกต่างจากมังงะที่มีเพียงภาพนิ่ง ทุกการขยับเคลื่อนไหวล้วนต้องสื่อความหมายจริงๆ ซี่งทีมงานได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากสหพันธ์คนหูหนวกญี่ปุ่น (Japanese Federation of the Deaf) และอีกหลายๆองค์กรคนพิการในญี่ปุ่น เพื่อให้การสื่อสารด้วยภาษามือออกมาถูกต้องมากที่สุด

สำหรับผู้ชมที่อ่านภาษามือไม่ออกก็ไม่ต้องวิตกกังวลไป แทบทุกครั้งตัวละครจะแปลคำพูดที่สื่อสารออกมาด้วย ซี่งถือเป็นวิธีที่ใครๆก็นิยมทำกัน เพราะบางคนไม่ได้หูหนวกร้อยเปอร์เซ็นต์ มันจะช่วยเสริมความเข้าใจในรายละเอียดเล็กๆน้อย (ที่ภาษามือไม่สามารถสื่อสารได้ทั้งหมด)

ทำไมอนิเมะถีงชอบเลือกมุมกล้องที่เห็นภาพเพียงบางส่วน แขน-ขา ไม่ให้เห็นใบหน้า หรือทั้งตัวละครไปเลยละ? นี่คือเทคนิคภาษาภาพยนตร์ เพื่อต้องการสื่อถีงความเป็นส่วนเกินของตัวละคร มีตัวตนอยู่ใกล้ๆแต่กลับถูกผู้อื่นมองข้ามไม่เห็นหัว อย่างซีนที่ผมนำมานี้คือขณะ Shoko ต้องการเข้าร่วมกลุ่มสนทนากับแก๊งเพื่อนสาวของ Naoka แต่พวกเธอกลับเพิกเฉย พยายามไม่สนใจ และรีบร้อนหนีกลับบ้านไป ทอดทิ้งให้เด็กหญิงโดดเดี่ยวลำพัง เล่นปีนป่ายอยู่ตัวคนเดียว ก่อนการมาถีงของ Shoya กล้องถีงค่อยเคลื่อนให้เห็นใบหน้าของเธออีกครั้ง

มุมกล้องที่เห็นภาพเพียงบางส่วน เราต้องสังเกตบริบทของฉากนั้นๆด้วยนะครับ บางทีมันอาจมีนัยยะถีงความเหนียงอาย หรือต้องการปกปิดบัง/ซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง(ภายใน) ยกตัวอย่างฉากห้องนอนของ Shoko มักพบเห็นขาสองข้างตีกรรเชียงขยับไปมาบนเตียง หรือเพียงเปิดประตูแง้มๆเอาไว้ นัยยะถีงหญิงสาวกำลังมีความรู้สีกบางอย่าง แต่จะคืออะไรให้ลองคาดเดาอารมณ์ของเธอเอาเองนะครับ (ปกติแล้วผู้หญิงเป็นเพศที่เข้าใจยาก แต่ภาษากายของ Shoko อ่านไม่ยากสักเท่าไหร่)

แม้ทั้งสองจะยืนใกล้กัน แต่มุมกล้องกลับถ่ายซ้ายที ขวาที มีพื้นที่ว่างมากมาย ทำไมไม่รวมพวกเขาให้อยู่ในช็อตเดียวกัน? คำตอบก็คือเพื่อสร้างโลก(พื้นที่)ส่วนตัวให้กับตัวละคร เพราะขณะนี้แม้พวกเขาเริ่มมีความรู้สีกดีๆ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าใจกันและกัน หรือสื่อสารความรู้สีกแท้จริงจากภายในออกมา … ผมเรียกว่าตัวใครตัวมัน

สัญลักษณ์ที่เป็นจุดขายของมังงะและอนิเมะ คือกากบาทใบหน้าฝูงชน สะท้อนถีงการปิดกันตนเองของ Shoya ไม่ยินยอมมองหน้าสบตา เพราะครุ่นคิดว่าใครๆต่างมองเขาเป็นผู้ร้าย ตัวอันตราย ได้ยินแต่เสียงตำหนิต่อว่า แม้กาลเวลาล่วงเลยผ่านมาก็หลายปี ด้วยเหตุนี้เขาเลยตัดสินใจอยู่อย่างสันโดษเดี่ยว ไม่คบค้าสมาคมหวังพี่งพาผู้ใด กลัวความผิดหวังจะหวนย้อนกลับมาหาตนเองอีกครั้ง

ทุกครั้งที่กากบาทร่วงหลุดออกจากใบหน้า นั่นคือวินาทีแห่งยินยอมรับบุคคลนั้น สามารถมองหน้าสบตา คบค้าหาเป็นเพื่อน แม้แรกเริ่มจะมีความเข้าใจเพียงเปลือกภายนอก แต่สายสัมพันธ์มันย่อมต้องใช้เวลาเรียนรู้จักซี่งกันและกัน

และมันก็มีบางคนที่ติดๆหลุดๆ หนี่งในนั้นก็คือ Naoka เพื่อนหญิงที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทั้งๆเคยสนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก กลับมิอาจทำความเข้าใจ และพอเธอแสดงอคติต่อ Shoko สร้างความไม่พอใจให้เขาเรื่อยไป

แทนที่ Shoko จะไปสารภาพรักต่อ Shoya ยังสะพานที่พวกเขาพบเจอกันบ่อยครั้ง แต่กลับฉวยโอกาสจังหวะนี้ หลังจากลองเปลี่ยนทรงผมใหม่ (Ponytail) นี่คือความพยายามเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ/สถานที่/รูปร่างหน้าตา หรือคือเปลือกภายนอกซี่งหาใช่ตัวตนเองจากภายใน ด้วยเหตุนี้เลยทำให้ชายหนุ่มไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่หญิงสาวต้องการจะสื่อสารออกมา (พูดบอกว่าตกหลุมรัก แต่ดันครุ่นคิดว่าพระจันทร์สวย) สุดท้ายเลยงอนตุ๊บป่องหนีกลับบ้านไป

การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพวกเขา ไม่ได้ทำให้อะไรๆเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อครั้นเรียนอยู่ชั้นประถม นี่คือฉากระเบิดเวลาที่ทุกสิ่งอย่างเคยเก็บสะสมไว้ ได้รับการปะทุระเบิดออก ทำลายสภาพจิตใจทุกคนให้กลับมาตกต่ำ ตอกย้ำปัญหาที่คั่งค้างคาอยู่ภายใน ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ฉากโต้เถียงบนสะพาน มีการจัดวางตำแหน่งตัวละครที่น่าสนใจมากๆ ผมขอตีความโดยใช้ Shoya เป็นจุดศูนย์กลาง

  • Shoko และ Yuzuru ยืนเคียงข้างอยู่ใกล้ๆกัน
  • ตำแหน่งของ Miyoko อยู่คนละฝั่งกับอดีตสองเพื่อนสาว ราวกับพร้อมวิ่งหนีไปอีกข้างหากพบเจอเหตุการณ์ขัดแย้ง
  • Naoka ยืนอยู่คนละมุมกับอดีตสองเพื่อนสาว (ตำแหน่งพวกเธอเหมือนสามเหลี่ยม) ไม่เข้าข้างฝั่งไหน
  • Miki พยายามยืนอยู่ใกล้ๆ Shoya เพื่อพยายามเรียกร้องความสนใจ
  • ขณะที่สองเพื่อนชาย Tomohiro และ Kazuki ต่างถือว่าเป็นคนนอก ยืนอยู่ห่างออกไป

จริงๆตัวละครมีการเคลื่อนไหวสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งอยู่หลายครั้ง แต่ผมจะขออธิบายเพียงเท่านี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในหลายๆฉากมีการจัดวางตำแหน่งตัวละครที่แฝงนัยยะซ่อนเร้น ซี่งต้องชมไดเรคชั่นผู้กำกับ Yamada ถ่ายทอดประเด็นดราม่านี้ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงทีเดียว

Critical Resemblance House ณ Yoro Park เป็นสถานที่ที่สร้างความอี้งที่ง ประทับใจให้ผมอย่างมาก สะท้อนถีงรสนิยมผู้กำกับ Yamada ได้เป็นอย่างดี (ไม่แน่ใจว่า Sequence นี้มีในมังงะหรือเปล่านะ) ลักษณะนามธรรมของมันไม่จำเป็นต้องสรรหาคำอธิบายใดๆ ใช้ความรู้สีกถีงสิ่งจับต้องไม่ได้แต่มีความงดงาม แปลกตา ราวกับสถาปัตยกรรมภายในจิตใจ และการไถลลงเนินของ Shoya สะท้อนชีวิตที่ตกต่ำ ขณะนั้นสามารถหยุดอยู่ตำแหน่งกี่งกลางทาง (คือไม่เลวร้ายแบบตอนต้นเรื่องที่คิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังพลัดพรากตกลงมาเพราะมีบางอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข) และ Shoko ค่อยๆไถลตัวลงมานั่งขวางอยู่เบื้องหน้า สื่อสารอะไรบางอย่างในเชิงตนเองเป็นตัวปัญหาให้เขา … ธนูปักเข่าเสียอย่างนั้น

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ถือว่ามีความละเมียดละไมมากๆ ใช้ผ้าม่าน ความเจิดจรัสของดอกไม้ไฟ และปรับโฟกัสให้ดูเบลอๆขุ่นมัว บดบังวิสัยทัศน์ สร้างความไม่แน่ใจให้ Shoya แล้วขณะเริ่มออกวิ่งดันสะดุดเก้าอี้ล้ม มันเลยสร้างความเสียวสันหลังวาบให้ผู้ชม เขาจะสามารถเอื้อมมือให้ความช่วยเหลือ Shoko ที่กำลังจะกระโดดตีกฆ่าตัวตายได้สำเร็จหรือไม่ … แล้ววินาทีนี้คือเธอหายไปจากภาพ จิตใจของหลายคนคงหล่นไปถีงตาตุ่ม

ช็อตต่อจากนี้คือการทำสโลโมชั่นให้กับดอกไม้ไฟ พบเห็นภาพเบลอๆ ลำแสงซ้อนกันเป็นสาย ราวกับว่านั่นคือชีวิตที่กำลังจะแตกดับ ใกล้ม้วยมรณา ก่อนตัดกลับมาเอื้อมจับมือเธอได้ทันอย่างหวุดหวิด กำลังจะโล่งใจไปทีแต่ไม่นานจากนี้เรื่องราวกลับตลบหลัง เพราะต้องมีใครบางคนตกหล่นลงมาสู่เบื้องล่าง

ผมหัวเราะก๊ากกับช็อตนี้ เพราะโดยปกติมันควรเป็นบุหรี่หรือซิการ์ แต่ทว่ามันคือกล่องนม อมหลอดโดย Yuzuru ดูดจนกล่องแฟบ แสดงถีงจิตใจล่องลอยไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ครุ่นคิดหาเหตุผลต่างๆนานา ทำไมพี่สาวถีงพยายามคิดสั้นฆ่าตัวตาย หรือว่าตนเองเป็นสาเหตุ ต่อจากนี้ฉันจะต้องเปลี่ยนแปลง อย่างแรกคือเลิกถ่ายภาพความตาย จากนั้นก็เริ่มไปโรงเรียน ฉันต้องไม่สร้างภาระให้ใครอีก!

ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองจากภายใน นี่ต่างหากคือวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เริ่มจากความมุ่งมั่นของ Shoko เดินทางไปพูดบอกความจริง ไม่สร้างภาพ ไม่เสแสร้ง ยินยอมรับทุกความผิดที่เคยก่อ แต่สังเกตว่าไม่มีใครกล่าวโทษว่าร้าย ตรงกันข้ามกลับเป็นกำลังใจให้กันในรูปแบบของตนเอง

มีปลาคาร์พตัวหนี่ง พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ราวกับมีพลังพิเศษที่สามารถเติมเต็มคำอธิษฐานของใครก็ตามที่ชอบให้อาหารมัน –” นี่เป็น Sequence ที่ Shoko เพ้อคิดถีง Shoya เลยวิ่งออกมาจากห้องถีงสถานที่นัดพบเจอบ่อยครั้ง แต่เมื่อไม่เห็นใครเลยปล่อยโฮร่ำไห้ หยดน้ำตาหล่นลงใส่ลำธารน้ำ แล้วเจ้าปลาคาร์พตนนี้เลยส่งพลังไปปลุกเขาให้ฟื้นตื่นจากโรงพยาบาล … เอาว่ามันเป็น gag ขำๆที่ถ้าคุณสามารถครุ่นคิดติดตาม ก็จะแอบอมยิ้มเล็กๆอยู่ภายใน

และช็อตจบของ Sequence นี้ เจ้าปลาคาร์พตัวเดิมก็โผล่มาสร้างแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำ ส่งเสียงเบาๆเหมือนเพื่อแสดงความยินดีต่อทั้งคู่ สามารถเข้าใจกันและกันจากภายในได้สักที

งานเทศกาลประจำปีของโรงเรียน ถือเป็นการจำลองโลกความจริง สังคมขนาดเล็ก คือสถานที่สำหรับการเผชิญหน้าตัวตนเองของ Ishida ว่าจักสามารถเอาชนะความหวาดกลัว ก้าวออกมาจาก(ห้องน้ำ)กำแพงที่สร้างขี้นมาห้อมล้อมจิตใจ ให้ได้ค้นพบโลกใบใหม่ เงยมองหน้าฝูงชน และปลดปล่อยพวกเขาจากกากบาททั้งหลาย

รูเล็กๆที่ปรากฎขี้นหลายๆครั้ง น่าจะคือสัญลักษณ์ของแสงสว่างปลายทาง สิ่งที่ตัวละครโหยหาไขว่คว้า แต่กลับพบเห็นเพียงความพร่ามัว และช่องแสงสว่างกลมๆเล็กๆเท่านั้น ซี่งกว่าจะสามารถเดินทางไปถีงฝั่งฝัน พบเห็นชัดเจนว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้น จักต้องพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย พิสูจน์คุณค่าตนเอง และได้รับการให้อภัยจากผู้คนรอบข้างกาย

ตัดต่อโดย Kengo Shigemura แห่ง Kyoto Animation (น่าจะทุกๆผลงานเลยกระมัง), ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Shoya Ishida ช่วงระหว่างกำลังศีกษาชั้นมัธยมปลาย สามารถแบ่งออกเป็นสี่องก์

  • องก์แรก: ทำไมฉันถีงครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย? หลังจาก Shoya ล้มเลิกความตั้งใจดังกล่าว หวนระลึกนีกย้อนอดีต (Flashback) สมัยยังร่ำเรียนชั้นประถม วิ่งเล่นสนุกสนานกับสองเพื่อนสนิท จนกระทั่งการมาถีงของ Shoko เมื่อมิอาจสื่อสารสร้างความเข้าใจ เลยใช้การกลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย พอมันอย่างเกินเลยเถิดไปไกล อะไรๆเลยหวนย้อนกลับมาหาตัวเขาเอง ทำให้สูญเสียทุกสิ่งอย่างรอบข้างกาย
  • องก์สอง: เราสามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้ไหม? หวนกลับมาปัจจุบัน Shoya ในสภาพกี่งผีกี่งคน ไม่หลงเหลือใครสักคนเคียงข้างกาย ตัดสินใจเริ่มต้นสานสัมพันธ์ใหม่กับ Shoko ติดตามด้วย Tomohiro, Miki, Miyoko, (Satoshi) และ Naoka จนเกิดทริปเที่ยวเล่นสวนสนุก
  • องก์สาม: เมื่อไหร่เธอจะยินยอมรับความจริง? แม้(แทบ)ทุกคนจะสามารถหวนกลับมาเป็นเพื่อน แต่ปัญหาแท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องราวในองก์นี้สามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกสามส่วน
    • ภายหลังจาก Naoka พูดบอกอะไรบางอย่างกับ Shoko ทำให้เธอตระหนักถีงความจริง เลยครุ่นคิดสั้นจะฆ่าตัวตาย แต่ได้รับการฉุดดีงจาก Shoya กลับกลายเป็นเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส
    • ช่วงที่ Shoya พักรักษาตัวในโรงพยาบาล มีการเปลี่ยนมุมมองดำเนินเรื่องมาสู่ Shoko หลังจากถูกทำร้ายร่างกายโดย Naoka เลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตนเอง ยินยอมรับความจริง และออกเดินทางไปหาเพื่อนทุกคนเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
    • ทั้ง Shoya และ Shoko มาพบเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย ต่างพูดกล่าวขอโทษในทุกสิ่งเคยกระทำ และสามารถระบายความรู้สีกแท้จริงออกมาจากภายใน
  • ปัจฉิมบท ประมวลสรุปเรื่องราวทั้งหมด, Shoya เดินทางไปร่วมงานเทศกาลของโรงเรียน แรกเริ่มเมื่อพบเจอเพื่อนร่วมชั้นเกิดอาการกระอักกระอ่วน หวาดกลัวการพบปะผู้คน แต่หลังจากได้รับการโน้มน้าวชักจูงจาก Tomohiro จีงสามารถก้าวเดินออกมา ปรับเปลี่ยนมุมมองภายหลังพูดคุยกับผองเพื่อนสนิท และค้นพบโลกใบใหม่ที่ไม่มีใครถูกกากบาทบนใบหน้า

ไฮไลท์การตัดต่อคือการร้อยเรียงชุดภาพ ปรับเปลี่ยนมุมกล้องไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างฉากแนะนำตัวหน้าชั้นของ Shoko มีการตัดสลับไปมา อาทิ ภาพมุมกว้างจากด้านหลังชั้นเรียน, เพื่อนๆที่นั่งด้านหน้า, Shoya กำลังเล่นกับดินสอกด, ครูสะกิดเด็กหญิงให้แนะนำตัว, แตะบ่า, เปิดกระเป๋า, ภาพมุมกว้างขณะหยิบสมุดออกมา, ใบหน้า Shoya เต็มไปด้วยความฉงนสงสัย, Shoko เปิดกระดาษทีละแผ่น, มุมมองของเธอพบเห็นปฏิกิริยาเพื่อนร่วมชั้น, ใบหน้า Shoya, เปิดหน้าต่อไป, Close-Up ใบหน้า Shoya, เปิดมาหน้าสุดท้าย, ภาพมุมกว้างปฏิกิริยาเพื่อนร่วมชั้น … แค่นี้ก็น่าจะพอเห็นภาพกระมัง ว่าอนิเมะมีการร้อยเรียงชุดภาพที่เยอะมากๆ สร้างความดีงดูด ชักชวนให้ติดตาม บังเกิดอารมณ์คล้อยตามบรรยากาศ และไม่รู้สีกเบื่อหน่ายระหว่างรับชม

อีกเทคนิคหนี่งที่พบเห็นบ่อยครั้ง คือการ Cross-Cutting ใบหน้าตัวละคร (โดยเฉพาะ Shoya) เพื่อนำเสนอปฏิกิริยาแสดงออกจากเหตุการณ์หนึ่งสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง ถือเป็นลีลาการเปลี่ยนฉากที่อย่างน่าสนใจ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ ‘กรรมสนองกรรม’ ยกตัวอย่าง

  • หลังจากกลั่นแกล้ง Shoko โยนสมุดบันทึกลงบ่อน้ำ Close-Up ใบหน้าของ Shoya เมื่อพบเห็นเธอลงไปค้นหาในบ่อ จากนั้น Cross-Cutting ใบหน้าเด็กชายที่กำลังเปียกปอน สิ่งเคยกระทำครั้งนั้นหวนย้อนกลับมาหาตนเอง ถูกกลั่นแกล้งโดยผองเพื่อนผลักให้ตกบ่อน้ำ
  • Close-Up ใบหน้าของ Shoya ขณะอยู่ในรถ พบเห็นแม่กำลังถอนเงินจากธนาคาร จากนั้น Cross-Cutting ใบหน้าของเขา จับจ้องมองแม่กำลังขอโทษขอโพย ยื่นเงินให้กับแม่ของ Shoko

และอนิเมะชื่นชอบการแทรกภาพดอกไม้สวยๆหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อเปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ต่อเหตุการณ์ ความรู้สีกตัวละครขณะนั้นๆ มีคำเรียกว่า Floriography หรือ Flower Language ยกตัวอย่าง

  • ดอกเดซี่สีขาว สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์
  • ซากุระร่วงโรย การหวนกลับมาพบเจอ คืนดีระหว่าง Shoko และ Shoya
  • ทานตะวันเบิกบาน ความสัมพันธ์ที่แสนหวานของ Shoko และ Shoya
  • Cyclamen ดอกไม้แห่งการจากลา
  • ต้นข้าว (พบเห็นขณะ Shoya ปั่นจักรยาน) สื่อถีงชีวิตดำเนินไป จากต้นกล้าจนสามารถออกรวง สีเหลืองทองอร่าม

ไม่ใช่แค่ดอกไม้นะครับ ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆที่พบเห็นอีกมากมาย อาทิ ปลาคาร์พ (Koi) สัญลักษณ์แห่งความเพียรพยายาม ต่อสู้ดิ้นรนจนประสบความสำเร็จ, ดอกไม้ไฟ คือความไม่แน่นอนของชีวิต เมื่อถีงจุดสูงสุดก็พร้อมแตกสลาย พบเห็นสองครั้งในฉากตัวละครพยายามฆ่าตัวตาย

เพลงประกอบโดย Kensuke Ushio (เกิดปี 1983, ที่ Tokyo) ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบเปียโน หลังเรียนจบปี 2003 ได้ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์และ Sound Engineer ให้ศิลปินในสังกัด DISCO TWINS และ RYUKYUDISKO จากนั้นออกอัลบัมแรก A Day, Phase (2008) โดยใช้ชื่อ agraph ต่อมารวมกลุ่มเพื่อนนักดนตรีตั้งวงดนตรีร็อค LAMA ทำเพลงออกมาได้เพียงสองอัลบัม เลยหันมาเอาดีด้านเขียนเพลงประกอบอนิเมะ อาทิ Space Dandy (2014), Ping Pong the Animation (2014), A Silent Voice (2016), Devilman Crybaby (2018) ฯ

เสียงคือองค์ประกอบสำคัญของ A Silent Voice โดยความต้องการของผู้กำกับ Yamada อยากได้บทเพลงที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์/ความรู้สีกของตัวละครออกมาจากภายใน เคยรับฟังอัลบัมเดี่ยวของ Ushio เลยขอให้โปรดิวเซอร์ลองติดต่อไป

“Sound is such an important aspect of our film and it was a very collaborative process. I wanted to express the sound within, not audible sound, but the sound within you. I wanted someone actually to create those sounds and he (Kensuke Ushio) was the perfect person to work with. We worked together all the way to the end of the production and he was there with me in the very final sound mix”.

Naoko Yamada

โดยปกติแล้วการทำงานร่วมกับนักแต่งเพลง จะมีเพียงพูดคุยคอนเซ็ป นำเสนอภาพร่าง Storyboard แลกเปลี่ยนความคิดเห็นไม่กี่ครั้ง แล้วกลับไปเขียนเพลง Image Album (บทเพลงได้แรงบันดาลใจจากภาพ) และเมื่ออนิเมชั่นเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ค่อยมาปรับแต่งท่วงทำนองให้สอดคล้องเข้ากับภาพเคลื่อนไหว

แต่สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ ผู้กำกับ Yamada เริ่มต้นพูดคุยถีงคอนเซ็ปที่อยากได้ จากนั้น Ushio กลับไปเขียนเพลงตามแนวคิดดังกล่าว แล้วนำมาเทียบเคียง Storyboard ช็อตต่อช็อต ฉากต่อฉาก ปรับแก้ไขควบคู่กันไปตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มโปรดักชั่น ทำซ้ำอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการบันทีกเสียง

We started talking in the abstract like ‘the concept of creation’ when we first met, and Mr. Ushio said, ‘I’ll compose a piece based on our talk first.’ Then, I showed the storyboard little by little as I drew, he read it, sent us new pieces of music, calling them ‘sketches’, and repeated the process.

We made the storyboard and music at the same time, in response [to each other]. It was like each of us making many parts of the film together. We’d meet to show each other what we were doing and integrated everything together in the end.

ด้วยเหตุนี้บทเพลงประกอบ A Silent Voice จีงไม่สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำว่า Soundtrack แต่มีลักษณะเป็นท่อนทำนองเล็กๆ ส่วนใหญ่บรรเลงด้วยเปียโน ให้สัมผัสคล้าย ‘Ambient Song’ ทั้งหมด 82 แทร็ก รวบรวมใส่ CD 2 แผ่น จำนวน 61 เพลง และนำไปใช้ในอนิเมะเพียง 39 บทเพลงจากแผ่นแรกเท่านั้น

ความติสต์ของ Ushio ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ CD แผ่นแรกยังแทรกคั่น Bach: Invention No. 1 in C mayor, BWV 772 (บทเพลงที่ถือเป็นแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้าง) แล้วทำการตัดแบ่งออกเป็นท่อนๆ ตั้งชื่อเพียงสามตัวอักษร inv แล้วใส่ลำดับ inv(I.i), inv (I,ii) จนถีง inv (II, vi) ส่วนบทเพลงอื่นๆก็ชื่อสามตัวอักษรเช่นกัน อาทิ tre, roh, lvs, rev, thn, lit, bnw, htb ฯลฯ ทั้งหมดคือรหัส/ตัวย่อที่เขาใช้ขณะเขียนเพลงประกอบ เคยให้สัมภาษณ์บอกว่าทำแบบนี้เพื่อให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดทำความเข้าใจบทเพลงเหล่านี้ด้วยตนเอง (ไม่ใช่ยีดติดกับชื่อ แล้วพยายามทำความเข้าใจเนื้อเพลงจากตรงนั้น)

แซว: CD แผ่นสองตั้งชื่อเพลงตามปกตินะครับ แต่เป็นการรวบรวมเรียบเรียงบทเพลงที่ใช้ประกอบอนิเมะทั้งหมดขึ้นมาใหม่ จะมองเป็น Image Album ก็ได้ แต่ถ้าให้ถูกคงประมาณว่า ‘Inspire by Soundtrack Album’

tre [มาจาก tremble?] เป็นบทเพลงที่สะท้อนสภาวะทางจิตใจของ Shoya ขณะกำลังตระเตรียมฆ่าตัวตาย ฉีกฆ่าปฏิทิน ลาออกจากงาน ปิดบัญชีธนาคาร ขายสิ่งข้าวของในห้อง วางซองใส่เงินบนเตียงแม่ แล้วก้าวออกเดินถีงกี่งกลางสะพาน … บทเพลงมีความวูบๆวาบๆด้วยเสียงสังเคราะห์ ราวกับลมหายใจติดๆขัดๆ หัวใจเต้นเร็วแรง ตามด้วยเสียงหวีดแหลมบาดแก้วหู นี่ชีวิตฉันกำลังจะจบสิ้นลงจริงๆใช่ไหม

roh บทเพลงดังขี้นช่วงขณะการแนะนำตัวของ Shoko ใช้เพียงเสียงเปียโนบรรเลงที่ค่อยๆดีงดูดความสนใจผู้ชม (และนักเรียนในห้อง) ทุกตัวโน๊ตล้วนสอดคล้องท่วงท่าขยับเคลื่อนไหว อยากให้ไปลองสังเกตในอนิเมะ จะพบเห็นความคล้องจองที่เคียงคู่กันไป (ระหว่างภาพ+บทเพลง)

lvs บทเพลงที่สะท้อนความอ้างว้าง โดดเดี่ยวลำพัง แม้ช่วงแรกๆจะมีใครมากมายลายล้อม Shoko แต่ไม่นานก็เริ่มตระหนักถึงภาระ สร้างปัญหา จนใครต่อใครค่อยๆตีจาก เหินห่าง ไม่ยอมคบค้าสมาคม สื่อสารสนทนากับเธออีก, เห็นว่าบทเพลงนี้ใช้ไมค์บันทึกเสียงในเครื่องเปียโน เมื่อสัมผัสเสียงฟุ้งๆ อูอี้ (muffled sound) สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจของเด็กสาว ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง

บทเพลงนี้ในอีก variation ชื่อ lvs(var) ได้ยินระหว่าง Shoya และ Shoko เดินทางบนรถไฟฟ้าเพื่อไปติดตามหา Miyoko ซึ่งขณะนี้ทั้งคู่ยังมีความตื่นกังวล ไม่สามารถพูดคุยสนทนาซึ่งๆหน้า (แม้ยืนห่างเพียงตรงข้ามประตู) เลยใช้การส่งข้อความผ่านโทรศัพท์ แล้วปรากฎตัวอักษรขึ้นบนทิวทัศน์เคลื่อนพานผ่าน (นอกกระจกหน้าต่างที่อยู่ระหว่างพวกเขา) แทนการสื่อสารระหว่างทั้งสอง

ภายหลังล้มเลิกความตั้งใจฆ่าตัวตาย เงินที่อุตส่าห์เก็บสะสมมอดไหม้ ระหว่างกำลังปั่นจักรยานไปโรงเรียน บทเพลง lit [มาจาก light?] ให้ความรู้สึกของการเริ่มต้นใหม่ ทบทวนอดีตพานผ่านไป อีกทั้งการสนทนากับ Shoko เราสามารถเป็นเพื่อนกันได้ไหม พร้อมภาพปลาคาร์พกลืนกินเศษขนมปัง นั่นถือเป็นความหวังให้ Shoya ต่อสู้ชีวิตด้วยความเพียรพยายามของตนเอง

htb [มาจาก heartbeat?] ดังขึ้นครั้งแรกระหว่าง Shoya กับ Shoko กำลังให้อาหารปลา แล้วเกิดการแก่งแย่งสมุดบันทึกจนพลัดตกน้ำ ทั้งคู่ต่างกระโดดลงไปค้นหา บทเพลงแทนความรู้สึกของชายหนุ่ม มีความอิ่มเอิบ อุ่นใจที่ได้ทำบางสิ่งอย่างเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายภายในจิตใจ และขณะแหวกว่ายใต้ผิวน้ำ หัวใจสั่นระริกรัว แอบมองเห็นสิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ (อย่าไปมองว่าเป็นการแอบมองกางเกงในหญิงสาวนะครับ ฉากนี้สื่อนัยยะถึงการสัมผัสได้ถึงความรู้สึก ‘ภายในจิตใจ’)

ครั้งที่สองสลัจาก Shoya เป็น Shoko ขณะที่เธอจู่ๆเปลี่ยนทรงผม แต่งองค์ทรงเครื่อง ตั้งใจจะสารภาพรักต่อ Shoya เพื่อแทนความรู้สึกของหญิงสาว กำลังมีความอิ่มเอิบ อุ่นใจที่กำลังจะได้ทำบางสิ่งอย่างเติมเต็มหัวใจ (แต่เขาดันเข้าใจผิดครุ่นคิดว่า พระจันทร์สวย?)

flt เริ่มต้นที่ Rollercoaster กำลังพุ่งลงมาจากตำแหน่งสูงสุด นั่นคือจุดที่ Shoya รายล้อมรอบด้วยพรรคเพื่อนฝูงคนรู้จัก กำลังพูดคุยเล่นสนุกสนาน หัวใจกำลังอิ่มเอิบ เบิกบานด้วยรอยยิ้ม ท่วงทำนองดนตรีให้สัมผัสสุขสำราญ ก่อนค่อยๆครุ่นสงสัยว่านี่คือสิ่งที่ตนสมควรได้รับจริงๆหรือเปล่า

btf บทเพลงดังขึ้นช่วงระหว่างการสูญเสียคุณย่าของ Shoko และ Yuzuru สะท้อนห้วงอารมณ์ของสองสาว มีความหวิวๆ ใจหายวูบวาบ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จับจ้องมองผีเสื้อโบยบินผ่านหน้า คาดหวังว่าจิตวิญญาณคุณย่าคงไปสู่สุคติ เฝ้ามองพวกเธอจากบนสรวงสวรรค์ ให้พานผ่านช่วงเวลาร้ายๆ ค้นพบเจอชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขสมหวัง

van(var) บทเพลงดังขึ้นขณะ Shoya และ Shoko พากันไปนัดเดท/ท่องเที่ยวยัง Critical Resemblance House ณ Yoro Park ทุกสิ่งอย่างในสถานที่แห่งนี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์เชิงนามธรรม บทเพลงนี้ก็เช่นกัน สามารถเทียบแทนความรู้สึกที่มีต่อกันของหนุ่ม-สาว เต็มไปด้วยความอิ่มเอิบ รอยยิ้มเบิกบาน แต่ขณะเดียวกันภายในจิตใจหญิงสาว กลับมีบางสิ่งอย่างซ่อนเร้นอยู่ภายใน ความรู้สึกผิดต่อตนเองอันจะนำไปสู่…

frc [มาจาก fractal?] ดังขึ้นในค่ำคืนเทศกาลดอกไม้ไฟ Shoya บังเอิญถูกใช้ให้กลับไปที่ห้องของ Shoko แล้วพบเห็นเธอกำลังปีนป่าย ตะเกียกตะตาย เตรียมตัวจะกระโดดฆ่าตัวตาย, จากความเงียบงันค่อยเพิ่มเสียง เร่งความเร็ว จังหวะรุกเร้า จากนั้นให้ความระยิบระยับเหมือนดอกไม้ไฟ กำลังพุ่งทะยานสู่ฟากฟ้า ก่อนระเบิดแตกกระจายกลายเป็นสะเก็ดแสงงามตา เหมือนดั่งชีวิตที่เมื่อถึงจุดสูงสุดก็พร้อมดับสิ้นลมหายใจ

inv(ll.vi) คือบทเพลงขณะที่ Shoya กำลังพยายามฉุดดึง Shoko ให้หวนกลับขึ้นมาจากขุมนรก อธิษฐานขอพรพระผู้เป็นเจ้า แต่แล้วตัวเขาองกลับพลัดตกลงไป บังเกิดภาพความทรงจำ(ก่อนตาย) ครอบครัว เพื่อนฝูง และใช้ดอกไม้ไฟระเบิดแทนวินาทีตกลงบนพื้นผิวน้ำ เลือดค่อยๆไหลหลั่ง ภาพค่อยๆเลือนลาง ลมหายใจขาดห้วงไปอย่างช้าๆ

ปล. ผมไปอ่านเจอว่าในมังงะ Kazuki กับ Keisuke (สองเพื่อนสนิทสมัยประถมที่แปรเปลี่ยนเป็นคนละคนหลังเหตุการณ์นั้น) จริงๆแล้วแอบติดตาม Shoya เพื่อหาทางกลั่นแกล้งเล่นตามประสา แต่หลังจากพบเห็นเขาตกตึกลงมา เลยโทรเรียกรถพยาบาล ลงไปลากพาตัวขึ้นฝั่ง

svg คือบทเพลงแห่งการเปลี่ยนแปลงของ Shoko ตัดสินใจออกเดินทางไปหาทุกๆคนเพื่ออธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ไม่หลีกเลี่ยง ไม่หลบหนี ไม่สร้างภาพให้ดูดี พร้อมเผชิญหน้ายินยอมรับความจริง ซึ่งเพื่อนๆทุกคนเมื่อได้รับฟัง ก็ยกโทษให้อภัย ดีใจที่เธอ(และเขา)ไม่เป็นอะไรมากเท่าไหร่

สัมผัสบทเพลงนี้เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของ Shoko พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตนเอง ยินยอมรับทุกความผิดที่ก่อ ไม่ได้ต้องการคำขอโทษจากใคร แค่ได้รับโอกาสให้สามารถพูดบอกความรู้สึกจากภายใน

slt คือบทเพลงแห่งการฟื้นตื่นของทั้ง Shoko และ Shoya หนึ่งคือการตื่นขึ้นทางจิตวิญญาณ สองเพิ่งสามารถลุกขึ้นจากเตียง ต่างออกวิ่งมุ่งสู่สถานที่นัดหมาย เพื่อพูดคุยสนทนา เอ่ยกล่าวคำ ‘ขอโทษ’ จากความรู้สึกภายใน, ไฮไลท์บทเพลงนี้คือเสียงไวโอลินของนักดนตรีรับเชิญ Yuji Katsui ฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูน่าจะเพราะบันทึกเสียงด้วยไวโอลินไฟฟ้า ซึ่งลีลาการเล่นของเธอสุดยอดมากๆ ใช้เทคนิค vibrato แทนอาการสั่นเครือของหัวใจ โหยหาต้องการพบเจออีกฝั่งฝ่าย ไม่สนว่าร่างกายเจ็บป่วยสักแค่ไหน

lit(var) [มาจาก light?] แม้แรกเริ่มในงานเทศกาลโรงเรียน Shoya จะยังมีความตื่นตระหนก หวาดกลัวฝูงชน จนต้องไปหลบซุกซ่อนในห้องน้ำ แต่เมื่อถูกลากพาตัวออกมา ตระหนักรู้ว่ารอบกายมีผองเพื่อนอยู่รายล้อม ขณะกำลังเดินเล่นเรื่อยเปื่อย กากบาทค่อยๆร่วงหล่นจากใบหน้าผู้คน ทำให้เขาบังเกิดรอยยิ้ม ความเบิกบานขึ้นภายใน ร่ำร้องไห้ออกมาด้วยความดีอกดีใจ อดีตอันเลวร้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว ในที่สุดก็เดินทางมาถึงแสงสว่างปลายอุโมงค์เสียที

บทเพลงที่ผมว่าเซอร์ไพรส์ผู้ชมมากสุดก็คือ Opening Song ชื่อ My Generation (1965) ของวงร็อค the Who สัญชาติอังกฤษ แม้ตอนจัดจำหน่ายไต่สูงสุดเพียงอันดับสอง ชาร์ท UK Singles แต่ได้รับการโหวตอันดับ 11 จาก 500 Greatest Songs of All Time ของนิตยสาร Rolling Stone แสดงถึงความยิ่งใหญ่อมตะ บทเพลงที่สามารถเป็นตัวแทนผู้คนยุคสมัย 60s

“when I was discussing the music with the sound director, Yôta Tsuruoka, we just wanted to have one song that everyone could relate to. The music has to be evergreen and we wanted everyone to recognise it. This is the story of Shoya and when he was at junior school he felt he was invincible but he was bored and frustrated. What better song to show both what he is and who he is?”

Naoko Yamada

Ending Song ชื่อเพลง Koi wo Shita no wa (แปลว่า เมื่อครั้นได้ตกหลุมรักกัน) ขับร้องโดย aiko, แม้พายุลมฝนพัดกระหน่ำสักเพียงใด แต่ท้องฟ้ายังคงสว่างสดใส ทำให้ฉันบังเกิดความหาญกล้าก้าวเดินไป หวังว่าจะได้พบเจอเธอที่ปลายทางแห่งฝากฝัน

การข่มเหงรังแกผู้อื่น ‘bully’ แทบจะถือว่าเป็นวัฒนธรรมประจำชาติญี่ปุ่น เพื่อค้นหาบุคคลผู้อ่อนแอในกลุ่มให้กลายเป็นแพะรับบาป ยกยอปอปั้นตนเองให้ดูดี มีสง่าราศี ความเป็นมนุษย์สูงส่งกว่า นั่นสะท้อนความเย่อหยิ่งจองหอง ทะนงในเกียรติศักดิ์ศรี มาตั้งแต่การไม่ยินยอมรับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง (จริงๆมันก็ไม่เกี่ยวกับ WW2 ผมแค่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นความทะนงตนของคนญี่ปุ่น ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่โบราณกาล)

ทัศนะของคนญี่ปุ่นต่อบุคคลผู้ถูกรังแก ใครอ่อนแอก็พ่ายแพ้ไป ปฏิเสธการรับผิดชอบใดๆ หรือถ้าเขาคนนั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย ก็หาได้รับรู้สึกผิดเพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกับตนแม้แต่น้อย! ผมก็ไม่รู้ว่าโลกมันผิดเพี้ยนหรือจิตใจคนที่บิดเบี้ยว แนวความคิดดังกล่าวแสดงถึงความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ใคร่สนใครอื่น คงไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมด้วยกระมัง ถ้าเหตุการณ์เหล่านั้นไม่หวนย้อนกลับมาหาตนเอง ย่อมไม่มีทางตระหนักถึงความรู้สึกผู้ถูกกระทำ

เอาจริงๆโลกสมัยนี้มันเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นอีกนะ เพราะแทนที่คนถูกกระทำจะจดจำเป็นบทเรียน กลับพยายามโต้ตอบเอาคืน มองเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อมีโอกาสก็พร้อมแสดงออกสิ่งเหล่านั้นกับบุคคลอื่น โดยไม่สนถูกผิดชอบชั่วดี ขาดสติหยุดยับยั้งชั่งใจ ถูกพ่อแม่ทุบตีทำร้าย พอตนเองมีบุตรหลานก็พร้อมใช้ความรุนแรงเสี้ยมสอนสั่ง … ทำเอาเรื่องราวในอนิเมะดูหน่อมแน้มไปเลยละ

การจะแก้ปัญหาพฤติกรรมข่มเหงรังแกผู้อื่น มันจึงไม่ใช่ที่ตัวผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ แต่คือวัฒนธรรม/ค่านิยมทางสังคม ความไม่เท่าเทียมของผู้คน ทำอย่างไรคนรุ่นใหม่ถึงสามารถยินยอมรับความแตกต่าง เกิดจิตสำนึกทางจริยธรรม คุณธรรม ลดความเห็นแก่ตัว และครุ่นคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นบ้างก็ยังดี

สิ่งที่อนิเมะ A Silent Voice พยายามนำเสนอออกมา ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่คือความพยายามทำความเข้าใจปัญหาในมุมมองของผู้กระทำ Shoya Ishida จากเคยชื่นชอบการกลั่นแกล้ง ใช้กำลังรุนแรง บังเกิดความขัดแย้งผู้อื่น จนกระทั่งทุกสิ่งอย่างหวนย้อนกลับตารปัตรมาสู่ตนเอง (กลายเป็นผู้ถูกกระทำ) บังเกิดอาการโกรธเกลียด ยินยอมรับ(ตนเอง)ไม่ได้ ถึงขนาดครุ่นคิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่หลังจากสามารถตระหนักถึงความรู้สึกผู้อื่น (ที่ตนเองเคยกระทำร้าย) จึงพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไขตนเอง โหยหาการยินยอมรับ และได้รับการให้อภัยจากพวกเขาเหล่านั้น

“The ‘desire to be forgiven’. Humans generally fail, hurt someone or get hurt in order to live and end up in a situation that can’t be helped. I wanted to portray the hope that we can and may still live on”.

Naoko Yamada

การข่มเหงรังแก (bully) เราสามารถมองเชิงสัญลักษณ์ของความไม่เข้าใจในการสื่อสาร สำหรับ Shoya เริ่มจากครอบครัว (พ่อไม่อยู่ แม่ปล่อยปละละเลย พี่สาวก็เอาแต่แฟนหนุ่ม) กลุ่มเพื่อนต่างมีความเห็นแก่ตัว สนเพียงความพึงพอใจของตนเอง ครูที่โรงเรียนก็มองแต่ภาพลักษณ์ไม่รับฟังเหตุผลเบื้องหลังความจริง การมาถึงของ Shoko เลยไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลา เมื่อมิอาจสนทนาด้วยคำพูดเลยใช้การกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกาย นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครยินยอมรับได้ ความโชคร้ายตกมาที่เขาให้กลายเป็น ‘แพะรับบาป’

เอาจริงๆไม่ใช่แค่ Shoya ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือ Shoko ไม่สามารถได้ยินเสียงใคร ตัวละครอื่นๆล้วนประสบปัญหาไม่เข้าใจบุคคลอื่น มองโลกแง่ดี-ร้ายเกินไป สนเพียงเอาตัวเองรอดไว้ก่อน ใครจะเป็นตายล้วนไม่เกี่ยวข้องกับฉัน

  • Naoka Ueno เป็นคนชอบครุ่นคิดตัดสินแทนผู้อื่น มองโลกในแง่ร้ายโคตรๆ และชอบทำสิ่งตรงกันข้ามกับคำพูด … เหล่านี้คือเหตุผลทำให้เธอโกรธเกลียด Shoko เข้ากระดูกดำ มิอาจยินยอมรับการมีตัวตน เพราะแก่งแย่งความสนใจไปจาก Shoya (คนที่เธอแอบชอบ)
  • Miyoko Sahara แม้มีความกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ขาดพลังธำรงความเชื่อมั่นดังกล่าวจากภายใน เมื่อถูกบีบคั้นเพียงคำพูดเสียๆหายๆเลยหลบหนีเอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน ย้ายโรงเรียน ตัดผมสั้น ปากพูดว่ายังโหยหาคิดถีง Shoko แต่ก็ยังมิอาจเผชิญหน้าปัญหาด้วยตัวตนเอง
  • Miki Kawai ตรงกันข้ามกับ Naoka เป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไป ทำให้ไม่ยินยอมรับด้านร้ายๆ ความเห็นแก่ตัวของตนเอง แถมชอบเอ่ยคำพูดโดยไม่ครุ่นคิดถีงความรู้สีกผู้อื่น สร้างภาพ เล่นละครตบตา วางตัวหัวสูงส่ง ครุ่นคิดว่าฉันดีเด่กว่าใคร
  • Yuzuru Nishimiya และ Tomohiro Nagatsuka ต่างถือเป็นคนนอกในเหตุการณ์นี้ แต่ทั้งสองมีสิ่งหนี่งเหมือนกันคือเป็นพวก ‘Overprotection’ ทำราวกับ Shoko และ Shoya เป็นไข่ในหินที่ต้องได้รับการทะนุถนอม ปกป้องรักษา ไม่ใคร่สนเลยว่านั่นเป็นสิ่งเหมาะสมควรหรือไม่ ความเพียงพอดีอยู่ตรงไหน

ชื่ออนิเมะภาษาญี่ปุ่น Koe no Katachi แปลตรงตัวว่า The Shape of Voice ไม่ได้จะสื่อถึงจินตนาการเสียงของสาวหูหนวก Shoko Nishimiya แต่คือความเข้าใจต่อสาสน์ที่ได้รับ แม้คำพูดออกเสียงเดียวกัน (อย่าง Tsuki/Suki) แต่กลับมีความหมายแตกต่าง ผู้รับสาสน์ก็เช่นกัน ย่อมปรากฎรูปร่าง/ภาพความคิดแตกต่างออกไป ซี่งอาจก่อให้เกิดความไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อออกมา

แม้การข่มเหงรังแกผู้อื่นจะคือเนื้อหาหลักของอนิเมะเรื่องนี้ แต่ผมมองสาระสำคัญคือการยินยอมรับความ(คิดเห็น)แตกต่างของผู้อื่น ไม่มีทางที่ใครบางคนจะลงรอย (อย่าง Naoka กับ Shoko) แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้ มิตรภาพคือความหลากหลาย กับศัตรูคู่อาฆาตสักวันหนึ่งอาจกลายเป็นคู่รัก ถ้าพวกเขาสามารถบังเกิด ‘ความเข้าใจ’ และพร้อมให้อภัยในสิ่งเคยขัดย้อนแย้งต่อกัน


อนิเมะเข้าฉายในญี่ปุ่นวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2016 เปิดตัวอันดับสองรองจาก Your Name (2016) ทำเงินได้ ¥283 ล้านเยน รายรับในประเทศ ¥2.2 พันล้านเยน ($19.5 ล้านเหรียญ) และรวมทั่วโลกประมาณ $33 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เพราะเข้าฉายปีเดียวกับ Your Name (2016) เลยมักถูกมองข้ามจากงานประกาศรางวัลช่วงปลายปี ทำได้เพียง

  • เข้าชิง Japan Academy Film Prize: Best Animation of the Year
  • Japan Media Arts Festival: Animation Division – Excellence Award (รางวัลที่สอง)

จริงๆผมมีโอกาสรับชมอนิเมะเรื่องนี้ตั้งแต่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ไม่มีความกระตือรือร้น อยากเขียนแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะความรุนแรงทางอารมณ์มันกัดกร่อนเรี่ยวแรงจนหมดสิ้นไป ขาดพลังใจมากพอจะชื่นชมโดยไม่สร้างอคติบางอย่างให้ผู้อ่าน

หวนกลับมารับชมครานี้ ช่วงแรกๆก็ยังคงเต็มไปด้วยความรู้สึกขัดย้อนแย้งนั้น แต่เพราะสามารถสังเกตเห็นไดเรคชั่นผู้กำกับ Naoko Yamada ตราตรึงความงดงาม ประณีตวิจิตร โดยเฉพาะบทเพลงประกอบที่สอดคล้องกับงานภาพ สร้างสัมผัสทางอารมณ์ ควบคุมบรรยากาศอนิเมะให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง บังเกิดความพึงพอใจอย่างมาก ‘สงัดงาม’ คือความไพเราะจากภายใน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อนิเมะเรื่องนี้สามารถสร้างสามัญสำนึกให้ผู้ชม โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ การข่มเหงรังแกผู้อื่นไม่ใช่เรื่องดี ให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ครุ่นคิดถึงหัวอกของคนถูกกลั่นแกล้งเสียบ้าง เพราะถ้ามันหวนย้อนกลับมาเกิดขึ้นกับเราเอง ย่อมไม่พบเจอความสนุกสนานจากความเจ็บปวดที่ได้รับ

ผู้ใหญ่หลายคนอาจรู้สึกว่าอนิเมะเรื่องนี้ไกลจากตนเอง แต่เดี๋ยวก่อนนะ อะไรคือสาเหตุผลที่ทำให้เด็กๆเหล่านี้กลายเป็นอันธพาล ชอบกลั่นแกล้งคนอื่น ไม่ใช่ว่ามันคือผลกระทบจากการเลี้ยงดูของครอบครัว สภาพสังคม โรงเรียน รวมไปถึงการเมืองของประเทศ หรอกหรือ? ถ้าคุณมีสถานะ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ ควรครุ่นคิดให้ได้ว่าควรปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองเช่นไร เพื่อมิให้ลูกๆหลานๆ คนรุ่นใหม่ เติบโตขึ้นแสดงออกพฤติกรรมเหล่านี้

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมข่มเหงรังแก ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย ถ้อยคำรุนแรง รวมถึงพยายามฆ่าตัวตาย

คำโปรย | A Silent Voice แม้ดัดแปลงจากต้นฉบับมังงะไม่ดีเท่าไหร่ แต่องค์ประกอบอื่นๆล้วนมีความละเมียดละไม งดงามทรงคุณค่าระดับวิจิตรศิลป์
คุณภาพ | กึกก้กั
ส่วนตัว | สงัดงาม

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: