The End of St. Petersburg

Konets Sankt-Peterburga (1927) USSR : Vsevolod Pudovkin, Mikhail Doller ♥♥♥

เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบสิบปีการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Committee of the Communist Party) มอบหมายสองผู้กำกับให้สร้างภาพยนตร์สองเรื่อง กลายมาเป็น The End of St. Petersburg (1927) ของ Vsevolod Pudovkin และ October (1928) ของ Sergei Eisenstein

มันอดไม่ได้จริงๆที่จะต้องเปรียบเทียบ The End of St. Petersburg (1927) กับ…
– เนื้อเรื่องราวมีความคล้ายคลึง Mother (1926) ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Pudovkin แต่บีบเค้นคั้นอารมณ์ได้ไม่เท่า
– เพราะโปรดักชั่นเคียงคู่ October (1928) เลยได้งานสร้างสุดอลังการ แต่กลับคลุกเคล้าไม่เข้ากันสักเท่าไหร่

ผมว่าถ้าผู้ชมไม่เคยผ่านตา Mother (1926) และ October (1928) ย่อมไม่เกิดอคติต่อ The End of St. Petersburg (1927) ที่ถือว่าคุณภาพ/เรื่องราว/ความอลังการ อยู่กึ่งกลางระหว่างทั้งสองเรื่องนี้พอดิบพอดี

แต่ถึงกระนั้นหนังก็มีดีนะครับ ร้อยเรียงเรื่องราวด้วยเทคนิค Montage โดยเฉพาะฉากสู้รบสงครามโลกครั้งที่สอง และการบุกยึดพระราชวัง Winter Palace ถ้าสังเกตดีๆก็แทบจะไม่มีอะไร แต่ด้วยความรวดเร็วฉับไวจนสายตามองแทบไม่ทัน โคตรตื่นเต้นเร้าใจเลยละ!


Vsevolod Illarionovich Pudovkin (1893 – 1953) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Penza, Russian Empire โตขึ้นเข้าเรียนวิศวกรรม ณ Moscow University แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถูกจับกุมโดยทหารเยอรมัน ระหว่างอาศัยในค่ายกักกันมีโอกาสอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศ หลังสงครามไม่เอาแล้ววิศวกร มุ่งหน้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มต้นจากนักเขียน นักแสดง ออกแบบศิลป์ ได้เป็นลูกศิษย์/ผู้ช่วย Lev Kulehov สร้างหนังสั้น Chess Fever (1925), จากนั้นพัฒนาทฤษฎีตัดต่อ และสร้าง Mother (1926) เพื่อทดสอบแนวคิดดังกล่าว

ทฤษฎีของ Pudovkin ให้ความเห็นว่า การตัดต่อคือพลังพื้นฐานแห่งการสร้างสรรค์ ร้อยเรียงเอาภาพถ่ายไร้วิญญาณ มากระทำการทางวิศวกรรมให้เหมือนมีชีวิต ในรูปลักษณะที่เรียกว่าภาพยนตร์

“Editing is the basic creative force, by power of which the soulless photographs (the separate shots) are engineered into living, cinematographic form”.

หลังได้รับมอบหมายจาก Central Committee of the Communist Party ที่ต้องการเฉลิมฉลองครอบรอบสิบปี การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 ความตั้งใจแรกสุดของ Pudovkin สร้างเรื่องราวคลอบคลุมประวัติศาสตร์ Saint Petersburg ตั้งแต่เหตุการณ์ Bloody Sunday 1905 ไปจนถึง October Revolution 1917 แต่ดูแล้วอาจสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและระยะเวลาการสร้างอาจเสร็จไม่ทัน (หนัง October ของ Eisenstein ก็เหมือนจะเสร็จไม่ทันนะครับ ออกฉายปีถัดไป)

ร่วมงานนักเขียน Nathan Zarkhi (เคยร่วมงาน Pudovsky เรื่อง Mother) โดยให้เริ่มจากตัวละครที่เป็นตัวแทนชาวรัสเซีย ออกเดินทางจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ พานพบนายทุนสนแต่กำไร กระทำบางสิ่งอย่างผิดพลาดเลยพยายามหาหนทางแก้ไข แต่เพราะไม่รู้จะทำยังไง ใช้ความรุนแรงเข้าแลกเลยถูกจับติดคุก ส่งไปเป็นทหารร่วมสู้รบสงครามโลก และท้ายสุดกลายเป็นส่วนหนึ่งคณะปฏิวัติบุกยึด Winter Palace ล้มล้างการปกครองระบอบ Tsarist

และความที่เป็นโปรเจคเร่งด่วน กลัวว่าจะไม่เสร็จตามกำหนด Pudovkin เลยดึงเอาเพื่อนสนิทร่วมรุ่น Mikhail Doller (1889 – 1952) สัญชาติรัสเซีย เข้ามาถือเครดิตกำกับร่วม ซึ่งพวกเขาก็ได้ทำงานกันอีกหลายครั้ง อาทิ A Simple Case (1932), Victory (1938), Minin and Pozharsky (1939), Suvorov (1941)


นำแสดงโดย Ivan Pavlovich Chuvelyov (1907–1942) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที มาทดสอบหน้ากล้อง เข้าตาผู้กำกับ Pudovkin เรื่อง The End of St. Petersburg (1927) ผลงานเด่นๆ อาทิ Khuti tsuti (1928), Schastlivyye koltsa (1929), Volga – Volga (1938) ฯ

รับบท Peasant Boy หนุ่มบ้านนอกเข้ามาแสวงหาการงานทำใน Saint Petersburg แต่ช่วงจังหวะไม่ค่อยดีเพราะกำลังมีประท้วงหยุดงาน โชคชะตานำพาให้เขากระทำสิ่งผิดพลาด/ชั่วร้าย ต้องการปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่กลับถูกจับติดคุก ส่งไปเป็นทหารร่วมสู้รบสงคราม … นี่ฉันกำลังทำบ้าอะไรอยู่

ภาพลักษณ์ของ Chuvelyov ดูทึ่มๆ ทื่อๆ ยืนซื้อบื้อ ไร้เดียงสา ก็ฉันไม่รู้นี่หน่าว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน ตระหนักได้ถึงความผิดพลาดที่กลายเป็นตราบาปฝังใจ … หนังทั้งเรื่องก็มีเท่านั้น แสดงออกด้วยใบหน้าอมทุกข์ บึ้งตึง ไม่พบเห็นรอยยิ้มแย้มสักครั้งเดียว!


Aleksandr Petrovich Chistyakov (1880–1942) นักกีฬา/นักแสดงสัญชาติรัสเซีย ก่อนเข้าวงการเคยเป็นแชมป์ขว้างค้อนระดับชาติ ได้รับคัดเลือกรับบทพ่อ ในภาพยนตร์เรื่อง Mother (1926) เพราะร่างกายบึกบึน กำยำ ภาพลักษณ์แลดูน่าเกรงขาม ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ The End of St. Petersburg (1927), Salamander (1928), The Patriots (1933) ฯ

รับบท Bolshevik worker คนงานผู้กล้าลุกขึ้นต่อกรกับนายทุนที่สนแต่แสวงหากำไร เรียกร้องให้ประท้วงหยุดงาน จนต้องหลบลี้หนีเอาตัวรอด ช่วงท้ายกลายเป็นผู้เรียกร้องหาความยุติธรรม นำพาคณะปฏิวัติเข้ายึด Winter Palace เรียกร้องให้ซาร์สละราชบัลลังก์

แค่ภาพลักษณ์ของ Chistyakov ถือว่ากินขาดมากๆแล้ว แต่บทบาทเปลี่ยนไปคนขั้วกับ Mother จากพ่อที่เคยโหดโฉดชั่ว ไม่สนเรื่องคุณธรรมดีงาม กลับกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มประท้วง คณะปฏิวัติ มองมุมนี้ก็ใช่อีกนะแหละ!


Vera Vsevolodovna Baranovskaya (1885 – 1935) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Saint Petersburg, Russian Empire โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Moscow Art Theatre มีผลงานละครเวทีโด่งดังมากมาย ทั้งยังก่อตั้ง Workshop ชื่อ Mastbar ได้รับการยกย่องอย่างสูง, สำหรับภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆมีสองผลงานเด่นๆคือ Mother (1926) และ The End of St. Petersburg (1927)

รับบท His Wife ภรรยาผู้แบกรับภาระหน้าที่ที่บ้าน เลี้ยงดูแลบุตรหลานยังเล็ก ชีวิตมีเพียงทุกข์ยากลำบาก จึงจำต้องแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัวเข้าไว้ … กระทั่งช่วงท้าย เมื่อสามี/ฝ่ายปฏิวัติได้รับชัยชนะ นั่นคือครั้งแรกของการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน แม้กับชายหนุ่มที่เคยเป็นศัตรูครอบครัว

ใครเคยรับชม Mother คงคาดไม่ถึงว่า Baranovskaya ยังดูเป็นหญิงกลางคนมากกว่าแก่ชราภาพ (เพราะเรื่องนั้น แต่งแต้มใบหน้าให้ดูโรยราเกินวัย) ซึ่งเรื่องนี้แม้การแสดงไม่โดดเด่นเท่าไหร่ แต่ภาพลักษณ์ ความกร้านโลก ราวกับเคยผ่านประสบการณ์ อะไรๆมาไม่น้อย


ถ่ายภาพโดย Anatoli Golovnya (1900 – 1982) สัญชาติ Soviet ขาประจำของ Pudovkin,

จริงๆแล้วไดเรคชั่นของ Pudovkin ถือว่าแตกต่างตรงกันข้ามกับ Eisenstein ไม่ได้จำเป็นต้องมีงานสร้างอลังการใหญ่โต มุ่งเน้นใช้การถ่ายภาพ/ตัดต่อ เพื่อสะท้อนจิตวิทยาตัวละครออกมา

แต่เรื่องนี้เพราะโปรดักชั่นร่วมกัน โดยเฉพาะฉาก Winter Palace เห็นว่าถ่ายทำพร้อมๆกัน ยิงกระสุนนัดเดียวแต่ถ่ายจากสองมุม ประหยัดงบประมาณไปได้ไม่น้อ

การตัดต่อไม่มีเครดิต แต่ก็น่าจะเป็น Vsevolod Pudovkin เองนะแหละ!

ดำเนินเรื่องผ่านการผจญภัยชีวิตของ Peasant Boy แทรกมาด้วยการต่อสู้ของ Bolshevik worker สลับกับนายทุนที่สนเพียงผลประโยชน์ กอบโกยกิน

เรื่องราวสามารถแบ่งออกเป็นส่วนๆได้ดังนี้
– อารัมบท, ที่บ้านนอกชนบทไม่มีการงานทำ Peasant Boy เลยต้องมุ่งหน้าสู่ Saint Petersburg
– นายทุนซื้อหุ้นโรงงาน เรียกร้องให้มีการทำงานล่วงเวลา แต่ Bolshevik worker ไม่ยินยอม เลยเกิดการประท้วงหยุดงาน
– ประท้วงหยุดงานก็ช่าง นายทุนจึงสรรหาลูกจ้างรายใหม่ เป็นเหตุให้เกิดการปะทะ ขัดแย้ง จับกุมตัว
– การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Peasant Boy ถูกส่งไปเป็นทหาร แต่นายทุนกลับร่ำรวยเงินทอง ราคาหุ้นสูงขึ้นทุกวี่ทุกวัน (น่าจะเพราะเป็นโรงงานผลิตอาวุธ หรืออะไรสักอย่างที่ใช้ในการสงคราม จึงได้รับผลประโยชน์กำไรล้นหลาม)
– สงครามผ่านไปสามปีแต่ไม่มีอะไรดีขึ้น เมื่อท้องหิวโหย ไม่มีขนมปังซื้อขาย แต่บรรดาพวกทำงานในรัฐสภากลับอยู่สุขสบาย กองทัพ Bolshevik จึงเข้าบุกยึด Winter Palace เป็นอันสิ้นสุดฤดูหนาว/การปกครองของ Tsarist
– ปัจฉิมบท, หลังสงคราม The Wife เดินทางเข้าไปหาสามียัง Winter Palace

ช็อตแรกของหนัง เริ่มต้นคล้ายๆ Mother (1926) เป็นการถ่ายภาพท้องฟากฟ้า แต่ถ้าสังเกตดีๆครานี้พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนคล้อยตกดิน สัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงชื่อหนัง The End of St. Petersburg ยุคสมัยแห่ง Tsarist กำลังใกล้ลาลับขอบฟ้า

ช็อตถัดมาคือภาพกังหันลมที่กำลังหมุนเวียนวน สะท้อนถึงวิถีชีวิตชนบท ปัญหาเดิมๆซ้ำๆ ไม่เคยได้รับการแก้ไข แม่คลอดบุตรคนใหม่ ทำให้ครอบครัวต้องหาเลี้ยงปากท้อง จำต้องมีใครคนหนึ่ง/พี่ชายคนโต เสียสละออกจากบ้านไป มุ่งสู่เมืองใหญ่ … วัฏจักรแห่งชีวิตช่างน่าเบื่อหน่ายเหลือทน

หนึ่งในเทคนิคตัดต่อของ Pudovkin ที่พบเห็นบ่อยครั้ง คือการไล่ระยะภาพ อย่างช็อตนี้เมื่อสายลมพัด ฝุ่นตลบอบอวล ม้วนเข้าชน Peasant Boy และสุดท้ายคือ Medium Shot ยืนหยุดนิ่งเอามือปิดบังหน้า

ซึ่งจะว่าไปนัยยะของฝุ่นพัดเข้าตา แสดงถึงความเศร้าโศกที่ต้องลาจากบ้านมา … แต่มันก็แห้งแล้งเกินกว่าจะมีธารน้ำตาไหลหลั่ง

เมื่อมี Title Card แนะนำเมือง Saint Petersburg ช็อตอื่นๆสวยๆหาได้มีความน่าสนใจเท่าภาพแรกสุด ตูดม้า! นี่เป็นการเสียดสี แดกดัน ประชดประชันที่ยียวนกวนบาทาอย่างยิ่ง สะท้อนถึงระบอบ Tsarist ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรประชาชนเลย หันก้นม้า สะบัดตูดมาให้ … พบเห็นช็อตลักษณะนี้บ่อยครั้งด้วยนะ!

มีอีกชุด Montage ที่ไม่เพียงสวยงาม แต่แฝงนัยยะความหมายไว้ คือภาพสะท้อนบนพื้นผิวน้ำ ซึ่งหมายถึงสถานะเมือง Saint Petersburg ที่มีลักษณะพร่ามัว เลือนลาง ผู้นำคอรัปชั่น รัฐบาลสนเพียงกอบโกย ผลประโยชน์ส่วนตน

นายจ้างเรียกร้องให้กรรมกรเพิ่มเวลาทำงาน ถ่ายมุมเอียง ยืนด้านหน้าบนแท่น ตำแหน่งสูงกว่าใคร ยกมือขึ้นเพื่อจะควบคุม ครอบงำ สั่งการ, ตรงกันข้ามกับ Bolshevik worker ลุกยืนขึ้นท่ามกลางฝูงชน ภาพมุมเงยขึ้น ส่งเสียงเรียกร้องปฏิเสธเสียขันแข็ง!

ขณะที่ Mother (1926) บุคคลกระทำสิ่งโง่เขลาคือแม่ ซึ่งทำให้เขาหมดเรี่ยวแรงลงไปกองกับพื้น, ตรงกันข้ามกับเรื่องนี้ Peasant Boy ยืนอ้ำอึ่ง ทึ่มทื่อ ซื่อบื้อ ไร้เดียงสา … เปรียบเทียบแค่นี้ หลายๆคนน่าจะเห็นภาพแล้วว่า ความบีบคั้นทางอารมณ์เทียบกันไม่ได้เลยสักนิด!

นี่เป็นการร้อยเรียง Montage ที่เจ๋งมากๆฉากหนึ่ง เมื่อการมาถึงของสงครามโลก หนังจงใจไม่ถ่ายให้เห็นใบหน้าของคนมียศทั้งหลายเหล่านี้ คาดการณ์ว่าคือขุนนาง ราชวงศ์ และอาจรวมไปถึง Tsar Nicholas II (ประดับดาวเยอะสุดบนบ่า) ที่ได้ตัดสินใจแบบไร้สมอง(และใบหน้า) ฉันจะเข้าร่วมสู้รบในกาลนี้!

ปืนใหญ่เคลื่อนหมุน แต่แทนที่จะยังศัตรูกลับเลื่อนลงมาปกปิดมหาวิหารนักบุญไอแซค สัญลักษณ์คู่กับเมือง Saint Petersburg ถือได้ว่าการเข้าร่วมสงครามโลกดังกล่าว ไม่ต่างอะไรกับทำลายตนเอง!

การลำดับเรื่องราวที่ถือว่าโดดเด่นสุดในหนัง สลับไปมาระหว่าง
– ทหารเข้าร่วมสู้รบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรีธาทัพ ปลักอยู่ในโคลนตม สูญเสียชีวิตและอารมณ์
– ภาพในเมืองหน้าตลาดหุ้น บรรดาโบรกเกอร์/นายทุนทั้งหลาย กรูเข้าไปเร่งรีบจับจ่ายใช้สอย ขายหุ้นทำกำไร ราคาพุ่งทะยานเกินเพดาน จากนั้นในรัฐสภาปราศัย ได้รับการปรบมือ และหัวเราะอย่างคลุ้มคลั่ง

เป็นการเปรียบเทียบวิธีแสวงหาผลกำไรจากสงคราม ในความทุกข์ยากลำบากผู้อื่น กลับมีความสุขสบายของคนบางกลุ่ม

สำหรับ Sequence เข้ายึด Winter Palace เอาจริงๆแทบไม่มีรายละเอียดอะไรเท่าไหร่เลยนะ (เมื่อเทียบกับ October ที่ขยี้เนื้อหาส่วนนี้ได้ละเอียดอลังการกว่า) สังเกตว่าส่วนใหญ่ก็แค่ตัวละครเดิน-วิ่ง ยิงปะทะ เรือยิงปืนใหญ่ ปราสาทระเบิด และร้อยเรียงรูปปั้น … กล่าวคือ ไม่ได้มีช็อตปะทะกันซึ่งๆหน้า แต่ใช้การตัดต่อแบบรัวๆ เร็วๆ สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ให้ดูสับสนวุ่นวายเข้าไว้ และขึ้นข้อความ Title Card บอกว่า “St. Petersburg is no more” เป็นอันจบสิ้นทุกสิ่งอย่าง

ภาพแรกหลังจากข้อความ “St. Petersburg is no more” พบเห็นเสาโครงเหล็กที่กำลังขยับเคลื่อนหมุน สื่อความได้ถึง ประเทศรัสเซียในวันนี้ (หลังสิ้นสุดการปฏวััติ) ได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ล่มสลาย Tsarist กำลังก้าวสู่ระบอบสังคมนิยม คอมมิวนิสต์

ช็อตสุดท้ายของหนัง หลังจากข้อความชวนเชื่อ Long Live… THE CITY OF LENIN ปรากฎภายใบหน้า Bolshevik worker สะท้อนถึงอนาคตของรัสเซีย บุคคลผู้มีความสำคัญสุดคือประชาชน โดยเฉพาะกรรมกรแรงงาน จะได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมในทุกหย่อมหญ้า

The End of St. Petersburg เป็นภาพยนตร์ที่บันทึกประวัติศาสตร์ชาวรัสเซีย นำเสนอผ่านมุมมองสามัญชนคนธรรมดา พานผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ จับพลัดจับพลูเข้าร่วมสู้รบสงคราม ท้ายที่สุดคือได้รับชัยชนะจากการปลดแอกประเทศชาติ

ผู้กำกับ Pudovkin ถือว่าตอบสนองความต้องการของ Central Committee of the Communist Party สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างยิ่งใหญ่ ทรงเกียรติ โดยสอดแทรกเนื้อหาสาระชักชวนเชื่อ ให้ชาวรัสเซียเกิดความภาคภูมิใจต่อชัยชนะ กระหยิ่มยิ้มเริงร่า ในที่สุดก็ได้มาซึ่งอิสรภาพ

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ในมุมสายตาคนนอก/ประเทศโลกที่สามอย่างเราๆ The End of St. Petersburg เป็นภาพยนตร์ที่กลวงโบ๋ ไม่มีอะไรที่เป็นสาระน่าสนใจ (นอกจากเทคนิคการตัดต่อโคตรล้ำยุค สุดอลังการ!) เรื่องราวของ Peasant Boy เริ่มต้นมาเต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก จนถึงตอนจบชีวิตเขาก็ยังไม่ได้มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม หรือหลังจาก Winter Palace ถูกยึดครองโดยคณะปฏิวัติ แล้วอะไรเกิดขึ้นกับพวกขุนนาง นายทุน? … คือถ้าคุณไม่ใช่ชาวรัสเซีย หรือเคยล่วงรับรู้ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ เชื่อว่าคงเกาหัว มึนตึบ ไม่ประทับใจที่หนังทอดทิ้งหลากหลายประเด็นค้างคา!

นี่ทำให้ October (1928) แม้เป็นหนังที่ดูยากกว่า เต็มไปด้วยสิ่งสัญลักษณ์มากมาย แต่ไปๆมาๆผมกลับรู้สึกว่ายิ่งใหญ่ ทรงคุณค่า น่าจดจำเหนือกาลเวลายิ่งกว่า The End of St. Petersburg (1927) ที่ครึ่งๆกลางๆ จะเอาตัวละคร หรือภาพอลังการสงคราม คลุกเคล้าไม่ลงตัวสักเท่าไหร่

เช่นกันกับ Vsevolod Pudovkin และ Sergei Eisenstein คือก็ไม่ได้จะถือหาง Eisenstein ทั้งคู่ถือว่ามีดีเด่นของตนเอง เติมเต็มกันและกัน และอยู่คนละฝั่งฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าเปรียบเทียบคงประมาณ Howard Hawks กับ John Ford ยุคสมัยนี้คง Steven Spielberg กับ Stanley Kubrick (ฝั่งหนึ่งเก่งทำหนังตลาด vs. ขณะที่คู่แข่งเป็นอัจฉริยะแห่งวงการ)


ไม่รู้ว่าเป็น Pudovkin เองเลย หรือนักวิจารณ์ที่จัดหมวดหมู่ Revolutionary Trilogy ให้กับสามผลงานติดต่อเนื่อง
– Mother (1926)
– The End of St. Petersburg (1927)
– Storm Over Asia หรือ The Heir to Genghis Khan (1928)

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ เพราะความครึ่งๆกลางๆเมื่อเทียบกับ Mother (1926) และ October (1928) ผลลัพท์เลยไปไม่สุดสักด้าน แต่ก็หลงใหลในลีลาตัดต่อของ Vsevolod Pudovkin คลุ้มคลั่งได้ใจ [ความชื่นชอบส่วนตัวคือ Mother > October > The End of St. Petersburg]

แนะนำโดยอย่างยิ่ง นักเรียนและคนทำงานวงการภาพยนตร์ ถือเป็นอีกเรื่องบังคับในทุกๆหลักสูตร ศึกษาทฤษฎี เรียนรู้วิธีนำไปปรับประยุกต์ใช้, นักรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ สนใจประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียต ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ ต่อภาพความรุนแรง สงคราม คอรัปชั่น

คำโปรย | Vsevolod Pudovkin พยายามคัดลอกสูตรสำเร็จเดิมให้กับ Konets Sankt-Peterburga แต่คลุกเคล้าไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไหร่
คุณภาพ | อลังการ-แต่ไม่ตราตรึงเท่าไหร่
ส่วนตัว | ไม่ชอบเท่าไหร่

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: