Kramer vs Kramer

Kramer vs. Kramer (1979) hollywood : Robert Benton ♥♥♥

ภาพยนตร์ชวนเชื่อสิทธิบุรุษ (Men’s Rights Propaganda) นั่นเพราะมารดา Meryl Streep ตัดสินใจทอดทิ้งบุตรชายให้กับบิดา Dustin Hoffman ผ่านไปปีกว่าๆหวนกลับมายื่นฟ้องขอสิทธิ์ในการเลี้ยงดู แล้วศาลตัดสินให้ได้รับชัยชนะ อิหยังวะ? คว้ารางวัล Oscar จำนวน 5 สาขา พร้อมภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี!

Kramer vs. Kramer (1979) เป็นภาพยนตร์ที่ครองใจผู้ชมทั่วโลกในปีที่ออกฉาย! ทำเงินถล่มทลาย หลายคนดูจบแล้วหลั่งน้ำตาร่ำไห้ เกิดข้อถกเถียงถึงความถูกต้องชอบธรรมของกฎหมาย สิทธิบุรุษในการเลี้ยงดูแลบุตร แต่เรื่องราวของหนังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในยุคสมัยนั้นเลยสักนิด!

It’s too bad that the legal profession was portrayed as 50 years behind the times … In so many ways the court process was portrayed as unfeeling, unrealistic and incomplete.

Felice K. Shea ผู้พิพากษาศาลฏีกาประจำกรุง New York

ปัญหาใหญ่ของ Kramer vs. Kramer (1979) คือการเลือกข้าง มุ่งเน้นนำเสนอแต่มุมมองบิดาและบุตรชาย หลังถูกภรรยา/มารดาทอดทิ้ง พวกเขาต้องเรียนรู้จักปรับตัว หาหนทางเอาตัวรอดไปด้วยกัน นั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ ยินยอมรับในความเป็นบิดา (Fatherhood) แล้วจู่ๆเมื่อมารดาหวนกลับมาฟ้องร้องขอสิทธิ์ในการเลี้ยงดู ใครกันจะยินยอมรับเพียงเพราะข้ออ้างความเป็นมารดา (Motherhood)

สิ่งที่ทำให้ผมสามารถอดรนทนรับชม Kramer vs. Kramer (1979) คือภาพถ่ายสวยๆของ Néstor Almendros คลอประกอบเพลงคลาสสิกจากคีตกวี Vivaldi & Purcell และการแสดงเด็กชาย Justin Henry มีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่าประทับใจกว่าพ่อแม่ที่เป็นพิษ (Toxic Parent) … จริงๆการแสดงของทั้ง Dustin Hoffman และ Meryl Streep ถือว่าระดับ Masterclass แต่มลพิษของตัวละคร มันเลยดูไม่ค่อยน่าอภิรมณ์เริงใจสักเท่าไหร่


Robert Douglas Benton (เกิดปี 1932) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Waxahachie, Texas โตขึ้นเข้าศึกษา University of Texas ตามด้วย Columbia University จบออกมาร่วมกับ Harvey Schmidt เขียนหนังสือ The IN and OUT Book (1959), จากนั้นทำงานแผนกศิลป์ (Art Director) นิตยสาร Esquire, มีโอกาสรับรู้จัก David Newman ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์ Bonnie and Clyde (1967), What’s Up, Doc? (1972), Superman (1978), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Bad Company (1972), The Late Show (1977) ฯ

โปรดิวเซอร์ Stanley R. Jaffe เป็นผู้แนะนำ Benton ให้รู้จักหนังสือ Kramer Versus Kramer (1977) แต่งโดย Avery Corman (เกิดปี 1935) อ่านแล้วเกิดความชื่นชอบประทับใจ ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์ทันที!

เกร็ด: หลายคน(รวมถึงผมเอง)ครุ่นคิดว่า Kramer Versus Kramer น่าจะอ้างอิงจากคดีความที่เคยบังเกิดขึ้นจริง แต่ไม่เลยนะครับ เรื่องราวทั้งหมดเกิดจากการแต่งขึ้นของ Avery Corman ไม่รู้ได้แรงบันดาลใจจากไหน เพราะเจ้าตัวไม่เคยหย่าร้างด้วยซ้ำ!

ในตอนแรก Benton ไม่ได้ครุ่นคิดจะกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตนเอง ทำการพูดคุยชักชวน François Truffaut แต่อีกฝ่ายงานยุ่งมากๆ อีกทั้งไม่มีความสนใจโปรเจคอื่น(ที่ไม่ใช่ของตนเอง) ขณะเดียวกันยังให้คำแนะนำ Benton ทำไมไม่กำกับด้วยตนเองเสียเลยละ?

แม้ว่าหนังสือของ Corman จะได้รับคำชื่นชมอย่างมากๆในส่วนของบทพูด มีความเฉลียวฉลาด คมคาย แต่ฉบับภาพยนตร์ผกก. Benton เลือกให้อิสระกับนักแสดงในการดั้นสด ‘improvised’ สาเหตุเพราะ…

  • Dustin Hoffman มาจากฟากฝั่ง ‘method acting’ พร้อมสวมวิญญาณ ปรับเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับบทบาทการแสดง
  • Meryl Streep ไม่ค่อยพึงพอใจกับบทบาทของตนเอง ซีเควนซ์ขึ้นให้การบนศาลเลยขอปรับแก้ไขบทพูดใหม่หมด
  • และเด็กชาย Justin Henry จะไปบังคับให้ท่องจำบทคงไม่ได้ เพียงพูดคุยอธิบาย และให้อิสระในการทำสิ่งต่างๆ

Ted Kramer (รับบทโดย Dustin Hoffman) เป็นคนบ้าทำงาน ไต่เต้าจนได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทโฆษณา ณ New York City แต่แล้ววันหนึ่งเดินทางกลับมาถึงอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นภรรยา Joanna (รับบทโดย Meryl Streep) เก็บเสื้อผ้า สิ่งข้าวของ พูดบอกต้องการเลิกราหย่าร้าง ทอดทิ้งให้เขาอาศัยอยู่กับบุตรชาย Billy (รับบทโดย Justin Henry)

สองพ่อลูกจึงจำต้องเรียนรู้ ปรับตัว ทั้งชีวิตครอบครัวและการทำงาน แต่มันเป็นไปได้ยากที่ทั้งสองอย่างจะประสบความสำเร็จด้วยกัน แล้วจู่ๆวันหนึ่ง Joanna หวนกลับมาหา ต้องการเรียกร้องสิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตรชาย พอดิบพอดี Ted เพิ่งถูกไล่ออกจากงาน เขาจึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้สูญเสียบุตรชายสุดที่รัก


Dustin Lee Hoffman (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California, ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนเด็กตั้งใจเป็นนักเปียโน แต่ภายหลังเข้าเรียนการแสดงแล้วรู้สึกว่าง่ายกว่ามากเลยหันมาเอาดีด้านนี้ เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทีประกบกับ Gene Hackman ต่อมามุ่งสู่ New York พักอาศัยอยู่ห้องเดียวกับ Robert Duvall, หลังจากมีผลงาน Off-Broadway เข้าเรียน Actors Studio กลายเป็นนักแสดง Method Acting, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Tiger Makes Out (1967), ได้รับการจดจำจาก The Graduate (1966), Midnight Cowboy (1969), All the President’s Men (1976), Tootsie (1982), คว้ารางวัล Oscar: Best Actor สองครั้งเรื่อง Kramer vs. Kramer (1979) และ Rain Man (1988)

รับบท Ted Kramer วันๆเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการทำงาน (Workaholic) ไต่เต้าจนกำลังจะได้เป็นผู้บริหาร ทำให้ไม่หลงเหลือเวลาว่างให้กับครอบครัว สร้างความเหน็ดเหนื่อย เอือมระอาให้กับภรรยา Joanna ไม่สามารถอดรนทนต่อพฤติกรรมเห็นแก่ตัว ปิดกั้น ปฏิเสธรับฟังความต้องการของตนเอง ค่ำคืนหนึ่งหลังส่งลูกเข้านอน ตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายออกจากบ้าน ทอดทิ้งเขาและบุตรชายให้เอาตัวรอดเพียงลำพัง

หลังถูกภรรยาทอดทิ้ง เขาจึงจำต้องปรับตัวเข้ากับงานบ้านงานเรือน ให้เวลาเลี้ยงดูแลบุตรชาย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำสองสิ่งอย่างไปพร้อมๆกัน เป็นเหตุให้อาชีพการงานเริ่มถดถอย นายจ้างก็เริ่มไม่ค่อยพึงพอใจ เลยถูกไล่ออกก่อนวันหยุดยาวสิ้นปี พอดิบพอดี(อดีต)ภรรยาหวนกลับมายื่นฟ้องเรียกร้องสิทธิ์การเลี้ยงดูบุตร ทำให้เขาต้องลดละทิฐิ เร่งรีบหางาน ไม่เกี่ยงเงินเดือน เพื่อโอกาสการต่อสู้คดีความบนชั้นศาล

แม้ว่า Hoffman จะคือตัวเลือกแรกของผู้สร้าง แต่ขณะนั้นเจ้าตัวรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายต่อวงการภาพยนตร์ ครุ่นคิดอยากหวนกลับไปแสดงละคอนเวที เลยไม่มีความกระตือรือล้นที่จะตอบตกลง, หลังจากนั้นก็มีการยืนบทให้กับ James Caan, Al Pacino, Jon Voight ฯ ก่อนสุดท้ายผกก. Benton และโปรดิวเซอร์ Jaffe บังเอิญพบเจอ Hoffman ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ Agatha (1979) ณ กรุง London พูดคุยอะไรยังไงกันไม่รู้ คราวนี้ถึงเปลี่ยนใจตอบตกลง

อาจเพราะขณะนั้น Hoffman ใกล้จะหย่าร้างกับภรรยา Anne Byrne (เซ็นใบหย่าปี ค.ศ. 1980) เลยนำความรู้สึกของตนเองใส่ลงในตัวละคร แล้วทำการสร้างบุคลิกภาพชายผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองอย่างแรงกล้า เย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง อ้างอวดเก่ง ครุ่นคิดว่าฉันสามารถทำอะไรๆได้ทุกสิ่งอย่าง เอาจริงๆเขาก็สามารถทำได้ แต่ประสิทธิภาพ/ผลสำเร็จของงานจะลดน้อยลง ถึงอย่างนั้นนั่นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่เคยรับรู้(ข้อบกพร่อง/ความผิดพลาดของ)ตนเองจนเมื่อภรรยาทอดทิ้ง ถูกไล่ออก และพ่ายแพ้คดีความ … ต้องใช้ความสุดโต่งเท่านั้นถึงทำให้ตัวละครเผชิญหน้ากับความจริง ยินยอมรับความผิดพลาด

ไม่ใช่แค่ความสุดโต่งของตัวละคร ยังวิธีการที่ Hoffman พัฒนาขึ้นโดยใช้ข้ออ้าง ‘method acting’ ด้วยความที่ Ted ไม่ถูกกับ Joanna (เพราะอีกฝ่ายทอดทิ้งเขาไป) บ่อยครั้งใช้คำพูดดูถูกเหยียดยาม Streep กล่าวชื่ออดีตคู่หมั้นที่เพิ่งเสียชีวิต John Cazale กระแหนะกระแหน ลวนลาม ตบจริง นั่นทำให้เธอรู้สึกไม่พึงพอใจอย่างมากๆ

เกร็ด: ครั้งเลวร้ายสุดก็คือ Hoffman ทำการเขวี้ยงแก้วไวน์ในร้านอาหารโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า (กระซิบบอกแค่ตากล้อง) นั่นสร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรงต่อ Streep ทำให้พวกเขามองหน้ากันไม่ติดอีกต่อไป!

This was my first film, and it was my first take in my first film, and he just slapped me. And you see it in the film. It was overstepping.

Meryl Streep

บทบาทนี้สำหรับ Hoffman ทำให้เขาค้นพบความชื่นชอบการแสดงภาพยนตร์ขึ้นอีกครั้ง ได้ทำการทดลองอะไรใหม่ๆ และสำคัญที่สุดคือการรับบทเป็นพ่อ ทำให้ชีวิตจริงสามารถเข้าใจ ‘ความเป็นบิดา’ เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน


Mary Louise ‘Meryl’ Streep (เกิดปี 1949) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Summit, New Jersey บิดามีเชื้อสาย German & Swiss ตอนเด็กเป็นเชียร์ลีดเดอร์ แสดงละครเวทีโรงเรียน แต่ไม่คิดจริงจังจนกระทั่งนำแสดง Miss Julie สร้างความตกตะลึงสมจริงให้กับทุกคน เลยตัดสินใจเข้าเรียนต่อ Yale School of Drama จบออกมาเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที Broadway จนประสบความสำเร็จคว้ารางวัล Tony Award: Best Actress แล้วผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์เพราะความประทับใจ Robert De Niro เรื่อง Taxi Driver (1976), ผลงานเรื่องแรก Julia (1977), โด่งดังพลุแตกกับ The Deer Hunter (1978) [ได้ร่วมงานกับ Idol ของตนเอง], ปีเดียวกันแสดง mini-Series เรื่อง Holocaust (1978), Manhattan (1979), Kramer vs. Kramer (1979), Sophie’s Choice (1982), Out of Africa (1985), Adaptation (2002), The Hours (2002), The Devil Wears Prada (2006), Mamma Mia! (2008), The Iron Lady (2011) ฯ

รับบท Joanna Kramer หญิงสาวผู้มีความเบื่อหน่าย เอือมระอาต่อพฤติกรรมสามี ที่ไม่เคยรับฟัง แสดงความสนอกสนใจ ปล่อยให้ตนเองเอาแต่ทำงานบ้าน เลี้ยงดูแลบุตรชายตามลำพัง ชีวิตตกอยู่ในความสิ้นหวัง โหยหาอิสรภาพ ก่อนตัดสินใจหนีออกจากบ้านหลัง ถึงอย่างนั้นสันชาติญาณเพศแม่ เลยยังคงห่วงโหยหา ต้องการหวนกลับคืนมา พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสิทธิ์ในการเลี้ยงดูแลบุตรในไส้

มีนักแสดงหญิงมากมายได้รับการติดต่อทาบทาม อาทิ Kate Jackson, Faye Dunaway, Jane Fonda, Ali MacGraw, ขณะที่ Meryl Strrp ในตอนแรกได้รับบท Phyllis แต่สามารถทำการโน้มน้าวทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และโดยเฉพาะ Hoffman เมื่อได้พบเห็นการอ่านบทของเธอ “That’s Joanna!”

เกร็ด: ระหว่าง 12 วันถ่ายทำ Streep กำลังตั้งครรภ์ท้องแก่ แต่เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันสังเกต เพราะมุมกล้องจงใจไม่ถ่ายให้เห็นชัดๆ และฉากสุดท้ายตัวละครสวมใส่ชุดกันฝน ปกปิดบังครรภ์ได้อย่างแนบเนียน

Streep ให้คำนิยามตัวละครของตนเองว่า “an ogre, a princess, an ass” ทั้งบทหนังและต้นฉบับนวนิยายไม่ได้มีความน่าเห็นใจเลยสักนิด! หนำซ้ำดูเหมือนคนวิกลจริต (neurotic) ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามเรียกร้องขอแก้ไขบทพูด โดยเฉพาะคำให้การบนชั้นศาล เพื่อทำให้ Joanna มีความสลับซับซ้อน ไม่ใช่แค่ทอดทิ้งสามีและบุตร แต่เหมือนมีบางสิ่งอย่างทำให้ผู้ชมเกิดความสงสารเห็นใจ

สาเหตุผลที่ Streep มองตัวละครในลักษณะนั้น เพราะเธอเพิ่งสูญเสียคู่หมั้น John Cazale เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า มันจึงมีความเจ็บปวด เปราะบาง คราบน้ำตาไม่ใช่เพราะครุ่นคิดถึงบุตร แต่คือชายคนรักที่ลาจากโลกนี้ไปเสียมากกว่า นั่นทำให้การแสดงมีความทรงพลัง บีบเค้นคั้น แทบมิอาจกลั้นหลั่งธารน้ำตา

แซว: ระหว่างงานเลี้ยง Governor’s Ball ภายหลังการประกาศรางวัล Oscar ท่าทาง Meryl Streep คงดื่มหนักจนหลงลืมรางวัลของตนเองทิ้งไว้ในห้องน้ำ โชคยังดีมีคนพบเจอแล้วส่งคืนให้ก่อนเดินทางกลับ


Justin Henry (เกิดปี 1971) เกิดที่ Rye, New York บุตรของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะอายุ 7 ขวบ ได้รับการชักชวนจากเพื่อนบ้านที่เป็นนักคัดเลือกนักแสดง (Casing Director) ให้มาทดสอบหน้ากล้องภาพยนตร์ Kramer vs. Kramer (1979) จากเด็กชายพันกว่าคนหลงเหลือเพียงสองคน ผกก. Benton ตัดสินใจเลือก Henry เพราะหน้าตาละม้ายคล้าย Meryl Streep

รับบท Billy Kramer เด็กชายยังไม่รู้เดียงสา แม้จะโหยหามารดา แต่ไม่เคยพบเห็นงอแง ร่ำร้องไห้เมื่ออยู่กับบิดา นอกจากครั้งที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ ไม่นานก็สามารถปรับตัว มักคุ้นชินกับการใช้ชีวิต สุดท้ายตัดสินใจไม่ได้ว่าอยากอยู่กับใครมากกว่า

ด้วยความที่ Henry ยังเด็กอยู่มาก เลยไม่ค่อยรับรู้ประสีประสาการแสดง ซึ่ง Hoffman ต้องใช้เวลาพูดคุย สานสัมพันธ์ อธิบายสิ่งต่างๆจนกว่าจะเข้าใจ ส่วนใหญ่จึงให้อิสระในการแสดง อย่างฉากรับประทานไอศกรีม ไม่มีในบท เล่นสดๆ ‘improvised’ ได้อย่างน่าประทับใจ

แซว: Hoffman เคยสอบถาม Henry ถ้าต้องเลือกระหว่างตนเองกับ Streep อยากอาศัยอยู่กับใคร? เด็กชายตอบว่า “Her. She’s nicer” นั่นทำให้ Hoffman โต้กลับ “Oh yeah? Work with her five weeks then see what you say.”

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ Henry เคยรับงานแสดงอยู่บ้างประปราย, สำเร็จการศึกษาจิตวิทยา Skidmore College, ระหว่างปี 1998-2003 ร่วมก่อตั้ง Slamdunk Film Festival จัดขึ้นที่ Park City, Utah (ถือเป็น Counter-Festival ของ Sundance Film Festival), ปัจจุบันทำงานสื่อดิจิตอล (Digital Media) ให้บริษัทแห่งหนึ่งใน Los Angeles


ถ่ายภาพโดย Néstor Almendros Cuyás (1930-92) ตากล้องสัญชาติ Spanish เกิดที่ Barcelona แล้วหลบลี้หนีภัย (จากจอมพล Francisco Franco) มาอาศัยอยู่ประเทศ Cuba จากนั้นไปร่ำเรียนการถ่ายภาพยังกรุงโรม Centro Sperimentale di Cinematografia, หวนกลับมาถ่ายทำสารคดี Cuba Revolution (1959) พอถูกแบนห้ามฉายก็มุ่งสู่ Paris กลายเป็นขาประจำผู้กำกับรุ่น French New Wave ร่วมงานขาประจำ Éric Rohmer และ François Truffaut ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Days of Heaven (1978) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, Kramer vs. Kramer (1979), The Blue Lagoon (1980), Sophie’s Choice (1982) ฯ

แซว: เหตุผลที่ Almendros ตอบตกลงรับงานภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะครุ่นคิดว่าจะได้ร่วมงานผกก. Truffaut แต่อีกฝ่ายดันถอนตัวออกไป จะบอกปัดปฏิเสธก็สายเกินแก้ไข

Almendros เลื่องชื่อในฐานะ ‘master of light’ แต่ส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำภายในอพาร์ทเม้นท์ สำนักงาน และบนชั้นศาล ถึงอย่างนั้นเมื่อตัวละครออกสู่โลกภายนอก สวนสาธารณะ พบเห็นฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน (ถ่ายทำระหว่างกันยายน-ธันวาคม ค.ศ. 1978 คาบเกี่ยวฤดูใบไม้ร่วง และหิมะตก) มันช่างมีความงดงาม (ด้วยแสงธรรมชาติ) จัดองค์ประกอบได้อย่างเพลิดเพลินสายตา

หนังถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด ปักหลักอยู่ยัง Manhattan และ New York City อาทิ สวนสาธารณะ Central Park, James Michael Levin Playground, โรงพยาบาล Lenox Hill Hospital, โรงเรียน The Lillie Devereaux Blake School, สถานที่ทำงานของ Ted อยู่ในอาคาร Fred F. French Building, คาเฟ่นัดพบเจอ Joanna ยัง J.G. Melon Restaurant, ฉากในศาล Federal Hall, Tweed Courthose ฯ


ภาพช็อตแรกของหนังถ่าย Close-Up ใบหน้า Joanna ขณะกำลังกล่อมลูกเข้านอน สังเกตว่าพื้นหลังปกคลุมด้วยความมืดมิด นั่นสามารถสะท้อนสภาพจิตใจของเธอ มีความมืดหม่น อับจน ไร้หนทางออก หลังจากบุตรชายนอนหลับ ก็ออกไปแพ็กเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เตรียมตัวออกเดินทาง หนีไปจากอพาร์ทเม้นท์หลังนี้

คุณภาพหนังฉบับที่ผมรับชมไม่ได้คมชัดมากนัก (ใครสามารถหาดูฉบับ 4K ลองไปสังเกตดูนะครับ) Streep เคยให้สัมภาษณ์ว่าฉากในลิฟท์ ใบหน้าที่แดงกล่ำ ร่ำไห้ เพราะเพิ่งถูก Hoffman ตบจริงแบบไม่ทันตั้งตัว แถมยังกระซิบกระซาบอะไรสักอย่างถึงอดีตคู่หมั้น John Cazale เพื่อให้เธอแสดงอารมณ์อัดอั้น โกรธเกลียดเคียดแค้น ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ผลลัพท์ออกมาตราตรึง ทรงพลัง แต่มันค่อนข้างล้ำเส้น ถ่ายทำเสร็จเธอก็น่านิ่วคิ้วขมวดออกจากกองถ่าย

โดยปกติแล้วถ้าฝ่ายชายไม่อยากเลิกราจริงๆ ก็ควรจะหยุดยับยั้งประตูลิพท์ พูดคุยให้จนกว่าจะรับรู้เรื่อง แต่นี่เขากลับปล่อยให้มันปิดเลย ไม่เคยยืดยื้อประการใด เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของจุดจบ ตัดขาดความสัมพันธ์ … สองคนนี้รักกันจริงหรือเปล่าเนี่ย?

เช้าวันถัดมาหลังจาก Joanna ทอดทิ้งออกจากบ้าน ภาพยามเช้าช็อตแรกแม้งก็จงใจเหลือเกิน ถ่ายภายนอกอพาร์ทเม้นท์ พบเห็นรถเก็บขยะ เพื่อสื่อถึงความชิบหายวายป่วนของครอบครัว Kramer กำลังจะเริ่มต้นขึ้น!

ความ ‘fuck up’ แรกของพ่อลูก Kramer คือมื้ออาหารเช้า กิจวัตรพื้นฐานในชีวิตประจำวัน โดยปกติแล้วจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของภรรยา/มารดา แต่เมื่อเธอทอดทิ้งจากไป พวกเขาจึงจำต้องเรียนรู้ ปรับตัว หาหนทางเอาตัว ทดลองผิดลองถูก ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด

ช่วงกลางๆเรื่องเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน สองพ่อ-ลูกก็สามารถปรับตัวเข้ากับมื้ออาหารเช้า รับรู้หน้าที่ กิจวัตรของตนเองว่าควรทำอะไร หยิบจานหยิบช้อน เทนมใส่แก้ว ต่างฝ่ายต่างสามารถดูแลกันและกัน ไม่วุ่นๆวายๆเหมือนวันแรกนั้น … จริงๆมันยังมีอีกครั้งสุดท้าย แต่เดี๋ยวไว้ค่อยพูดถึง

โปสเตอร์ด้านหลังคือหนังเพลง You Can’t Have Everything (1937) นำแสดงโดย Alice Faye และ Don Ameche, แต่สิ่งที่ต้องการสื่อถึงน่าจะคือ “You Can’t Have Everything.” พูดบอกกับ Ted Kramer ว่าไม่มีที่เขาจะสามารถทำทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง อาชีพการงาน รวมถึครอบครัวทางบ้าน

การได้พบเห็นบุตรชายปั่นจักรยานสำเร็จครั้งแรก มันคือความสุขเล็กๆของคนเป็นพ่อ(และแม่) ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ เชื่อมโยงผูกพัน ซึ่งผมมองว่าซีนนี้ยังเป็นสัญลักษณ์การเติบโตของบิดาด้วยเช่นกัน คอยผลักดันอยู่เบื้องหลัง จนเมื่อลูกสามารถปั่นจักรยานสำเร็จ เขาจึงก้าวถอยไปยืนข้างๆ มองดูอย่างภาคภูมิใจ เริ่มต้นเข้าใจความหมายของชีวิต!

บ่อยครั้งที่ Joanna อ้างว่าแอบมายืนมองบุตรชายเข้าโรงเรียน ณ ร้านกาแฟฟากฝั่งข้ามถนน สิ่งน่าสนใจของช็อตนี้ไม่ใช่ปฏิกิริยาสีหน้าของ Meryl Streep คือภาพวาด Picasso ที่แขวนอยู่ข้างๆ ผมดูไม่ออกว่ารูปอะไร แต่แอบรู้สึกว่ามันสามารถสะท้อนความบิดเบี้ยวที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครได้ตรงๆเลยละ!

เหตุผลที่เด็กชาย Billy ชื่นชอบเล่นเครื่องบิน (จนพลัดตกลงมาจากอุปกรณ์ปีนป่ายในสนามเด็กเล่น) อาจเพราะเขาโหยหาอิสรภาพ ต้องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จักสามารถทำอะไรตามใจ ไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่กับบิดา (หรือมารดา) พึ่งพาตนเองได้เสียที … แต่เพราะเขายังเล็กนัก จึงพลัดตกล่นจากความฝัน

นี่เป็นมุมกล้องที่ชาญฉลาดอย่างมากๆ เชื่อว่าหลายคนคงจับจ้องมองแต่ Joanna ระหว่างนั่งรอคอยอดีตสามี แต่ถ้าใครสังเกตกระจกข้างๆ จะพบเห็นขณะที่ Ted กำลังเดินเข้ามาในร้าน มองซ้ายมองขวา แล้วตรงเข้ามานั่งข้างๆ

ลองสังเกตปฏิกิริยาของ Streep เมื่อครั้ง Hoffman ปัดแก้วไวน์แตก สะดุ้ง ตกใจกลัว ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง แต่เพราะผู้กำกับยังไม่สั่งคัท จึงยกมือขึ้นมาปิดปาก อดกลั้น แสดงถึงความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง! หลังถ่ายเสร็จพูดบอกกับอีกฝ่าย “Next time you do that, I’d appreciate you letting me know.”

เมื่อตอนที่ Ted ได้รับชักชวนจากหัวหน้า มารับประทานอาหารกลางวัน รับฟังคำพูดหว่านล้อม แท้จริงแล้วต้องการบอกว่าอีกฝ่ายถูกไล่ออกจากงาน ผมรู้สึกว่าต้องการล้อกับซีเควนซ์ที่เพิ่งอธิบายไป Ted พบเจอ(อดีตภรรยา) Joanna แล้วปฏิเสธอีกฝ่ายไม่ให้ได้รับสิทธิ์เลี้ยงดูแลบุตร … ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในร้านอาหาร Ted เกิดความไม่พึงพอใจจนต้องลุกขึ้นสะบัดตูดหนี แตกต่างคือทิศทางมุมกล้องถ่ายเข้ามาภายใน vs. หันออกนอก (ต่างมีกระจกเหมือนกันด้วยนะ)

หลังจากถูกไล่ออกจากงาน ค่ำคืนนี้พบเห็น Ted กำลังนั่งทำพวงมาลัย ด้วยการใช้กระดาษม้วนเป็นข้อๆติดต่อเนื่องกัน ลักษณะของมันดูเหมือนลำดับขั้นชีวิต สิ้นสุดวันหนึ่ง เริ่มต้นวันถัดไป หรือคือเขาที่ถูกไล่ออกจากงาน ก็แค่ต้องเตรียมมองหางานทำใหม่

เอาจริงๆผมไม่ชอบความเย่อหยิ่ง อวดดีของ Ted ระหว่างไล่ล่าหางานนี้สักเท่าไหร่ (คนพฤติกรรมแบบนี้ ผมละสาปส่งให้หางานทำไม่ได้) เพราะพยายามไปบีบบังคับ ควบคุมครอบงำนายจ้าง ถ้าคุณไม่ตอบตกลงวันนี้ก็แห้วรับประทาน บางองค์กรอาจต้องการคนเก่ง แต่คนเอาแต่ใจ หลงตัวตนเองขนาดนี้ แน่ใจหรือว่าจะสามารถควบคุมได้

ท่ามกลางงานเลี้ยงปาร์ตี้ที่ใครต่อใครกำลังสังสรรค์เฮฮา Ted นั่งลุ้นอย่างหน้าดำคร่ำเครียด จะได้รับการว่าจ้างงานหรือไม่ บรรยากาศซีเควนซ์นี้ทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจตัวละคร แต่เอาจริงๆมันกลับทำให้หมอนี่มีความเย่อหยิ่ง ทะนงตัว หลงตัวเองยิ่งขึ้นกว่าเก่า

หลังสิ้นสุดการพิจารณาคดีความ Joanna เหมือนจงใจดักรอ Ted อยู่บริเวณทางลงลิฟท์ พยายามพูดขอโทษ ไม่ได้ตั้งใจ แต่ปฏิกิริยาสีหน้าของเขากลับดูหน้าดำคร่ำเครียด ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ช่างไม่แตกต่างจากตอนต้นเรื่องในทิศทางกลับตารปัตร

หลายวันถัดมาระหว่าง Ted เดินทางไปหาทนายความ สภาพอากาศหิมะตกหนัก นี่เป็นการบอกใบ้ผลการตัดสินคดีความ ที่จักทำให้จิตใจของเขาหนาวเหน็บ ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง … เพราะพ่ายแพ้คดีความ

เมื่อตอนที่บิดาพูดบอกกับบุตรชาย ว่าจำเป็นต้องส่งเขาไปอาศัยอยู่กับมารดา สังเกตว่าพวกเขาต่างสวมใส่เสื้อกันหนาว แต่สถานที่พื้นหลังกลับดูเหมือนช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เพราะพื้นเต็มไปด้วยใบไม้สีน้ำตาลแห้งเหี่ยวร่วงหล่น) ผมเลยไม่รู้จะตีความฉากนี้ยังไงดี เพราะโดยปกติแล้วฤดูใบไม้ร่วงคือช่วงเวลาแห่งการจากลา แต่เวลาจริงๆในหนังมันควรเป็นหลังปีใหม่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิไม่ใช่หรือ??

ครั้งสุดท้ายที่พ่อ-ลูกเข้าครัว ทำอาหารเช้า แต่คราวนี้ไม่วุ่นๆวายๆ ชิบหายวายป่วนเหมือนเก่า เพราะพวกเขาต่างมีประสบการณ์ เรียนรู้จักวิธีการ จึงสามารถช่วยเหลือ เติมเต็ม เข้าใจกันและกัน ซีเควนซ์นี้จึงมีบรรยากาศเศร้าๆ เวิ้งว่างเปล่า เพราะนี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายจักได้อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน

ฉากสุดท้ายของหนังหวนกลับมาที่ลิฟท์อีกแล้ว! คล้ายๆตอนต้นเรื่องที่ Joanna เข้าไปในลิฟท์ แต่คราวนี้เป็นจากขาลง (หนีออกจากบ้าน) มาเป็นขาขึ้น (กลับมาเยี่ยมเยียน) เช่นเดียวกับปฏิกิริยาของ Ted จากเคยไม่รับรู้อะไร มาคราวนี้เข้าใจทุกสรรพสิ่งอย่าง

ตัดต่อโดย Gerald B. Greenberg (1936-2017) สัญชาติอเมริกัน สมัยเด็กอยากเป็นนักดนตรี ชื่นชอบตัดต่อเพลง บันทึกเสียง (Sound Edited) ไปๆมาๆได้งานเป็นผู้ช่วย Dede Allen ตัดต่อภาพยนตร์ American American (1963), แล้วแจ้งเกิดกับ Bonnie and Clyde (1967), ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971)**คว้ารางวัล Oscar: Best Edited, Apocalypse Now (1979), Kramer vs. Kramer (1979), Heaven’s Gate (1980), Dressed to Kill (1980), Scarface (1983), The Untouchables (1987), American History X (1998) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองบิดา Ted Kramer หลังจากถูกภรรยา Joanna ทอดทิ้ง หนีออกจากบ้าน จำเป็นต้องปรับตัวให้เวลากับบุตรชายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออาชีพการทำงาน จนสร้างความไม่พึงพอใจให้กับนายจ้าง เหตุการณ์วุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อภรรยาหวนกลับมาเรียกร้องขอสิทธิ์ในการเลี้ยงดู พอดิบพอดีถูกไล่ออกจากงาน เขาจะสามารถพานผ่านช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้หรือไม่

  • การจากไปของภรรยา Joanna
    • หลังจากส่งบุตรชายเข้านอน Joanna เก็บข้าวของเตรียมออกจากบ้าน
    • หลังเลิกงาน Ted ไปดื่มกินกับเจ้านาย กำลังจะได้รับโอกาสก้าวหน้าครั้งสำคัญ
    • แต่พอกลับมาบ้านพบเห็นการจากไปของเธอ ทำให้สร่างเมาโดยพลัน
    • เช้าวันถัดมาทำอาหารกับบุตรชาย อะไรๆล้วนผิดพลาดไปเสียหมด
  • ช่วงเวลาปรับตัวของ Ted และบุตรชาย
    • Ted ต้องค่อยปรับตัว ให้เวลาครอบครัว ไปรับไปส่งบุตรชาย หลงเหลือเวลางานลดน้อยลง ไม่สามารถสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน
    • ครั้งหนึ่งชักชวนเพื่อนร่วมงานหญิงมาหลับนอนที่บ้าน แต่ดูแล้วเธอคนนั้นคงไม่หวนกลับมาอีก (One Night Stand)
    • ครั้งหนึ่งบุตรชายประสบอุบัติเหตุ พลัดตกจากเครื่องเล่น รีบพาไปรักษายังโรงพยาบาล
  • การหวนกลับมาของ Joanna
    • ผ่านไป 15 เดือน Joanna หวนกลับมาพบเจอ Ted ต้องการพบเจอบุตรชาย
    • จากนั้นเธอพยายามต่อรอง เรียกร้องสิทธิ์ในการดูแล สร้างความไม่พึงพอใจให้เขาอย่างรุนแรง
    • หลังได้กำหนดการพิจารณาคดี พอดิบพอดี Ted ถูกไล่ออกจากงาน
    • เขาจึงจำเป็นต้องเร่งรีบหางานทำภายในหนึ่งวัน เพื่อไม่ให้สูญเสียรูปคดี
  • การพิจารณาคดีความ
    • เริ่มต้นด้วยการให้การของ Joanna
    • ตามด้วยพยานฟากฝั่ง Ted
    • และคำให้การของ Ted
  • ผลการพิจารณาคดีความ
    • Joanna เป็นฝ่ายชนะคดีความ ทำให้ Ted ต้องเตรียมร่ำลาบุตรชาย
    • Ted และบุตรชายทำอาหารร่วมกันมื้อสุดท้าย
    • แต่พอถึงวันส่งมอบ Joanna กลับยินยอมรับความพ่ายแพ้

เรื่องราวของหนังมีการกระโดดไปข้างหน้า ‘Time Skip’ อยู่บ่อยครั้ง แต่ผู้ชมแทบจะไม่รับรู้สึกถึงกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ทำได้เพียงสังเกตบริบทรอบข้าง ฤดูกาลผันแปรเปลี่ยน ซึ่งยังมีความสอดคล้องกับเรื่องราวขณะนั้นๆ ในส่วนนี้ต้องชมว่าทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม สมควรค่าแก่การได้เข้าชิง Oscar: Best Edited


ในส่วนของเพลงประกอบ การเลือกใช้บทเพลงของ Antonio Vivaldi (1678-1741) และ Henry Purcell (1659-95) ถือว่าน่าสนใจทีเดียว ไม่ได้นำมาสร้างบรรยากาศ หรือขับเน้นทางอารมณ์ แต่ดนตรีสไตล์ Baroque (1600-1750) ขึ้นชื่อเรื่องความขัดแย้ง (Tension) มักมีเสียงหรือเครื่องดนตรีมากกว่าสองชนิดที่สะท้อนกันและกัน คนละระดับเสียง สลับเสียงสะท้อน ไม่ก็ย้อนแก่นสาร (Reversing Theme) … แนวคิดของดนตรีบาโรก สะท้อนความขัดแย้งระหว่าง Kramer vs. Kramer ได้อย่างลงตัว!

  • Antonio Vivaldi: Concerto in C Major for Mandolin and Strings
  • Henry Purcell: Sonata for Trumpet and Strings
  • Henry Purcell: The Gordian Knot Untied

Kramer vs. Kramer (1972) นำเสนอเรื่องราวการหย่าร้าง ภรรยาทอดทิ้งสามีและบุตร แต่ภายหลังหวนกลับมาทวงคืนสิทธิ์รับเลี้ยงดู ถึงขนาดฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล แล้วได้รับการตัดสินเข้าข้างมารดา ด้วยเหตุผลของความเป็นแม่ (Motherhood) นั่นใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือไม่?

จริงอยู่ว่าแม่มักมีความสนิทใกล้ชิดกับลูกมากกว่าพ่อ เพราะต้องแบกครรภ์นานกว่าเก้าเดือน จึงบังเกิดสายสัมพันธ์ไม่มีวันตัดขาด แต่หลังจากคลอดบุตรออกมา ไม่ว่าบิดาหรือมารดาล้วนมีภาระรับผิดชอบ เลี้ยงดูแลจนกว่าจะเติบใหญ่ ให้สามารถเอาตัวรอด พึงพาตนเอง … ช่วงเวลาปฐมวัยจนถึงวัยรุ่น ความเป็นบิดา (Fatherhood) และความเป็นมารดา (Motherhood) ล้วนมีความสำคัญเทียบเท่าเทียมกัน!

โดยปกติแล้วสิทธิ์ในการรับเลี้ยงดูบุตร มันมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆมากมาย ผลการตัดสินล้วนเป็นไปได้ทั้งสองฟากฝั่ง แต่เรื่องราวของหนังจงใจเลือกข้าง นำเสนอผ่านมุมมองบิดา แล้วตีตราการกระทำมารดา ทอดทิ้งครอบครัวในช่วงเวลาคับขัน ผู้ชมจึงไม่รู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ ชัยชนะของเธอเลยโดนวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก … ทั้งๆที่ตัวกฎหมายก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่องประการใด

ความคิดเห็นของนักแสดง Meryl Streep ที่ไม่ได้ชื่นชอบตัวละครตนเองมากนัก จนต้องขอปรับแก้ไขบทพูด คำให้การบนชั้นศาล ผมรู้สึกว่านั่นสะท้อนมุมมองของทั้งผู้แต่งนวนิยายและผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ล้วนคือบุรุษเพศ คิดเองเออเอง ในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) ทำไมฉันจะทำในสิ่งที่ภรรยา/เพศหญิงทำไม่ได้? พัฒนาเรื่องราวในมุมมองบุรุษ ให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ

เอาจริงๆปัญหาของเรื่องราวนี้มันอาจไม่ใช่ความผิดฝ่ายหญิงเสียด้วยซ้ำ เหตุผลที่ Joanna ตัดสินใจทอดทิ้ง เลิกราหย่าร้าง มันเพราะพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของ Ted ไม่ใช่หรือ? เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการทำงาน ปล่อยปละละเลยเรื่องทางบ้าน ปฏิเสธพูดคุย รับฟังความคิดเห็น ภรรยาต้องเป็นผู้เสียสละ ดำเนินตามช้างเท้าหลัง มีหน้าที่เพียงเลี้ยงดูแลบุตร (และร่วมเพศสัมพันธ์)

ผมมองการตัดสินใจของ Joanna สะท้อนการมาถึงของยุคสมัย Feminist ทำไมสตรีถึงไร้สิทธิ์เสียง ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง เธอเพียงโหยหาอิสรภาพ ต้องการดิ้นหลุดจากขนบกฎกรอบครอบครัว/สังคม กระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคล! … ซึ่งการที่หนังพยายามฉุดเหนี่ยวรั้ง ทำออกมาในลักษณะชวนเชื่อเรียกร้องสิทธิบุรุษ (Men’s Rights Propaganda) เท่ากับเป็นความพยายามต่อต้านสิทธิสตรี (Anti-Feminist) ไม่เห็นด้วยกับการได้อิสรภาพเพศหญิง

นี่ยังไม่รวมสารพัดมลพิษที่ Hoffman ใช้ข้ออ้าง ‘method acting’ กระทำรุนแรงต่อ Streep ทั้งตบหน้า พูดจาดูถูกเหยียดหยาม แง่มุมหนึ่งมันอาชีพการแสดง แต่ขณะเดียวกันมันอาจก้าวล้ำเส้น กลายเป็นพฤติกรรมกลั่นแกล้ง บูลลี่ (Bully) กดขี่ข่มเหง ใช้อำนาจบาดใหญ่ เลยไม่น่าแปลกใจในชีวิตจริงกำลังถูกภรรยาขอเลิกราหย่าร้าง

ความสำเร็จอย่างล้นหลามของหนัง ยังสะท้อนสภาพสังคมยุคสมัยนั้น ชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) สถาบัน Academy of Motion Picture Arts and Sciences (ผู้จัดงาน Oscar) คงมีสมาชิกเพศชายมากเกินกว่าครึ่ง! ยังอีกหลายทศวรรษกว่าแนวคิด Feminist จะเริ่มเบ่งบาน ได้รับการยินยอมรับอย่างแพร่หลายจริงจัง


ด้วยทุนสร้าง $8 ล้านเหรียญ สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $106.3 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $173 ล้านเหรียญ สูงสุดแห่งปี ค.ศ. 1979 (ทั้งยังเป็นหนังทำเงินสูงสุดของค่าย Columbia TriStar จนกระทั่ง Look Who’s Talking (1989)) และยังได้เข้าชิง Oscar & Golden Globe อีกหลายสาขา กวาดเรียบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีจากแทบทุกสำนัก ชิงตัดหน้า Apocalypse Now (1979) และ All That Jazz (1979) จนถูกตีตราปีแห่งความอัปยศ!

  • Academy Award
    • Best Picture **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor (Dustin Hoffman) **คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (Justin Henry)
    • Best Supporting Actress (Jane Alexander)
    • Best Supporting Actress (Meryl Streep) **คว้ารางวัล
    • Best Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
    • Best Cinematography
    • Best Film Editing
  • Golden Globe Award
    • Best Motion Picture – Drama **คว้ารางวัล
    • Best Director **คว้ารางวัล
    • Best Actor – Drama (Dustin Hoffman) **คว้ารางวัล
    • Best Supporting Actor (Justin Henry)
    • Best Supporting Actress (Jane Alexander)
    • Best Supporting Actress (Meryl Streep) **คว้ารางวัล
    • Best Screenplay **คว้ารางวัล
    • New Star of the Year – Actor (Justin Henry)

เกร็ด: ด้วยวัยเพียง 8 ขวบ 276 วัน เด็กชาย Justin Henry คือนักแสดงอายุน้อยสุดเคยเข้าชิง Oscar มาจนถึงปัจจุบัน

ชัยชนะของ Kramer vs. Kramer (1979) เพราะเรื่องราวเข้าถึงง่าย มีความซาบซึ้งกินใจ หลายคนถึงขนาดหลั่งน้ำตาร่ำไห้ มีความเป็น Hollywood มากกว่าสองโคตรหนัง Apocalypse Now (1979) และ All That Jazz (1979) ต่างเหนือล้ำกาลเวลาเกินไป เลยเข้าไม่ถึงผู้ชมสมัยนั้น

ผมพบเห็น Boxset ชื่อว่า Columbia Classics Collection: Volume 4 4K วางจำหน่ายกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 ประกอบด้วย His Girl Friday (1940), Guess Who’s Coming to Dinner (1967), Kramer vs. Kramer (1979), Starman (1984), Starman The Series (1986-87), Sleepless in Seattle (1993) และ Punch-Drunk Love (2002) ไม่แน่ใจว่าเป็นการบูรณะหรือแค่สแกนใหม่ แต่คุณภาพ 4K UHD ราคา $215.99 (จาก Amazon) น่าจะคุ้มมั้งนะ??

เกร็ด: Kramer vs. Kramer (1979) เคยถูกสร้างใหม่ฉบับ Bollywood เรื่อง Akele Hum Akele Tum (1995) นำแสดงโดย Amir Khan และ Manisha Koirala

Kramer vs. Kramer (1979) เหมาะสำหรับคอหนัง Hollywood รับชมภาพยนตร์เพื่อการบันเทิง สร้างความเพลิดเพลิน แฝงสาระข้อคิดอย่างผิวเผิน แต่ถ้าคุณสามารถขบครุ่นคิดลึกๆ จะเกิดความหงุดหงิด รำคาญใจ เรื่องราวไม่สมเหตุสมผล ตัวละครเต็มไปด้วยมลพิษ แถมการเลือกข้างยังทำให้ผม(ที่เป็นผู้ชาย)รู้สึกกระด้างกระเดื่อง ไม่ได้เป็นกลาง ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมเลยสักนิด!

เอาจริงๆหนังมีดีเยอะนะ ทั้งภาพถ่ายสวยๆของ Néstor Almendros แฝงนัยยะเข้ากับเรื่องราว คลอประกอบบทเพลงจากคีตกวี Vivaldi และ Purcell เลือกใส่มาได้อย่างเหมาะเจาะ! ต้องถือว่าโปรดักชั่นยอดเยี่ยม … แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความพ่ายแพ้ของ Apocalypse Now (1979) หรือ All That Jazz (1979)

จัดเรต pg กับพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ครอบครัวหย่าร้าง สงสารบุตรชาย

คำโปรย | สงครามระหว่าง Kramer vs. Kramer ทำการชวนเชื่อเลือกข้างบิดา แต่ที่น่าสงสารคือบุตรชาย ไร้สิทธิ์เสียงในการตัดสินใจ
คุณภาพ | โปรดักชั่นเยี่ยมแต่เต็มไปด้วยมลพิษ
ส่วนตัว | หงุดหงิดใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: