
The Pied Piper (1986)
: Jiří Barta ♥♥♥♥
ดัดแปลงจากนิทานพื้นบ้านสุดหลอกหลอก Pied Piper of Hamelin มาเป็นโคตรผลงาน Stop-Motion Animation ใช้การแกะสลักจากไม้ ทำออกมาในสไตล์ German Expressionism (แบบเดียวกับภาพยนตร์ The Cabinet of Dr. Caligari (1920)) งดงาม วิจิตรศิลป์ แฝงสาระข้อคิด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
โดยปกติแล้วโมเดลของ Stop-Motion Animation มักทำจากตุ๊กตา (Puppet) ดินน้ำมัน (Clay) กระดาษแข็ง (Paper) หรือยุคสมัยนี้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) แทบไม่เคยพบเห็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องไหนที่ใช้ไม้จริงๆ นำมาแกะสลักเป็นทั้งฉากและตัวละครเหมือน The Pied Piper (1986)
เกร็ด: ทีแรกผมครุ่นคิดว่า Guillermo del Toro’s Pinocchio (2022) ก็น่าจะใช้การแกะสลักไม้ทำโมเดลหุ่น แต่พอค้นหาข้อมูลกลับพบว่าใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) พิมพ์ออกมาให้เหมือนลายไม้ ซะงั้น!
แต่แค่แกะสลักด้วยไม้ก็ยังไม่น่าประทับใจเท่าการออกแบบฉาก/ตัวละคร ทำออกมาในสไตล์ German Expressionism ใครเคยรับชมโคตรหนังเงียบอย่าง The Cabinet of Dr. Caligari (1920) หรือ The Golem: How He Came into the World (1922) ก็น่าจะรู้สึกมักคุ้นเคยขึ้นโดยทันที … The Pied Piper (1986) ยังทำออกมาในรูปแบบหนังเงียบ เสียงพูดคุยสนทนาล้วนฟังไม่ได้สดับ ใช้ทิชชู่อุดหูก็ดูรู้เรื่อง สามารถเรียกว่า Cinéma pur (หรือ pure Cinema)
และสิ่งที่ทำให้ผมยกย่องสรรเสริญ The Pied Piper (1986) ถึงขนาด “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คือเรื่องราวแฝงสาระข้อคิด เกี่ยวกับความบิดๆเบี้ยวๆ จิตใจดำมืดของมนุษย์ (สอดคล้องเข้ากับสถาปัตยกรรม German Expressionism) เพราะความลุ่มหลงในเงินๆทองๆ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน โดยไม่สนหัวผู้อื่นใด ท้ายที่สุดเลยได้รับผลกรรมติดตามสนองอย่างทันท่วงที
Jiří Barta (เกิดปี 1948) ผู้กำกับสัญชาติ Czech เกิดที่กรุง Prague โตขึ้นร่ำเรียนสาขาอนิเมชั่น University of Applied Art (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Academy of Arts, Architecture and Design in Prague, AAAD) จบออกมาทำงานเป็นครูผู้ช่วยสอนอยู่หลายปี ก่อนได้เข้าทำงานสตูดิโออนิเมชั่น Krátký Film Praha มีโอกาสสรรค์สร้างหนังสั้น The Vanished World of Gloves (1982), A Ballad About Green Wood (1983) ฯ
Krysař หรือ The Pied Piper เป็นโปรเจคที่สตูดิโอ Krátký Film Praha มีความทะเยอทะยาน ครุ่นคิดวางแผนมานาน เพราะโดยปกติจะสรรค์สร้างแต่หนังสั้น/อนิเมชั่นขนาดสั้น/สารคดีขนาดสั้น สำหรับฉายทางโทรทัศน์ ตั้งแต่เมื่อครั้นก่อตั้งสตูดิโอ ค.ศ. 1946 ก็ไม่เคยสรรค์สร้างภาพยนตร์/อนิเมชั่นขนาดยาวเลยสักเรื่อง!
ซึ่งบุคคลมีความเหมาะสมและประสบการณ์มากสุดในสตูดิโอขณะนั้นก็คือ ผกก. Barta ใช้เวลาถึง 6 เดือนร่วมกับนักเขียน Kamil Pixa ทำการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลเกี่ยวกับตำนาน/ปรัมปราเล่าขานมาตั้งแต่ยุคกลาง (Middle Age) เรื่อง der Rattenfänger von Hameln แปลว่า Pied Piper of Hamelin หรือ Rat-Catcher of Hamelin ตั้งอยู่ ณ Lower Saxony, Germany
เรื่องราวมีพื้นหลัง ค.ศ. 1284 ณ เมือง Hamelin ขณะนั้นเต็มไปด้วยหนูชุกชม แพร่ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วสารทิศ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนนายกเทศมนตรีต้องประกาศจ่ายเงิน 1,000 Guilders ให้กับใครก็ตามสามารถหาวิธีกำจัดพวกมัน มาวันหนึ่งชายเป่าขลุ่ย/ปี่ (Piper) สวมชุดหลากสี (Pied แปลว่า Multicolor) ได้ทำการเป่าขลุ่ยล่อลวงฝูงหนูให้กระโดดลงแม่น้ำ Weser River แต่พอเสร็จภารกิจกลับถูกเบี้ยวค่าจ้าง จึงเกิดความเกรี้ยวกราดโกรธา ทำการล้างแค้นในวัน Saint John and Paul ด้วยการเป่าขลุ่ยล่อลวงชาวเมืองทั้งหมด สูญหายตัวเข้าไปในถ้ำอย่างไร้ร่องรอย (บางปรัมปราเล่าว่าทำการล่อลวงชาวเมืองให้กระโดดน้ำตายแบบเดียวกับฝูงหนู) หลงเหลือเพียงบุคคลตาบอด หูหนวก และขาพิการ (เพราะมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่สามารถติดตามไปทัน)
เก่าแก่สุดที่เคยมีการบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ อยู่บนกระจกแก้ว (Stained Glass) ในโบสถ์ Church of Hamelin ประมาณการสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1300 ก่อนถูกทำลาย (หรือแตกหัก) เมื่อปี ค.ศ. 1660 แต่ยังมีจดบันทึกหลงเหลือ และพยายามฟื้นฟูบูรณะ สร้างเลียนแบบขึ้นใหม่
ส่วนการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1384 ในลักษณะของบทเพลง Chorus Book ด้วยภาษาละติน ประพันธ์โดย Johannes de Lüde ผู้ปกครองเมือง Hamelin (ขณะนั้น)
บทประพันธ์ยุคสมัยใหม่ มีอยู่สองฉบับที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
- Johann Wolfgang (von) Goethe แต่งบทกวีกล่าวถึงเหตุการณ์บังเกิดขึ้นนี้เมื่อปี ค.ศ. 1803, และยังมีการอ้างอิงถึงในวรรณกรรม Faust (1808-32)
- สองพี่น้อง Brothers Grimm เขียนเรื่องสั้นรวมอยู่ในคอลเลคชั่น Deutsche Sagen (1816) ปรับเปลี่ยนตอนจบมีเพียงเด็กชายสองคนผู้รอดชีวิต คนหนึ่งตาบอด อีกคนขาพิการ ทั้งสองกลายมาเป็นผู้ก่อตั้ง Siebenbürgen (Transylvania)
สำหรับภาพยนตร์ ก็มีการดัดแปลงสร้างอยู่หลายครั้ง ผมเลือกมาเฉพาะฉบับที่ดูน่าสนใจ อาทิ
- The Pied Piper of Hamelin (1918) หนังเงียบสัญชาติ German กำกับโดย Paul Wegener
- The Pied Piper (1933) อนิเมชั่นขนาดสั้นสร้างโดย Walt Disney กำกับโดย Wilfred Jackson รวบรวมอยู่ในซีรีย์ Silly Symphonies
- The Pied Piper of Hamelin (1957) กำกับโดย Bretaigne Windust ฉายทางสถานีโทรทัศน์ NBC
- The Pied Piper (1972) ภาพยนตร์แนว Musical สัญชาติอังกฤษ กำกับโดย Jacques Demy
- The Pied Piper of Hamelin (1981) ฉบับ Stop-Motion Animation ความยาว 30 นาที สร้างโดย Cosgrove Hall ฉายรายการพิเศษ (TV Special) ออกอากาศช่อง ITV plc
- The Pied Piper of Hamelin (1985) กำกับโดย Nicholas Meyer, รวบรวมอยู่ใน Faerie Tale Theatre (1982-87) ซีซัน 4 ตอนที่ 3 ฉายทางช่อง Showtime
- The Pied Piper (1986) ฉบับ Stop-Motion Animation สัญชาติ Czechoslovakia กำกับโดย Jiří Bárta
ในส่วนของบทหนัง ผกก. Barta และนักเขียน Kamil Pixa เลือกอ้างอิงจากเรื่องสั้น Krysař (1915) แปลว่า The Rat-Catcher เรียบเรียงโดย Viktor Dyk (1877-1931) นักกวีชาว Czech ซึ่งมีการเพิ่มเติมเรื่องราวเกี่ยวกับด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ เพราะความลุ่มหลงในเงินๆทองๆ ไม่รู้จักเพียงพอดี นำไปสู่เหตุการณ์หายนะ โศกนาฎกรรมไม่คาดคิดถึง
The novel itself is in a more lyrical genre. Apart from which, of course, many versions are known, all based on the original twelfth century legend. I’ve familiarised myself with all of them, but in the end I decided on my own version which is a stylisation of all the different versions, a stylisation which makes the best use of animation technique. I’ve tried to capture the Germanic spirit, which is the spirit of the original legend.
Jiří Barta
การเตรียมงานสร้างใช้เวลาถึงหนึ่งปีเต็ม โดยผกก. Barta เป็นคนร่างภาพออกแบบทั้งเมือง Hamelin และตัวละครด้วยตนเอง รับอิทธิพลไม่ใช่แค่จาก German Expressionism แต่ยังศิลปะยุคกลางของเยอรมัน (German Medievalism) อาทิ Romanesque Art และ Gothic Art มีความบิดๆเบี้ยวๆ ไม่สมสัดส่วน เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม … เพื่อสื่อถึงจิตใจมนุษย์ที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ฉ้อฉล
This element has actually solved certain spatial problems in that part of the mediaeval canon is that the important figures are big, and secondary figures are small. So it has solved the whole problem of space, and justifies an illogicality – a lack of logic – about the world of the film.
Jiří Barta



ในการสร้างตัวละครจะเริ่มจากออกแบบ วาดภาพร่าง ปั้นโมเดลด้วยดินน้ำมัน จากนั้นถึงค่อยแกะสลัก โดยจักเลือกใช้ไม้ที่มีสีสันและลวดลายแตกต่างกันออกไป พบเห็นขนาดตั้งแต่ 1-60 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่ระยะภาพใกล้-ไกล)
- ชาวเมือง Hamelin ใช้ไม้จากต้น Dark Walnut แกะสลักออกมาให้มีเหลี่ยมมุม ทั้งรูปร่าง ใบหน้า ดวงตา (ยกเว้นเสื้อผ้า ทุกสิ่งอย่างล้วนแกะสลักด้วยไม้ทั้งหมด) ทำออกมาคล้ายๆศิลปะ Cubism
- ขณะที่หญิงสาว Agnes (และชายชราพายเรือ) ใช้ไม้สีอ่อน Light Wood แกะสลักออกมาให้มีรูปทรงกลม ไร้เหลี่ยมมุม และใช้การเขียนรายละเอียดบนใบหน้า เห็นว่ารับอิทธิพลจากผลงานของผกก. Jiří Trnka (ผู้ได้รับการกล่าวขวัญ “Walt Disney of Eastern Europe”)
- ส่วนชายเป่าขลุ่ย มีคำอธิบายว่าใช้ไม้ Dark Wood แกะสลักให้มีเหลี่ยมมุม ยกเว้นดวงตาทำจากลูกแก้วสีดำ (จะเห็นเฉพาะช่วงท้ายของหนัง) สำหรับสะท้อนความซึมเศร้า ทุกข์ทรมาน
- ขลุ่ยทำจากไม้สีอ่อน Light Wood แบบเดียวกับหญิงสาว Agnes
- สำหรับเจ้าหนู มีทั้งที่เป็นหนูตัวเป็นๆ และทำจากหุ่น (Puppet) เก็บรายละเอียดให้เหมือนหนูมากๆ (ผิดกับมนุษย์ที่ดูไม่ค่อยเหมือนมนุษย์สักเท่าไหร่) การขยับเคลื่อนไหวก็เป็นธรรมชาติ ดูมีชีวิตชีวากว่าด้วยซ้ำ
ทั้งมนุษย์และหนู (รวมถึงลูกเล่นบางอย่างของเมือง Hamelin) ต่างถูกฝังกลไกเพื่อให้สามารถขยับเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่สำหรับทำ Stop-Motion Animation แต่บางครั้งยังเป็นกลไกอัตโนมัติ โยกไปโยกมา ขยับซ้ายขยับขวา (หลายครั้งยังมีละเล่นกับแสง-เงา ระยิบระยับ อาบฉาบใบหน้าตัวละคร) สามารถถ่ายทำแบบภาพยนตร์ธรรมดาๆ ช่วยลดระยะเวลาโปรดักชั่นได้พอสมควรเลยละ … หนังใช้เวลาถ่ายทำเพียงปีนิดๆเท่านั้นเอง



มีอยู่ซีเควนซ์หนึ่งที่ไม่ได้ใช้การแกะสลัก แต่ทำการวาดภาพลงสี(สองมิติ)ลงบนพื้นไม้ (แล้วนำมาทำอนิเมชั่นเคลื่อนไหวด้วยการซ้อนภาพ) เพื่อสื่อแทนจินตนาการของตัวละคร ต้องการก้าวออกไปจากโลก(สามมิติ)ที่มีความบิดๆเบี้ยวๆ สู่วิถีธรรมชาติ งดงามเขียวขจี
ผมอ่านเจอว่าหนังได้รับอิทธิพลภาพวาดดังกล่าวจาก Jan van Eyck (1390-1441) จิตรกรหญิงชาว Flamish ผู้บุกเบิก Northern Renaissance และ Early Netherlandish Painting น่าจะโดยเฉพาะจากภาพวาด Adoration of the Mystic Lamb ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Ghent Altarpiece (1432)


เรื่องราวของ The Pied Piper (1986) สามารถแบ่งออกเป็น 4 องก์ โดยมีเมือง Hamelin คือจุดศูนย์กลาง
- อารัมบท, ร้อยเรียงภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน ความเป็นอยู่ของชาวเมือง Hamelin ไม่ว่าชนชั้นระดับไหน พ่อค้า-นายกเทศมนตรี ล้วนเต็มไปด้วยความหมกมุ่นในเงินๆทองๆ สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ นำกำไรมาตอบสนองความสุขสบาย
- ยามค่ำคืนเมื่อชาวเมือง Hamelin กำลังหลับนอนฝัน คือช่วงเวลาที่ฝูงหนูตื่นขึ้นมา ลักขโมยสิ่งข้าวของ สะสมความร่ำรวย หลับนอนบนกองเงินกองทอง
- นายกเทศมนตรีตัดสินใจว่าจ้างชายเป่าขลุ่ย อาสากำจัดฝูงหนูให้หมดสิ้นไปจากเมืองนี้
- แต่หลังจากภารกิจเสร็จสิ้น นายกเทศมนตรีกลับปฏิเสธจ่ายค่าจ้าง สร้างความไม่พึงพอใจให้ชายเป่าขลุ่ย จึงทำการล้างแค้นเอาคืนอย่างสาสม
โครงสร้างการดำเนินเรื่องอาจไม่ได้มีความสลับซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยลูกเล่นการตัดต่ออันแพรวพราว โดยเฉพาะการใช้เทคนิค Montage พบเห็นทั้งการร้อยเรียงชุดภาพวิถีชีวิต กิจวัตรประจำวัน รวมถึงตัดสลับเหตุการณ์/เล่าเรื่องคู่ขนานไปพร้อมๆกัน อาทิ
- ระหว่างชาวเมืองกำลังชุลมุนกับฝูงหนูที่ออกอาละวาด = ชายเป่าขลุ่ยกำลังก้าวย่าง(เยี่ยงวีรบุรุษ)มายังเมืองแห่งนี้
- หลังจากชายเป่าขลุ่ยถูกขับไล่ นายกเทศมนตรีไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง = หญิงสาว Agnes ถูกข่มขืน กระทำชำเรา จนหมดสิ้นลมหายใจ
หลายคนอาจพยายามมองหาซับไตเติ้ล อยากรับรู้ว่าตัวละครสนทนาภาษาอะไร แต่ผกก. Barta ยืนกรานว่ามันคือคำพูดไร้สาระ (gibberish) ไม่ได้มีนัยยะความหมายอะไร ไม่ต้องให้ความสนใจเลยยังได้ แค่รับรู้ว่ากำลังสื่อสารก็เพียงพอแล้วละ
The language in The Pied Piper was a completely invented, fictitious language which was somewhat based on German, but the main emphasis was on the rhythm and the onomatopoeic quality of the language. Presumably it produced the right impact.
Jiří Barta
เพลงประกอบโดย Michael Kocáb (เกิดปี 1954) นักร้อง/นักแต่งเพลง สัญชาติ Czech เกิดที่ Prague ในครอบครัวบาทหลวง มีความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่เด็ก สำเร็จการศึกษาจาก Prague Conservatory สาขาการแต่งเพลงและเครื่องดนตรีออร์แกน ระหว่างนั้นรวมกลุ่มผองเพื่อนก่อตั้งวง Pražský výběr ได้รับความนิยมอยู่ช่วงหนึ่งจนถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์สั่งแบน ทำให้ต้องแสดงคอนเสิร์ตด้วยการสวมหน้ากาก นั่งรถเข็น จนกลายเป็นภาพจำสมัยนั้น, นอกจากออกอัลบัม ยังเคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Pied Piper (1986), Zastihla me noc (1986), King of Thieves (2004) ฯ
ด้วยความที่หนังใช้เสียงพูดคุยสนทนาไม่ต่างจาก ‘Sound Effect’ เพลงประกอบจึงมีความสำคัญไม่น้อย นอกจากจะคอยสร้างบรรยากาศ คลอประกอบพื้นหลัง ยังคือสิ่งชี้นำทางอารมณ์ผู้ชม ให้เคลื่อนคล้อยไปกับเรื่องราว ส่วนใหญ่จะมีความหลอกหลอน หวาดสะพรึง โลกใบนี้มันช่างเหี้ยมโหดร้าย สัมผัสถึงอันตราย ความตาย หายนะคืบคลานเข้ามา
แน่นอนว่าเครื่องดนตรีที่โดดเด่นขึ้นมาก็คือ ขลุ่ย/ปี่ (Piper) ช่างมีความไพเราะเพราะพริ้ง ทำให้หัวใจสั่นไหว จิตวิญญาณล่องลอยไป สามารถล่อหลอกฝูงหนู (และมนุษย์) ให้เกิดความลุ่มหลงใหล ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่สามารถควบคุมตนเอง ใครสั่งให้ทำอะไรก็ยินยอมคล้อยตาม ราวกับถูกสะกด ต้องมนตรา
แต่นอกจากเสียงขลุ่ยยังมีเสียงออร์แกน (เมื่อตอนนายกเทศมนตรีปฏิเสธจ่ายค่าจ้างแก่ชายเป่าขลุ่ย) หลังจากนั้นบรรเลงด้วยกีตาร์ไฟฟ้า บรรยากาศ Heavy Metal สร้างความหนักอึ้ง บึ้งตึง แถมยังพบเห็นหญิงสาวถูก !@#$% บังเกิดความเคียดแค้น อัดแน่นทรวงอก ต้องการจะทำบางสิ่งอย่างเพื่อเอาคืน โต้ตอบกลับให้สาสม
The Pied Piper (1986) นำเสนอเรื่องราวไม่ใช่แค่บุคคล แต่ยังทั้งชุมชน ตั้งแต่ระดับล่างถึงบน ลูกจ้าง พ่อค้า กระทั่งนายกเทศมนตรี ล้วนมีความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหลในเงินๆทองๆ สนเพียงกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ นำกำไรมาสร้างความสุขสบาย รับประทานอาหารอย่างตะกละตะกลาม (สื่อถึงลัทธิบริโภคนิยม) โดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร คิดคดทรยศหักหลังกระทั่งผู้มีพระคุณ (ไม่ต่างจากการถูกข่มขืน กระทำชำเรา) สุดท้ายแล้วย่อมได้รับผลกรรมย่อมติดตามสนองอย่างทันท่วงที
มองในมุมกลับกัน ชายเป่าขลุ่ยแม้เป็นบุคคลมีความสามารถ แต่ก็ลุ่มหลงในเงินๆทองๆ ยินยอมตอบตกลง หลงเชื่อคนง่าย รับค่าจ้าง 1,000 Guilders (สมัยนั้นน่าจะมากพอสมควร) คาดหวังว่าเมื่อร่ำรวยจะได้ใช้ชีวิตสุขสบายกับแฟนสาว พอถูกนายกเทศมนตรีทรยศหักหลัง ไม่ยินยอมจ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ จึงเก็บเอาความโกรธเกลียดเคียดแค้น มาลงกับชาวเมืองทั้งหมดโดยไม่สนว่าจะเป็นใคร นี่เรียกว่าการสังหารหมู่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ใครกันแน่โฉดชั่วร้ายกว่ากัน?
หลายคนอาจมองเรื่องราวของ The Pied Piper (1986) แค่การตีแผ่ความชั่วร้ายของเงินๆทองๆ ต่อต้านลัทธิทุนนิยม (Anti-Capitalism) แต่ถ้าเรากลับมุมมองฟากฝั่งชายเป่าขลุ่ย จะพบเห็นมากกว่าแค่ความละโมบโลภมาก ยังมีอารมณ์ลุ่มหลงราคะ (ต่อหญิงสาว Agnes) และเกรี้ยวกราดโกรธา (ถึงขนาดแก้แค้นเอาคืนชาวเมือง) รวมๆแล้วคืออกุศลมูล ๓ รากเหง้าของอกุศล ต้นตอความชั่วทั้งปวง ๑.โลภะ (ความอยากได้อยากมี) ๒.โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) ๓.โมหะ (ความลุ่มหลง โง่งมงาย)
ผกก. Barta ไม่ได้ต้องการแค่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ประชาชน สภาพเมือง Hamelin เข้ากับบรรยากาศประเทศ Czechoslovakia ภายใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นหุ่นเชิดชักอยู่เบื้องหลัง แต่พยายามเปรียบเทียบในระดับสากล ทุกแห่งหนบนโลกล้วนไม่แตกต่างกัน
No, it it not conceived as a specifically Czech thing, it has a more universal validity, because certain human qualities such as greed cannot be confined to a particular society. They are universal, they exist everywhere in the world.
Jiří Barta
การนำเสนอเรื่องราวคู่ขนาน เปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ = หนู (ช่วงองก์สุดท้าย มนุษย์จะค่อยๆมีหาง กลายร่างเป็นหนู และประสบโชคชะตาเดียวกัน) เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้ชม ถึงการใช้ชีวิตตอบสนองสันชาตญาณ ปล่อยตัวไปกับอบายมุข ปล่อยใจให้กิเลสตัณหา จักทำให้มนุษย์ไม่แตกต่างจากเดรัจฉาน มิอาจควบคุมตนเอง และถูกชี้นำทางมุ่งสู่หายนะ
เกร็ด: โดยปกติแล้ว หนู (Rat) ทางฝั่งยุโรปมักคือสัตว์สัญลักษณ์ของความละโมบโลภมาก ตะกละตะกราม พฤติกรรมทรยศหักหลัง ผิดกับฟากเอเชียถือเป็นสัตว์นำโชค แห่งความร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา ถือว่าแตกต่างตรงกันข้ามเลยนะ!
ตำนานปรัมปรา Pied Piper of Hamelin มีนักประวัติศาสตร์ท้าทายว่า แท้จริงแล้วชายเป่าขลุ่ยอาจไม่ใช่บุคคลโฉดชั่วร้าย ความตายที่เกิดขึ้นในเมือง Hamelin อาจเพราะโรคระบาดห่าใหญ่ (ที่มาจากหนู) ตรงกันข้ามอาจเป็นวีรบุรุษที่เข้าช่วยเหลือผู้ป่วย กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของการรอดชีวิต … ก็เหมือนตอนจบอนิเมชั่นเรื่องนี้ ชายชราพายเรือพบเจอทารกน้อย อุ้มพาสู่ดินแดนแห่งใหม่ (แม้เพียงภาพในความฝันก็ตามเถอะ)
เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Cannes สายการประกวดรอง Un Certain Regard แม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างดี แต่น่าเสียดายไม่ได้รางวัลใดๆติดไม้ติดมือกลับมา ถึงอย่างนั้นเมื่อนำออกตระเวนฉายตามเทศกาลหนังอื่นๆ ก็กอบโกยสาขา Best Animated Film รวมๆนับสิบเกียรติคุณ
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (ไม่มีการระบุคุณภาพ) โดย Krátký Film Praha ร่วมกับ Craig Rogers จาก Deaf Crocodile แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2023 สามารถหาซื้อ Blu-Ray ของค่าย Deaf Crocodile Films (เพิ่งปิดการจำหน่ายผ่าน Kickstarter ไปได้ไม่นาน แต่ยังสามารถหาซื้อได้ตาม Ebay, Amazon และร้านค้าชั้นนำทั่วไป)
หลายคนอาจชื่นชอบงานออกแบบ สถาปัตยกรรม German Expressionism, เรื่องราวแฝงสาระข้อคิด, บทเพลงประกอบไพเราะเพราะพริ้ง, แต่สิ่งที่ผมประทับใจอย่างมากๆคือรูปลักษณ์หญิงสาว ใบหน้ากลมมน ผิวขาวนวลผ่อง ผิดแผกแตกต่างจากตัวละครอื่นๆใด ซึ่งพอเธอถูก !@#$% สร้างความชอกช้ำทรวงใน บดขยี้หัวใจแตกสลาย
เรื่องราวของ The Pied Piper (1986) มองมุมหนึ่งอาจคือต่อต้านลัทธิทุนนิยม (Anti-Capitalism) นำเสนอโทษทัณฑ์ ความชั่วร้ายจากความหมกมุ่น ลุ่มหลงใหลในเงินๆทองๆ แต่สาระสำคัญที่ผมจัดให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คือการตีแผ่มุมมืดของมนุษย์ โลภ-โกรธ-หลง (ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น) ถ้าไม่รู้จักควบคุมให้เหมาะสม ย่อมก่อเกิดหายนะไม่สิ้นสุด
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศ Dark Fantasy และความบิดๆเบี้ยวๆ จิตใจดำมืดของมนุษย์
Leave a Reply