Kuroneko (1968)
: Kaneto Shindo ♥♥♥♥
แม่ยายกับลูกสะใภ้ มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในยุคสมัยสงคราม ลูกชายถูกบังคับให้เป็นทหาร วันหนึ่งทั้งสองถูกกลุ่มซามูไรผู้หิวหื่นกระหายผ่านมากรรโชก กระชากข่มขืนเผาทำลายบ้าน ด้วยความเดือดดาลเคียดแค้นกลายเป็นปีศาจแมวดำ (Kuroneko) ลวงหลอกล่อแล้วฆ่าทิ้ง บรรดาซามูไรที่ประจำอยู่ประตู Rashōmon แต่แล้วเมื่อลูกชายประดับยศซามูไรกลับบ้าน พวกเธอต้องเลือกระหว่างคงความเคียดแค้น หรือใช้เวลาห้วงสุดท้ายของชีวิตเติมเต็มความสุขที่หลงเหลืออยู่
หลังจากรับชม Onibaba (1964) ผมค่อนข้างคาดหวังกับ Kuroneko สูงมากทีเดียว แต่ก็แอบผิดหวังเล็กๆเพราะไม่ได้ลึกซึ้งเท่าเรื่องนั้น กระนั้นคุณภาพโดยรวมอยู่ในระดับสูงมากทีเดียว ปรากฎเห็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Shindo อย่างเด่นชัด และรับอิทธิพลเพื่อเป็นการเคารพคารวะ Ugetsu (1953) มาเต็มๆ (ฉากร่วมรักกับผีนี่มัน …!)
Kaneto Shindo (1912 – 2014) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hiroshima ครอบครัวมีฐานะร่ำรวยจากอาชีพให้กู้ยืมที่ดิน แต่ต่อมาล้มละลายเพราะถูกเบี้ยวหนี้ โชคดีมีพี่น้องหลายคนช่วยเหลือจุนเจือ โตขึ้นหลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่อง Bangaku No Isshō (1933) เกิดความสนใจงานด้านนี้ ตอนแรกสมัครเป็นช่างจัดไฟแต่ตัวเตี้ยเกินเลยไม่ได้รับเลือก ได้งานนักออกแบบศิลป์/ฉาก ร่วมงานผู้ช่วย Kenji Mizoguchi หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นนักเขียนบทขาประจำของสตูดิโอ Shochiku โด่งดังกับบทหนังเรื่อง A Ball at the Anjo House (1947), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Story of a Beloved Wife (1951), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Children of Hiroshima (1953) ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องแรกที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับระเบิดนิวเคลียร์ ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แม้ไม่ได้รางวัลอะไร แต่ถือเป็นเรื่องหนึ่งในทศวรรษยุคทองของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น
ชื่อเสียงของ Shindo ทั้งในระดับโลกและญี่ปุ่น ถือว่าตามหลัง Akira Kurosawa, Yasujirô Ozu, Kenji Mizoguchi ฯ อยู่หลายขุมอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่ผลงานมีความโดดเด่นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร ด้วยทัศนะมองภาพยนตร์ว่าคือ ‘an art of montage’ การรวมตัวของสิ่งเคลื่อนไหว หยุดนิ่ง บทพูดสนทนา และความเงียบสงัด เน้นนำเสนอ ‘visual style’ ความงดงามด้านภาพ สื่อสะท้อนจิตวิทยาเบื้องลึกของมนุษย์, สนใจเรื่องราวที่มีเป็นการวิพากย์สังคม ความยากจน หญิงสาว และ Sexuality ซึ่งมักสะท้อนกับสภาพของประเทศญี่ปุ่นช่วงก่อน-หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากสร้าง Onibaba (1964) ผู้กำกับ Shindo ยังคงมีความสนใจ สำรวจต่อในประเด็นสันดานดิบของมนุษย์ ความต้องการทางเพศ (Sexuality) คือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้มีชีวิตเอาตัวรอด กับเรื่อง Akuto (1965) และ Lost Sex (1966)
“My idea of sex is nothing but the expression of the vitality of man, his urge for survival.”
– Kaneto Shindo
ทศวรรษ 50s – 60s ในประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นช่วงเวลาของเพศหญิงค่อยๆเริ่มมีบทบาท ได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคม เพราะความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผู้ชายหมดสิ้นซึ่งแรงผลักดัน ความมั่นใจในตนเอง จากที่เคยเป็นเพียงแม่บ้านเลี้ยงลูก จำต้องออกมาทำงานแบ่งเบาภาระของสามี ร่วมกันดิ้นรนเอาตัวรอดในช่วงเวลายากลำบาก
สำหรับ Kuroneko เป็นการสะท้อนช่วงเวลาแห่งความอ่อนแอของเพศชาย ด้วยการนำเสนอภาพความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของเพศหญิง พยายามสร้างอิทธิพล อำนาจต่อรอง(ทางเพศ)ที่เหนือกว่า ราวกับเป็นการแก้แค้นทุกสิ่งอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
“By contrasting the comical weakness of the male with the unbridled strength of the female, Shindo seemed to be saying in the 1960s that women had wrought their revenge. This could have been a reflection of postwar society, since it is commonly said in Japan women have become stronger because men have lost all confidence in their masculinity due to Japan’s defeat.”
แม้ Shindo จะพัฒนาเรื่องราวของ Kuroneko ขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ได้ให้เครดิตดัดแปลงหรือนำแรงบันดาลใจจากที่ใด แต่ก็มีผู้ให้ข้อสังเกตว่าหนังอาจรับอิทธิพลมาจาก
– เรื่องสั้น Yabu no naka (In a Grove) เขียนโดย Ryūnosuke Akutagawa เมื่อปี 1922 ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์เรื่อง Rashômon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa
– ตำนานของ Minamoto no Raikō (ค.ศ. 948 – 1021) ซามูไรยอดนักรบ ที่ได้รับฉายาว่า Kintoki (แปลว่า Gold Time) ในหนังเปลี่ยนชื่อเป็น Gintoki (แปลว่า Silver Time)
– ตำนาน Bakeneko (Bake แปลว่า Transform การเปลี่ยนร่าง, Neko แปลว่า แมว) คำเรียกปีศาจแมวจำแลง จริงๆแล้วมีหลากหลายตำนาน แต่ที่คนญี่ปุ่นมักรู้จักกันคือ Nabeshima Bakeneko
เรื่องมีอยู่ว่าในสมัย Edo Period ตอนต้น (ค.ศ. 1632 – 1700) ช่วงการปกครองของ Nabeshima Mitsushige ที่จังหวัด Saga Domain, Hizen Province ชายผู้หนึ่งนามว่า Ryūzōji Takanobu ทหารรับใช้ทัพหน้าบุกตะลุยฝ่าข้าศึก ทำผลงานอย่างมาก แต่วันหนึ่งกลับถูกฆ่าตายอย่างปริศนา แม่ของเขาเสียใจแทบเสียสติ ออกทวงถามความเป็นธรรมที่ไร้คำตอบ โศกเศร้าจมปักกับการสูญเสีย พร้อมสาปแช่งระบายความแค้นเคืองใจกับแมวที่เลี้ยงไว้วันแล้ววันเล่า จนในที่สุดฆ่าตัวตายด้วยมีด เลือดสีแดงฉาดไหลนองทั่วห้อง แมวที่เลี้ยงไว้ได้มาเลียเลือดของเจ้านายแล้วหายตัวไป, หลังจากการเสียชีวิต ทุกคนที่ปราสาท Nabeshima ต้องอยู่กันอย่างอกสั่นขวัญหาย ทุกค่ำคืนจะมีเสียงแมวร้องในภายในปราสาท อาละวาดทำลายข้าวของ ทำร้ายไล่ฆ่าทุกคนที่ขว้างหน้า กว่าจะสิ้นสุดถูกสยบลงได้โดย Komori Hanzaemon ทหารรับใช้ซามูไรผู้ภักดี ต่อสู้เอาชนะปีศาจตนนี้ ไม่หวนกลับมารุกรานใครอีก
ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีตำนานความเชี่อเกี่ยวกับแมวดำ, อย่างในตำนานเก่าแก่ของอินเดียโบราณ เชื่อกันว่าแมวดำเป็นสัตว์ผี อันเป็นพาหนะของพระษัษฐี เทวีแห่งความตาย ว่ากันว่าหากใครเห็นแมวดำที่ไหนในทุกวันที่ 6 มักจะเห็นพระษัษฐีปรากฎกายอยู่ ณ ที่นั่น และหมายถึงจะมีเด็กหรือมีคนตายที่นั่นด้วยเช่นกัน
ในคติความเชื่อของจีน ก็ถือกันว่าหากแมวกระโดดข้ามศพ จะฟื้นคืนชีพและกลายเป็นผีที่ดุร้ายมาก ต้องเอากรรไกรหรือเหล็กวางไว้บนอกศพ เพื่อเป็นเหมือนตัวการสะกดวิญญาณไม่ให้ลุกขึ้นมาเกี้ยวกราด
สำหรับคนไทยไม่ต่างจากจีนและอินเดียนัก เชื่อว่าหากงานศพใดมีแมวดำเข้ามาเพ่นพ่าน สมควรไล่ไปให้พ้น เพราะหากวันดีคืนดีเจ้าแมวดำดันมากระโดดข้ามโลงศพ มีหวังแขกแตกตื่นวิ่งไปคนละทิศคนทาง เหตุเพราะอาจทำให้คนตายฟื้นคืนชีพพร้อมลมหายใจ
reference: http://www.zabzaa.com/ghost/แมวผี/
reference: http://www.ilovejapan.co.th/essentials/entry/legend-of-the-ghost-cat-of-japan-evil-spirits
ในยุคสมัย Heian Period (ค.ศ. 794 – 1185) ช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองกำลังคุกรุ่น, แม่ยาย Yone (รับบทโดย Nobuko Otowa) และลูกสะใภ้ Shige (รับบทโดย Kiwako Taichi) อาศัยอยู่ในบ้านหลังหนึ่งริมป่ากอไผ่ ถูกกลุ่มซามูไรผู้หิวหื่นกระหาย ผ่านมากรรโชกกระชากข่มขืนฆ่า เผาทำลายมอดไหม้ทุกสิ่งอย่างกลายเป็นจุนอย่างไร้จิตสำนึก แล้วอยู่ดีๆแมวดำตัวหนึ่ง กระโดดข้ามศพไปมา นั่งทับ เลียแผล ทำให้ทั้งสองกลับฟื้นคืนชีพกลายเป็นปีศาจแมวจำแลง เป้าหมายหนึ่งเดียวเพื่อออกตามฆ่าล้างแค้นบรรดาซามูไรทุกหมู่เหล่า ที่คอยเฝ้าอยู่ประตู Rashômon Gate หลอกลวงล่อแล้วฆ่าทิ้งให้ดับดิ้นสิ้นไป
วันหนึ่งทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ชายหนุ่ม Hachi (รับบทโดย Nakamura Kichiemon II) สามารถต่อสู้เอาชนะตัดคอศัตรูผู้เก่งกาจ General Kumasunehiko นำมาแสดงต่อผู้ว่าการ Minamoto no Raikō (รับบท Kei Sato) ได้รับการยกตำแหน่งให้เป็นซามูไร เดินทางกลับบ้านเกิดพบว่ามอดไหม้กลายเป็นจุนไม่หลงเหลืออะไร ต่อมาได้รับหน้าที่ให้ค้นหาจัดการกับเหตุการณ์เสียชีวิตของซามูไรทั้งหลายที่ Rashômon Gate นั่นทำให้เขาค้นพบว่า ปีศาจแมวสองตนนี้คือภรรยาและแม่แท้ๆของตนเอง
Nobuko Otowa (1924 – 1994) นักแสดงหญิงยอดฝีมือ เกิดที่ Yonago, Tottori ชู้รักของผู้กำกับ Shindo ตั้งแต่พบเจอร่วมงานครั้งแรก Story of a Beloved Wife (1951) จนเมื่อเขาอย่าขาดกับภรรยาคนก่อน จึงได้แต่งงานอยู่ร่วมกันจนเสียชีวิต, ผลงานเด่นก็ล้วนจากหนังของ Shindo ทั้งนั้น อาทิ Children of Hiroshima (1952), Epitome (1953), Life of a Woman (1953), Onibaba (1964), Kuroneko (1968), The Strangling (1979), A Last Note (1995) ฯ
Yone แม่ของ Hachi มีความเป็นห่วงเป็นใยลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตนเองอย่างมาก โกรธเกลียดแค้นซามูไรที่พรากทุกสิ่งอย่างไปจากตน หลังเสียชีวิตก็มิอาจปล่อยวางได้ เลือกที่จะเวียนวนไปจนกว่าจะไม่มีซามูไรหลงเหลืออยู่บนโลก
ขณะที่ซามูไรหนุ่มทั้งหลาย กำลังถูกหลอกล่อโดยลูกสะใภ้ Shige ตัวเธอหลบไปร่ายรำ Noh ด้วยลีลาชดช้อย ปฏิบัติเป็นกิจราวกับพิธีการ แต่ดูเหมือนท่าทางแสดงออกของความเริงร่าพึงพอใจ จากหนึ่งในความสำเร็จที่สามารถคร่าชีวิตซามูไรได้สำเร็จ
ขนลุกขนพองไปกับใบหน้าของ Otowa โกนแล้ววาดคิ้วให้อยู่สูง จนเห็นโหนกตรงคิ้วนูนออกมา มีความแปลกประหลาดหลอนๆ (เหมือนแมว) ส่วนการแสดงมีความนิ่งเฉย สงบเสงี่ยมสุขุม อุดมการณ์ตั้งมั่น แต่ภายในคงปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง ทุกข์ทรมานใจสุดขีด, ฉากที่ Shige หลอก Hachi ปากคาบท่อนแขนขนแมวแล้วหลั่งน้ำตา มีความทรงพลังสะท้านกับสิ่งที่เธอตัดสินใจเลือก ยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อเวียนวนอยู่ในโลกแห่งความชั่วร้าย
Nakamura Kichiemon II (เกิดปี 1944) นักแสดงภาพยนตร์ ละคร Kabuki ได้รับการยกย่องว่าเป็น National Treasure (เทียบเมืองไทยคงคือ ศิลปินแห่งชาติ) เกิดที่ Kōjimachi, Chiyoda หลานของ Nakamura Kichiemon I สืบทอดการแสดง Kabuki ต่อจากปู่ แต่ไม่ใช่แค่ในโรงละครเวที มีผลงานทั้งภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์
Hachi ด้วยความตั้งมั่นเอาตัวรอดในสงครามเพื่อกลับไปหาภรรยาและแม่ ทำให้กลายเป็นวีรบุรุษสงคราม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นซามูไร แต่มันก็หามีค่าใดๆสำหรับเขาเมื่อพบว่าบ้านถูกเพลิงไหม้วอดวาย และทั้งสองสูญหายตัวอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งเมื่อได้รับรู้ว่าพวกเขากลายเป็นปีศาจแมวไปแล้ว ตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะตัดสินใจทำอย่างไรดี
การแสดงของ Nakamura Kichiemon II มีส่วนผสมของ Kabuki อยู่เต็มๆ (ผมไม่เคยรับชม Kabuki หรอกนะ แต่สังเกตจากการเคลื่อนไหว ท่าทาง การแสดงสีหน้า มันเหมือนได้อิทธิพลจากการแสดงละครเวที ซึ่งความเชี่ยวชาญด้าน Kabuki ของชายผู้นี้ ย่อมต้องคงส่งอิทธิพลมาแน่) ตอนที่ตัวละครรับรู้หลัง 7 วันว่าภรรยาหายตัวจากไปแล้วชั่วนิรันดร์ เขาทิ้งตัวทรุดลงนอนแผ่ราบลงกับพื้น ผมสะดุ้งโฮกเลย แอบรู้สึกมันเว่อไปหน่อยหรือเปล่า แต่พอมาครุ่นคิดว่าเป็น Expression ด้านการแสดง คงด้วยสไตล์ของ Kabuki ที่มักจะ Over-Acting แบบนี้ก็พอรับได้เลยละ รู้สึกว่ามันเจ๋งอยู่ที่แทรกใส่ความ Surrealist ได้อย่างแนบเนียน
Kiwako Taichi (1943 – 1992) นักแสดงจาก Tokyo มีผลงานอย่าง Kuroneko (1968), Live Today, Die Tomorrow! (1970), Zatoichi in Desperation (1972), Himatsuri (1985) ฯ
ลูกสะใภ้ Shige มีหน้าที่ลวงหลอกแล้วล่อซามูไรหนุ่มทั้งหลาย ให้เดินทางตามติดมาถึงสุดปลายป่าไผ่ พอตายใจด้วยสุราและนารีก็กัดคอ ดูดเลือด (ราวกับแวมไพร์) แล้วปล่อยร่างทิ้งไว้ในป่าไผ่, เมื่อครั้นได้พบเจอกับคนรัก Hachi ปล่อยโฮออกมาอย่างทรมาน ตัดสินใจเลือกช่วงเวลา 7 วันสุดท้าย เติมเต็มความสุขกายใจ ก่อนตกลงสู่ขุมนรก ชดใช้กรรมของตนเองตราบชั่วนิรันดร์
ความงามเยาว์วัยของ Taichi ทำให้ตัวละคร Shige สามารถดึงดูดหลอกล่อใจผู้ชาย/ซามูไรได้เป็นอย่างแนบเนียน ท่าทางการเดินแม้ในชุดกิโมโน แต่มีความโลดโผนคล่องตัว กระโดดไปมา พลิกตัวราวกับนักกายกรรม (แต่เหมือนแมวน้อยมากกว่านะ) ส่วนการแสดงไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก
Kei Satō (1928 – 2010) นักแสดงจาก Aizu ขาประจำของ Nagisa Oshima และ Kaneto Shindo โด่งดังกับ The Human Condition (1959), Night and Fog in Japan (1960), Harakiri (1962), Onibaba (1964), Kwaidan (1964), Zatoichi’s Vengeance (1966), Kuroneko (1968), The Ceremony (1971) ฯ
Minamoto no Raikō คือนักรบยอดฝีมือ ผ่านศึกน้อยใหญ่มามากทำให้มีประสบการณ์สูง ไต่เต้าจนกลายเป็นผู้บัญชาการซามูไร ปกติจะมี Shiten’ō (The Four Guardian Kings) เป็นองค์รักษ์อยู่ข้างกาย แต่ครั้งนี้กำลังจะได้มียอดนักรบคู่กายคนที่ 5 (ประวัติศาสตร์จริงๆไม่มีนะครับ) มอบฉายา Gintoki ให้กับ Hachi มอบหมายงานปราบปีศาจแมวดำ ถ้าทำสำเร็จตำนานในหน้าประวัติศาสตร์คงเปลี่ยนแปลงไปแน่
มาเรื่องนี้โกนหนวดโกนเครา หล่อเหลาจนแทบจำไม่ได้ แต่การแสดงยังคงมีความเข้มข้นทรงพลัง ถ่ายทอดออกมาทางสีหน้า ท่าทาง คำพูดคำจา หนักแน่นจริงจัง แต่ก็ทีเล่นทีจริง แสดงว่ามีความคอรัปชั่นลึกๆอยู่ภายในไม่น้อย
ถ่ายภาพโดย Kiyomi Kuroda ขาประจำของ Shindo, ใช้ลักษณะการถ่ายภาพแบบเดียวกับ Onibaba เพิ่มความเข้มแสง ทำให้ภาพออกมามีสีดำขลับ คมเข้มชัดกว่าปกติ แทบจะไม่มีสีเทาอ่อนปรากฎอยู่เลย
ถ้าบอกว่า A Touch of Zen (1971) คือหนังที่ถ่ายภาพสี ในฉากป่าไผ่ได้สวยงามที่สุด, Kuroneko จะคือหนังภาพขาว-ดำ ถ่ายฉากป่าไผ่ได้งดงามที่สุดเช่นกัน, นัยยะตรงกันข้ามกับดอกหญ้าใน Onibaba ที่เมื่อถูกสายลมพัดพริ้วไหว เปรียบได้กับเวลา/สิ่งต่างๆรอบข้างที่ดำเนินเคลื่อนผ่านไป ป่าไผ่ในหนังเรื่องนี้หนักแน่นมั่นคง ไม่โอนเอนผ่อนตามใคร ตั้งอยู่ราวกับทุกสิ่งหยุดนิ่ง (ช่วงเวลาแห่งความตาย ทุกสิ่งอย่างจะหยุดนิ่ง แช่แข็งทื่อ)
โดดเด่นกับการจัดแสง ด้วยการใช้พื้นหลังสีดำสนิท สามารถทำให้ทุกสิ่งอย่างรอบข้างยามค่ำคืนมีความมืดมิดแบบมองอะไรไม่เห็น ผู้ชมจะโฟกัสมองตามเฉพาะจุดที่ตัวละคร แสงสว่างส่องถึงเท่านั้น นี่ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างฉากทั้งหมดเต็มๆ และสามารถซ้อนภาพที่ไม่จำเป็นต้องถ่ายพร้อมกัน มีความรวดเร็วง่ายดายขึ้นด้วย
หนังมีการใช้ Long Shot เพิ่มมากขึ้นทีเดียว ทั้งตั้งกล้องแช่ทิ้งไว้เฉยๆ, เคลื่อนไหวไปมาอย่างเชื่องช้า ฯ นี่เพื่อการสร้างสัมผัสบรรยากาศให้กับหนัง และนักแสดงสามารถถ่ายทอด Kabuki, การเต้น Noh ฯ ปลดปล่อยความสวยงามทางการแสดงออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ
แช่กล้องทิ้งไว้ มุมกล้องช็อตเปิดเรื่องแทบจะอธิบายทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น
ช็อตนี้ไม่มีอะไรหรอกครับ แค่ผมชอบเจ้าแมวตัวนี้มากเลยเอาใส่เข้ามาเท่านั้นแหละ นี่เป็นช่วงเวลาไร้คำพูด แค่จากภาพที่เห็นก็สามารถอธิบายได้ทุกสิ่งอย่าง (ไม่แน่ใจนี่เป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Shindo หรือเปล่า จดจำได้จาก Onibaba ที่ 5 นาทีแรก ไม่มีบทพูดสนทนาดังขึ้นเลย)
ช็อตพระอาทิตย์ชวนพิศวงนี้ มันโผล่ขึ้นมากึ่งกลางจอราวกับธงชาติญี่ปุ่น ขณะที่ Hachi รีบควบม้าตรงดิ่งสู่เมืองหลวง เพื่อนำผลแพ้ชนะของสงครามไปแจ้งต่อ Minamoto no Raikō
เราสามารถมองฉากนี้มีนัยยะถึงการขึ้นปรากฎของพระอาทิตย์ นั่นคือ Hachi กำลังจะได้กลายเป็นซามูไร ชีวิตพบเจอความรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลย์
ตัดต่อโดย Hisao Enoki, แบ่งหนังออกได้เป็น 2 องก์ใหญ่ๆ ครึ่งแรกเล่าเรื่องผ่านมุมมองของแม่ยาย Yone กับลูกสะใภ้ Shige ก่อนและหลังความตาย ส่วนครึ่งหลังคือในมุมมองของ Hachi กับชีวิตสองโลกเช่นกัน
มันอาจไม่ค่อยกลมกล่อมเท่าไหร่ แต่ผมค่อนข้างชื่นชอบช่วงการเล่าเรื่องขณะสองปีศาจแมว ทำการหลอกลวงล่อฆ่าซามูไร 4 คนแรก มันเป็นกระบวนการที่ซ้ำๆเดิม หนังจึงใช้การเล่าเรื่องปูพื้นนานหน่อยสำหรับคนแรก แล้วรวบรัดนำเสนอเฉพาะส่วนแตกต่างสำหรับทั้ง 3 ที่เหลือ
ช่วงตัดต่อที่ผมประทับใจสุดคือ เทคนิค Montage ช่วงท้าย การเผชิญหน้าของ Hachi กับแม่ ตัดสลับภาพ Close-Up ใบหน้าของทั้งสองไปมา ที่ต่างสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกรวดร้าวที่อยู่ภายใน กับสิ่งที่ไม่อยากกระทำ แต่จำด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ พวกเขาจึงต้องต่อสู้กันให้รู้ผลกันไปข้างหนึ่ง
ตอนจบเกิดอะไรขึ้นกับ Hachi? ก็ไม่ได้ถูกทำร้ายทางกาย หรือบาดเจ็บสาหัสอะไร แต่เสียชีวิตเพราะสิ้นใจตาย ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จบสิ้นชีพลงที่อดีตบ้านอันมอดไหม้ของตนเอง, การตายนี้มีนัยยะสะท้อนถึง จุดจบของมนุษย์ที่ไม่หลงเหลืออะไรในชีวิต ครอบครัวพังทลาย บ้านมอดไหม้ อาชีพการงานสั่นคลอน หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง อยู่ไปก็เลยไร้ค่า
เพลงประกอบโดย Hikaru Hayashi นักแต่งเพลงแนว Contemporary เริ่มต้นด้วยเสียง Taiko นึกว่าจะมาแบบ Onibaba แต่หนังไม่ได้มีแค่รัวกลองอย่างเดียว นำเอากรับ และเครื่องดนตรีสาย (ที่ผมไม่รู้จัก) คงนำจากที่ใช้ในการแสดง Noh มาประกอบร่วมด้วยช่วยสร้างบรรยากาศความหลอกหลอนสั่นประสาท
เสียงรัวกลองมาพร้อมกับเสียง … (เครื่องดีดอะไรสักอย่าง) ฟังเหมือนเสียงหัวเราะเยาะเย้ย สมหน้าหน้า ในรูปแบบแมวคราง (แต่มันก็ไม่ค่อยเหมือนเสียงแมวเท่าไหร่นะ)
สำหรับเสียงที่โดดเด่นกว่าเพลงประกอบ คือ Sound Effect สายลมพัด จิ้งรีดเรไร เกือกม้ากระทบพื้น เสียงแมวคราง ฯ เสริมสร้างบรรยากาศให้เกิดความสมจริงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แมว เป็นสิ่งมีชีวิตที่แม้จะน่ารัก แต่มีความเย่อหยิ่ง เล่นตัว เวลาอยากได้อะไรก็ขี้ประจบประแจง ทำหน้าบ้องแบ๋วเรียกร้องความสนใจ กิจกรรมที่มันชื่นชอบคือ วิ่งไล่จับหนู (นี่จริงหรือเปล่าหว่า? เพราะที่บ้านผม พอมันเห็นหนูเห็นงูกลับวิ่งหนีเฉยเลย)
สองปีศาจแมวสาว ไล่จับซามูไร กระทำการแก้ล้างแค้นในสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นกับพวกเธอในอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนึ่งในบุคคลเหล่านั้นกลับกลายเป็นลูกในไส้ สามีแท้ๆของตนเอง นั่นกลายเป็นวินาทีหวนให้เกิดสติฉุกคิด สิ่งที่เหมารวมทำกันมามันมีค่าอะไร
– สำหรับภรรยาสาว ตัดสินใจเลือกที่จะปล่อยวางจากความแค้น ยอมรับชะตากรรมของตนเอง แลกกับช่วงเวลาที่หลงเหลืออยู่ ได้ทำในสิ่งจะไม่เสียใจเมื่อจากไป
– สำหรับแม่ เธอมิอาจตัดใจยินยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เลือกสานต่อความตั้งใจฆ่าล้างแค้น วนเวียนอยู่ในตัณหายึดติด เหมารวมแม้แต่ลูกในไส้แท้ๆของตนเอง ก็มิอาจขัดขวางเป้าหมายปลายทางนี้ได้
การล้างแค้น ในนิยามของผู้กำกับ Kaneto Shindo คงไม่ได้หมายถึงอารมณ์ความรู้สึก หรือการแสดงออก แต่คือแนวคิดของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง ทัศนคติมุมมองของผู้หญิงในสังคมยุคใหม่, ประมาณว่าแต่ก่อนเพศหญิงสัญชาติญี่ปุ่น มักมีสถานะเป็นช้างเท้าหลังเดินตามสามีเท่านั้น ไร้ซึ่งบทบาทใดๆในสังคม แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความพ่ายแพ้อันน่าอับอายขายหน้าของเหล่าผู้ชาย ทำให้พวกเธอต้องเริ่มที่จะก้าวขึ้นมาเดินเคียงข้าง ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อนำพาให้เอาตัวชีวิตรอด นี่คือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง เปรียบได้กับการล้างแค้นเอาคืน แต่ไม่ได้หมายถึงต้องฆ่าแกงใครเพื่อขึ้นมายิ่งใหญ่เหนือกว่า หรือกลายเป็นช้างเท้าหน้าในสังคม
ซึ่งในบริบทของหนังการแบ่งแยกเพศหญิงออกเป็น 2 กลุ่ม เทียบได้กับ
– ภรรยาสาวที่ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม คล้อยตามเพื่อให้ตนเองสามารถมีชีวิตอยู่เคียงข้างร่วมกับสามี แม้นั่นต่อไปจะทำให้เธอต้องดิ้นรนทุกข์ทรมานแสนสาหัสดั่งตกอยู่ในนรกก็ตามที
– แม่ที่ปฏิเสธยืนกรานเสียงแข็ง ไม่ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (มักกับคนรุ่นเก่าหัวโบราณ) ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเคยดำเนินปฏิบัติมา แม้นั่นจะทำให้เธอต้องเกิดความขัดแย้งกับบุคคลรักยิ่งที่สุดก็เถอะ
ก่อนหน้าที่ผมจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ บอกเลยว่าไม่รู้มาก่อนนี่เป็นประเด็นค่อนข้างอ่อนไหวทีเดียวในประเทศญี่ปุ่นสมัยนั้น สิ่งที่ผู้กำกับ Shindo นำเสนอออกมา คือทศวรรษแห่งช่วงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดทัศนคติของผู้คนในสังคม แม้ส่วนใหญ่แน่นอนว่าจะยังไม่แสดงออกยินยอมรับโดยทันที แต่จักค่อยๆมีโอกาส เพศหญิงมีบทบาทมากขึ้นตามกาลเวลา ว๊าว! นี่เป็นการแอบบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ ในบริบทที่คนส่วนใหญ่มองว่านี่คงเป็นเพียงหนัง Horror ปีศาจแมว ฆ่าล้างแค้นซามูไรเท่านั้น
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก การแสดง งานภาพ ตัดต่อ และเพลงประกอบ แต่ที่ไม่ตกหลุมรักเหมือนกับ Ugetsu หรือ Onibaba ด้วยเหตุผลที่ว่า มันมีกลิ่นอายคล้ายสองเรื่องนี้มากเกินไป เลยเกิดความกระอักกระอ่วน ไม่ประทับใจหนังมากเท่าที่ควรเป็น ทั้งๆความสวยงามถือว่าไม่ด้อยไปกว่าเสียเท่าไหร่ (แต่ถือว่าด้อยกว่านะครับ ในระดับที่ยังเป็นตำนานอยู่)
แนะนำเป็นพิเศษกับคอหนัง J-Horror เรื่องราวผีสาง เหนือธรรมชาติ, ชื่นชอบการครุ่นคิด วิเคราะห์ ตีความ, หลงใหลงานภาพสวยๆ, งานเพลงแนวทดลอง, ตำนานพื้นบ้าน folklore ของญี่ปุ่น, ทาสแมวทั้งหลาย และรู้จักผู้กำกับ Kaneto Shindo ห้ามพลาดเด็ดขาด
จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย และการกระทำชั่วร้ายต่างๆ อาทิ ร่านราคะ ฆ่าคนตายโดยไม่รู้สึกอะไร
Leave a Reply