Kwaidan (1965) : Masaki Kobayashi ♥♥♥♥
รวม 4 เรื่องเล่าผีญี่ปุ่น (Kaidan = Ghost Stories) ที่จะทำให้คุณขนหัวลุกพอง อกสั่นขวัญผวา ด้วยการเล่าเรื่องเนิบๆช้าๆ สร้างบรรยากาศอันเย็นยะเยือก ชวนให้เสียวสันหลังวาบ, คว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นติด 5 เรื่องสุดท้ายเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film
แม้ Oscar ปีนั้นจะพ่ายรางวัลให้กับ The Shop on Main Street (1965) ภาพยนตร์สัญชาติ Czechoslovakia -ส่วนตัวไม่เคยรับชมเลยบอกไม่ได้ว่าคู่ควรหรือเปล่า- แต่ในเรื่องความงามด้านการออกแบบและการถ่ายภาพ คิดว่า Kwaidan ไม่น่าจะพ่ายแพ้หนังเรื่องอื่นใดในปีนั้นแน่
ภาพรวมถือว่าหนังดูไม่ยากนะครับ การเล่าเรื่องมีความเรียบง่ายตรงไปตรงมา แต่คอหนังสมัยใหม่คงมิอาจทนต่อความเชื่องช้า เนิบนาบ ชวนให้หลับใหลได้เป็นแน่ ขณะรับชมให้ลองทำการนั่งทำสมาธิ สงบจิต จับลมหายใจเข้าออกไปด้วย แล้วคุณอาจจะพบว่าเวลากว่า 3 ชั่วโมงแห่งความงดงามนี้ ช่างแสนสั้นเสียกระไร
ว่าไปหนังเกือบล้ำเส้นความสมจริง (Realism) ไปสู่ความเกินจริง (Surrealism) เพราะพื้นหลังที่ใช้การวาดภาพ Matte Painting ภาพท้องฟ้า ทะเล ทุ่งนา ป่าเขา ฯ มีลักษณะผิดแผกแปลก แตกต่างไปจากธรรมชาติทั่วไปอย่างมาก เหมือนเพื่อต้องการสื่อสะท้อนนัยยะ Expression ของบางสิ่งอย่างออกมา, ขอมองว่าเป็นมีลักษณะคาบเกี่ยวกึ่งกลางระหว่างสองลัทธินี้แล้วกัน อันทำให้หนังยังคงความสวยงาม’เหนือ’กาลเวลา ได้รับการ Restoration เรียบร้อยแล้ว คมชัดระดับ 2K Digital โดย Criterion ความยาว 183 นาที (Director’s Cut) ทำเอาผมอ้าปากเหวอค้างในความงามอยู่หลายตลบเลยเดียว
Masaki Kobayashi (1916 – 1996) ผู้กำกับชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Otaru ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในงานศิลปะและปรัชญาตะวันออก เรียนจบเข้าสู่วงการภาพยนตร์เป็นผู้กำกับฝึกหัดที่ Shochiku Studios จับใบแดงกลายเป็นทหารถูกส่งไปที่ Manchuria ด้วยความเป็นคนต่อต้านสงคราม ปฏิเสธรับยศที่สูงกว่านายทหาร ทำให้ถูกจับเข้าคุกใน Okinawa Camp ได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 1946 กลับมาช่วยงานผู้กำกับ Kiesuke Kinoshita, ไต่เต้าจนกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Musuko no Seishun (1952), โด่งดังกับ Black River (1957), The Human Condition Trilogy (1959-1961), Harakiri (1962), Kwaidan (1964), Samurai Rebellion (1967), Tokyo Trial (1983) ฯ
ตัวตนของ Kobayashi เป็นคนธรรมะธัมโม ศึกษาพุทธศาสนา ต่อต้านสงครามความรุนแรง ผลงานจึงสะท้อนแนวคิด ปรัชญา ความเชื่อ เข้ากับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสิ่งที่ตนได้พบเจอในช่วงสงครามโลก, สไตล์หนัง มีความเชื่องช้า สงบนิ่งเงียบ (เหมือนการนั่งสมาธิ) ผสมเข้ากับการออกแบบศิลป์ที่มีความเป็นศิลปะชั้นสูง สามารถสร้างบรรยากาศที่สอดคล้องรับกับเรื่องราวได้อย่างลงตัว
Kobayashi มอบหมายให้ Yoko Mizuki นักเขียนขาประจำของ Tadashi Imai และ Mikio Naruse ดัดแปลงบทภาพยนตร์จากหนังสือรวมเรื่องผีของญี่ปุ่นของ Lafcadio Hearn (1850 – 1904) นักเขียนสัญชาติกรีก เมื่อปี 1890 เดินทางมาญี่ปุ่นในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศแต่กลับถูกลอยแพ ได้รับการช่วยเหลือจาก Basil Hall Chamberlain จัดหางานสอนหนังสือ คู่ครองแต่งงาน แถมยังมอบชื่อ Koizumi Yakumo ระหว่างนั้นมีโอกาสรับฟังเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้าน (Folklore) ทำให้เกิดแนวคิดเขียนหนังสือรวมเล่ม
หนังเลือกมาทั้งหมด 4 เรื่องประกอบด้วย
The Black Hair (黒髪, Kurokami) ดัดแปลงจากหนังสือ Shadowings (1900) ตอน The Reconciliation, เรื่องราวของซามูไรหนุ่ม (รับบทโดย Rentarō Mikuni) หย่าขาดกับภรรยาคนแรก (รับบทโดย Michiyo Aratama) เพราะความยากจน แต่งงานใหม่กับภรรยาคนที่สอง (รับบทโดย Misako Watanabe) เพื่อยกระดับฐานะให้ตัวเองกลายเป็นผู้ว่าการรัฐ แต่ระหว่างนั้นยังคงโหยหาคนรักเก่า เมื่อหมดวาระดำรงตำแหน่งจึงหวนกลับมาหา แต่ก็พบว่า …
The Woman of the Snow (雪女, Yukionna) ดัดแปลงจาก Kwaidan: Stories and Studies of Strange Things (1903), ที่จังหวัด Musashi คนตัดไม้หนุ่ม (รับบทโดย Tatsuya Nakadai) หลบพายุหิมะในกระท่อมน้อยหลังหนึ่ง เขาพบเห็นหญิงสาวในชุดขาว (รับบทโดย Keiko Kishi) ราวกับปีศาจ พ่นลมทำให้พ่อแข็งตายแต่ได้ไว้ชีวิตเขาเพราะยังมีความหนุ่มแน่น ด้วยข้อแม้ห้ามพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ หลายปีผ่านไปชายหนุ่มได้พบเจอให้การช่วยเหลือหญิงสาวคนหนึ่ง ตกหลุมรัก แต่งงาน มีลูก 3 คน เขาเผลอเล่าเรื่องในค่ำคืนนั้นให้เธอฟัง ปรากฎว่า…
Hoichi the Earless (耳無し芳一の話, Miminashi Hōichi no Hanashi) ดัดแปลงจาก Kwaidan: Stories and Studies of Strange Things (1903), เรื่องราวชายตาบอด Hoshi (รับบทโดย Katsuo Nakamura) อาศัยอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง มีความสามารถโดดเด่นด้านการดนตรี สามารถเล่น Biwa hōshi ได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเฉพาะบทเพลงตำนาน Tale of the Heike ยุทธการ Battle of Dan-no-ura (วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1185) การต่อสู้ระหว่างซามูไรสองตระกูล Taira กับ Minamoto ในสงคราม Genpei War (1180–1185) วันหนึ่งมีนักรบ (รับบทโดย Tetsurō Tamba) เดินทางมานำพาเขาไปเล่น Biwa ให้กับองค์จักรพรรดิรับฟัง แต่เพราะเป็นคนตาบอดจึงไม่รู้ว่าทั้งหมดนั้นคือใครหรือได้เสียชีวิตไปแล้ว วันหนึ่งหัวหน้าพระ (รับบทโดย Takashi Shimura) รับรู้เรื่องเข้า จึงได้เขียนหฤทัยสูตร (Heart Sutra) ลงบนทั่วตัวของ Hoshi ทำให้นักรบผู้นำทางนั้นมองไม่เห็นร่างของเขา แต่…
In a Cup of Tea (茶碗の中, Chawan no Naka) ดัดแปลงจาก Being Japanese Curios, with Sundry Cobwebs (1902), เรื่องราวของนักเขียนคนหนึ่ง (รับบทโดย Osamu Takizawa) กำลังรอคอยการมาถึงของบรรณาธิการ (รับบทโดย Ganjirō Nakamura) กำลังเขียนเรื่องราวของซามูไร Shikibu Heinai (รับบทโดย Noboru Nakaya) ผู้ซึ่งเห็นใบหน้าของชายแปลกหน้า (รับบทโดย Kei Satō) ที่ปรากฎในถ้วยชา
เหตุผลที่ Kobayashi เลือกทั้ง 4 เรื่องนี้ เพราะสามารถแทนได้ด้วยฤดูกาลต่างๆในรอบปี
– The Black Hair แทนฤดูใบไม้ร่วง (Fall)
– The Woman of the Snow แทนฤดูหนาว (Winter)
– Hoichi the Earless แทนฤดูใบไม้ผลิ (Spring)
– In a Cup of Tea แทนฤดูร้อน (Summer)
สำหรับชื่อหนัง ถือว่านำมาจากหนังสือ Kwaidan: Stories and Studies of Strange Things (1903) ที่ครึ่งแรกเป็นรวมเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้าน (Folklore) เกี่ยวกับผีปีศาจ ส่วนครึ่งหลังเน้นกับแมลง ที่เป็นตัวแทนของเรื่องราวเหนือธรรมชาติ อาทิ ผีเสื้อ, แมลงวัน, มด ฯ
คงต้องขอข้ามส่วนวิพากย์นักแสดงนี้ไปนะครับ (ถ้าเขียนทั้งหมด คงได้ยาวเกินแน่ๆ) แต่อยากให้สังเกตการแต่งหน้าโดย Shigeru Takagi เมื่อตัวละครมนุษย์เห็นผี ความหวาดกลัวทำให้ตื่นตระหนกจนสีหน้าซีดเผือก ผมเผ้าร่วงหล่นหงอกล้าน กลายเป็นผู้เฒ่าคนแก่ไปเลย (พระเอกตอน The Black Hair จะเห็นสภาพเด่นชัดเจนที่สุด) นี่มองได้ทั้งลักษณะการแสดงออกตรงๆของ (Expression) และเว่อเกินจริง (Surrealist)
ถ่ายภาพโดย Yoshio Miyajima ขาประจำของ Kobayashi, ถ่ายทำด้วยระบบ Tohoscope ขนาด 2.35:1 (เป็นเลนส์ Anamorphic ที่เลียนแบบ CinemaScope สร้างโดย Toho Studio) แลปสี Eastmancolor
บางครั้งกล้องตั้งอยู่เฉยๆ ตัวละครค่อยๆเดินคืบคลานจากด้านหนึ่งไปสุดอีกมุมหนึ่ง, การเคลื่อนไหวกล้อง มักจะกระทำอย่างเชื่องช้า เนิบนาบ ไม่รีบร้อน เราสามารถเร่งสปีด Fast Forward สัก 2-3 เท่าเพิ่มเข้าไป คงไม่ทำให้อรรถรสในการรับชมเสียแน่ๆ
ภาษาของการถ่ายภาพ มักมีลักษณะแทน Expression ของตัวละครในขณะนั้น ซึ่งแต่ละตอนของหนังจะมีความโดดเด่นที่แตกต่างออกไป
– The Black Hair กล้องชอบที่จะหมุนเอียงกระเท่เร่ (Dutch Angel) นัยยะถึงซามูไรหนุ่ม ที่ได้รับรู้พบเจอ ตระหนักถึงบางสิ่งอย่างที่ได้บังเกิดขึ้น มันทำให้แม้ขณะเดินยังไม่ตรง ส่ายไปมา ตกหลุมโน่นนี่ ไม่ดูตาม้าตาเรือ และเสียง Sound Effect ที่ได้ยิน ก็ใช่ว่าจะตรงกับภาพที่เกิดขึ้น (ประมาณว่าตัวละครหูดับไปแล้ว)
– The Woman of the Snow โดดเด่นกับภาพวาดพื้นหลัง และการเลือกใช้แสงสีต่างๆ แทนช่วงเวลาและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครขณะนั้น
– Hoichi the Earless นี่เป็นช่วงของเทคนิคภาพยนตร์ ฝนตก หมอกควัน การซ้อนภาพ ฯ โดดเด่นเรื่องการจัดวางองค์ประกอบภาพ, ฉากต่อสู้รบในสงครามทางน้ำ, บทเพลงบรรเลงขับร้อง Biwa และมีภาพของตัวละครที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของหนัง
– In a Cup of Tea แม้ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่การจัดแสงเงาสร้างบรรยากาศให้แตกต่างจากตอนอื่นๆ
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในโรงเก็บรถขนาดใหญ่ (hangar) สถานที่บริษัท Nissan เคยใช้จัดแสดงยานยนต์รุ่นล่าสุด (Motor Show) ร่วมงานกับ Art Direction โดย Shigemasa Toda สร้างฉากขนาดมหึมา แบ่งครึ่งสองโรงถ่าย วาดภาพพื้นหลังขนาดใหญ่ ให้ดูมีความสมจริง แต่แทรกใส่ลวดลายที่สื่อความหมายบางสิ่งอย่าง รวมถึงมีการใช้แสงสี
แสงตะวันอันร้อนแรงแผดเผา ถ้ามนุษย์เราจ้องมองตรงๆเห็นเบลอๆ ภาพวาดดวงอาทิตย์ฉากนี้จึงมีลักษณะแปลกๆ -อธิบายไม่ถูกสักเท่าไหร่- ราวกับมองเห็นได้ไม่ชัด
หลายครั้งพระอาทิตย์/ดวงจันทร์ มีลักษณะเหมือนดวงตา ที่เฝ้าคอยจับจ้องมองดูเหล่ามนุษย์แทบจะตลอดเวลา
ผมชอบช็อตนี้ที่สุดในหนัง พระอาทิตย์มีลักษณะเหมือนริมฝีปาก ใกล้ตกดินแสงสีเหลือส้ม สองตัวละครเดินขนานไปกับภาพไกลๆ เห็นเงาของพวกเขาสะท้อนพื้นผิวน้ำด้วย
สำหรับตัวละครที่ถือว่าเป็นจุดขายของหนัง ต่อยอดมาจาก Ugetsu (1953) คือการคัดลอกตัวอักษรหฤทัยสูตรด้วยภาษาญี่ปุ่น แต่สังเกตให้ดีจะมีจุดหนึ่งที่พระท่านลืมเขียน ทำให้ชายตาบอดผู้นี้ได้รับอีกฉายา ทนทุกข์ทรมานแบบคาดคิดไม่ถึง
เกร็ด: หฤทัยสูตร (The Heart Sūtra) หรือปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร คือพระสูตรในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายตามตัวอักษรว่า ‘พระสูตรอันเป็นหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง’ เป็นโศลกภาษาสันสกฤตจำนวน 14 โศลก แต่ละโศลกมี 32 อักขระ ได้รับการแปลเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง)
หัวใจหลักของหฤทัยสูตร ระบุว่า “รูปคือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าคือรูป รูปไม่อื่นไปจากความว่างเปล่า ความว่างเปล่าไม่อื่นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ว่างเปล่า”
ถ้าไม่เพราะรับชมหนังเรื่องนี้ ผมก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าชาวเอเชียกลา่ง มีพระสูตรบทนี้ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ใช้สวด/เขียน ไล่ผีได้ ทางฝั่งไทยคงจะไม่เคยได้ยิน เพราะเราเป็นฝ่ายเถรวาทกับธรรมยุติกนิกาย คงต้องคนที่นับถือมหายานเท่านั้นที่คงเคยได้ยิน
ตัดต่อโดย Hisashi Sagara อีกหนึ่งขาประจำของ Kobayashi, หนังแบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นตอนๆพร้อมชื่อเรื่อง มีเสียงบรรยายของ Osamu Takizawa ที่มารับเชิญในตอนสุดท้าย In a Cup of Tea สื่อนัยยะบ่งบอกว่าทั้ง 3+1 เรื่องราวที่ดำเนินมา คือสิ่งที่ตัวละครนี้กำลังเขียนส่งตีพิมพ์ แต่เพราะครุ่นคิดหาตอนจบไม่ได้ เลยปล่อยปลายเปิดไว้กับเรื่องราวสุดท้าย
การตัดต่อค่อนข้างเชื่องช้าและเนิบนาบ สอดคล้องรับการการถ่ายภาพ ไม่มีตัดแบบรวดเร็วหวือหวา หลายครั้งใช้การค่อยๆเฟดให้เกิดการแปรสภาพ (Morphing) นี่ทำให้หนังมีความหลอกหลอนยิ่งๆขึ้นไปอีก
เพลงประกอบโดย Toru Takemitsu (1930 – 1996) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับการยกย่องยอมรับจากชาวตะวันตก ในสไตล์พื้นบ้านคลาสสิก (Japanese Folk Song) ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Harakiri (1962), Woman in the Dunes (1964), Ran (1985) ฯ
บทเพลงในตอน Hoichi the Earless ขับร้องและบรรเลง Biwa โดย Tsuruta Kinshi ถ้าคุณฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออก ได้ยินบทเพลงนี้ย่อมสัมผัสได้ถึงความโหยหวน ล่องลอย หลอกหลอน ขนหัวลุกพอง แต่ถ้าคุณฟังออกเข้าใจ อาจจะมีน้ำตาคลอเบ้า เศร้าโศกรวดร้าวใจแทรกเข้ามาด้วยนะ
สรุปใจความของทั้ง 4 ตอน
– The Black Hair กว่าจะรู้ว่าสิ่งล้ำค่าสำคัญที่สุดนั้นอยู่ใกล้ตัว ก็มักสายเกินไปแล้วเสมอ
– The Woman of the Snow ข้อตกลง คำสัญญา คือสัจจะที่ต้องรักษาไว้ให้แม่นเหมาะ หลงลืมหรือละเลยเมื่อไหร่ ก็อาจจะพบเจอความสูญเสียจนใจสลาย
– Hoichi the Earless ความประมาทเลินเร่อ หรืออ้างว่าไม่รู้ คือหนทางสู่หายนะ
– In a Cup of Tea ความหวาดระแวงกับสิ่งเล็กน้อย อาจลุกลามบานปลายจนกลายเป็นหายนะ ในระดับเสียสติบ้าคลั่ง
จุดร่วมของทั้ง 4 เรื่องราว คือตัวละครหลักต่างขาดความพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นทำให้พวกเขากำลังได้พบเจอบทเรียน และข้อแลกเปลี่ยนที่จะต้องสูญเสียของรักของหวง บางสิ่งอย่างที่สำคัญสุดในชีวิตไป
รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เหมือนได้พบเห็นผลงานภาพเขียนศิลปะ ที่มีความงดงาม ลุ่มลึกล้ำ แฝงนัยยะความหมาย คติข้อคิดสอนชีวิต, เรื่องเล่าตำนานผีๆ ไม่ได้มีไว้แค่หลอกหลอนผู้คนให้อกสั่นขวัญผวาหวาดกลัว แต่ยังแฝงข้อคิดดีๆ เตือนสติให้ตระหนักรับรู้ หาสาเหตุผลจุดเริ่มต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา มีอะไรสามารถเตรียมตัวพร้อมรับมือ ป้องกันแก้ไข อย่าให้เรื่องราวอันแสนโหดโชคร้ายเหล่านี้ บังเกิดขึ้นกับตัวเองเลยนะ
เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงจะมีความชื่นชอบ Hoichi the Earless มากที่สุด แต่ส่วนตัวหลงใหล The Woman of the Snow ในความงดงามภาพวาดพื้นหลัง และการปลอมตัวของปีศาจสาว (ถ้าได้แฟนสาวสวยขนาดนั้น ต่อให้เป็นผีปีศาจมาหลอกหลอนก็ยินยอม)
ขณะที่ตอนขัดใจสุดคงเป็นเรื่องสุดท้าย In a Cup of Tea น่าจะเพราะเกิดข้อสงสัยรุนแรง ว่าทำไมใครๆถึงไปปรากฎหลบซ่อนอยู่ในแก้วชาได้ คิดมากเกินจนไม่หลอน ชื่นชอบน้อยที่สุด, จริงๆผมก็ยังขบคิดไม่ออก ถึงเหตุผลที่ทำไมคนหรือวิญญาณถึงสามารถเข้าไปติดอยู่ในถ้วยชา? แต่คาดเดาว่าอาจคล้ายสำนวนไทย ‘กบในกะลา’ เปรียบเทียบการยึดติดในความคิด ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือจากกรอบที่วางควบคุมไว้ หรือยังค้นไม่พบความพึงพอใจในสิ่งที่ตนต้องการ เลยสิงสถิตย์ติดอยู่ข้างในนั้น เห็นเป็นภาพหลอนสะท้อนออกมาด้านนอก
แนะนำกับคอหนัง J-Horror ชื่นชอบบรรยากาศอันเย็นยะเยือก เนิบๆช้าๆแต่ชวนให้เสียวสันหลังวาบ, สนใจตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านของญี่ปุ่น (Folk Tale), ศิลปิน จิตรกรนักวาดภาพ ชื่นชมความงดงามแฝงนัยยะของพื้นหลัง, แฟนๆผู้กำกับ Masaki Kobayashi และเหล่านักแสดงดังอย่าง Rentarō Mikuni, Tatsuya Nakadai, Takashi Shimura ฯ ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความหลอกหลอน เสียวสันหลังวาบ
สสสสส
เรื่องที่ 4 อยู่ในหนังสือ เรื่องผีผี หรือ ผีญี่ปุ่น สักเล่มนึง ของแลฟคาดิโอ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ถ้าเราเห็นเงาของคนอื่นในน้ำที่ไม่ใช้หน้าของเรา บางคนก็โชคดี แต่บางคนก็โชคร้าย ให้เตรียมตัวไว้เลย