L.A. Confidential (1997)
: Curtis Hanson ♥♥♥♡
นี่เป็นหนังรวมดารา (ที่ขณะนั้นอาจยังไม่ดังเท่าไหร่) อาทิ Russell Crowe, Guy Pearce, Kevin Spacey, Kim Basinger ฯ ในหนัง Neo-Noir อาชญากรรมของผู้กำกับ Curtis Hanson และเพลงประกอบโดย Jerry Goldsmith, คุณอาจไม่เข้าใจเรื่องราวที่โคตรซับซ้อนของหนังเรื่องนี้ แต่ฝืมือการแสดงของว่าที่ซุปเปอร์สตาร์ทั้งหลาย จะทำให้คุณจดจำหนังได้ไม่ลืมเลือน
Curtis Lee Hanson (1945 – 2016) ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์และนักเขียนบทสัญชาติอเมริกา, เกิดที่ Nevada โตขึ้นที่ Los Angeles, Hanson ไม่ใช่เด็กที่ขยัน เขาเรียนไม่จบ ออกมาเป็นช่างภาพ Freelance แล้วเป็น Editor นิตยสารภาพยนตร์, เริ่มต้นในวงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นนักเขียนบทร่วมในหนังเรื่อง The Dunwich Horror (1970) และได้กำกับหนังเรื่องแรก Sweet Kill (1973) ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา อยู่ในยุค 90s เรื่อง The Hand That Rocks the Cradle (1992) ที่ทำเงินอย่างมาก ตามมาด้วย The River Wild (1994) และเรื่องที่ประสบความสำเร็จที่สุด L.A. Confidential (1997) ที่ได้เข้าชิง Oscar 9 สาขา รวมถึง Best Picture และ Best Director ได้มาแค่ 2 (แพ้ให้ Titanic แทบทุกสาขา) หลังจากนี้ก็มีหนังอย่าง Wonder Boys (2000), 8 Mile (2002) และ In Her Shoes (2005) ที่คอหนังปัจจุบันน่าจะพอได้ยินชื่อบ้าง
Hanson เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Alfred Hitchcock และ Nicholas Ray กับหนังเรื่อง L.A. Confidential เขาได้เตรียมงานโดยศึกษาหนังเรื่อง In a Lonely Place (1950) นำแสดงโดย Humphrey Bogart, หลังจากร่วมกำกับหนังเรื่องสุดท้าย Chasing Mavericks (2012) กับ Michael Apted ก็รีไทร์ไปรักษาตัวโรค FTD (Frontotemporal Dementia-โรคสมองเสื่อม) ก่อนเสียชีวิตที่บ้านใน Hollywood Hills เมื่อวันที่ 20 กันยายนปี 2016 รวมอายุ 71 ปี
ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง L.A. Confidential เขียนโดย James Ellroy ตีพิมพ์มิถุนายนปี 1990 เป็นเรื่องที่ 3 ในจตุภาค L.A. Quartet ประกอบด้วย The Black Dahlia (เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Brian De Palma ฉายปี 2006), The Big Nowhere, L.A. Confidential และ White Jazz
ผู้กำกับ Hanson เล่าให้ฟังว่า เขาอ่านนิยายของ Ellroy มาหลายเล่มก่อนที่จะได้อ่าน L.A. Confidential สิ่งที่ทำให้เขาเลือกนิยายเรื่องนี้มาดัดแปลงไม่ใช่พล็อต แต่เป็นตัวละคร ‘สิ่งที่โดนใจฉันที่สุด ตัวละครในนิยายเรื่องนี้ เริ่มต้นไม่มีใครที่ฉันชอบเลย แต่พออ่านไปเรื่อยๆ กลับค่อยๆเริ่มชอบและเข้าใจพวกเขา’ (What hooked me on them was that, as I met them, one after the other, I didn’t like them – but as I continued reading, I started to care about them.) และนิยายเล่มนี้ทำให้ Hanson นึกถึง Los Angeles เมืองที่เขาอาศัยเติบโตขึ้น ในมุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน
Hanson ได้พบกับนักเขียนบท Brian Helgeland ขณะกำลังทำหนังเรื่อง The River Wild ทั้งสองมีความชื่นชอบในนิยายของ Ellroy เหมือนกัน ภายหลังได้ร่วมกันดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ ภายใต้สตูดิโอ Warner Bros. ที่ได้ลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 1990, Helgeland พูดถึงช่วงขณะที่พวกเขาดัดแปลงบทว่า ‘ได้เอาทุกฉากในนิยายที่ไม่ได้มี 3 ตัวละครตำรวจหลักออก แล้วผูกเรื่องราวให้มีความสอดคล้องเพิ่มเติมเข้าไป’ นี่ทำให้บางช่วงเวลา อาจเหมือนเรื่องราวมีการกระโดดข้ามอะไรบางอย่าง ‘เราต้องการให้ผู้ชมเกิดความท้าทาย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้หนังดูสะเปะสะปะจนจับใจความอะไรไม่ได้’
สำหรับการคัดเลือกนักแสดง หลังจาก Hanson ได้ดูหนังเรื่อง Romper Stomper (1992) นำแสดงโดย Russell Crowe ชื่นชอบอย่างมากจึงได้เลือกเขามารับบทนำ ชมว่า ‘Crowe เป็นคนที่มีบุคคลิกน่ากลัว น่าเกรงขาม แต่น่ารัก’ (repulsive and scary, but captivating), Crowe หลังจากอ่านบท ให้ความเห็นตัวละคร Bud White บอกว่า ‘เป็นคนอหังการที่โหดเหี้ยมแต่ยุติธรรม’ (self-righteous moral crusade), Crowe แสดงบทนี้โดยอ้างอิงมาจาก Sterling Hayden ในหนังเรื่อง The Killing (1959) กำกับโดย Stanley Kubrick ‘สำหรับความดิบเถื่อนของตัวละครนี้ ราวกับได้มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2’ (for that beefy manliness that came out of World War II”), ต้องบอกว่า Crowe หน้าละอ่อนมากับหนังเรื่องนี้ ว่าไปผมก็ไม่เคยดูหนังของเขาก่อน Gladiator (2000) เลยนะครับ แต่หลังจากเห็นการแสดงนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังยุคหลังๆของเขาอย่าง American Gangster (2007), Body of Lies (2008), The Nice Guy (2016) เหมือนว่า Crowe มักจะได้บทที่คล้ายๆกับตัวละครนี้อยู่เรื่อยๆเลย
สำหรับ Guy Pearce ได้รับเลือกจากการ Autition ผู้กำกับให้เหตุผลว่า ‘เขาเหมือนกับ Ed Exley ที่คาดหวังไว้มาก’ (was very much what I had in mind for Ed Exley.) แม้ Pearce ตอนแรกจะไม่ค่อยชอบตัวละคร Exley เสียเท่าไหร่ ในความเห็นแก่ตัวของเขา แต่เพราะความซื่อสัตย์ตรงต่อความสุจริต ผู้ชมจะค่อยๆยอมรับและชื่นชอบตัวละครนี้ นี่เป็นเหตุให้ Pearce ยอมรับเล่นบทนี้, ผมไม่ค่อยได้ดูหนังที่ Pearce เล่นสักเท่าไหร่ จดจำเขาได้จาก Memento (1999) เป็นนักแสดงที่สามารถเล่นกับจิตวิทยาตัวละครได้ยอดเยี่ยม (ก็นะ มีภรรยาเป็นนักจิตวิทยา) สำหรับบทนี้ เขาสามารถทำให้ผู้ชมไม่ชอบขี้หน้าได้ตั้งแต่ฉากแรกที่ออก ขณะใส่แว่นก็ดูเหมือนเป็นคนมีภูมิความรู้ แต่พอถอดออกมาก็หน้านักเลงดีๆนี่เอง พอสักกลางเรื่อง เขาก็สามารถทำให้เราค่อยๆเชื่อในตัวละครนี้ ว่าอาจมีดีกว่าที่เห็น และช่วงท้าย เชื่อว่าอาจมีคนหลงรักตัวละครนี้เลยละ
กับทั้ง Crowe และ Pearce ขณะนั้นพวกเขายังไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ใน Hollywood แต่ถือว่าพอมีชื่อเสียงใน Australia, Hanson เมื่อเลือกพวกเขาแล้ว แต่เพื่อกล่อมสตูดิโอให้ยอมรับ จึงได้ขอให้ทั้งสอง บันทึกเทปการแสดง แล้วเอาไปฉายให้โปรดิวเซอร์ดู, กระนั้นก็มีโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกนักแสดง Australian ถึง 2 คนในหนังอเมริกัน (จริงๆ Pearce เป็น British ส่วน Crowe เป็น New Zelander แต่ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่ Australia เลยเริ่มเป็นนักแสดงจากที่นั่น) ด้วยเหตุนี้ Hanson จึงได้ตัดสินใจเลือกนักแสดงที่มีชื่อเสียงหน่อยในบทสมทบอื่น
Kevin Spacey รับบท Jack Vincennes ตำรวจคนที่ 3, Hanson รู้สึกว่าตัวละครนี้ ต้องเป็นเหมือน ‘นักแสดงหนังดังท่ามกลางตำรวจ’ (a movie star among cops) ซึ่งขณะนั้น Spacey เป็นคนที่มี movie-star charisma สูงมาก มีผลงานก่อนหน้าอย่าง Seven (1995) และ The Usual Suspects (1995) รับบทตัวละครที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ชม จนใครๆคงจดจำภาพลักษณ์ของเขาได้ติดตา นี่น่าจะช่วยสร้างความสมจริงให้กับตัวละครมากขึ้น, สำหรับ Spacey เมื่ออ่านบทแล้วก็บอกว่านึกถึง Dean Martin จึงเอาบุคคลิกของนักแสดงดังคนนี้มาเป็นแบบอย่าง, การแสดงของ Spacey ต้องถือว่าอยู่ในช่วงพีคของการแสดงเลย บทนี้ทำให้เขาเหมือนเป็นดาวค้างฟ้าและลอยอยู่บนนั้น (จะมีนักแสดงสักกี่คน ที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ชม ในหนังแทบทุกเรื่องที่เล่นได้)
และบท Lynn Bracken (หญิงสาวที่หน้าเหมือน Veronica Lake [เป็นนักแสดงมีตัวตนจริงๆนะครับ]) ผู้กำกับเลือก Kim Basinger เป็นตัวเลือกแรกเลย เพราะรู้สึกว่า ‘ความสวยของเธอ สะท้อนเสน่ห์ความยิ่งใหญ่ในยุคทองของ Hollywood’ (was the character to me. What beauty today could project the glamor of Hollywood’s golden age?), ขณะเล่นหนังเรื่องนี้ Basinger อายุ 40 กลางๆ (แก่กว่า Russell Crowe ถึง 10 ปี) ไม่มีหนังฮิตมาตั้งแต่ Batman (1989) ซึ่งพอหนังฉาย ถือเป็นการฟื้นคืนชีพในวงการของเธอเลยก็ว่าได้, แม้การแสดงของ Basinger จะดูไม่มีอะไรมาก (เทียบไม่ได้เลยกับหนุ่มๆที่เค้นการแสดงกันออกมาแทบตาย) แต่ความสวยงามของเธอตราตรึงและโดดเด่นมากๆ เกินหน้าเกินตานักแสดงคนอื่นในหนัง นี่ทำให้เธอเป็นนักแสดงหนึ่งเดียวในหนังที่ได้เข้าชิงและคว้า Best Supporting Actress จากทั้ง Oscar และ Golden Globe Award
นักแสดงทบทบอื่น ที่หลายคนน่าจะรู้จักอย่าง James Cromwell และ Danny DeVito ก็มาช่วยสร้างสีสัน แย่งซีนความโดดเด่นได้ไม่น้อย
เกร็ด: ใครอยากดู Russel Crowe กับ Kim Basinger ในหนังเรื่องเดียวกันอีก ไปหา The Nice Guys (2016) มาดูนะครับ
ถ่ายภาพโดย Dante Spinotti ชาวอิตาเลี่ยน, กับหนังเรื่องนี้ งานภาพอาจไม่ค่อยให้บรรยากาศแบบหนังนัวร์เท่าไหร่ เพราะไปถ่ายยังสถานที่จริงเน้นใช้แสงธรรมชาติเป็นหลัก แต่มีการเล่นมุมกล้องแปลกๆที่แฝงความหมายเหมือนหนังนัวร์อยู่, ถ้าสังเกตให้ดีๆ จะพบว่ามุมกล้องมี 3 ระดับ คือมุมเงย ระดับสายตา และมุมก้ม ผมจับจุดนี้ได้ขณะภาพช็อตหนึ่งถ่ายตัวละคร Danny DeVito พี่แกตัวเตื้ยป้อม แต่กลับถ่ายมุมเงย ให้ตัวละครรู้สึกมีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ นี่มีนัยยะแสดงถึงทัศนคติของตัวละคร ที่มองว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า หรือกำลังดูถูกฝ่ายตรงข้ามอยู่ (ใครเคยดู Citizen Kane มาแล้ว จุดนี้น่าจะเข้าใจได้ทันที) แต่นี่อาจต้องใช้การสังเกตหน่อยนะครับ เพราะระดับของมุมกล้องไม่ได้ชัดเจนในทุกระดับที่ผมบอกไป ซึ่งหลายๆฉากเห็นชัดเจน ก็มักมีลักษณะมุมกล้องสื่อความหมายเช่นนี้
ผู้กำกับ Hanson ต้องถือว่ารู้ทุกซอกทุกมุมของ Los Angeles เป็นอย่างดี (ก็เขาเติบโตจากที่นี่) นี่ทำให้เขาสามารถเลือกสถานที่ถ่ายทำ ที่สามารถถ่ายทอดบรรยากาศของเมืองนี้ออกมาได้สมจริงมากๆ เห็นว่าใช้สถานที่ถ่ายทำถึง 45 แห่ง (ก็แน่ละ Crime Scene ของหนังเรื่องนี้กระจายไปทั่วเมืองเลย)
ตัดต่อโดย Peter Honess ชาวอังกฤษ, เนื่องจากหนังมีตัวละครหลัก 3 คน จึงใช้การตัดต่อสลับมุมมองไปมาระหว่างทั้ง 3 ในการดำเนินเรื่อง (นี่ก็ยังถือว่าเคารพสไตล์ Noir นะครับ เพราะทุกฉากในหนังจะต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่อยู่ในซีนนั้น) ผมไม่แน่ใจมีฉากไหนไหมที่ทั้ง 3 อยู่ในช็อตเดียวกัน (น่าจะมีนะครับ แต่คงไม่กี่ฉาก เพราะพวกเขาไม่ค่อยชอบขี้หน้ากัน เลยไม่น่าอยู่ฉากเดียวกันบ่อย), ความน่าสนเท่ห์ของการตัดต่อ คือการแอบซ่อนตัวร้ายไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง และฉากสำคัญๆอื่น เมื่อเรารู้ตอนจบแล้วย้อนกลับไปมองหาดู ก็จะเห็นเศษขนมปังที่หนังโรยไว้อยู่เด่นชัดมากๆ นี่ถือเป็นสไตล์ของนัวร์ที่คนดูครั้งแรกย่อมเกิดความพิศวงหลงใหลชื่นชม แม้การดูครั้งที่ 2-3 อาจจะไม่ตื่นเต้นระทึกเท่าไหร่แล้ว แต่ก็จะได้สังเกตเห็นเศษขนมปังที่กระจายอยู่เกลื่อนกลาดชัดเลยละ
เพลงประกอบโดย Jerry Goldsmith ได้โอกาสมาทำแทน Elmer Bernstein ที่ถอนตัวไป, บรรยากาศเพลงมีความอึมครึม ทะมึนตามสไตล์นัวร์ มีหลายครั้งที่จะได้ยินเหมือนเสียงเข็มนาฬิกาวินาทีเดิน แสดงว่าเรื่องราวขณะนั้นกำลังแข่งกับเวลา, Trumpet และ Flügelhorn บรรเลงโดย Malcom McNab นี่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับหนังพอสมควร ใช้ประกอบหลายอารมณ์ด้วย อาทิ Love Scene สร้างความยั่วยวนหลงใหล, Action ตื่นเต้นระทึกพิศวง ฯ, ก่อนหน้านี้ Jerry Goldsmith เคยทำเพลงประกอบให้หนังเรื่อง Chinatown (1974) ซึ่งเป็นแนว Neo-Noir เหมือนกับเรื่องนี้นะครับ แม้สไตล์ดนตรีจะต่างกัน แต่เราจะสัมผัสถึงกลิ่นอายบางอย่างจะมีความคล้ายคลึงกัน (ใครฟังเพลงบ่อยจะจับสไตล์ของ Goldsmith ได้)
มีนักวิจารณ์ยกย่อง L.A. Confidential ว่าเป็น Chinatown ในยุค 90s นี่ไม่ผิดเลย
ใจความของหนังเรื่องนี้ มีตำรวจ 3 คน แต่ละคนมีความเชื่อ มุมมองใน ‘ความยุติธรรม ความถูกต้อง’ ที่ต่างออกไป
1) Exley เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เชื่อมั่นในความถูกต้อง และหนทางที่เหมาะสม ใช้สติปัญญาตอบโต้กับปัญหา (นี่คือเหตุผลที่ตัวละครต้องใส่แว่น ให้ดูเป็นคนฉลาด)
2) Jack แม้จะเป็นหน้าเป็นตาของตำรวจ แต่รับสินบนใต้โต๊ะ มีเส้นสายมากมาย (หน้าตาเขาเลยเนียบสุดๆ) ครึ่งแรกจะดูเป็นตำรวจเลวๆ แต่ครึ่งหลังเหมือนจะเริ่มกลับตัวได้
3) Bud ซื่อสัตย์สุจริต เชื่อมันในความถูกต้อง รักพวกพ้อง แต่มีอารมณ์ฉุนเฉียว ใช้ความรุนแรงตอบโต้กับปัญหา (หน้าตาเลยออกนักเลงที่น่าเกรงขามโคตรๆ)
เริ่มแรกเมื่อหนังแนะนำเรารู้จักทั้ง 3 อาจมีคนที่ไม่ชอบเลยสักสักคน หรือบางคนชอบ Bud เกลียด Exley นี่ถือเป็นปกตินะครับ เพราะเรื่องราวจงใจให้รู้สึกเช่นนี้อยู่แล้ว ต่อมาเราจะได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา สาเหตุที่มาเป็นตำรวจ พื้นหลัง ทัศนคติ ฯ นี่จะทำให้เราเข้าใจตัวตน พื้นฐาน นิสัย บุคคลิกที่พัฒนากลายเป็นปัจจุบัน นี่ทำให้ทัศนคติของผู้ชมต่อแต่ละตัวละครค่อยๆเปลี่ยนไป กับคนที่เกลียด Exley ตั้งแต่แรก เมื่อพอเริ่มเข้าใจเขา หนังจบอาจจะรู้สึกชอบขึ้นมาเลยก็ได้
เช่นกัน กับตัวละครที่ไม่ชอบขี้หน้ากันตั้งแต่แรก Bud และ Exley เมื่อได้รู้จักทำความเข้าใจ แข่งขันกัน(ทุกเรื่อง) และมีเรื่องชกต่อยกัน ทั้งสองก็สามารถกลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนตาย ต่อสู้เป้าหมายเดียวกันได้, นี่แสดงถึง ใจความของหนังเรื่องนี้ สะท้อนความรู้สึกของผู้ชมผ่านความรู้สึกของตัวละคร ‘จากเกลียดเป็นชอบ’ ไม่ใช่กับความรู้สึกของผู้ชมเท่านั้น แต่ยังความรู้สึกของตัวละครเองด้วย, นี่เป็นสิ่งที่ทำให้นักวิจารณ์ ต่างชื่นชมยกย่องหนังอย่างมาก
ผมสังเกตใบหน้าของตัวละครหลัก 3 ตัวที่รอดชีวิตจนถึงตอนท้าย มันต้องมีรอยช้ำ (จากการโดนต่อย) นี่ผมคิดไม่ถึงเหมือนกัน มีนัยยะแสดงถึงการเสียหน้า บอบช้ำจากการแสดงออกของตนเอง, ส่วน Exley ที่เข้าเฝือกแขนข้างหนึ่ง เพราะเหมือนเขาได้สูญเสียคนที่เปรียบเหมือนเป็นมือซ้ายของเขาไป (การตายของใครสักคน)
กับหนังนัวร์ มักจะตีแผ่ด้านมืดของสังคมหรือจิตใจมนุษย์, หนังเรื่องนี้ตีแผ่ความชั่วร้ายที่แฝงอยู่ในมุมมืดของ Los Angeles ในยุค 50s เห็นว่าหลายเรื่องราวอ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริง อาทิ Bloody Christmas ที่ตำรวจเมาซ้อมนักโทษปางตาย (เพราะนักโทษดันไปทำร้ายตำรวจสองคน), Mickey Cohen คนนี้เป็นเจ้าพ่อตัวจริงใน L.A. นะครับ ถูกจับข้อหา… แบบเดียวกันในหนังนะแหละ, LAPD Goon Squad ที่จะลักพาตัวนักเลง แล้วไปทรมาน ขู่ฆ่าเพื่อจะเข้นความจริงบางอย่าง, Lana Turner เดทกับ Johnny Stompanato จริงๆ (แต่พวกเขาเดทกันปี 1957 ไม่ใช่ 1953) ฯ
ชื่อหนัง L.A. คือ Los Angeles, ส่วน Confidential เป็นชื่อนิตยสารแผงลอยในยุค 50s (ในหนังใช้ชื่อ Hush-Hush) ก่อตั้งโดย Robert Harrison วางจำหน่ายครั้งแรกธันวาคมปี 1952 (ช่วงแรกเป็นรายสัปดาห์ แต่หลังจากสิงหาคม 1953 เปลี่ยนเป็นรายปักษ์) ยอดขายว่ากันว่าเป็นล้านๆฉบับ มักจะลงข่าว gossip ดารา เรื่องอื้อฉาว ใครเล่นยาและมั่ว Sex ฯ นิตยสารเล่มนี้ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 1978 (หลังจาก Harrison เสียชีวิต) ต้องถือว่า Confidential เป็นต้นกำเนิดของนิตยสารเชิง Paparazzi ที่หลังจากได้รับความนิยมล้นหลาม ก็มีนิตยสารแนวนี้เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน
Roger Ebert นักวิจารณ์ชื่อดังเล่าว่า การดูหนังเรื่องนี้เหมือนรู้สึกกำลังอ่านนิตยสาร Confidential ที่ตอนยังเด็กๆ พ่อซื้อนิตยสารเล่มนี้มาแล้วเขาได้แอบอ่าน มันช่างตื่นเต้น ตื่นใจ ที่ได้ล่วงรู้ลึกความจริงที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน เช่นกันกับหนังเรื่องนี้ มีเรื่องราวอะไรก็ไม่รู้เกิดขึ้นมากมาย แต่ละเรื่องล้วนมีความพิศวง สนเท่ห์ ล้วงลึก เจาะลึก ตีแผ่บางสิ่งบางอย่าง ยิ่งดูยิ่งใคร่สนใจใคร่ติดตาม
หนังได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes แม้จะขัดกับความต้องการของ Hanson ที่มองว่าเทศกาลนี้ไม่ค่อยต้อนรับหนังระบบสตูดิโอเท่าไหร่ แต่เมื่อฉายแล้วได้รับคำวิจารณ์อย่างดี แม้หนังจะไม่ได้รางวัลอะไรแต่ก็สร้างกระแสความสนใจได้ไม่น้อย, ฉายในอเมริกา 19 กันยายนปี 1997 ด้วยทุนสร้าง $35 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $64.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $126.2 ล้านเหรียญ
เข้าชิง Oscar 9 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture (แพ้ให้กับ Titanic)
– Best Director
– Best Actress in a Supporting Role (Kim Basinger) **ได้รางวัล
– Best Writing, Adapt Screenplay **ได้รางวัล
– Best Cinematography
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Sound
– Best Film Editing
– Best Music, Original Dramatic Score
ถึงหนังจะไม่ได้ Oscar แต่ในประวัติศาสตร์ของรางวัลนักวิจารณ์ (Big Four Critics Award) ประกอบด้วย National Society of Film Critics, New York Film Critics Circle, Los Angeles Film Critics Association และ National Board of Review มีหนังเพียง 3 เรื่องที่เหมา 4 รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นอกจาก L.A. Confidential ก็มี Schindler’s List (1993) และ The Social Network (2010)
ส่วนตัวผมแค่โอเคกับหนังนะครับ มองว่า Overrated ไปเสียหน่อยด้วย คือนอกจากการแสดงของ 3-4 ยอดฝีมือที่เป็นตัวชูโรงของหนังแล้ว อย่างอื่นของหนังก็ระดับมาตรฐาน รู้สึกว่าความยอดเยี่ยมเกินหน้าเกินตาของนักแสดง ทำให้ทุกสิ่งอย่างในหนังดูดีไปหมด, ซึ่งเนื้อเรื่อง มีหลายจุดที่ผมรู้สึกว่าไม่ make sense เสียเลย อาทิ ทำไม Exley ถึงมี Sex กับ Lynn (นี่ผมคิดยังไงก็คิดไม่ตก เพราะเธอเป็น whore งั้นเหรอ?) มันเหมือนว่าฉากนี้ก็เพื่อให้มีภาพหลุดแอบถ่าย และคำพูดเท่ห์ๆของเธอที่ว่า ‘I thought I was helping you!’ เท่านั้น?, และตอนที่ Bud รู้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มีเรื่องชกต่อยกับ Exley พอเป็นพิธี แล้วก็ให้อภัยกัน ง่ายๆแบบนั้นเลยเหรอ! มันขาดจุดที่จะกระชากอารมณ์ให้ผู้ชมรู้สึกว่าทั้งสองหยุดทะเลาะกันได้ เหมือนแค่ Bud แก๊สหมด หมดแรงหรือยังไงนี่แหละ แล้วทั้งคู่ก็เริ่มพูดคุยกัน และเข้าใจกันโดยทันที (จุดนี้ผมชอบมากกว่าถ้าเป็นแบบ คู่หูที่เข้าใจกันที่สุดแต่เกลียดขี้หน้ากันที่สุด)
แนะนำกับคนชอบหนังแนว Noir ที่มีความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน, แนวสืบสวนสอบสวน ฆาตกรรมอำพราง ดำเนินเรื่องแถวๆ L.A. Hollywood, ใครเป็นแฟนของ Russell Crowe, Guy Pearce, Kevin Spacey, Kim Basinger, Danny Devito จะพลาดได้ยังไง
แนะนำอย่างยิ่งกับตำรวจ นักสืบ สายอาชญากรรม หนังน่าจะเปิดมุมมองโลกทัศน์บางอย่างของคุณได้
จัดเรต 15+ มีฉากความรุนแรงและฆ่ากันตาย
Leave a Reply