L’Avventura (1960) : Michelangelo Antonioni ♥♥♥♥♡
(8/12/2016) ภาพยนตร์บางเรื่อง จำต้องใช้ประสบการณ์ในการดูหนังที่ค่อนข้างสูง และใช้หัวสมองคิดวิเคราะห์เป็นอย่างมาก, ถ้าคุณมีสองสิ่งนี้พร้อมเมื่อไหร่ ก็ค่อยลองหา L’Avventura ของ Michelangelo Antonioni มาท้าพิสูจน์ดูนะครับ เมื่อนั้นคุณก็อาจเห็นสัจธรรมบางอย่าง ที่มีคุณค่ามากกว่าคนทั่วไปจะสามารถมองเห็นได้
“I want the audience to work,”
– Michelangelo Antonioni
ตอนผมดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ขณะนั้นรู้ตัวเองโดยทันที ว่ายังไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจหนังเรื่องนี้ หลายอย่างคิดวิเคราะห์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ นี่มันหนังเกี่ยวกับอะไรกัน? แต่ก็ฝืนเขียนบทความด้านล่างไป ส่วนหนึ่งอ้างอิงความเข้าใจมาจากบทความวิจารณ์ต่างประเทศ อ่านดูก็พอรู้เรื่อง แต่มันยังไม่ชัดเจน ใกล้เคียงความถูกต้องทั้งหมด
การรับชมครั้งนี้ เป็นความตั้งใจตั้งแต่เขียน La Notte (1961) และ L’Eclisse (1962) เพราะผมรู้ตัวว่าได้สะสมประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ จนสามารถเข้าใจ คิดวิเคราะห์หนังได้ในระดับที่น่าพึงพอใจแล้ว จึงมีความต้องการปรับปรุงบทความเก่าๆ ที่ยังรู้สึกเขียนได้ไม่ประทับใจตนเอง ไม่น่าเชื่อว่าแค่ 6-7 เดือน เราก็สามารถมองโลกต่างออกไปจากเดิมได้
แนะนำให้ลองอ่าน บทความข้างล่างโน่นดูก่อนนะครับ แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านบทความข้างบน แล้วคุณจะเห็นพัฒนาการความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะต่างกันได้ขนาดนี้เลยเหรอนี่
Anna (รับบทโดย Lea Massari) เพื่อนสนิทของ Claudia (รับบทโดบ Monica Vitti) ได้หายตัวไประหว่างการพักร้อนที่เกาะแห่งหนึ่งในทะเล Mediterranean ไม่มีใครรู้ว่าเธอหายไปไหน? เพราะอะไร? หรือมีเรื่องทะเลาะกับแฟนหนุ่ม Sandro (รับบทโดย Gabriele Ferzetti) แต่ที่รู้แน่ พวกเขาไม่ได้แยแส สนใจที่จะออกตามหาเธออย่างจริงจัง ผ่านไปไม่กี่วัน Sandro และ Claudia ก็ได้ตกหลุมรัก นอกใจเพื่อน/แฟน เรียกได้ว่ากลายเป็นชู้กันเสียแล้ว
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า หน้าหนัง ที่ถ้าคุณตั้งใจดูอย่างเดียวก็คงสามารถเข้าใจได้ประมาณนี้ แล้วก็เกาหัว เพราะไม่รู้ว่าสาระ ใจความสำคัญของหนังคืออะไร, เมื่อนี่เป็นหนังของ Antonioni ที่ขึ้นชื่อลือชา เรื่องการท้าทายให้ผู้ชมคิดวิเคราะห์ เราต้องทำการแปล ตัวละคร/เรื่องราว ลักษณะรูปธรรมเหล่านี้ ให้กลายเป็นนามธรรมทั้งหมด ถึงจะสามารถเข้าใจได้ว่า แท้จริงแล้วหนังเรื่องนี้ มีใจความว่าอะไร
Anna คือหญิงสาวที่มีความใคร่สงสัยในชีวิต ไม่เข้าใจตัวเองว่าต้องการอะไร ทดลองแยกอยู่กับแฟนหนุ่มเพื่อใช้เวลาค้นหาตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไม่พบ ยังไม่เข้าใจว่า ‘ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร?’, การกระทำของเธอหลายๆอย่าง ดูไม่มีเหตุผล เช่น ปากบอกไม่อยากขึ้นห้องไปหาแฟนหนุ่ม แต่พอขึ้นไปแล้วก็มี Sex กับเขา, ขณะล่องเรือ มีคนพูดว่าอยากว่ายน้ำ แล้วเธอก็กระโดดลงไปเลย, ว่ายอยู่ไม่นานก็เบื่อ ตะโกนหลอกคนอื่นว่าเห็นฉลาม ฯ ไม่มีใครเข้าใจเธอ ว่าทำไปเพื่ออะไร ตัวเองก็อาจไม่เข้าใจด้วยว่าทำไปเพื่ออะไร แต่หนังก็มีเหตุผลที่ให้เธอทำตัวแบบนี้ เพื่อเป็นการค้นหาทุกความเป็นไปได้ของการมีชีวิต, ครั้งสุดท้ายที่เห็นเธอในหนัง กำลังคุยทะเลาะกับ Sandro แฟนหนุ่ม ที่สนแค่จะแต่งงานกับเธอ ไม่รับฟังปัญหาใดๆ พูดว่า แค่รักกันก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ นั่นทำให้เธอตัดสินใจหายตัวไป เพราะรู้ว่า การแต่งงาน มีชีวิตคู่ไม่ใช่เป้าหมายแท้จริงของชีวิตแน่ๆ
การหายไปตัวไปของ Anna ได้กลายเป็นเป้าหมายให้กับ Claudia และ Sandro ที่ทั้งสองจะได้ออกตามค้นหาเธอ, เราสามารถเปรียบ Anna ได้กับ ‘เป้าหมายของชีวิต’ เพราะเธอมีความใคร่สงสัยในการมีชีวิต
Sandro ที่หลังจาก Anna ได้หายไป ในช่วงแรกเหมือนเขาจะมีความสนใจตามหาเธอ แต่ไม่นานนักก็ยอมแพ้ หนีไปก็ดีฉันจะได้หาแฟนใหม่ เป้าหมายชีวิตของชายคนนี้เปลี่ยนแปลงง่ายมาก เขาเป็นคนที่ ถ้ารู้ว่าปลายทางไม่มีวันค้นพบ/สำเร็จได้ ก็จะเบี่ยงเบนเป้าหมายในทันที เรียกได้ว่า สนใจเฉพาะความสุขข้างหน้าที่มองเห็น เป้าหมายไกลๆนั้นไม่สนใจ
Claudia ผู้มีศรัทธา เชื่อมั่นใน Anna การหายตัวไปของเธอสร้างความตื่นตระหนก หวาดกลัวอย่างยิ่ง พยายามทำทุกวิธีทาง ออกค้นหาทุกเกาะ ตั้งมั่นแน่วแน่ว่าจะต้องหาเจอให้ได้, ช่วงแรกๆถือว่าเป็นคนที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว แม้แต่ Sandro ที่พยายามเกี้ยวพาราสี ก็พยายามหลีกเลี่ยง บอกปัด แต่จนแล้วจนรอดหาไม่พบสักที ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดี สุดท้ายจึงเริ่มทำใจได้ ยอมแพ้ รู้ตัวแล้วว่าชาตินี้คงไม่ได้พบเจออีก, ตัวละครนี้แสดงถึงความพยายามในการค้นหาเป้าหมายปลายทาง แต่ก็ไปไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้แล้ว ยังค้นหาไม่พบ ไม่รู้ว่าจะเจอเมื่อไหร่
ในความคิดของชาติตะวันตก มนุษย์เราก็มีอยู่ 2 ประเภทนี้แหละครับ กับการค้นหาเป้าหมายชีวิต
1) ไม่ได้คิดจะค้นหาจริง แค่ทำเหมือนจะสนใจ แต่จริงๆขอแค่อะไรอยู่ข้างหน้า คว้าถึงก็เอาหมด
2) ค้นหาแบบจริงจัง ในทุกรูปแบบที่จะหาค้นได้ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่พบ จึงยอมรับในสิ่งที่ตนมี
ความพ่ายแพ้ของ Sandro และ Claudia ในการค้นหา Anna ไม่เจอ เปรียบได้กับ ‘ความพ่ายแพ้ในการค้นหาเป้าหมายชีวิต’ แต่ไม่ใช่ว่ายอมแพ้แล้ว ทุกสิ่งอย่างจะจบลงนะครับ พวกเขายังคงต้องมีชีวิตต่อไป ซึ่งสิ่งที่พวกเขาคิดได้คือ เปลี่ยนแปลงเป้าหมาย, เมื่อค้นหาเป้าหมายหนึ่งไม่เจอ วิธีการง่ายสุดคือสร้างมันขึ้นมาเอง และกำหนดให้ตัวเองเดินไปทางนั้น Sandro เลยเข้าหา Claudia และเธอก็ยินยอมพร้อมใจในที่สุด
ผมเชื่อว่า Michelangelo Antonioni คงมีความสงสัยใน คำถามปรัชญาชีวิตมนุษย์ ‘เกิดมาเพื่ออะไร?’ มานมนาน นี่เป็นคำถามที่ชาวตะวันตก สงสัยพูดคุยกันมาตั้งแต่ครั้นกาลนาน สมัยกรีก-โรมันโบราณ หรือก่อนหน้านั้นเสียอีก ซึ่งยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบนี้ได้เลย, สิ่งที่เขาทำในหนังเรื่องนี้ คือการนำเสนอปริศนาธรรมที่น่าพิศวงนี้ เทียบการไม่รู้กับการหายตัวไป ทิ้งเป็นเรื่องราวให้ใครต่อใครได้ขบคิด ลองวิเคราะห์ช่วยค้นหาคำตอบให้ที … แต่เขาคงไม่ได้คาดหวังอะไรกับผู้ชม กับคำตอบของปริศนานี้นะครับ เพราะส่วนใหญ่คงเป็นคำตอบเฉพาะหน้าที่แบบทั้ง Sandro และ Claudia พบเจอ ไม่ใช่ เป้าหมายชีวิตจริงๆ
ถ้าคุณเป็นชาวตะวันออก ลองถามตัวเองดูหน่อยแล้วกัน สามารถตอบ ปริศนาธรรม ข้อนี้ได้หรือเปล่า? ‘มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร?’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นชาวพุทธ นี่เป็นคำถามที่มีคำตอบ นักปราชญ์ผู้หนึ่งได้ตอบคำถามนี้มากว่า 2,500 ปีแล้ว แต่แค่คุณจะเชื่อและยอมรับหรือเปล่าเท่านั้น
ผมขอนำเสนอการวิเคราะห์อีกมุมหนึ่งของหนัง ในแนวทางที่การันตีได้ว่า ผู้สร้างคงไม่ได้คิดถึงสิ่งนี้แน่ แต่มันสามารถเปรียบได้พอดีกันเปะๆเลย
เป้าหมายชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์คือ นิพพาน การปล่อยวางและละทุกสิ่ง, การหายไปของ Anna ผู้ซึ่งพยายามค้นหาคำตอบของ เป้าหมายชีวิต มันเหมือนสิ่งที่ตัวละครค้นพบคือ การมี/ไม่มีตัวตน จะเรียกว่าคือ นิพพาน ก็ยังได้
Sandro เปรียบได้กับคนที่ไม่สนใจใน นิพพาน มีชีวิตเพื่อตอบสนองตัณหา ความต้องการของตนเอง ในสิ่งที่เรียกว่า ความสุขเฉพาะหน้า เขาไม่สนอนาคตเท่าไหร่หรอก ขอแค่วันนี้มีความสุขที่สุดก็เพียงพอแล้ว
Claudia เปรียบได้กับคนที่พยายามแสวงหา แต่ไปไม่ถึงนิพพาน เพราะมีกิเลสบางอย่างยื้อยั้งรั้งเอาไว้ ซึ่งสุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อจิตใจตนเอง กระนั้นในใจก็ยังโหยหาอยากพบเจอให้จงได้
การยอมแพ้ของ Sandro และ Claudia ในการค้นหา Anna เปรียบได้กับความพ่ายแพ้ต่อกิเลส (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) จมอยู่ในตัณหา วัฎจักรเวียนวนของมนุษย์ (เกิด/แก่/เจ็บ/ตาย) ไม่สามารถหลุดออกจากความทุกข์ที่เป็นอยู่ได้
การแสดงของ Monica Vitti ได้รับการยกย่องพูดถึงมากที่สุดในหนัง กับบท Claudia สาวผมบลอนด์ (เห็นในหนังสีขาว) ทาลิปสติกอ่อนๆ เขียนขอบตาเรียว และทรงผมฟูฟ่อง (เทรนด์ยุคนั้น) การแสดงออกทางอารมณ์มีหลากหลาย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวร้องไห้ ดีใจ เสียใจ ฯ ถือว่ามีความแกว่งทางอารมณ์สูง กระนั้นทุกการแสดงออกของเธอคือสุดโต่งไปเลย เวลาเสียใจก็จะร้องไห้หนักมาก, ดีใจก็จะสะดิ้งเว่อ, มีความสุขก็เหมือนคนบ้า ฯ นี่คงคือเหตุผลทำให้ตัวละครนี้มีความโดดเด่นมาก
เหตุที่ต้องให้ตัวละครเป็นเช่นนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เธอเป็นคนที่ทำทุกอย่างถึงที่สุดจริงๆ ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ เพราะเมื่อไปถึงจุดสูงสุดแล้ว ไม่พบอะไร จึงทำให้เธอย้อนกลับมามองหาใหม่ในอีกทิศทางได้
สังเกตเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่นะครับ (Chic มากๆ) ช่วงแรกใส่เสื้อลายเส้นตรง แสดงถึงความหนักแน่น มั่นคง, ใส่เสื้อคลุมคือการปกปิด, ใส่สีดำคือไว้ทุกข์, เดรสเปิดไหล่ คือการไม่ปกปิด เปิดเผย ยอมรับ, ครึ่งหลังใส่ลายจุด กลมๆถี่ๆ เห็นเบลอๆ (เหมือนภาพหลอกตา) แสดงถึงการปรับตัว ยอมรับ อะไรก็ได้
Monica Vitti เป็นผู้หญิงที่สวยคม ทรงผมสีบลอนด์มีเสน่ห์ รูปร่างเพียวสูง คือเธอเป็นคนที่ถ่ายภาพขาว-ดำ ออกมาได้ขึ้นกล้อง สวยสง่ามาก ไปๆมาๆ ได้ดูหนังของเธอหลายๆเรื่อง ผมเริ่มแอบชอบมากกว่า Ingrid Bergman เสียแล้วสิ
Gabriele Ferzetti รับบท Sandro ชายผู้มีความใคร่สนใจในความต้องการของตนเองเท่านั้น, หน้าตาของ Ferzetti ดูเหมือนเพลย์บอยเหมาะสมกับบทมาก การแสดงถือว่าโดดเด่น แต่เพราะตัวละครมีเพียงมิติเดียว เลยไม่ได้รับการพูดถึงเท่า Vitti
สังเกตชุดของ Sandro มักประกอบด้วยเสื้อ 2 ชั่นเสมอ ครึ่งแรกเป็นเสื้อไหมพรมสวมทับเสื้อเชิ้ต ครึ่งหลังใส่สูทผูกไทค์ นี่เป็นลักษณะของคนที่ยึดมั่นอยู่ในกรอบระเบียบ มีอุดมการณ์ของตนเองชัดเจน (อุดมการณ์ที่ว่าคือ ทำเฉพาะวันนี้ให้ดีที่สุด)
Lea Massari รับบท Anna หญิงสาวที่มีความพิศวง ถึงเธอจะปรากฎตัวไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ถือว่าโดดเด่นเรียกความสนใจไปเต็มๆ, การแสดงของ Massari มีความเฉพาะตัวสูงมาก ทีแรกใครๆคงคิดว่าเธอคงเป็นตัวละครนำ แต่พอหายไปแล้วก็ลาลับเลย, เธอจะใส่เฉพาะชุดสีขาวเท่านั้นนะครับ
สังเกตได้ว่า ทุกตัวละครในหนังเป็นคนชั้นสูง ฐานะร่ำรวย มีเงินทองใช้จ่ายคงไม่มีวันหมดง่ายๆ หนังไม่บอกเราว่าพวกเขาทำงาน มีอาชีพร่ำรวยมาจากอะไร เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญ ซึ่งการที่ต้องให้เป็นแบบนี้ เพื่อให้ตัวละครหมดภาระจากเป้าหมายความกังวลอย่างอื่นของชีวิต เช่น ถ้าเป็นคนจน เป้าหมายชีวิตแน่ๆของพวกเขาคือ ดิ้นรนหาเงินทองเลี้ยงชีพ ซึ่งคนรวยไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องนี้เลย พวกเขาจึงมองหาเป้าหมายอย่างอื่นในชีวิตที่สูงกว่าได้
การกำกับนักแสดงของ Antonioni ต้องถือว่ามีความน่าสนเท่ห์อย่างยิ่ง (ผมเพิ่งมาสังเกตเห็นในหนังเรื่องนี้ คล้ายๆกับ Stage Acting ของ Ingmar Bergman) เขาจัดวางนักแสดงในกรอบภาพ วิธีการพูด ทิศทางการมอง/สายตา/หันหน้า/การเคลื่อนไหว จะถูกกำหนดไว้แบบเปะๆในทุกช็อต, คนสองคนสนทนากัน มักไม่ค่อยหันหน้าสบตา แต่จะมีทิศทาง ตำแหน่ง ที่มีนัยยะแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้น เช่น ตอนที่ Claudia กำลังร้องไห้ เธอมักจะหันหลังให้กล้อง (ไม่อยากให้ใครเห็น), Sandro ต้องการพูดขอ/สั่ง/ต้องการอะไร มักจะพูดเข้าข้างหูตัวละคร, ตำแหน่งหน้าหลัง/ระยะห่าง คือความสัมพันธ์ของตัวละคร ณ ขณะนั้น (ถ้าอยู่ไกลแสดงว่าไม่ค่อยสนิทกัน อยู่ใกล้คือคนรักกัน) ฯลฯ
ถ่ายภาพโดย Aldo Scavarda ความโดดเด่นอยู่ที่ความสวยงาม ภาษาของงานภาพ ที่มีการใช้ธรรมชาติ/พื้นที่ เป็นพื้นหลัง มีนัยยะแฝงความหมาย สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของตัวละคร
ยกกองไปถ่ายทำที่เกาะ Lisca Bianca (white fish bone) บริเวณ Aeolian Islands อยู่ทางตอนเหนือของ Sicily, Italy ด้วยทีมงานประมาณ 50 คน เดิมวางแผนใช้เวลาถ่ายทำ 3 สัปดาห์ แต่เพราะสตูดิโอที่ออกทุนสร้างให้ เกิดล้มละลายหลังจากเปิดกล้องหนังได้เพียงสัปดาห์เดียว ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าแรง ลูกทีมไม่ยอมทำงาน นี่รวมถึงสภาพอากาศที่ไม่เต็มใจ พายุฝนฟ้า คลื่นลมแรง และสัตว์ (หนู ยุง แมลง) ที่อาศัยอยู่ตามซอกหินที่มีมากมายเต็มไปหมด เป็นอุปสรรคทำให้การถ่ายทำล่าช้าไปถึง 4 เดือน
สถานที่ถ่ายทำอื่นๆ ล้วนเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ มีกลิ่นอายความเก่าแก่โบราณของอิตาลี นี่เป็นการสะท้อนปรัชญา คำถามของชีวิตที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ยังไม่มีคำตอบ
การสนทนาครั้งสุดท้ายของ Anna กับ Sandro ภาพแบ่งทะแยง ระหว่างโขดหิน(บนเกาะ) กับท้องทะเล
– Sandro ต้องการแต่งงาน หนักแน่น ไม่เปลี่ยนใจ (ฝั่งโขดหิน)
– Anna ยังมีความลังเลไม่แน่ใจ ดังผืนน้ำพริ้วไหว
ท้องฟ้ามืดครึ้ม คลื่นลม ทะเลพัดแรง ผมเผ้าพัดกระเซอะกระแซง แสดงถึงข้างในจิตใจกำลังปั่นป่วน, ช็อตพวกนี้ ไม่ใช่แค่เห็นภาพนะครับ แต่จะได้ยินเสียงดังมาก (เสียงคลื่น, เสียงลม, ฝน ดังมาก เรียกว่ากึกก้องออกมาจากข้างในเลย)
หลังของ Claudia ยืนพิงผนัง ที่มีเศษกระดาษจากการกระชากฉีกขาด นั่นคือความมั่นใจในตัวเธอเปลี่ยนไป (ถูก Sandro ฉุดบังคับ จนเธอสมยอม)
ช็อตนี้ด้านบนของโบสถ์ เมื่อ Sandro พา Claudia ขึ้นไปด้านบน (บางสิ่งบางอย่างต้องมองจากด้านบน/ภาพรวม/นอกกรอบ ถึงจะเห็นคำตอบ) ที่นั่นมีเชือกมากมายเต็มไปหมด ผูกเกี่ยวกับระฆังรอบเมือง, เชือก เปรียบได้กับเส้นทาง โชคชะตาที่มนุษย์จะเลือกเดิน แต่ละเส้นนั้นไม่เหมือนกัน ดึงเส้นหนึ่งระฆังใบหนึ่งดัง ดึงอีกเส้นอีกใบดัง บ้างดังต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ เหทือนโชคชะตาที่ผูกติดกัน
ช็อตไฮไลท์ที่ผมคงไม่แทรกภาพให้เห็น คือ Sex Scene อันลือลั่น ไม่ใช่ว่ามันโจ๋งครึ่มหรือยังไงนะครับ ต้องบอกว่ามันโคตรจะอาร์ทเลย คือ เป็นภาพ Close-Up ใบหน้าของผู้หญิงล้วนๆ ที่จะแสดงอารมณ์ ความพึงพอใจขณะฝ่ายชายกอดจูบลูบไล้ไปทั่วตัวเธอ แค่นี้แหละครับ … กับฉากนี้ คงไม่มีใครรู้สึกว่า ทั้งสองมี Sex กันแน่ หาความสมจริงไม่ได้ แต่นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ ที่ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า แค่มี Sex กันเฉยๆ ไม่ได้จะแสดงให้เห็นการมี Sex กันจริงๆ
ซึ่ง Sex ในความหมายเชิงนามธรรม คือการกระทำ (บางสิ่งบางอย่าง) การเปิดกายใจยอมรับ, ปล่อยตัวปล่อยใจ ฯ แต่ในหนังเรื่องนี้ ผมมอง Sex ของ Sandro และ Claudia คือ ความพ่ายแพ้ ต่ออุดมการณ์และเป้าหมาย (ถ้า Sex ตอนต้นเรื่อง มันคือการทดลอง/ค้นหาของ Anna)
สัญลักษณ์ที่น่าสนใจของหนัง อาทิ
รถไฟ = การเดินทาง/ผจญภัย
ใส่วิก = ปลอมตัว ไม่ใช่ตนเอง
ภาพโป๊เปลือย = ตัวตนที่แท้จริง เปลือยเปล่า ภายใน
เล่นกับกระจก = สะท้อนตัวตนของเอง
และช็อตตอนจบของหนัง เราสามารถแบ่งภาพพื้นหลังออกเป็น 2 ด้าน ซ้ายคือภาพธรรมชาติ เห็นท้องฟ้า ทะเลและภูเขา ขวาคือตึกที่มนุษย์สร้าง ดูมั่นคงแข็งแรง, ถ้าเปรียบซ้ายคือเป้าหมายที่อยู่ไกลสุดลูกหูลูกตา มองเห็นแต่ไปไม่ถึง ขวาคือตึกที่อยู่ตรงข้างหน้า แค่เอื้อมมือก็สัมผัสได้ ช็อตนี้มีความหมายเป็นเชิงตั้งคำถามกับผู้ชม คุณจะเลือกสิ่งไหนเป็นเป้าหมายของชีวิต หนทางที่ไม่รู้ไกลแค่ไหน หรือสนใจสิ่งที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม
ชาย-หญิง เหม่อมองภูเขาไกล นี่อาจเป็นการแสดงความเห็นของ Antonioni ที่เขาคงอยากรู้ว่า เป้าหมายชีวิตมนุษย์คืออะไร อยากรู้อยากสัมผัสได้
งานภาพของ Aldo Scavarda ทุกช็อต ทุกการเคลื่อนไหว สวยงามเหมือนงานศิลปะชิ้นเอก ผมไม่คิดว่า มองผ่านๆให้กายซึมซับจะสามารถเห็นความสวยงามได้นะครับ (นอกเสียจากคุณเข้าใจ Abstract ทุกสิ่งอย่างในหนัง) เมื่อนำแต่ละช็อตมาวิเคราะห์ จะเห็นว่าผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบ สวยงาม สมบูรณ์แบบมากๆ
ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma หนังมีการเล่าเรื่อง สามารถแบ่งเป็นเหตุการณ์ๆได้ ในแต่ละเรื่องย่อย จะใช้การตัดเปลี่ยนภาพแบบปกติ แต่เมื่อจบฉากจะใช้การเฟดภาพเข้าออก นี่เป็นการสร้างจังหวะ ลมหายใจให้กับหนัง แต่เพราะหลายๆซีนเป็น long-take เชื่อว่าหลายคนคงอึดอัดเพราะมันยาว (การถ่าย long-take เปรียบเหมือนการหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ แล้วอั้นไว้นานๆ นี่เป็นสิ่งที่คนสมัยนี้มักจะทนไม่ได้ เพราะกลั้นลมหายใจไม่ได้นานเท่าไหร่)
จุดเด่นของการเล่าเรื่อง คือการค่อยๆพัฒนาความคิด/อารมณ์ ของตัวละคร ให้ดำเนินตามเหตุการณ์ที่ดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ (chronologically) พร้อมๆกับผู้ชม, นี่จะทำให้เราสามารถค่อยๆซึมซับ รับรู้ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครทีละนิด ได้ใกล้ชิดชัดเจน โดยเฉพาะ Claudia (ถือว่าหนังใช้มุมมองของเธอเล่าเรื่องทั้งหมด) ถือเป็นระยะเวลานานพอสมควรกว่าที่เธอจะยอมรับการหายไปของ Anna ได้ หรือกว่าที่จะยอมรัก Sandro ก็เล่นตัวอยู่นาน จิตใจคิดถึงความเหมาะสม/ไม่เหมาะสม แต่เมื่อได้พบกับเหตุการณ์ ปล่อยตัวปล่อยใจของเพื่อนสาว (ที่อ่อยเหยื่อให้จิตรกรหนุ่มวาดรูปโป๊เปลือย) นั่นทำให้ความคิดของเธอเปลี่ยน และผู้ชมก็สามารถเข้าใจได้ทันทีตามตัวละครเลย
สำหรับเหตุการณ์ตอนจบ หลังจาก Claudia และ Sandro ยอมพ่ายแพ้กับการค้นหา ทั้งสองกลายเป็นของกันและกัน แต่ทั้งคู่ก็หาได้พึงพอใจในสิ่งที่มีไม่, สิ่งที่ Sandro ทำ คือไปมี Sex กับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง นี่แสดงว่า เขายังคงแสวงหาเป้าหมายต่อไป ยังต้องการมากกว่านี้, ส่วน Claudia มีความวิตกกังวล กลัวว่า Anna จะกลับมา นี่คือ เธอยังหวนระลึกถึงเป้าหมาย ตัดสินใจทอดทิ้งแต่ยังอยากรู้ ว่ามันมีหรือไม่มี (ลังเลใจ), พอ Claudia พบกับ Sandro ที่นอนกกกับหญิงอื่นอยู่ เธอเหมือนจะไม่พอใจ แต่สุดท้ายก็ให้อภัย (ลูบหัว) ทั้งสองไม่มีใครหาเธอพบ มองดูเป้าหมายที่มิอาจไปถึงได้ของทั่งสอง (ลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็จำเลยต้องไปด้วยกันให้ถึงฝั่ง)
เพลงประกอบของ Giovanni Fusco (ขาประจำของ Antonioni) มีการนำเสนอในรูปแบบที่เรียกว่า Diegetic music,
Diegetic ในทางภาพยนตร์ หมายถึง โลกภายในที่สร้างขึ้นจากเรื่องราว อันตัวละครได้ประสบพบเจอ กลายเป็นประสบการณ์ชีวิต, Diegetic music คือ เสียง/เพลง ที่ดังขึ้นจากโลกในภาพยนตร์ อาทิ ถ้าตัวละครในหนังกำลังเล่นเปียโน เปิดแผ่นเสียง สิ่งที่เราได้ยินจะเรียกว่า Diegetic
Antonioni ขอให้ Fusco แต่งเพลงแจ๊ส โดยสมมติเหมือนว่าเป็นทำนองที่แต่งขึ้นในสมัยของ Hellenic Era [ยุคกรีก-โรมัน ในช่วงสมัย อเล็กซานเดอร์มหาราช] ผมก็ไม่รู้ยุคสมัยนั้น สไตล์เพลงมีลักษณะเช่นไร แต่สิ่งที่ได้ยิน เสียงดนตรีจะมีความล้ำยุคสมัย แต่ทำนองมีความเก่า คลาสสิก, จังหวะการใช้ ล้วนเป็นในช่วงเวลาที่ตัวละครมีอารมณ์ความรู้สึกหนึ่ง เพลงประกอบจะใช้เป็นเสียงบรรยายอารมณ์ความรู้สึกต่อจากนั้น
รู้สึกหนังทั้งเรื่องจะมีอยู่ไม่กี่เพลงเองนะครับ คือไม่ได้ใช้เพื่อประกอบหนัง แต่เป็นการยืนพื้น ให้หนังมีความกลมกล่อมทางอารมณ์ ความรู้สึกมากกว่า (ให้รู้สึกเหมือนเพลงที่เปิดจากในหนัง ไม่ใช่เพลงประกอบหนัง)
เป้าหมายชีวิตคืออะไร? แล้วมนุษย์จำเป็นต้องมีด้วยหรือ? กับคำถามที่ว่า มนุษย์เกิดมาทำไม คำตอบมีไว้เพื่อเป็นแนวทาง ชี้ชักนำให้เราก้าวเดินสู่สิ่งนั้น อาทิ
– เป้าหมาย เรียนจบ ทำงาน ส่งเสียครอบครัว, แนวทางการปฏิบัติ คือตั้งใจเรียนให้จบ ตั้งใจทำงาน นำเงินที่ได้มอบให้ครอบครัว
– เป้าหมาย ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียง, แนวทาง คือพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถโดดเด่นเหนือคนอื่น ขยันขันแข็ง ไม่ขี้เกียจ ไม่สำมะเลเทเมา ฯ
– เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เป้าหมายของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์จึงทรงปฏิบัติภารกิจทุกสิ่งอย่าง เพื่อประชาชนในแผ่นดินสยามจักได้มีความสุขสันติ
ฯลฯ
ใช่ครับ มนุษย์ คือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในโลกที่เกิดมาแล้ว “ต้อง” มีเป้าหมายชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็จะมีแนวคิด ความต้องการ วิถีของตนเองที่ต่างกันไป, คนที่ไม่มีเป้าหมายชีวิต ก็จะมีความเรื่อยเปื่อย ไม่รู้วันๆจะทำอะไร เกิดความเบื่อหน่าย ดังหนังเรื่องนี้ ที่นำเสนอกลุ่มของคนร่ำรวยล้นฟ้า วันๆจึงต้องแสวงหาความตื่นเต้นคึกคะนอง เพื่อให้รู้สึกร่างกายมีอะดรีนาลีนสูบฉีด ทำเรื่องบ้าๆไร้สาระ อาทิ นั่งเรือยาร์ชไปเที่ยวเกาะที่ไม่มีคนไป, เล่นหูเล่นตา เล่น Sex กับคนแปลกหน้า, จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้ เชิญคนมามากมายมาเข้าร่วม ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ฯ พวกเขาเหล่านี้ดูเป็นคนที่ไร้จุดหมายในการมีชีวิตเสียเหลือเกิน นั่นเพราะเพราะพวกเขาขาดเป้าหมายชีวิต
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทางนักปราชญ์ ปรัชญาตะวันตกค้นหากัน เรียกว่า เป้าหมายสูงสุด ประกอบด้วย 3 คำถาม
– “มนุษย์/ชีวิตคืออะไร?”
– “เกิดขึ้นมาทำไม?” หรือ “เป้าหมายชีวิตคืออะไร?”
– “ตายแล้วไปไหน?”
นี่คือ 3 สิ่งที่ชาวตะวันตกไม่สามารถหาคำตอบได้
กับหนังที่นำเสนอคำถามเหล่านี้ ออกมาได้น่าสนใจที่สุด ก็มี L’Avventura เรื่องนี้แหละครับ, ชื่อหนังเป็นภาษาอิตาเลี่ยน นอกจากแปลว่า The Adventure (การผจญภัยของชีวิต) ยังแปลได้ว่า Fling (ช่วงเวลาของความสนุกสนาน และการกระทำที่แปลกประหลาด, a short period of enjoyment or wild behavior.)
ตอนที่หนังฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับเสียงโห่จากผู้ชม แต่คณะกรรมการปีนั้นมอบรางวัล Special Jury Prize ในฐานะ ‘For a new movie language and the beauty of its images’ จากนั้นออกฉาย ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ แจ้งเกิดให้กับ Gabriele Ferzetti, Monica Vitti และ Lea Massari ไปโดยทันที
Michelangelo Antonioni ไม่ได้กล่าวไว้ แต่นักวิจารณ์ และคอหนังต่างมองว่า L’Avventura (1960), La Notte (1961) และ L’Eclisse (1962) ทั้ง 3 เรื่องที่มีใจความแปลกแยก การมีตัวตนและค้นหาเป้าหมายชีวิต (Trilogy on modernity and its discontents) เหมารวมเรียกเป็นไตรภาค
คาดไม่ถึงว่า ได้กลับมาดู L’Avventura ครั้งนี้ ตกหลุมรักหัวปรักหัวปรำ อึ้งทึ่งในสิ่งที่หนังนำเสนอมา แต่น่าเสียดาย ไม่ถึงกับเป็นหนังเรื่องโปรด เพราะคำถามที่ไม่มีคำตอบของหนัง ส่วนตัวผมมีคำตอบของคำถามนี้อยู่แล้ว จึงไม่เกิดความคลั่งไคล้ใดๆ, เมื่อมองการให้คะแนนครั้งก่อน ก็พอเข้าใจนะครับ ว่าทำไมถึงให้คะแนนระดับ WASTE เพราะตนเองดูหนังไม่เข้าใจจริงๆ ประเมินคุณภาพไม่ได้ นี่ถือเป็นบทเรียนสำคัญเลย ที่ผมจะจดจำไม่ลืมเลือน “อย่าประเมินค่า ในสิ่งที่เรามองไม่เห็นคุณค่า”
ความลึกซึ้งของหนังเรื่องนี้ ต้องบอกเลยว่า ยากเกินที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ บางครั้งคิดวิเคราะห์แล้ว ก็ใช่ว่าจะตรงกันเสียหมด ที่ผมวิเคราะห์มานี้อาจจะไม่ถูกเลยก็ได้นะครับ แต่มีความเชื่อว่า มันน่าจะไปได้ถึงประมาณนี้แหละ คือจุดสูงสุดที่หนังสามารถนำเสนอได้แล้ว ซึ่งถ้าวิเคราะห์มาถึงจุดนี้ก็จะขนลุกโดยทันที ตระหนักได้ว่า หนังมันมีแนวคิดยิ่งใหญ่สมคำร่ำลือจริงๆ
นี่เป็นหนังที่ผมอยากจัดให้ “ต้องดูก่อนตาย” เสียเหลือเกิน แต่คิดว่าคงยากเกินไปสำหรับคนที่ยังดูหนังไม่เก่งจะเข้าใจได้ เพราะใจความเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิต ซึ่งถ้าคุณสามารถคิดตามหนัง จับใจความได้ นี่จะเป็นประเด็นคำถามที่คุณคงคิดต่อทันที แล้วรู้สึกหวิวๆในใจ นี่ฉันเกิดมามีชีวิตทำไม?
แนะนำกับนักปรัชญา ศาสนา ผู้ต้องการค้นหาคำตอบของชีวิต, นักศึกษา/คนทำงานสายภาพยนตร์ มีเทคนิคมากมายที่สามารถศึกษา เรียนรู้ได้จากหนังเรื่องนี้, และคอหนังที่ชอบความท้าทายในการคิดวิเคราะห์อย่างมาก ถึงจะเข้าใจหนัง
จัดเรต PG มีแนวคิดเกี่ยวกับความเห็นแก่ตัวและชู้ ที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ (แต่เด็กๆดูไปคงไม่รู้เรื่อง)
TAGLINE | “L’Avventura ชีวิตคือการเดินทาง เป้าหมายคืออะไร Michelangelo Antonioni ก็ตอบไม่ได้ เลยทิ้งปริศนาไว้ ให้ผู้ชมคิดวิเคราะห์ค้นหาเอง”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
L’ Avventura (1960)
(7/2/2016) ผมหัวเสียมากๆ เพราะโดนหนังเรื่องนี้หลอกเต็มๆเลย กว่าครึ่งค่อนเรื่องที่เป็นเรื่องราวของการตามหาคนๆหนึ่ง แต่ไม่ใช่สักนิด นี่ไม่ใช่เรื่องราวของการค้นหาคนๆหนึ่ง แต่เป็นการค้นหาอะไรบางอย่างของตัวละครกลุ่มหนึ่ง ผมไม่คิดว่าคนดูทั่วๆไปจะสามารถเข้าใจหนังเรื่องนี้ในมุมลึกได้ เห็นว่าตอนหนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Cannes Festival ได้รับเสียงโห่จากคนดู แต่กระนั้นหนังก็ได้รางวัล Jury Prize กำกับโดย Michelangelo Antonioni เขาไม่ได้เป็นญาติอะไรกับนักวาดรูปชื่อดัง Michelangelo นะครับแค่ชื่อเดียวกันเท่านั้น เพื่อความไม่สับสนผมเรียกเขาว่า Antonioni เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับอิตาลีชื่อดังแห่งยุคอีกคนหนึ่ง
หนังเรื่องนี้ติดอันดับในนิตยสาร Sight & Sound หลายครั้ง เคยอยู่สูงสุดถึงอันดับ 2 เมื่อปี 1962 ปัจจุบันอยู่อันดับ 21 นิตยสาร Empire ก็จัดอันดับ 40 ใน The 100 Best Films Of World Cinema นี่ไม่ใช่หนังที่ดูแล้วจะไม่เข้าใจ ไม่ได้มีเทคนิคที่ซับซ้อน ทำความเข้าใจได้ไม่ยากแต่ถ้ามองภาพรวมคร่าวๆจะบอกว่า นี่เป็นหนังที่ไม่ค่อยสนุกมาก แต่ถ้าได้คิดวิเคราะห์อย่างละเอียด จะพบความสวยงามบางอย่าง
Michelangelo Antonioni เขาเป็นผู้กำกับที่ทำหนังท้าทายคนดูมากๆ ไม่ใช่ว่าดูแล้วจะไม่เข้าใจหรือมีการเล่าเรื่องที่สลับซับซ้อน แต่สาสน์ที่แฝงอยู่ในหนัง ถ้าความเข้าใจของคนดูไม่มากพอก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ ณ จุดนี้มีความคล้ายกับ Jean Renoir อยู่นิดหน่อย แต่ Antonioni มักจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต แต่ Renoir จะพูดถึงสงคราม ซึ่งเป็นจุดแตกต่างทางยุคสมัย เชื่อว่าถ้า Jean Renoir เกิดในยุคของ Antonioni นี่แหละคือหนังที่เขาจะสร้าง มีหนัง 3 เรื่องที่ถือเป็น trilogy ดังที่สุดของ Antonioni คือ L’Avventura (1960), La Notte (1961), L’Eclisse (1962) กับคนที่ดู L’Avventura แล้วยังงงอยู่ ให้ดูต่ออีกสองเรื่อง อาจจะเห็นอะไรชัดขึ้นก็ได้
หนังเรื่องนี้ถือว่าโชคร้ายมาก ตอนเริ่มต้นถ่ายหนังก็เช่าเรือ yacht ไปถ่ายหนังที่เกาะแห่งหนึ่ง แต่สตูดิโอที่ให้ทุนสร้างดัน bankrupt สัปดาห์ต่อมา ทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น เสบียงไม่ได้รับการส่งไป (เพราะไม่มีงบซื้อ) กลุ่มนักแสดงและทีมงานต้องติดเกาะโดยไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้หลายวัน จนถึงขั้น boycott ไม่ยอมเล่นหนัง ค่าตัวก็ไม่ได้ กว่าจะผ่านไปได้เห็นว่าเดิมวางแผนถ่ายที่เกาะ 3 สัปดาห์ แต่เลทไป 4 เดือน ส่วนฉากที่ถ่ายบนบก จะเห็นว่านี่เป็นหนังที่ใช้โลเกชั่นถ่ายทำหลายที่มาก และด้วยการที่ Antonioni ไม่ชอบที่จะเซตฉากขึ้น ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นจากสถานการณ์จริง หลายฉากอย่างที่พระเอกวิ่งขึ้นรถไฟ เขาก็ต้องวิ่งจริงๆ ซึ่งถ้าวิ่งไม่ทัน ก็ต้องรอวันต่อไป (เพราะต้องใช้รถไฟขบวนเดียวกันที่วิ่ง) เห็นว่าบางฉากต้องใช้เวลาถึง 7 วันถึงจะถ่ายเสร็จ
นักแสดงนำ Gabriele Ferzetti เขาเป็นนักแสดงอิตาลีที่ดังมากๆคนหนึ่ง เล่น Once Upon a Time in the West (1968) และ On Her Majesty’s Secret Service (1969) ด้วย ตัวละครที่เขาเล่น ผมรู้สึกถึงความเป็น playboy ที่ชัดพอสมควร หน้าตา คำพูด เราแทบจะรู้สึกได้ตั้งแต่เห็นตัวละครนี้ครั้งแรก Monica Vitti เล่นเป็น Claudia นางเอกที่ดูเหมือนตัวประกอบในช่วงต้นเรื่อง และกลายเป็นนางเอกในตอนหลัง และ Lea Massari เล่นเป็น Anna หญิงสาวผู้หายไป อาจจะแค่เพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นที่ตัวละครนี้ออกมา ได้เธอเด่นแบบใครๆคงคิดว่าเธอเป็นนางเอก ผมก็คิดเช่นนั้น นิสัยของเธอคือการเรียกร้องความสนใจ ผมเอะใจตั้งแต่ฉากแรกๆแล้ว นี่เป็นตัวละครที่น่าหมั่นไซ้มากๆ เหมือนคุณหนูเอาแต่ใจ ฉันอยากทำอย่างนี้แต่เมื่อไม่ได้ทำ ต้องทำอีกแบบก็ทำแบบประชดประชัน ผมชอบฉากที่เธอโกหกเรื่องฉลามนะ ผมคิดไว้แล้วละว่ามันต้องไม่มีฉลามแน่ แต่จริงๆหนังเฉลยง่ายไปหน่อย น่าจะเพิ่มความซับซ้อนให้มากกว่านี้ได้อีก
ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ถึงสักกลางๆเรื่องจะคิดไปเลยว่า นี่เป็นหนังเกี่ยวกับการตามหาหญิงสาวคนหนึ่งที่หายไป แต่ไม่ใช่สักนิด เพราะจนจบเรื่องหนังก็ไม่เฉลยให้เรารู้ว่า สุดท้ายแล้วทำไมเธอถึงหายไป เธอหายไปยังไง ชะตากรรมของเธอเป็นยังไง หายแล้วหายเลย หลอกให้เราตามลุ้นอยู่ตั้งนาน ผมค่อนข้างหัวเสียเมื่อพบว่า หนังนำพาคนดูไปถึงจุดที่ เห้ย ไอ้สองตัวละครนั่นมันต้องการตามหาหญิงสาวที่หายไปหรือเปล่านิ โดยเฉพาะผู้ชาย ที่เป็นแฟนของ Annaดูยังไงก็รู้สึกว่า หมอนี่มันพร้อมจะนอกใจแฟนสาวที่หายไปได้ตลอดเวลา ในขณะที่เพื่อนสาวก็ดูทำตัวงี่เง่าเหลือเกิน แถมยังอิจฉา Anna ที่หายตัวไป ทำยังกับเธอเองก็อยากหายไปแบบเธอบ้าง ผมหัวเสียเพราะโดนหนังหลอกจนจบเรื่อง บางคนอาจจะไม่หัวเสีย แต่อารมณ์ค้าง แล้วตกลงหา Anna เจอหรือเปล่านิ ความรู้สึกไม่ต่างกันครับ!
ผมรู้สึกว่าตัวละคร Claudia เป็นตัวละครที่มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดแล้ว เป็นตัวละครที่จับต้องได้ มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่แน่ใจ ที่ผมมองแบบนี้เพราะเธออยู่ในสังคมที่ทุกคนทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง เธอจึงถูกอิทธิพลนั้นครอบงำ ตั้งแต่การกระทำของ Anna ตอนต้นเรื่อง ช่วงท้ายเพื่อนสาวที่จงใจให้เธอเห็นการมีชู้กับเด็กหนุ่มนักวาดรูปนู๊ด เพราะการเห็นแบบนั้นทำให้เธอยอมให้กับพระเอก ตอนจบเป็นอะไรที่น่าคิดนะ ว่าสุดท้ายแล้วเธอจะยอมรับเมื่อเห็นตัวตนที่แท้จริงของชายหนุ่มที่ตามง้อเธอจนสำเร็จ แต่กลับนอกใจเธอไปหลับนอนกับหญิงขายตัว
ผมมาเข้าใจเรื่องราวที่แท้จริงจากการอ่านบทวิเคราะห์หนังนะครับ ว่าแท้จริงแล้วการหายไปของตัวละคร Anna มีความหมายเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ถ้าสังเกตกันหน่อยตัวละครในหนังเรื่องนี้จะเป็นคนรวยที่มีเงินมากและไม่ได้ทำงานอะไร ใช้เงินฟุ่มเฟือยยังไงก็ใช้ไม่หมด งานอดิเรกของคนรวยล้นฟ้าพวกนี้ คือหาอะไรที่ท้าทาย แปลกใหม่ทำ อย่างนั่งเรือ Yacht ไปเกาะที่ไม่มีคนเขาไปกัน …. ไม่รวยจริงทำไม่ได้นะเนี่ย จัดปาร์ตี้ใหญ่โต เชิญคนโน้นนี้มามากมาย เพื่ออะไรกัน… ผมลองวิเคาะห์ดูพบว่า คนที่รวยจนไม่ต้องทำอะไรก็ได้ก่อให้เกิดความเบื่อ และวิธีการที่จะทำให้ไม่เบื่อ คือต้องทำอะไรที่กระตุ้นความ “อยาก” ของตัวเอง หนังนำเสนออกมาทุกๆด้านเลย เช่น ทำอะไรท้าทายความตาย ท้าทายศีลธรรม ท้าทายกฎหมาย เหตุการณ์ทุกอย่างดูเหมือน “เกม” ที่ดูไร้สาระมากๆ เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำแบบนี้ มันจะเหมือนว่าเขาไม่มีตัวตนในโลก ไม่รู้จะทำอะไรให้รู้สึกว่าฉันมีตัวตนอยู่ การหายตัวไปของตัวละคร Anna ดูเหมือนเป็นการกระทำที่เพื่อสร้างสถานการณ์เรียกร้องความสนใจ แต่เมื่อเธอไม่กลับมา มันจึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์คือ การจางหายของการมีตัวตน ผมยังไม่ได้ดูหนังเรื่องต่อๆไปในไตรภาคนี้นะ แต่คิดว่าถ้ามีสักช่วงหนึ่งที่ตัวละคร Anna กลับมา ผมว่ามันจะเจ๋งมากๆ
การถ่ายภาพหนังเรื่องนี้เด่นมากๆ Aldo Scavarda เราจะเห็นเกาะที่มีแต่โขดหิน มีแต่โขดหินจริงๆ ภาพในแต่ละเฟรม ตัวละครจะถือเป็นส่วนเล็กมากๆเมื่อเทียบกับวิวทิวทัศน์ นี่แสดงถึงความจืดจางของตัวละคร ตามความหมายที่ผมวิเคราะห์ไว้ด้วย ตอนผมดูหนังบอกเลยว่ารู้สึกแปลกๆเหมือนกัน เพราะรู้สึกได้ว่าหนังเน้นถ่ายภาพให้เราเห็นสถานที่ มากกว่าตัวละคร และที่จงใจมากๆ นี่หนังปี 1966 แต่ยังถ่ายด้วยภาพขาวดำ หนังขาวดำปีนั้นมันใกล้หมดยุคแล้ว จงใจจริงๆ
ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma ผมรู้สึกหนังเรื่องนี้ยาวไปนิดนะ 143 นาที ผมรู้สึกเบื่อๆช่วงหลัง เมื่อหนังเริ่มทิ้งประเด็นหญิงสาวที่หายไป กลายมาเป็นเรื่องราวความรัก(ที่เหมือนเป็นชู้กัน) ของคู่พระนางมากขึ้น ผมสังเกตว่า หนังใช้มุมมองผู้หญิงเล่าเรื่องมากกว่าผู้ชาย มันอาจไม่ชัดเท่าไหร่ แต่หลายๆครั้ง เราจะเห็นตัวละครหญิงพูดคุยกัน นินทาผู้ชายอย่างออกนอกหน้า คนที่ดูมีความกระตือรือล้นที่จะค้นหา Anna มากที่สุดก็คือ Claudia ที่เป็นผู้หญิง ผู้ชายในหนังเรื่องนี้ นอกจากพระเอกแล้ว คนอื่นๆดูจะเป็นตัวประกอบไปเลย ไม่มีใครเด่นให้พอพูดถึงกว่าผู้หญิงในหนังที่มีเรื่องราวให้เล่ามากมาย อย่างที่ผมบอกมันอาจไม่ชัด แต่ก็พอจะรู้สึกได้
เพลงประกอบโดย Giovanni Fusco ในเครดิตของเขาดูจะไม่มีหนังที่ดังเท่าไหร่ ในหนังเรื่องนี้ นอกจาก open credit/ending credit แล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงเพลงประกอบเลย สิ่งที่ Antonioni ขอ Fusco คือ เพลง jazz ในยุค Hellenic “jazz as though it had been written in the Hellenic era.” เพลงเปิดตอน open credit นี่หลอกคนดูจริงๆนะ คือดนตรีเด่นมากๆ แต่หลังจากนั้นหนังเงียบแทบทั้งเรื่อง (นี่เป็นอีกผลที่ทำให้ผมหัวเสียมากๆ เพราะคาดหวังไว้เยอะ)
หนังออกฉายปีเดียวกับ La Dolce Vita ของ Fellini และยังมีเรื่องราวที่ใกล้เคียงกัน คือ นำเสนอความไร้สาระในการกระทำของคน จุดต่างก็คือ La Dolce Vita นำเสนอคนระดับ mid-class แต่ L’Avventura เกี่ยวกับคนรวย หรือคนระดับ high-class ถามว่าหนังเรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่า ก็แล้วแต่จะมองนะครับ หลายสำนักจะบอก L’Avventura เพราะหนังท้าทายให้คนคิดในหลายระดับ ผมเห็นด้วยนะว่าการจะเข้าใจ L’Avventura นั้นยากกว่า La Dolce Vita มากๆ แต่พอเข้าใจแล้ว ผมกลับชอบ La Dolce Vita มากกว่า โดยเฉพาะเทคนิคต่างๆในหนัง La Dolce Vita ดูมีชั้นเชิงกว่าเยอะ และมีเรื่องราวบางอย่างที่กินใจผมมากกว่า L’Avventura เยอะๆเลย
ในบทหนัง เห็นว่าเขียนชะตากรรมของ Anna ไว้ด้วย ไม่รู้ว่าเธอกระโดดทะเลฆ่าตัวตายหรือเกิดอุบัติเหตุ แต่มีฉากที่ศพของเธอมาเกยตื้นที่ฝั่ง ผมว่าเป็นความจงใจของ Antonioni มากกว่าที่จะไม่ใส่ฉากนี้เข้าไป (Antonioni อ้างว่าไม่ได้ใส่เพราะเวลาไม่พอ)
สรุปแล้ว L’Avventura มันหนังอะไรกัน ผมตอบว่า เป็นหนังเล่าเวลาว่างของคนที่รวยมากๆ พวกเขาพยายามหาอะไรบางอย่างที่ทำแล้วกระตุ้นให้เขารู้สึกว่ามีชีวิตอยู่บนโลก นี่ไม่ใช่หนังที่ทุกคนดูแล้วจะสามารถเข้าถึงสาสน์ที่หนังนำเสนอได้ และหลังจากผมได้วิเคราะห์สาสน์ในหนังดูก็พบว่า มันไม่ได้มีสาระหรือประโยชน์อะไรต่อโลกเลย หนังอาจมีความสวยงาม ลึกซึ้ง ยากจะวิเคราะห์ตีความ แต่แล้วยังไง ถ้าคุณเป็นคนรวยล้นฟ้า แต่ใช้ชีวิตแบบ L’Avventura (แปลว่า Adventure) ละก็ เหมือนคุณมันไม่มีตัวตนในโลกหรอก จะเกิดมาทำไม
สาสน์ในหนังเรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจว่า Antonioni จงใจเสียดสีคนชั้นสูงของ italy ตรงๆหรือเปล่า ผมไม่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ช่วงนั้น หรืออาจจะเสียดสีการกระทำของรัฐบาลที่ทำอะไรในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งถ้ามาวิเคราะห์ในมุมที่แคบลง นี่เป็นหนังที่พูดถึงความต้องการ passion ความอยาก ซึ่งถูกปรุงแต่งให้ดูสวยงาม แต่ผมกลับรู้สึกสิ่งเหล่านี้เป็นภาพมายาที่หลอกให้เรารู้สึกว่ามันดี แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเลย ซึ่งหนังไม่ได้พยายามบอกคนดูด้วยว่า “อย่าไปทำตามที่หนังเล่ามา” มันจะออกว่า “ทำแบบนี้สิ!” นี่คือจุดที่ผมมองว่า สาสน์จากหนังเรื่องนี้ ไม่มีสาระเลยนะครับ
ผมไม่แนะนำหนังเรื่องนี้กับคนดูทั่วๆไปนะครับ หนังวิเคราะห์ยากเกินไป และไม่มีสาระอะไรต่อโลกด้วย แต่กับคนที่ชอบดูหนังยากๆ นี่แนะนำเลย การันตีได้ว่าคุณต้องคิดจนหัวแตกแน่ๆว่านี่มันหนังอะไรกัน ที่ผมให้ Thumb Up เพราะหนังเรื่องนี้มีเทคนิค การเล่าเรื่องที่โดดเด่น หักลบกับสาสน์ของหนังที่มันไม่น่าสนใจเลย ตอน Au Hasard Balthazar นั่นผมไม่ชอบเทคนิคที่หนังใช้นะครับ แม้สาสน์ในหนังจะดูดีกว่า แต่หนังทำให้ผมรู้สึกขยะแขยงมาก คือเลวร้ายกว่า L’Avventura อีก คล้ายๆ Breathless ที่ดูจบแล้วไม่ได้อะไรจากหนังเลยนะครับ
คำโปรย : “L’Avventura หนังสวยงาม ซับซ้อน ยากต่อการวิเคราะห์ให้เข้าใจว่าผู้กำกับ Michelangelo Antonioni ต้องการเล่าอะไร แต่เมื่อทำการวิเคราะห์สาสน์ในหนังแล้ว นี่เป็นหนังที่ไม่มีสารสาระประโยชน์อะไรต่อโลกเลย ”
คุณภาพ : THUMB UP
ความชอบ : WASTE
[…] จะมีหนัง 2 เรื่องที่เพิ่มเข้ามาคือ L’avventura (1960) และ Le Mépris […]