The Bakery Girl of Monceau (1962) : Éric Rohmer ♥♥♥♡
หนังสั้นเรื่องแรกของ ‘Six Moral Tales’ ที่จะสร้างความฉงนสงสัย เรื่องราวดังกล่าวแฝงข้อคิด คติสอนใจ ศีลธรรมอันดีงามประการใด? แต่ผกก. Rohmer เคยกล่าวไว้ว่า ขอแค่ผู้ชมได้ขบครุ่นคิด โต้ถกเถียงถึงหนทางเลือกตัวละคร นั่นแหละคือ ‘Moral’ ของศิลปะภาพยนตร์
ถ้าคุณชื่นชอบผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งแสดงความชื่นชอบคุณ คุณจะเลือกผู้หญิงคนไหน?
ผมมองว่านี่คือปัญหาโลกแตกเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน? แม้คนส่วนใหญ่มักตอบอย่างเห็นแก่ตัวว่า ก็เลือกผู้หญิงที่ฉันชอบสิ! แล้วถ้าเธอคนนั้นไม่ชอบคุณละ ดื้อด้านหัวรั้นไปก็ไม่มีประโยชน์ เช่นนั้นการเลือกผู้หญิงอีกคนที่ชื่นชอบคุณ ย่อมไม่ดีกว่าหรือ?
ภาพยนตร์ทั้งหกเรื่องของ ‘Six Moral Tales’ ล้วนมีลักษณะประมาณนี้ นำเสนอหนทางเลือกของตัวละครที่ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด แบบไหนถูกจริตกับตนเองมากกว่า ผมเชื่อว่าหลายคนคงดื้อรั้นในคำตอบ แต่อย่าลืมว่าโลกเรามีสองด้านเสมอ การเลือกผู้หญิงที่ชอบฉัน มันก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ
แม้แค่เพียงหนังสั้น ก็ต้องชมความจัดจ้านของผกก. Rohmer เต็มไปด้วยเทคนิค ลวดลีลา ‘Jump Cut’ ก็ยังมี! ถึงจะเต็มไปด้วยตำหนิ ทดลองผิดลองถูก ขาดลายเซ็นต์อันเป็นเอกลักษณ์ (โดยเฉพาะบทสนทนาอันปราชญ์เปรื่อง) ผู้ชมยังสามารถเพลิดเพลิน ได้รับความบันเทิงแฝงสาระข้อคิด และพบเห็นแม่แบบพิมพ์ ‘Six Moral Tales’ เริ่มต้นอย่างน่าสนใจ
Éric Rohmer ชื่อเกิด Jean Marie Maurice Schérer หรือ Maurice Henri Joseph Schérer (1920-2010) นักเขียน นักวิจารณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Nancy (บ้างก็ว่า Tulle), Meurthe-et-Moselle ในครอบครัวคาทอลิก (แต่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอเทวนิยม) โตขึ้นร่ำเรียนประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา และศาสนศาสตร์
ปล. Éric Rohmer เป็นคนไม่ชอบเปิดเผยเรื่องส่วนตัว อย่างชื่อจริงและสถานที่เกิด จงใจบอกกับนักข่าวถูกๆผิดๆ ขณะที่ชื่อในวงการเป็นส่วนผสมระหว่างผกก. Erich von Stroheim และนักเขียน Sax Rohmer (ผู้แต่ง Fu Manchu)
หลังเรียนจบ Rohmer ทำงานครูสอนหนังสือที่ Clermont-Ferrand พอสิ้นสุดสงครามโลกตัดสินใจย้ายสู่กรุง Paris กลายเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ ตีพิมพ์นวนิยาย Les Vacances (1946) ระหว่างนั้นเองเรียนรู้จักภาพยนตร์จาก Cinémathèque Française สนิทสนม Jean-Luc Godard, François Truffaut, Claude Chabrol, Jacques Rivette, จากนั้นเข้าร่วมนิตยสาร Cahiers du Cinéma, โด่งดังจากบทความ Le Celluloïd et le marbre (1955) แปลว่า Celluloid and Marble ทำการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับศิลปะแขนงอื่น, นอกจากนี้ยังร่วมกับ Chabrol เขียนหนังสือ Hitchcock (1957) เกี่ยวกับศาสตร์ภาพยนตร์เล่มแรกๆที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักว่า สื่อชนิดนี้ไม่ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น
Rohmer เริ่มสรรค์สร้างหนังสั้น Journal d’un scélérat (1950), จากนั้นเขียนบท/ร่วมกำกับหนังสั้นกับ Jean-Luc Godard อยู่หลายเรื่อง, จนกระทั่งภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Le Signe du lion (1959) แม้ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆของ French New Wave
สำหรับ Contes Moraux หรือ (Six) Moral Tales ได้แรงบันดาลใจจากโคตรหนังเงียบ Sunrise: A Song of Two Humans (1927) ของปรมาจารย์ผู้กำกับ F. W. Murnau ที่มีเรื่องราวชายหนุ่มแต่งงานครองรักภรรยา แต่แล้วถูกเกี้ยวพาราสีจากหญิงสาวอีกคนจนหลงผิด พอถูกจับได้ก็พยายามงอนง้อขอคืนดี ก่อนจบลงอย่างสุขี Happy Ending
[these stories’ characters] like to bring their motives, the reasons for their actions, into the open, they try to analyze, they are not people who act without thinking about what they are doing. What matters is what they think about their behavior, rather than their behavior itself.
Éric Rohmer
เกร็ด: คำว่า moraliste ในภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีความหมายแบบเดียวกับ moralist (ที่แปลว่าคุณธรรม ศีลธรรม) แต่คือลักษณะความเชื่อมั่นทางความคิดของบุคคล อาจจะอ้างอิงหรือไม่อ้างอิงศีลธรรมจรรยาของสังคมก็ได้ทั้งนั้น หรือเรียกว่าอุดมคติส่วนตน/ความเชื่อส่วนบุคคล
a moraliste is someone who is interested in the description of what goes on inside man. He’s concerned with states of mind and feelings. I was determined to be inflexible and intractable, because if you persist in an idea it seems to me that in the end you do secure a following.
The Bakery Girl of Monceau (1962) นำเสนอเรื่องราวของนักศึกษาหนุ่ม (รับบทโดย Barbet Schroeder) ตกหลุมรักหญิงสาวที่พบเจอ สวนทางบนท้องถนน Sylvie (รับบทโดย Michèle Girardon) แสดงความมุ่งมั่น ต้องการคบหาอย่างจริงๆจังๆ แต่จู่ๆเธอกลับสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
ด้วยความไม่ย่นย่อต่อความเหน็ดเหนื่อย ทุกวี่วันจะเดินเวียนวนอยู่ตามตรอกซอกซอยย่านนั้น จนกระทั่งพานผ่านร้านขายเบเกอรี่ แวะเวียนเข้าไปซื้อคุกกี้อยู่เป็นประจำ โดยไม่รู้ตัวพนักงานสาว Jacqueline (รับบทโดย Claudine Soubrier) ส่งสายตาอันยั่วเย้า พยายามเรียกร้องความสนใจ นั่นกลับสร้างความไม่พึงพอใจต่อชายหนุ่ม เลยต้องการโต้ตอบผู้หญิงที่ไม่รู้จักรักนวลสงวนตัว
ถ่ายภาพโดย Bruno Barbey และ Jean-Michel Meurice,
หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ 16mm ซึ่งสามารถแบกขึ้นบ่า ออกเดินไปมาตามท้องถนน บันทึกภาพตึกรามบ้านช่อง (เก็บฝังไว้ใน ‘Time Capsule’) ทุกแห่งหนสามารถใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ และผู้คนรับบทตัวประกอบโดยไม่รับรู้ตัว … นี่ถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์แห่งยุคสมัย French New Wave เลยก็ว่าได้
เพราะยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกๆของผกก. Rohmer จึงเต็มไปด้วยการทดลองผิดลองถูกมากมาย โดยเฉพาะการใช้ภาษากาย ท่าทางเดิน สัมผัสลูบไล้ และเสียงบรรยายของ (ว่าที่ผู้กำกับชื่อดัง) Bertrand Tavernier (เพราะมีน้ำเสียงน่าฟัง น่าเชื่อถือว่านักแสดงรับบท) เพื่อชี้นำเหตุการณ์ต่างๆว่าตัวละครกำลังครุ่นคิดกระทำอะไร นี่เป็นการตัดทอดอารมณ์ ผู้ชมไม่มีความรู้สึกร่วมใดๆ เพียงพบเห็นเรื่องราวดำเนินไป … จะมองว่าทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นในความครุ่นคิดตัวละครก็ได้เหมือนกัน
My intention was not to film raw events, but the narrative that someone makes of them. The story, the choice of facts, their organization… not the treatment that I could have made them submit to. One of the reasons that these Tales are called “Moral” is that physical actions are almost completely absent: everything happens in the head of the narrator.
Éric Rohmer
สถานที่ถ่ายทำทั้งหมดอยู่ในย่าน Monceau, กรุง Paris อาทิ Rue Lebouteux, Rue Legendre, Rue Lévis, Villiers ฯลฯ ส่วนร้านเบเกอรี่ที่อยู่บนถนน Rue de Saussure ผมลองค้นใน Google Street View พบว่ายังเปิดกิจการอยู่นะครับ แต่คงเปลี่ยนเจ้าของไปนานแล้วละ
ตัดต่อโดย Jackie Raynal และ Éric Rohmer
แม้หนังจะยาวแค่ 23 นาที แต่ก็มีโครงสร้างสามองค์อยู่ครบถ้วน ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองและเสียงบรรยายของชายหนุ่ม (ให้เสียงโดย Bertrand Tavernier) ตั้งแต่ …
- แรกพบเจอตกหลุมรัก Sylvie แสดงความมุ่งมั่นจริงจัง แต่จู่ๆเธอกลับสูญหายอย่างไร้ร่องรอย
- ณ ร้านเบเกอรี่ ถูกเกี้ยวพาราสีโดย Jacqueline สร้างความไม่พึงพอใจให้ชายหนุ่ม จึงกระทำบางสิ่งอย่างเพื่อเป็นการโต้ตอบกลับ
- และสุดท้ายเมื่อหวนกลับมาพบเจอ Sylvie เลยละทอดทิ้ง Jacqueline กระทำตามความมุ่งมั่นที่เคยตั้งใจเอาไว้
ผมรู้สึกว่าหนังมีการตัดต่อที่ค่อนข้างรวดเร็ว กระชับ ฉับไว นี่ไม่ได้แฝงนัยยะอะไรใดๆ แต่คาดคิดว่าผกก. Rohmer ต้องการทำลายอารมณ์ร่วม ความรู้สึกของผู้ชมที่มีของหนัง หลงเหลือเพียงเหตุการณ์ดำเนินไป ใครช่างสังเกตคงจะพบเห็น ‘jump cut’ อยู่สองสามจังหวะ
และหนังมี Time Skip อยู่แทบจะตลอดเวลา จนไม่สามารถแบ่งแยกแยะ ดูไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รับรู้อะไรใดๆ(เกี่ยวกับเวลา)ทั้งนั้น นี่ก็คงด้วยเหตุผลเดียวกัน ต้องการทำลายอารมณ์ร่วม เพื่อให้ผู้ชมขบครุ่นคิดในสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอออกมา
‘Six Moral Tales’ ล้วนมีเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่ม เมื่อต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ท้าทายศีลธรรม(ความเชื่อ)ของตนเอง เป็นเหตุให้เขาต้องเลือกตัดสินใจระหว่างมั่นคงในสิ่งเชื่อมั่น (หญิงสาวที่ฉันชื่นชอบ) หรือคล้อยตามไปกับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น (หญิงสาวที่ชื่นชอบฉัน) … แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผกก. Rohmer ล้วนเลือกสิ่งที่สะท้อนความสนใจส่วนตน ในความเป็นปัจเจกชน โดยไม่สนห่าเหวอะไรใคร ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่ายว่าเห็นดีเห็นงามประการใด
I am a man … and my tales are stories told in the first person.
Éric Rohmer
สาวขายเบเกอรี่ทำผิดอะไร? ผมมองไม่เห็นว่าเธอทำอะไรผิดนะครับ ทั้งหมดล้วนเกิดจากความครุ่นคิดไปเองของชายหนุ่ม เธอเพียงแสดงความชื่นชอบ เลยพยายามอ่อยเหยื่อ ต้องการเกี้ยวพาราสี แทนที่ถ้าเขาไม่พึงพอใจ ทำไมไม่พูดบอก ตีตนออกห่าง กลับแสร้งทำเป็นว่าฉันก็ชื่นชอบเธอเหมือนกัน เข้าหาประชิดใกล้ ลูบไล้สัมผัส นี่ย่อมกระตุ้นต่อมตัณหาราคะ เข้าใจว่าตอบตกลงสานสัมพันธ์
พฤติกรรมของชายหนุ่ม สะท้อนอะไรหลายๆอย่างเกี่ยวกับค่านิยมคนยุคสมัยนั้น (จริงๆเหมารวมถึงผกก. French New Wave ได้ทุกคนเลยนะ) ชายเป็นใหญ่ หญิงต้องอยู่ภายใต้ขนบกฎกรอบ ไร้สิทธิ์เสียงในการครุ่นคิดตัดสินใจ รูปร่างหน้าตา ชนชั้นทางสังคมก็เช่นเดียวกัน
ผมไม่ได้ผิดใจอะไรกับการเลือกของชายหนุ่มนะครับ แต่พฤติกรรมที่เขาแสดงออกต่อสาวขายเบเกอรี่ต่างหากคือปัญหา กลเกมความรักที่ทำให้บุคคลอื่นต้องชอกช้ำมันไม่สนุกเลยนะครับ ใครที่เคยกระทำอะไรลักษณะนี้ เชื่อเถอะว่าสักวันมันย่อมหวนกลับมาหา โดนแฟนสาวที่รักมากๆทรยศหักหลัง เมื่อนั้นก็คงจักได้รู้สึกสาสำนึกแก่ใจ
ด้วยความที่ผกก. Rohmer เคยเป็นครูสอนหนังสือมาก่อน ‘Six Moral Tales’ จึงเปรียบได้กับบทเรียน คำแนะนำ พร่ำสอนสั่ง (คล้ายๆ Educational Films) แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการยัดเยียดให้ผู้ชมต้องเห็นพ้องคล้อยตาม จงใจสร้างทางเลือกให้ขบครุ่นคิด เป็นสิทธิ์ของคุณเองจะเลือกตัดสินใจ ฝั่งฝ่ายไหน … แค่การได้ครุ่นคิด ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ล้วนถือเป็นวิชาการอันทรงคุณค่า
ทั้ง The Bakery Girl of Monceau (1962) และ Suzanne’s Career (1963) ต่างเป็นภาพยนตร์ที่ไม่เคยได้รับการออกฉายในวงกว้าง แต่เริ่มเป็นที่รู้จักหลังความสำเร็จของอีกสี่ ‘Six Moral Tales’ ปัจจุบันทุกเรื่องได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
ถ้าเป็นสมัยตอนวัยรุ่นๆ ผมคงเห็นด้วยกับการตัดสินใจของตัวละคร เลือกหญิงสาวที่ตนเองตกหลุมรัก! แต่พอเติบโตขึ้นก็ตระหนักว่านี่คือกลเกมที่ไม่น่าอภิรมณ์เอาเสียเลย ทำไมฝ่ายชายถึงไม่พยายามทำความเข้าใจหัวอกสาวเบเกอรี่บ้าง? นี่แสดงถึงความผิดๆเพี้ยนๆ ตรรกะบิดๆเบี้ยวๆของ ‘Moral Tales’ ถึงอย่างนั้นถ้ารับชมแล้วสามารถตระหนักได้ว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ถูกต้อง นั่นย่อมถือเป็นข้อคิด คติสอนใจได้เหมือนกัน!
‘Six Moral Tales’ เป็นซีรีย์ที่แนะนำกับวัยรุ่น หนุ่มๆสาวๆ รับชมให้เกิดความตระหนักถึงหนทางเลือก การตัดสินใจ ไม่ได้ชี้แนะว่าอะไรถูก-ผิด ขึ้นอยู่กับตัวเราจะขบครุ่นคิด ยึดถือปฏิบัติตาม หรือเป็นบทเรียนสอนการดำรงชีวิต
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply