The Damned (1969) Italian : Luchino Visconti ♥♥♥♥

ตระกูลต้องคำสาปที่ใกล้ถึงวันล่มสลาย ภายในเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เกมการเมือง แก่งแย่งชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทรยศหักหลังญาติพี่น้อง พร้อมกระทำสิ่งโฉดชั่วนานัปการ (หนังได้รับการจัด X-Rated) สะท้อนการขึ้นมาเรืองอำนาจของ Nazi Germany ได้อย่างลุ่มลึก ทรงพลัง!

ถ้าคุณคิดจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ถามใจตนเองว่าพร้อมพบเห็นฉากข่มขืน, Incest, Orgy, Pedophile ฯลฯ นี่ยังไม่รวมเนื้อเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการทรยศ แทงข้างหลัง ใส่ร้ายป้ายสี พร้อมกำจัดญาติพี่น้องด้วยสารพัดวิธี อย่าคิดว่าหนังได้เรต X ด้วยความบังเอิญนะครับ!

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมขอเตือนไว้ก่อน สำหรับคนยังไม่เคยลิ้มลองรับชมผลงานของผู้กำกับ Luchino Visconti แนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบร้อน เตรียมร่างกายให้พร้อม ทำใจร่มๆ เพราะระยะเวลา 154 นาที จะค่อยๆบดขยี้ บีบเค้นคั้น ทำลายล้างความรู้สึกภายใน จนอาจไม่หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง

Visconti เป็นผู้กำกับที่ผมมีความยำเกรง ต้องตระเตรียมตัวเองให้พักพร้อม เพราะผลงานมีความสลับซับซ้อน จำต้องใช้สมาธิ สติปัญญาในการครุ่นคิดวิเคราะห์ มีความยุ่งยากระดับเดียวกับภาพยนตร์ของ Akira Kurosawa, Ingmar Bergman, Andrei Tarkovsky ฯลฯ มองผ่านๆก็อาจทำความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้เข้าถึงแก่นแท้ สาสน์สาระ ประสบการณ์ดูหนังต้องสูงพอสมควรเลยละ

สิ่งที่ผมค้นพบใน La caduta degli dei (ชื่อหนังภาษาอิตาเลี่ยน แปลว่า The fall of the Gods) ไม่ใช่แค่การล่มสลายของตระกูล Essenbecks มองอีกมุมหนึ่งคือการไต่เต้าขึ้นมาครอบครองตำแหน่งหัวหน้าครอบครัว ของบุคคลผู้มีความคลุ้มบ้าคลั่งที่สุด! ซึ่งพื้นหลังอยู่ในช่วงทศวรรษการกำลังเรืองอำนาจของ Nazi Germany ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามนำเสนอคู่ขนาน เปรียบเทียบแทน หรือคือกึ่งอัตชีวประวัติ Adolf Hitler หรอกหรือ??

แซว: ผมแอบมีความรู้สึกเล็กๆว่าผู้กำกับ Ingmar Bergman ได้แรงบันดาลใจ Fanny and Alexander (1982) ส่วนหนึ่งก็จาก The Damned (1969) เรื่องนี้แหละ!


Luchino Visconti (1906 – 1976) ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลียน เกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ที่เมืองมิลาน มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดา Giuseppe Visconti di Modrone ตำแหน่งเป็น Duke of Grazzano Visconti และ Count of Lonate Pozzolo ชื่อเต็มๆของเขาคือ Count don Luchino Visconti di Modrone เป็นทายาทตระกูล House of Visconti

ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในศิลปะ ดนตรี การแสดง, ร่ำเรียน Cello จากคีตกวี Lorenzo de Paolis (1890–1965) สนิทสนมกับ Giacomo Puccini, Arturo Toscanini, Gabriele D’Annunzio, ช่วงทศวรรษ 30s มีโอกาสรู้จัก Jean Renoir ผ่านการแนะนำของ Coco Chanel (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ดัง Coco) กลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Toni (1935), Partie de campagne (1936) ขณะที่อีกเรื่องหนึ่ง La Tosca (1941) ไม่ทันเสร็จถูกผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน Carl Koch ดึงไปทำต่อ (เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง)

หลังจากพอมีประสบการณ์ทำงานผู้ช่วย ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากสรรค์สร้างภาพยนตร์เองบ้าง เขียนบท/กำกับเรื่องแรก Ossessione (1943) ได้รับการตีตราว่าคือ Neorealist เรื่องแรกของโลก!, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Earth Will Tremble (1948), Senso (1954), Rocco and His Brothers (1960), The Leopard (1963)**คว้ารางวัล Palme d’Or, Sandra (1965)**คว้ารางวัล Golden Lion, Death in Venice (1971) ฯ

สำหรับ The Damned (1969) มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นว่าผู้กำกับ Visconti อาจได้แรงบันดาลใจจากหนังสือสองเล่ม

  • The Rise and Fall of the Third Reich (1960) รวบรวมโดย William L. Shirer ร้อยเรียงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่จุดกำเนิดของ Adolf Hitler, การก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจของ Nazi Germany และความพ่ายแพ้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
    • หนังสือเล่มนี้กลายเป็น Best Selling ในสหรัฐอเมริกา และคว้ารางวัล National Book Award: non-fiction
  • Buddenbrooks: The Decline of a Family (1901) นวนิยายแต่งโดย Thomas Mann นำเสนอเรื่องราวการล่มสลายของตระกูลพ่อค้า(สมมติ) Buddenbrooks ช่วงระหว่างปี 1835-77
    • เรื่องราวดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากตระกูลของผู้แต่งเอง Mann family of Lübeck
    • นวนิยายเล่มนี้คือเหตุผลที่ทำให้ Mann คว้ารางวัล Nobel Prize in Literature เมื่อปี 1929

ผู้กำกับ Visconti ร่วมงานกับเพื่อนนักเขียน (หรือคู่ขาก็ไม่รู้นะ) Nicola Badalucco และ Enrico Medioli ครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวตระกูล Essenbecks ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตอาวุธ(สงคราม) ส่วนพื้นหลังสองจิตสองใจระหว่าง Fascist Italy (1922–1943) หรือ Nazi Germany (1933-45) ซึ่งเหตุผลที่เลือก Nazism เพราะครุ่นคิดว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากกว่า (คนทั่วไปเวลานึกถึงสงครามโลกครั้งที่สอง แทบทั้งนั้นมีภาพของ Adolf Hitler ไม่ใช่ Benito Mussolini)

Nazism seems to me to reveal more about a historical reversal of values.

Luchino Visconti

เนื้อหาสาระของ The Damned (1969) มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ The Leopard (1963) ต่างคือเรื่องราวของชนชั้นสูง/ตระกูลพ่อค้า จากเคยมีความยิ่งใหญ่ กำลังค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งความสนใจดังกล่าวมาจากต้นตระกูลของผู้กำกับ Visconti เองนะแหละ ที่ได้พบเห็นความเสื่อมถดถอยของ House of Visconti (แต่ไม่ได้หมายความว่าตระกูลจะล่มสลายไปนะครับ)


ตระกูล Essenbecks คือเจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศเยอรมัน กำลังครุ่นคิดตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจกับพรรคนาซีที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 1933 หรือไม่?

เรื่องราวเริ่มต้นงานเลี้ยงวันเกิดของ Baron Joachim von Essenbeck (รับบทโดย Albrecht Schoenhals) แม้จะไม่ชื่นชอบพรรคนาซี แต่ก็ประกาศเลือก Konstantin von Essenbeck (รับบทโดย Reinhard Kolldehoff) ให้เป็นผู้ดูแลธุรกิจค้าขายกับ Sturmabteilung (SA) สร้างความไม่พอใจให้ผู้บริหารระดับสูง Friedrich Bruckmann (รับบทโดย Dirk Bogarde) ชู้รักของ Sophie von Essenbeck (รับบทโดย Ingrid Thulin) ที่สนิทสนมกับ Schutzstaffel (SS) จึงครุ่นคิดแผนการฆาตกรรม Baron Joachim ด้วยการใส่ร้ายป้ายสี Herbert Thalmann (รับบทโดย Umberto Orsini) สามีของ Elizabeth (รับบทโดย Charlotte Rampling) เพื่อให้หุ้นของบริษัทส่วนใหญ่ตกเป็นของ Martin von Essenbeck (รับบทโดย Helmut Berger) บุตรชายของ Sophie สามารถโน้มน้าวชักจูงจมูกให้เขาเลือกเปลี่ยนประธานบริษัทมาเป็น Friedrich ได้สำเร็จ

Martin เป็นลูกแหง่ติดแม่ ได้รับการเลี้ยงดูแลอย่างเอาอกตามใจจนเกิดความสับสนทางเพศ แต่งหญิง (drag) ในงานวันเกิดของปู่ Joachim มีความสัมพันธ์ทางเพศกับทั้งหญิงสาว เพื่อนชาย แถมยังลวนลามเด็กน้อย (Pedophile) จนเธอคิดสั้นฆ่าตัวตาย Konstantin จึงใช้เป็นเครื่องมือยึดอำนาจ ครอบครองกิจการของตระกูลได้สำเร็จ นั่นทำให้ Friedrich ติดต่อกับน้องเขย Aschenbach (รับบทโดย Helmut Griem) ให้ช่วยจัดการเข่นฆ่า กวาดล้างสมาชิก Sturmabteilung (SA) ในค่ำคืน Night of the Long Knives

แม้ว่า Friedrich หวนกลับขึ้นมาครอบครองอำนาจสูงสุดอีกครั้ง แต่ Martin ก็ได้เติบโตขึ้น เรียนรู้ความผิดพลาด เล่นแง่งอนกับมารดา Sophie แล้วกระทำการร่วมรักหลับนอน (Incest) จนทำให้เธอสูญเสียสติแตกกลายเป็นคนบ้า หลังงานแต่งงานกับ Friedrich ทั้งสองก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย (Double Suicide) หลงเหลือเพียงบุคคลผู้มีความคลุ้มบ้าคลั่งที่สุด Martin นำพาตระกูล Essenbeck ให้การสนับสนุน Adolf Hitler … และล่มสลายไปด้วยกัน


สำหรับนักแสดงขอกล่าวถึงแบบคร่าวๆนะครับ เพราะมีปริมาณเยอะมากๆ (Ensemble Cast) เป็นการรวมตัวของนักแสดงของระดับนานาชาติ

  • Baron Konstantin von Essenbeck ก่อร่างสร้างกิจการโรงถลุงเหล็ก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเยอรมัน แต่ด้วยวัยวุฒิเพิ่มสูงขึ้น ใกล้ถึงเวลาจะต้องลงจากบัลลังก์ แม้ไม่ค่อยประทับใจแนวทางของพรรคนาซี แต่ก็ตระหนักว่าอนาคตย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เลยต้องการส่งต่อมรดกให้ทายาท Joachim กลับถูกลูกน้องขี้อิจฉา Friedrich ตลบหลังเข่นฆาตกรรมในวันเกิด
    • รับบทโดย Albrecht Moritz James Karl Schoenhals (1888-1978) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Mannheim, บิดาเป็นหมอ โตขึ้นเลยตัดสินใจเลือกเรียนวิชาการแพทย์ เคยอาสาสมัครในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระทั่งได้รับบาดเจ็บที่แขนจนไม่สามารถทำงานผ่าตัดได้อีกต่อไป เลยเปลี่ยนอาชีพนักแสดง เริ่มจากเข้าร่วมคณะละครเวที City Theater Freiburg มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 30s กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองถูกบีบบังคับให้ต้องเล่นหนังชวนเชื่อนาซี หลังจากนั้นจึงแทบไม่ใครอยากว่าจ้าง เลยกลับไปเป็นหมอ เล่นละครเวที จนกระทั่งได้รับการชักชวนให้มาแสดง The Dammned (1969) เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย
    • บทบาท Baron Konstantin เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงรุ่นก่อน ยังคงยึดติดในความเป็นผู้ดีมีสกุล พยายามวางตัวหัวสูงส่ง เลยไม่สามารถยินยอมรับชุดการแสดง (drag) ของ Martin เวลาจะพูดแสดงความคิดเห็นอะไร ต้องชักแม่น้ำทั้งห้ามาอารัมบทให้ยืดยาว ไม่ทันใจวัยรุ่น แต่การถูกทรยศหักหลังก็น่าสงสารเห็นใจอยู่เล็กๆ … แต่กว่าที่ตัวละครจะก้าวมาถึงจุดนี้ เชื่อเถอะว่าต้องผ่านการนองเลือด กระทำสิ่งโฉดชั่วร้ายมากมาย
  • Joachim von Essenbeck บุตรชายคนรองของ Baron Konstantin หลังจากพี่ชายเสียชีวิต (โดยไม่ทราบสาเหตุ) กลายเป็นทายาทสืบต่อกิจการตระกูล Essenbeck เพรียบพร้อมด้วยเส้นสาย พวกพ้อง และยังเป็นสมาชิกของ Sturmabteilung (SA) แต่กลับถูกหลานชาย Martin (บุตรของพี่ชาย ได้ครอบครัวหุ้นส่วนทั้งหมดของปู่หลังเสียชีวิต) หันไปเลือกข้าง Friedrich ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารบริษัท ถึงอย่างนั้นพฤติกรรมผิดเพศของเขา ทำให้ Joachim สามารถใช้ข้ออ้างในเข้าควบคุมกิจการ จนกระทั่งค่ำคืน Night of the Long Knives จึงถูกเข่นฆ่า กวาดล้าง
    • รับบทโดย Reinhard Kolldehoff (1914-95) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่กรุง Berlin เป็นบุตรของบุรุษไปรษณีย์ เริ่มแสดงละครเวทีตั้งแต่ปี 1936 เพิ่งมามีชื่อเสียงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มักได้รับบทตัวร้าย บ้าพลัง หน้าตาอัปลักษณ์ ไม่ค่อยมีความเป็นมนุษย์สักเท่าไหร่
    • รูปร่างหน้าตาของ Kolldehoff เกิดมาเพื่อเป็นตัวร้ายโดยเฉพาะ ดูมีความโหดเหี้ยม เผด็จการ บ้าอำนาจ เมื่อรวมกับพฤติกรรมชอบดื่มด่ำ สำมะเลเทเมา ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย ไม่ได้มีความสงบเสงี่ยม ดูเป็นผู้ดีมีสกุล (เหมือนบิดา Baron Konstantin) ถ้าไม่เพราะพรรคพวกเส้นสาย ผมเชื่อว่าบิดา Konstantin ก็คงไม่คิดจะส่งต่อมอบกิจการครอบครัวให้แน่
  • Friedrich Bruckmann หนึ่งในผู้บริหารกิจการ Essenbecks เป็นคนมีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง อยากไต่เต้าขึ้นเป็นเจ้าของบริษัท และครอบครองรักกับ Sophie von Essenbecks (สามีเสียชีวิตไปก่อนหน้า) ด้วยเหตุนี้เมื่อ Joachim ต้องการส่งมอบกิจการให้ Konstantin เลยครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย ป้ายสีใส่ Herbert Thalmann เมื่อหุ้นบริษัทตกมาเป็นของ Martin (บุตรชายของ Sophie) จึงสามารถโน้มน้าวชักใย ให้ตนเองได้นั่งแทนประธาน สำเร็จตามใจหวัง
    • รับบทโดย Sir Dirk Bogarde ชื่อจริง Derek Niven van den Bogaerde (1921-99) นักแสดง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ West Hampstead, London, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Chelsea School of Art มีผลงานแสดงละครเวที ก่อนอาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นกลายเป็น ‘matinée idol’ เซ็นสัญญา Rank Organisation โด่งดังจาก The Blue Lamp (1954), Doctor in the House (1954), The Servant (1963), Darling (1965), โกอินเตอร์กับ The Damned (1969), Death in Venice (1971), The Night Porter (1974), A Bridge Too Far (1977), Despair (1978) ฯลฯ
    • ในช่วงแรกๆบทบาทของ Bogarde ดูเหมือนพระเอก วางมาดให้ดูดี มีความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ต้องการจะกอบกู้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล (แม้เขาเป็นคนนอกก็เถอะ) แต่เมื่อกลายเป็นประธานบริษัท สันดานธาตุแท้จึงค่อยๆเปิดเผยออกมา รอบแรกยังดูกลัวๆกล้าๆ ประณีประณอมต่อ Konstantin แต่เมื่อเผด็จศึกอีกฝั่งฝ่าย กลับกลายเป็นคนเกรี้ยวกราด เผด็จการ (มีสภาพไม่แตกต่างจาก Konstantin) คาดคิดว่าคงไม่หลงเหลือหนามยอก(ให้ต้องใช้หนามบ่ง) กลับเป็นชู้รักที่สูญเสียการควบคุมบุตรชาย นั่นทำให้ทุกสิ่งอย่างเพ้อฝันล่มสลาย สูญเสียความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อตนเอง เลยตัดสินใจ …
    • ถึงผมไม่ค่อยมีโอกาสรับชมการแสดงของ Bogarde มากนัก แต่ก็รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจคือหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมที่สุด! มีลักษณะที่เรียกว่า ‘roller coaster’ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ต้องการไต่เต้าไปให้ถึงจุดสูงสุด แต่เพราะต้องใช้ทุกสิ่งอย่างแลกมา บนนั้นกลับพบเจอเพียงความเวิ้งว่างเปล่า ไม่หลงเหลือกระทั่งหญิงสาวคนรัก (แล้วฉันจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร)

แซว: ผมอยากเปรียบเทียบ Joachim เหมือน Donald Trump ขณะที่คู่ปรับ Friedrich ก็คือ Joe Biden คุณคิดว่าใครดี-เลวกันละ?

  • Sophie von Essenbeck ภรรยาหม้ายของบุตรชายคนโตของ Joachim เมื่อสูญเสียสามีจึงมองหาที่พักพิงใหม่ ได้พบเจอ Friedrich Bruckmann ที่สามารถเติมเต็มรสรัก และความมักใหญ่ใฝ่สูง พร้อมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนผลักดัน ด้วยการครอบงำบุตรชาย Martin แต่เขาก็กลายจุดอ่อนหลังสามารถดิ้นหลุดพ้นอ้อมอกมารดา และหวนกลับมาเอาคืนเธออย่างสาสม
    • รับบทโดย Ingrid Lilian Thulin (1926-2004) นักแสดงสัญชาติ Swedish เกิดที่ Sollefteå, Ångermanland ทางตอนเหนือของประเทศ บิดาเป็นชาวประมง พออายุ 17 เดินทางสู่ Stockholm ทำงานเป็นเสมียนยัง Påhlmans Commercial Institute ขณะเดียวกันก็เริ่มมีสนใจด้านการแสดง กระทั่งถูกค้นพบโดย Johan Falck เลยมีโอกาสได้เข้าร่วม Royal Dramatic Theatre จนเข้าตาผู้กำกับ Ingmar Bergman ชักชวนมาแจ้งเกิดโด่งดัง Wild Strawberries (1957), The Magician (1958), Winter Light (1962), The Silence (1963), The Rite (1969) และ Cries and Whispers (1972)
    • นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรับชม Thulin ไม่ได้ร่วมงานผู้กำกับ Bergman แต่ก็ไม่รู้สึกถึงความแตกต่างสักเท่าไหร่ ช่วงทศวรรษ 70s ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ทำให้เธอมักได้รับบทยัยตัวร้าย บุคคลอันตราย พร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด เพื่อตอบสนองตัณหา ความต้องการ เป้าหมายส่วนตน เต็มไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ร่านพิศวาส สายตาแร้งที่พร้อมรุมทึ้ง ฉีกกระชาก กัดกินทุกสิ่งอย่าง
    • ผมมีความอ้ำอึ้งเล็กๆเมื่อเห็น Thulin เปลื้องผ้า เปลือยอกเข้าฉาก แต่พอครั้งที่สองกับบุตรชายเลยร้องอ๋อ เข้าใจเหตุผลของการเปลืองตัวเพื่อจะสื่อถึงการใช้เรือนร่างเพื่อตอบสนองเป้าหมาย ความทะเยอทะยาน เพราะนั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เธอสามารถใช้ไต่เต้ามุ่งสู่ความสำเร็จ
  • Martin von Essenbeck อาจเพราะสูญเสียบิดาไปตั้งแต่ยังเด็ก เลยขาดความรัก ความอบอุ่น ต้นแบบความเป็นลูกผู้ชาย ได้รับการเลี้ยงดูแล เอาอกเอาใจจากมารดา Sophie มากเกินไป จนไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ เป็นตัวของตนเอง เกิดความสับสนทางเพศ ถึงขนาดไม่อาจควบคุม(ความต้องการทางเพศ)ตนเอง เลยตกเป็นเครื่องมือสำหรับแก่งแย่งชิงอำนาจระหว่าง Friedrich กับ Konstantin จนกระทั้งเมื่อเริ่มเกิดความเข้าใจอะไรๆ ได้รับคำแนะนำจาก Aschenbach จึงค่อยโต้ตอบกลับ เอาคืนบุคคลที่เคยกระทำสิ่งเลวร้ายไว้กับตนเอง
    • Helmut Berger ชื่อจริง Helmut Steinberger (เกิดปี 1944) สัญชาติ Austrian เกิดที่ Bad Ischl, Alpine and Danube Reichsgaue ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการโรงแรม พออายุ 18 เดินทางสู่ London รับจ้างทำงานทั่วไป จนค้นพบความชื่นชอบด้านการแสดง จากนั้นมุ่งสู่กรุง Rome พบเจอตกหลุมรัก กลายเป็นคู่ขาของผู้กำกับ Luchino Visconti ได้รับบทสมทบภาพยนตร์ The Witches (1967) แล้วแจ้งเกิดโด่งดังกับ The Damned (1969), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Dorian Gray (1970), The Garden of the Finzi-Continis (1970), Ludwig (1972) ฯ
    • Berger คือคู่ขา/ชายคนรักของผู้กำกับ Visconti มีหรือจะไม่ส่งเสริมสนับสนุน (วันเสียชีวิตของ Visconti ถึงขนาดทำให้ Berger คิดสั้นจะฆ่าตัวตายตาม แต่ยังสามารถรอดมาได้) ในเครดิตยังเน้นย้ำ Introducing … (เป็นการบอกให้ผู้ชมจับตามองนักแสดงคนนี้ให้ดีๆ)
    • ซึ่งต้องชมเลยว่า Berger สมราคาคุย ไม่มีความหวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น! นี่เป็นตัวละครที่โคตรวิปริต ผิดปกติ แม้ประเด็น Bisexual (ทั้งชาย-หญิง) คงไม่สร้างอคติเท่าไหร่แล้วในสังคมปัจจุบัน แต่การ Incest, Rape โดยเฉพาะ Pedophile (ลวนลามเด็กหญิง) นั่นไม่มีทางที่ใครจะยินยอมรับไหวหรอกนะครับ
    • ไฮไลท์ต้องยกให้กับการแต่งหญิง (drag) ที่เป็นการเคารพคารวะ Marlene Dietrich จากเรื่อง The Blue Angel (1930) คงสร้างความกระอักกระอ่วนให้ใครหลายคน รวมถึงปู่ Joachim อ้ำอึ้งไปเลยละ! มองผิวเผินอาจรู้สึกแค่มันไม่ค่อยถูกกาละเทศะ แต่ก็แฝงนัยยะถึงความผิดปกติของคนรุ่นใหม่ พร้อมทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนอะไรทั้งนั้น
  • Hauptsturmführer Aschenbach หัวหน้ากลุ่ม Schutzstaffel (SS) ที่จงรักภักดีต่อ Adolf Hitler มีศักดิ์เป็นน้องเขยของ Sophie เลยสามารถเข้าร่วมงานเลี้ยง ช่วงแรกๆพยายามโน้มน้าว Friedrich ให้กำจัด/เข่นฆาตกรรม Joachim จากนั้นกวาดล้าง Konstantin พร้อมกับ Sturmabteilung (SA) ซึ่งพอตระหนักว่า Friedrich มีความลุ่มหลงในอำนาจ ก็เปลี่ยนมาเสี้ยมสอน Martin … เรียกว่าเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ชักใยทุกสิ่งอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
    • Helmut Griem (1932-2004) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที สำหรับภาพยนตร์มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Damned (1969), Cabaret (1972), Ludwig (1963), Germany in Autumn (1978) ฯ
    • ความเนี๊ยบในการแต่งตัว หวีผมของ Griem อาจสร้างความพิศวงบางอย่างให้ผู้ชมตั้งแต่ช่วงแรกๆ เป็นคนนอกที่เหมือนจะมาดี อาสาช่วยเหลือ Friedrich แต่แผนการของเขาก็ชวนให้ตั้งข้อคำถามพอสมควร จนกระทั่งเมื่อเรื่องราวดำเนินไป ตัวตนธาตุแท้จริงเริ่มปรากฎชัด โห! นี่คือโคตรของโคตร ตัวร้ายที่แท้จริง เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังแทบทุกสิ่งอย่าง
    • เกร็ด: ผู้กำกับ Visconti นำชื่อตัวละคร Aschenbach จากนวนิยาย Death in Venice (1912) ซึ่งเขาก็ได้ดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องต่อไป (แต่เรื่องนั้นรับบทนำโดย Dirk Bogarde)

หลายคนคงสับสนในความสัมพันธ์เชื่อมโยงใยของแต่ละตัวละครในหนัง มีคนทำแผนผังตระกูล (Family Tree) ไว้ให้แล้วนะครับ น่าจะช่วยได้มากทีเดียว

หนังมีสองเครดิตถ่ายภาพ ประกอบด้วย

  • Armando Nannuzzi (1925-2001) สัญชาติอิตาเลี่ยน เคยร่วมงานผู้กำกับ Luchino Visconti สองครั้ง Sandra (1965) และ The Damned (1969)
  • Pasquale ‘Pasqualino’ De Santis (1927-96) สัญชาติอิตาเลี่ยน เจ้าของรางวัล Oscar: Best Cinematography จากเรื่อง Romeo and Juliet (1968), เริ่มร่วมงานผู้กำกับ Luchino Visconti ตั้งแต่ The Damned (1969), Death in Venice (1971) ฯ

การที่ต้องใช้ตากล้องถึงสองคน น่าจะเพราะหนังมีงานสร้างที่ละเมียดไม เต็มไปด้วยรายละเอียด mise-en-scène พร้อมเทคนิคร่วมสมัยนั้น Tracking-Panning-Zooming แต่จะมีความเชื่องชา เนิบนาบ ไม่เร่งรีบร้อนเหมือนหนังของผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ(สมัยนั้น) และความเนี๊ยบระดับสมบูรณ์แบบ Perfectionist ของผู้กำกับ Visconti ไม่ใช่เรื่องง่ายจะเอาใจ (ว่ากันว่าระดับเดียวกับ Erich von Stroheim ทุกอย่างต้องเป็นของจริง สั่งให้ปูพื้นคฤหาสถ์ด้วยหินอ่อน ก็ต้องเอาหินอ่อนจริงมาใช้)

สำหรับสถานที่ถ่ายทำ ฉากภายนอกออกเดินทางไปยัง West German, Austria และภายใน/คฤหาสถ์ของ Essenbeck ออกแบบสร้างภายในสตูดิโอ Cinecittà Studios ณ Rome

  • โรงงานถลุงเหล็ก ถ่ายทำที่ Terni, Umbria ประเทศอิตาลี
  • Night of the Long Knives ถ่ายทำยัง Attersee Lake บริเวณหมู่บ้าน Unterach am Attersee, Upper Austria
  • ฉากภายนอกที่เยอรมัน อาทิ Düsseldorf, Essen จังหวัด North Rhine-Westphalia

Opening Credit ร้อยเรียงภาพอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ท่ามกลางกองเพลิงร้อนระอุ ลาวาไหลนอง ควันไฟฟุ้งกระจาย เหล่านี้คือสัญลักษณ์ของเลือดเนื้อ การต่อสู้ แผดเผาทำลายล้าง สามารถทำให้ทุกสิ่งอย่างขวางหน้า ราบเรียบ วอดวาย

โรงงานถลุงเหล็ก (ยุคสมัยนั้น)ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสงคราม เพราะคืออุตสาหกรรมสำหรับผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ สำหรับใช้ในการต่อสู้รบศัตรู นี่จึงถือเป็นธุรกิจสีเลือด ต้องคำสาป ร่ำรวยบนชีวิต-ความตายผู้คน

ในประวัติศาสตร์จริงๆ เมื่อ Nazi ขึ้นมาเรืองอำนาจ จะเข้ายึดโรงงานผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ให้กลายเป็นของรัฐตนเอง เพราะถือว่าคือธุรกิจชี้เป็นชี้ตายของการสงคราม แต่เราสามารถมองช่วงเวลาของหนัง ค.ศ. 1933-34 ยังไม่ถึงจุดที่ Nazi มีอำนาจล้นฟ้าขนาดนั้น จึงยังสามารถปล่อยปละ Essenbecks ยังไม่ได้ถูกกลืนกิน (แต่ตอนจบเมื่อ Aschenbach ได้กลายเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ก็มีสภาพไม่ต่างจากถูก Nazi เข้ายึดครองเรียบร้อยแล้วละ)

ช่วงต้นของการแนะนำตัวละคร ผมขอขมวดรวมไว้ตรงนี้เลยแล้วกัน

  • Konstantin พบเห็นขณะกำลังอาบน้ำ สามารถสื่อถึงนิสัยตรงไปตรงมา พูดจาโผงผาง ไม่มีอะไรต้องปิดบัง
  • Günther กำลังซักซ้อมเชลโล่ แต่ถูกขัดจังหวะโดยน้องสาว สามารถสื่อถึงการที่บิดา Konstantin พยายามจะบีบบังคับให้เขาเลิกเล่นดนตรี แล้วหันมาเอาดีกับธุรกิจของครอบครัว
  • Joachim จับจ้องมองภาพภรรยา บุตรชายที่เสียชีวิต คนรับใช้จัดปกเสื้อด้านหลัง และขณะก้าวออกจากห้อง กล้องถ่ายภาพสะท้อนในกระจก เหล่านี้สื่อถึงการยังคงจมปลักอยู่กับอดีต
  • Herbert และ Elizabeth Thalmann ต่างช่วยกันแต่งตัว ติดกระดุมแขนเสื้อ สื่อถึงการต้องพึ่งพาอาศัย เพราะทั้งสองเป็นเพียงลูกจ้างของตระกูล Essenbeck ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้นอิทธิพลของตระกูลนี้
  • Friedrich นั่งรถมากับ Aschenbach ต่างพูดคุยสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านาน แต่สังเกตว่าแสงสว่าง-ความมืด อาบฉาบใบหน้าพวกเขาสลับไปมา นั่นสื่อถึงความเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย สร้างภาพภายนอกให้ดูดี แต่จิตใจซุกซ่อนเร้นความโฉดชั่วร้าย

นี่เป็นช็อตที่น่าสนใจมากๆว่า ชายคนนี้คือตัวแทนของ Adolf Hitler? หรือแค่จะสื่อถึงความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างพวกเขา?

บทบาทของ Aschenbach ช่วงแรกๆเหมือนจะมาดี พร้อมให้ความช่วยเหลือ แก้สารพัดปัญหาให้กับ Friedrich แต่ตัวตนธาตุแท้จริงของชายคนนี้ หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ภาพสะท้อนบนกระจก (ก่อนหน้าเข้าไปรับชมการแสดงงานวันเกิด Joachim) ใบหน้าครึ่งหนึ่งอาบฉาบแสงสว่าง อีกครึ่งอยู่ฟากฝั่งความมืดมิด

  • การแสดงของสองเด็กสาว (ตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้ประสีประสา) พยายามขับร้องประสานเสียง แต่ต่อให้พวกเธอพยายามสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถผสมผสานกลมเกลียวกลายเป็นหนึ่งเดียว สะท้อนถึงความแตกต่างของมนุษย์ ยิ่งถ้าศัตรูขั้วตรงข้ามก็ไม่มีวันจะลงรอยด้วยกัน
  • เดี่ยวเชลโล่ของ Günther สามารถสร้างความประทับใจให้ปู่ Joachim เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ดีมีสกุล รสนิยมของชนชั้นสูงสมัยก่อน
  • แต่ไม่ใช่กับวัยรุ่น คนหนุ่มสาวสมัยนั้น Martin กับชุดการแสดงแต่งหญิง (drag) ทำให้ปู่ Joachim แสดงอาการกระอักกระอ่วน ไม่ค่อยจะพึงพอใจ ไร้สัมมาคารวะ ดูต่ำทรามยังไงชอบกล

ทั้งสามชุดการแสดง สะท้อนความแตกต่างขั้วตรงข้ามของคนสมัยนั้น ทั้งมุมมอง ความคิด ทัศนคติ ทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วม ต้องหาหนทางกำจัดอีกฝั่งฝ่าย ให้หลงเหลือเพียงตนเองครอบครองอำนาจสูงสุด

แม้ว่าเป็นหนังฟีล์มสี แต่งานภาพส่วนใหญ่มีโทนขาว-ดำ คาบเกี่ยวอยู่ความสว่าง-มืดมิด แบ่งพวกพ้อง ฝั่งฝ่ายอย่างชัดเจน เพียงระหว่างการแสดงของ Martin เมื่อก้าวออกมาด้วยชุดแต่งหญิง (drag) จักพบเห็นรุ้งกินน้ำหลากหลายสีสัน สื่อถึงความเป็นไปได้ไม่รู้จบ ไม่ได้เลือกเข้าข้างฝ่ายใด แต่ใครต่อใครกลับพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากตนเอง

โต๊ะอาหาร คือสถานที่สำหรับแสดงวิทยฐานะ อวดอ้างบารมี เพราะใครก็ตามที่นั่งอยู่ตำแหน่งหัวโต๊ะ จักต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจบารมีมากที่สุด ขณะที่ลำดับความใกล้ชิด ยังสื่อถึงอิทธิพล ความสำคัญ ยิ่งห่างไกลฝั่งตรงข้าม หรือถูกบดบังด้วยเชิงเทียน ล้วนไร้ซึ่งสิทธิ์เสียงต่อรองใดๆทั้งนั้น

  • ช่วงขณะรับประทานอาหาร Joachim นั่นอยู่หัวโต๊ะในฐานะเจ้าของวันเกิด โดยมีหลานๆ ลูกน้องคนสนิท และแขกรับเชิญนั่งอยู่เคียงชิดใกล้ สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆก็จะอยู่ห่างออกไป ขณะที่ Sophie (ภรรยาของบุตรชายผู้ล่วงลับ) ถูกจัดให้อยู่ฝั่งตรงข้าม เรียกว่าแทบจะไม่หลงเหลือความสำคัญใดๆต่อตระกูล
  • หลังจาก Joachim กล่าวสุนทรพจน์เสร็จสิ้น
    • เด็กๆถูกพาตัวกลับห้อง
    • Herbert และ Elizabeth ต่างแสดงความไม่พึงพอใจลุกออกจากโต๊ะ
    • Konstantin เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นทายาท สืบสานต่อกิจการ ลุกขึ้นจากด้านหลังมานั่งเคียงข้าง Joachim (แทนที่นั่งเด็กหญิง) แสดงถึงการได้รับโอกาส กลายเป็นผู้ใกล้ชิด สนิทสนม
    • ส่วนคนที่เหลือยังคงแน่นิ่งอยู่กับที่ ไม่สามารถพูดบอกแสดงความคิดเห็นอะไรออกไป

Sophie ตั้งแต่สูญเสียสามี ก็แทบไร้สิทธิ์เสียง ตัวตนในตระกูล Essenbeck สังเกตจากตำแหน่งบนโต๊ะอาหาร และภาพช็อตนี้ที่เธอนอนลงบนโซฟา ใบหน้าอาบแสงที่ดูหยาบกระด้าง มอบสัมผัสของความไร้ชีวิตชีวา

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอเข้าหา Friedrich (หรือในมุมกลับกันก็ไม่รู้นะ) เพราะอีกฝั่งฝ่ายแม้เป็นลูกจ้าง/หนึ่งในผู้บริหารกิจการ แต่ก็เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง (สังเกตแสงไฟที่อาบฉาบใบหน้าของเขา มีความสดสว่าง ราวกับเปลวเพลิงลุกไหม้ แตกต่างตรงกันข้ามกับ Sophie โดยสิ้นเชิง!) กำลังจะได้รับโอกาสจาก Aschenbach เพื่อก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ซึ่งถ้าแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็จะไม่ใครเพิกเฉย มองข้าม นั่งอยู่ตำแหน่งห่างไกลหัวโต๊ะอาหารอีกต่อไป!

สำหรับ Martin แล้วน้องๆ ต่างกำลังละเล่นซ่อนหา หลบซ่อนตัวอยู่ใต้คันเปียโน สามารถสื่อถึงพวกเขาไม่มีความสนใจในปัญหาของผู้ใหญ่ คงทำตัวเหมือนเด็กน้อย ต้องการความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ยังไม่อาจครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง

ตรงกันข้ามกับ Günther ถูกบิดา Konstantin บีบบังคับขู่เข็นต้องดำเนินตามรอยเท้าตนเอง ศึกษาเรียนรู้กิจการงานของครอบครัว สั่งให้เลิกร่ำเรียนเชลโล่ แล้วเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่

การนำเสนอฉากความตาย เริ่มจากเด็กๆถูกพากลับห้องนอน ได้ยินเสียงใครบางคนกรีดร้อง จากนั้น Joachim สะดุ้งตื่นลุกขึ้นจากเตียง แล้วเขาก็ค่อยทิ้งตัวลง (ทำเหมือนเขาถูกยิง แล้วทิ้งตัวลงสิ้นลมหายใจ) จากนั้นตัดมาภาพช็อตนี้ สายตาของ Martin จับจ้องมองอย่างถมึงทึง ราวกับได้พบเห็นภาพบาดตาบาดใจ

รับชมแบบผ่านๆไม่น่าจะสามารถทำความเข้าใจฉากนี้ได้แน่ๆ แต่มันคือลีลาของผู้กำกับ Visconti นำเสนอความตายของ Joachim ในลักษณะโคตรพิศดาร! แทนที่จะเป็นภาพชายชราถูกยิง กลับใช้การสะดุ้งลุกจากเตียงแล้วทิ้งตัวลงนอนสื่อแทนความตาย หรือจะมองว่าคือภาพวิญญาณเคลื่อนออกจากร่างก็ได้(มั้ง)

ภายหลังการเสียชีวิตของ Joachim สมาชิกหลักๆ(ที่เป็นผู้ใหญ่)ของตระกูล Essenbeck มารวมตัวกันยังห้องโถง ที่ยังคงมีเวทีใช้ในการแสดงเมื่อตอนหัวค่ำ นี่เป็นฉากที่มี mise-en-scène โดดเด่นมากๆในการจัดแสง-สีแดง และความมืดมิด ขณะอาบฉาบใบหน้าตัวละคร ขอเริ่มจาก Konstantin 

  • ขณะกล่าวสุนทรพจน์ต่อ Joachim ใบหน้าครึ่งหนึ่งอาบปกคลุมด้วยความมืดมิด แสดงว่าลึกๆก็อาจมีความเศร้าโศกเสียใจอยู่เล็กๆ
  • แต่พอ Martin เริ่มกล่าวสุนทรพจน์ ใบหน้าของ Konstantin ที่อยู่ในมุมมืด มีแสงสีแดงอาบฉาบผสมเข้าไปด้วย แสดงถึงความงุนงง สับสน มันกำลังจะเกิดอะไรขึ้นกันแน่
  • เมื่อตระหนักถึงสิ่งบังเกิดขึ้น Konstantin ก้าวออกมาสู่บริเวณแสงสว่าง แต่ยังคงอาบด้วยเฉดสีแดง พูดแสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราด ไม่พึงพอใจ เหมือนถูกแทงข้างหลัง สูญเสียอำนาจพึงมีให้กับ Friedrich โดยไม่รู้ตัว

ใบหน้าช็อตนี้ของ Sophie ดูจะมีความครบเครื่องเรื่องของการจัดแสงที่สุดแล้ว

  • ด้านสว่างสะท้อนเปลือกภายนอกที่แสดงออกมา สร้างภาพให้ดูดี
  • ด้านมืดแสดงถึงความชั่วร้ายที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ภายใน จำต้องปกปิดซ่อนเร้นไว้
    • ด้านมืดอาบฉาบด้วยแสงสีแดง แสดงถึงการพร้อมใช้เลือด ความรุนแรง เข่นฆาตกรมอีกฝั่งฝ่าย เพื่อให้ตนเองได้ครอบครองสิ่งที่เพ้อใฝ่ฝัน

สำหรับ Martin ผมเห็นเพียงแสงสีแดงที่อาบฉาบบนใบหน้า นั่นสื่อถึงอิทธิพลของมารดาที่พยายามควบคุมครอบงำ ชักโยงใยอยู่เบื้องหลัง ไม่อยากแสดงความคิดเห็นแต่ถูกบีบบังคับ จำต้องสร้างความพึงพอใจ(ให้มารดา) จึงเกิดความลุ่มร้อน ตื่นตระหนก เหงื่อตก กลัวการ(ทำให้มารดา)ผิดหวัง

นอกจากรูปภาพขนาดใหญ่ของ Joachim ด้านหลังโต๊ะทำงานประธานบริษัท ที่สื่อถึงอิทธิพล บุคคลผู้เบื้องหลังความรุ่งเรือง (เคารพคารวะ Citizen Kane (1941)) ช็อตนี้ยังมีอีกสิ่งน่าสนใจคือปืนกล ตั้งหันหัวไปทางท่านประธาน แฝงนัยยะถึงการทำลายล้างตนเอง หรือคือความล่มสลายของตระกูล Essenbeck เป็นผลมาจากคนใน ญาติพี่น้อง คิดคดทรยศหักหลังกันเองทั้งนั้น

ใครที่อ่านภาษาภาพยนตร์ออกน่าจะตระหนักถึง Dynamic Cut ความต่อเนื่องของสองช็อตนี้

  • Martin กำลังโอบกอด เล่นเกมจุมพิตกับเด็กหญิง
  • ตัดมา Martin พบเห็นเรียวขาของแฟนสาว แล้วเกิดอารมณ์ ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเธอ

ต่อให้ผู้กำกับ Visconti จะหาญกล้านำเสนอประเด็นต้องห้ามขนาดไหน แต่เขาก็ไม่เสียสติแตกพอที่จะนำเสนอการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง Martin กับเด็กหญิง(ที่อายุยังไม่ถึงสิบขวบด้วยซ้ำนะ) แต่ภาษาภาพยนตร์ฉากนี้ชัดเจนมากๆว่าต้องการสื่อสารไปในทิศทางนั้น

เชื่อว่าแค่นี้ผู้ชมคงยินยอมรับไม่ไหวกับประเด็นรักเด็ก-ล่อเด็ก (Pedophile) แต่แนะนำให้ลองครุ่นคิดเชิงสัญลักษณ์ มองหาสิ่งที่หนังต้องการจะเปรียบเทียบถึง … ความเข้าใจของผมก็คือ ผู้กำกับ Visconti ต้องการเปรียบเทียบระยะห่างอายุ ระหว่างตนเองกับแฟนหนุ่ม Helmut Berger (ขณะนั้น Visconti อายุ 62 ปี, ส่วน Berger อายุ 24 ปี) รักคนที่อายุน้อยกว่าหลายสิบปี (เป็นพ่อ-ลูก กันได้เลยนะ) ไม่ต่างอะไรกับ Martin และเด็กหญิงคนนี้

หนังจงใจสร้างความคลุมเคลือว่าเกิดอะไรกับเด็กสาวชาวยิว บอกแค่ว่าล้มป่วย นอนซมซานอยู่บนเตียง แต่เมื่อเธอพบเจอหน้า Martin กลับแสดงอาการหวาดกลัว ตีตนออกห่าง แล้วก้าวเดินออกจากห้อง ปีนป่ายขึ้นบันไดไปผูกคอตายยังห้องใต้หลังคา

ไดเรคชั่นการตายของเด็กสาว นำเสนอออกมาสุดพิศดารไม่น้อยกว่าตอนของ Joachim ซึ่งการที่เธอลุกขึ้นจากเตียง ก้าวเดินขึ้นบันได้ แต่ Martin กลับแสร้งว่ามองไม่เห็น ให้ความรู้สึกเหมือนวิญญาณ(ของเด็กหญิง)กำลังล่องลอยออกจากร่าง แต่หลายคนอาจถกเถียงว่าสุดท้ายเธอก็ผูกคอตายจริงๆไม่ใช่หรือ? นั่นสิครับ (ผมเลยเรียกว่าเป็นการนำเสนอที่โคตรงงงวย สุดพิศดาร)

การผูกคอตายของเด็กหญิงชาวยิวยังมีลักษณะ Dynamic Cut ส่งต่อให้ Elizabeth กำลังบอกร่ำลา Günther ครุ่นคิดว่าตนเองจะพาลูกๆออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนสามี Herbert แต่ที่ไหนได้กลับถูกตัวส่งค่ายกักกัน ไม่มีโอกาสรอดชีวิตกลับมา … สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครจะไปเฉลยเอาช่วงหลัง การรับชมเพียงรอบเดียวอาจไม่ตระหนักถึงไดเรคชั่นของซีเควนซ์นี้

ฉากนี้ยังรายละเอียดอีกนิดนึงก็คือพี่เลี้ยงพาเด็กๆทั้งสอง เหมือนจะพยายามก้าวเดินออกห่างจากมารดา ราวกับรับรู้ว่ากำลังจะมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นกับเธอเมื่อขบวนรถไฟมาถึง

คุณคิดว่าแม้บ้านกำลังเก็บชุดของ Sophia ในห้องน้ำ เพราะเธอเพิ่งทำอะไรมากัน? อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้สังเกตพฤติกรรมของเธอคนนี้ ชอบเหลือเกินที่จะทาลิปสติก ไม่ก็เอานิ้วสัมผัสริมฝีปาก … มักได้รับการเปรียบกับอวัยวะเพศหญิง การลูบไล้ ใส่สีสัน ก็เพื่อเพิ่ม ‘Sex Appeal’ สนองความใคร่ ช่วยตนเอง ระบายความอัดอั้น ต้องการทางเพศ

ขณะที่ Sophia เปิดไฟเดินเข้าประตูฝั่งขวา ชายคนหนึ่งก้าวเดินออกจากมุมมืดประตูฝั่งซ้าย นี่เป็นฉากที่นำเสนอรสนิยม HomoBisexual ของ Martin #ได้หมดถ้าสดชื่น ไร้ขีดจำกัดความต้องการทางเพศ

Aschenbach เคยเล่าเรื่องดอกไม้ ถ้ามันขวางทางข้างหน้า เราก็ควรเหยียบย่ำเพื่อสามารถก้าวเดินต่อไป ซึ่งเมื่อกำลังเอ่ยกล่าวเรื่องราวนั้นอีกครั้ง จะพบเห็นดอกกล้วยไม้บดบังวิสัยทัศน์อยู่ในเฟรมพอดิบดี!

แล้วใครกันคือดอกไม้? ในตอนแรกผมครุ่นคิดว่า Martin เพราะการแสดงออกที่ดูตุ้งติ้ง อ่อนแอ ชอบทำตัวเหมือนเด็กน้อย ไร้พิษภัยเหมือนดอกไม้ แต่ก็สามารถสื่อถึง Konstantin ที่กำลังจะถูกย่ำเหยียบ กำจัดให้พ้นภัยทาง

นี่คงไม่ใช่การร่วมรักครั้งแรกระหว่าง Friedrich กับ Sophie แต่คือครั้งที่หญิงสาวบังเกิดความเชื่อมั่นใจ พร้อมพลีกายถวายทุกสรรพสิ่งอย่างให้ชู้รัก เพราะรับรู้ว่าต่อจากนี้จะสามารถกำจัด Konstantin ให้พ้นภัยทาง เลยไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้นอีกต่อไป สามารถเปิดเผยความสัมพันธ์ และอีกไม่นานก็จักครองคู่รัก ประกาศแต่งงาน

แม้ภายนอกจะดูเข้มแข็ง แต่จะมีขณะหนึ่งที่ Friedrich ซุกศีรษะในอ้อมอกของ Sophie สื่อถึงความโหยหา ต้องการการยินยอมรับ เธอคือบุคคลที่เขาสามารถพึ่งพักพิง ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกันเพื่อก้าวสู่จุดสูงสุดแห่งความเพ้อฝัน ทะเยอทะยาน

แม้แค่เพียงข่าวลือว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของ Sturmabteilung (SA) เป็นพวกรักร่วมเพศ (Homosexual) แต่ผู้กำกับ Visconti ก็ปรุงปั้นแต่งทั้งซีเควนซ์ให้กลายเป็น Orgy/Group Sex ที่ดูคลุ้มบ้าคลั่ง (กองเซนเซอร์บางประเทศหั่นทั้งซีเควนซ์ทิ้งไปเลยนะครับ) สร้างบรรยากาศ ‘death flag’ ด้วยเฉดสีแดงได้น่าขนลุกขนพองมากๆ

ต่อเนื่องกับ Night of the Long Knives (30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 1934) หรือปฏิบัติการ Operation Hummingbird ได้คำสั่งโดยตรงจากท่านผู้นำ Adolf Hitler มอบหมายให้ Schutzstaffel (SS) กวาดล้างสมาชิก Sturmabteilung (SA) โดยเฉพาะศัตรูที่คานอำนาจเขาอยู่ Ernst Röhm

แต่ในความเป็นจริง SA ไม่ได้ถูกฆ่าล้างบางแบบในหนัง เฉพาะแค่บุคคลสำคัญๆที่อยู่ในบัญชีดำ 85 ศพ (ตัวเลขจริงอาจถึงหลักพัน) แต่หนังจงใจทำให้ฉากนี้ดูเหี้ยมโหดร้าย เพื่อแสดงถึงความอันตรายของผู้นำเผด็จการ ใช้อำนาจในทางมิชอบ กำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง (นี่สื่อทั้ง Hitler และตัวละคร Friedrich ไม่แตกต่างกันนัก)

เกร็ด: หลังจากนี้จะมีฉากที่ Friedrich รู้สึกผิดต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แต่ผู้กำกับ Visconti ตัดทิ้งออกไปเพราะคิดว่าไม่จำเป็น (ฟุตเทจดังกล่าวไม่ได้อยู่ในฉบับดั้งเดิมของหนัง เลยคาดว่าคงสูญหายไปแล้ว)

แม้ว่า Friedrich จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานบริษัท นั่งอยู่ตำแหน่งหัวโต๊ะอาหาร แต่ขนาดและปริมาณผู้ร่วมรับประทาน(อาหาร)กลับน้อยลงเรื่อยๆอย่าน่าใจหาย ถึงอย่างนั้นเขากลับไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ขึ้นเสียงตะโกนโหวกแหวก แต่ทั้ง Martin และ Günther กลับฟังหูซ้าย ทะลุหูขวา ก่อนการหวนกลับมาถึงของ Herbert เปิดโปงข้อเท็จจริงบางอย่างให้ผู้ชมได้รับรู้

สำหรับ Sophia จริงๆควรนั่งใกล้ชิดกับ Friedrich แต่การอยู่ตำแหน่งตรงข้ามครานี้มีความแตกต่างจากครั้งแรกอยู่เล็กๆ ที่ไม่มีอะไรบดบัง ขวางกั้น ราวกับว่าเธอคืออีกมุมหนึ่งของบังลังก์ ไม่ใช่เคียงข้างแต่คือครองคู่ร่วมกัน

สำหรับคนดูหนังจบแล้วย่อมตระหนักว่าท้ายสุด Martin จะได้ครอบครองบัลลังก์แต่เพียงผู้เดียว แต่ภาพของเขาที่นั่งบนหัวโต๊ะอาหารนั้นไม่ได้ปรากฎขึ้นช่วงท้าย แต่หลังจากเมื่อตัดสินใจเข้าร่วมแก่งแย่งชิงอำนาจจาก Friedrich

ถึงอย่างนั้นช็อตนี้นำเสนอความจริงประการหนึ่งที่น่าตกใจ เพราะเมื่อ Martin ได้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัว เขากลับไม่หลงเหลือผู้อื่นใดรายล้อมรอบ หลายคนอาจมองว่าเพราะนี่เป็นความเพ้อฝัน แต่มันก็สะท้อนผลลัพท์เมื่อกำจัดศัตรูครบทุกคน แล้วมันจะหลงเหลือใครให้ปกครองอีกเล่า!

เมื่อ Sophia พบเห็น Martin หันไปเล่นยา (ผมมองว่าเป็นวิธีเรียกร้องความสนใจของบุตรชาย) เธอจึงยินยอมเขาทุกสิ่งอย่าง รวมถึงการร่วมรัก (Incest) นั่นทำให้พอสำเร็จกามกิจ จู่ๆรู้สึกรับไม่ได้อย่างรุนแรง ยกมือขึ้นมาปกปิดบังใบหน้า ก่อนฉากถัดมาพบเห็นกลายเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ

ความสัมพันธ์ในครอบครัว มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการกลมกลืน ผสมผสานกลายเป็นหนึ่ง แต่ในบริบทของหนังดูเหมือนจะสื่อถึงการทำลายตนเอง (Self-Destruction) เพราะสภาพของ Sophie หลังค่ำคืนนี้ ถือว่าหมดสิ้นสภาพ สูญเสียจิตวิญญาณ กลายเป็นซอมบี้ ผีตายซาก

Friedrich เมื่อพบเห็นสภาพของ Sophie ก็ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอาลัย ไม่หลงเหลือเรี่ยวแรงพละกำลังจะทำอะไรอีกต่อไป ยินยอมรับความพ่ายแพ้ต่อ Martin ส่งมอบเอกสารทุกสิ่งอย่างให้ แต่กลับถูกฉีกทิ้งขว้างเพราะมันไม่มีความสำคัญใดๆ เหมือนเขาพยายามพูดบอกอะไรบางอย่าง ภาพสะท้อนอันเลือนลาง/ซ้อนทับในกระจกราวกับ Friedrich พบเห็นอดีตของตนเอง (ที่เคยเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ทะเยอทะยาน ต้องการไปให้ถึงจุดสูงสุด)

งานแต่งงานระหว่าง Friedrich และ Sophie คือการเติมเต็มความเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจครั้งสุดท้ายของพวกเขา ไม่ได้เผื่อผลประโยชน์ จุดสูงสุด หรือชัยชนะครอบครองบัลลังก์ แต่คือความรักแท้จริงที่มีให้กัน เพราะหญิงสาวในสภาพโบ๊ะหน้าขาวโพลน ราวกับซอมบี้ ผีตายซาก ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณ หลังเสร็จพิธีเขาพร้อมลาจากโลกนี้ไปด้วยกัน

ขณะที่ Martin จับจ้องมองพวกเขาอย่างไม่คาดสายตา ดูโกรธเกลียด เคียดแค้น ราวกับอีแร้งกาเฝ้ารอคอยฉีดกินเหยื่อที่ใกล้หมดสิ้นลมหายใจ

ตัดต่อโดย Ruggero Mastroianni (1929-96) น้องชายของนักแสดงชื่อดัง Marcello Mastroianni ขาประจำของผู้กำกับ Federico Fellini และ Luchino Visconti ผลงานเด่นๆ อาทิ Juliet of the Spirits (1965), The Damned (1969), Death in Venice (1971), Amarcord (1973) ฯ

หนังไม่ได้เลือกให้ใครเป็นจุดศูนย์กลางดำเนินเรื่อง แต่ทำการร้อยเรียงทุกตัวละครที่มีความสัมพันธ์กับตระกูล Essenbeck ในช่วงเวลาแก่งแย่งชิงอำนาจ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร/หัวหน้าครอบครัว (ผมขอแบ่งองก์ของหนัง ตามช่วงเวลาขึ้นครองบัลลังก์ก็แล้วกันนะครับ)

  • Baron Joachim von Essenbeck
    • เริ่มต้นด้วยการเตรียมงานวันเกิดของ Baron Joachim
    • การแสดงชุดต่างๆ
      • เด็กๆขับร้องประสานเสียง
      • Günther บรรเลงเชลโล่
      • Martin แต่งหญิง (drag) ทำการแสดงร้องเล่นเต้น
    • ช่วงการรับประทานอาหาร
      • Joachim ประกาศเลือก Konstantin ให้เป็นผู้สานต่อกิจการของตระกูล
    • แผนการยึดครองอำนาจของฝั่งฝ่ายต่างๆ
      • Konstantin พยายามบีบบังคับบุตรชาย Günther ให้หันมาสนใจกิจการของตระกูล
      • Friedrich วางแผนร่วมกับชู้รัก Sophie พร้อมได้รับการสนับสนุนจาก Aschenbach
      • Herbert ขอความช่วยเหลือจาก Friedrich แต่กลับถูกทรยศหักหลัง
    • การเสียชีวิตของ Baron Joachim
      • Herbert ต้องหลบหนีเอาตัวรอด
      • Martin บอกกับ Konstantin ว่าจะใช้สิทธิ์เลือก Friedrich ขึ้นมาเป็นผู้บริหารคนใหม่
  • Friedrich Bruckmann ครั้งที่หนึ่ง
    • นำพา SS และ SA เที่ยวชมโรงงาน แม้ว่า Friedrich จะให้การสนับสนุน SS แต่ก็ยังมี Konstantin ที่อยู่เบื้องหลัง SA
    • เรื่องราวของ Martin แสดงออกพฤติกรรมรักเด็ก (Pedophile)
    • Konstantin ใช้ข้ออ้างบีบบังคับ Martin ให้เปลี่ยนมาเลือกข้างตนเอง
  • Konstantin von Essenbeck ก้าวขึ้นมามีอำนาจแทน
    • Friedrich และ Sophie พยายามออกติดตามหา Martin แต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ จนกระทั่งได้รับการเป่าหูจาก Aschenbach
    • Night of the Long Knives ค่ำคืนแห่งการกวาดล้าง SA
  • Friedrich Bruckmann ครั้งที่สอง
    • Aschenbach พยายามเข้าหา Sophie แต่ไม่เป็นผล จึงเปลี่ยนมา Martin ซึ่งได้รับบทเรียนแสนสาหัส และพร้อมจะโต้ตอบกลับบุคคลที่เอาแต่แสวงหาผลประโยชน์จากตน
    • ในค่ำคืนรับประทานอาหารเย็น Friedrich กลายเป็นคนบ้าอำนาจ พยายามบีบบังคับ ออกคำสั่ง แต่กลับไม่มีใครยินยอมปฏิบัติตาม จนกระทั่ง Herbert หวนกลับมาสารภาพความจริง
    • Martin กระทำบางสิ่งต่อมารดา Sophie ทำให้เธอแทบกลายเป็นคนบ้า
    • งานแต่งงานระหว่าง Friedrich และ Sophie ที่ลงเอยด้วยโศกนาฎกรรม
  • ปัจฉิมบท, Martin von Essenbeck

หนังมีปัญหากับการตัดต่อพอสมควร เพราะหลายฉากไม่ได้รับการอนุมัติผ่านกองเซ็นเซอร์ อาทิ เด็กหญิงถูกลวนลาม ผูกคอฆ่าตัวตาย, Sex Orgy ของสมาชิก SA และรวมไปถึงการสังหารหมู่ Night of the Long Knives แต่ฟีล์มต้นฉบับดั้งเดิม 157 นาที ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ครบถ้วนตามวิสัยทัศน์ผู้กำกับ Visconti


Maurice-Alexis Jarre (1924 – 2009) นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Lyon บิดาทำงานฝ่ายเทคนิคสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ในตอนแรกเลยสมัครเรียนวิศวกรตามรอยเท้าพ่อ แต่ก็เปลี่ยนความสนใจไปร่ำเรียนดนตรี Conservatoire de Paris เลือกเครื่องกระทบ (percussion) เป็นสาขาหลัก, หลังเรียนจบทำงานยัง Théâtre National Populaire, เขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Burning Fuse (1957), เริ่มมีชื่อเสียงในฝรั่งเศสจาก Eyes Without a Face (1959), โด่งดังกลายเป็นตำนานเมื่อร่วมงานผู้กำกับ David Lean เรื่อง Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Ryan’s Daughter (1970) และ A Passage to India (1984)

ความตั้งใจดั้งเดิมของผู้กำกับ Visconti ต้องการเพียง ‘diegetic music’ ไม่ก็เรียบเรียงดัดแปลงบทเพลงคลาสสิกของ Gustav Mahler และ Richard Wagner แต่โปรดิวเซอร์กลับติดต่อ Maurice Jarre โดยที่เจ้าตัวไม่เคยรับล่วงรู้มาก่อน แถมยกเลิก ไม่ใช้ไม่ได้ด้วยนะ เพราะเซ็นสัญญาไว้เรียบร้อยเสร็จสรรพ … ผลลัพท์ผู้กำกับ Visconti ไม่ประทับใจบทเพลงของ Jarre อย่างรุนแรง เพราะเต็มไปด้วยกลิ่นอายของ Doctor Zhivago (1965) หาความเป็นเยอรมันไม่ได้เลยสักนิด!

ลองฟัง Main Theme ของหนังดูแล้วกันนะครับ ผมเองยังรู้สึกว่ามีความละม้ายคล้าย Doctor Zhivago (1965) มากเกินไปมากๆเลยละ นี่น่าจะเป็นผลงานน่าผิดหวังที่สุดของ Jarre แล้วกระมัง

การแสดงของ Martin ขับร้องบทเพลง Kinder, heut’ abend, da such ich mir was aus (แปลว่า Children, tonight, I’ll choose something) แต่งโดย Friedrich Hollaender, คำร้องโดย Robert Liebmann, ข้บร้องโดย Helmut Berger … นี่คือบทเพลงเดียวกับที่ Marlene Dietrich ขับร้อง-เล่น-เต้น ภาพยนตร์เรื่อง The Blue Angel (1930)

การร้อง-เล่น-เต้น บทเพลงนี้ของทั้ง Dietrich และ Berger ต่างถือเป็น Iconic แห่งวงการภาพยนตร์ ทั้งคู่เลยนะครับ!

The Damned (1969) คือเรื่องราวการแก่งแย่งชิงอำนาจ ที่ใครต่อใครต่างมีความคิดคด พร้อมทรยศ แทงข้างหลัง กำจัดภัยพาลด้วยสารพัดวิธี เพื่อตนเองจักก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร กลายเป็นหัวหน้าครอบครัว เติมเต็มความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง โดยไม่สนอะไรใครทั้งนั้น

เรื่องราวการล่มสลายของราชวงศ์/ตระกูล/ครอบครัวใหญ่ๆ ดูเหมือนจะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักเขียน ผู้กำกับ ศิลปินสรรค์สร้างงานศิลปะ เพราะเนื้อหาสาระสามารถเป็นข้อคิด คติสอนใจ ใช้ชีวิตอย่างไรถึงให้รู้สึกความเพียงพอดี ไม่วุ่นวายแบบนวนิยาย บทละคอน และยังสะท้อนถึงสัจธรรม วิถีแห่งชีวิต เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง ประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว เคยยิ่งใหญ่-สักวันก็ต้องตกต่ำ เพราะนั่นคือวัฏจักรเกิด-ตาย ไม่มีสรรพสิ่งใดหลบหนีพ้น

Luchino Visconti เกิดในครอบครัวชนชั้นสูง บิดาเป็นผู้ปกครองกรุงมิลาน แต่กาลเวลาทำให้ราชอาณาจักรอิตาลีค่อยๆถูกกลืนมาเป็น Fascist Italy และความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เปลี่ยนระบอบการปกครองสู่ประชาธิปไตย ทำให้ขุนนาง ราชวงศ์ หมดสิ้นความสำคัญไป ปัจจุบัน(นั้น)หลงเหลือเพียงอดีตที่ยิ่งใหญ่ และคำนำหน้าชื่อ ซึ่งสำหรับเขาแล้วไม่ได้มีความสลักสำคัญประการใด

เมื่อตอน The Leopard (1963) ผู้กำกับ Visconti นำเสนอความเสื่อมถดถอยของชนชั้นสูงในลักษณะที่ชักชวนให้ผู้ชมสงสารเห็นใจ แต่สำหรับ The Damned (1969) กลับเหมือนต้องการเหยียดย่ำ ซ้ำเติม ให้รู้สึกรังเกียจ ขยะแขยงเกินเยียวยา เรียกว่ามีความแตกต่างกันอย่างขั้วตรงข้าม!

ทีแรกผมก็สงสัยนะว่าตัวตนแท้จริงของ Visconti เป็นแบบ The Leopard (1963) หรือ The Damned (1969) แต่ครุ่นคิดไปมาก็พบว่าเป็นได้ทั้งคู่นะแหละ เพราะมนุษย์มักมีสองขั้วตรงข้ามอยู่ในตนเอง รัก-เกลียด เข้มแข็ง-อ่อนแอ เย่อหยิ่งทะนง-ขี้ขลาดเขลา แม้แต่เพศสภาพของเขาก็เฉกเช่นกัน

ใน The Damned (1969) ผมครุ่นคิดว่า Visconti เทียบแทนตนเองด้วยตัวละคร Martin von Essenbeck แม้ตัวจริงจะไม่ตุ้งติ้ง หรือกล้าแต่งหญิง (drag) แต่ก็ค้นพบรสนิยมทางเพศของตนเองตั้งแต่เด็ก ทำให้ไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากญาติพี่น้อง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาพยายามตีตนออกห่าง ถึงอย่างนั้นก็ยังคงเกิดปมด้อย ‘เรียกร้องความใจ’ ต้องการได้รับการยินยอมรับ เลยกลายมาเป็นผู้กำกับ สร้างภาพยนตร์ เพื่อเติมเต็มสิ่งขาดหายภายในจิตใจนี้

การได้พบเจอ ตกหลุมรัก Helmut Berger [ระหว่างสรรค์สร้าง The Witches (1967)] ผมเชื่อว่าคงสร้างอิทธิพลให้ผู้กำกับ Visconti เปิดมุมมอง วิสัยทัศน์กว้างขึ้นมากๆ เพราะเด็กหนุ่ม คนรุ่นใหม่ ไม่ได้ถูกบริบทกฎกรอบทางสังคมควบคุมครอบงำอีกต่อไป (Berger เกิดปี 1944 เติบโตขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) จึงสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระ ครุ่นคิดอยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้น รสนิยมทางเพศก็เช่นกัน … นี่เองทำให้ผลงานหลังจากนี้(ของ Visconti) ไร้ความประณีประณอม อยากนำเสนอประเด็นต้องห้ามอะไร ไม่ยี่หร่าสังคมอีกต่อไป!

เช่นเดียวกับการเลือก Nazi Germany เป็นพื้นหลังของเรื่องราว! ก่อนหน้านี้(แทบ)ไม่เคยมีใครหาญกล้านำเสนอเรื่องราววงใน กล่าวเอ่ยถึง Adolf Hitler สักเท่าไหร่ (ทำราวกับลอร์ดโวลเดอมอร์!) แต่สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลงกว่า 20+ ปี นั่นถือเป็นช่วงชีวิตของคนรุ่นหนึ่งแล้วนะ! เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงครามโลก ไม่มีโอกาสรับรู้หายนะ สิ่งเลวร้ายที่บังเกิดขึ้น แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะบิดเบี้ยวประวัติศาสตร์พอสมควร แต่ก็สามารถเป็นบทเรียนสอนความอัปลักษณ์ของการแก่งแย่ง แสวงอำนาจ เพียงเพื่อสนองความพึ่งพอใจส่วนตน

เราสามารถเปรียบเทียบเรื่องราวภายในตระกูล Essenbeck คู่ขนานกับการก้าวขึ้นมาเรืองอำนาจของ Nazi Germany ต่างสนเพียงอำนาจ เติมเต็มความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ใครครุ่นคิดเห็นต่างคือศัตรู พร้อมกำจัดภัยทาง ทรยศหักหลังพวกพ้อง กระทำสิ่งโฉดชั่วร้ายนานัปการ

หลายคนคงมองหาว่าตัวละครไหนสามารถเทียบแทน Adolf Hitler ใกล้เคียงสุดคงเป็น Martin แต่ Friedrich หรือ Konstantin ก็มีความละม้ายคล้ายคลึงอยู่เหมือนกันนะ … ผมเองก็ตอบไม่ได้ มันอาจไม่ใช่ตัวละครไหนเลย หรือทุกคนที่ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ หรือเพียงนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ถึงการก้าวขึ้นสู่อำนาจของ Hitler ก็ได้เหมือนกัน

ตอนจบเมื่อ Martin กลายเป็นประธานบริษัท หัวหน้าครอบครัว ครอบครองกิจการโรงงานถลุงเหล็ก และมี Aschenbach คอยให้การสนับสนุนชักโยงใยอยู่เบื้องหลัง เหล่านี้เป็นการสื่อถึงอนาคต(ไม่ใช่แค่ Germany) โลกใบนี้จักก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความฉ้อฉล คอรัปชั่น ภายนอกถูกสร้างภาพให้ดูดี แต่จิตใจเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ไต่เต้าสู่จุดสูงสุดแห่งความเพ้อฝัน ฉันยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดีทั้งนั้น!


ด้วยทุนสร้าง $2 ล้านเหรียญ เสียงตอบรับในยุโรปถือว่าค่อนข้างดี โดยเฉพาะฝรั่งเศสมีผู้เข้าชมกว่า 2.6 ล้านคน! (สูงอันดับ 10 แห่งปี) แค่นี้ก็น่าจะทำกำไรคืนทุนแล้วละ

ฉบับฉายในสหรัฐอเมริกา แม้ได้รับการจัด X-Rated แต่ก็ยังตัดหลายๆฉากที่ดูบ้าคลั่งเกินเยียวยา (เห็นว่านำเอา Night of the Long Knives หั่นทิ้งลงถังขยะไปเลย) ผลลัพท์ทำเงินได้ $1.2 ล้านเหรียญ แต่ปลายปีก็ยังได้ลุ้นรางวัล

  • Academy Award: Best Writing, Original Screenplay
  • Golden Globes Award: Most Promising Newcomer – Male (Helmut Berger)

เกร็ด: The Damned (1969) คือภาพยนตร์เรื่องโปรดอันดับหนึ่งของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder

The Damned (1969) is perhaps the greatest film, the film that I think means as much to the history of film as Shakespeare does to the theater. Because with artistic means he has been able to deal with history in the same way that Shakespere does. It’s not a historical treatment of Nazism, just as Shakespeare’s dreams are not historical dramas.

Rainer Werner Fassbinder

ฟีล์มหนังต้นฉบับ Negative เหมือนว่าได้รับการจัดเก็บอย่างดี จึงแทบไม่มีปัญหาใดๆในการสแกนดิจิตอล หรือพิมพ์ฟีล์มใหม่ ปัจจุบันได้รับการบูรณะ (Digital Restoration) คุณภาพ 2K โดย Cineteca di Bologna ร่วมกับ Institut Lumière กลายเป็น Blu-Ray จัดจำหน่ายโดย Criterion Collection

เกร็ด: ผู้กำกับ Luchino Visconti เรียกสามผลงาน The Damned (1969), Death in Venice (1971) และ Ludwig (1973) ต่างมีพื้นหลัง/ถ่ายทำส่วนหนึ่งยังประเทศเยอรมัน ตั้งชื่อว่า The German Trilogy

แม้ว่า The Damned (1969) จะเต็มไปด้วยตำหนิ ความเวิ่นเว้อ เอาแต่ใจ(ของผู้กำกับ) ห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่ผมยังก็ต้องซูฮกในไดเรคชั่น วิสัยทัศน์ อึ้งทึ่งต่อเรื่องราวที่โคตรระห่ำ หาญกล้าท้าทายทุกสิ่งอย่าง แล้วยังสามารถเอาตัวรอดมาได้ … ยังไงกัน!

ผมไม่ได้มีอคติต่อต้านสิ่งที่เป็น X-Rated ของหนังเลยนะ นั่นเพราะสามารถครุ่นคิดเข้าใจเหตุผลของการนำเสนอ ว่าต้องการเปรียบเทียบ/แฝงนัยยะถึงอะไร สำหรับคนที่ยังติดขัด ก้าวข้ามผ่านไปไม่ไหว แนะนำให้ต้องหาประสบการณ์ดูหนังเพิ่มเติมอีกเยอะเลยนะครับ

แนะนำหนังสำหรับคนชอบความท้าทาย สามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ เข้าใจภาษาภาพยนตร์, โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใครที่กำลังศึกษาประวัติศาสตร์เยอรมัน ช่วงการขึ้นมาเรืองอำนาจของนาซี The Damned (1969) ใช้การเปรียบเทียบแทนได้อย่างลุ่มลึกซึ้ง เลิศเลอค่าที่สุดแล้ว (มั้งนะ)

จัดเรต NC-17 กับประเด็นข่มขืน, Incest, Orgy, Pedo, ฆ่าตัวตาย

คำโปรย | The Damned นำเสนอการล่มสลายของวงศ์ตระกูล ชนชาติเยอรมัน และขอบเขตทางศีลธรรมของผู้กำกับ Luchino Visconti
คุณภาพ | ลุ่ลึ ล่
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: